จักรวรรดิอุษมานียะห์ เมื่ออาทิตย์อัสดง : ความรับผิดชอบของชาวตุรกีและอาหรับต่อการสูญสิ้นระบอบการปกครองแบบคิลาฟะห์
(อาลี เสือสมิง)จากสิ่งที่ได้กล่าวมาก่อนหน้านี้ ทั้งหมดได้สร้างความกระจ่างให้กับพวกเราถึงบทบาทของหมู่ปัจจามิตรที่กระทำต่ออิสลาม ในการดำเนินการเพื่อล้มล้างระบอบคิลาฟะห์แห่งอุษมานียะห์ทั้งในส่วนบุคคลและโดยการร่วมมือกันของเหล่าปัจจามิตร
ย่อมไม่เป็นธรรมนักในการที่เราจะโยนผลพวงทั้งหมดอันเป็นกากเดนของความอาฆาตมุ่งร้ายทั้งหมดให้แก่พวกศัตรู โดยถือว่าเรา –ทั้งตุรกีและอาหรับ- ไม่มีส่วนอันใดจากความผิดพลาดที่เกิดขึ้น
ความผิดพลาดเหล่านี้ซึ่งเริ่มต้นเพียงน้อยนิดในเบื้องแรก แล้วบรรดาผู้ปกครองก็ดูแคลนและไม่เห็นว่านั่นจะเป็นภัยคุกคาม และแล้วมันก็เติบโตและลุกลามจนกลายเป็นปัญหาที่ยากต่อการเยียวยาแก้ไข จนมีส่วนสำคัญอีกประการหนึ่งในการล้มล้างระบอบการปกครองแบบคิลาฟะห์
โรคร้ายแห่งความบกพร่องดังกล่าวได้เริ่มสำแดงภัยของมันในการคุกคามต่อองคาพยพของอิสลามโดยรวม จนในที่สุดก็ได้ทำให้อิสลามเกิดความอ่อนแอ ดาวจรัสแสงแห่งค่อลีฟะห์ได้เริ่ม อับแสงลงทีละน้อยทีละน้อย ด้วยเหตุที่ศัตรูภายนอกได้โหมกระหน่ำโจมตีอย่างรุนแรง ซึ่งได้พยายามทุกวิถีทางในการทำลายล้างระบอบคิลาฟะห์
ความเสื่อมดังกล่าวได้เข้าเกาะกุมเรือนร่างของระบอบคิลาฟะห์จากภายใน ซึ่งศัตรูได้มีส่วนอย่างชัดเจนในการบ่มเพาะความเสื่อมนั้นในเรือนร่างของระบอบ กอรปกับความเสื่อมตลอดจนความผิดพลาดที่เกิดขึ้นด้วยน้ำมือของพวกเราเอง –ทั้งตุรกีและอาหรับ- ได้ทำให้รัฐคิลาฟะห์ต้องประสบกับความไร้สมรรถภาพ สถานการณ์ของระบอบก็ดำดิ่งสู่ความตกต่ำ หลังจากที่เคยเป็นศูนย์กลางแห่งความเป็นผู้นำของโลก และยุโรปก็เคยเกรงกลัวและครั่นคร้าม จนกระทั่งบรรดากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ของยุโรปต้องยอมจำนนเข้าสู่ภายใต้การดูแลของบรรดาซุลตอนแห่งอุษมานียะห์
สำหรับอุษมานียะห์ ขณะที่มีอำนาจและทรงอิทธิพลนั้นก็เปรียบได้ดั่งแกนของโลก ด้วยความดีความชอบแห่งจิตวิญญาณอิสลามอันสูงส่งซึ่งพวกอุษมานียะห์มีอยู่อย่างเอกอุ และเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่ทำให้พวกเขากำชัยชนะและการพิชิตครั้งแล้วครั้งเล่า
พวกอุษมานียะห์ได้วางระบบการบริหารอย่างประณีตและรัดกุม เฉพาะอย่างยิ่งในยุคของบรรดาซุลตอนต้นราชวงศ์ซึ่งได้วางระเบียบในการคัดเลือกผู้ถูกเสนอชื่อ และมีคุณสมบัติพร้อมในการบริหารราชการแผ่นดิน ระเบียบที่ว่านี้มีขั้นตอนของการฝึกฝน การคัดเลือกและการศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพ บรรดาซุลตอนในรัชกาลแรกๆ จะทรงเข้มงวดอย่างมากต่อการคัดเลือกผู้มีคุณสมบัติทั้งในด้านกำลัง สติปัญญา ร่างกาย และพรสวรรค์อื่นๆ ซึ่งเหมาะสมในการปฏิบัติภารกิจหน้าที่
ในทำนองเดียวกัน ได้มีการกำหนดศาสตร์พิชัยสงครามอย่างละเอียดลออ จนบรรลุสถานะแห่งความเป็นจักรวรรดิผู้ทรงแสนยานุภาพในโลกขณะนั้น ทั้งนี้ด้วยการเปิดรับศาสตร์แขนงต่างๆ ที่มีส่วนในการสร้างความเจริญ ไม่ว่าจะเป็นวิทยาศาตร์ ศิลปะ และสถาปัตยกรรม และอื่นๆ รัชสมัยแห่งซุลตอนมุฮำหมัด (เมฮ์เมต) ที่ 2 (อัลฟาติฮ์ – ผู้พิชิตกรุงคอนสแตนติโนเปิ้ล) ถือเป็นแบบอย่างที่ยิ่งใหญ่สำหรับการใช้เครื่องไม้เครื่องมือและอาวุธยุทโธปกรณ์ที่มีความเจริญ และทันสมัยที่สุดในรัชสมัยของพระองค์ขณะนั้น (ตารีค อัดเดาละห์ อัลอุษมานียะห์ หน้า 78) และจักรวรรดิอุษมานียะห์ก็ถึงยุคแห่งความรุ่งโรจน์สุดขีดในรัชกาลแห่งซุลตอนสุลัยมาน ข่าน อัลกอนูนีย์ ซึ่งพระองค์มีความพิเศษเหนือบรรดาซุลตอนแห่งราชวงศ์อุษมานียะห์ ด้วยความโดดเด่นของคุณสมบัติอันน่ายกย่องสรรเสริญ และโครงการที่ยิ่งใหญ่เป็นอันมาก พวกอุษมานียะห์จึงประความสำเร็จและกำชัยชนะเหนือเหล่าศัตรูด้วยวิทยาการและคุณสมบัติที่ดีงามดังกล่าว
