จักรวรรดิอุษมานียะห์ เมื่ออาทิตย์อัสดง : บทบาทการล่าอาณานิคมของชาติตะวันตกต่อการล่มสลายของระบอบคิลาฟะห์
(อาลี เสือสมิง)ความเป็นศัตรูคู่อาฆาตของชาติยุโรปที่มีต่อจักวรรดิอุษมานียะห์นั้น มิเคยว่างเว้นและหยุดหย่อน ซ้ำร้ายยังหยั่งรากลึกสาวถึงก้นบึ้งประวัติศาสตร์ตลอดระยะเวลาอันยาวนาน จนกลายเป็นสิ่งฝังใจของชาวยุโรปในกาลต่อมาและดูประหนึ่งว่า ความผูกพยาบาทนี้เป็นดั่งอาภรณ์ที่ถูกถักทอขึ้นในจิตใจของพวกเขาอย่างมิเสื่อมคลาย ความรู้สึกเช่นนี้มีปัจจัยปรุงแต่งหลายประการ อาทิเช่น
1. เผ่าพันธุ์นิยมที่เป็นมรดกตกทอดจากพวกกรีก
2. การจินตนาการอย่างผิดๆ ต่ออิสลาม
3. ผลพวงของสงครามครูเสดที่ฝังแน่นอยู่ในจิตใจของชาวยุโรปจนมิอาจลืมเลือนได้
4. ความเกรงกลัวที่มีต่อการแผ่ขยายอิทธิพลของศาสนาอิสลาม
และชาวยุโรปก็รับสืบทอดการดูถูกดูแคลนคนต่างเผ่าพันธุ์จากพวกกรีกและโรมัน ซึ่งคนเผ่าพันธุ์นี้จำเป็นจักต้องใช้กฎหมายเฉพาะที่มิอาจนำมาใช้กับยุโรปได้ (อัลฮะร่อกะห์ อัลฟิกรียะห์ ฏิดด์ อัลอิสลาม หน้า 28 เล่มที่ 2)
นี่คือมุมมองของชาวยุโรปที่มองตัวเอง กล่าวคือ มีความคิดอย่างเผ่าพันธุ์นิยมอยู่ในสายเลือดซึ่งเกิดแต่น้ำนมของเพศแม่ จวบจนเมื่อเติบใหญ่ก็พบว่าที่มาแห่งภูมิความรู้ในเบื้องแรกก็คือบิดามารดาของตน โดยภูมิความรู้ของปัจจัยทั้งสองโดยส่วนใหญ่ล้วนแล้วมีที่มาจากตำรับตำราของสังฆราชแห่งคริสตจักรซึ่งเต็มไปด้วยสิ่งปูมฟักเพาะบ่มศาสนิกชนจากความรู้ผิดๆ เกี่ยวกับศาสนาอิสลาม จนบางครั้งก็วาดภาพลักษณ์ของอิสลามในทางเลวร้ายจนจิตใจของผู้คนมิอาจรับได้ และเป็นผลผลักดันให้มีอคติและเป็นศัตรูต่ออิสลาม ตลอดจนกระทั่งทำทุกวิถีทางต่อการทำสงครามกับอิสลาม และชาวมุสลิมไม่ว่าที่ใดก็ตามที่ได้พบเจอะเจอเรื่องในทำนองนี้ คือสิ่งที่คริสตจักรบอกกล่าวและสั่งสอนศาสนิกชนของตน และเป็นสิ่งที่นักเขียนนักประพันธ์ของพวกเขาพยายามตอกย้ำ
นอกจากนี้ในสังคมชาวคริสต์ยังดาษดื่นไปด้วยภาพลักษณ์ที่ถูกบิดเบือนของอิสลาม ตลอดจนท่านศาสดามุฮำหมัดและบรรดาสาวกของพระองค์ ซึ่งล้วนได้รับการเสกสรรปั้นแต่งและละเลงจนดูวิปริตผิดเพี้ยนด้วยตำราอ้างอิงของพวกเขา จึงเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เลยที่ชาวยุโรปจะปลดเปลื้องผ้าห่มกายผืนนี้ซึ่งได้รับการถักทอด้วยกาลเวลาอันยาวนานจากความพยาบาทและชิงชัง และเมื่อสงครามครูเสดประทุขึ้นชาวยุโรปก็พร้อมใจพันพ่นพิษพยาบาทที่ฝังแน่นนั้นต่ออิสลามและชาวมุสลิมโดยมุ่งเป้าสู่หัวใจของโลกอิสลามเป็นอันดับแรก
