product :

วันศุกร์ที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2560

มัสยิดอัลนะบะวีย์

มัสยิดอัลนะบะวีย์




มัสยิดนาบาวีย์ เป็นมัสยิดที่ท่านนบีมุฮัมหมัด (ซ.ล.) สร้างกับบรรดาซอฮาบะห์ (สหาย) ของท่าน เมื่อตอนที่ท่านฮฺจเราะฮ์ (อพยพ) จากนครมักกะฮ์มาสู่นครมาดีนะฮ์ใหม่ๆ เป็นมัสยิดที่เกิดขึ้นบนรากฐานของความตั๊กวา (ยำเกรง) มีความสำคัญเป็นอันดับสองรองจากมัสยิดฮารอมที่มักกะฮ์ เป็นมัสยิดที่โอ่อ่าอลังการณ์มาก เสามีอยู่ 2,104 ต้น แต่ละต้นตกแต่ง ประดับประดาไปด้วยทอง ดูแล้วตื่นตาตื่นใจมาก ภายในติดแอร์เย็นฉ่ำ มีหลังคาส่วนที่เรียกว่าโดมเป็นรูปลูกปิงปองครึ่งซีกครอบอยู่ 27 โดม เขียนลวดลายสวยงามมาก แต่ละโดมมีพื้นที่ประมาณ 10x10 เมตร หนัก 80 ตัน เลื่อนปิดเปิดด้วยระบบไฟฟ้า และยังมีส่วนที่เป็นร่มเปิดปิดได้ด้วยระบบไฟฟ้าเช่นกันอีก 12 ร่ม (เฉพาะตัวมัสยิดไม่เกี่ยวกับรอบอาคารมัสยิดซึ่งมีจำนวนมาก) ชั้นจอดรถใต้ดินมีสองชั้น จอดได้สี่พันกว่าคัน บนดาดฟ้าจุคนประมาณเก้าหมื่นกว่าคน ทั้งหมดรวมบริเวณลานด้านนอกจุคนได้เจ็ดแสนกว่าคน ในเทศกาลฮัจย์ที่มีผู้คนหนาแหน่นสามารถได้ทั้งหมดในคราวเดียวกันประมาณ 1 ล้านคน

ถ้าฝนตกหรือแดดออกโดมจะปิด เวลาอากาศดีๆ โดมจะถูกเปิด นั่งแล้วโล่งสบาย ตกตอนเย็นจะมีคนชอบไปนั่งใต้โดมเพื่อคอยดูเวลาโดมเลื่อนเปิด พื้นภายในเป็นหินอ่อนแต่เขาจะปูพรมเต็มเกือบตลอด ถ้าเป็นวันศุกร์จะมีชาวเมืองมาดีนะฮ์มาร่วมละหมาดวันศุกร์ด้วย บนลานด้านนอกเขาก็จะปูพรมเต็มพื้นที่เลย ที่นี่สถาปนิกเขาออกแบบได้เนี้ยบมาก ในอาคารไม่เห็นหลอดไฟเลย นอกจากโคมไฟประดับเท่านั้น ช่องแอร์จะหลบอยู่ในเสาทุกต้นดูไม่ออก จะทราบก็ต่อเมื่อเอามือไปอังตรงลวดลายที่ประดับอยู่ที่เสา ภายในมัสยิดมีคูลเลอร์ใส่น้ำซัมซัมเย็นๆตั้งเป็นจุดๆไว้บริการ

ท่านนบีได้กล่าวไว้ว่า การละหมาดในมัสญิดของฉัน(ที่มาดีนะฮ์)นั้นดีกว่าการละหมาดที่อื่นถึงหนึ่งพันเท่า ยกเว้นที่มัสญิดอัลฮารอม (ในมักกะฮ์) และการละหมาดในมัสญิดฮารอม นั้นดีกว่าแสนเท่าของการละหมาดในที่อื่น

โดมสีเขียวเหนือมัสยิดนาบาวีย์


เป็นตำแหน่งที่ระบุหลุมฝังศพของมหาบุรุษของโลกนามว่า ท่านนบีมุฮัมหมัด (ซ.ล) ซึ่งถูกฝังไว้ด้านล่าง





