มุสลิมอังกฤษยุควิคตอเรีย ผู้เผยแผ่สาสน์อิสลามสู่สังคมตะวันตก
วิลเลี่ยม เฮ็นรี่ ควิลเลี่ยม (William Henry Quilliam) และ มาร์มาดูค วิลเลี่ยม พิคธัล (Marmaduke William Pickthall) เป็นสุภาพบุรุษชาวอังกฤษสองท่านที่มีชีวิตอยู่ในศตวรรษที่ 19 หรือยุคสมัยของพระราชินีวิคตอเรีย ทั้งสองเป็นชาวอังกฤษดั้งเดิมที่หันมารับนับถือศาสนาอิสลามและมีบทบาทอย่างสูงที่ทำให้อิสลามกลายเป็นศาสนาที่เป็นที่รู้จักและยอมรับนับถือในสังคมอังกฤษมาจนถึงปัจจุบัน
อับดุลลอฮฺ ควิลเลี่ยม หรือชื่อเดิม วิลเลี่ยม เฮ็นรี่ ควิลเลี่ยม ถือกำเนิดในปี ค.ศ. 1856 ที่เมืองลิเวอร์พูล เป็นชนชั้นสูงของสังคมอังกฤษที่เติบโตมาในครอบครัวชาวคริสต์นิกายเมโธดิสต์ที่มีหลักปฏิบัติที่เคร่งครัดคล้ายคลึงกับอิสลาม เช่น การห้ามเสพเครื่องดื่มมึนเมา ควิลเลี่ยมเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายอาญา และมีโอกาสทำคดีสำคัญของอังกฤษหลายคดีจนเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในแวดวงนักกฎหมายของเมืองลิเวอร์พูล เขายังมีความสนใจด้านวิทยาศาสตร์โดยเฉพาะสาขาชีววิทยาและได้กลายมาเป็นนักวิชาการด้านชีววิทยาที่เป็นที่ยอมรับในช่วงหลังของชีวิต
ขณะที่ควิลเลียมเติบโตมาในสังคมวิคตอเรียที่ขึ้นชื่อเรื่องความเคร่งครัดทางศาสนาและศีลธรรม แต่สิ่งที่ควิลเลี่ยมได้รับรู้เกี่ยวกับสังคมอังกฤษในยุคนั้นคือความล้มเหลวของคริสตจักรในการขจัดความเหลื่อมล้ำทางสังคมและความตกต่ำทางจริยธรรมของผู้คน แม้ว่าอังกฤษในยุคนั้นจะมีเศรษฐกิจที่เฟื่องฟูอันเนื่องมาจากการล่าอาณานิคม แต่สิ่งที่ควิลเลี่ยมรู้สึกค้างคาใจอยู่เสมอคือคำสอนต่างๆในคริสต์ศาสนาที่สวนทางกับความจริงทางสังคม รวมทั้งนโยบายต่างประเทศของอังกฤษเรื่องการล่าอาณานิคมซึ่งเขามองว่าเป็นนโยบายที่ขัดแย้งกับหลักศีลธรรมโดยสิ้นเชิง
William Henry Quilliam หรือ Abdullah Quilliam (10 เมษายน ค.ศ. 1856 – 23 เมษายน ค.ศ. 1932) |
ความมุ่งมั่นของควิลเลี่ยมในการสร้างความเข้าใจที่แท้จริงเกี่ยวกับอิสลามในหมู่คนอังกฤษ ทำให้เขาเป็นที่รู้จักและสนใจของสุลต่านแห่งออตโตมันและกษัตริย์แห่งอัฟกานิสถาน โดยต่อมาเขาได้รับการแต่งตั้งจากสุลต่านอับดุลฮามิดที่ 2 แห่งอาณาออตโตมันให้ดำรงตำแหน่ง Shaikh al-Islam of Great Britain หรือผู้นำศาสนาอิสลามแห่งสหราชอาณาจักร และกษัตริย์แห่งอัฟกานิสถานได้ทรงมอบเงินทุนให้เขาเพื่อใช้ในการขยายศูนย์กลางอิสลามแห่งลิเวอร์พูล โดยควิลเลี่ยมได้สร้างโรงเรียนเพิ่มอีกสองแห่งเพื่อรับนักเรียนประจำทั้งหญิงและชาย