product :

วันพฤหัสบดีที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2561

ความเป็นมาและพัฒนาการของผู้ดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรี

ความเป็นมาและพัฒนาการของผู้ดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรี




ความหมาย


คำว่า “จุฬาราชมนตรี” เป็นการสมาสศัพท์ 3 คำมาต่อกันเป็นศัพท์เดียว อันได้แก่ จุฬา+ราช+มนตรี ซึ่งคำศัพท์แต่ละคำมีความหมายดังต่อไปนี้
  1. จุฬา (บาลีว่า จุฬา , สันสกฤติ ว่า จูฑา) เป็นคำนาม หมายถึง จุก โดยปริยายหมายถึงที่สูงสุดของศีรษะ เช่น ยอดหัว มงกุฏ เป็นต้น
  2. ราช (ราด , ราดชะ-) เป็นคำนาม หมายถึง พระเจ้าแผ่นดิน พญา (ใช้แก่สัตว์) เช่น นาคราช คือ พญานาค สีหราช คือ พญาราชสีห์ คำนี้มักใช้ประกอบกับคำอื่น , ถ้าคำเดียวมักใช้ว่า ราชา
  3. มนตรี เป็นคำนาม หมายถึง ที่ปรึกษา ผู้แนะนำ ที่ปรึกษาราชการ ข้าราชชั้นผู้ใหญ่

เมื่อนำคำศัพท์ทั้ง 3 คำนำมาสมาสเข้าด้วยกันจะมีความหมายว่า ที่ปรึกษาสูงสุดของพระเจ้าแผ่นดิน หรือหัวหน้าของข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่มีหน้าที่ปรึกษา หรือแนะนำพระเจ้าแผ่นดิน หรือราชการ คำว่า จุฬาราชมนตรีโดยปริยายยังหมายถึง ตำแหน่งประธานมุสลิมที่ทางราชการแต่งตั้ง และมีความหมายเช่นเดียวกับคำว่า องคมนตรี คือ ผู้มีตำแหน่งที่ปรึกษาในพระองค์พระมหากษัตริย์

นักวิชาการผู้สันทัดกรณีสันนิษฐานว่า จุฬา หรือ ในเอกสารเก่าเขียนว่า จุลา คงมาจากคำล่า จุละ (shula) ในภาษาอาหรับหรือเปอร์เซีย ซึ่งแปลว่า “คณะมนตรีที่ปรึกษา” (Ian Richard Netton , A Popular Dictionary of Islam p.232) และที่ว่าเป็นคำในภาษาอาหรับนั้น น่าจะเพี้ยนเสียงมาจากคำว่า ชูรอ (شُوْرى) ที่มีความหมายว่า การปรึกษาหารือ เรียกคณะที่ปรึกษาว่า อะฮฺลุชชูรอ (أَهْلُ الشُوْرى) จาก “ชูรอ” เพี้ยนเป็น จูลา ก็คงเข้าเค้าอยู่ แต่กระนั้นจุฬาราชมนตรีที่เขียนในเอกสารเก่าว่า จุลาราชมนตรี ตามที่อธิบายมาข้างต้นก็ดูจะสอดคล้องและตรงกับความหมายของคำศัพท์ที่สมาสกัน ได้แนบเนียนกว่า อีกทั้งราชทินนามนี้ก็มีอยู่ในกฏหมายที่ตราขึ้นแต่ครั้งแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถมาก่อนแล้ว

จุฬาราชมนตรีในสมัยกรุงศรีอยุธยา


ราชทินนาม จุฬาราชมนตรีในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ มีบรรดาศักดิ์เป็น “พระจุฬาราชมนตรี” ว่าที่เจ้ากรมท่าขวาเคียงคู่มากับตำแหน่ง “โชดึกราชเศรษฐี” หรือ โชฎึกราชเศรษฐี ว่าที่ เจ้ากรมท่าซ้าย

กรมท่าขวา เป็นหน่วยงานด้านการค้าและการติดต่อกับชาวต่างชาติในสังกัดกรมพระคลัง มีหน้าที่รับผิดชอบทางด้านการค้า การเดินเรือพาณิชย์ และการต่างประเทศ ได้ว่า แขกประเทศชวา มลายู อังกฤษ ในประกาศรัชกาลที่ 4 กำหนดว่า “ให้มีหน้าที่ดูแลการค้าข้างฝ่ายแขกอินเดีย แขกอาหรับ แขกชาวมลายู และพราหมณ์ที่มีบ้านเมืองตั้งอยู่ในฝั่งขวาคุ้งทะเลไทย (“เรื่องตั้งเจ้าท่าเป็นหลวงวิสุทธิ์สาครดิษฐ์ จ.ศ.1221” , หอสมุดแห่งชาติ , เลขที่ 25 , สมุดไทยดำ)

ในพระธรรมนูญมีกล่าวถึงตราประจำตำแหน่งของพระจุฬาราชมนตรี แต่ไม่ทราบว่ามีรูปร่างอย่างไร ในบัญชีตราโคมวิสาขบูชาในรัชกาลที่ 4 ได้บอกถึงรูปตราไว้ว่า “พระยาจุฬาราชมนตรีตรารูปกำปั่น สามเสามีใบพระยาโชดึกราชเศรษฐีตรารูปสำเภามีเสามีใบ”

อย่างไรก็ตามถึงแม้ขุนนางกรมท่าขวาส่วนใหญ่จะเป็นพวกมุสลิม แต่ยังมีขุนนางและผู้ชำนาญการชาวต่างชาติกลุ่มอื่นๆ ที่รับราชการในหน่วยงานนี้ เช่น ชาวโปรตุเกส ชาวอินเดียที่นับถือศาสนาฮินดู และชาวอาร์เมเนีย เป็นต้น ขุนนางชาวต่างชาติเหล่านี้ส่วนใหญ่คือกลุ่มที่มาจากฝั่งตะวันตกของสยามหรือ เกี่ยวข้องกับชาวตะวันตกได้แก่กลุ่มพวกเข้ารีตที่นับถือศาสนาคริสต์ นอกจากนี้กรมท่าขวายังติดต่อค้าขายอยู่กับมุสลิมที่มาจากรัฐอิสลามในเอเซีย ตะวันออกเฉียงใต้ คือ มลายูจาม และรัฐในหมู่เกาะอินโดนีเซีย

