product :

วันอาทิตย์ที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2561

อิสลามผู้พิชิต : การแผ่ขยายของอิสลามในหมู่เกาะมะฮ์รอจ (อินโดนีเซีย)

อิสลามผู้พิชิต : การแผ่ขยายของอิสลามในหมู่เกาะมะฮ์รอจ (อินโดนีเซีย)

(อาลี เสือสมิง)


(หมู่เกาะมะฮ์รอจ เป็นชื่อของหมู่เกาะอินโดนีเซีย ในตำราของอัลมัสอูดีย์ ส่วนอิบนุ บัตตูเตาะห์ ได้เรียกหมู่เกาะอินโดนีเซียว่า ญาวะฮฺ (ชวา) เล็ก และชวาใหญ่ นักภูมิศาสตร์อาหรับส่วนใหญ่ผนวกหมู่เกาะเหล่านี้เข้าไปในหัวเมืองมลายู ชื่อเดิมของหมู่เกาะเหล่านี้ในสมัยโบราณ คือ นุสันตะรา และในขณะที่อินโดนีเซียได้รับเอกราชก็มีทัศนะหนึ่งให้เรียกชื่อ นุสันตะรา เป็นชื่อของประเทศนี้ แต่ทว่าในที่สุดก็เห็นพ้องกันให้เรียกว่า อินโดนีเซีย ซึ่งจริง ๆ ก็คือ ฮินดูนีเซีย)

ชาวอาหรับเป็นนักการค้าวาณิชย์ในมหาสมุทรอินเดีย และท้องทะเลในเอเชียใต้ จวบจนกระทั่งพวกโปรตุเกสเข้ามามีอิทธิพลในตอนต้นของคริสต์ศตวรรษที่ 16 ความเป็นนักการค้าวาณิชย์นี่เองคือสิ่งที่ทำให้พ่อค้ามุสลิมและบรรดานักเผยแผ่อิสลามที่ร่วมอยู่ในกองเรือสินค้าสามารถแสวงหาดินแดนที่สองของอิสลามที่มีความกว้างไกล มีพลเมืองมากมาย ตลอดจนทรัพยากรอันอุดมสมบูรณ์ ดินแดนที่กล่าวถึงนี้ก็คือ หมู่เกาะมะฮ์รอจ (อินโดนีเซีย) หรือดินแดนสามพันหมู่เกาะ

นับเป็นความยากเย็นทีเดียว ในการกำหนดช่วงเวลาที่อิสลามได้เข้าสู่ดินแดนอันกว้างใหญ่แห่งนี้ ตำราอ้างอิงทั้งหลายต่างก็บอกเล่าให้เราทราบว่า บรรดาพ่อค้าชาวมุสลิมได้สร้างศูนย์กลางการค้าขายของตนขึ้นตามชายฝั่งตั้งแต่ช่วงแรก ๆ ของอิสลาม บางทีอาจจะเป็นตอนปลายฮิจเราะห์ศักราชที่ 2 และต้นฮิจเราะห์ศักราชที่ 3 ตรงกับคริสต์ศตวรรษที่ 8 และ 9 จุดของความเห็นที่แตกต่างกันนั้นก็คือ บรรดาพ่อค้าชาวมุสลิมเหล่านี้มาจากที่ใด? มาจากคาบสมุทรมาลายู หรือมาจากอินเดีย? ทัศนะที่มีน้ำหนักมากที่สุดตรงนี้ก็คือ กลุ่มคนชุดแรก ๆ ที่ได้มาตั้งหลักแหล่งอยู่ในหมู่เกาะต่าง ๆ โดยทำหน้าที่การเผยแผ่อิสลามนั้นคือ ชาวอาหรับนั่นเอง ตามมาด้วยชาวอินเดีย

ซินูก เฮิร์กเน มีความเห็นว่า ชาวอินเดียรุ่นแรกส่วนใหญ่มาจากแคว้นกุจราจในอินเดียตะวันออก ศูนย์กลางแรกของพวกนี้อยู่บนชายฝั่งทางตะวันตกของสุมาตรา ซึ่งพวกนี้เรียกว่า ซัมดะร่า สิ่งที่แน่ชัดก็คือ ชาวอาหรับได้มาสู่สุมาตราพร้อมกับมัซฮับอัชชาฟิอีย์ ส่วนชาวอินเดียนั้นนำเอามัซฮับฮานาฟีย์มาสู่ดินแดนแห่งนี้ โดยที่มัซฮับฮานาฟีย์นั้นเป็นมัซฮับที่แพร่หลายในหมู่ชาวมุสลิมที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ทางชายฝั่งตะวันตกของอินเดีย ซึ่งพวกอินเดียมุสลิมมาจากที่นั่น อิบนุบัตตูเตาะห์ได้เล่าว่า สุลต่าน (ซุลตอน) มุสลิมแห่งซัมดะร่าในราวศตวรรษที่ 14 นั้นมีสัมพันธไมตรีอันดีกับเหล่าสุลต่านแห่งเดลฮีในราชวงศ์โมกุล

การค้นคว้าทางโบราณคดีได้ยืนยันว่า มุสลิมได้รู้จักหมู่เกาะของอินโดนีเซีย โดยเฉพาะเกาะสุมาตราตั้งแต่ยุคแรก ๆ บรรดานักโบราณคดีได้ค้นพบสุสานของชายมุสลิมคนหนึ่งที่เสียชีวิตลงที่นั่นในปีฮ.ศ.ที่ 60 (ค.ศ.679) ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกอันใด ทั้งนี้เพราะนักเดินเรือชาวอาหรับได้รู้จักดินแดนมะลายูและหมู่เกาะอินโดนีเซียมาก่อนหน้ายุคอิสลาม ซึ่งเรามีข้อเขียนหลายข้อเขียนด้วยกันที่ถูกเขียนด้วยลายมือแบบมุสนัดระบุถึงร่องรอยของคลังและสิ่งก่อสร้างทางการค้าของชาวอาหรับในหมู่เกาะดังกล่าว

ภายหลังจากการที่ชาวอาหรับทั้งหมดได้เข้ารับอิสลาม ความตื่นตัวทางการค้าของพ่อค้าชาวโอมาน, ฮัดร่อเมาต์และยะมันก็ได้เพิ่มมากขึ้นในการทำการค้ากับพลเมืองท้องถิ่นในหมู่เกาะดังกล่าว ศาสนาอิสลามก็ได้รื้อฟื้นจิตวิญญาณใหม่ในหมู่พลเมืองเหล่านี้และได้มอบคุณลักษณะแห่งอารยธรรมอันสูงส่งแก่ผู้คนเหล่านั้นอย่างมากเกินกว่าที่หมู่เกาะเหล่านี้ เคยรู้จักมาก่อนในช่วงเวลานั้น เราสามารถกล่าวได้โดยอาศัยพื้นฐานของข้อมูลต่าง ๆ ซึ่งที่อัลมัสอูดีย์ ได้ระบุเอาไว้ในมุรูญูซซะฮับถึงหมู่เกาะเหล่านี้ว่าในขณะนั้นเป็นที่รู้จักอย่างดีสำหรับชาวมุสลิม

โดยอัลมัสอูดีย์ได้กล่าวถึง “ทะเลแห่งกะลาฮ์บ๊าร” ว่า : และอธิบายถึงทะเลกะละฮฺ ทะเลกันดะรอนจ์ ต่อมาก็ทะเลอันซินพ์ซึ่งเป็นทะเลที่อยู่ทางตะวันออกของอินโดจีน” และมัสอูดีย์ยังกล่าวอีกว่า : ในท้องทะเลนั้นมีอาณาจักรอัลมะฮ์รอจ และเกาะซะรีเราะห์ โดยกินพื้นที่ในท้องทะเลประมาณ 400 ฟัรซัค มีชุมชนที่เจริญติดกันเป็นพรืดและที่นั่นมีทะเล “อัซซาบิจ” และ “อัรรอมินีย์” (มุรูญุซซะฮับของอัลมัสอูดีย์ 1/154) อัซซาบิจ ก็คือเกาะสุมาตราและอัรรอมินีย์ ก็คือ หมู่เกาะทางตะวันตกของสุมาตรา ซึ่งบางทีก็เรียกกันว่า “วักวากแห่งจีน” ส่วนชะรีเราะห์ โดยมากจะหมายถึงชื่อของอาณาจักรซึ่งอยู่ในสุมาตราขณะนั้น

