จันทรุปราคาเต็มดวง 31 มกราคม 2561
วันพุธที่ 31 มกราคม 2561 เกิดจันทรุปราคาเต็มดวง สามารถสังเกตได้ในประเทศไทยตั้งแต่ท้องฟ้าเริ่มมืดหลังดวงอาทิตย์ตก จันทรุปราคาเริ่มขึ้นเมื่อดวงจันทร์แตะเงามัวของโลกในเวลา 17:51 น. ซึ่งขณะนั้นส่วนใหญ่ของประเทศไทยดวงอาทิตย์ยังไม่ตกและดวงจันทร์ยังไม่ขึ้น เมื่อเริ่มเกิดจันทรุปราคาบางส่วนหรือดวงจันทร์เริ่มแหว่งเว้าในเวลา 18:48 น. ดวงจันทร์จะอยู่เหนือขอบฟ้าทิศตะวันออก กรุงเทพฯ ดวงจันทร์มีมุมเงย 8°
ดวงจันทร์เข้าไปในเงามืดทั้งดวงตั้งแต่เวลา 19:52 - 21:08 น. แต่ดวงจันทร์ไม่มืดสนิท เห็นเป็นสีส้มหรือสีแดงอิฐ เพราะแสงอาทิตย์หักเหและกระเจิงผ่านบรรยากาศโลกไปที่ดวงจันทร์ จากนั้นดวงจันทร์ทั้งดวงจะออกจากเงามืดหรือสิ้นสุดจันทรุปราคาบางส่วนในเวลา 22:11 น. แม้เราจะเห็นดวงจันทร์กลับมาเต็มดวงแล้ว แต่ดวงจันทร์ยังดูหมองคล้ำต่อไปอีกระยะหนึ่ง สิ้นสุดปรากฏการณ์อย่างสมบูรณ์เมื่อดวงจันทร์ออกจากเงามัวในเวลา 23:09 น.
ขณะเกิดจันทรุปราคา ดวงจันทร์อยู่ในกลุ่มดาวปู มีกระจุกดาวเปิดที่มีชื่อเสียงคือกระจุกดาวรังผึ้ง ขณะเกิดจันทรุปราคาเต็มดวง กระจุกดาวรังผึ้งอยู่สูงเหนือดวงจันทร์ประมาณ 5° ขณะบังเต็มที่เมื่อดวงจันทร์เข้าใกล้ศูนย์กลางเงาโลกมากที่สุดในเวลา 20:30 น. ศูนย์กลางเงาอยู่ห่างขอบดวงจันทร์ออกไปเล็กน้อยทางทิศเหนือ ทำให้คาดหมายได้ว่าพื้นที่ด้านทิศใต้ของดวงจันทร์ซึ่งอยู่ทางขวามือเมื่อมองขึ้นไปบนฟ้าน่าจะสว่างกว่าอีกด้านหนึ่ง
นอกจากประเทศไทย บริเวณที่เห็นจันทรุปราคาครั้งนี้ ได้แก่ ด้านตะวันออกของยุโรป ด้านตะวันออกของแอฟริกา มหาสมุทรอินเดีย เอเชีย ออสเตรเลีย มหาสมุทรแปซิฟิก อเมริกาเหนือ อเมริกากลาง ด้านตะวันตกของมหาสมุทรแอตแลนติก และบางส่วนของแอนตาร์กติกา
ขั้นตอนการเกิดจันทรุปราคา 31 มกราคม 2561
- ดวงจันทร์เริ่มเข้าสู่เงามัวของโลก17:51:13
- เริ่มเกิดจันทรุปราคาบางส่วน18:48:27
- เริ่มเกิดจันทรุปราคาเต็มดวง19:51:47
- ดวงจันทร์เข้าไปในเงาลึกที่สุด20:29:50 (ขนาดอุปราคา = 1.3155)
- สิ้นสุดจันทรุปราคาเต็มดวง21:07:52
- สิ้นสุดจันทรุปราคาบางส่วน22:11:13
- ดวงจันทร์พ้นจากเงามัวของโลก 23:08:31
ข้อมูลโดย : วรเชษฐ์ บุญปลอด
กรรมการวิชาการสมาคมดาราศาสตร์ไทย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น