ฟิกฮฺในยุคสมัยของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม
ในยุคนี้ยังไม่มีการจำกัดความหรือบัญญัติคำว่า “ฟิกฮฺ” ว่าหมายถึงศาสตร์ที่ว่าด้วยฮุก่มภาคปฏิบัติ ดังที่เข้าใจกันในยุคหลัง แต่ฟิกฮฺในยุคนี้ได้ครอบคลุมทุกๆ ด้านของบทบัญญัติอิสลามไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะกีดะฮฺ (หลักการยึดมั่น) หรืออิบาดาต (หลักการปฏิบัติ) ซึ่งเราอาจจะแบ่งฟิกฮฺในยุคนี้ออกเป็นสองระยะด้วยกันคือ
1 – ณ เมืองมักกะฮฺ
คือช่วงเวลาร่วม 13 ปี นับจากที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นนบี ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวบทบัญญัติอิสลามจะเน้นหนักไปในเรื่องของหลักการยึดมั่นศรัทธา การห้ามการทำชิริก (ตั้งภาคีต่อพระองค์อัลลอฮฺตะอาลา) และเรื่องของจรรยามารยาทต่างๆ ในอิสลามเสียส่วนใหญ่ แทบจะไม่มีบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับหลักการปฏิบัติเลย นอกจากการละหมาด ซึ่งในช่วงแรกๆ นั้นหมายถึงการละหมาดสองเวลาเช้า-เย็น (จนกระทั่งคืนอิสรออฺ เมียะรอจญฺ ที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ขึ้นไปรับบทบัญญัติการละหมาดห้าเวลา ณ พระองค์อัลลอฮฺตะอาลา) และซะกาตซึ่ง ณ เวลานั้นหมายถึงการเศาะดะเกาะฮฺให้ทานที่ไม่ใช่วาญิบ (กระทั่งมีบัญญัติในปีที่สองหลังการฮิจญฺเราะฮฺว่าซะกาตคือการให้ทานที่เป็นวาญิบ)
2 – ณ เมืองมะดีนะฮฺ
หลังจากที่อัลลอฮฺตะอาลาทรงอนุญาตให้ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ทำการฮิจญฺเราะฮฺไปยังเมืองมะดีนะฮฺและก่อตั้งรัฐอิสลามขึ้น ก็เริ่มมีบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับหลักการปฏิบัติเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับตัวบุคคล หรือที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนในสังคม เช่น บทบัญญัติเกี่ยวกับหลักอิบาดาต การญิฮาด การแต่งงานและความสัมพันธ์ในครอบครัว บทบัญญัติเกี่ยวกับความผิดทางอาญาและบทลงโทษ การซื้อ-ขายและการทำธุรกรรมต่างๆ สิทธิและหน้าที่ระหว่างผู้ปกครองกับผู้ใต้ปกครอง รวมไปถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และบทบัญญัติอื่นๆ ที่ครอบคลุมทุกๆ ด้าน ทุกๆ แง่มุมของชีวิต
รูปแบบของการบัญญัติฮูก่มในยุคนี้
สรุปรูปแบบหรือแนวทางการบัญญัติหุก่มในยุคนี้ได้เป็น 2 ลักษณะ คือ
