product :

วันพฤหัสบดีที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

คัมภีร์อัล-กุรอานกับคริสตชน : ภาคที่ 2

คัมภีร์อัล-กุรอานกับคริสตชน : ภาคที่ 2

(อาลี เสือสมิง)


อัล-มะสีหฺ อีซา บุตรของมัรยัมกับอาดัม บิดาแห่งมุนษยชาติ


คัมภีร์อัล-กุรอาน (The Holy Koran) ได้ประกาศอย่างชัดเจนแก่มนุษยโลกโดยปราศจากความคลุมเครือและสอดคล้องกับธรรมบัญญัติเดิมในกลุ่มศาสนาแห่งฟากฟ้า คือ ยูดาย, คริสต์ศาสนา และอิสลาม ว่า อัล-มะสีหฺ อีซา บุตรมัรยัม (พระเยซูคริสต์) เป็นบุตรมนุษย์ และเป็นผู้เผยพระวจนะเฉกเช่นเดียวกับบรรดาผู้เผยพระวจนะหรือศาสดาประกาศกทุกท่านที่ผ่านมาในอดีตกาล ความพิเศษของอัล-มะสีหฺ อีซา (พระเยซูคริสต์) ที่ต่างจากมนุษย์ทั้งมวลคือ ถูกบังเกิดมาโดยมหิทธานุภาพของพระผู้เป็นเจ้า พระผู้ทรงสร้างทุกสรรพสิ่ง ผ่านครรภ์ของพระนางมัรยัม (มารีย์) สตรีผู้บริสุทธิ์ในพรหมจรรย์โดยไม่มีบิดา

บุคคลทั้งสองถือเป็นผลแห่งการสำแดงมหิทธานุภาพของพระผู้เป็นเจ้าในการสร้างมนุษย์ คือ การที่หญิงสาวบริสุทธิ์ตั้งครรภ์ได้โดยไม่ผ่านกระบวนการตามหลักธรรมชาติปกติที่พระองค์ทรงกำหนดวางเอาไว้ กล่าวคือ ไม่ผ่านการมีเพศสัมพันธ์ใดๆ เลย และการที่ทารกผู้เป็นบุตรมนุษย์ถือกำเนิดโดยไม่มีบิดา ซึ่งประการข้างต้นไม่ได้อยู่นอกเหนือมหิทธานุภาพของพระผู้เป็นเจ้าแต่อย่างใดเลย เพราะพระองค์ทรงกระทำและสำแดงพระราชกิจตามที่พระองค์ทรงมีพระประสงค์อันสมบูรณ์

การถือกำเนิดของอัล-มะสีหฺ อีซา โดยไม่มีบิดา คือกำเนิดจากพระนางมัรยัมแต่ฝ่ายเดียวไม่ได้ แตกต่างจากการบังเกิด “อาดัม” (Adam) จากดินเลย มิหนำซ้ำการบังเกิดอาดัมจากดินซึ่งเป็นเพียงวัตถุธาตุดูออกจะเป็นสิ่งที่ยากกว่าการบังเกิด อัล-มะสีหฺ อีซา เสียอีก ถึงแม้ว่าโดยข้อเท็จจริงแล้วไม่มีอะไรง่าย ไม่มีอะไรยากสำหรับมหิทธานุภาพของพระผู้เป็นเจ้าเลยแม้แต่น้อย คัมภีร์อัล-กุรอานได้ประกาศในเรื่องนี้ว่า


إِنَّ مَثَلَ عِيْسىٰ عِنْدَ اللّٰهِ كَمَثَلِ اٰدَمَ ۖ خَلَقَهُ مِنْ تُرَابٍ ثُمَّ قَالَ لَهُ كُنْ فَيَكُوْنُ


ความว่า “แท้จริงอุปมาของอีซา (พระเยซูคริสต์) ณ องค์อัลลอฮฺก็ดั่งอุปไมยของอาดัม พระองค์ทรงบังเกิดอาดัมจากดิน ต่อมาพระองค์ก็ทรงตรัสแก่เขาว่า “จงเป็น” แล้วเขาก็เป็นขึ้น” 
(อาลิ-อิมรอน อายะฮฺที่ 59)


กล่าวคือ อัล-มะสีหฺ อีซา (พระเยซูคริสต์) นั้นถึงแม้ว่าท่านจะถือกำเนิดจากมารดาผู้เป็นสตรีบริสุทธิ์ในพรหมจรรย์ที่มิได้ผ่านการมีเพศสัมพันธ์กับชายใด ตามกฎสภาวการณ์ที่พระผู้เป็นเจ้าทรงกำหนดวางเอาไว้ แต่นั่นก็หาใช่สิ่งที่เป็นไปไม่ได้ในเดชานุภาพอันสมบูรณ์ของพระองค์ เพราะสิ่งอัศจรรย์ยิ่งกว่านั้นพระองค์ได้ทรงกระทำมาแล้ว นั่นคือ การบังเกิดอาดัม ผู้เป็นบิดาแห่งมนุษยชาติจากดิน โดยไม่มีทั้งฝ่ายบิดาและฝ่ายมารดา ไม่มีทั้งเพศชายและเพศหญิง

ดังนั้นเมื่อยอมรับในเดชานุภาพขององค์พระผู้เป็นเจ้าที่ทรงบังเกิดอาดัมจากดินโดยไร้บิดาและมารดา ด้วยเหตุไฉนเล่าจึงไม่เชื่อและไม่ศรัทธาในเดชานุภาพของพระองค์ในการบังเกิด อัล-มะสีหฺ อีซา จากพระนางมัรยัมผู้เป็นมารดาแต่ฝ่ายเดียวเล่า! นี่ยังไม่กล่าวถึงการสร้างสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นๆ ที่พระองค์ได้ทรงสำแดงมหิทธานุภาพของพระองค์เอาไว้ในอีกหลายรูปแบบทั้งสัตว์เซลล์เดียว พืช และสัตว์น้ำบางชนิดตลอดจนการสร้างสิ่งที่ไม่เคยมีให้ปรากฏมีขึ้น เช่น ฟากฟ้า จักรวาล และโลก ทั้งโลกมนุษย์และอมนุษย์ รวมถึงบรรดาทูตสวรรค์ทั้งหลายเป็นต้น

หากการบังเกิด อัล-มะสีหฺ อีซา โดยไม่มีบิดาเป็นเพราะเหตุที่ว่านั่นคือ พระบุตรของพระเจ้า และพระเจ้าทรงเป็นพระบิดาตามคำกล่าวตู่ แน่นอน อาดัม ก็สมควรกว่าในการเป็นพระบุตรของพระจ้า และพระเจ้าทรงเป็นพระบิดาของอาดัมตามตรรกะของการกล่าวตู่นั้น แต่ถ้า อาดัม มิใช่บุตรของพระเจ้า อัล-มะสีหฺ อีซา ก็เช่นกัน หากอ้างว่านั้นคือพระบุตรของพระเจ้าเนื่องด้วยการเป่าพระวิญญาณเข้าสู่ทรวงอกและครรภ์ของพระนางมัรยัม นี่ก็เช่นกัน เพราะอาดัมถูกสร้างมาจากดินที่มีลักษณะแตกต่างกันไปตามระยะการเปลี่ยนแปลงของสภาพดิน อาดัมในรูปของดินก็ยังคงไร้ชีวิต ต่อเมื่อพระผู้เป็นเจ้าทรงเป่าวิญญาณเข้าไปยังร่างที่ไร้ชีวิตนั้น อาดัมก็กลายเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์มีชีวิตได้เช่นกัน

เมื่อกล่าวถึงอาดัมก็ต้องกล่าวถึงหะวาอฺ (เอวา-อีวา-อีฟ) อีกด้วย เพราะพระองค์ทรงบังเกิดหะวาอฺมาจากกระดูกซี่โครงของอาดัม (“ส่วนกระดูกซี่โครงที่พะเจ้าทรงชักออกจากชายผู้นั้น พระองค์ทรงสร้างให้เป็นหญิง แล้วทรงนำมาให้ชายนั้น” ปฐมกาล 2: 22) นี่ก็เป็นรูปแบบการสร้างอีกอย่างหนึ่งของพระผู้เป็นเจ้า คือการสร้างมนุษย์ผู้เป็นหญิงจากชิ้นส่วนของมนุษย์ผู้เป็นชาย กระดูกซี่โครงเป็นเพียงวัตถุที่ไร้ชีวิต แต่จากกระดูกซี่โครงนี่เอง มนุษย์ผู้เป็นหญิงถูกบังเกิดขึ้น แล้วเหตุไฉนพระองค์จะทรงบังเกิดบุตรมนุษย์จากมนุษย์ผู้เป็นหญิงโดยไร้บิดามิได้ เพราะเมื่อพระองค์ทรงมีพระประสงค์จะบังเกิดสิ่งใด พระองค์ทรงตรัสเพียงว่า จงเป็น! สิ่งนั้นก็เป็นขึ้น

ดูเหมือนว่า ถ้อยความในคัมภีรฺอัล-กุรอานจากบท อาลิ-อิรอน อายะฮฺที่ 59 ซึ่งเปรียบเทียบการบังเกิด อัล-มะสีหฺ อีซาโดยไม่มีบิดากับการบังเกิดอาดัมซึ่งรวมถึงหะวาอฺด้วยเป็นสิ่งที่มีนัยบ่งถึงถ้อยความในพระคริสตธรรมคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิม บทปฐมกาล นั่นเอง กล่าวคือ ถ้าคริสตชนหรือชาวยิวสงสัยในมหิทธานุภาพของพระผู้เป็นเจ้าในการบังเกิดสิ่งที่ผิดปกติเช่นนี้ ก็จงย้อนกลับไปพิจารณาเรื่องราวในพระคัมภีร์บทปฐมกาลดูแล้วจะได้รับคำตอบที่ชัดเจนในเรื่องดังกล่าว อาทิเช่น

“พระเจ้าตรัสว่า “จงเกิดความสว่าง” ความสว่างก็เกิดขึ้น” (ปฐมกาล 1:3)

