product :

วันจันทร์ที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2560

จักรวรรดิอุษมานียะห์ เมื่ออาทิตย์อัสดง : การปลุกระดมและยุยงให้พลเมืองในจักรวรรดิอุษมานียะห์ก่อการปฏิวัติลุกฮือ

จักรวรรดิอุษมานียะห์ เมื่ออาทิตย์อัสดง : การปลุกระดมและยุยงให้พลเมืองในจักรวรรดิอุษมานียะห์ก่อการปฏิวัติลุกฮือ

(อาลี เสือสมิง)



เพื่อให้เป้าหมายสัมฤทธิ์ผลในช่วงเวลาอันสั้น รุสเซียจึงได้ใช้แผนการปลุกระดมและยุยงชาวคริสเตียนนิกายออธอดอกซ์ในจักรวรรดิอุษมานียะห์ให้กลายเป็นแนวร่วมกับตนเพื่อบั่นทอนเสถียรภาพของอุษมานียะห์

ปรากฏในพระราชหัตถเลขาว่าด้วยวิเทโศบายของพระเจ้าซาร์ปิเตอร์ มหาราช ข้อที่ 12 ว่า
“สมควรอย่างยิ่งที่เราจะต้องโน้มน้าวชาวคริสเตียนทั้งหมดไม่ว่าออธอดอกซ์หรือโรมันซึ่งอาศัยกันอยู่ทั่วโลกในจักรวรรดิออตโตมาน ดินแดนฮังการีและโบโลเนียให้ทั้งหมดมาเห็นดีเห็นงามกับฝ่ายเรา และเราจะต้องทำให้พวกเขายึดเอารุสเซียเป็นที่พึ่งและฐานกำลังสนับสนุน ฉะนั้นก่อนอื่นจะต้องสร้างแกนนำของแต่ละนิกายในคริสต์ศาสนาเสียก่อน เพื่อที่เราจะได้สามารถใช้อิทธิพลที่มีอยู่กับรัฐบาลของคณะสงฆ์ ซึ่งเป็นหนทางในการสร้างสมแนวร่วมที่เราจะพึ่งพาได้ในมณฑลต่างๆ ของเหล่าอริราชศัตรู (อัดเดาละห์ อัลอุษมานียะห์ วัรรูซ หน้า 47 , ตารีค อัดเดาะละห์ หน้า 333)

รุสเซียได้ใช้ความปรารถนาในคราบ “มนุษยธรรม” เป็นฉากบดบังเป้าหมายอันแท้จริงของตนเอาไว้ นั่นคือ การสร้างแนวร่วมที่คอยสนับสนุนรุสเซียอยู่ภายในระบอบของจักรวรรดิอุษมานียะห์ วิธีการเช่นนี้ได้ปรากฏชัดตั้งแต่วันแรกที่ซุลตอนอับดุลฮะมีดได้เสด็จขึ้นครองราชย์และพระองค์ก็พบว่า การก่อการปฏิวัติลุกฮือได้โหมกระพืออย่างเกรี้ยวกราดไปทั่วแคว้นบอสเนียและเฮเซอร์โกวิน่า พลเมืองของทั้งสองแคว้นมีความมุ่งมั่นเพื่อแยกตัวออกจากจักรวรรดิ และพระองค์ยังได้ทรงพบอีกว่าในเวลานั้นไฟแห่งการปฏิวัติลุกฮือยังคงคุกรุ่นอยู่ในบัลแกเรีย (บัลแกเรียเป็นดินแดนหนึ่งในคาบสมุทรบอลข่าน พวกอุษมานียะห์ได้ยึดครองกรุงโซเฟียของบัลแกเรีย ในปีค.ศ. 1386)

ตลอดจนเซอร์เบีย และมอนเตรเนโกร ก็กำลังทำสงครามรบพุ่งกับจักรวรรดิเพื่อชัยชนะของพวกก่อการปฏิวัติและการณ์ดังกล่าวเป็นไปเพราะการยุยงปลุกปั่นของรุสเซียซึ่งเข้ามามีส่วนร่วมในการทำสงครามเหล่านั้น หากแต่ยังมิใช่โดยตรงอีกทั้งรุสเซียยังได้สนับสนุนเหล่าปัจจามิตรของจักรวรรดิทั้งอาวุธยุทโธปกรณ์และสรรพาวุธรวมถึงนายทหารอีกเป็นจำนวนมากที่ถูกคัดชื่อออกจากทะเบียนของกองทัพรุสเซียชั่วคราวเพื่อเข้าร่วมในการปฏิบัติการสงครามดังกล่าว

