คัมภีร์อัล-กุรอานกับคริสตชน : ภาคที่ 1
(อาลี เสือสมิง)ศัพท์แสงและความหมายที่เกี่ยวข้อง
ศัพท์แสงและความหมายที่เกี่ยวข้องในคัมภีร์อัล-กุรอาน เรียกขาน “คริสตชน” ในนาม “อัน-นะศอรอ” (النَّصَارى) เอาไว้ 14 ครั้ง ซึ่งคำ “อัน-นะศอรอ” นี้เป็นรูปพหูพจน์จากคำว่า “นัศรอนียฺ” (نَصْرَانِيٌ) ซึ่งถูกกล่าวเอาไว้ในอัล-กุรอาน 1 ครั้ง รวมทั้งเอกพจน์และพหูพจน์เป็น 15 ครั้ง โดยปรากฏอยู่ในบท (สูเราะฮฺ) อัล-บะเกาะเราะฮฺ 7 ครั้ง บทอาลิ-อิมรอน 1 ครั้ง บทอัล-มาอิดะฮฺ 5 ครั้ง บทอัต-เตาบะฮฺ 1 ครั้ง และบทอัล-หัจญ์ 1 ครั้ง
คำว่า “นัศรอนียฺ” (ช.) “นัศรอนียะฮฺ” (ญ.) และ “นะศอรอ” เป็นชื่อเรียกที่เกี่ยวข้องกับเมืองอัน-นาศิเราะฮฺ (النَّاصِرَةُ) ซึ่งเป็นเมืองหนึ่งในแคว้นอัล-ญะลีล (اَلْجَلِيْلُ) คริสตชนเรียกเมืองอัน-นาศิเราะฮฺ ว่า นาซาเร็ธ (Nazareth) และเรียกแคว้นอัล-ญะลีล ว่า แคว้นกาลิลี (Galilee)
และเรียกคนที่เกี่ยวข้องกับเมืองอัน-นาศิเราะฮฺ ว่า อัน-นาศิรียฺ (النَّاصِرِيُّ) หรืออัน-นัศรอนฺหรืออัน-นัศรอนียฺ (النَّصْرَانِيُّ) โดยไม่มีการเทียบในคำภาษาอาหรับตามนิรุกติศาสตร์ และเรียกผู้ถือในแนวทางของอัล-มะสีหฺ อีซา บุตรมัรยัมด้วยชื่อเหล่านี้ และมีปรากฏในพระคริสตธรรมใหม่ว่า “เขาจะเรียกท่านว่าชาวนาซาเร็ธ” (“He will be called a Nazarene”) (มัทธิว 2 : 23) ตามพระวจนะซึ่งตรัสโดยผู้เผยพระวจนะ)
ในคัมภีร์ อัล-กุรอานเรียก อีซา บุตร มัรยัมเอาไว้ 25 ที่ด้วยกันในบทต่างๆดังนี้ อัล-บะเกาะเราะฮฺ 3 ครั้ง, อาลิ-อิมรอน 5 ครั้ง, บท อันนิสาอฺ 3 ครั้ง, บท อัล-มาอิดะฮฺ 6 ครั้ง, บท อัล-อันอาม 1 ครั้ง, บทมัรยัม 1 ครั้ง, บทอัล-อะหฺซาบ 1 ครั้ง, บทอัช-ชูรอ 1 ครั้ง, บท อัซซุครุฟ 1 ครั้ง, บท อัล-หะดีด 1 ครั้ง, และ บท อัศ-ศ็อฟฺ 2 ครั้ง คำว่า อีซา (عِيْسى) เป็นคำฮิบรู (อิบรอนียฺ) เรียกในภาษาสุรยานียฺ (السُّرْيَانِيَّة) ว่า ยะสัวอฺ (يَسُوْع)หรือ เยซู มีความหมายว่า ผู้เป็นนาย หรือ ผู้มีสิริมงคล ตรงกับความหมายในภาษาอาหรับว่า อัส-สัยยิด (السَّيّدُ) และอัล-มุบาร็อก (الْمُبَارَكُ)
และคัมภีร์ อัล-กุรอาน เรียก อีซา บุตร มัรยัม โดยใช้คำ อัล-มะสีหฺ นำหน้า 11 ครั้ง ดังปรากฏในบทต่างๆดังนี้ อาลิ-อิมรอน 1 ครั้ง, อัน-นิสาอฺ 3 ครั้ง, อัล-มาอิดะฮฺ 5 ครั้ง และบท อัต-เตาบะฮฺ 2 ครั้ง
คำว่า อัล-มะสีหฺ (اَلْمَسِيْحُ) เป็นคำภาษาอาหรับที่มีรากศัพท์จากคำว่า “มะชีหา” หรือ “มะซีคา” ในภาษาฮิบรู หมายถึงผู้ถูกเจิมหรือถูกลูบด้วยความสิริมงคลหรือด้วยกับน้ำมันที่บรรดาผู้เผยวจนะ (อัมบิยาอฺ) จะถูกเจิมด้วยน้ำมันนั้น อันเป็นน้ำมันที่มีกลิ่นหอมหรือถูกเจือด้วยของหอม คริสตชนเรียกอัล-มะสีหฺ อีซา (ยะสูอฺ) ว่า จีซัส ไครสต์ (Jesus Christ) หรือ พระเยซู คริสต์ หรือ เมสสีอาฮฺ (Messiah) และเชื่อว่าพระองค์เป็นพระบุตรของพระเจ้า (Son of God)
ดังปรากฏในพระคริสต์ธรรมคัมภีร์ว่า “พระองค์ตรัสถามเขาว่า “แล้วพวกท่านเล่า ว่าเราเป็นใคร” ซีโมนเปโตรทูลตอบว่า : พระองค์ทรงเป็นพระคริสต์พระบุตรของพระเจ้า ผู้ทรงพระชนม์อยู่” พระเยซูตรัสกับเขาว่า “ซีโมนบุตรโยนาห์เอ๋ย ท่านก็เป็นสุขเพราะว่ามนุษย์มิได้แจ้งความนี้แก่ท่าน แต่พระบิดาของเราผู้ทรงสถิตในสวรรค์ทรงแจ้งให้ทราบ” (มัทธิว 10 : 15-17) แต่ปรากฏในมาระโก 8 : 29-30 ว่า : พระองค์จึงตรัสถามเขาว่า “ฝ่ายพวกท่านเล่าว่าเราเป็นใคร” เปโตรทูลตอบว่า “พระองค์ทรงเป็นพระคริสต์” แล้วพระองค์ทรงกำชับห้ามเหล่าสาวกไม่ให้เขาบอกผู้ใดให้รู้
สอดคล้องพระคริสต์ธรรมคัมภีร์ ฉบับลูกา ว่า “พระองค์จึงตรัสถามเขาว่า “แล้วพวกท่านเล่าว่าเราเป็นใคร” เปโตรทูลตอบว่า “เป็นพระคริสต์ของพระเจ้า” (The Christ of God) (ลูกา 9 : 20) แต่ ยอห์น กล่าวว่า พระองค์คือพระวาทะซึ่งบังเกิดเป็นมนุษย์ และพระวาทะทรงเป็นพระเจ้า (ยอห์น 1 : 1-3) และปรากฏในจดหมายของยอห์น ฉบับที่ 1 ระบุว่า : “ใครเล่าชนะโลกไม่ใช่คนอื่น คือผู้ที่เชื่อว่าพระเยซูทรงเป็นพระบุตรของพระเจ้า” (1 ยอห์น 5 : 5)
แล้วคริสตชนก็เชื่อว่า พระเยซูคือพระเจ้า ดังปรากฏใน กิจการของอัครทูต 2 : 36 ว่า : “เหตุฉะนั้นให้พงศ์พันธุ์อิสราเอลทั้งปวงทราบแน่นอนว่า พระเจ้าได้ทรงยกพระเยซูนี้ ซึ่งท่านทั้งหลายได้ตรึงไว้ที่กางเขนนั้น ทรงตั้งขึ้นให้เป็นทั้งองค์พระผู้เป็นเจ้าและเป็นพระคริสต์”
และปรากฏในจดหมายของเปาโลซึ่งมีไปถึงคริสตจักรในเมืองโครินธ์ ฉบับที่หนึ่ง (2) ว่า : เรียน คริสตจักรของพระเจ้าที่เมืองโครินธ์ ผู้ได้รับการทรงชำระให้บริสุทธิ์ในพระเยซูคริสต์ซึ่งพระองค์ได้ทรงเรียกให้เป็นธรรมิกชนด้วยกันกับคนทั้งปวงในทุกตำบล ที่ออกพระนามพระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้าของเราและของเขา” และคริสตชนก็เชื่อว่า พระเยซูคริสต์คือ 1 ใน 3 ภาคของพระผู้เป็นเจ้าอันประกอบด้วย พระบิดา พระวาทะ (พระบุตร) และพระจิตอันบริสุทธิ์ แบบตรีเอกานุภาพ Trinity
ความหมายของคำว่า “พระผู้เป็นเจ้า” ที่แท้จริงคืออะไร?
คำว่า “พระผู้เป็นเจ้า” (Lord, God) เป็นคำที่มี 2 นัยหนึ่งคือ พระผู้เป็นเจ้าที่ถูกเคารพสักการะโดยเที่ยงแท้ตามความหมายจริง สองคือ เป็นสำนวนโวหาร (อัล-มะญาซฺ-meta phorically) ใช้เรียกผู้เผยวจนะหรือศาสดาประกาศก (อัมบิยาอฺ)บางท่านโดยบ่งถึงความสัมพันธ์อันใกล้ชิดกับองค์พระผู้เป็นเจ้า ดังปรากฏใน พันธสัญญาเดิม ว่า “พระเจ้าจึงตรัสกับโมเสสว่า “ดูซี เราตั้งเจ้าไว้เป็นดังพระเจ้าต่อฟาโรห์ และอาโรนพี่ชายของเจ้าจะเป็นผู้เผยวจนะแทนเจ้า” (อพยพ 7 : 1) และโมเสสก็เป็นดังพระเจ้าของอาโรนดังปรากฏในข้อความที่ว่า : “เขาจะเป็นผู้พูดแก่ประชากรแทนเจ้า เขาจะเป็นปากแทนเจ้า และเจ้าจะเป็นดังพระเจ้าแก่เขา” (อพยพ 4 : 16)
ในบทสดุดี ก็มีถ้อยความในทำนองนี้ว่า : พระเจ้าทรงเข้าประทับในสภาของพระเจ้า (สดุดี 82 : 1) หมายถึงสภาการตัดสินของบรรดาผู้พิพากษาแห่งอิสราเอล ในพระคริสตธรรมคัมภีร์ พันธสัญญาใหม่ พระเยซูคริสต์ตรัสกับพวกยิวว่า : “เรากับพระบิดาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน” พวกยิวจึงหยิบก้อนหินขึ้นมาอีกจะขว้างพระองค์ให้ตาย พระเยซูจึงตรัสกับเขาว่า “เราได้สำแดงให้ท่านเห็นการดีหลายประการของพระบิดาของเรา ท่านทั้งหลายหยิบก้อนหินจะขว้างเราให้ตายเพราะการกระทำข้อใดเล่า
พวกยิวทูลตอบพระองค์ว่า “เราะจะขว้างท่านมิใช่การกระทำดี แต่เพราะการพูดหมิ่นประมาทพระเจ้า เพราะท่านเป็นเพียงมนุษย์แต่ตั้งตัวเป็นพระเจ้า” พระเยซูตรัสว่า “ในพระธรรมของท่านมีคำเขียนไว้มิใช่หรือว่า “เราได้กล่าวว่าท่านทั้งหลายเป็นพระ (I have said you are gods ?) “ถ้าพระธรรมนั้นเรียกผู้ที่รับพระวจนะว่าเขาเป็นพระ (และจะฝ่าฝืนพระคัมภีร์มิได้) ท่านทั้งหลายจะกล่าวหาท่านที่พระบิดาได้ทรงตั้งไว้ และทรงใช้เข้ามาในโลกว่า “ท่านกล่าวคำหมิ่นประมาทพระเจ้า” เพราะเราได้กล่าวว่า “เราเป็นบุตรของพระเจ้า”อย่างนั้นหรือ” (ยอห์น 10 : 30-36)
และดูในสดุดี 82 : 6 “เราได้กล่าวว่า “ท่านทั้งหลายเป็นพระ เป็นบุตรองค์ผู้สูงสุด ท่านทุกคนนั่นแหละ” นั่นย่อมแสดงว่าพระเยซูคริสต์ทรงตอบโต้พวกยิวโดยอธิบายให้พวกเขาทราบว่า พระองค์มิได้มุ่งหมายคำว่า พระเจ้าและพระบุตรของพระเจ้าตามความหมายที่แท้จริงแต่เป็นความหมายในเชิงโวหารหรือสำนวนทางภาษาเท่านั้นโดยพระองค์เปรียบพระราชกิจของพระองค์เยี่ยงบรรดาผู้พิพากษาของอิสราเอลที่พระธรรมเดิมเรียกขานว่าเป็นพระและเป็นบุตรองค์สูงสุดเพราะพวกเขากล่าวถึงคำพิพากษาตัดสินของพระผู้เป็นเจ้า ถึงกระนั้นพระเยซูคริสต์ก็คือบุตรของมนุษย์ที่ปฏิบัติพระราชกิจตามที่พระผู้เป็นเจ้าทรงใช้มาเยี่ยงบุตรของพระองค์ผู้หนึ่งเท่านั้น
