product :

วันอาทิตย์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

ชีวประวัติของท่านอิหม่าม อัช-ชาฟีอีย์

อิหม่าม อัช-ชาฟีอีย์



1. ชื่อและวงศ์ตระกูล


สืบเชื่อสายจากทางบิดา
ท่านอิหม่าม อัช-ชาฟีอีย์ มีชือจริงว่า มูฮัมหมัด บิน อิดริส บิน อับบาส บิน อุสมาน บิน ชาฟิอฺ บิน อัซ-ซาอิบ บิน อุบัยดฺ บิน อับดุ ยาซีด บิน ฮาชิม บิน อัล-มุฏฏอลิบ บิน อับดุลมานาฟ

ซึ่ง ก็หมายความว่า ท่านอิหม่าม อัช-ชาฟีอีย์ เป็นชนตระกูลกุรัยชฺ โดยสืบเชื้อสาย ถึงท่าน อัล-มุฏฏอลิบ และบรรจบกับ เชื้อสายท่านนบี (ซ.ล.) ตรงท่านอับดุลมานาฟ

แต่ที่เรียกว่า อัช-ชาฟีอีย์ นั้น ก็เพราะว่าได้พาดพิงต้นตระกูลไปยัง ท่านชาฟิอฺ (ทวดลำดับ2) ซึ่งถือเป็น ศอฮาบัตท่านสุดท้าย นับตั้งแต่ ท่านอับดุ ยาซีด เป็นต้นมา

สืบเชื้อสายจากทางมารดา
มารดาอิหม่าม อัช-ชาฟีอีย์ สืบเชื้อสายจากตระกูลอาซัด ซึ่งถือเป็นวงค์กระกูลที่มีเกียรติและประเสริฐ ที่ท่านนบี (ซ.ล.) ได้ทรงรับรองไว้ว่า อัลอาซัด อัสดุลลอฮฺ การที่ท่านนบี (ซ.ล.) ได้ฝากอัลอาซัดไปยังคำว่า อัลลอฮฺ ณ ที่นี้นั้น เปรียบได้ดังคำว่า บับตุ้ลลอฮฺ และ นาก่อตุ้ลลอฮฺ

ท่านอิหม่าม อัช-ชาฟีอีย์ ถือกำเนิด ในปี ฮ.ศ. ที่ 150 (ค.ศ. 767) ณ เมือง ฆอซซะฮฺ (กาซ่า,ปาเลสไตน์ในปัจุบัน) โดยที่ท่านกำพร้าบิดาตั้งแต่อยู่ในครรภ์ของมารดา

ท่านนบี (ซ.ล.) ได้กล่าวไว้ว่า

لا تَسُبُّوا قُرَيشاً فإنَّ عَالِمَهَا يَمْلأُ طِبَاقَ الأرضِ عِلماً

ความว่า

ท่านทั้งหลายอย่าได้ตำหนิ ชาวกุรัยชฺเลย เพราะแท้จริงแล้ว..ปราชญ์คนหนึ่งจากเผ่ากุรัยชฺ นี้ แหละ ที่ความรู้ของเขานั้น จะล้นหลามทั่วผืนแผ่นดินนี้

(รายงาน โดยท่าน อิหม่าม บัยฮากีย์ ใน “อัล-มานากิบ ชาฟีอีย์” และท่าน อาบูนาอีม ได้รายงานไว้ใน “ อัล-ฮิลยะฮ์ฯ มุสนัด อาบีดาวุดฯ”)

บรรดา อุลามาอฺ ต่างอธิบายความหมายของคำว่า “ ปราชญ์คนหนึ่งจากเผ่ากุรัยชฺ ” ที่ปรากฏในฮาดีษ บทดังกล่าว...ว่าหมายถึง ท่านอิหม่าม อัช-ชาฟีอีย์ ที่นับเป็นชนเผ่ากุรัยชฺ และถือเป็นผู้กระจายวิชาความรู้และแนวทางการวินิจฉัยบนหน้าผืนแผ่นดินนี้..