ประตูทางเข้าสู่มัสยิดบาวีย์


ที่นี้จะมีการแยกประตูเข้าออก แยกสถานที่ละหมาด ระหว่างชายหญิงเป็นสัดส่วนอย่างชัดเจน จะไม่มีการละหมาดประปนกัน




ภายในมัสยิด



บรรยากาศในมัสยิดเงียบสงบ เย็นสบาย สามารถนั่งอ่านอัลกุรอาน หรือนั่งซิกรุลลอฮ์ (รำลึกถึงพระเจ้า) ได้ทุกมุม หากไม่มีที่กั้น ห้ามนั่ง




ชั้นวางคัมภีร์อัลกุรอานและคัมภีร์อัลกุรอาน พบเห็นได้ทั่วไปในมัสยิด หยิบอ่านได้ตามสะดวก




ที่วางคัมภีร์อัลกุรอานตามเสามัสยิด



เขตเราเฎาะฮ์


ภายในมัสยิดนาบาวีย์จะมีเขตพิเศษอยู่เขตนึงเรียกว่า เราเฎาะฮ์ คือ สถานที่อยู่ระหว่างมิมบัร (แท่นอ่านบทธรรมเทศนา) กับบ้านของท่านนบีมูฮำหมัด (ซ.ล.) ขณะที่ท่านมีชีวิตอยู่ มีพื้นที่ประมาณ 330 ตารางเมตร (ท่านนบีมุฮัมหมัด (ซ.ล.)ได้กล่าวว่า "พื้นระหว่างบ้านของฉันกับมิมบัรมันเป็นสวนหนึ่งแห่งสวนสวรรค์ บันทึกโดยบุคคอรี/มุสลิม) เป็นบริเวณที่ท่านนบีพำนักพักพิงอาศัยเป็นเนืองนิจขณะท่านมีชีวิต โดยเป็นที่ชุมนุมในการละหมาดญามาอะห์, อบรมตักเตือนวางแผนกิจการต่างๆ พร้อมกับบรรดาซอฮาบะห์ (สหายของท่าน)




ในบริเวณที่เป็นเราเฎาะฮ์ถูกปูด้วยพรมสีเขียวและมีเสาหินอ่อนสีขาวขอบทองเป็นการแยกออกอย่างชัดเจนกับบริเวณอื่นที่ไม่ใช่เราเฎาะฮ์ซึ่งจะปูด้วยพรมสีแดงมีเสาเป็นปูนสีครีม ซึ่งบริเวณทางเข้านี้ มีผู้คนออกันอยู่เป็นจำนวนมากเพื่อหาทางเข้าไปละหมาดที่เราเฎาะฮ์ให้ได้ แม้จะเพียงสักครั้งหนึ่งในชีวิต และเป็นความใฝ่ฝันของบรรดาฮูจยาดที่หวังว่าจะได้มีโอกาศ ได้เข้ามาละหมาดและขอพรในเขตสวนหนึ่งแห่งสวนสววรค์




เมียะฮ์รอบ ท่านนบีมุฮัมมัด(ซ.ล)


เป็นสถานที่ ที่ท่านนบีมุฮัมหมัด (ซ.ล) ยืนละหมาดและเป็นอีหม่ามนำแก่บรรดาซอฮาบะห์



กูบุร(สุสาน)ท่านนบีมุฮัมมัด(ซ.ล)


ถัดจากเขตเราเฎาะฮ์มาสักเล็กน้อย จะเป็นสถานที่ฝังศพของท่านนบีมุฮัมหมัด (ซ.ล) กับบรรดาสหายของท่าน คือ ท่านอบูบักร อัฎศิ๊ดดิ๊ก และท่านอุมัร อิบนิค๊อบฎ๊อบ (ร.ฎ) คอลีฟะฮ์ (กาหลิบ) คนที่ 1 และ 2 ในอิสลาม ใต้โดมที่เขียวนั้นเองท่านนบีมุฮัมหมัด (ซ.ล)กล่าวว่า (ผู้ใดเยี่ยมสุสานของฉัน เขาจะได้รับความช่วยเหลือจากฉัน) ขณะเดินเข้าไปที่กูบุรนบี (ซ.ล.) ให้กล่าวสลามแด่ท่านนบี จากนั้นก็กล่าวสลามกับท่านอบูบักร และท่านอุมัร และศอลาวาต (ประสาทพร) แด่ท่านศาสดา (ซ.ล.)