ในพระคริสต์ธรรมคัมภีร์ พันธสัญญาใหม่ เรียกขานพระเยซูคริสต์ว่า พระเป็นเจ้า (Lord) ในบางเหตุการณ์ ดังปรากฏในพระดำรัสสอนเรื่องการอธิษฐานว่า : เมื่อพระเยซูทรงอธิษฐานอยู่ในที่แห่งหนึ่ง พอจบแล้วสาวกของพระองค์คนหนึ่ง ทูลว่า “พระองค์เจ้าข้า ขอสอนพวกข้าพระองค์ให้อธิษฐานเหมือนยอห์นได้สอนพวกศิษย์ของตน” (Lord, teach us to pray, Just as Jhon taught his disciples”) (ลูกา : 11 : 1) และเปโตรก็เรียกขานพระองค์เช่นนี้ดังปรากฏว่า” ฝ่ายเปโตรเอามือจับพระองค์ทูลท้วงว่า “พระองค์เจ้าข้า ให้เหตุการณ์นั้นอยู่ห่างไกลจากพระองค์เถิด อย่าให้เป็นอย่างนั้นแก่พระองค์เลย” (Never, Lord!” he said” This shall never happen to you!”) (มัทธิว 16 : 22)
ดังนั้น คำว่า พระเป็นเจ้า, พระองค์เจ้าข้า (Lord) จึงเป็นคำเรียกขานที่มีความหมายในเชิงสำนวนหรือโวหารและมิได้หมายถึงพระผู้เป็นเจ้าที่ถูกเคารพสักการะโดยเที่ยงแท้ และคำว่า Lord ในภาษาอาหรับใช้คำว่า (اَلسَّيدُ) อัส-สัยยิด หรือ (اَلرَّبُّ) (رَبِّ) (رَبِّىْ) (รอบบิ, ร็อบบียฺ) ซึ่งมีความหมายมากกว่าหนึ่ง หมายถึง พระผู้อภิบาล พระผู้เป็นเจ้าก็ได้ หมายถึง นาย, ผู้มีบุญคุณ หรือเจ้าของก็ได้ หรือหมายถึงคนของพระเจ้า (ร็อบบานียฺ-ร็อบบียฺ) หรือหมายถึง ผู้อบรมสั่งสอน ผู้ฝึกหรือครูหรืออาจารย์นั่นเอง
ซึ่งในความหมายหลังสุดคือ “อาจารย์” นี้มีปรากฏในพันธสัญญาใหม่ ฉบับ ยอห์น ว่า : พระเยซูทรงเหลียวกลับมาและเห็นเขาตามพระองค์ไป จึงตรัสถามเขาว่า “ท่านหาอะไร” และเขาทั้งสองทูลพระองค์ว่า “รับบี (ซึ่งแปลว่าอาจารย์) ท่านอยู่ที่ไหน” (They said, ”Rabbi ”(Which means Teacher)…) (ยอห์น 1 : 38)
และคำว่า “รับบี” (Rabbi) ก็ถูกนำมาเรียกขานพระเยซูอีกในพระคริสตธรรมฉบับ ยอห์น ว่า “นาธานาเอล ทูลถามพระองค์ว่า “พระองค์ทรงรู้จักข้าพระองค์ได้อย่างไร” พระเยซูตรัสตอบเขาว่า “ก่อนที่ฟีลิปจะเรียกท่าน เมื่อท่านอยู่ที่ใต้ต้นมะเดื่อนั้น เราเห็นท่าน” นาธานาเอลทูลตอบพระองค์ว่า “รับบีพระองค์ทรงเป็นบุตรของพระเจ้า พระองค์ทรงเป็นกษัตริย์ของชนชาติอิสราเอล” (Rabbi, You are the son of God…) (ยอห์น 1 : 48-49) และในเรื่องราวของหญิงชาวสะมะเรียที่สนทนากับพระเยซูก็มีข้อความปรากฏว่า “ในระหว่างนั้นพวกสาวกทูลเชิญพระองค์ว่า “พระอาจารย์เจ้าข้า เชิญรับประทานเถิด” (“Rabbi, ”eat something.”) (ยอห์น 4 : 31)
คำว่า “พระบิดา” และคำว่า พระบุตร ก็เป็นคำเรียกขานในเชิงสำนวนโวหารเช่นกัน มิได้มีความหมายตามรูปคำที่แท้จริง (real meaning) ทั้งนี้เพราะถ้าหากคำว่าพระบุตรของพระเจ้า (Son of God) มีความหมายตามรูปคำที่แท้จริงแล้ว พระเยซูก็ย่อมมิใช่พระบุตรของพระเจ้าเพียงผู้เดียว หากแต่ยังมีบุคคลอื่นที่ถูกเรียกขานว่า เป็นบุตรของพระเจ้าอีกด้วย ดังปรากฏในพระคริสตธรรมภาคพันธสัญญาใหม่ ว่าด้วยบัญชีลำดับพงศ์ของพระเยซูคริสต์ ระบุว่า “ไคนานเป็นบุตรเอโนสๆเป็นบุตรเสทๆเป็นบุตรอาดัมๆเป็นบุตรพระเจ้า” (…the son of Adam, the son of God) (ลูกา : 3 : 38)
ถ้าถือถ้อยความตามพระคริสตธรรมคัมภีร์ตามความหมายที่แท้จริง ก็แสดงว่า อาดัม คือบุตรของพระเจ้าเช่นกัน ในพระคริสตธรรมคัมภีร์ ภาคพันธสัญญาเดิมมีการใช้ถ้อยคำ “พระบิดา” และ “พระบุตร” อยู่ในหลายบทด้วยกัน เช่น บทเพลงของโมเสส ระบุว่า : เขาทั้งหลายประพฤติชั่วข้าต่อพระองค์ เพราะเขาทั้งหลายมีตำหนิ เขาจึงไม่ได้เป็นบุตรของพระองค์ต่อไป เขาเป็นพงศ์พันธุ์วิปลาสและคดโกง ชนชาติโฉดเขลาและเบาความเอ๋ย ท่านจะตอบสนองพระเจ้าอย่างนี้ละหรือ พระองค์มิใช่พระบิดา ผู้ทรงสร้างท่านมาดอกหรือ ผู้ทรงสรรค์ท่าน และทำนุบำรุงท่านไว้” (เฉลยธรรมบัญญัติ 32 : 5-6)
“พระเจ้าทอดพระเนตรและทรงชังเขา เพราะบุตรชายหญิงของพระองค์ทำให้เศร้าพระทัย” (เฉลยธรรมบัญญัติ 32 : 19) “เพราะพระองค์ทรงเป็นพระบิดาของข้าพระองค์ทั้งหลาย แม้อับราฮัมมิได้รู้จักข้าพระองค์ และอิสราเอลหาจำข้าพระองค์ได้ไม่ ข้าแต่พระเจ้าพระองค์ทรงเป็นพระบิดาของข้าพระองค์ทั้งหลาย…” (อิสยาห์ (63 : 16) “ข้าแต่พระเจ้า แต่พระองค์ยังทรงป็นพระบิดาของข้าพระองค์ ข้าพระองค์ทั้งหลาย เป็นดินเหนียว และพระองค์ทรงเป็นช่างปั้น…” (อิสยาห์ 64 : 8)
“เมื่อตะกี้เจ้าร้องเรียกเรามิใช่หรือว่า “พระบิดาของข้าพระองค์ พระองค์ทรงเป็นสหาย ตั้งแต่ข้าพระองค์ยังสาวๆ” (เยเรมีย์ 3 : 4) “พระเจ้าตรัสว่า “ลูกหลานที่กลับสัตย์เอ๋ย กลับมาเถิด” (เยเรมีย์ 3 : 14) “เราคิดว่า เราจะตั้งเจ้าไว้ท่ามกลางบุตรทั้งหลายของเราอย่างไรดีหนอ…” (เยเรมีย์ 3 : 19) “และเราคิดว่าเจ้าจะเรียกเราว่าพระบิดาของข้าพระองค์ และจะไม่หันกลับจากการติดตามเรา” (เยเรมีย์ 3 : 19)
ในจดหมายของยอห์น ฉบับที่ 1 (The first Letter of John) ระบุว่า : จงดูเถิด พระบิดาทรงโปรดประทานความรักแก่เราทั้งหลายเพียงไร ที่เราจะได้ชื่อว่าเป็นบุตรของพระเจ้า และเราก็ได้เป็นเช่นนั้น…ท่านที่รักทั้งหลาย บัดนี้เราทั้งหลายเป็นบุตรของพระเจ้า…” (1 ยอห์น 3 : 1-2) “พระองค์เดียวผู้เป็นพระบิดาของคนทั้งปวง ผู้ทรงอยู่เหนือคนทั้งปวงและทั่วคนทั้งปวง และในคนทั้งปวง” (เอเฟซัส 4 : 6) “เพราะว่าท่านทั้งหลายเป็นบุตรของพระเจ้าร่วมในพระเยซูคริสต์โดยความเชื่อ” (กาลาเทีย 2 : 26)
“และเพราะท่านเป็นบุตรของพระเจ้าแล้วพระองค์จึงทรงใช้พระวิญญาณแห่งพระบุตรของพระองค์เข้ามาในใจของเรา ร้องว่า “อาบา” คือ พระบิดา (“Abba, Father”) (กาลาเทีย 4 : 6) “เหตุฉะนั้นโดยพระเจ้า ท่านจึงมิใช่ทาสอีกต่อไปแต่เป็นบุตร และถ้าเป็นบุตรแล้ว ท่านก็เป็นทายาท” (กาลาเทีย 4 : 7) “แต่ว่าสำหรับพวกเรานั้นมีพระเจ้าองค์เดียว คือ พระบิดา…” (1 โครินธ์ 8 : 6) “พวกเขาเป็นคนอิสราเอล ได้รับการทรงให้เป็นบุตรของพระเจ้า…” (โรม 9 : 4)
“หมายความว่า คนที่เป็นบุตรของพระเจ้านั้นมิใช่ บุตรเนื้อหนัง แต่เป็นบุตรตามพระสัญญาจึงถือว่าเป็นผู้สืบเชื้อสายได้” (โรม 9 : 8) “เพราะว่าพระวิญญาณของพระเจ้าทรงนำผู้ใด ผู้นั้นก็เป็นบุตรของพระเจ้า เหตุว่าท่านมิได้รับน้ำใจทาสซึ่งทำให้ในความกลัวอีก แต่ท่านได้รับพระวิญญาณผู้ทรงให้เป็นบุตรของพระเจ้า ให้เราทั้งหลายร้องเรียกพระเจ้าว่า “อับบา” คือ พระบิดา พระวิญญาณนั้นเป็นพยานร่วมกับวิญญาณจิตของเราทั้งหลายว่า เราทั้งหลายเป็นบุตรของพระเจ้า (โรม 8 : 14-16)
และพระเยซูคริสต์ทรงตรัสแก่ มารีย์ มักดาลา ว่า : “มารีย์เอ๋ย” มารีย์จึงหันมาทูลพระองค์เป็นภาษาฮิบรูว่า “รับโบนี” (ซึ่งแปลว่า อาจารย์) (“Rabboni !” Which means Teacher) พระเยซูตรัสกับเธอว่า “อย่าหน่วงเหนี่ยวเราไว้ เพราะเรายังมิได้ขึ้นไปหาพระบิดาของเราแต่จงไปหาพวกพี่น้องของเรา และบอกเขาว่า เราจะขึ้นไปหาพระบิดาของเรา และพระบิดาของท่านทั้งหลายไปหาพระเจ้าของเรา และพระเจ้าของท่านทั้งหลาย มารีย์ มักดาลาจึงไปบอกพวกสาวกว่า “ข้าพเจ้าได้เห็นองค์พระผู้เป็นเจ้าแล้ว” และเธอได้บอกเขาทั้งหลายว่า พระองค์ได้ตรัสคำเหล่านั้นกับเธอ (ยอห์น 20 : 16-18)
“ความสับสนในหมู่คริสตชนเกี่ยวกับสถานภาพของพระเยซูคริสต์”