ชาวยุโรปหวนกลับมาอีกครั้ง หากแต่ว่าในครั้งนี้มีชาวยุโรปอื่นเป็นผู้ถือธงรบ นั่นคือ โปรตุเกส และสเปน ศัตรูอิสลามได้ปรับกระบวนยุทธของตน โดยในครั้งนี้พวกเขาบ่ายหน้าสู่ดินแดนอันเป็นปีกโลกอิสลาม หาใช่หัวใจของโลกอิสลามเหมือนเช่นก่อนไม่ อาณาจักรอิสลามแห่งเอ็นดาลูเซียก็ถึงคราวล่มสลายในปี ค.ศ.1491 ด้วยน้ำมือของสเปนและฮอลันดาก็เข้ายึดครองอินโดนีเซียราวต้นคริสตศตวรรษที่ 17 และปักหลักอย่างมั่นคงที่นั่นเป็นเวลานาน ฝ่ายชาวโปรตุเกสก็ค้นพบเส้นทางเดินเรืออ้อมแหลมกู๊ดโฮป และมุ่งหน้าสู่เอเซียใต้และเอเซียตะวันออก ที่นั่นพวกครูเสดได้เที่ยวแผ่อิทธิพลเพื่อล้อมกรอบโลกอิสลามและปรากฏอยู่หลายครั้งที่พวกครูเสดพยายามรุกเข้าโจมตีดินแดนศักดิ์สิทธิ์ของอิสลาม อันได้แก่ นครมักกะห์ และม่าดีนะห์ (ตารีค อัดเดาละห์ อัลอุษมานียะห์ หน้า 52,53)
มีอยู่ครั้งหนึ่งที่ชะรีฟ บะร่อกาต เจ้าครองนครมักกะห์ได้ตั้งข้อสงสัยในพฤติกรรมของชาย 3 คน ที่เข้าสู่นครมักกะห์ พวกนี้ได้ป้วนเปี้ยนอยู่บริเวณมัสยิด อัลหะรอม โดยแสดงทีท่าว่าพวกตนเป็นมุสลิม พวกเขาสวมใส่ชุดของชาวอุษมานียะห์ และพูดภาษาอาหรับและเตอร์กิซ ท่านชะรีฟได้มีคนสั่งให้จับกุมชาย 3 คนนี้ และตวรจค้นร่างกายของพวกเขา การปรากฏว่าพวกเขาเป็นคริสเตียน เพราะไม่ได้ขลิบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศ และเมื่อสอบสวนก็ได้ความกระจ่างว่า พวกเขาเป็นสายลับสัญชาติโปรตุเกสที่ทางลิสบอนส่งมาเพื่อเป็นผู้นำทางแก่กองทัพโปรตุเกส ซึ่งเป็นพวกครูเสดขณะยกพลเข้าสู่นครมักกะห์ ดังนั้นท่านชะรีฟจึงมีคำสั่งจองจำบุคคลทั้งสาม และส่งมอบแก่ซุลตอน อัลฆูรีย์ในเวลาต่อมา เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นในปี ค.ศ.1510 และไม่มีผู้ใดกล้าต่อกรกับพวกนี้ตลอดจนตอบโต้ทางการทหารนอกจากพวกอุษมานียะห์ สิ่งนี้นับเป็นผลงานอันยิ่งใหญ่ที่จักรวรรดิอุษมานียะห์ได้แสดงคุณูปการเอาไว้ต่ออิสลาม (อัดเดาละห์ อัลอุษมานียะห์ อัลมุฟตะรออะลัยฮา เล่มที่ 2/862)
เรื่องราวสงครามครูเสดก็เป็นดังนี้ เพราะสงครามครูเสดได้ฝากร่องรอยและตอกย้ำบาดแผลในใจของชาวยุโรปอย่างไม่เสื่อมคลาย และความชิงชังพยาบาทต่ออิสลามที่ฝังอยู่เต็มหัวใจของชาวยุโรปมักจะส่งผลอยู่เสมอ คราใดที่มันเผยโฉมออกมาเบื้องหน้าชาวมุสลิม (อัลฮะรอกะห์ อัลฟิกรียะห์ หน้า 31)
Cr. http://alisuasaming.org/
#ประวัติศาสตร์อิสลาม_Islamic_Society_Online
Islamic Society Online
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น