product :

วันจันทร์ที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2561

จากแกนนำม็อบทำลายมัสยิดบาบรีในตำนาน สู่ชายผู้มุ่งมั่นบูรณะ 100 มัสยิด

จากแกนนำม็อบทำลายมัสยิดบาบรีในตำนาน สู่ชายผู้มุ่งมั่นบูรณะ 100 มัสยิด



คงไม่มีใครคาดคิดว่า ผู้ชายคนหนึ่งที่จงเกลียดจงชังอิสลามถึงขั้นเป็นแกนนำฝูงชนนับหมื่นแสนร่วมเดินขบวนประท้วงและดูหมิ่นปีนขึ้นไปเหยียบยืนบนโดมเพื่อทุบทำลายมัสยิดในตำนาน จะกลับกลายเป็นคนที่ช่วยฟื้นฟูบูรณะซ่อมแซมอีกหลายสิบมัสยิดทั่วอินเดียและเรียกร้องเชิญชวนผู้คนสู่หนทางแห่งอิสลามเสียเอง


เรื่องราวความผกผันของชีวิตหนุ่มนักเคลื่อนไหวเลือดร้อนชาวฮินดูที่ชื่อ Balbir Singh หนึ่งในแกนนำม็อบฮินดูขวาจัดที่เข้าไปบุกทำลายมัสยิดบาบรีของอินเดียเมื่อปี 1992 จนพังพินาศยับเยิน อาจทำให้หลายคนได้รำลึกใคร่ครวญถึงพลังของคำว่า “ฮิดายะห์” หรือทางนำจากผู้เป็นเจ้า ที่สามารถเปลี่ยนหัวใจของคนที่เกลียดชังอิสลามเป็นที่สุด ให้กลับกลายมาเป็นผู้ปกป้องศาสนาที่พร้อมอุทิศชีวิตเพื่ออิสลาม ดังเช่นเรื่องราวที่เคยเกิดขึ้นกับวีรบุรุษแห่งอิสลามผู้ห้าวหาญอย่างท่านอุมัรฺ อิบนุ ค็อฏฏ็อบเมื่อครั้งก่อนกาล

รำลึก 6 ธันวา วันเลือดท่วมแดนภารตะ


ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 1992 ซึ่งเป็นหนึ่งในจารึกประวัติศาสตร์สำคัญของรัฐอุตตรประเทศในอินเดีย เป็นวันที่ชาวฮินดูนับแสนร่วมเดินประท้วงและเข้าไปบุกทำลายมัสยิดบาบรีในเมืองอโยธยาทางตอนเหนือของประเทศ ที่ก่อตั้งขึ้นมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 ในยุคสมัยราชวงศ์โมกุล

ชาวฮินดูเชื่อว่ามัสยิดแห่งนี้สร้างทับวัดฮินดูในอดีตที่ถูกทุบทำลายลง และเชื่อว่าบริเวณใต้โดมกลางของมัสยิดคือสถานที่ประสูติของพระรามเทพแห่งสงครามองค์สำคัญของศาสนาฮินดู มวลชนนับแสนจึงเข้าไปบุกทำลายมัสยิดหมายจะยึดครองพื้นที่คืน โศกนาถกรรมในครั้งนั้นสร้างความสูญเสียให้มัสยิดและบ้านเรือนมุสลิมในบริเวณใกล้เคียงอย่างย่อยยับ มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 2,000 คน และถือเป็นชนวนเริ่มต้นของการทะเลาะวิวาทและความรุนแรงทางศาสนาระหว่างชาวฮินดูและมุสลิมในอินเดียที่ยืดเยื้อยาวนานหลายสิบปี