(Kennon Breazeale , “Thai Maritime Trade and the Ministry Responsible” , in From Japan to Arabia ; Ayutthaya’s Maritime Relations with Asia , p.5)

นับตั้งแต่การกำเนิดขึ้นของกรมท่าขวาและราชทินนาม จุฬาราชมนตรี นั้นเรามิอาจทราบได้ว่ามีบุคคลใดดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรี ว่าที่เจ้ากรมท่าขวามาก่อนโดยเฉพาะช่วงแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม (พ.ศ. 2153-2171 / ค.ศ. 1615-1628) แต่ในหนังสือประวัติสกุลบุนนาคและเฉกอะหมัดกล่าวอ้างถึงครั้งสมเด็จพระเจ้า ทรงธรรมว่ามีแขกเจ้าเซ็นสองคนพี่น้องเข้ามาค้าขายในกรุงศรีอยุธยา

เมื่อจุลศักราช 964 ปีขาล จัตวาศก (พ.ศ. 2145) คนพี่ชื่อ เฉกอะหมัด คนน้องชื่อ มหะมัดสะอิด ท่านเฉกอะหมัดเป็นที่สนิทชิดชอบและเป็นที่ปรึกษาราชการต่างประเทศของเจ้าพระยาพระคลังในเวลานั้นด้วย ครั้งนั้นสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งให้เป็นพระยาเฉกอะหมัดรัตนราชเศรษฐี เจ้ากรมท่าขวา ว่าที่จุฬาราชมนตรี และในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง เลื่อนขึ้นเป็นเจ้าพระยาบวรราชนายก จางวางกรมมหาดไทย (ส. พลายน้อย ; “ขุนนางสยาม” สำนักพิมพ์มติชน 2537 หน้า 163)

ปีที่เฉกอะหมัดเข้ามายังกรุงศรีอยุธยา (พ.ศ. 2145-2146) นั้นตรงกับแผ่นดินสมเด็จพระเอกาทศรถ และได้เข้ารับราชการเมื่อลุแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม เฉกอะหมัดจึงเป็นจุฬาราชมนตรีคนแรกที่สามารถสืบค้นตัวตนได้ แต่มิได้หมายความว่าเฉกอะหมัดเป็นปฐมจุฬาราชมนตรี เพราะก่อนหน้านั้น ราชทินนามจุฬาราชมนตรีมีปรากฏอยู่แล้วในกฏหมายที่ตราขึ้นนับแต่แผ่นดิน สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ แต่ไม่ปรากฏว่าเป็นผู้ใดเท่านั้นเอง

จึงได้ความว่า ในสมัยกรุงศรีอยุธยา จุฬาราชมนตรีมีบทบาทและหน้าที่ในราชสำนักสยาม โดยทำหน้าที่ดูแลการค้า การติดต่อกับต่างชาติ และการควบคุมประชาคมต่างชาติจากภูมิภาคฝั่งตะวันตก ในบางรัชสมัยจุฬาราชมนตรีได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้ากรมท่ากลาง กรมอาสาจาม-มลายู หรือพระคลังตลอดจนฝ่ายตุลาการอีกด้วยซึ่งเป็นไปตามพระบรมราโชบายของพระมหากษัตริย์แต่ละพระองค์ จุฬาราชมนตรีในบางรัชสมัยจึงมิได้ว่าที่เจ้ากรมท่าขวาเท่านั้น อีกทั้งยังถูกจัดว่าเป็นเสนาบดีผู้ใหญ่ในราชสำนักสยามที่มีความสำคัญทั้งใน ฝ่ายพลเรือน และฝ่ายกลาโหมอีกด้วย

จุฬาราชมนตรีในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์


ในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ราชทินนาม จุฬาราชมนตรี ยังคงมีลักษณะไม่ต่างจากเมื่อครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยา ทั้งในด้านหน้าที่ความรับผิดชอบหลักในกรมท่าขวา และการได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ จากพระเจ้าแผ่นดินให้มีตำแหน่งหน้าที่ในสังกัดกรมกองอื่นๆ อีกด้วย เช่น พระยาจุฬาราชมนตรี (นาม) ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ว่าการคลังวิเศษ พระคลังใน ช่วยราชการต่างประเทศในกรมท่ากลาง และได้กำกับชำระตั้วเหี่ย ชำระฝิ่น

ต่อมาในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เป็นจางวางว่าการคลังวิเศษ คลังในซ้าย คลังในขวา พระคลังใน และเป็นเจ้าคำนวณกำกับภาษีร้อยชักสามอีกด้วย และในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 พระยาจุฬาราชมนตรี (สัน) ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็นจางวางกรมท่าขวา และเป็นเจ้ากรมกองแสตมป์ กระทรวงยุติธรรม และในสมัยรัชกาลที่ 5 นั้น พระจุฬาราชมนตรี (เกษม) ได้เป็นรองอำมาตย์เอก กับได้เป็นเจ้ากรมกองแสตมป์ กระทรวงยุติธรรม เป็นต้น

สรุปได้ความว่า ในช่วงกรุงรัตนโกสินทร์ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 นั้นผู้ดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรีเป็นขุนนางชำนาญการและประจำการในกรมท่าขวา บางท่านได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็นผู้พิพากษาศาลคดีต่างประเทศ (เช่น พระยาจุฬาราชมนตรี (สิน) ในรัชกาลที่ 5) เป็นเจ้ากรมกองแสตมป์ กระทรวงยุติธรรม และบางท่านเป็นรองอำมาตย์เอก (เช่น พระจุฬาราชมนตรี (เกษม) ในรัชกาลที่ 5) บางท่านเป็นขุนนางนอกราชการสังกัดกระทรวงมหาดไทย (เช่น พระจุฬาราชมนตรี (สอน อะหมัดจุฬา) รัชกาลที่ 7)