ซุลตอนสุลัยมาน อัลกอนูนีย์ ถือเป็นซุลตอนลำดับสุดท้ายจากบรรดาซุลตอนสิบท่าน (1.อุสมาน ข่านที่ 1 2.อูรุค ข่านที่ 1 3.มุรอต ข่านที่ 1 4.บายะซีด ข่านที่ 1 5.มุฮำหมัด ญะละบีย์ 6.มุรอต ข่านที่ 2 7.มุฮำหมัด (อัลฟาติฮ์) ที่ 2 8.บายะซีด ข่านที่ 2 9.สะลีม ข่านที่ 1 ) ที่สถาปนาความมั่นคงให้กับจักรวรรดิ เสริมสร้างแสนยานุภาพทางทหารและพิชิตดินแดนอย่างกว้างใหญ่ไพศาล การยึดมั่นตามแนวทางแห่งเอกองค์พระผู้เป็นเจ้าคือหลักมูลฐานที่บรรดาซุลตอนทั้งสิบท่านนี้ได้ดำเนินไปโดยมุ่งหวังสั่งสมความพึงพอพระทัยของพระองค์ (ซ.บ.) อันเป็นส่วนหนึ่งที่หัวใจของเหล่าพสกนิกรมีความอิ่มเอิบในการมอบความซื่อสัตย์จงรักภักดีต่อพวกเขา
อย่างไรก็ตาม เรื่องราวมิได้เป็นไปตามหลักมูลฐานและรูปแบบที่พวกเขาเคยถือมั่น นับแต่การปรากฏขึ้นของดวงดาวแห่งความรุ่งโรจน์ในประวัติศาสตร์อย่างเสมอต้นเสมอปลาย ความเบี่ยงเบนออกนอกวิถีทางแห่งพระผู้เป็นเจ้าได้เริ่มขึ้นทีละน้อย แล้วต่อมาก็เพิ่มมากขึ้น ช่องว่างระหว่างวิถีและการปฏิบัติของผู้ปกครองเริ่มขยายกว้างมากขึ้นเป็นลำดับ จนในที่สุดซุลตอนแห่งอุษมานียะห์ก็กลายเป็นกษัตริย์เสียจริตและลุแก่อำนาจ ความอ่อนแอความเสื่อมก็คืบคลานเข้าสู่องคาพยพของพวกเขา ซุลตอนในยุคหลังจึงมุ่งแต่ความสำราญ การปล่อยอารมณ์ไปกับความบันเทิงและใช้ชีวิตอย่างฟุ้งเฟ้อ ในท้ายที่สุดก็ยุติการญิฮาดอย่างขลาดเขลา สภาพของพวกเขาจึงตกต่ำและดิ่งสู่ความเสื่อมวันแล้ววันเล่า โรคร้ายแห่งประชาชาติยุคก่อนก็คืบคลานเข้ารุมเร้าและเล่นงานพวกเขา นั่นคือ ความอิจฉาริษยาและการบาดหมาง (มาซา ค่อซิรอ อัลอาลัม บินฮิตอต อัลมุสลิมีน หน้า164 ตารีค อัดเดาละห์ อัลอุษมานียะห์ หน้า 78)
สาเหตุแห่งความอ่อนแอ
หลังจากวิเคราะห์และศึกษาถึงความเป็นไปของจักรวรรดิอุษมานียะห์ก็เป็นที่กระจ่างว่าสาเหตุแห่งความอ่อนแอของจักรวรรดิเกิดจากองค์ประกอบพื้นฐาน 2 ประการ กล่าวคือ
องค์ประกอบที่ 1 บรรดาอุละมาอ์ (นักวิชาการศาสนา)
บรรดาอุละมาอ์ในยุคแรกแห่งการพิชิตและความเกรียงไกรของจักรวรรดิล้วนแต่มีอิทธิพลอยู่เหนือบรรดาซุลตอน และผู้ปกครองอุษมานียะห์ ในยุคอดีตบรรดาอุละมาอ์ก็คือผู้ทรงภูมิความรู้ที่มีจิตใจบริสุทธิ์จากความเสื่อมเสียทั้งหลาย พวกเขาจะทัดทานและปฏิเสธต่อสิ่งที่ขัดต่อหลักการของศาสนาเรียกร้องสู่ความดีงาม พวกเขาคือขุมกำลังที่เหล่าซุลตอนมีความเกรงกลัว และลุกขึ้นทัดทานเบื้องหน้าเหล่าซุลตอนเสมอคราใดที่เหล่าซุลตอนได้ล้ำเขตกำหนดตามศาสนบัญญัติ (อัลอิสลาม วัลฮะคอเราะห์ อัลอะรอบียะห์ หน้า 524)
ชัยคุลอิสลามมีสถานภาพอันสูงส่งที่องค์กรในด้านตุลาการและนิติบัญญัติต่างก็น้อมนำและปฏิบัติตาม บรรดาซุลตอนแห่งราชวงศ์อุษมานียะห์ ต่างก็ยกย่องให้เกียรติต่อชัยคุลอิสลาม เชื่อฟังและปรึกษาหารือด้วยเสมอในทุกกิจการงาน แม้กระทั่งเรื่องการสงครามซึ่งจะไม่มีการดำเนินการอันใดเว้นเสียแต่ภายหลังการออกคำชี้ขาด (ฟัตวา) ของชัยคุลอิสลามแล้วเท่านั้นถึงจะทำสงครามได้ ประวัติศาสตร์ได้บันทึกเรื่องราวของอันน่าทึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้เอาไว้ ท่านกอฎีย์ (ตุลาการสูงสุด) ซัมซุดดีน อัลกีนาวีย์ได้ตัดสินให้การเป็นพยานของซุลตอน บายะซีด ข่าน – ผู้มียาอสุนีบาตร- เป็นโมฆะ เพราะซุลตอนละทิ้งการละหมาดญะมาอะห์ที่มัสยิด (ตารีค อัดเดาละห์ อัลอุษมานียะห์ หน้า79)
ซุลตอนสะลีม ข่านที่ 1 ก็เช่นกัน สำหรับพระองค์แล้วมักเป็นที่ทราบกันดีว่าพระองค์ไม่เคยลังเลที่จะออกคำสั่งให้ประหารชีวิตผู้คนแม้เพียงด้วยเหตุเล็กน้อยก็ตาม กระนั้นพระองค์ก็ระมัดระวังพระองค์เสมอต่อการทำให้มุฟตีย์ ซะบัม บะลีย์ อะลี เกิดความไม่พอใจ เรียกได้ว่าบรรดาซุลตอนในยุคต้นจะให้เกียรติต่อหลักนิติธรรมของศาสนา และบรรดานักวิชาการเสมอ แต่ทว่าเมื่อซุลตอนสุลัยมาน อัลกอนูนีย์ ได้ทรงกำหนดตำแหน่งและระดับเหล่านักปราชญ์ราชบัณฑิต
