product :

วันพุธที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2561

กฎหมายอิสลามเบื้องต้น : กฎหมายอาญาว่าด้วยเรื่องการพนัน

กฎหมายอิสลามเบื้องต้น : กฎหมายอาญาว่าด้วยเรื่องการพนัน

(อาลี เสือสมิง)

กฎหมายอิสลามเบื้องต้น : ลักษณะอาญาและบทลงโทษในกฎหมายอิสลาม ว่าด้วยเรื่องการพนัน


การพนันเรียกในภาษาอาหรับว่า อัล-กิม๊ารฺ (اَلْقِمَارُ) หรือ อัล-มัยซิรฺ (اَلْمَيْسِرُ) หมายถึง การเล่นเอาเงินหรือสิ่งอื่นด้วยการเสี่ยงโชคหรือฝีมือ อาทิเช่น การเล่นลูกเต๋า, หมากรุก, ถั่ว, หัวแหวน, ไข่, ก้อนหิน เป็นต้น นักวิชาการเห็นพ้องตรงกันว่า ทุก ๆ การละเล่นที่มีการพนันถือเป็นสิ่งต้องห้าม (หะรอม) และถือเป็นส่วนหนึ่งจากการกิน (ได้มาซึ่ง) ทรัพย์สินของผู้คนโดยมิชอบ (บาฏิล) ซึ่งพระองค์อัลลอฮฺ (سبحا نه وتعالي) ทรงบัญญัติห้ามเอาไว้ในพระดำรัสที่ว่า


وَلاَ تَأْكُلُواْ أَمْوَالَكُم بَيْنَكُم بِالْبَاطِلِ


และสูเจ้าทั้งหลายอย่าได้กินทรัพย์สินของหมู่สูเจ้า ระหว่างหมู่สูเจ้าด้วยกันโดยมิชอบ” (อัล-บะกอเราะฮฺ อายะฮฺที่ 188)


และพระดำรัสที่ว่า :


يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُواْ إِنَّمَا الْخَمْرُ وَالْمَيْسِرُ وَالأَنصَابُ وَالأَزْلاَمُ رِجْسٌ مِّنْ عَمَلِ الشَّيْطَانِ فَاجْتَنِبُوهُ لَعَلَّكُمْ تُفْلِحُونَ 


โอ้บรรดาศรัทธาชน อันที่จริงสุรา, การพนัน, สัตว์ที่ถูกเชือด ณ แท่นบูชาและการเสี่ยงทายนั้นคือความสกปรกโสมมอันมาจากงานของมารร้าย ดังนั้นสูเจ้าทั้งหลายจงหลีกห่างมันเถิด หวังว่าสูเจ้าทั้งหลายจะได้รับความสัมฤทธิผล” (อัล-มาอิดะฮฺ อายะฮฺที่ 90)


และมีอัล-ฮะดีษระบุว่า


إِنَّ رِجَالاً يَتَخَوَّضُوْنَ فِى مَالِ اللهِ بِغَيْرِحَقٍّ فَلَهُمُ النَّارُ يَوْمَ الْقِيَامَةِ


แท้จริงบรรดาบุคคลที่ล่วงล้ำเข้าไปในทรัพย์สินของพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) โดยมิชอบนั้น สำหรับพวกเขาคือนรกอเวจีในวันกิยามะฮฺ” (อ้างจากอัล-กะบาอิรฺ, อัซซะฮฺบีย์)


และอัล-ฮะดีษที่รุบุว่า :


مَنْ قَالَ لِصَاحِبِه تَعَالَ أُقَامِرْكَ فَلْيَتَصَدَّقْ


ผู้ใดกล่าวกับเพื่อนของเขาว่า “มาเถิด! ฉันจะพนันกับท่าน” ผู้นั้นจงบริจาคทานเสีย!” (รายงานโดยบุคอรี)


จากอัล-ฮะดีษบทนี้จะเห็นได้ว่า เพียงแค่บุคคลพูดจาชักชวนบุคคลอื่นให้เล่นการพนันก็ถือว่าบุคคลผู้นั้นจำต้องเสียค่าปรับ (กัฟฟาเราะฮฺ) ด้วยการบริจาคทานเพื่อลบล้างความผิดที่เกิดขึ้นจากคำพูด ดังนั้นการเล่นการพนันจริง ๆ จึงถือเป็นสิ่งที่ต้องห้ามและถือเป็นการประพฤติผิดบาปใหญ่ (กะบาอิรฺ) ซึ่งจำเป็นที่บุคคลผู้นั้นต้องเตาบะฮฺ (สำนึกผิด) ตามเงื่อนไขที่ศาสนาได้กำหนดเอาไว้คือ

