จักรวรรดิอุษมานียะห์ เมื่ออาทิตย์อัสดง : อรัมภบท
(อาลี เสือสมิง)สภาพการณ์ของโลกอิสลามก่อนการล่มสลายของระบอบการปกครองแบบคิลาฟะห์
ก่อนการสถาปนาจักรวรรดิอุษมานียะห์ (ออตโตมาน) นั้น สภาพการณ์ของโลกอิสลามปลายรัชสมัยราชวงศ์อับบาซียะห์เริ่มฉายสภาพความอ่อนแอ และการไร้อำนาจของการปกครองจากส่วนกลางในราชธานีแบกแดดมากขึ้นทุกขณะ จนในที่สุด รัฐอิสระ ทั้งหลายต่างก็ผุดขึ้นราวเป็นดอกเห็ดทั้งในโลกตะวันออกและซีกตะวันตกของโลกอิสลาม ตั้งแต่เขตเอเชียกลางจรดแอฟริกาเหนือ ความเสื่อมดังกล่าวเป็นเหตุนำไปสู่การเข้ารุกรานและยึดครองของพวกมองโกลและพวกครูเสดในเวลาต่อมา
อาณาจัก อับบาซียะห์ (ฮ.ศ. 132 – 656 / ค.ศ. 750 – 1259) ซึ่งยืนหยัดอยู่ตลอดระยะเวลาร่วม 5 ศตวรรษ ได้เข้าสู่วัฏจักรของความเสื่อมและการผุกร่อนทั้งโดยตรงและทางอ้อม โครงสร้างของรัฐศูนย์กลางอันเข้มแข็งที่เคยแผ่แสนยานุภาพครอบคลุมดินแดน และอาณาเขตอันกว้างใหญ่ไพศาลของโลกในยุคกลางก็เริ่มอ่อนแอลง จนเหมือนสิ้นเรี่ยวแรงที่จะฉุดรั้งความรุ่งโรจน์ให้คงอยู่ต่อไป แว่นแคว้นต่างๆ เริ่มหลุดลอยและแยกตนเป็นอิสระจากอำนาจส่วนกลางของแบกแดดทีละน้อยทีละน้อย เหล่าค่อลีฟะห์ (กาหลิบ) ก็เช่นกัน เริ่มสิ้นอำนาจบารมีทันที่ที่แว่นแคว้นเหล่านั้นสถาปนาความเป็นอิสระแก่ตน
ในช่วงต้นรัชสมัยอับบาซียะห์นั้น อิทธิพลของชนชาติอาหรับยังคงมีพลังมากพอสำหรับการสถาปนาอาณาจักรใหม่ เสมือนหนึ่งการสืบสานอิทธิพลที่สืบเนื่องมาแต่ครั้งอาณาจักรอุมาวียะห์ ซึ่งมีความเป็นชาตินิยมอาหรับอย่างเด่นชัดและรุ่งโรจน์ที่สุด การคานอำนาจและอิทธิพลต่อราชสำนักอับบาซียะห์ยังคงตกเป็นของฝ่ายชนชาติ อาหรับ
จวบจนกระทั่งเข้าสู่รัชสมัยของค่อลีฟะห์อัลมะอ์มูน (ฮ.ศ. 170 – 218 / ค.ศ. 786 – 833 ) ค่อลีฟะห์ลำดับที่ 7 ของราชวงศ์ค่อลีฟะห์อัลมะอ์มูน ได้ครองอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จภายหลังปราบปรามอัลอะมีนผู้เป็นพระอนุชาในการรบพุ่งเพื่อแย่งราชสมบัติ ค่อลีฟะห์อัลอะมีน (ฮ.ศ. 170 – 198 / ค.ศ. 787 – 813) คือราชโอรสของค่อลีฟะห์ฮารูน อัรร่อซีด กับพระมเหสีสุไบดะห์ ส่วนอัลมะอ์มูนนั้นเกิดแต่พระสนมชาวเปอร์เซีย กองทัพที่ค้ำจุนบัลลังค์ของอัลอะมีนนั้นล้วนแต่เป็นชนชาติอาหรับที่จงรักภักดี ส่วนฝ่ายอัลมะอ์มูนนั้นได้รับการสนับสนุนจากกองทัพเชื้อสายเปอร์เซีย ในที่สุดชัยชนะก็ตกเป็นของฝ่ายอัลมะอ์มูน อันหมายถึง ชัยชนะของชนชาติเปอร์เซียที่มีต่อชนชาติอาหรับนั่นเอง
ด้วยประการฉะนี้อาณาจักรอับบาซียะห์ในรัชสมัยอัลมะอ์มูนจึงเป็นยุคแห่งความรุ่ง โรจน์ของเปอร์เซียที่มีอิทธิพลและอำนาจในราชสำนักนับแต่บัดนั้น