“พระเจ้าตรัสว่า “แผ่นดินจงเกิดพืช คือผักหญ้าที่มีเมล็ด และต้นไม้ที่ออกผล มีเมล็ดในผลตามชนิดของมันบนแผ่นดิน” ก็เป็นดังนั้น” (ปฐมกาล 1:11)

“พระเจ้าตรัสว่า “จงมีดวงสว่างบนฟ้า เพื่อแยกวันออกจากคืน ให้ดวงสว่างเป็นหมายกำหนดฤดู วัน ปี และให้ดวงสว่างบนฟ้า เพื่อส่องสว่างบนแผ่นดิน” ก็เป็นดังนั้น” (ปฐมกาล 1:14-15)

“พระเจ้าตรัสว่า “แผ่นดินจงเกิดสัตว์ที่มีชีวิตตามชนิดของมัน คือ สัตว์ใช้งาน สัตว์เลื้อยคลาน และสัตว์ป่าตามชนิดของมัน” ก็เป็นดังนั้น” (ปฐมกาล 1:24) เป็นต้น

ลองอ่านถ้อยความในพระคริสตธรรมคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิมที่ยกตัวอย่างมาแล้วเปรียบเทียบกับถ้อยความที่ปรากกในคัมภีร์อัล-กุรอานดู ดังนี้


وَإِذَا قَضىٰ أَمْرًا فَإِنَّمَا يَقُوْلُ لَهُ كُنْ فَيَكُوْنُ


ความว่า “และเมื่อพระองค์ทรงลิขิตการกิจใดแล้ว อันที่จริงพระองค์เพียงตรัสแก่ภารกิจนั้นว่า “จงเป็น” แล้วมันก็เป็นไป

(อัล-บะเกาะเราะฮฺ อายะฮฺที่ 117)


إِنَّمَا قَوْلُنَا لِشَيْءٍ إِذَا أَرَدْنٰهُ أَنْ نَقُوْلَ لَهُ كُنْ فَيَكُوْنُ


ความว่า “อันที่จริงคำตรัสของเราแก่สิ่งหนึ่งสิ่งใด เมื่อเราประสงค์ต่อสิ่งนั้นแล้ว คือการที่เราจะตรัสแก่สิ่งนั้นว่า “จงเป็น” แล้วมันก็เป็นขึ้น

(อัน-นะหฺลุ อายะฮฺที่ 40)


مَا كَانَ لِلّٰهِ أَنْ يَتَّخِذَ مِنْ وَلَدٍ ۖ سُبحٰنَهُ ۚ إِذَا قَضىٰ أَمْرًا فَإِنَّمَا يَقُوْلُ لَهُ كُنْ فَيَكُوْنُ


ความว่า “ไม่ปรากฏว่าเป็นการบังควรสำหรับอัลลอฮฺ ซึ่งการที่พระองค์จะทรงมีพระบุตร มหาบริสุทธิ์แด่พระองค์! (จากการกล่าวตู่ว่าพระองค์ทรงมีพระบุตร) เมื่อพระองค์ทรงลิขิตการกิจใดแล้ว อันที่จริงพระองค์เพียงตรัสแก่การการกิจนั้นว่า “จงเป็น” แล้วมันก็เป็นไป

(มัรยัม อายะฮฺที่ 35) เป็นต้น


ในบทอัล-บะเกาะเราะฮฺ อายะฮฺที่ 115 และอายะฮฺที่ 116 ซึ่งกล่าวถึง ทิศตะวันออกและทิศตะวันตกว่าเป็นสิทธิของพระองค์แล้ว ในอายะฮฺที่ 116 พระองค์ทรงตัสว่า :


وَقَالُوْا اتَّخَذَ اللّٰهُ وَلَدًا ۗ سُبْحٰنَهُ ۖ بَلْ لَهُ مَا فِى السَّمٰوٰتِ وَالأَرضِ ۖ كُلٌّ لَهُ قٰنِتُوْنَ


ความว่า “และพวกเขากล่าวว่า อัลลอฮฺทรงมีพระบุตร มหาบริสุทธิ์แก่พระองค์ ทว่าสรรพสิ่งที่อยู่ในชั้นฟ้าและผืนแผ่นดินนั้นเป็นสิทธิในพระอำนาจของพระองค์ สรรพสิ่งทั้งหมดนั้นล้วนจำนนต่อพระองค์


และในตอนต้นอายะฮฺที่ 117 จากบทอัล-บะเกาะเราะฮฺที่อ้างในตัวอย่างข้างต้น พระองค์ทรงดำรัสว่า :


بَدِيْعُ السَّمٰوٰتِ وَالأَرْضِ ۖ وَإِذَا قَضىٰ أَمْرًا فَإِنَّمَا يَقُوْلُ لَهُ كُنْ فَيَكُوْنُ


ความว่า “พระองค์ทรงสรรค์สร้างประดิษฐ์ชั้นฟ้า แผ่นดินนั้นยิ่งใหญ่กว่าการสร้างสรรพสิ่งในมนุษย์โลก และตัวมนุษย์เอง กระนั้นก็หาใช่สิ่งที่ยากสำหรับพระองค์ไม่ พระองค์ทรงตรัสเพียงว่า “จงเป็น” สรรพสิ่งทั้งปวงในฟากฟ้าและผืนแผ่นดินก็อุบัติขึ้นตามพระประสงค์ของพระองค์ 

(ฝ่ายมนุษย์ก็เหลือกำลังที่จะทำได้ แต่ไม่เหลือกำลังของพระเจ้า เพราะว่าพระเจ้าทรงกระทำให้สำเร็จได้ทุกสิ่ง” (มาระโก 10:27) 
“สิ่งที่มนุษย์ทำไม่ได้ พระเจ้าทรงกระทำได้” (ลูกา 18:27)


ดังนั้น หากการอุบัติขึ้นของ อัล-มะสีหฺ อีซา (พระเยซูคริสต์) โดยไม่มีบิดา เป็นเหตุในการกล่าวอ้างว่านั่นเป็นเพราะท่านคือ “บุตรของพระเจ้า” แล้วด้วยเหตุไฉนพระคริสตธรรมคัมภีร์จึงระบุถึงเชื้อสายของท่านด้วยเล่า! ก็ในเมื่อพระเยซูคริสต์ คือ “พระบุตรของพระเจ้า” แล้วจะอ้างเชื้อสายของท่านจาก “โยเซฟ” สามีของพระนางมารีย์ทำไม! เพราะท่านมิได้ถือกำเนิดจาก “โยเซฟ” เมื่อโยเซฟมิใช่บิดาของท่าน ท่านก็ย่อมมิใช่เชื้อสายของ “โยเซฟ” นี่คือความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับสถานภาพของพระเยซูคริสต์ ว่าด้วยเชื้อสายและการลำดับพงศ์ของพระองค์ ซึ่งสรุปได้ว่า

  1. พระเยซูคริสต์เป็นพระบุตรของพระเจ้า ซึ่งข้อนี้กล่าวมาแล้วว่าเป็นจริงตามคำกล่าวอ้างนั้นหรือไม่?
  2. พระเยซูคริสต์คือบุตรของมนุษย์ซึ่งยังสับสนอยู่ว่ามนุษย์ผู้ให้กำเนิดพระเยซูคริสต์คือผู้ใดกัน ระหว่างพระนางมัรยัม (มารีย์) เพียงผ่ายเดียว หรือว่าท่านมีบิดาซึ่งมีนามว่า โยเซฟ ซึ่งสืบเชื้อสายถึงกษัตริย์ดาวิด (นบีดาวูด อะลัยฮิสสลาม)

ในข้อสรุปที่ 1 นั้นเป็นที่ชัดเจนแล้วว่า พระเยซูคริสต์มิใช่พระบุตรของพระเจ้าตามที่ความหมายที่แท้จริง การที่พระองค์ทรงเรียกขานพระองค์ในบางเหตุการณ์ว่า พระองค์เป็นพระบุตร และทรงเรียกขานพระผู้เป็นเจ้าว่า “พระบิดา” เป็นเพียงเรื่องของสำนวนโวหารอันเป็นจารีตทางภาษาของผู้คนในยุคสมัยของพระองค์

แต่ถ้าคริสตชนยืนกรานตามความหมายที่แท้จริง และเชื่อว่าพระเยซูคริสต์คือพระบุตรของพระเจ้าจริงๆ ก็โปรดอย่าลืมว่า ในถ้อยความของพระคริสตธรรมคัมภีร์ทั้ง 2 ภาคมีการใช้ถ้อยคำว่า “พระบุตรของพระเจ้า” กับ อาดัมและกลุ่มบุคคลอีกเป็นจำนวนมาก แล้วจะอธิบายเรื่องนี้ได้อย่างไร? และถ้าพระองค์เป็นพระบุตรของพระเจ้าจริงตามคำอ้าง ก็ย่อมไม่มีความจำเป็นอันใดเลยในการสืบลำดับพงศ์ของพระเยซูคริสต์ เพราะพระองค์มิได้สืบเชื้อสายมาจากมนุษย์แต่พระองค์ทรงเป็นพระบุตรที่สืบถึงองค์พระผู้เป็นเจ้าพระบิดาของพระองค์ตามคำกล่าวอ้างเท่านั้น

ในข้อสรุปที่ 2 นั้นมี 2 ประเด็น คือ พระเยซูคริสต์ทรงเป็นบุตรของพระนางมารีย์ (มัรยัม) แต่เพียงผู้เดียว โดยไม่มีบิดาซึ่งเป็นมนุษย์เข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งเราได้อธิบายมาแล้วว่าเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ในมหิทธานุภาพของพระผู้เป็นเจ้า คัมภีร์อัล-กุรอานได้ยืนยันในความเชื่อนี้ ชาวมุสลิมก็ศรัทธาเช่นนี้ พระคริสตธรรมคัมภีร์ก็ระบุเอาไว้เช่นนี้ ดังปรากฏว่า :

“พระเยซูที่เรียกว่าพระคริสต์ ก็ทรงบังเกิดมาจากนางมารีย์นี้” (มัทธิว 1:16)

“ดูเถิด หญิงพรหมจารีคนหนึ่งจะตั้งครรภ์และคลอดบุตรชายคนหนึ่ง และเขาจะเรียกนามของท่านว่าอิมมานูเอล แปลว่าพระเจ้าทรงอยู่กับเรา” (มัทธิว 1:23)