ดังนั้น คำว่า พระผู้เป็นเจ้า, พระบิดา พระบุตร ที่ถูกกล่าวใน พระคริสตธรรมคัมภีร์ทั้งภาคพันธสัญญาเดิมและภาคพันธสัญญาใหม่จึงเป็นสำนวนโวหารตามจารีตของภาษาและรูปแบบการใช้ถ้อยคำของชนแห่งคัมภีร์ทั้งในยุคก่อน และยุคหลังพระเยซูคริสต์ โดยมิได้มุ่งหมายตีความตามความหมายที่แท้จริงตามรูปคำแต่อย่างใด ทว่าด้วยความเชื่อในความเป็นพระบุตรของพระเจ้าและก้าวล่วงไปสู่ความเป็นพระเจ้าตามถ้อยคำที่ปรากฏ จึงทำให้สถานภาพของพระเยซูคริสต์และคุณลักษณะของเอกองค์พระผู้เป็นเจ้าเกิดความสับสนและอธิบายได้ซับซ้อนจนยากที่จะเข้าใจได้แม้แต่คริสตชนเองก็สับสนและขัดแย้งในสถานภาพของพระเยซูคริสต์
และสัมพันธภาพระหว่าง พระบิดา และพระบุตร และเรื่องนี้เริ่มขึ้นอย่างชัดเจน ณ คริสตจักรแห่งอเล็กซานเดรีย ฝ่ายหนึ่งคือ บิชอฟแห่งอเล็กซานเดรียคือ อาริอุส อ้างว่า พระวาทะหรือพระบุตร ย่อมไม่มีสถานภาพเท่าเทียมพระบิดา เพราะพระบิดามีมาก่อนพระบุตร และเมื่อพระบุตรถูกบังเกิดจากพระบิดา พระบุตรย่อมไม่เท่าเทียมพระบิดา กล่าวคือ พระบุตรมิใช่พระเจ้าผู้เป็นพระบิดา
ฝ่าย อัษนาสิอุส (ค.ศ. 295-373) ผู้มีสมณะศักดิ์เป็นเพียง deacon หรือ ชัม-ม๊าส แห่งคริสตจักรอเล็กซานเดรียอ้างว่า ความเชื่อเรื่องตรีเอกานุภาพ ย่อมชี้ขาดว่า พระบุตรย่อมเสมอเหมือนพระบิดาในทุกสิ่ง เพราะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เหตุนี้จักรพรรดิ คอนสแตนติน (ค.ศ.280-337) จึงได้เรียกประชุมสังฆสภาคริสตจักร ณ เมือง นีกียะฮฺ (Nikaia) ในเอเชียไมเนอร์ ปี ค.ศ. 325 ซึ่งมีมติประณามความเชื่อของอาริอุส บิชอพแห่งอเล็กซานเดรีย
ต่อมาในปี ค.ศ. 334 จักรพรรดิคอนสแตนตินทรงเรียกประชุมสังฆสภาคริสตจักรอีกครั้งใน เมืองไทร์ (ศู๊ร) มีมติยกเลิกมติสังฆสภาแห่งเมืองนีกียะฮฺและอภัยโทษแก่ อาริอุส และผู้ที่เชื่อตามแนวทางของเขา แต่แล้วในการประชุมสังฆสภาคริสตจักรครั้งที่ 4 ณ เมืองคอลกีดูน (Khalkhedon) ค.ศ.451 มติที่ประชุมก็ละเลยมติสังฆสภา ณ เมืองไทร์ โดยลงมติว่า พระเยซูคริสต์มี 2 ภาค คือ ลาฮูต (god-head) ความเป็นพระเจ้า และ นาสูต (humanity, human nature) ความเป็นมนุษย์ ทั้ง 2 ภาค รวมกันเป็นหนึ่งเดียว มตินี้ออกในสมัยพระสันตะปาปา ลิโอ ที่ 1 (Leon) ค.ศ.440-461
การประชุมสังฆสภาคริสตจักร (Concile) เกิดขึ้นตามมาอีกหลายครั้ง และมีบุคคลถูกประณามความเชื่อในเรื่องสถานภาพของพระบิดา พระบุตร และพระจิตตามมติที่ประชุมในแต่ละครั้ง เช่น อาริอุส ที่กล่าวมาแล้ว มักดูนิอุส สังฆนายกแห่งคอนสแตนติโนเปิล ซึ่งเชื่อตามอาริอุสและปฎิเสธความเป็นพระเจ้าของพระจิตหรือพระวิญญาณบริสุทธิ์ ในปี ค.ศ.381, นิสธูร (นัสเตอร์) สังฆนายกแห่งคอนสแตนติโนเปิล (ค.ศ. 328) ซึ่งปฎิเสธที่จะเรียกพระนางมาเรียว่า “พระมารดาแห่งพระเป็นเจ้า” ในการประชุมสังฆสภาคริสตจักรแห่งอฟิสุส ค.ศ.431, อูฏีคอ บาทหลวงแห่งไบแซนไทน์ (ราว ค.ศ.454) ซึ่งเชื่อในความเป็นหนึ่งเดียวหรือโมโนฟิสซิม เป็นต้น
ในพระคริสธรรมคัมภีร์ ภาคพันธสัญญาใหม่ มีคำว่า “บุตรมนุษย์” (Son of Man) ปรากฏอยู่หลายครั้ง และคำว่า “บุตรมนุษย์” นี้มีความหมายที่แท้จริง เพราะพระเยซูคริสติ์คือบุตรของพระนางมาเรีย (มัรยัม) หญิงพรหมจารีย์ และคำนี้มักใช้เรียกถึงผู้เผยพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้า ดังปรากฏในคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิม เอเสเคียล เกือบทั้งหมดโดยใช้คำว่า “เจ้า บุตรแห่งมนุษย์เอ๋ย…”
ในพระคริสตธรรมคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่ ออกนามพระเยซูคริสต์ว่าเป็นบุตรมนุษย์มากครั้งดังนี้ มัทธิว 11 : 19, มัทธิว 12 : 8, มัทธิว 17 : 9, 12, มัทธิว 17 : 22, มัทธิว 19 : 28, มัทธิว 20 : 18, 28, มัทธิว 24 : 37, 44, มัทธิว 25 : 31, มัทธิว 26 : 24, 45 มาระโก 2 : 28 มาระโก 8 : 31 มาระโก 8 : 38 มาระโก 9 : 12, 31 มาระโก 10 : 45 มาระโก 14 : 21, 41, ลูกา 6 : 22, ลูกา 9 : 22, 26, 44 ลูกา 17 : 22, 26 ลูกา 19 : 10 ลูกา 21 : 27, 36, ลูกา 22 : 22 ลูกา 24 : 7 ยอห์น 3 : 13, 14 ยอห์น 5 : 27 เป็นต้น
และในพระคริสตธรรมคัมภีร์ ภาคพันธสัญญาใหม่ก็กล่าวถึงพระเยซูคริสต์ว่าเป็น ผู้เผยพระวจนะ และถูกส่งมายังอิสราเอลดังนี้ “อย่าคิดว่าเรามาเลิกล้างธรรมบัญญัติและคำของผู้เผยพระวจนะ เรามิได้มาเลิกล้าง แต่มาทำให้สมบูรณ์ทุกประการ” (มัทธิว 5 : 17) “จงปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างที่ท่านปรารถนาให้เขาปฏิบัติต่อท่าน นั่นคือธรรมบัญญัติและคำสั่งสอนของบรรดาผู้เผยพระวจนะ (มัทธิว 7 : 12) “ผู้ที่รับท่านทั้งหลายก็รับเราและผู้ที่รับเราก็รับพระองค์ที่ทรงใช้เรามา ผู้ที่รับผู้เผยพระวจนะเพราะเป็นผู้เผยพระวจนะ ก็จะได้บำเหน็จอย่างที่ผู้เผยพระวจนะพึงได้รับ” (มัทธิว 10;40-41)
“ผู้เผยพระวจนะจะไม่ขาดความนับถือ เว้นแต่ในเมืองของตน และในวงศ์วานของตน” (มัทธิว 13 : 57, มะระโก 6 : 1-6, ลูกา 4 : 24) ที่พระเยซูคริสต์ตรัสเช่นนี้เพราะที่นาซาเร็ธไม่ยอมรับพระองค์ และพระองค์ตรัสกับหญิงชาวคานาอันว่า “เรามิได้รับใช้มาหาผู้ใด เว้นแต่แกะหลงของวงศ์วานอิสราเอล” (มัทธิว 15 : 24) ฝูงชนก็ตอบว่า : “นี่คือเยซูผู้เผยวจนะ ซึ่งมาจากนาซาเร็ธแคว้นกาลิลี” (มัทธิว 21 : 11) เขาอยากจะจับพระองค์ แต่กลัวประชาชนเพราะประชาชนนับถือพระองค์ว่า เป็นผู้เผยพระวจนะ (มัทธิว 22 : 46) “เพราะว่า ผู้เผยพระวจนะจะถูกฆ่านอกกรุงเยรูซาเล็มก็หามิได้ โอ เยรูซาเล็มๆ ที่ได้ฆ่าบรรดาผู้เผยพระวจนะ และเอาหินขว้างผู้ที่รับให้มาหาเจ้าให้ถึงตาย…” (ลูกา 13 : 33-34)
“พระองค์ตรัสถามเขาว่า “เหตุการณ์อะไร” เขาจึงตอบพระองค์ว่า “เหตุการณ์เรื่องพระเยซูชาวนาซาเร็ธผู้เป็นผู้เผยพระวจนะ ประกอบด้วยฤทธิ์เดชในการงาน และในถ้อยคำจำเพาะพระเจ้าและต่อหน้าบรรดาราษฎร (ลูกา 24 : 19) หญิงชาวสะมาเรียกล่าวกับพระองค์ว่า “ท่านเจ้าคะ ดิฉันเห็นจริงแล้วว่าท่านเป็นผู้เผยพระวจนะ” (ยอห์น 4 : 19) และนางกล่าวอีกว่า “ดิฉันทราบว่า พระมาซีฮา (ที่เรียกว่าพระคริสต์) จะเสด็จมา
เมื่อพระองค์เสด็จมาพระองค์จะทรงชี้แจงทุกสิ่งแก่เรา พระเยซูตรัสกับนางว่า “เราที่พูดกับเจ้าคือท่านผู้นั้น” (ยอห์น 4 : 25-26) “อาหารของเราคือการกระทำตามพระทัยของพระองค์ผู้ทรงใช้เรามา และทำให้งานของพระองค์สำเร็จ (ยอห์น 4 : 34) พวกยิวพากันประหลาดใจและพูดว่า “คนนี้จะรู้พระธรรมได้อย่างไร ในเมื่อไม่เคยเรียนเลย” พระเยซูจึงตรัสตอบเขาว่า “คำสอนของเรามิใช่ของเราเอง แต่เป็นของพระองค์ผู้ทรงใช้เรามา” (ยอห์น 7 : 15-16) เรารู้จักพระองค์ เพราะเรามาจากพระองค์และพระองค์ทรงใช้เรามา (ยอห์น 7 : 29)
“….แต่พระองค์ผู้ทรงใช้เรามานั้นทรงเป็นสัตย์จริง และสิ่งที่เราได้ยินจากพระองค์ เรากล่าวแก่โลก” (ยอห์น 8 : 26)” และพระองค์ผู้ทรงใช้เรามาก็ทรงสถิตอยู่กับเรา พระองค์มิได้ทรงทิ้งเราไว้ตามลำพัง เพราะว่าเราทำตามชอบพระทัยพระองค์เสมอ” (ยอห์น 8 : 29) เป็นต้น
อัล-กุรอานกับสถานภาพของพระเยซูคริสต์ที่แท้จริง
คัมภีร์อัล-กุรอานได้ยืนยันถึงสถานภาพของพระเยซูคริสต์ (อัล-มะสีหฺ อีซา บุตรมัรยัม อะลัยฮิมัสสลาม) ว่า พระองค์คือศาสนทูต (เราะสู้ล) ผู้ประกาศพระวจนะ (นบียฺ) ของเอกองค์อัลลอฮฺพระผู้เป็นเจ้า และชาวมุสลิมก็ศรัทธาเช่นนั้น
ดังปรากฏในคัมภีร์อัล-กุรอานว่า
إِنَّمَا الْمَسِيحُ عِيسَى ابْنُ مَرْيَمَ رَسُولُ اللهِ وَكَلِمَتُهُ أَلْقَاهَا إِلَىٰ مَرْيَمَ وَرُوحٌ مِنْهُ ۖ