และผู้ดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรีนับแต่แผ่นดินสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม แห่งกรุงศรีอุยธยาจวบจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ในรัชกาลที่ 7 ล้วนแต่เป็นลูกหลานเฉกอะหมัด ที่ออกญาบวรราชนายก จางวางกรมมหาดไทย ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าปราสาททองทั้งสิ้น ตำแหน่งจุฬาราชมนตรีจึงเป็นตำแหน่งขุนนางในสายตระกูลเฉกอะหมัด ซึ่งเป็นต้นสุกล บุนนาค เช่นกันที่สืบต่อมาตลอดระยะเวลาหลายร้อยปี และสิ้นสุดลงในรัชกาลที่ 7

ซึ่งมีข่าวปรากฏในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 53 หน้า 176 กล่าวว่า “พระจุฬาราชมนตรี (สอน อะหมัดจุฬา) นอกราชการสังกัดกระทรวงมหาดไทย ออกจากบรรดาศักดิ์ตั้งแต่วันที่ 8 เมษายน 2482” ตั้งแต่นั้นมาบรรดาศักดิ์ขุนนางกรมท่า พระยาจุฬาราชมนตรีก็หมดไป (ส. พลายน้อย ; “ขุนนางสยาม” สำนักพิมพ์มติชน 2537 หน้า 167)

จุฬาราชมนตรีภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข พ.ศ.2475


หลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยโดยคณะราษฎร์ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระจุฬาราชมนตรี (สอน) ยังคงดำรงตำแหน่งอยู่จนถึงพ.ศ. 2488 ซึ่งเป็นปีที่ท่านลาออกจากบรรดาศักดิ์ ทั้งนี้มีประกาศเรื่องการยกเลิกบรรดาศักดิ์ในพระปรมาภิไธย สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลลงวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2480 และลงวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2484 และประกาศเรื่องการยกเลิกยศข้าราชการฝ่ายพลเรือน มีจอมพล ป. พิบูลย์สงคราม นายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ บรรดาศักดิ์ในราชทินนาม “จุฬาราชมนตรี” จึง ว่างเว้นไปนับแต่บัดนั้น

ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอนันทมหิดล พ.ศ.2488 จึงได้มีการตราพระราชกฤษฏีกาว่าด้วยการศาสนูปถัมภ์ฝ่ายอิสลามขึ้น ในมาตรา 3 มีความว่า “พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจุฬาราชมนตรีเพื่อให้มีหน้าที่ปฏิบัติราชการส่วนพระองค์เกี่ยวแก่การที่จะทรงอุปถัมภ์ศาสนาอิสลาม และให้มีเงินอุดหนุนฐานะจุฬาราชมนตรีตามสมควร

จุฬาราชมนตรีคนแรกซึ่งได้รับแต่งตั้งตามพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้คือ นายแช่ม พรหมยงค์ นับเป็นจุฬาราชมนตรีคนแรกที่เป็นผู้นับถือศาสนาอิสลาม นิกายสุนนี และนอกวงศ์ของท่านเฉกอะหมัด ตลอดจนเป็นผู้ดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรีที่มิใช่ขุนนางบรรดาศักดิ์ในสังกัดกรมท่าขวา แต่เป็นพลเรือนที่เป็นนักการศาสนาซึ่งสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยอัล-อัซ ฮัร ประเทศอียิปต์

อย่างไรก็ตาม นายแช่ม พรหมยงค์ก็เคยรับราชการระดับหัวหน้ากองอยู่ในกรมโฆษณาการ (กรมประชาสัมพันธ์) สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีมาก่อน อีกทั้งยังเป็นหนึ่งในคณะราษฎร์ฝ่ายพลเรือนที่มีส่วนในการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง พ.ศ.2475 และเป็นหนึ่งในขบวนการเสรีไทยอีกด้วย นายแช่ม พรหมยงค์ดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรีอยู่เพียง 2 ปี ก็มีเหตุต้องเดินทางออกนอกประเทศด้วยเหตุผลทางการเมืองในขณะนั้น

หลังจากที่นายแช่ม พรหมยงค์ จุฬาราชมนตรีได้เดินทางออกนอกประเทศและได้ลาออกจากตำแหน่งจุฬาราชมนตรี จอมพล ป. พิบูลสงครามในขณะนั้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจึงได้เชิญบรรดาประธานกรรมการอิสลามประจำจังหวัดทุกจังหวัดในขณะนั้น (ประมาณ 24 จังหวัด) มาร่วมประชุมคัดเลือกจุฬาราชมนตรีคนใหม่แทนตำแหน่งที่ว่างลง ที่ประชุมได้มีมติเสียงข้างมากให้นายต่วน สุวรรณศาสน์ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งประธานกรรมการอิสลามประจำจังหวัดพระนคร ให้ดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรี เมื่อตุลาคม พ.ศ.2491 ขณะมีอายุได้ราว 60 ปี

นายต่วน สุวรรณศาสน์เป็นนักวิชาการศาสนาที่สำเร็จการศึกษาจากนครมักกะฮฺ ประเทศซาอุดิอาระเบีย ผลงานทางวิชาการของท่านคือ การก่อตั้งโรงเรียนอันยุมันอิสลาม เขตบางรัก และพระมหาคัมภีร์อัล-กุรอานฉบับแปลภาษาไทย และตำราทางวิชาการอีกหลายเล่ม ท่านดำรงตำแหน่งอยู่ประมาณ 32 ปีก็ถึงแก่อสัญกรรม เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2524

หลังจากท่านจุฬาราชมนตรี ต่วน สุวรรณศาสน์ ได้ถึงแก่อสัญกรรม ทางกระทรวงมหาดไทยจึงได้เชิญประธานกรรมการอิสลามประจำจังหวัดซึ่งมีอยู่ 26 จังหวัดในขณะนั้นมาร่วมประชุม ณ กระทรวงมหาดไทยเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2524 และได้ลงมติเป็นเอกฉันท์ให้ นายประเสริฐ มะหะหมัด เป็นจุฬาราชมนตรีซึ่งขณะนั้นท่านดำรงตำแหน่งกรรมการอิสลามประจำกรุงเทพมหานคร