ภรรยาของอิหม่าม อัช-ชาฟีอีย์
อิหม่าม อัช-ชาฟีอีย์ได้ทำการสมรสกับพระนางฮามีดะห์ บุตรสาวของท่านนาเฟียอ์ หลานสาวของท่านอุสมาน บิน อัฟฟาน หลังจากที่ท่านอิหม่ามมาลิก ได้เสียชีวิตแล้ว (ถึงแก่กรรม) อายุของท่านอิหม่ามชาฟีอีย์ ได้ 30 ปี โดยประมาณ

บุตรของอิหม่าม อัช-ชาฟีอีย์ที่สืบเชื้อสายจากตระกูลอุสมาน บิน อัฟฟานได้แก่ อาบูอุสมาน มูฮำหมัด ส่วนบุตรสาว ได้แก่ ฟาตีมะห์ และไซหนับ หากแต่ขณะอาบูอุสมาน มูฮำหมัด นั้น มีตำแหน่งที่สูง เป็นถึงผู้พิพากษาของแคว้นฮาลิบ และอิหม่ามชาฟีอีย์ได้มีลูกชายอีกคนหนึ่งกับภรรยาคนที่สอง ชื่อ ฮาซัน บิน มูฮำหมัด บิน อิดริส แต่ฮาซันได้เสียชีวิตขณะยังเด็กอยู่

เอกลักษณ์ประจำตัวที่เด่นชัดของอิหม่าม อัช-ชาฟีอีย์
อิหม่ามชาฟีอีย์ เป็นชายที่สูงใหญ่ มีมารยาทดีเลิศ และท่านเป็นคนรักเพื่อนฝูงและครอบครัว คนรอบข้าง เสื้อผ้าที่สวมใส่สะอาดหมดจด พูดจาฉะฉาน ชอบสร้างความดีต่อเพื่อนบ้าน ชอบย้อมผมสีแดง อ่านกุรอ่านเสียงไพเราะรื่นหู ทั้งๆ ที่ขณะนั้นท่านมีอายุเพียงแค่ 13 ปีเท่านั้น นักวิชาการ นักปราชญ์ บรรดาอุลามาอฺ เหล่านั้นต้องการที่จะหลั่งน้ำตาอันเนื่องมาจากการยำเกรงอัลลอฮฺ (ซ.บ.) ก็จึงมีการรวมตัวกันแล้วเอ่ยขึ้นว่า พวกเราทุกๆ คน เราไปเถิด ไปหาเด็กคนนั้นเถิด หมายถึง อิหม่ามชาฟีอีย์ เพื่อเราจะได้รับฟังการอ่านคัมภีร์อัลกุรอ่านจากเขา และจะเป็นเหตุให้พวกเราหลั่งน้ำตา ด้วยเหตุการฟังการอ่านของเด็กผู้นั้น เมื่อพวกเขาเหล่านั้นได้เดินทางมาถึงที่หมายและได้สดับรับฟังการอ่านและได้ยินเสียงอันไพเราะของอิหม่ามชาฟีอีย์ น้ำตาของบุคคลเหล่านั้นก็ได้ไหลล้นเอ่อเต็มหน้าตักของพวกเขาเหล่านั้น อิหม่ามชาฟีอีย์ เมื่อมองเห็นสภาพเช่นนั้นก็จึงหยุดอ่านกุรอ่าน เนื่องจากมีความสงสารบุคคลเหล่านั้น

2. การศีกษาและการเผยแผ่


อัลลอฮฺได้ประทานความอัจฉริยะแก่ท่าน อิหม่าม อัช-ชาฟีอีย์ นับแต่วัยเยาว์ โดยท่านสามารถจดจำ อัล-กุรอ่าน ทั้งเล่ม ตั้งแต่อายุ 7 ขวบ และเมื่ออายุได้ 10 ขวบ มารดาของท่านก็ได้พาท่าน มุ่งหน้าสู่มหานครมักกะฮฺเพื่อร่วมประกอบพิธีฮัจญ์ จากนั้นท่านก็ได้พำนักอยู่ ณ มักกะฮฺ พร้อมมารดา ต่อไป เพื่อแสวงหาวิชาความรู้...

