product :

วันเสาร์ที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2561

กฎหมายอิสลามเบื้องต้น : คุณค่าองค์ประกอบหลัก 5 ประการ ในศาสนาอิสลาม

กฎหมายอิสลามเบื้องต้น : คุณค่าองค์ประกอบหลัก 5 ประการ ในศาสนาอิสลาม

(อาลี เสือสมิง)



ศาสนาอิสลาม มีองค์ประกอบหลัก 5 ประการเรียกในภาษาอาหรับว่า “อัรฺกานุลฺ-อิสลาม” ได้แก่

(1) การปฏิญาณตน (อัช-ชะฮาดะฮฺ)

(2) การละหมาดฟัรฎู 5 เวลา

(3) การบริจาคซะกาฮฺ

(4) การถือศีลอดในเดือนร่อมาฎอน

(5) การประกอบพิธีฮัจญ์ ณ บัยติลลาฮฺ-อัลหะรอม


(หลักฐาน) รายงานจากอบี อับดิรเราะฮฺมาน อับดิลลาฮฺ อิบนิ อุมัร อิบนิ อัลค็อตตอบ (ร.ฎ.) ว่า : ฉันเคยได้ยินท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮฺ (سبحا نه وتعالي) กล่าวว่า :


بُنِيَ الإِسْلاَمُ عَلى خَمْسٍ : شَهَادَةِ أَنْ لاَ إِلهَ إِلاَّ الله وَأَنَّ مُحَمَّدًارَسُوْلُ اللهِ ، 
وإقَامِ الصَّلاَةِ و إيْتَاءِ الزَّكَاةِ ، و حَجِّ الْبَيتِ ، وَصَوْمِ رَمَضَانَ

رَواه البُخارِيّ ومُسْلِم


อัล-อิสลามตั้งอยู่บน 5 ประการ : (คือ) การปฏิญาณว่าไม่มีพระเจ้าองค์ใดที่ถูกเคารพสักการะโดยเที่ยงแท้นอกจากอัลลอฮฺและแท้จริงมุฮำหมัดคือศาสนทูตของอัลลอฮฺ,การดำรงละหมาด,การนำมาซึ่งการบริจาคซะกาฮฺ,การประกอบพิธีฮัจญ์ ณ บัยติลลาฮฺ และการถือศีลอดในเดือนรอมาฎอน” (รายงานโดย บุคอรีและมุสลิม)

องค์ประกอบหลักทั้ง 5 ประการในศาสนาอิสลามมีความเกี่ยวพันซึ่งกันและกัน ผู้ใดนำพาทั้ง 5 ประการอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ ผู้นั้นคือมุสลิมผู้มีศรัทธาอันสมบูรณ์ และผู้ใดละทิ้งทั้ง 5 ประการ ผู้ นั้นเป็นผู้ปฏิเสธ (กาเฟร) โดยเด็ดขาด และผู้ใดปฏิเสธประการหนึ่งประการใดจาก 5 ประการนั้น ผู้นั้นมิใช่มุสลิมโดยมติเห็นพ้อง (อัล-อิจญ์มาอฺ)

และผู้ใดมีความเชื่อในหลัก 5 ประการทั้งหมด แต่ละเลยประการหนึ่งนอกเหนือจากการปฏิญาณตน (อัชชะอาดะฮฺ) โดยเกียจคร้าน ผู้นั้นเป็นผู้ฝ่าฝืน (ฟาซิก) และผู้ใดนำพาเพียงแต่การปฏิบัติและยืนยันด้วยลิ้นของตนโดยการเสแสร้ง ผู้นั้นคือผู้กลับกลอก (มุนาฟิก) (ดร. มุสตอฟา อัลบุฆอ, มุฮัยยิดดีน มิสตู; อัลวาฟีย์ ฟี ชัรฮัล อัลอัรบะอีน อันนะวาวียะฮฺ หน้า 19)

ประเภทขององค์ประกอบหลักของศาสนาอิสลาม


องค์ประกอบหลักของศาสนาอิสลามทั้ง 5 ประการนี้แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ

(1) วจีกรรม (เกาลียะฮฺ) คือการปฏิญาณตนด้วย 2 ประโยคนั้น

(2) กิจกรรม (อะมะลียะฮฺ) คือองค์ประกอบหลักจากประการที่เหลือ ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 3 ประเภทคือ
  1. กิจกรรมทางกาย (บะดะนียะฮฺ) คือการละหมาดและการถือศีลอด
  2. กิจกรรมทางทรัพย์ (มาลิยะฮฺ) คือการบริจาคซะกาฮฺ
  3. กิจกรรมทางกายและทางทรัพย์ (บะดะนียะฮฺ-มาลิยะฮฺ) คือการประกอบพิธีฮัจญ์ และคำกล่าวของหัวใจตลอดจนงานของหัวใจถือเป็นเงื่อนไขในทุกประการ (ชัยค์ฮาฟิซ อิบนุ อะฮฺหมัด อาล-ฮุกมีย์ ; มุคตะซอร มะอาริญิลกอบูล ; หน้า 170)

คุณค่าของการปฏิญาณตน (อัช–ชะฮาดะฮฺ)


การปฏิญาณตน (อัชชะฮาดะฮฺ) ถือเป็นหลักมูลฐานสำหรับองค์ประกอบหลักในศาสนาอิสลามที่เหลืออีก 4 ประการกล่าวคือ บุคคลจะไม่เข้าสู่สิ่งหนึ่งสิ่งใดจากหลักนิติธรรมอิสลาม (จะไม่ถือว่าผู้นั้นเป็นมุสลิม) นอกจากต้องมีการปฏิญาณตนนั้น และบุคคลจะไม่ออกจากศาสนา (ตกมุรตัด) นอกจากด้วยการกระทำที่ขัดแย้งกับนัยของ 2 ประโยคที่ถูกกล่าวในการปฏิญาณตน

ด้วยเหตุนี้ ท่านนบีมุฮัมมัด (ซ.ล.) จึงไม่ได้เรียกร้องสู่สิ่งใดก่อนการปฏิญาณตนด้วยประโยคทั้งสอง และอัลลอฮฺ (سبحا نه وتعالي) จะทรงไม่ตอบรับการกระทำของผู้หนึ่งผู้ใดที่ไม่มีการปฏิญาณตนด้วย 2 ประโยคนั้น และการกล่าวปฏิญาณด้วยประโยคที่ว่า (لاَ إلهَ اِلاَّالله) เป็นการให้เอกภาพต่อพระผู้ทรงถูกเคารพสักการะโดยเที่ยงแท้ พระผู้ทรงเอกะและไม่มีภาคีใดๆสำหรับพระองค์ ในการกล่าวประโยคที่ 2 คือ (مُحَمَّدٌرَسُوْلُ اللهِ) เป็นการยอมรับในความเป็นหนึ่งเดียวของวิถีทางที่จะนำสู่การรู้จักอัลลอฮฺ (سبحا نه وتعالي) และแนวทางในการเคารพสักการะต่อพระองค์

และส่วนหนึ่งจากคุณค่าของการปฏิญาณตนด้วยประโยคทั้งสองนั้น คือ

  1. คือหนทางแห่งความผาสุขทั้งในโลกนี้และโลกหน้าการเคร่งครัดในการปฏิบัติตามนัยของประโยคทั้งสองคือ ความรอดพ้นจากนรกภูมิ และการได้รับสวนสวรรค์เป็นสิ่งตอบแทน
  2. ประโยคทั้งสองถือเป็นความโปรดปราณที่ยิ่งใหญ่ที่สุดซึ่งพระองค์อัลลอฮฺ (سبحا نه وتعالي) ทรงประทานแก่มวลบ่าวของพระองค์
  3. คือบทรำลึกถึงพระองค์อัลลอฮฺ (سبحا نه وتعالي) ที่ประเสริฐสุดอีกทั้งเป็นสิ่งที่ทำให้ตาชั่งแห่งคุณงามความดีมีน้ำหนักมากที่สุด เป็นต้น

นักวิชาการได้ระบุถึงเงื่อนไขของการกล่าวคำปฏิญาณทั้ง 2 ประโยคในการบังเกิดคุณค่าข้างต้นว่าต้องมีเงื่อนไขดังต่อไปนี้เกิดขึ้นอย่างครบถ้วน คือ