หน้ากูบุรท่านนบี


สุสานท่านนบี (ซ.ล.)ถูกฝังอยู่ในห้องนอนของท่านหญิงอาอิชะฮ์ (ร.ฎ) ภรรยาของท่านและสหายทั้ง 2 ของท่านก็เช่นกัน อบูบักร, อุมัร ถูกฝังอยู่ในห้อง ภรรยาท่านนบี เคียงข้างศาสนทูตคนสุดท้ายแห่งพระผู้เป็นเจ้าด้านหน้าของกูบุรมีทางเดินที่พาดผ่านมาจากทางเข้าประตูบาบุสลาม – ประตูทางด้านกุบูรญันนาตุ้ลบาเกียะฮ์



จะเห็นได้ว่าสุสาน มีอยู่ 3 ช่อง ช่องกลาง เป็นสุสานของท่านนบีมุฮัมหมัด(ซ.ล) และด้านขวาและซ้าย จะเป็นสุสานของท่านอบูบักร และท่านอุมัร (ร.ฎ)






ทางออกมัสยิดหลังจากเยี่ยมเยือนท่านศาสดา (ซ.ล)


กุบุรญันนาตุ้ลบาเกียะฮ์


กุบุร (สุสาน) ที่มีมาตั่งแต่สมัยท่านนบีมุฮัมหมัด (ซ.ล) เป็นสุสานที่ฝังศพบรรดาอะฮ์ลุลบัยต์ (วงศ์วานเครือญาติ) ที่ใกล้ชิดและบรรดาซอฮาบะห์ (สหาย) ของท่านนบี (ซ.ล.) มากกว่า 10,000 คนถูกฝังอยู่ ณ ที่นี่



ในนครมาดีนะฮนอกจากจะมีมัสยิดที่สำคัญแล้ว ยังมีสถานที่ประวัติศาสตร์ที่สำคัญมากมาย เช่น

สมรภูมิอูฮุด

สงครามอูฮุดเกิดขึ้น หลังจากที่พวกกุฟฟ๊ารชาวกุเรชได้ประสบกับความพ่ายแพ้และมีความหวาดกลัวอย่างหนักในสงครามบะดัร (สงครามบะดัรมุสลิมชนะ) พวกเขาจึงมีเป้าหมายที่จะล้างแค้น และเรียกความน่าเชื่อถือในหมู่ชาวอาหรับกลับคืนมา ดังนั้นพวกเขาจึงชักชวนกันให้ออกไปสู้รบกับบรรดามุสลิม และได้เอาสินค้าที่รอดพ้นมาตั้งเป็นกองทุนเพื่อทำสงคราม แล้วพวกเขาได้ออกไปยังเมืองมาดีนะฮ์ โดยมีเผ่าอื่นที่ร่วมออกไปด้วย มีจำนวนทั้งสิ้นสามพันคน เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในปีฮิจเราะฮ์ศักราชที่ 3


