product :

วันจันทร์ที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2560

จักรวรรดิอุษมานียะห์ เมื่ออาทิตย์อัสดง : นโยบายการก่อสงคราม

จักรวรรดิอุษมานียะห์ เมื่ออาทิตย์อัสดง : นโยบายการก่อสงคราม

(อาลี เสือสมิง)


หน้าประวัติศาสตร์คราครั่งไปด้วยการขับขานถึงการทำสงครามที่เกิดขึ้นระหว่างพวกอุษมานียะห์กับรุสเซียซึ่งชัยชนะตกเป็นของอุษมานียะห์เสมอ ในยามที่จักรวรรดิมีความเข้มแข็งและเป็นฝ่ายที่สร้างความครั่นคร้านแก่ศัตรูจวบจนรัชสมัยซุลตอนสุลัยมาน อัลกอนูนีย์ และถึงแม้ว่าประดาความวุ่นวายได้รุมเร้าโครงสร้างทางการเมืองของอุษมานียะห์จะมิเคยว่างเว้นในช่วงที่อ่อนแอ นอกเสียจากว่าทางราชสำนักก็ได้ให้คำมั่นในการรุกคืบทางการทหารระลอกใหม่ กล่าวคือ ในขณะที่รุสเซียได้มีท่าทีคุกคามต่อจักรวรรดิอุษมานียะห์จากทางตอนเหนือของทะเลดำและกูกอซ (Kavkaz เทือกเขาทางตอนใต้ของสหภาพโซเวียตในปัจจุบัน ตั้งอยู่ระหว่างทะเลดำและทะเลกอซฺวัยน์ ถือเป็นเส้นพรมแดนแบ่งระหว่างยุโรปและเอเชีย) 

รุสเซียพยายามในการเข้ายึดครองเมืองอาซอฟ (Azov เป็นเมืองท่าในอ่าวที่แยกจากทะเลดำ และแผ่ยื่นอาณาเขตจรดตอนใต้ของรุสเซียและยูเครนตลอดจนคาบสมุทรไครเมีย) แต่ทว่า ซุลตอนมุสตอฟาก็สามารถบดขยี้พวกรุสเซียได้อย่างย่อยยับและผลักดันกองทัพรุสเซียจากการปิดล้อมเมืองอาซอฟได้ในปี ฮ.ศ.1106 (อัลอุษมานียูน วัรรูซ หน้า69)

จักรพรรดิปิเตอร์ มหาราช ผู้มีความทะเยอทะยานในการแผ่ขยายดินแดนได้พยายามในการใช้กำลังปิดล้อมเมืองท่าอาซาก (หรืออาซอฟ) เพื่อหาเส้นทางออกสู่ทะเลดำ และพวกชนเผ่ากูซากมีหลักแหล่งอยู่ในอาณาบริเวณที่ขวางกั้นรุสเซียกับทะเลดำ แต่ทว่าเสนาบดีมุสตอฟา กูบิรลี่ ปาชา แห่งอุษมานียะห์ก็สามารถนำเอาสิ่งที่จักรวรรดิได้สูญเสียกลับคืนมาทั้งเกียรติยศและความรุ่งโรจน์ในปี ค.ศ.1695

ภายหลังการได้รับชัยชนะของซุลตอนอะห์หมัดที่ 1 (ค.ศ.1643-1695) ในสมรภูมิที่สู้รบกับฮังการี ความปราชัยก็เกิดขึ้นกับจักรวรรดิอุษมานียะห์ ณ แม่น้ำเตซ (Thiess) (เป็นแม่น้ำสายหนึ่งในฮังการีมีต้นกำเนิดจากยูเครนและไหลไปรวมกับแม่น้ำดานูบในยูโกสลาเวีย) ในการศึกกับออสเตรียซึ่งมีเจ้าชายอูจิน ดิ ซาโฟว่า เป็นแม่ทัพ ฝ่ายอุษมานียะห์ได้สูญเสียทหารเป็นอันมากรวมถึงมหาเสนาบดี (อัซซอดรุ้ลอะอ์ซอม) อัลมาซ มุฮำหมัด ปาชา สมรภูมิครั้งนั้นเกิดขึ้นในวันที่ 25 ซอฟัร ฮ.ศ.1109 ตรงกับวันที่ 12 กันยายน ค.ศ.1697 และผลที่ตามมาก็คือ เจ้าชายอูจินสามารถรุกคืบจนเข้ามายึดครองบอสเนียได้ในที่สุด

ปิเตอร์ มหาราชได้ฉวยโอกาสจากเหตุการณ์ครั้งนี้และโจมตีอาซากและเข้ายึดครองได้ในปีค.ศ. 1697 เมืองอาซาก (อาซอฟ) จึงตกอยู่ในกำมือของรุสเซียนับแต่บัดนั้น (อัลอุษมานียะห์ วัรรูซ หน้า 75 , ตารีค อัดเดาละห์ หน้า 309)
พวกอุษมานียะห์ได้ยอมเสียน่านน้ำด้านอาณาเขตของทะเลอาซอฟให้แก่ปิเตอร์ มหาราช ในการทำสนธิสัญญาประนีประนอมคาร์โลฟิตซ์ เมื่อปีค.ศ.1699 และยอมสูญเสียฮังการีและทรานซิลวาเนียแก่ออสเตรียกระนั้นความโลภโมโทสันของพวกครูเสดต่อดินแดนอิสลามก็ได้เพิ่มมากขึ้น ความทะเยอทะยานของปิเตอร์ มหาราชได้ฉุดนำเขาสู่การทำสงครามรบพุ่งกับอุษมานียะห์ โดยมีเป้าหมายแผ่ขยายอิทธิพลของตนเหนือทะเลดำ แต่ทว่า บัลตอญีย์ ปาชา แม่ทัพแห่งอุษมานียะห์ก็สามารถโอบล้อมกองทัพของรุสเซียได้ไว้ทุกด้าน ณ แม่น้ำบรูซ (Prut – เป็นลำน้ำสาขามาจากแม่น้ำดานูบมีความยาว 935 ก.ม. หล่อเลี้ยงดินแดนย๊าชในโรมาเนีย-)