อิทธิพลของชนชาติเปอร์เซียเริ่มเด่นชัดมากขึ้นเป็นลำดับ ในช่วงยุคแรกของอาณาจักรอับบาซียะห์ จนกลายเป็นขุมกำลังหลักในการแผ่แสนยานุภาพและความมั่นคงทางการเมือง อำนาจในการบริหาราชการแผ่นดินจึงตกอยู่ในกำมือของชนชาติเปอร์เซีย บรรดาค่อลีฟะห์ในราชวงศ์ต่างก็ทรงมอบความไว้วางใจต่อพวกเขาในการดำรงค์ ตำแหน่งที่สำคัญๆ พวกเปอร์เซียเองก็สนองพระเดชพระคุณต่อบรรดาค่อลีฟะห์ด้วยการรักษาไว้ซึ่งเดชานุภาพ และความสูงส่งตลอดจนเผยแพร่พระบารมีของพระองค์เหล่านั้นอย่างสุดกำลัง
ครั้นลุรัชสมัยค่อลีฟะห์อัลมุอ์ตะซิม บิลลาฮ์ (ฮ.ศ. 218 – 227 / ค.ศ. 833 – 842) ค่อลีฟะห์ลำดับที่ 8 ของราชวงศ์พระองค์กลับเปิดประตูราชสำนักเพื่อต้อนรับอิทธิพลของชนชาติเติร์ก (ตุรกี) ในการเข้ามามีอำนาจเหนือประชาชาติ พระองค์ทรงมอบการบริหารราชการแผ่นดิน การปกครองหัวเมืองแก่ชนชาติใหม่นี้ โดยทรงลืมไปว่าพระองค์คือบุคคลแรกที่ได้ทำลายรากฐานของอาณาจักรอับบาซียะห์ไปเสียแล้ว พวกเติร์กครอบงำบรรดาค่อลีฟะห์ในรัชสมัยต่อมา จนกระทั่งราชสำนักตกอยู่ในกำมือของพวกเขาอย่างสิ้นเชิง เท่านั้นยังไม่พอ พวกเติร์กยังคงกำเริบสืบสานถึงขั้นปลงพระชนม์บรรดาค่อลีฟะห์ไปเสียหลาย พระองค์ หรือไม่ก็ปลดออกจากพระราชอำนาจและยกบุคคลในพระราชวงศ์ที่พวกเติร์กเห็นว่ามี ประโยชน์ต่อพวกตนขึ้นดำรงตำแหน่ง
ค่อลีฟะห์ท่านแรกที่พวกเติร์กได้ลอบปลงพระชนม์นั้นคือ อัลมุตะวักกิ้ล อะลั้ลลอฮ์ (ฮ.ศ. 206 – 247 / ค.ศ. 821 – 861) ราชโอรสของค่อลีฟะห์ อัลมุอ์ตะซิมนั่นเอง ซ้ำร้ายกว่านั้นการสิ้นพระชนม์ของอัลมุตะวักกิ้ล ก็คือจุดเริ่มต้นของความเสื่อมและความอ่อนแอของราชสำนักอับบาซียะห์ในฐานะศูนย์รวมอำนาจของอาณาจักร บรรดาค่อลีฟะห์ในรัชสมัยหลังก็กลับกลายเป็นเพียงหุ่นเชิดหรือไม่ก็มีฐานะที่ไม่ได้ต่างอะไรกับเชลยของพวกเติร์ก ราชวงศ์อับบาซียะห์ได้ทำลายความบริสุทธิ์ทางสายเลือดอาหรับของพวกตนลงด้วย การเจือปนกับสายเลือดแปลกปลอม
ตลอดจนยังได้ทำลายจริตแห่งความสมถะของเลือดอาหรับด้วยการอาศัยชนชาติอื่นในการสถาปนาอาณาจักรของพวกตน ซึ่งในระยะเวลาไม่นานนักสิ่งแปลกปลอมที่เข้ามาก็กลับกลายเป็นของแท้ ชาติพันธุ์เดิมก็เจือจางหาใช่อาหรับแท้หรือชาติพันธุ์อื่นโดยแท้ไม่ เรียกได้ว่ากลายเป็นลูกผสมอาหรับเปอร์เซียหรือไม่ก็เติร์กนั่นเอง เกียรติภูมิแห่งชาติพันธุ์แท้เลือนรางและโรยราเหลือไว้เพียงแต่เกียรติของบรรพชนที่มีเชื้อสายและวงศ์วานของพระศาสดา และเจือจางอยู่ในสายเลือดสืบมาเท่านั้น
ในสถานการณ์เช่นนี้ อาณาจักรอับบาซียะห์จึงรวมเอากลุ่มชาติพันธุ์สามกลุ่มใหญ่เอาไว้ อันได้แก่ อาหรับ, เปอร์เซีย และเติร์ก และจักรวรรดิอิสลามก็ถูกแบ่งสันปันส่วนในระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ทั้งสามนี้ จนเป็นเหตุสงครามและความวุ่นวายในช่วงปลายรัชสมัย บ่อยครั้งเกิดการรบพุ่งระหว่างอาหรับกับเปอร์เซีย หรือไม่ก็ระหว่างพวกเติร์กกับเปอร์เซีย แต่ก็ใช่ว่าจะรวมกันไม่ติดเสมอไป ดังจะเห็นได้จากกองทัพของบะนู ฮัมดาน ซึ่งมีเชื้อสายอาหรับกลับมีกองทหารเติร์กในบัญชาการเหมือนกับบะนู