“ดูเถิด เธอจะตั้งครรภ์และคลอดบุตรชาย จงตั้งชื่อบุตรนั้นว่าเยซู” (ลูกา 1:31)

ฝ่ายมารีย์ทูลทูตสวรรค์นั้นว่า “เหตุการณ์นั้นจะเป็นไปอย่างไรได้ เพราะข้าพเจ้ายังหาได้ร่วมกับชายไม่” (ลูกา 1:34)

อัล-มะสีหฺ อีซา บุตรมัรยัม มิใช่บุตรของโยเซฟ (ยุซุฟ ช่างไม้)


เมื่อพระนางมัรยัม (มารีย์) เป็นมารดาของอัล-มะสีหฺ อีซา (พระเยซูคริสต์) ซึ่งพระนางตั้งครรภ์อัล-มะสีห์ อีซา ทั้งๆ ที่พระนางเป็นหญิงพรหมจารี ไม่เคยร่วมกับชายใดเลย พระนางก็คือมารดาแต่ฝ่ายเดียว การสืบลำดับพงศ์ของพระเยซูคริสต์ก็ต้องสืบจากฝ่ายมารดาของพระองค์เท่านั้น สิ่งที่คัมภีร์อัล-กุรอานยืนยันเอาไว้อย่างชัดเจนก็คือ การเรียกขาน อัล-มะสีหฺ อีซา ว่าเป็นบุตรของมัรยัม (اَلْمَسِيْحُ عِيْسٰى ابْنُ مَرْيَمَ) ถึง 22 ครั้ง ในบทต่างๆ ของคัมภีร์ อัล-กุรอาน

นั่นหมายความว่าทุกครั้งที่กล่าวถึง อัล-มะสีหฺ อีซา (พระเยซูคริสต์) อัล-กุรอานก็จะระบุไว้อย่างชัดเจนว่า “บุตรชายของมัรยัม” ทุกครั้งไป ซึ่งเป็นการตอกย้ำว่า อัล-มะสีหฺ อีซา มิใช่บุตรของพระเจ้า และมิใช่บุตรของ “โยเซฟ” ในคราเดียวกัน เหตุที่ “โยเซฟ” มิใช่บิดาของอัล-มะสีหฺ อีซา ก็เพราะพระนางมัรยัมได้ตั้งครรภ์อยู่ก่อนแล้ว ดังปรากฏในพระคริสตธรรมคัมภีร์ว่า

“เรื่องพระกำเนิดของพระเยซูคริสต์เป็นดังนี้ คือมารีย์ผู้เป็นมารดาของพระเยซูนั้น เดิมโยเซฟได้สู่ขอหมั้นกันไว้แล้วก่อนที่จะได้อยู่กินด้วยกันก็ปรากฏว่า มารีย์มีครรภ์แล้ว ด้วยเดชพระวิญญาณบริสุทธิ์” (มัทธิว 1:8)

“ฝ่ายโยเซฟก็ขึ้นไปจากเมืองนาซาเร็ธ แคว้นกาลิลีถึงเมืองของดาวิด ชื่อเบธเลเฮมแคว้นยูเดียด้วย เพราะว่าเขาเป็นวงศ์วานและเชื้อสายของดาวิด เขาได้ไปกับมารีย์ที่เขาได้หมั้นไว้แล้ว เพื่อจะขึ้นทะเบียนและนางมีครรภ์” (ลูกา 2:4-5)

เมื่อพระนางมัรยัม (มารีย์) มิได้ตั้งครรภ์จากโยเซฟ (ยูซุฟ อัน-นัจญ๊าร) คู่หมั้นของพระนาง อัล-มะสีหฺ อีซา (พระเยซูคริสต์) ก็ย่อมมิใช่บุตรของโยเซฟ การสืบเชื้อสายของอัล-มะสีหฺ อีซา ก็ต้องสืบเชื้อสายจากฝ่ายมารดาของท่านเท่านั้น กล่าวคือ อีซา (พระเยซู) เป็นบุตรของมัรยัม (มารีย์) มัรยัมเป็นบุตรีของอิมรอน อิมรอนเป็นบุตรของฮาชิม ฮาชิมเป็นบุตรของอะมูน (อัมโมน) อะมูนเป็นบุตรของมีชา มีชาเป็นบุตรของหิซกิยา หิซกิยาเป็นบุตรของอะหฺรีก

อะหฺรีกเป็นบุตรของเมาษิน เมาษินเป็นบุตรของอะซาซิยา อะซาซิยาเป็นบุตรของอัมศิยา อัมศิยาเป็นบุตรของยาวิชฺ ยาวิชฺเป็นบุตรของอะหฺรีฮู อะหฺรีฮูเป็นบุตรของยาซิม ยาซิมเป็นบุตรของยะโฮฟาชาตฺ ยะโฮฟาชาตฺเป็นบุตรของอีซา อีซาเป็นบุตรของอิบบาน อิบบานเป็นบุตรของรุหฺบุอาม รุหฺบุอามเป็นบุตรของดาวูด (ดาวิด) (ตามรายงานของมุฮัมมัด อิบนุ อิสหาก)

อย่างไรก็ตามไม่มีข้อขัดแย้งว่า พระนางมัรยัมสืบเชื้อสายถึงดาวูด อะลัยฮิสสลาม (ดาวิด) ถึงแม้ว่า อบุลกอสิม อิบนุอะสากิรฺ จะระบุเชื้อสายที่แตกต่างออกไปจากอิบนุอิสหากก็ตาม คือ อิมรอนเป็นบุตรของมาธาน (มัทธาน) มาธานเป็นบุตรของอัลยูด (เอลีอูด) อัลยูดเป็นบุตรของอัคนัซ อัคนัซเป็นบุตรศอดูก (ศาโดก) ศอดูกเป็นบุตรอิยาซูซ (อาซอร์) อิยาซูซ เป็นบุตรอัลยากีม (เอลียาคิม) อัลยากีมเป็นบุตรอัยบูด (อาบียุด) อัยบูดเป็นบุตรซุรอบาบีล (เศรุบบาเบล)

ซุรอบาบีลเป็นบุตรชาลตาน (เชอัลทิเอล) ชาลตาลเป็นบุตรยูฮีบา (เยโคบิยาห์) ยูฮีบาเป็นบุตรบัรชา บัรชาเป็นบุตรอะมูน (อาโมน) อะมูนเป็นบุตรมีชา มีชาเป็นบุตรฮิซกียา (เฮเซคียาร์) ฮัซกียาเป็นบุตรอะหาซ (อาหัส) อะหาซเป็นบุตรมูษาม (โยธาม) มูษามเป็นบุตรอุซริยา (อุสซียาห์) อุซรียาเป็นบุตรยูรอม (โยรัม) ยูรอมเป็นบุตรยูชาฟาต (เยโฮชาฟัท) ยูชาฟาตเป็นบุตรอีซา (อาสา) อีซาเป็นบุตรอีบา (อาบียาห์) อีบาเป็นบุตรรุหฺอาม (เรโหโบอาม) รุหฺบุอามเป็นบุตรสุลัยมาน (ซาโลมอน) สุลัยมานเป็นบุตรดาวูด (ดาวิด) เป็นต้น

ซึ่งจะดูสอดคล้องกับลำดับพงศ์ที่มัทธิวระบุเอาไว้ในพระคริสตธรรมคัมภีร์ จะมีการออกชื่อแตกต่างกันไปบ้างตามสำเนียงอาหรับกับฮิบรู ซึ่งเป็นภาษาในตระกูลเดียวกัน ประเด็นที่ 1 นี้จึงอยู่ตรงการลำดับพงศ์ของพระเยซูคริสต์จากฝ่ายของโยเซฟ ซึ่งที่ถูกต้องเป็นฝ่ายของมารีย์ (มัรยัม) ส่วนประเด็นที่ 2 ก็คือการอ้างว่ารพระเยซูคริสต์ (อีซา อะลัยฮิสสลาม) เป็นบุตรของโยเซฟ (ยูซุฟ) อย่างที่พระคริสตธรรมคัมภีร์ได้ระบุเอาไว้ ซึ่งได้กล่าวมาแล้วว่า โยเซฟมิใช่บิดาของอัล-มะสีหฺ อีซา เพราะพระนางมัรยัมตั้งครรภ์อยู่ก่อนที่โยเซฟ (ยูซุฟ) จะรับมาเป็นภรรยา

จึงเป็นสิ่งที่น่าคิดว่าด้วยสาเหตุใด พระคริสตธรรมคัมภีร์ทั้งสองฉบับ คือ มัทธิวและลูกา จึงอ้างบัญชีลำดับพงศ์ของพระเยซูคริสต์จากฝ่ายของโยเซฟ แทนที่จะไล่ลำดับพงศ์จากฝ่ายของมารีย์ซึ่งสืบถึงกษัตริย์ดาวิด (ดาวุด) เช่นกัน การสืบลำดับพงศ์ของพระเยซูคริสต์จากโยเซฟก็ย่อมเป็นการยืนยันโดยไม่ตั้งใจว่าพระเยซูคริสต์เป็นบุตรมนุษย์ ไม่ใช่พระเจ้าหรือบุตรของพระเจ้า เพราะทั้งบุตรของพระเจ้าและพระเจ้าไม่สืบเชื้อสายจากมนุษย์

และยังเป็นการยอมรับต่อข้อกล่าวหาของพวกยิวที่ว่า อัล-มะสีหฺ อีซาเกิดจากการชิงสุกก่อนห่ามของโยเซฟที่ทำให้มารีย์ตั้งครรภ์ก่อนที่จะตบแต่งเป็นภรรยา เพราะการอ้างว่า อัล-มะสีหฺ อีซา เป็นบุตรของโยเซฟ (ยูซุฟ) ก็เท่ากับยัดเยียดข้อกล่าวหาดังกล่าวไปแล้ว ถึงแม้พระคริสตธรรมคัมภีร์จะระบุว่า “โยเซฟมิได้สมสู่กับเธอ จนประสูติบุตรชายแล้ว แล้วโยเซฟเรียกนามของบุตรนั้นว่าเยซู” (มัทธิว 1:25) ก็ตาม พวกยิวก็คงไม่เชื่อ