และกระทรวงมหาดไทยก็นำความกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 9) เพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นจุฬาราชมนตรีเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ.2524 นับเป็นจุฬาราชมนตรีคนที่ 11 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และคนที่ 16 ของประเทศไทย ตลอดจนเป็นจุฬาราชมนตรีคนที่ 3 ที่นับถือศาสนาอิสลาม นิกายสุนนี่ ซึ่งเป็นพลเรือนและเป็นนักวิชาการทางศาสนาอิสลามที่จบการศึกษาจากนครมักกะฮฺ ประเทศซาอุดิอาระเบีย

เป็นที่น่าสังเกตว่า ในพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการศาสนูปถัมภ์ฝ่ายอิสลาม พุทธศักราช 2488 ตามความในมาตราที่ 3 จุฬาราชมนตรีมีหน้าที่ปฏิบัติราชการส่วนพระองค์เกี่ยวแก่การที่จะทรงอุปถัมภ์ศาสนาอิสลาม ซึ่งจุฬาราชมนตรีที่มีสถานภาพตามพระราชกฤษฎีกานี้คือ จุฬาราชมนตรีแช่ม พรหมยงค์ และจุฬาราชมนตรีต่วน สุวรรณศาสน์ ในช่วงแรกๆ ที่ดำรงตำแหน่ง

ต่อมาได้มีการตราพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการศาสนูปถัมภ์ฝ่ายอิสลาม (ฉบับที่ 2) พุทธศักราช 2491 โดยแก้ไขเพิ่มเติมในมาตราที่ 3 ความว่า “ให้ยกเลิกความในมาตราที่ 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการศาสนูปถัมภ์ฝ่ายอิสลาม พุทธศักราช 2488 และให้ใช้ความดังต่อไปนี้แทน

“มาตรา 3 พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจุฬาราชมนตรีเพื่อให้คำปรึกษาแก่กรมการศาสนาในกระทรวงศึกษาธิการเกี่ยวแก่การศาสนูปถัมภ์ฝ่ายอิสลาม และให้มีเงินอุดหนุนฐานะจุฬาราชมนตรีตามสมควร” ผู้รับสนองพระบรมราชโองการคือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น จะเห็นได้ว่าสถานภาพของจุฬาราชมนตรีหลังปี 2491 ถูกลดลบทบาทเป็นผู้ให้คำปรึกษาแก่กรมการศาสนาในกระทรวงศึกษาธิการเท่านั้น

ท่านจุฬาราชมนตรีต่วน สุวรรณศาสน์ในช่วงหลังปี 2491 เรื่อยมารวมถึงจุฬาราชมนตรีประเสริฐ มะหะหมัด จึงมีสถานภาพเป็นเพียงที่ปรึกษาของกรมการศาสนา ซึ่งขณะนั้นสังกัดกระทรวงศึกษาธิการเกี่ยวกับการศาสนูปถัมภ์ฝ่ายอิสลามเท่านั้น

นายประเสริฐ มะหะหมัด ได้ดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรีจนกระทั่งถึงแก่อสัญกรรมเมื่อปี พ.ศ. 2540 ถึงแม้ท่านจุฬาราชมนตรีประเสริฐ มะหะหมัดจะเป็นนักการศาสนาแต่การทำหน้าที่ของท่านในฐานะจุฬาราชมนตรีก็เป็นไปอย่างเหมาะสมและมีความสง่างาม ผลงานสำคัญของท่านคือ โครงการจัดสร้างศูนย์บริหารกิจการศาสนาอิสลามแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ ที่ถนนคลองเก้า แขวงคลองสิบ เขตหนองจอก กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นดำริที่ท่านได้เสนอต่อทางราชการในสมัยของท่าน

จุฬาราชมนตรีคนต่อมาภายหลังการถึงแก่อสัญกรรมของนายประเสริฐ มะหะหมัด คือ จุฬาราชมนตรีสวาสดิ์ สุมาลยศักดิ์ ซึ่งท่านดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรีตั้งแต่ปี พ.ศ.2540 ในช่วงการดำรงตำแหน่งของจุฬาราชมนตรีสวาสดิ์ สุมาลยศักดิ์ ได้มีการตราพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ.2540

โดยมาตรา 3 ให้ยกเลิก
  1. พระราชบัญญัติมัสยิดอิสลาม พ.ศ.2490
  2. พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการศาสนูปถัมภ์ฝ่ายอิสลาม พุทธศักราช 2488
  3. พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการศาสนูปถัมภ์ฝ่ายอิสลาม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2491

ในมาตรา 6 ระบุว่า “พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจุฬาราชมนตรีคนหนึ่ง เพื่อเป็นผู้นำกิจการศาสนาอิสลามในประเทศไทย” และในมาตรา 8 “จุฬาราชมนตรีมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
  1. ให้คำปรึกษาและเสนอความเห็นต่อทางราชการเกี่ยวกับกิจการศาสนาอิสลาม
  2. แต่งตั้งคณะผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อให้คำปรึกษาเกี่ยวกับบัญญัติแห่งศาสนาอิสลาม
  3. ออกประกาศแจ้งผลการดูดวงจันทร์ตามมาตรา 35 (11) เพื่อกำหนดวันสำคัญทางศาสนา
  4. ออกประกาศเกี่ยวกับข้อวินิจฉัยตามบัญญัติแห่งศาสนาอิสลาม

จะเห็นได้ว่า ในพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ.2540 ตามความในมาตรา 6 และ 8 นั้น สถานภาพของจุฬาราชมนตรีได้ถูกยกระดับขึ้นเป็นผู้นำกิจการศาสนาอิสลามในประเทศไทย และมีอำนาจหน้าที่ในการให้คำปรึกษาและเสนอความเห็นต่อทางราชการเกี่ยวกับกิจการศาสนาอิสลาม กล่าวคือมิใช่เป็นเพียงผู้ให้คำปรึกษาแก่กรมการศาสนาเท่านั้น หากแต่ยังรวมถึงหน่วยงานทางราชการอื่นๆ อีกด้วย จุฬาราชมนตรีสวาสดิ์ สุมาลยศักดิ์ดำรงตำแหน่งและมีสถานภาพตามพระราชบัญญัติฯ พ.ศ. 2540 จนกระทั่งถึงแก่อสัญกรรมในปี พ.ศ. 2553