ท่านอิหม่ามอัช-ชาฟีอีย์ ได้เริ่มเล่าเรียนวิชาการศาสนา กับ มุฟตี (ผู้ตัดสินความ) ของ นครมักกะฮฺในขณะนั้น ซึ่งมีชื่อว่า ท่าน เชค มุสลิม บิน คอลิด อัซ-ซันญียฺ .... โดยที่ อิหม่ามชาฟีอีย์ ได้เล่าเรียนวิชาการ จากตำราศาสนามากมาย โดยเฉพาะ “มุวัฏเฏาะอฺ” ที่ถือเป็นตำราฮาดีษ อันเลื่องชื่อ รวบรวมโดย ท่าน อิหม่ามมาลิก บิน อานัส ซึ่งกล่าวกันว่า ท่านก็สามารถ ท่องจำมันหมด ภายในเวลาไม่กี่วัน และขณะนั้น ท่านก็เพิ่งจะย่างเข้า 15 ปี เท่านั้นเอง

และในขณะที่ท่านมีอายุเพียงแค่ 15 ปีเท่านั้น ท่าน เชค มุสลิม อัซ-ซินญียฺ ผู้เป็นอาจารย์ ก็อนุญาตให้ท่าน ตัดสินปัญหาศาสนาได้ด้วยตัวเอง..

หลังจากเล่าเรียนศาสนา ณ มักกะฮฺ อยู่นานพอสมควรแล้ว ท่านได้ขออนุญาตผู้เป็นมารดาและครูบาอาจารย์ ออกจากนครมักกะฮฺ เพื่อมุ่งหน้าแสวงหาวิชาความรู้ต่อ ณ นครมาดีนะฮฺ โดย ณ ที่แห่งนี้ ท่านได้มีโอกาสฝากตัวเป็นศิษย์กับ ท่านอิหม่ามมาลิก บิน อานัส ที่ถือเป็นปราชญ์ระดับแนวหน้าของนครมาดีนะฮฺในขณะนั้น

ท่านอิหม่ามชาฟีอีย์ ได้ศึกษาเล่าเรียน ณ นครมาดีนะฮฺ ตั้งแต่อายุย่างเข้า 20 และด้วยความอัจฉริยะของท่าน ในด้านวิชาการศาสนานั้น ทำให้ท่านเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น ในนครมาดีนะฮฺ สุดท้าย ท่านได้รับเกียรติจาก อิหม่ามมาลิกผู้เป็นอาจารย์ ให้ทำการสอนศาสนา ณ มัสยิดแห่งองค์ศาสดาอยู่ชั่วระยะหนึ่ง...

ว่ากันว่า ท่านยังคงศึกษา กับ อิหม่ามมาลิกเรื่อยไป จนท่านอิหม่ามมาลิกสิ้นชีวิต ในปี ฮ.ศ 197 บ้างก็กล่าวว่า ท่านได้ขออนุญาตจากท่าน อีหม่ามมาลิก เพื่อเดินทางไปยัง บัฆฺดาด(กรุงแบกแดด,อิรัก) ก่อนจากการสิ้นชีวิตของอิหม่ามมาลิก

เมื่อท่านเดินทางถึงกรุง บัฆฺดาด(แบกแดด) ณ ที่แห่งนี้ ท่านได้รู้จักกับ บรรดาเหล่าศานุศิษย์ของท่านอิหม่ามอาบู ฮานีฟะฮฺ (เจ้าของมัซฮับฮานาฟียฺ) พร้อมได้ศึกษาวิชาความรู้กับพวกเขาอยู่ระยะหนึ่ง...

และหนึ่งในจำนวนลูกศิษย์ของอิหม่ามฮานาฟีย์ ที่ท่านอิหม่ามชาฟีอีย์ มักไปมาหาสู่อยู่เป็นประจำก็คือ ท่าน มูฮัมหมัด บิน ฮาซัน อัช-ชัยบานียฺ...

โดยช่วงเวลานี้ ถือได้ว่า เป็นเวลาที่มีค่าที่สุดของท่านอิหม่ามชาฟีอีย์เลยก็ว่าได้ เนื่องจากท่านได้มีโอกาสเปรียบเทียบทัศนะของบรรดาอิหม่ามมุจญตาฮิดต่างๆ เช่น แนววินิจฉัย ของ อิหม่ามมาลิก และอิหม่ามอาบูฮานีฟะฮฺ เป็นต้น

และต่อมาในปี ฮ.ศ. ที่ 188 ท่านอิหม่ามชาฟีอีย์ ได้ ตัดสินใจเดินทางออกจากเมืองบัฆดาด(แบกแดด) เพื่อมุ่งหน้าสู่ มิศรฺ (อียิปต์) และได้ทำการเผยแพร่วิชาการศาสนา ตามรูปแบบการวินิจฉัยของท่าน ณ ที่แห่งนั้น

