product :

วันเสาร์ที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2561

กฎหมายอิสลามเบื้องต้น : ว่าด้วยครอบครัวและมรดก

กฎหมายอิสลามเบื้องต้น : ว่าด้วยครอบครัวและมรดก

(อาลี เสือสมิง)

กฎหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัว เรียกในภาษาอาหรับว่า อะฮฺกาม-อัลอุสเราะฮฺ (أَحْكَامُ الأُسْرَةِ) หมายถึง บรรดาหลักการที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ของมนุษย์กับครอบครัวโดยเริ่มต้นด้วยการสมรส (อัน-นิกาหฺ) และสิ้นสุดลงด้วยการจัดการแบ่งทรัพย์มรดก นักกฎหมายอิสลามร่วมสมัยเรียกกฎหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัวและมรดกว่า อัล-อะหฺวาล-อัชชัคซียะฮฺ (اَلأَحْوَالُ الشَّخْصِيَّةُ) (ดร.วะฮฺบะฮฺ อัซซุฮัยลีย์ ; อัลฟิกฮุล-อิสลามีย์ฯ เล่มที่ 7/6)


การนิกาหฺ (การสมรส)


นิกาหฺ (النِّكَاحُ) ตามหลักภาษาหมายถึง การรวมหรือการมีเพศสัมพันธ์หรือการทำข้อตกลง

นิกาหฺ ตามหลักกฎหมายอิสลาม หมายถึง การผูกนิติสัมพันธ์สมรสระหว่างชายหญิง เพื่อเป็นสามีภรรยาโดยพิธีสมรส (หลักกฎหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัวและมรดก ; สำนักพิมพ์ ส.วงศ์เสงี่ยม ; หน้า 22)

คำว่า นิกาหฺในทัศนะของนักนิติศาสตร์มูลฐานและนักภาษาศาสตร์มีความหมายแท้จริง (หะกีกีย์) ในการมีเพศสัมพันธ์และเป็นโวหาร (มะ-ญาซีย์) ในการทำข้อตกลง ส่วนในทัศนะของนักกฎหมายอิสลามในมัซฮับทั้งสี้ คำว่า นิกาหฺ มีความหมายแท้จริงในการทำข้อตกลง และเป็นโวหารในการมีเพศสัมพันธ์ (ดร.วะฮฺบะฮฺ อัซซุฮัยลีย์ อ้างแล้ว เล่มที่ 7/30)

ศาสนาอิสลามส่งเสริมให้มีการสมรส เพื่อเป็นการสืบเผ่าพันธุ์มนุษยชาติ และเป็นการสร้างความบริสุทธิ์ให้แก่คู่สามีภรรยาจากการประพฤติผิดสิ่งที่ศาสนาบัญญัติห้ามเอาไว้ ตลอดจนเป็นการสร้างครอบครัวซึ่งระบอบทางสังคมจะมีความสมบูรณ์ได้ด้วยครอบครัวที่มีหลักคำสอนของศาสนาและศีลธรรมอันดีเป็นสิ่งควบคุมพฤติกรรมของสมาชิกในครอบครัว

การสมรสเป็นสิ่งที่ถูกบัญญัติตามหลักการของศาสนา
โดยมีหลักฐานจากตัวบทของอัลกุรฺอาน, อัล-หะดีษ และอิจญ์มาอฺ

หลักฐานจากอัลกุรฺอาน ได้แก่ พระดำรัสที่ว่า :


فَانْكِحُواْ مَا طَابَ لَكُم مِنَ النِّسَاءِ مَثْنَى وَثُلاَثَ وَرُبَاعَ فَإِنْ خِفْتُمْ أَلاَّ تَعْدِلُواْ فَوَاحِدَةً…


ดังนั้นสูเจ้าทั้งหลายจงสมรสกับสตรีที่เป็นที่พึงพอใจสำหรับสูเจ้าทั้งหลาย สองคน สามคน และสี่คน ดังนั้นหากสูเจ้าทั้งหลายเกรงว่าจะไม่สามารถให้ความเป็นธรรม (ระหว่างพวกนางได้) ก็จงสมรสกับสตรีคนเดียว

(สูเราะฮฺอัน-นิสาอฺ อายะฮฺที่ 3)

หลักฐานจากอัล-หะดีษ ได้แก่ หะดีษที่รายงานจากท่านอับดุลลอฮฺ อิบนุ มัสอูด (ร.ฎ.) ว่า ท่านนบี (صلى الله عليه وسلم) ได้กล่าวว่า :