เหตุการณ์ประท้วงในวันนั้นมี Balbir Singh เป็นหนึ่งในแกนนำของกลุ่มฮินดูขวาจัดชื่อ Shiv Sena Balbir เขาเล่าว่าได้เป็นหนึ่งในบรรดาคนแรกๆ ที่ปีนขึ้นไปยืนตระหง่านอยู่บนโดมกลางของมัสยิดเยี่ยงฮีโร่อย่างภาคภูมิใจในศักดิ์ศรี ความฮึกเหิมจากการถูกปลุกระดมและความมุ่งมั่นในอุดมการณ์ที่จดจ่อคิดแต่จะทำลายล้างอิสลามให้สิ้นซาก ทำให้เขาและหนุ่มบ้าพลังอีกนับร้อยพันพร้อมใจกันทุบตีและทำลายมัสยิดบาบรีด้วยพลั่ว เสียม และขวาน จนพังพินาศไม่เหลือชิ้นดี

วันนั้นผมไม่ต่างอะไรจากสัตว์เลยนะ มีอยู่ช่วงหนึ่งที่ผมรู้สึกหวาดกลัวตอนเห็นเฮลิคอปเตอร์กำลังบินตรงมาที่พวกเรา แต่แล้วพอได้ยินเสียงตะโกนร้องจากฝูงชนข้างล่าง ผมก็รู้สึกฮึกเหิมอีกครั้ง และผมก็ใช้พลั่วในมือทุบทำลายโดมมัสยิดนั้นจนหนำใจ


รางวัลของวีรบุรุษคือหัวใจที่หวาดระแวง


การกลับมายังบ้านเกิดของ Balbir หลังจากเหตุการณ์ในวันนั้นทำให้เขาได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีและเป็นที่ชื่นชมของประชาชนในหมู่บ้านเยี่ยงวีรบุรุษ แต่กระนั้นครอบครัวของเขากลับไม่ได้ปลาบปลื้มหรือแสดงความยินดีใดๆ ต่อวีรกรรมที่ถูกจารึกบนหน้าประวัติศาสตร์ของเขาเลย ตรงกันข้าม พ่อของ Balbir โกรธเป็นฟืนเป็นไฟและรับไม่ได้กับสิ่งที่เขาทำ พ่อผู้ซึ่งศรัทธาและเคร่งครัดในหลักคำสอนของมหาตมะคานธีและเป็นครูสอนในชุมชนที่ชอบช่วยเหลือผู้คนโดยไม่ยึดติดกับศาสนา การถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากพ่อต่ออุดมการณ์สุดโต่งของเขาในครั้งนั้นทำให้ Balbir รู้สึกผิดเป็นอย่างยิ่ง เขาถูกกดดันจากพ่อจนต้องตัดสินใจหนีออกจากบ้านในที่สุด

เหตุการณ์จลาจลของวันที่ 6 ธันวาคมในเมืองอโยธยาครั้งนั้นสร้างความโกรธเคืองปลุกปั่นชาวฮินดูและชาวมุสลิมทั่วประเทศให้ล้างแค้นกันไปมาอย่างไม่จบสิ้น Balbir ต้องใช้ชีวิตด้วยความหวาดระแวงและต้องหนีเอาตัวรอดไปอยู่ในที่ที่เขารู้สึกว่า “มุสลิมเล่นงานเขาไม่ได้” ครั้งแล้วครั้งเล่า ความรู้สึกผิดตามรังควาญความคิดของ Balbir ตลอดเวลา แม้กระทั่งเห็นใครเครายาวๆ เขาก็ยังแอบรู้สึกหลอนไปเอง เขาหลบหนีซ่อนตัวเร่ร่อนนานหลายเดือนจนเมื่อทราบข่าวว่าพ่อเสียชีวิตเขาจึงกลับมาที่บ้านเกิดอีกครั้ง แต่เมื่อถึงบ้านเขากลับถูกครอบครัวผลักไสและถูกกล่าวหาว่าเป็นต้นเหตุทำให้พ่อต้องล้มป่วยจนสิ้นใจ ก่อนจากไปพ่อของเขายังฝากฝังครอบครัวเป็นดิบดีด้วยว่าห้ามให้ลูกชายที่ชื่อ Balbir Singh เข้าร่วมพิธีศพของตนโดยเด็ดขาด ชีวิตของ Balbir จึงยิ่งดิ่งลงสู่จุดตกต่ำลงไปอีก