ท่านดาวุด บิน อาลี ( ฮ.ศ 200-270)ได้กล่าวถึงความพิเศษของท่าน อิหม่าม อัช-ชาฟีอีย์ ว่า


للشافعي من الفضائل ما لم يجتمع لغيره من: شرف نسبه، وصحة دينه ومعتقده، وسخاوة نفسه، ومعرفته بصحة الحديث وسقمه وناسخه ومنسوخه، وحفظه الكتاب والسنة وسيرة الخلفاء، وحسن التصنيف،


ความว่า

ท่าน อิหม่าม อัช-ชาฟีอีย์ นั้น มีความพิเศษหลายๆ ด้าน ที่ไม่เคยรวมอยู่ในตัวปราชญ์คนใด (ก่อนหน้าท่าน) มาก่อนเลย ทั้งด้าน การมีเกียรติภูมิของวงศ์ตระกูล มีศาสนา และหลักยึดมั่นที่ถูกต้อง เป็นบุคคลที่ใจกว้างและเผื่อแผ่เมตตา เข้าใจถึง ฮาดีษซอเฮี่ยะ และ ฮาดีษดออีฟ ได้เป็นอย่างดี รู้ถึงบทบัญญัติที่มายกเลิก และบทบัญญัติที่ถูกยกเลิก จดจำอัลกุรอ่าน และฮาดีษ ตลอดจนแนวทางขององค์คอลีฟะฮฺ ผู้ทรงธรรม (ทั้งสี่) ได้อย่างแม่นยำ สันทัดในการเรียบเรียงตำราศาสนา

(โปรดดู “อัล-บีดายะฮฺ วัล นิฮายะฮฺ”ของท่าน อิบนุ กาษิร ส่วนที่ 14 หน้า 137)

ท่าน อิหม่าม อัน-นาวาวีย์ ได้บอกเป็นนัยยะถึงเหตุที่ ท่านเลือกที่จะดำเนินหลักการตามแนวทาง ของอิหม่ามชาฟีอีย์ ว่า


ولما كان الشافعي قد تأخر عن هؤلاء الأئمة في العصر . ونظر في مذاهبهم نحو نظرهم في مذاهب من قبلهم ، فسبرها وخبرها وانتقدها . واختار أرجحها ، ووجد من قبله قد كفاه مؤنة التصوير والتأصيل . فتفرغ للاختيار والترجيح ، والتكميل والتنقيح ، مع معرفته ، وبراعته في العلوم . وترجحه في ذلك على من سبقه ، ثم لم يوجد بعده من بلغ محله في ذلك . كان مذهبه أولى المذاهب بالاتباع
والتقليد ، وهذا مع ما فيه من الإنصاف ، والسلامة من القدح في أحد الأئمة جلي واضح ، إذا تأمله العامي قاده إلى اختيار مذهب الشافعي ، والتمذهب به


ความว่า

การทีท่าน อิหม่ามชาฟีอีย์ (ร.ฮ) ได้ กำเนิดขึ้นมาหลังจาก อิหม่าม (มุจญตาฮิด) หลายๆ ท่านในสมัยนั้น รวมถึงท่านได้พินิจพิจารณา มัซฮับของบรรดาอิหม่าม (ก่อนหน้าท่าน) เหล่านั้น ดังที่อิหม่ามเหล่านั้นก็ได้พิจารณาถึง มัซฮับของผู้ (เป็นมุญจตาฮีด) ก่อนหน้าพวกเขาเช่นกัน..

ท่าน (อิหม่ามชาฟีอีย์) ได้วิเคราะห์ ตรวจสอบ และวิภาษ ถึงแนวทางของมัซฮั ก่อนหน้าเหล่านั้น และท่านได้เลือกเฟ้น แนวทางที่หนักแน่นที่สุด อีกทั้งท่านได้พบว่าบรรดาอิหม่าม (มุจญตาฮิด) ก่อนหน้าท่านนั้น ได้วางรูปแบบ และรากฐานไว้แล้ว