เหตุการณ์เหล่านี้ทั้งหมดล้วนเป็นปัจจัยต่อการสั่นคลอนราชบัลลังก์ของจักรวรรดิอุษมานียะห์อย่างรุนแรงตลอดระยะเวลาหลายเดือน ซึ่งทำให้การกบฏและสงครามเกิดขึ้นไปพร้อมๆ กัน ครั้นเมื่อจักรวรรดิอุษมานียะห์ได้ลงนามในสนธิสัญญาสงบศึกโดยมีเงื่อนไขว่า จะต้องไม่มีการส่งอาวุธยุทโธปกรณ์ หรือสรรพาวุธ หรือกองกำลังใดๆ เพื่อสนับสนุนกลุ่มผู้ก่อการกบฏในแคว้นบอสเนีย และเฮเซอร์โกวิน่า ตลอดจนเซอร์เบียและมอนเตรเนโกรในระหว่างการทำสนธิสัญญา กลุ่มประเทศยุโรปก็ปฏิเสธเงื่อนไขข้อนี้ และในขณะเดียวกันรุสเซียก็เข้ามาแทรกแซงและส่งคำเตือนถึงราชสำนักอุษมานียะห์ว่าจะต้องลงนามในสนธิสัญญาโดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ ในวันที่ 25 ตุลาคม (อัดเดาะละห์ อัลอุษมานียะห์ ดร.อัชชีนาวีย์ 2/1068 ตารีค อัดเดาละห์ หน้า160)

การใช้นโยบายยุยงปลุกระดมของรุสเซียและกลุ่มประเทศยุโรปที่ชัดเจน ก็คือการสนับสนุนพวกก่อการกบฏในแคว้นเซอร์เบียและมอนเตรเนโกร (เซอร์เบียตกอยู่ใต้อาณัติของอุษมานียะห์อย่างเด็ดขาดตั้งแต่ปีค.ศ.1393) ตลอดจนบอสเนียและเฮเซอร์โกวิน่า และบั่นทอนเสถียรภาพของอุษมานียะห์และบังคับให้อุษมานียะห์จำต้องยอมรับต่อสภาพการณ์ที่เกิดขึ้น

รุสเซียได้ถือว่าตนเป็นผู้พิทักษ์คุ้มครองพลเมืองคริสเตียนที่อยู่ท่ามกลางชาวอุษมานียะห์ และยึดเอาประเด็นนี้เป็นหนทางในการปกปิดเจตนารมณ์อันแท้จริงของตน นั่นคือการเข้าร่วมสงครามครั้งใหม่ ซึ่งมีความพร้อมทั้งในด้านกำลังทหารและการเมืองที่ทรงอิทธิพลในวงกว้าง โดยมีความมุ่งมั่นต่อการสร้างความปราชัยอันเป็นโศกนาฏกรรมให้กับอุษมานียะห์

ในเบื้องแรกจักรวรรดิอุษมานียะห์ได้ปฏิบัติต่อท่าทีเช่นนี้อย่างอ่อนแอโดยหามีความจริงจังไม่ แต่แล้วไม่นานนักจักรวรรดิอุษมานียะห์ก็รู้แน่ชัดว่า สงครามเกือบจะระเบิดขึ้นรอมร่อ กล่าวคือขณะที่พระเจ้าซาร์ของรุสเซียได้ทรงมีพระราชสาส์นปลุกระดมเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน ค.ศ.1876 โดยพระองค์ทรงสรรเสริญถึงวีรกรรมของพลเมืองเซอร์เบียและมอนเตรเนโกรในการทำสงครามต่อต้านจักรวรรดิอุษมานียะห์ (อัดเดาละห์ อัลอุษมานียะห์ 2/1068 , ตารีค อัดเดาละห์ อัลอุษมานียะห์ หน้า160)