1 – เกิดเหตุการณ์ ปัญหา หรือคำถามที่ต้องการคำตอบหรือบทบัญญัติทางศาสนาขึ้น ในกรณีเช่นนี้ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม จะรอการประทานคำตอบหรือฮูก่มจากพระองค์อัลลอฮฺตะอาลาก่อนเป็นอันดับแรก ซึ่งพระองค์จะทรงประทานโองการอัลกุรอานลงมายังท่านเพื่อเป็นการตอบข้อสงสัยเกี่ยวกับปัญหานั้นๆ หรืออาจจะเป็นในรูปของฮะดีษ แต่ในบางครั้งอาจจะมีปัญหาเกิดขึ้นโดยไม่มีการประทานฮูก่มจากพระองค์อัลลอฮฺตะอาลา ซึ่งในกรณีนี้ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ก็จะทำการอิจญ์ติฮาด (ใช้ความพยายามในการหาฮูก่มของปัญหา) ซึ่งหากถูกต้องพระองค์อัลลอฮฺตะอาลา ก็จะทรงเห็นชอบ แต่หากการอิจญ์ติฮาดนั้นไม่ถูกต้องพระองค์ก็จะทรงประทานโองการระบุถึงสิ่งที่ถูกต้อง ดังเช่นกรณีของเชลยศึกชาวมุชริกีนในสงครามบะดัร เมื่อท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมตัดสินให้ไถ่ตัวไปได้ อัลลอฮฺก็ทรงประทานโองการตำหนิการตัดสินใจของท่าน เป็นต้น
ตัวอย่างของการบัญญัติฮูก่มประเภทนี้ ก็เช่น ครั้งหนึ่งเศาะหาบะฮฺได้ถามท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เกี่ยวกับเลือดประจำเดือน พระองค์อัลลอฮฺตะอาลาก็ทรงประทานโองการตอบคำถามนั้นในซูเราะฮฺ อัลบะเกาะเราะฮฺ : 222 และเมื่อเศาะหาบะฮฺถามท่านถึงน้ำทะเล ท่านก็ตอบไปว่าน้ำทะเลนั้นสะอาดและสัตว์น้ำที่ตายในทะเลก็เป็นที่อนุมัติให้รับประทานได้ ดังปรากฏในตัวบทฮะดีษ (อบูดาวูด 83, อัตติรมิซีย์ 69, อันนะสาอีย์ 332 และ 4350 , อิบนุ มาญะฮฺ 386 และ 3264) ทั้งนี้ ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ตอบไปด้วยโองการที่ลงมายังท่าน เป็นต้น
2 – บทบัญญัติที่ถูกบัญญัติขึ้นโดยที่ไม่มีคำถาม หรือ เหตุการณ์ใดๆ เป็นสาเหตุของการบัญญัติ ทั้งนี้ก็เพราะว่าพระองค์อัลลอฮฺตะอาลานั้นทรงรอบรู้ถึงความต้องการ และสิ่งที่จำเป็นต่อมนุษย์สำหรับการมีชีวิตอยู่บนโลกนี้ เพราะบทบัญญัติอิสลามนั้นไม่ได้เป็นเพียงคำตอบของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเท่านั้น แต่ยังเป็นการสร้างสังคมใหม่ขึ้นด้วยกฏเกณฑ์และระเบียบที่กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนในสังคม และการกำหนดหน้าที่ของบ่าวที่พึงมีต่อเอกองค์อัลลอฮฺตะอาลาเพื่อเป็นรากฐานอันมั่นคงของสังคมสืบต่อไป ตัวอย่างของการบัญญัติฮุก่มประเภทนี้ก็เช่น การกำหนดให้มีการชูรอ (ปรึกษาหารือ) หรือการแจกแจงวิธีการจ่ายซะกาต เป็นต้น
ลักษณะเด่นของการบัญญัติหุก่มในยุคนี้
1 – เป็นการบัญญัติแบบทีละขั้น ค่อยเป็นค่อยไป
กล่าวคือ บทบัญญัติทั้งหมดไม่ได้ถูกบัญญัติขึ้นในคราวเดียวแต่เป็นการบัญญัติทีละขั้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป จากน้อยไปสู่มาก ง่ายไปสู่ยาก ตลอดระยะเวลา 23 ปี ยกตัวอย่างเช่น บทบัญญัติการละหมาดซึ่งในขั้นแรกนั้นกำหนดให้ละหมาดวันละสองเวลาเช้า-เย็น แล้วจึงเพิ่มเป็นห้าเวลา การห้ามดื่มเหล้าก็เช่นกัน เป็นไปอย่างเป็นขั้นเป็นตอนไม่ได้ห้ามเด็ดขาดในคราวเดียว เป็นต้น ซึ่งวิธีการเช่นนี้ทำให้ไม่รู้สึกยากลำบากในการที่จะน้อมรับและปฏิบัติตาม