ดังนั้น ท่านจึงปลีกเวลาของท่านเพื่อเลือกเฟ้น (แนวทาง) ให้น้ำหนัก (แก่แนวทางที่เลือกเฟ้น) เสริมให้สมบูรณ์ (ในส่วนที่ขาดไป) และแก้ไข (ในส่วนที่บกพร่อง) พร้อมๆ กับการประจักษ์แจ้งของท่าน และความอัจฉริยะของท่านในหลายๆ แขนงวิชาการ

ท่านจึงได้รับจุดยืนที่แข็งแกร่งกว่าเหล่ามุจญตาฮิด ก่อนหน้าท่านในเรื่องต่างๆ ดังกล่าว และหลังจากท่านถัดมา ก็ยังไม่ปรากฏว่ามีผู้ใดที่ได้ (ดำเนินจน) ถึงตำแหน่งของท่าน ในเรื่องดังกล่าวเลย...

ฉะนั้นมัซฮับของท่าน จึงถือได้ว่าเป็นมัซฮับที่คู่ควรที่สุดในการยึดถือ และดำเนินตาม และสิ่งนี้ก็ถือว่า ชัดเจนอยู่แล้ว (โดยที่วิเคราะห์ไป พร้อมๆ กับการมองด้วยใจที่เป็นกลาง ปราศจากการดูแคลนต่ออิหม่ามมัซฮับท่านหนึ่งท่านใด)

และเมื่อ คนเอาวาม ได้พิเคราะห์สิ่งเหล่านี้โดยถ้วนถี่ ก็จะเห็นคล้อยไปสู่การเลือกมัซฮับชาฟีอีย์ และ สังกัดมัซฮับของท่าน

(โปรดดูใน หนังสือ “ อัล-มัจญมุอฺ “ ของท่านอีหม่าม นาวาวีย์ เล่ม 1 หน้า 94 )

3. ความรู้เกี่ยวกับนิติศาสตร์


ท่านอิหม่าม อัช-ชาฟีอีย์ ได้ทิ้งตำราวิชาการด้าน อูซูลุลฟิกฮ์ (หลักพื้นฐานนิติศาสตร์อิสลาม) ไว้เล่มหนึ่ง มีชื่อว่า “ อัร-รีซาละฮฺ” ซึ่งนับว่า เป็นคุณประโยชน์มหาศาลแก่มวลมุสลิมในภายหลัง โดยตำราเล่มนี้ได้บอกถึง กฎเกณฑ์ต่างๆ ที่ใช้ในการ พิจารณาบทบัญญัติศาสนาจากอัลกุรอ่าน และจากอัลฮาดีษ
นอกเหนือจากนั้นท่านได้ ทิ้ง “อัล-อุมฺ” ซึ่งถือเป็น ตำราด้านวิชาฟิกฮฺ ที่นับว่ามีคุณประโยชน์ต่อเหล่านักวิชาการรุ่นหลังเป็นอย่างมากไม่แพ้กัน

4. การเสียชีวิตท่านอิหม่าม อัช-ชาฟีอีย์

ท่านอิหม่ามชาฟีอีย์ ได้กลับสู่ความเมตตาของ อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ใน วันที่ 29 เดือน รอญับ ปี ฮ.ศ. 204 (หรือประมาณ 1200 กว่าปีมาแล้ว) ณ ประเทศ อียิปต์ ซึ่งในขณะนั้นท่าน มี อายุเพียง 54 ปี เท่านั้น

5. บรรดาอุลามะอฺผู้สังกัดมัซฮับชาฟีอีย์


กล่าวถึงบรรดาอุลามะอฺผู้สังกัดมัซฮับชาฟีอีย์ในแต่ละยุคพอสังเขปดังนี้

หลังจากท่านเสียชีวิตไป รูปแบบการวินิจฉัยของท่าน ก็ได้รับการสานต่อโดยบรรดาเหล่าสานุศิษย์ของท่าน ผู้สืบทอดเจตนารมณ์ของอิหม่ามชาฟีอีย์ ในการเผยแพร่สัจธรรม จากอัลกุรอ่าน และอัลฮาดีษ ให้กว้างไกล... จากอดีตจวบจนปัจจุบัน

..... ในศตวรรษที่ 3 แห่งการฮิจเราะฮ์........

