ความประเสริฐของ สิบคืนสุดท้าย เดือนรอมฎอน
มวลการสรรเสริญเป็นของอัลลอฮฺ การสรรเสริญและความศานติจงมีแด่ท่านร่อซูล (ซ.ล.) ฉันขอปฏิญาณว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺองค์เดียว โดยไม่มีภาคีใดๆ สำหรับพระองค์ และฉันขอปฏิญาณว่าท่านนบีมุหัมมัดคือบ่าวและศาสนทูตของพระองค์
แท้จริง แบบอย่างของท่านนบี (ซ.ล.) ในช่วงสิบวันสุดท้ายของเดือนนี้นั้นท่านได้ทุ่มเทอย่างเต็มที่ในการทำอิบาดะฮฺอย่างที่ไม่เคยปรากฏในเดือนอื่นๆ ดังที่ท่านหญิงอาอิชะฮ เราะฎิยัลลอฮุอันฮา ได้เล่าว่า
«كَانَ رَسُولُ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ يَجْتَهِدُ فِي الْعَشْرِ الْأَوَاخِرِ، مَا لَا يَجْتَهِدُ فِي غَيْرِهِ» (مسلم برقم 1175)
ความว่า “ท่านนบี (ซ.ล.) ได้ทุ่มเทอย่างเต็มที่ (ในการทำอิบาดะฮฺ) ตลอดสิบวันสุดท้ายของเดือนเราะมะฎอน อย่างที่ไม่เคยปรากฏในเดือนอื่นๆ” (บันทึกโดยมุสลิม : 1175)
และมีรายงานจากท่านหญิงอาอิชะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮา เช่นเดียวกันว่า
عَنْ عَائِشَةَ رَضِيَ اللهُ عَنْهَا قَالَتْ : كَانَ النَّبِيُّ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ إِذَا دَخَلَ الْعَشْرُ شَدَّ مِئْزَرَهُ، وَأَحْيَا لَيْلَهُ، وَأَيْقَظَ أَهْلَهُ. (البخاري رقم 2024، مسلم رقم 832)
ความว่า “ท่านร่อซูล (ซ.ล.) นั้น เมื่อถึงช่วงสิบวันสุดท้ายของเราะมะฎอน ท่านจะรัดผ้านุ่งไว้ให้แน่น (หมายถึงไม่ร่วมหลับนอนกับภรรยา) ท่านจะให้ชีวิตแก่ค่ำคืน (หมายถึงประกอบอิบาดะฮฺในยามค่ำคืน) และท่านจะปลุกบรรดาภรรยาของท่าน (ให้ลุกขึ้นมาประกอบอิบาดะฮฺ)” (รายงานโดย อัล-บุคอรีย์ :2024 และมุสลิม :832)
ท่านได้ทำให้ค่ำคืนมีชีวิตชีวาด้วยกับการละหมาด การซิกิรฺ (รำลึกถึงอัลลอฮฺ) การขอดุอาอ์ และได้ปลุกบรรดาภรรยาของท่านจากการนอน ทั้งนี้ก็เพื่อให้พวกเขาได้ทุ่มเทอย่างเต็มที่ในการละหมาด ซิกิรฺ และการวิงวอนต่ออัลลอฮฺ ตะอาลา เหล่านี้คือแบบอย่างหรือสุนนะฮฺของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ที่มุสลิมบางคนไม่ค่อยให้ความใส่ใจมากนัก ซึ่งอัลลอฮฺ ตะอาลา ได้ดำรัสว่า
﴿يَٰٓأَيُّهَا ٱلَّذِينَ ءَامَنُواْ قُوٓاْ أَنفُسَكُمۡ وَأَهۡلِيكُمۡ نَارٗا وَقُودُهَا ٱلنَّاسُ وَٱلۡحِجَارَةُ عَلَيۡهَا مَلَٰٓئِكَةٌ غِلَاظٞ شِدَادٞ لَّا يَعۡصُونَ ٱللَّهَ مَآ أَمَرَهُمۡ وَيَفۡعَلُونَ مَا يُؤۡمَرُونَ ٦﴾ ]التحريم : 6[