ความว่า : “อันที่จริงอัล-มะสีหฺ อีซา บุตรมัรยัมนั้นคือ ศาสนทูตของอัลลอฮฺ และคือพระวาทะของพระองค์ที่ทรงโยน (ตรัส) พระวาทะนั้นไปยังมัรยัมและคือวิญญาณที่มาจากพระองค์” (อันนิสาอฺ อายะฮฺที่ 171)
อายะฮฺ (โองการพระบัญญัติ) นี้กล่าวถึงสถานภาพของพระเยซูคริสต์ว่า พระองค์คือ อัล-มะสีหฺ (พระคริสต์) ผู้มีนามว่า อีซา (ยะสูอฺ-เยซู-จีซัส) เป็นบุตรของพระนางมัรยัม (มารีย์) สตรีผู้บริสุทธิ์ซึ่งพระองค์อัลลอฮฺทรงมีพระวาทะว่า “จงเป็น” และทรงเป่าวิญญาณของอัล-มะสีหฺ อีซา สู่พระนางมัรยัมโดยตรง ไม่ผ่านการมีเพศสัมพันธ์หรือแม้แต่การสัมผัสของชายใด อัล-มะสีหฺ อีซาจึงถูกบังเกิดด้วยพระวาทะและมหิทธานุภาพของพระองค์อัลลอฮฺจากพระนางมัรยัม โดยไม่มีบิดาแต่อย่างใดและอัล-มะสีหฺ อีซา คือศาสนทูตผู้ประกาศพระวจนะของพระองค์ อัลมะ-สีหฺ อีซา (พระเยซูคริสต์) จึงเป็นบุตรมนุษย์ที่พระองค์อัลลอฮฺทรงมีประสงค์ให้บังเกิดมาโดยไม่มีบิดาด้วยมหิทธานุภาพอันสมบูรณ์ซึ่งอยู่เหนือกฎเกณฑ์ทางธรรมชาติ เมื่อพระองค์ทรงมีพระประสงค์บังเกิดสิ่งใดพระองค์เพียงแต่มีพระวาทะดำรัสว่า “จงเป็น” สิ่งนั้นก็เป็นขึ้น
และปรากฏในคัมภีร์อัลกุรอานว่า
مَا الْمَسِيحُ ابْنُ مَرْيَمَ إِلَّا رَسُولٌ قَدْ خَلَتْ مِنْ قَبْلِهِ الرُّسُلُ وَأُمُّهُ صِدِّيقَةٌ ۖ
كَانَا يَأْكُلَانِ الطَّعَامَ ۗ
ความว่า : “อัล-มะสีหฺ บุตรมัรยัมหาใช่ผู้ใดนอกจากเป็นศาสนทูตผู้หนึ่ง ที่แน่แท้มีบรรดาศาสนทูตก่อนหน้าเขาได้ผ่านพ้นมาแล้ว และมารดาของเขาคือสตรีผู้ถือในความสัตย์ ทั้งสองนั้นรับประทานอาหาร…” (อัล-มาอิดะฮฺ อายะฮฺที่ 75)
อายะฮฺอัล-กุรอานบทนี้ตอกย้ำถึงสถานภาพของอัล-มะสีหฺ (พระเยซูคริสต์) และพระนางมัรยัม พระมารดาของพระองค์ว่า อัล-มะสีหฺคือศาสนทูตของอัลลอฮฺที่ถูกใช้มาให้ประกาศพระวจนะและสาส์นของพระองค์ มีพันธกิจเฉกเช่นบรรดาศาสนทูตผู้ประกาศพระวจนะของพระองค์ที่ผ่านพ้นมาในยุคก่อน คัมภีร์อัล-กุรอาน ระบุว่า
إِنَّا أَوْحَيْنَا إِلَيْكَ كَمَا أَوْحَيْنَا إِلَىٰ نُوحٍ وَالنَّبِيِّينَ مِنْ بَعْدِهِ ۚ
وَأَوْحَيْنَا إِلَىٰ إِبْرَاهِيمَ وَإِسْمَاعِيلَ وَإِسْحَاقَ وَيَعْقُوبَ وَالْأَسْبَاطِ وَعِيسَىٰ وَأَيُّوبَ وَيُونُسَ وَهَارُونَ وَسُلَيْمَانَ ۚ
ความว่า : แท้จริงเราได้มีวิวรณ์ (อัล-วะหฺยุ) มายังเจ้า (มุฮัมมัด) เช่นที่เราได้เคยมีวิวรณ์ไปยังนูหฺ (โนอาหฺ) และบรรดาผู้เผยพระวจนะ (นบียฺ) หลังจากเขา และเราได้มีวิวรณ์ไปยังอิบรอฮีม (อับราฮัม) อิสมาอีล (อิชมาเอล) อิสหาก (อิสฮัก) ยะอฺกู๊บ (ยาโกบ) บรรดาพงศ์พันธุ์อิสราเอล อีซา (พระเยซูคริสต์) อัยยูบ (โยบ) ยูนุส (โยนาหฺ) ฮารูน (อารอน) และสุลัยมาน (ซาโลมอน) ….”
(อัน-นิสาอฺ อายะฮฺที่ 163)
พระเยซูคริสต์ตรัสกับสาวกของพระองค์ว่า : “อาหารของเราคือการกระทำตามพระทัยของพระองค์ผู้ทรงใช้เรามาและทำให้งานของพระองค์สำเร็จ” (“My food” said Jesus, “is to do the will of him who sent me and to finish his work) (ยอห์น 4 : 34) และพระองค์ตรัสกับชาวยิว ว่า : คำสอนของเรามิใช่ของเราเอง แต่เป็นขององค์ผู้ทรงใช้เรามา (It comes from him who sent me) (ยอห์น 7 : 16)
พระเยซูคริสต์ตรัสอีกว่า : เพราะเรามิได้กล่าวตามใจเราเอง แต่ซึ่งเรากล่าวและพูดนั้น พระบิดาผู้ทรงใช้เรามา พระองค์นั้นได้ทรงบัญชาให้แก่เรา เรารู้ว่าพระบัญชาของพระองค์นั้นเป็นชีวิตนิรันดร์ เหตุฉะนั้นสิ่งที่เราพูดนั้น เราก็พูดตามที่พระบิดาทรงบัญชาเรา (ยอห์น 12 : 49-50) “และคำซึ่งท่านได้ยินนี้ ไม่ใช่คำของเรา แต่เป็นพระวจนะของพระบิดาผู้ทรงใช้เรามา” (ยอห์น 14 : 24) ชาวเมืองนาซาเร็ธไม่ยอมรับพระองค์ พระองค์จึงตรัสว่า : “เราบอกความจริงแก่ท่านทั้งหลายว่า ไม่มีผู้เผยพระวจนะคนใดได้รับการต้อนรับในเมืองของตน” (ลูกา 4 : 24) “ผู้เผยพระวจนะจะไม่ขาดความนับถือ เว้นแต่ในเมืองของตน และในวงศ์วานของตน” (มัทธิว 13 : 57)
ผู้เผยพระวจนะจะไม่ขาดความนับถือเว้นแต่ในเมืองของตนท่ามกลางญาติพี่น้องของตน และในวงศ์วานของตน” (มาระโก 6 : 4) มีพวกฟาริสีบางคนมาทูลพระองค์ว่า “ท่านจงไปจากที่นี่เถิด เพราะว่าเฮโรดจะใคร่ประหารชีวิตของท่านเสีย” ส่วนหนึ่งจากสิ่งที่พระเยซูตรัสตอบก็คือ “….เพราะว่าผู้เผยพระวจนะจะถูกฆ่านอกกรุงเยรูซาเล็มก็หามิได้…” (ลูกา 13 : 31, 33) ตามความเชื่อของคริสตชน พระเยซูคริสต์ถูกตรึงกางเขนที่ตำบลกลโกธา แปลว่าที่กะโหลกศีรษะ (มัทธิว 27 : 33, มาระโก 15 : 22, ลูกา 23 : 33, ยอห์น 19 : 17) ซึ่งตำบลนี้อยู่ในเขตนครเยรูซาเล็มนั่นเอง
พระนางมัรยัม (มารีย์) พระมารดาของพระเยซูคริสต์ คือสตรีผู้ยึดมั่นในความสัตย์ คือศรัทธาและเชื่อมั่นในพระวาทะแห่งเอกองค์อัลลอฮฺและบรรดาคัมภีร์ของพระองค์อย่างหมดจิตหมดใจไม่คลางแคลงไม่สงสัยในพระราชกิจของพระองค์ที่ทรงบังเกิดบุตรแก่นางโดยไม่มีการสัมผัสจากชายใด ดังที่อัล-กุรอานระบุว่า
وَمَرْيَمَ ابْنَتَ عِمْرَانَ الَّتِي أَحْصَنَتْ فَرْجَهَا فَنَفَخْنَا فِيهِ مِنْ رُوحِنَا وَصَدَّقَتْ
بِكَلِمَاتِ رَبِّهَا وَكُتُبِهِ وَكَانَتْ مِنَ الْقَانِتِينَ
ความว่า : “และมัรยัมบุตรีของอิมรอน ผู้ซึ่งรักษาพรหมจารีย์ของนาง และเราได้เป่าวิญญาณของเราเข้าไปในร่างของนางและนางได้ศรัทธาด้วยความสัตย์ต่อบรรดาพระวาทะแห่งองค์อภิบาลของนางและบรรดาคัมภีร์ของพระองค์และนางเป็นหนึ่งจากบรรดาหมู่ชนผู้นอบน้อมภักดี”
(บทอัต-ตะห์รีม อายะฮฺที่ 12)
คัมภีร์อัล-กุรอานได้ประกาศยกย่องพระนางมัรยัม (มารีย์) ว่าเป็นสตรีผู้บริสุทธิ์ในพรหมจรรย์เป็นสตรีผู้ถูกเลือกให้มีบุตรโดยไม่มีบิดาเพื่อยืนยันถึงมหิทธานุภาพของเอกองค์อัลลอฮฺ พระผู้ทรงสร้างทุกสรรพสิ่งเมื่อพระองค์ทรงบังเกิดอาดัมมาจากดิน อาดัมไม่มีทั้งบิดาและมารดา ทรงบังเกิดหะวาอฺ (อีฟ-อีวา) มาจากกระดูกซี่โครงของอาดัม นางก็ไม่มีมารดาแต่เกิดจากฝ่ายชายคืออาดัม ทรงบังเกิดอิสมาอีล (อิชมาเอล) แก่อิบรอฮีม (อับราฮัม) จากพระนางฮาญัร (ฮาฆาร) ในยามที่อิบรอฮีมล่วงเข้าสู่วัยสูงอายุ ทรงบังเกิดอิสหาก (อิสฮัก) แก่อิบรอฮีมจากพระนางซาเราะฮฺ (ซาราหฺ) ทั้ง ๆ ที่บุคคลทั้งสองเข้าสู่วัยชราแล้ว ทรงบังเกิดยะหฺยา (ยอห์น) แก่ซะกะรียา (เศคารียาห์) ซึ่งลุสู่วัยชราจากพระนางเอลยาศอบาตร (เอลีซาเบธ) ซึ่งเป็นหมัน
ทั้งหมดเป็นพระราชกิจของพระองค์ซึ่งเมื่อมีพระประสงค์บังเกิดสิ่งใดก็เพียงแต่มีพระวาทะว่า “จงเป็น” แล้วสิ่งนั้นก็เป็น จึงเป็นสิ่งที่พระองค์ทรงสำแดงพระมหิทธานุภาพโดยง่ายดายในการบังเกิดอัล-มะสีหฺ อีซา อะลัยฮิสสลามจากพระนางมัรยัม สตรีผู้บริสุทธิ์ในพรหมจรรย์แต่ฝ่ายเดียวโดยไม่มีบิดา ความสูงส่งของพระนางมัรยัมในฐานะ “ศิดดีเกาะฮฺ” ผู้มีความเชื่อโดยความสัตย์จึงมีสถานะรองจากความเป็นศาสนทูตผู้ประกาศพระวจนะเท่านั้น
และสิ่งที่คริสตชนควรรับรู้ก็คือ คัมภีร์อัล-กุรอานคือแหล่งข้อมูลเดียวเท่านั้นที่กล่าวถึงความบริสุทธิ์ของพระนางมัรยัม และปกป้องพระนางจากคำครหาและใส่ร้ายของชาวยิวที่ตู่ว่าพระนางผิดประเวณี ในคัมภีร์อัล-กุรอานมีบทหนึ่งชื่อบทมัรยัม แม้สตรีอื่นในโลกก็ไม่มีผู้ใดที่รับเกียรติเช่นพระนางในการออกชื่อไว้อย่างชัดเจนในคัมภีร์อัล-กุรอาน และนามของพระนางถูกเอ่ยถึงในคัมภีร์อัล-กุรอานถึง 34 ครั้งในบทต่าง ๆ ถึง 13 บท
