จักรวรรดิอุษมานียะห์ เมื่ออาทิตย์อัสดง : แผนการ “หาแนวร่วม”
(อาลี เสือสมิง)กลุ่มประเทศล่าอาณานิคมโดยการนำของจักรภพอังกฤษสามารถแสวงหาแนวร่วม และผู้เป็นสมุนรับใช้ทั้งที่เป็นชาวอาหรับและเติร์ก อีกทั้งยังได้รับชัยชนะอันยิ่งใหญ่ด้วยราคาค่างวดที่แสนจะถูก เพียงแค่การโอ้โลมและเอาใจใส่ดูแลลูกสมุนแปรพรรคที่เป็นอาหรับและเติร์ก พวกล่าอาณานิคมก็สามารถทำให้ชาวมุสลิมเล่นงานกันเอง แล้วพวกตนก็คอยเก็บเกี่ยวผลอย่างสบายใจเฉิบ
จักรภพอังกฤษซึ่งเป็นผู้นำค่ายตะวันตกประสบความสำเร็จในการใช้ชะรีฟ ฮุซัยน์ อิบนุ อะลี (เจ้าผู้ครองนครมักกะห์) เป็นแกนสำคัญ โดยอังกฤษเห็นว่า บุคคลผู้นี้เป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพยิ่งในการเล่นงานจักรวรรดิอุษมานียะห์ และเป็นกุญแจไขสู่การประกาศความเป็นโมฆะของการญิฮาดที่ฝ่ายอุษมานียะห์เรียกร้องให้ชาวมุสลิมลุกขึ้นญิฮาดต่อสู้กับการล่าอาณานิคมของชาติตะวันตก
ทั้งนี้เพราะว่าพลังทางจิตวิญญาณอันเป็นขวัญกำลังใจคือ อาวุธในอดีตที่ชะรีฟแห่งนครมักกะห์ครอบครองอยู่ในฐานะผู้มีเชื้อสายสืบถึงท่านศาสดา ซอลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม อีกทั้งหมู่ชาวอาหรับเบดูอินเร่ร่อนจำนวนหลายร้อยคนที่พร้อมจะต่อสู้ถวายชีวิตเพื่อปกป้องชารีฟผู้เป็นหุ่นเชิดของอังกฤษให้เดินแต้มตามหมากที่อังกฤษวางไว้อย่างสะดวกโยธิน
ความสัมพันธ์ของชะรีฟ ฮุซัยน์ผู้นี้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลอังกฤษได้เริ่มขึ้นมาก่อนหน้านี้เป็นเวลานานพอควร คือเริ่มตั้งแต่ช่วงที่ชะรีฟพำนักอยู่ในอิสตันบูล ในฐานะพระราชอาคันตุกะของซุลตอนอับดุลฮะมีด ช่วงเวลานั้น ชะรีฟและเจ้าชายอับดุลลอฮ์ผู้เป็นราชบุตรสามารถสร้างความสัมพันธ์อันแนบแน่นกับเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำนครอิสตันบูล นอกจากนี้พระองค์ได้ขึ้นเป็นเจ้าครองนครมักกะห์อย่างสมบูรณ์ก็ด้วยการทุ่มเทความพยายาม จนได้รับการสนับสนุนจากสถานทูตอังกฤษในอิสตันบูล และกลุ่มคณะนายทหารหนุ่มชาวเติร์กที่ทรงอิทธิพลในจักรวรรดิความสัมพันธ์เช่นนี้ระหว่างชะรีฟ ฮุซัยน์กับอังกฤษที่เกิดขึ้นในช่วงแรกๆ
นับเป็นข้อหักล้างต่อคำกล่าวที่ว่า “ความสิ้นหวังของชาติอาหรับต่อผู้ปกครองชาวตุรกี คือ ปัจจัยที่ผลักดันให้ชะรีฟ ฮุซัยน์ จำต้องก่อการลุกฮือเพื่อต่อต้านจักรวรรดิอุษมานียะห์” (มุฮำหมัด อัลคอยร์ ได้กล่าวคำพูดนี้ไว้ในหนังสือของเขา หน้า 84) จริงๆ แล้ว ชะรีฟ ฮุซัยน์ นั้นเป็นผู้ทะเยอทะยาน มักใหญ่ใฝ่สูงเกินสถานะของตนอยู่มิใช่น้อย ดังที่ซุลตอนอับดุลฮะมีดที่ 2 ได้ทรงปรารภไว้ขณะพระองค์ลงพระปรมาภิไธยโปรดเกล้าแต่งตั้งให้ชะรีฟเป็นข้าหลวง ผู้มีอำนาจเต็มปกครองนครมักกะห์ว่า :
