อิหม่าม มาลิก
1. ชื่อและวงศ์ตระกูล
ท่านมีชื่อว่า อบู อับดุลลอฮฺ อนัส บิน มาลิก บิน อบีอฺามิรฺ อัลอัศบะหีย์ มาจากเผ่าหิมยัรฺ บิน สะบะ และเผ่ายัชญุบ บิน เกาะหฺฏอน เกิดเมื่อปีฮิจญ์เราะฮฺที่ 95 และเสียชีวิตที่นครมะดีนะฮฺ ในปีฮิจญ์เราะฮฺที่ 179 เมื่ออายุได้ 84 ปี ครอบครัวของท่านเป็นครอบครัวแห่งวิชาการ ซึ่งทวดของท่านอบูอฺามิรฺเป็นเศาะหาบะฮฺผู้สูงส่งคนหนึ่ง ได้เข้าร่วมทำศึกกับท่านนบี (ซ.ล.) ในทุกสมรภูมิ ยกเว้นบะดัร ส่วนปู่ของท่านที่ชื่อมาลิก เป็นอุลามาอ์ใหญ่ในสมัยตาบิอีน และเป็นหนึ่งในสี่คนที่หามศพของท่านเคาะลีฟะฮฺอุสมานไปฝังตอนกลางคืน
2. อาจารย์และศาสนุศิษย์
ท่านเป็นอุลามาอฺที่มีความรู้กว้างขวางด้านสายรายงานฮะดีษ และด้านนิติศาสตร์ หรือฟิกฮ์อิสลามจนกลายเป็นอิหม่าม (ผู้นำ) ด้านฮะดีษ และฟิกฮ์ ท่านได้รับการประสาทความรู้จากบรรดาอุละมาอฺตาบิอีนที่ทรงคุณวุฒิมากมาย อาทิเช่น อัซฺซุฮฺรีย์ ยะหฺยา อัลอันศอรีย์ นาฟิอฺ เมาลาอิบนุอุมัร มุหัมมัด บิน อัลมุนกะดิร ฮิชาม บิน อุรฺวะฮฺ สะอีด อัลมักบุรีย์ ฯลฯ ส่วนบรรดาสานุศิษย์ที่อยู่แนวหน้าของท่านได้แก่ อัชชาฟิอีย์ มุหัมมัด บิน อิลรอฮีม ลิน ดีนารฺ อบูฮิชาม อัลมุฆีเราะฮฺ บิน อัลดุรฺเราะฮฺมาน อัลมัคซูมีย์ อับดุลอะซีซฺ บิน อบีหฺาซิม มะอฺนิน บิน อีซา อัลก๊อซฺซาซฺ อับดุลลอฮฺ บิน มูสา อัลเกาะอฺนะบีย์ ฯลฯ สำหรับผู้ที่ติดตามชีวประวัติของท่านจะพบว่าท่านเป็นยอดอัจฉริยะคนหนึ่ง ซึ่งบรรดาอุลามาอฺทุกสารทิศต่างมาตักตวงหาความรู้จากท่าน แม้กระทั่งผู้เป็นสหาย และอาจารย์ของท่านเอง อาทิเช่น สุฟยาน อัษเษารีย์ สุฟยาน อุยัยนะฮฺ อิบนุล มุบาร็อก อัลเอาซฺาอีย์ เป็นต้น อิมามมาลิก กล่าวว่า “บรรดาอาจารย์ที่ฉันได้ร่ำเรียนมา ส่วนใหญ่แล้วจะมาถามหาความรู้จากฉันและขอคำชี้ขาดในเรื่องศาสนาจากฉัน”
3. ความรู้เกี่ยวกับนิติศาสตร์และคำชม
- ชาฟิอีย์ กล่าวว่า “มาลิกเป็นฮุจญะฮฺ (หลักฐาน) ของอัลลอฮฺต่อมัคลูกของท่าน” ท่านกล่าวอีกว่า “เมื่อมีการกล่าวถึงอุลามาอฺ มาลิกคือดาว ไม่มีผู้ใดที่เอื้อประโยชน์แก่ฉันมากกว่ามาลิก”
- อิบนุมะฮฺดี กล่าวว่า “ฉันไม่เห็นมีผู้ใดที่มีสติปัญญาสมบูรณ์ และมีความยำเกรงมากกว่ามาลิก”