ไม่มีสตรีใดเลยที่อัล-กุรอานจะออกชื่อเอาไว้มีแต่พระนางมัรยัมเพียงผู้เดียว กระนั้นคัมภีร์อัล-กุรอานก็แจ้งถึงสถานะอันแท้จริงของพระนางมัรยัมและอัล-มะสีหฺ อีซา บุตรของพระนางว่า ทั้งสองดำเนินชีวิตเยี่ยงปุถุชนทั่วไป เพราะทั้งสองรับประทานอาหาร ดื่มน้ำ นอนหลับพักผ่อน และทำธุระส่วนตัว ผู้มีลักษณะเช่นนี้จะเป็นพระบุตรของพระเจ้าหรือพระมารดาของพระผู้เป็นเจ้า หรือเป็นหนึ่งในภาคขององค์พระผู้เป็นเจ้าได้เยี่ยงไรกัน
นี่คือตรรกะและเหตุผลทางสติปัญญาที่เป็นจริงและสมเหตุสมผลเป็นที่สุด แต่ไฉนหนอคริสตชนจึงนึกไม่ออกและไม่เข้าใจสัจธรรมข้อนี้ แม้ในพระคริสตธรรมคัมภีร์ก็ระบุว่า “ไม่มีใครเคยเห็นพระเจ้าเลย…” (No one has everseen God) (ยอห์น 1 : 18) แล้วเหตุไฉน พระเยซูคริสต์ที่มีผู้คนเป็นอันมากได้เห็นพระองค์จึงกลายเป็นพระเจ้าไปได้ พระเจ้าที่เที่ยงแท้ย่อมไม่เหมือนสิ่งใดและไม่มีสิ่งใดเหมือนพระองค์
โมเสส (มูซา อะลัยฮิสสลาม) สรรเสริญพระผู้เป็นเจ้าว่า : “ข้าแต่พระเจ้า ในบรรดาพระทั้งปวง องค์ไหนจะเป็นเหมือนพระองค์เล่า องค์ไหนจะเหมือนพระองค์ผู้ทรงประกอบด้วยความบริสุทธิ์ และน่าเกรงขามเนื่องด้วยพระราชกิจอันรุ่งเรืองและอัศจรรย์ที่พระองค์ทรงกระทำ” (อพยพ 15 : 11) และพระเจ้าทรงตรัสแก่โมเสสซึ่งทูลขอต่อพระองค์ให้ทรงสำแดงพระสิริของพระองค์แก่เขาว่า : “เจ้าจะเห็นหน้าของเราไม่ได้ เพราะมนุษย์เห็นหน้าเราแล้วจะมีชีวิตอยู่ไม่ได้” (อพยพ 33 : 20)
หากพระเยซูคริสต์เป็นพระเจ้าดังคำกล่าวอ้าง แล้วผู้ที่ได้เห็นใบหน้าของพระองค์จะเป็นเช่นใด จะคงมีชีวิตอยู่ได้หรือ พระเยซูคริสต์ตรัสออกเสียงกับผู้คนเป็นอันมาก หากพระองค์เป็นพระเจ้าดังคำกล่าวอ้างแล้วผู้ที่ได้ยินพระสุรเสียงของเจ้าจะเป็นเช่นใด จะคงมีชีวิตอยู่ได้หรือ
เพราะพระคริสตธรรมคัมภีร์ ภาคพันธสัญญาเดิมระบุว่า : เพราะในบรรดามนุษย์ทั้งหลาย ใครเล่าผู้ได้ยินพระสุรเสียงของพระเจ้าผู้ทรงพระชนม์ ตรัสออกมาจากท่ามกลางเพลิงอย่างที่เราได้ยินและยังมีชีวิตอยู่ได้ (เฉลยธรรมบัญญัติ 5 : 26, อพยพ 20 : 19 ฮาสติงก์ (Hastings) กล่าวไว้ใน Dictionary of the Bible ว่า : ไม่แน่ชัดนักว่า พระเยซูคริสต์เองใช้สำนวนดังกล่าว (พระบุตรของพระเจ้า) ในหลาย ๆ ที่ซึ่งมีระบุในพระคริสตธรรมคัมภีร์ ภาคพันธสัญญาใหม่ การใช้สำนวนดังกล่าวเป็นการเรียกขานของผู้อื่นที่มิใช่พระองค์เอง (Hastings, op.cit., 142) และการใช้สำนวนเช่นนี้สอดคล้องกับจารีตของพวกกรีกและโรมันในสมัยนั้นเพราะบรรดาเทพเจ้าของพวกเขามีพระบุตร
ซึ่งเรื่องนี้คัมภีร์อัล-กุรอานได้ระบุเอาไว้ว่า
وَقَالَتِ الْيَهُودُ عُزَيْرٌ ابْنُ اللَّهِ وَقَالَتِ النَّصَارَى الْمَسِيحُ ابْنُ اللَّهِ ۖ
ذَٰلِكَ قَوْلُهُمْ بِأَفْوَاهِهِمْ ۖ يُضَاهِئُونَ قَوْلَ الَّذِينَ كَفَرُوا مِنْ قَبْلُ ۚ قَاتَلَهُمُ اللَّهُ ۚ أَنَّىٰ يُؤْفَكُونَจ
ความว่า : “และชาวยิวได้กล่าวว่า “อุซัยรฺ” คือบุตรของอัลลอฮฺและพวกนะศอรอ (คริสตชน) ได้กล่าวว่า อัล-มะสีหฺ (พระคริสต์) เป็นบุตรของอัลลอฮฺ นั่นคือคำพูดของพวกเขาที่กล่าว (ตู่) ด้วยปากของพวกเขา โดยพวกเขาถือเอาอย่างคำพูดของบรรดาผู้ปฏิเสธที่มาก่อน (หน้าพวกเขา) อัลลอฮฺทรงทำสงครามกับพวกเขาแล้ว (หมายถึง ขอพระองค์ทรงสาปแช่งพวกเขา) ฉไนเลยพวกเขาจึงได้ถูกให้เบี่ยงเบน (จากสัจธรรม) ไปได้”
(อัต-เตาบะฮฺ อายะฮฺที่ 30)
อายะฮฺอัล-กุรอานบทนี้กล่าวประณามทั้งชาวยิว (กลุ่มหนึ่ง) ที่กล่าวตู่ว่า อุซัยรฺเป็นบุตรของพระเจ้าทั้งที่อุซัยรฺเองมิได้กล่าวอ้างเช่นนั้น และชาวนะศอรอที่กล่าวตู่ว่าอัล-มะสีหฺ (อีซาบุตรมัรยัม) เป็นบุตรของพระเจ้า ทั้งที่อัล-มะสีหฺเองมิได้มุ่งหมายเช่นนั้นแต่ผู้ที่ไม่มีรอในการประกาศว่า อัล-มะสีหฺ(พระคริสต์) คือพระบุตรของพระเจ้าก็คือ เปาโล ซึ่งเดิมก็คือ เซาโล ยิวผู้ข่มเหงคริสตจักร (ฝ่ายเซาโลพยายามทำลายคริสตจักรโดยเข้าไปฉุดลากชายหญิงจากทุกบ้านทุกเรือนเอาไปจำไว้ในคุก-กิจการของอัครทูต 8 : 3) หลังการกลับใจของเซาโลซึ่งเหตุการณ์นั้นน่ากังขาอยู่ เขาไม่รีรอในการเทศนาที่ดามัสกัสตามธรรมศาลา กล่าวเรื่องพระเยซูว่า “พระองค์ทรงเป็นพระบุตรของพระเจ้า” (กิจการของอัครทูต 9 : 20)
คัมภีร์อัล-กุรอานได้เปิดเผยให้ทราบว่า ความเชื่อว่าอัล-มะสีหฺ อีซา บุตรมัรยัม เป็นพระบุตรของพระเจ้า เป็นหนึ่งในสามของพระภาคอันประกอบด้วยพระบิดา พระบุตรและพระจิต ตลอดจนการเชื่อว่าอัล-มะสีหฺคือองค์พระผู้เป็นเจ้าล้วนแต่เป็นเพียงคำพูดที่พวกเขากล่าวด้วยปากของพวกเขาเอง และขัดแย้งโดยสิ้นเชิงกับหลักเอกานุภาพแห่งองค์พระผู้เป็นเจ้าซึ่งเหล่าผู้เผยพระวจนะนับแต่อดีตต่างก็เรียกร้องผู้คนให้เชื่อในพระผู้เป็นเจ้าเพียงพระองค์เดียวและไม่ให้ตั้งภาคีต่อพระองค์
แม้อัล-มะสีหฺ อีซาบุตรมัรยัม อะลัยฮิมัสสลาม ก็เรียกร้องและประกาศเช่นนั้นเรื่องราวในยามที่อัล-มะสีหฺ ยังเป็นทารกที่พูดได้อย่างฉะฉานเพื่อปกป้องมารดาของพระองค์จากการกล่าวหาของชาวยิวและประกาศให้ทราบถึงภารกิจที่จะเกิดขึ้นในเบื้องหน้าตามพระประสงค์ของพระเจ้า มิได้ถูกระบุหรือกล่าวถึงเลยในพระคริสตธรรมคัมภีร์ แต่อัล-กุรอานได้ระบุถึงเรื่องนี้ว่า
فَأَتَتْ بِهِ قَوْمَهَا تَحْمِلُهُ ۖ قَالُوا يَا مَرْيَمُ لَقَدْ جِئْتِ شَيْئًا فَرِيًّا {27}
يَا أُخْتَ هَارُونَ مَا كَانَ أَبُوكِ امْرَأَ سَوْءٍ وَمَا كَانَتْ أُمُّكِ بَغِيًّا {28}
فَأَشَارَتْ إِلَيْهِ ۖ قَالُوا كَيْفَ نُكَلِّمُ مَنْ كَانَ فِي الْمَهْدِ صَبِيًّا {29}
قَالَ إِنِّي عَبْدُ اللَّهِ آتَانِيَ الْكِتَابَ وَجَعَلَنِي نَبِيًّا {30}
ความว่า : แล้วนางก็นำเขา (อีซาซึ่งยังเป็นทารกแบเบาะ) มายังกลุ่มชนของนางโดยนางอุ้มเขามา พวกเขากล่าวว่า โอ้มัรยัมเอ๋ย แน่แท้เธอได้นำสิ่งหนึ่งอันน่าฉงนมา โอ้น้องหญิงของฮารูน บิดาของเธอก็มิเคยเป็นชายโฉด มารดาของเธอก็หาใช่หญิงแพศยาไม่! แล้วมัรยัมก็ชี้ไปยังเขา (คือลูกน้อยของนาง) พวกเขากล่าวว่าพวกเราจะพูดกับผู้อยู่ในเบาะนอนที่เป็นทารกได้อย่างไรกัน เขา (อีซาทารกน้อย) จึงกล่าวว่า “แท้จริงฉันคือบ่าวของอัลลอฮฺ พระองค์ทรงนำคัมภีร์มายังฉันและกำหนดให้ฉันเป็นผู้เผยพระวจนะ (นบียฺ)”
(มัรยัม อายะฮฺที่ 27-30)
นี่คือเรื่องราวที่พระคริสตธรรมคัมภีร์มิได้กล่าวไว้และผู้เขียนคัมภีร์ทั้ง 4 คน (มัทธิว, มาระโก, ลูกาและยอห์น) ก็ละเลยที่จะปกป้องความบริสุทธิ์ของพระนางมัรยัมจากข้อกล่าวหาของพวกยิวและมิได้พูดถึงเรื่องเหตุการณ์ในตอนนี้ว่า อีซาบุตรของมัรยัมเคยพูดมาก่อนแล้วในยามที่ท่านยังเป็นทารก และเมื่อเติบใหญ่ท่านก็ได้ประกาศพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าและยืนยันในเอกานุภาพของพระองค์
ดังปรากฏในพระคริสตธรรมคัมภีร์ ภาคพันธสัญญาใหม่ว่า : มีบาเรียนผู้หนึ่งในพวกเขาทดลองถามพระองค์ว่า อาจารย์เจ้าข้า ในธรรมบัญญัตินั้นข้อใดสำคัญที่สุด พระเยซูทรงตอบเขาว่า “จงรักพระองค์ผู้เป็นพระเจ้าของเจ้าด้วยสุดใจสุดจิตของเจ้า และด้วยสิ้นสุดความคิดของเจ้า” นั่นแหล่ะเป็นพระบัญญัติข้อใหญ่และข้อต้น ข้อที่สองก็เหมือนกัน “คือจงรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง ธรรมบัญญัติและคำของผู้เผยพระวจนะทั้งสิ้นก็ขึ้นอยู่กับพระบัญญัติสองข้อนี้” (มัทธิว 22 : 35-40)