ภายหลังการถึงอสัญกรรมของนายสวาสดิ์ สุมาลยศักดิ์ จุฬาราชมนตรี กระทรวงมหาดไทยได้เรียกประชุมคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดทั่วประเทศเพื่อสรรหาผู้ที่จะดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรีที่ว่างลง เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 ผู้ที่ได้รับการสรรหาคือ นายอาศิส พิทักษ์คุมพล และได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นจุฬาราชมนตรีคนที่ 18 ของประเทศไทย เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2553

ทั้งนี้นายอาศิส พิทักษ์คุมพล ถือเป็นจุฬาราชมนตรีคนแรกที่ได้รับการสรรหาตามมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ. 2540 และตามกฏกระทรวงว่าด้วยวิธีสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรี พ.ศ. 2542 นายอาศิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรีคนปัจจุบันเป็นนักวิชาการในศาสนาอิสลามคนแรกที่มีภูมิลำเนาในจังหวัดสงขลาที่มิใช่ผู้มีภูมิลำเนาในกรุงเทพมหานคร ต่างจากจุฬาราชมนตรีคนก่อนๆ ที่ล้วนเป็นผู้ที่มีภูมิลำเนาในกรุงเทพมหานครทั้งสิ้น

และยังถือเป็นนักวิชาการที่สำเร็จการศึกษาจากสถาบันปอเนาะ ในจังหวัดสงขลาและปัตตานีคนแรกที่ดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรี นายอาศิส พิทักษ์คุมพลเป็นประธานกรรมอิสลามประจำจังหวัดสงขลา เป็นที่ปรึกษาองค์กรต่างๆ และเป็นอดีตสมาชิกวุฒิสภา และยังคงดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรีจวบจนปัจจุบัน

จุฬาราชมนตรีกับสถานภาพผู้นำกิจการศาสนาอิสลามในประเทศไทย


ตำแหน่ง “จุฬาราชมนตรี” นับแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาและกรุงรัตนโกสิทนร์ก่อนการเปลี่ยนแปลงระบอบการ ปกครอง พ.ศ. 2475 เป็นตำแหน่งของขุนนางบรรดาศักดิ์ว่าที่ เจ้ากรมท่าขวา ในสังกัดกรมพระคลังผู้มีราชทินนามว่าจุฬาราชมนตรี ในบางรัชสมัยเป็นขุนนางในชั้น พระยา หรือ ออกญา หรือ ออกพระ และพระจุฬาราชมนตรี มีอำนาจหน้าที่ในฐานะแม่กองแขกควบคุมประชาคมมุสลิมในสยาม และในอดีตตลอดระยะเวลาหลายร้อยปี ผู้ดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรี ล้วนแล้วแต่เป็นขุนนางแขกเปอร์เซียในสายตระกูลเฉกอะหมัด อัลกุมมีย์ และถือศาสนาอิสลาม นิกายชีอะฮฺ อิมามสิบสอง (อิมามียะฮฺ อิษนาอะชะรียะฮฺ) หรือที่เรียกกันในเอกสารเก่าว่า “แขกเจ้าเซ็น”

ต่อมาภายหลังการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองในปี พ.ศ. 2475 ความเป็นขุนนางบรรดาศักดิ์ของผู้ดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรีก็หมดไป และจุฬาราชมนตรีซึ่งเป็นพลเรือนคนแรกที่ได้รับการแต่งตั้งคือ นายแช่ม พรหมยงค์ ซึ่งเป็นผู้นับถือศาสนาอิสลาม นิกายสุนนี ความเป็นผู้นำกิจการศาสนาอิสลามในประเทศไทยของผู้ดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรี สายมุสลิมสุนนีเริ่มเป็นสิ่งที่ปรากฏชัดขึ้นนับแต่นั้น

เพราะจุฬาราชมนตรีเป็นนักวิชาการทางศาสนามิใช่ขุนนางบรรดาศักดิ์เหมือนแต่ครั้งก่อน อีกทั้งประชากรมุสลิมส่วนใหญ่ในประเทศไทยก็เป็นมุสลิมเชื้อสายมลายูที่ถือใน นิกายสุนนี มิใช่ชาวเปอร์เซียที่ถือในนิกายชีอะฮฺ เมื่อจุฬาราชมนตรีนับตั้งแต่ นายแช่ม พรหมยงค์ จวบจนจุฬาราชมนตรีคนปัจจุบัน คือ นายอาศิส พิทักษ์คุมพล เป็นมุสลิมเชื้อสายมลายูที่ถือในนิกายสุนนี มัซฮับอัช-ชาฟิอียฺ

ความเป็นผู้นำกิจการศาสนาอิสลามในประเทศไทยจึงมีความชัดเจนและสอดคล้องกับประชากรมุสลิมโดยส่วนใหญ่ กอปรกับจุฬาราชมนตรีตามความในมาตราที่ 16 แห่งพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ. 2540 เป็นประธานกรรมกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ซึ่งถือเป็นองค์กรฝ่ายบริหารกิจการศาสนาอิสลามตามพระราชบัญญัติฯ 2540 ที่เป็นองค์กรสูงสุดในลำดับขั้นการปกครองและการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม

เพราะตามความในมาตรา 18 คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย มีอำนาจหน้าที่ตามความ (5) คือ“ออกระเบียบวิธีการดำเนินงานและควบคุมดูแลการบริหารงานของคณะกรรมการอิสลาม ประจำจังหวัดและคณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิด” จึงเท่ากับว่า จุฬาราชมนตรีเป็นผู้นำสูงสุดขององค์กรฝ่ายกิจการศาสนาอิสลามในประเทศไทยโดยปริยาย

อย่างไรก็ตาม อำนาจหน้าที่ของจุฬาราชมนตรีตามความในมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ. 2540 ซึ่งมี 4 ข้อนั้น สาระสำคัญโดยรวมคือการออกประกาศเกี่ยวกับข้อวินิจฉัยตามบัญญัติแห่งศาสนาอิสลาม การออกประกาศแจ้งผลดูดวงจันทร์เพื่อกำหนดวันสำคัญทางศาสนา โดยมีคณะผู้ทรงคุณวุฒิที่จุฬาราชมนตรีแต่งตั้งเป็นองค์คณะเพื่อให้คำปรึกษา เกี่ยวกับบัญญัติแห่งศาสนาอิสลาม