รวมทั้งสร้างสถานรับเลี้ยงเด็กกำพร้าเพื่อให้การเลี้ยงดูเด็กๆ ที่ไม่ใช่มุสลิมที่พ่อแม่ไม่สามารถดูแลได้และยินยอมให้ลูกๆของตนได้รับการเลี้ยงดูภายใต้หลักการอิสลาม ควิลเลียมตั้งชื่อสถานรับเลี้ยงเด็กกำพร้าของเขาว่า เมดีนา เฮาส์ (Medina House) ซึ่งเขานำมาจากชื่อเมืองมะดีนะฮ์อันเป็นที่ตั้งของบ้านและมัสยิดของท่านศาสดา ทางสถาบันได้เปิดสอนวิชาการต่างๆ ทั้งที่เกี่ยวกับศาสนาและวิชาการทั่วไป พร้อมทั้งสร้างพิพิธภัณฑ์อิสลาม ห้องสมุด ห้องทดลองทางวิทยาศาสตร์ และจัดหาอุปกรณ์การศึกษาเพื่อช่วยเหลือผู้คนที่ขัดสนในอังกฤษ
ศูนย์กลางอิสลามแห่งนี้กลายเป็นที่รวมตัวของชาวอังกฤษที่หันมาศรัทธาในคำสอนของศาสนาอิสลาม และได้กลายเป็นสถานที่จัดกิจกรรมเกี่ยวกับศาสนาอิสลาม โดยมุสลิมจากหลากหลายเมืองในอังกฤษได้มารวมตัวกันที่นี่ ผู้คนเหล่านี้มีทั้งคนอังกฤษดั้งเดิมซึ่งหันมารับนับถือศาสนาอิสลาม รวมทั้งนักเรียน นักศึกษาและชาวมุสลิมต่างชาติที่เดินทางมาใช้ชีวิตอยู่ในสหราชอาณาจักร ควิลเลี่ยมยังก่อตั้งโรงพิมพ์เพื่อพิมพ์หนังสือและวารสารเกี่ยวกับศาสนาอิสลามออกมาเป็นจำนวนมาก เช่น หนังสือเรื่อง The Faith of Islam ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับหลักการด้านต่างๆ ของอิสลาม โดยมียอดการพิมพ์ไม่ต่ำกว่า 5 พันเล่ม และเขาได้ส่งหนังสือไปถวายแด่สมเด็จพระราชินีวิคตอเรียอีกด้วย โดยมีรายงานว่าพระราชินีวิคตอเรียทรงสนพระทัยในเนื้อหาในหนังสือของควิลเลี่ยมเป็นอย่างมาก และพระองค์ได้ทรงขอให้ควิลเลี่ยมส่งหนังสือไปถวายเพิ่มเติมเพื่อนำไปแจกจ่ายแก่บรรดาพระราชโอรสและพระราชธิดาของพระองค์อีกด้วย (O’Shea, June 15, 2016)
นอกจากการเขียนและพิมพ์หนังสือเพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับอิสลามแแล้ว ควิลเลียมยังผลิตวารสารรายสัปดาห์ที่มีชื่อเสียงคือ The Crescent หรือ วารสารจันทร์เสี้ยว ซึ่งเขาได้เขียนบทความจำนวนมากเพื่อแสดงให้ชาวอังกฤษได้เห็นแนวคิดที่ก้าวหน้าของอิสลาม โดยเฉพาะการแสดงให้เห็นว่าอิสลามเป็นศาสนาที่ส่งเสริมหลักคิดที่สอดคล้องกับขบวนการทางวิทยาศาสตร์ ข้อเขียนในวารสารของควิลเลี่ยมซึ่งเขาใช้เป็นบทบรรยายในคุตบะฮ์หรือธรรมเทศนาในการละหมาดวันศุกร์ด้วยนั้น สะท้อนให้เห็นความคิดที่ก้าวหน้าของเขาในการพยายามให้ความรู้กับผู้คนในสังคมอังกฤษเกี่ยวกับศาสนาอิสลามผ่านความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นความสนใจของคนอังกฤษในยุคนั้น และด้วยความสามารถทางภาษาและประสบการณ์ในการเป็นทนายความที่ทำคดีในระดับสำคัญของอังกฤษมาอย่างยาวนาน งานเขียนของเขาจึงมีหลักฐานที่หนักแน่นและแสดงให้เห็นข้อเท็จจริงต่างๆ ได้อย่างกระจ่างชัด ส่งผลให้ควิลเลี่ยมเป็นที่รู้จักอย่างกว้างในสังคมลิเวอร์พูลในฐานะผู้ที่ต่อสู้เพื่อความถูกต้องและสิทธิของผู้ยากไร้