  1. มีความตระหนักรู้ถึงจุดมุ่งหมายและนัยของประโยคทั้งสอง (อัล-อิลมุ้)
  2. มีความมั่นใจ (อัล-ยะกีน) ไม่สงสัยคลางแคลง
  3. ยอมรับโดยดุษฎี (อัล-ก่อบูล)
  4. น้อมนำปฏิบัติตาม (อัล-อิงกิยาดฺ)
  5. มีความสัตย์ (อัศ-ศิดกุ้)
  6. มีความบริสุทธิ์ใจ (อัล-อิคลาศ)
  7. มีความรัก (อัล-มะฮับบะฮฺ) ในประโยคทั้งสองนั้น
(อ้างแล้ว หน้า 99-102 โดยสรุป)

คุณค่าของการละหมาด (อัศ–เศาะลาฮฺ)


การละหมาด (อัศ-เศาะลาฮฺ) ถือเป็นการประกอบศาสนกิจที่สำคัญที่สุดสำหรับชาวมุสลิม ในแต่ละวันชาวมุสลิมจะต้องปฏิบัติละหมาด 5 เวลาซึ่งเรียกว่า การละหมาดฟัรฎู 5 เวลา อันประกอบด้วย ละหมาด อัศ-ศุบหฺ,ละหมาด อัซ-ซุฮฺร์,ละหมาดอัลอัศรฺ,ละหมาดมัฆริบ และละหมาดอิชาอฺ การละหมาดถือเป็นเสาหลักของศาสนา เป็นเครื่องหมายของผู้ศรัทธา ผู้ใดละทิ้งการละหมาดโดยปฏิเสธถึงความเป็นภารกิจของการละหมาดหรือดูถูกดูแคลนการละหมาด ผู้นั้นถือเป็นผู้ปฏิเสธที่ตกจากศาสนาอิสลาม (มุรตัด)

โดยจำเป็นที่ผู้ปกครองมุสลิมต้องสั่งใช้ให้ผู้นั้นสำนึกผิดและกลับเนื้อกลับตัว (เตาบะฮฺ)ถ้าหากผู้นั้นแข็งขืนและไม่ยอมสำนึกผิดก็ย่อมมีโทษถึงขั้นประหารชีวิต (ในกรณีที่ผู้นั้นอยู่ในประเทศมุสลิมที่มีการบังคับใช้กฎหมายอิสลาม) โดยถือว่าผู้นั้นเป็นผู้ตกจากศาสนา (มุรตัด) ไม่อนุญาตให้จัดการศพของเขาอย่างชาวมุสลิม และไม่อนุญาตให้ฝังศพของเขาในสุสานของชาวมุสลิม

ส่วนผู้ใดละทิ้งการละหมาดเนื่องจากเกียจคร้านโดยเขาเชื่อว่าการละหมาดนั้นเป็นภารกิจจำเป็น ผู้นั้นจะต้องถูกบังคับจากผู้ปกครองมุสลิมให้ทำการชดใช้ (กอฎออฺ) การละหมาดและสำนึกผิดจากกรณีฝ่าฝืนดังกล่าว แต่ถ้าผู้นั้นไม่ลุกขึ้นชดใช้การละหมาดก็ให้ประหารชีวิตผู้นั้นเสียโดยถือเป็นโทษในลักษณะอาญา (อัล-ฮัดดฺ) เนื่องจากเป็นการละทิ้งสิ่งที่เป็นภารกิจจำเป็น (ฟัรฎู) และถือว่าเขาผู้นั้นเป็นมุสลิมผู้ฝ่าฝืน (ฟาซิก) มิใช่ผู้ตกศาสนา (มุรตัด) โดยปฏิบัติกับศพของเขาอย่างชาวมุสลิมตามปกติ (เก็บความจาก อัลฟิกฮุ้ล มันฮะญีย์ เล่มที่ 1 หน้า 103)