ความว่า “โอ้บรรดาผู้ศรัทธาเอ๋ย จงคุ้มครองตัวของพวกเจ้าและครอบครัวของพวกเจ้าให้พ้นจากไฟนรก เพราะเชื้อเพลิงของมันคือมนุษย์ และก้อนหิน มีมะลาอิกะฮฺผู้กร้าวหาญคอยเฝ้ารักษามันอยู่ พวกเขาจะไม่ฝ่าฝืนอัลลอฮฺในสิ่งที่พระองค์ทรงบัญชาแก่พวกเขา และพวกเขาจะปฏิบัติตามที่ถูกบัญชา” (สูเราะฮฺ อัต-ตะหฺรีม : 6)
สำหรับ “การรัดผ้านุ่งไว้ให้แน่น” มีนักวิชาการหลายท่านได้กล่าวว่า นั้นคือเป็นการเปรียบเปรยจากการไม่ร่วมหลับนอนกับภรรยา และอุทิศกับการทำอิบาดะฮฺ และด้วยเหตุนี้เอง ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม จึงได้อิอฺติกาฟในช่วงสิบคืนสุดท้ายนี้ที่มัสญิด โดยได้ตัดขาดจากโลกดุนยา และใช้ชีวิตอย่างสันโดษกับพระผู้เป็นเจ้าของท่าน ขอดุอาอ์ต่อพระองค์ ร้องทุกข์ (มุนาญาฮฺ) ต่อพระองค์ ขอความช่วยเหลือต่อพระองค์ และวอนขอต่อพระองค์
การอิอฺติกาฟนั้น ถือเป็นหนึ่งในอิบาดะฮฺที่ให้ประโยชน์อย่างยิ่งยวดในแง่ของการช่วยขัดเกลาหัวใจให้ดีงาม รวบรวมและเพิ่มพูนความมุ่งมั่นทะเยอทะยาน ขจัดมลทินและความบกพร่องทั้งหลาย ใครก็ตามที่ได้ทดลองแล้วเขาย่อมจะรู้ดีที่สุด
ดังมีรายงานจากท่านหญิงอาอิชะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮา ได้เล่าว่า
«أَنَّ النَّبِيَّ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ، كَانَ يَعْتَكِفُ العَشْرَ الأَوَاخِرَ مِنْ رَمَضَانَ حَتَّى تَوَفَّاهُ اللَّهُ، ثُمَّ اعْتَكَفَ أَزْوَاجُهُ مِنْ بَعْدِهِ» (البخاري برقم 2026 ومسلم 1172)
ความว่า “ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้อิอฺติกาฟช่วงสิบวันสุดท้ายของเดือนเราะมะฎอนจนกระทั่งอัลลอฮฺได้เอาชีวิตท่านไป หลังจากนั้นบรรดาภรรยาของท่านก็ได้อิอฺติกาฟหลังจากท่านต่อ” (บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ : 2026 และมุสลิม : 1172)
ถ้าหากมีคนกล่าวว่า “อะไรคือหิกมะฮฺ (เหตุผลหรือวิทยปัญญา) ที่ท่านนบี (ซ.ล.) ได้เจาะจงในสิบวันสุดท้ายของเดือนเราะมะฎอนด้วยกับการอิอฺติกาฟหลายวันและได้ทุ่มเทอย่างเต็มที่ในการเคารพภักดีต่ออัลลอฮฺ”
คำตอบก็คือ “ที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้ปฏิบัติเช่นนั้นก็เพื่อแสวงหาค่ำคืนลัยละตุลก็อดรฺ”
มีรายงานจากท่านอบู สะอีด อัล-คุดรีย์ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ได้เล่าว่า