Sheikh Abdullah Quilliam |
ความสำเร็จของควิลเลี่ยมเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางถึงขนาดที่ว่าเมื่อสุลต่านแห่งอาณาจักรออตโตมัน ส่งตัวแทนมาร่วมเฉลิมฉลองการครองราชย์ของพระราชินีวิคตอเรียในปี ค.ศ. 1897 ท่านผู้แทนพระองค์ยังได้แจ้งความประสงค์ที่จะไปเยี่ยมควิลเลี่ยมถึงที่พักของเขาที่เมืองลิเวอร์พูล เรื่องราวอันน่าตื่นเต้นและขบวนแห่แหนอันยิ่งใหญ่ของผู้แทนพระองค์ของสุลต่านแห่งออตโตมันในครั้งนั้นได้รับการบันทึกไว้ในวารสาร The Crescent ของควิลเลี่ยมด้วยเช่นกัน เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้ชุมชนมุสลิมกลายเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้นและได้ผสมผสานเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสังคมลิเวอร์พูลและสังคมอังกฤษโดยทั่วไป และด้วยเหตุนี้อิสลามจึงไม่ได้มีสถานะเป็นเพียงศาสนาของลูกเรือต่างชาติในประเทศใต้อาณานิคมที่มาขายแรงงานในประเทศเจ้าอาณานิคมอีกต่อไป
อย่างไรก็ตาม แม้ควิลเลี่ยมจะได้รับความสำเร็จในการสร้างความเข้าใจอันถูกต้องเกี่ยวกับศาสนาอิสลามและทำให้อิสลามกลายมาเป็นหนึ่งเดียวกับสังคมอังกฤษ แต่เขาก็ได้รับแรงกดดันจากสังคมอย่างมากโดยเฉพาะการที่เขาวิพากษ์วิจารณ์นโยบายต่างชาติของอังกฤษเรื่องการขยายอาณานิคมในประเทศมุสลิมอย่างตรงไปตรงมาทำให้เขาถูกตั้งคำถามเรื่องความจงรักภักดีต่อบ้านเมืองของตนเอง ควิลเลี่ยมยืนยันว่าเขาเป็นราษฎรอังกฤษโดยกำเนิดผู้มอบความจงรักภักดีอย่างเต็มเปี่ยมต่อแผ่นดินเกิดของตนเอง และขณะเดียวกันเขาก็เป็นมุสลิมที่ยึดมั่นในหลักการของศาสนาอิสลามอย่างบริสุทธิ์ใจ อย่างไรก็ตามเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้นกับชีวิตที่กำลังรุ่งโรจน์ของเขา ในเดือนมิถุนายน ปี ค.ศ. 1908 ควิลเลี่ยมกับลูกชายมีแผนการเดินทางไปเยือนอิสตันบูลเป็นเวลา 6 สัปดาห์ แต่แล้วทั้งสองคนก็หายตัวไปอย่างลึกลับโดยที่ไม่มีใครทราบสาเหตุ และหลังจากนั้นเพียงไม่กี่เดือนลูกชายคนเล็กของควิลเลี่ยมซึ่งอาศัยอยู่ที่เมืองลิเวอร์พูลได้รื้อถอนและทำลายทุกอย่างที่เป็นส่วนหนึ่งของสถาบันอิสลามที่ควิลเลี่ยมก่อตั้งขึ้น ด้วยการหายตัวไปของควิลเลี่ยมดูเหมือนว่าทุกสิ่งทุกอย่างเกี่ยวกับอิสลามในสหราชอาณาจักรได้ถูกทำให้มืดมนไปด้วย
