product :

วันศุกร์ที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2561

ทัศนาประวัติศาสตร์มุสลิมที่มัสยิดต้นสน

ทัศนาประวัติศาสตร์มุสลิมที่มัสยิดต้นสน



“มัสยิดต้นสน” ชุมชนอิสลามเก่าแก่ในบางกอก


มัสยิดต้นสน มัสยิดสำคัญในฝั่งธนบุรี

กรุงเทพฯ ถือเป็นมหานครอีกแห่งหนึ่งที่มีผู้คนหลากเชื้อชาติต่างศาสนาอาศัยอยู่ร่วมกันมาอย่างยาวนาน ไม่ว่าจะเป็นชาวจีน ลาว เขมร ฝรั่ง แขก ฯลฯ เพราะเรามีการติดต่อค้าขายกับต่างชาติมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน อีกทั้งชาวต่างชาติเหล่านี้ก็ยังมีส่วนช่วยเหลือในการกอบกู้เอกราชของชาติ โดยมาร่วมเป็นกองอาสาต่างชาติช่วยในการศึกสงครามและบูรณะบ้านเมืองทั้งในสมัยกรุงศรีอยุธยาและกรุงธนบุรีอีกด้วย

เมื่อชาวต่างชาติเหล่านี้มาอยู่ร่วมกันมากๆเข้า จึงได้มีการสร้างศาสนสถานตามศาสนาที่ตนเองนับถือขึ้น ดังนั้นในบางชุมชนเราจึงเห็นศาลเจ้าตั้งอยู่ใกล้กับโบสถ์คริสต์ โบสถ์คริสต์ตั้งอยู่ใกล้วัด วัดตั้งอยู่ใกล้มัสยิด ซึ่งความแตกต่างที่อยู่รวมกันได้อย่างสันตินี้เอง ที่เป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของกรุงเทพฯ

ภายในมัสยิด

มีชุมชนต่างชาติแห่งหนึ่งในย่านบางกอกใหญ่ เป็นชุมชนเก่าแก่อยู่อาศัยกันมายาวนานตั้งแต่ “กรุงเทพฯ” ยังเป็นเพียง “บางกอก” อีกทั้งมีประวัติความเป็นมาน่าสนใจจนฉันอยากจะแนะนำให้รู้จัก นั่นก็คือชุมชนชาวอิสลามที่ “มัสยิดต้นสน” หรือ “กะดีใหญ่” มัสยิดที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ และมีความสำคัญมากที่สุดแห่งหนึ่งอีกด้วย

ชาวชุมชนมัสยิดต้นสนนี้ เชื่อว่าน่าจะมีการรวมตัวกันเป็นชุมชนมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา โดยเป็นชาวมุสลิมเชื้อสายจามที่เข้ามาเป็นกองอาสาต่างชาติในสมัยสมเด็จพระชัยราชาธิราช (พ.ศ.2077-2111) ซึ่งเป็นช่วงของการเกณฑ์แรงงานอาสาต่างชาติเพื่อการศึกสงครามและบูรณะประเทศ โดยเฉพาะการขุดคลองลัดบางกอกในปี พ.ศ.2085 จึงทำให้มีชุมชนมุสลิมเกิดขึ้นในบริเวณท้ายป้อมเมืองบางกอกหรือป้อมวิชัยประสิทธิ์ในปัจจุบัน




อย่างที่ฉันบอกไปแล้วว่าเมื่อมีการรวมตัวกันเป็นชุมชนเป็นหลักเป็นฐานแล้ว ก็มักจะมีการสร้างศาสนสถานไว้เพื่อเป็นศูนย์กลางของชุมชนและเพื่อเป็นแหล่งยึดเหนี่ยวจิตใจ ดังนั้นจึงมีการสร้างมัสยิดขึ้น โดยในช่วงแรกนั้นตัวมัสยิดสร้างขึ้นอย่างเรียบง่าย เป็นเรือนฝาไม้กระดานใต้ถุนสูง หลังคามุงกระเบื้องดินเผา แต่หลังจากนั้นก็มีการบูรณะอาคารมัสยิดอีกหลายครั้ง จนมาถึงการบูรณะเมื่อปี พ.ศ.2497 ทำให้มัสยิดมีรูปทรงที่เห็นอย่างในปัจจุบัน

