ความรู้่เรื่องอัลกุรอานเบื้องต้น
อัลกุรอาน
อัลกุรอาน เป็นชื่อคัมภีร์ของศาสนาอิสลาม อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ทรงประทานอัลกุรอาน แด่ท่านศาสดามุหัมมัด (ช.ล.) โดยผ่านยิบรีล เพื่อให้ประกาศแก่มนุษย์ทั่วโลก
อัลกุรอาน ถูกประทานครั้งแรกในคืน อัลก็อดริ คืนอันจำเริญ ซึ่งเป็นคืนหนึ่งในเดือนรอมฎอน เดือนที่ 9 ของปีอาหรับ
อัลกุรอาน ถูกประทานลงมายังท่านศาสดามุหัมมัด (ช.ล.) เป็นระยะๆ ทั้งที่มักกะฮฺและมดีนะฮฺ ตามเหตุการณ์ รวมเวลา 23 ปี คือ ตั้งแต่ท่านศาสดามุหัมมัด (ช.ล.) อายุ 40 ปี ถึงอายุ 63 ปี
อัลกุรอาน คำตรัสของอัลลอฮฺ เป็นทางนำอันเที่ยงตรง ไม่มีความเท็จใดๆ ในอัลกุรอาน ไม่มีการแก้ไข ต่อเติม หรือ เปลี่ยนแปลง และไม่มีข้อความใดในอัลกุรอานที่ขัดแย้งกัน แต่จะมีข้อความ ที่อธิบายซึ่งกันและกัน
อัลกุรอาน เป็นภาษาอาหรับ แบ่งออกเป็นส่วน เรียก “ญุซ” มีทั้งหมด 30 ญุซ ถ้านับเป็นบท มี 114 บท บทในอัลกุรอาน เรียกว่า ซูเราะห์ แต่ละซูเราะห์ แบ่งออกเป็นโองการ เรียกว่า “อายะฮฺ”
อัลกุรอาน เป็นธรรมนูญแห่งชีวิตมุสลิม
อัลกุรอาน บอกทุกสิ่งทุกอย่างในการดำเนินชีวิต ตั้งแต่การเคารพภักดีอัลลอฮฺองค์เดียว การปฏิบัติต่อพ่อแม่ การปฏิบัติตนต่อบุคคลอื่น การทำความดี และห้ามปรามความชั่ว จรรยา มารยาท การศึกษา ความอดทน การอาชีพ การเศรษฐกิจ การปกครอง การแต่งงาน การแบ่งมรดก การชำระหนี้ ประวัติศาสตร์ประชาชาติในอดีต ฯลฯ
มุสลิมทุกคนต้องอ่านอัลกุรอานให้ได้ และต้องอ่านเป็นประจำ รวมทั้งต้องศึกษา ให้เข้าใจความหมาย เพื่อที่จะได้เข้าใจพระบัญชาของอัลลอฮฺได้ถูกต้อง และเมื่อได้ยินเสียงอ่านอัลกุรอาน ทุกคนต้องเงียบ ตั้งใจฟังคำตรัสของอัลลอฮฺ เพื่อที่จะได้รับความเมตตาจากอัลลอฮฺเพิ่มขึ้น
__________________________________________________________
อัลกุรอาน
อัลกุรอาน มาจากรากศัพท์ในภาษาอาหรับแปลว่า การอ่าน หรือ การรวบรวม อัลลอหฺ (ซบ) ได้ทรงประทานคัมภีร์อัลกรุอานแก่ นบีมุฮัมมัด (ศ) ซึ่งเป็นศาสนทูตคนสุดท้าย และคัมภีร์นี้ก็เป็นคัมภีร์สุดท้ายที่พระผู้เป็นเจ้าได้ส่งมาให้แก่มวล มนุษยชาติ หลังจากนี้แล้วจะไม่มีคัมภีร์ใด ๆ จากพระผู้เป็นเจ้าอีก คัมภีร์กรุอานนี้ได้ประทานมาเพื่อยกเลิกคัมภีร์เก่า ๆ ที่เคยได้ทรงประทานมาในอดีตนั่นคือคัมภีร์เตารอต (Torah) ที่เคยทรงประทานมาแก่ศาสดามูซา คัมภีร์ศะบูร (Psalm) ที่เคยทรงประทานมาแก่ศาสดาดาวูด (David) และ คัมภีร์อินญีล (Evangelis) ที่เคยทรงประทานมาแก่ศาสดาอีซา (Jesus) เป็นคัมภีร์ที่บริบูรณ์ไม่มีการเพี้ยนเปลี่ยนแปลง ภาษาของอัลกุรอานนั้นคือภาษาอาหรับ ซึ่งเป็นภาษาของศาสดามุฮัมมัดนั่นเอง