จนกระทั่งว่าตัวพระเจ้าซาร์รุสเซียเองก็เกือบจะตกเป็นเชลย ถ้าหากว่ามเหสีของพระองค์ไม่ออกอุบายช่วยเหลือพระราชสวามี ซึ่งตำราประวัติศาสตร์ต่างก็บันทึกว่า พระนางแคธรีน่าผู้เป็นมเหสีได้ติดสินบนแม่ทัพแห่งอุษมานียะห์ด้วยอัญมณีและของมีค่าเป็นสิ่งแลกเปลี่ยนกับอิสรภาพของพระเจ้าซาร์ (เกี่ยวกับเรื่องนี้ ดร.อิห์ซาน ฮักกีย์ ผู้ตรวจทานหนังสือ “ตารีค อัดเดาละห์ อัลอะลียะห์ อัลอุษมานียะห์” ได้หักล้างว่า : เรื่องอัญมณีและของมีค่าที่ว่านี้หามีเค้ามูลความจริงแต่อย่างใด ซึ่งไม่น่าเป็นไปได้ว่าเสนาบดี อุษมานียะห์ผู้นี้จะโง่เขลาจนคิดไม่ออกว่าอย่างไรเสีย พระนางแคธรีน่าก็ย่อมตกเป็นเชลยของตน และอัญมณีของพระนางและของอาณาจักรทั้งหมดย่อมตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจักรวรรดิอุษมานียะห์ ถ้าหากเสนาบดีบัลตอญีย์ ปาชามีชัยเหนืออาณาจักรของพระนาง และสมมติว่า เสนาบดีผู้นี้อยากจะได้ตัวพระนาง พระนางก็ย่อมเป็นสิทธิของเสนาบดีอีกเช่นกันหลังจากได้รับชัยชนะ และหากว่าเขาอยากจะได้อัญมณีและพระราชทรัพย์ของพระนาง นั่นก็เป็นสิทธิ์ของเขาอีกเช่นกัน)

ด้วยเหตุนี้ ดร.อิห์ซานจึงมีความเห็นว่า เรื่องเล่าในตำราประวัติศาสตร์นี้มีการเจือสม และเป็นที่เชื่อได้ว่าเหตุที่แม่ทัพอุษมานียะห์ไม่ได้ทำสนธิสัญญาพักรบในครานั้น ก็นอกเสียจากเป็นเพราะว่าท่านแม่ทัพคงทราบดีว่ายังมีอุปสรรคบางประการที่การพิชิตของท่านอาจจะได้รับความสูญเสีย หากว่ายังคงปิดล้อมกองทัพรุสเซียอยู่เช่นนั้น หรือไม่ก็อาจจะวินิจฉัยผิดพลาด จึงเลือกเอาข้อที่เป็นอันตรายน้อยที่สุด ยิ่งเมื่อมองดูลักษณะของเหล่าทหารอิงกิชารีย์ และเหล่าทัพตุรกีอื่นๆ เมื่อเหล่าทหารรู้ดีว่าการรับสินเป็นการทรยศต่อจักรวรรดิ พวกเขาคงไม่ปล่อยให้ท่านแม่ทัพทำการเช่นนั้นได้อย่างลอยนวล ทั้งนี้เป็นเรื่องปกติสามัญที่ทหารตุรกีมักจะถอดและลอบสังหารบรรดาเสนาบดีหรือแม้กระทั่งบรรดาซุลตอนอยู่เนืองๆ สำหาอะไรกับแม่ทัพผู้ทรยศเพียงคนเดียว (ตารีค อัดเดาละห์ อัลอะลียะห์ฯ หน้า314)

แม่ทัพบัลตอญีย์ ปาชา ได้ทำสัญญาประนีประนอมแห่งแม่น้ำบรูซกับรุสเซีย โดยมีเงื่อนไขกำหนดให้รุสเซียจำต้องถอนกำลังทหารของตนออกจาเขตอาซอฟ นอกจากนี้รุสเซียยังได้ให้คำมั่นว่าจะระเบิดป้อมตีฟาน (ตาญีซูก) และมีการลงนามสนธิสัญญาสงบศึกฟิลิฟซันอีกครั้งในปี ฮ.ศ.1133 ตรงกับค.ศ. 1711

และภายหลังการทำสนธิสัญญาครั้งนั้น ความสงบสุขและช่วงปลอดสงครามระหว่างรุสเซียและอุษมานียะห์ก็ดำเนินไปช่วงระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งหากจะว่าไปแล้วช่วงปลอดสงครามอันสงบสุขหาได้เกิดขึ้นจริงไม่ แต่เป็นช่วงของการผ่อนลมหายใจและรวบรวมพลังและจัดกองทัพใหม่มากกว่า ในที่สุดรุสเซียก็หวนกลับมาอีกครา พวกเขาเข้ายึดครองไครเมียและคุกคามราชธานีของจักรวรรดิด้วยกองทัพเรือของพวกเขา ซึ่งหากปราศจากวีรกรรมอันห้าวหาญของแม่ทัพเรือฮะซัน ปาชา อัลญะซาอีรีย์แล้วละก็ไม่แน่เหมือนกันว่าราชธานีอัสตานะห์จะรอดพ้นจากเงื้อมมือของรุสเซีย

ในส่วนพรมแดนคาบสมุทรบอลข่าน (คาบสมุทรบอลข่าน คืออาณาเขตทางตะวันออกเฉียงใต้ของยุโรประหว่างทะเลดำ ทะเลมาร์มาร่า ทะเลอาเจียน และเอเดรียติก มีพื้นที่ราว 550,000 ตามรางกิโลเมตร รวมเอายูโกสลาเวีย , แอลบาเนีย , บัลแกเรีย , กรีซ และฝั่งยุโรปของตุรกี ตกอยู่ใต้อำนาจของอุษมานียะห์ตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 14)