บูยะห์ ซึ่งมีเชื้อสายเปอร์เซีย ก็มีกองทหารเติร์กเข้าร่วมรบให้กับฝ่ายตนเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม สภาพการณ์ดังกล่าวก็นำไปสู่ความแหลกรานของบ้านเมือง อันเกิดจากสงครามที่แก่งแย่งความเป็นใหญ่ในกลุ่มชาติพันธุ์ และเป็นจุดอ่อนที่ฝ่ายศัตรูเยี่ยงพวกโรมันมองเห็นลู่ทางอย่างโลภโมโทสันในการตีหัวเมืองของอาณาจักรอับบาซียะห์ที่ไร้เสถียรภาพ ซึ่งพวกโรมันก็ทำได้เช่นนั้นจริง ด้วยการรุกคืบครอบครองเมืองอามิด, อันตอกียะห์ และฮะลับ (อะเล็ปโป) แต่พวกอับบาซียะห์ก็ใช่ว่าจะไร้เขี้ยวเล็บไปเสียสิ้น เพราะมีการตอบโต้การรุกรานของโรมันด้วยการเคลื่อนทัพเข้าพิชิตนครอามูรียะห์, อังการ่า และฮิรอกลียะห์ (เฮอร์คิวเลียส) ของโรมันได้เช่นกัน
ผลพวงอันเกิดจากความร้าวฉานในระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ทั้งสามนี้และการแผ่ อิทธิพลของแต่ละกลุ่มด้วยการรบพุ่ง ตลอดจนความอ่อนแอของบรรดาค่อลีฟะห์ จากการปราบพยศของกลุ่มชาติพันธุ์ทั้งสามให้จำนนต่อพระราชอำนาจ จึงทำให้อาณาจักรแตกสลายออกเป็นรัฐเล็กรัฐน้อยที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จ และพร้อมจะแข็งเมืองต่อแบกแดดได้ทุกขณะ ในปลายศตวรรษที่ 3 ของอาณาจักรอับบาซียะห์ระบอบคอลีฟะห์จึงแปรเปลี่ยนจากระบอบปกครองที่เป็น ศูนย์รวมอำนาจสู่ระบอบที่ไร้เสถียรภาพและบารมีอย่างสิ้นเชิง พระราชอำนาจค่อลีฟะห์จึงมีอยู่เพียงในเขตราชธานีแบกแดดและชานพระนคร ซึ่งจริงๆ แล้วก็หาได้เป็นเช่นนั้นไม่ เพราะในราชธานีหรือแม้กระทั่งในเขตพระราชฐานค่อลีฟะห์ก็หาได้มีอิสรภาพอันใด ไม่
คบเพลิงแห่งความรุ่งโรจน์ของพวกอับบาซียะห์ได้เริ่มมอดลงในราวคริสตศตวรรษที่ 10 และดวงตะวันอันเจิดจรัสในท้องฟ้าแห่งการมีอำนาจก็ถึงคราอัสดง การคงอยู่ของค่อลีฟะห์ในเศวตฉัตรเป็นเพียงการดำรงอยู่ในรูปสัญลักษณ์และผู้ นำทางจิตวิญญาณเท่านั้น หาได้อยู่ในฐานะประมุขสุงสุดของรัฐที่มีอำนาจอันใดไม่
เหล่าผู้มีอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดินก็แก่งแย่งชิงดีชิงเด่น รบราฆ่าฟันกันเองเพื่อความเป็นใหญ่ อำนาจจะตกเป็นของผู้มีชัยเสมอ ในยุคนี้จึงกลายเป็นยุคของสงครามกลางเมือง การปราบดาภิเษก ตลอดจนการผลัดเปลี่ยนชนชั้นผู้ปกครองอยู่ตลอดเวลา
สิ่งที่ปรากฏตามมาก็คือผู้มีอำนาจในแต่ละแว่นแคว้นต่างก็มุ่งมั่นในการขยาย อาณาเขตอิทธิพลของตนด้วยการปราบปรามรัฐที่อ่อนแอกว่า กฎแห่งการคงอยู่สำหรับผู้แข็งแรงกว่าคือสิ่งที่แพร่หลายสำหรับผู้กระหายอำนาจเหล่านี้ คราใดที่รัฐเล็กรัฐน้อยที่อ่อนแอกว่าปฏิเสธที่จะยอมรับอำนาจของรัฐที่เข้มแข็งกว่า ก็จะมีการรุกรานเพื่อครอบครองดินแดนของฝ่ายที่แพ้เสมอ