อย่างน้อยก็ชาวยิวในเมืองนาซาเร็ธซึ่งเรียกขานพระเยซูคริสต์ว่า “คนนี้เป็นลูกช่างไม้มิใช่หรือ! (มัทธิว 13:55) คนนี้เป็นบุตรของโยเซฟมิใช่เหรอ! (ลูกา 4:22) จริงอยู่คนเหล่านั้นอาจจะเข้าใจว่าโยเซฟคือบิดาของพระเยซูคริสต์ เพราะโยเซฟเป็นสามีของมารีย์ แต่ไฉนเลยผู้เขียนพระคริสตธรรมคัมภีร์ทั้งสองฉบับคือ มัทธิวกับลูกาจึงต้องกล่าวถึงลำดับพงศ์ของพระเยซูคริสต์จากทางฝ่ายของโยเซฟด้วย

ในเมื่อมารีย์ (มัรยัม) ตั้งครรภ์มาก่อนแล้วยด้วยเดชพระวิญญาณบริสุทธิ์โดยที่โยเซฟมิได้เกี่ยวข้องในการตั้งครรภ์นั้นเลย สิ่งที่ยืนยันในเรื่องนี้คือ พระคริสตธรรมคัมภีร์ระบุว่า “แต่โยเซฟคู่หมั้นของเขาเป็นมีธรรมะไม่พอใจที่จะแพร่งพรายความเป็นไปของเธอ หมายจะถอนหมั้นเสียลับๆ” (มัทธิว 1:19) การที่โยเซฟมีเจตนาจะถอนหมั้นมารีย์นั่นย่อมแสดงว่า โยเซฟมิใช่บิดาของพระเยซูไม่ว่าจะเป็นบิดาตามชอบธรรมหรือไม่ก็ตาม ปัญหาไม่ได้จบอยู่เพียงแค่นี้

กล่าวคือเมื่อมัทธิวกับลูการะบุถึงลำดับพงศ์ของพระเยซูคริสต์จากฝ่ายโยเซฟ มัทธิวกับลูกากลับสืบลำดับพงศ์ของพระเยซูคริสต์ที่แตกต่างกันจนดูเป็นสิ่งที่ขัดแย้ง มัทธิวระบุว่าโยเซฟเป็นบุตรของยาโคบบุตรของมัทธาน (มัทธิว 1:15-16) แต่ลูกากลับระบุว่า โยเซฟเป็นบุตรของเฮลี เฮลีเป็ยบุตรของมัทธัต (ลูกา 3:23-24) ซึ่งเกิดคำถามว่า ตกลงโยเซฟเป็นบุตรของยาโคบ หรือเป็นบุตรของเฮลี? ลองเปรียบเทียบรายชื่อการลำดับพงศ์ทั้งของมัทธิวและลูกกา


ความขัดแย้งของพระคริสตธรรมคัมภีร์ในการสืบลำดับพงศ์พระเยซูคริสต์


เฉพาะการสืบลำดับพงศ์ของพระเยซูคริสต์ซึ่งมีปรากฏอยู่ในพระคริสตธรรมคัมภีร์เพียง 2 ฉบับ คือ มัทธิวและลูกาก็มีความแตกต่างกันอย่างมาก นี่เพียงการสืบถึงดาวิดเท่านั้น ยังไม่รวมถึงการสืบลำดับพงศ์ที่สูงขึ้นไปจนถึงอับราฮัมและเลยไปถึงอาดัมซึ่งกล่าวไว้ในฉบับของลูกาเท่านั้น

ความแตกต่างในการลำดับพงศ์ของพระคริสตธรรมคัมภีร์สองฉบับอยู่ในช่วงระหว่างโยเซฟช่างไม้ถึงกษัตริย์ดาวิด ซึ่งในฉบับมัทธิวมีเพียงแค่ 27 คน แต่ในฉบับลูกามีเพิ่มเข้ามาจนมีจำนวนที่เลยไปอีก 15 คน และรายชื่อบุคคลก็แตกต่างกัน ซึ่งสรุปได้ว่า บัญชีลำดับพงศ์ของพระเยซูในพระคัมภีร์ทั้ง 2 ฉบับมีความขัดแย้งและแตกต่างกันดังนี้
  1. มัทธิวระบุว่า โยเซฟช่างไม้คู่หมั้นของมารีย์เป็นบุตรยาโคบ แต่ลูการะบุว่า โยเซฟเป็นบุตรของเฮลี
  2. มัทธิว ไล่ลำดับพงศ์ของพระเยซูคริสต์ไปสุดที่ซาโลมอน (สุลัยมาน) บุตรดาวิด (ดาวูด) ส่วนในลูกาไปสุดที่นาธันบุตรดาวิด
  3. มัทธิวระบุว่า นับจากดาวิดถึงพระเยซูคริสต์มี 26 ชั่วคน แต่ลูกการะบุว่ามี 41 ชั่วคน
  4. มัทธิวระบุว่า เชอัลทิอัลเป็นบุตรเยโคมิยาห์ แต่ลูการะบุว่า เชอัลทิอัลเป็นบุตรเนรี
  5. มัทธิวระบุว่า บุตรของเศรุบบาเบลมีชื่อว่า “อาบียุด” แต่ลูการะบุว่า บุตรของเศรุบบาเบลมีชื่อว่า “เรซา” ปรากฏว่ารายชื่อบรรดาบุตรของเศรุบบาเบลนี้มีบันทึกไว้ในพระคริสตธรรมคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิม 1 พงศาวดาร 3:19-20 คือ เมชุลลาม ฮานันยาห์และน้องสาวของเขาชื่อ เชโลมิท ฮาชูบาห์ โอเฮล เบเรดิยาห์ ฮาสาดิยาห์ และยูชับเฮเลด ห้าคนด้วยกัน” ทั้งนี้ไม่ปรากฏว่ามีรายชื่อทั้งอาบียุดและเรซาแต่อย่างใด
และถ้าอ่านรายชื่อลำดับพงศ์ของพระเยซูคริสต์ในพระคริสตธรรมฉบับมัทธิวอย่างเดียวก็จะพบว่า

ก. จากอับราฮัมถึงดาวิด มี 14 ชั่วคน และซาโลมอนถึงเยโคนิยาห์มี 14 ชั่วคน และจากเชอัลทิอัลถึงโยเซฟช่างไม้มี 13 ชั่วคน ในขณะที่มัทธิวระบุว่ามี 14 ชั่วคน (มัทธิว 1:17) มัทธิวระบุว่า : โยสิยาห์มีบุตรชื่อเยโคนิยาห์กับพี่น้องของท่าน เกิดเมื่อคราวต้องถูกกวาดไปเป็นเชลยยังกรุงบาบิโลน (มัทธิว 1:11) ทำให้เข้าใจว่าการกำเนิดของเยโคนิยาห์และพวกพี่น้องของเขาจากโยสิยาห์นั้นแสดงว่าโยสิยาห์ยังมีชีวิตอยู่ในคราวการกวาดต้อนเชลยซึ่งเป็นสิ่งที่ผิดพลาดด้วยหลักฐาน 4 ข้อด้วยกันคือ

  1. โยสิยาห์เสียชีวิตไปก่อนหน้าการกวาดต้อนแล้วถึง 12 ปี เพราะหลังการเสียชีวิตของโยสิยาห์ ยาโฮอาหัสขึ้นครองราชย์ต่อเป็นเวลา 3 เดือน ต่อมายาโอยาคิมบุตรชายอีกคนของโยสิยาห์ขึ้นครองราชย์ 11 ปี ต่อมายาโอยากีนบุตรยาโฮยาคิมขึ้นครองราชย์ได้ 3 เดือน เนบูคัดเนซาร์ก็จับพระองค์เป็นเชลย และนำพระองค์พร้อมด้วยพงศ์พันธ์อิสราเอลไปยังกรุงบาบิโลน
  2. เยโคนิยาห์คือลูกของลูกโยสิยาห์ (เป็นหลาน) มิใช่ลูกหรือบุตรของโยสิยาห์คือผู้ที่มีชื่อว่า เยโฮยากีน
  3. เยโคนิยาห์ขณะที่อยู่ในช่วงกวาดต้อนเชลยนั้นมีอายุได้ 18 ปีแล้ว ดังนั้นเขาจะกำเนิดในช่วงกวาดต้อนเชลยได้อย่างไร
  4. เยโคนิยาห์ไม่มีพี่น้อง (ดูพงศ์กษัตริย์ 2: 23-25)

ข. บรรดาชั่วอายุคนในช่วงที่ 2 จาก 3 ช่วงที่มัทธิวกล่าวเอาไว้นั้นมี 18 ชั่วอายุคน มิใช่ 14 ชั่วอายุคน ดังมีปรากฏชัดเจนใน 1 พงศาวดาร 3 : 11-17 คือ อาหัสยาห์ โยอาช อามาซิยาห์ และเยโฮยาคิมบุตรโยสิยาห์

ค. “โยรัมมีบุตรชื่ออุสซิยาห์” นี่เป็นความผิดพลาดของมัทธิว (มัทธิว 1:8) เพราะทำให้เข้าใจว่าอุสซิยาห์ เป็นบุตรของโยรัมซึ่งไม่ใช่เช่นนั้น เพราะอุสซิยาห์เป็นบุตรของอามาซิยาห์บุตรโยอาชบุตรอาหัสยาห์บุตรโยรัม แสดงว่ามี 3 ชั่วอายุคนตกหล่นไป ณ ตรงนี้ (ดู 2 พงศาวดาร : 22, 24, 25)

ง. มัทธิวระบุว่าเศรุบบาเบลเป็นบุตรของเชอัลทิเอล (มัทธิว ; 1: 12) ซึ่งผิดพลาดเช่นกัน เพราะเศรุบบาเบลเป็นบุตรของเบดายาห์ (ดู 1 พงศาวดาร 3:19)