ซึ่งรุสเซียจ้องมองอย่างไม่คลาดสายตาด้วยความโลภโมโทสันในการแผ่ขยายดินแดนของตนเพื่อเข้าครอบครองคาบสมุทรแห่งนี้ พวกอุษมานียูน (ออตโตมาน) สามารถต้านการรุกรานภูมิภาคนี้ของรุสเซียและกดดันให้รุสเซียจำต้องยกเลิกการปิดล้อมเมืองซิลิซตรา (Silistra) – ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้จากนครบูคาเรสต์บนฝั่งแม่น้ำดานูบ- และเมืองวารนะห์ (Varna) – เมืองหนึ่งในบัลแกเรียตั้งอยู่ริมฝั่งทะเลดำ- และถอนกำลังออกจากเขตดังกล่าวในเวลาต่อมาจนต้องถอยร่นสู่ดินแดนเบื้องหลังแม่น้ำดานูบ

นอกเสียจากว่าในปีค.ศ. 1774 ซึ่งตรงกับรัชกาลซุลตอนอับดุลฮามีด ที่ 1 พวกรุสเซียก็สามารถสร้างความปราชัยแก่พวกอุษมานียะห์และทำสนธิสัญญากูญูก ฟินารญีย์ เพื่อที่จะอ้างได้ในภายหลังว่าพวกตนคือผู้มีสิทธิอันชอบธรรมในการพิทักษ์ชาวคริสเตียนซึ่งเป็นพลเมืองของอุษมานียะห์ ตลอดจนการดูแลรับผิดชอบกิจการต่างๆ ของชาวคริสเตียน นอกจากนี้ตามสนธิสัญญาฉบับนี้กองทัพเรือของรุสเซียได้รับสิทธิในการผ่านช่องแคบคาร์ดาแนลและออกสู่ทะเลเมดิเตอร์เรเนี่ยน

ในปี ฮ.ศ.1206/ค.ศ.1792 แม่น้ำเดนิสทร์ ได้กลายเป็นเส้นแบ่งพรมแดนระหว่างอุษมานียะห์กับรุสเซีย และอุษมานียะห์ก็ได้ยอมสูญเสียคาบสมุทรไครเมียแก่รุสเซียในสนธิสัญญาบ๊าช ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้ลงนามในปีเดียวกันนั้น

ในรัชสมัยซุลตอน มะห์มูด ที่ 2 ความอ่อนล้าภายในจักรวรรดิเพิ่มมากขึ้น (ตลอดจนการกบฏในเซอร์เบีย , กรีซ , และแอลบาเนีย) อันเป็นปัจจัยส่งผลให้จักรวรรดิอุษมานียะห์ประสบความพ่ายแพ้ต่อรุสเซีย นอกจากนี้รุสเซียยังได้ฉวยโอกาสร่วมก่อการปฏิวัติในแคว้นชาม (ซีเรีย) ภายหลังมุฮำหมัด อะลี ปาชา ได้ถอนกำลังทหารออกจากแคว้นชาม ดังนั้นรุสเซียจึงได้เรียกร้องสิทธิครั้งใหม่เหนือดินแดนศักดิ์สิทธิในปาเลสไตน์ และเพื่อกดดันต่ออุษมานียะห์ให้ยอมรับข้อเรียกร้องดังกล่าว รุสเซียจึงรีบเข้ายึดครองดินแดนบางส่วนของอุษมานียะห์ในคาบสมุทรบอลข่าน และโจมตีกองเรือรบของจักรวรรดิในทะเลดำ

สิ่งดังกล่าวทั้งหมดได้นำไปสู่การเกิดสงครามไครเมีย ซึ่งกินระยะเวลานับแต่ปีค.ศ. 1854 จนถึงปีค.ศ. 1856 โดยฝรั่งเศสและอังกฤษได้เข้าร่วมกับฝ่ายอุษมานียะห์ และภายหลังความสูญเสียอย่างหนักของทั้งสองฝ่าย สงครามได้จบลงด้วยการรับรองอธิปไตยของจักรวรรดิอุษมานียะห์ และการปิดช่องแคบต่อหน้ากองทัพเรือของต่างชาติทั้งหมด (ตารีค อัดเดาละห์ อัลอุษมานียะห์ ฟี อาเซีย หน้า364)

ในศตวรรษที่ 19 การขับเคี่ยวและการพิพาทได้เพิ่มมากขึ้น กอรปกับเป็นช่วงเวลาที่จักรวรรดิอุษมานียะห์อยู่ในสภาพเสื่อมและอ่อนแออย่างชัดเจน โดยเฉพาะทางด้านการคลังซึ่งเป็นไปอย่างต่อเนื่อง จนเป็นเหตุโดยตรงในความตกต่ำทางเศรษฐกิจของอุษมานียะห์ ซึ่งผลที่ตามมาเหมือนลูกโซ่ก็คือผลกระทบที่ค่อนข้างรุนแรงต่อนโยบายทางการเมืองโดยภาพรวมของจักรวรรดิในการส่งกองทัพเพื่อออกไปรักษาเส้นพรมแดนหรือขัดตาทัพจากหมู่ปัจจามิตร

นอกจากนี้สภาพเศรษฐกิจและการเมืองในภาวะเช่นนี้ยังได้ก่อให้เกิดปัญหาที่แก้ไม่ตกภายในจักรวรรดิเอง (ตารีค อัดเดาละห์ อัลอะลียะห์ อัลอุษมานียะห์ หน้า 541) เมื่อเป็นเช่นนี้กองทัพรุสเซียจึงสบโอกาสและเคลื่อนกำลังพลผ่านเส้นพรมแดนของโรมาเนียและมุ่งหน้าสู่หัวเมืองของอุษมานียะห์ก่อนการประกาศสงครามอย่างเป็นทางการ เมื่อกองทัพรุสเซียข้ามแม่น้ำดานูบซึ่งเป็นเส้นแบ่งพรมแดนอุษมานียะห์ก็ได้แจ้งให้กลุ่มประเทศตะวันตกได้ทราบ