บรรดาพ่อค้ามุสลิมและนักเผยแผ่ศาสนาอิสลามได้ปฏิบัติตนตามแนวทางที่เที่ยงตรงในการดำเนินชีวิตและการติดต่อสัมพันธ์กับผู้คนทั้งหลายอันนำไปสู่การดึงดูดโน้มน้าวผู้คนทั้งหลายให้มีความสนใจต่อศาสนาของพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) และนำเอาพวกเขาเข้ารับอิสลาม พ่อค้ามุสลิมเหล่านี้ก็กระชับสัมพันธ์ของพวกเขากับพลเมืองท้องถิ่นมากขึ้น คลุกคลีและทำการสมรส ตลอดจนนำพวกเขาสู่การยอมรับอิสลามเป็นสรณะ ลูกหลานของพวกเขาก็เจริญเติบโตในฐานะของมุสลิม

จากแนวทางนี้เองพวกพ่อค้ามุสลิมก็เปลี่ยนแปลงสถานภาพทางสังคมของพวกเขา โดยเริ่มครอบครองที่ดินทำกินและสร้างบ้านเรือนเป็นชุมชน ตลอดจนมีข้าทาสเป็นผู้รับใช้และนำเอาทาสเหล่านี้เข้าสู่ศาสนาอิสลาม อันเป็นศาสนาของผู้เป็นนาย พ่อค้ามุสลิมเหล่านี้จึงมีเกียรติและอำนาจ ทั้งนี้ก็เนื่องด้วยความสูงส่งทางวิทยาการของพวกเขา การเกี่ยวดองทางการสมรส การมีบุตรเป็นผู้สืบสกุลและมีทาสที่ถือในศาสนาของผู้เป็นนาย

พ่อค้ามุสลิมจึงกลายเป็นแบบอย่างในท่ามกลางผู้คนเป็นพลเมืองท้องถิ่นด้วยความมีเกียรติและฐานันดรอันสูงส่งและยังได้ให้ความร่วมมือกับพลเมืองเหล่านั้นอย่างดี อันเป็นการเพิ่มฐานะที่เป็นที่ยอมรับทางสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกพ่อค้ามุสลิมเหล่านี้สามารถพูดภาษาท้องถิ่นและข้องแวะกับบรรดาคหบดี,  เหล่าผู้นำชั้นสูงของกลุ่มชนนั้น ซึ่งเป็นเรื่องปกติเพราะพ่อค้ามุสลิมเหล่านี้เป็นผู้ที่มีความเจริญทางอารยธรรมและวิทยาการ ด้วยความประเสริฐของอัลอิสลามและอารยธรรมอันสูงส่ง จากจุดนี้เองพวกเขาก็สามารถกุมตำแหน่งที่สำคัญและกลายเป็นผู้นำของกลุ่มชน พลเมืองท้องถิ่นเหล่านี้ก็เข้ารับอิสลามมากขึ้นเป็นลำดับ

สุมาตรา ดูเหมือนว่า ประชาคมมุสลิมที่มีอิทธิพลชุดแรกได้สถาปนาขึ้นในอินโดนีเซียอยู่ในดินแดนอาเจะห์ ทางตะวันตกเฉียงเหนือของสุมาตราหรือซัมดาร่าและเช่นกันเป็นที่กล่าวขานกันว่า : ผู้ที่ริเริ่มประชาคมมุสลิมในอินโดนีเซียนั้นเป็นนักเผยแผ่ศาสนาชาวอาหรับ นามว่า อับดุลลอฮฺ อาริฟ และมีศิษย์เอกนามว่า บุรอานุดดีน ทำหน้าที่เผยแผ่ศาสนาอิสลามจนกระทั่งดินแดน “บัรยามาน” ซึ่งตั้งอยู่ทางชายฝั่งตะวันตกของสุมาตราเช่นกัน

ณ ที่นั่น อิสลามมีความมั่นคงถึงขั้นที่ว่า มีชายมุสลิมคนหนึ่งสามารถตั้งราชวงศ์ขึ้นครองอำนาจในนามของญีฮาน ชาฮฺซึ่งค่อนข้างแน่ใจได้ว่า ชายผู้นี้มีเชื้อสายอินเดียซึ่งต่อมาไม่นานเขาก็กลายเป็นชาวอินโดนีเซีย และทำการสมรสกับสตรีชาวพื้นเมือง โดยมีชื่อใหม่ว่า “ศรี บะดูฮา ซุลตอน”

การแผ่ขยายของศาสนาอิสลามในสุมาตราได้จำกัดอยู่เฉพาะในเขตชายฝั่งของเกาะอยู่เป็นเวลานาน ทั้งนี้เพราะพวกพราหมณ์ฮินดูได้ฝังรากลึกลงสู่ดินแดนชั้นในมาก่อนหน้านี้แล้วโดยได้รับการสนับสนุนจากอาณาจักรที่มีชื่อว่า “มินัง กาเบา”

มาร์โค โปโล ซึ่งได้ใช้ชีวิตราว 5 เดือนบนชายฝั่งทางตอนเหนือของสุมาตราในปลายค.ศ.ที่ 12 ได้กล่าวว่า ประชากรส่วนใหญ่ที่นั่นยังคงเป็นพวกกราบไหว้รูปเจว็ด ยกเว้นอาณาจักรเปอร์ลัก ที่ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของสุมาตราตรงข้ามกับมะละกา ปรากฏว่าพลเมืองของอาณาจักรแห่งนี้ตามที่มาร์โค โปโลกล่าวถึงเป็นชาวมุสลิมเนื่องจากมีพ่อค้าชาวอาหรับอยู่เป็นจำนวนมากที่นั่น

จากดินแดนอาเจะห์อิสลามได้รุกคืบสู่ทางใต้ยังชายฝั่งตะวันตกของเกาะสุมาตรา จนกระทั่งชาวมุสลิมได้มาถึงชายฝั่งตอนใต้และตะวันออกและลัดเลาะตามเส้นทางชายฝั่งขึ้นเหนือจนมาถึงดินแดน “ฮะรู” ตรงข้ามกับมะละกาเช่นกัน ด้วยสิ่งดังกล่าวนี้เอง พวกเขาก็สามารถมาถึงอาณาจักร “เปอร์ลัก” จากทางด้านตะวันออกซึ่งปรากฏว่าผู้นำคณะเผยแผ่ศาสนาอิสลามตามเส้นทางอันยืดยาวนี้มีชื่อว่าเชคอิสมาอีลโดยชะรีฟ (เจ้าครองนคร) มักกะห์ได้ส่งท่านเชคผู้นี้มาเพื่อทำการเผยแผ่อิสลามในสุมาตราจากเปอร์ลัก

ท่านเชคอิสมาแอลก็เดินทางสู่นครสะมูดะเราะห์ (สุมาตรา) ในเมืองสะมูดะเราะห์นี้มีผู้นำคนหนึ่งชื่อว่ามาร์ซีล เป็นผู้ปกครองซึ่งท่านเชคอิสมาอีลและคณะของท่านก็สามารถเรียกร้องบุคคลผู้นี้ให้เข้ารับอิสลาม และหลังจากเข้ารับอิสลาม ชายผู้นี้ก็เปลี่ยนชื่อว่า “อัลม่าลิก อัซซอและห์” และได้สมรสกับเจ้าหญิงแห่งเปอร์ลักและมีบุตรกับเจ้าหญิงองค์นี้ 2 คน อัลม่าลิก อัซซอและห์ (หรือกษัตริย์ผู้ทรงธรรม) ได้แผ่ขยายอาณาเขตอาณาจักรอิสลามของพระองค์ โดยได้ผนวกรวมอาณาจักรปาไสย ซึ่งตั้งอยู่ทางชายฝั่งตอนเหนือของสุมาตราเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในอาณาจักรของพระองค์ ต่อมาพระองค์ได้ทรงแบ่งอาณาจักรให้พระราชโอรสทั้งสองปกครองคนละครึ่ง