การ ศรัทธาในคัมภีร์อัลกุรอานทั้งเล่มเป็นหลักการหนึ่งที่มุสลิมทุกคนต้องศรัทธา นั่นก็หมายความว่าหากไม่ศรัทธาในอัลกุรอาน หรือศรัทธาเพียงบางส่วนก็จะเป็นมุสลิมไม่ได้ เช่นเดียวกับที่ต้องศรัทธาว่าคัมภีร์อัลกุรอานที่มีอยู่ในปัจจุบันนี้มีความ บริบูรณ์ภายใต้การพิทักษ์ของอัลลอหฺพระผู้เป็นเจ้า ด้วยเหตุนี้จึงไม่มีการสังคายนาอัลกุรอานเลยตั้งแต่วันที่ท่านนบีชีวิตจน กระทั่งถึงปัจจุบัน ด้วยพระประสงค์ของอัลลอหฺภาษาอาหรับจึงเป็นภาษาโบราณภาษาเดียวที่มีชีวิต อยู่จนกระทั่งวันนี้ได้ และได้กลายเป็นภาษามาตรฐานของประเทศอาหรับทั้งหลาย เป็นภาษาวิชาการของอิสลาม และเป็นภาษาที่ใช้ในการปฏิบัติศาสนพิธีของมุสลิมทุกคนทั่วโลก
ในราวปี ค.ศ.๖๑๐ เมื่อมุฮัมมัดนั่งบำเพ็ญตนอยู่ในถ้ำบนยอดเขาฮิรออ์อย่างที่เคยทำเป็นประจำ ญิบรีลฑูตแห่งอัลลอหฺก็ปรากฏตนขึ้น และนำพระโองการจากพระผู้เป็นเจ้ามีความว่า
จงอ่านเถิด ด้วยพระนามแห่งผู้อภิบาล ผู้ทรงให้บังเกิด พระองค์ผู้ทรงให้มนุษย์เกิดมาจากเลือดก้อนหนึ่ง
จงอ่านเถิด และพระผู้อภิบาลของเธอนั้นคือผู้ทรงใจบุญยิ่ง ผู้ทรงสอนมนุษย์ด้วยปากกา ทรงสอนมนุษย์ในสิ่งที่เขาไม่รู้...(อัลอะลัก)
ตั้งแต่ นั้นมา มุฮัมมัดก็ได้กลายเป็นศาสนฑูตของอัลลอหฺที่ต้องรับหน้าที่ประกาศศาสนาของอัล ลอหฺ นั่นคือศาสนาอิสลาม ที่ตั้งอยู่บนหลักการไม่บูชาสิ่งอื่นใดนอกจากอัลลอหฺ การวิวรณ์ การรับสาส์น หรือโองการจากอัลลอหฺนั้นเรียกในภาษาอาหรับว่า วะฮีย์ ศาสดามุฮัมมัดได้รับวะฮีย์เป็นคราวๆทะยอยลงมาเรื่อยๆ จากวะฮีย์แรกถึงวะฮีย์สุดท้ายใช้เวลา ๒๓ ปี ทุกครั้งที่วะฮีย์ลงมา ท่านศาสนฑูตจะประกาศให้สาวกของท่านทราบ เพื่อจะได้ไปประกาศให้คนอื่นทราบอีกต่อไป สาวกจะพยายามท่องจำวะฮีย์ที่ลงมานั้นจนขึ้นใจ และท่านศาสดาจะสั่งให้อาลักษณ์ของท่านบันทึกลงในสมุดที่ทำด้วยหนังสัตว์ กระดูก หรือสิ่งอื่นๆที่สามารถเก็บรักษาไว้ได้
__________________________________________________________
คัมภีร์อัลกุรอานสุดยอดของวาทศิลป์
