จักรวรรดิอุษมานียะห์ เมื่ออาทิตย์อัสดง : แผนการทางด้านการทหาร
(อาลี เสือสมิง)กลุ่มประเทศล่าอาณานิคมไม่เคยละเลยสื่อวิธีการใดๆ ก็ตามที่สามารถนำมาใช้ในการโค่นล้มระบอบการปกครองแบบค่อลีฟะห์ของจักรวรรดิอุษมานียะห์ ซึ่งอยู่ในฐานะหรือเรือนร่างที่มีชีวิตของประชาชาติอิสลาม ดังนั้นชาติตะวันตกจึงได้อาศัยกำลังพลทหารของตนนับแต่ศตวรรษที่ 19 เพื่อบ่ายหน้าสู่การล่าเมืองขึ้นอันเป็นนโยบายปฏิบัติที่กำลังแพร่หลายในช่วงเวลานั้น
สนธิสัญญาซัยกิร เบเกอร์ ซึ่งเป็นสนธิสัญญาที่ร่วมลงนามโดยอังกฤษ ฝรั่งเศส และรุสเซีย ในปีค.ศ.1916 เพื่อแบ่งปันอาณาเขตของจักรวรรดิอุษมานียะห์ในระหว่างชาติตะวันตกด้วยกันเอง และต่อมาได้มีการใช้กำลังทหารเข้ารุกรานดินแดนอิสลามเพื่อล่าเมืองขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยฝรั่งเศสได้ยึดครองแอลจีเรียในปีค.ศ.1830 และแผ่อิทธิพลเข้าครอบครองตูนีเซีย ในปีค.ศ.1881 อังกฤษยึดครองอียิปต์ในปีค.ศ.1882 ซึ่งก่อนหน้านั้นอังกฤษได้กำหนดให้ดินแดนทั้งสอง (อียิปต์, ตูนีเซีย) ตกอยู่ในอาณัติของตนด้วยแนวนโยบายแทรกแซงทางการเมืองแบบสันติวิธี
ผลปรากฏจากการใช้แนวนโยบายเช่นนี้คือการแทรกแซงกิจการทางการคลังของรัฐบาลตูนีเซีย และไคโรในเบื้องต้น โดยอังกฤษได้เสนอให้รัฐบาลของทั้งสองประเทศกู้เงินทุนมหาศาลจากกลุ่มประเทศยุโรป และคอยติดตามผลการชำระหนี้ เมื่อไม่สามารถชำระหนี้และดอกเบี้ยจากเงินกู้ดังกล่าว อังกฤษเข้าแทรกแซงรัฐบาลทั้งสองทางด้านการเมืองการปกครอง และตามมาด้วยการรุกรานทางทหารต่อประเทศทั้งสองในช่วงเวลา 2 ปีถัดมา ครั้งถึงปีค.ศ. 1911 อิตาลี่ก็ยึดครองลิเบีย และช่วงเริ่มเปิดฉากสงครามโลกครั้งที่ 1 อังกฤษก็ยึดครองอิรักเพื่ออาศัยเป็นเส้นทางลำเลียงทางบกสู่อาณานิคมของตนในอินเดีย อังกฤษได้ย่างก้าวแรกลงเหนือดินแดนอิรักในฐานะผู้รุกรานที่หมายมั่นจะแผ่อิทธิพลทางการทหาร เศรษฐกิจและการเมืองของตนเหนือดินแดนมุสลิมแห่งนี้ซึ่งเป็นอาณาเขตของจักรวรรดิอุษมานียะห์
นอกจากนี้อังกฤษยังได้เข้ายึดครองเมืองเอเดน ในปีค.ศ.1839 และแผ่อิทธิพลของตนเหนือแคว้นละฮ์ญ์ ตลอดจนเขตปกครองในอาณัตินับจากเส้นพรมแดนของเยเมนใต้จรดตะวันออกจากคาบสมุทรอาหรับ เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 1 สิ้นสุดลง จักรวรรดิอุษมานียะห์ก็ล่มสลาย กลุ่มประเทศยุโรปจึงได้แบ่งปันเขตแคว้นของชาวอาหรับที่เหลือ ยกเว้น เยเมน แคว้นอัลฮิญาซ และแคว้นนัจญ์ดฺ และหลังจากที่แคว้นต่างๆ ของอาหรับเคยมีสภาพเป็นกลุ่มแนวร่วมของชาวอาหรับอย่างไม่เป็นทางการในขอบเขตการปกครองของจักรวรรดิอุษมานียะห์ ก็ได้กลับกลายเป็นแคว้นต่างๆ ที่ตกอยู่ใต้อาณัติของพวกล่าเมืองขึ้นหรือตกอยู่ภายใต้การยึดครองนั่นเอง ซ้ำร้ายแคว้นอาหรับต่างๆ ยังกลายเป็นแนวร่วมกับนโยบายทางการเมืองของยุโรปเพื่อรับใช้เป้าหมาย และผลประโยชน์ทางการทหาร การเมืองและเศรษฐกิจของยุโรป อีกทั้งยังถูกปกครองตามมาตรการที่ออกโดยเมืองหลวงยุโรป เช่น ลอนดอน ปารีส เป็นต้น