อิบนุบัตตูเตาะห์ ได้เคยพักอยู่ในเมืองสะมูดะเราะห์ในราวปีค.ศ.1345 และได้เล่าให้เราทราบถึงกษัตริย์แห่งสะมูดะเราะห์ทรงมีพระนามว่า อัลม่าลิก อัซซอฮิร และพระราชอำนาจอันกว้างไกลของกษัตริย์องค์นี้ตลอดจนความยุติธรรมและความเคร่งครัดของพระองค์และทรัพย์สินของพระองค์ ซึ่งดูเหมือนว่ากษัตริย์อัซซอฮิร ผู้นี้เป็นพระราชโอรสหนึ่งในสององค์ของกษัตริย์อัซซอและห์ ซึ่งที่เราได้กล่าวมาแล้ว

และในเวลาเดียวกันนี้เอง ศาสนาอิสลามก็เริ่มเปิดเส้นทางเข้าสู่ส่วนในของเกาะ ซึ่งผู้คนได้เข้ารับอิสลามเป็นหมู่คณะ แต่ก็ต้องเผชิญกับการต่อต้านจากชาวเมืองของอาณาจักร“อัลบ่าติก”ทางตอนกลางของเกาะ นอกเสียจากว่า การต่อต้านดังกล่าวก็ได้เริ่มอ่อนลงอันเป็นผลมาจากนโยบายทางการเมืองของพวกดัชต์ (ฮอลแลนด์) ในการมุ่งกำจัดอำนาจทางการเมืองต่าง ๆ ที่มีอยู่ในหมู่เกาะของอินโดนีเซีย

ครั้นเมื่อพวกดัชต์ได้ปราบปรามอำนาจของอาณาจักร “อัลบ่าติก” ลงได้เป็นผลสำเร็จ เส้นทางก็ปลอดโปร่งสำหรับการเผยแผ่อิสลาม ผู้คนอันเป็นพลเมืองท้องถิ่นก็พากันเข้ารับอิสลามเป็นจำนวนมากและถือว่าการเข้ารับอิสลามของพวกเขาเป็นการแสดงปฏิกิริยาตอบโต้ต่อพวกดัชต์

ยิ่งไปกว่านั้น การหันเข้ารับอิสลามของชาวเมืองในอาณาจักรอัลบ่าติกเป็นที่แพร่หลายถึงขั้นที่ว่า ชาวเมืองที่เคยเข้ารีตในศาสนาคริสต์โดยน้ำมือของพวกมิชชันน่ารี ก็ได้เปลี่ยนมารับนับถืออิสลามซึ่งกลายเป็นสัญลักษณ์ของกลุ่มชนท้องถิ่น ด้วยเหตุนี้เอง เราจึงพบว่าอิสลามสามารถดึงดูดชาวเมืองในดินแดนปาเล็มบัง ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนใต้ของสุมาตรา โดยที่อิสลามได้แผ่ขยายปกคลุมดินแดนแห่งนี้ในตอนต้นศตวรรษที่ 20

ชวา ศาสนาอิสลามได้เข้าสู่เกาะชวาจากทางคาบสมุทรมลายู และสามารถแผ่ขยายครอบคลุมได้ทั้งหมดในเวลาอันสั้น ทั้งนี้เพราะนักเผยแผ่อิสลามที่นั่นไม่พบการต่อต้านอันใด ชาวชวาส่วนใหญ่จะตั้งหลักแหล่งอยู่บริเวณส่วนในของเกาะ ซึ่งในช่วงเวลานั้นยังคงกราบไหว้รูปเจว็ด การเปลี่ยนมารับนับถือศาสนาอิสลามของผู้คนเหล่านี้จึงเป็นเรื่องง่าย ผู้มีบทบาทสำคัญในการเผยแผ่อิสลามนั้นมีชื่อว่า ชัยค์อิบรอฮีม ซึ่งเสียชีวิตในปีค.ศ.1419

บุคคลผู้นี้ตลอดจนสานุศิษย์และผู้ปฏิบัติตามรุ่นหลัง ๆ ได้นำเอาชาวชวาทั้งหมดเข้ารับอิสลามก่อนศตวรรษที่ 17 ประชากรในเกาะชวาจึงกลายเป็นประชากรมุสลิมโดยแท้นับตั้งแต่นั้นมาจนถึงขั้นที่ว่า มีการสร้าง ริว๊าก (ระเบียงที่กำหนดให้เป็นที่พักของนักศึกษา) เป็นการเฉพาะสำหรับมุสลิมชวาในมัสยิดอัลอัซฮัร อัชช่ารีฟ โดยเรียกกันว่า “ระเบียงของชาวชวา” ประวัติศาสตร์อิสลามในชวานั้นมีความยาวนาน  ทั้งนี้เป็นเพราะว่าดินแดนแถบชายฝั่งของชวาในขณะที่อิสลามเดินทางมาถึงนั้นตกอยู่ในอิทธิพลของชาวอาหรับที่เป็นพ่อค้าและผู้อพยพ ส่วนดินแดนชั้นในของเกาะนั้นอยู่ภายในเขตของพราหมณ์ฮินดู และขนบธรรมเนียมประเพณีของศาสนาพราหมณ์ได้หยั่งรากลงลึกอย่างมั่นคงเหนือชายฝั่งของเกาะมาก่อนอิสลามเป็นระยะเวลาอันยาวนาน นักเผยแผ่ชาวมุสลิมจึงยังไม่สามารถลบล้างอิทธิพลของศาสนาพราหมณ์ลงได้ในเบื้องแรก




กล่าวกันว่า รุ่งอรุณแห่งอิสลามในเกาะชวาได้เริ่มเฉิดฉายด้วยน้ำมือของเจ้าชายองค์หนึ่งซึ่งเป็นโอรสของกษัตริย์ “บาจาจารอน” ในอาณาจักรเล็ก ๆ ที่ตั้งอยู่บนชายฝั่งทางตะวันตกของเกาะชวา เล่ากันว่า เจ้าชายองค์นี้ได้สละราชบัลลังก์แก่พระอนุชาและหันไปเอาดีทางการค้าขายและเดินทางไปสู่ดินแดนของชาวอาหรับ ณ ที่นั่น เจ้าชายองค์นี้ก็ได้เข้ารับอิสลามและมีชื่อว่า “ฮัจยีบัรวา” ขณะที่บุคคลผู้นี้ได้เดินทางกลับสู่มาตุภูมิของตน ก็ปรากฏว่าไม่ประสบความสำเร็จในการชักจูงพระอนุชา ซึ่งเป็นกษัตริย์และพระราชวงศ์ให้เข้ารับอิสลาม เจ้าชายผู้นี้จึงหนีเข้าป่าและหลบซ่อนตัวอยู่ในป่านั้น

ปลายศตวรรษที่ 14 ได้มีการเคลื่อนไหวครั้งใหม่ในการเรียกร้องอิสลามด้วยน้ำมือของกษัตริย์อิบรอฮีม หรือ ชัยค์อิบรอฮีมที่ได้กล่าวถึงข้างต้น ว่ากันว่า ท่านชัยค์ผู้นี้เป็นลูกหลานของท่านซัยนุ้ลอาบิดีน หลานของท่านอะลี อิบนุ อบีตอลิบ (รฎ.) ชัยค์อิบรอฮีมได้อาศัยอยู่ท่ามกลางชนเผ่าดั้งเดิมในดินแดนชั้นในของเกาะ และเริ่มทำการเรียกร้องสู่อิสลามโดยมุ่งมั่นที่จะชักจูง ราชาแห่งมัจฉาปาหิต ชาวฮินดูในการเข้ารับอิสลามซึ่งอาณาจักรมัจฉาปาหิตแห่งนี้ครอบคลุมดินแดนส่วนใหญ่ของเกาะชวา และเกือบทำสำเร็จ ถ้าหากไม่เกิดความวุ่นวายมาขวางกั้น