2 – การปฏิเสธสิ่งที่จะทำให้เกิดความยากลำบาก
ซึ่งลักษณะข้อนี้ไม่ได้จำกัดเฉพาะบทบัญญัติในยุคนี้เท่านั้นแต่ยังครอบคลุมบทบัญญัติอิสลามในทุกยุคทุกสมัย กล่าวคือบทบัญญัติอิสลามนั้นไม่มีสิ่งใดที่ยากเกินความสามารถของมนุษย์ และหากว่ามีอุปสรรคใดๆ ที่จะมาทำให้การปฏิบัติตามบทบัญญัติอิสลามนั้นเป็นไปด้วยความยากลำบาก อิสลามก็จะมีทางออกให้ด้วยการผ่อนปรน อนุโลมและอนุญาตให้ปฏิบัติเท่าที่ความสามารถจะมี เช่น ในกรณีที่เกิดการเจ็บป่วย เดินทาง หลงลืม หรือพลาดพลั้ง อิสลามก็จะมีบทบัญญัติเฉพาะที่เป็นทางออกของผู้ที่ประสบกับกรณีนั้นๆ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วหากเราพิจารณาดูบทบัญญัติอิสลามทั้งหมดจะพบว่ามีน้อยมากและแต่ละอย่างก็ใช้เวลาปฏิบัติไม่มาก เมื่อเทียบกับเวลาที่เรามี จึงไม่ถือเป็นอุปสรรคในการดำเนินชีวิตเลยแม้แต่น้อย
3 – การแทนที่บทบัญญัติใดบทบัญญัติหนึ่งด้วยบทบัญญัติที่ดีกว่า (นัซคฺ)
กล่าวคือ พระองค์อัลลอฮฺตะอาลา อาจจะทรงบัญญัติฮุก่มหนึ่งขึ้นมาเพื่อใช้ในระยะเวลาหนึ่ง โดยที่พระองค์ทรงรู้ว่าเมื่อถึงเวลาอันควรพระองค์จะทรงแทนที่ฮุก่มนั้นด้วยฮุก่มอื่นที่เหมาะกับเวลานั้นมากกว่า ซึ่งทั้งหมดนี้พระองค์ทรงรู้ล่วงหน้าแล้วว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น และการเปลี่ยนแปลงทั้งหมดก็เป็นไปด้วยฮิกมะฮฺ (วิทยปัญญาและเหตุผล) ของพระองค์เพราะพระองค์ทรงรอบรู้ในทุกๆ สิ่ง ตัวอย่างของการนัซคฺ ก็เช่นบทบัญญัติที่เกี่ยวกับอิดดะฮฺ (การครองตนโดยไม่แต่งงาน) ของหญิงที่สามีตาย ซึ่งในระยะแรกนั้นอิดดะฮฺของนางคือ 1 ปีเต็ม ตามที่ปรากฏในอัลกุรอาน ซูเราะฮฺ อัลบะเกาะเราะฮฺ : 240 หลังจากนั้นพระองค์อัลลอฮฺตะอาลาก็ทรงเปลี่ยนให้เป็น 4 เดือน กับ 10 วันดังปรากฏในซูเราะฮฺ อัลบะเกาะเราะฮฺ : 234 เป็นต้น
ไม่มีการคิลาฟ (การขัดแย้งทางทัศนะ) ในยุคนี้
เนื่องจากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม มีชีวิตอยู่ในยุคนี้ และท่านก็เป็นผู้บอกฮุก่มที่มาจากพระองค์อัลลอฮฺตะอาลา เมื่อมีปัญหาใดๆ ทุกคนก็จะกลับไปหาท่าน สอบถามท่าน กล่าวคือ บทบัญญัติทั้งหมดนั้นล้วนมาจากอัลกุรอานและซุนนะฮฺ พร้อมคำอธิบายและการตอบข้อซักถามของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม จึงไม่มีการขัดแย้งทางทัศนะเกิดขึ้นในยุคนี้
การจดบันทึกในยุคนี้
ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้ตั้งให้เศาะหาบะฮฺบางท่านทำหน้าที่บันทึกโองการอัลกุรอานที่ถูกประทานลงมายังท่าน เช่น ท่านเซด บิน ษาบิต หรือท่านอะลี บิน อบีฏอลิบ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา และท่านอื่นๆ ในส่วนของหะดีษนั้น ช่วงแรกๆ ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมได้ห้ามให้บันทึกเพราะเกรงว่าจะสับสนกับอัลกุรอาน แต่ภายหลังท่านก็อนุญาตให้บันทึกไว้ได้ ซึ่งหนึ่งในผู้ที่ทำการบันทึกฮะดีษของท่านในยุคนี้ ก็คือท่านอับดุลลอฮฺ บิน อัมร์ บิน อัลอาศ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ
วันที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม จากไปนั้น อัลกุรอานล้วนถูกบันทึกไว้ทั้งหมดแล้ว เพียงแต่อยู่กระจัดกระจายและยังไม่ได้ถูกรวบรวมเป็นเล่ม แต่กระนั้นเศาะหาบะฮฺหลายๆ ท่านก็ท่องจำอัลกุรอานขึ้นใจ จนกระทั่งสมัยของท่านอบูบักรฺ เราะฎิยัลลอฮฺอันฮฺ ที่เริ่มมีการรวบรวมอัลกุรอาน และเสร็จสิ้นสมบูรณ์ในยุคท่านอุษมาน บิน อัฟฟาน เราะฎิยัลลอฮอันฮฺ ซึ่งถือว่าเป็นการรวบรวมขั้นสุดท้าย
ในส่วนของฮะดีษ ถึงแม้จะไม่มีการจดบันทึกไว้ทั้งหมด แต่บรรดาเศาะหาบะฮฺก็ท่องจำขึ้นใจเช่นกัน ทั้งนี้ แต่ละท่านก็ท่องจำมากน้อยต่างกันไป ที่สำคัญคือ ซุนนะฮฺทั้งหมดของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้รับการท่องจำและรายงานต่ออย่างครบถ้วนสมบูรณ์
ข้อสรุป
จะเห็นได้ว่าฟิกฮฺในยุคของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม นั้นยังไม่ได้ถูกจำกัดความเช่นที่เราเข้าใจกันทุกวันนี้ แต่ฟิกฮฺในยุคนั้นหมายถึงความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับบทบัญญัติอิสลามในทุกๆ ด้านไม่ว่าจะเป็นในด้านอะกีดะฮฺหลักการยึดมั่น อิบาดาตหลักการปฏิบัติ หรือ จรรยามารยาทต่างๆในอิสลาม และการบัญญัติฮุก่มในยุคนั้นก็ยึดเพียงอัลกุรอานและฮะดีษเป็นหลัก เมื่อเกิดปัญหาหรือข้อสงสัยใดๆ ทุกคนก็จะกลับไปถามท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ทันที จึงไม่มีข้อขัดแย้งทางทัศนะใดๆ เกิดขึ้น
แหล่งอ้างอิงและศึกษาเพิ่มเติมได้จาก :
1- ตารีค อัตตัชรีอฺ อัลอิสลามีย์ – เขียนโดย เชค มันนาอฺ อัลก็อฏฏอน
2- อัลมัดค็อล ลิ ดิรอซะฮฺ อัชชะรีอะติล อิสลามิยะฮฺ – เขียนโดย ศ.ดร.อับดุลกะรีม ซัยดาน
3- อัลมัดค็อล อิลา อัชชะรีอะฮฺ วัล ฟิกฮฺ อัลอิสลามีย์ – เขียนโดย ศ.ดร.อุมัรฺ อัลอัชก็อรฺ
แหล่งที่มา : https://siammuslim.wordpress.com/
#นิติศาสตร์อิสลาม_Islamic_Society_Online
#ปราชญ์ในนิติศาสตร์อิสลาม_Islamic_Society_Online
Islamic Society Online
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น