ชาวอาหรับสมัยนั้นเก่งกาจในเชิงกวีนิพนธ์ มีกวีลือนามปรากฏอยู่ทุกเผ่า ที่กะอฺบะหฺนั้นก็มีบทกวีที่แต่งโดยเจ็ดยอดกวีอาหรับ เขียนด้วยน้ำทองคำแขวนอยู่ ในงานแสดงสินค้าประจำปีที่ อุกาศ ในอาราเบีย ที่จัดให้อาหรับทุกเผ่าพันธุ์มาพบปะแลกเปลี่ยนสินค้าและวัฒนธรรม ก็จะมีกิจกรรมที่สำคัญที่สุดร่วมอยู่ด้วยนั่นคือการประชันบทกวี
อันลักษณะของคัมภีร์อัลกรุอานนั้นอยู่กึ่งกลางระหว่างร้อยแก้วและร้อยกรอง คัมภีร์อัลกรุอานจึงเป็นสิ่งท้าทายที่พิศดารสำหรับชาวอาหรับ เพราะเป็นร้อยแก้วมีความไพเราะได้โดยไม่ต้องใช้มาตราสัมผัสและบทวรรคตามกฏของกวีนิพนธ์ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ชาวอาหรับฉงนใจว่า คนที่ไม่เคยแต่งโคลงกลอนและอ่านเขียนไม่ได้อย่างมุฮัมมัด จะต้องไม่ใช่ผู้แต่งอัลกุรอานเป็นแน่
อัลกุรอานแบ่งออกเป็นบท เรียกว่า ซูเราะหฺ ซึ่งมีทั้งหมด ๑๑๔ ซูเราะหฺ แต่ละซูเราะหฺ แบ่งเป็นวรรคสั้นยาวไม่เท่ากัน เรียกว่า อายะหฺ (แปลว่า สัญลักษณ์) ซึ่งอัลกรุอานมีอายะหฺทั้งหมด ๖๒๓๖ อายะหฺ ตามการนับมาตรฐาน (ดู คัมภีร์มาตรฐานที่พิมพ์โดยรัฐบาลซาอุดิอารเบีย) เนื้อหาในอัลกุรอานนั้นแบ่งได้สามหมวดคือ หนึ่งเกี่ยวกับหลักการศรัทธาต่ออัลลอหฺ พระผู้เป็นเจ้า ความเร้นลับที่มีอยู่ในและนอกกาละและเทศะ หมวดที่สองคือพงศาวดารของประชาติก่อนอิสลาม และคำพยากรณ์สำหรับอนาคตกาล หมวดที่สามเป็นนิติบัญญัติสำหรับมนุษย์ที่จะต้องนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน ในแต่ละซูเราะหฺหรือแม้ในแต่ละวรรคอาจจะมีที่ระบุถึงสามหมวดในเวลาเดียวกัน
คัมภีร์ อัลกรุอานมีความมหัศจรรย์หลายอย่าง ประการแรกก็คือความไพเราะที่กวีทุกคนต้องยองสยบ ประการที่สองคือการเปิดเผยความลี้ลับของศาสตร์และวิทยาการแขนงต่าง ๆ ที่คนสมัยนั้นยังไม่ทราบ การเปิดเผยพงศาวดารในอดีต การพยากรณ์อนาคต การเปิดเผยความลี้ลับที่วิทยาศาสตร์ยังไม่รู้ ดั่งเช่น การระบุถึงการขยายตัวของจักรวาล คลื่นใต้น้ำ และบทบาทของลมในการผสมพันธ์ของต้นไม้เป็นต้น
การที่ภาษาอาหรับเป็นภาษาที่ไม่แก่เฒ่าหรือตายเหมือนภาษาอื่นๆ และการที่วิทยาการที่มีระบุในคัมภีร์อัลกรุอานไม่เคยล้าสมัย อีกทั้งคำสั่งสอนของอัลกุรอานก็เอาหลักตรรกวิทยาและปัญญาเป็นพื้นฐาน คัมภีร์ที่เก่าแก่นานถึง ๑๔๐๐ ปีนี้จึงไม่ได้เก่าแก่ตามอายุ ทว่ายังใช้การได้ประดุจดังคัมภีร์นี้เพิ่งลงมาเมื่อวันนี้นี่เอง
ด้วยความมหัศจรรย์ของกรุอานดังที่กล่าวมาคือปาฏิหาริย์อันยิ่งใหญ่ ที่อัลลอหฺได้ทรงประทานให้แก่ท่านนบีมูฮัมมัด เพื่อยืนยันว่า อัลกรุอานเป็นโองการของพระผู้เป็นเจ้าอย่างแท้จริงไม่ใช่กวีนิพนธ์ของมนุษย์