ชะตากรรมของ Balbir ยังไม่จบแค่นั้น ต่อมาเขาได้รับรู้ว่าเพื่อนสนิทของเขา Yogendra Pal ที่เคยเป็นแนวหน้าก่อม็อบมัสยิดบาบรีที่เคยร่วมยืนบนอุดมการณ์เดียวกันกลับเข้ารับอิสลาม Balbir อึ้งกับสิ่งที่ไม่คาดคิด แต่ Pal บอกกับเขาว่าการเข้ารับอิสลามช่วยให้ตัวเขาเองบรรเทาจากความคิดคลุ้มคลั่งและความหวาดระแวงลงไปได้มากทีเดียว

ตอนนั้นที่นั่งคุยกับเพื่อนสนิทของผมคนนี้ ความคิดหนึ่งแล่นเข้ามาในหัวผมว่า นี่ฉันจะต้องกลายเป็นบ้าเพราะบาปกรรมที่ฉันเคยก่อไว้หรือเปล่านะ? แล้วฉันจะไถ่บาปกรรมเหล่านั้นได้อย่างไร? เอ๊ะ หรือนี่ฉันเป็นบ้าไปแล้วจริงๆ ?” …

สู่เส้นทางแห่งสันติ


เดือนมิถุนายนของปี 1993 หกเดือนหลังจากเหตุการณ์ประท้วงครั้งนั้น Balbir Singh ตัดสินใจเดินทางไปเมือง Sonepat เพื่อพบกับอิหม่าม Maulana Kalim Siddiqui ซึ่งเป็นผู้นำศาสนาที่ช่วยเพื่อนของเขาเข้ารับอิสลาม อิหม่าม Siddiqui เป็นหัวหน้ามูลนิธิการกุศลเพื่ออิสลาม Waliullah ท่านเป็นคนกว้างขวางและเปิดโรงเรียนสอนศาสนาหลายแห่งในอินเดียเหนือ Balbir ได้เล่าเรื่องราวที่เขาประสบมาให้ท่านอิหม่ามฟังและบอกไปว่าขออาศัยอยู่ในโรงเรียนของท่านไปสักระยะหนึ่ง

ตอนนั้นผมเองก็ยังไม่แน่ใจว่าจะเข้ารับอิสลามดีหรือเปล่า แต่ท่านก็ยินดีตอบรับคำขอของผม ท่านบอกกับผมว่า ‘แม้ผมจะเคยมีส่วนร่วมไปทำลายมัสยิดหนึ่งหลัง แต่ผมก็สามารถช่วยฟื้นฟูบูรณะมัสยิดทดแทนได้อีกหลายหลังนี่นา’... มันเหมือนเป็นคำพูดที่ฟังดูธรรมดานะ แต่ผมนั่งลงและร้องไห้ตรงนั้นเลย

หลังจากใช้ชีวิตและศึกษาศาสนาได้ไม่กี่เดือน Balbir ก็ตัดสินใจเข้ารับอิสลามในที่สุด เขาเปลี่ยนแปลงเป็นคนใหม่พร้อมกับชื่อใหม่ว่า Mohammed Amir ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

แล้วชีวิตผมก็เริ่มเข้าร่องเข้ารอยอีกครั้ง” เขาพูดสรุปสั้นๆ ง่ายๆ ….


ภารกิจบูรณะ 100 มัสยิด


Mohammed Amir เล่าว่าตลอดช่วงปี 1993 ถึง 2017 เขาพยายามเดินทางไปฟื้นฟูบูรณะซ่อมแซมมัสยิดที่เสื่อมสภาพมาแล้วกว่า 40 แห่งทั่วอินเดียเหนือ ด้วยการอุปถัมภ์จากมูลนิธิ Waliullah ของอิหม่ามที่เคยช่วยชีวิตเขาไว้