แต่อย่างไรก็ตามชัยค์อิบรอฮีม ผู้นี้ก็สามารถเรียกร้องประชาชนในเกาะเป็นจำนวนมิใช่น้อยที่เข้ารับอิสลาม และได้เสียชีวิตลงในปีค.ศ.1419 ศพของท่านถูกฝังอยู่ที่ “กรือเซะฮฺ” สุสานของท่านยังคงได้รับการเยี่ยมเยียนจวบจนทุกวันนี้ จากการบอกเล่าของนักเดินทางชาวจีนที่เคยมาเยือนเกาะชวาในปีค.ศ.1413 พอจะเข้าใจได้ว่า ชาวมุสลิมมีจำนวนมากทีเดียวในดินแดนต่าง ๆ ของเกาะชวา จนกลายเป็นชนชั้นที่มีสถานภาพทางสังคมเด่นชัดทีเดียว

ในช่วงเวลานั้นได้มีอาณาจักรต่าง ๆ ทางตอนกลางและตะวันออกของเกาะชวาปรากฏขึ้น ซึ่งอาณาจักรที่มั่งคั่งและยิ่งใหญ่ที่สุดในบรรดาอาณาจักรเหล่านี้คือ อาณาจักรมัจฉาปาหิต ที่นิยมในศาสนาพราหมณ์ฮินดูและปลายสุดทางตะวันตกของเกาะยังมีอาณาจักรอื่น ๆ อีกเช่นกัน ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดก็คือ อาณาจักรชริมบอน ศาสนาอิสลามได้แพร่หลายทางตะวันออกของเกาะชวาด้วยการทำหน้าที่เผยแผ่ศาสนาของชายคนหนึ่งที่มีเชื้อสายกษัตริย์นามว่า “รอดิน เราะห์มัต” โดยราชาแห่งมัจฉาปาหิตได้แต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมืองปกครองเมืองตูมาบิล บนชายฝั่งทางตะวันออกเฉียงเหนือ เจ้าเมืองผู้นี้ได้เปลี่ยนเป็นชาวเมืองทั้งหมดให้เข้ารับอิสลาม

เจ้าเมืองรอดิน เราะห์มัต ได้ส่งนักเผยแผ่คนหนึ่งที่ชื่อว่า ชัยค์ค่อลีฟะห์ฮุซัยน์ ไปยังเกาะมาดูเราะห์ ชัยค์ผู้นี้ก็สามารถเปลี่ยนชาวเมืองให้เข้ารับอิสลาม บรรดามัสยิดก็ถูกสร้างหลายต่อหลายแห่งในแว่นแคว้นที่กลายเป็นดินแดนอิสลาม ในปีค.ศ.1478 บรรดามุสลิมก็สามารถโค่นอำนาจของราชาแห่งมัจฉาปาหิตที่พิทักษ์ศาสนาพราหมณ์ลงได้ ด้วยการณ์ดังกล่าว อำนาจทางตะวันออกของชวาก็เปลี่ยนมือมายังชาวมุสลิม ต่อมาอิสลามก็แพร่หลายทางตอนใต้ของเกาะชวา ส่วนทางตอนกลางของเกาะนั้นการเผยแผ่ของศาสนาอิสลามเป็นไปอย่างช้า ๆ อยู่หลายศตวรรษ แต่ทว่าก็ประสบความสำเร็จในที่สุดหลังจากความพยายามอย่างยากลำบาก โดยมีบรรดานักเผยแผ่ทำหน้าที่สำคัญที่สุดก็คือ ชัยค์นูรุดดีน อิบรอฮีม อะห์หมัด ซึ่งท่านชัยค์ผู้นี้ได้ส่งเมาลานา ฮะซ่านุดดีน ผู้เป็นบุตรชายไปยังแคว้น “บันตาม” ทางตะวันตก และประสบความสำเร็จในการชักจูงชาวเมืองให้เข้ารับอิสลาม ในราวศตวรรษที่ 17 เราจะพบว่าทางตะวันตกของเกาะชวานั้น ชาวเมืองที่นั่นได้เข้ารับอิสลามอย่างสมบูรณ์ ชวาจึงได้กลายเป็นดินแดนอิสลามด้วยเหตุดังกล่าว

บอร์เนียว (กลิมันตัน) จากเกาะชวาและสุมาตรา อิสลามก็เผยแผ่สู่เกาะบอร์เนียวและแพร่หลายตามชายฝั่งทางตะวันตกและทางตอนเหนือ รัฐสุลต่านแห่งบรูไนก็เปลี่ยนไปรับอิสลาม ภายหลังจากที่ศาสนาอิสลามได้ครอบคลุมตะวันตกของเกาะทั้งหมด ส่วนดินแดนชั้นในของเกาะ การรุกของอิสลามเข้าไปยังส่วนในเป็นไปอย่างช้า ๆ เนื่องจากมีพื้นที่เป็นป่าดงดิบและมีเผ่าที่กราบไหว้รูปปั้นเป็นร้อยเผ่า

ศาสนาอิสลามได้แพร่หลายจากเกาะชวาสู่หมู่เกาะ “ซิบิลีส” (เซลิเบส) และมีเผ่าพื้นเมืองสองเผ่าใหญ่ได้เข้ารับอิสลามโดยไม่ลำบากนัก เผ่าสองเผ่านี้มีอิทธิพลแผ่ปกคลุมคาบสมุทรกลิมันตันและซิลิบีส คือเผ่ามากัตบ๊ารและอัลบูจี หลังจากนั้นไม่นาน เผ่าอัลฆูรซึ่งมีหลักแหล่งอยู่ในดินแดนชั้นในก็เข้ารับอิสลาม  บรรดามุสลิมในหมู่เกาะซิลิบีสจึงได้ร้องขอบรรดาผู้นำและนักเผยแผ่จากชาวเมืองแห่งอาณาจักรอาเจะห์  ซึ่งชาวเมืองอาเจะห์ก็ตอบรับคำเรียกร้องดังกล่าว โดยทำการส่งนักเผยแผ่เป็นจำนวนมากมายังหมู่เกาะซิลิบีส

ตอนต้นของศตวรรษที่ 17 หมู่เกาะซิลีบีสทั้งหมดได้เข้ารับอิสลามเกาะลอมบอร์กก็เข้ารับอิสลามตามหมู่เกาะซิลิบีส ส่วนเกาะบาลีซึ่งตั้งอยู่ระหว่างลอมบอร์กกับชวานั้น อิสลามได้เคยรุกเข้าไปในดินแดนบางส่วนของเกาะบาหลี ขณะที่พวกดัชต์มาถึง พวกดัชต์มีความหลงใหลกับความงดงามทางธรรมชาติของเกาะบาหลี และวัดทางศาสนาพุทธ (หรือฮินดู) ที่มีอยู่มากมาย ตลอดจนความมีรูปโฉมอันงดงามของสตรีบาหลีและความชำนาญของพวกนางในการเต้นระบำพื้นเมืองของอินโดนีเซีย

พวกดัชต์จึงถือว่าเกาะบาหลี เป็นเขตพักผ่อนตากอากาศและเป็นสถานที่ท่องเที่ยว พวกนี้จึงได้สร้างโรงแรมและสถานบันเทิงต่าง ๆ ขึ้นในเกาะบาหลี พวกดัชต์ไม่อนุญาตให้บรรดานักเผยแผ่ปฏิบัติหน้าที่อันใดในดินแดนแห่งนี้ การแผ่ขยายของอิสลามในบาหลีจึงหยุดชะงักลง บาหลีจึงกลายเป็นเกาะแห่งการท่องเที่ยว และศูนย์กลางของความบันเทิงในหมู่เกาะอันกว้างใหญ่จวบจนทุกวันนี้