ตลอดจนน้อมนำพาให้บรรดานักวิชาการเห็นแก่ทางโลกเป็นสำคัญอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน เหล่านักปราชญ์ก็เลยแข่งขันกันเพื่อบรรลุสู่ตำแหน่งทางราชบัณฑิตเหล่านี้ด้วยการสร้างความใกล้ชิดกับบรรดาซุลตอน ดังนั้นหลังจากที่ตำแหน่งและสถานภาพทางศาสนาของนักวิชาการในยุคซุลตอนสิบพระองค์แรกได้เคยมุ่งเน้นถึงคุณสมบัติด้วยการสอบหรือความสันทัดและเชี่ยวชาญในสรรพวิชา ก็กลับกลายเป็นว่าตำแหน่งราชบัณฑิตดังกล่าวได้มาด้วยการวิ่งเต้นใช้เส้นสาย การควบคุมของนักวิชาการศาสนาที่มีต่อบรรดาซุลตอนก็ลดน้อยและเสื่อมค่าลง เฉพาะอย่างยิ่งปลายรัชสมัยซุลตอนสุลัยมาน และในรัชกาลถัดมาเป็นลำดับ บรรดานักวิชาการศาสนาก็ไร้อำนาจและบารมีที่จะเหนี่ยวรั้งการกระทำของเหล่าซุลตอนที่ไม่อยู่ในทำนองคลองธรรม ยังผลร้ายให้กับจักรวรรดิในเวลาต่อมาเป็นอันมาก สิทธิประโยชน์อันดีงามที่จะนำพรจักรวรรดิให้อยู่ในกรอบของศาสนาก็วิปลาสนาการเสียสิ้น ด้วยเหตุที่บรรดานักวิชาการเพิกเฉยและนิ่งเงียบ จากพฤติกรรมเบี่ยงเบนและออกนอกลูนอกทางของเหล่าค่อลีฟะห์ในยุคหลังๆ
องค์ประกอบที่ 2 บรรดาค่อลีฟะห์
ภายหลังรัชกาลซุลตอนสุลัยมานเป็นต้นมา บรรดาซุลตอนต่างก็มิได้มีคุณลักษณะเฉกเช่น ซุลตอนพระองค์ก่อนในช่วงต้นราชวงศ์ เห็นจะยกเว้นก็เพียงแต่ซุลตอน มุฮำหมัดที่ 3 , มุรอตที่ 4 และมุสตอฟาที่ 3 เพีงเท่านั้น , ซุลตอนเหล่านี้มีคุณสมบัติพร้อมในการปกครองและว่าราชการแผ่นดิน ส่วนซุลตอนพระองค์อื่นในยุคที่สองของจักรวรรดิก็หาได้มีคุณสมบัติทัดเทียมในการบริหารเฉกเช่นยุคแรกไม่ ยกเว้นเพียงบางพระองค์เท่านั้น
มีซุลตอนหลายพระองค์ที่ได้รับการสถาปนาให้มีอำนาจปกครองขณะที่ยังมีพระชนม์เยาว์วัย ดังซุลตอนอะห์หมัดที่ 1 และอุษมานที่ 2 ขณะได้รับการสัตยาบันขึ้นเป็นซุลตอนนั้นมีพระชนมายุเพียง 14 พรรษาเศษๆ ซุลตอนมุรอตขณะขึ้นครองราชย์ก็มีพระชนมายุได้ 12 พรรษาเท่านั้น ในขณะที่ซุลตอนมุฮำหมัดที่ 4 มีพระชนมายุเพียง 7 พรรษา เมื่อเป็นเช่นนี้การบริหารราชการแผ่นดินก็ย่อมตกอยู่ในกำมือของบรรดาขุนนางและเหล่านางใน อันก่อให้เกิดความวุ่นวายในด้านการเมืองการปกครอง และการทหารอย่างหลีกเลี่ยงมิได้
ในกรณีความเปลี่ยนแปลงทางสายเลือดของเหล่าซุลตอนก็เช่นกัน ถือได้ว่าเป็นปัจจัยสำคัญในการทำให้จักรวรรดิเกิดความอ่อนแอ มีการนำนางทาสและนางเฉลยที่เป็นคริสเตียนเข้ามาสู่ราชสำนัก และสถาปนาเป็นสนมนางในหรือบาทบริจาริกา จนบางครั้งได้เป็นถึงเจ้าจอมมารดาเป็นจำนวนมาก ซุลตอนส่าลีมที่ 2 ก็ทรงเป็นลูกครึ่งรุสเซียเพราะมีพระชนนีเป็นหญิงรัสเซีย ซุลตอนมุฮำมัดที่ 3 ก็ทรงเป็นลูกครึ่งเวนีสเพราะมีพระมารดาเป็นสตรีชาวเวนิส ซุลตอนอุสมานที่ 2 และมุรอตที่ 4 ตลอดจนอิบรอฮีมที่ 1 ก็ทรงเป็นลูกครึ่งรูม (ไบเซนไทน์) เพราะพระมารดาของซุลตอนทั้ง 3 พระองค์นี้เป็นสตรีชาวรูม
ในทำนองเดียงกันบรรดาข้าราชการที่ถวายงานราชการแก่ซุลตอนก็มาจากทางคริสเตียนเดิมที่เข้ารับอิสลามทั้งชาติรูม แอลบาเนีย เซอร์เบีย และบัลฆอร ซึ่งในรัชสมัยซุลตอนส่าลีมที่ 2 มีขุนนางชั้นผู้ใหญ่ 8 คนที่เคยดำรงตำแหน่งมหาเสนาบดีเป็นมุสลิมใหม่เสีย 6 คนด้วยกัน ซึ่งมีทั้งชาติเจนัว เบลเยี่ยม กรีก และรุสเซีย
การมอบหมายตำแหน่งหน้าที่อันสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการบริหารราชการแผ่นดินแก่บุคคลเหล่านี้ และพวกอื่นๆ เช่น อิตาเลี่ยนและฮังกาเรียน ล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยทำให้จักรวรรดิอ่อนแอ เพราะขุนนางต่างชาติเหล่านี้กระทำตนเพื่อประโยชน์แก่แผ่นดินแม่หรือชาติเดิมของตนทั้งสิ้น และซ้ำร้ายมีซุลตอนหลายพระองค์ที่สุรุ่ยสุร่ายและใช้จ่ายพระราชทรัพย์ฟุ่มเฟือยเป็นอันมากจนทำให้การคลังของจักรวรรดิจำต้องกู้หนี้ยืมสินจากต่างชาติด้วยดอกเบี้ยเงินกู้มหาศาล ยังผลให้กลุ่มประเทศตะวันตกที่เป็นเจ้าหนี้เข้ามาแทรกแซงกิจการภายในจักรวรรดิ และถือเอาเป็นทาสทางเศรษฐกิจจวบจนสิ้นราชวงศ์
นอกจากนี้ยังมีความผิดพลาดอันใหญ่หลวง ที่บรรดาซุลตอนแห่งอุษมานียะห์ได้ก่อเอาไว้ กล่าวคือ