ในขณะที่การสู้รบได้เริ่มขึ้น ด้วยพลังศรัทธาของบรรดามุสลิมพร้อมกับการวางแผนอย่างดีเยี่ยม จึงสร้างความเสียหายอย่างหนักให้แก่กองกำลังของมุชริกีนทั้งๆที่มีจำนวนมากกว่า ทหารมุสลิมได้ทำให้พวกเขาต้องหนีกระเจิดกระเจิงจากสมรภูมิ แต่แล้วก็เกิดเรื่องที่ท่านนบีมุฮัมหมัด (ซ.ล) ได้เตือนเอาไว้แล้ว ขณะที่บรรดานักแม่นธนูเห็นชัยชนะของฝ่ายมุสลิม และกองกำลังของมุชริกีนกำลังเผ่นหนี พวกเขาใช้ความเห็นส่วนตัวลงจากที่มั่นเพื่อร่วมเก็บทรัพย์สงครามนั้น ทั้งๆ ที่ผู้นำ คือ อับดุลลอฮ์ ได้ห้ามปรามและเตือนถึงอันตรายของการกระทำเช่นนั้น และย้ำเตือนคำสั่งของท่านนบี (ซ.ล) ที่ให้ไว้ แต่พวกเขาได้ขัดคำสั่งและลงจากที่มั่น โดยเหลือไม่ถึงสิบคนที่อยู่กับผู้นำ ผลจากการฝ่าฝืนของทหารแม่นธนูส่งผลให้ทิศทางของสงครามเปลี่ยนไป ในขณะที่ คอลิด บินวะลีด ซึ่งอยู่ทางปีกขวาของกองกำลังฝ่ายกุเรช ได้เห็นบรรดานักแม่นธนูลงจากเนินเขา จึงรีบเคลื่อนกำลังอ้อมไปทางด้านหลังของภูเขาอูฮุดทันที และนำกองกำลังเข้าสังหารนักแม่นธนูที่ยังเหลืออยู่จนตายหมดสิ้น และจู่โจมกองทัพมุสลิมทางด้านหลัง เมื่อกลุ่มมุชริกีนที่ยังเหลืออยู่ได้เห็นสิ่งที่คอลิดกระทำ พวกเขาจึงกลับเข้าสู่สมรภูมิอีกครั้งหนึ่ง ทำให้กองทัพมุสลิมตกอยู่ในสถานการณ์วุ่นวาย กองทัพมุชริกีนจึงบุกอย่างหนัก มุสลิมถูกสังหารตายซะฮีดไปถึง 70 คน รวมถึงท่านฮัมซะฮ์ ลุงของท่านนบี (ซ.ล) ด้วย ท่านนบีมุฮัมหมัด (ซ.ล) ถูกบุกจนมีบาดแผล ฟันหน้าหักและมีเสียงดังออกมาว่าท่านนบี (ซ.ล) ถูกสังหารเสียแล้ว ทำให้มุสลิมบางส่วนเสียขวัญหมดกำลังใจ แม้ว่าสถานการณ์จะเลวร้ายเพียงใดก็ตาม บรรดามุสลิมที่อยู่ในเหตุการณ์ยังคงสู้รบต่อไปจนกระทั่งเป็นที่ปรากฏชัดเจนว่าท่านนบี (ซ.ล) ยังมีชีวิตอยู่ พวกมุชริกีนจึงยุติการรบเมื่อพวกเขาได้รับชัยชนะ นับเป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อรักษาไว้ซึ่งศาสนาอิสลาม



เนินเขาที่ท่านนบีมุฮัมหมัด (ซ.ล.) ให้นักแม่นธนู 50 คนขึ้นไปประจำการจุดยุธศาสตร์ในสงครามอูฮุด



สุสานท่านฮัมซะฮ์ บินอับดุลมุฏฏอลิบ

ลุงของท่านนบีมุฮัมหมัด (ซ.ล) หนึ่งในบรรดาผู้ชะฮีด ณ สมรภูมิอูฮุด



ปิดท้ายด้วยผลไม้ที่ขึ้นชื่อที่สุดของนครมาดีนะฮ์ คือ อินทผลัม

อินทผลัมนั้น มีหลายชนิดมาก มีตั้งแต่ราคากิโลละร้อยถึงกิโลละพัน อินทผลัมของมาดีนะห์ชนิดหนึ่งที่ดีที่สุด คือพันธุ์อัจวะห์ ดูสีดูขนาดแล้วไม่ค่อยน่ากินเท่าไร สีออกน้ำตาลเข้มๆ เกือบจะเป็นสีดำ ผิวย่นๆ
แต่ มีรสชาติอร่อย ไม่หวานมาก และที่สำคัญ ราคาแพงมาก กิโลละ 800-1000 บาท ถ้าขายในเมืองไทยประมาณ 1,400-1,600 บาท

ท่านนบีมุฮัมหมัด (ซ.ล.) กล่าวว่า “ผู้ใดรับประทานอินทผลัมอัจวะห์ 7 เม็ดในยามเช้า พิษต่างๆและไสยศาสตร์ไม่สามารถทำอันตรายแก่เขาได้ในวันนั้น (บันทึกโดยบุคอรี,มุสลิม)