ส่วนหมู่เกาะซุนด้าน้อย ซึ่งอยู่ถัดมาจากเกาะลอมบอร์กทางตะวันออกโดยมีเกาะติมอร์เป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุด ในราวศตวรรษที่ 17 หมู่เกาะเหล่านี้ก็ได้เข้าอยู่ในดินแดนของอิสลาม สาธารณรัฐอินโดนีเซียได้ผนวกรวมหมู่เกาะเหล่านี้เข้าไปยังดินแดนของตนในช่วงทศวรรษที่ 60 ของศตวรรษที่ 20 หลังเกิดการรัฐประหารขึ้นในโปรตุเกสภายหลังการถึงแก่อสัญกรรมของจอมทรราชย์ซาลาซฺาร

จากทางตะวันตกของสุมาตราก็ได้มีกลุ่มชนมุสลิมอพยพไปยังคาบสมุทรมลายู ซึ่งในคาบสมุทรมลายูมีพ่อค้าและนักเผยแผ่ศาสนาเป็นจำนวนมากจรดดินแดนทางใต้สุดของมะละกา กลุ่มชนมุสลิมดังกล่าวได้เริ่มทำการเผยแผ่ศาสนาตั้งแต่ช่วงกลางศตวรรษที่ 12 และรุกขึ้นสู่ตอนเหนือจนถึงเมืองมะละกาซึ่งเป็นราชธานีของอาณาจักรมะละกา ต่อมาก็ได้มีพ่อค้าชาวอาหรับซึ่งเป็นนักเผยแผ่ศาสนาจากนครญิดดะห์ นามว่า “ซิดี อับดุลอะซีซ” ได้มุ่งสู่อาณาจักรแห่งนี้

ท่านชัยค์ผู้นี้สามารถทำให้กษัตริย์แห่งนี้ยอมรับนับถือศาสนาอิสลามและทรงพระนามว่า มุฮำหมัด ประชาชนในมะละกาจึงเข้ารับอิสลามตามกษัตริย์ผู้นี้ อาณาจักรมะละกา จึงกลายเป็นอาณาจักรอิสลามแรก ๆ ในคาบสมุทรมลายูที่อาณาจักรอื่นเอาอย่าง เช่น อาณาจักรกุวัยดะห์ (เกดะห์-ไทรบุรี) ทางตอนเหนือของคาบสมุทร ซึ่งเข้ารับอิสลามโดยสมบูรณ์ในปีค.ศ.1501 ก่อนหน้านี้อาณาจักรกุวัยดะห์ เคยนิยมในศาสนาฮินดู มีกษัตริย์ที่ทรงพระนามว่า ราชา เป็นผู้ปกครองอาณาจักรแห่งนี้เข้ารับอิสลามด้วยน้ำมือของนักเผยแผ่ท่านหนึ่งซึ่งเป็นชาวอาหรับนามว่า อับดุลเลาะห์ ท่านชัยค์ผู้นี้ได้ใช้ให้กษัตริย์สร้างมัสยิดขึ้นหลายแห่งในอาณาจักรของพระองค์ และกำหนดให้แต่ละมัสยิดมีกลุ่มคนราว 40 คน ทำหน้าที่ดูแลมัสยิดและประกอบศาสนกิจ หลังจากนั้นราชาองค์นี้ก็ได้ติดต่อกับสุลต่านแห่งอาเจะห์ สุลต่านแห่งอาเจะห์จึงได้มีสาส์นโต้ตอบกับราชาแห่งกุวัยดะห์และยังได้มอบตำรับตำราทางศาสนาอิสลามให้อีกด้วย

เช่นนี้เองเราจะพบว่าศาสนาอิสลามได้ดำเนินไปในหมู่เกาะของอินโดนีเซีย ซึ่งครั้งหนึ่งเคยได้ชื่อว่า หมู่เกาะแห่งอินเดียตะวันออก และอิสลามก็ได้ก้าวกระโดดสู่คาบสมุทรมะละกาเพื่อไปสู่หมู่เกาะที่เหลือ

บางคนอาจจะคิดว่า สาเหตุที่เราพูดอย่างสรุป ๆ ถึงประวัติศาสตร์แห่งการที่อิสลามเข้าสู่หมู่เกาะอินโดนีเซียและการแพร่หลายของอิสลาม นั่นเป็นเพราะว่าการเข้ารับอิสลามของชาวอินโดนีเซียเป็นไปอย่างสะดวกง่ายดาย มิยากลำบากอันใด แต่ทว่าความสำเร็จที่เด่นชัดดังที่เราได้ประจักษ์เห็นนี้ ย่อมไม่มีทางเป็นไปได้ นอกจากจะต้องมีการเสียสละทุ่มเทอันใหญ่หลวงและต้องอาศัยความอดทนอย่างยาวนาน

อุปสรรคต่าง ๆ ที่ประดาหน้าเข้าถาโถมบรรดานักเผยแผ่ทั้งหลายก็คงจะไม่น้อยไปกว่าที่นักเรียกร้องอิสลามในดินแดนของพวกเติร์กทางตะวันออกสุดของดินแดนอิสลามได้ประสบ อันเป็นดินแดนที่อยู่ระหว่างกลางระหว่างดินแดนอิสลามกับแผ่นดินจีน ดินแดนต่าง ๆ ในอินโดนีเซียนั้นมีสภาพเป็นป่าทึบดงดิบยากลำบากในการฝ่าเข้าไป เนื่องจากมีเทือกเขา ป่าดงดิบและแหล่งน้ำลำคลองหนองบึงเป็นจำนวนร้อยแห่ง

ฉะนั้นบรรดานักเผยแผ่จำต้องมีความอดทนและทุ่มเทความพยายามอย่างมากเพื่อไปให้ถึงชนพื้นเมืองอินโดนีเซียในดินแดนชั้นในของหมู่เกาะ เมื่อพวกเขาสามารถเข้าไปถึง ก็จะต้องอาศัยปฏิภาณอันชาญฉลาดตลอดจนจรรยามารยาทอันงดงาม เพื่อสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกับชนพื้นเมือง และอนุญาตให้พวกเขาเข้าไปยังดินแดนของตนและตั้งหลักแหล่งอยู่ท่ามกลางพวกนั้น หลังจากนั้นก็ค่อย ๆ เริ่มทำการเผยแผ่อย่างค่อยเป็นค่อยไปและละมุนละม่อม

นักเผยแผ่เหล่านี้โดยมากจะเป็นพ่อค้าแสวงหาผลกำไรจากการค้าในการสืบสานการเรียกร้องสู่ศาสนาอิสลาม พวกเขาไม่มีอำนาจของรัฐอยู่เบื้องหลังที่จะคอยสนับสนุนพวกเขาด้วยกำลังทรัพย์หรือกำลังคน “ชะรีก้า” นักค้นคว้าชาวดัชต์ได้เล่าถึงบรรดากษัตริย์ของชวาทั้งยุคก่อนอิสลามและหลังรับอิสลามในประวัติศาสตร์ของเขาว่า อย่างไรที่นักเผยแผ่เหล่านี้ไม่ได้ใส่ใจต่อสิ่งใดนอกจากการเผยแผ่ศาสนาอิสลามเป็นประการสำคัญ หัวหน้าเผ่าที่เคารพรูปปั้นบางคนในพื้นที่ชั้นในของชวา ได้ตั้งเงื่อนไขต่อพ่อค้าที่ต้องการเข้าสู่ดินแดนของพวกเขาว่าจะต้องสมรสกับสตรีที่ยากจน บรรดาแม่หม้ายสูงอายุและสตรีที่ไม่มีสามีเลี้ยงดูพวกนาง

