ฟิกฮฺในยุคเศาะหาบะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุม
แนวทางของเศาะหาบะฮฺในการวินิจฉัยปัญหาศาสนา
ยุคสมัยของท่านนบีศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้ผ่านพ้นไปพร้อมๆ กับความสมบูรณ์แบบของบทบัญญัติแห่งเอกองค์อัลลอฮฺตะอาลาไม่ว่าจะเป็นในส่วนของอัลกุรอาน หรือ ซุนนะฮฺของท่านนบีศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ซึ่งทั้งสองสิ่งนี้ได้กลายเป็นหลักสำคัญของพัฒนาการทางฟิกฮฺในยุคต่อมา
วิชาฟิกฮฺในยุคนี้เริ่มมีการขยายขอบเขตกว้างออกไปจากเดิม ทั้งนี้ เพราะภายหลังจากที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เสียชีวิตบรรดาเศาะหาบะฮฺต้องเผชิญกับปัญหาและเหตุการณ์ใหม่ๆ ที่ไม่เคยปรากฏในยุคของท่านนบีศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ซึ่งจำเป็นต้องรู้ฮุก่ม ตลอดจนการเผยแผ่อิสลามสู่เมืองต่างๆ ที่ทำให้อาณาเขตของรัฐอิสลามแผ่ขยายกว้างใหญ่ไพศาลออกไปจากเดิมและมีผู้คนจากหลายชาติ ต่างภาษา หลากวัฒนธรรมเข้ามาอยู่ภายใต้ร่มเงาแห่งศาสนาอิสลาม ซึ่งแน่นอนว่าย่อมมีปัญหาใหม่ๆ ตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
บรรดาเศาะหาบะฮฺจึงต้องพยายามหาคำตอบให้กับปัญหาใหม่ๆ ที่ไม่มีหลักฐานบ่งบอกฮุก่มเหล่านี้ โดยขั้นตอนหลักๆ ของพวกท่านในการวินิจฉัยปัญหาใดๆ นั้น ก็เริ่มจากการตรวจสอบดูว่ามีโองการอัลกุรอานหรือตัวบทฮะดีษกล่าวถึงเรื่องนั้นหรือไม่ เมื่อพบว่าทั้งอัลกุรอานและฮะดีษไม่ได้ระบุฮุก่มของปัญหานั้นไว้พวกท่านก็จำเป็นต้องอาศัยการ “อิจญฺติฮาด” ใช้ความคิดความพยายามค้นหาคำตอบ ทั้งนี้ไม่ใช่เป็นการใช้ความคิดโดดๆ โดยปราศจากความสัมพันธ์กับหลักศาสนา แต่เป็นการอาศัยความรู้ ความเข้าใจในหลักศาสนาที่ได้ร่ำเรียนมาจากท่านนบีศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม จากการที่ได้อยู่ใกล้ชิดกับท่านเป็นเวลายาวนาน ได้เห็น ได้เข้าใจถึงสาเหตุของการประทานอัลกุรอานและเข้าใจถึงความหมายของตัวบทฮะดีษอย่างถ่องแท้ ด้วยสิ่งเหล่านี้นี่เองที่ทำให้เศาะหาบะฮฺสามารถหาคำตอบให้กับปัญหาใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นหลังจากยุคของท่านนบีศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้ ซึ่งการวินิจฉัยนี้มีลักษณะเด่นหลายข้อที่ชนรุ่นหลังควรเอาเป็นเยี่ยงอย่าง อาจจะยกตัวอย่างได้ดังนี้
1- การให้ความสำคัญกับบทบัญญัติศาสนามากกว่าทัศนะของตนเอง
มีรายงานว่าท่านอุมัรฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ ได้ขึ้นอ่านคุฏบะฮฺแล้วกล่าวว่า “ แท้จริงความเห็นของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม นั้นล้วนถูกต้องทั้งสิ้น เพราะท่านได้รับการชี้นำจากองค์อัลลอฮฺ แต่สำหรับพวกเรานั้น ความเห็นเป็นเพียงความไม่แน่นอน ” (ญามิอฺ บะยานิล อิลมฺ 2/64)