ผู้ปกครองเหล่านี้หลงลืมพระบัญญัติขององค์พระผู้เป็นเจ้าที่ทรงดำรัสว่า “แท้จริงประชาชาติของสูเจ้าทั้งหลายนี้คือประชาชาติเดียวกัน และข้าคือพระผู้อภิบาลของหมู่สูเจ้า ดังนั้นพวกเจ้าจงยำเกรงต่อข้าเถิด” (บท อัลมุอฺมินูน พระบัญญัติที่ 52) พวกเขาเพิกเฉยและละเลยพระบัญญัตินี้เสียสิ้น บ่วงแห่งพันธกรณีอันรัดรวมดินแดนต่างๆ ของชาวมุสลิมให้มีความเป็นเอกภาพภายใต้ร่มธงเดียวกัน และผู้นำสูงสุดคนเดียวกันได้หลุดออกอย่างสิ้นเชิง รัฐต่างๆ ของชาวมุสลิมก็ตกเป็นเหยื่อของฝูงจิ้งจอกในคราบมนุษย์อย่างหลีกเลี่ยงมิได้
สมดังพระวจนะของท่านศาสนทูตที่เคยประกาศไว้ว่า “เกือบแล้วที่ประชาชาติต่างๆ จะรุมทึ้งพวกเจ้าทั้งหลาย เหมือนเช่นที่บรรดาผู้ทานอาหารทั้งหลายรุมล้อมยังสำรับอาหาร” เหล่าสาวกก็กล่าวถามว่า “พวกเราในวันนั้นมีจำนวนน้อยกระนั้นหรือ ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮฺ” พระองค์ทรงตอบว่า “ไม่เลย! พวกท่านในวันนั้นมีจำนวนมาก หากแต่พวกท่านเป็นประหนึ่งกองขยะมูลฝอยที่น้ำหลากได้พัดมา และพระองค์อัลลอฮฺจักทรงถอดความน่าเกรงขามออกจากหัวใจของศัตรูพวกท่าน และพระองค์จะโยนความอ่อนแอเข้าสู่หัวใจของพวกท่าน” เหล่าสาวกถามว่า “อะไรคือความอ่อนแอนั้นเล่า โอ้ท่านศาสนทูตแห่ง อัลลอฮฺ” พระองค์ทรงตอบว่า “คือความรักต่อโลกนี้และรังเกียจความตาย” (อัลฟัตฮุร รอบบานียะห์ 24/31-32 กิตาบ อัลฟิตัน, ฮิลยะตุ้นเอาลิยาอ์ 1/18, อัลญามิอ์ อัลกะบีร ของอัซซะยูฏีย์ 1/10191
อำนาจการปกครองในซีกตะวันออกของโลกอิสลามซึ่งถูกแย่งชิงไปจากพวกอับบาซียะห์ก็ขาดเสถียรภาพและมีแต่ความวุ่นวายไปทั่วทุกหย่อมหญ้า ครั้นต่อมาภายหลังอำนาจก็ผลัดเปลี่ยนสู่พวกบะนูบุวัยฮ์ ซึ่งพวกนี้มาจากแคว้น อัดดัยลัม อันเป็นเขตภูเขาสูงในอิหร่านทางตอนใต้ของทะเลกอซวัยน์ พวกบะนู บูวัยฮ์ได้สถาปนารัฐอัลบูวัยฮียะห์ขึ้นในปี ฮ.ศ.331/ค.ศ.932 จนกระทั่งถึงปี ฮ.ศ.448/ค.ศ.1055
ภายหลังพวกตระกูลบุวัยฮ์ที่ทรงอำนาจก็เริ่มอ่อนแอและความเสื่อมก็แพร่สะพัดไปทั่วอาณาบริเวณของจักรวรรดิอิสลาม ในที่สุดพวกนี้ก็ถูกชาวเติร์กขับไล่ พวกเติร์กเซลจูกก็สืบอำนาจต่อจากพวกบะนู บูวัยฮ์ ซึ่งพวกซัลจูกเป็นชนชาติเติร์กที่เคยมีถิ่นฐานอยู่ในแคว้นตุรกีสถานมาก่อน พวกนี้เป็นมุสลิมที่ยึดมั่นตามแนวทางของชาวซุนนะห์ (ซุนนีย์) และแผ่อำนาจของพวกตนสู่อิรักและแคว้นชาม (ซีเรียและเอเซียน้อย) จรดดินแดนอิสลามอันไกลโพ้นทางทิศเหนือ และมีอิทธิพลครอบคลุมถึงหัวเมืองยะมัน (เยเมน) และเขตใกล้เคียง ตลอดจนดินแดนเอเซียกลาง, อัฟกานิสถาน, ปัญจาบ และอาณาจักรอัลฆอซนาวีย์
พวกซัลจูกเติร์กภายใต้การนำของตุฆรุ้ลบัก ผู้เด็ดขาดได้ยาตราทัพอันเกรียงไกรเข้ายึดครองดินแดนเปอร์เซียโดยส่วนใหญ่ และยังได้ริเริ่มในการแผ้วถางเส้นทางสู่ความเป็นผู้นำของพวกตนในภายหน้าด้วยการส่งคณะทูตานุทูตเพื่อเข้าเฝ้าค่อลีฟะห์ อัลกออิม บิ อัมริลลาฮ์ (ค่อลีฟะห์ลำดับที่ 26 แห่งอับบาซียะห์ ฮ.ศ.ที่ 422-467/ค.ศ. 1031-1075) ซึ่งพระองค์หาได้ปรารถนาสิ่งใดไม่ นอกจากการมีชีวิตอย่างสงบโดยไม่ต้องรับรู้สิ่งใดมากนัก