อาจกล่าวได้ว่าสถานภาพของจุฬาราชมนตรีตามสาระสำคัญของมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติฯ พ.ศ. 2540 นั้น มีลักษณะใกล้เคียงกับมุฟตีย์สูงสุดผู้มีอำนาจในการออกประกาศเกี่ยวกับข้อ วินิจฉัยตามบัญญัติแห่งศาสนาอิสลาม ทั้งในส่วนของประชาคมมุสลิมและการเสนอความเห็นที่เป็นผลมาจากการวินิจฉัยนั้นแก่หน่วยงานราชการเกี่ยวกับกิจการศาสนาอิสลาม

กระนั้นเป็นที่น่าสังเกตุว่า อำนาจหน้าที่ของจุฬาราชมนตรีในเรื่องการวินิจฉัยและการออกประกาศเกี่ยวกับบัญญัติแห่งศาสนาอิสลาม เป็นอำนาจหน้าที่โดยตรงของจุฬาราชมนตรี ส่วนคณะผู้ทรงคุณวุฒิจุฬาราชมนตรีนั้นมีหน้าที่เพียงให้คำปรึกษาเกี่ยวกับบัญญัติแห่งศาสนาอิสลามเท่านั้น ไม่มีอำนาจ หน้าที่ในการออกประกาศแต่อย่างใด

สิ่งที่ไม่มีระบุไว้อย่างชัดเจนก็คือ คำประกาศเกี่ยวกับข้อวินิจฉัยตามบัญญัติแห่งศาสนาอิสลามของจุฬาราชมนตรีที่ออกประกาศไว้นั้น เป็นที่สิ้นสุดหรือไม่? ประเด็นนี้ไม่มีมาตราใดๆ ในพระราชบัญญัติฯ 2540 รับรองเอาไว้ อีกทั้งโดยลักษณะของคำวินิจฉัยซึ่งเป็นคำฟัตวาในข้อปัญหาทางศาสนาอิสลามก็ ไม่ใช่คำพิพากษาของผู้ดำรงตำแหน่งกอฎียฺทางศาสนาอิสลามหรือผู้ที่ได้รับแต่ง ตั้งให้เป็นอนุญาโตตุลาการในการประนีประนอมข้อพิพาทระหว่างบุคคลสองฝ่าย

แต่คำวินิจฉัยซึ่งเป็นคำฟัตวาในข้อปัญหาทางศาสนาเป็นเพียงการตอบปัญหาตามที่จุฬาราชมนตรีซึ่งจะปรึกษากับคณะผู้ทรงคุณวุฒิหรือไม่ก็ตามได้มีดุลยพินิจในการให้คำตอบเกี่ยวกับปัญหาที่ถามมาเท่านั้น ความเป็นที่สิ้นสุดของคำวินิจฉัยจึงไม่ชัดเจนในการมีผลบังคับใช้ที่เด็ดขาด ทั้งโดยหลักนิติศาสตร์อิสลามและกฏหมาย

เหตุนี้จึงมีผู้เสนอให้มีการแต่งตั้ง (เตาลียะฮฺ) จุฬาราชมนตรีโดยกลุ่มคณะบุคคลที่อนุโลมได้ว่าเป็น อะฮฺลุลหัล วัล-อักดฺ ให้จุฬาราชมนตรีมีสถานภาพเป็น กอฎียฺ หรือ หากิม ในภาวะจำเป็น (เฎาะรูรียฺ) เกี่ยวกับกิจการศาสนาอิสลาม ทั้งนี้เพื่อให้คำวินิจฉัยของจุฬาราชมนตรีที่เกี่ยวกับบัญญัติแห่งศาสนาอิสลามซึ่งออกประกาศไว้นั้นมีสถานะเทียบได้กับคำตัดสินชี้ขาดของผู้ดำรงตำแหน่งกอฎีย์ตามหลักนิติศาสตร์อิสลาม ซึ่งเป็นที่สิ้นสุดและมีผลบังคับใช้ต่อประชาคมมุสลิมในประเทศไทย

จะเห็นได้ว่า ข้อเสนอในเรื่องการแต่งตั้ง (เตาลียะฮฺ) จุฬาราชมนตรีให้มีสถานภาพเป็นกอฎีย์ หรือหากิม ในภาวะจำเป็น (เฎาะรูรียฺ) เป็นการใช้หลักนิติศาสตร์ทางศาสนาอิสลามที่มีช่องทางเปิดเอาไว้สำหรับการ รับรองสถานภาพของจุฬาราชมนตรีและคำวินิจฉัยของจุฬาราชมนตรีให้เป็นที่สิ้นสุดในเชิงศาสนา ซึ่งไม่มีกฏหมายตามความในพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ. 2540 มาตราใดๆ มารับรองสถานภาพดังกล่าว กระนั้นก็ย่อมถือได้ว่าข้อเสนอดังกล่าวเป็นสิ่งที่สามารถกระทำได้และมีผลบังคับทางศาสนา เนื่องจากไม่ขัดต่อพระราชบัญญัติฯ 2540 โดยสาระสำคัญ

สำหรับกลุ่มเครือข่ายสัตยาบันจุฬาราชมนตรีโดยหลักคิดมูลฐานของกลุ่ม มิได้มีเป้าหมายในการรับรองสถานภาพของจุฬาราชมนตรีเพียงแค่การเป็นกอฎียฺ เฎาะรูรียฺ ตามข้อเสนอดังกล่าวซึ่งเข้าใจว่าได้ดำเนินการเป็นที่เสร็จสิ้นไปแล้วในวันที่มีการประชุมคัดสรรผู้ที่จะดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรี เพราะการมีสถานภาพเป็นเพียงกอฎียฺ เฎาะรูรียฺ เป็นการแก้ปัญหาในประเด็นที่เป็นผลของการวินิจฉัยปัญหาศาสนาของจุฬาราชมนตรี เท่านั้น