ความพยายามของรุสเซียในการยุยงปลุกปั่นพวกก่อการกบฏต่ออุษมานียะห์ และสนับสนุนช่วยเหลือทางด้านอาวุธยุทโธปกรณ์มิได้หยุดอยู่เพียงแค่นั้น หากแต่รุสเซียยังได้ส่งเอกสารเผยแพร่ลงวันที่ 3 ของเดือนพฤศจิกายน ถึงจักรวรรดิเพื่อแจ้งให้ทราบถึงการเตรียมพร้อมในการเคลื่อนกำลังทหารประชิดเส้นพรมแดนอุษมานียะห์ โดยอาศัยข้ออ้างการพิทักษ์คุ้มครองชาวคริสเตียนซึ่งเป็นพลเมืองของจักรวรรดิก่อนหน้าที่จักรวรรดิจะเตรียมระดมพลจากทั่วทุกแคว้นทั้งในเอเชียและแอฟริกาอย่างทันท่วงที (อ้างแล้ว 2/1071)

เพื่อให้ภาวะสงครามที่อาจจะเกิดขึ้นระหว่างสองฝ่ายเป็นเรื่องที่ห่างไกลออกไป อังกฤษจึงร้องขอให้มีการประชุมหารือเพื่อพิจารณาในประเด็นปัญหาข้อนี้ บรรดาคณะผู้แทนจากทุกฝ่ายจึงมาถึงอัสตานะห์ (อิสตันบูล) และดำเนินการประชุมนอกรอบในสถานทูตรุสเซีย ต่อมาจึงเปิดการประชุมอย่างเป็นทางการในปี ฮ.ศ.1293 ณ กรมราชนาวี โดยมีซอฟวัต ปาชา เป็นประธานซึ่งได้แจ้งแก่ผู้เข้าร่วมประชุมหารือในครั้งนั้นรับทราบว่า รัฐบาลแห่งอุษมานียะห์พร้อมที่จะพิจารณาข้อเรียกร้องบางประเด็นของที่ประชุมแต่รัฐบาลอุษมานียะห์หาได้มีความพร้อมอันใดไม่ต่อการยอมสูญเสียดินแดนไม่ว่าจะเป็นส่วนใดก็ตามทั้งเซอร์เบียหรือมอนเตรเนโกรหรืออื่นๆ (อัดเดาละห์ อัล อุษมานียะห์ 2/1071)

ผลจากคัดค้านดังกล่าว การประชุมจึงปิดฉากลงบรรดาคณะผู้แทนจึงเร่งรุดกลับสู่ประเทศของตนยกเว้นทูตของรุสเซีย ซึ่งให้เหตุผลว่า สถานการณ์น่านน้ำในอาณาเขตของอุษมานียะห์ขณะนั้นไม่เอื้ออำนวยในการเดินทางกลับจึงยังคงอยู่ต่อไปในอัสตานะห์ เพื่อวางแผนการและคบคิดซ่องสุมเพื่อทำลายจักรวรรดิอุษมานียะห์ และรุสเซียก็ถือว่าประเทศของตนอยู่ในภาวะสงครามกับอุษมานียะห์นับตั้งแต่การประชุมหารือ ณ อิสตันบูลได้จบลง

สำหรับกรณีบัลแกเรียนั้นรุสเซียได้ใช้นโยบายปลุกระดมและเสี้ยมยุยงให้เกิดการกบฏทั้งในบัลแกเรียและเวียนนาแห่งออสเตรีย ทั้งๆ ที่จักรวรรดิอุษมานียะห์ได้ยอมให้พลเมืองในบัลแกเรียได้รับสิทธิต่างๆ ตามที่ร้องขอ กลุ่มกบฏได้เริ่มเคลื่อนไหว แต่ก็ได้รับการปราบปรามจนอยู่หมัด กระนั้นก็ตามรุสเซียยังคงใช้ความพยายามในการชักจูงกลุ่มประเทศคริสเตียนอื่นๆ ให้เข้ามามีส่วนในการสร้างความวุ่นวายและแพร่ความหวั่นวิตกให้เกิดขึ้นทั่วจักรวรรดิอุษมานียะห์ (ตารีค อัดเดาะละห์ อัลอุษมานียะห์ หน้า 172 , อัลอุษมานียูน วัรรูซ หน้า 80)