รุสเซียได้รุกรานและละเมิดอธิปไตยตลอดจนทำผิดข้อตกลงตามสนธิสัญญาปารีส เมื่อปี ฮ.ศ. 1272/ค.ศ. 1856 ซึ่งมีมาตรากำหนดว่า :

“เมื่อเกิดกรณีพิพาทที่เกรงว่าจะเป็นสิ่งบั่นทอนความสงบสุขและริดรอนอำนาจอธิปไตยขึ้นระหว่างราชสำนักออตโตมานกับประเทศผู้ร่วมลงนามในสนธิสัญญาประเทศหนึ่งประเทศใด ก่อนที่ทั้งสองฝ่ายซึ่งมีกรณีพิพาทจะตั้งใจใช้กำลังนั้นให้ประเทศหรือรัฐที่เข้าร่วมในสนธิสัญญาเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ยระหว่างสองฝ่ายเสียก่อน ทั้งนี้เพื่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้น” (อ้างแล้ว (โดยสรุป) หน้า173)

เมื่อจักรวรรดิอุษมานียะห์พบว่ากลุ่มประเทศตะวันตกมิได้แยแสและให้ความสนใจต่อกรณีที่เกิดขึ้น –ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่ชาติตะวันตกจะมีท่าทีอมพะนำและเพียงแต่เฝ้ามองดูอยู่เฉย ๆ และพระองค์อัลลอฮ์ (ซ.บ.) ทรงรู้ดีว่า ถ้าหากทหารของอุษมานียะห์เป็นฝ่ายเปิดฉากรุกรานดินแดนของรุสเซียก่อนแล้วละก็ กองทัพเรือของชาติตะวันตกก็จะเร่งรุดเพื่อช่วยเหลือรุสเซีย และโลกทั้งโลกก็ย่อมลุกขึ้นเพื่อรุมประณามอุษมานียะห์เมื่อไม่พบว่าชาติตะวันตกกระทำการอันใดแม้เพียงแค่ให้ความสนใจอุษมานียะห์จึงส่งกองทัพเรือข้ามแม่น้ำดานูบเข้าโจมตีชายฝั่งโรมาเนียเพื่อลงโทษที่โรมาเนียสมรู้ร่วมคิดในการนี้

ดังนั้นโรมาเนียจึงประกาศแยกตนออกจากอาณัติของอุษมานียะห์และเข้าร่วมกับฝ่ายรุสเซียในการทำสงครามกับจักรวรรดิ ภายหลังกองทัพรุสเซียทั้งหมดก็ข้ามแม่น้ำดานูบ โดยมุ่งหน้าเข้าสู่เมืองตัรนะวะฮ์ (ตัรนะวะฮ์ คือ เมืองเทอร์โนโว (Turnovo) ตั้งอยู่ทางด้านตะวันออกของบัลแกเรีย) และเข้ายึดครองรวมถึงเมืองนิโคบีลี่ย์ (นิโคบิลี่ย์ หรือ นิโคโปลิส ในภาษากรีก หมายถึง นครชัย เรียกในอีกสำเนียงหนึ่งว่า Nikopol อยู่ทางเหนือของบัลแกเรียติดกับพรมแดนโรมาเนีย) และช่องแคบต่างๆ ของคาบสมุทรบอลข่านซึ่งกลายเป็นว่าอัสตานะห์ (อิสตันบูล) กำลังจะถูกคุกคาม

ดังนั้นจักรวรรดิจึงดำเนินการเปลี่ยนแปลงคณะผู้นำทางทหาร และให้ อุสมาน ปาชา ขึ้นเป็นแม่ทัพใหญ่ของอุษมานียะห์ ประวัติศาสตร์ได้จารึกวีรกรรมความกล้าหาญและความเป็นชายชาตินักรบของแม่ทัพผู้นี้ และความประเสริฐคือสิ่งที่เหล่าปัจจามิตรได้เป็นประจักษ์พยานยืนยันหลังสงครามสงบลง บรรดาศัตรูได้ให้เกียรติยกย่องและชื่นชมต่อความห้าวหาญเยี่ยงวีรชนผู้กล้าของแม่ทัพอุสมาน ปาชา ซึ่งถ้าหากดี ฮู ฮันซ์ วัลรอน เจ้าชายโรมาเนียที่นำทหารจำนวน 100,000 นาย ทำทีเข้าร่วมรบเคียงข้างอุษมานียะห์ไม่กระทำการทรยศเสียแล้ว อุสมาน ปาชา ก็คงสามารถสร้างความพ่ายแพ้ครั้งใหญ่หลวงแก่รุสเซียเป็นแน่แท้ (ตารีค อัดเดาละห์ อัลอุษมานียะห์ หน้า175 , ตารีค อัดเดาละห์ อัลอะลียะห์ หน้า629)

ส่วนทางด้านเอเชียนั้น รุสเซียได้ใช้กำลังทหารปิดล้อมเมืองกอรูซ (หรือกอร์ซ kars -ทางตะวันออกเฉียงเหนือของอนาโตเลีย) และมุ่งหน้าเดินทัพเพื่อยึดครองบายะซีด พร้อมทั้งพยายามเข้าตีอัรดะฮาน และบาตูม (เมืองท่าชายฝั่งทะเลดำ) ภายหลังรุสเซียได้กระจายกำลังทางทหารของตนในอาณาบริเวณดังกล่าว พวกอุษมานียูนก็ได้บดขยี้กองทัพรุสเซีย ด้วยการนำทัพของอะห์หมัด มุคต๊าร ปาชา ซึ่งจัดระเบียบกองทัพและหวนกลับเข้าตีทัพศัตรู พวกรุสเซียจึงได้ถอยร่นกลับสู่พรมแดนของพวกตน และกองทัพน้อยของอุษมานียะห์ก็ได้ไล่ติดตามกองทัพรุสเซียที่แตกพ่ายและสามารถยึดครองเขตเทือกเขาสูงบางส่วนภายในเส้นพรมแดนของรุสเซียโดยมีอิสมาอีล ฮักกีย์ ปาชา เป็นแม่ทัพและกองทัพของอุษมานียะห์ก็ได้จารึกชัยชนะในสมรภูมิอื่นๆ อีกถึง 6 ครั้ง