... ท่านอิหม่าม มูฮัมหมัด บิน อิดรีส อัช-ชาฟีอียฺ (เสียชีวิต ฮ.ศ. 204)

  1. ท่านอิหม่าม อิสหาก บิน รอฮูยะฮ์ (เสียชีวิต ฮ.ศ. 238)
  2. ท่านอิหม่าม มูฮัมหมัด บิน ชาฟิอฺ (เสียชีวิต ฮ.ศ. 240)
  3. ท่านอิหม่ามอะหฺมัด อิบนฺ ฮัมบัล (เสียชีวิต ฮ.ศ. 241)
  4. ท่านอิหม่าม อัล-การอบีซียฺ (เสียชีวิต ฮ.ศ. 245)
  5. ท่านอิหม่าม อัต-ตูญีบียฺ (เสียชีวิต ฮ.ศ. 250)
  6. ท่านอิหม่าม อัล- มูซานียฺ (เสียชีวิต ฮ.ศ. 264)
  7. ท่านอิหม่าม ฮัรมาละฮ์ อัต-ตูญีบียฺ (เสียชีวิต ฮ.ศ. 243)
  8. ท่านอิหม่าม บุคอรียฺ (เสียชีวิต ฮ.ศ. 256)
  9. ท่านอิหม่าม อัซ-ซะฟารอนีย์ (เสียชีวิต ฮ.ศ. 260)
  10. ท่านอิหม่าม มุสลิม (เสียชีวิต ฮ.ศ. 261)
  11. ท่านอิหม่าม อะฮฺหมัด อัล-มัรวาซียฺ (เสียชีวิต ฮ.ศ. 268)
  12. ท่านอิหม่าม อัร-รอบิอฺ บิน สุลัยมาน อัลมูรอดียฺ (เสียชีวิต ฮ.ศ. 270)
  13. ท่านอิหม่าม อิบนูมาญะฮฺ (เสียชีวิต ฮ.ศ. 275)
  14. ท่านอิหม่าม อาบูดาวุด (เสียชีวิต ฮ.ศ. 204)
  15. ท่านอิหม่าม อาบูฮาติม อัร-รอซียฺ (เสียชีวิต ฮ.ศ. 277)
  16. ท่านอิหม่าม อัดดารีมีย์ (เสียชีวิต ฮ.ศ. 280)
  17. ท่านอิหม่าม อาบู ญะฟัร อัต ติรมีซีย์ (เสียชีวิต ฮ.ศ. 295)
  18. ท่านอิหม่าม ญุนัยด์ อัล-บัฆดาดีย์ (เสียชีวิต ฮ.ศ. 298)

……. ศตวรรษที่ 4 แห่งการฮิจเราะฮฺ............

  • ท่าน อิหม่าม อัน-นาซาอีย์ (เสียชีวิต ฮ.ศ. 303)
  • ท่านอิหม่าม อิบนู ซูรัยญฺ (เสียชีวิต ฮ.ศ. 306)
  • ท่านอิหม่าม อับดุลลอฮฺ บิน มุฮัมหมัดซิยาด อัล-นีซาบูรี (เสียชีวิต ฮ.ศ. 324)
  • ท่านอิหม่าม อิบนู กอซี (เสียชีวิต ฮ.ศ. 335)
  • ท่านอิหม่าม อัซ-ซูลูกียฺ (เสียชีวิต ฮ.ศ. 337)
  • ท่านอิหม่าม อัล-อัชอารียฺ (เสียชีวิต ฮ.ศ. 324)
  • ท่านอิหม่าม อาบู อิสหาก อัล มัรวาซีย์ (เสียชีวิต ฮ.ศ. 340)
  • ท่านอิหม่าม อิบนู อาบี ฮูรอยเราะฮฺ (เสียชีวิต ฮ.ศ. 345)
  • ท่านอิหม่าม อัล-มัสอูดียฺ (เสียชีวิต ฮ.ศ. 346)
  • ท่านอิหม่าม อาบู ซาอิบ อัล-มัรวาซีย์ (เสียชีวิต ฮ.ศ. 362)
  • ท่านอิหม่าม อาบู ฮามิด อัล-มัรวาซีย์ (เสียชีวิต ฮ.ศ. 362)
  • ท่านอิหม่าม ซีญิสตานีย์ (เสียชีวิต ฮ.ศ. 363)
  • ท่านอิหม่าม อัล-กอฟาล อัล-กาบีร (เสียชีวิต ฮ.ศ. 365)
  • ท่านอิหม่าม อัด-ดารีกียฺ (เสียชีวิต ฮ.ศ. 375)
  • ท่านอิหม่าม อิบนู อาบี ฮาติม (เสียชีวิต ฮ.ศ. 381)
  • ท่านอิหม่าม อัด-ดารุกุตนีย์ (เสียชีวิต ฮ.ศ. 385)
  • ท่านอิหม่าม อัล-ญุรญานียฺ (เสียชีวิต ฮ.ศ. 393)

........ในศตวรรษที่ 5 แห่งการ ฮิจญเราะฮ์...........

