product :

วันศุกร์ที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2560

จักรวรรดิอุษมานียะห์ เมื่ออาทิตย์อัสดง : ความเป็นศัตรูของรุสเซียต่อพวกอุษมานียะห์

จักรวรรดิอุษมานียะห์ เมื่ออาทิตย์อัสดง : ความเป็นศัตรูของรุสเซียต่อพวกอุษมานียะห์

(อาลี เสือสมิง)



พวกพระเจ้าซาร์แห่งรุสเซียต้องมีชีวิตอยู่หลายร้อยปีภายใต้ความหวั่นเกรงจากจักรวรรดิอุษมานียะห์ที่จะรุกรานเส้นพรมแดน ตลอดจนการเป็นศัตรูต่ออิสลามภายในดินแดนของรุสเซีย ซึ่งโดยปกติแล้วชาวมุสลิมรุสเซียจะปกป้องเสรีภาพ ทรัพย์สินและชีวิตของพวกเขาเสมอ โดยสิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่พวกเขาต้องสูญเสียไปกับความขัดแย้งในเชิงลบ ซึ่งเป็นนโยบายทางการเมืองที่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างรุสเซียในระบอบซาร์และจักรวรรดิอุษมานียะห์เลวร้าย พวกซาร์รัสเซียได้ถือว่าการประกาศสงครามกับศาสนาอิสลามและชาวมุสลิมภายในดินแดนของรุสเซียเองเป็นส่วนหนึ่งจากการทำสงครามกับพวกอุษมานียะห์

เมื่อเป็นเช่นนี้ความเป็นศัตรูแบบชาตินิยมระหว่างคริสเตียนรุสเซียกับชาวอุษมานียะห์มุสลิมจึงปนเปจนไม่สามารถแยกออกระหว่างมุสลิมในรุสเซียเองกับมุสลิมภายนอก กล่าวคือบรรดาจักรพรรดิในนครปิเตอร์สเบิกร์กจะมองกลุ่มชนแห่งอัลกุรอ่านในทุกหนทุกแห่งว่าเหมือนกันกับพวกอุษมานียะห์ในตาชั่งแห่งความเป็นปรปักษ์ พระจันทร์เสี้ยวซึ่งพวกอุษมานียะห์ใช้เป็นสัญลักษณ์ของจักรวรรดิและธงชาติตลอดจนถือเป็นสัญลักษณ์ทางราชการและป้อมทหารนั้นพวกซาร์แห่งรุสเซียมองว่าสัญลักษณ์ดังกล่าวคือสัญลักษณ์ของศาสนาอิสลาม ซึ่งเหมือนกับชาวยุโรปทั่วไปที่มองเช่นนั้นและเรียกชาวมุสลิมว่าเป็นประชาชาติแห่งพระจันทร์เสี้ยว (ฉากหน้าประวัติศาสตร์อิสลามและมุสลิมในโซเวียต เชค ตอฮา อัลวัรลีย์ หน้า85)

รุสเซียได้ใช้นโยบายปฏิปักษ์กับจักรวรรดิอุษมานียะห์ เพื่อบรรลุเป้าหมายในการยึดครองอิสตันบูล และเปิดช่องแคบบอสฟอรัส และดาร์ดาแนล แก่กองเรือรบและกองเรือสินค้าของตนอย่างไม่มีเงื่อนไขทั้งในยามสงบและยามมีศึกสงครามโดยออกจากทะเลดำสู่กระแสน้ำอุ่นในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ตลอดจนขณะที่กองเรือเหล่านี้ล่องกลับเข้าสู่ทะเลดำ กล่าวได้ว่า เป็นเวลานานมาแล้วที่นครอิสตันบูลคือความหลังฝังใจและยังคงเป็นความใฝ่ฝันอยู่เสมอมาสำหรับจิตใจของพลเมืองรุสเซีย จวบจนกระทั่งศตวรรษที่ 20 (อัดเดาละห์ อัลอุษมานียะห์ เดาละห์ มุฟตะรอ อะลัยฮา หน้า160)

ชาวอุษมานียะห์ในสายตาของชาวรุสเซียจึงถูกนับว่าเป็นก้างขวางคอชิ้นใหญ่ หรือเป็นพวกที่ขัดขวางฝันที่เป็นจริงในการยึดครองนครอันศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ เพราะชาวรุสเซียถือว่าพวกตนคือผู้มีสิทธิอันชอบธรรมต่อนครแห่งนี้ในฐานะผู้สืบทอดมรดกของจักรวรรดิไบเซนไทน์

นอกจากนี้ การที่จักรวรรดิอุษมานียะห์ได้ยืนหยัดต่อสู้กับการแผ่ขยายอาณานิคมของรุสเซียซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่รัชสมัยของปิเตอร์ มหาราช และสุกงอมในรัชสมัยพระจักรพรรดินีแคธรีน่าได้ทำให้ความเป็นปฏิปักษ์และความชิงชังในจิตใจของชาวรุสเซียเพิ่มมากขึ้นจนเกิดสงครามบ่อยครั้งระหว่างสองฝ่ายซึ่งผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะอันมีปัจจัยมาจากความเข้มแข็งและความอ่อนแอของสองฝ่าย อย่างไรก็ตามชัยชนะของฝ่ายจักรวรรดิรุสเซียนั้นก็เกิดขึ้นภายหลังที่จักรวรรดิอุษมานียะห์ได้อ่อนแอในศตวรรษที่ 18 เป็นต้นมาเท่านั้น ก่อนหน้านั้นรุสเซียไม่กล้าที่จะต่อกรกับอุษมานียะห์แต่อย่างใด