ในความอีกตอนหนึ่งระบุว่า : พระเยซูจึงตรัสตอบคนนั้นว่า “ธรรมบัญญัติเอกนั้นคือ โอ ชนอิสราเอลจงฟังเถิด พระเจ้าของเราทั้งหลายทรงเป็นพระเจ้าเดียว (O Israel, the Lord our God, the lord is one) และพวกท่านจงรักพระเจ้าด้วยสุดจิตสุดใจของท่าน ด้วยสุดความคิดและด้วยสิ้นสุดกำลังของท่าน และธรรมบัญญัติที่สองนั้นคือ จงรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง ธรรมบัญญัติอื่นที่ใหญ่กว่าธรรมบัญญัติทั้งสองนี้ไม่มี ฝ่ายธรรมาจารย์คนนั้นทูลว่า “ดีแล้วอาจารย์เจ้าข้าท่านกล่าวถูกจริงว่าพระเจ้ามีแต่พระองค์เดียวและนอกจากพระองค์แล้วพระเจ้าอื่นไม่มีเลย” (มาระโก 12 : 29-32) –God is one and there is no other but him- สอดคล้องกับคัมภีร์อัล-กุรอานที่ระบุว่า
وَإِلَٰهُكُمْ إِلَٰهٌ وَاحِدٌ ۖ لَا إِلَٰهَ إِلَّا هُوَ الرَّحْمَٰنُ الرَّحِيمُ
ความว่า : และพระเจ้าของพวกเจ้านั้นคือ พระเจ้าเดียวไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากพระองค์พระผู้ทรงเมตตากรุณาปราณียิ่ง”
(อัล-บะเกาะเราะฮฺ อายะฮฺที่ 163)
อัล-มะสีหฺ อีซาบุตรมัรยัม อะลัยฮิมัสสลามได้กล่าวโต้ตอบกับพวกสะดูสี (Sadducees) ซึ่งพวกนี้เป็นผู้สอนว่า การฟื้นขึ้นจากความตายไม่มีว่า “พวกท่านผิดแล้ว เพราะท่านไม่รู้คัมภีร์หรือฤทธิ์เดชของพระเจ้า (มัทธิว 22 : 29) ท่านทั้งหลายยังไม่ได้อ่านหรือ ซึ่งพระเจ้าได้ตรัสไว้กับพวกท่านว่า “เราเป็นพระเจ้าของอับราฮัม พระเจ้าของอิศอัคและพระเจ้าของยาโคบ” (มัทธิว 22 : 32) สอดคล้องกับคัมภีร์อัล-กุรอานที่ระบุว่า
أَمْ كُنْتُمْ شُهَدَاءَ إِذْ حَضَرَ يَعْقُوبَ الْمَوْتُ إِذْ قَالَ لِبَنِيهِ مَا تَعْبُدُونَ مِنْ بَعْدِي
قَالُوا نَعْبُدُ إِلَٰهَكَ وَإِلَٰهَ آبَائِكَ إِبْرَاهِيمَ وَإِسْمَاعِيلَ وَإِسْحَاقَ إِلَٰهًا وَاحِدًا وَنَحْنُ لَهُ مُسْلِمُونَ
ความว่า : “ฤาว่าพวกท่านเป็นสักขีร่วมอยู่ด้วยขณะความตายได้มายังยะอฺกู๊บ (ยาโคบ) ขณะที่เขากล่าวแก่บรรดาบุตรของเขาว่า อันใดเล่าที่พวกเจ้าจะเคารพสักการะหลังจากข้า พวกเขากล่าวว่าเราจะเคารพสักการะต่อพระเจ้าของท่านและพระเจ้าของบรรพบุรุษของท่านคือ อิบรอฮีม (อับราฮัม) อิสมาอีล (อิชมาเอล) และอิสหาก (อิศอัค) พระเจ้าองค์เดียวและเราเป็นผู้นอบน้อมต่อพระองค์” (อัล-บะเกาะเราะฮฺ อายะฮฺที่ 133)
และอัล-มะสีหฺ อีซาบุตรมัรยัม อะลัยฮิมัสสลามกล่าวอีกว่าและอย่าเรียกผู้ใดในโลกว่าเป็นบิดา เพราะท่านมีพระบิดาแต่ผู้เดียว คือผู้ที่ทรงสถิตในสวรรค์ (มัทธิว 23 : 9) หากอัล-มะสีหฺคือพระเจ้าอย่างที่ผู้กล่าวตู่แอบอ้าง แล้วเหตุไฉนพระองค์จึงไม่รู้ถึง วันและโมงอันหมายถึงกาลอวสานของโลก เพราะอัล-มะสีหฺกล่าวว่า : “แต่วันนั้น โมงนั้น ไม่มีใครรู้ถึง บรรดาทูตสวรรค์หรือพระบุตรก็ไม่รู้ รู้แต่พระบิดาองค์เดียว” (มัทธิว 24 : 36) สอดคล้องกับคัมภีร์อัล-กุรอานที่ระบุว่า :
يَسْأَلُونَكَ عَنِ السَّاعَةِ أَيَّانَ مُرْسَاهَا ۖ قُلْ إِنَّمَا عِلْمُهَا عِنْدَ رَبِّي ۖ لَا يُجَلِّيهَا لِوَقْتِهَا إِلَّا هُوَ ۚ
ความว่า : “พวกเขาจะถามท่านถึงวันและโมงนั้นว่า เมื่อใดเล่ามันจะเกิดขึ้น จงกล่าวเถิดว่า อันที่จริงความรู้ในวันและโมงนั้นอยู่ ณ พระผู้อภิบาลของฉันแต่เพียงผู้เดียว หามีผู้ใดจะเผยให้รู้วันและโมงนั้นตามเวลาของมันได้ไม่นอกจากพระองค์เท่านั้น” (อัล-อะอฺร็อฟ อายะฮฺที่ 187)
และอัล-กุรอานอายะฮฺที่ว่า :
يَسْأَلُكَ النَّاسُ عَنِ السَّاعَةِ ۖ قُلْ إِنَّمَا عِلْمُهَا عِنْدَ اللَّهِ ۚ
ความว่า : “บรรดามนุษย์จะถามท่านถึงวันและโมงนั้น จงกล่าวเถิด อันที่จริงความรู้ในวันและโมงนั้นอยู่ ณ องค์อัลลอฮฺเพียงพระองค์เดียว” (อัล-อะหฺซาบ อายะฮฺที่ 63)
มุฮัมมัด ศาสนทูตของพระเจ้าได้กล่าวตอบ ญิบรออีล (ทูตสวรรค์กาเบรียล) ที่ถามท่านถึงวันและโมงนั้น ท่านตอบว่า : “ใช่ว่าผู้ที่ถูกถามถึงวันและโมงนั้นจะรู้ดีไปกว่าผู้ที่ถาม” (บันทึกโดยอัล-บุคอรียฺและมุสลิม) นั่นหมายความว่า วันและโมงอันเป็นกาลอวสานของโลกนั้นไม่มีผู้ใดรู้ได้ ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นทูตสวรรค์ผู้ใกล้ชิดอย่างญิบรออีล (กาเบรียล) หรือศาสนทูตของพระองค์ พระองค์ผู้เป็นพระเป็นเจ้าเท่านั้นที่รู้แต่เพียงพระองค์เดียว
แล้วเหตุไฉน พระบุตรของพระเจ้าหรือพระผู้เป็นเจ้าคือ พระเยซูคริสต์ตามที่พวกเขากล่าวอ้างจึงไม่รู้ถึงวันและโมงนั้น นั่นแสดงว่าพระเยซูคริสต์มิใช่พระผู้เป็นเจ้า หรืออย่างน้อยก็แสดงว่า พระบุตรไม่รู้เท่าพระบิดา ดังที่พระเยซูคริสต์ทรงตรัสว่า : เพราะพระบิดาทรงเป็นใหญ่กว่าเรา (for the Father is greater than I) (ยอห์น 14 : 28)
แม้เซาโลซึ่งกลับใจและถูกเรียกขานว่า เปาโล ภายหลังยอมรับพระคริสต์ตามที่เขาอ้าง และเขาไม่รีรอในการประกาศตามธรรมศาลาว่า “พระเยซูคริสต์คือพระบุตรของพระเจ้า” เปาโลเองก็เรียกขานบุคคลหลายคนที่มิใช่บุตรแท้ของตนว่า “ผู้เป็นบุตรแท้ของข้าพเจ้าในความเชื่อเดียวกัน” (จดหมายของเปาโลถึงทิตัสและทิโมธี) เมื่อบุคคลทั้งสองคือ ทิตัสและทิโมธีมิใช่บุตรแท้ของเปาโลตามที่เรียกขาน แต่เป็นบุตรแท้ในความเชื่อ การที่อัล-มะสีหฺ (พระเยซูคริสต์) เรียกขานพระองค์เองว่า “เป็นบุตรของพระเจ้า” และเรียกขานพระผู้เป็นเจ้าว่า “พระบิดา” ก็น่าจะมีนัยในทำนองเดียวกัน คือเป็นเพียงนามธรรมหรือสัญลักษณ์มากกว่าจะเป็นพระบุตรและพระบิดาตามความหมายจริงของรูปคำ
คัมภีร์อัล-กุรอานได้ระบุคำกล่าวตู่ของพวกยิวและคริสต์ที่ว่า อุซัยรฺ (เอซริยา) และอัล-มะสีห์ (พระคริสต์) เป็นบุตรของพระเจ้านั้นเป็นการเอาอย่างความเชื่อของบรรดาผู้ปฏิเสธพระเจ้าที่เคารพในเทพเจ้าและรูปปั้น ชาวยิวซึ่งเป็นพงศ์พันธุ์อิสราเอลรับความเชื่อเช่นนี้มาจากชาวอียิปต์ (ไอยคุปต์) โบราณ ชาวคะนาอัน (ปาเลสไตน์) ชาวบาบิโลเนีย เป็นต้น
โดยเฉพาะเรื่องความเชื่อเกี่ยวกับตรีเอกานุภาพนั้นมีปรากฏมาแล้ว 1500 ปีก่อนคริสตกาลเป็นอย่างน้อย ดังเช่น เรื่องราวของเทพโอสิริส ไอซิสและโหรัสของไอยคุปต์โบราณ ความเชื่อเกี่ยวกับเทพมิธรา (Mithra) ซึ่งเป็นเทพแห่งแสงสว่างของเปอร์เซียโบราณที่มีมานับแต่ 1300 ปีก่อนคริสตกาล และลัทธิมิธรานี้ก็แพร่หลายสู่เอเชียไมเนอร์ในยุคเฮเลเนสติก (ราว 1 ศตวรรษก่อนคริสตกาล) ต่อมาก็แพร่หลายไปสู่กรุงโรม และกลายเป็นที่นิยมแพร่หลายในโลกของโรมันนับตั้งแต่ศตวรรษที่ 1 แห่งคริสตกาล เรื่องราวของพระบาอัล เทพของชาวบาบิโลเนียก็เช่นกันตลอดจนความเชื่อในตรีมูรติของพราหมณ์แห่งอินเดียก็แพร่มาถึงนครอเล็กซานเดรียในช่วงเวลาก่อนคริสตกาลแล้ว
ควาญา เคมาลุดดีน (Khwaja Kamalud-din) กล่าวไว้ในหนังสือ The Sources of Christianity ของเขาว่า :
“I am glad to say that none of my Church Cristics have questioned the correctness of the facts that Lead to conclude that most of the Furnitune of current Christianity has been borrowed from Paganism” สรุปใจความก็คือ “หลักคำสอนส่วนมากของคริสตศาสนาในปัจจุบันถูกยืมเอามาจากพวกนอกรีต (พวกบูชาเจว็ด)”
คัมภีร์อัล-กุรอานได้ประกาศอย่างชัดเจนว่า เอกองค์พระผู้เป็นเจ้าทรงเอกะ พระองค์มิถูกบังเกิด และพระองค์ไม่มีพระบุตรและไม่มีผู้ใดเสมอเหมือนด้วยพระองค์ ดังปรากฏในบทอัล-อิคลาศว่า
قُلْ هُوَ اللَّهُ أَحَدٌ {1}
اللَّهُ الصَّمَدُ {2}
لَمْ يَلِدْ وَلَمْ يُولَدْ {3}
وَلَمْ يَكُنْ لَهُ كُفُوًا أَحَدٌ {4}
ความว่า “จงกล่าวเถิด พระองค์คืออัลลอฮฺผู้ทรงเอกะ
อัลลอฮฺคือที่พึ่งโดยสรณะ พระองค์ไม่มีพระบุตร
และพระองค์มิได้ถูกบังเกิด
และย่อมไม่ปรากฏว่ามีผู้ใดเสมอเหมือนด้วยพระองค์
และมีปรากฏอีกว่า :
