product :

วันศุกร์ที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2560

“มอสโก”ให้บริการโรงแรมฮาลาล ดึงดูดนักท่องเที่ยวมุสลิม

“มอสโก”ให้บริการโรงแรมฮาลาล ดึงดูดนักท่องเที่ยวมุสลิม

(ซะห์รอ บินติอับดุลการิม)



มุสลิมวิลเลจ – ไม่มีเบคอนสำหรับอาหารเช้า ทว่ามีห้องสำหรับละหมาดและมีอัลกุรอานวางบนโต๊ะข้างเตียงของคุณ โรงแรมในมอสโกได้เปิดบริการพิเศษ “ฮาลาล” ซึ่งเป็นบริการที่รัสเซียพยายามดึงดูดผู้มาเยือนจากโลกมุสลิม

Lyubov Shiyan ผู้อำนวยการตลาดโรงแรมแอโรว์สตาร์ (Aerostar) กล่าวว่า “ประมาณร้อยละ 70 เปอร์เซ็นต์ของผู้เข้าพักของเรามาจากต่างประเทศ และประมาณ 13 เปอร์เซ็นต์หรือราว 5,000 คนมาจากประเทศมุสลิมโดยเฉพาะอิหร่าน”

“แขกชาวมุสลิมของเราที่มาพักได้ขอห้องละหมาดหรือเมนูอาหารที่แยกต่างหาก” เธอกล่าวและว่า “เราอยากให้ทุกคนที่มาที่นี่รู้สึกเหมือนอยู่บ้าน”

เพื่อที่จะให้สิ่งนี้เกิดขึ้น โรงแรมจะต้องผ่านขั้นตอนอย่างเข้มงวดก่อนที่จะได้รับการรับรองฮาลาลโดยเจ้าหน้าที่มุสลิมในรัสเซีย แต่งานนี้ดูเหมือนจะคุ้มค่า

เพราะปัจจุบันเป็นเวลาที่ยากลำบากสำหรับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของรัสเซียที่ตัวเลขนักท่องเที่ยวลดลง โดยเฉพาะในช่วงนี้ที่เกิดความตึงเครียดระหว่างตะวันออกและตะวันตกอันเนื่องมาจากวิกฤตความชัดแย้งในยูเครน ซึ่งถือว่าเลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่สิ้นสุดยุคสงครามเย็น

อุตสาหกรรมท่องเที่ยวได้รับผลกระทบหนัก นักท่องเที่ยวชาวตะวันตกโดยเฉพาะจากสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักรลดลงร้อยละ 30 ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ ส่งผลให้โรงแรมต่างๆ ต้องปรับตัวและแข่งขันเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวจากส่วนอื่น รวมถึงประเทศมุสลิมในตะวันออกกลางและเอเชีย ที่ไม่ได้มีมาตรการแซงชั่นรัสเซียอันเนื่องมาจากวิกฤติยูเครน

Shiyan กล่าวว่า “เรามีห้องที่ปูพรมสำหรับละหมาด 20 ห้อง จาก 308 ห้องในโรงแรม มีอ่างสำหรับอาบน้ำละหมาดและมีเข็มทิศขนาดเล็กที่บ่งชี้ทิศทางของมักกะฮ์”

“แม้แต่แชมพูและสบู่ในห้องพักได้รับรองฮาลาลและไม่มีไขมันสัตว์หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์” เธอบอก

โรงแรมมีห้องละหมาด 2 ห้อง ที่แยกสำหรับผู้ชายและอีกหนึ่งห้องสำหรับผู้หญิง และมีห้องครัวที่แยกต่างหากสำหรับทำอาหารฮาลาล

“คุณจะไม่พบหมูหรือแฮมที่นี่” เชฟ Vitaly บอกกับ AFP ขณะเขายืนอยู่ในห้องขนาดเล็กที่มีเครื่องหมาย “ฮาลาล” ภายในดาวสีเขียวแขวนบนผนัง

“ถ้วยชามทุกใบเป็นของใหม่และไม่เคยใช้มาก่อน” เขากล่าว

บริการที่มีความต้องการสูง

ในช่วงสองสัปดาห์แรกนับตั้งแต่โรงแรมเปิดตัว ลูกค้าได้มีการจองเข้ามาเป็นจำนวนจากประเทศมาเลเซียและอิหร่าน

Samat Sadykov จากศูนย์นานาชาติฮาลาลสำหรับมาตรฐานและการรับรองในมอสโกกล่าวว่า “เนื่องจากการลดลงของจำนวนผู้มาเยือนจากสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของรัสเซียจึงได้เริ่มให้ความสนใจมากขึ้นกับนักท่องเที่ยวที่มาจากประเทศมุสลิม”

และเขากล่าวอีกว่า “การสร้างที่พักที่เหมาะสมมีความสะดวกสบายเป็นสิ่งที่สำคัญ และบริการฮาลาลกำลังอยู่ในความต้องการระดับสูง”

และแม้ว่ามุสลิมในรัสเซียมีราว 20 ล้าน แต่รัสเซียในวันนี้มีเพียงสองโรงแรมเท่านั้นที่ได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการในเรื่องฮาลาล ซึ่งอยู่ทางภาคเหนือของรัฐตาตาร์ย่านมุสลิม

ส่วนอีกหนึ่งโรงแรมในเมืองตากอากาศย่านทะเลสีดำของเมืองโซชี ทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศรัสเซีย ก็ถูกยอมรับด้วยเช่นกัน หลังจากโอลิมปิกฤดูหนาว เมื่อปี 2014 ที่ตอนนั้นได้ถูกปรับเพื่ออำนวยความสะดวกและตอบสนองความต้องการของนักกีฬามุสลิมเช่นห้องละหมาดและเมนูอาหารฮาลาล

“ถือว่ายังไม่เพียงพอโดยสิ้นเชิง” Sadykov กล่าว

ตอนนี้ โรงแรมอื่นๆ ในโซชี กำลังมองหาสิ่งอำนวยความสะดวกที่เหมาะสมสำหรับแขกชาวมุสลิม เพื่อรองรับการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาในอนาคต รวมทั้งบางส่วนของการแข่งขันฟุตบอลโลก 2018

“ถ้าตอนนี้เรารวมจำนวนนักท่องเที่ยวและนักธุรกิจที่มาเยือนรัสเซีย ซึ่งเป็นชาวตะวันออกกลาง ตุรกี หรืออิหร่านแล้ว เรากำลังพูดถึงเกี่ยวกับจำนวนมหาศาลอย่างแท้จริงของลูกค้าที่อาจเกิดขึ้น” Sadykov กล่าว

ที่มา : http://www.abnewstoday.com/



#สารพันบทความ_Islamic_Society_Online
Islamic Society Online
read more "“มอสโก”ให้บริการโรงแรมฮาลาล ดึงดูดนักท่องเที่ยวมุสลิม"

วันจันทร์ที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2560

ความหมายเนื้อร้องบทเพลงสรรเสริญพระบารมีภาคภาษาอาหรับทั้ง ๒ สำนวน…

ความหมายเนื้อร้องบทเพลงสรรเสริญพระบารมีภาคภาษาอาหรับทั้ง ๒ สำนวน…




ความหมายเนื้อร้องบทเพลงสรรเสริญพระบารมีภาคภาษาอาหรับทั้ง ๒ สำนวน เป็นภาษาไทย และเทียบเนื้อร้องภาษาไทยต้นฉบับ




สำนวนที่ ๑

ท่านอาจารย์ต่วน สุวรรณศาสตร์ อดีตจุฬาราชมนตรี ได้ประพันธ์เป็นภาษาอาหรับเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ (สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า) เสด็จประพาสทางชลมารคผ่านโรงภาษีเก่า หรือที่เรียกกันว่า โรงภาษีร้อยชัก ๓ ครานั้นท่านอาจารย์ต่วน สุวรรณศาสตร์ (ฮัจยีอิสมาแอล ยะห์ยาวี) เป็นอาจารย์ใหญ่โรงเรียนอันยุมันอิสลาม (ยังไม่ได้ดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรี) จึงได้แปลงบทเพลงสรรเสริญพระบารมีเป็นภาษาอาหรับเพื่อให้นักเรียนขับร้องรับเสด็จ ซึ่งเป็นที่ประทับพระราชหฤทัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๖ เป็นอันมาก สำนวนภาษาอาหรับที่ท่านอาจารย์ต่วน สุวรรณ์ศาสตร์ประพันธ์ไว้ มีดังนี้



ما ملك سيام – มา มาลิกุส สยาม

(กษัตริย์แห่งสยาม)

جاد رعيته – ญา ดะร่ออี-ยะตะฮู

(ทรงมีชัยต่อพสกนิกรของพระองค์ด้วยพระกรุณา)

أظل رايته – อะซอล-ละ รอ ยะตะฮู

(ทรงประทานธงชัยของพระองค์ให้เป็นร่มเงา)

دآمت سلطنته – ดา มัด-ซัล ต่อนะ ตะฮู

(พระราชอำนาจของพระองค์สถิตสถาพร)

يحميهم ينصرهم – ยะมี-ฮิม ยันชุรฮุม

(พระองค์ทรงบริบาลพวกเขา ทรงอุปถัมภ์พวกเขา)

نال – الحرام سقيم الحدوث – นา ลัล-ฮะรอม สกีมุล-ฮุดูส

(อุบัติการณ์ที่ไม่ดี ย่อมประสบการหักห้าม)

ما نع متعديابه – มา นิอุน-มุตะอัด-ดิยา บิ ฮี

(ทรงเป็นผู้ขัดขวาง ผู้ที่ล่วงล้ำ…)

تنظيم–البلاد – ตันซีมุล-บิลาด

(การวางระบบประเทศ)

ويثبت الأمن ويحفظ الوطن – วะยุส บิตุล-อะมัน วะยะหฟะซุลวะต๊อน

(และทรงทำให้ความศานติ (ปลอดภัย) เป็นที่เสถียรมั่นคง และทรงปกปักรักษาประเทศชาติ)

وينشر العدل آمين – วะยัน ชิ รุลอัดล์ อะมีน

(และทรงแผ่ความยุติธรรมให้ขจรขจายไป อามีน)

*ให้ความหมายภาษาไทยโดย นายอาลี เสือสมิง

*คำอ่านเทียบภาษาไทยเขียนตามอักขระวิธีเดิมในต้นฉบับ อ้างจากหนังสือ “พระบรมราชูปถัมภ์กิจการศาสนา ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” จัดพิมพ์โดย กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม พิมพ์ครั้งที่ ๒ พ.ศ.๒๕๕๗ หน้า ๑๔๕




สำนวนที่ ๒

นายสันติ เสือสมิง (อาลี บิน อะหฺมัด) ครูใหญ่โรงเรียนมัจลิซุดดีนี สวนหลวง กรุงเทพฯ ได้ประพันธ์เนื้อร้องบทเพลงสรรเสริญพระบารมีเป็นภาษาอาหรับเพื่อให้นักเรียนขับร้องบนเวทีงานประจำปีของโรงเรียน พ.ศ.๒๕๕๗ ซึ่งจัดขึ้นในเดือนธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๗ อันเป็นช่วงกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ ๕ ธันวา มหาราช ทางโรงเรียนได้เชิญพลเอกอุดมเดช สีตบุตร ผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้นมาเป็นประธานในพิธี การประพันธ์เนื้อร้องบทเพลงสรรเสริญซึ่งนักเรียนที่ร่วมขับร้องได้อัดคลิปเสียงไว้ขณะทำการซ้อมในช่วงบ่ายของวันงานประจำปีดังกล่าวยังขาดความสมบูรณ์ทั้งในด้านนไวยากรณ์ภาษาอาหรับและท่วงทำนอง ตลอดจนความหมายของเนื้อร้องภาษาอาหรับยังไม่ตรงกับความหมายเนื้อร้องภาษาไทยของบทเพลงสรรเสริญพระบารมีต้นฉบับ



แต่คลิปเสียงที่อัดไว้โดยฉุกละหุกนั้น ได้ถูกเผยแพร่และแชร์กันในสื่อภายหลังการสิ้นพระชนม์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ไปเสียก่อนแล้วโดยที่ยังมิทันจะปรับแก้และเรียบเรียงใหม่ให้สมบูรณ์ เนื้อร้องภาษาอาหรับในคลิปเสียงจึงเป็นฉบับที่ ๑ ก่อนปรับแก้ เพื่อให้เกิดความถูกต้องตรงตามหลักไวยากรณ์ภาษาอาหรับและมีความหมายใกล้เคียงและสอดคล้องกับท่วงทำนองเดิมของบทเพลงสรรเสริญพระบารมีต้นฉบับ นายสันติ เสือสมิงจึงได้ปรับแก้ถ้อยคำเสียใหม่ และถือว่าสำนวนของฉบับปรับแก้แล้วนี้เป็นฉบับที่ ๒ อันเป็นที่ยุติแล้ว ดังนี้



يا ملك سيام – ยา มะลิกะ สิยาม

(โอ้ ผู้เป็นกษัตริย์แห่งสยาม)



نحييه بصفاء القلوب – นุหัยยีฮฺ บิ เศาะฟาอิลกุลูบ

(เราแสดงความคารวะต่อพระองค์ด้วยความพิสุทธิ์ผ่องใสของดวงฤทัย)



لجلالته ﺬي الكرم – ลิ ญะลาละติฮี ซิล กะร็อม

(แด่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงเกียรติ)

*ท่อนนี้แต่ต้น คำว่า “เรา” ถอดมาจาก “ข้าวรพุทธเจ้า” สรรพนามบุรุษที่ ๑ และ ๒ ประโยคหลังถอดมาจาก “เอามโนและศิระกาน นบพระภูมิบาลบุญดิเรก” โดยอนุโลม



أوحدْآل جاكرين – เอาหัด อาลิ ญ๊ากริน

(พระผู้ทรงเป็นเอกแห่งบรมราชจักรีวงศ์)

*ท่อนนี้ถอดความจาก “เอกบรมจักริน”



عاهل سيام – อาฮิลุ สิยาม

(พระมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งสยาม)

*ท่อนนี้ถอดความจาก “พระสยามินทร์”



أطال عزه – อะฏอล่ะ อิซฺซุฮู

(พระเกียรติยศของพระองค์ยืนยาวยิ่ง)

*ท่อนนี้ถอดความจาก “พระยศยิ่งยง” ซึ่งกริยา (อะฏอล่ะ) เดิมคือ (ฏอล่ะ) เป็นอกรรมกริยา (ฟิอฺล์ ลาซิม) แต่ที่เติม อะลีฟ เข้าข้างหน้าเพื่อบ่งถึงความมาก (มุบาละเฆาะฮฺ) หากจะตัด อะลีฟ ออกและเหลือเพียง (ฏอล่ะ) ก็ทำได้



سليمة الرؤوس بحمايته – สะลีมะตุรฺ รุอูส บิ หิมายะติฮี

(บรรดาศีรษะมีความเป็นปกติด้วยการพิทักษ์รักษาของพระองค์)

*ท่อนนี้ถอดความจาก “เย็นศิระเพราะพระบริบาล” และแก้ไขจากสำนวนที่ ๑ سلمت الرؤوس برعايته (สะลิมะติรฺรุอูส บิริอายะติฮี) ความหมายเหมือนกันแต่รูปประโยคต่างกัน



جميع الرعايا بفضله سعيدون – ญะมีอุรฺ เราะอายา บิฟัฎลิฮี สะอีดูน

(ด้วยความประเสริฐของพระองค์ ปวงประชาทั้งมวลคือผู้มีความสุข)

*ท่อนนี้ถอดความจาก “ผลพระคุณ ธ รักษา ปวงประชาเป็นสุขศานต์”



بالتوفيق أي مراده ، بالغ المرام كمايشاء – บิต เตาฟีก อัยมุรอดิฮี บาลิฆุล มะรอม กะมายะชาอุ

(ด้วยการเอื้ออำนวย สิ่งที่ถูกมุ่งหมายอันใดก็ตาม บรรลุถึงที่หมาย ตามที่มีพระประสงค์)

*ท่อนนี้ถอดความจาก “ขอบันดาล พระประสงค์ใด จงสฤษดิ์ดัง หวังวรหฤทัย” ประโยค أي مراده เดิมคือ อัยยุมุรอดิฮี แต่จังหวะของทำนองออกเสียงเพียงแค่ อัยมุรอดิฮี



مثلما التهاني…آمين – มิษละมัต ตะฮานี…อามีน

(เหมือนดังสิ่งที่เป็นคำอำนวยพรทั้งหลาย…เทอญ)

*ท่อนนี้ถอดความจาก “ดุจ ถวายชัย ชโย”




เนื้อร้องบทเพลงสรรเสริญพระบารมีภาษาไทยบางถ้อยคำและบางประโยคอาจมีความคลุมเครือต่อการเข้าใจในด้านหลักศรัทธาของศาสนาอิสลาม แต่เมื่อแปลงเป็นเนื้อร้องภาษาอาหรับแล้ว ความหมายจะเป็นกลาง ไม่ขัดต่อบัญญัติของศาสนาอิสลาม ส่วนความหมายบทเพลงสรรเสริญพระบารมีต้นฉบับภาษาไทยนั้น ท่านอาจารย์ประเสริฐ มะหะหมัด อดีตจุฬาราชมนตรีได้ให้รายละเอียดเป็นคำตอบไว้นานแล้วเกี่ยวกับเรื่องนี้ ซึ่งพอสรุปได้ว่าสามารถร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีภาษาไทยได้ เพราะสำนวนของประโยคและถ้อยคำในบทเพลงสรรเสริญพระบารมีต้นฉบับภาษาไทยเป็นโวหารเสียมาก และขึ้นอยู่กับการตีความ ตลอดจนเจตนาของผู้ขับร้อง




วัลลอฮุ วะลียุตเตาฟีก วัล-ฮิดายะฮฺ
นายสันติ เสือสมิง (อาลี บิน อะหฺมัด)
๒๘/๑๐/๒๕๕๙




ที่มา : http://alisuasaming.org/main/?p=6859

#สารพันบทความ_Islamic_Society_Online
#Islamic_Society_Online

read more "ความหมายเนื้อร้องบทเพลงสรรเสริญพระบารมีภาคภาษาอาหรับทั้ง ๒ สำนวน…"

วันศุกร์ที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2560

มัสยิดอัลนะบะวีย์

มัสยิดอัลนะบะวีย์




มัสยิดนาบาวีย์ เป็นมัสยิดที่ท่านนบีมุฮัมหมัด (ซ.ล.) สร้างกับบรรดาซอฮาบะห์ (สหาย) ของท่าน เมื่อตอนที่ท่านฮฺจเราะฮ์ (อพยพ) จากนครมักกะฮ์มาสู่นครมาดีนะฮ์ใหม่ๆ เป็นมัสยิดที่เกิดขึ้นบนรากฐานของความตั๊กวา (ยำเกรง) มีความสำคัญเป็นอันดับสองรองจากมัสยิดฮารอมที่มักกะฮ์ เป็นมัสยิดที่โอ่อ่าอลังการณ์มาก เสามีอยู่ 2,104 ต้น แต่ละต้นตกแต่ง ประดับประดาไปด้วยทอง ดูแล้วตื่นตาตื่นใจมาก ภายในติดแอร์เย็นฉ่ำ มีหลังคาส่วนที่เรียกว่าโดมเป็นรูปลูกปิงปองครึ่งซีกครอบอยู่ 27 โดม เขียนลวดลายสวยงามมาก แต่ละโดมมีพื้นที่ประมาณ 10x10 เมตร หนัก 80 ตัน เลื่อนปิดเปิดด้วยระบบไฟฟ้า และยังมีส่วนที่เป็นร่มเปิดปิดได้ด้วยระบบไฟฟ้าเช่นกันอีก 12 ร่ม (เฉพาะตัวมัสยิดไม่เกี่ยวกับรอบอาคารมัสยิดซึ่งมีจำนวนมาก) ชั้นจอดรถใต้ดินมีสองชั้น จอดได้สี่พันกว่าคัน บนดาดฟ้าจุคนประมาณเก้าหมื่นกว่าคน ทั้งหมดรวมบริเวณลานด้านนอกจุคนได้เจ็ดแสนกว่าคน ในเทศกาลฮัจย์ที่มีผู้คนหนาแหน่นสามารถได้ทั้งหมดในคราวเดียวกันประมาณ 1 ล้านคน

ถ้าฝนตกหรือแดดออกโดมจะปิด เวลาอากาศดีๆ โดมจะถูกเปิด นั่งแล้วโล่งสบาย ตกตอนเย็นจะมีคนชอบไปนั่งใต้โดมเพื่อคอยดูเวลาโดมเลื่อนเปิด พื้นภายในเป็นหินอ่อนแต่เขาจะปูพรมเต็มเกือบตลอด ถ้าเป็นวันศุกร์จะมีชาวเมืองมาดีนะฮ์มาร่วมละหมาดวันศุกร์ด้วย บนลานด้านนอกเขาก็จะปูพรมเต็มพื้นที่เลย ที่นี่สถาปนิกเขาออกแบบได้เนี้ยบมาก ในอาคารไม่เห็นหลอดไฟเลย นอกจากโคมไฟประดับเท่านั้น ช่องแอร์จะหลบอยู่ในเสาทุกต้นดูไม่ออก จะทราบก็ต่อเมื่อเอามือไปอังตรงลวดลายที่ประดับอยู่ที่เสา ภายในมัสยิดมีคูลเลอร์ใส่น้ำซัมซัมเย็นๆตั้งเป็นจุดๆไว้บริการ