แต่แล้วเรื่องน่ายินดีก็เกิดขึ้น หลังการหายตัวไปอย่างลึกลับของควิลเลี่ยมและบุตรชาย มีผู้ค้นพบว่าควิลเลี่ยมได้กลับมาใช้ชีวิตในอังกฤษโดยอาศัยอยู่ที่ชุมชนโวคคิง เมืองเซอร์เรย์ เขาได้เปลี่ยนชื่อเป็น เฮ็นรี มาร์แซล ลีออง (Henri Marcel Leon) หรือเป็นที่รู้จักในนาม Professor H.M. Leon โดยอักษรย่อ H.M. มาจากชื่อมุสลิมของเขาคือ ฮารูน มุสตอฟา ลีออง (Haroun Mustapha Leon) เมื่อกลับมาอยู่อังกฤษเขายังมีบทบาทอย่างแข็งขันในชุมชนมุสลิมโดยได้เขียนบทความหลายชิ้นลงตีพิมพ์ในวารสาร The Islamic Review ซึ่งเป็นวารสารของชุมชนมุสลิมแห่งเมืองโวคคิงและได้เข้าร่วมกิจกรรมกับทางชุมชนมุสลิมโวคคิงอย่างสม่ำเสมอ นอกจากจะเป็นมุสลิมที่อุทิศตนให้กับการทำงานศาสนาแล้ว เขายังทำงานทางวิชาการอย่างแข็งขันและกลายเป็นนักวิทยาศาสตร์ผู้เป็นที่ยอมรับในสถาบันการศึกษาชั้นสูงของอังกฤษและอเมริกา โดยก่อนที่เขาจะเสียชีวิตในปี ค.ศ. 1932 เขาได้ดำรงตำแหน่งคณบดีของ London School of Physiology ร่างของควิลเลี่ยมถูกฝังไว้ที่สุสาน บรูควู้ด (Brookwood Cemetery) ในชุมชนโวคคิง เมืองเซอร์เรย์
แล้วเราก็ได้รับรู้ข่าวที่น่ายินดีอย่างยิ่งอีกครั้งหนึ่ง ในปีค.ศ. 1996 ชาวมุสลิมกลุ่มหนึ่งในอังกฤษได้รวมตัวกันก่อตั้งสมาคมอับดุลลอฮฺ ควิลเลียม หรือ Abdullah Quilliam Society ขึ้น โดยได้รณรงค์ให้มีการบูรณะตึกที่เคยเป็นสถานที่ตั้งของ Liverpool Muslim Society ซึ่งได้ถูกทิ้งร้างไปเป็นเวลาร่วมศตวรรษ ขณะนี้ได้มีการระดมทุนเพื่อซ่อมแซมสถานที่และฟื้นฟูกิจกรรมต่างๆ ที่อัลดุลลอฮฺ ควิลเลี่ยมเคยริเริ่มไว้ โดยทางสมาคมอับดุลลอฮฺควิลเลี่ยมได้บูรณะห้องละหมาดและเปิดให้บริการแก่ประชาชนทั่วไปแล้วเมื่อกลางปี ค.ศ. 2014 หลังจากตึกแห่งนี้ถูกทิ้งร้างมาถึง 106 ปี โครงการระยะต่อไปคือการเปิดให้บริการที่พักรายเดือนสำหรับนักเรียน นักศึกษาในเมืองลิเวอร์พูล รวมทั้งกิจกรรมที่น่าสนใจอื่นๆ อีกมากมาย ผลงานอันยิ่งใหญ่ที่ริเริ่มไว้โดยอัลดุลลอฮฺ ควิลเลี่ยม มุสลิมชาวอังกฤษคนแรกของยุควิคตอเรียกำลังจะกลับมาสร้างประโยชน์ให้สังคมอังกฤษอีกครั้งในไม่ช้านี้
สภาพภายในของ The Muslim Institute, Liverpool ในยุคสมัยของอับดุลลอฮฺ ควิลเลี่ยม |
บริเวณภายในโถงละหมาดของ Abdullah Quilliam Society หลังการบูรณาซ่อมแแซม |