يَامَعْشَرَالشَّبَابِ ، مَنِ اسْتَطَاعَ مِنْكُمُ الْبَاءَةَ فَلَيْتَزَوَّجْ ، فَإنَّه أَغَضُّ لِلْبَصَرِ وَأَحْصَنُ لِلْفَرْجِ ، وَمَنْ لَمْ يَسْتَطِعْ فَعَلَيْهِ بِالصَّوْمِ فَإنَّه لَه وِجَاءٌ ” 
  “ متفق عليه 


โอ้บรรดาคนหนุ่มทั้งหลาย ผู้ใดจากพวกท่านมีความสามารถในค่าใช้จ่ายของการสมรส ผู้นั้นก็จงสมรสเถิดเพราะการสมรสคือสิ่งที่ทำให้สายตานั้นลดต่ำลงเป็นที่สุด และเป็นการป้องกันอวัยวะเพศได้ดีที่สุด และผู้ใดไม่มีความสามารถ ก็ให้ผู้นั้นถือศีลอดเถิด เพราะการถือศีลอดคือการลดทอนกำหนัดสำหรับผู้นั้น” (รายงานพ้องกันโดยบุคอรีและมุสลิม)


และประชาชาติมุสลิมต่างก็เห็นพ้องเป็นมติเอกฉันท์ว่าการสมรสเป็นสิ่งที่ถูกบัญญัติตามหลักการของศาสนา (ดร.วะฮฺบะฮฺ อัซซุฮัยลีย์ อ้างแล้ว 7/31)

อย่างไรก็ตาม นักกฎหมายอิสลามได้พิจารณาถึงข้อชี้ขาดของการสมรสซึ่งอาจจะมีความแตกต่างกันไปตามสถานภาพและสภาวะของบุคคล ดังนี้

เป็นสิ่งจำเป็น (ฟัรฎู) ในกรณีเมื่อบุคคลมั่นใจว่าตนจะตกไปสู่การผิดประเวณี (ซินา) หากไม่ทำการสมรสและบุคคลผู้นั้นมีความสามารถในการจ่ายมะฮัรและค่าเลี้ยงดูภรรยาตลอดจนดำรงสิทธิและหน้าที่ตามที่ศาสนากำหนดเอาไว้

เป็นสิ่งต้องห้าม (หะรอม) ในกรณีเมื่อบุคคลมั่นใจว่าตนจะอธรรมต่อสตรีและประทุษร้ายต่อนางเมื่อเขาได้สมรสกับนาง โดยบุคคลผู้นั้นไร้ความสามารถจากการรับภาระในค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องและผูกพันกับการสมรส

เป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ (มักรูฮฺ) ในกรณีที่เกรงว่าบุคคลจะมีพฤติกรรมดังเช่นในข้อที่ 2 แต่ไม่ถึงขั้นแน่นอนว่าจะต้องเป็นเช่นนั้น หรือบุคคลผู้นั้นมีข้อบกพร่อง เช่น ชราภาพ มีโรคเรื้อรัง เป็นต้น

เป็นสิ่งที่ส่งเสริม (มุสตะหับ) ในกรณีที่บุคคลไม่มีสภาพหรือพฤติกรรมดังที่กล่าวมาใน 3 ข้อแรก แต่นักวิชาการสังกัดมัซฮับชาฟิอีย์ ถือว่าการสมรสในกรณีนี้มีข้อชี้ขาดว่า เป็นสิ่งที่อนุญาต (มุบาฮฺ) คือ บุคคลมีสิทธิที่จะเลือกได้ระหว่างการสมรสหรือไม่สมรส และกรณีที่ไม่สมรสแล้วใช้เวลาไปในการประกอบศาสนกิจและแสวงหาความรู้ก็ย่อมถือว่าดีกว่าการสมรส (ดร.วะฮฺบะฮฺ อัซซุฮัยลีย์ อ้างแล้ว 7/31-32)


แหล่งที่มา http://alisuasaming.org/


#นิติศาสตร์อิสลาม_Islamic_Society_Online
Islamic Society Online



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความแนะนำ

World Clock

Featured Posts

เรื่องราวของสองอารยธรรม : อารยธรรมของชาวไวกิ้งและมุสลิม

เรื่องราวของสองอารยธรรม : อารยธรรมของชาวไวกิ้งและมุสลิม โดย : Cem Nizamoglu และ Sairah Yassir-Deane ย้อนหลังไปถึงมีนาคม 2015 ข่าวเกี่ยวก...