และซุลตอนอับดุลฮะมีดได้ทรงมีพระราชสาส์นถึงอะห์หมัด มุคต๊าร ปาชา ว่า :
“อันภารกิจสูงสุดนั้นมาจากพระผู้ทรงช่วยเหลือให้มีชัยโดยแท้ พระองค์ผู้ทรงสถิตย์ความยุติธรรมอันสมบูรณ์ พระผู้ทรงเป็นสักขีพยานถึงความสัจจริงแห่งการเรียกร้องสิทธิอันชอบธรรมของเราในการศึกสงครามอันเป็นที่ประจักษ์นี้ ซึ่งนับแต่บัดนี้คือพันธกรณีด้วยการเกื้อหนุนจากจิตวิญญาณแห่งองค์ศาสนทูต ซอลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ผู้เป็นนายแห่งเรา ผู้ทรงสัจจริง ซึ่งพระองค์ท่านนั้นคือสายเชือกอันเหนียวแน่นในยามวิกฤติทั้งปวง ให้กองทัพแห่งทหารหาญของเราได้รับชัยชนะอันประจักษ์ชัดในการศึกสงครามทั้งปวง” (ตารีค อัดเดาละห์ อัลอุษมานียะห์ หน้า175 , ตารีค อัดเดาละห์ อัลอะลียะห์ หน้า629)

ภายหลังรุสเซียก็ดำเนินแผนการโจมตีครั้งใหม่ภายใต้การนำทัพของนายพลเมลิคอฟ โดยอาศัยโอกาสขณะที่กำลังบำรุงของอุษมานียะห์มีน้อย กอรปกับมีทหารเป็นอันมากได้สูญเสียชีวิตเพื่อพลีชีพ ผลที่ตามมาย่อมทำให้อุษมานียะห์มิอาจต้านทานได้เลย พวกศัตรูก็รุกคืบหน้าไล่ตามกองทัพอุษมานียะห์ซึ่งถอยร่นสู่อัรฎูม (เออร์ซูรัม Erzurum ตั้งอยู่ทางตะวันออกของคาบสมุทรอนาโตเลีย) และรุสเซียก็ยึดครองเมืองกอร์ซ ผลที่รุสเซียได้ยุยงปลุกปั่นชาวเซอร์เบียก็ประกาศสงครามกับจักรวรรดิอุษมานียะห์ซึ่งมีอำนาจเหนือดินแดนแห่งนี้ ซ้ำร้ายพวกเซอร์เบียได้เข้าร่วมกับฝ่ายรุสเซียอีกด้วย ทางราชสำนักจึงสั่งปลดผู้ปกครองแคว้นเซอร์เบียออกจากตำแหน่ง

นอกจากนี้กองทัพของมอนเตรเนโกรก็เข้าร่วมรบเคียงบ่าเคียงไหล่กับรุสเซียเช่นกัน อันเป็นสิ่งที่นำไปสู่ศึกติดพันรอบด้านและสร้างความพะว้าพะวงแก่เหล่าทหารของอุษมานียะห์เป็นอันมาก ตลอดจนก่อให้เกิดความเสียเปรียบในด้านกำลังพลนอกเหนือจากความเสียเปรียบในด้านการเมืองและวิเทโศบายระหว่างประเทศ (อ้างแล้ว หน้า175)
ชาวมุสลิมในบัลแกเรียต้องถูกกระทำทารุณกรรมจากชาวคริสเตียนอย่างน่าสยดสยอง ทำให้ชาวมุสลิมส่วนมากจำต้องเดินทางมุ่งสู่อิสตันบูลในภายหลัง เพียงแค่ได้ยินว่าพวกรุสเซียกำลังรุกคืบหน้าเข้ามาใกล้พวกเขาทุกขณะ ทั้งนี้เนื่องจากเกรงกลัวความโหดร้ายป่าเถื่อนของกองทัพรุสเซีย ดังนั้นในขณะที่ชาวมุสลิมละทิ้งบ้านเรือนเพื่อหนีเอาชีวิตรอด กองทัพรุสเซียก็เข้าปล้นสะดมบ้านเรือนและทรัพย์สินของพวกเขา และแม้กระทั่งขณะเดินทางหลบหนี ชาวมุสลิมก็หาได้รอดพ้นจากการย่ำยีของรุสเซียไม่

ส่วนราชธานีอิสตันบูลเองก็ตกอยู่ในสภาพที่คราครั่งไปด้วยผู้อพยพลี้ภัยตามท้องถนนท่ามกลางความหนาวเหน็บที่หฤโหดโรคไข้รากสาด (ไทฟอยด์) ก็ระบาดและคร่าชีวิตผู้คนไปเป็นอันมาก ซึ่งถ้าหากอุษมานียะห์ไม่รีบทำข้อตกลงประนีประนอมและยักย้ายถ่ายเทผู้คนไปยังหัวเมืองต่างๆ ของอนาโตเลียแล้ว ผู้คนเหล่านั้นย่อมด่าวดิ้นไปทั้งหมด การดังกล่าวก็คือแผนการของรุสเซียและเป็นไปตามความมุ่งมาดที่จะขับชาวมุสลิมออกจากดินแดนดังกล่าว