إِنَّ رَسُولَ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ اعْتَكَفَ الْعَشْرَ الْأَوَّلَ مِنْ رَمَضَانَ، ثُمَّ اعْتَكَفَ الْعَشْرَ الْأَوْسَطَ، فِي قُبَّةٍ تُرْكِيَّةٍ عَلَى سُدَّتِهَا حَصِيرٌ، قَالَ: فَأَخَذَ الْحَصِيرَ بِيَدِهِ فَنَحَّاهَا فِي نَاحِيَةِ الْقُبَّةِ، ثُمَّ أَطْلَعَ رَأْسَهُ فَكَلَّمَ النَّاسَ، فَدَنَوْا مِنْهُ، فَقَالَ: «إِنِّي اعْتَكَفْتُ الْعَشْرَ الْأَوَّلَ، أَلْتَمِسُ هَذِهِ اللَّيْلَةَ، ثُمَّ اعْتَكَفْتُ الْعَشْرَ الْأَوْسَطَ، ثُمَّ أُتِيتُ، فَقِيلَ لِي: إِنَّهَا فِي الْعَشْرِ الْأَوَاخِرِ، فَمَنْ أَحَبَّ مِنْكُمْ أَنْ يَعْتَكِفَ فَلْيَعْتَكِفْ»، فَاعْتَكَفَ النَّاسُ مَعَهُ (البخاري برقم2018 مسلم 215)
ความว่า “แท้จริงท่านเราะสูลุลลอฮฺ (ซ.ล.) เคยอิอฺติกาฟในช่วงสิบวันแรกของเดือนเราะมะฎอน หลังจากนั้นท่านอิอฺติกาฟต่ออีกในช่วงสิบวันกลางของเดือนเราะมะฎอนโดยพำนักอยู่ในกุบบะฮฺ ตุรกิยะฮฺ (หมายถึงกระโจมหรือโดมเล็กๆ) ซึ่งที่ประตูกุบบะฮฺนั้นมีเสื่ออยู่ผืนหนึ่ง ท่านได้ใช้มือหยิบเสื่อผืนนั้นเพื่อปูไว้ในกุบบะฮฺ แล้วโผล่หัวมาพูดกับผู้คนโดยเรียกให้คนเข้าใกล้ท่านแล้วกล่าวว่า “แท้จริงฉันเคยอิอฺติกาฟในช่วงสิบวันแรกของเดือนเราะมะฎอนเพื่อแสวงหาค่ำคืนนี้ (ลัยละตุลก็อดรฺ) หลังจากนั้นฉันอิอฺติกาฟต่อไปในช่วงสิบวันกลางของเดือนเราะมะฎอน และแล้วมีผู้หนึ่งมาหาฉัน และบอกฉันว่า แท้จริงค่ำคืนนี้ (ลัยละตุลก็อดรฺ) อยู่ในช่วงสิบวันสุดท้าย ดังนั้น ใครก็ตามในหมู่พวกท่านที่ชอบจะอิอฺติกาฟ เขาจงอิอฺติกาฟในช่วงสิบวันสุดท้าย" แล้วผู้คนต่างก็ร่วมอิอฺติกาฟกับท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม” (บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ 2018และมุสลิม 215)
ซึ่งนี่คือค่ำคืนที่ยิ่งใหญ่และมีความจำเริญยิ่ง ผู้ที่ไม่ได้รับความดีงามใดๆ จากมันก็แสดงว่าเขาเป็นบุคคลที่ขาดทุนแน่แล้ว นั่นคือสิบวันสุดท้าย (ของเดือนเราะมะฎอน)ที่มันจะเคลื่อนย้ายไปตลอด(ทุกๆ ปี โดยที่ปีหนึ่งจะอยู่ในค่ำคืนหนึ่งและปีต่อไปก็จะอยู่ในอีกคืนหนึ่ง-ผู้แปล) ตามที่อัลลอฮฺทรงประสงค์
ดังที่มีรายงานจากท่านหญิงอาอิชะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮา ได้เล่าว่า ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้กล่าวว่า