และถ้าพวกเธอยังแคลงใจใน(อัลกรุอาน)ที่เราประทานแก่บ่าวของเรา พวกเธอก็จงนำมาสักบทหนึ่งเยี่ยงนั้น และจงเรียกผู้ช่วยเหลือของพวกเธอมา -นอกจากอัลลอหฺ- ถ้าพวกเธอแน่จริง
หลังจากศาสดามุฮัมมัดประกอบพิธีฮัจญ์ในมักกะหฺ อัลลอหฺก็ได้ทรงประทานโองการอันสุดท้าย นั่นคือ
วันนี้ฉันได้ทำให้ศาสนาของพวกเธอสมบูรณ์ และฉันได้ทำให้ความโปรดปรานของฉันที่มีต่อพวกเธอนั้นบริบูรณ์ และฉันได้เลือกให้อิสลามเป็นศาสนาของพวกเธอ (อัลมาอิดะหฺ ๓)
การ เรียบเรียงโองการนั้นไม่ได้ถือหลักระดับก่อนหลังเป็นหลัก ทว่าอัลลอหฺเป็นผู้ทรงกำหนดวิธีการเรียง โองการที่ลงมาตอนท่านศาสดาอพยพ ซึ่งที่เรียกว่า มักกียะหฺ ก็อาจจะเข้าไปอยู่ในบทที่มีโองการที่ลงมาหลังอพยพไปมะดีนะหฺ คือทีเรียกว่า มะดะนียะหฺ ก่อนญิบรีลจะมาฟังท่านศาสดาอ่านทบทวนโองการที่ได้รับปีละครั้งทุกๆปี แต่ในปีสุดท้ายก่อนท่านศาสดาจะเสียชีวิตนั้น ญิบรีลได้มาฟังท่านศาสดาอ่านทบทวนอัลกุรอานสองครั้งเพื่อความมั่นใจว่าท่าน ศาสดาได้จดจำโองการทั้งหมด โดยไม่มีที่ตกบกพร่อง ท่านศาสดาเสียชีวิตหลังจากโองการอัลกุรอานได้รวบรวมขึ้นเป็นเล่มบริบูรณ์
เนื่องด้วยอัลกุรอานเป็นธรรมนูญของอิสลาม จึงเกิดมีวิทยาการใหญ่ๆแตกแขนงมาจากอัลกุรอานหลายสาขา เช่น วิชาตัจญวีด ซึ่งเป็นวิชาเกี่ยวกับการอ่านอัลกุรอานให้ถูกต้อง วิชาอุลูมอัลกุรอาน หรือที่เรียกว่า อุสูลอัลกุรอาน เป็นวิชาที่เกี่ยวข้องกับประวัติความเป็นมาของอัลกุรอาน ศึกษาว่าโองการแต่ละโองการลงมาที่ไหนเมื่อไหร่และเหตุใด อันเป็นส่วนช่วยในการตีความหมายอัลกุรอาน หรือที่เรียกว่า ตัฟซีรอัลกุรอาน
ตั้งอดีตจนกระทั่งปัจจุบันได้มีนักปราชญ์อิสลามหลายสิบท่านที่ได้แต่งหนังสือตีความหมายอัลกุรอาน เราเรียกหนังสืออรรถาธิบายนี้ว่า หนังสือตัฟซีร และเรียกผู้แต่งว่า มุฟัซซิร การตีความหมายอัลกุรอานจะใช้หลักของอุลูมอัลกุรอานดังกล่าวบวกเข้ากับพระวจนะของท่านศาสดา ภาษาศาสตร์ และวิทยาการอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ในปัจจุบันนี้ชาวมุสลิมจะอ้างอิงหนังสือตัฟซีรเก่า ๆ เป็นหลักในการเขียนตัฟซีรใหม่ หรือในการแปลความหมายอัลกุรอานเป็นภาษาอื่น ๆ
ที่มา : https://basictajweed.wordpress.com/
#Quran_Islamic_Society_Online
Islamic Society Online
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น