ในปี ฮ.ศ.1106 รุสเซียได้ใช้กำลังเข้ายึดครองเมืองอาซอฟ แต่ซุลตอนมุสตอฟาที่ 2 ก็ได้ทรงบดขยี้กองทัพรุสเซีย จนต้องยกเลิกการปิดล้อมและล่าถอยไปในที่สุด ประวัติศาสตร์ได้บันทึกว่า ทูตของรุสเซียประจำอุษมานียะห์ได้นำบรรณาการถวายต่อค่อลีฟะห์เหมือนอย่างทูตอื่นๆ ของยุโรป (อัลอุษมานียูน วัรรูซ หน้า63-65) แต่ทว่า เมื่อกาลเวลาผ่านไปวัฏจักรแห่งความเสื่อมก็คืบคลานเข้าสู่ผู้ปกครองของอุษมานียะห์ พวกผู้ปกครองเหล่านี้มิได้มีคุณสมบัติเฉกเช่น ซุลตอน อัลฟาติฮ์ ซุลตอน ซาลีม หรือซุลตอน สุลัยมาน แต่เก็บตัวอยู่ในปราสาทพระราชวังเหินห่างจากการรับรู้ถึงปัญหาและความทุกข์เข็ญของพสกนิกร ปัญหานานัปการที่ผุดขึ้นได้ตอกย้ำความอ่อนแอแก่อุษมานี-ยะห์ เศรษฐกิจเริ่มทรุด ปัญหาสังคมเพิ่มมากขึ้นจนยากเกินกว่าจะเยียวยา อาณาเขตพรมแดนของจักรวรรดิจึงต้องเผชิญกับการรุกรานโจมตีจากพวกรุสเซียซึ่งมีหัวใจที่อัดแน่นด้วยความชิงชังต่ออิสลามและชาวมุสลิม

รุสเซียไม่เพียงแต่รุกรานโดยลำพัง หากแต่ยังได้หาพันธมิตรเป็นแนวร่วม ไม่ว่าจะเป็นออสเตรีย, โบโลเนีย, เวนิส และกลุ่มพระนักรบในมอลต้า (อัศวินครูเสดแห่งมอลต้า) ตลอดจนพระสันตะปาปาในการทำสงครามกับจักรวรรดิอุษมานียะห์ เพื่อลบล้างจักรวรรดิแห่งนี้ออกจากโลกทางการเมืองการปกครอง สิ่งนี้ย่อมชี้ชัดว่าการร่วมมือเป็นพันธมิตรเช่นนี้เป็นเรื่องของศาสนาล้วนๆ ด้วยเหตุนี้พวกฝรั่งจึงเรียกกันว่า “พันธมิตรอันศักดิ์สิทธิ” (ตารีค อัดเดาะละห์ อัลอะลียะห์ หน้า301)

ความเป็นปฏิปักษ์ของรุสเซียต่ออุษมานียะห์ นั้นในความเป็นจริงแล้วคือความเป็นปรปักษ์ศัตรูต่ออิสลามนั่นเอง หาใช่อื่น! รุสเซียได้ใช้ความพยายามในการหาแนวร่วมจากกลุ่มประเทศยุโรปนับจากต้นศตวรรษที่ 19 เพื่อทำการปลดแอกพลเมืองคริสเตียนจากการปกครองของมุสลิมตามคำสมอ้าง สิ่งนี้คือมิจฉาทิฐิทางศาสนาอันมืดบอด กล่าวคือนั่นมิใช่เป็นเพียงการปลดแอกชาว คริสเตียนจากมุสลิมตามคำสมอ้างเท่านั้น หากแต่ยังดำเนินการให้ชาวมุสลิมจำต้องตกเป็นเบี้ยล่างของคริสเตียนอีกด้วย

รากเหง้าแห่งความชิงชังต่อศาสนาอิสลามไม่เคยที่จะหยุดฝังรากลึกของมันเลยแม้แต่น้อย ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา หากแต่ยิ่งหยั่งลึกและฝังแน่นกับความจงเกลียดจงชังมากขึ้นทุกครา สมดังพระดำรัสที่ว่า “และพวกเขาจะยังคงสู้รบกับพวกท่านจนกว่าพวกเขาจะทำให้พวกท่านตกศาสนาหากพวกเขาสามารถกระทำ (สิ่งนั้น) ได้” (บทอัลบะกอเราะห์ พระบัญญัติที่ 217)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความแนะนำ

World Clock

Featured Posts

เรื่องราวของสองอารยธรรม : อารยธรรมของชาวไวกิ้งและมุสลิม

เรื่องราวของสองอารยธรรม : อารยธรรมของชาวไวกิ้งและมุสลิม โดย : Cem Nizamoglu และ Sairah Yassir-Deane ย้อนหลังไปถึงมีนาคม 2015 ข่าวเกี่ยวก...