แคว้นอัลฮิญาซได้ออกจากพระราชอำนาจของเรา ชนอาหรับก็มีเอกราชเป็นของตนเอง และอำนาจแห่งราชวงศ์อุษมานียะห์ก็จำต้องสูญเสียเสถียรภาพด้วยเหตุแต่งตั้งให้อัลฮุซัยน์ อิบนุ อะลี เป็นเจ้าครองนครมักกะห์ ก็ได้แต่คาดหวังว่า เขาคงพึงพอใจต่อการเป็นเจ้าผู้ปกครองนครมักกะห์อันทรงเกียรติ และการที่ชาติอาหรับได้รับเอกราชเพียงเท่านั้น แต่กระนั้นเขาก็กลับใช้อุบายต่างๆ นานาเพื่อให้ได้มาซึ่งตำแหน่งค่อลีฟะห์สำหรับตนเอง (อัดเดาละห์ อัลอุษมานียะห์ เดาละตุน มุฟตะรอ อะลัยฮา 2/101)
ความหวั่นพระทัยของซุลตอน อับดุลฮามีด ก็เกิดขึ้นจริงสมดังคำปรารภนั้น ทั้งนี้เพราะหลังจากชะรีฟ ฮุซัยน์ได้มีหนังสือโต้ตอบกับเซอร์ เฮนรี่ แมกมาฮอน ข้าหลวงใหญ่อังกฤษประจำกรุงไคโรหลายฉบับด้วยกัน ซึ่งในประวัติศาสตร์เรียกหนังสือโต้ตอบระหว่างบุคคลทั้งสองว่า “หนังสือโต้ตอบของฮุซัยน์และแมกมาฮอน” – อัลฮุซัยน์ อิบนุ อะลี ได้ประกาศการปฏิวัติลุกฮือต่อจักรวรรดิอุษมานียะห์ ในวันที่ 5 มิ.ย. คศ. 1916
โดยชะรีฟเป็นผู้ลงมือยิงกระสุนนัดแรกเข้าใส่ป้อมทหารตุรกีในนครมักกะห์และกลายเป็นพันธมิตรของอังกฤษที่ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ ข้อนี้เป็นสิ่งที่นายพลเอลเลนบี่ (Allenby) ได้กล่าวแสดงความชื่นชมเอาไว้ในจดหมายที่ส่งถึงเคร์ซอน ลงวันที่ 28 พ.ค. คศ. 1920 โดย เอลเลนบี่ ถือว่า ชะรีฟ ฮุซัยน์ คือผู้หนึ่งที่ให้การสนับสนุนต่อฝ่ายพันธมิตรของอังกฤษซึ่งทำให้แผนการประกาศญิฮาดล้มเหลวในช่วงเวลาที่ยังไม่ทราบผลว่าสงครามจะยุติด้วยชัยชนะของฝ่ายใด (นุกบะห์ อัลอุมมะห์ อัลอะร่อบียะห์ หน้า 147) คำกล่าวของเอลเลนบี่นั้นหมายถึง ชัยชนะย่อมตกเป็นของฝ่ายจักรวรรดิอุษมานียะห์ร่วมกับเยอรมันอย่างแน่นอน หากไม่มีการดำเนินการของชะรีฟ ฮุซัยน์ ดังกล่าว
ในวันที่ 2 พ.ย. คศ. 1916 บรรดาผู้มีอำนาจในแคว้นอัลฮิญาซก็ได้พร้อมใจกันเรียกร้องให้ชะรีฟ ฮุซัยน์ เป็นกษัตริย์ปกครองดินแดนอาหรับ แต่ทว่าอังกฤษกลับสร้างความอัปยศให้แก่ชะรีฟ ฮุซัยน์ ด้วยการรับรองว่าชะรีฟคือกษัตริย์ของแคว้นอัลฮิญาซเพียงเท่านั้น อีกทั้งยังได้มอบคำมั่นสัญญาว่าจะให้โอรสทั้งสามของชะรีฟได้ครองบัลลังก์ของอาหรับสืบต่อ