แต่เนื่องจากเพราะเหตุที่พวกซัลจูกเติร์กเป็นชนชาติที่ยอมรับในศาสนาอิสลาม เหตุนี้พระองค์จึงทรงขอร้องให้พวกซัลจูกช่วยปลดปล่อยพระองค์จากการกุมอำนาจ และอิทธิพลของพวกบะนู บูวัยฮ์ ดังนั้นในปีฮ.ศ. 4 31 ตุฆรุ้ลบักจึงกรีฑาทัพของตนเข้าสู่ราชธานีแบกแดด พวกบะนู บูวัยฮ์ก็แตกพ่ายและเผ่นกระโจนหนีออกจากมหานครรัฐแห่งนี้ ประดารัฐเล็กน้อยใหญ่ในเขตตะวันตกของเอเซียก็สิ้นบุญบารมีไปรัฐแล้วรัฐเล่า เบื้องหน้าพวกซัลจูกเติร์กและต่างกันพายอมรับอำนาจของชนชาติใหม่นี้เหนือ ราชธานีแบกแดด
พวกซัลจูกเติร์กได้ปลุกความมีชีวิตชีวาและฟื้นศักยภาพในการบริหารราชการแผ่นดินของจักรวรรดิขึ้นอีกครั้งอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน อีกทั้งยังได้ปลุกพลังอันเข้มแข็งในการศรัทธามั่นอย่างบริสุทธิ์ใจต่อพระ ศาสนาให้ผงาดขึ้นอีกครา และพวกซัลจูกเติร์กก็มิเคยกระทำต่อดินแดนอิสลามเยี่ยงที่พวกมองโกลได้กระทำ ในช่วงเวลา 200 ปี ให้หลัง นอกจากนี้พวกซัลจูกเติร์กยังได้รวบรวมจักรวรรดิอันเกรียงไกรขึ้นใหม่จากความเป็นอัมพาตที่ระบาดไปทั่วให้มีกำลังเข้มแข็งอีกครา จนสามารถยืนหยัดต่อสู้กับกรณีพิพาทที่ยืดเยื้อยาวนานระหว่างชาวคริสต์และมุสลิม ซึ่งเรียกขานกันในนามสงครามครูเสดนั่นเอง
พวกซัลจูกเติร์กได้เปิดอกรับการปะทะครั้งแรกสุดในการระเบิดสงครามของพวกครูเสด แคว้นชามและอัญญะซีเราะห์ (ดินแดนเสี้ยวจันทร์ในอิรัก) เอเซียน้อยต่างก็ได้รับการแบ่งสันกันในระหว่างผู้ปกครองซัลจูก ซึ่งทั้งหมดต่างก็ร่วมกันรับมือต่อการรุกรานของศัตรูจากยุโรปอย่างเข้มแข็ง ในแคว้นชามได้มีอาณาจักรอัซซังกียะห์ ซึ่งสถาปนาโดยบรรดาอะตาบิกแห่งตระกูลซังกีย์สืบทอดอำนาจต่อจากพวกซัลจู กเติร์ก ลูกชายของอะตาบิกซังกีย์คือ มะห์มูด ได้แผ่ขยายอาณาเขตของตนจนกระทั่งรวมเอาแคว้นชามและอัลญะซีเราะห์ทั้งหมดเข้าไว้ใต้อำนาจ ต่อมาภายหลังก็ได้รวมเอาอียิปต์เข้าเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรอีกด้วย
แต่เดิมอิมาดุดดีน ซังกีย์ (เสียชีวิต ค.ศ.1146) เคยเป็นท่านราชครูของซุลตอน อัลบ์ อัรซ่าลานแห่งราชวงศ์ซัลจูกียะห์ ต่อมาก็ได้ดำรงตำแหน่ง อะตาบิกแห่งเมืองโมซุล และสถาปนาราชวงศ์ซังกียะห์ขึ้นในปี ค.ศ.1127 และสามารถตีชิงเมืองอัรร่อฮา ได้จากพวกครูเสด ในปีค.ศ.1144 หลังจากที่เมืองนี้ตกอยู่ใต้การยึดครองของพวกครูเสดถึง 50 ปี แต่ทว่า อิมาดุดดีน ก็ได้ถูกลอบสังหารขณะยกทัพปิดล้อมป้อมญะอ์บัรในซีเรีย ดังนั้น นุรุดดีนมะห์มูด ซังกีย์ ผู้เป็นบุตรชายจึงก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้นำของอาณาจักรที่บิดาของตนได้สร้าง เอาไว้อย่างสมภาคภูมิและมุ่งมั่นในการทำศึกตีชิงดินแดนมุสลิมที่ถูกพวกครูเสดยึดครอง ในปีค.ศ. 1164 มะห์มูด สามารถตีเมืองอัรรอฮาและบานิอัสจากพวกครูเสดได้ วีรบุรุษท่านนี้เป็นผู้เคร่งครัดในศาสนายิ่ง ท่านได้ประกาศใช้กฎหมายอิสลามในอาณาจักรของท่าน ส่งเสริมการศึกษาและสร้างสถาบันทางวิชาการตลอดจนมัสยิดสถานเป็นอันมาก