กลุ่มองค์กรต่างๆ ซึ่งรุสเซียได้แต่งตั้งขึ้นเพื่อแผ่ขยายอิทธิพลของตนในกลุ่มชนชาติสล๊าฟ ก็ประสบความสำเร็จในการสร้างความบาดหมางและข้อพิพาทระหว่างมุสลิมกับชาวคริสเตียน โดยได้รับการหนุนหลังและปลุกปั่นจากรุสเซีย ซึ่งวางแผนการณ์ให้กับพวกสล๊าฟ ก่อการวางเพลิงใน เอเดรียโนเปิ้ล (อะดิรนะห์) และฟิลบะห์ เกิดการสังหารหมู่ การทำลายหมู่บ้านหลายแห่งด้วยกัน แต่การจลาจลก็ถูกปราบปรามลงในที่สุด พวกที่สร้างความเสียหายจึงเที่ยวโพนทะนาและสร้างข่าวเท็จเกี่ยวกับความโหดร้ายป่าเถื่อนของพวกอุษมานียะห์ไปทั่วยุโรป แต่ปิดบังอาชญากรรมของพวกตนเอาไว้

กลุ่มประเทศคริสเตียนจึงโหมกระพือและถือว่าการกระทำของอุษมานียะห์เป็นเรื่องโหดร้ายจนมิอาจยอมรับได้ ผู้นำคริสเตียนบางคน เช่น กลาดสโตน (วิลเลี่ยม กลาดสโตน (Gladstone ค.ศ.1809-1898) นักการเมืองชาวอังกฤษ ผู้นำพรรคเสรีชน เคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของอังกฤษอยู่หลายครั้งด้วยกัน) แกนนำกลุ่มเสรีชนในสหราชอาณาจักรอังกฤษ ก็กล่าวโจมตีเหมารวมจักรวรรดิอุษมานียะห์ว่าโหดร้ายป่าเถื่อน และหลงลืมสิ่งที่อังกฤษได้ก่อกรรมทำเข็ญเอาไว้กับพลเมืองชาวไอริชเสียสิ้น (ไอร์แลนด์ (Ireland) แบ่งออกเป็นสองส่วน คือ ไอร์แลนด์เหนือ ซึ่งอยู่ใต้อาณัติของอังกฤษ และสาธารณรัฐไอร์แลนด์ซึ่งได้เอกราชจากอังกฤษ เมื่อปีค.ศ. 1921 ในส่วนของไอร์แลนด์เหนือซึ่งมีเบลฟาสต์เป็นเมืองหลวง พลเมืองซึ่งถือในคริสศาสนานิกายคาทอลิก ต้องถูกกดขี่อย่างโหดร้ายจากรัฐบาลอังกฤษและมีกรณีพิพาทกับชาวโปรแตสแตนท์อยู่เนืองๆ ในทุกวันนี้ไอร์แลนด์เหนือมีขบวนการกู้ชาติไอริชเคลื่อนไหวและต่อสู้กับรัฐบาลอังกฤษเพื่อเอกราชของตน)

ฉะนั้น จึงเกิดคำถามขึ้นว่า
ด้วยเพราะเหตุอันใดรุสเซียจึงได้ดำเนินไปในวิถีทางเช่นนี้?
รุสเซียได้กระทำการเยี่ยงกลุ่มประเทศคริสเตียนอื่นๆ คุกคามและเล่นงานจักรวรรดิอุษมานียะห์ด้วยการใช้วิธีการเช่นนี้ ซึ่งก็คือการบั่นทอนและลิดรอนกำลังทหารและเศรษฐกิจของจักรวรรดิและสร้างความแตกแยกในส่วนของแนวร่วมตลอดจนโหมระดมปลุกปั่นมติมหาชนทั่วโลกให้เป็นปรปักษ์กับจักรวรรดิ เมื่อสิ่งดังกล่าวเป็นความจริงแล้ว การบรรลุเป้าหมายก็มิใช่เรื่องยากอีกต่อไป