2 – เมินความเห็นของตนเองเมื่อพบว่ามีตัวบท
มีรายงานว่าท่านอุมัรฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ ได้ตัดสินให้ดิยะฮฺ (ค่าชดใช้เมื่อทำให้ผู้อื่นบาดเจ็บ) ของแต่ละนิ้วนั้นไม่เท่ากัน แต่เมื่อท่านได้ทราบว่ามีตัวบทที่กำหนดให้จ่ายอูฐ 10 ตัว เท่ากันทุกนิ้วท่านก็ไม่ลังเลที่จะทิ้งความเห็นของท่าน และยึดตามตัวบททันที (อัลฟะกีฮฺ วัล มุตะฟักกิฮฺ 1/139)
3 – การไม่รีบออกคำวินิจฉัย และมีความละเอียดอ่อนในการพิจารณา
ท่านอิบนฺ อบี ลัยลา กล่าวว่า “ ฉันมีโอกาสได้พานพบกับเศาะหาบะฮฺ 120 ท่าน ทุกท่านนั้นล้วนแต่อยากให้ท่านอื่นรายงานฮะดีษ หรือออกคำวินิจฉัยแทนท่านทั้งสิ้น ” (ซิยัรฺ อะอฺลาม อันนุบะลาอฺ 4/263) ทั้งนี้เพราะความยำเกรงต่ออัลลอฮฺตะอาลา ทำให้พวกท่านเหล่านั้นเกรงว่าตนจะวินิจฉัยปัญหาหรือรายงานฮะดีษผิดพลาดไปนั่นเอง
4- หลีกเลี่ยงความขัดแย้งและการโต้เถียง
5 – การปรึกษาหารือกับอุละมาอฺ และผู้เชี่ยวชาญ และลักษณะเด่นอื่นๆ อีกมากมายนอกเหนือจากนี้
ซึ่งแน่นอนว่าการอิจญฺติฮาดที่อาศัยความคิด ความเข้าใจในยุคที่ปราศจากผู้ให้คำชี้ขาดเหมือนในยุคท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม นั้นจะต้องนำมาซึ่งความเห็น หรือทัศนะที่แตกต่างกันบ้าง ต่างจากเมื่อครั้งที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ยังอยู่เพราะในยุคนั้นหากเกินความขัดแย้ง หรือมีทัศนะที่ต่างกัน ทุกคนก็จะกลับไปหาท่านทันที
ในขณะเดียวกันเศาะหาบะฮฺก็อาจจะอิจญฺติฮาดแล้วได้คำตอบเดียวกันเรียกว่า “อิจญฺมาอฺ” นั่นคือการเห็นพ้องต้องกันอย่างเป็นเอกฉันท์ ซึ่งถือว่าเป็นหลักการบัญญัติฮุก่มที่ไม่เคยมีในยุคของท่านนบีศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เพราะในยุคนั้นยังไม่มีความจำเป็นต้องอาศัยการอิจญฺมาอฺ เนื่องจากยังไม่มีการขัดแย้งทางทัศนะเกิดขึ้น
สรุปสาเหตุของการมีทางทัศนะที่แตกต่างกันระหว่างเศาะหาบะฮฺในยุคนี้ได้ดังนี้
1- เกิดปัญหาและสถานการณ์ใหม่ๆ ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นในยุคท่านนบีศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม และไม่มีตัวบทระบุชัดเจน เป็นเหตุให้เศาะหาบะฮฺต้องอิจญฺติฮาดเพื่อให้ได้มาซึ่งฮุก่ม ซึ่งเป็นธรรมดาที่ผลออกมาจะไม่ตรงกันบ้าง เพราะความคิดของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ดังที่เราได้กล่าวมาแล้วข้างต้น