คราวนี้เข้าไปดูภายในมัสยิดต้นสนกันบ้างดีกว่า ภายในนั้นมีหลายสิ่งที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นแผ่นกระดานไม้สักจำหลักลวดลายเป็นภาพมหาวิหารกะอ์บะห์ในอดีต และยกโองการจากมหาคัมภีร์อัล-กุรอานจำหลักประดับ สันนิษฐานว่าเป็นเครื่องประดับชุมทิศของมัสยิดเก่าแห่งใดแห่งหนึ่งในกรุงศรีอยุธยา เมื่อครั้งเสียกรุงครั้งที่ 2 กระดานไม้แผ่นนี้ได้ลอยมาตามลำน้ำเจ้าพระยา และยังปรากฏรอยไฟไหม้ให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน

มิห์รอบและมิมบัรทรงไทย

และแม้จะเป็นมัสยิดตามแบบศาสนาอิสลาม แต่มิห์รอบ (เครื่องกำหนดชุมทิศ) และมิมบัร (แท่นแสดงธรรม) กลับเป็นศิลปะไทยแบบอยุธยาตอนปลาย โดยมิห์รอบนั้นจำหลักหน้าบันเป็นลายกระจังก้านขด ยกช่อฟ้าใบระกา ลงรักปิดทองสวยงามอย่างไทย ส่วนมิมบัรนั้นเป็นศิลปะผสมแบบชวา ลงรักปิดทองประดับกระจกเช่นกัน แสดงให้เห็นถึงการผสมผสานระหว่างศิลปวัฒนธรรมได้เป็นอย่างดี แต่ปัจจุบันมิห์รอบและมิมบัรดังกล่าวถูกเก็บรักษาไว้ไม่ได้นำมาใช้งานแล้ว

ภายในมัสยิดยังมีโคมไฟทองเหลืองทรงเหลี่ยมประดับกระจกเขียว มีข้อความระบุไว้ว่า “ที่รฤกในงานพระบรมศพ ร.ศ.129” โดยเป็นเครื่องสังเค็ด (ทานวัตถุที่ถวายแก่สงฆ์ที่มาเทศน์ หรืออุทิศให้ตามสถานที่สำคัญต่างๆ เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ตาย) พระราชทานจากงานพระบรมศพของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 นั่นเอง

ศูนย์รวมจิตใจของชาวอิสลามมาอย่างยาวนาน

นอกจากนั้นก็ยังมีคัมภีร์อัล-กุรอาน ฉบับคัดลายมือด้วยก้างปลาหรือด้วยเมล็ดข้าวเปลือก โดยเฉพาะในโองการที่สำคัญจะเขียนสีทับลายน้ำทองอย่างงดงาม บรรจุในหีบไม้สักเขียนลายรดน้ำ ประดับมุก ประดับกระจก ซึ่งมีอายุเก่าแก่กว่าร้อยปีจำนวนหลายฉบับ

อาคารรับเสด็จ

สิ่งที่ยืนยันความสำคัญของมัสยิดแห่งนี้ก็คือการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเยี่ยมชมมัสยิดต้นสนและชาวชุมชนพร้อมด้วยพระอนุชา (พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช) เมื่อวันที่ 26 เมษายน พ.ศ.2489 ในครั้งนั้นได้มีการปรับปรุงอาคารเพื่อใช้เป็น “อาคารรับเสด็จ” โดยเป็นอาคารไม้สองชั้นหลังคาทรงปั้นหยาประดับลวดลายขนมปังขิง และใกล้ๆกันนั้นก็มีศาลาโถงแปดเหลี่ยมที่สร้างขึ้นภายหลังอาคารรับเสด็จ แต่เน้นรูปทรงสถาปัตยกรรมให้ผสมผสานกลมกลืนกันอีกด้วย