และตำแหน่งของกอฎียฺ เฎาะรูรียฺ ในบางพื้นที่ของภูมิภาคก็มีผู้ดำรงตำแหน่งนี้อยู่แล้ว ซึ่งมิได้ผูกพันและสืบเนื่องมาจากการแต่งตั้งของจุฬาราชมนตรี หากแต่มาจากการเสนอชื่อผู้มีคุณสมบัติในการดำรงตำแหน่งกอฎียฺ เฎาะรูรียฺ และมีการรับรองสถานภาพ (เตาลียะฮฺ) จากคณะบุคคลในพื้นที่ ซึ่งอนุโลมว่าเป็น อะฮฺลุลหัล วัล-อักดฺ อย่างเช่นกรณีของจังหวัดยะลา เป็นต้น และในบางพื้นที่มีคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด เช่น กรุงเทพมหานครมีการออกระเบียบคณะกรรมการอิสลามประจำกรุงเทพมหานคร ว่าด้วยการบริหารงานของคณะกรรมการอิสลามประจำกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2554 ข้อ (12) “ให้คณะกรรมการแต่งตั้ง มอบหมายให้กรรมการคนหนึ่งเป็นกอฎี (อนุญาโตตุลาการ) ทำหน้าที่สอบสวน ไกล่เกลี่ย พิจารณาตัดสินให้ภรรยาฟะซัคสามี (การยกเลิกการแต่งงาน) และให้มีอำนาจลงนามในหนังสือที่เกี่ยวกับการฟะซัค” เป็นต้น

ทั้งนี้การออกระเบียบดังกล่าวมิได้ระบุว่า อำนาจในการแต่งตั้งกอฎี (อนุญาโตตุลาการ) เป็นอำนาจหน้าที่หรือเป็นการมอบอำนาจหน้าที่ (เตาลียะฮฺ) จากจุฬาราชมนตรีโดยตรงแก่ประธานกรรมการ หรือคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด หากแต่เป็นการแต่งตั้งมอบหมายให้กรรมการคนหนึ่งเป็นกอฎี (อนุญาโตตุลาการ) จากคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด นอกจากนี้ในระเบียบดังกล่าว ข้อ 9 (1) คณะกรรมการเป็นผู้แทนองค์กรศาสนา เรื่องที่เกี่ยวกับหลักการศาสนาให้ใช้บทบัญญัติศาสนาอิสลามเป็นหลัก การพิจารณาและคำวินิจฉัยของคณะผู้ทรงคุณวุฒิให้ถือเป็นที่สุด จะไม่มีการลงมติด้วยการออกเสียงลงคะแนน

ซึ่งระเบียบข้อ 9 (1) นี้เป็นการรับรองความเป็นที่สุดของคำวินิจฉัยที่คณะผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้รับ การแต่งตั้งมอบหมายจากคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ตามระเบียบข้อ (11) ในขณะที่คณะผู้ทรงคุณวุฒิจุฬาราชมนตรีมีหน้าที่เพื่อให้คำปรึกษาเกี่ยวกับ บัญญัติแห่งศาสนาอิสลามตามมาตรา 8 (2) แห่งพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ. 2540 แต่ไม่มีระเบียบใดๆ ออกไว้เพื่อรับรองคำวินิจฉัยของจุฬาราชมนตรีที่ออกประกาศไว้ตามมาตรา 8 (3) , (4) แห่งพระราชบัญญัติฯ 2540 ว่าเป็นที่สุดแต่อย่างใด

กลุ่มเครือข่ายสัตยาบันจุฬาราชมนตรีจึงมีหลักมูลฐานทางความคิดของกลุ่ม ที่เน้นไปยังกรณีสถานภาพความเป็นผู้นำสูงสุดแห่งองค์กรศาสนาอิสลาม และประชาคมมุสลิมในประเทศไทยเป็นหลักสำคัญ กล่าวคือ กลุ่มเครือข่ายสัตยาบันจุฬาราชมนตรีมิได้มุ่งเน้นในการรับรองสถานภาพของจุฬา ราชมนตรีว่าเป็นเพียงกอฎียฺ ชัรอียฺ เฎาะรูรียฺ เป็นประเด็นสำคัญเพราะอย่างไรเสีย เรื่องการแต่งตั้งมอบหมายกอฎียฺ ชัรอียฺ เฎาะรูรียฺ หรืออนุญาโตตุลาการ เพื่อให้ทำหน้าที่ในการประนีประนอม ไกล่เกลี่ย ตัดสินข้อพิพาทอันเกี่ยวกับประเด็นปัญหาศาสนาก็มีการดำเนินการตามข้อเสนอนั้นอยู่แล้ว ดังในกรณีของจังหวัดยะลา

หรือมีการออกระเบียบว่าด้วยการบริหารงานของคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดมารับรองบุคคลที่ทำหน้าที่เป็นกอฎียฺหรืออนุญาโตตุลาการอยู่แล้ว ดังเช่นกรณีของกรุงเทพมหานคร แต่สิ่งที่เป็นข้อเสนอและข้อเรียกร้องของกลุ่มเครือข่ายสัตยาบันจุฬาราชมนตรี คือ สถานภาพความเป็นผู้นำสูงสุดฝ่ายกิจการศาสนาอิสลาม และประชาคมมุสลิมในประเทศไทยของจุฬาราชมนตรีเอง

กลุ่มเครือข่ายสัตยาบันจุฬาราชมนตรีมิได้เรียกร้องให้จุฬาราชมนตรีเป็นกอฎี ยฺ ชัรอียฺ เฎาะรูรียฺ แต่เรียกร้องให้มีการสัตยาบันทั่วไป (บัยอะฮฺ อามมะฮฺ) แก่จุฬาราชมนตรีจากประชาคมมุสลิมโดยรวม เพื่อให้จุฬาราชมนตรีมีสถานภาพเป็นอิมาม อะอฺซ็อม (ผู้นำสูงสุด) ซึ่งมีภาระหน้าที่ในการมอบหมายหรือแต่งตั้งผู้ทำหน้าที่กอฎียฺโดยตรงหรือ ด้วยการมอบอำนาจ (เตาลียะฮฺ อัล-วิลายะฮฺ) ให้ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดเป็นผู้ดำเนินการในขั้นถัดมา ภายหลังการให้สัตยาบันโดยทั่วไป (บัยอะฮฺ อามมะฮฺ) จากประชาคมมุสลิมทั่วประเทศเสร็จสิ้นลงตามหลักรัฐศาสตร์อิสลามที่นักวิชาการ ได้กำหนด