จ. มัทธิวระบุว่าอาบียูดเป็นบุตรของเศรุบบาเบล ซึ่งผิดพลาดอีกเช่นกัน เพราะเศรุบบาเบลมีบุตรคือ เมชุลลาม ฮานันยาห์และน้องสาวของเขาคือ เชโลมิท ฮาชูบาห์ โอเฮล เบเรคิยาห์ อาสาดิยาห์ และยูชับเฮเลด ห้าคนด้วยกัน ซึ่งไม่ปรากฏชื่ออาบียุดแต่อย่างใด (ดู 1 พงศาวดาร 3:19-20)

ที่กล่าวมานี้เป็นเพียงตัวอย่างถึงความขัดแย้งและความแตกต่างระหว่างพระคริสตธรรมคัมภีร์ 2 ฉบับที่คล้ายกัน ทั้งในกรณีของพระคริสตธรรมคัมภีร์ฉบับมัทธิวเพียงฉบับเดียวก็ปรากฏข้อผิดพลาดในการลำดับพงศ์ของพระเยซูคริสต์ เมื่อเราย้อนไปดูพระคริสตธรรมเก่าภาคพันธสัญญาเดิม และในกรณีที่ย้อนกลับไปดูคำพูดของผู้เขียนพระคริสตธรรมคัมภีร์เอง

และนี่เป็นหลักฐานที่บ่งชี้ว่าสิ่งที่ถูกบันทึกไว้ในพระคริสตธรรมคัมภีร์มิใช่วิวรณ์จากพระวิญญาณอันบริสุทธิ์ขณะที่มีการเขียนพระคัมภีร์ นอกเหนือจากกรณีที่การลำดับพงศ์ของพระเยซูคริสต์จากฝ่ายของโยเซฟเองที่ไม่เกี่ยวข้องกับการกำเนิดของพระเยซูคริสต์ เพราะโยเซฟมิใช่บิดาของพระองค์

อัล-กุรอานกับวงศ์วานของอิมรอน


ในคัมภีร์อัล-กุรอานมีบท (สูเราะฮฺ) หนึ่งที่ชื่อ อาลิ-อิมรอน หมายถึง วงศ์วานของอิมรอน ซึ่งอิมรอนผู้นี้เป็นบิดาของพระนางมัรยัม (อะลัยฮัสสลาม) นั่นแสดงว่า อัล-กุรอานยืนยันการสืบลำดับพงศ์ของอัล-มะสีหฺ อีซา (พระเยซูคริสต์ จากทางฝ่ายของมัรยัม (อะลัยฮิสสลาม) เท่านั้น และอิมรอนก็สืบเชื้อสายถึงนบีดาวูด (อะลัยฮิสสลาม) หรือกษัตริย์ดาวิดเช่นกัน

และสายตระกูลของอิมรอนนี้ยังเกี่ยวพันธ์กับผู้เผยพระวจนะอีก 2 ท่านคือ ซะกะรียา (เศคาริยาห์) และยะหฺยา (ยอห์น) อีกด้วย ดังนั้นในบทอาลิ-อิมรอนจึงมีเรื่องราวของพระนางมัรยัม อะลัยฮิสสลาม บุตรีของอิมรอน เรื่องราวของอัล-มะสีหฺ อีซา บุตรพระนางมัรยัม และเรื่องราวของซะกะรียา (เศคาริยาห์) และ ยะหฺยา (ยอห์น แบบทิส) ถูกระบุเอาไว้ในบทนี้ ซึ่งเรื่องราวและเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับบรรดาบุคคลข้างต้นไม่ได้ถูกกล่าวถึงในพระคริสตธรรมคัมภีร์แต่อย่างใด

คัมภีร์อัล-กุรอานได้เริ่มเล่าถึงเรื่องราววงศ์วานของอิมรอนในบทอาลิ-อิมรอนนับตั้งแต่ อายะฮฺ (พระธรรมบัญญัติ-โองการ) ที่ 33 เป็นต้นไปดังนี้


إِنَّ اللّٰهَ اصْطَفىٰ اٰدَمَ وَنُوْحًا وَآلَ إِبرٰهِيْمَ وَآلَ عِمْرٰنَ عَلَى الْعٰلَمِيْنَ ﴿٣٣﴾ ذُرِّيَّةً بَعْضُهَا مِنْ بَعْضٍ ۗ وَاللّٰهُ سَمِيْعٌ عَلِيْمٌ ﴿٣٤﴾


ความว่า “แท้จริงอัลลอฮฺทรงเลือกสรรอาดัม นัวฮฺ (โนอาห์) วงศ์วานของอิบรอฮีม (อับราฮัม) เหนือบรรดามนุษย์โลก โดยให้สืบพงศ์ซึ่งกันและกัน และอัลลอฮฺทรงได้ยิน ทรงรู้ดียิ่ง” 
(อาลิ-อิมรอน อายะฮฺที่ 33-34)


ในอายะฮฺนี้ อัลลอฮฺพระผู้เป็นเจ้าทรงบอกให้มนุษยชาติรับรู้ว่าพระองค์ทรงเลือกสรรรให้พงศ์พันธุ์เหล่านี้มีความประเสริฐเหนือมนุษย์ทั้งหลาย พระองค์ทรงเลือกอาดัมให้เป็นบิดาแห่งมนุษยชาติ ทรงบังเกิดอาดัมด้วยพระหัตถ์ของพระองค์ และทรงเป่าวิญญาณเข้าไปยังรูปของอาดัมที่ถูกสร้างจากดิน ทรงให้บรรดาฑูตสวรรค์แสดงความเคารพต่ออาดัม พระองค์ทรงสอนอาดัมให้รู้ถึงนามชื่อต่างๆ และให้อาดัมพำนักอยู่ในสวนสวรรค์ของพระองค์

แล้วต่อมาพระองค์ได้ให้อาดัมลงมาจากสวนสวรรค์นั้น เพื่อสืบเผ่าพันธุ์และปกครองโลก และบรรดาผู้เผยพระวจนะ เหล่าศาสนทูตล้วนแต่มาจากเผ่าพันธุ์ของอาดัม หลังจากยุคของอาดัมพระองค์ทรงเลือกให้นัวหฺ (โนอาห์) เป็นบิดาแห่งมนุษยชาติท่านที่สอง พร้อมกับแต่งตั้งให้นัวหฺเป็นศาสนทูตผู้แรกที่ถูกส่งมายังชาวโลก นัวหฺจึงเป็นผู้เผยพระวจนะที่อาวุโสที่สุด

พระองค์อัลลอฮฺทรงเลือกพงศ์พันธุ์ของอิบรอฮีม (อับราฮัม) ให้เป็นผู้เผยพระวจนะเช่นเดียวกับอิบรอฮีม ส่วนหนึ่งจากผู้เผยพระวจนะที่สืบพงศ์จากอิบรอฮีมคือ อิสมาอีล (อิชเมล) อิสหาก (อิสอัค) ยะอฺกูบ (ยาคอบ-ยาโคบ) และพงศ์พันธุ์อิสราเอลทั้ง 12 ตระกูล และผ่านนบีมุฮัมมัด (ศ็อลลัลลออฺอะลัยฮิวะซัลลัม) ศาสนฑูตท่านสุดท้ายที่สืบพงศ์จากอิสมาอีล (อิชเมล) และพระองค์ได้ทรงเลือกวงศ์วานของอิมรอนที่สืบพงศ์พันธุ์จากอิบรอฮีม คือ พระนางมัรยัม (มารีย์) และอัลมะสีหฺ อีซา บุตรของมัรยัม (พระเยซูคริสต์)

ในอายะฮฺที่ 35-37 คัมภีร์อัล-กุรอานได้เล่าถึงภรรยาของอิมรอนคือ พระนางเฮนน่าห์ (หันนะฮฺ) บุตรีของฟากูดว่า นางได้บนบานกับองค์พระผู้เป็นเจ้าว่าเด็กในครรภ์ของนางนั้นนางจะถวายให้เป็นผู้รับใช้พระองค์ภายในวิหารแห่งกรุงเยรูซาเล็ม ซึ่งก่อนที่นางจะตั้งครรภ์นั้นนางเป็นหญิงหมัน เมื่อพระผู้เป็นเจ้าทรงให้นางตั้งครรภ์นางจึงได้บนสิ่งดังกล่าว ครั้นเมื่อนางคลอดบุตรออกมาเป็นหญิง นางจึงกล่าวด้วยความเสียดายว่า ดิฉันคลอดบุตรเป็นหญิง” ซึ่งพระผู้เป็นเจ้าทรงรู้ดีถึงทารกที่นางคลอดออกมา และทารกเพศชายก็ย่อมไม่เหมือนกับทารกเพศหญิงในการปฏิบัติรับใช้ในวิหารแห่งกรุงเยรูซาเล็ม

ทว่าทารกเพศหญิงนี้ย่อมดีกว่าสิ่งที่นางวาดหวังเอาไว้ นางเฮนน่าตั้งชื่อบุตรหญิงของนางว่า มัรยัม (มารีย์) ซึ่งในภาษาฮิบรูหมายถึง “หญิงผู้ภักดีและรับใช้พระผู้เป็นเจ้า” พร้อมกันนั้นนางเฮนน่าได้วิงวอนขอความคุ้มครองจากพระผู้เป็นเจ้าให้พระองค์ทรงปกปักษ์รักษาบุตรหญิงของนางและลูกหลานของบุตรหญิงผู้นั้นให้พ้นจากความชั่วร้ายของมารร้าย (ซาตาน)

แล้วพระผู้เป็นเจ้าก็ทรงตอบรับคำวิงวอนของนางเฮนน่าห์ และทรงพอพระทัยที่จะรับบุตรหญิงของนางคือ มัรยัม (มารีย์) ให้เป็นผู้ปรนนิบัติรับใช้พระองค์ในวิหารแห่งกรุงเยรูซาเล็ม พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงกำหนดให้ซะกะรียา (เศคาริยาห์) ผู้เผยพระวจนะและเป็นน้าเขยของมัรยัมให้เป็นผู้ดูแลมัรยัมตั้งแต่เยาว์วัย ทุกครั้งที่ซะการียาเข้าไปหามัรยัมในที่บำเพ็ญศีลของนาง ซะกะรียาก็จะพบว่าที่นางมัรยัมนั้นจะมีปัจจัยยังชีพและอาหารหลากหลาย คือผลไม้หลากชนิดที่ต่างฤดูกาล วะกะรียาถามมัรยัมว่า โอ้ มัรยัม สิ่งนี้ที่เธอมีอยู่มาจากไหนกัน? มัรยัมตอบวา : สิ่งนี้มาจากพระผู้เป็นเจ้าพระผู้ทรงประทานปัจจัยยังชีพแก่มวลมนุษย์ ซึ่งมิอาจคิดคำนวณได้ (สรุปความจากอายะฮฺที่ 35-37 บท อาลิ-อิมรอน)