ในดินแดนเปอร์เซียและเอเซียกลาง ได้มีอาณาจักรอัลคุวาริชมีย์รับสืบทอดต่อจากพวกซัลจูกเติร์ก โดยมีซุลตอนคุวาริซมีชาฮ์ (ค.ศ.1097-1231) เป็นผู้ทรงอำนาจจวบจนกระทั่งถูกพวกมองโกลซึ่งนำโดยเจงกิสข่านเข้ารุกรานในดินแดนอียิปต์และแคว้นชามก็มีอาณาจักรอัลอัยยูบียะห์ สืบทอดอำนาจต่อจากอาณาจักรซังกียะห์และอัลฟาตีมียะห์ โดยอาณาจักรอัลอัยยูบียะห์ได้สถาปนาขึ้นด้วยน้ำมือของวีรบุรุษซ่อลาฮุดดีน อัลอัยยูบีย์ (ฮ.ศ. 532-589/ค.ศ.1138-1193) ผู้นำของประชาชาติมุสลิมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในช่วงสงครามครูเสด อาณาจักรของท่านมีบทบาทและมีส่วนสำคัญในการสร้างความปราชัยต่อพวกครูเสดและต้านทานการคุกคามของพวกครูเสดที่มีต่อโลกอิสลาม
ภายหลังพวกอัลอัยยูบีย์หมดอำนาจการสืบทอดภาระหน้าที่ในการปกป้องดินแดนอิสลามก็ตกอยู่ในน้ำมือของพวกม่ามาลีกเชื้อสายเติร์ก ซึ่งมีอำนาจเหนือแคว้นชาม, อียิปต์ และดินแดนสำคัญของโลกอิสลามทั้งสองแห่ง คือ นครมักกะห์และม่าดีนะห์ ในรัชสมัยของซุลตอนก่อลาวูน (ค.ศ.1279-1290) พวกม่ามาลีกได้แผ่อิทธิพลของพวกตนสู่แอฟริกา พลเมืองในตูนิเซีย ทรีโปลีและบัรเกาะห์ของลิเบียต่างก็แส้สร้องถึงพวกเขาทุกคราในการแสดงธรรมในวันศุกร์
พวกม่ามาลีกยังมีอำนาจเรื่อยมาจวบจนกระทั่งอาณาจักรอุษมานียะห์ (ออตโตมาน) ได้มาถึงในปี ฮ.ศ.923 พวกม่ามาลีกซึ่งถึงแม้จะเคยเป็นทาสมาก่อนได้มีบทบาทและความดีความชอบอย่าง ยิ่ง อีกทั้งยังเป็นชนชาติเดียวที่ได้รับชัยชนะต่อกองทัพของพวกมองโกลตาตาร์อย่างเด็ดขาดในสมรภูมิอัยน์ ญาลูต เมื่อปีค.ศ.1259 จนสามารถหยุดยั้งการไหลบ่าอันเชี่ยวกรากของพวกมองโกลที่โถมกระหน่ำเข้าทำลาย อารยธรรมอิสลามตลอดช่วงเวลาก่อนหน้านั้น
การรุกรานโลกอิสลามของพวกตาตาร์ (มองโกล)
พวก มองโกลหรือตาตาร์ เป็นชาติพันธุ์หนึ่งที่เร่ร่อนอยู่ในเขตที่ราบสูงของเอเซียกลาง มีสายเลือดผสมผลานกับชนชาติเติร์ก นักมนุษยวิทยามีความเห็นว่า พวกเติร์ก, มองโกลและพวกม่ามาลีกเป็นกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกัน โดยถูกขนานนามว่า พวกมองโกลอยด์
ชาวจีนมักเรียกพวกมองโกลว่า “ตาตาร์” และจัดกลุ่มของพวกตาตาร์ออกเป็นสามกลุ่มซึ่งสอดคล้องกับพัฒนาการทางสังคมของชนชาตินี้ โดยพวกตาตาร์ที่เป็นเพื่อนบ้านกับชาวจีนและมีหลักแหล่งอยู่เบื้องหลังกำแพงเมืองจีน ตลอดจนได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมของชาวจีนนั้นจะถูกเรียกว่า “พวกตาตาร์ผิวขาว” ส่วนดินแดนทางทิศเหนือของทะเลทรายโกบีนั้นจะมีพวกตาตาร์ผิวดำตั้งหลักแหล่งอยู่ พวกนี้เป็นชนเผ่าเร่ร่อนมีอาชีพเลี้ยงสัตว์ ครั้งหนึ่งพวกนัสตอเรียนได้เคยส่งคณะทูตของพวกตนไปเผยแผ่ศาสนาคริสต์ยังพวกตาตาร์ดำ จนกระทั่งมีเผ่าอัลก่ารอยิตเข้ารีตในคริสตศาสนาเป็นจำนวนมาก