เหตุที่กลุ่มเครือข่ายสัตยาบันจุฬาราชมนตรีเรียกร้องให้มีการสัตยาบันทั่วไป (บัยอะฮฺ อามมะฮฺ) จากประชาคมมุสลิมโดยรวมแก่จุฬาราชมนตรี ก็เนื่องจากความไม่ชัดเจนในสถานภาพของจุฬาราชมนตรีนั่นเอง กล่าวคือ จุฬาราชมนตรีเป็นผู้นำสูงสุดฝ่ายกิจการศาสนาอิสลามในประเทศไทยในฐานะจุฬาราชมนตรีและในฐานะประธานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยตามความในพระราช บัญญัติฯ พ.ศ. 2540 ก็จริง แต่ในด้านหลักรัฐศาสตร์อิสลามนั้น จุฬาราชมนตรีเป็นผู้นำสูงสุด (อิมาม อะอฺซ็อม) ของประชาคมมุสลิมในประเทศไทยหรือไม่ หรือเป็นกอฎียฺ ชัรอียฺ เฎาะรูรียฺ หรืออนุญาโตตุลาการ หรือเป็นผู้นำสูงสุดฝ่ายบริหารองค์กรศาสนาอิสลามตามความในพระราชบัญญัติฯ พ.ศ. 2540 เท่านั้น

และการดำรงตำแหน่งของจุฬาราชมนตรีเป็นผลจากการสรรหาของคณะกรรมการอิสลาม ประจำจังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งเป็นเพียงกลุ่มคณะบุคคลที่มีจำนวนเล็กน้อยเมื่อเทียบกับอัตราส่วนของ ประชากรมุสลิมในประเทศไทย ซึ่งไม่มีส่วนร่วมโดยตรงในการรับรองสถานภาพความเป็นผู้นำของจุฬาราชมนตรีและ การทำหน้าที่สรรหาของคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดทั่วประเทศ ถือเป็นการทำหน้าที่แทนประชาคมมุสลิมในการสรรหาผู้นำของประชาคมจริงหรือไม่

ตลอดจนการได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรีจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งพระองค์ทรงเป็นพุทธมามกะนั้นเป็นสิ่งที่ชอบตามหลักการของศาสนาอิสลาม หรือไม่ ทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นประเด็นที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ในหมู่ประชาคมมุสลิม ซึ่งเป็นผลมาจากความไม่ชัดเจนในสถานภาพของจุฬาราชมนตรีในแง่ของหลักนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์อิสลามนั่นเอง

กลุ่มเครือข่ายสัตยาบันจุฬาราชมนตรีจึงเรียกร้องให้มีการทำสัตยาบันทั่วไป แก่จุฬาราชมนตรีจากประชาคมมุสลิมโดยรวมเพื่อให้เกิดความชัดเจนในสถานภาพความ เป็นผู้นำสูงสุดของจุฬาราชมนตรี และการให้สัตยาบันทั่วไปยังเป็นการตอบโจทย์ที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ดังกล่าว ตลอดจนเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาคมมุสลิมได้มีการสัตยาบันในต้นคอของตน อันจักเป็นผลทำให้พวกเขาพ้นจากสภาพของการเสียชีวิตเยี่ยงการเสียชีวิตของผู้คนในยุคก่อนอิสลาม (ญาฮิลียะฮฺ) และเป็นเสมือนเกราะป้องกันให้แก่ตัวจุฬาราชมนตรีเองจากการจาบจ้วงล่วงเกิน ของผู้มีอคติบางกลุ่ม

ซึ่งเกราะป้องกันดังกล่าวก็คือผลที่เกิดจากการสัตยาบันทั่วไปนั้นตามที่มีตัวบททางบัญญัติศาสนาระบุเอาไว้ ทั้งนี้หากปล่อยให้สถานการณ์ที่กำลังเป็นอยู่ในขณะนี้ดำเนินอยู่ต่อไปโดยไม่ มีการทำสัตยาบัน (บัยอะฮฺ อามมะฮฺ) แก่จุฬาราชมนตรีเกิดขึ้น ความคาดหวังของประชาคมมุสลิมที่มีต่อจุฬาราชมนตรีในเรื่องของการขับเคลื่อน และนำพาองค์กรมุสลิมและประชาคมสู่ความเข้มแข็ง มีความสง่างามและมีเสถียรภาพที่มั่นคงก็ยากที่จะเกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรม

กลุ่มเครือข่ายสัตยาบันจุฬาราชมนตรีจึงขอเรียกร้องให้ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบ และมีศักยภาพในการขับเคลื่อนกิจการของศาสนาอิสลามในประเทศไทยได้ตระหนักถึง ความสำคัญของการสัตยาบันทั่วไปแก่จุฬาราชมนตรี และร่วมกันผลักดันให้มีการสัตยาบันทั่วไปเกิดขึ้น ก่อนที่ปัญหาและความขาดเสถียรภาพของสังคมมุสลิมโดยรวมจะบานปลายมากกว่านี้


แหล่งที่มา http://alisuasaming.org/


#ประวัติศาสตร์อิสลาม_Islamic_Society_Online
#ประชาชาติอิสลาม_Islamic_Society_Online
#นานาทัศนคติ_Islamic_Society_Online
Islamic Society Online



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความแนะนำ

World Clock

Featured Posts

เรื่องราวของสองอารยธรรม : อารยธรรมของชาวไวกิ้งและมุสลิม

เรื่องราวของสองอารยธรรม : อารยธรรมของชาวไวกิ้งและมุสลิม โดย : Cem Nizamoglu และ Sairah Yassir-Deane ย้อนหลังไปถึงมีนาคม 2015 ข่าวเกี่ยวก...