  • ละเลิกและถอนตัวจากการเล่นการพนันโดยเด็ดขาด
  • เสียใจต่อการประพฤติผิดนั้น
  • ตั้งใจอย่างแน่วแน่ว่าจะไม่หวนกลับไปประพฤติผิดด้วยการเล่นการพนันอีก
  • ต้องคืนทรัพย์สินที่ได้มาโดยการพนันนั้นแก่เจ้าของทรัพย์สิน

อนึ่งถึงแม้ว่าการพนันจะเป็นสิ่งต้องห้ามและถือเป็นบาปใหญ่เช่นเดียวกับการดื่มสุราแต่เนื่องจากการพนันไม่มีข้อกำหนดบทลงโทษโดยตัวบทของศาสนาดังเช่นกรณีการดื่มสุรา แต่ผู้มีอำนาจหรือศาลสามารถตัดสินคดีการเล่นการพนันได้โดยใช้ดุลยพินิจตามคดีลหุโทษ (อัต-ตะอฺซีรฺ) เช่น การเฆี่ยนที่ไม่ถึงจำนวนที่ศาสนาบัญญัติเอาไว้, การจำคุก, การปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับ เป็นต้น

เหตุผลในการบัญญัติห้ามการพนัน มีดังนี้ คือ

– ศาสนามีความประสงค์ให้มุสลิมปฏิบัติตามกฎเกณฑ์และแนวทางของพระองค์อัลลอฮฺ (سبحا نه وتعالي) ที่ทรงกำหนดเอาไว้ในเรื่องการแสวงหาปัจจัยยังชีพที่เป็นที่อนุมัติ (ฮะล้าล) การพากเพียรและมุ่งมานะในการประกอบอาชีพตลอดจนการยึดมั่นในทำนองคลองธรรมในการได้มาซึ่งทรัพย์สิน

– การพนันเป็นอบายมุขที่ส่งผลร้ายต่อศรัทธาและความเชื่อของบุคคล ดังจะเห็นได้ว่า พระองค์อัลลอฮฺ (سبحا نه وتعالي) ทรงบัญญัติห้ามการเล่นการพนันเคียงคู่กับการดื่มสุรา การบริโภคเนื้อสัตว์ที่ถูกเชือดในบริเวณแท่นบูชาเจว็ดซึ่งเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับการตั้งภาคี การเสี่ยงทาย ซึ่งมอมเมาบุคคลให้จมปลักอยู่กับเรื่องของโชคลางและความหวังลมๆ แล้งๆ

– การพนันเป็นการทำให้เสียทรัพย์ เป็นต้นเหตุแห่งการเป็นหนี้เป็นสิน ซึ่งสร้างผลร้ายให้กับตัวของบุคคลที่เล่นการพนันและบุคคลรอบข้างโดยเฉพาะครอบครัวตลอดจนเป็นสาเหตุของอาชญากรรมที่คุกคามต่อความสงบสุขของสังคมโดยส่วนรวม

– การพนันและการดื่มสุรา เป็นต้นเหตุให้เกิดความบาดหมาง ความชิงชังและความอาฆาตพยาบาท ผู้เล่นการพนันย่อมมีทั้งผู้ที่ได้และผู้ที่เล่นเสีย และความสิ้นหวังอันเกิดจากการเสียพนันในครั้งแรกจะผลักดันให้ผู้ที่เสียพนันหวนกลับไปสู่การเล่นพนันอีกครั้งเพื่อแสวงหาสิ่งทดแทนจากการสูญเสียในครั้งแรก เมื่อเป็นฝ่ายชนะในการพนันก็เกิดความย่ามใจแต่ในท้ายที่สุดก็เสียทรัพย์สินจนหมดตัว อัลกุรอานฺได้ระบุเอาไว้ว่า :


إِنَّمَا يُرِيدُ الشَّيْطَانُ أَن يُوقِعَ بَيْنَكُمُ الْعَدَاوَةَ وَالْبَغْضَاء فِي الْخَمْرِ وَالْمَيْسِرِ وَيَصُدَّكُمْ عَن ذِكْرِ اللّهِ وَعَنِ الصَّلاَةِ فَهَلْ أَنتُم مُّنتَهُونَ