ท่านนบีได้กล่าวไว้ว่า การละหมาดในมัสญิดของฉัน(ที่มาดีนะฮ์)นั้นดีกว่าการละหมาดที่อื่นถึงหนึ่งพันเท่า ยกเว้นที่มัสญิดอัลฮารอม (ในมักกะฮ์) และการละหมาดในมัสญิดฮารอม นั้นดีกว่าแสนเท่าของการละหมาดในที่อื่น

โดมสีเขียวเหนือมัสยิดนาบาวีย์


เป็นตำแหน่งที่ระบุหลุมฝังศพของมหาบุรุษของโลกนามว่า ท่านนบีมุฮัมหมัด (ซ.ล) ซึ่งถูกฝังไว้ด้านล่าง





ประตูทางเข้าสู่มัสยิดบาวีย์


ที่นี้จะมีการแยกประตูเข้าออก แยกสถานที่ละหมาด ระหว่างชายหญิงเป็นสัดส่วนอย่างชัดเจน จะไม่มีการละหมาดประปนกัน




ภายในมัสยิด



บรรยากาศในมัสยิดเงียบสงบ เย็นสบาย สามารถนั่งอ่านอัลกุรอาน หรือนั่งซิกรุลลอฮ์ (รำลึกถึงพระเจ้า) ได้ทุกมุม หากไม่มีที่กั้น ห้ามนั่ง




ชั้นวางคัมภีร์อัลกุรอานและคัมภีร์อัลกุรอาน พบเห็นได้ทั่วไปในมัสยิด หยิบอ่านได้ตามสะดวก




ที่วางคัมภีร์อัลกุรอานตามเสามัสยิด



เขตเราเฎาะฮ์


ภายในมัสยิดนาบาวีย์จะมีเขตพิเศษอยู่เขตนึงเรียกว่า เราเฎาะฮ์ คือ สถานที่อยู่ระหว่างมิมบัร (แท่นอ่านบทธรรมเทศนา) กับบ้านของท่านนบีมูฮำหมัด (ซ.ล.) ขณะที่ท่านมีชีวิตอยู่ มีพื้นที่ประมาณ 330 ตารางเมตร (ท่านนบีมุฮัมหมัด (ซ.ล.)ได้กล่าวว่า "พื้นระหว่างบ้านของฉันกับมิมบัรมันเป็นสวนหนึ่งแห่งสวนสวรรค์ บันทึกโดยบุคคอรี/มุสลิม) เป็นบริเวณที่ท่านนบีพำนักพักพิงอาศัยเป็นเนืองนิจขณะท่านมีชีวิต โดยเป็นที่ชุมนุมในการละหมาดญามาอะห์, อบรมตักเตือนวางแผนกิจการต่างๆ พร้อมกับบรรดาซอฮาบะห์ (สหายของท่าน)




ในบริเวณที่เป็นเราเฎาะฮ์ถูกปูด้วยพรมสีเขียวและมีเสาหินอ่อนสีขาวขอบทองเป็นการแยกออกอย่างชัดเจนกับบริเวณอื่นที่ไม่ใช่เราเฎาะฮ์ซึ่งจะปูด้วยพรมสีแดงมีเสาเป็นปูนสีครีม ซึ่งบริเวณทางเข้านี้ มีผู้คนออกันอยู่เป็นจำนวนมากเพื่อหาทางเข้าไปละหมาดที่เราเฎาะฮ์ให้ได้ แม้จะเพียงสักครั้งหนึ่งในชีวิต และเป็นความใฝ่ฝันของบรรดาฮูจยาดที่หวังว่าจะได้มีโอกาศ ได้เข้ามาละหมาดและขอพรในเขตสวนหนึ่งแห่งสวนสววรค์




เมียะฮ์รอบ ท่านนบีมุฮัมมัด(ซ.ล)


เป็นสถานที่ ที่ท่านนบีมุฮัมหมัด (ซ.ล) ยืนละหมาดและเป็นอีหม่ามนำแก่บรรดาซอฮาบะห์



กูบุร(สุสาน)ท่านนบีมุฮัมมัด(ซ.ล)


ถัดจากเขตเราเฎาะฮ์มาสักเล็กน้อย จะเป็นสถานที่ฝังศพของท่านนบีมุฮัมหมัด (ซ.ล) กับบรรดาสหายของท่าน คือ ท่านอบูบักร อัฎศิ๊ดดิ๊ก และท่านอุมัร อิบนิค๊อบฎ๊อบ (ร.ฎ) คอลีฟะฮ์ (กาหลิบ) คนที่ 1 และ 2 ในอิสลาม ใต้โดมที่เขียวนั้นเองท่านนบีมุฮัมหมัด (ซ.ล)กล่าวว่า (ผู้ใดเยี่ยมสุสานของฉัน เขาจะได้รับความช่วยเหลือจากฉัน) ขณะเดินเข้าไปที่กูบุรนบี (ซ.ล.) ให้กล่าวสลามแด่ท่านนบี จากนั้นก็กล่าวสลามกับท่านอบูบักร และท่านอุมัร และศอลาวาต (ประสาทพร) แด่ท่านศาสดา (ซ.ล.)



หน้ากูบุรท่านนบี


สุสานท่านนบี (ซ.ล.)ถูกฝังอยู่ในห้องนอนของท่านหญิงอาอิชะฮ์ (ร.ฎ) ภรรยาของท่านและสหายทั้ง 2 ของท่านก็เช่นกัน อบูบักร, อุมัร ถูกฝังอยู่ในห้อง ภรรยาท่านนบี เคียงข้างศาสนทูตคนสุดท้ายแห่งพระผู้เป็นเจ้าด้านหน้าของกูบุรมีทางเดินที่พาดผ่านมาจากทางเข้าประตูบาบุสลาม – ประตูทางด้านกุบูรญันนาตุ้ลบาเกียะฮ์



จะเห็นได้ว่าสุสาน มีอยู่ 3 ช่อง ช่องกลาง เป็นสุสานของท่านนบีมุฮัมหมัด(ซ.ล) และด้านขวาและซ้าย จะเป็นสุสานของท่านอบูบักร และท่านอุมัร (ร.ฎ)






ทางออกมัสยิดหลังจากเยี่ยมเยือนท่านศาสดา (ซ.ล)


กุบุรญันนาตุ้ลบาเกียะฮ์


กุบุร (สุสาน) ที่มีมาตั่งแต่สมัยท่านนบีมุฮัมหมัด (ซ.ล) เป็นสุสานที่ฝังศพบรรดาอะฮ์ลุลบัยต์ (วงศ์วานเครือญาติ) ที่ใกล้ชิดและบรรดาซอฮาบะห์ (สหาย) ของท่านนบี (ซ.ล.) มากกว่า 10,000 คนถูกฝังอยู่ ณ ที่นี่



ในนครมาดีนะฮนอกจากจะมีมัสยิดที่สำคัญแล้ว ยังมีสถานที่ประวัติศาสตร์ที่สำคัญมากมาย เช่น

สมรภูมิอูฮุด

สงครามอูฮุดเกิดขึ้น หลังจากที่พวกกุฟฟ๊ารชาวกุเรชได้ประสบกับความพ่ายแพ้และมีความหวาดกลัวอย่างหนักในสงครามบะดัร (สงครามบะดัรมุสลิมชนะ) พวกเขาจึงมีเป้าหมายที่จะล้างแค้น และเรียกความน่าเชื่อถือในหมู่ชาวอาหรับกลับคืนมา ดังนั้นพวกเขาจึงชักชวนกันให้ออกไปสู้รบกับบรรดามุสลิม และได้เอาสินค้าที่รอดพ้นมาตั้งเป็นกองทุนเพื่อทำสงคราม แล้วพวกเขาได้ออกไปยังเมืองมาดีนะฮ์ โดยมีเผ่าอื่นที่ร่วมออกไปด้วย มีจำนวนทั้งสิ้นสามพันคน เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในปีฮิจเราะฮ์ศักราชที่ 3


ในขณะที่การสู้รบได้เริ่มขึ้น ด้วยพลังศรัทธาของบรรดามุสลิมพร้อมกับการวางแผนอย่างดีเยี่ยม จึงสร้างความเสียหายอย่างหนักให้แก่กองกำลังของมุชริกีนทั้งๆที่มีจำนวนมากกว่า ทหารมุสลิมได้ทำให้พวกเขาต้องหนีกระเจิดกระเจิงจากสมรภูมิ แต่แล้วก็เกิดเรื่องที่ท่านนบีมุฮัมหมัด (ซ.ล) ได้เตือนเอาไว้แล้ว ขณะที่บรรดานักแม่นธนูเห็นชัยชนะของฝ่ายมุสลิม และกองกำลังของมุชริกีนกำลังเผ่นหนี พวกเขาใช้ความเห็นส่วนตัวลงจากที่มั่นเพื่อร่วมเก็บทรัพย์สงครามนั้น ทั้งๆ ที่ผู้นำ คือ อับดุลลอฮ์ ได้ห้ามปรามและเตือนถึงอันตรายของการกระทำเช่นนั้น และย้ำเตือนคำสั่งของท่านนบี (ซ.ล) ที่ให้ไว้ แต่พวกเขาได้ขัดคำสั่งและลงจากที่มั่น โดยเหลือไม่ถึงสิบคนที่อยู่กับผู้นำ ผลจากการฝ่าฝืนของทหารแม่นธนูส่งผลให้ทิศทางของสงครามเปลี่ยนไป ในขณะที่ คอลิด บินวะลีด ซึ่งอยู่ทางปีกขวาของกองกำลังฝ่ายกุเรช ได้เห็นบรรดานักแม่นธนูลงจากเนินเขา จึงรีบเคลื่อนกำลังอ้อมไปทางด้านหลังของภูเขาอูฮุดทันที และนำกองกำลังเข้าสังหารนักแม่นธนูที่ยังเหลืออยู่จนตายหมดสิ้น และจู่โจมกองทัพมุสลิมทางด้านหลัง เมื่อกลุ่มมุชริกีนที่ยังเหลืออยู่ได้เห็นสิ่งที่คอลิดกระทำ พวกเขาจึงกลับเข้าสู่สมรภูมิอีกครั้งหนึ่ง ทำให้กองทัพมุสลิมตกอยู่ในสถานการณ์วุ่นวาย กองทัพมุชริกีนจึงบุกอย่างหนัก มุสลิมถูกสังหารตายซะฮีดไปถึง 70 คน รวมถึงท่านฮัมซะฮ์ ลุงของท่านนบี (ซ.ล) ด้วย ท่านนบีมุฮัมหมัด (ซ.ล) ถูกบุกจนมีบาดแผล ฟันหน้าหักและมีเสียงดังออกมาว่าท่านนบี (ซ.ล) ถูกสังหารเสียแล้ว ทำให้มุสลิมบางส่วนเสียขวัญหมดกำลังใจ แม้ว่าสถานการณ์จะเลวร้ายเพียงใดก็ตาม บรรดามุสลิมที่อยู่ในเหตุการณ์ยังคงสู้รบต่อไปจนกระทั่งเป็นที่ปรากฏชัดเจนว่าท่านนบี (ซ.ล) ยังมีชีวิตอยู่ พวกมุชริกีนจึงยุติการรบเมื่อพวกเขาได้รับชัยชนะ นับเป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อรักษาไว้ซึ่งศาสนาอิสลาม



เนินเขาที่ท่านนบีมุฮัมหมัด (ซ.ล.) ให้นักแม่นธนู 50 คนขึ้นไปประจำการจุดยุธศาสตร์ในสงครามอูฮุด



สุสานท่านฮัมซะฮ์ บินอับดุลมุฏฏอลิบ

ลุงของท่านนบีมุฮัมหมัด (ซ.ล) หนึ่งในบรรดาผู้ชะฮีด ณ สมรภูมิอูฮุด



ปิดท้ายด้วยผลไม้ที่ขึ้นชื่อที่สุดของนครมาดีนะฮ์ คือ อินทผลัม

อินทผลัมนั้น มีหลายชนิดมาก มีตั้งแต่ราคากิโลละร้อยถึงกิโลละพัน อินทผลัมของมาดีนะห์ชนิดหนึ่งที่ดีที่สุด คือพันธุ์อัจวะห์ ดูสีดูขนาดแล้วไม่ค่อยน่ากินเท่าไร สีออกน้ำตาลเข้มๆ เกือบจะเป็นสีดำ ผิวย่นๆ
แต่ มีรสชาติอร่อย ไม่หวานมาก และที่สำคัญ ราคาแพงมาก กิโลละ 800-1000 บาท ถ้าขายในเมืองไทยประมาณ 1,400-1,600 บาท

ท่านนบีมุฮัมหมัด (ซ.ล.) กล่าวว่า “ผู้ใดรับประทานอินทผลัมอัจวะห์ 7 เม็ดในยามเช้า พิษต่างๆและไสยศาสตร์ไม่สามารถทำอันตรายแก่เขาได้ในวันนั้น (บันทึกโดยบุคอรี,มุสลิม)

และยังมีฮาดิษรายงานอีกว่า ท่านนบีมุฮัมหมัด (ซ.ล.) กล่าวว่า อินทผลัมอัจวะห์ นั้นมาจากสวนสวรรค์
และมันเป็นยาบำบัดพิษต่างๆ” (นะซาอีย์,อิบนุมาญะฮฺ)

นอกจากอินทผลัมธรรมดาแล้ว ยังมีแบบเอาเม็ดอินทผลัมออกแล้วใส่เมล็ดถั่วอัลมอนด์ นอกจากนี้ก็มีแบบแปรรูปเป็นขนม บางทีก็เคลือบด้วยช็อคโกแลตอีกมากมาย






เสริมอีกนิด

นอกจากนครมาดีนะฮ์ยังมีประวัติศาสตร์ที่ยาวนานแล้ว มีประวัติศาสตร์ที่ยังพอเหลือร่องรอยของ
อดีตอาณาจักรอิสลามที่เคยปกครองดินแดนครอบคลุมถึงแคว้นฮิญาซ อย่างอุษมานียะฮ์หรือออตโตมานเติร์ก

มัสยิดของทหารอุษมานียะฮ์(ออตโตมาน)

มาสร้างไว้ตอนที่อุษมานียะฮ์ ปกครองมาดีนะฮ



และสิ่งที่อาณาจักรอุษมานียะฮ์ จะทำให้การเดินทางมายังนครมาดีนะฮ์ มีความสะดวกสบายต่อมุสลิมที่จะเดินทางมาเยือน คือการสร้างรถไฟฮีญาซ (Hejaz Railway) บริเวณของสถานี ซึ่งเป็นมรดกที่เหลือจากโครงการสร้างรถไฟเชื่อมต่อนครอิสตันบูลมาสู่นครมาดีนะฮ์ ของคอลีฟะฮ์ อับดุลฮามีดที่ 2 ซึ่งมันถูกทำลายโดยกลุ่มปฎิวัติอาหรับและ Lawrence จากอังกฤษ ปัจจุบันสถานีรถไฟถูกเปลี่ยนเป็นพิพิธภัณฑ์ของนครมาดีนะฮ์แล้ว มีบางส่วนของทางรถไฟสายประวัติศาสตร์นี้ยังใช้อยู่ถึงปัจจุบันคือ สายจากกรุงอัมมาน สู่กรุงดิมัสกัส



ความจริงแผนของคอลีฟะฮ์ อับดุลฮามีดที่จะสร้างสายรถไฟนี้ยิ่งใหญ่กว่ามาก คือต้องการที่จะสร้างทางรถไฟเชื่อมต่อทุกพิ้นที่ในจักรวรรดิอิสลามอุษมานีย์ (ถ้าอุษมานียะฮฺยังอยู่เราก็คงมีสายรถไฟที่ยาวที่สุดในตะวันออกกลางก็ว่าได้) ส่วน งบประมาณในการสร้างสายรถไฟเชื่อมต่อจักรวรรดิอิสลามในครั้งนี้ไม่ใช่เงินที่มาจากงบประมาณกลางโดยทั้งหมดแต่มันได้มาจากการเรี่ยไรบริจาคของพี่น้องมุสลิมทั่วโลก ตามประวัติศาสตร์ ชาวมุสลิมแห่งอาณาจักรโมกุล (อินเดียและปากีสถานปัจจุบัน) ได้บริจาคมากที่สุดให้โครงการครั้งนี้.

อ้างอิงที่มา
https://pantip.com/topic/30449278
- https://sites.google.com/site/phairotemasyid/masyi-eu/masyid-allna

#อารยธรรมอิสลาม_Islamic_Society_Online
#Islamic_Society_Online
read more "มัสยิดอัลนะบะวีย์"

วันจันทร์ที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2560

The Londoners มุสลิมะห์ไทยที่อาศัยอยู่ท่ามกลางความต่างในลอนดอน

The Londoners มุสลิมะห์ไทยที่อาศัยอยู่ท่ามกลางความต่างในลอนดอน



เราเห็นชื่อ “The Londoners” ครั้งแรกบนเฟซบุ้ค เป็นคลิป Vlog หรือการถ่ายวิดีโอภาษาอังกฤษที่เกี่ยวกับไลฟ์สไตล์ ความชอบ รวมถึงชีวิตประจำวันทั่วๆ ไป แต่สิ่งที่ทำให้เราสนใจและตามเข้าไปกดไลค์ ก็เพราะมันไม่ทั่วไปตรงที่ว่า พวกเธอนี้เป็นผู้หญิงมุสลิมจากประเทศไทย ที่ไปใช้ชีวิตอยู่ในลอนดอนเมืองในฝันของใครหลายคน จึงเกิดเป็นคำถามขึ้นมาทันทีว่า

The Londoners คืออะไร?

“The Londoners ถ้าแปลตรงตัวเลยแปลว่า ชาวลอนดอน เป็นชื่อเพจเเละช่องยูทูปที่ซีนัทกับน้องๆทำขึ้นมาเพื่อแชร์ประสบการณ์ของพวกเราที่มาศึกษาเเละใช้ชีวิตในประเทศอังกฤษ ช่องยูทูปที่เราทำกันจะเป็นวิดีโอนำเสนอสถานที่ หรือเรื่องราวต่างๆ ในอังกฤษที่คนส่วนใหญ่อาจจะไม่เคยรู้ พร้อมกับสอดเเทรกความรู้และเคล็ดลับการฝึกภาษาอังกฤษ” ซีนัทพี่คนโตของน้องๆ เล่าให้เราฟัง

หลังจากที่เข้าไปส่องชาแนลยูทูปของพวกเธอ นั่งดูทุกคลิปจนหมดภายในวันเดียว ก็เกิดอยากจะมีสำเนียงบริติชแบบนี้บ้าง อยากรู้ว่าพวกเธอใช้เวลาฝึกนานไหม ซีนัทบอกกับเราว่า เธอและน้องๆ เกิดที่อังกฤษ ครอบครัวมาอาศัยอยู่ที่อังกฤษตั้งแต่รุ่นคุณตา เรียกได้ว่าเธอเป็นชาวมุสลิมลอนดอนเต็มตัว


ท่ามกลางความหลากหลายของภาษา ศาสนา วัฒนธรรม รวมถึงแนวความคิดและวิถีชีวิตที่มีความแตกต่างมากมายของผู้คนในเมืองหลวงเก่าแก่แห่งนี้ เป็นจุดที่ทำให้เกิดคำถามว่า การเป็นมุสลิมที่นี่มีชีวิตและความเป็นอยู่อย่างไร

“มุสลิมในอังกฤษมีค่อนข้างเยอะ ส่วนใหญ่จะอาศัยในลอนดอน เพราะลอนดอนเป็นเมืองที่มีความหลากหลายทางชนชาติมาก ไปไหนมาไหนก็จะเห็นคนคลุมฮิญาบตลอด อาจจะมากกว่าในกรุงเทพด้วยซ้ำ” ซีนัทตอบอย่างสบายใจ

แต่นั่นก็ยังทำให้อดสงสัยไม่ได้ว่า ในช่วงสองสามปีมานี้กระแสความเกลียดชังอิสลาม (Islamophobia) เติบโตอย่างหนักในหลายพื้นที่ของโลก ซึ่งลอนดอนเองก็เป็นหนึ่งในเมืองที่เรามักได้รับรู้เหตุความรุนแรงที่เกิดจากกระแสดังกล่าวปรากฏเป็นข่าวอยู่บ่อยครั้ง เหตุการณ์เหล่านี้ส่งผลต่อการใช้ชีวิตของพวกเธอบ้างไหม ซีนัทตอบกลับมาอย่างสบายใจเช่นเดิมว่า

“London is one of the most multi-cultural cities in the world” 
("ลอนดอนเป็นหนึ่งในเมืองที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมมากที่สุดในโลก")


เพราะมีเเค่คนกลุ่มน้อยที่ต่อต้านอิสลาม คนอังกฤษส่วนใหญ่นับว่าเป็นคนที่เปิดรับตนต่างชาติ ต่างศาสนามากที่สุด ถึงจะเป็นช่วงที่มีกระเเสข่าวออกมา คนส่วนใหญ่ก็ไม่มีการโจมตีหรือทำให้คนมุสลิมรู้สึกเเย่หรืออึดอัดเลย การคลุมฮิญาบไปข้างนอกก็ไม่ได้ทำให้รู้สึกกดดัน เพื่อนๆ และอาจารย์ก็ปฏิบัติกับมุสลิมดังเช่นคนอื่นๆ

“เวลามีกระเเสต่อต้านอิสลามออกมา มุสลิมที่นี่ก็จะรวมตัวกันจัดทำแคมเปญเพื่อเรียกร้องให้ชาวต่างศาสนิกเข้าใจ บางครั้งสิ่งที่น่าประทับใจก็คือการที่ชาวอังกฤษที่ไม่ใช่มุสลิมเข้ามาร่วมกิจกรรมด้วย” ซีนัทเล่าด้วยความภูมิใจ