«تَحَرَّوْا لَيْلَةَ القَدْرِ فِي الوِتْرِ، مِنَ العَشْرِ الأَوَاخِرِ مِنْ رَمَضَانَ» (البخاري برقم 2017)
ความว่า “พวกเจ้าจงแสวงหาค่ำคืนลัยละตุลก็อดรฺในค่ำคืนที่เป็นคี่จากค่ำคืนสุดท้ายของเดือนเราะมะฎอนเถิด” (บันทึกโดย อัล-บุคอรีย์ : 2017)
และได้เน้นย้ำในเจ็ดคืนสุดท้าย (ของเดือนเราะมะฎอน) ดังที่ท่านอิบนุ อุมัรฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา ได้เล่าว่า
أَنَّ رِجَالًا مِنْ أَصْحَابِ النَّبِيِّ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ، أُرُوا لَيْلَةَ القَدْرِ فِي المَنَامِ فِي السَّبْعِ الأَوَاخِرِ، فَقَالَ رَسُولُ اللَّهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ: «أَرَى رُؤْيَاكُمْ قَدْ تَوَاطَأَتْ فِي السَّبْعِ الأَوَاخِرِ، فَمَنْ كَانَ مُتَحَرِّيهَا فَلْيَتَحَرَّهَا فِي السَّبْعِ الأَوَاخِرِ» (البخاري برقم2015 ومسلم 1165)
ความว่า “มีชายกลุ่มหนึ่งจากบรรดาเศาะฮาบะฮฺของท่านนบีศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้เห็นค่ำคืนลัยละตุลก็อดรฺในความฝันในเจ็ดคืนสุดท้าย (ของเดือนเราะมะฎอน) ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม จึงกล่าวว่า “ฉันเห็นว่าพวกท่านนั้นได้ฝันตรงกันว่ามันจะเกิดขึ้นในเจ็ดคืนสุดท้าย ดังนั้นหากผู้ใดต้องการแสวงหามัน ก็จงแสวงหาในเจ็ดคืนสุดท้ายเถิด” (บันทึกโดย อัล-บุคอรีย์ 2015 และมุสลิม 1165)
และปรากฏว่าท่านอุบัยย์ บิน กะอับ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ได้สาบานว่า ค่ำคืนลัยละตุลก็อดร์นั้นคือค่ำคืนที่ 27 (ของเดือนเราะมะฎอน) ซึ่งท่านซิรฺ บิน หุบัยชฺ ได้เล่าว่า
سَمِعْتُ أُبَيَّ بْنَ كَعْبٍ، يَقُولُ: وَقِيلَ لَهُ إِنَّ عَبْدَ اللهِ بْنَ مَسْعُودٍ، يَقُولُ: مَنْ قَامَ السَّنَةَ أَصَابَ لَيْلَةَ الْقَدْرِ ، فَقَالَ أُبَيٌّ: وَاللهِ الَّذِي لَا إِلَهَ إِلَّا هُوَ، إِنَّهَا لَفِي رَمَضَانَ، يَحْلِفُ مَا يَسْتَثْنِي، وَوَاللهِ إِنِّي لَأَعْلَمُ أَيُّ لَيْلَةٍ هِيَ، هِيَ اللَّيْلَةُ الَّتِي أَمَرَنَا بِهَا رَسُولُ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ بِقِيَامِهَا، هِيَ لَيْلَةُ صَبِيحَةِ سَبْعٍ وَعِشْرِينَ، وَأَمَارَتُهَا أَنْ تَطْلُعَ الشَّمْسُ فِي صَبِيحَةِ يَوْمِهَا بَيْضَاءَ لَا شُعَاعَ لَهَا. (مسلم برقم 762)