นอกจากศูนย์กลางอิสลามแห่งเมืองลิเวอร์พูลซึ่งก่อตั้งขึ้นโดยอับดุลลอฮฺ ควิลเลี่ยมแล้ว ในยุควิคตอเรียยังมีศูนย์กลางอิสลามอีกแห่งที่มีบทบาทอย่างต่อเนื่องในการเป็นสถานที่รวมตัวของมุสลิมยุคแรกของอังกฤษ นั่นคือ มัสยิดโวคคิง (Woking Mosque) ในเมืองเซอร์เรย์ ซึ่งได้ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1889 โดยมีชื่ออย่างเป็นทางการว่ามัสยิดชาห์ จาฮัน (Shah Jahan Mosque) ได้รับการสนับสนุนเงินทุนในการก่อสร้างส่วนใหญ่จากพระราชินีชาห์จาฮัน ผู้ครองนครโบพัล (Bhopal) ซึ่งเป็นอาณาจักรทางตอนกลางของอินเดีย เพื่อใช้เป็นสถานที่ปฏิบัติศาสนากิจและพบปะของนักเรียนชาวอินเดียซึ่งมาศึกษาที่สถาบันบูรพาคดี (Oriental Institute) ที่เมืองเซอร์เรย์ มัสยิดแห่งนี้ดึงดูดความสนใจของชาวอังกฤษจากสังคมชั้นสูงอีกหลายคนที่หันมารับนับถือศาสนาอิสลาม และหนึ่งในนั้นคือ มาร์มาดูค วิลเลี่ยม พิคธัล (Marmaduke William Pickthall) มุสลิมอังกฤษคนแรกที่แปลอัลกุรอานเป็นภาษาอังกฤษ และเป็นผู้ที่มีบทบาทอย่างสูงและในระยะยาวต่อการเผยแผ่คำสอนของอิสลามสู่สังคมอังกฤษและโลกตะวันตกโดยรวม
Muhammad Marmaduke Pickthall (7 เมษายน ค.ศ. 1875 – 19 พฤษภาคม ค.ศ. 1936) |
มาร์มาดูค พิคธัล เกิดในปี ค.ศ. 1875 ในเมืองลอนดอน บิดาเป็นมิชชันนารีแองกลิกัน ตระกูลของเขาสืบเชื้อสายขึ้นไปถึงเซอร์ โรเจอร์ เดอ พิคตู (Sir Roger de Poictu) ยอดอัศวินของกษัตริย์วิลเลียมผู้พิชิต และนามสกุลพิคธัลคือนามสกุลที่สืบเชื้อสายมาจากบรรพบุรุษของเขานั่นเอง พิคธัลใช้ชีวิตในวัยเด็กที่คฤหาสน์ของตระกูลในแถบชนบทซัฟโฟล์ก จนเมื่ออายุได้ 5 ขวบบิดาของเขาเสียชีวิตลง ครอบครัวของพิคธัลจึงย้ายมาอยู่ที่กรุงลอนดอน ขณะเรียนอยู่ที่แฮโรว์ โรงเรียนสำหรับชนชั้นสูงของอังกฤษเขาได้เป็นเพื่อนร่วมรุ่นกับเซอร์วินส์ตัน เชอร์ชิล อดีตนายกรัฐมนตรีชื่อดังของอังกฤษ เมื่อจบการศึกษาจากโรงเรียนแฮร์โรว์ด้วยวัยเพียง 17 ปี พิคธัลออกเดินทางเพื่อไปแสวงหาประสบการณ์ในดินแดนต่างๆ ทั้งในโลกอาหรับและในตุรกี เขาเรียนรู้ภาษาอาหรับอย่างแตกฉานขณะใช้ชีวิตอยู่ในประเทศแถบตะวันออกกลาง เช่น ปาเลสไตน์ ซีเรีย และอียิปต์ เขาศึกษาวรรณกรรมอาหรับจำนวนมากและสิ่งที่สร้างความประทับใจให้เขามากที่สุดคือคัมภีร์อัลกุรอาน พิคธัลได้เขียนงานวรรณกรรมชิ้นสำคัญออกมาจำนวนมาก โดยส่วนใหญ่เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับประเทศในตะวันออกกลาง แต่ถึงแม้จะประทับใจกับสภาพสังคมที่มีความสามัคคีและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในโลกอิสลามขณะนั้น พิคธัลกลับใช้เวลาถึง 20 ปีกว่าที่เขาจะหันมาประกาศตนเข้ารับนับถือศาสนาอิสลาม