สำหรับการละหมาดนั้นมีคุณค่าและวิทยปัญญาอันมากมาย กล่าวโดยสรุป คือ
  1. การละหมาดจะชำระและขัดเกลาจิตใจให้สะอาดบริสุทธิ์
  2. การละหมาดทำให้บ่าวผู้ภักดีมีความพร้อมสำหรับการเข้าเฝ้าพระองค์อัลลอฮฺ (سبحا نه وتعالي) ในโลกดุนยาและได้ใกล้ชิดกับพระองค์ในโลกหน้า
  3. การรักษาละหมาดอย่างเคร่งครัดและปฏิบัติอย่างครบถ้วนสมบูรณ์จะเป็นสิ่งที่หักห้ามผู้ปฏิบัติละหมาดจากสิ่งน่ารังเกียจทั้งหลายตลอดจนสิ่งที่ผิดต่อหลักศีลธรรมอันดีงาม
  4. การละหมาดคือเสาหลักของศาสนาและเป็นสิ่งที่แบ่งแยกระหว่างผู้ศรัทธากับผู้ปฏิเสธ
  5. การละหมาดครบ 5 เวลาจะเป็นสิ่งที่ชำระให้ผู้ปฏิบัติละหมาดสะอาดบริสุทธิ์จากบาปเล็กทั้งหลายตราบใดที่ผู้ที่ปฏิบัติละหมาดนั้นมิได้กระทำบาปใหญ่ เป็นต้น
(เก็บความจาก มินฮาญุ้ลมุสลิม; อบูบักร ญาบิร อัลญะซาอิรีย์ หน้า 166-167)

คุณค่าของการบริจาคซะกาฮฺ


การบริจาคซะกาฮฺถือเป็นส่วนหนึ่งจากบรรดาภารกิจสำคัญของศาสนาซึ่งถือเป็นสิ่งที่รู้กันโดยภาวะจำเป็น ผู้ใดปฏิเสธความเป็นภาระกิจจำเป็นของการบริจาคซะกาฮฺผู้นั้นตกจากศาสนาอิสลามและต้องโทษประหารชีวิตยกเว้นกรณีที่ผู้นั้นเพิ่งเข้ารับอิสลาม ส่วนผู้ที่ปฏิเสธจากการบริจาคซะกาฮฺพร้อมกับมีความเชื่อว่าการบริจาคซะกาฮฺเป็นสิ่งที่จำเป็น ผู้นั้นมีบาปและถือเป็นผู้ฝ่าฝืน (ฟาซิก)

โดยผู้ปกครองมุสลิมจำต้องบังคับเอาทรัพย์ซะกาฮฺจากผู้นั้น และถ้าหากกลุ่มชนหนึ่งปฏิเสธที่จะบริจาคซะกาฮฺพร้อมกับมีความเชื่อว่าการบริจาคซะกาฮฺเป็นสิ่งจำเป็น และกลุ่มชนนั้นมีกำลังพลและอาวุธก็ให้ประมุขของรัฐอิสลามทำการสู้รบกับพวกเขาจนกว่าพวกเขาจะยอมจ่ายซะกาฮฺ (เก็บความจาก ฟิกฮุสสุนนะฮฺ,ฮัซซัยยิด ซาบิก เล่มที่ 1 หน้า 466)

ส่วนหนึ่งจากคุณค่าและประโยชน์ของการบริจาคซะกาฮฺ คือ

  1. การบริจาคซะกาฮฺที่มุสลิมได้ปฏิบัติโดยสนองรับพระบัญชาของพระองค์อัลลอฮฺ (سبحا نه وتعالي) และมุ่งแสวงหาความโปรดปราณของพระองค์ จะเป็นสิ่งที่ชำระให้ผู้บริจาคซะกาฮฺสะอาดหมดจดจากบาปโดยเฉพาะบาปที่เกิดจากความตระหนี่ถี่เหนียว
  2. การบริจาคซะกาฮฺเป็นการฝึกให้มุสลิมมีจริยธรรมในการเสียสละและการเป็นผู้ให้ตลอดจนเป็นการรักษาหัวใจให้พ้นจากการหลงโลกดุนยา
  3. การบริจาคซะกาฮฺเป็นการแสดงออกถึงความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของอัลลอฮฺ (سبحا نه وتعالي) ที่มีต่อบ่าวและยกระดับจิตวิญญาณของผู้บริจาคซะกาฮฺให้สูงส่ง
  4. การบริจาคซะกาฮเป็นการลดช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวยและนำมาซึ่งความรัก ความผูกผันระหว่างกลุ่มชนทั้งสอง อีกทั้งยังเป็นการชำระให้ทรัพย์สินมีความบริสุทธิ์และทำให้ทรัพย์สินนั้นมีความจำเริญและเพิ่มพูน
  5. การบริจาคซะกาฮฺเป็นการทำให้ระบบเศรษฐกิจมีการหมุนเวียนและเป็นการประกันสังคม
(เก็บความจาก ฟิกฮุซ-ซะกาฮฺ ; ดร. ยูซุฟ อัลกอรฏอวีย์ เล่มที่ 2 หน้า 707-934)