ลอนดอน จากเมืองในฝันที่น่าไปเที่ยวอยู่แล้ว ได้มาฟังจากปากลอนดอนเนอร์ตัวจริงเสียงจริงยิ่งทำให้เราอยากไปเข้าไปอีก สำหรับคนที่อยากรู้ว่ามุสลิมอังกฤษกินอยู่อย่างไร มีไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตแบบไหน ลองเข้าไปติดตามพวกเธอดู นอกจากจะได้เห็นความแตกต่างที่สวยงามในลอนดอนแล้ว ยังได้ฝึกภาษาไปในตัวอีกด้วย


ติดตามพวกเธอได้ที่
read more "The Londoners มุสลิมะห์ไทยที่อาศัยอยู่ท่ามกลางความต่างในลอนดอน"

วันศุกร์ที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2560

ยามีล๊ะ หะยี ศิลปินนราธิวาส ที่บอกเล่าศรัทธาผ่านฝีเข็มและเส้นด้าย


ยามีล๊ะ หะยี ศิลปินนราธิวาส ที่บอกเล่าศรัทธาผ่านฝีเข็มและเส้นด้าย



ขณะที่ก้าวเท้าลงบันไดไปยังห้องแสดงงานศิลปะจากบรรดาศิลปินชาวไทยที่มากความสามารถ ณ หอศิลป์แห่งชาติ เรารู้สึกเหมือนกับหลุดเข้าไปในโลกอีกใบหนึ่ง ที่ใช้เพียงสายตา ความรู้สึก และจินตนาการ

ขณะที่ปล่อยให้ความคิดโลดแล่นไปกับผลงานต่างๆ เรามาหยุดอยู่ที่ห้องห้องหนึ่ง เพราะผลงานที่อยู่ตรงหน้านั้นคุ้นตา เป็นสิ่งที่เราพบเจอประจำในทุกๆ วัน คือภาพคล้ายผู้หญิงที่กำลังทำการละหมาด ที่ถูกถ่ายทอดผ่านเส้นด้ายสลับซับซ้อน จนเกิดเป็นความงดงามและลึกลับน่าค้นหาอย่างยิ่ง



นี่คือผลงานของ ยามีล๊ะ หะยี ศิลปินมุสลิมะห์จากนราธิวาส ที่มีโอกาสได้แสดงงานศิลปะของเธอในหอศิลป์แห่งชาตินี้

“งานแบบนี้เขาเรียกว่าอะไรค่ะ” เราถามเจ้าของผลงานด้วยความสงสัย

“เป็นการเย็บปักถักร้อย โดยการนำหลักศรัทธาและหลักปฏิบัติของศาสนาอิสลามมาสร้างสรรค์” เธออธิบายพร้อมรอยยิ้มที่ดูอบอุ่น

เราค่อยๆ เดินชมผลงานในนิทรรศการของเธอช้าๆ โดยให้เธอเล่าถึงความเป็นมาของงานชุดนี้


นิทรรศการ “โลกของสตรีมุสลิม” เป็นการแสดงผลงานจิตรกรรมในรูปแบบใหม่ นำเสนอในลักษณะเฉพาะตน โดยใช้กรรมวิธีและวัสดุในการสร้างงานจิตรกรรม ซึ่งได้ถ่ายทอดด้วยกระบวนการเย็บปักผ้า มาผสานกับสื่อวัสดุ มีเนื้อหาแฝงความหมายของการเป็นสตรีที่ดีตามทัศนะของอิสลาม โดยอาศัยแรงบันดาลใจจากหลักคำสอนของศาสนาในบทบาทและหน้าที่ของการเป็นสตรีที่ดี ถ่ายทอดด้วยด้วยเทคนิคเย็บปักถักร้อยในรูปแบบจิตรกรรม 2 มิติ ศิลปะสื่อผสม และศิลปะจัดวาง”


ผลงานชุดนี้ของเธอถูกจัดแสดงในห้องนิทรรศการขนาดกลางสองห้อง

“เริ่มต้นจากการมองเรื่องใกล้ตัว เรื่องที่พบเจอในชีวิตประจำวัน ซึ่งการละหมาดเป็นหลักปฏิบัติของอิสลามที่มุสลิมเราปฏิบัติทุกวัน เราจึงลึกซึ้งกับมันได้ง่าย การทำตรงนี้นอกจากเราจะได้ขัดเกลาตัวเองแล้ว ยังสามารถเผยแพร่คำสอนอิสลามให้ผู้อื่นด้วย”

“ผลงานทุกชิ้นที่เป็นผู้หญิง เราพยายามคลี่คลายรูปทรงไม่ให้เห็นใบหน้า เพราะหลักศาสนาให้เราหลีกเลี่ยง แต่เราตั้งเจตนาไว้แล้ว ว่าไม่ได้อยากโชว์ หรือล้อเลียนสิ่งที่พระเจ้าสร้างขึ้นมา แต่ตั้งเจตนาว่าเราอยากดะอฺวะห์หรือเผยแพร่อิสลามผ่านสื่อศิลปะที่เราถนัด” เธออธิบายถึงผลงานในกรอบสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ที่อยู่ตรงหน้า


ยามีล๊ะ หลงใหลในงานศิลปะตั้งแต่เด็ก และได้เลือกเส้นทางการเรียนในสายศิลปะมาตลอด เธอจบการศึกษาจากสาขาทัศนศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และปริญญาโท สาขาศิลปะไทย คณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

“เราชอบศิลปะมาตั้งแต่เด็ก และชอบการเย็บปักถักร้อยด้วย เพราะที่บ้านก็ทำอาชีพเกี่ยวกับผ้า พอได้เรียนสูงขึ้นเรื่อยๆ เราได้รู้ว่า “ศิลปะ” ไม่ใช่แค่การวาดรูป มันสามารถแสดงออกด้วยกระบวนการต่างๆ ตามที่ศิลปินแต่ละท่านถนัด”



ยามีล๊ะ ได้ส่งผลงานของเธอเข้าร่วมประกวดในเวทีต่างๆ และได้รับรางวัลกลับมากมาย นอกจากนี้เธอยังได้รับโอกาสไปแสดงผลงานของเธอที่สถานกงสุล นครลอสแองเจอลิส



ปัจจุบันเธอเป็นคุณครูสอนศิลปะระดับมัธยม และยังคงตั้งใจสร้างสรรค์ผลงานออกมาเรื่อยๆ โดยความฝันของเธอ คืออยากมีสตูดิโอสำหรับสร้างสรรค์งาน และมีแกลอรี่เล็กๆ ให้เด็กๆ ในชุมชนได้มีโอกาสเข้าถึงงานศิลปะ

“อยากให้คนในพื้นที่ได้เรียนรู้ศิลปะ หลายคนมองว่าการเย็บปักถักร้อยเป็นเพียงงานหัตถกรรมหรืองานบ้าน งานผู้หญิง ความจริงมันคือศิลปะร่วมสมัยชนิดหนึ่ง เป็นเทคนิคที่สามารถนำมาสร้างสรรค์ผลงานได้ เราอยากให้คนอื่นๆ ได้มีโอกาสเข้าถึง”


และนี่คือนิทรรศการเดี่ยวที่แสดงผลงานของเธออย่างเต็มรูปแบบเป็นครั้งแรก ซึ่งเธอบอกว่าไม่ใช่เรื่องง่ายเลยสำหรับศิลปินที่จะนำผลงานเข้ามาจัดแสดงในหอศิลป์แห่งนี้ นับเป็นตัวแทนของมุสลิมะห์ที่ได้มาแสดงความสามารถพร้อมเผยแพร่อัตลักษณ์ของอิสลามไปในคราวเดียวกัน

เพราะงานศิลปะจากศิลปินมุสลิมนั้นไม่ได้หาดูได้ง่ายๆ ในเมืองหลวงแห่งนี้ นี่จึงเป็นเหตุผลดีๆ ที่คุณไม่ควรพลาดนิทรรศการนี้

นิทรรศการ “โลกของสตรีมุสลิม” จัดแสดง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหอศิลป์ ถนนเจ้าฟ้า แขวงชนะสงคราม เขตพระนคร กรุงเทพ ระหว่างวันที่ 5-30 พฤศจิกายน 2560 เวลา 9.00-16.00 น. (หยุดจันทร์-อังคาร)

Cr. http://halallifemag.com/yameelah-hayee/

#อารยธรรมอิสลาม_Islamic_Society_Online
#Islamic_Society_Online
read more "ยามีล๊ะ หะยี ศิลปินนราธิวาส ที่บอกเล่าศรัทธาผ่านฝีเข็มและเส้นด้าย"

วันจันทร์ที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2560

จักรวรรดิอุษมานียะห์ เมื่ออาทิตย์อัสดง : การยกเลิกระบอบคิลาฟะห์

จักรวรรดิอุษมานียะห์ เมื่ออาทิตย์อัสดง : การยกเลิกระบอบคิลาฟะห์

(อาลี เสือสมิง)

คงไม่มีผู้ใดคาดคิดมาก่อนว่าระบอบคิลาฟะห์ได้ถูกยกเลิกในระยะเวลาอันรวดเร็ว ภายหลังเหตุการณ์ต่างๆ ทีได้ประดังกันเข้ามา เหล่าปัจจามิตรของอิสลามได้มุ่งพยายามสร้างความแตกแยกในจักรวรรดิอุษมานียะห์โดยหมายจ้วงแทงเข้าสู่หัวใจของจักรวรรดิเป็นดาบสุดท้าย

ลอเรนซ์ได้กล่าวอยู่หลายครั้งว่า : พวกเราจะต้องผลักดันให้ตะวันตกยื้อแย่งสิทธิอันชอบธรรมของตะวันตกจากน้ำมือชาวตุรกีด้วยการใช้กำลัง เพราะด้วยการใช้กำลังนี่เองเราก็จะสามารถกำจัดอิสลามและอันตรายของอิสลามได้อย่างสิ้นซาก

แผนการต่างๆ ของเหล่าพันธมิตรที่วางไว้ได้ถูกปิดบังเอาไว้อย่างลับสุดยอด เพื่อมิให้เกิดผลกระทบต่อความรู้สึกแบบอิสลามนิยมในหมู่มหาชนมุสลิม และเหล่าศัตรูก็เที่ยวตระเวนสอดส่องหาวีรบุรุษสักคนเพื่อแสดงบทบาทตามแผนการที่วางไว้ พวกพันธมิตรยุโรปได้ศึกษาถึงบุคลิกและนิสัยใจคอของบรรดานักการเมืองและเหล่าแกนนำที่โดดเด่น และแล้วพวกพันธมิตรก็ได้ข้อสรุปว่าวิธีการเดียวที่จะล้มล้างระบอบคิลาฟะห์นั้นแฝงตัวอยู่ในการใช้กำลังทหาร พวกเขาจึงมุ่งเป้าไปยังนายทหารสองคนที่มีความทะเยอทะยาน ชิงชังพวกเยอรมัน และคัดค้านในการเข้าสู่สงครามนายทหารสองคนนี้คือ ญะมาล ปาชา ซึ่งปฏิเสธที่จะให้ความร่วมมือกับอังกฤษถึงแม้ว่าจะหลอกล่อและโน้มน้าวมากเพียงใดก็ตาม และนายทหารคนที่สองก็คือ มุสตอฟา กามาล

อังกฤษได้เริ่มติดต่อกับมุสตอฟา กามาลนับตั้งแต่ปีค.ศ.1917 อันเป็นช่วงเวลาที่มุสตอฟา กามาลเป็นแม่ทัพอยู่แนวหน้าในปาเลสไตน์ พวกอังกฤษได้ขอให้มุสตอฟา กามาลก่อการกบฏยึดอำนาจจากซุลตอน และสัญญาว่าอังกฤษจะให้ความช่วยเหลือในเรื่องดังกล่าว (ตารีค อัดเดาละห์ อัลอะลียะห์ อัลอุษมานียะห์ หน้า 751) คำสัญญาของอังกฤษได้เข้ากุมหัวใจของมุสตอฟาและตรงกับจริตยิ่งนักซึ่งก็คงเป็นเช่นนั้นเพราะมุสตอฟา กามาลหาได้พึงพอใจต่อตำแหน่งและยศศักดิ์ที่ตนได้รับไม่

อันวาร ปาชา ซึ่งรู้ซึ้งถึงธาตุแท้ของมุสตอฟาเยี่ยงบุคคลที่กำลังอ่านหนังสือที่เปิดอยู่ได้ กล่าวว่าเมื่อมุสตอฟาได้ถูกถามถึงเหตุที่เขาได้เลื่อนยศช้า เขาตอบว่า : พวกท่านจงรับรู้เถิดว่า เมื่อเขาสามารถไต่เต้าถึงตำแหน่งปาชา เขาย่อมปรารถนาที่จะเป็นซุลตอนและเมื่อเขาได้เป็นซุลตอน เขาย่อมปรารถนาที่จะเป็นพระเจ้า (อัรร่อญุล อัซซ่อนัม หน้า 90)

ภายหลังข้อเรียกร้องของอังกฤษ มุสตอฟา กามาลได้ติดต่อกับนายทหารแห่งอุษมานียะห์ที่เป็นเพื่อนพ้องของตนสองนายซึ่งเป็นแม่ทัพที่มียศเท่ากับตนและตั้งค่ายรบอยู่ใกล้ๆ กัน มุสตอฟาเผยแผนคิดการใหญ่ให้กับนายทหารทั้งสอง แต่เมื่อได้รับฟังนายทหารทั้งสองคนถือว่านั่นเป็นเรื่องใหญ่และปฏิเสธที่จะให้ความร่วมมือและกล่าวกับมุสตอฟาว่า : เนื่องจากว่าท่านเองก็มิเคยกระทำผิดถึงขั้นประหารชีวิตมาก่อน เราจะขอปิดเรื่องนี้ไว้เป็นความลับ เราขอเตือนท่านว่าให้ลืมเรื่องนี้เสีย เราจะถือว่าท่านไม่เคยพูดเรื่องนี้กับเรา และเราเองก็ไม่เคยได้ยินเรื่องนี้จากท่าน




สำหรับนายทหารทั้งสองนี้เรื่องได้จบลง แต่สำหรับมุสตอฟา กามาลแม่ทัพแห่งอุษมานียะห์กลับไม่จบ เขาได้ตอบรับที่จะสมรู้ร่วมคิดกับอังกฤษเพื่อทำให้เป้าหมายของอังกฤษสัมฤทธิผล (ตารีค อัดเดาละห์ อัลอะลียะห์ หน้า 751)

แผนการที่วางไว้เริ่มสัมฤทธิผลเมื่ออังกฤษสามารถกำชัยชนะเหนือกองทัพอุษมานียะห์ในแนวรบด้านปาเลสไตน์ ด้วยความดีความชอบของมุสตอฟา กามาล ผู้เป็นสมุนรับใช้ มุสตอฟาสั่งให้กองทัพของตนล่าถอยจากการเผชิญหน้ากับกองทัพอังกฤษสู่เอเดรียโนเปิ้ลและกูนียะห์ เป็นเรื่องแปลกที่ว่ากองทัพที่ได้รับชัยชนะนั้นเป็นกองทหารม้าที่ตีฝ่าแนวหน้ากองทัพอุษมานียะห์ และรุกคืบจนถึงแนวหลังของกองทัพ 4 กองทัพด้วยกัน ซึ่งตกอยู่ในกำมือของศัตรูทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นม้าศึก พลทหาร และนายทหาร ตลอดจนอาวุธยุทโธปกรณ์ (อัรร่อญุล อัซซ่อนัท หน้า 472) และที่แปลกหนักเข้าไปอีกก็คือฝ่ายบัญชาการรบกลับไม่ได้ลงโทษมุสตอฟา กามาลแต่อย่างใด กลับถือว่ามุตอฟามีเจตนาดี

อีกกรณีหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงการเป็นสมุนรับใช้ของมุสตอฟาให้กับอังกฤษก็คือ การเป็นแนวร่วมกับอังกฤษในการต่อต้านจักรวรรดิอุษมานียะห์ด้วยการนำกำลังทหารปะทะกับฝ่ายเยอรมันซึ่งเป็นพันธมิตรของตุรกีในช่วงสงครามโลกที่ 1 และให้การพักพิงแก่พวกปฏิวัติเพื่อยึดอำนาจที่หลบหนีมาภายหลังการปฏิวัติล้มเหลว กล่าวคือ ได้มีนายทหารผู้หนึ่งนามว่า ยะอ์กู๊บ ญะมีล แบก์ เป็นแกนนำก่อการกบฏได้รับการคุ้มครองจากมุสตอฟา กามาล ในแคว้นกูฟก๊อซ อันเป็นเรื่องที่ชวนให้คิดว่าเป็นการสมรู้ร่วมคิดของมุสตอฟา กามาลในการกบฏครั้งนั้น นอกจากนี้มุสตอฟา กามาลยังได้มอบดินแดนในแนวรบด้านซีเรียแก่ฝ่ายอังกฤษ และถอนกำลังทหารของตนสู่อนาโตเลีย (อัลอัฟอา อัลยะฮูดียะห์ หน้ า90) ตลอดจนการที่มุสตอฟา กามาลได้ติดต่อกับลอว์เร้นซ์ ออฟ อาระเบีย โดยผ่านทางแกนนำชาวอาหรับที่สนับสนุนอังกฤษอีกด้วย



การสร้างวีรบุรุษอันจอมปลอม


การสร้างผู้นำหรือวีรบุรุษจำเป็นจะต้องมีสองด้าน แต่ละด้านจะแสดงบทบาทของมันเพื่อเสริมสร้างความสมบูรณ์ซึ่งกันและกัน

ด้านที่หนึ่ง คือการที่อังกฤษจะต้องทำให้บุคคลผู้นั้นเป็นที่ปรากฏต่อหน้ามวลชนในรูปลักษณ์ของวีรบุรุษผู้ห้าวหาญและจะต้องสร้างวีรกรรมและชัยชนะของวีรบุรุษผู้นี้ครั้งแล้วครั้งเล่า โดยในวีรกรรมเหล่านั้นเขามีเรือนร่างร่วมอยู่เท่านั้น ในทำนองเดียวกันจะต้องประโคมข่าวและสร้างภาพความเป็นวีรบุรุษประหนึ่งดังว่าไม่เคยมีผู้ใดเหมือนในประวัติศาสตร์ ซึ่งเราจะกล่าวถึงต่อไปถึงการสู้รบที่มุสตอฟา กามาลได้รับชัยชนะด้วยการช่วยเหลือของอังกฤษ

ด้านที่สอง การแสดงออกด้วยการใช้ศาสนาเป็นฉากบังหน้า ซึ่งมุสตอฟา กามาลได้ประสบความสำเร็จในการระดมพลังมวลชนตุรกีด้วยอาวุธแห่งอิสลาม โดยที่มุสตอฟาสามารถปลุกระดมจิตสำนึกของมวลชนให้ปกป้องมาตุภูมิซึ่งถูกพวกครูเสดกรีซละเมิดและรุกราน มุสตอฟา กามาลมักสร้างภาพว่ามีความเคร่งครัดศาสนา เขาจะนมัสการละหมาดนำพลทหาร แสดงความอารีอารอบต่อบรรดาอุล่ามาอ์และใช้พวกเขาเป็นเครื่องมือในการน้อมนำจิตใจและปลุกขวัญกำลังใจของเหล่าทหารให้พลีชีพในวิถีทางแห่งพระผู้เป็นเจ้า (อัลอัฟอา อัลยะฮูดียะห์ หน้า90)

เหล่าปัจจามิตรได้เล็งเห็นว่า การล้มล้างระบอบค่อลีฟะห์อิสลามนั้นมิใช่เรื่องง่าย และการล้มล้างจะสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อมีการสร้างวีรบุรุษด้วยภาพลักษณ์ที่ดูยิ่งใหญ่และน่าเกรงขาม สร้างภาพให้วีรบุรุษประหนึ่งดังว่าปาฏิหาริย์นั้นเกิดขึ้นด้วยน้ำมือของเขา ซึ่งบทบาทเช่นนี้จักเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการกำหนดเป้าหมายสามประการด้วยกัน คือ สร้างวีรกรรมทางการทหารแก่วีรบุรุษ สร้างอุดมการณ์ทางการเมือง และเสแสร้งแสดงออกด้วยการใช้ศาสนาบังหน้า

พวกศัตรูอิสลามมองเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องสร้างภาพการรบที่ทำให้วีรบุรุษปรากฏขึ้นในฐานะผู้กู้วิกฤติ ด้วยเหตุนี้จึงเกิดสมรภูมิ อันนาฟุรเตาะห์ บริเวณช่องแคบคาร์ดาแนลระหว่างกองทัพอุษมานียะห์ภายใต้การนำทัพของมุสตอฟา กามาล และกองทัพฝ่ายสัมพันธมิตร สงครามดำเนินไปหลายวันด้วยกัน โดยที่ต่างฝ่ายก็มิสามารถกำชัยชนะได้อย่างเด็ดขาด แต่ละฝ่ายยังคงยึดที่มั่นทหารทางการทหารของตนเอาไว้อย่างเหนียวแน่นเป็นระยะเวลาหลายเดือน

และแล้วก็เกิดสิ่งที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน ในค่ำคืนหนึ่งจากค่ำคืนแห่งฤดูหนาว และเป็นไปอย่างลับสุดยอดอังกฤษได้เคลียร์กองกำลังทหารของตนออกจากชายฝั่งกาลีโปลี กองทัพเรือของฝ่ายพันธมิตรถอยกลับจากน่านน้ำตุรกีอย่างรวดเร็วจนน่าอัศจรรย์ใจสงครามได้สิ้นสุดลงซึ่งนับเป็นความปราชัยครั้งใหญ่ของฝ่ายพันธมิตรให้กับมุสตอฟา กามาล