นี่คือบั้นปลายของบุคคลที่เป็นพันธมิตรกับมารร้ายดังพระดำรัสที่ว่า : “และมารร้ายได้กล่าวเมื่อการงานได้ถูกตัดสินแล้วว่า แท้จริงพระองค์อัลลอฮ์ได้ทรงสัญญาต่อพวกท่านอันเป็นสัญญาแห่งความจริงแท้ และข้าก็ได้ให้สัญญากับพวกท่านเอาไว้ (เช่นกัน) และข้าก็ได้บิดพลิ้วพวกท่าน อีกทั้งข้าหาได้มีอำนาจอันใดเหนือพวกท่านไม่ นอกจากการที่ข้าได้เรียกร้องเชิญชวนพวกท่าน แล้วพวกท่านก็สนองตอบแก่ข้า ฉนั้น พวกท่านจงอย่าประณามข้า แต่จงประณามตัวพวกท่านเองเถิด…” (บทอิบรอฮีม พระบัญญัติที่ 22)
กระนั้น ชะรีฟ ฮุซัยน์ ก็หาได้ตระหนักถึงบทเรียนข้อนี้ไม่ กลับยังคงพยายามสร้างฝันแห่งความทะเยอทะยานของตนให้เป็นจริง และบทบาททางการเมืองของฮุซัยน์ก็จบฉากลงขณะที่เขาได้สถาปนาตัวเองขึ้นเป็นค่อลีฟะห์ของโลกอิสลามในกรุงอัมมาน อันเป็นช่วงเดียวกับการเสด็จเยี่ยมเยียนเจ้าชายอับดุลลอฮ์แห่งจอร์แดนตะวันออกผู้เป็นโอรสโดยฉกฉวยโอกาสการประกาศยกเลิกระบอบการปกครองแบบค่อลีฟะห์ของกลุ่มนายทหารยังเติร์ก (3 มีนาคม คศ. 1924) ในตุรกี
การประกาศตำแหน่งค่อลีฟะห์เหนือโลกอิสลามให้กับตนเอง ของ ชะรีฟ ฮุซัยน์ เป็นการประกาศแต่เพียงฝ่ายเดียวและมิได้แยแสต่อเหล่ากษัตริย์ บรรดาผู้นำตลอดจนนักวิชาการของโลกอิสลามแม้แต่น้อย ทำให้ทุกฝ่ายไม่พอใจต่อชะรีฟ ฮุซัยน์ และถือว่าชะรีฟ คือนักฉวยโอกาสที่กระทำทุกอย่างเพื่อประโยชน์ส่วนตัว
การเป็นค่อลีฟะห์ของชะรีฟ ฮุซัยน์ จึงจำกัดอยู่เฉพาะในเขตแคว้นอัลฮิญาซ ซ้ำร้ายยังมีอายุยืนยาวเพียงแค่อายุ 7 เดือนเท่านั้นเพราะบัลลังก์ของชะรีฟต้องเผชิญกับการโจมตีจากกองกำลังของเจ้าชายอับดุลอะซีส อิบนุ ซุอูด ซึ่งได้รับกำลังสนับสนุนจากอังกฤษ ในที่สุดชะรีฟ จำต้องสละราชบัลลังก์ให้กับเจ้าชายอะลีที่ 4 ผู้เป็นโอรส ในเดือนตุลาคมปีเดียวกัน ราชอาณาจักรอัลฮาชิมียะห์ก็ล่มสลายลง อำนาจเหนือแคว้นอัลฮิญาซได้ผลัดเปลี่ยนสู่ซุลตอนอับดุลอะซีส อิบนุ ซุอูด ส่วนชะรีฟ อิบนุ อะลี ก็ได้รับการตอบแทนจากอังกฤษเฉกเช่นที่ “ซินิมมาร” (คือสถาปนิกผู้ควบคุมการก่อสร้างปราสาทอัลค่อวัรนักให้แก่กษัตริย์อันนัวะอ์มาน อิบนุ อัมริอิลกอยซ์ ซึ่งเมื่อปราสาทสร้างเสร็จกษัตริย์อันนัวะมานก็ได้โยน ซินิมมาร ลงจากปราสาทจนถึงแก่ชีวิต) ได้รับโดยอังกฤษได้เนรเทศพระองค์สู่ไซปรัสและที่นั่นพระองค์ก็จบชีวิตลง