ในอินเดียเหนือมีมัสยิดที่ตกอยู่ในสภาพเก่าคร่ำครึไร้การบูรณะดูแลอยู่หลายแห่ง แม้แต่ละแห่งจะมีกรรมการหรือเจ้าหน้าที่มัสยิดเป็นกิจจะลักษณะแล้วก็ตาม ผมจะมองหามัสยิดประเภทนี้ ผมจะเข้าไปเคลียร์พื้นที่จากการรุกละเมิดและจัดการเก็บกวาดให้เรียบร้อย จากนั้นก็เรียกร้องเชิญชวนคนในพื้นที่แถวนั้นให้เข้ามาละหมาดสักการะในมัสยิดที่เราบูรณะ บางที่ผมก็สร้างโรงเรียนสอนศาสนาในมัสยิดไปด้วย เพราะผมคิดว่าการศึกษามันสำคัญมาก ทุกวันนี้หายนะที่บ่อนทำลายสังคมมุสลิมเราก็คือการละเลยไม่เอาใจใส่กับการศึกษานี่แหละ

บางพื้นที่ที่ Mohammed Amir ไปก็มีชาวบ้านจิตอาสามาช่วยกันบูรณะมัสยิด แต่บางแห่งเขาก็ลงมือทำด้วยตัวคนเดียว เขาวางเป้าหมายว่าจะบูรณะมัสยิดให้ครบ 100 แห่ง เพื่อจะได้รู้สึกว่าชดเชยและทดแทนกับสิ่งที่เขาเคยก่อกรรมทำเข็ญไว้ในอดีตที่ผ่านมา

หลายคนที่พบเห็น Mohammed Amir อาจจะเข้าใจว่าเขาเป็นชาวบ้านธรรมดาทั่วไป แต่ความจริงเขาเป็นผู้ชายที่เรียนจบปริญญาโทถึง 3 สาขา ทั้งด้านประวัติศาสตร์, รัฐศาสตร์, และภาษาอังกฤษ ในช่วงแรกที่เข้ารับอิสลามเขายังได้ใช้ทักษะภาษาอังกฤษสอนเด็กๆ ในโรงเรียนสอนศาสนาอีกด้วย Mohammed Amir เป็นผู้ชายที่ไม่พูดมาก แต่จริงจังกับหน้าที่การงาน เขามีความเป็นสุภาพบุรุษและชอบอุทิศตนทำงานเพื่อสังคม

เขาเล่าย้อนกลับไปถึงที่มาของการจับพลัดจับผลูเข้าไปร่วมอุดมการณ์กับกลุ่มฮินดูขวาจัดว่า ทุกอย่างไม่ได้เริ่มต้นจากการที่เขาเป็นคนเคร่งครัดในศาสนาแต่อย่างใด แต่สิ่งที่เป็นชนวนจุดเพลิงแห่งความเกรี้ยวกราดจนชักนำให้เขาเข้าร่วมขบวนการครั้งนั้นล้วนเกิดจากมุมมองทางการเมืองที่เข้ามามีอิทธิพลต่อความคิดของเขาทั้งสิ้น การถูกล้างสมองให้เข้าใจว่าอิสลามเข้ามาแย่งและครอบครองดินแดนแห่งอินเดียในยุคสมัยพระจักรพรรดิโมกุล ผนวกกับช่วงวัยเด็กที่เคยถูกหล่อหลอมด้วยประสบการณ์ชีวิตให้จงเกลียดจงชังอิสลาม จึงทำให้ความเดือดดาลพุ่งกระฉูดให้อุดมการณ์ทำลายล้างอิสลามในสายเลือดยิ่งรุนแรง


ปัจจุบัน Mohammed Amir ใช้ช่วงชีวิตที่เหลืออุทิศตนเพื่ออิสลามด้วยการหมั่นศึกษาศาสนา ใคร่ครวญถึงจุดหมายและที่มาที่ไปของการเป็นมนุษย์ เมื่อใดที่สุขภาพเอื้ออำนวยและมีเวลาว่างจากการบูรณะมัสยิด Mohammed Amir มักจะเดินทางไปพบปะผู้คนเพื่อบอกเล่าถึงความดีงามของอิสลามโดยใช้เงินที่เป็นน้ำพักน้ำแรงของเขาเอง เขาเล่าในสิ่งที่เขาทำว่า