ความว่า “ฉันได้ยินท่านอุบัยย์ บิน กะอับ กล่าวว่า มีคนกล่าวแก่ท่านว่า ท่านอับดุลลอฮฺ บิน มัสอูด ได้กล่าวว่า ผู้ใดที่ได้ปฏิบัติกิยามุลลัยลฺตลอดทั้งปีเขาย่อมได้พบกับค่ำคืนลัยละตุลก็อดรฺอย่างแน่นอน ท่านอุบัยย์จึงกล่าวเสริมว่า ขอสาบานต่ออัลลอฮฺผู้ทรงไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากพระองค์ว่า มันย่อมอยู่ในเดือนเราะมะฎอนอย่างแน่นอน และขอสาบานต่ออัลลอฮฺว่าแท้จริงฉันได้ทราบแล้วว่ามันคือคืนไหน มันคือค่ำคืนที่ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม เคยสั่งใช้ให้เราตื่นขึ้นทำกิยามุลลัยลฺ มันคือค่ำคืนที่ 27 โดยเครื่องหมายของมันก็คือดวงอาทิตย์จะโผล่ขึ้นมาในเช้าวันใหม่ในสภาพสีขาวนวลไม่มีแสงที่ส่องจ้า”(บันทึกโดยมุสลิม : 762)
และมีรายงานจากท่านอบู สะอีด อัล-คุดรีย์ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ได้เล่าว่า ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้กล่าวว่า
« وَقَدْ رَأَيْتُ هَذِهِ اللَّيْلَةَ فَأُنْسِيتُهَا، فَالْتَمِسُوهَا فِي الْعَشْرِ الْأَوَاخِرِ، فِي كُلِّ وِتْرٍ، وَقَدْ رَأَيْتُنِي أَسْجُدُ فِي مَاءٍ وَطِينٍ» قَالَ أَبُو سَعِيدٍ الْخُدْرِيُّ: مُطِرْنَا لَيْلَةَ إِحْدَى وَعِشْرِينَ، فَوَكَفَ الْمَسْجِدُ فِي مُصَلَّى رَسُولِ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ، فَنَظَرْتُ إِلَيْهِ وَقَدِ انْصَرَفَ مِنْ صَلَاةِ الصُّبْحِ، وَوَجْهُهُ مُبْتَلٌّ طِينًا وَمَاءً.(البخاري برقم 2027 ومسلم برقم 1167)
ความว่า “แท้จริงฉันได้เห็นค่ำคืนลัยละตุลก็อดรฺแต่แล้วฉันก็ถูกทำให้ลืมมันดังนั้นพวกเจ้าจงแสวงหามันในสิบวันสุดท้าย (ของเดือนเราะมะฎอน) ในคืนที่เป็นคี่ และฉันเห็นว่าตัวเองได้สุญูดบนน้ำและโคลนแล้ว”ท่านอบู สะอีด อัล-คุดรีย์ ได้เล่าอีกว่า ฝนได้ตกลงมายังพวกเราในค่ำคืนที่ 21 ของเดือนเราะมะฎอนทำให้มัสยิดจึงมีน้ำหยด (รั่ว) ลงมายังสถานที่ละหมาดของท่านนบี ศ็อลลัลลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมดังนั้นเราจึงมองไปยังท่านนบีซึ่งเป็นเวลาที่ท่านเสร็จจากการละหมาดศุบหฺแล้วและ (เราพบว่า) หน้าของท่านเปียกชุ่มด้วยดินโคลนและน้ำ” (บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ 2027 และมุสลิม 1167 )