การเผชิญหน้ากับการรุกรานของรุสเซียซึ่งวางแผนอย่างแยบยลในการปลุกระดมพลเมือง คริสเตียนของจักรวรรดิอุษมานียะห์ รวมถึงการสมรู้ร่วมคิดของกลุ่มชาติตะวันตกทำให้จักรวรรดิอุษมานียะห์จำต้องลงนามรับรองสนธิสัญญาซาน สตีฟาโนส (เซนต์ สตีเฟ่น) ในปีค.ศ. 1878 ซึ่งร่างขึ้นบนพื้นฐานของอุดมการณ์ที่ว่า “ความวิบัติย่อมเป็นของฝ่ายปราชัย” เพื่อแลกกับการถูกยึดครองราชธานีอิสตันบูล สนธิสัญญาฉบับนี้ได้กำหนดในมาตราแรกให้กองทัพรุสเซียยึดครองแนวเขตป้องกันใกล้กับเขตปริมณฑลของอิสตันบูล และให้กองทัพรุสเซียถอนกำลังกลับสู่หลังแนวเขตที่กำหนด ตลอดจนกำหนดให้เซอร์เบียและมอนเตรเนโกรได้แยกตนเป็นอิสระแก้ไขเปลี่ยนแปลงพรมแดนใหม่ รวมถึงให้โรมาเนียได้เอกราช และกึ่งเอกราชแก่บัลแกเรีย และกองทัพอุษมานียะห์ต้องถอนกำลังทหารออกจากบัลแกเรีย อีกทั้งต้องทำลายคูค่ายป้อมรบทางทหารของอุษมานียะห์ ในขณะที่กองทัพรุสเซียยังคงสามารถอยู่ได้ในดินแดนนั้นชั่วระยะเวลาหนึ่ง และให้ทำลายป้อมปราการของอุษมานียะห์ที่สร้างอยู่ริมฝั่งแม่น้ำดานูบอีกด้วย

กรณีการถอนกำลังทหารของรุสเซียออกจากดินแดนอาร์เมเนียยังมีข้อสัญญาอันเป็นภาระผูกพันอีกด้วย กล่าวคือราชสำนักอุษมานียะห์จะต้องให้การประกันความปลอดภัยแก่ชาวคริสเตียนและชาวอาร์เมเนีย และจำต้องชดเชยค่าปฏิกรรมสงครามให้แก่รุสเซียจำนวน 1,410,000 รูเบิล หรือเท่ากับ 245,317,391 ลีร่า อุษมานียะห์และช่องแคบต่างๆ จะต้องเปิดให้กองทัพเรือของรุสเซียผ่านทั้งในยามสงบและยามสงคราม จักรวรรดิอุษมานียะห์จึงตกอยู่ในสภาพที่ไม่ต่างอะไรกับภูเขาไฟที่กำลังคุกรุ่นและพร้อมที่จะระเบิดลาวาของมันออกมาจากทุกทิศทาง

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเซอร์เบีย , มอนเตรเนโกร , โรมาเนีย , บอลข่าน , บัลแกเรีย , บอสเนีย และเฮเซอร์โกวิน่า หาใช่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยบังเอิญไม่ อันที่จริงสถานการณ์ทั้งหลายแหล่ต่างก็บ่งชี้ถึงว่านั่นคือสิ่งที่รุสเซียและพลเมืองคริสเตียนในจักรวรรดิอุษมานียะห์ได้สมรู้ร่วมคิดวางแผนการเอาไว้ ท่าทีในฝ่ายของกลุ่มประเทศตะวันตกก็หาได้แตกต่างไปจากท่าทีของรุสเซียเลยแม้แต่น้อย กล่าวคือกลุ่มประเทศคริสเตียนทั้งปวงต่างก็วางแผนการร้ายเพื่อเล่นงานจักรวรรดิอุษมานียะห์ด้วยกันทั้งสิ้น

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าจะเกิดความเหนื่อยล้าและความบอบช้ำในฝ่ายอุษมานียะห์ กระนั้นเหล่าทหารของอุษมานียะห์คือฝ่ายที่ได้รับชัยชนะโดยส่วนใหญ่
ทางราชสำนักอุษมานียะห์ได้เรียกร้องกลุ่มประเทศมหาอำนาจ 6 ประเทศในขณะนั้นให้เป็นตัวกลางไกล่เกลี่ย –ทั้งๆ ที่รู้อยู่แก่ใจว่าประเทศเหล่านั้นมีเจตนาอย่างไร- และการกระทำเช่นนั้นก็มิได้ต่างอะไรกับคนที่ป้องกันความร้อนระอุด้วยไฟ แต่กลุ่มประเทศมหาอำนาจก็หาได้ตอบรับข้อเรียกร้องนั้นไม่ การสู้รบก็ยังคงดำเนินต่อไปถึงแม้ว่าจะเป็นช่วงฤดูหนาวที่มีอากาศหฤโหดและมีหิมะตกหนักก็ตาม

ต่อมารุสเซียก็บ่ายหน้ากองทัพของตนสู่อาณาบริเวณเบื้องหลังเทือกเขาบอลข่าน เพื่อโจมตีดินแดนของพวกบุลฆอรและรูมิลลี่ย์ตะวันออก และยาตราทัพเข้าสู่นครโซเฟียในวันที่ 4 ตุลาคม ค.ศ. 1878 และเมืองฟีลีบะห์ ตามด้วยเมืองเอเดรียนโนเปิ้ล (อะดิรน่าฮ์) ในวันที่ 20 พฤศจิกายน ปีเดียวกัน และรุกคืบหน้าสู่อัสตานะห์ โดยมิได้ยากลำบากอันใดและเข้าไปถึงระยะทางห่างจากอัสตานะห์เพียงแค่ 50 ก.ม. เท่านั้น ในเวลาเดียวกันพลเมืองมอนเตรเน-โกรและเซอร์เบียก็ได้ยึดครองหัวเมืองบางส่วนตลอดจนจุดยุทธศาสตร์สำคัญๆ เอาไว้ ซึ่งชี้ว่ามีการตกลงกันไว้ก่อนแล้ว สถานการณ์ของจักรวรรดิจึงตกอยู่ในภาวะคับขันและถูกคุกคามอย่างหนักจึงได้ร้องให้มีการประนีประนอมและเริ่มหารือกันในเวลาต่อมา