1. ความล้าหลังทางวิทยากร
ประเด็นนี้หมายถึงการขาดความต่อเนื่องในด้านการทุ่มเทอย่างจริงจังเพื่อความเจริญรุดหน้าทางวิทยาการแขนงต่างๆ บรรดาซุลตอนในยุคหลังรัชสมัยซุลตอนสุลัยมาน อัลกอกูนีย์ ต่างก็มิได้ให้ความสำคัญมากนักต่อความเจริญรุดหน้าของโลกรอบข้าง ดังนั้นยุโรปจึงนำหน้าจักรวรรดิอุษมานียะห์ในด้านความเจริญรุดหน้าไปเป็นเวลาหลายศตวรรษ ขณะที่อุษมานียะห์ยังคงยึดติดอยู่กับความเข้าใจต่อโลกดังที่ซุลตอนสะลีม ข่านที่ 1 ได้เคยวาดภาพลักษณ์เอาไว้ และยังคงยึดมั่นอยู่กับระบบแบบแผน และกฎหมายปกครองซึ่งซุลตอนสุลัยมาน ข่าน อัลกอนูนีย์ได้ทรงตราเอาไว้ (ฮาฎิรุ้ลอิสลาม หน้า 282 ฮุซัยน์ มุอ์นิซ)
ยุโรปได้ก้าวกระโดดอย่างรวดเร็วสู่ธรรมชาติวิทยาและวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ โดยอาศัยการสังเกต การทดลองและการวิจัยอย่างเป็นระบบ ความอ่อนแอที่มีมาแต่ก่อนของยุโรปก็แปรเปลี่ยนสู่ความเข้มแข็ง และจากสถานภาพในเชิงรับสู่เชิงรุก ส่วนพวกอุษมานียะห์กลับมิได้ให้ความสนใจต่อวิทยาการเหล่านี้อย่างที่ควรจะเป็นจึงกลายเป็นผู้ล้าหลัง ช่วงเวลาแห่งความรุ่งโรจน์ก็ยุติลง กลุ่มชาติยุโรปจึงนำหน้าอุษมานียะห์ไปในที่สุด (มาซา ค่อซิรอ อัลอาลัมฯ) หน้า 165) การพึ่งพาพวกตะวันตกซึ่งเป็นชนชาติอื่นในทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นสิ่งประดิษฐ์หรือระบอบแบบแผนที่ถูกกำหนดใช้ในยุโรปจึงเกิดขึ้นตามมา เมื่อเป็นเช่นนี้ ระบบสาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวกในการดำเนินชีวิตตามยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไปจึงเป็นสิ่งที่จักรวรรดิอุษมานียะห์ขาดแคลน ตลอดจนการเสริมสร้างแสนยานุภาพให้กับกองทัพบกและกองทัพเรือด้วย อาวุธยุโธปกรณ์ที่ทันสมัยก็ขาดแคลนเช่นกัน แต่เดิมการทำสงครามของกองทัพอุษมานียะห์มีหัวใจอยู่ที่ความกล้าหาญเด็ดเดี่ยว และขวัญกำลังใจของทหาร ชัยชนะจึงเป็นของพวกเขาอยู่เสมอ จนกระทั่งเมื่อวิทยาการที่มนุษย์ได้คิดค้นประดิษฐ์และใช้ประโยชน์จากสติปัญญาที่ค้นพบสิ่งใหม่ๆ เข้ามาบทบาท สติปัญญาซึ่งแต่เดิมเป็นเรื่องรองก็ได้ทำลายกฎแห่งความกล้าหาญ ซึ่งพวกอุษมานียะห์มีโยสัญชาติญาณลงจนเกือบหมดสิ้น เรียกได้ว่ากล้าหาญชาญชัยโดยไร้สติปัญญาและอาวุธที่ดีก็เท่ากับปราชัยอยู่แล้ว
พวกอุษมานียะห์ได้อนุรักษ์ระบบการเรียนการสอนในสาบันการศึกษาและโรงเรียนของตนอย่างที่เคยเป็นมา นับตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 13 โดยไม่สนใจที่จะนำเอาความคิดใหม่ๆ เข้ามาประยุกต์ใช้ อีกทั้งประดาปัญหาทางการเมืองการปกครองที่รุมเร้าอยู่ตลอดเวลาก็มีส่วนในการทำให้ระบบการศึกษาของอุษมานียะห์ล้าหลังเช่นกัน (ตารีค อัดเดาละห์ อัลอุษมานียะห์ หน้า 79)
ส่วนหนึ่งจากความล้าหลังที่กล่าวถึงนี้ ได้แก่การนำเอาอุตสาหกรรมต่อเรือขนาดใหญ่เข้าสู่จักรวรรดิเมื่อศตวรรษที่ 16 มานี่เอง แท่นพิมพ์หนังสือพิมพ์และการกำหนดด่านกักกันโรคก็เพิ่งเข้ามาในรัชกาลซุลตอนมุสตอฟา ที่ 2 คือราวศตวรรษที่ 17 ทำนองเดียวกันวิทยาลัยกองทัพเรือบกหรือโรงเรียนนายร้อยที่ทันสมัยก็เพิ่งก่อตั้งในตุรกีในช่วงนี้เช่นกัน ประเทศอียิปต์เองเสียอีกที่มีแท่นพิมพ์หนังสือและการรถไฟหรือรถรางไฟฟ้าก่อนหน้าตุรกีด้วยซ้ำ ตุรกีเพิ่งมาตื่นตัวก็ต่อเมื่อหลังความพ่ายแพ้ในปี ฮ.ศ.1188/ค.ศ.1774 โดยซุลตอนส่าลีม ข่าน ที่ 3 ได้ทรงริเริ่มการพัฒนาและปรับปรุงสภาพของบ้านเมืองให้ทันสมัย พระองค์ทรงสร้างโรงเรียนและวิทยาลัยหลายต่อหลายแห่ง โดยพระองค์ยังทรงเป็นอาจารย์สอนเองด้วยซ้ำ นอกจากนี้พระองค์ยังทรงตั้งกองทหารที่ทันสมัยขึ้นอีกด้วย ยังผลให้เหล่าทหารในกองทัพเดิมก่อการลุกฮือและปลงพระชนม์พระองค์ในเวลาซึ่งความเจริญทางด้านเทคโนโลยีที่ทันสมัยได้ทำให้ยุโรปมีความเหนือกว่าในด้านวัตถุปัจจัย มีการคิดค้นประดิษฐ์อาวุธยุทโธปกรณ์ชนิดใหม่ๆ ขึ้นมาใช้ในการทำสงคราม ตลอดจนยวดยานพาหนะที่ใช้ในการคมนาคมยุคใหม่ ยุคเครื่องจักร ไฟฟ้า และพลังไอน้ำก็เริ่มขึ้น พวกยุโรปก็อยู่ในสถานะที่เป็นต่อและเหนือกว่าประชาชาติมุสลิม ซึ่งครั้งหนึ่งเคยมีชัยเหนือยุโรป แต่มาบัดนี้พวกยุโรปกลับกลายเป็นฝ่ายที่มีความพร้อมกว่าและไม่ต้องบันยะบันยังอีกต่อไปในการเลือกใช้อาวุธทำลายล้างที่ถูกสร้างและคิดค้นขึ้นอย่างทันสมัย เพื่อประหัตประหารชาวมุสลิมหรือศัตรูหน้าไหนก็ตามที
ความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาการสมัยใหม่ได้มีส่วนช่วยให้ยุโรปค้นพบดินแดนและทวีปใหม่ที่ไม่เคยเป็นที่รู้จักมาก่อนสำหรับชาวโลกในยุคกลาง ตลอดจนการค้นพบทฤษฎีอันเป็นรหัสไขความลับของจักรวาลอีกด้วย เหตุการณ์เป็นไปเช่นนี้ ในขณะที่โลกอิสลามกำลังถอยหลังเข้าคลอง หรือหากจะกล่าวว่าจมดิ่งสู่เหวลึกอย่างแน่นิ่งก็คงไม่ผิดอะไร
กาลเวลาผ่านไปหลายศตวรรษ โลกอิสลามก็ตื่นขึ้นจากความหลับใหลเพื่อพบว่าตัวเองได้ตกอยู่ภายใต้อำนาจของอาวุธยุทโธปกรณ์อันทันสมัยของยุโรป ขอพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ได้ทรงเมตตาต่อซุลตอน มุฮำหมัด อัลฟาติฮ์ ที่ 2 ผู้ซึ่งตัวเออร์บาน ช่างหล่อปืนมายังตุรกีก่อนหน้าการพิชิตกรุงคอนสแตนติโนเปิ้ล เออร์บานผู้นี้ได้สอนบรรดาช่างทำศาสตรวุธของจักวรรดิให้รู้ถึงเทคนิคในการหล่อปืนขนาดใหญ่ (อัลอิสลาม วัลฮะดอเราะห์ อัลฆอรบียะห์ 2/525) ท่านซุลตอน พระองค์นี้ได้ทำให้ชาวมุสลิมตุรกีได้เข้าใจต่อพระดำรัสขององค์พระผู้เป็นเจ้าที่ว่า
“และสูเจ้าทั้งหลายจงตระเตรียมสรรพกำลังเอาไว้เท่าที่สูเจ้าทั้งหลายมีความสามารถ เพื่อรับมือพวกเขา (ศัตรู) ตลอดจนการผูก (จัดเตรียมทัพ) ม้าศึกเอาไว้ โดยสูเจ้าทั้งหลายจักได้สร้างความครั่นคร้ามแก่เหล่าศัตรูของพระเจ้าและศัตรูของสูเจ้าทั้งหลายด้วยสิ่งนั้น…” (อัลกุรอ่าน บท อัลอัมฟาล พระบัญญัติที่ 60)
2. การลุแก่อำนาจ
สิ่งที่เกิดขึ้นควบคู่ไปกับการถดถอยทางวิทยาการก็คือการหลงระเริงในการเสพสุขและลุแก่อำนาจของบรรดาซุลตอนแห่งอุษมานียะห์ ซึ่งโลกในขณะนั้นต่างก็เปิดประตูอ้ารับและพร้อมสนองตอบความประสงค์ของพวกเขา และผู้ใดที่เคยอ่านสาส์นของซุลตอน สุลัยมาน ข่าน อัลกอนูนีย์ที่มีถึงกษัตริย์ฝรั่งเศส เขาก็จักมิพบเลยว่าสาส์นดังกล่าวมีความคล้ายคลึงกับสาส์นที่มีจากกษัตริย์ถึงผู้เป็นกษัตริย์หรือจากจักรพรรพิถึงกษัตริย์ที่มีอำนาจด้อยกว่าหรือกระทั่งผู้นำรัฐที่เป็นเจ้าครองนคร หากแต่จะพบว่าสาส์นฉบับดังกล่าวเหมือนกันแต่งขึ้นจากผู้เป็นนายเหนือหัวส่งถึงทาสรับใช้ผู้ต่ำต้อย ในทำนองเดียวกันผู้ใดที่เคยศึกษาถึงสำนวนในสนธิสัญญาฉบับต่างๆ ที่มีการ ลงนามในช่วงยุคทองของจักรวรรดิก็จะพบว่าบรรดาฉายาหรือนามต่อท้ายที่สดุดีต่อบรรดาซุลตอนจะมีคุณลักษณะที่แม้กระทั่งบรรดาจักรพรรดิ และเหล่ากษัตริย์ในยุคนั้นเองก็มิเคยจะนำมาใช้ต่อพระนามของพวกเขา ดังนั้นความลุแก่อำนาจและหลงใหลต่อบารมีที่อุปโลกน์ขึ้นจึงได้เกาะกุมหัวใจของเหล่าซุลตอน ซ้ำร้ายการหลงมัวเมาในอำนาจเช่นนี้ยังได้นำพาพวกเขาไปสู่การปลีกตัวหรือปิดตัวเองจากการเอาประโยชน์ของวิทยาการแขนงต่างๆ ซึ่งแพร่หลายอยู่ในดินแดนรอบด้านอันเป็นเพื่อนบ้านใกล้เคียง และชัยชนะอันมากมายของพวกเขาในช่วงศตวรรษแรกๆ ยังได้ก่อให้เกิดความลำพองตน ในชาติกำเนิดของพวกตน คราใดที่ได้มีการยาตราทัพของเหล่าศัตรูเข้าประชิดพรมแดนของจักรวรรดิ พวกอุษมานียะห์ก็จะประมาทและประเมินค่าศัตรูตลอดจนภยันตรายจากสงครามต่ำอย่างมาก เมื่อชัยชนะตกเป็นของพวกเขา อานิสงค์แห่งความดีความชอบก็จะโปรยปรายอย่างถ้วนทั่วต่อเหล่าผู้ใกล้ชิด นับจากแม่ทัพใหญ่จนถึงพลทหาร แต่เมื่อใดที่ปราชัยแม่ทัพนายกองของกองทัพนั้นๆ ก็จะต้องพบกับวิบากกรรมหรือไม่ก็ถึงขั้นอาสัญวายชีวาด้วยหัวหลุดจากบ่านั่นเอง