เหตุการณ์ที่พลิกผันชะตาชีวิตของเขาไปตลอดกาลเกิดขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 เมื่ออังกฤษประกาศสงครามกับเยอรมนี รวมทั้งตุรกีซึ่งเป็นศูนย์กลางของศาสนาอิสลามที่พิคธัลผูกพันและประทับใจ ในช่วงนี้เองบาทหลวงและนักการเมืองอังกฤษพยายามสร้างความชอบธรรมให้รัฐบาลในการทำสงครามกับตุรกีด้วยการบิดเบือนคำสอนของอิสลาม ใส่ร้ายป้ายสีท่านศาสดามูฮัมหมัดและสร้างภาพที่น่ากลัวให้กับมุสลิม วันหนึ่งหลังจากได้ฟังบทสวดมนต์ในโบสถ์ที่กล่าวพาดพึงถึงท่านศาสดามูฮัมหมัดอย่างเสียหาย พิคธัลตัดสินใจหันหลังให้กับคริสต์ศาสนาและไม่เคยกลับเข้าโบสถ์อีกเลย ในปี ค.ศ. 1917 เขาได้ตัดสินใจประกาศตนเข้ารับนับถือศาสนาอิสลามหลังจากการบรรยายในหัวข้อ “อิสลามและความก้าวหน้า” ณ สมาคมวรรณกรรมอิสลามแห่งชุมชนนอตติงฮิลล์ กรุงลอนดอน
หลังจากนั้นความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญได้เกิดขึ้นกับชีวิตของเขาทันที จากการเป็นนักเขียน นักเดินทาง และผู้เชี่ยวชาญด้านโลกตะวันออก พิคธัลถูกมองว่าเข้าข้างศัตรูของรัฐบาลคือตุรกี ด้วยแรงกดดันจากสังคมและความผิดหวังต่อรัฐบาลอังกฤษพิธัลตัดสินใจย้ายไปอินเดียและใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นเป็นเวลาร่วมสองทศวรรษ และที่อินเดียนี่เองที่พิคธัลมีโอกาสทำงานชิ้นสำคัญที่สุดในชีวิตนั่นคือการแปลอัลกุรอานเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งเขาให้ชื่อว่า The Meaning of the Glorious Qur’an ได้รับการตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1930 โดยเขายืนยันว่าผลงานของเขาเป็นเพียงความพยายามในการให้ความหมายอัลกุรอานเป็นภาษาอังกฤษ และไม่มีใครสามารถแปลอัลกุรอานได้ เพราะอัลกุรอานที่แท้จริงต้องเป็นภาษาอาหรับเท่านั้น ผลงานของพิคธัคถือเป็นหมุดหมายสำคัญของวงการการแปล และถือเป็นผลงานชิ้นเอกของอัลกุรอานฉบับแปลภาษาอังกฤษ เพราะเป็นครั้งแรกที่มุสลิมซึ่งใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่เป็นผู้แปลอัลกุรอาน พิคธัลได้ใช้ประสบการณ์ในฐานะนักเขียนและประสบการณ์ด้านภาษาและวัฒนธรรมอิสลามที่ตนเองสั่งสมมาตลอดชีวิตในการถ่ายทอดความหมายของอัลกุรอานเป็นภาษาอังกฤษได้อย่างสมบูรณ์แบบ งดงามและวิจิตรบรรจง