ในดินแดนเอเซียน้อย ขณะนั้นกำลังมีบาดแผลที่เน่าเฟะอันเกิดจากการรุกรานของพวกมองโกล ซึ่งทำลายล้างและกัดกินอารยธรรมและชีวิตผู้คนเยี่ยงโรคร้ายที่ลุกลามจนเกินเยียวยา ตลอดจนดินแดนอิสลามอื่นๆ ก็เช่นกัน กองทัพของเจงกิสข่านได้รุกรานย่ำยีดินแดนอิสลามเยี่ยงการไหลบ่าของน้ำป่าที่ บ้าคลั่งและเชี่ยวกรากจากยอดภูเขาสูงสู่เส้นทางของสายน้ำอันเป็นที่ตั้งของ ศูนย์กลางแห่งโลกอิสลาม ทำลายล้างทุกสิ่งจนเกือบราบพนาสูร อารยธรรมอิสลามได้รับการสั่งสมและเจริญรุ่งเรืองตลอดช่วงเวลาหลายศตวรรษในเอ เซียกลางและดินแดนทางตะวันตกของเอเซียจนแทบไม่เหลือร่องรอยสิ่งใดเอาไว้เลย คงเป็นการเพียงพอที่เราจะกล่าวถึงโศกนาฏกรรมและความน่าสะพรึงกลัวดังกล่าว ที่โลกอิสลามได้ประสบถึงเหตุการณ์หนึ่งซึ่งประวัติศาสตร์โลกได้บันทึกเอาไว้
กล่าวคือ เมื่อชนชาติมองโกลที่ป่าเถื่อนได้รุกรานและเข้ายึดครองเมืองฮารอต ซึ่งเป็นศูนย์กลางของศาสนาอิสลามอันรุ่งเรืองในอัฟกานิสถานปัจจุบัน พวกมองโกลได้เข่นฆ่าพลเมืองผู้บริสุทธิ์ไปมากกว่า 100,000 คน มีจำนวนผู้รอดชีวิตเพียง 40 คนเท่านั้นที่หลบซ่อนเพื่อหนีตาย เหตุการณ์เช่นเดียวกันนี้ได้เกิดขึ้นในเมืองบุคอรอ ซึ่งเป็นแหล่งวิชาการที่คราครั่งไปด้วยนักวิชาการและนักปราชญ์ชาวมุสลิม พวกมองโกลได้ทำลายเมืองนี้ลง เปลี่ยนมัสยิดเป็นคอกม้า เผาทำลายคัมภีร์อัลกุรอ่านและจับตัวผู้รอดชีวิตไปเป็นเชลย
นอกจากนี้พวกชนป่าเถื่อนยังได้กระทำการเช่นเดียวกันนี้กับเมืองสะมัรกานด์ และบะลัค (บักเตรีย) และโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ก็ปิดฉากลงอย่างน่าปวดร้าวที่สุด เมื่อพวกมองโกลสามารถตีราชธานีแบกแดด ซึ่งเป็นราชธานีของโลกอิสลามและศูนย์กลางแห่งอารยธรรมอิสลามได้ในปี ฮ.ศ.656 พวกมันได้เข้าปล้นสะดมภ์เผาผลาญหอสมุดอันเต็มไปด้วยตำรับตำราทางวิชาการจนเป็นเถ้าถ่าน อีกทั้งนำตำรับตำราจำนวนมหาศาลทิ้งลงแม่น้ำไทกริส และใช้กองตำรานั้นแทนสะพาน การกระทำเยี่ยงนี้ความมีมนุษยธรรมต่างก็เบือนหน้าหนี ปากกาก็ย่อมมิอาจขีดเขียนเพื่อสาธยายถึงความป่าเถื่อนที่พวกมองโกลได้ก่อขึ้น
อิบนุ อัลอะซีร ได้บันทึกถึงการทำลายล้างครั้งนั้นว่า : “ตัวฉันเองได้ตกอยู่ในสภาพที่พยายามเบนหนีจากการนึกถึงเหตุการณ์ครั้งนี้ เป็นเวลาหลายปีด้วยกัน เหตุที่เป็นเช่นนั้น ก็เพราะว่ามันเป็นเหตุการณ์ครั้งใหญ่ที่น่าชิงชังสำหรับการนึกถึงมัน บ่อยครั้งที่ฉันก้าวเท้าไปข้างหน้าแต่ก็ต้องหยุดชะงักและผละถอย ก็ใครเล่าที่จะเป็นเรื่องง่ายสำหรับเขาที่จะเขียนถึงจุดจบของอิสลามและมุสลิม ใครเล่าที่จะคิดถึงเหตุการณ์นั้นได้อย่างหน้าชื่นตาบาน อนิจจา แม่ของฉันมิน่าให้กำเนิดฉันมาเลย อนิจจาฉันน่าจะตายไปเสียก่อนหน้านี้ และเป็นเพียงบุคคลที่ถูกหลงลืม”