ความหลงมัวเมาในอำนาจได้เลยเถิดถึงขั้นที่ว่าพวกเขามิเคยละเลิกจากความรู้สึกยึดติดต่อชาติพันธุ์ของพวกตน ว่าเป็นเผ่าพันธุ์ที่เลอเลิศสมควรแล้วซึ่งการมีอำนาจบารมีและได้รับการสวามิภักดิ์ และผู้คนทั้งหลายที่ต่างเชื้อชาติเผ่าพันธุ์ก็จำต้องเชื่อฟังแต่โดยดี
โรคร้ายเช่นนี้ได้ลุกลามเข้าเกาะกุมจิตใจของพวกอุษมานียะห์จนยากที่จะเยียวยา โดยมันได้นำพาเชื้อโรคแห่งความอ่อนแอเข้าเกาะกุมทำร้ายจักรวรรดิ จนในที่สุดเหล่าปัจจามิตรก็สามารถสร้างความล่มสลายแก่พวกเขา (อัลอิสลาม วัลฮะดอเราะห์ อัลฆอรบียะห์ หน้า 530)
3. ความอ่อนแอในด้านเสถียรภาพและความน่าเกรงขามและการแผ่ขยายเฉพาะอาณาเขต
การพิชิตของพวกอุษมานียะห์ได้แผ่ปกคลุมดินแดนยุโรปตะวันออก จนมีเส้นพรมแดนประชิดอิตาลี และยังมีอิทธิพลครอบคลุมดินแดนของเอเชียส่วนใหญ่เอาไว้ ส่วนแอฟริกานั้นพวกอุษมานียะห์แผ่ขยายอาณาเขตจรดดินแดนมอรอคโค
การพิชิตดินแดนอันกว้างใหญ่ไพศาลของโลกได้สร้างความครั่นคร้าม และความน่าเกรงขามให้กับจักรวรรดิอย่างจริงจัง และเต็มไปด้วยอำนาจบารมีในช่วงรัชสมัยของบรรดาซุลตอนสิบพระองค์แรก ครั้งต่อมาในรัชกาลหลังๆ บรรดาซุลตอนก็มิสามารถสร้างความน่าเกรงขามแก่ดินแดนน้อยใหญ่ที่ตกอยู่ภายใต้อาณัติของอุษมานียะห์ อีกทั้งยังมิสามารถสืบสานความรุ่งโรจน์ได้เหมือนเช่นเดิม ยังผลให้เกิดการแข็งเมืองและการแยกตนเป็นอิสระไม่ขึ้นกับส่วนกลาง และจบลงด้วยการล่มสลาย
กรณีการแข็งเมืองและพยายามแยกตนเป็นอิสระไม่ขึ้นกับส่วนกลางจะเห็นได้ชัดจากกรณีของมุฮำหมัด อะลี ปาชา ผู้เป็นอุปราชปกครองอิยีปต์ออกจากการเป็นดินแดนใต้อาณัติของจักรวรรดิอุษมานียะห์ และนำทัพอิยีปต์รุกคืบหน้าเข้ายึดครองหัวเมืองชาม (ซีเรีย) ก่อลีกียะห์ และรุกล้ำถึงหัวเมืองกูตาฮียะห์ในเอเชียน้อย ซึ่งคุกคามต่อราชสำนักในอิสตันบูล การกระทำเช่นนี้ของมุฮำหมัด อะลี ปาชา ย่อมเป็นการยืนยันว่าแสนยานุภาพทางการทหารของอุษมานียะห์เป็นเพียงความเพ้อฝันมากกว่าจะเป็นจริง ถึงขั้นที่ว่าอิสตันบูลจำต้องขอความช่วยเหลือจากรุสเซียเพื่อเข้าเป็นแนวร่วมที่เข้ามาขัดขวางการรุกคืบของมุฮำหมัด อะลี ปาชา
อีกตัวอย่างหนึ่งก็คือ การดำเนินการของอัลกุรออฺ มันลีย์ เจ้าของนครทรีโปลีตะวันตก (ลิเบีย) ซึ่งแยกตนเป็นอิสระในปี ค.ศ.1711 จนถึงปีค.ศ. 1835 โดยที่อำนาจของทรีโปลีสิ้นสุดลงหลังจากอุษมานียะห์ ได้ขอความช่วยเหลือจากอังกฤษ (อ้างแล้ว หน้า210-11) ผู้ปกครองเลบานอน คือ ฟัครุดดีน อัลมะอ์นีย์ก็ได้เอาอย่างมุฮำหมัด อาลี ปาชาเช่นกัน โดยฟัครุดดีนได้ลงนามในสนธิสัญญาคอสมอสที่ 2 ซึ่งเป็นสนธิสัญญาป้องกันการรุกรานร่วมกันกับโรเจอร์เบอร์ดินานด์ ทัสกานีย์ นำกองทัพเรือเข้ายึดครองเหนือเขตชายฝั่งแคว้นชามและสร้างความปราชัยให้กับกองทัพอุษมานียะห์ในปี ฮ.ศ.1043 ในทำนองเดียวกันบายแห่งตูนิเซียซึ่งเป็นข้าหลวงของอุษมานียะห์ก็ได้ทำสนธิสัญญากับฝรั่งเศสในปี ฮ.ศ.1577 และหลังปีค.ศ.1741 เป็นต้นมา บรรดาบาย (เจ้าครองรัฐ) ของตูนิเซียก็ลงนามในสนธิสัญญาอีกหลายฉบับกับกลุ่มประเทศคริสเตียนในนามของตูนิเซียเท่านั้น (อ้างแล้ว)
ปรากฏการณ์เช่นนี้ได้มีส่วนยุยงให้บางประเทศที่อยู่ใต้อาณัติของอุษมานียะห์ได้เอาเยี่ยงอย่างเพื่อแยกดินแดนเป็นอิสระ โดยจักรวรรดิจำต้องยอมรับสภาพการเป็นดินแดนใต้อาณัติของประเทศเหล่านี้แต่เพียงภายนอกเท่านั้น
การมีอาณาเขตอันกว้างใหญ่ไพศาลของจักรวรรดิอุษมานียะห์ กอรปกับความอ่อนแอของอำนาจส่วนกลางและการไร้ความน่าเกรงขามทางแสนยานุภาพ ตลอดจนความหลากหลายทั้งเชื้อชาติ ภาษา และศาสนาของพลเมืองใต้อาณัติได้ทำให้พลเมืองเหล่านี้หันไปสวามิภักดิ์ต่อตะวันตกเพื่อให้เข้ามาแทรกแซงและคุกคามอธิปไตยของจักรวรรดิ และฝ่ายยุโรปเองก็ได้อาศัยความหลากหลายดังกล่าวเป็นเครื่องมือบั่นทอนเสถียรภาพและอำนาจรัฐ ซึ่งทำให้เกิดปัญหาภายในอย่างไม่จบสิ้น ในที่สุดกองทัพของอุษมานียะห์ก็ถึงจุดอิ่มตัว และล้าหลังเต็มที่ในการปราบปรามขวนการแบ่งแยกดินแดนทั้งหลายซึ่งเกิดขึ้นทั่วทุกหัวระแหง อันเป็นผลทำให้จักรวรรดิอ่อนแอถึงขีดสุด