คุณค่าและประโยชน์ของการถือศีลอด (อัสเศามฺ)


การถือศีลอด (อัส-เศามฺ) ในเดือนรอมาฎอนเป็นส่วนหนึ่งจากองค์ประกอบหลัก 5 ประการในศาสนาอิสลาม ผู้ใดปฏิเสธความเป็นภารกิจจำเป็นของการถือศีลอด ผู้นั้นเป็นผู้ปฏิเสธ กล่าวคือ ผู้นั้นจะได้รับการปฏิบัติเยี่ยงผู้ตกศาสนา (มุรตัด) โดยจะถูกร้องขอให้มีการสำนึกผิด (เตาบะฮฺ) ถ้าหากผู้นั้นยังคงยืนกรานก็ต้องถูกประหารชีวิตตามกฎหมายลักษณะอาญาทั้งนี้ในกรณีที่ผู้นั้นมิใช่ผู้ที่เพิ่งเข้ารับอิสลามหรือเติบโตในสถานที่ห่างไกลจากบรรดาผู้รู้ทางศาสนา

ส่วนผู้ใดละทิ้งการถือศีลอดโดยไม่มีอุปสรรคที่ศาสนาผ่อนผันให้และมิได้ปฏิเสธความเป็นภารกิจจำเป็นของการถือศีลอด ผู้นั้นเป็นผู้ฝ่าฝืน (ฟาซิก) มิใช่เป็นผู้ปฏิเสธ (กาฟิร) และจำเป็นที่ผู้ปกครองมุสลิมจะต้องคุมขังผู้นั้นและห้ามมิให้ผู้นั้นได้รับอาหารและเครื่องดื่มในช่วงเวลากลางวัน เพื่อให้มีการถือศีลอดเกิดขึ้นกับผู้นั้น ถึงแม้จะเป็นเพียงรูปลักษณ์ภายนอกก็ตาม (อัลฟิกฮุลมันฮะญี่ย์ เล่มที่ 2 หน้า 74)

ส่วนหนึ่งจากคุณค่าและประโยชน์ของการถือศีลอด (อัส-เศามฺ) คือ

  1. การถือศีลอดอย่างถูกต้องตามกฎเกณฑ์ที่ศาสนากำหนดเอาไว้จะปลุกจิตสำนึกของผู้ศรัทธาให้รับรู้ถึงการสอดส่องของพระองค์อัลลอฮฺ (سبحا نه وتعالي) และเตือนให้ผู้ศรัทธาตระหนักอยู่เสมอว่าตนเป็นบ่าวผู้ยอมจำนนต่อคำบัญชาและพระประสงค์ของพระองค์
  2. การถือศีลอด (อัส-เศามฺ) เป็นการยกระดับจิตวิญญาณให้มีความสูงส่งและเป็นการฝึกให้มีความเคยชินต่อความอดทนอดกลั้นตลอดจนการต่อสู้กับอารมณ์ใฝ่ต่ำ
  3. เป็นการกระทำให้ผู้ถือศีลอดรับรู้ถึงคุณค่าของความโปรดปราณที่พระองค์อัลลอฮฺ (سبحا نه وتعالي) ทรงประทานให้ โดยบุคคลจะรับรู้ถึงคุณค่าของความอิ่มที่เกิดจากการทานอาหารและการดื่มน้ำก็ต่อเมื่อเขามีความหิวโหยและความกระหาย อีกทั้งยังทำให้บุคคลรับรู้ถึงความลำบากของผู้ขัดสนที่ต้องประสบกับความหิวโหยอยู่เสมอ อันจักนำไปสู่ความเมตตาสงสารแก่พวกเขาเหล่านั้น
  4. มีข้อมูลทางการแพทย์และงานวิจัยทางวิชาการได้ยืนยันถึงคุณประโยชน์ของการอดอาหารและช่วงเวลาที่บุคคลจะมีความเคยชินในการปฏิบัติจนเป็นนิสัย การถือศีลอดในเดือนรอมาฎอนจึงเป็นกิจกรรมที่มีส่วนสำคัญต่อการสร้างสุขภาพพลานามัยและนิสัยที่ดีของผู้ถือศีลอดอย่างไม่ต้องสงสัย
(เก็บความจาก ฟิกฮุซ-ซิยาม;ดร. ยูซุฟ อัลกอรฏอวีย์ หน้า 11-15)