  • ท่านอิหม่าม อัล-บัยฮากียฺ (เสียชีวิต ฮ.ศ. 403)
  • ท่านอิหม่าม ฮากีม อัลนัยซาบูรี (เสียชีวิต ฮ.ศ. 405)
  • ท่านอิหม่าม อัล-อัซฟารอยีนียฺ (เสียชีวิต ฮ.ศ. 406)
  • ท่านอิหม่าม อัซ-ซินญียฺ (เสียชีวิต ฮ.ศ. 406)
  • ท่านอิหม่าม อิบนู มาฮามิลีย์ (เสียชีวิต ฮ.ศ. 415)
  • ท่านอิหม่าม อัซ-ซะลาบียฺ (เสียชีวิต ฮ.ศ. 427)
  • ท่านอิหม่าม อัล-มาวัรดีย์ (เสียชีวิต ฮ.ศ. 450)
  • ท่านอิหม่าม อัลบัยฮากียฺ (เสียชีวิต ฮ.ศ. 458)
  • ท่านอิหม่าม อัล-ฮารอมัย (เสียชีวิต ฮ.ศ. 460) (มุจญตาฮิด มัศฮับ)
  • ท่านอิหม่าม อัล-กุชัยรียฺ (เสียชีวิต ฮ.ศ. 465)
  • ท่านอิหม่าม อัช-ชีรอซี (เสียชีวิต ฮ.ศ. 476)
  • ท่านอิหม่าม อัล-อ่าซีซ (เสียชีวิต ฮ.ศ. 494)
  • ท่านอิหม่าม อัฎ-ฏอบารียฺ (เสียชีวิต ฮ.ศ. 495)

.......ศตวรรษ ที่ 6 แห่งการฮิจเราะฮ์......

  • ท่านอิหม่าม อัล-กายาฮีรอซีย์ (เสียชีวิต ฮ.ศ. 504)
  • ท่านอิหม่าม อัล-ฆอซาลียฺ (เสียชีวิต ฮ.ศ. 505) (มุจญตาฮีด มัซฮับ)
  • ท่านอิหม่าม อาบูบากัร อัล-กอฟฟาล (เสียชีวิต ฮ.ศ. 507)
  • ท่านอิหม่าม อัล-บาฆอวียฺ (เสียชีวิต ฮ.ศ. 510)
  • ท่านอิหม่าม อัช-ชาฮ์รอสตานียฺ (เสียชีวิต ฮ.ศ. 548)
  • ท่านอิหม่าม อาบุล ฮูเซ็น อัลยามานียฺ (เสียชีวิต ฮ.ศ. 558)
  • ท่านอิหม่าม ชีฮาบุดดีน อาบู ชูญาอฺ (เสียชีวิต ฮ.ศ. 593)

…… ศตวรรษ ที่ 7 แห่งการฮิจเราะฮ......

  • ท่านอิหม่าม อิซซุดดีน บิน อับดุซสาลาม (เสียชีวิต ฮ.ศ. 606)
  • ท่านอิหม่าม อัร-รอซีย์ (เสียชีวิต ฮ.ศ. 606)
  • ท่านอิหม่าม อิบนุล อาษีร (เสียชีวิต ฮ.ศ. 606)
  • ท่านอิหม่าม อิบนุ ซอลาฮฺ (เสียชีวิต ฮ.ศ. 643)
  • ท่านอิหม่าม รอฟีอีย์ (เสียชีวิต ฮ.ศ. 623)
  • ท่านอิหม่าม นาวาวีย์ (เสียชีวิต ฮ.ศ. 676)

(หลังจากยุคของท่านอิหม่ามนาวาวีย์นี้ ถือว่าสิ้นสุดยุคแห่งปวงปราชญ์ฟิกฮฺรุ่นก่อน)

......ศตวรรษ ที่ 8 แห่งการ ฮิจเราะฮ์.......