อันที่จริงมารร้ายนั้นมันมุ่งหมายต่อการให้เกิดความเป็นศัตรูและความชิง ชังระหว่างหมู่สูเจ้า ด้วยเหตุของการดื่มสุราและการเล่นพนันและมุ่งหมายต่อการขัดขวางสูเจ้าทั้ง หลายจากการรำลึกถึงพระองค์อัลลอฮฺและจากการละหมาด ดังนั้นพวกท่านทั้งหลายจงยุติเสียเถิด
(อัล-มาอิดะฮฺ อายะฮฺที่ 91)


สิ่งที่เข้าข่ายว่าเป็นการพนัน

การละเล่นหรือการแข่งขันทุกชนิดที่มีการพนันเข้าไปเกี่ยวข้องถือเป็นสิ่งต้องห้าม (ฮะรอม) อาทิเช่น การพนันในการเล่นหมากรุก, การทอยลูกเต๋า, การเล่นโฮโล, การเล่นถั่ว, การเล่นน้ำเต้าปูปลา, การพนันที่เกี่ยวข้องกับกีฬา เช่น มวยตู้, การพนันฟุตบอล เป็นต้น นอกจากนี้การเล่นหวย, ลอตเตอรี่ หรือสลากกินแบ่งรัฐบาล ทั้งที่ถูกกฎหมายและผิดกฎหมายถือเป็นสิ่งต้อง (ฮะรอม) เช่นกัน

อนึ่ง การละเล่นบางชนิดและการแข่งขันบางประเภท เช่น การเล่นหมากรุก, เพื่อฝึกสมองและปฏิภาณไหวพริบ, การยิงธนู, การขี่ม้า, การวิ่งแข่ง เป็นต้น ถือเป็นสิ่งที่อนุมัติ (มุบาหฺ) แต่มีเงื่อนไข 3 ประการดังนี้ คือ

  • การละเล่นและการแข่งขันดังกล่าวต้องไม่เป็นเหตุทำให้เกิดความล่าช้าในการละหมาดจนเลยเวลาการละหมาดที่ถูกกำหนดไว้
  • ต้องไม่มีการพนันเข้าไปเกี่ยวข้อง
  • ผู้เล่นต้องรักษามารยาทในระหว่างการเล่นหรือการแข่งขัน ไม่พูดจาหยาบคาบ ไม่ด่าทอ เป็นต้น หากขาดเงื่อนไขข้อหนึ่งข้อใดจาก 3 ประการนี้นักวิชาการถือว่าเป็นสิ่งต้องห้าม (ฮะรอม)

การแข่งขัน

การแข่งขันเรียกในภาษาอาหรับว่า อัส-สิบ๊าก (اَلسِّبَاقُ) หรือ อัล-มุสาบะเกาะฮฺ (اَلمُسَابَقَةُ) คือการที่บุคคลแข่งขันกับเพื่อน (คู่แข่ง) ในการขี่ม้าหรืออูฐ เป็นต้น

การแข่งขันเป็นที่อนุมัติโดยมีหลักฐานจากอัซ-ซุนนะฮฺ และอัล-อิจญ์มาอฺ และการแข่งขันได้รับการยกเว้นจาก 3 เรื่องอันเป็นที่ต้องห้าม คือ การพนัน, การทรมานสัตว์ที่มิใช่เรื่องการกิน และการได้สิ่งทดแทน และเดิมพันสำหรับบุคคลเพียงคนเดียว ในกรณีเมื่อผู้แข่งขันทั้ง 2 ฝ่ายได้ยื่นสิ่งทดแทนเอาไว้ (วางเดิมพัน) เพื่อให้ผู้ชนะเอาสิ่งทดแทนและเดิมพันนั้น