มุสตอฟา กามาลกลับสู่ราชธานีอิสตันบูลอย่างผู้มีชัย ชื่อเสียงของมุสตอฟาเลื่องลือกระฉ่อนไปทั่วตุรกี และเขาก็พยายามทำให้ผู้อื่นเห็นด้วยกับการถอนตัวออกจากสงครามโลกโดยร่วมเป็นพันธมิตรกับอังกฤษ มีแกนนำสำคัญหลายคนเห็นด้วยกับข้อเสนอ หนึ่งในนั้นคือ รัฐมนตรีการต่างประเทศ ฝ่ายพันธมิตรเข้าสู่ราชธานี รัฐบาลของอันวาร ปาชาล้มและอิซซัต ปาชาก็ถูกแต่งตั้งขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ในภายหลังวิกฤติภายในจักรวรรดิก็ถึงจุดระเบิดนับตั้งแต่การทำสนธิสัญญาพักรบ

กล่าวคือ ฝ่ายสัมพันธมิตรยืนกรานอย่างชัดเจนว่า ไม่พร้อมสำหรับการหารือกับอันวาร ปาชา โดยถือว่า อันวาร ปาชา คือผู้รับผิดชอบต่อการที่ตุรกีเข้าสู่สงคราม แต่ฝ่ายสัมพันธมิตรตอบรับที่จะหารือกับอิซซัต ปาชา หากอิซซัตถูกแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งเรื่องนี้มิใช่เหตุบังเอิญแต่ประการใด เพราะมุสตอฟา กามาลคือผู้ที่พยายามวิ่งเต้นเสนออิซซัตให้ดำรงตำแหน่งนากยกรัฐมนตรี เมื่ออิซซัตขึ้นเป็นผู้นำรัฐบาลการหารือก็เริ่มขึ้น โดยอังกฤษได้ลงนามในสนธิสัญญาแทนฝ่ายสัมพันธมิตรกับอุษมานียะห์ แต่ในภายหลังอังกฤษก็เรียกร้องซุลตอนให้ปลดอิซซัต ปาชา ออกจากตำแหน่ง เตาฟิก ปาชาจึงถูกแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีแทน บุคคลผู้นี้มีใจฝักใฝ่อังกฤษมากกว่าอิซซัต ปาชา (ตารีค อัดเดาละห์ อัลอุษมานียะห์ หน้า 257)

ยังมีกรณีวิกฤตอยู่อีกเรื่องหนึ่ง กล่าวคือ อังกฤษได้ร้องขอให้ค่อลีฟะห์ประกาศยุบสภาผู้แทน โดยอ้างว่าสภาผู้แทนเป็นสภาที่นิยมอุษมานียะห์มิใช่ตุรกี ฝ่ายรัฐสภาเองก็ยืนกรานต่อค่อลีฟะห์ให้คงบทบาทของสภาเอาไว้และรักษาอธิปไตยของจักรวรรดิ ซึ่งสมาชิกรัฐสภาโดยส่วนใหญ่สังกัดพรรคเอกภาพซึ่งรับผิดชอบในเรื่องนโยบายของจักรวรรดิ ซึ่งสมาชิกรัฐสภาโดยส่วนใหญ่สังกัดพรรคเอกภาพซึ่งรับผิดชอบในเรื่องนโยบายการทำสงคราม พวกนี้ได้ใช้มุสตอฟา กามาลเป็นหัวหอกเรื่องนี้ แต่ทว่ามุสตอฟา กามาลก็มิได้ประสบความสำเร็จแต่อย่างใด ซุลตอนก็ทรงมีพระบรมราชโองการประกาศยุบรัฐสภา (ตารีค อัดเดาะลห์ อัลอุษมานียะห์ หน้า 258)

อังกฤษจึงกลายเป็นผู้ออกคำสั่งโดยปริยาย ในภายหลังอังกฤษยังได้เคลื่อนไหวเพื่อเพิ่มสุญญากาศทางการเมือง โดยผลักดันให้บรรดาสมุนผู้รับใช้ก่อความไม่สงบและสร้างภาพพจน์ต่อราชสำนักว่าไร้ความสามารถในการกระทำการอันใดได้ ด้วยเหตุนี้พวกอังกฤษและบริวารของตนได้ทำให้จักรวรรดิมีภาพลักษณ์ที่ไม่สู้ดีมากขึ้นไปอีก กล่าวคือการยุบสภาย่อมบ่งชี้ว่าจักรวรรดิไร้ศักยภาพในการปกครอง ภาพของสุญญากาศทางการเมืองก็เด่นชัดมากขึ้น ไม่มีคณะมนตรี ไม่มีสภา จักรวรรดิกลายเป็นอัมพาตโดยสิ้นเชิง ฝ่ายค่อลีฟะห์เองก็อยู่ในพระราชวังเยี่ยงผู้ถูกคุมขัง ผู้คนก็ขาดผู้บริหารราชการแผ่นดินและมีความรู้สึกเหมือนคนสิ้นชาติ สภาพการณ์ดำเนินไปเช่นนี้เป็นเกือบเวลา 6 เดือน (อ้างแล้ว หน้า 258) ฝ่ายอังกฤษเองก็พยายามปลุกระดมความคิดในเชิงรัฐนิยมและการเป็นเอกราชของตุรกี ในเวลาเดียวกันนี้การเคลื่อนไหวของมุสตอฟา กามาลก็ดำเนินไปอย่างลับๆ โดยมีภาพลักษณ์ในความพยายามต่อการกำจัดซุลตอน มุสตอฟาเริ่มพูดถึงสิ่งดังกล่าวอยู่บ่อยครั้งต่อหน้าสาธารณชนและเพื่อนฝูงของตน อีกทั้งยังได้เสนอให้ย้ายฐานบัญชาการสู่อนาโตเลีย

มีการตั้งข้อสังเกตว่าอังกฤษเป็นผู้ปูทางให้เกิดบรรยากาศทางการเมืองเช่นนี้เพื่อประโยชน์ของมุสตอฟาด้วยการสร้างสุญญากาศทางการเมืองและติดตามมาด้วยชัยชนะต่อกรีซที่ถูกอุปโลกน์อันเป็นการสร้างภาพพจน์ของวีรบุรุษที่ถูกแอบอ้างให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

ซุลตอน มุฮำหมัด ว่าฮีดุดดีน ทรงตระหนักดีว่าการคงอยู่ของตุรกีเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับกลุ่มชาติตะวันตกทั้งนี้เพื่อสร้างความสมดุลในหมู่ชาติตะวันตกด้วยกันเอง พระองค์ตระหนักว่าอังกฤษและฝรั่งเศสคงไม่ยอมให้มีการทำลายล้างตุรกีอย่างสิ้นซาก เพราะนั่นเท่ากับว่าเป็นการเปิดช่องว่างให้แก่รุสเซียเพื่อเข้ายึดครองคาบสมุทรอนาโตเลียและตามมาด้วยการยึดครองช่องแคบบอสฟอรัสและดาดาร์แนล ซึ่งถือเป็นกุญแจสำคัญของโลกในด้านยุทธศาสตร์

ฉะนั้นจึงเป็นการดีกว่าสำหรับอังกฤษและฝรั่งเศสต่อการคงอยู่ของจักรวรรดิอุษมานียะห์โดยทำให้จักรวรรดิเป็นเพียงรัฐเล็กๆ เหมือนกับบอลข่านตามบรรทัดฐานของความคิดเช่นนี้ ซุลตอนจึงรู้ดีว่าการนำเอาบางสิ่งที่ถูกริดรอนกลับคืนมาคงมิอาจสัมฤทธิ์ได้ด้วยการให้เปล่า หากแต่จำเป็นต้องทำสงครามเพื่อนำสิ่งนั้นกลับคืนมา สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาอย่างหลีกเลี่ยงมิได้ก็คือ การปฏิวัติลุกฮือภายในประเทศ โดยที่ซุลตอนก็ทรงรู้จักมุสตอฟา กามาลเป็นการส่วนพระองค์ เมื่อครั้งที่พระองค์ทรงดำรงตำแหน่งรัชทายาทและเดินทางสู่กรุงเบอร์ลินเพื่อบรรดานักการเมืองจักได้ถกเถียงอภิปรายและตื่นตัวในระหว่างลงนามในสนธิสัญญาประนีประนอมกับสัมพันธมิตรซึ่งจะทำให้สามารถนำเอาสิ่งที่สูญเสียไปกลับคืนมาจากเหล่าปัจจามิตร ดังนั้นมุสตอฟา กามาลจึงได้ถูกแต่งตั้งให้เป็นผู้ตรวจการเหล่าทัพแห่งอนาโตเลีย โดยมีอำนาจเต็มและยังได้รับงบประมาณสนับสนุนเป็นจำนวนถึง 20,000 ลีร่าทองคำอักด้วย (ตารีค อัดเดาละห์ อัลอะลียะห์ หน้า 750)

ทางราชสำนักได้รับแจ้งข่าวจากฝ่ายพันธมิตรว่า กองทัพกรีซได้ยกพลขึ้นบกที่เมืองอิซมีรหลังจากที่ทราบข่าวได้ 3 วัน มุสตอฟาจึงออกจากอิสตันบูลในวันที่ 17 พฤษภาคม ค.ศ.1917 โดยใช้เส้นทางทางทะเลพร้อมด้วยเหล่าทหารและพลเรือนจำนวนหนึ่ง ซึ่งมุสตอฟาได้คัดเลือกให้เป็นอาสาสมัคร มุสตอฟา เดินทางถึงเมืองซามซุน (แซมซอน) ในวันที่ 19 พฤษภาคม กองทัพและพลเรือนก็ล้อมเมืองนี้เอาไว้และการลุกฮือก็เริ่มขึ้น (เมากิฟ อัลอักล์ วัลอิลม์ฯ 1/469)

ณ จุดนี้ ฝ่ายสัมพันธมิตรก็ยื่นหนังสือประท้วงราชสำนักที่ได้ล้ำเส้นบทบาทของฝ่ายพันธมิตร โดยอ้างถึงข้อตกลงในสนธิสัญญาพักรบและร้องขอให้ราชสำนักเรียกตัวมุสตอฟากลับอิสลตันบูล แต่ทว่ามุสตอฟาก็ไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังที่มุสตอฟามีความได้เปรียบในด้านสถานการณ์

ในการประชุมเมื่อปี ฮ.ศ.1377 ความสำเร็จตกเป็นของบรรดาแกนนำและผู้แทนจากภูมิภาคตะวันออกและมีมติให้ปกป้องอธิปไตยของประเทศ มุสตอฟาได้รับคัดเลือกให้เป็นประธานการประชุม ในภายหลังได้มีการประชุมในเมืองซีวาส มุสตอฟาก็ได้รับให้เป็นประธานองค์กรบริหารอีกครั้ง (ตารีค อัดเดาละห์ อัลอุษมานียะห์ หน้า 261)

เมื่อรัฐบาลอิสตันบูลได้รับทราบถึงการเคลื่อนไหวและมติเช่นนี้ รัฐบาลจึงได้มีคำสั่งให้ฝ่ายกลาโหมทำการปราบปราม การจัดเตรียมกองทัพเพื่อส่งไปปราบปราม การเคลื่อนไหวดังกล่าวก็เป็นไปอย่างพร้อมมูลแต่ทว่าอังกฤษกลับทัดทานเอาไว้ ทำไมอังกฤษจึงห้ามกองกำลังของฝ่ายรัฐบาลในการจับกุมมุสตอฟาและแนวร่วม? คำตอบก็คือ เพื่อปกป้องมุสตอฟา กามาลและแนวร่วมมิให้ก่อความเสียหายแก่ฝ่ายสัมพันธมิตรซึ่งกำลังสร้างความวุ่นวายและร้องขอให้รัฐบาลเข้าปราบปรามและเพื่อเป็นการเสริมสร้างสถานภาพของมุสตอฟาให้ดูสูงส่งและน่าเกรงขามในสายตาของเหล่านายทหารและมวลชน ในเวลาเดียวกันก็พยายามสร้างภาพพจน์ของค่อลีฟะห์ และศูนย์กลางของระบอบการปกครองให้เสื่อมเสียชื่อเสียงในสายตาของประชาชน (อ้างแล้ว หน้า 263)

บางคนอาจจะตั้งคำถามว่า กองทัพของอังกฤษได้ล่าถอยจากอัซกี ชะฮัร ซึ่งถูกมุสตอฟาและแนวร่วมปิดล้อมตลอดจนเมืองกูนียะห์ โดยไม่มีการปะทะกันแม้แต่น้อยเป็นไปได้อย่างไร? และด้วยการถอนทัพของอังกฤษจากเมืองทั้งสอง ก็ทำให้อนาโตเลียปลอดจากกองกำลังต่างชาติโดยสิ้นเชิง สถานการณ์เป็นไปตามสายตาของประชาชนว่าที่อนาโตเลียมีกองทัพ 2 ฝ่าย กำลังต่อสู้กันอยู่ในขณะที่ผู้คนกลับมองเห็นว่าซุลตอนมีทีท่าเข้ากับฝ่ายอังกฤษซึ่งมักจะเรียกร้องให้พลเมืองตุรกีเชื่อฟังคำสั่งของซุลตอนเสมอ ทั้งที่มุสตอฟาและแนวร่วมของตนกำลังต่อต้านอังกฤษ

ด้วยเหตุนี้มุสตอฟาและแนวร่วมจึงสามารถแสวงหาแนวร่วมจากเหล่ามหาชนและนายทหารส่วนใหญ่จากภาพลักษณ์ดังกล่าว โดยมีคำขวัญที่จอมปลอมว่า มุสตอฟา กามาลได้กวาดล้างกองกำลังต่างชาติจากอนาโตเลียและสร้างประเทศขึ้นใหม่ในอังการ่าจากที่มีมีอะไรเลย (ดาอิเราะห์ อัลมะอารีฟ อัลอิสลามียะห์ 2/202)

เมื่อเป็นเช่นนี้การเผชิญหน้าระหว่างมุสตอฟากับรัฐบาลอันชอบธรรมในอิสตันบูล จึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก ฝ่ายค่อลีฟะห์จึงได้ทรงนำทัพมุ่งสู่เมืองอังการ่าและอีกทัพมุ่งสู่แคว้นเคอร์ดิซตาน เนื่องจากมีเผ่าเคิร์ดก่อความไม่สงบและในขณะที่อังการ่าเกือบจะตกอยู่ในกำมือของกองทัพค่อลีฟะห์อยู่รอมร่อ และอาตาร์เติร์กพร้อมด้วยขบวนการของตนก็จะต้องจบลงนั้นเงื่อนไขของสนธิสัญญาซีเฟอร์ก็ถูกประโคมเป็นการใหญ่ด้วยสื่อมวลชน มติมหาชนจึงได้ลุกฮือต่อต้าน ค่อลีฟะห์และแก้แค้นอังกฤษ สถานการณ์จึงกลับตาลปัตร กองทัพของฝ่ายค่อลีฟะห์ก็พลาดท่าปราชัย อังการ่าก็ถูกยึดครอง ทั้งนี้เป็นเพราะว่าเลื่อนไขในสนธิสัญญาดังกล่าวซึ่งซุลตอนทรงเห็นชอบถือเป็นความอัปยศของจักรวรรดิ

ฝ่ายมุสตอฟา กามาลจึงเป็นฝ่ายมีชัยในการเผชิญหน้ากับซุลตอนในครั้งนั้น ซึ่งมีอังกฤษเป็นผู้วางหมาก อีกทั้งอังกฤษยังวางท่านิ่งเฉยต่อการหลั่งไหลของอาวุธยุทโธปกรณ์และเงินตราสู่กองทัพของมุสตอฟา กามาล ซ้ำร้ายอังกฤษยังให้การรับรองต่อรัฐบาลแห่งอังการ่า ในขณะที่อังกฤษได้เชื้อเชิญตัวแทนของรัฐบาลอังการ่าเข้าร่วมหารือ ณ ลอนดอนพร้อมกับตัวแทนของรัฐบาลอิสตันบูลซึ่งชอบธรรม

กำลังของฝ่ายมุสตอฟา กามาลได้เข้มแข็งมากขึ้นเป็นลำดับ โดยเฉพาะหลังจากตัวแทนของมุสตอฟา กามาลเข้าร่วมเป็นการเฉพาะในการทำข้อตกลงแห่งลอนดอน สนธิสัญญาหลายฉบับจึงถูกลงนามโดยมุสตอฟา กามาลกับฝ่ายพันธมิตรยุโรปในเวลาต่อมา



เหตุการณ์ในซักกอรียะห์


ปัญหาความยุ่งยากของกรีซยังคงติดพันโดยมิอาจแก้ไขได้อย่างเบ็ดเสร็จ จนกระทั่งปัญหาสงครามระหว่างอาตาเติร์กกับฝ่ายสัมพันธมิตรได้ถูกเคลียร์ มุสตอฟาจึงเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับกองทัพของตนโดยได้รับการสนับสนุนอาวุธจากฝ่ายรุสเซีย และผ่านแนวยึดครองของอังกฤษในบอสฟอรัสและทะเลดำ พวกกรีซได้เริ่มก่อสงครามกับชนชาติตุรกีภายหลังมีความมั่นใจจากการหนุนหลังของกองกำลังฝ่ายสัมพันธมิตร การรบพุ่งดำเนินไปเป็นระยะเวลาราวปีครึ่ง ในที่สุดฝ่ายสัมพันธมิตรก็ประกาศความเป็นกลาง (อันจอมปลอม) โดยไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด สงครามจึงแปรเปลี่ยนสู่การรบอย่างเป็นระบบ และกรีซได้ยาตราทัพของตนสู่เมืองอัซกี ชะฮัรในปี ฮ.ศ.1340 ตลอดจนรุกคืบสู่เมืองอัฟยูนกูเราะห์

ครั้นต่อมาพวกกรีซก็เริ่มปราชัยและถอยร่นสู่เมืองบูรซะห์ ทว่าพวกกรีซกก็พยายามใช้กำลังทหารเข้าโจมตีนครอิสตันบูล อังกฤษจึงเข้าขัดขวาง พวกกรีซจึงมุ่งหน้าสู่ทิศใต้และตะวันออก และได้ปะทะกับตุรกีซึ่งมีอิซมัต ปาชาเป็นแม่ทัพ ต่อมาพวกกรีซก็รุกคืบสู่กูตาฮียะห์ และกองทหารกรีซก็สามารถยึดครองเมืองอัฟยูน กูเราะห์ ฮิซอร ได้สำเร็จในภาคใต้ของตุรกี ต่อมากองทัพกรีซก็เดินทัพย้อนสู่ภาคเหนืออีกครั้ง ในช่วงนั้นเองมุสตอฟา กามาลก็เคลื่อนกำลังพลมาถึง และออกคำสั่งให้ยุติสงครามและล่าถอยสู่บริเวณใกล้กับซักกอรียะห์ และมุสตอฟาก็เดินทางกลับจากอัซกี ชะฮัร ด้วยขบวนรถไฟสู่อังการ่า ซึ่งบรรดาสมาชิกสภาอังการ่าได้เล่นงานมุสตอฟาด้วยความขุ่นเคืองเป็นการใหญ่ และต้องการให้มุสตอฟารับผิดชอบต่อความปราชัยดังกล่าว แต่ทว่าหลังจากได้ใช้ความพยายามอยู่พักใหญ่ มุสตอฟา กามาลกลับสู่ความเป็นผู้นำอีกครั้ง และปลุกระดมให้เหล่านายทหารมีใจฮึกเหิม กองทัพจึงเริ่มเข้มแข็งในสายตาของพวกเขา ทั้งที่เหล่านายทหารก็รู้จักถึงธาตุแท้ของมุสตอฟาเป็นอย่างดี

พวกกรีซได้รุกคืบหน้าและรวมพลอยู่บริเวณด้านตะวันตกของเมืองซักกอรียะห์ สถานการณ์ก็ตกอยู่ในภาวะคับขันและวิกฤติมากขึ้นเป็นลำดับ

นี่คือสถานการณ์ที่กำลังเข้าตาจนสำหรับตุรกี แล้วอะไรเกิดขึ้น?
การโจมตีของกรีซก็ยุติลงโดยไม่มีวี่แววอย่างน่าฉงน ครั้นพลบค่ำการถอยทัพของกรีซก็เริ่มขึ้น แน่นอนเมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้ กองทัพตุรกีจึงกลับเป็นฝ่ายรุกบ้าง พวกกรีซได้ถอยกำลังออกจากอิซมีรและกองทัพตุรกีก็ยาตราเข้าสู่อิซมีร โดยไม่เสียกระสุนแม้แต่นัดเดียว ณ จุดนี้ฝ่ายสัมพันธมิตรจึงเรียกร้องให้มีการสนธิสัญญาซึ่งกำหนดให้กรีซต้องถอนกำลังทหารของตนจากแคว้นตุรอเกีย (ตุรอเกีย (Thrac) ดินแดนทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของยุโรป ปัจจุบันแบ่งเป็น 2 ส่วน ด้านตะวันตกขึ้นกับกรีซ และตะวันออกขึ้นกับตุรกี ในอาณาบริเวณระหว่างช่องแคบและทะเลมามาร่า เมืองสำคัญคืออิสตันบูล) ในที่สุด (อัรร่อญุล อัซซ่อนัม หน้า 257)