ท่านอัล-หาฟิซ อิบนุหะญัร ได้กล่าวว่า “ทัศนะที่ถูกต้องนั้นคือ ค่ำคืนลัยละตุลก็อดรฺจะมีในวันคี่ของสิบสุดท้าย (ของเดือนเราะมะฎอน) และมันจะเคลื่อนย้ายไปตลอด (ทุกๆ ปี โดยที่ปีหนึ่งจะอยู่ในค่ำคืนหนึ่ง และปีต่อไปก็จะอยู่ในอีกคืนหนึ่ง -ผู้แปล) ” (ฟัตหุลบารีย์ 4/266)
และนี่คือฮิกมะฮฺ (เหตุผลหรือวิทยปัญญา)ของพระผู้เป็นเจ้า(ที่ให้ค่ำคืนลัยละตุลก็อดรฺมีการสับเปลี่ยนและหมุนเวียนกันตลอด -ผู้แปล) ซึ่งหากมีการระบุเจาะจงว่าค่ำคืนลัยละตุลก็อดรฺนั้นคือค่ำคืนใด ผู้คนก็จะมุ่งทุ่มเทในการทำอิบาดะฮฺต่างๆ เฉพาะค่ำคืนนั้นอย่างเดียว แล้วจะละทิ้งในค่ำคืนที่เหลือ ถ้าเป็นเช่นนั้น ก็จะกลายเป็นว่าผู้ที่มีความทุ่มเทอย่างเต็มที่กับผู้ที่มีความเกียจคร้านนั้นไม่ได้แตกต่างอะไรเลย
และท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม เองก็มีความพยายามที่จะรักษาในการทำอิบาดะฮฺในค่ำคืนดังกล่าว เนื่องจากอัลลอฮฺได้ให้ในค่ำคืนนั้นมีความประเสริฐและผลบุญต่างๆ อย่างมากมาย
ซึ่งในจำนวน (ความประเสริฐของค่ำคืนลัยละตุลก็อดรฺ) ที่อัลลอฮฺได้ระบุถึงนั้นคือ เป็นค่ำคืนที่ดียิ่งกว่าหนึ่งพันเดือน อัลลอฮฺ ตะอาลา ได้มีดำรัสว่า
﴿ لَيۡلَةُ ٱلۡقَدۡرِ خَيۡرٞ مِّنۡ أَلۡفِ شَهۡرٖ ٣ ﴾ [القدر: ٣ [
ความว่า “ค่ำคืนลัยละตุลก็อดรฺนั้นดียิ่งกว่าหนึ่งพันเดือน” (สูเราะฮฺ อัล-ก็อดรฺ : 3)
นั่นคือการทำอิบาดะฮฺในค่ำคืนนั้นดียิ่งกว่าการทำอิบาดะฮฺตลอดระยะเวลา 83 ปี 4 เดือน
ในจำนวน (ความประเสริฐของค่ำคืนลัยละตุลก็อดรฺ) อีก ก็คือ (เป็นค่ำคืน) ที่อัลกุรอานอันยิ่งใหญ่ถูกประทานลงมา อัลลอฮฺ ตะอาลา ได้มีดำรัสว่า
﴿إِنَّآ أَنزَلۡنَٰهُ فِي لَيۡلَةٖ مُّبَٰرَكَةٍۚ إِنَّا كُنَّا مُنذِرِينَ ٣ ﴾ [الدخان: ٣ [
ความว่า “แท้จริง เราได้ประทานอัลกุรอานลงมาในคืนอันจำเริญ แท้จริงเราเป็นผู้ตักเตือน” (สูเราะฮฺ อัล-ก็อดรฺ : 3)
อัลลอฮฺ ได้ดำรัสอีกว่า
﴿ إِنَّآ أَنزَلۡنَٰهُ فِي لَيۡلَةِ ٱلۡقَدۡرِ ١ ﴾ [القدر: ١]
ความว่า “แท้จริงเราได้ประทานอัลกุรอานลงมาในคืนอัล-ก็อดรฺ” (สูเราะฮฺ อัล-ก็อดรฺ : 1)
ในจำนวน (ความประเสริฐของค่ำคืนนั้น) อีกคือ บรรดามะลาอิกะฮฺจะลงมาในค่ำคืนนั้น และมันจะเต็มไปด้วยความดีงามและความจำเริญต่างๆ อัลลอฮฺ ตะอาลา ได้มีดำรัสว่า
﴿تَنَزَّلُ ٱلۡمَلَٰٓئِكَةُ وَٱلرُّوحُ فِيهَا بِإِذۡنِ رَبِّهِم مِّن كُلِّ أَمۡرٖ ٤ سَلَٰمٌ هِيَ حَتَّىٰ مَطۡلَعِ ٱلۡفَجۡرِ ٥﴾ [القدر: ٤، ٥]