และยังมีฮาดิษรายงานอีกว่า ท่านนบีมุฮัมหมัด (ซ.ล.) กล่าวว่า อินทผลัมอัจวะห์ นั้นมาจากสวนสวรรค์
และมันเป็นยาบำบัดพิษต่างๆ” (นะซาอีย์,อิบนุมาญะฮฺ)

นอกจากอินทผลัมธรรมดาแล้ว ยังมีแบบเอาเม็ดอินทผลัมออกแล้วใส่เมล็ดถั่วอัลมอนด์ นอกจากนี้ก็มีแบบแปรรูปเป็นขนม บางทีก็เคลือบด้วยช็อคโกแลตอีกมากมาย






เสริมอีกนิด

นอกจากนครมาดีนะฮ์ยังมีประวัติศาสตร์ที่ยาวนานแล้ว มีประวัติศาสตร์ที่ยังพอเหลือร่องรอยของ
อดีตอาณาจักรอิสลามที่เคยปกครองดินแดนครอบคลุมถึงแคว้นฮิญาซ อย่างอุษมานียะฮ์หรือออตโตมานเติร์ก

มัสยิดของทหารอุษมานียะฮ์(ออตโตมาน)

มาสร้างไว้ตอนที่อุษมานียะฮ์ ปกครองมาดีนะฮ



และสิ่งที่อาณาจักรอุษมานียะฮ์ จะทำให้การเดินทางมายังนครมาดีนะฮ์ มีความสะดวกสบายต่อมุสลิมที่จะเดินทางมาเยือน คือการสร้างรถไฟฮีญาซ (Hejaz Railway) บริเวณของสถานี ซึ่งเป็นมรดกที่เหลือจากโครงการสร้างรถไฟเชื่อมต่อนครอิสตันบูลมาสู่นครมาดีนะฮ์ ของคอลีฟะฮ์ อับดุลฮามีดที่ 2 ซึ่งมันถูกทำลายโดยกลุ่มปฎิวัติอาหรับและ Lawrence จากอังกฤษ ปัจจุบันสถานีรถไฟถูกเปลี่ยนเป็นพิพิธภัณฑ์ของนครมาดีนะฮ์แล้ว มีบางส่วนของทางรถไฟสายประวัติศาสตร์นี้ยังใช้อยู่ถึงปัจจุบันคือ สายจากกรุงอัมมาน สู่กรุงดิมัสกัส



ความจริงแผนของคอลีฟะฮ์ อับดุลฮามีดที่จะสร้างสายรถไฟนี้ยิ่งใหญ่กว่ามาก คือต้องการที่จะสร้างทางรถไฟเชื่อมต่อทุกพิ้นที่ในจักรวรรดิอิสลามอุษมานีย์ (ถ้าอุษมานียะฮฺยังอยู่เราก็คงมีสายรถไฟที่ยาวที่สุดในตะวันออกกลางก็ว่าได้) ส่วน งบประมาณในการสร้างสายรถไฟเชื่อมต่อจักรวรรดิอิสลามในครั้งนี้ไม่ใช่เงินที่มาจากงบประมาณกลางโดยทั้งหมดแต่มันได้มาจากการเรี่ยไรบริจาคของพี่น้องมุสลิมทั่วโลก ตามประวัติศาสตร์ ชาวมุสลิมแห่งอาณาจักรโมกุล (อินเดียและปากีสถานปัจจุบัน) ได้บริจาคมากที่สุดให้โครงการครั้งนี้.

อ้างอิงที่มา
https://pantip.com/topic/30449278
- https://sites.google.com/site/phairotemasyid/masyi-eu/masyid-allna

#อารยธรรมอิสลาม_Islamic_Society_Online
#Islamic_Society_Online

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความแนะนำ

World Clock

Featured Posts

เรื่องราวของสองอารยธรรม : อารยธรรมของชาวไวกิ้งและมุสลิม

เรื่องราวของสองอารยธรรม : อารยธรรมของชาวไวกิ้งและมุสลิม โดย : Cem Nizamoglu และ Sairah Yassir-Deane ย้อนหลังไปถึงมีนาคม 2015 ข่าวเกี่ยวก...