การโฆษณาชวนเชื่อและการประโคมข่าวก็แสดงบทบาทของตน โดยเฉพาะกลุ่มชาติตะวันตกได้ถือว่าสงครามครั้งนี้ยิ่งใหญ่นัก ข่าวการได้รับชัยชนะอันจอมปลอมก็แพร่สะพัดไปทั่วโลกอิสลาม หัวใจของผู้คนก็อิ่มเอิบด้วยความปิติปราโมทย์ ชาวมุสลิมจึงถูกมุสตอฟา กามาลหลอกลวงด้วยวีรกรรมอันเป็นเพียงฉากที่ถูกกำกับเอาไว้โดยฝ่ายสัมพันธมิตร หัวใจของชาวมุสลิมก็ตื่นขึ้นด้วยความหวังและเทิดทูนวีรกรรมของ มุสตอฟา กามาล

ด้วยประการฉะนี้ ความชื่นชมต่อวีรกรรมของมุสตอฟามีมากถึงขั้นที่ว่า บรรดานักกวีต่างก็ขับขานบทกวีของตน เป็นต้นว่าอะห์หมัด เชากีย์ ได้แต่งบทกวีเปรียบเปรยมุสตอฟา กามาลเยี่ยงท่านคอลด อิบนุ อัลวะลีดผู้ได้รับฉายา ซัยฟุลลอฮฺ (ดาบแห่งพระผู้เป็นเจ้า) และยังถือว่ามุสตอฟา กามาลได้สร้างวีรกรรมทัดเทียมกับซอลาฮุดดีน อัลอัยยูบีย์ก็ไม่ปาน นอกจากนี้อะห์หมัด เชากีย์ยังถือเอาชัยชนะของตุรกีที่มีต่อกองทัพกรีซเยี่ยงชัยชนะของชาวมุสลิมในสมรภูมิบัดร์อีกด้วย (ดูใน อัลอิดดิญาฮาด อัลวุฎอนียะห์ ฟี อัลอะดับ อัลมุอาซิร 2/22)

กองทัพกรีซได้ถอนกำลังทหารของตนในช่วงเวลาที่ฝ่ายตนกำลังได้รับชัยชนะและเป็นต่อตุรกีอยู่หลายขุมย่อมเป็นสิ่งที่ยืนยันถึงการกดดันกรีซของนานาชาติ หลักฐานบ่งชี้ถึงสิ่งดังกล่าวก็คือ ฝ่ายสัมพันธมิตรได้ร้องขอให้ทำสนธิสัญญาสงบศึก และเรียกร้องให้กองทัพกรีซถอนกำลังออกจากเขตยึดครองทั้งหมด การดังกล่าวก็เพื่อสร้างฐานกำลังอันมั่นคงแก่มุสตอฟา กามาลเพื่อแลกกับการที่มุสตอฟา กามาลจะดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของพวกเขาในการล้มล้างระบอบคิลาฟะห์

กรณีปัญหาตุรอเกีย (กรณีปัญหาตุรอเกียเกิดขึ้นภายหลังการถอนกำลังทหารกรีซออกจากเขตเอเชียน้อย (เอเชียไมเนอร์) มุสตอฟา กามาล จึงนำกองทัพของตนมุ่งหน้าสู่ตุรอเกีย อันเป็นช่วงเวลาเดียวกับการประกาศเขตเป็นกลางของฝรั่งเศส , อังกฤษ และอิตาลี ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ชายฝั่งช่องแคบบอสฟอรัสและดาดาร์แนล ทั้งสามชาติมหาอำนาจได้ห้ามกรีซใช้กำลังทหารรุกล้ำผ่านเขตเป็นกลางดังกล่าวเพื่อเข้ายึดครองอิสตันบูล และทำทีเป็นห้ามฝ่ายกองทัพขอ งมุสตอฟา กามาล ในการยกทัพผ่านเขตกำหนดดังกล่าวเพื่อหวังยึดครองอิสตันบูลเช่นกัน

ทว่ามุสตอฟา กามาลหาได้ใส่ใจต่อการขัดขวางดังกล่าว หากแต่ยังคงรุกคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง อังกฤษจึงแสดงเป็นทีว่าเข้าขัดขวางมุสตอฟาโดยเรียกระดมพลกองทัพอังกฤษเพื่อเผชิญหน้ากับกองทัพตุรกี อย่างไรก็ตามมุสตอฟา กามาลก็ยังคงยืนกรานที่จะนำกองทัพของตนรุกฝ่าเขตหวงห้ามในช่องแคบดาดาร์แนลเพื่อไปให้ถึงพวกกรีซ การเผชิญหน้าระหว่างกองทัพตุรกีและอังกฤษไม่มีการปะทะใดๆ เกิดขึ้น ทั้งนี้เป็นเพราะฝ่ายอังกฤษได้มีคำสั่งห้ามทหารของตนยิงต่อสู้ ภายหลังได้มีการเจรจาระหว่างสองฝ่าย กรีซก็ถอนกำลังทหารของตนจากเขตตุรอเกียด้วยการเห็นชอบของอังกฤษ การดังกล่าวจึงถือว่าเป็นชัยชนะของมุสตอฟา กามาลซึ่งมีท่าทีมั่นคงมากยิ่งขึ้นไปอีก (ตารีค อัดเดาละห์ อัลอุษมานียะห์ หน้า269)

นับได้ว่ากรณีปัญหาตุรอเกียเป็นการซ้อมรบและมหกรรมทางการทหารที่อังกฤษประสงค์ที่จะเสริมสร้างความมั่นคงต่อชัยชนะและวีรกรรมของมุสตอฟา กามาลให้โดดเด่นยิ่งขึ้นในสายตาของมหาชนทั่วไป โดยเฉพาะชาวมุสลิมซึ่งเฝ้าติดตามข่าวคราวของมุสตอฟา กามาลอย่างใจจดใจจ่อ และมหกรรมมาจัดฉากครั้งนี้ถือเป็นผลงานในการสู้รบของมุสตอฟา กามาลที่เขาได้กระทำเอาไว้ หรืออาจจะกล่าวว่าเป็นผลงานที่อังกฤษกำกับบทบาทวีรบุรุษให้แก่มุสตอฟา กามาลอีกเรื่องหนึ่งก็ว่าได้

ด้านที่สาม คือการแสดงออกหรือเสแสร้งว่ามีความเคร่งครัดในศาสนาเพื่อแสวงหาความชอบธรรมให้กับบุคลิกภาพและการกระทำของมุสตอฟา กามาลในสายตาของมหาชนที่มีศรัทธา มุสตอฟา กามาลได้ประสบความสำเร็จในการแสวงหาพลังร่วมโดยใช้ชื่ออิสลามบังหน้า เขาได้ปลุกระดมความรู้สึกของมวลชนให้เกิดความฮึกเหิมในการปกป้องมาตุภูมิซึ่งถูกพวกครูเสดกรีซรุกราน มีอยู่บ่อยครั้งที่มุสตอฟา กามาลมักจะนำละหมาดหน้าเหล่าพลทหารชั้นผู้น้อย และทำทีเสแสร้งว่ามีความนิยมที่จะคบค้าสมาคมกับบรรดานักวิชาการศาสนาและอารีอารอบต่อพวกเขา ทั้งนี้เพียงเพื่อใช้ในการนักวิชาการเป็นเครื่องมือในการปลุกขวัญกำลังใจของเหล่าทหารและพลเมืองสู่การอุทิศชีวิตในวิถีทางแห่งพระผู้เป็นเจ้า (อัลอัฟอา อัลยะฮูดียะห์ หน้า 90 , ตารีค อัดเดา-ละห์ อัลอะลียะห์ หน้า 754)

มุสตอฟา กามาลยังได้เคยร่วมประชุมหารือกับท่านอะห์หมัด อัซซะนู-ซีย์ และยกคัมภีร์อัลกุรอ่านขึ้นเทิดทูนเยี่ยงสัญลักษณ์แห่งการปกป้องศาสนาอิสลาม (อัลอาลัม อัลอิสลามีย์ วัลอิสติอ์มาร อัซซิยาซี่ย์ หน้ า44) การดำเนินการตามวัตถุประสงค์ด้านที่สามนี้ของ มุสตอฟา กามาล กอร์ปกับด้านทั้งสองที่กล่าวถึงข้างต้นได้ทำให้ความนิยมชมชอบถึงขั้นหลงใหลในตัวมุสตอฟา กามาล เป็นสิ่งที่โดดเด่นอย่างเป็นรูปธรรมในสายตาของชาวมุสลิมกระทั่งว่าพวกเขามีความดีใจต่อชัยชนะของมุสตอฟาและพร้อมที่จะชื่นชมต่อทุกสิ่งที่ปรากฏออกจากมุสตอฟา โดยที่ทัศนคติที่ดีและหวังว่าเบื้องหลังของ มุสตอฟา กามาล มีแต่ความดีความงาม ความมีทัศคติที่ดีต่อการกระทำของมุสตอฟ บรรลุถึงขั้นที่ว่าพวกเขาปกป้องและออกตัวรับแทนต่อการที่ มุสตอฟา กามาล ได้ปลดค่อลีฟะห์ออกจากพระราชอำนาจ และตั้งอังการ่าให้เป็นศูนย์กลางการปกครองของผู้นำประเทศ ทั้งๆ ที่การกระทำเยี่ยงนี้เป็นสิ่งที่ไม่เคยมีใครคิดหรืออาจหาญกระทำในหน้าประวัติศาสตร์อิสลาม ยิ่งไปกว่านั้นชาวมุสลิมที่หลงไปกับภาพพจน์อันจอมปลอมของมุสตอฟา กามาลได้ยังกล่าวโจมตีท่านค่อลีฟะห์และมุฟตีซึ่งได้มีคำสั่งวินิจฉัยได้ประหารชีวิตมุสตอฟา กามาลดังปรากฏชัดในบทกวีของอะห์หมัด เซากีย์ (อัลอิตติญาฮาด อัลวะฏอนียะห์ 2/22) ในภายหลังความหวังของบรรดาผู้ถูกหลอกลวงเหล่านี้ก็ต้องพังพาบไปหลังจากกาลเวลาได้ผ่านไปไม่นานนัก



แผนการขั้นสุดท้าย


การดำเนินการตามด้านทั้งสามที่ได้กล่าวมาข้างต้นได้นำพามุสตอฟา กามาลให้บรรลุสู่อำนาจอย่างเบ็ดเสร็จในที่สุด อันเป็นไปตามสิ่งที่อังกฤษได้วางแผนการเอาไว้ บรรดาข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ได้รับรู้ถึงเจตนาของมุสตอฟา กามาล และได้เตือนให้เขาระวังจากการสร้างความระคายเคืองต่อสถานภาพแห่งความเป็นค่อลีฟะห์ ส่วนหนึ่งจากบุคคลสำคัญที่เตือนมุสตอฟา กามาล จากการกระทำดังกล่าวคือนายพล กาซิม กุเราะห์ บากีร ซึ่งยึดมั่นต่ออุดมการณ์แห่งการปกครองในระบอบคิลาฟะห์ ตลอดจนนักศึกษาที่มุ่งเรียกร้องให้มีการพัฒนาปรับปรุงคนอื่นๆ ก็เช่นกัน (อัลอาลัม อัลอิสลามีย์ วัลอิสคิอ์มาร หน้า 46)

แต่ทว่ามุสตอฟา กามาล ก็ยังคงดำเนินการเพื่อบรรลุสู่เป้าหมายดังกล่าวอย่างไม่ลดละ มุสตอฟามั่นใจว่าย่อมต้องมีฝ่ายที่มิเห็นด้วยกับทัศนะของตน เขาจึงกำจัดฝ่ายที่คัดค้านด้วยการใช้กำลังทหารเข้าปราบปรามและเห็นว่านั่นเป็นหนทางเดียวเท่านั้นในการดำเนินแผนการให้ลุล่วงและผู้ที่จะมีบทบาทสำคัญในเรื่องนี้ก็จะเป็นใครไปเสียมิได้นอกจากอังกฤษผู้วางแผนบงการ พวกอังกฤษรู้แก่ใจว่าการล้มล้างระบอบคิลาฟะห์มิใช่เรื่องง่าย ดังนั้นบรรดานายทหารอังกฤษเช่น เฮอร์ริงตัน , วิลสัน และอาร์มสตรอง เป็นต้น จึงได้เข้ามามีบทบาทสำคัญเพื่อการนี้ ภายหลังการลงสนามในสนธิสัญญาสงบศึกเมื่อปี ฮ.ศ.1340 และการถอนกำลังทหารของกรีซก็ไม่มีกองกำลังต่างชาติใดอีกในตุรกีนอกจากอังกฤษเท่านั้น เฮอร์ริงตันจึงกระทำการโดยลำพัง ด้วยการเชื้อเชิญรัฐบาลอิสตันบูล และอังการ่าให้ร่วมลงนามในสนธิสัญญาประนีประนอมในวันที่ 17 ธันวาคม

ฝ่ายรัฐสภาของมุสตอฟา กามาลก็แสดงความไม่พอใจและต้องการรับทราบความเห็นของมุสตอฟา กามาลซึ่งขณะนั้นอยู่ในเมืองอิซมีร แต่มุสตอฟาก็มิได้ให้คำตอบแก่รัฐสภาแต่อย่างใด การประชุมรัฐสภาจึงเป็นไปด้วยการบรรยายที่เคร่งเครียด แต่หลังจากมุสตอฟา กามาลได้มาถึงที่ประชุมเขาก็ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ในที่ประชุมสภา โดยเรียกร้องให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้รับฟังความคิดเห็นของตน โดยเสนอให้แยกอำนาจของซุลตอนออกจากอำนาจของค่อลีฟะห์ และยกเลิกระบอบซุลตอนเสีย และปลดวะฮีดุดดีน ข่าน ออกจากอำนาจความวุ่นวายในที่ประชุมจึงเกิดขึ้น มุสตอฟา กามาลจึงขอให้ออกเสียงลงมติในข้อเสนอดังกล่าว

ไม่ต้องสงสัยเลยว่าความไม่พอใจซึ่งปกคลุมไปทั่วรัฐสภาย่อมเป็นผลมาจากการส่อเค้าถึงเจตนาของมุสตอฟา กามาล และการที่ไม่มีคำตอบโต้ใดๆ จากมุสตอฟา กามาลขณะที่เขารู้ดีถึงความไม่พอใจดังกล่าว นั่นก็เป็นเพียงการรอคอยเวลาหรือเป็นการรอรับทราบความเห็นของบรรดานายเหนือหัวที่บงการอยู่เบื้องหลังเท่านั้น

ในการประชุมสภาวันถัดมา ได้มีการตั้งคณะกรรมาธิการเพื่อตรวจสอบข้อเสนอต่างๆ ที่ถูกคัดค้านด้วยมติไม่รับหลักการ มุสตอฟา กามาลโกรธเคืองยิ่งนัก และตะโกนในที่ประชุมสภาว่า “บรรดาผู้ทรงเกียรติ ซุลตอนแห่งอุษมานียะห์ได้ปล้นชิงอำนาจไปจากประชาราษฎร์ด้วยกำลังและประชาราษฎร์ก็พร้อมใจกันอย่างเด็ดเดี่ยวที่จะนำเอาอำนาจอันชอบธรรมนั้นกลับคืนมาจากซุลตอน ตำแหน่งซุลตอนจำต้องถูกแบ่งแยกออกจากตำแหน่งค่อลีฟะห์ และจะต้องถูกยุบเลิกไป ไม่ว่าพวกท่านจะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบก็ตามทีสิ่งดังกล่าวจะต้องเกิดขึ้น ทั้งหลายทั้งปวงก็คือว่าจะมีพวกท่านบางคนต้องหัวหลุดออกจากบ่าในเวลาที่เกิดเหตุการณ์เช่นนั้น” (ตารีค อัดเดาละห์ อัลอุษมานียะห์ หน้า 270)

นี่คือความเป็นไปของประชาชาติที่มุสตอฟามักจะกล่าวอ้างในนามของพวกเขาอยู่เสมอๆ และประสงค์ที่จะนำเอาสิทธิอันชอบธรรมและอำนาจที่แท้จริงกลับคืนมาให้แก่พวกเขา ท่านศาสนทูต (ซ.ล.) ทรงกล่าวสมจริงแล้วขณะที่พระองค์ทรงมีพระวจนะว่า “หากมาตรว่าท่านไม่ละอาย ท่านก็จงกระทำตามที่สิ่งที่ท่านประสงค์เถิด” (รายงานโดย อบู ดาวูด)

หลังจากการประกาศเยี่ยงนี้ของมุสตอฟา กามาลซึ่งมิได้ต่างอะไรกับบุคคลที่พูดว่า “ท่านผู้นำว่าอย่างนี้ก็ต้องเชื่ออย่างนี้ หากไม่เช่นนั้นแล้วก็ต้องโดนนี่แล้วก็พลางชี้ไปยังดาบที่อยู่ในมือ” เมื่อเป็นเช่นนี้ความหวาดกลัวก็เข้ามาเกาะกุมจิตใจของสมาชิกรัฐสภาที่คัดค้านข้อเสนอของ มุสตอฟา กามาล เรื่องนี้จึงถูกโอนไปให้สภาแห่งชาติ ซึ่งได้เคยลงมติคัดค้านไม่รับข้อเสนอด้วยเสียงส่วนมากอย่างถล่มทลาย แต่ภายใต้การคุกคามด้วยอาวุธปืนก็ไม่มีผู้ใดคัดค้านอีก นอกจากเสียงส่วนน้อยเท่านั้น ประธานสภาแห่งชาติก็ประกาศว่า สภาได้ให้การรับรองข้อเสนอดังกล่าวอย่างเป็นเอกฉันท์ เสียงอื้ออึงและความวุ่นวายก็เกิดขึ้นทั่วสภา การประชุมสภาจึงยุติลงเพียงเท่านั้น ในขณะที่อาตาเติร์กก็เดินออกจากห้องประชุม

แต่ทว่าเสียงตะโกนและการร่ำไห้จะทำการอันใดได้? หลังการประชุมสภาได้สภาได้ 5 วันได้เกิดการรัฐประหารในอิสตันบูล ภายใต้การรู้เห็นของเฮอร์ริงตัน ชาวอังกฤษ ซึ่งเป็นเรื่องปกติอยู่แล้วสำหรับสถานการณ์เช่นนี้ รัฐบาลได้ปลดซุลตอนออกจากอำนาจโยใช้กำลังทหารและภายใต้การคุ้มครองของแม่ทัพอังกฤษ ซุลตอนวะฮีดุดดีน ข่าน และราชโอรสก็ถูกเนรเทศโดยอนุญาตให้นำกระเป๋าเสื้อผ้าและเครื่องใช้บางส่วนไปด้วยเท่านั้น พระองค์จึงเสด็จลงเรือของอังกฤษไปยังเกาะมอลต้า (มาลิเตาะห์) เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในวันที่ 17 มกราคม ปี ฮ.ศ.1340 เจ้าชายอับดุลมะญีด อิบนุ อับดิลอะซีซ ก็ถูกเรียกขานในฐานะค่อลีฟะห์แห่งปวงชนมุสลิม

และในวันที่ 20 มกราคม ปีเดียวกัน การประชุมลูซานก็เปิดฉากขึ้น โดยมีตัวแทนจากอังการ่าเข้าร่วมหารือเท่านั้น ลอร์ด เคอร์ซอนผู้นำคณะผู้แทนของอังกฤษได้กำหนดเงื่อนไข 4 ข้อด้วยกัน สำหรับการได้รับเอกราชของตุรกี กล่าวคือ
  1. ยกเลิกระบอบการปกครองแบบคิลาฟะห์โดยสิ้นเชิง
  2. ขับไล่ค่อลีฟะห์ออกนอกประเทศ
  3. อายัดพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์
  4. ประกาศความเป็นรัฐแบบโลกนิยม (แซคคิวล่าร์ อันหมายถคงการแยกศาสนาออกจากการเมืองโดยเด็ดขาด)
ลอร์ด เคอร์ซอน ได้ผูกพันความสำเร็จของที่ประชุมเอาไว้กับการทำให้เงื่อนไขทั้ง 4 ข้อให้เป็นจริง การคัดค้านในสมาคมชาตินิยมจึงเกิดขึ้น ทั้งที่สมาคมแห่งนี้ถูกตั้งขึ้นด้วยการรู้เห็นของเคอร์ซอน สมาชิกที่เห็นด้วยกับข้อเสนอของเคอร์ซอนมีเพียงอิชมัต (ซึ่งเป็นหุ่นเชิดของอังกฤษ) และเฟาซีย์เท่านั้น เคอร์ซอนจึงประกาศยุบสมาคม แต่ทว่าสภาใหม่ก็คัดค้านเคอร์ซอนอีกระลอก เขาจึงหันไปใช้กลอุบายและสร้างปัญหาให้กับรัฐสภาชุดใหม่ โดยยุให้คณะรัฐมนตรีลาออก สมาคมชาตินิยมจึงประสบความล้มเหลวในการจัดตั้ง รัฐบาลชุดใหม่เข้าทำหน้าที่ การถกเถียงและความวุ่นวายจึงเกิดขึ้นโดยทั่วไป

มุสตอฟา กามาลมีเจตนาที่จะทำให้ตุรกีและบรรดานักการเมืองที่คัดค้านตนมีภาพลักษณ์ว่าไร้ความสามารถในการบริหารราชการแผ่นดิน
ในวันถัดมามุสตอฟา กามาลจึงได้รับรองการประกาศระบอบสาธารณรัฐ กลุ่มสมาคมจึงรวมตัวกันในบรรยากาศที่อึมครึม สมาชิกรัฐสภาต่างก็อภิปรายโจมตีในระหว่างกันอย่างดุเดือดเผ็ดร้อน และเพื่อเป็นการกู้สภาพวิกฤติและยุติความวุ่นวาย มุสตอฟาจึงเรียกตัวคณะมนตรีเข้าพบ แต่มีเงื่อนไขว่าจะต้องยอมรับทัศนะของตนโดยไม่มีการถกเถียงอันใด