คัมภีร์อัล-กุรอานกล่าวถึงเหตุการณ์สำคัญที่ไม่ปรากฏในพระคริสตธรรมคัมภีร์


เรื่องราวของพระนางมัรยัม (มารีย์) ในช่วงก่อนนางเฮนน่า (หันนะฮฺ) มารดาของพระนางจะตั้งครรภ์และช่วงวัยเยาว์ของพระนางมัรยัม (มารีย์) ซึ่งคัมภีร์อัล-กุรอานได้เล่าเอาไว้ไม่ปรากฏในพระคริสตธรรมคัมภีร์ ภาคพันธสัญญาใหม่ มัทธิวกล่าวถึงพระนางเมื่อโยเซฟได้หมั้นหมายพระนางไว้แล้ว (มัทธิว 1: 16,18) และกล่าวถึงตอนที่พระนางตั้งครรภ์พระเยซูคริสต์นั่นเลยทีเดียว มาระโกก็เริ่มกล่าวถึงพระเยซูคริสต์ทรงรับบัพติศมาจากยอห์นในแม่น้ำจอร์แดน (มาระโก 1 : 9) โดยไม่กล่าวถึงพระนางมัรยัมแต่อย่างใด

ลูกาก็เริ่มกล่าวถึงพระเยซูและพระนางมัรยัมเมื่อตอนที่พระนางเริ่มตั้งครรภ์พระเยซูคริสต์แล้วเช่นกัน (ลูกา 1: 16-38) ยอห์นก็กล่าวถึงตอนพระเยซูคริสต์รับบัพติศมาจากยอห์นบุตรเศคาริยาห์เช่นกัน (ยอห์น 1: 29-34) โดยไม่มีการกล่าวถึงเรื่องราวของพระนางมัรยัม (มารีย์) แต่อย่างใด

จึงเป็นเรื่องแปลกที่พระคริสต์ธรรมคัมภีร์ไม่บันทึกเรื่องราวพระมารดาของพระเยซูคริสต์ ทั้งๆ ที่เรื่องนี้มีความสำคัญและเป็นอรัมภบทสำหรับการสำแดงพระราชกิจของพระผู้เป็นเจ้าในการถือกำเนิดของพระเยซูคริสต์จากพระมารดาผู้เป็นหญิงพรหมจรรย์ เรื่องราวก่อนการตั้งครรภ์ของนางเฮนน่าภรรยาของอิมรอนผู้สืบเชื้อสายถึงกษัตริย์ดาวิดซึ่งมีความน่าอัศจรรย์ใจและเป็นที่ประทับใจในความเป็นมาของพระนางมัรยัม ความสัมพันธ์ระหว่างพระนางมัรยัมกับซะกะรียา (เศคิริยาห์) ผู้เผยพระวจนะกลับถูกละเอาไว้โดยไม่มีการกล่าวถึงอย่างน่าเสียดายและน่าฉงนไปในคราเดียวกัน มีเพียงคัมภีร์อัล-กุรอานเท่านั้นที่กล่าวถึงเหตุการณ์ในช่วงนี้

คัมภีร์อัล-กุรอานได้เล่าถึงช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดในชีวิตของลูกผู้หญิงคนหนึ่ง คือช่วงเวลาที่ทูตสวรรค์ ญิบรีล (กาเบรียล) ได้มาหามัรยัม (มารีย์) และแจ้งถึงพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า ดังนี้ว่า :


إِذْ قَالَتِ الْمَلٰئِكَةُ يٰمَريَمُ إِنَّ اللّٰهَ يُبَشِّرُكِ بِكَلِمَةٍ مِنْهُ اسْمُهُ الْمَسِيْحُ عِيْسَى ابْنُ مَريَمَ وَجيهًا فِى الدُّنيا وَالءاخِرَةِ وَمِنَ المُقَرَّبينَ ﴿٤٥﴾ وَيُكَلِّمُ النّاسَ فِى المَهدِ وَكَهلًا وَمِنَ الصّٰلِحينَ ﴿٤٦﴾ قالَت رَبِّ أَنّىٰ يَكونُ لى وَلَدٌ وَلَم يَمسَسنى بَشَرٌ ۖ قالَ كَذٰلِكِ اللَّهُ يَخلُقُ ما يَشاءُ ۚ إِذا قَضىٰ أَمرًا فَإِنَّما يَقولُ لَهُ كُن فَيَكونُ ﴿٤٧﴾


ความว่า : (โอ้ มุฮัมมัด ท่านมิได้อยู่ร่วมด้วย) ขณะที่เหล่าทูตสวรรค์ (หมายถึง ญิบรีล –กาเบรียล) ได้กล่าวว่า : โอ้ มัรยัมเอ๋ย แท้จริงอัลลอฮฺทรงแจ้งข่าวดีแก่เธอด้วยพระวาทะจากพระองค์ (หมายถึง อีซาผู้จะถูกบังเกิดด้วยพระวาทะของพระองค์ที่ว่า จงเป็น) ชื่อของเขาคือ อัล-มะสีหฺ อีซา บุตรของมัรยัม โดยเขาเป็นผู้มีเกียรติในโลกนี้ (ด้วยการเป็นผู้เผยพระวจนะ) และโลกหน้า (ด้วยการมีฐานันดรอันสูงส่ง) และเป็นส่วนหนึ่งจากเหล่าผู้ใกล้ชิด (ณ องค์อัลลอฮฺ) และเขาจะพูดกับผู้คนทั้งในยามแบเบาะและยามเติบโตและเขาเป็นส่วนหนึ่งจากบรรดาผู้ประพฤติชอบ มัรยัมกล่าวว่า โอ้พระผู้อภิบาลของข้าพระองค์ ข้าพระองค์จะมีบุตรอย่างไรได้เล่า ทั้งๆ ที่ไม่เคยมีชายใดได้ร่วมกับข้าพระองค์เลย (หมายถึงไม่เคยผ่านการมีเพศสัมพันธ์มาก่อนเลย) ทูตสวรรค์กล่าวว่า เช่นนั้นแหล่ะเธอ พระองค์อัลลอฮฺจะทรงบังเกิดสิ่งซึ่งพระองค์ทรงมีพระประสงค์ เมื่อพระองค์ทรงกระทำการใด พระองค์เพียงแค่ตรัสว่า “จงเป็น” แก่การกิจนั้นแล้วการกิจนั้นก็เป็นไป 
(อาลิ-อิมรอน อายะฮฺที่ 45-47)


ในอายะฮฺข้างต้น อัล-กุรอานได้กล่าวถึงกิตติคุณของอัล-มะสีหฺ อีซา บุตรมัรยัมเอาไว้หลายประการด้วยกัน คือ

  • เป็นผู้มีเกียรติอันสูงส่งทั้งในโลกนี้และโลกหน้า
  • เป็นหนึ่งจากเหล่าผู้ชิดใกล้องค์พระผู้เป็นเจ้า
  • เป็นผู้สำแดงสิ่งที่น่าอัศจรรย์ยิ่ง คือการพูดโต้ตอบกับผู้คนได้นับแต่เป็นทารกในวัยแบเบาะ
  • เป็นผู้ประพฤติชอบในสายพระเนตรของพระเจ้า
  • เป็นผู้ที่ถูกบังเกิดจากพระวาทะของพระเจ้า โดยไม่มีบิดาเข้ามาเกี่ยวข้องซึ่งเป็นกิตติคุณแรกสุดของท่าน

ทูตสวรรค์ญิบรีล (กาเบรียล) และภารกิจของท่าน


ทูตสวรรค์ที่มาหาพระนางมัรยัม (อะลัยฮัสสลาม) คือ ญิบรีล (ญิบรออีล) หรือ กาเบรียล คัมภีร์อัล-กุรอานเรียกนามของญิบรีลหรือกาเบรียลเอาไว้อีกนามหนึ่งว่า อัร-รูหฺ (الروح) ซึ่งตามรากศัพท์หมายถึง วิญญาณ, ชีวิต, วิวรณ์ หรือการดลใจ ตลอดจนการตัดสินพระราชกิจของพระผู้เป็นเจ้าตามที่พระองค์ทรงลิขิตเอาไว้ คำว่า อัร-รูหฺ (الروح) ซึ่งหมายถึง ญิบรีลหรือกาเบรียลถูกกล่าวไว้ในหลายอายะฮฺ เช่น


تَنَزَّلُ المَلٰئِكَةُ وَالرّوحُ فِيْهَا


ความว่า “บรรดาทูตสวรรค์และอัร-รูหฺ (หมายถึงญิบรีล) จะลงมาในค่ำคืนอันทรงเกียรตินั้น” 
(อัล-กอดรุ อายะฮฺที่ 4)


บางทีคำว่า “อัร-รูหฺ” ก็มาในสำนวนว่า รูหฺ-อัลกุดุส (رُوْحُ القُدُسِ) ซึ่งเป็นการอ้างอิงคำแสดงคุณลักษณะไปยังคำที่ถูกแสดงคุณลักษณะในสำนวนอาหรับ มีความหมายว่า วิญญาณอันบริสุทธิ์” (اَلرُّوْحُ الْمُقَدَّسَةُ) เหตุที่เรียกนามของทูตสวรค์ญิบรีลหรือกาเบรียลว่า “วิญญาณอันบริสุทธิ์” เป็นเพราะความบริสุทธิ์หมดจดของญิบรีล ซึ่งจะลงมายังบรรดาผู้เผยพระวจนะและศาสนทูตของพระผู้เป็นเจ้าและญิบรีลจะทำให้จิตใจของบุคคลเหล่านั้นสะอาดบริสุทธิ์