ประเภทของการแข่งขัน

การแข่งขัน (อัล-มุสาบะเกาะฮฺ) มี 2 ชนิด คือ

– การแข่งขันโดยไม่มีสิ่งทดแทน (อัล-อิวัฎ) ถือเป็นสิ่งที่อนุมัติ (ญาอิซฺ) โดยไม่มีการกำหนดเงื่อนไขด้วยสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่แน่นอน เช่น การแข่งขันเดิน, แข่งเรือ, แข่งนก, แข่งล่อ, แข่งลา และแข่งช้าง เป็นต้น และอนุญาตให้แข่งขันมวยปล้ำและการยกก้อนหินเพื่อให้รู้ว่าผู้แข่งขันคนใดแข็งแรงกว่า หลักฐานการแข่งขันชนิดนี้ คือการวิ่งแข่งของท่านนบีฯ (صلى الله عليه وسلم) กับท่านหญิงอาอิชะฮฺ (ร.ฎ.) ซึ่งในครั้งแรกของท่านนบีฯ (صلى الله عليه وسلم) แพ้ให้กับท่านหญิงอาอิชะฮฺ (ร.ฎ.) และในครั้งที่ 2 ท่านชนะ (รายงานโดยอะหฺหมัด, อบูดาวูด, อัชชาฟิอีย์, อัน-นะสาอีย์และท่านอื่น ๆ )

และท่านสลามะฮฺ อิบนุ อัล-อักวะอฺได้แข่งขันวิ่งกับชายชาวอันศ๊อรต่อหน้าท่านนบีฯ (صلى الله عليه وسلم) และปรากฏว่าท่านสลามะฮฺได้รับชัยชนะ (รายงานโดยมุสลิมและอะหฺหมัด) และท่านนบีฯ (صلى الله عليه وسلم) เคยแข่งมวยปล้ำกับรุกกานะฮฺ (รายงานโดยอบูดาวูด) และให้ใช้หลักการกิยาสกับการแข่งขันในประเภทอื่นๆ เทียบกับสิ่งที่กล่าวมาข้างต้น

– การแข่งขันโดยมีสิ่งทดแทน (อัล-อิวัฎ) นักวิชาการส่วนใหญ่ (ญุมฮู๊รฺ) มีความเห็นว่า ไม่อนุญาตให้แข่งขันโดยมีสิ่งทดแทนนอกเสียจากในการยิงธนู อูฐ และม้า อันเป็นการฝึกในเรื่องการใช้อาวุธและการขี่สัตว์พาหนะที่ใช้ในสงคราม

เงื่อนไขในการอนุญาตให้มีการแข่งขันโดยมีสิ่งทดแทน

– การแข่งขันนั้นต้องอยู่ในประเภทที่มีประโยชน์ในการญิฮาด คือ การแข่งขันยิงธนู, ขี่อูฐและม้า

– สิ่งทดแทน (อัล-อิวัฎ) จะต้องมาจากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดที่ร่วมแข่งขันหรือมาจากบุคคลที่ 3 อาทิเช่น บุคคลหนึ่งกล่าวแก่เพื่อนของเขาว่า “หากท่านเอาชนะฉันได้ ฉันจะมอบสิ่งนั้นสิ่งนี้ให้แก่ท่านและถ้าหากฉันเอาชนะท่านได้ ท่านก็ไม่ต้องเสียสิ่งใด” หรือ ผู้ปกครอง หรือบุคคลที่ 3 กล่าวว่า : “คนใดจากท่าน 2 คนชนะ ผู้นั้นย่อมได้สิ่งนั้นสิ่งนี้จากฉัน” ทั้งนี้ในกรณีดังกล่าวไม่มีการพนันอันเป็นที่ต้องห้าม หากแต่การจ่ายสิ่งทดแทนเป็นการให้รางวัลหรือสิ่งตอบแทน (อัลมุกาฟะอะฮฺ)

ดังนั้นถ้าหากปรากฏว่า สิ่งทดแทน (อัล-อิวัฎ) มาจากทั้ง 2 ฝ่าย ก็เรียกว่า การเดิมพัน (อัร-ริฮาน) ซึ่งการเดิมพันจะใช้ไม่ได้นอกเสียจากต้องมีมุหัลลิ้ล (مُحَلِّلٌ) คือบุคคลที่ 3 ที่ทำให้ข้อห้ามเป็นที่อนุญาต กล่าวคือ มีการยกเลิกข้อตกลงที่ทำเอาไว้และทำให้มันออกจากรูปของการพนันอันเป็นที่ต้องห้าม