บรรยากาศภายในกุโบร์

ที่มัสยิดต้นสนนี้ยังมีสิ่งสำคัญที่จะไม่กล่าวถึงไม่ได้เลยก็คือ “กุโบร์” หรือสุสานของมัสยิด ซึ่งเป็นสถานที่ฝังศพบรรพชนชาวอิสลามซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อประวัติศาสตร์ของสังคมไทยในแต่ละยุคสมัย ไม่ว่าจะเป็นเจ้าพระยาจักรีศรีองค์รักษ์ (หมุด) ผู้ร่วมกอบกู้แผ่นดินในสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พระยาราชวังสัน (ฉิม) แม่ทัพเรือในรัชกาลที่ 3 หลวงโกชาอิสหาก (นาโคดาลี) ผู้ปฏิสังขรณ์มัสยิดต้นสนสมัย พ.ศ.2370 รวมทั้งยังเป็นสุสานที่ฝังศพของจุฬาราชมนตรีทั้ง 9 ท่าน ตลอดสมัยรัตนโกสินทร์จนถึงเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 อีกทั้งเจ้าจอมองค์สำคัญที่เป็นชาวมุสลิมในสมัยรัตนโกสินทร์ เช่น เจ้าจอมหงส์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 เจ้าจอมจีบในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 เจ้าจอมละม้ายในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ก็ถูกฝังอยู่ในกุโบร์แห่งนี้ด้วยเช่นกัน

ไม้นิฌานพระยาจุฬาราชมนตรี (สิน)

แท่นจำหลักหน้าหลุมศพของแต่ละท่านนั้นก็จะแตกต่างกันไป โดยสิ่งที่น่าสนใจนั้นก็คือไม้นิฌาน (ไม้จำหลักหน้าหลุมศพ) ของพระยาจุฬาราชมนตรี (สิน) ที่รัชกาลที่ 5 พระราชทานให้ โดยไม้นิฌานนี้เป็นไม้สักทองจำหลักเป็นลวดลายอย่างงดงาม

ในขณะนี้ทางมัสยิดต้นสนกำลังทำการบูรณะอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเป็นการบูรณะใหญ่ในรอบเกือบ 60 ปี การบูรณะในครั้งนี้ก็จะทำให้มัสยิดต้นสนงามสง่า สมกับเป็นมัสยิดอันเก่าแก่และมีความสำคัญคู่กับกรุงเทพมหานครต่อไป

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * 

“มัสยิดต้นสน” ตั้งอยู่ที่ 447 ซอยวัดหงส์รัตนาราม ถนนอรุณอมรินทร์ แขวงวัดอรุณ เขตบางกอกใหญ่ กทม. 10600 การเดินทาง สามารถนั่งเรือข้ามฟากจากท่าเตียนมายังวัดอรุณราชวราราม จากนั้นเดินออกมาที่ถนนอรุณอัมรินทร์แล้วเลี้ยวซ้ายมาทางสะพานอนุทินสวัสดิ์ มัสยิดต้นสนจะอยู่บริเวณใต้สะพาน สอบถามรายละเอียดโทร.0-2466-5326

แหล่งที่มา : Islamic Society Online





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความแนะนำ

World Clock

Featured Posts

เรื่องราวของสองอารยธรรม : อารยธรรมของชาวไวกิ้งและมุสลิม

เรื่องราวของสองอารยธรรม : อารยธรรมของชาวไวกิ้งและมุสลิม โดย : Cem Nizamoglu และ Sairah Yassir-Deane ย้อนหลังไปถึงมีนาคม 2015 ข่าวเกี่ยวก...