ก่อนสิ้นชีวิต ชะรีฟ ฮุซัยน์ ได้กล่าวถึงความทุกข์ระทมของตนว่า : ข้าพเจ้าได้ละเลยไม่ตรึกตรองคำวิจารณ์ที่ข้าพเจ้าได้รับจากมุสลิมตุรกีเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของข้าพเจ้าที่มีต่ออังกฤษ ซึ่งข้าพเจ้าพบว่าในการตอบรับข้อเรียกร้องของอังกฤษที่ให้ข้าพเจ้าประกาศการลุกฮือนั้นเป็นการรื้อฟื้นความรุ่งโรจน์ของชาวอาหรับและเป็นการสร้างความพึงพอใจต่อความรู้สึกของชาวมุสลิม แต่ปรากฏว่าผลลัพธ์ของสิ่งดังกล่าวคือการพบกับจุดจบของชาวอาหรับและตุรกีไปพร้อมๆ กัน (ตารีค อัดเดาละห์ อัลอะลียะห์ อัลอุษมานียะห์ 2/712)
ชะรีฟ ฮุซัยน์ คือสมุนตัวยงที่ให้การสนับสนุนต่อเหล่าศัตรูผู้มุ่งร้ายในการยึดครองโลกอาหรับและโลกอิสลามโดยรวม และนี่คืออวสานของผู้เป็นพันธมิตรของชาติตะวันตก พระองค์อัลลอฮ์ (ซ.บ.) ได้ทรงดำรัสว่า “แท้จริงในสิ่งดังกล่าวย่อมเป็นอนุสติสำหรับผู้ยำเกรง” (บทอันนาซิ-อาต พระบัญญัติที่ 26)
บรรดาผู้ปกครองของชาวมุสลิมในทุกวันนี้จะได้ฉุกคิดกับเรื่องนี้หรือไม่? คำตอบอันเป็นข้อเท็จจริงก็คงเป็นที่ทราบกัน กล่าวคือ บรรดาผู้ปกครองชาวมุสลิมหาได้ตระหนักถึงบทเรียนข้อนี้ไม่ บ้างก็เดินตามหลังตะวันตก บ้างก็ตามก้นตะวันตกซึ่งทั้งตะวันออกและตะวันตกต่างก็ไม่ได้ให้ประโยชน์อันใดแก่พวกเรา ซึ่งเรื่องราวแห่งซาฮ์ของอิหร่านเป็นตัวอย่างได้อย่างดีในบทเรียนดังกล่าว
ยังมีสมุนรับใช้ตะวันตกอีกหลายต่อหลายคน (นอกเหนือจากชะรีฟ ฮุซัยน์) ซึ่งชาติตะวันตกโดยเฉพาะเจ้าอาณานิคมอย่างอังกฤษสามารถทำให้บุคคลเหล่านี้กลายเป็นเสี้ยนหนามทิ่มแทงจักรวรรดิอุษมานียะห์และบรรลุสู่เป้าหมายที่วางไว้ด้วยการอาศัยพวกคิดคดและคิดไม่ซื่อด้วยการกินสินบาทคาดสินบน เกี่ยวกับพวกหนอนบ่อนไส้ที่รับสินบนจากต่างชาติเหล่านี้ ซุลตอน อับดุลฮะมีดที่ 2 ได้ทรงระบุไว้ในพระราชหัตถเลขาว่า
เจ้าหน้าที่บางคนในรัฐบาลตลอดจนบรรดารัฐมนตรีและผู้นำทางการเมืองบางคน ดังที่ข้าพเจ้าทราบ เช่น เซอร์อัซกัร (เสนาธิการ) เอานี่ย์ ปาชา ได้รับสินบนจากอังกฤษ ซึ่งเป็นเรื่องปกติเมื่อมีเจ้าหน้าที่ของรัฐได้รับเงินจากประเทศอื่น เจ้าหน้าที่ผู้นั้นก็จะต้องรับใช้ประเทศที่ให้สินบนเป็นการตอบแทน และกรณีเช่นเดียวกันนี้ย่อมหมายความว่าการปลดซุลตอนอับดุลอะซีซ ผู้เป็นลุงของข้าพเจ้าออกจากพระราชอำนาจและแต่งตั้งซุลตอนมุรอดขึ้นครองบัลลังก์แทน ย่อมมิได้เกิดจากการริษยามุ่งร้ายของฮุซัยน์ เอานี่ย์ ปาชา เพียงอย่างเดียว หากแต่ยังเป็นการสร้างความพึงพอใจตามความประสงค์ของประเทศอื่นอีกด้วย
ซุลตอนอับดุลฮะมีดยังได้ทรงมีพระราชหัตถเลขาอีกว่า