4. สิทธิพิเศษนอกอาณาเขตสำหรับชนต่างชาติ
สิทธิพิเศษหรืออภิสิทธิ์ต่างๆ ซึ่งมีให้แก่ชนต่างชาติอย่างเต็มที่ ได้กลายเป็นเหมือนสิ่งเกินเลยและคุกคามต่อเสถียรภาพของจักรวรรดิซึ่งทางราชสำนักอุษมานียะห์ได้ตราขึ้นแก่ชนต่างชาติในช่วงที่จักรวรรดิมีความรุ่งเรืองสุดขีด ผลเสียของสิทธิพิเศษนอกอาณาเขตสำหรับผู้คนในปกครองของต่างชาติในกาลต่อมาคือการเข้ามาแทรกแซงกิจการของจักรวรรดิและเปิดกว้างจนครอบคลุมชนพื้นเมืองบางส่วน โดยได้รับการผ่อนผันเรื่องการเสียภาษี การไม่ต้องผ่านศาลตุลาการของอุษมานียะห์ในกรณีเกิดคดีความ ทั้งนี้ให้ขึ้นกับศาลผสมที่จัดตั้งขึ้นเป็นกรณีพิเศษ
ด้วยสิทธิพิเศษข้างต้น จึงทำให้ชาวคริสเตียนสามารถตั้งรัฐซ้อนรัฐได้นั่นเอง ในรัชสมัยซุลตอนอับดุลมะญีดได้มีการประกาศพระราชกฤษฎีกามอบให้พลเมืองเลบานอนมีสิทธิจัดตั้งรัฐบาลอิสระของตนภายใต้การควบคุมของจักรวรรดิโดยมีผู้นำรัฐบาลเป็นชาวคริสเตียน และทางราชสำนักมีอำนาจจัดกองกำลังทหารรักษาดินแดนได้ไม่เกิน 300 นาย เพื่อดูแลความสงบเรียบร้อยตามเส้นทางเชื่อมต่อระหว่างกรุงดามัสกัสและเบรุต เมื่อได้รับโอกาสเช่นนี้ ชนกลุ่มน้อยอื่นๆ ก็พากันเรียกร้องสิทธิดังกล่าวชาวคริสเตียนในบอสเนียก็ได้เรียกร้องสิทธิพิเศษในการปกครองตนเองด้วยการยุยงของต่างชาติ แต่ทางราชสำนักก็คัดค้านและเข้าปราบปราม แต่ทว่าเหตุการณ์ความไม่สงบก็ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ในขณะที่ซุลตอนสุลัยมาน ข่าน อัลกอนูนีย์ได้ทรงตรากฎหมายว่าด้วยสิทธิพิเศษดังกล่าว พระองค์ทรงมองว่าเป็นกฎหมายที่ไม่สลักสำคัญอันใดตราบที่จักรวรรดิยังคงเข้มแข็ง แต่พระองค์ก็มิเคยตระหนักเลยแม้แต่น้อยว่าการดังกล่าวจะกลับกลายเป็นดั่งศาสตรวุธที่ทิ่มแทงจักรวรรดิ ในเวลาต่อมา เมื่อจักรวรรดิอ่อนแอและไร้เสถียรภาพและพวกต่างชาติได้ใช้สิทธิพิเศษดังกล่าวเสริมกำลังให้กับฝ่ายตนและเหล่าพลเมืองคริสเตียน ซึ่งอาศัยอยู่ในแผ่นดินของจักรวรรดิตามลำดับ
5. การสูญเสียพลังศรัทธา
ในยุคที่สองของจักรวรรดิอันเป็นยุคหลังซุลตอนสิบพระองค์แรก บรรดาซุลตอนทั้งหลายต่างก็ประสบกับความอ่อนแอ ความคร้านและการขาดความเอาจริงจังในการบริหารราชการแผ่นดิน ความเพิกเฉยต่อการนำทัพออกศึกด้วยตนเอง จะมีก็เพียงซุลตอน 3 พระองค์เท่านั้นในรัชกาล หลังซุลตอนสุลัยมาน อัลกอกูนีย์ที่เป็นจอมทัพนำศึก ส่วนซุลตอนพระองค์ที่อื่นกลับเลือกที่จะใช้ชีวิตอยู่ในพระราชวัง และเสพสุขแสนยานุภาพทางทหารของจักรวรรดิ จึงถดถอยและนโยบายเชิงรุกในการสงครามก็แปรเปลี่ยนสูนโยบายแบบจำยอมหรือสันติวิธี
6. กองทหารเจนนิสซารีย์ (อิงกิชารีย์) (กองทหารเจนนิสซารีย์ (อิงกิชารีย์) ได้ถูกก่อตั้งโดยซุลตอนอุรุคข่าน โดยเลือกเอาลูกหลานของชาวยุโรปที่ถูกกองทัพอุษมานียะห์พิชิตได้เข้าเป็นกำลังทัพ และสอนหลักการของศาสนาอิสลาม และฝึกฝนให้มีความชำนาญในการรบและทำสงครามเรียกได้ว่าเป็นกองสงครามพิเศษนั่นเอง กองทหารเจนนิสซารีย์ในยามที่จักรวรรดิเข้มแข็งถือเป็นกองทหารสำคัญที่มีบทบาทในการแผ่แสนยานุภาพอันเกรียงไกรของจักรวรรดิอุษมนียะห์)
โรคร้ายเดียวกันนี้ได้เข้าคุกคามกองทหารเจนนิสซารีย์ กล่าวคือ สูญสิ้นพลังผลักดันสู่การ ญิฮาด ในภายหลังกองทหารเจนนิสซารีย์ได้กลายเป็นอุปสรรคขวางกั้นความเจริญรุดหน้าของจักรวรรดิ ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านั้นเป็นเครื่องมือที่ยังชัยชนะให้กับจักรวรรดิมาก่อน ดังวีรกรรมของกองทัพเมื่อครั้งเข้าพิชิตกรุงคอนสแตนติโนเปิ้ล เมื่อกาลเวลาได้ผ่านไปพลังผลักดันในการญิฮาดของเหล่าทหารในกองทัพได้จางลงในจิตใจของพวกเขา ความอ่อนแอก็เข้าเกาะกุมจิตใจ เมื่อพวกเขาได้ใช้ชีวิตปะปนกับพลเมือง และได้รับการอุดหนุนอย่างอุดมจากราชสำนัก จนกระทั่งใช้อำนาจบารมีที่ได้รับไปในการคุกคามต่อความปกติสุขของซุลตอนและเข้าแทรกแซงการบริหารราชการแผ่นดิน จนถึงขั้นอาจหาญปลดซุลตอนหลายต่อหลายพระองค์ออกจากอำนาจ หรือไม่ก็ถึงขั้นลอบปลงพระชนม์ ความวุ่นวายจากน้ำมือของเหล่าทหารเจนนิสซารีย์ได้ทำให้จักรวรรดิต้องเผชิญกับความอ่อนแอในที่สุด