ในการประชุมหารือดังกล่าวได้มีมติให้แบ่งหรือเฉือนดินแดนของจักรวรรดิอุษมานียะห์ในยุโรป นอกจากดินแดนบางส่วนซึ่งมีขนาดเล็กและกระจัดกระจาย เช่น อิสตันบูล ซ่าลานีก อิบริอูส และบางส่วนของแอลบาเนีย ตลอดจนแคว้นบอสเนียและเฮเซอร์โกวิน่า อุษมานียะห์จะต้องสูญเสียป้อมคาร์ซ , บาตูม , บายะซีด ตลอดจนเส้นพรมแดนถึงอุรฎูรูม (เออร์ซูรัม) แต่แล้วอังกฤษก็ทำทีแสร้งเห็นใจและปรารถนาดีต่อจักรวรรดิ

ที่อังกฤษทำอย่างนั้นมิได้เกิดจากความรักอันจริงใจแต่อย่างใด หากแต่รังเกียจเดียดฉันท์ที่รุสเซียจะครอบครองอิสตันบูลและกุมช่องแคบดาดาร์แนลและบอสฟอรัสแต่เพียงฝ่ายเดียว อังกฤษจึงได้ทำสนธิสัญญาป้องกันตนเองกับจักรวรรดิเพื่อทัดทานรุสเซียและเข้าครอบครองเกาะไซปรัส โดยอ้างว่าเกาะไซปรัสจะเป็นฐานทัพแนวหน้าที่อังกฤษสามารถใช้ได้ยามที่มีความจำเป็น แล้วอุษมานียะห์ซึ่งตกอยู่ในภาวะคับขันจะทำการอันใดเล่าต่อการเผชิญหน้าภัยคุกคามของรุสเซีย ซึ่งกำลังมุ่งเล่นงานหัวใจของจักรวรรดิอยู่รอมร่อ และอุษมานี-ยะห์ก็ไร้ผู้เหลียวแล โลกก็รุมทึ้งอย่างเมามัน อุษมานียะห์ก็จำต้องตกลงกับอังกฤษในสนธิสัญญาดังกล่าว

เมื่อกลุ่มประเทศตะวันตกเห็นว่ารุสเซียจะได้ครอบครองมรดกของอุษมานียะห์แต่เพียงผู้เดียว ก็เร่งรุดจัดการประชุมเบอร์ลิน ซึ่งมีกลุ่มประเทศมหาอำนาจเข้าร่วมประชุม โดยมีบิสมาร์กของเยอรมันเป็นประธาน ในปี ฮ.ศ.1295/ค.ศ. 7878 จักรวรรดิอุษมานียะห์หาได้รับผลกำไรอันใดไม่จากการประชุมนั้น ที่ประชุมได้มีมติให้เฉือนแคว้นรูมิลลีย์ตะวันออกทั้งหมดจากเรือนร่างของคนไข้แห่งยุโรปที่กำลังอาการทรุดหนัก เส้นพรมแดนของแคว้นบุลฆอรจึงได้หดเล็กลงไม่เกินจากเทือกเขาบอลข่าน ส่วนชายฝั่งของหมู่เกาะถูกคืนแก่ราชสำนัก มาบัดนี้มีพื้นที่ติดต่อกัน และที่ประชุมได้มีมติยกแคว้นบอสเนียและเฮเซอร์โกวิน่าแก่ออสเตรีย – ฮังการี ตลอดจนเส้นพรมแดนทางตอนเหนือของกรีซ , เซอร์เบีย และมอนเตรเนโกร ก็กำหนดให้กินอาณาบริเวณกว้างมากกว่าแต่ก่อน

สนธิสัญญาเบอร์ลิน ยังได้กำหนดให้มีการดำเนินการปรับปรุงกิจการภายในของจักรวรรดิ โดยอ้างว่ามีเจตนายกสถานภาพของชาวคริสเตียนและชาวอาร์มาเนียที่เป็นพลเมืองในจักรวรรดิให้ดีขึ้นอีกด้วย เช่นนี้เองที่กลุ่มประเทศคริสเตียนได้ตั้งตนเองเป็นผู้รับผิดชอบดูแลกิจการภายในของจักรวรรดิโดยใช้การพิทักษ์คุ้มครองชาวคริสเตียนมาเป็นข้ออ้าง เห็นได้ชัดเจนว่า สนธิสัญญาฉบับนี้ลิดรอนสิทธิอุษมานียะห์ซ้ำร้ายยังย่ำยีและอยุติธรรมอย่างรุนแรง เพราะได้บังคับให้อุษมานียะห์จำต้องยอมมอบดินแดนบางส่วนให้กับกลุ่มประเทศที่ไม่ได้เคยเข้าร่วมในสงครามตั้งแต่ต้น และประเทศเหล่านั้นก็ยังพ่ายแพ้ต่อกองทัพของอุษมานียะห์อีกด้วย

หากได้พิจารณาดูแผนที่แสดงอาณาเขตของจักรวรรดิก็จะประจักษ์ว่ารุสเซียได้ลบตุรกีในยุโรปไปจากโลกทางการเมืองแล้ว (ตารีค อัดเดาละห์ อัลอะลียะห์ หน้า664) และการดังกล่าวคือ ความสำเร็จในเป้าหมายที่รุสเซียวางเอาไว้ ชาวคริสเตียนและดินแดนที่มีชาวคริสเตียนเป็นพลเมืองส่วนใหญ่ได้ขึ้นกับรุสเซีย ช่องแคบทั้งหลายก็ถูกเปิดเป็นเพียงความฝันและความปรารถนาที่รุมเร้าจิตใจของรุสเซียมานมนานกาเล

บางทีอาจจะมีคำถามผุดขึ้นว่า เพราะอะไร? รุสเซียจึงต้องการยึดครองอิสตันบูลซึ่งเป็น ราชธานีของจัรวรรดิไบเซนไทน์ในอดีต?