وَقُلِ الْحَمْدُ لِلَّهِ الَّذِي لَمْ يَتَّخِذْ وَلَدًا وَلَمْ يَكُنْ لَهُ شَرِيكٌ
فِي الْمُلْكِ وَلَمْ يَكُنْ لَهُ وَلِيٌّ مِنَ الذُّلِّ ۖ وَكَبِّرْهُ تَكْبِيرًا {111}
ความว่า : “และจงกล่าวเถิด มวลการสรรเสริญทั้งปวงเป็นสิทธิของอัลลอฮฺ พระผู้ทรงไม่มีพระบุตรและไม่ปรากฏมีคู่ภาคีสำหรับพระองค์ในอำนาจและไม่ปรากฏมีผู้ช่วยให้รอดพ้นจากความต่ำต้อยสำหรับพระองค์ และจงยกพระเกียรติของพระองค์ให้เกรียงไกรและเกริกเกียรติ”
(อัล-อิสรออฺ อายะฮฺที่ 111)
และมีปรากฏอีกว่า :
مَا كَانَ لِلَّهِ أَنْ يَتَّخِذَ مِنْ وَلَدٍ ۖ سُبْحَانَهُ ۚ إِذَا قَضَىٰ أَمْرًا فَإِنَّمَا يَقُولُ لَهُ كُنْ فَيَكُونُ {35}
ความว่า : ไม่ปรากฏว่าเป็นการบังควรสำหรับอัลลอฮฺ การที่พระองค์จะทรงมีพระบุตร มหาบริสุทธิแด่พระองค์ เมื่อพระองค์ทรงกระทำพระราชกิจใด พระองค์เพียงแต่มีพระวาทะแก่สิ่งนั้นว่า “จงเป็น” แล้วสิ่งนั้นก็เป็นไป”
(มัรยัม อายะฮฺที่ 35)
ทำไมเล่าการมีพระบุตรจึงเป็นสิ่งที่ไม่บังควรต่อฐานันดรแห่งความเป็นพระผู้เป็นเจ้า? นั่นเป็นเพราะว่าการมีบุตรหรือการถูกบังเกิดหรือการมีคู่ภาคีเป็นหุ้นส่วนหรือการมีผู้ให้ความช่วยเหลือเป็นลักษณะของสิ่งที่ถูกสร้าง พระเจ้ามิได้ถูกบังเกิดหรือมิได้ถูกสร้าง พระองค์จึงบริสุทธิ์จากลักษณะดังกล่าว ผู้ที่มีบุตรหรือมีบิดา มีคู่ภาคีหุ้นส่วน มีผู้ให้การช่วยเหลือย่อมเป็นผู้ที่อ่อนแอ ไร้อำนาจที่สมบูรณ์และย่อมต้องพึ่งพาสิ่งอื่น
ฤทธานุภาพและพระปรีชาญานแห่งพระผู้เป็นเจ้าเป็นสิ่งสมบูรณ์ มิได้บกพร่องแต่อย่างใดถึงจะต้องพึ่งพาสิ่งเหล่านั้น พระองค์ทรงดำรงอยู่ด้วยพระองค์เอง หาที่สิ้นสุดแห่งการเริ่มต้นมิได้ และหาที่สิ้นสุดแห่งการมีอยู่ของพระองค์มิได้ พระองค์ทรงบังเกิดทุกสรรพสิ่งเพราะพระองค์ทรงเป็นพระผู้ทรงสร้าง ไม่มีผู้ใดเลยบังเกิดพระองค์ เพราะพระองค์มิใช่สิ่งที่ถูกสร้าง พระองค์ไม่เหมือนสิ่งใด และไม่มีสิ่งใดเหมือนพระองค์ ทุกสิ่งต้องพึ่งพาพระองค์แต่พระองค์ไม่พึ่งพาสิ่งใดเลย
เมื่อพระองค์ทรงมีพระประสงค์ต่อสิ่งหนึ่งสิ่งใดพระองค์เพียงแต่ตรัสว่า “จงเป็น” สิ่งนั้นก็เป็นไปตามฤทธานุภาพและพระประสงค์ของพระองค์ จึงไม่มีสิ่งใดง่ายหรือยากสำหรับพระองค์ เพราะพระองค์ทรงมหิทธานุภาพเหนือทุกสรรพสิ่ง พระคริสตธรรมกล่าวไว้มิใช่หรือว่า “ท่านเรียกเราว่าประเสริฐทำไม ไม่มีใครประเสริฐ เว้นแต่พระเจ้าองค์เดียว” (ลูกา 18 : 19) และพระเยซูคริสต์ทรงตรัสเอาไว้มิใช่หรือว่า : “สิ่งที่มนุษย์ทำไม่ได้ พระเจ้าทรงกระทำได้” (ลูกา 18 : 27)
มีปรากฏในคัมภีร์อัล-กุรอานว่า :
وَمَا كَانَ اللَّهُ لِيُعْجِزَهُ مِنْ شَيْءٍ فِي السَّمَاوَاتِ وَلَا فِي الْأَرْضِ ۚ إِنَّهُ كَانَ عَلِيمًا قَدِيرًا
ความว่า : “และอัลลอฮฺนั้น ไม่ปรากฏสิ่งใดเลยทั้งในชั้นฟ้าและในผืนแผ่นดินที่จะทำให้พระองค์ไร้ความสามารถ แท้จริงพระองค์ทรงสัพพัญญู อีกทั้งทรงมหิทธานุภาพยิ่ง”
(ฟาฏิร อายะฮฺที่ 44)
เหตุนั้นแล พระองค์ได้ทรงมีพระบัญชาสั่งใช้ให้เหล่าศาสดาประกาศกและมวลศาสนทูตของพระองค์ประกาศแก่โลกว่า
وَمَا أَرْسَلْنَا مِنْ قَبْلِكَ مِنْ رَسُولٍ إِلَّا نُوحِي إِلَيْهِ أَنَّهُ لَا إِلَٰهَ إِلَّا أَنَا فَاعْبُدُونِ {25}
ความว่า : “และเรามิได้ส่งศาสนทูตคนใดก่อนหน้าเจ้า นอกเสียจากว่าเราได้มีวิวรณ์ (อัล-วะหฺยุ) ไปยังศาสนทูตผู้นั้นให้ประกาศว่า แท้จริงไม่มีพระเจ้าองค์ใดนอกจากข้า ดังนั้นพวกเจ้าจงเคารพภักดีต่อข้า”
(อัล-อัมบิยาอฺ อายะฮฺที่ 25)
ศาสดาประกาศกและมวลศาสนทูตประกาศเหมือนกันว่า
اعْبُدُوا اللَّهَ وَاجْتَنِبُوا الطَّاغُوتَ ۖ
ความว่า : “พวกท่านทั้งหลายจงเคารพสักการะอัลลอฮฺ และจงหลีกห่าง สิ่งที่ถูกอุปโลกน์ขึ้นเป็นเจ้าอื่นจากพระองค์”
(อันนะหฺลุ อายะฮฺที่ 36)
يَا قَوْمِ اعْبُدُوا اللَّهَ مَا لَكُمْ مِنْ إِلَٰهٍ غَيْرُهُ ۖ
ความว่า : “โอ้กลุ่มชนของฉัน พวกท่านจงเคารพภักดีอัลลอฮฺเถิด หาได้มีพระเจ้าองค์อื่นจากพระองค์ไม่”
(อัล-อะอฺร็อฟ อายะฮฺที่ 59, 65, 73, 85, ฮูด อายะฮฺที่ 50, 61, 83)
คัมภีร์ อัล-กุรอานได้ประกาศชัดเจนว่า :
لَقَدْ كَفَرَ الَّذِينَ قَالُوا إِنَّ اللهَ هُوَ الْمَسِيحُ ابْنُ مَرْيَمَ ۖ
وَقَالَ الْمَسِيحُ يَا بَنِي إِسْرَائِيلَ اعْبُدُوا اللهَ رَبِّي وَرَبَّكُمْ
إِنَّهُ مَنْ يُشْرِكْ بِاللهِ فَقَدْ حَرَّمَ اللهُ عَلَيْهِ الْجَنَّةَ وَمَأْوَاهُ النَّارُ
وَمَا لِلظَّالِمِينَ مِنْ أَنْصَارٍ
ความว่า : “แน่แท้บรรดาผู้ที่กล่าวว่าแท้จริงอัลลอฮฺ คือ อัล-มะสีหฺบุตรมัรยัมได้ปฎิเสธแล้ว (ทั้งๆที่) อัล-มะสีหฺได้กล่าวว่า โอ้ พงศ์พันธุ์แห่งอิสราเอล พวกท่านจงเคารพภักดีต่ออัลลอฮฺพระผู้อภิบาลของฉันและพระผู้อภิบาลของพวกท่าน แท้จริงผู้ใดตั้งภาคีต่ออัลลอฮฺ แน่แท้อัลลอฮฺทรงให้สรวงสวรรค์เป็นที่ต้องห้ามเหนือเขาผู้นั้นแล้วและที่พำนักของผู้นั้นคือ อเวจี และย่อมไม่มีผู้ให้การช่วยเหลือสำหรับบรรดาผู้อธรรม”
(อัล-มาอิดะฮฺ อายะฮฺที่ 72)
และประกาศชัดเจนอีกว่า
لَقَدْ كَفَرَ الَّذِينَ قَالُوا إِنَّ اللهَ ثَالِثُ ثَلَاثَةٍ ۘ وَمَا مِنْ إِلَٰهٍ إِلَّا إِلَٰهٌ وَاحِدٌ ۚ
ความว่า : “แน่แท้บรรดาผู้ที่กล่าวว่าแท้จริงอัลลอฮฺคือ 1 ในสาม (ตามหลัก ตรีเอกานุภาพ) ได้ ปฏิเสธแล้ว หาได้มีพระเจ้าองค์ใดไม่นอกจากพระเจ้าองค์เดียวเท่านั้น”
(อัล-มาอิดะฮฺ อายะฮฺที่ 73)
และประกาศอย่างชัดเจนอีกว่า
لَقَدْ كَفَرَ الَّذِينَ قَالُوا إِنَّ اللَّهَ هُوَ الْمَسِيحُ ابْنُ مَرْيَمَ ۚ قُلْ فَمَنْ يَمْلِكُ مِنَ اللَّهِ شَيْئًا إِنْ
أَرَادَ أَنْ يُهْلِكَ الْمَسِيحَ ابْنَ مَرْيَمَ وَأُمَّهُ وَمَنْ فِي الْأَرْضِ جَمِيعًا ۗ
وَلِلَّهِ مُلْكُ السَّمَاوَاتِ وَالْأَرْضِ وَمَا بَيْنَهُمَا ۚ يَخْلُقُ مَا يَشَاءُ ۚ وَاللَّهُ عَلَىٰ كُلِّ شَيْءٍ قَدِيرٌ
ความว่า : “แน่แท้บรรดาผู้ที่กล่าวว่าแท้จริงอัลลอฮฺคือ อัล-มะสีหฺ บุตรมัรยัมได้ปฏิเสธแล้วจงกล่าวเถิด แล้วผู้ใดเล่าจะมีอำนาจยับยั้งสิ่งหนึ่งสิ่งใดจากอัลลอฮฺได้ หากพระองค์มีพระประสงค์จะทำลาย อัล-มะสีหฺบุตรของมัรยัมและมารดาของเขาตลอดจนผู้ที่อยู่ในผืนแผ่นดินทั้งหมด และอำนาจแห่งฟากฟ้าและผืนแผ่นดินตลอดจนสิ่งที่อยู่ระหว่างมันทั้งสองนั้นเป็นสิทธิของอัลลอฮฺ พระองค์จะทรงบันดาลตามพระทัยของพระองค์ และอัลลอฮฺทรงฤทธานุภาพเหนือทุกสรรพสิ่ง”
(อัล-มาอิดะฮฺ อายะฮฺที่ 17)
คัมภีร์อัล-กุรอานทั้ง 3 อายะฮฺในบทอัล-มาอิดะฮฺได้ประกาศชัดเจนว่า การกล่าวตู่ว่า อัล-มะสีหฺ บุตรมัรยัม (พระเยซู คริสต์) เป็นพระเจ้า หรือกล่าวตู่ว่า พระเจ้าผู้สูงสุดนั้นเป็นหนึ่งในสามภาคตามหลักตรีเอกานุภาพที่คริสตชนมีความเชื่อ คือ การปฏิเสธแนวทางอันเที่ยงตรงที่ว่าด้วยหลักเอกานุภาพ (Unity) ซึ่งเหล่าศาสดาประกาศกและมวลศาสนทูตของพระเจ้าได้ประกาศไว้แก่โลกนับแต่บรรพกาล การกล่าวตู่เช่นนี้เป็นการทำลายความเชื่ออันบริสุทธิ์และพระธรรมบัญญัติของพระเจ้าโดยสิ้นเชิง
เพราะในพระธรรมบัญญัติ ภาพพันธสัญญาเดิม ระบุเอาไว้มิใช่หรือว่า “อย่ามีพระเจ้าอื่นใดนอกเหนือจากเรา” (อพยพ 20 : 3) นั่นคือหนึ่งในพระบัญญัติสิบประการที่พระเจ้าทรงตรัสไว้แก่โมเสส แล้วพระเยซูคริสต์เองก็ทรงตรัสถึงพระธรรมบัญญัตินั้นว่า : “อย่าคิดว่าเรามาเลิกล้างธรรมบัญญัติ และคำของผู้เผยพระวจนะ เรามิได้มาเลิกล้าง แต่มาทำให้สมบูรณ์ทุกประการ เราบอกความจริงแก่ท่านทั้งหลายว่า ตราบใดที่ฟ้าและดินดำรงอยู่ แม้อักษรหนึ่งหรือขีดๆ หนึ่งก็จะไม่สูญไปจากธรรมบัญญัตินี้ จนกว่าสิ่งที่จะต้องเกิด ได้เกิดขึ้นแล้ว