อิบนุ อัลอะซีร ยังได้ระบุอีกว่า : หวังว่ามวลมนุษย์จะไม่ได้เห็นเหตุการณ์เช่นนี้อีก แต่ถ้าใครได้เห็นก็คงนึกว่าโลกนี้ถึงกาลแตกดับเสียแล้ว และพวกมันเหล่านั้นก็คงใช่ยะอ์ยูจ มะอ์ยูจเป็นแน่แท้ ส่วนเจ้าตัวดัจญ้าลนั้นมันยังคงไว้ชีวิตที่หลงเชื่อและปฏิบัติตามการล่อลวงของมัน และทำลายล้างเฉพาะผู้ขัดขืนต่อมันเท่านั้น แต่พวกมันเหล่านี้ (มองโกล) หาได้ไว้ชีวิตผู้ใดไม่ พวกมันเข่นฆ่าสตรี บุรุษและเด็กๆ อีกทั้งยังได้ผ่าท้องสตรีที่ตั้งครรภ์และปลิดชีวิตเหล่าทารกน้อย”
คำบอกเล่าของ อิบนุ อัลอะซีร นี้ ได้รับการบันทึกไว้ก่อนหน้าที่พวกตาตาร์จะเข้าสู่ราชธานีแบกแดด ถึง 26 ปี ทั้งนี้อิบนุ อัลอะซีรได้เสียชีวิตในปี ฮ.ศ.630 และพวกตาตาร์ได้เข้าสู่ราชธานีแบกแดดในปี ฮ.ศ. 656 เหตุการณ์จะเป็นเช่นใดหากว่าอิบนุ อัลอะซีรได้ประจักษ์เห็นพวกตาตาร์ขณะเข้าสู่แบกแดดและทำลายล้างอิสลามและชาวมุสลิม ขอพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ได้ทรงเมตตาต่อท่านอิบนุ อัลอะซีรด้วยเทอญ
เหตุการณ์เช่นนี้ได้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าในช่วงชีวิตของชาวมุสลิม และยังคงเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะจากประชาชาติที่กล่าวอ้างถึงความมีอารยธรรมและความเจริญสังคมเมือง ซึ่งต่างก็โหมเทความชิงชังและความโกรธแค้นของพวกตนต่อพลเมืองมุสลิมในทุกแห่งหน ทั้งการเข่นฆ่าสังหาร การเนรเทศ การสร้างความแตกแยกและการทำให้บ้านแตกสาแหรกขาด และเข้ายึดครองดินแดนของชาวมุสลิมและสูบกินทรัพยากรของพวกเขา
เช่นนี้แหละ คราใดที่มุสลิมอ่อนแอและเหินห่างจากศาสนาของตน…นี่แหละคือประวัติศาสตร์อาณาจักรหนึ่งล่มสลายไป อีกอาณาจักรขึ้นมาทดแทน และรัฐแห่งความเท็จอันจอมปลอมก็ย่อมมีอายุขัยในช่วงเวลาหนึ่งของหน้าประวัติศาสตร์ ส่วนรัฐแห่งสัจธรรมนั้นยืนยงจวบจนวันอวสานของโลกนี้
การล่มสลายของระบอบค่อลีฟะห์แห่งอุษมานียะห์ (ออตโตมาน) บทนี้ประมวลไว้ 6 หัวข้อ
1. การผลัดเปลี่ยนระบอบค่อลีฟะห์สู่พวกอุษมานียะห์และบทบาทของอุษมานียะห์ในการเป็นผู้นำโลกอิสลาม
2. บทบาทการล่าอาณานิคมของชาติตะวันตกในการทำให้ระบอบค่อลีฟะห์แห่งอุษมานียะห์ล่มสลาย
3. บทบาทของพวกยิวสากลในการทำลายระบอบค่อลีฟะห์แห่งอุษมานียะห์
4. บทบาทของรัสเซีย -ซาร์แห่งรัสเซียและพวกสังคมนิยมคอมมิวนิสต์- ในการล่มสลายของอุษมานียะห์
5. บทบาทของกามาล อาตาร์เติร์ก ในการทำลายระบอบค่อลีฟะห์แห่งอุษมานียะห์
6. ขีดความรับผิดชอบของชาวตุรกีและชาติอาหรับในการสูญสลายของระบอบค่อลีฟะห์แห่งอุษมานียะห์
วัลลอฮฺวะลี่ยุตเตาฟิก
อบูอัรรีม อะลี อะหฺหมัด เสือสมิง
Cr. http://alisuasaming.org/
#ประวัติศาสตร์อิสลาม_Islamic_Society_Online
Islamic Society Online
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น