หรือหมายถึง “วิญญาณขององค์ผู้ทรงบริสุทธิ์” (رُوْحُ الْقُدُسِ) เพราะคำว่า “อัลกุดุส” หมายถึงพระองค์อัลลอฮฺและวิญญาณของพระองค์คือญิบรีล และการอ้างนี้เป็นการอ้างในเชิงให้เกียรติแก่ญิบรีล เหมือนคำว่า บ่าวของพระผู้เป็นเจ้า ศาสนทูตของพระผู้เป็นเจ้า และอูฐของพระผู้เป็นเจ้า เป็นต้น

ดังนั้น คำว่า พระวิญญาณของพระเจ้าจึงมิได้หมายถึงองค์พระผู้เป็นเจ้าหรือคุณลักษณะของพระองค์แต่อย่างใด แต่พระองค์ทรงเป็นเจ้าของผู้ทรงบังเกิด “พระวิญญาณ” อันหมายถึง ญิบรีล นั่นเอง แต่คริสตชนตีความพระวิญญาณของพระผู้เป็นเจ้าว่า เป็นภาคหนึ่งของพระองค์ ซึ่งเรียกว่า “พระจิต” ซึ่งจะได้กล่าวถึงเรื่องนี้ต่อไป อินชาอัลลอฮฺ และบางที ญิบรีลก็ถูกเรียกในนามว่า อัร-รูหฺ อัล-อะมีน ซึ่งหมายถึง วิญญาณมีความสัตย์” คือ ญิบรีลนั่นเอง ดังปรากฏในบท อัช-ชุอะรออฺ อายะฮฺที่ 193-195

อัล-กุรอานได้กล่าวถึงภารกิจของทูตสวรรค์ญิบรีลหรือกาเบรียลที่เกี่ยวข้องกับอัล/มะสีหฺ อีซา บุตรมัรยัม ว่า


وَآتَيْنَا عِيْسَى ابْنَ مَرْيَمَ الْبَيِّنٰتِ وَأَيَّدْنٰهُ بِرُوْحِ الْقُدُسِ


ความว่า “และเราได้นำบรรดาหลักฐานอันแจ้งชัด (บรรดาปาฏิหาริย์ที่อัล-มะสีหฺ ได้สำแดงตามพระอนุมัติของพระเจ้า เช่น การทำให้คนตายฟื้นคืนชีด การรักษาคนตาบอดเป็นใบ้ และคนที่เป็นโรคเรื้อน เป็นต้น) มายังอีซา บุตรของมัรยัม และเราได้เสริมให้อีซามีความเข้มแข็งด้วยวิญญาณอันบริสุทธิ์ (คือญิบรีล)

(อัล-บะเกาะเราะฮฺ อายะฮฺที่ 87, 253)


إِذْ قَالَ اللّٰهُ يٰعِيْسَى ابْنَ مَرْيَمَ اذْكُرْ نِعْمَتِىْ عَلَيْكَ وَعَلىٰ وٰلِدَتِكَ إِذْ أَيَّدْتُكَ بِرُوْحِ الْقُدُسِ


ความว่า “(จงรำลึก) ขณะพระองค์อัลลอฮฺทรงตรัสว่า โอ้ อีซาบุตรมัรยัมเอ๋ย เจ้าจงรำลึกถึงความโปรดปรานของข้าที่มีต่อเจ้าและต่อมารดาของเจ้า กล่าวคือ ข้าได้เสริมให้เจ้ามีความเข้มแข็งด้วยวิญญาณอันบริสุทธ์ (คือ ญิบรีล)

(อัล-มาอิดะฮฺ อายะฮฺที่ 110)


และทูตสวรรค์ญิบรีลหรือกาเบรียลคือผู้ที่นำข่าวมาแจ้งแก่ซะกะรียา (เศคาริยาห์) ว่า พระผู้เป็นเจ้าทรงประทานยะหฺยา (ยอห์น) เป็นบุตรแก่ซะกะรียา (เศคาริยาห์) ดังปรากฏในคัมภีร์อัลกุรอานว่า


هُنالِكَ دَعا زَكَرِيّا رَبَّهُ ۖ قالَ رَبِّ هَب لى مِن لَدُنكَ ذُرِّيَّةً طَيِّبَةً ۖ إِنَّكَ سَميعُ الدُّعاءِ ﴿٣٨﴾ فَنادَتهُ المَلٰئِكَةُ وَهُوَ قائِمٌ يُصَلّى فِى المِحرابِ أَنَّ اللَّهَ يُبَشِّرُكَ بِيَحيىٰ مُصَدِّقًا بِكَلِمَةٍ مِنَ اللَّهِ وَسَيِّدًا وَحَصورًا وَنَبِيًّا مِنَ الصّٰلِحينَ ﴿٣٩﴾


ความว่า : ณ เวลาและที่นั่น ซะกะรียาได้วิงวอนขอต่อพระผู้อภิบาลของเขา เขากล่าวว่า โอ้องค์พระผู้อภิบาลของข้าพระองค์ โปรดทรงประทานบุตรผู้สืบสกุลที่ดีจากพระองค์ท่านแก่พระองค์ด้วยเถิด แท้จริงพระองค์ทรงตอบรับคำวิงวอนเสมอ แล้วทูตสวรรค์ก็ได้ร้องเรียกซะกะรียา ขณะที่เขากำลังยืนนมัสการอยู่ในที่บำเพ็ญศีลว่า แท้จริงพระองค์อัลลอฮฺทรงแจ้งข่าวดีแก่ท่านด้วยยะหฺยา (ยอห์น) โดยที่ยะหฺยานั้นเป็นผู้ยืนยันความสัตย์ของอีซาบุตรมัรยัมผู้เป็นพระวาทะจากอัลลอฮฺ (กล่าวคือ ยืนยันว่าอีซาคือผู้ถูกบังเกิดด้วยพระวาทะของพระองค์ที่ทรงตรัสว่า “จงเป็น” ) (อีกทั้งยะหฺยานั้น) เป็นนาย เป็นผู้มีตบะ (ไม่ข้องแวะกับอิสตรี) และเป็นผู้ประกาศพระวจนะจากมวลผู้ประพฤติชอบ” 
(อาลิ – อิมรอน อายะฮฺที่ 38-39)


ในอายะฮฺที่ 39 นี้ อัล-กุรอานได้กล่าวถึงกิตติคุณของยะหฺยา (ยอห์น) บุตรของซะกะรียา (เศคาริยาห์) เอาไว้หลายประการดังนี้

  • เป็นผู้ศรัทธาและยืนยันว่า อัล-มะสีหฺ อีซา อิบนุมัรยัม คือผู้ที่ถูกบังเกิดโดยพระวาทะของพระผู้เป็นเจ้า
  • เป็นนาย หมายถึง เป็นผู้นำที่มีผู้ติดตามและเป็นสานุศิษย์
  • เป็นผู้ถือเพศพรหมจรรย์คือไม่ข้องแวะกับอิสตรีและเป็นผู้ที่ตบะที่หักห้ามและควบคุมอารมณ์จากการประพฤติสิ่งที่ผิดพระธรรมบัญญัติ
  • เป็นผู้เผยพระวจนะของพระเจ้าที่มาจากสายตระกูลของผู้ประพฤติชอบคือ มีบิดาเป็นผู้เผยพระวจนะเช่นกัน

ในพระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับมัทธิว (1 : 20-23) ไม่ได้ระบุว่า ฑูตสวรรค์ได้มาพบมัรยัม (มารีย์) แต่กลายเป็นว่า “ฑูตสวรรค์ได้มาปรากฏแก่โยเซฟในความฝันและกล่าวถึงเรื่องของมัรยัม (มารีย์)”

ส่วนในฉบับลูการะบุว่า “เมื่อถึงเดือนที่หก พระเจ้าทรงใช้ทูตสวรรค์กาเบรียลนั้นให้มายังเมืองหนึ่งในแคว้นกาลิลี ชื่อ นาซาเร็ธ มาถึงหญิงพรหมจรรย์คนหนึ่งที่ได้หมั้นกันไว้กับชายคนหนึ่งที่ชื่อ โยเซฟ เป็นคนในเชื้อวงศ์ดาวิด หญิงพรหมจารีนั้นชื่อ มารีย์ ทูตสวรรค์เข้าบ้านมาถึงหญิงพรหมจารีนั้น

แล้วว่า เธอผู้ซึ่งพระเจ้าทรงโปรดปรานมากจงจำเริญเถิด พระเป็นเจ้าทรงสถิตอยู่กับเธอ ฝ่ายมารีย์ก็ตกใจเพราะคำของทูตนั้น และรำพึงว่า คำทักทายนั้นจะหมายว่าอะไร แล้วทูตสวรรค์จึงกล่าวแก่เธอว่า “มารีย์เอ๋ย อย่ากลัวเลย เพราะเธอเป็นที่พระเจ้าทรงโปรดปรานแล้ว ดูเถิด เธอจะตั้งครรภ์และคลอดบุตร จงตั้งชื่อบุตรนั้นว่า เยซู (ลูกา 1: 26-30)

ในเรื่องการแจ้งข่าวแก่ซะกะรียา (เศคาริยาห์) ว่าจะได้ยะห์ยา (ยอห์น) เป็นบุตรนั้นพระคริสตธรรมฉบับลูกาก็ระบุชัดเจนว่า “ฝ่ายทูตสวรรค์นั้นจึงตอบว่า “เราคือกาเบรียล” (ลูกา 1 : 19) ส่วนพระคริสตธรรมคัมภีร์ฉบับยอห์นนั้นไม่ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ จึงได้ข้อสรุป ณ จุดนี้ว่า มีพระคริสตธรรมคัมภีร์ฉบับลูกาเท่านั้นที่ระบุถึงการมาของทูตสวรรค์ญิบรีล (กาเบรียล) เพื่อบอกข่าวกับพระนางมัรยัม (มารีย์) ส่วนมัธทิวเน้นการปรากฏของทูตสวรรค์ในความฝันของโยเซฟ