2 – ความแตกต่างกันทางระดับความรู้ของเศาะหาบะฮฺ กล่าวคือ บางท่านอาจจะรู้ฮะดีษที่ท่านอื่นไม่รู้ ดังที่เราได้กล่าวไปในปฐมบท (1) ว่าเมื่อท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมเสียชีวิตลงนั้น ตัวบทหะดีษยังไม่ได้รับการรวบรวมแต่อยู่กระจัดกระจายตามเศาะหาบะฮฺแต่ละท่าน เพราะฉะนั้นบางท่านก็อาจจะมีโอกาสได้ใกล้ชิด ท่องจำ หรือบันทึกฮะดีษท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ไว้มาก บางท่านก็มีโอกาสน้อยแตกต่างกันไป ซึ่งผลที่ตามมาก็คือท่านใดที่รู้ว่ามีตัวบทฮะดีษเป็นฮุก่มของปัญหาใดปัญหาหนึ่งก็จะวินิจฉัยตามตัวบทนั้น ในขณะที่อีกท่านหนึ่งอาจจะไม่รู้ว่ามีฮะดีษบทนั้นอยู่ก็อาจจะอิจญฺติฮาดเพื่อให้ได้มาซึ่งฮุก่ม ซึ่งอาจจะออกมาตรงตามฮุก่มฮะดีษ หรืออาจจะไม่ตรงก็ได้
3 – การแยกย้ายไปตั้งถิ่นฐานตามเมืองต่างๆ ของบรรดาเศาะหาบะฮฺ ในสมัยท่านอุษมาน เพื่อเผยแผ่ความรู้ทางศาสนา ทำให้แต่ละท่านอยู่ห่างไกลกันในยุคที่การติดต่อสื่อสารยังไม่เจริญก้าวหน้าเหมือนทุกวันนี้จึงเป็นการยากที่จะแลกเปลี่ยนความรู้ หรือสอบถามในสิ่งที่สงสัยได้
4 – ความแตกต่างกันของระดับความเข้าใจของเศาะหาบะฮฺ ที่มีต่อตัวบทและหลักฐาน
ความขัดแย้งทางทัศนะในยุคนี้มีน้อยมาก
ถึงแม้ว่าเศาะหาบะฮฺในยุคนี้จะมีทัศนะที่แตกต่างกันบ้างแต่โดยรวมแล้วถือว่าความขัดแย้งยังมีไม่มากนัก ทั้งนี้ เพราะสาเหตุดังต่อไปนี้
1 – โดยส่วนใหญ่แล้วการอิจญฺติฮาดในยุคนี้จะเป็นไปในรูปของการอิจญฺติฮาดหมู่ เป็นการปรึกษาหารือกันระหว่างเศาะหาบะฮฺ โดยเฉพาะในสมัยท่านอบูบักรฺ และอุมัรฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา ทั้งนี้เพราะขณะนั้นเศาะหาบะฮฺส่วนใหญ่ยังไม่แยกย้ายออกไปตั้งถิ่นฐานที่อื่นยังคงอาศัยอยู่ ณ เมืองมะดีนะฮฺ ซึ่งวิธีนี้ช่วยลดข้อขัดแย้งลงได้มาก
2 – ฟิกฮฺในยุคนี้เป็นฟิกฮฺที่วางอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง กล่าวคือเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นแล้วจึงจะทำการวินิจฉัยหาฮุก่ม จะไม่สมมุติปัญหาขึ้นแล้วพยายามหาคำตอบเฉกเช่นในยุคหลังๆ ทั้งนี้ เมื่อการวินิจฉัยปัญหามีน้อย ความขัดแย้งก็จะน้อยตามไปด้วย
3 – เศาะหาบะฮฺส่วนใหญ่ระมัดระวังเรื่องการออกคำวินิจฉัย เพราะความยำเกรงต่ออัลลอฮฺตะอาลา เมื่อผู้ทำการวินิจฉัยมีน้อยความขัดแย้งจึงน้อยตามไปด้วย
4 – ปัญหาที่เกิดขึ้นโดยรวมในยุคนี้ยังน้อยกว่ายุคหลังๆ
ตัวอย่างการอิจญฺติฮาดของเศาะหาบะฮฺ
1 – เมื่อท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เสียชีวิตลงบรรดาเศาะหาบะฮฺมีทัศนะที่แตกต่างกันว่าใครคือผู้ที่มีความเหมาะสมที่จะขึ้นเป็นผู้นำ ซึ่งหลังจากได้ปรึกษาหารือกันแล้วก็มีข้อสรุปให้เลือกท่านอบูบักรฺเราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ
2 – ท่านอุมัรฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺได้รวมผู้คนให้ละหมาดตะรอเวียะหฺร่วมกันเป็นญะมาอะฮฺที่มัสยิดในเดือนรอมะฎอนหลังจากที่ก่อนหน้านั้นต่างคนต่างละหมาด
อุละมาอ์เศาะหาบะฮฺที่เป็นแกนหลักของการวินิจฉัยปัญหาศาสนา
อิบนุล ก็อยฺยิม กล่าวว่า ผู้ที่ทำการวินิจฉัยปัญหาจากบรรดาเศาะหาบะฮฺนั้นมีอยู่ประมาณ 130 คนซึ่งสามารถแบ่งตามความมากน้อยของคำวินิจฉัยได้ 3 ระดับ คือ
1 – ผู้ที่ทำการวินิจฉัยมาก : อุมัรฺ บิน อัลค็อฏฏอบ, อะลี บิน อบี ฏอลิบ, อับดุลลอฮฺ บิน มัสอูด, อาอิชะฮฺ, ซัยดฺ บิน ษาบิต, อับดุลลอฮฺ บิน อับบาส และ อับดุลลอฮฺ บิน อุมัรฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุม
2 – ผู้ที่ทำการวินิจฉัยระดับปานกลาง : อบูบักรฺ, อุมมุ ซะละมะฮฺ, อนัส บิน มาลิก, อบูสะอีด อัลคุดรียฺ, อบูฮุร็อยเราะฮฺ, อุษมาน บิน อัฟฟาน, อับดุลลอฮฺ บิน อัมรฺ บิน อาศ, อับดุลลอฮฺ บิน ซุเบรฺ, อบู มูซา อัลอัชอะรียฺ, สะอฺด บิน อบี วักกอศ, ซัลมาน อัลฟาริซียฺ, ญาบิร บิน อับดิลลาฮฺ และ มุอาซ บิน ญะบัล เราะฎิยัลลอฮุอันฮุม
3 – ผู้ที่ทำการวินิจฉัยน้อย : คือท่านที่เหลือ ซึ่งท่านเหล่านั้นมีคำวินิจฉัยน้อยมาก แต่ละท่านอาจจะมีคำวินิจฉัยเพียง 1-2 ปัญหาเท่านั้น
การจดบันทึกในยุคนี้
ในยุคนี้ได้มีการรวบรวมอัลกุรอาน โดยเริ่มครั้งแรกในยุคของท่านอบูบักรฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ และเสร็จสิ้นสมบูรณ์ในยุคของท่านอุษมาน เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ
ส่วนหะดีษนั้นก็ยังไม่ได้มีการรวบรวมทั้งหมด แต่ทุกตัวบทก็ยังอยู่ครบถ้วนด้วยการท่องจำของบรรดาเศาะหาบะฮฺเช่นเดียวกับฟิกฮฺที่ยังไม่มีการบันทึกหรือจำกัดความหมายเหมือนดังที่เราเข้าใจทุกวันนี้
ข้อสรุป
จากที่ได้กล่าวมาข้างต้นจะเห็นได้ว่าฟิกฮฺในยุคเศาะหาบะฮฺนั้นเริ่มขยายขอบเขตกว้างออกไปจากเดิมอันเนื่องมาจากความเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ ที่มาพร้อมกับปัญหาซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นในสมัยท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม มีผลให้การอิจญฺติฮาดได้กลายเป็นหลักสำคัญอีกข้อหนึ่งในการวินิจฉัยและค้นหาฮุก่มที่ไม่มีปรากฏในอัลกุรอาน และตัวบทฮะดีษ แต่ถึงอย่างไรก็ตามฟิกฮฺในยุคนี้ก็ยังไม่ได้รับการบันทึก หรือ ขัดเกลาเป็นมัซฮับแต่งอย่างใดแม้ว่าพอจะมีความแตกต่างระหว่างแนวทางการวินิจฉัยของเศาะหาบะฮฺแต่ละท่านให้เห็นบ้างก็ตาม
แหล่งที่มา : https://siammuslim.wordpress.com/
#นิติศาสตร์อิสลาม_Islamic_Society_Online
#ปราชญ์ในนิติศาสตร์อิสลาม_Islamic_Society_Online
Islamic Society Online
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น