เป็นเรื่องแปลกที่คณะรัฐมนตรีได้ยอมรับข้อตกลงเช่นนั้น ทั้งๆ ที่พวกเขาก็รู้อยู่แก่ใจถึงเจตนาของอาตาเติร์ก ดังนั้นอาตาเติร์กจึงได้ขึ้นสู่แท่นปราศรัยในรัฐสภา และประกาศการกำเนิดของระบอบสาธารณรัฐ (อัลอัซรอร อัลค่อฟียะห์ หน้า163) อย่างไรก็ตามสมาชิกรัฐสภาก็หากระทำการอันใดได้ไม่ นอกจากโห่ร้อง มุสตอฟาจึงใช้วีการก่อวินาศกรรมและข่มขู่ต่อฝ่ายค้านที่ไม่เห็นด้วยกับตน ต่อมามุสตอฟา กามาลได้เรียกเปิดประชุมสภาแห่งชาติและเสนอพระราชกำหนดเนรเทศค่อลีฟะห์และยกเลิกระบอบคิลาฟะห์ ตลอดจนแยกศาสนาออกจากรัฐในวันที่ 3 มีนาคม ค.ศ.1923 มุสตอฟาได้มีคำสั่งให้เนรเทศค่อลีฟะห์ อับดุลมะญีดออกนอกประเทศ พระองค์จึงเสด็จสู่สวิตเซอร์แลนด์ ในภายหลังบรรดาเจ้านายและเชื้อพระวงศ์ก็เดินทางออกนอกประเทศในเวลาต่อมา

กิจการศาสนาและตำแหน่งทางศาสนาได้ถูกยกเลิกเช่นกัน ศาสนสมบัติ (อัลเอากอฟ) ตกเป็นของรัฐ โรงเรียนและสถานศึกษาศาสนาถูกเปลี่ยนเป็นโรงเรียนสามัญตามแบบตะวันตก กฎหมายแพ่งของสวิตเซอร์แลนด์ และกฎหมายอาญาแบบอิตาลี ตลอดจนกฎหมายพาณิชย์ของเยอรมันถูกนำมาใช้ แทนที่กฎหมายชะรีอะห์อิสลาม ศาสนาถูกแยกออกจากการเมือง อักษรภาษาอาหรับ (อารบิก) ถูกยกเลิก และภาษาตุรกี (เตอร์กิช) ก็ถูกเขียนด้วยตัวอักษรละตินเยี่ยงยุโรป การอะซานบอกเวลานมัสการด้วยภาษาอาหรับถูกยกเลิก พระมหาคัมภีร์อัลกุรอ่านถูกแปลเป็นภาษาตุรกี วันอาทิตย์ถูกำหนดให้เป็นวันหยุดทางราชการแทนวันศุกร์ การสวมหมวกทรงตอรบู๊ช (หมวกทรงกระบอกทำด้วยผ้ากำมะหยี่สีแดงและพู่ไหมห้อย) การคลุมศีรษะของสตรี (ฮิญาบ) ถูกยกเลิก และปฏิทินสากลแบบชาวยุโรปถูกนำมาแทนที่ปฏิทินอิสลาม (ซึ่งคำนวณตามจันทรคติ) การเปิดรับอารยธรรมตะวันตกและต่างชาติเป็นไปอย่างเต็มที่โดยไม่มีการอนุรักษ์ของเดิมอีกแต่อย่างใด และการมุ่งสู่ความเป็นยุโรป ตลอดจนตัดขาดจากโลกอิสลามโดยสิ้นเชิง และใกล้ชิดตะวันตกเป็นสิ่งที่ไหล่บ่าเข้าสู่ตุรกีนับแต่บัดนั้น

แผนการในแต่ละก้าวเช่นนี้เป็นไปอย่างรุนแรง และโหมกระหน่ำพักพารูปลักษณ์อิสลามในตุรกีจนวิปริตไป อำนาจที่เด่นชัดในเวลานั้นคือ รัฐบาลทหาร ซึ่งมิได้เกิดขึ้นจากความเปลี่ยนแปลงหรือวิวัฒน์ที่แท้จริง หากแต่เป็นการก้าวกระโดดอย่างสุดตัวเพื่อหวังทำให้ตุรกีกลายเป็นตะวันตกโดยเร็วที่สุด (อัลอาลัม อัลอิสลามีย์ หน้า 45)

อาตาเติร์กได้ดำเนินการตามเงื่อนไขของลอร์ด เคอร์ซอน อย่างลุล่วงและสัมฤทธิ์ผล อีกทั้งยังดำเนินการอย่างแนบเนียน และตัวของอาตาเติร์กเองก็มุ่งมั่นเพื่อการนั้นมากยิ่งกว่าบรรดาผู้บงการเสียอีก เป้าหมายของกลุ่มประเทศล่าอาณานิคมก็คือ ทำให้ตุรกีปราศจากความมีรูปแบบของอิสลาม หรือสิ้นสภาพจากความเป็นศูนย์กลางแก่งเอกภาพของโลกอิสลามโดยสิ้นเชิง (อ้างแล้ว หน้า 43)

ชัยค์ มุสตอฟา ซอบรีย์ ชัยคุลอิสลามแห่งตุรกีในเวลานั้นได้กล่าวว่า : อังกฤษได้ผ่อนปรนและอลุ้มอล่วยกับมุสตอฟา กามาลเพื่อทำให้มุสตอฟาเป็นวีรบุรุษในขณะที่พวกอังกฤษกดดันและบีบคั้นต่อค่อลีฟะห์วะฮีดุดดีน จนทำให้พระองค์ไร้ความสามารถ การดังกล่าวเป็นไปเพื่อทำให้ความนิยมชมชอบในตัวมุสตอฟา กามาลดูมีความสำคัญในสายตาและความนึกคิดของชาวมุสลิม”

ท่านชัยค์ยังได้กล่าวอีกว่า “ชายผู้นี้ (อาตาเติร์ก) คือบุคคลที่อังกฤษได้พบว่าไม่มีใครเหมือนถ้าหากว่าอังกฤษจะหาคนเช่นนี้ เพื่อทำลายสารัตถะและจารีตแห่งอิสลาม โดยเฉพาะจารีตแห่งอิสลามภายในวันเดียวซึ่งอังกฤษเองต้องใช้เวลาเป็นแรมปี ในการสร้างทายาทของตนแล้วก็ถอนตัวออกไปจากประเทศของเรา” (ตารีค อัดเดาละห์ อัลอุษมานียะห์ หน้า 273)

เช่นนี้เองที่เหล่าปัจจามิตรของอิสลาม โดยเฉพาะอังกฤษได้สัมฤทธิผลในการพิฆาตระบอบคิลาฟะห์แห่งอิสลาม และด้วยสิ่งดังกล่าวพวกเขาก็สัมฤทธิผลในการดำเนินตามแผนการที่วางไว้ทีละข้อทีละข้อ เริ่มแรกหมู่ปัจจามิตรได้สร้างอุปสรรคต่างๆ นานา และสร้างปัญหาในท้องถิ่น และกลุ่มชนให้กับรัฐของค่อลีฟะห์ พวกเขาได้บั่นทอนและสร้างความอ่อนแอให้รัฐอิสลามจนถึงเฮือกสุดท้ายด้วยการรัฐประหารของอาตาเติร์ก ถามว่า การรัฐประหารเช่นนี้ที่จำต้องใช้กำลังอาวุธประหัตประหาร การสร้างความหวาดกลัวและการคร่าชีวิตเพื่อทำให้ตุรกีเหินห่างจากอิสลามได้สัมฤทธิผลจริงหรือไม่


ถึงแม้ว่าการรัฐประหารของกามาลนี้จะประสบความสำเร็จในการทำให้ตุรกีเหินห่างจากอิสลามก็ตาม แต่ในอีกมิติหนึ่งก็ประสบความล้มเหลวในการทำให้อิสลามออกห่างจากหัวใจของผู้คน

ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ทั้งหมดนับแต่การกำเนิดขึ้นของระบอบแห่งอาตาเติร์กจวบจนปัจจุบันย่อมบ่งชี้ว่า ระบอบดังกล่าวได้พ่ายแพ้ปราชัย นับแต่วินาทีแรกได้ถูกคัดค้านที่ท้าทายอยู่เสมอ ซึ่งชาวมุสลิมตุรกีได้สำแดงให้เห็นในหลายรูปแบบ กล่าวคือ
  1. การลุกฮือขึ้นคัดค้านต่อระบอบอย่างต่อเนื่อง
  2. กลุ่มชนยังคงปฏิบัติศาสนกิจและยึดมั่นต่อหลักการอิสลามอย่างไม่ใยดีต่อการคุกรามใดๆ จากรัฐบาล สิ่งดังกล่าวได้ประจักษ์ชัดเมื่อสบโอกาสหลังการสิ้นชีวิตของอาตาเติร์ก ประชาชนชาวตุรกีได้สำแดงถึงความยึดมั่นอย่างลึกซึ้งต่ออิสลาม ภัยคุกคามต่างๆ นานที่พวกเขาได้รับมิได้มีผลอันใด นอกจากเพิ่มพูนพลังและความบริสุทธิ์มากยิ่งขึ้นเท่านั้น
ชาวตุรกีก็มิเคยสละจากความเป็นอิสลามิกชนของตนเลยแม้แต่น้อย ยิ่งไปกว่านั้น ขบวนการอิสลามในตุรกีทุกวันมีความเข้มแข็งมั่นคงยิ่งกว่าในอดีตที่ผ่านมาเสียอีก อิสลามคือป้อมปราการอันเข้มแข็งแห่งเดียวเท่านั้นที่จักพิทักษ์คุ้มครองตุรกีให้แคล้วคลาดจากความชั่วร้ายของหมู่ปัจจามิตร ไม่มีสิ่งใดนอกจากอิสลามเท่านั้นที่จะทำให้ชาวตุรกีกลับไปสู่ความยิ่งใหญ่ดังเดิมเฉกเช่นบรรพบุรุษของพวกเขาที่เคยยิ่งใหญ่และเกรียงไกรมาแล้วในอดีต

ส่วนประชาชาติอิสลามภายหลังการอวสานของระบอบคิลาฟะห์ อันเป็นรูปลักษณ์แห่งศูนย์รวมใจก็บังเกิดความรู้สึกสูญเสียทั้งด้านจิตวิญญาณและการเมือง สายสัมพันธ์ที่เคยร้อยรัดผูกพันหมู่พลเมืองนับสิบเชื้อชาติก็ขาดสะบั้นลง มุสลิมในเขตชายฝั่งของมหาสมุทรอินเดียหรือแอตแลนติก หรือในแถบลุ่มแม่น้ำไนล์ ต่างก็รู้สึกว่าตนกลายเป็นคนแปลกหน้าที่โดดเดี่ยวและว้าเหว่ในโลกใบนี้ และความรู้สึกเช่นนี้ไม่มีวันจะเสื่อมคลายไปได้จากหัวใจของชาวมุสลิม นอกเสียจากเมื่อระบอบคิลาฟะห์ได้กลับคืนมาอีกครั้งเท่านั้น

read more "จักรวรรดิอุษมานียะห์ เมื่ออาทิตย์อัสดง : การยกเลิกระบอบคิลาฟะห์"

จักรวรรดิอุษมานียะห์ เมื่ออาทิตย์อัสดง : ความรับผิดชอบของชาวตุรกีและอาหรับต่อการสูญสิ้นระบอบการปกครองแบบคิลาฟะห์

จักรวรรดิอุษมานียะห์ เมื่ออาทิตย์อัสดง : ความรับผิดชอบของชาวตุรกีและอาหรับต่อการสูญสิ้นระบอบการปกครองแบบคิลาฟะห์

(อาลี เสือสมิง)




จากสิ่งที่ได้กล่าวมาก่อนหน้านี้ ทั้งหมดได้สร้างความกระจ่างให้กับพวกเราถึงบทบาทของหมู่ปัจจามิตรที่กระทำต่ออิสลาม ในการดำเนินการเพื่อล้มล้างระบอบคิลาฟะห์แห่งอุษมานียะห์ทั้งในส่วนบุคคลและโดยการร่วมมือกันของเหล่าปัจจามิตร

ย่อมไม่เป็นธรรมนักในการที่เราจะโยนผลพวงทั้งหมดอันเป็นกากเดนของความอาฆาตมุ่งร้ายทั้งหมดให้แก่พวกศัตรู โดยถือว่าเรา –ทั้งตุรกีและอาหรับ- ไม่มีส่วนอันใดจากความผิดพลาดที่เกิดขึ้น

ความผิดพลาดเหล่านี้ซึ่งเริ่มต้นเพียงน้อยนิดในเบื้องแรก แล้วบรรดาผู้ปกครองก็ดูแคลนและไม่เห็นว่านั่นจะเป็นภัยคุกคาม และแล้วมันก็เติบโตและลุกลามจนกลายเป็นปัญหาที่ยากต่อการเยียวยาแก้ไข จนมีส่วนสำคัญอีกประการหนึ่งในการล้มล้างระบอบการปกครองแบบคิลาฟะห์

โรคร้ายแห่งความบกพร่องดังกล่าวได้เริ่มสำแดงภัยของมันในการคุกคามต่อองคาพยพของอิสลามโดยรวม จนในที่สุดก็ได้ทำให้อิสลามเกิดความอ่อนแอ ดาวจรัสแสงแห่งค่อลีฟะห์ได้เริ่ม อับแสงลงทีละน้อยทีละน้อย ด้วยเหตุที่ศัตรูภายนอกได้โหมกระหน่ำโจมตีอย่างรุนแรง ซึ่งได้พยายามทุกวิถีทางในการทำลายล้างระบอบคิลาฟะห์

ความเสื่อมดังกล่าวได้เข้าเกาะกุมเรือนร่างของระบอบคิลาฟะห์จากภายใน ซึ่งศัตรูได้มีส่วนอย่างชัดเจนในการบ่มเพาะความเสื่อมนั้นในเรือนร่างของระบอบ กอรปกับความเสื่อมตลอดจนความผิดพลาดที่เกิดขึ้นด้วยน้ำมือของพวกเราเอง –ทั้งตุรกีและอาหรับ- ได้ทำให้รัฐคิลาฟะห์ต้องประสบกับความไร้สมรรถภาพ สถานการณ์ของระบอบก็ดำดิ่งสู่ความตกต่ำ หลังจากที่เคยเป็นศูนย์กลางแห่งความเป็นผู้นำของโลก และยุโรปก็เคยเกรงกลัวและครั่นคร้าม จนกระทั่งบรรดากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ของยุโรปต้องยอมจำนนเข้าสู่ภายใต้การดูแลของบรรดาซุลตอนแห่งอุษมานียะห์

สำหรับอุษมานียะห์ ขณะที่มีอำนาจและทรงอิทธิพลนั้นก็เปรียบได้ดั่งแกนของโลก ด้วยความดีความชอบแห่งจิตวิญญาณอิสลามอันสูงส่งซึ่งพวกอุษมานียะห์มีอยู่อย่างเอกอุ และเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่ทำให้พวกเขากำชัยชนะและการพิชิตครั้งแล้วครั้งเล่า

พวกอุษมานียะห์ได้วางระบบการบริหารอย่างประณีตและรัดกุม เฉพาะอย่างยิ่งในยุคของบรรดาซุลตอนต้นราชวงศ์ซึ่งได้วางระเบียบในการคัดเลือกผู้ถูกเสนอชื่อ และมีคุณสมบัติพร้อมในการบริหารราชการแผ่นดิน ระเบียบที่ว่านี้มีขั้นตอนของการฝึกฝน การคัดเลือกและการศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพ บรรดาซุลตอนในรัชกาลแรกๆ จะทรงเข้มงวดอย่างมากต่อการคัดเลือกผู้มีคุณสมบัติทั้งในด้านกำลัง สติปัญญา ร่างกาย และพรสวรรค์อื่นๆ ซึ่งเหมาะสมในการปฏิบัติภารกิจหน้าที่

ในทำนองเดียวกัน ได้มีการกำหนดศาสตร์พิชัยสงครามอย่างละเอียดลออ จนบรรลุสถานะแห่งความเป็นจักรวรรดิผู้ทรงแสนยานุภาพในโลกขณะนั้น ทั้งนี้ด้วยการเปิดรับศาสตร์แขนงต่างๆ ที่มีส่วนในการสร้างความเจริญ ไม่ว่าจะเป็นวิทยาศาตร์ ศิลปะ และสถาปัตยกรรม และอื่นๆ รัชสมัยแห่งซุลตอนมุฮำหมัด (เมฮ์เมต) ที่ 2 (อัลฟาติฮ์ – ผู้พิชิตกรุงคอนสแตนติโนเปิ้ล) ถือเป็นแบบอย่างที่ยิ่งใหญ่สำหรับการใช้เครื่องไม้เครื่องมือและอาวุธยุทโธปกรณ์ที่มีความเจริญ และทันสมัยที่สุดในรัชสมัยของพระองค์ขณะนั้น (ตารีค อัดเดาละห์ อัลอุษมานียะห์ หน้า 78) และจักรวรรดิอุษมานียะห์ก็ถึงยุคแห่งความรุ่งโรจน์สุดขีดในรัชกาลแห่งซุลตอนสุลัยมาน ข่าน อัลกอนูนีย์ ซึ่งพระองค์มีความพิเศษเหนือบรรดาซุลตอนแห่งราชวงศ์อุษมานียะห์ ด้วยความโดดเด่นของคุณสมบัติอันน่ายกย่องสรรเสริญ และโครงการที่ยิ่งใหญ่เป็นอันมาก พวกอุษมานียะห์จึงประความสำเร็จและกำชัยชนะเหนือเหล่าศัตรูด้วยวิทยาการและคุณสมบัติที่ดีงามดังกล่าว

ซุลตอนสุลัยมาน อัลกอนูนีย์ ถือเป็นซุลตอนลำดับสุดท้ายจากบรรดาซุลตอนสิบท่าน (1.อุสมาน ข่านที่ 1 2.อูรุค ข่านที่ 1 3.มุรอต ข่านที่ 1 4.บายะซีด ข่านที่ 1 5.มุฮำหมัด ญะละบีย์ 6.มุรอต ข่านที่ 2 7.มุฮำหมัด (อัลฟาติฮ์) ที่ 2 8.บายะซีด ข่านที่ 2 9.สะลีม ข่านที่ 1 ) ที่สถาปนาความมั่นคงให้กับจักรวรรดิ เสริมสร้างแสนยานุภาพทางทหารและพิชิตดินแดนอย่างกว้างใหญ่ไพศาล การยึดมั่นตามแนวทางแห่งเอกองค์พระผู้เป็นเจ้าคือหลักมูลฐานที่บรรดาซุลตอนทั้งสิบท่านนี้ได้ดำเนินไปโดยมุ่งหวังสั่งสมความพึงพอพระทัยของพระองค์ (ซ.บ.) อันเป็นส่วนหนึ่งที่หัวใจของเหล่าพสกนิกรมีความอิ่มเอิบในการมอบความซื่อสัตย์จงรักภักดีต่อพวกเขา

อย่างไรก็ตาม เรื่องราวมิได้เป็นไปตามหลักมูลฐานและรูปแบบที่พวกเขาเคยถือมั่น นับแต่การปรากฏขึ้นของดวงดาวแห่งความรุ่งโรจน์ในประวัติศาสตร์อย่างเสมอต้นเสมอปลาย ความเบี่ยงเบนออกนอกวิถีทางแห่งพระผู้เป็นเจ้าได้เริ่มขึ้นทีละน้อย แล้วต่อมาก็เพิ่มมากขึ้น ช่องว่างระหว่างวิถีและการปฏิบัติของผู้ปกครองเริ่มขยายกว้างมากขึ้นเป็นลำดับ จนในที่สุดซุลตอนแห่งอุษมานียะห์ก็กลายเป็นกษัตริย์เสียจริตและลุแก่อำนาจ ความอ่อนแอความเสื่อมก็คืบคลานเข้าสู่องคาพยพของพวกเขา ซุลตอนในยุคหลังจึงมุ่งแต่ความสำราญ การปล่อยอารมณ์ไปกับความบันเทิงและใช้ชีวิตอย่างฟุ้งเฟ้อ ในท้ายที่สุดก็ยุติการญิฮาดอย่างขลาดเขลา สภาพของพวกเขาจึงตกต่ำและดิ่งสู่ความเสื่อมวันแล้ววันเล่า โรคร้ายแห่งประชาชาติยุคก่อนก็คืบคลานเข้ารุมเร้าและเล่นงานพวกเขา นั่นคือ ความอิจฉาริษยาและการบาดหมาง (มาซา ค่อซิรอ อัลอาลัม บินฮิตอต อัลมุสลิมีน หน้า164 ตารีค อัดเดาละห์ อัลอุษมานียะห์ หน้า 78)




สาเหตุแห่งความอ่อนแอ


หลังจากวิเคราะห์และศึกษาถึงความเป็นไปของจักรวรรดิอุษมานียะห์ก็เป็นที่กระจ่างว่าสาเหตุแห่งความอ่อนแอของจักรวรรดิเกิดจากองค์ประกอบพื้นฐาน 2 ประการ กล่าวคือ