ปรากฏว่าพ่อค้าชาวมุสลิมไม่ได้ใส่ใจเลยว่าจะต้องใช้จ่ายทรัพย์สินมากเพียงใด และจะต้องค้าขายขาดทุนโดยขอเพียงให้ได้ตั้งหลักแหล่งและเป็นที่ยอมรับไว้ใจของชนพื้นเมือง พ่อค้ามุสลิมจากแคว้นฮัฏร่อเมาต์ ในคาบสมุทรอารเบียบางคนต้องรับผิดชอบอุปการะสตรีที่ยากจนเป็นจำนวนนับร้อยจากชนเผ่าเหล่านี้และได้สัญญาว่าจะหาสามีมาให้กับนางเหล่านี้ ซึ่งเขาก็ทำตามคำมั่นสัญญานั้นโดยมอบสินสมรสแก่สตรีเหล่านั้นทั้งหมด ทรัพย์สินทั้งหมดของเขาก็หมดสิ้นไปในวิถีทางเช่นนี้ แต่ทว่าก่อนหน้าที่เขาผู้นี้จะเสียชีวิตในสภาพของยาจก เขาก็ได้เห็นผลของการเสียสละของตน โดยสตรีเหล่านี้ซึ่งเขาเคยอุปการะเลี้ยงดูได้ให้กำเนิดบุตรชายและหญิงเป็นจำนวนนับสิบแก่อิสลาม

และพวกเขาเหล่านี้ก็ดำเนินบทบาทการเผยแผ่อย่างต่อเนื่องด้วยการสมรสกับชนพื้นเมือง ศาสนาอิสลามก็แพร่หลายไปอย่างกว้างไกลเนื่องด้วยความใจบุญสุนทานของชายผู้นี้ในแคว้นกาดู ซึ่งนับเป็นดินแดนที่เต็มไปด้วยป่าดงดิบมากที่สุดของชวา สิ่งที่สมควรกล่าวถึงก็คือ ศาสนาพราหมณ์ฮินดูนั้นได้หยั่งรากลึกลงในดินแดนแห่งนี้มาก่อน บรรดานักบวชฮินดูต่างก็ทุ่มเทอย่างมากในการที่จะทำให้การรุกคืบของอิสลามหยุดชะงักลง

แต่ทว่าบรรดาพ่อค้าชาวอินเดียที่อาศัยอยู่ที่นั่น ซึ่งถือเป็นหลักสำคัญอันเข้มแข็งของศาสนาพราหมณ์เป็นที่อวดเบ่งบารมีกับชนพื้นเมืองที่ยากจน และไม่อยากสุงสิงกับพวกเหล่านี้นอกเหนือจากการเกี่ยวดองทางการสมรส พ่อค้าอินเดียเหล่านี้จะติดต่อสัมพันธ์กับบรรดาเศรษฐีและผู้มีหน้ามีตาเท่านั้น เมื่อมุสลิมได้กระทำดังที่ได้กล่าวมาก็เป็นที่กระจ่างสำหรับชนพื้นเมืองถึงความประเสริฐและความมีมนุษยธรรมของอิสลาม ผู้คนจึงเข้ารับอิสลามเป็นจำนวนมาก

พวกเขาเหล่านี้ก็ต้องทึ่งกับสิ่งที่พวกเขาได้พบในหลักคำสอนของอิสลามจากความอะลุ้มอะล่วยและความสะดวกง่ายดาย และนับเป็นโชคดีอย่างยิ่งที่ปรากฏว่า ท่ามกลางเหล่านักเผยแผ่อิสลามที่เป็นพ่อค้ามีชายคนหนึ่งซึ่งเป็นผู้ทรงภูมิความรู้ในหลักนิติศาสตร์อิสลาม มีชื่อปรากฏในข้อเขียนว่า “ซากิตตีน” ซึ่งน่าจะเป็นชื่อที่เพี้ยนมาจากคำว่า ซะกียุดดีน บุคคลผู้นี้ได้สร้างโรงเรียนขึ้นเพื่อทำการสอนวิชานิติศาสตร์และหลักการของศาสนา บรรดาบุตรหลานของพ่อค้าชาวมุสลิมตลอดจนชนพื้นเมืองได้เรียนรู้หลักการศาสนาในโรงเรียนแห่งนี้

ในระหว่างที่หลักการในศาสนาฮินดูได้กำหนดให้บุตรชายคนหัวปีมีสิทธิ์รับมรดกเพียงผู้เดียว ศาสนาอิสลามก็ได้แบ่งสรรมรดกอย่างเป็นธรรมระหว่างบรรดาผู้เป็นทายาทของผู้ตาย ในขณะที่ศาสนาฮินดูห้ามสตรีรับมรดก ยิ่งไปกว่านั้นยังได้มอบให้ครอบครัวของสามีที่ตายมีสิทธิ์ในการอัปเปหินางออกจากกลุ่มชนได้และบรรดาพระในศาสดาฮินดูก็ยังได้ถือว่าเป็นการดีสำหรับสตรีที่สามีตายถ้าหากนางเผาตัวเองทั้งเป็นไปพร้อมกับร่างของสามี 

ครั้นเมื่อผู้นั้นได้มองเห็นว่าอิสลามได้มอบสิทธิอันสมบูรณ์แก่สตรีในการรับมรดกและมอบให้นางมีสิทธิเสรีภาพในการใช้จ่ายทรัพย์สินของนาง และอิสลามได้เรียกร้องสู่ความละมุนละม่อมและสงสารกับสตรีหม้ายและดูแลทรัพย์สินของพระนาง ผู้คนเหล่านี้จึงเริ่มหันมาสู่ศาสนาแห่งความเอื้ออารีนี้ พ่อค้าชาวฮินดูนั้นเมื่อต้องการทำดีกับคนยากจนก็จะโยนสิ่งที่เขาต้องการให้แต่ไกลจากคนยากจนผู้นั้น และคนยากจนผู้นั้นก็ยังไม่สามารถเข้ามาหยิบสิ่งของที่ถูกโยนให้นอกจากจากนายเหนือหัวผู้นั้นจะเดินจากไป

ฉะนั้นเมื่ออิสลามได้กำหนดสิทธิแก่คนยากจนในทรัพย์สินของคนรวยโดยคนยากจนนั้นจะเอาสิทธิดังกล่าวด้วยคำสั่งใช้ของศาสนาอย่างสมเกียรติและภาคภูมิ ไม่ตะขิดตะขวงใจ เมื่อเป็นเช่นนี้พวกพระในศาสนาฮินดูจึงยุยงกษัตริย์ที่มีอำนาจในแว่นแคว้นนั้นให้กดดันชาวมุสลิมและคณะผู้เผยแผ่โดยกล่าวว่า “เมื่อใดที่ศาสนาอิสลามแพร่หลายในดินแดนนี้ทรัพย์สินของพระองค์ก็จะถูกลิดรอนและพระองค์ก็จะสิ้นเนื้อประดาตัว” 

ท่านชัยค์ ซะกียุดดีนจึงได้กล่าวแก่กษัตริย์ว่า ในทางตรงกันข้ามนั่นแหล่ะเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ท่านชัยค์จึงเรียกร้องกษัตริย์ผู้นี้ให้เข้ารับอิสลามและท่านชัยค์ได้ยอมสละทรัพย์สินส่วนตัวของท่านแก่กษัตริย์เพื่อชดใช้ในส่วนที่กษัตริย์ต้องสูญเสียไปในการจ่ายซะกาต ครั้นเมื่อกษัตริย์ได้เข้ารับอิสลามและทำการจ่ายทรัพย์ซะกาต ผู้คนก็รักพระองค์มากยิ่งขึ้นและได้ถวายเครื่องบรรณาการแก่พระองค์อย่างพร้อมใจ ทรัพย์สมบัติของพระองค์ก็เพิ่มมากขึ้นและมีศิริมงคลและได้มีบัญชาให้เรียกตัวท่านชัยค์ ซะกียุดดีนเข้าเฝ้าเพื่อรับทรัพย์สินของท่านคืน ท่านชัยค์ผู้ทรงธรรมก็ปฏิเสธที่จะรับคืน