  • ท่านอิหม่าม ตากียุดดีน อิบนุ ดากีกีล (เสียชีวิต ฮ.ศ. 702)
  • ท่านอิหม่าม ซัมลูกานีย์ (เสียชีวิต ฮ.ศ. 727)
  • ท่านอิหม่าม ตากียุดดีน อัซซุบกีย์ (เสียชีวิต ฮ.ศ. 756)
  • ท่านอิหม่าม ตาญุดดีน ซุบกีย์ (เสียชีวิต ฮ.ศ. 771)
  • ท่านอิหม่าม อิบนุ-กาษีร (เสียชีวิต ฮ.ศ. 774)
  • ท่านอิหม่าม ซัรกาชี (เสียชีวิต ฮ.ศ. 794)

…….ศตวรรษที่ 9 แห่งการ ฮิจญเราะฮฺ........

  • ท่านอิหม่าม มาฮัลลีย์ (เสียชีวิต ฮ.ศ. 835)
  • ท่านอิหม่าม อิบนุ มูลักกิน (เสียชีวิต ฮ.ศ. 804)
  • ท่านอิหม่าม อิบนุ รุซลาน (เสียชีวิต ฮ.ศ. 844)
  • ท่านอิหม่าม อิบนูฮาญัร อัลอัซกอลานียฺ (เสียชีวิต ฮ.ศ. 852)
  • ท่านอิหม่าม ชัมซุดดีน มูฮัมหมัด บิน อะฮฺหมัด อัล-กอฮารีย์(เสียชีวิต ฮ.ศ. 880)

........ศตวรรษที่ 10 แห่งการ ฮิจญเราะฮฺ..........

  • ท่านอิหม่าม อัซ-ซายูฏียฺ (เสียชีวิต ฮ.ศ. 911)
  • ท่านอิหม่าม อับดุลลอฮฺ บิน อับดุร-รอฮฺมาน อัลฮัฎรอมียฺ (เสียชีวิต ฮ.ศ. 918)
  • ท่านอิหม่าม กอซฎอลานียฺ (เสียชีวิต ฮ.ศ. 923)
  • ท่านอิหม่าม ซาการียา อัล อังซอรียฺ (เสียชีวิต ฮ.ศ. 926)
  • ท่านอิหม่าม อิบนุฮาญัร อัลฮัยตามียฺ (เสียชีวิต ฮ.ศ. 973)
  • ท่านอิหม่าม คอตี้บ อัร-ชัรบัยนีย์ (เสียชีวิต ฮ.ศ. 977)
  • ท่านอิหม่าม ซัยนุดดีน บิน อับดุลอาซีซ อัล-มาลีบารีย์ (เสียชีวิต ฮ.ศ. 987)
  • ท่านอิหม่าม อะฮฺหมัด อุมัยเราะฮฺ (เสียชีวิต ฮ.ศ. 957)

......ศตวรรษ ที่ 11 แห่งการ ฮิจเราะฮฺ......

  • ท่านอิหม่าม รอมลีย์ (เสียชีวิต ฮ.ศ. 1004)
  • ท่านอิหม่าม อัร-รอนีรีย์ (เสียชีวิต ฮ.ศ. 1068)
  • ท่านอิหม่าม อัล-กอลยูบีย์ (เสียชีวิต ฮ.ศ. 1069)
  • ปวงปราชญ์ชาฟีอีย์ในยุคนี้ยังมีอีกมาก...แต่ขอยกมาเพียงเท่านี้

-- ฯลฯ

(ขออัลลอฮฺทรงเมตตาท่าน อีหม่าม อัช-ชาฟีอียฺ ตลอดจนปวงปราชญ์ทุกท่านด้วยเถิด)


#ปราชญ์ในนิติศาสตร์อิสลาม_Islamic_Society_Online

4 ความคิดเห็น:

บทความแนะนำ

World Clock

Featured Posts

เรื่องราวของสองอารยธรรม : อารยธรรมของชาวไวกิ้งและมุสลิม

เรื่องราวของสองอารยธรรม : อารยธรรมของชาวไวกิ้งและมุสลิม โดย : Cem Nizamoglu และ Sairah Yassir-Deane ย้อนหลังไปถึงมีนาคม 2015 ข่าวเกี่ยวก...