การดำเนินการของรุสเซียเพื่อให้มีค่ายหรือฝ่ายพันธมิตรซึ่งเป็นปัจจามิตรต่ออุษมานียะห์นั้นถือเป็นการสนองวิเทโศบายของจักพรรดิปิเตอร์ มหาราช ซึ่งมีพระหัตถเลขาระบุว่า : “รุสเซียมิอาจยืนเผชิญหน้ากับจักรวรรดิอุษมานียะห์ได้เพียงลำพังโดยไม่มีพันธมิตร”
ข้อนี้หาใช่เป็นเจตนารมณ์ของปิเตอร์แต่เพียงผู้เดียวไม่ หากแต่พระคาร์ดินัล อัลบีรูนี ชาวอิตาเลี่ยนก็ร่วมเจตนารมณ์เช่นนี้เหมือนกัน ซึ่งพระคาร์ดินัลผู้นี้ได้เสนอแผนการของตนเพื่อกำจัดจักรวรรดิอุษมานียะห์ อันมีข้อสรุปว่าจำเป็นที่ออสเตรียจะต้องได้รับการสนับสนุนจากทางด้านฝรั่งเศสและสเปนเพื่อเล่นงานอุษมานียะห์ร่วมกัน อันเป็นบทสรุปที่ยืนยันได้ว่าความเป็นพันธมิตรคริสเตียนซึ่งร่วมกันต่อต้านรัฐอิสลามนั้นเป็นเรื่องที่รุสเซียเองก็พยายามให้บรรลุถึงมาแต่เก่าก่อนแล้ว พระคาร์ดินัล อัลบีรูนี ยังได้กล่าวว่า : “การตกลงทวิภาคีระหว่างออสเตรียและรุสเซีย จำต้องเกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์ซึ่งผลที่ตามมาก็คือ จะทำให้ทั้งออสเตรียและรุสเซียสามารถขับไล่พวกอุษมานียะห์ (ออตโตมาน) ให้ออกไปจากยุโรปและยึดครองดินแดนอันศักดิ์สิทธิ์กลับคืนมา” ความสนใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ของอัลบีรูนีมีมากจนถึงขั้นชี้แนะถึงวิธีการจัดเตรียมกองทัพทั้งในด้านกำลังทหารและงบประมาณ

เพื่อเป็นการยืนยันถึงความคิดของตน อัลบีรูนีได้กล่าวว่า : ความล้มเหลวของสงครามครูเสดนั้นมีต้นตอมาจากความขัดแย้งของชาวคริสเตียนเกี่ยวกับการแบ่งหรือแยกกันตีดินแดน การกระตุ้นให้เกิดความห้าวหาญและฮึกเหิมต่อการสงครามย่อมไม่เพียงพอ ดังนั้นอัลบีรูนีจึงได้อธิบายให้ชาวคริสเตียนได้รับรู้ถึงวิธีการโจมตีอย่างละเอียดลออ กล่าวคือรุสเซียต้องเคลื่อนกองทัพมุ่งสู่ไครเมียและจะต้องยึดครองเมืองอาซอฟในเวลาเดียวกันกองทัพของชาวโบโลเนีย เดนมาร์ก และสวิตเซอร์แลนด์ จะต้องข้ามแม่น้ำเดนิสทร์ (Deniestr) (แม่น้ำในรุสเซียมีต้นกำเนิดใกล้กับเส้นพรมแดนของโบโลเนียและไหลผ่านยูเครนและมอลดาเวียและไหลลงสู่ทะเลดำ) เข้าตีดินแดนบุฆราน (โรมาเนีย) และดินแดนของชาวตาตาเรี่ยน รวมถึงดินแดนแทรปซอน (Trabzon) -ในแคว้นอาร์มาเนียของตุรกีบนชายฝั่งทะเลดำ- และเมืองอื่นๆ

กระแสความคิดเช่นนี้ได้แพร่สะพัดและครอบงำไปทั่วยุโรปในราวปลายคริสศตวรรษที่ 18 และทำให้ไฟแห่งการต่อสู้ของชาวคริสเตียนเพื่อทำสงครามกับอุษมานียะห์ได้ลุกโหมอีกระลอกหนึ่ง

วอลแตร์ (Voltaire -1694-1778) (ฟรังซัว มาควีเออร์วาย วอลแตร์ (1694-1778) เกิดในปารีส และพำนักอยู่ในปรัสเซียและสวิตฯ เป็นแกนนำแนวความคิดปรัชญาเชิงวัตถุนิยม และต่อสู้กับอำนาจคริสจักรและฝ่ายอาณาจักร มีผลงานทั้งที่เป็นบทกวี , ประวัติศาสตร์ , จดหมาย , ปรัชญา และบทละคร) ก็เป็นอีกคนที่เรียกร้องให้ชาติยุโรปช่วยเหลือชาวคริสเตียนในจักรวรรดิอุษมานียะห์ ตลอดจนแต่งบทกวีปลุกใจ “ชีเน่ห์” ให้สู้รบกับชาวเติร์ก และนักปรัชญาคอมเต้ (Comte) ชาวฝรั่งเศสก็ได้เขียนหนังสือเผยแพร่เล่มหนึ่งที่เขาให้ชื่อว่า “สถานการณ์ของตุรกีในด้านการทหาร ความก้าวหน้า และความล้าหลัง” โดยกล่าวว่า : เมื่อจักรวรรดิรุสเซียทำข้อตกลงกับโบโลเนีย และเวนิสแล้วก็ย่อมสามารถกำจัดอิทธิพลของออตโตมาน (อุษมานียะห์) ได้อย่างสิ้นซาก (อัลอุษมานียะห์ วัรรูซ หน้า48)