กรณีที่เกิดขึ้นในกลุ่มประเทศอาหรับที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิอุษมานียะห์ ส่วนในซีกยุโรปที่เป็นดินแดนใต้อาณัติของจักรวรรดิอุษมานียะห์ พวกล่าอาณานิคมก็หาได้หยุดยั้งจากการสุมไฟแห่งการลุกฮือปฏิวัติภายในดินแดนเหล่านี้ไม่ โดยยุยงส่งเสริมให้พลเมืองในคาบสมุทรบอลข่านก่อการลุกฮือในปีค.ศ.1804 และส่งความช่วยเหลือในรูปแบบต่างๆ จวบจนบอลข่านหลุดออกจากอำนาจของอุษมานียะห์ในปีค.ศ.1878 นอกจากนี้ยังได้ยุยงกรีซก่อการปฏิวัติตั้งแต่ปี ค.ศ.1820 จนได้เอกราชจากอุษมานียะห์ในปีค.ศ. 1830
ชาวตะวันตกมิได้หยุดยั้งแผนการของตนไว้เพียงแค่นั้น หากแต่ยังส่งเสริมและหนุนหลังกลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดนภายในจักรวรรดิอีกด้วย หมายจะให้เกิดความแตกแยกขึ้นภายใน ทั้งหมดมิได้มีปัจจัยอันใด นอกจากพลเมืองเหล่านั้นเป็นชาวคริสต์ และพวกตุรกีเป็นชาวมุสลิม และบทบาทของการล่าอาณานิคมก็ปิดฉากลงภายหลังการใช้มาตรการโอบล้อมการรุกรานและสร้างความแตกแยกด้วยการทำให้การมีอยู่ของจักรวรรดิอิสลามอันเกรียงไกรหมดสิ้นไปโดยการกระทำรัฐประหารด้วยกำลังทางทหารที่กามาล อาตาร์เติร์ก ได้ตระเตรียมเอาไว้สำหรับเล่นงานกลุ่มแนวร่วมอิสลามทั้งหมด และแล้วจักรวรรดิที่เคยถูกล่อหลอมด้วยอิสลาม ตลอดระยะเวลาหกร้อยปีก็กลายสภาพเป็นเพียงประเทศเล็กๆ ที่สิ้นหวังโดยที่โลกทราบกันดีว่าระบอบการปกครองของประเทศนี้ (ตุรกียุคสาธารณรัฐ) ไม่มีความเกี่ยวพันกับอิสลามแต่อย่างใด (กลายเป็นโลกนิยมสุดขั้วไปในที่สุด)
ส่วนประชาชาติอิสลามก็ได้รับรู้ถึงความสูญเสียทางจิตวิญญาณและรัฐศาสตร์การเมืองหลังจากการสิ้นสุดระบอบการปกครองแบบค่อลีฟะห์และสายเชือกที่เคยร้อยรัดผูกพันพลเมืองหลายสิบเชื้อชาติ (อัดดะอ์วะห์ อัลอิสลามียะห์ / เชค อัลฆ่อวาลีย์ หน้า 64) เอาไว้ก็ขาดสะบั้นลง มุสลิมไม่ว่าจะอยู่แถบชายฝั่งของอินเดียหรือมหาสมุทรแอตแลนติก หรือแม้กระทั่งมุสลิมในลุ่มแม่น้ำไนล์ก็เกิดความรู้สึกว่าตนกลายเป็นคนแปลกหน้าที่ว้าเหว่ภายในโลกใบนี้ ทั้งนี้เพราะยุโรปได้ปฏิเสธต่อการคงอยู่ของระบอบอิสลามไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใดก็ตามที
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น