อันที่จริงกลุ่มประเทศคริสเตียนทั้งหมดย่อมไม่มีความพอใจและเห็นด้วยต่อกรณีที่ประเทศคริสเตียนเยี่ยงรุสเซีย จะเข้าครอบครองอิสตันบูลเพราะกลุ่มประเทศคริสเตียนต่างก็หวั่นเกรงต่อผู้ที่ครอบครองอิสตันบูลจะสามารถครองโลกได้สมดังที่ นโปเลียน โปนาปาร์ต ของฝรั่งเศสได้เคยกล่าวเอาไว้ เมื่อเป็นเช่นนี้ฝรั่งเศสจึงไม่ยอมให้รุสเซียได้กระทำสิ่งดังกล่าว และกลุ่มประเทศตะวันตกต่างก็ถือว่าย่อมเป็นผลดีกว่าที่จะปล่อยให้อิสตันบูลเป็นไปตามสภาพของมันภายใต้การปกครองของรัฐที่อ่อนแอ ซึ่งคืออุษมานียะห์นั่นเอง อังกฤษเองก็หวั่นเกรงว่า ถ้าหากรุสเซียยึดครองอิสตันบูลได้แล้วรุสเซียก็จะแผ่อิทธิพลของตนสู่ดินแดนอาณานิคมหรือเขตอิทธิพลของอังกฤษในโลกอาหรับและตะวันออกไกล (ตารีค อัดเดาละห์ อัลอุษมานียะห์ หน้า 267)

เมื่อเป็นเช่นนี้จึงมีความจำเป็นสำหรับการที่สนธิสัญญาเบอร์ลินจะต้องนำเอาเสถียรภาพในเขตการปกครองของอุษมานียะห์กลับมาอีกครั้ง และเขี่ยมาตราต่างๆ ที่อยุติธรรมออกไปจากสนธิสัญญาซึ่งอาศัยความตามมาตราในสนธิสัญญาซาน สตีฟานุส ที่ได้ถูกยกเลิกไปแล้ว แต่ทว่าสนธิสัญญาฉบับใหม่ก็ได้ทำให้สถานการณ์ของจักรวรรดิเลวร้ายหนักข้อขึ้นไปอีก กล่าวคือได้ทำให้จักรวรรดิต้องสูญเสียดินแดนในยุโรป เอเชียและดินแดนในส่วนเมดิเตอร์เรเนี่ยนเพิ่มมากขึ้น

เช่นนี้เองที่โลกคริสเตียนได้ร่วมกันสนองความโลภโมโทสันของตนโดยมุ่งมั่นทำลายระบอบคิลาฟะห์ และรุสเซียก็อาจหาญกระทำในสิ่งที่กลุ่มชาติตะวันตกรวมกันยังไม่เคยกล้าที่จะบังอาจแม้เพียงคิด ซึ่งกลุ่มชาติตะวันตกยังคงครั่นคร้ามต่อแสนยานุภาพของอุษมานียะห์ แม้กระทั่งในยามที่อุษมานียะห์อ่อนแอและจวบจนกระทั่งเกิดสงครามกับรุสเซียดังกล่าว

แกนสำคัญในการดำเนินนโยบายทางการเมืองของเหล่าปัจจามิตรผู้อาฆาตพยาบาทก็คือการถอนรากถอนโคนอิสลามให้หมดสิ้นไปจากดินแดนดังกล่าว สังหารชาวมุสลิมบรรดานักเผยแผ่ศาสนาและทำลายศูนย์กลางของศาสนาอิสลาม กลุ่มประเทศมหาอำนาจได้สมรู้ร่วมคิดกับพลเมืองของชาวคริสเตียนในคาบสมุทรบอลข่านในก้าวย่างที่สำคัญสู่การขจัดการมีอยู่ของอุษมานียะห์อันเป็นรัฐอิสลามในยุโรป และขับไล่ไสส่งชาวอุษมานียะห์ออกจากยุโรปเป็นการสอดประสานกับนโยบายทางการเมืองของรุสเซียซึ่งได้มุ่งทำลายปราการอันมั่นคงของระบอบคิลาฟะห์อันยืนตระหง่านท้าทายกาลเวลาตลอดช่วงหกศตวรรษ ในฐานะสัญลักษณ์แห่งเอกภาพของชาวมุสลิมซึ่งเป็นพลังผลักดันในการเผยแผ่อิสลามและพิทักษ์คุ้มครองสายเชือกอันเหนียวแน่น ตลอดจนเผชิญหน้ากับความชิงชังของพวกครูเสด ไซออนิสต์ และสังคมนิยม




และถือเป็นเกียรติอันสูงส่งที่คุ้มค่าแล้วสำหรับชาวอุษมานียุนที่พวกเขาได้ปกครองพื้นที่อาณาเขตอันกว้างใหญ่ไพศาลของโลก ในนามของอิสลามตลอดช่วงเวลา 600 ปีที่ผ่านมา และแผ่แสนยานุภาพอันเกรียงไกรครอบคุลมถึง 3 ทวีป และแล้วสงครามโลกครั้งที่ 1 ก็มาถึง แล้วพวกบ้าสงครามจากกลุ่มเอกภาพและความวิวัฒน์ (กลุ่มยังเติร์ก ซึ่งลุแก่อำนาจภายหลังการปลดซุลตอนอับดุลฮะมีดออกจากอำนาจ) ก็ได้ลากจักรวรรดิสู่เหวลึกและปราชัยไปพร้อมกับเยอรมัน ผลที่ตามก็คือระบอบคิลาฟะห์สิ้นสุดลง ดินแดนของชาวอาหรับก็ตัดขาดจากระบอบคิลาฟะห์และถูกแบ่งออกเป็นประเทศเล็กประเทศน้อย และระบอบการปกครองของอิสลามในตุรกีก็ถูกยกเลิกในที่สุด (ตารีค อัดเดาละห์ อัลอุษมานียะห์ หน้า227)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความแนะนำ

World Clock

Featured Posts

เรื่องราวของสองอารยธรรม : อารยธรรมของชาวไวกิ้งและมุสลิม

เรื่องราวของสองอารยธรรม : อารยธรรมของชาวไวกิ้งและมุสลิม โดย : Cem Nizamoglu และ Sairah Yassir-Deane ย้อนหลังไปถึงมีนาคม 2015 ข่าวเกี่ยวก...