คุณดูผมสิ แก่โทรมซะขนาดนี้ผมจะสอนอะไรได้หากไม่ใช่เรื่องความสันติ? ความสันติคือสิ่งที่อิสลามได้ให้กับผม มันคือสิ่งที่ผมอยากจะบอกกล่าวกับใครต่อใคร ผมมักบอกใครๆ ว่าครั้งหนึ่งผมเคยเป็นชาวฮินดูที่เต็มไปด้วยความเกลียดชังต่อชาวมุสลิม และไม่รู้อะไรเกี่ยวกับอิสลามเลย แต่คนอย่างผมคงเป็นเพียงส่วนน้อยของสังคมเท่านั้น

Mohammed Amir พยายามสะกิดเตือนให้ผู้คนตระหนักถึงความสำคัญของการไม่ถูกปลุกปั่นเพื่อใช้ความรุนแรง “ผมกลัวสิ่งที่แย่ที่สุด แต่ในขณะเดียวกันผมก็บอกกับผู้คนว่า พี่น้องมุสลิมเขาก็แกร่งเหมือนกันนะ แต่แทนจะที่ตอบโต้ด้วยความโกรธแค้น การให้อภัยคือวิธีที่ดีกว่าในการรับมือกับคนที่คิดร้ายกับเรา แม้มันอาจจะยากที่ต้องทำเช่นนั้นเวลาที่เราคิดว่าตัวเองแกร่ง แต่มันจะช่วยส่งสารอันทรงพลังได้เป็นอย่างดี

ต่อคำถามที่ว่า สิ่งที่เขาได้ทำตลอด 25 ปีที่ผ่านมานั้นเป็นการเสาะหาหนทางเพื่อให้อภัยกับตัวเองหรือเปล่า Mohammed Amir ตอบว่า “จะมองว่าเป็นเช่นนั้นก็ได้นะ มันถือเป็นการไถ่โทษที่ผมเคยทำให้พ่อต้องเสียใจ ที่ผมเคยเป็นส่วนหนึ่งในสาเหตุการตายของอีกหลายร้อยชีวิต แต่ผมก็ตระหนักเช่นกันว่ามันเป็นสิ่งที่ยังคงต้องดำเนินต่อไป” ….

เพราะการให้อภัยที่ยากที่สุด คือการให้อภัยแก่ตนเอง และแม้เส้นทางที่จะเดินไปสู่การให้อภัยแก่ตนเองนั้นอาจต้องเจอกับความเดียวดาย แต่มันก็เป็นเส้นทางเดียวกันที่จะทำให้คนบ้าคลั่งได้พบกับผู้เป็นเจ้าเบื้องบน ….

فَمَن يُرِدِ اللَّهُ أَن يَهْدِيَهُ يَشْرَحْ صَدْرَهُ لِلْإِسْلَامِ

ผู้ใดที่อัลลอฮทรงประสงค์จะให้ทางนำแก่เขา พระองค์จะทรงเปิดหัวอก (หัวใจ) ของเขา ให้เข้าใจอิสลาม” (อัลกุรอาน 6:125)


แปลและเรียบเรียง : Andalas Farr


#God_Islamic_Society_Online
#การเมือง_ลัทธิและความเชื่อ_Islamic_Society_Online
#ประวัติศาสตร์อิสลาม_Islamic_Society_Online
#วีรบุรุษอิสลาม_Islamic_Society_Online
#นานาทัศนคติ_Islamic_Society_Online
#เรื่องเล่าคติเตือนใจ_Islamic_Society_Online
Islamic Society Online



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความแนะนำ

World Clock

Featured Posts

เรื่องราวของสองอารยธรรม : อารยธรรมของชาวไวกิ้งและมุสลิม

เรื่องราวของสองอารยธรรม : อารยธรรมของชาวไวกิ้งและมุสลิม โดย : Cem Nizamoglu และ Sairah Yassir-Deane ย้อนหลังไปถึงมีนาคม 2015 ข่าวเกี่ยวก...