ความว่า “บรรดามะลาอิกะฮฺและอัร-รูหฺ (ญิบรีล) จะลงมาในคืนนั้น โดยอนุมัติแห่งพระเจ้าของพวกเขาเนื่องจากกิจการทุกๆ สิ่งคืนนั้นมีความศานติจนกระทั่งรุ่งอรุณ” (สูเราะฮฺ อัล-ก็อดรฺ : 4-5)
และในจำนวน (ความประเสริฐของค่ำคืนนั้น) คือ อัลลอฮฺจะทรงให้อภัยโทษสำหรับผู้ที่ดำรงอิบาดะฮฺในค่ำคืนนั้นด้วยเปี่ยมศรัทธาต่ออัลลอฮฺและหวังในความโปรดปรานและผลตอบแทนจากพระองค์ ดังที่ท่านอบู ฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ได้เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้กล่าวว่า
«وَمَنْ قَامَ رَمَضَانَ إِيمَانًا وَاحْتِسَابًا، غُفِرَ لَهُ مَا تَقَدَّمَ مِنْ ذَنْبِهِ» (البخاري برقم 2009 ومسلم برقم 759)
ความว่า "และผู้ใดที่ลุกขึ้น (อิบาดะฮฺ) ในค่ำคืนอัล-ก็อดรฺด้วยเปี่ยมศรัทธาต่ออัลลอฮฺ และหวังในความโปรดปรานและผลตอบแทนจากพระองค์เขาจะได้รับการอภัยโทษจากบาปที่ผ่านมา" (บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ : 2009 และมุสลิม : 759 )
และแท้จริง ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้ให้ข้อแนะนำแก่ท่านหญิงอาอิชะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮา ในครั้งที่ท่านหญิงได้ถามท่านว่า โอ้ท่านเราะสูลุลลอฮฺ หากฉันทราบว่าค่ำคืนใดเป็นค่ำคืนลัยละตุลก็อดรฺ ฉันควรอ่านดุอาอ์อะไรบ้าง ? ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม จึงตอบว่า เธอก็จงอ่าน(ดุอาอ์)
«اللهم إِنَّكَ عَفُوٌّ تُحِبُّ الْعَفْوَ فَاعْفُ عَنِّي» (الترمذي برقم 3513 ، وصححه الألباني في صحيح الترغيب والترهيب 3391)
ความว่า “โอ้องค์อภิบาลของฉันแท้จริงพระองค์เป็นผู้ที่ทรงให้อภัยพระองค์ชอบที่จะให้อภัย (บาปต่างๆ ของบ่าวของพระองค์) ดังนั้น ขอพระองค์โปรดประทานอภัยใน (บาปต่างๆ) ของข้าด้วยเถิด”(บันทึกโดยอัต-ติรมิซีย์ 3513ชัยคฺอัล-อัลบานีย์ มีทัศนะว่า เศาะฮีหฺ ในหนังสือเศาะฮีหฺ อัต-ตัรฆีบ วัต-ตัรฮีบ 3391 )
มวลการสรรเสริญเป็นกรรมสิทธิ์ของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเป็นพระผู้อภิบาลแห่งสากลโลก การสรรเสริญและความศานติของอัลลอฮฺจงมีแด่ท่านนบีมุหัมมัดของเรา บรรดาเครือญาติ ตลอดจนบรรดาเศาะหาบะฮฺทั้งหลายของท่านด้วยเทอญ
ที่มา: islamhouse.com
แปลโดย : แวมูฮัมหมัดซาบรี แวยะโก๊ะ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น