มัสยิดบาโงยลางา ต้นแบบชุมชนสันติสุข ‘พุทธ-มุสลิม’
“มัสยิดนัจมุดีน” หรือที่เรียกขานกันว่า “มัสยิดบาโงยลางา” มักจะถูกหยิบมาเป็นเรื่องราวเล่าขานสู่กันฟังถึงการอยู่ร่วมกันอย่าง “สันติสุข” ของชุมนุม “ชาวไทยพุทธ” และ “ชาวไทยมุสลิม” บนแผ่นดินปลายด้ามขวานทอง บางเรื่องเป็นประวัติศาสตร์ บางเรื่องเป็นตำนาน แต่ทั้งหมดประกอบขึ้นเป็นความภาคภูมิใจของชาวชายแดนใต้อย่างแน่นอน
มีเรื่องเล่ามากมายที่เกิดเกี่ยวเนื่องกับการก่อสร้าง “มัสยิดนัจมุดีน (บาโงยลางา)” ซึ่งตั้งอยู่บ้านควนลังงา ม.4 ต.ทรายขาว อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในปี 2177 รัชสมัยราชินีราตูอูงู บิน สุลต่านมันซูร ซาร์ รัชกาลที่ 8 แห่งราชอาณาจักรปัตตานีดารุสลาม (2167-2178) หลังสงครามระหว่างปัตตานีดารุสสลามกับกรุงศรีอยุธยา จนเกิดวีรกรรมอันกล้าหาญของ “โต๊ะหยาง” หญิงแห่งบ้านบาโงยลางา (บาโงย-ควนหรือเนิน, ลางา-การปะทะ) ช่วงที่ต้องหนีภัยสงคราม ท่านได้พลัดตกลงในหุบเหวเป็นเวลาหลายวัน หลังสงครามชาวบ้านได้เข้าไปช่วยเหลือ
แต่ต้องตะลึง! เมื่อพบกับสิ่งที่ท่านกอดไว้แน่นตลอดเวลา นั่นคือ “คัมภีร์อัล-กุรอ่าน” ที่เขียนด้วยลายมือ ปกทำจากเปลือกต้นมะม่วงหิมพานต์ เวลานี้คัมภีร์เล่มนี้ยังถูกเก็บไว้อย่างดีที่บ้านอิหม่ามคนปัจจุบัน จากนั้นชาวบ้านทรายขาว ได้ร่วมแรงร่วมใจกันสร้าง “สุเหร่า” โดยความร่วมมือของพี่น้องประชาชน 2 ศาสนิกในชุมชนเล่าขานกันว่า เจ้าอาวาสวัดทรายขาวยุคนั้นเป็นคนออกแบบ ด้วยเหตุผลของความเชื่อถือของคนในชุมชน อีกเหตุผลคือยุคนั้นยังไม่มีใครรับรู้ถึงสถาปัตยกรรมแบบอิสลาม ชาวบ้านเลยมอบภารกิจนี้ให้ก่อนที่ท่านมาเป็นเจ้าอาวาส ท่านเคยรับอิสลามมาก่อน โดยแต่งงานกับหญิงมุสลิม แต่หลังภรรยาเสียชีวิต ท่านจึงบวชที่วัดทรายขาวและกลายมาเป็นเจ้าอาวาส ซึ่งเล่ากันว่าท่านเองก็ไม่รู้เรื่องศิลปกรรมแบบอิสลามเลย
สุเหร่าแห่งนี้สร้างด้วยไม้แค-ไม้ตะเคียน ตัดมาจากเทือกเขาสันกาลาคีรี ใช้หวายแทนเชือกมัดแล้วลากลงมาจากเขา จากนั้นใช้ขวานถากซุงให้เป็นเสาสี่เหลี่ยม ส่วนกระเบื้องมุงหลังคาทำจากอิฐแดงที่นำมาจากบ้านตาระบาตอ ต.กะมิยอ อ.เมือง จ.ปัตตานี ที่ต้องนับว่าโดดเด่น คือ โครงสร้างทั้งหลังไม่ใช้ตะปู เพียงใช้ไม้เป็นสลักยึดตามตำนานเล่าว่า ไม้ที่ใช้ทำเสาสุดแสนจะใหญ่มาก น้ำหนักก็เยอะ โค่นแล้วยากต่อการชักลากลงจากเทือกเขา แต่ชายสูงอายุผู้หนึ่งอาสารับภารกิจเพียงคนเดียว มีข้อแม้ว่าต้องทำตามลำพังในตอนกลางคืน ห้ามใครเกี่ยวข้องทุกๆ เช้าชาวบ้านจะเห็นซุงไม้ใหญ่ตั้งวางในหมู่บ้านวันละต้นๆ จนเพียงพอต่อความต้องการ จากนั้นชาวบ้านก็ร่ำลือกันสะพัดว่า ในเวลากลางคืนอาจจะมีใครเข้ามาช่วยเหลือชายผู้สูงอายุท่านก็เป็นได้และที่สำคัญต้องไม่น่าจะใช่คนอย่างแน่นอน…
“มัสยิดบาโงยลางา” จึงถือเป็นสุเหร่าร่วมสมัย และเป็นสถาปัตยกรรมเดียวกับ “มัสยิดตะโละมาเนาะ” (วาดิอัลอุเซ็น อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส) และ “มัสยิดเอาห์” (บ้านนัดตันหยง ต.มะนังยง อ.ยะหริ่ง)ในพื้นที่ยังมี “บ่อน้ำโบราณ” “กลอง” หรือ “นางญา” ที่ใช้ในการตีบอกเวลาละหมาด หรือเตือนภัยเมื่อมีเหตุร้าย จุดเด่นอยู่ที่ลิ้นทำจากไม้ไผ่ ทำให้เสียงไพเราะและดังก้องกังวานไกลไปถึงรัศมีกว่า 3 กิโลเมตร
“หลังญานาซะฮ์” เป็นที่ตั้งของศูนย์วัฒนธรรมสายใยชุมชน ภายในเป็นที่เก็บอุปกรณ์การดำรงชีพในสมัยโบราณ ซึ่งควบรวมไปถึงเครื่องมือที่หลงเหลือบางส่วนจากการก่อสร้างสุเหร่าที่สะดุดตาน่าจะเป็น “ถาดทองเหลืองเก่า” ที่เก็บอย่างดีภายในตู้ แต่สลักหลังว่า วัดทรายขาว เดาได้ถึงความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ในระหว่างพี่น้องพุทธ-มุสลิมครั้งโบราณกาล ที่สามารถหยิบยืมเครื่องใชไม้สอยระหว่างกันได้ยามมีงานมีการ
เนื่องเพราะถาดนี้มัสยิดบาโงยลางาน่าจะหยิบยืมมาจากวัดทรายขาวเมื่อครั้งทำบุญ (กินบุญ) ในอดีต เป็นการยืม…แล้วก็ลืมคืนจนบัดนี้…
แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่จะนำไปสู่อุปสรรคหรือปัญหาของการอยู่ร่วมกันของชาวชุมนุม 2 วัฒนธรรมที่ประกอบขึ้นจาก “ชาวไทยพุทธ” และ “ชาวไทยมุสลิม” ที่นั่น
———————————
แหล่งที่มา : http://www.southernreports.com/
#อารยธรรมอิสลาม_Islamic_Society_Online
#ประชาชาติอิสลาม_Islamic_Society_Online
#นานาทัศนคติ_Islamic_Society_Online
#เรื่องเล่าคติเตือนใจ_Islamic_Society_Online
Islamic Society Online
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น