7. สมาคมลับต่างๆ
การอนุญาตของบรรดาซุลตอนอุษมานียะห์ให้บรรดาชาวยิวสามารถอพยพสู่ดินแดนของจักรวรรดิ และพำนักอาศัยอยู่ได้นั้น นับเป็นการปล่อยปะละเลยต่อสิทธิของดินแดนเป็นอย่างมาก ทั้งนี้เป็นเพราะว่าเมื่อพวกยิวได้ย่างกรายเข้าสู่จักรวรรดิอุษมานียะห์ โดยหลบหนี้ลี้ภัยจากการกดขี่ที่เกิดขึ้นในเอ็นดาลูเซีย (สเปน) พวกยิวก็ได้รวมตัวกันจัดตั้งองค์กร และกลายเป็นแนวร่วมที่ห้าที่ให้การสนับสนุนพวกครูเสดในการรุกรานชาวมุสลิม อีกทั้งยังเป็นเครื่องมือในการทำลายศีลธรรมและศาสนา พวกยิวยังได้อยู่เบื้องหลังชบวนการปฏิวัติลุกฮือซึ่งติดอาวุธขึ้นสู้ และท้าทายต่ออำนาจของจักรวรรดิ นอกเหนือจากที่พวกยิวได้ดำเนินการเพื่อโค่นล้มระบอบคิลาฟะห์อีกด้วย
สมาคมมาโซนีย์ถือเป็นสมาคมที่พวกยิวได้ร่วมกันก่อตั้งขึ้น และพรรคเอกภาพและการวิวัฒน์นั้นก็มีพวกยิวเป็นสมาชิก โดยส่วนใหญ่และบทบาทในการทำลายล้างของพวกยิวก็บรรลุถึงจุดสิ้นสุดด้วย การเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองในรัชสมัยซุลตอน อับดุลฮะมีดที่ 2 และทำให้ตุรกีค่อยๆ เหินห่างออกจากแนวทางอันถูกต้องของอิสลาม
ส่วนพรรคเอกภาพและการวิวัฒน์ซึ่งมีชาวยิว บางส่วนเข้าร่วมเป็นสมาชิกพรรคก็ได้นำจักรวรรดิเข้าสู่สงคราม และการพิพาทตลอดจนกดดันต่อบรรดาแกนนำซึ่งกุมอำนาจในการบริหารประเทศให้เข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 1 หลังจากที่พรรคได้กำจัดอำนาจของซุลตอนอับดุลฮะมีดซึ่งต้องการปฏิวัติแก้ไขความเสื่อมของจักรวรรดิได้แล้ว พวกนี้ได้วางทฤษฎีและความคิดซึ่งสร้างความร้าวฉานในหมู่ประชาชาติมุสลิม ซึ่งแน่นอนสมาคมมาโซนีย์เป็นผู้ที่อยู่เบื้องหลัง สมาคมลับต่างๆ ที่ปฏิบัติการแทรกซึมและวางแผนการร้ายเพื่อทำลายจักรวรรดิให้ล่มสลายในที่สุด
จักวรรดิอุษมานียะห์ (ออตโตมาน เติร์ก) เริ่มต้นขึ้นด้วยพลังศรัทธาอันมั่นคงของเหล่าซุลตอนผู้ทรงทศพิธราชธรรมในยุคต้น ซึ่งต่างอุทิศและทุ่มเทพลังศรัทธาบวกด้วยความแกล้วกล้าอย่างเอกอุในการประกาศเกียรติภูมิแห่งอิสลาม จนแผ่ไพศาลครอบคลุมอาณาบริเวณอันกว้างใหญ่ไพศาลทั้งในเอเชียตะวันตก แอฟริกาเหนือ และยุโรปตะวันออกในคาบสมุทรบอลข่าน โดยมีหลักสำคัญในด้านรัฐศาสตร์ การเมือง การปกครองบนพื้นฐานของระบอบการปกครองแบบคิลาฟะห์แห่งอิสลาม ช่วงอายุขัยของการธำรงระบอบคิลาฟะห์ของจักรวรรดิอุษมานียะห์ เริ่มนับแต่ปี ฮ.ศ.680 – ฮ.ศ.1342 / ค.ศ.1281 – ค.ศ. 1923 รวมระยะเวลาทั้งหมด 642 ปี นับเป็นรัฐอิสลามที่อายุขัยยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์โลกโดยรวม
และนับแต่ปี ฮ.ศ.1342 / ค.ศ.1923 อันเป็นปีที่สิ้นสุดระบอบการปกครองแบบคิลาฟะห์แห่งอิสลาม จวบจนปัจจุบันกินระยะเวลาราว 80 ปี โลกมุสลิมทั้งผองต่างก็ตกอยู่ในสภาพที่ขาดผู้นำโลกมุสลิมและศูนย์รวมใจกลุ่มประชาคมมุสลิมอย่างเป็นเอกภาพ มุสลิมทุกวันนี้ตลอดช่วงทศวรรษล้วนตกอยู่ในสภาพของผู้ปราชัยในทุกสมรภูมิ ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ การเมืองการปกครองในเวทีโลกซึ่งเข้าสู่ระบบโลกาภิวัตน์ และทุนนิยมเสรีสุดโต่ง ระบบการศึกษาล้มเหลวและล้าหลัง ประเทศมุสลิมแตกความสามัคคี ไร้เสถียรภาพจนมิอาจต้านกระแสความแปรเปลี่ยนในสังคมซึ่งถูกควบคุมด้วยการบงการของมหาอำนาจหนึ่งเดียวของโลก คงถึงเวลาแล้วที่ประชาคมมุสลิมของโลกใบนี้ที่จะตื่นขึ้นมาจากความหลับใหล และเริ่มฟื้นฟูระบอบคิลาฟะห์ที่ร้างรามาร่วมหนึ่งศตวรรษ เพราะนั่นคือวิถีทางเดียวเท่านั้นที่จะนำเอาความรุ่งโรจน์และเกียรติภูมิแห่งโลกอิสลามให้หวนกลับมาอีกครั้ง ขอพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ได้ทรงตอบรับและประทานความสัมฤทธิ์ผลในความมุ่งหวังเช่นนี้ด้วยเทอญ.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น