เมดฮัต ปาชา ((1822-1884) เป็นนักการเมืองและนักรัฐศาสตร์คนสำคัญของจักรวรรดิอุษมานียะห์ ดำรงตำแหน่งมหาเสนาบดี (อัซซอดรุ้ลอะอ์ซอม) ในปีค.ศ.1872-1877) ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่เหมือนกับฮุซัยน์ เอานี่ย์ ในการดำเนินนโยบายทางการเมืองที่เอื้อประโยชน์ต่ออังกฤษ และเขาก็มักจะแสดงท่าทีอันชัดเจนถึงความมั่นใจของเขาที่มีต่ออังกฤษ และข้าพเจ้าก็เคยเห็นท่านมหาเสนาบดี (เมดฮัต ปาชา) เคยสนับสนุนอังกฤษและร่วมมือกับพวกนั้นอย่างออกหน้าออกตา ซึ่งไม่ว่าท่านมหาเสนาบดีจะกระทำเช่นนั้นไปเพราะความนิยมในกลุ่ม “มาโซนี่” หรือเพราะเหตุปัจจัยส่วนตัวก็ตาม ข้าพเจ้าก็ย่อมมิอาจยอมรับได้ ดังนั้นข้าพเจ้าจึงได้อาศัยอำนาจที่ข้าพเจ้ามีตามรัฐธรรมนูญการปกครองถอดมหาเสนาบดีผู้นี้ออกจากตำแหน่งและเนรเทศออกนอกประเทศ (พระราชหัตถเลขา ซุลตอนอับดุลฮะมีด หน้า 39-43 จัดพิมพ์โดยดารุ้ลอันซ๊อร ปี ค.ศ.1978)
กลุ่มประเทศล่าอาณานิคมมิได้หยุดอยู่เพียงแค่นี้ หากแต่ยังได้แสวงหาแนวร่วมจากเหล่าพระสนมของซุลตอนที่แต่เดิมเป็นชาวคัมภีร์ (หมายถึงยิวและคริสเตียน) ซึ่งพวกนางได้แสดงออกภายนอกว่าเข้ารีตในศาสนาอิสลาม อีกทั้งยังทำเป็นทีว่ามีความรักต่อบรรดาซุลตอนผู้เป็นพระสวามี ตลอดจนจงรักภักดีต่อจักรวรรดิอุษมานียะห์ แต่ทว่าจริงๆ แล้พระสนมเหล่านี้กลับซ่อนเร้นความจงรักภักดีต่อประเทศอันเป็นมาตุภูมิเดิมของพวกนางเอาไว้ทุกอณูเลยทีเดียว
ทั้งนี้นางสนมต้องห้ามที่มีสายเลือดต่างชาติได้ดำเนินการตามวิธีการของรัฐบาลแห่งมาตุภูมิเดิมของพวกนางเพื่อประโยชน์ของรัฐบาลนั้นๆ จนในที่สุดวิธีดังกล่าวได้กลายเป็นภัยจากภายในจักรวรรดิเอง ซึ่งผลที่ตามมาหลังจากที่พระสนมบางคนได้รับการสถาปนาให้ดำรงตำแหน่งพระมเหสีของซุลตอนนางก็กลายเป็นซุลตอนะห์ ผู้ทรงอิทธิพลในอาณาจักรอิสลามที่เกรียงไกร และเป็นมหาอำนาจของโลกไปโดยปริยาย (อัดเดาละห์ อัลอุษมานียะห์ อัลมุฟตะรอ อะลัยฮา 1/576)
ดังที่ได้กล่าวมา ย่อมเป็นที่กระจ่างชัดว่า กลุ่มประเทศล่าอาณานิคมทั้งหลายได้แสวงหาแนวร่วมและพลพรรคของพวกตนจากกลุ่มผู้คนผู้มีตำแหน่งและฐานะที่ทรงอิทธิพลในทุกระดับอย่างไร นับแต่เหล่านางบาทบริจาริกาขององค์ซุลตอน จวบจนบรรดามหาเสนาบดีเรื่อยไป จนถึงเจ้านายและกลุ่มนายทหารในกองทัพ ทั้งหลายทั้งปวงล้วนแต่มีส่วนร่วมในฐานะผู้ตกอยู่ใต้บงการของชาติตะวันตกที่มุ่งทำลายอิสลามและระบอบค่อลีฟะห์ด้วยกันทั้งสิ้น
ดร.เอียะฮ์ซาน ฮักกีย์ ได้กล่าวไว้ในภาคผนวดท้ายหนังสือ ตารีค อัดเดาละห์ อัลอะลียะห์ อัลอุษมานียะห์ หน้า 730 ว่า : ส่วนหนึ่งจากสาเหตุต่างๆ ที่นำไปสู่การล่มสลายของจักรวรรดิอุษมานียะห์ได้แก่