องค์ประกอบที่ 1 บรรดาอุละมาอ์ (นักวิชาการศาสนา)
บรรดาอุละมาอ์ในยุคแรกแห่งการพิชิตและความเกรียงไกรของจักรวรรดิล้วนแต่มีอิทธิพลอยู่เหนือบรรดาซุลตอน และผู้ปกครองอุษมานียะห์ ในยุคอดีตบรรดาอุละมาอ์ก็คือผู้ทรงภูมิความรู้ที่มีจิตใจบริสุทธิ์จากความเสื่อมเสียทั้งหลาย พวกเขาจะทัดทานและปฏิเสธต่อสิ่งที่ขัดต่อหลักการของศาสนาเรียกร้องสู่ความดีงาม พวกเขาคือขุมกำลังที่เหล่าซุลตอนมีความเกรงกลัว และลุกขึ้นทัดทานเบื้องหน้าเหล่าซุลตอนเสมอคราใดที่เหล่าซุลตอนได้ล้ำเขตกำหนดตามศาสนบัญญัติ (อัลอิสลาม วัลฮะคอเราะห์ อัลอะรอบียะห์ หน้า 524)

ชัยคุลอิสลามมีสถานภาพอันสูงส่งที่องค์กรในด้านตุลาการและนิติบัญญัติต่างก็น้อมนำและปฏิบัติตาม บรรดาซุลตอนแห่งราชวงศ์อุษมานียะห์ ต่างก็ยกย่องให้เกียรติต่อชัยคุลอิสลาม เชื่อฟังและปรึกษาหารือด้วยเสมอในทุกกิจการงาน แม้กระทั่งเรื่องการสงครามซึ่งจะไม่มีการดำเนินการอันใดเว้นเสียแต่ภายหลังการออกคำชี้ขาด (ฟัตวา) ของชัยคุลอิสลามแล้วเท่านั้นถึงจะทำสงครามได้ ประวัติศาสตร์ได้บันทึกเรื่องราวของอันน่าทึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้เอาไว้ ท่านกอฎีย์ (ตุลาการสูงสุด) ซัมซุดดีน อัลกีนาวีย์ได้ตัดสินให้การเป็นพยานของซุลตอน บายะซีด ข่าน – ผู้มียาอสุนีบาตร- เป็นโมฆะ เพราะซุลตอนละทิ้งการละหมาดญะมาอะห์ที่มัสยิด (ตารีค อัดเดาละห์ อัลอุษมานียะห์ หน้า79)

ซุลตอนสะลีม ข่านที่ 1 ก็เช่นกัน สำหรับพระองค์แล้วมักเป็นที่ทราบกันดีว่าพระองค์ไม่เคยลังเลที่จะออกคำสั่งให้ประหารชีวิตผู้คนแม้เพียงด้วยเหตุเล็กน้อยก็ตาม กระนั้นพระองค์ก็ระมัดระวังพระองค์เสมอต่อการทำให้มุฟตีย์ ซะบัม บะลีย์ อะลี เกิดความไม่พอใจ เรียกได้ว่าบรรดาซุลตอนในยุคต้นจะให้เกียรติต่อหลักนิติธรรมของศาสนา และบรรดานักวิชาการเสมอ แต่ทว่าเมื่อซุลตอนสุลัยมาน อัลกอนูนีย์ ได้ทรงกำหนดตำแหน่งและระดับเหล่านักปราชญ์ราชบัณฑิต




ตลอดจนน้อมนำพาให้บรรดานักวิชาการเห็นแก่ทางโลกเป็นสำคัญอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน เหล่านักปราชญ์ก็เลยแข่งขันกันเพื่อบรรลุสู่ตำแหน่งทางราชบัณฑิตเหล่านี้ด้วยการสร้างความใกล้ชิดกับบรรดาซุลตอน ดังนั้นหลังจากที่ตำแหน่งและสถานภาพทางศาสนาของนักวิชาการในยุคซุลตอนสิบพระองค์แรกได้เคยมุ่งเน้นถึงคุณสมบัติด้วยการสอบหรือความสันทัดและเชี่ยวชาญในสรรพวิชา ก็กลับกลายเป็นว่าตำแหน่งราชบัณฑิตดังกล่าวได้มาด้วยการวิ่งเต้นใช้เส้นสาย การควบคุมของนักวิชาการศาสนาที่มีต่อบรรดาซุลตอนก็ลดน้อยและเสื่อมค่าลง เฉพาะอย่างยิ่งปลายรัชสมัยซุลตอนสุลัยมาน และในรัชกาลถัดมาเป็นลำดับ บรรดานักวิชาการศาสนาก็ไร้อำนาจและบารมีที่จะเหนี่ยวรั้งการกระทำของเหล่าซุลตอนที่ไม่อยู่ในทำนองคลองธรรม ยังผลร้ายให้กับจักรวรรดิในเวลาต่อมาเป็นอันมาก สิทธิประโยชน์อันดีงามที่จะนำพรจักรวรรดิให้อยู่ในกรอบของศาสนาก็วิปลาสนาการเสียสิ้น ด้วยเหตุที่บรรดานักวิชาการเพิกเฉยและนิ่งเงียบ จากพฤติกรรมเบี่ยงเบนและออกนอกลูนอกทางของเหล่าค่อลีฟะห์ในยุคหลังๆ

องค์ประกอบที่ 2 บรรดาค่อลีฟะห์
ภายหลังรัชกาลซุลตอนสุลัยมานเป็นต้นมา บรรดาซุลตอนต่างก็มิได้มีคุณลักษณะเฉกเช่น ซุลตอนพระองค์ก่อนในช่วงต้นราชวงศ์ เห็นจะยกเว้นก็เพียงแต่ซุลตอน มุฮำหมัดที่ 3 , มุรอตที่ 4 และมุสตอฟาที่ 3 เพีงเท่านั้น , ซุลตอนเหล่านี้มีคุณสมบัติพร้อมในการปกครองและว่าราชการแผ่นดิน ส่วนซุลตอนพระองค์อื่นในยุคที่สองของจักรวรรดิก็หาได้มีคุณสมบัติทัดเทียมในการบริหารเฉกเช่นยุคแรกไม่ ยกเว้นเพียงบางพระองค์เท่านั้น

มีซุลตอนหลายพระองค์ที่ได้รับการสถาปนาให้มีอำนาจปกครองขณะที่ยังมีพระชนม์เยาว์วัย ดังซุลตอนอะห์หมัดที่ 1 และอุษมานที่ 2 ขณะได้รับการสัตยาบันขึ้นเป็นซุลตอนนั้นมีพระชนมายุเพียง 14 พรรษาเศษๆ ซุลตอนมุรอตขณะขึ้นครองราชย์ก็มีพระชนมายุได้ 12 พรรษาเท่านั้น ในขณะที่ซุลตอนมุฮำหมัดที่ 4 มีพระชนมายุเพียง 7 พรรษา เมื่อเป็นเช่นนี้การบริหารราชการแผ่นดินก็ย่อมตกอยู่ในกำมือของบรรดาขุนนางและเหล่านางใน อันก่อให้เกิดความวุ่นวายในด้านการเมืองการปกครอง และการทหารอย่างหลีกเลี่ยงมิได้

ในกรณีความเปลี่ยนแปลงทางสายเลือดของเหล่าซุลตอนก็เช่นกัน ถือได้ว่าเป็นปัจจัยสำคัญในการทำให้จักรวรรดิเกิดความอ่อนแอ มีการนำนางทาสและนางเฉลยที่เป็นคริสเตียนเข้ามาสู่ราชสำนัก และสถาปนาเป็นสนมนางในหรือบาทบริจาริกา จนบางครั้งได้เป็นถึงเจ้าจอมมารดาเป็นจำนวนมาก ซุลตอนส่าลีมที่ 2 ก็ทรงเป็นลูกครึ่งรุสเซียเพราะมีพระชนนีเป็นหญิงรัสเซีย ซุลตอนมุฮำมัดที่ 3 ก็ทรงเป็นลูกครึ่งเวนีสเพราะมีพระมารดาเป็นสตรีชาวเวนิส ซุลตอนอุสมานที่ 2 และมุรอตที่ 4 ตลอดจนอิบรอฮีมที่ 1 ก็ทรงเป็นลูกครึ่งรูม (ไบเซนไทน์) เพราะพระมารดาของซุลตอนทั้ง 3 พระองค์นี้เป็นสตรีชาวรูม

ในทำนองเดียงกันบรรดาข้าราชการที่ถวายงานราชการแก่ซุลตอนก็มาจากทางคริสเตียนเดิมที่เข้ารับอิสลามทั้งชาติรูม แอลบาเนีย เซอร์เบีย และบัลฆอร ซึ่งในรัชสมัยซุลตอนส่าลีมที่ 2 มีขุนนางชั้นผู้ใหญ่ 8 คนที่เคยดำรงตำแหน่งมหาเสนาบดีเป็นมุสลิมใหม่เสีย 6 คนด้วยกัน ซึ่งมีทั้งชาติเจนัว เบลเยี่ยม กรีก และรุสเซีย

การมอบหมายตำแหน่งหน้าที่อันสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการบริหารราชการแผ่นดินแก่บุคคลเหล่านี้ และพวกอื่นๆ เช่น อิตาเลี่ยนและฮังกาเรียน ล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยทำให้จักรวรรดิอ่อนแอ เพราะขุนนางต่างชาติเหล่านี้กระทำตนเพื่อประโยชน์แก่แผ่นดินแม่หรือชาติเดิมของตนทั้งสิ้น และซ้ำร้ายมีซุลตอนหลายพระองค์ที่สุรุ่ยสุร่ายและใช้จ่ายพระราชทรัพย์ฟุ่มเฟือยเป็นอันมากจนทำให้การคลังของจักรวรรดิจำต้องกู้หนี้ยืมสินจากต่างชาติด้วยดอกเบี้ยเงินกู้มหาศาล ยังผลให้กลุ่มประเทศตะวันตกที่เป็นเจ้าหนี้เข้ามาแทรกแซงกิจการภายในจักรวรรดิ และถือเอาเป็นทาสทางเศรษฐกิจจวบจนสิ้นราชวงศ์

นอกจากนี้ยังมีความผิดพลาดอันใหญ่หลวง ที่บรรดาซุลตอนแห่งอุษมานียะห์ได้ก่อเอาไว้ กล่าวคือ

1. ความล้าหลังทางวิทยากร
ประเด็นนี้หมายถึงการขาดความต่อเนื่องในด้านการทุ่มเทอย่างจริงจังเพื่อความเจริญรุดหน้าทางวิทยาการแขนงต่างๆ บรรดาซุลตอนในยุคหลังรัชสมัยซุลตอนสุลัยมาน อัลกอกูนีย์ ต่างก็มิได้ให้ความสำคัญมากนักต่อความเจริญรุดหน้าของโลกรอบข้าง ดังนั้นยุโรปจึงนำหน้าจักรวรรดิอุษมานียะห์ในด้านความเจริญรุดหน้าไปเป็นเวลาหลายศตวรรษ ขณะที่อุษมานียะห์ยังคงยึดติดอยู่กับความเข้าใจต่อโลกดังที่ซุลตอนสะลีม ข่านที่ 1 ได้เคยวาดภาพลักษณ์เอาไว้ และยังคงยึดมั่นอยู่กับระบบแบบแผน และกฎหมายปกครองซึ่งซุลตอนสุลัยมาน ข่าน อัลกอนูนีย์ได้ทรงตราเอาไว้ (ฮาฎิรุ้ลอิสลาม หน้า 282 ฮุซัยน์ มุอ์นิซ)




ยุโรปได้ก้าวกระโดดอย่างรวดเร็วสู่ธรรมชาติวิทยาและวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ โดยอาศัยการสังเกต การทดลองและการวิจัยอย่างเป็นระบบ ความอ่อนแอที่มีมาแต่ก่อนของยุโรปก็แปรเปลี่ยนสู่ความเข้มแข็ง และจากสถานภาพในเชิงรับสู่เชิงรุก ส่วนพวกอุษมานียะห์กลับมิได้ให้ความสนใจต่อวิทยาการเหล่านี้อย่างที่ควรจะเป็นจึงกลายเป็นผู้ล้าหลัง ช่วงเวลาแห่งความรุ่งโรจน์ก็ยุติลง กลุ่มชาติยุโรปจึงนำหน้าอุษมานียะห์ไปในที่สุด (มาซา ค่อซิรอ อัลอาลัมฯ) หน้า 165) การพึ่งพาพวกตะวันตกซึ่งเป็นชนชาติอื่นในทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นสิ่งประดิษฐ์หรือระบอบแบบแผนที่ถูกกำหนดใช้ในยุโรปจึงเกิดขึ้นตามมา เมื่อเป็นเช่นนี้ ระบบสาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวกในการดำเนินชีวิตตามยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไปจึงเป็นสิ่งที่จักรวรรดิอุษมานียะห์ขาดแคลน ตลอดจนการเสริมสร้างแสนยานุภาพให้กับกองทัพบกและกองทัพเรือด้วย อาวุธยุโธปกรณ์ที่ทันสมัยก็ขาดแคลนเช่นกัน แต่เดิมการทำสงครามของกองทัพอุษมานียะห์มีหัวใจอยู่ที่ความกล้าหาญเด็ดเดี่ยว และขวัญกำลังใจของทหาร ชัยชนะจึงเป็นของพวกเขาอยู่เสมอ จนกระทั่งเมื่อวิทยาการที่มนุษย์ได้คิดค้นประดิษฐ์และใช้ประโยชน์จากสติปัญญาที่ค้นพบสิ่งใหม่ๆ เข้ามาบทบาท สติปัญญาซึ่งแต่เดิมเป็นเรื่องรองก็ได้ทำลายกฎแห่งความกล้าหาญ ซึ่งพวกอุษมานียะห์มีโยสัญชาติญาณลงจนเกือบหมดสิ้น เรียกได้ว่ากล้าหาญชาญชัยโดยไร้สติปัญญาและอาวุธที่ดีก็เท่ากับปราชัยอยู่แล้ว

พวกอุษมานียะห์ได้อนุรักษ์ระบบการเรียนการสอนในสาบันการศึกษาและโรงเรียนของตนอย่างที่เคยเป็นมา นับตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 13 โดยไม่สนใจที่จะนำเอาความคิดใหม่ๆ เข้ามาประยุกต์ใช้ อีกทั้งประดาปัญหาทางการเมืองการปกครองที่รุมเร้าอยู่ตลอดเวลาก็มีส่วนในการทำให้ระบบการศึกษาของอุษมานียะห์ล้าหลังเช่นกัน (ตารีค อัดเดาละห์ อัลอุษมานียะห์ หน้า 79)

ส่วนหนึ่งจากความล้าหลังที่กล่าวถึงนี้ ได้แก่การนำเอาอุตสาหกรรมต่อเรือขนาดใหญ่เข้าสู่จักรวรรดิเมื่อศตวรรษที่ 16 มานี่เอง แท่นพิมพ์หนังสือพิมพ์และการกำหนดด่านกักกันโรคก็เพิ่งเข้ามาในรัชกาลซุลตอนมุสตอฟา ที่ 2 คือราวศตวรรษที่ 17 ทำนองเดียวกันวิทยาลัยกองทัพเรือบกหรือโรงเรียนนายร้อยที่ทันสมัยก็เพิ่งก่อตั้งในตุรกีในช่วงนี้เช่นกัน ประเทศอียิปต์เองเสียอีกที่มีแท่นพิมพ์หนังสือและการรถไฟหรือรถรางไฟฟ้าก่อนหน้าตุรกีด้วยซ้ำ ตุรกีเพิ่งมาตื่นตัวก็ต่อเมื่อหลังความพ่ายแพ้ในปี ฮ.ศ.1188/ค.ศ.1774 โดยซุลตอนส่าลีม ข่าน ที่ 3 ได้ทรงริเริ่มการพัฒนาและปรับปรุงสภาพของบ้านเมืองให้ทันสมัย พระองค์ทรงสร้างโรงเรียนและวิทยาลัยหลายต่อหลายแห่ง โดยพระองค์ยังทรงเป็นอาจารย์สอนเองด้วยซ้ำ นอกจากนี้พระองค์ยังทรงตั้งกองทหารที่ทันสมัยขึ้นอีกด้วย ยังผลให้เหล่าทหารในกองทัพเดิมก่อการลุกฮือและปลงพระชนม์พระองค์ในเวลาซึ่งความเจริญทางด้านเทคโนโลยีที่ทันสมัยได้ทำให้ยุโรปมีความเหนือกว่าในด้านวัตถุปัจจัย มีการคิดค้นประดิษฐ์อาวุธยุทโธปกรณ์ชนิดใหม่ๆ ขึ้นมาใช้ในการทำสงคราม ตลอดจนยวดยานพาหนะที่ใช้ในการคมนาคมยุคใหม่ ยุคเครื่องจักร ไฟฟ้า และพลังไอน้ำก็เริ่มขึ้น พวกยุโรปก็อยู่ในสถานะที่เป็นต่อและเหนือกว่าประชาชาติมุสลิม ซึ่งครั้งหนึ่งเคยมีชัยเหนือยุโรป แต่มาบัดนี้พวกยุโรปกลับกลายเป็นฝ่ายที่มีความพร้อมกว่าและไม่ต้องบันยะบันยังอีกต่อไปในการเลือกใช้อาวุธทำลายล้างที่ถูกสร้างและคิดค้นขึ้นอย่างทันสมัย เพื่อประหัตประหารชาวมุสลิมหรือศัตรูหน้าไหนก็ตามที

ความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาการสมัยใหม่ได้มีส่วนช่วยให้ยุโรปค้นพบดินแดนและทวีปใหม่ที่ไม่เคยเป็นที่รู้จักมาก่อนสำหรับชาวโลกในยุคกลาง ตลอดจนการค้นพบทฤษฎีอันเป็นรหัสไขความลับของจักรวาลอีกด้วย เหตุการณ์เป็นไปเช่นนี้ ในขณะที่โลกอิสลามกำลังถอยหลังเข้าคลอง หรือหากจะกล่าวว่าจมดิ่งสู่เหวลึกอย่างแน่นิ่งก็คงไม่ผิดอะไร

กาลเวลาผ่านไปหลายศตวรรษ โลกอิสลามก็ตื่นขึ้นจากความหลับใหลเพื่อพบว่าตัวเองได้ตกอยู่ภายใต้อำนาจของอาวุธยุทโธปกรณ์อันทันสมัยของยุโรป ขอพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ได้ทรงเมตตาต่อซุลตอน มุฮำหมัด อัลฟาติฮ์ ที่ 2 ผู้ซึ่งตัวเออร์บาน ช่างหล่อปืนมายังตุรกีก่อนหน้าการพิชิตกรุงคอนสแตนติโนเปิ้ล เออร์บานผู้นี้ได้สอนบรรดาช่างทำศาสตรวุธของจักวรรดิให้รู้ถึงเทคนิคในการหล่อปืนขนาดใหญ่ (อัลอิสลาม วัลฮะดอเราะห์ อัลฆอรบียะห์ 2/525) ท่านซุลตอน พระองค์นี้ได้ทำให้ชาวมุสลิมตุรกีได้เข้าใจต่อพระดำรัสขององค์พระผู้เป็นเจ้าที่ว่า

“และสูเจ้าทั้งหลายจงตระเตรียมสรรพกำลังเอาไว้เท่าที่สูเจ้าทั้งหลายมีความสามารถ เพื่อรับมือพวกเขา (ศัตรู) ตลอดจนการผูก (จัดเตรียมทัพ) ม้าศึกเอาไว้ โดยสูเจ้าทั้งหลายจักได้สร้างความครั่นคร้ามแก่เหล่าศัตรูของพระเจ้าและศัตรูของสูเจ้าทั้งหลายด้วยสิ่งนั้น…” (อัลกุรอ่าน บท อัลอัมฟาล พระบัญญัติที่ 60)

2. การลุแก่อำนาจ
สิ่งที่เกิดขึ้นควบคู่ไปกับการถดถอยทางวิทยาการก็คือการหลงระเริงในการเสพสุขและลุแก่อำนาจของบรรดาซุลตอนแห่งอุษมานียะห์ ซึ่งโลกในขณะนั้นต่างก็เปิดประตูอ้ารับและพร้อมสนองตอบความประสงค์ของพวกเขา และผู้ใดที่เคยอ่านสาส์นของซุลตอน สุลัยมาน ข่าน อัลกอนูนีย์ที่มีถึงกษัตริย์ฝรั่งเศส เขาก็จักมิพบเลยว่าสาส์นดังกล่าวมีความคล้ายคลึงกับสาส์นที่มีจากกษัตริย์ถึงผู้เป็นกษัตริย์หรือจากจักรพรรพิถึงกษัตริย์ที่มีอำนาจด้อยกว่าหรือกระทั่งผู้นำรัฐที่เป็นเจ้าครองนคร หากแต่จะพบว่าสาส์นฉบับดังกล่าวเหมือนกันแต่งขึ้นจากผู้เป็นนายเหนือหัวส่งถึงทาสรับใช้ผู้ต่ำต้อย ในทำนองเดียวกันผู้ใดที่เคยศึกษาถึงสำนวนในสนธิสัญญาฉบับต่างๆ ที่มีการ ลงนามในช่วงยุคทองของจักรวรรดิก็จะพบว่าบรรดาฉายาหรือนามต่อท้ายที่สดุดีต่อบรรดาซุลตอนจะมีคุณลักษณะที่แม้กระทั่งบรรดาจักรพรรดิ และเหล่ากษัตริย์ในยุคนั้นเองก็มิเคยจะนำมาใช้ต่อพระนามของพวกเขา ดังนั้นความลุแก่อำนาจและหลงใหลต่อบารมีที่อุปโลกน์ขึ้นจึงได้เกาะกุมหัวใจของเหล่าซุลตอน ซ้ำร้ายการหลงมัวเมาในอำนาจเช่นนี้ยังได้นำพาพวกเขาไปสู่การปลีกตัวหรือปิดตัวเองจากการเอาประโยชน์ของวิทยาการแขนงต่างๆ ซึ่งแพร่หลายอยู่ในดินแดนรอบด้านอันเป็นเพื่อนบ้านใกล้เคียง และชัยชนะอันมากมายของพวกเขาในช่วงศตวรรษแรกๆ ยังได้ก่อให้เกิดความลำพองตน ในชาติกำเนิดของพวกตน คราใดที่ได้มีการยาตราทัพของเหล่าศัตรูเข้าประชิดพรมแดนของจักรวรรดิ พวกอุษมานียะห์ก็จะประมาทและประเมินค่าศัตรูตลอดจนภยันตรายจากสงครามต่ำอย่างมาก เมื่อชัยชนะตกเป็นของพวกเขา อานิสงค์แห่งความดีความชอบก็จะโปรยปรายอย่างถ้วนทั่วต่อเหล่าผู้ใกล้ชิด นับจากแม่ทัพใหญ่จนถึงพลทหาร แต่เมื่อใดที่ปราชัยแม่ทัพนายกองของกองทัพนั้นๆ ก็จะต้องพบกับวิบากกรรมหรือไม่ก็ถึงขั้นอาสัญวายชีวาด้วยหัวหลุดจากบ่านั่นเอง