แต่ต่อมาก็ได้รับเอาไว้เพื่อใช้จ่ายในการเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ท่านชัยค์ได้นำทรัพย์สินดังกล่าวไปซื้อเรือสำเภาลำหนึ่งและนำเอาชาวมุสลิมที่ประสงค์จะประกอบพิธีฮัจญ์ลงเรือซึ่งรวมถึงมุสลิมใหม่ด้วย ท่านชัยค์เดินทางถึงนครมักกะห์พร้อมด้วยบรรดาฮุจญาจ จำนวน 200 คนชะรีฟผู้ครองนครมักกะห์ทรงปิติยินดีต่อฮุจญาจเหล่านี้เป็นอันมาก พระองค์ได้ต้อนรับพวกเขาอย่างดีตลอดจนยังรับเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายที่พักแก่พวกเขาทั้งในนครมักกะห์และม่าดีนะห์ มุสลิมเหล่านี้ได้เดินทางกลับสู่มาตุภูมิของพวกเขาโดยได้รับการขนานนามว่า “ฮัจยี” พวกเขาเหล่านี้เป็นศิริมงคลของดินแดนแห่งนี้เพราะพวกเขาได้หันสู่กิจการของศาสนาและเผยแผ่ศาสนาให้แพร่หลาย

นักเผยแผ่อิสลามโดยรวม ๆ จะมีชื่อเรียกขึ้นต้นด้วยคำว่า ซัยยิด ชะรีฟ หรือวะลีย์ (เมาลานา) ซึ่งบางคนสืบเชื้อสายถึงวงศ์วานของท่านศาสดา (ซ.ล.) แต่ส่วนใหญ่จะถูกเรียกด้วยชื่อจริงหรือคำขึ้นต้นดังกล่าวอย่างรวม ๆ ซึ่งมีผลอย่างใหญ่หลวงในการดึงดูดผู้คนให้ปฏิบัติตามนักเผยแผ่เหล่านี้ บรรดาหัวหน้าเผ่าต่าง ๆ ตลอดจนบุคคลสำคัญต่างก็ยินดีที่จะเกี่ยวดองกับบุคคลเหล่านี้ด้วยการสมรสเพื่อแสวงหาความมีศิริมงคล ซึ่งการเกี่ยวดองด้วยการสมรสนั้นมีผลอย่างมากในการเข้ารับอิสลามของชาวอินโดนีเซีย โดยมากแล้วพ่อค้ามุสลิมจะสมรสกับชนพื้นเมืองและสร้างครอบครัวและให้กำเนิดบุตรหลานที่เป็นมุสลิม

หลักฐานยืนยันที่ได้จากสุสานหลายแห่งซึ่งนักค้นคว้าได้ค้นพบทางตอนเหนือของสุมาตรา ในรัฐอาเจะห์ , ซัมดะเราะห์ และปาไสย ต่างก็บ่งชี้ว่าบรรดาเจ้าครองนครรัฐต่าง ๆ ล้วนแล้วแต่ยินดีในการสมรสบุตรีของตนกับลูกหลานของพ่อค้าชาวมุสลิม และบ่อยครั้งที่บุตรเขยได้สืบทอดบัลลังก์จากผู้เป็นพ่อตาเมื่อเขาสิ้นชีวิตลง และด้วยวิธีการเช่นนี้ รัฐต่าง ๆ เป็นจำนวนมากได้เปลี่ยนไปรับอิสลาม

กษัตริย์อัลกามิ้ลแห่งอาเจะห์ ซึ่งเราได้กล่าวมาก่อนแล้ว (สิ้นพระชนม์ 607/1210) ก็เป็นผลมาจากการที่พ่อค้ามุสลิมนามว่าอับดุรเราะห์มานได้สมรสกับราชบุตรีของกษัตริย์อาเจะห์องค์สุดท้ายที่เป็นพวกกราบไหว้รูปปั้น ซึ่งได้เข้ารับอิสลามก่อนหน้าการสมรสนี้เพียงเล็กน้อย ครั้นเมื่อกษัตริย์องค์นี้สิ้นพระชนม์อับดุรเราะห์มานผู้นี้กลายเป็นกษัตริย์และทรงพระนามว่า อัลกามิ้ล ซึ่งเรารู้ถึงเรื่องนี้จากลายลักษณ์อักษรที่ถูกบันทึกอยู่ที่สุสานของกษัตริย์องค์นี้ซึ่งเป็นภาษาอาหรับ

บรรดาพ่อค้าชาวมุสลิมได้เสียค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนหลายพันดีนารเพื่อประกอบพิธีฮัจญ์ เพราะการประกอบพิธีฮัจญ์สู่บัยติลลาฮ์ อัลฮะรอมนั้นคือสุดยอดปรารถนาของคนรุ่นหนุ่มสาวชาวมุสลิมอินโดนีเซีย ทั้งนี้เพื่อพวกเขาจะได้กลับมาพร้อมคำนำหน้าว่า “ฮัจยี” ดังนั้นพวกพ่อค้าจึงใช้จ่ายอย่างไม่อั้นในการประกอบพิธีฮัจญ์ นำเอาผู้คนเป็นร้อยจากลูกหลานของชนพื้นเมืองลงเรือสำเภาและให้ความช่วยเหลือแก่พวกเขาในการเดินทาง ต่อมาผู้คนเหล่านี้ก็ได้กลับสู่มาตุภูมิในฐานะมุสลิมผู้เคร่งครัดและนักเผยแผ่อิสลามหลังจากเสร็จพิธีฮัจญ์

การดำเนินการเผยแผ่ศาสนาอิสลามในชวา , สุมาตรา และเกาะอื่น ๆ จากหมู่เกาะของอินโดนีเซียได้บรรลุถึงขีดสุดในราวศตวรรษที่ 16 อันเป็นช่วงเวลาที่พวกโปรตุเกสได้รุกรานปล้นสะดมภ์หมู่เกาะเหล่านี้ การปฏิบัติตัวของพวกโปรตุเกสเป็นส่วนหนึ่งที่ผันแปรผู้คนมาสู่อิสลาม บรรดาพ่อค้ามุสลิมและเหล่านักเผยแผ่ได้ยืนเคียงข้างชาวเมืองและเป็นผู้นำในการต่อสู้เพื่อวิถีทางดังกล่าวเคียงบ่าเคียงไหล่กับชนพื้นเมืองที่เข้ารับอิสลามด้วยน้ำมือของพวกเขา นามชื่อแห่งอิสลามมีความเกี่ยวพันกับความยุติธรรม และช่วยเหลือผู้ที่ถูกอธรรมและปกป้องมาตุภูมิในขณะที่ศาสนาคริสต์มีความเกี่ยวข้องกับชื่อเสียงของพวกโปรตุเกส ซึ่งพวกเขาเหล่านี้เป็นผู้รุกรานและปล้นสะดมภ์

ด้วยเหตุนี้อิสลามจึงมีแนวร่วมและได้รับการสนับสนุนอย่างใหญ่หลวงจากกรณีดังกล่าว พวกดัชต์ไม่ค่อยได้ทุ่มเทในการเผยแพร่ศาสนาคริสต์สักเท่าไหร่ในหมู่เกาะดังกล่าว หรือแม้กระทั่งในความพยายามที่จะทำให้การรุดหน้าของอิสลามหยุดชะงักลง ทั้งนี้เพราะเป้าหมายใหญ่ของพวกดัชต์นั้นมุ่งเป้าไปยังการสะสมรวบรวมทรัพย์สมบัติ ผูกขาดในการขนส่งเครื่องเทศ , ของหอม , งาช้าง และไม้มะค่า และสิ่งอื่น ๆ ที่เป็นทรัพยากรของดินแดนแห่งนี้โดยนำเอาสิ่งเหล่านี้ไปสู่กลุ่มประเทศตะวันตก พวกดัชต์ได้พบว่าการทำการค้ากับชาวมุสลิมเป็นการส่งเสริมในกรณีดังกล่าว