คุณค่าและประโยชน์ของการประกอบพิธีฮัจญ์


การประกอบพิธีฮัจญ์สำหรับผู้ที่มีความสามารถและมีคุณสมบัติครบถ้วนตามศาสนบัญญัติถือเป็นภารกิจจำเป็น (ฟัรฎู) ด้วยมติเห็นพ้องของประชาชาติมุสลิมและถือเป็นหนึ่งในองค์ประกอบหลัก 5 ประการของศาสนาอิสลาม ผู้ใดปฏิเสธความเป็นภารกิจจำเป็นของการประกอบพิธีฮัจญ์ผู้นั้นตกจากศาสนาอิสลาม (มุรตัด) ทั้งนี้เนื่องจากผู้นั้นได้ปฏิเสธสิ่งที่ได้รับการยืนยันเอาไว้อย่างเด็ดขาดในคัมภีร์อัลกุรฺอาน, อัสสุนนะฮฺและอิจญ์มาอฺ (อัลฟิกฮุลมันฮะญีย์ เล่มที่ 2 หน้า 115)

คุณค่าและประโยชน์ของการประกอบพิธีฮัจญ์นั้นมีมากมาย ส่วนหนึ่งจากสิ่งดังกล่าว คือ

  1. ในทุกขั้นตอนของการประกอบพิธีฮัจญ์นับแต่เริ่มต้นจวบจนเสร็จสิ้นล้วนแต่มีการแสดงออกถึงความเป็นบ่าวผู้นอบน้อมและเป็นการให้เอกภาพต่อพระองค์อัลลอฮฺ (سبحا نه وتعالي) ในการเคารพสักการะ (อิบาดะฮฺ) เพียงพระองค์เดียว
  2. การเดินทางสู่บัยติลลาฮฺ อัลหะรอมและการประกอบพิธีกรรมตามที่ศาสนาบัญญัติเอาไว้ในพิธีฮัจญ์เป็นสิ่งที่มีรูปลักษณ์ในเชิงปริศนาธรรมสำหรับโลกหน้าและชีวิตหลังความตาย ซึ่งรูปลักษณ์ดังกล่าวมีเป้าหมายให้ผู้ประกอบพิธีฮัจญ์ได้รำลึกถึงบั้นปลายของชีวิต การห่างไกลจากความเพลิดเพลินในชีวิตที่สุขสบาย และเตรียมพร้อมสำหรับชีวิตอันเป็นนิรันดร์ในโลกหน้า
  3. ในการเดินทางของผู้ประกอบพิธีฮัจญ์สู่นครมักกะฮฺเป็นการเปิดโลกทัศน์และความคิดให้กว้างไกลและเป็นการฝึกให้มีความอดทนอดกลั้นต่อความลำบากในการดำเนินชีวิตและการฟันฝ่าอุปสรรคนานัปการ
  4. การประกอบพิธีฮัจญ์ถือเป็นโอกาสสำคัญที่บรรดามุสลิมทั่วโลกจะได้มาพบปะและมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันโดยไม่มีการแบ่งแยกชาติพันธุ์, สีผิวและภาษา ตลอดจนเป็นการร่วมชุมนุมของมนุษยชาติที่เป็นประชาชาติเดียวกันซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเป็นสากลของหลักคำสอนแห่งอิสลามที่มีความเป็นภราดรภาพและความเสมอภาคอย่างเป็นรูปธรรม
(เก็บความจากกิตาบอัล-อิฎออฺ ฟี มะนาซิกิลฮัจญ์ วัลอุมเราะฮฺ ; อิหม่ามอันนะวาวีย์ หน้า 30-39)


แหล่งที่มา http://alisuasaming.org/


#นิติศาสตร์อิสลาม_Islamic_Society_Online
Islamic Society Online



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความแนะนำ

World Clock

Featured Posts

เรื่องราวของสองอารยธรรม : อารยธรรมของชาวไวกิ้งและมุสลิม

เรื่องราวของสองอารยธรรม : อารยธรรมของชาวไวกิ้งและมุสลิม โดย : Cem Nizamoglu และ Sairah Yassir-Deane ย้อนหลังไปถึงมีนาคม 2015 ข่าวเกี่ยวก...