- ยะหฺยา บิน สะอีด อัลก๊อฏฏอน กล่าวว่า “ไม่มีชนกลุ่มใดที่มีการรายงานหะดีษที่ถูกต้องมากกว่ามาลิก”
- บุคอรีย์ กล่าวว่า “สายรายงานที่ถูกต้องที่สุดคือ สายรายงานจากมาลิก จากนาฟิอฺ จากอิบนุอุมัร”
4. ความรู้และจุดยืนที่มั่นคง
ท่านเป็นคนที่เกลียดในความรู้ที่ชอบใช้ปัญญาเป็นบรรทัดฐานที่สุด และคำถามที่ไร้สาระ ท่านเป็นคนที่ละเอียดอ่อนในด้านการวิจารณ์นักรายงาน เป็นคนที่เรียบง่าย มีความจำที่ดีเลิศ เป็นคนที่เชิดชูวิชาความรู้และศาสนาอย่างมาก เป็นคนที่มั่นคงในศาสนา ความสุขทางโลกไม่สามารถมาหลอกล่อและยั่วยวนท่านได้เลย ท่านไม่เกรงกลัวสุลต่านหรือผู้ปกครอง เป็นคนที่พูดจริงและตรงไปตรงมา ในสมัยการปกครองของราชวงค์อัลอับบาสิยะฮฺท่านถูกทดสอบด้วยการถูกโบย เพราะท่านไปให้คำชี้ขาดว่าการหย่าเพราะถูกบังคับนั้นไม่เป็นผล ในขณะที่ทางฝ่ายปกครองได้บังคับประชาชนให้คำสาบานด้วยการหย่าภรรยาในขณะที่ให้สัตยาบัน ซึ่งทางฝ่ายปกครองเห็นว่าคำฟัตวาดังกล่าวเป็นการทำลายคำสัตยาบันที่ได้ทำไว้
5. หลักเกณฑ์ในการวิเคราะห์นิติศาสตร์
ท่านเป็นผู้ที่ได้รับมรดกด้านแนวคิดของสำนักคิดหรือสถาบันการศึกษาอิสลามแห่งนครมะดีนะฮฺอันเป็นสถานที่ประทานวะหฺยูแก่ท่านนบี (ซ.ล.) ดังนั้นจึงเป็นคนที่รอบรู้มากที่สุดเกี่ยวกับแนวคิดด้านนิติศาสตร์ของอุลามาอฺมะดีนะฮฺก่อนหน้าท่าน ซึ่งแนวคิดด้านนิติศาสตร์ส่วนใหญ่ท่านได้รับการประสาทวิชามาจากบรรดาชนเหล่านั้น ดังนั้นจึงไม่พบว่าท่านได้ทำการบันทึกเกี่ยวกับหลักเกณฑ์หรือแนวทางในการศึกษาและวิเคราะห์นิติศาสตร์แต่อย่างใด ถึงแม้ว่าจะมีการกล่าวถึงบ้างเป็นบางครั้ง ซึ่งพอจะจับใจความได้ดังนี้ คือ อัล- กิตาบ (อัลกุรอาน) สุนนะฮฺ อิจญ์มาอฺ การปฏิบัตของชาวมะดีนะฮฺ กิยาส คำพูดของเศาะหาบะฮฺ ผลประโยชน์ (มะศอลิหฺ) ขนบธรรมเนียมประเพณี (อุรฟ์) การป้องกันไว้ก่อน (สัดดุล ซะรออิอฺ) การเห็นชอบ (อิสติหฺสาน) และอิสติศหฺาบ
#ปราชญ์ในนิติศาสตร์อิสลาม_Islamic_Society_Online
หนังสือ موطأคืออะไร???
ตอบลบเป็นหนังสือที่ท่านอิมามเป็นผู้ประพันธ์ขึ้นเกี่ยวกับกฏหมายอิสลามซึ่งรวบรวมวิชาฟิกฮ์และฮาดิษไว้ครับ
ลบหนังสือไงครับ55
ตอบลบ