อัลกุรอานฉบับแปลของพิคธัลแตกต่างจากฉบับแปลภาษาอังกฤษก่อนหน้านั้นจำนวนมากซึ่งเป็นที่รับรู้กันในหมู่นักวิชาการว่าอัลกุรอานฉบับแปลเหล่านั้นมีลักษณะที่บิดเบือนไปจากคำสอนของอิสลาม โดยมีการผสมผสานอคติของผู้แปลไว้ในส่วนของคำอธิบายและเชิงอรรถ แต่เมื่อผู้อ่านมีโอกาสดื่มด่ำความหมายของอัลกุรอานจากฉบับที่แปลโดยผู้ที่ศรัทธาในอิสลามและมีการอ้างอิงคำอรรถาธิบายจากตำราที่ได้มาตรฐาน สาสน์ของอัลกุรอานจึงได้รับการถ่ายทอดไปสู่ผู้อ่านอย่างแท้จริง อคติต่างๆที่ผู้ศึกษาอัลกุรอานฉบับแปลภาษาอังกฤษเคยมีต่ออิสลามจึงเริ่มลดน้อยถอยลง
อัลกุรอานฉบับแปลภาษาอังกฤษ ผลงานของมาร์มาดูค พิคธัล |
ณ มัสยิดโวคคิงและในโลกของมุสลิมที่ใช้ภาษาอังกฤษพิคธัลได้ทิ้งตำนานอันยิ่งใหญ่ของเขาไว้ ทุกครั้งที่เราเปิดอ่านอัลกุรอานฉบับแปลภาษาอังกฤษบนอินเตอร์เน็ตหรือดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นอัลกุรอานฉบับภาษาอังกฤษมาไว้ในโทรศัพท์มือถือ อัลกุรอานฉบับแปลของพิคธัลคือตัวเลือกหนึ่งที่ยังเป็นที่นิยมตลอดกาล และนี่คือตำนานแห่งสองบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ในยุคบุกเบิกของอิสลามในสหราชอาณาจักร อันที่จริงยังมีเรื่องราวของมุสลิมอังกฤษในยุคบุกเบิกอีกหลายท่านที่มีบทบาทอย่างมากในการเผยแผ่อิสลามในสังคมอังกฤษ เช่น โรแลนด์ อัลลิสัน วินน์ (Rowland Allison-Winn) หรือ บารอนเฮดลีย์ที่ 5 (The 5th Baron Headley) ขุนนางระดับสูงของอังกฤษ หรือที่รู้จักกันในนามลอร์ดเฮดลีย์ อัลฟารุค ซึ่งมีชีวิตอยู่ในช่วงปีค.ศ. 1855 ถึง 1935 รวมทั้งเซอร์อับดุลลอฮฺ อาร์ชิบัลด์ แฮมิลตัน (Sir Abdullah Archibald Hamilton) ซึ่งเป็นเพื่อนรักของลอร์ดเฮดลีย์ อัลฟารุค โดยร่างของท่านทั้งสองถูกฝังอยู่ที่สุสานแห่งเดียวกับอับดุลลอฮฺ ควิลเลี่ยม และ มาร์มาดูค พิคธัล
เรื่องราวของชาวอังกฤษในยุควิคตอเรียผู้วางรากฐานแห่งอิสลามให้กับสังคมอังกฤษยังเป็นที่กล่าวขานอย่างไม่รู้ลืมและดวงวิญญาณของท่านเหล่านั้นได้พำนักอยู่ ณ สถานที่อันสงบสุขเพื่อรอเวลาแห่งการประทานรางวัลอันยิ่งใหญ่จากอัลลอฮฺ ในฐานะผู้ที่ทำงานอย่างแข็งขันเพื่อสานสัมพันธ์อันดีงามระหว่างมุสลิมและผู้คนต่างศาสนิกในสังคมตะวันตก ชีวิตและการงานของท่านนับเป็นแรงบันดาลใจสำคัญแก่ผู้ที่ต้องการค้นหาสัจธรรม รวมทั้งมุสลิมรุ่นหลังในการถ่ายทอดความรู้และสร้างสรรค์สิ่งดีงามให้สังคมต่อไป
Shah Jahan Mosque หรือ Woking Mosque
เป็นมัสยิดที่สร้างเพื่อเป็นศาสนสถานของอิสลามแห่งแรกของประเทศอังกฤษ (ปี ค.ศ. 1889)
|
เรียบเรียงโดย : สุรัยยา สุไลมาน
ภาควิชาภาษาตะวันตก คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
Islamic Society Online
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น