1. บรรดาซุลตอนได้อภิเษกสมรสกับสตรีต่างชาติเป็นจำนวนมาก ผลที่ตามมาคือ สตรีเหล่านี้สามารถควบคุมความรู้สึกนึกคิดของบรรดาซุลตอนผู้เป็นพระสวามี ตลอดจนมีส่วนร่วมในการแทรกแซงนโยบายทางการเมืองของอุษมานียะห์ที่มีต่อมาตุภูมิของพวกนาง
2. การมีพระสนมเป็นจำนวนมากที่บรรดาต่างชาติและผู้ปกครองต่างนำตัวพวกนางเข้าถวายเป็นบาทบริจาริกาขององค์ซุลตอนจนดูเหมือนว่าพวกนางเป็นสินค้าหรือของกำนัล ซึ่งเมื่อบรรดาซุลตอนเห็นว่าพวกนางมีจำนวนมากเกินในราชมณเฑียรและพระตำหนักชั้นใน (ฮ่ารอมลีก) บรรดาซุลตอนก็มักจะมอบนางบาทบริจาริกาเหล่านี้แก่เหล่าเสนาอำมาตย์หรือผู้ที่ซุลตอนโปรดปรานเพื่อเป็นการให้เกียรติหรือเป็นรางวัลตอบแทนในการสร้างความดีความชอบ จึงเป็นเรื่องปกติที่สตรีเหล่านั้นจะมีอิทธิพลอยู่บ้างไม่มากก็น้อยต่อสามีซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับราชสำนักในฐานะ ขุนนางชั้นสูง
นอกจากนี้ยังเกิดความอิจฉาริษยาในระหว่างสตรีที่อาจเป็นภรรยาขุนนางแต่เดิมกับนางข้าไทที่เข้ามาใหม่ ซึ่งกรณีเช่นนี้ซุลตอนก็ไม่ได้รับการยกเว้น เพราะพระมเหสีหรือเจ้าจอมเดิมอาจจะไม่พอใจที่ซุลตอนโปรดปรานนางสนมคนใหม่ กอรปกับนางสนมตามธรรมเนียมของราชสำนักจะต้องอยู่ภายใต้การดูแลของพระมเหสีหรือพระราชชนนีขององค์ซุลตอน แต่เนื่องด้วยนางสนม นางพระกำนัลที่เข้าสู่พระตำหนักชั้นในนั้นเป็นที่โปรดปราน ก็อาจทำให้นางสนมบางคนได้ใจ จึงอาจคิดกำเริบเสิบสานซึ่งจุดจบก็อาจจะถูกลอบวางยาพิษ หรือเสื่อมเสียต่างๆ นานา อันเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นในเกือบทุกราชสำนักของโลก
3. การเข้ามาแทรกแซงเรื่องนโยบายและการบริหารราชการแผ่นดินของสตรีในวังหลวงบางคนที่มักจะเสนอให้องค์ซุลตอนโปรดเกล้าให้บ่าว หรือขันทีบางคนกินตำแหน่งสำคัญๆ ในราชสำนัก ซึ่งโดยมากขาดความรู้ความสามารถในการรับราชการ และพวกบ่าวขันทีที่กินตำแหน่งเหล่านี้มักมีหน้าที่เป็นเพียงสายลับหรืออีกาคาบข่าวมารายงานแก่เจ้านายของตนซึ่งเป็นสตรีในวังหลวง
ผลร้ายที่เกิดขึ้นตามาจึงเป็นอย่างที่เห็น กล่าวคือ การบริหารราชการแผ่นดินล้มเหลวเพราะขุนนางขาดความรู้ความสามารถ และความลับทางราชการรั่วไหล ตลอดจนมีหนอนบ่อนไส้ในราชสำนัก (อนึ่ง สภาพการณ์ที่เกิดขึ้นในราชสำนักอุษมานียะห์ข้างต้นปรากฏชัดเจนในช่วงที่จักรวรรดิอุษมานียะห์อ่อนแอ ส่วนในช่วงต้นสมัยจักรวรรดินั้นก็พอมีให้เห็นแต่ไม่รุนแรงเท่ากับยุคปลายจักรวรรดิ)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น