ดังเช่น ทั้ง 2 ฝ่ายตกลงกันในการที่แต่ละฝ่ายจะกำหนดเงินจำนวน 100 บาท หรือหนึ่งใน 2 ฝ่ายกำหนดไว้ 80 บาท อีกฝ่ายหนึ่ง 20 บาท โดยแต่ละฝ่ายจะจ่ายสิ่งที่ถูกกำหนดเอาไว้แก่บุคคลอื่น (คือบุคคลที่ 3 ที่ร่วมแข่งซึ่งเรียกว่า มุหัลลิล) ซึ่งปรากฏว่าม้าหรืออูฐของเขาทัดเทียม (มีลักษณะเสมอกันและสู้กันในการแข่งขันได้) กับม้าหรืออูฐทั้ง 2 ตัวของทั้ง 2 ฝ่ายแรก เป็นต้น

ดังนั้นถ้าหากม้าหรืออูฐของบุคคลที่ 3 (มุหัลลิล) ชนะม้าหรืออูฐของ 2 ฝ่ายแรก บุคคลที่ 3 ก็เอาทรัพย์ทั้ง 2 จากทั้ง 2 ฝ่ายแรก แต่ถ้าหากม้าหรืออูฐของทั้ง 2 ฝ่ายชนะม้าหรืออูฐของบุคคลที่ 3 และม้าหรืออูฐของทั้ง 2 ฝ่ายถึงเส้นชัยพร้อมกัน ก็ย่อมไม่มีสิ่งใดเป็นสิทธิสำหรับคนหนึ่งเหนืออีกคนหนึ่ง เพราะผู้วางเดิมพันทั้งสองเสมอกัน และเพราะบุคคลที่ 3 (มุหัลลิล) ไม่จำเป็นต้องจ่ายสิ่งใดอันเนื่องจากม้าหรืออูฐของเขาเข้าสู่เส้นชัยทีหลัง (แพ้) และถ้าฝ่ายบุคคลที่ 3 มาถึงเส้นชัยพร้อมกับหนึ่งใน 2 ฝ่ายเป็นอันดับแรก และหนึ่งในสองฝ่ายมาถึงทีหลัง ทรัพย์ของฝ่ายที่ 1 จาก 2 ฝ่ายนั้นก็อยู่พร้อมกับบุคคลที่ 3 และทรัพย์ของฝ่ายที่มาถึงทีหลังจาก 2 ฝ่ายนั้นก็จะถูกนำมาแบ่งเท่า ๆ กันระหว่างบุคคลที่ 3 (มุหัลลิล) กับฝ่ายที่เข้าเส้นชัยพร้อมกัน

การแข่งขันในลักษณะที่มีบุคคลที่ 3 เข้ามาร่วมด้วยนี้ถือว่าอนุญาตโดยไม่มีข้อห้ามแต่อย่างใด ดังนั้นการแข่งขันในลักษณะที่ต้องห้ามและถือว่าเป็นการพนันก็คือ การที่แต่ละฝ่ายจากผู้แข่งขัน 2 ฝ่ายจำต้องจ่ายเงินจำนวนหนึ่งแก่ฝ่ายที่ชนะ ฝ่ายใดแพ้ก็จำต้องจ่ายจำนวนเงินที่ตกลงกันไว้แก่ฝ่ายที่ชนะนั่นเอง

ทั้งนี้หากมีบุคคลที่ 3 เข้าร่วม (มุหัลลิล) ตามรายละเอียดที่กล่าวมาแล้ว ก็จะทำให้การแข่งขันนี้ซึ่งมีการพนันออกจากรูปของการพนันอันเป็นที่ต้องห้ามไปสู่รูปการแข่งขันที่อนุญาต ซึ่งการพิจารณาว่าการแข่งขันมีเรื่องการพนันเข้ามาเกี่ยวข้องก็คือ มีการได้ (หรือเอา) และมีการเสีย (คือให้) จากทั้ง 2 ฝ่ายด้วยการตกลงกันว่า ผู้ชนะจากทั้ง 2 ท่านจะเอา (คือได้) และผู้ที่แพ้ (ถึงเส้นชัยทีหลัง) จากทั้ง 2 ท่านจำต้องจ่าย เช่นนี้ถือว่าเป็นการพนันอันเป็นที่ต้องห้าม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความแนะนำ

World Clock

Featured Posts

เรื่องราวของสองอารยธรรม : อารยธรรมของชาวไวกิ้งและมุสลิม

เรื่องราวของสองอารยธรรม : อารยธรรมของชาวไวกิ้งและมุสลิม โดย : Cem Nizamoglu และ Sairah Yassir-Deane ย้อนหลังไปถึงมีนาคม 2015 ข่าวเกี่ยวก...