พ่อค้าเหล่านี้ที่มีทั้งชาวอาหรับและชาวอินโดนีเซียต่างก็กระจัดกระจายอยู่ในดินแดนชั้นในของหมู่เกาะต่าง ๆ และมีความสามารถในการรวบรวมผลผลิตจำนวนมหาศาลได้เป็นอย่างดี ซึ่งผลผลิตทั้งหมดก็จะถูกนำมาขายให้กับศูนย์กลางทางการค้าของพวกดัชต์ตามชายฝั่ง จากจุดนี้นี่เองพวกดัชต์จึงพบว่าเป็นการดี สำหรับพวกเขาในด้านการเงินและการค้าขาย ถ้าหากพวกเขาไม่ไปแข่งขันหรือแทรกแซงกิจการของอิสลาม เพื่อพวกดัชต์จะได้ทำการค้าอย่างสะดวกและไม่มีอุปสรรค พวกดัชต์สามารถกอบโกยทรัพยากรจากหมู่เกาะอินเดียตะวันออกได้อย่างมหาศาลมากกว่าที่อังกฤษสามารถกอบโกยจากอินเดียทั้งหมดด้วยนโยบายทางการเมืองเช่นนี้ เพราะพวกเขาไม่ต้องสร้างภาระให้กับตัวเองในการสู้รบปรบมือกับอิสลาม เหมือนเช่นที่อังกฤษได้กระทำในอินเดีย หรือเหมือนกับที่ฝรั่งเศสได้กระทำในแอฟริกาเหนือ

พวกดัชต์ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ จากผลกำไรของพวกเขาในการสร้างสาธารณูปโภค ในขณะที่พวกอังกฤษและฝรั่งเศสได้ดำเนินการตัดถนนและเส้นทางคมนาคมตลอดจนให้ความคุ้มครองเส้นทางและการค้าของพวกเขา และสร้างความมั่นคงต่ออำนาจทางการเมืองในดินแดนที่ตกอยู่ใต้อาณัติ โดยเข้าใจเอาว่าพวกเขาจะอยู่ในดินแดนเหล่านั้นตลอดกาล ส่วนพวกดัชต์นั้นพอใจกับศูนย์กลางทางการค้าที่ตั้งอยู่บนชายฝั่งอย่างชั่วคราวไม่ถาวร พวกเขาจ่ายเงินเพียงเล็กน้อยเพื่อนำเอาสินค้าไปขายยังยุโรปด้วยราคาอันแพงลิบลิ่ว ด้วยการวางนโยบายทางการเมืองเช่นนี้ได้ทำให้ฮอลแลนด์กลายเป็นประเทศที่ร่ำรวยอยู่ท่ามกลางกลุ่มประเทศยุโรปถึงแม้ว่าอาณาเขตของฮอลแลนด์นั้นจะมีขนาดเล็กก็ตามพวกดัชต์ (ฮอลแลนด์) ได้สะสมทองคำ , เพชรพลอย และหนังสัตว์ ตลอดจนสิ่งที่มีราคาแพงลิบลิ่วในประเทศของตน จนกลายเป็นประเทศที่มีทุนสำรองมากที่สุดในโลก และยังสามารถเข้าร่วมหุ้นกับบริษัทของกลุ่มประเทศยุโรปและอเมริกาอีกด้วย

นักบูรพาคดี สัญชาติฮอลแลนด์ คือ ซินุก เฮิร์กเนย์ได้ชี้แนะต่อรัฐบาลฮอลแลนด์ให้ใช้นโยบายดังกล่าว โดยเขียนบันทึกไว้ในเอกสารภาษาฝรั่งเศสที่มีชื่อว่า “มุมมองในการดำเนินนโยบายทางการเมืองต่อหมู่เกาะอินเดียตะวันออก” ในข้อเขียนดังกล่าว ซินุก ได้เตือนให้รัฐบาลปล่อยชาวมุสลิมให้จมปลักอยู่ในเรื่องราวทางศาสนาของพวกเขา เพื่อเรื่องการค้าขายและการได้รับประโยชน์ทางเศรษฐกิจจะได้ตกเป็นของฝ่ายเรา และพวกเขาก็จะได้ไม่สร้างความอึดอัดต่อพวกเรา

ยิ่งไปกว่านั้นนักบูรพาคดีผู้นี้ยังได้แนะนำให้รัฐบาลทำการส่งเสริมการแพร่หลายของศาสนาอิสลามในหมู่เกาะต่าง ๆ เพื่อชาวมุสลิมจะได้จมปลักอยู่กับศาสนาของพวกเขามากยิ่งขึ้นอีกด้วย พวกดัชต์จึงเสวยสุขอยู่กับทรัพย์สินที่เป็นกำไรจากการค้า กองเรือสินค้าของดัชต์ได้ล่องทะเลในสภาพที่ที่ระวางเรือว่างเปล่ามุ่งหน้าจากยุโรป โดยรับเอาบรรดาฮุจญาจชาวอินโดนีเซียจากชายฝั่งต่าง ๆ ของอาหรับและอินเดียด้วยค่าเช่าเพียงเล็กน้อยและส่งบรรดาฮุจญาจเหล่านี้ลงยังเมืองท่าที่ญิดดะห์และยัมบูอ์

นอกจากนี้พวกดัชต์ยังไม่พยายามนำเอาตัวอักษรลาตินเข้าไปใช้ในดินแดนแห่งนี้ เพื่อจัดพิมพ์ตำราภาษาอินโดนีเซีย แต่ทว่าพวกดัชต์ได้ดำเนินการส่งเสริมการใช้อักษรอารบิก ซึ่งถูกใช้ในการเขียนตำราภายในดินแดนอินโดนีเซียมาก่อน หน้าที่ของพวกเขาจะเข้ามามีอำนาจ ภาษาอินโดนีเซียจึงยังคงถูกเขียนด้วยตัวอักษรอารบิกจนกระทั่งไม่นานมานี้ในตรอกข้างมหาวิทยาลัยอัลอัซฮัรยังคงมีตำราภาษามลายู , ชวาและอินโดนีเซียถูกตีพิมพ์ด้วยอักษรอาหรับในโรงพิมพ์หลายแห่ง และกรุงไคโรในเวลานั้นนับได้ว่าเป็นศูนย์กลางของการตีพิมพ์ตำราภาษาอาหรับของโลก

เมื่อเป็นเช่นนี้เราจึงพบว่า นักบูรพาคดีซีนูก เป็นผู้ได้รับใช้อิสลามโดยที่เขาไม่รู้ตัว ดังนั้นในช่วงศตวรรษที่ 17,18,19 จึงนับได้ว่าเป็นช่วงเวลาแห่งการแผ่ขยายอิสลามที่ครอบคลุมอย่างแท้จริงและได้รับเกียรติอย่างสูงสุดในดินแดนดังกล่าว

แต่ทว่าพวกดัชต์ก็ได้หันไปสนับสนุนกฎหมายที่อิงขนบธรรมเนียมประเพณีเป็นสำคัญเพื่อขจัดหลักกฎหมายอิสลามให้หมดไป เฉกเช่นที่พวกฝรั่งเศสได้กระทำในดินแดนตะวันตกของโลกอิสลามในขณะที่พวกเขารณรงค์ต่อต้านอิสลามด้วยการประกาศกฎหมาย “ธรรมเนียมแห่งชนชาติเบอร์เบอร์” ในดินแดนตะวันตกไกล (แถบแอลจีเรีย-ตูนีเซีย)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความแนะนำ

World Clock

Featured Posts

เรื่องราวของสองอารยธรรม : อารยธรรมของชาวไวกิ้งและมุสลิม

เรื่องราวของสองอารยธรรม : อารยธรรมของชาวไวกิ้งและมุสลิม โดย : Cem Nizamoglu และ Sairah Yassir-Deane ย้อนหลังไปถึงมีนาคม 2015 ข่าวเกี่ยวก...