เหตุฉะนั้น ผู้ใดได้ทำให้ข้อเล็กน้อยสักข้อหนึ่งในธรรมบัญญัตินี้เบาขึ้น ทั้งสอนคนอื่นให้ทำอย่างนั้นด้วย ผู้นั้นจะได้ชื่อว่า เป็นผู้น้อยที่สุดในแผ่นดินสวรรค์ แต่ผู้ใดที่ประพฤติและสอนตามธรรมบัญญัติ ผู้นั้นจะได้ชื่อว่าเป็นใหญ่ในแผ่นดินสวรรค์ (มัทธิว 5 : 17-19)
แล้วธรรมบัญญัติใดเล่าจะใหญ่ไปกว่า การเชื่อว่ามีพระเจ้าองค์เดียวพระเยซูคริสต์ทรงตรัสมิใช่หรือว่า “จงรักพระองค์ผู้เป็นพระเจ้าของเจ้าด้วยสุดใจสุดจิตของเจ้า และด้วยสิ้นสุดความคิดของเจ้า นั่นแหละเป็นพระบัญญัติข้อใหญ่และข้อต้น (มัทธิว 22 : 37-38) “ธรรมบัญญัติข้อเอกนั้นคือว่า โอ ชนอิสราเอล จงฟังเถิด พระเจ้าของเราทั้งหลายทรงเป็นพระเจ้าเดียว และพวกท่านจงรักพระเจ้าด้วยสุดจิตสุดใจของท่าน ด้วยสุดความคิด และด้วยสิ้นสุดกำลังของท่าน” (มาระโก 12 : 29-30)
ดังนั้น การกล่าวตู่ว่าพระเยซูคริสต์คือพระผู้เป็นเจ้าหรือเป็นหนึ่งในสามภาคขององค์พระผู้เป็นเจ้าอันประกอบด้วย พระบิดา พระบุตร และพระจิตจะไม่เป็นการทำลายพระธรรมบัญญัติข้อเอก ข้อใหญ่และข้อต้น อันเป็นคำของเหล่าผู้เผยพระวจนะกระนั้นหรือ ? การกล่าวเช่นนั้นมิใช่การเลิกล้างพระธรรมบัญญัติหรือทำให้พระธรรมบัญญัตินั้นเบาขึ้นดอกหรือ? การกล่าวตู่เช่นนั้น คงไม่ต่างอะไรกับคำของมารที่มาผจญพระเยซูคริสต์ มันกล่าวกับพระองค์ว่า : “ถ้าท่านจะกราบลงนมัสการเรา เราจะให้สิ่งทั้งปวงเหล่านี้แก่ท่าน” (มัทธิว 4 : 9) จงอ่านพระคริสต์ธรรมคัมภีร์ตอนนี้ดูสิ โอ้กลุ่มชนแห่งคัมภีร์ ดูสิว่า พระเยซูคริสต์ตอบกลับมารผจญนั้นว่าอย่างไร? “อ้าย ซาตานจงไปเสียให้พ้น เพราะพระคัมภีร์มีเขียนไว้ว่า “จงกราบนมัสการพระองค์ผู้เป็นพระเจ้าของท่าน และปรนนิบัติพระองค์แต่ผู้เดียว” (มัทธิว 4 : 10, ลูกา 4 : 8)
แล้วจงพิจารณาดูพระดำรัสของพระเจ้าที่ตรัสเล่าถ้อยคำของพระเยซูคริสต์ในคัมภีร์อัล-กุรอานว่า :
وَإِنَّ اللهَ رَبِّي وَرَبُّكُمْ فَاعْبُدُوهُ ۚ هَٰذَا صِرَاطٌ مُسْتَقِيمٌ
ความว่า : และแท้จริงอัลลอฮฺคือพระผู้เป็นเจ้าของฉันและพระผู้เป็นเจ้าของพวกท่านดังนั้นพวกท่านจงเคารพสักการะต่อพระองค์นี่คือวิถีอันเที่ยงตรง”
(มัรยัม อายะฮฺที่ 36)
และพระดำรัสที่ว่า :
وَقَالَ الْمَسِيحُ يَا بَنِي إِسْرَائِيلَ اعْبُدُوا اللهَ رَبِّي وَرَبَّكُمْ
ความว่า : “และอัล-มะสีหฺ (พระเยซูคริสต์) กล่าวว่า โอ้ ชนอิสราเอลเอ๋ย พวกท่านจงกราบสักการะต่ออัลลอฮฺพระผู้เป็นเจ้าของฉันและพระผู้เป็นเจ้าของพวกท่าน”
(อัล-มาอิดะฮฺ อายะฮฺที่ 72)
นี่คือ ! มรรคาอันเที่ยงตรง เป็นมรรคาแห่งพระเป็นเจ้า คือความเชื่อในเอกานุภาพของพระองค์อันเป็นมรรคาที่พระองค์ทรงชี้นำแก่บรรดาผู้ที่พระองค์ทรงโปรดปราณและพอพระทัย หาใช่มรรคาของเหล่าชนที่ถูกโกรธกริ้วไม่และหาใช่มรรคาของเหล่าชนผู้หลงผิดไม่
หากพระเยซูคริสต์ทรงเป็นพระผู้เป็นเจ้าตามคำกล่าวตู่นั้น แล้วพระองค์ทรงอธิษฐานกับพระเจ้าองค์ใดเล่า! (มัทธิว 6 : 9 ) แล้วพระองค์ขอประทานอาหารจากพระเจ้าองค์ใดเล่า ! (มัทธิว 6 : 11) แล้วพระองค์ขอยกบาปผิดจากพระเจ้าองค์ใดเล่า ! (มัทธิว 6 : 12) แล้วพระองค์ขอความคุ้มครองจากสิ่งซึ่งชั่วร้ายจากพระองค์ใดเล่า!
หากพระเยซูคริสต์ทรงเป็นพระผู้เป็นเจ้าตามคำกล่าวตู่นั้น เหตุไฉนพระองค์จึงบรรทมได้อย่างหลับใหล? (มัทธิว 8 : 24, มาระโก 4 : 38, ลูกา 8 : 23) แล้วพระเจ้าองค์ใดเล่าจะบริหารความเป็นไปของฟ้าและดินเมื่อพระเจ้าเข้าบรรทม? เหตุไฉนพระองค์จึงทรงหิวพระกระยาหารและพาลสาปต้นมะเดื่อที่ไร้ผลมีแต่ใบเท่านั้น (มัทธิว 21 : 18-19, มาระโก 11 : 12-14, 20-26) ความหิวในอาหาร ความกระหายในน้ำดื่ม เกิดขึ้นกับพระเจ้าได้กระนั้นหรือ ? แม้ทูตสวรรค์ก็หาได้มีความต้องการในสิ่งเหล่านี้ไม่! แล้วต้นมะเดื่อต้นนั้นมันผิดอะไร ถึงต้องสาปมันด้วย เหตุที่มันไม่มีผลก็เป็นไปตามพระประสงค์ของพระเจ้ามิใช่หรือ? ฤาว่าพระเจ้าองค์หนึ่งประสงค์ให้มันบ้าแต่ใบและไร้ผล จึงไม่ถูกใจพระเจ้าอีกองค์หนึ่งจนเป็นเหตุให้มันต้องคำสาป!
หากพระเยซูคริสต์เป็นพระผู้เป็นเจ้าดังคำกล่าวตู่แล้วเหตุไฉนผู้ที่ถูกตรึงกางเขนซึ่งพวกเขาเชื่อว่าคือ พระเยซูคริสต์ องค์พระผู้เป็นเจ้าจึงร้องเรียกว่า “เอลี เอลี ลามา สะบักธานี พระเจ้าของข้าพระองค์ พระเจ้าของข้าพระองค์ ไฉนทรงทอดทิ้งข้าพระองค์เสีย” (มัทธิว 27 : 46) “เอโลอี เอโลอี ลามา สะบักธานี พระเจ้าของข้าพระองค์ พระเจ้าของข้าพระองค์ ไฉนทรงทิ้งข้าพระองค์เสีย” (มาระโก 15 : 34) พระองค์ทรงเรียกขานพระเจ้าองค์ใดอีกเล่า ในเมื่อพระองค์ทรงเป็นพระผู้เป็นเจ้า!
หากพระผู้เป็นเจ้าทรงสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน แล้วการบริหารฟ้าและดินจะเป็นเช่นใดเล่า? เพราะพระเจ้าสิ้นพระชนม์เสียแล้ว อย่างน้อยก็สองสามวันในช่วงก่อนที่พระองค์จะฟื้นคืนพระชนม์นั่นแล และหากการสิ้นพระชนม์ของพระองค์ผู้เป็นพระบุตรของพระผู้เป็นเจ้าเป็นไปตามพระทัยของพระบิดาพระผู้เป็นเจ้าสูงสุดแล้วไซร้ พระทัยของพระบิดาช่างแข็งเสียนี่กระไร ถึงได้ปล่อยให้พระบุตรถูกกระทำเช่นนั้น
หากพระบุตรต้องสิ้นพระชนม์เพื่อไถ่บาปของมนุษย์ที่เกิดแต่อาดัม แล้วพระบุตรมีบาปและความผิดอันใด และพระบิดาไร้พระราชอำนาจในการยกโทษความผิดบาปให้แก่มนุษย์กระนั้นหรือถึงต้องใช้ให้พระบุตรมาสิ้นพระชนม์เพื่อไถ่บาปและยกโทษให้กับมนุษย์ผู้เป็นบุตรของอาดัม แต่ถ้าการสิ้นพระชนม์ของพระบุตรบนไม้กางเขนเป็นสิ่งที่ไม่ต้องพระทัยของพระบิดา ก็จงยกเอาพวกชาวยิวที่สังหารพระบุตรขึ้นเป็นพระเจ้าเสียเถิด เพราะพวกนั้นเอาชนะและสังหารพระบุตรของพระองค์ได้สำเร็จ
และหากพระเยซูคริสต์เป็นพระผู้เป็นเจ้าสมจริงดังคำกล่าวตู่ พระผู้เป็นเจ้าสิ้นพระชนม์ได้อย่างไร ในเมื่อพระผู้เป็นเจ้าทรงเป็นพระผู้ทรงพระชนม์ชีพอันเป็นนิรันดร์ (โรม 9 : 26) (ทิโมธี 1 : 17) ผู้ทรงประทานชีวิตและความตายแก่สรรพสัตว์ หรือว่าพระเจ้าองค์หนึ่งประทานความตายให้แก่พระองค์อีกองค์หนึ่งกระนั้นหรือ
และหากพระเยซูคริสต์เป็นหนึ่งในพระภาคทั้งสามของพระเป็นเจ้า การสิ้นพระชนม์ของพระองค์หมายความว่ากระไร? มิได้หมายความว่าส่วนหนึ่งจากพระภาคทั้งสามนั้นบกพร่องไปกระนั้นหรือ?
ดูเอาเถิด การกล่าวตู่เช่นนั้นนำมาซึ่งคำถามและข้อกังขาอย่างไม่รู้จบสิ้น คริสตชนอาจจะย้อนตอบว่า ก็เราเชื่อและศรัทธาเช่นนั้น เราจึงไร้คำถาม! คนที่ถามคือคนที่ไม่เชื่อ! และผู้ใดปฏิเสธพระบิดาและพระบุตร ผู้นั้นแหล่ะเป็นปฏิปักษ์ของพระคริสต์ (the antichrist) ผู้ใดปฏิเสธพระบุตร ผู้นั้นก็ไม่มีพระบิดา ผู้ใดที่รับพระบุตร ผู้นั้นก็มีพระบิดาด้วย (1 ยอห์น 2 : 22-23) ถ้าหากกล่าวตอบเราเช่นนี้เราก็คงต้องแยกทางเฉกเช่นบารนาบัสได้แยกจากเปาโลนั่นแล (กิจการของอัครทูต 15 : 36-39) เพราะเราเชื่อต่างกัน แล้วองค์พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงเป็นอมตะและทรงพระชนม์จะทรงพิพากษาระหว่างเรากับท่าน!
ศานติจงมีแด่ผู้ถือตามมรรคา
แห่งพระเป็นเจ้า
แหล่งที่มา : http://alisuasaming.org/
#นานาทัศนคติ_Islamic_Society_Online
#เรื่องเล่าคติเตือนใจ_Islamic_Society_Online
#มหัศจรรย์อัลกรุอาน_Islamic_Society_Online
Islamic Society Online
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น