ความหลงมัวเมาในอำนาจได้เลยเถิดถึงขั้นที่ว่าพวกเขามิเคยละเลิกจากความรู้สึกยึดติดต่อชาติพันธุ์ของพวกตน ว่าเป็นเผ่าพันธุ์ที่เลอเลิศสมควรแล้วซึ่งการมีอำนาจบารมีและได้รับการสวามิภักดิ์ และผู้คนทั้งหลายที่ต่างเชื้อชาติเผ่าพันธุ์ก็จำต้องเชื่อฟังแต่โดยดี

โรคร้ายเช่นนี้ได้ลุกลามเข้าเกาะกุมจิตใจของพวกอุษมานียะห์จนยากที่จะเยียวยา โดยมันได้นำพาเชื้อโรคแห่งความอ่อนแอเข้าเกาะกุมทำร้ายจักรวรรดิ จนในที่สุดเหล่าปัจจามิตรก็สามารถสร้างความล่มสลายแก่พวกเขา (อัลอิสลาม วัลฮะดอเราะห์ อัลฆอรบียะห์ หน้า 530)

3. ความอ่อนแอในด้านเสถียรภาพและความน่าเกรงขามและการแผ่ขยายเฉพาะอาณาเขต
การพิชิตของพวกอุษมานียะห์ได้แผ่ปกคลุมดินแดนยุโรปตะวันออก จนมีเส้นพรมแดนประชิดอิตาลี และยังมีอิทธิพลครอบคลุมดินแดนของเอเชียส่วนใหญ่เอาไว้ ส่วนแอฟริกานั้นพวกอุษมานียะห์แผ่ขยายอาณาเขตจรดดินแดนมอรอคโค

การพิชิตดินแดนอันกว้างใหญ่ไพศาลของโลกได้สร้างความครั่นคร้าม และความน่าเกรงขามให้กับจักรวรรดิอย่างจริงจัง และเต็มไปด้วยอำนาจบารมีในช่วงรัชสมัยของบรรดาซุลตอนสิบพระองค์แรก ครั้งต่อมาในรัชกาลหลังๆ บรรดาซุลตอนก็มิสามารถสร้างความน่าเกรงขามแก่ดินแดนน้อยใหญ่ที่ตกอยู่ภายใต้อาณัติของอุษมานียะห์ อีกทั้งยังมิสามารถสืบสานความรุ่งโรจน์ได้เหมือนเช่นเดิม ยังผลให้เกิดการแข็งเมืองและการแยกตนเป็นอิสระไม่ขึ้นกับส่วนกลาง และจบลงด้วยการล่มสลาย

กรณีการแข็งเมืองและพยายามแยกตนเป็นอิสระไม่ขึ้นกับส่วนกลางจะเห็นได้ชัดจากกรณีของมุฮำหมัด อะลี ปาชา ผู้เป็นอุปราชปกครองอิยีปต์ออกจากการเป็นดินแดนใต้อาณัติของจักรวรรดิอุษมานียะห์ และนำทัพอิยีปต์รุกคืบหน้าเข้ายึดครองหัวเมืองชาม (ซีเรีย) ก่อลีกียะห์ และรุกล้ำถึงหัวเมืองกูตาฮียะห์ในเอเชียน้อย ซึ่งคุกคามต่อราชสำนักในอิสตันบูล การกระทำเช่นนี้ของมุฮำหมัด อะลี ปาชา ย่อมเป็นการยืนยันว่าแสนยานุภาพทางการทหารของอุษมานียะห์เป็นเพียงความเพ้อฝันมากกว่าจะเป็นจริง ถึงขั้นที่ว่าอิสตันบูลจำต้องขอความช่วยเหลือจากรุสเซียเพื่อเข้าเป็นแนวร่วมที่เข้ามาขัดขวางการรุกคืบของมุฮำหมัด อะลี ปาชา

อีกตัวอย่างหนึ่งก็คือ การดำเนินการของอัลกุรออฺ มันลีย์ เจ้าของนครทรีโปลีตะวันตก (ลิเบีย) ซึ่งแยกตนเป็นอิสระในปี ค.ศ.1711 จนถึงปีค.ศ. 1835 โดยที่อำนาจของทรีโปลีสิ้นสุดลงหลังจากอุษมานียะห์ ได้ขอความช่วยเหลือจากอังกฤษ (อ้างแล้ว หน้า210-11) ผู้ปกครองเลบานอน คือ ฟัครุดดีน อัลมะอ์นีย์ก็ได้เอาอย่างมุฮำหมัด อาลี ปาชาเช่นกัน โดยฟัครุดดีนได้ลงนามในสนธิสัญญาคอสมอสที่ 2 ซึ่งเป็นสนธิสัญญาป้องกันการรุกรานร่วมกันกับโรเจอร์เบอร์ดินานด์ ทัสกานีย์ นำกองทัพเรือเข้ายึดครองเหนือเขตชายฝั่งแคว้นชามและสร้างความปราชัยให้กับกองทัพอุษมานียะห์ในปี ฮ.ศ.1043 ในทำนองเดียวกันบายแห่งตูนิเซียซึ่งเป็นข้าหลวงของอุษมานียะห์ก็ได้ทำสนธิสัญญากับฝรั่งเศสในปี ฮ.ศ.1577 และหลังปีค.ศ.1741 เป็นต้นมา บรรดาบาย (เจ้าครองรัฐ) ของตูนิเซียก็ลงนามในสนธิสัญญาอีกหลายฉบับกับกลุ่มประเทศคริสเตียนในนามของตูนิเซียเท่านั้น (อ้างแล้ว)

ปรากฏการณ์เช่นนี้ได้มีส่วนยุยงให้บางประเทศที่อยู่ใต้อาณัติของอุษมานียะห์ได้เอาเยี่ยงอย่างเพื่อแยกดินแดนเป็นอิสระ โดยจักรวรรดิจำต้องยอมรับสภาพการเป็นดินแดนใต้อาณัติของประเทศเหล่านี้แต่เพียงภายนอกเท่านั้น

การมีอาณาเขตอันกว้างใหญ่ไพศาลของจักรวรรดิอุษมานียะห์ กอรปกับความอ่อนแอของอำนาจส่วนกลางและการไร้ความน่าเกรงขามทางแสนยานุภาพ ตลอดจนความหลากหลายทั้งเชื้อชาติ ภาษา และศาสนาของพลเมืองใต้อาณัติได้ทำให้พลเมืองเหล่านี้หันไปสวามิภักดิ์ต่อตะวันตกเพื่อให้เข้ามาแทรกแซงและคุกคามอธิปไตยของจักรวรรดิ และฝ่ายยุโรปเองก็ได้อาศัยความหลากหลายดังกล่าวเป็นเครื่องมือบั่นทอนเสถียรภาพและอำนาจรัฐ ซึ่งทำให้เกิดปัญหาภายในอย่างไม่จบสิ้น ในที่สุดกองทัพของอุษมานียะห์ก็ถึงจุดอิ่มตัว และล้าหลังเต็มที่ในการปราบปรามขวนการแบ่งแยกดินแดนทั้งหลายซึ่งเกิดขึ้นทั่วทุกหัวระแหง อันเป็นผลทำให้จักรวรรดิอ่อนแอถึงขีดสุด




4. สิทธิพิเศษนอกอาณาเขตสำหรับชนต่างชาติ

สิทธิพิเศษหรืออภิสิทธิ์ต่างๆ ซึ่งมีให้แก่ชนต่างชาติอย่างเต็มที่ ได้กลายเป็นเหมือนสิ่งเกินเลยและคุกคามต่อเสถียรภาพของจักรวรรดิซึ่งทางราชสำนักอุษมานียะห์ได้ตราขึ้นแก่ชนต่างชาติในช่วงที่จักรวรรดิมีความรุ่งเรืองสุดขีด ผลเสียของสิทธิพิเศษนอกอาณาเขตสำหรับผู้คนในปกครองของต่างชาติในกาลต่อมาคือการเข้ามาแทรกแซงกิจการของจักรวรรดิและเปิดกว้างจนครอบคลุมชนพื้นเมืองบางส่วน โดยได้รับการผ่อนผันเรื่องการเสียภาษี การไม่ต้องผ่านศาลตุลาการของอุษมานียะห์ในกรณีเกิดคดีความ ทั้งนี้ให้ขึ้นกับศาลผสมที่จัดตั้งขึ้นเป็นกรณีพิเศษ

ด้วยสิทธิพิเศษข้างต้น จึงทำให้ชาวคริสเตียนสามารถตั้งรัฐซ้อนรัฐได้นั่นเอง ในรัชสมัยซุลตอนอับดุลมะญีดได้มีการประกาศพระราชกฤษฎีกามอบให้พลเมืองเลบานอนมีสิทธิจัดตั้งรัฐบาลอิสระของตนภายใต้การควบคุมของจักรวรรดิโดยมีผู้นำรัฐบาลเป็นชาวคริสเตียน และทางราชสำนักมีอำนาจจัดกองกำลังทหารรักษาดินแดนได้ไม่เกิน 300 นาย เพื่อดูแลความสงบเรียบร้อยตามเส้นทางเชื่อมต่อระหว่างกรุงดามัสกัสและเบรุต เมื่อได้รับโอกาสเช่นนี้ ชนกลุ่มน้อยอื่นๆ ก็พากันเรียกร้องสิทธิดังกล่าวชาวคริสเตียนในบอสเนียก็ได้เรียกร้องสิทธิพิเศษในการปกครองตนเองด้วยการยุยงของต่างชาติ แต่ทางราชสำนักก็คัดค้านและเข้าปราบปราม แต่ทว่าเหตุการณ์ความไม่สงบก็ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ในขณะที่ซุลตอนสุลัยมาน ข่าน อัลกอนูนีย์ได้ทรงตรากฎหมายว่าด้วยสิทธิพิเศษดังกล่าว พระองค์ทรงมองว่าเป็นกฎหมายที่ไม่สลักสำคัญอันใดตราบที่จักรวรรดิยังคงเข้มแข็ง แต่พระองค์ก็มิเคยตระหนักเลยแม้แต่น้อยว่าการดังกล่าวจะกลับกลายเป็นดั่งศาสตรวุธที่ทิ่มแทงจักรวรรดิ ในเวลาต่อมา เมื่อจักรวรรดิอ่อนแอและไร้เสถียรภาพและพวกต่างชาติได้ใช้สิทธิพิเศษดังกล่าวเสริมกำลังให้กับฝ่ายตนและเหล่าพลเมืองคริสเตียน ซึ่งอาศัยอยู่ในแผ่นดินของจักรวรรดิตามลำดับ

5. การสูญเสียพลังศรัทธา
ในยุคที่สองของจักรวรรดิอันเป็นยุคหลังซุลตอนสิบพระองค์แรก บรรดาซุลตอนทั้งหลายต่างก็ประสบกับความอ่อนแอ ความคร้านและการขาดความเอาจริงจังในการบริหารราชการแผ่นดิน ความเพิกเฉยต่อการนำทัพออกศึกด้วยตนเอง จะมีก็เพียงซุลตอน 3 พระองค์เท่านั้นในรัชกาล หลังซุลตอนสุลัยมาน อัลกอกูนีย์ที่เป็นจอมทัพนำศึก ส่วนซุลตอนพระองค์ที่อื่นกลับเลือกที่จะใช้ชีวิตอยู่ในพระราชวัง และเสพสุขแสนยานุภาพทางทหารของจักรวรรดิ จึงถดถอยและนโยบายเชิงรุกในการสงครามก็แปรเปลี่ยนสูนโยบายแบบจำยอมหรือสันติวิธี

6. กองทหารเจนนิสซารีย์ (อิงกิชารีย์) (กองทหารเจนนิสซารีย์ (อิงกิชารีย์) ได้ถูกก่อตั้งโดยซุลตอนอุรุคข่าน โดยเลือกเอาลูกหลานของชาวยุโรปที่ถูกกองทัพอุษมานียะห์พิชิตได้เข้าเป็นกำลังทัพ และสอนหลักการของศาสนาอิสลาม และฝึกฝนให้มีความชำนาญในการรบและทำสงครามเรียกได้ว่าเป็นกองสงครามพิเศษนั่นเอง กองทหารเจนนิสซารีย์ในยามที่จักรวรรดิเข้มแข็งถือเป็นกองทหารสำคัญที่มีบทบาทในการแผ่แสนยานุภาพอันเกรียงไกรของจักรวรรดิอุษมนียะห์)

โรคร้ายเดียวกันนี้ได้เข้าคุกคามกองทหารเจนนิสซารีย์ กล่าวคือ สูญสิ้นพลังผลักดันสู่การ ญิฮาด ในภายหลังกองทหารเจนนิสซารีย์ได้กลายเป็นอุปสรรคขวางกั้นความเจริญรุดหน้าของจักรวรรดิ ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านั้นเป็นเครื่องมือที่ยังชัยชนะให้กับจักรวรรดิมาก่อน ดังวีรกรรมของกองทัพเมื่อครั้งเข้าพิชิตกรุงคอนสแตนติโนเปิ้ล เมื่อกาลเวลาได้ผ่านไปพลังผลักดันในการญิฮาดของเหล่าทหารในกองทัพได้จางลงในจิตใจของพวกเขา ความอ่อนแอก็เข้าเกาะกุมจิตใจ เมื่อพวกเขาได้ใช้ชีวิตปะปนกับพลเมือง และได้รับการอุดหนุนอย่างอุดมจากราชสำนัก จนกระทั่งใช้อำนาจบารมีที่ได้รับไปในการคุกคามต่อความปกติสุขของซุลตอนและเข้าแทรกแซงการบริหารราชการแผ่นดิน จนถึงขั้นอาจหาญปลดซุลตอนหลายต่อหลายพระองค์ออกจากอำนาจ หรือไม่ก็ถึงขั้นลอบปลงพระชนม์ ความวุ่นวายจากน้ำมือของเหล่าทหารเจนนิสซารีย์ได้ทำให้จักรวรรดิต้องเผชิญกับความอ่อนแอในที่สุด

7. สมาคมลับต่างๆ
การอนุญาตของบรรดาซุลตอนอุษมานียะห์ให้บรรดาชาวยิวสามารถอพยพสู่ดินแดนของจักรวรรดิ และพำนักอาศัยอยู่ได้นั้น นับเป็นการปล่อยปะละเลยต่อสิทธิของดินแดนเป็นอย่างมาก ทั้งนี้เป็นเพราะว่าเมื่อพวกยิวได้ย่างกรายเข้าสู่จักรวรรดิอุษมานียะห์ โดยหลบหนี้ลี้ภัยจากการกดขี่ที่เกิดขึ้นในเอ็นดาลูเซีย (สเปน) พวกยิวก็ได้รวมตัวกันจัดตั้งองค์กร และกลายเป็นแนวร่วมที่ห้าที่ให้การสนับสนุนพวกครูเสดในการรุกรานชาวมุสลิม อีกทั้งยังเป็นเครื่องมือในการทำลายศีลธรรมและศาสนา พวกยิวยังได้อยู่เบื้องหลังชบวนการปฏิวัติลุกฮือซึ่งติดอาวุธขึ้นสู้ และท้าทายต่ออำนาจของจักรวรรดิ นอกเหนือจากที่พวกยิวได้ดำเนินการเพื่อโค่นล้มระบอบคิลาฟะห์อีกด้วย

สมาคมมาโซนีย์ถือเป็นสมาคมที่พวกยิวได้ร่วมกันก่อตั้งขึ้น และพรรคเอกภาพและการวิวัฒน์นั้นก็มีพวกยิวเป็นสมาชิก โดยส่วนใหญ่และบทบาทในการทำลายล้างของพวกยิวก็บรรลุถึงจุดสิ้นสุดด้วย การเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองในรัชสมัยซุลตอน อับดุลฮะมีดที่ 2 และทำให้ตุรกีค่อยๆ เหินห่างออกจากแนวทางอันถูกต้องของอิสลาม

ส่วนพรรคเอกภาพและการวิวัฒน์ซึ่งมีชาวยิว บางส่วนเข้าร่วมเป็นสมาชิกพรรคก็ได้นำจักรวรรดิเข้าสู่สงคราม และการพิพาทตลอดจนกดดันต่อบรรดาแกนนำซึ่งกุมอำนาจในการบริหารประเทศให้เข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 1 หลังจากที่พรรคได้กำจัดอำนาจของซุลตอนอับดุลฮะมีดซึ่งต้องการปฏิวัติแก้ไขความเสื่อมของจักรวรรดิได้แล้ว พวกนี้ได้วางทฤษฎีและความคิดซึ่งสร้างความร้าวฉานในหมู่ประชาชาติมุสลิม ซึ่งแน่นอนสมาคมมาโซนีย์เป็นผู้ที่อยู่เบื้องหลัง สมาคมลับต่างๆ ที่ปฏิบัติการแทรกซึมและวางแผนการร้ายเพื่อทำลายจักรวรรดิให้ล่มสลายในที่สุด

จักวรรดิอุษมานียะห์ (ออตโตมาน เติร์ก) เริ่มต้นขึ้นด้วยพลังศรัทธาอันมั่นคงของเหล่าซุลตอนผู้ทรงทศพิธราชธรรมในยุคต้น ซึ่งต่างอุทิศและทุ่มเทพลังศรัทธาบวกด้วยความแกล้วกล้าอย่างเอกอุในการประกาศเกียรติภูมิแห่งอิสลาม จนแผ่ไพศาลครอบคลุมอาณาบริเวณอันกว้างใหญ่ไพศาลทั้งในเอเชียตะวันตก แอฟริกาเหนือ และยุโรปตะวันออกในคาบสมุทรบอลข่าน โดยมีหลักสำคัญในด้านรัฐศาสตร์ การเมือง การปกครองบนพื้นฐานของระบอบการปกครองแบบคิลาฟะห์แห่งอิสลาม ช่วงอายุขัยของการธำรงระบอบคิลาฟะห์ของจักรวรรดิอุษมานียะห์ เริ่มนับแต่ปี ฮ.ศ.680 – ฮ.ศ.1342 / ค.ศ.1281 – ค.ศ. 1923 รวมระยะเวลาทั้งหมด 642 ปี นับเป็นรัฐอิสลามที่อายุขัยยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์โลกโดยรวม




และนับแต่ปี ฮ.ศ.1342 / ค.ศ.1923 อันเป็นปีที่สิ้นสุดระบอบการปกครองแบบคิลาฟะห์แห่งอิสลาม จวบจนปัจจุบันกินระยะเวลาราว 80 ปี โลกมุสลิมทั้งผองต่างก็ตกอยู่ในสภาพที่ขาดผู้นำโลกมุสลิมและศูนย์รวมใจกลุ่มประชาคมมุสลิมอย่างเป็นเอกภาพ มุสลิมทุกวันนี้ตลอดช่วงทศวรรษล้วนตกอยู่ในสภาพของผู้ปราชัยในทุกสมรภูมิ ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ การเมืองการปกครองในเวทีโลกซึ่งเข้าสู่ระบบโลกาภิวัตน์ และทุนนิยมเสรีสุดโต่ง ระบบการศึกษาล้มเหลวและล้าหลัง ประเทศมุสลิมแตกความสามัคคี ไร้เสถียรภาพจนมิอาจต้านกระแสความแปรเปลี่ยนในสังคมซึ่งถูกควบคุมด้วยการบงการของมหาอำนาจหนึ่งเดียวของโลก คงถึงเวลาแล้วที่ประชาคมมุสลิมของโลกใบนี้ที่จะตื่นขึ้นมาจากความหลับใหล และเริ่มฟื้นฟูระบอบคิลาฟะห์ที่ร้างรามาร่วมหนึ่งศตวรรษ เพราะนั่นคือวิถีทางเดียวเท่านั้นที่จะนำเอาความรุ่งโรจน์และเกียรติภูมิแห่งโลกอิสลามให้หวนกลับมาอีกครั้ง ขอพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ได้ทรงตอบรับและประทานความสัมฤทธิ์ผลในความมุ่งหวังเช่นนี้ด้วยเทอญ.

read more "จักรวรรดิอุษมานียะห์ เมื่ออาทิตย์อัสดง : ความรับผิดชอบของชาวตุรกีและอาหรับต่อการสูญสิ้นระบอบการปกครองแบบคิลาฟะห์"

บทความแนะนำ

World Clock

Featured Posts

เรื่องราวของสองอารยธรรม : อารยธรรมของชาวไวกิ้งและมุสลิม

เรื่องราวของสองอารยธรรม : อารยธรรมของชาวไวกิ้งและมุสลิม โดย : Cem Nizamoglu และ Sairah Yassir-Deane ย้อนหลังไปถึงมีนาคม 2015 ข่าวเกี่ยวก...