กฎหมายอิสลามเบื้องต้น : กฎหมายอาญาว่าด้วยเรื่องการดื่มสุรา
(อาลี เสือสมิง)
คำว่า คอมรุน (خَمْرٌ) ในหะดีษ หมายถึง สิ่งที่ปกปิดสติปัญญา หมายถึง ทำให้ขาดสติและการใช้ความคิดทางปัญญาตามปกติสูญเสียไป ดังนั้นเครื่องดื่มทุกชนิดที่ทำให้ขาดสติและสมรรถภาพทางปัญญาสูญเสียไป ถือเป็นสิ่งต้องห้ามด้วยตัวบทจากอัลกุรฺอาน และจำเป็นต้องถูกลงโทษตามที่มีระบุในอัล-หะดีษ พระองค์อัลลอฮฺ ทรงระบุเอาไว้อย่างเด็ดขาดในอัลกุรฺอานว่า
( فَهَلْ أَنتُم مُّنتَهُونَ ) “ดังนั้นพวกท่านจงเลิกเสียเถิด” (สูเราะฮฺ อัล-มาอิดะฮฺ อายะฮฺที่ 91)
และพระดำรัสที่ว่า : ( فَاجْتَنِبُوهُ ) “ดังนั้นพวกท่านจงหลีกห่างมันเถิด” (สูเราะฮฺ อัล-มาอิดะฮฺ อายะฮฺที่ 90)
เหตุนี้ ศาสนาอิสลามได้บัญญัติห้ามการดื่มสุราเพื่อเป็นการรักษาไว้ซึ่งความบริสุทธิ์ทางศาสนา สติปัญญา ร่างกายและทรัพย์สินของมุสลิม
กฎหมายอิสลามเบื้องต้น : ลักษณะอาญาและบทลงโทษในกฎหมายอิสลาม ว่าด้วยเรื่องการดื่มสุรา
การลงโทษผู้ที่ดื่มสุรา
เมื่อผู้ดื่มสุราได้สารภาพหรือมีพยานที่เที่ยงธรรม 2 คน ยืนยันว่าผู้นั้นได้ดื่มสุรา ก็ให้ลงโทษผู้นั้นโดยการเฆี่ยน 40 ที และอนุญาตให้เฆี่ยนได้ถึง 80 ที
ทั้งนี้มีหลักฐานรายงานจากท่าน อะนัส อิบนุ มาลิก (ร.ฎ.) ว่า : “แท้จริงท่านนบี (صلى الله عليه وسلم) ได้เคยเฆี่ยนในเรื่องการดื่มสุราด้วยรองเท้าแตะและก้านอินทผาลัม 40 ที” (รายงานโดย มุสลิม -1706-)
และมีรายงานว่า : แท้จริงท่านอุษมาน (ร.ฎ.) ได้ใช้ให้เฆี่ยนอัลวะลีด อิบนุ อุกบะฮฺ อิบนิ อบีมุอัยฏ์ แล้วท่านอับดุลลอฮฺ อิบนุ ญะอฺฟัร (ร.ฎ.) ก็เฆี่ยนอัลวะลีด โดยท่านอะลี (ร.ฎ.) คอยนับอยู่ จนกระทั่งถึง 40 ครั้ง แล้วท่านอุษมานฯ ก็กล่าวว่า : จงระวังเถิด! หลังจากนั้นท่านก็กล่าวว่า
جَلَدَالنَّبِىُّ صلى الله عليه وسلم أَرْبَعِيْنَ ، وَجَلَدَأَبُوْبَكْرٍأَرْبَعِيْنَ ، وَعُمَرُثَمَانِيْنَ وَكُلُّ سُنَّةٌ ، وَهَذَاأَحَبُّ إِلَيَّ
“ท่านนบี (ซ.ล.) ได้เฆี่ยน 40 ครั้ง, อบูบักรได้เฆี่ยน 40 ครั้ง และอุมัรฯ (เฆี่ยน) 80 ครั้ง และทั้งหมดเป็นซุนนะฮฺ และอันนี้เป็นที่ชอบยังฉันมากกว่า หมายถึง การเฆี่ยนเพียง 40 ครั้ง”
(รายงานโดย มุสลิม -1707-)
การลงโทษผู้กระทำความผิดในโทษฐานดื่มสุรา ให้ผู้กระทำผิดนั่งบนพื้น และเฆี่ยนที่หลังของผู้กระทำผิดด้วยแส้ขนาดปานกลาง ส่วนผู้หญิงนั้นให้นางปกปิดร่างกายด้วยผ้าบางๆ
อนึ่ง การลงโทษผู้กระทำผิดในโทษฐานดื่มสุรานั้น ให้ลงโทษเพียงหนเดียว ถึงแม้ว่าก่อนหน้าลงโทษผู้กระทำผิดจะดื่มสุราหลายครั้งก็ตาม ดังนั้นเมื่อมีการดื่มสุราอีกหลังจากการดำเนินการลงโทษไปแล้ว ก็ให้ลงโทษได้อีกตามความผิดที่ก่อขึ้นในครั้งหลังเป็นกรณีๆ ไป
เงื่อนไขในการลงโทษผู้ดื่มสุรา มี 8 ประการ คือ
- ผู้ดื่มสุรามีสติสัมปชัญญะ ไม่วิกลจริต
- บรรลุศาสนภาวะ
- เป็นมุสลิม
- กระทำโดยสมัครใจ มิได้ถูกบังคับ
- การดื่มสุรานั้นมิได้เกิดขึ้นในกรณีคับขัน
- รู้ว่าสิ่งที่ตนดื่มคือสุรา
- รู้ว่าสุราเป็นสิ่งต้องห้าม
- ทัศนะที่ผู้นั้นสังกัด (มัซฮับ) ถือว่าสิ่งที่ดื่มนั้นเป็นที่ต้องห้าม
อนึ่งยาเสพติดให้โทษร้ายแรง เช่น กัญชา, ฝิ่น, เฮโรอีน และยาบ้า เป็นต้น ถือเป็นสิ่งต้องห้าม ไม่ว่าจะมีวิธีในการเสพอย่างไรก็ตาม เพราะเป็นสิ่งที่มีโทษต่อสติปัญญาและร่างกาย ส่วนการลงโทษผู้เสพนั้นให้เป็นไปตามดุลยพินิจของศาล เช่น จำคุก, เฆี่ยน หรือการประนาม เป็นต้น ทั้งนี้มีเงื่อนไขว่าการลงโทษดังกล่าวต้องไม่ถึงขั้นต่ำสุดจากการลงโทษที่มีการกำหนดเอาไว้ตามบัญญัติของศาสนา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น