วันที่ 30 มีนาคม ค.ศ.1780 พระจักรพรรดินีแคธรีน่าแห่งรุสเซียได้ทรงแปรเปลี่ยนเจตนารมณ์เช่นนี้ให้เป็นรูปธรรม พระนางทรงพบปะกับโจเซฟที่ 2 กษัตริย์แห่งออสเตรีย และทั้งสองฝ่ายก็ตกลงกันในการล้มล้างตุรกี และมีเสียงตอบรับเจตนารมณ์ดังกล่าว วอลแตร์นักเขียนชาวฝรั่งเศสได้เขียนบทความตีพิมพ์เผยแพร่ภายใต้หัวข้อ “ข้อพิจารณาถึงสงครามที่เกิดขึ้นกับชาวเติร์ก”

วอลแตร์ได้ประกาศในบทความนั้นถึงการสนับสนุนของตนต่อนโยบายทางการเมืองของรุสเซียซึ่งเป็นชนชาติสล๊าฟในเวลาเดียวกันกับที่ออสเตรียได้ผนึกกำลังเข้าร่วมสมทบกับรุสเซียและร่วมกันประกาศสงครามกับจักรวรรดิอุษมานียะห์ วอลแตร์ได้ปลุกจิตสำนึกพลเมืองร่วมเผ่าพันธุ์ของตนอีกด้วยว่า จำเป็นที่พลเมืองเหล่านั้นจะต้องเป็นพันธมิตรกับรุสเซีย โดยกล่าวว่า “ตุรกีจำต้องสูญสิ้นไป” และฝรั่งเศสสมควรมีข้อตกลงกับรุสเซียเพื่อวัตถุประสงค์ดังกล่าว และฝรั่งเศสจะต้องไม่คัดค้านในการปลดแอกกรุงคอนสแตนติโนเปิ้ล (อัลอุษมานียูน วัรรูซ หน้า49)

ในศตวรรษที่ 19 รุสเซียได้ดำเนินการตามแรงบันดาลใจของกลุ่มขบวนการชนชาติสล๊าฟ ซึ่งก็คือขบวนการชาตินิยมรุสเซียที่มีเป้าหมายในการรวมชาติพันธุ์สล๊าฟแห่งคาบสมุทรบอลข่านที่ยึดมั่นในนิกายออธอดอกซ์ และปลดแอกพวกเขาให้พ้นจากอิทธิพลครอบงำของอุษมานียะห์ จากจุดนี้ขบวนการรวมชาติพันธุ์สล๊าฟ จึงเป็นภัยคุกคามต่ออุษมานียะห์ เพราะเป้าหมายสูงสุดของขบวนการนี้คือการกำจัดความมีอยู่ของอุษมานียะห์ในยุโรปทั้งหมด (อัดเดาละห์ อัลอุษมานียะห์ เดาละห์ อิสลามียะห์ มุฟตะรอ อะลัยฮา 2/1060)

ถ้าหากว่าจักรวรรดิอุษมานียะห์ไร้ซึ่งความตั้งมั่นและการยืนหยัดอันเด็ดเดี่ยวแล้วละก็จักรวรรดิอุษมานียะห์ก็คงกลายเป็นผุยผงและจบฉากหน้าประวัติศาสตร์ของตนตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 หรือศตวรรษที่ 19 ไปเสียนานแล้ว แต่อุษมานียะห์ก็ยังคงยืนหยัดต่อสู้กับโรคร้ายแห่งกาลเวลาและการเป็นพันธมิตรร่วมของรุสเซียกับยุโรปมากกว่าสองศตวรรษ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความแนะนำ

World Clock

Featured Posts

เรื่องราวของสองอารยธรรม : อารยธรรมของชาวไวกิ้งและมุสลิม

เรื่องราวของสองอารยธรรม : อารยธรรมของชาวไวกิ้งและมุสลิม โดย : Cem Nizamoglu และ Sairah Yassir-Deane ย้อนหลังไปถึงมีนาคม 2015 ข่าวเกี่ยวก...