นี่เป็นการละเลยอีกครั้งหนึ่งของผู้เขียนพระคริสตธรรมคัมภีร์ทั้ง 3 ฉบับ (มัทธิว, มาระโก และยอห์น) ในการกล่าวถึงเหตุการณ์สำคัญที่สุดในชีวิตของหญิงผู้หนึ่งซึ่งเป็นหญิงพรหมจารี ซึ่งนางจะตั้งครรภ์บุตรชายโดยไม่มีบิดา อีกทั้งยังมีความสำคัญต่อการถือกำเนิดของอัลมะสีหฺ อีซา (พระเยซูคริสต์) ซึ่งเป็นมนุษย์คนเดียวที่ถือกำเนิดจากพระวาทะของพระผู้เป็นเจ้าโดยตรงผ่านการตั้งครรภ์ของมารดาแต่ฝ่ายเดียวโดยไม่มีบิดาเข้ามาเกี่ยวข้อง

อัล-กุรอานได้ระบุถึงเหตุการณ์สำคัญนี้ในบทมัรยัม ซึ่งมีใจความสรุปว่า “และจงรำลึกถึงเรื่องราวของมัรยัมในพระคัมภีร์ ขณะเมื่อนางปลีกตัวจากครอบครัวของนางโดยลำพังยังสถานที่ด้านตะวันออกของมัสญิดอัล-อักศอ (วิหารแห่งเยรูซาเล็ม) แล้วนางก็เอาม่านบังตาจากผู้คนไม่ให้เห็น (เพื่อทำธุระส่วนตัวของนาง) แล้วเราได้ส่งวิญญาณของเรา (คือทูตสวรรค์ ญิบรีลหรือกาเบรียล) ไปยังนาง ฑูตสวรรค์ผู้เป็นวิญญาณอันบริสุทธิ์ได้จำแลงร่างเป็นชายที่สมสัดส่วนปรากฏแก่นาง นางกล่าวว่า แท้จริงฉันขอความคุ้มครองต่อพระผู้ทรงเมตตาจากท่านผู้มาปรากฏนี้ หากว่าท่านเป็นผู้ยำเกรงก็อย่าล่วงเกินฉันเลย

ทูตสวรรค์กล่าวว่า อันที่จริงฉันเป็นทูตแห่งพระผู้อภิบาลของเธอ ฉันมาเพื่อมอบบุตรชายผู้มีความบริสุทธิ์แก่เธอ นางกล่าวว่า : ไฉนเลยฉันจะมีบุตรได้ ในเมื่อไม่เคยมีชายใดมาแตะต้องฉัน (คือไม่มีสามี) และฉันเองก็หาใช่หญิงแพศยาไม่ ทูตสวรรค์กล่าวว่า : เช่นนั้นแหล่ะเธอ พระผู้อภิบาลของเธอทรงตรัสว่า นั่นเป็นเรื่องง่ายสำหรับพระองค์ (ที่จะทรงให้เธอมีบุตรทั้งๆ ที่เป็นสาวพรหมจารีไม่มีสามีและไม่เคยคบชู้สู่ชาย) และเพื่อที่เราจะได้บันดาลให้บุตรของเธอนั้นเป็นสัญญาณที่บ่งชี้ถึงมหิทธานุภาพอันสมบูรณ์ของเราและให้เขาเป็นความเมตตาจากเรา (ในการชี้นำผู้คนสู่สัจธรรม) และการกิจนั้นเป็นสิ่งที่ถูกลิขิตโดยสำเร็จแล้วด้วยการที่ทูตสวรรค์เป่าวิญญาณเข้าไปในทรวงอกของนางแล้วนางก็ตั้งครรภ์ในบัดดล”

(สรุปความจากอายะฮฺ ที่ 16-22 จากบทมัรยัม)

ทูตสวรรค์พบกับมัรยัม ณ ที่ใด?


ประเด็นที่อัล-กุรอานได้ให้รายละเอียดเอาไว้ก่อนเหตุการณ์ตอนนี้ก็คือ มัรยัม (มารีย์) อยู่ในการอุปการะและดูแลของซะการียา (เศคารียาห์) ซึ่งเป็นผู้เผยพระวจนะเป็นสามีของน้าสาวของนาง คือ นางเอลยาศอบาต (เอลิซาเบท) มัรยัมและซะกะรียาเป็นผู้รับใช้พระผู้เป็นในวิหารแห่งเยรูซาเล็ม โดยซะกะรียาได้จัดห้องเฉพาะสำหรับนางเอาไว้เพื่อการเคารพภักดีพระผู้เป็นเจ้า

และเมื่อถึงเวรของนางในการทำหน้าที่รับใช้วิหารนางก็จะทำหน้าที่ของนาง ดังนั้นจึงเป็นเรื่องปกติว่า เมื่อนางมีธุระส่วนตัวหรือมีรอบเดือนตลอดจนเรื่องอื่นๆ ที่จำเป็นนางก็จะออกจากที่พักของนาง จนกระทั้งถึงวันที่มีเหตุการณ์สำคัญนั้น มัรยัมได้ออกจากที่พักของนางไปทางด้านทิศตะวันออกของวิหารเพื่อทำธุระส่วนตัวเนื่องจากนางใช้ม่านบังสายตาผู้คนหรืออีกนัยหนึ่งคือ นางออกไปยังที่ลับตาคนนั่นเอง แล้วทูตสวรรค์ก็มาพบนางในรูปจำแลงเป็นชายเพื่อแจ้งข่าวนั้น แ

สดงว่าเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นนอกวิหารทางทิศตะวันออก ไม่ได้เกิดที่บ้านหรือห้องพักของนาง แต่พระคริสตธรรมคัมภีร์ฉบับลูกาซึ่งเป็นฉบับเดียวที่กล่าวถึงเหตุการณ์ตอนนี้กลับระบุว่า : ทูตสวรรค์เข้าบ้านมาถึงหญิงพรหมจารีนั้น……..” (ลูกา 1:28) และเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นที่เมือง นาซาเร็ธ ในแคว้นกาลิลี (ลูกา 1: 26) และดูเหมือนว่า มัรยัม (มารีย์) อาศัยอยู่คนละเมืองกับซะกะรียา (เศคารียาห์) เพราะหลังจากมัรยัมตั้งครรภ์ก็รีบออกไปยังเมืองหนึ่งในแถบภูเขาแห่งยูเดีย แล้วเข้าไปในเรือนของเศคาริยาห์ทักทายปราศรัยนางเอลีซาเบธ” (ลูก่ 1 : 39-40)

ประเด็นอยู่ที่ว่า เศคาริยาห์ตามบันทึกของลูการะบุว่าเป็นปุโรหิตอยู่ในเวรอาบียาห์ ภรรยาของเศคาริยาห์ชื่อ เอลิซาเบธ อยู่ในตระกูลอาโรน คือเป็นพวกเลวี มีหน้าที่ปรนนิบัติในพระนิเวศของพระเจ้า (1 พงศาวดาร 24 : 10) ดังนั้นเศคาริยาห์จึงเป็นปุโรหิตที่มีหน้าที่ปรนนิบัติพระนิเวศของพระเจ้าในกรุงเยรูซาเล็มตามตระกูลของท่าน (ลูกา 1 : 5, 8 ,9)

และเมื่อมารีย์ซึ่งเป็นผู้อยู่ภายใต้การดูแลของเศคาริยาห์ปรนนิบัติพระเจ้าอยู่ในห้องของนางที่เศคาริยาห์กำหนดเอาไว้ ห้องนั้นก็อยู่ที่ส่วนหนึ่งของพระนิเวศนั้น ย่อมแสดงว่าการพบกับฑูตสวรรค์ที่มาแจ้งข่าวการตั้งครรภ์ของนางเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในกรุงเยรูซาเล็ม ไม่น่าจะใช่เมืองนาซาเร็ธ ในแคว้นกาลิลีซึ่งเป็นเมืองทางตอนเหนือที่อยู่ห่างออกไปจากกรุงเยรูซาเล็ม แต่ลูกากลับบันทึกว่าทูตสวรรค์กาเบรียลมาพบนางที่เมืองนาซาเร็ธ แคว้นกาลิลี (ลูกา 1 : 26, 27)

ส่วนในพระคริสตธรรมคัมภีร์ฉบับมัทธิวนั้นไม่ได้ระบุเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น ณ ที่ใด แต่ระบุถึงการเดินทางของโยเซฟ มารีย์ และกุมาร (พระเยซูคริสต์) ออกจากเบธเลเฮมไปยังอียิปต์ และอยู่ที่นั่นจนเฮโรดสิ้นพระชนม์ ภายหลังจึงกลับสู่แผ่นดินอิสราเอล และเลยไปยังแคว้นกาลิลี ไปอาศัยอยู่ในเมืองหนึ่งชื่อ นาซาเร็ธ (มัทธิว 2 : 14-15, 20-23)

ซึ่งนั่นเป็นช่วงเวลาที่พระเยซูคริสต์เจริญวัยแล้ว แต่ลูการะบุว่า โยเซฟก็ขึ้นไปจากนาซาเร็ธ แคว้นกาลิลี ถึงเมืองของดาวิดชื่อเบธเลเฮมแคว้นยูเดียด้วย เพราะว่าเขาเป็นวงศ์วานและเชื้อสายของดาวิด เขาได้ไปกับมารีย์ที่เขาได้หมั้นเอาไว้ เพื่อจะขึ้นทะเบียนและนางมีครรภ์ (ลูกา 2 : 4-5)

นั่นแสดงว่าขณะที่โยเซฟขึ้นไปจากเมืองนาซาเร็ธสู่เมืองเบลเลเฮมนั้นพระเยซูคริสต์ยังมิได้ประสูติเพราะมารีย์ยังตั้งครรภ์อยู่นั่นเอง และลูกาก็ไม่ได้กล่าวถึงการเดินทางสู่อียิปต์ของครอบครัวนี้แต่อย่างใด

ดังนั้น เหตุการณ์การแจ้งข่าวของของทูตสวรรค์กาเบรียลแก่มารีย์ในการตั้งครรภ์ จึงเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในกรุงเยรูซาเล็มอันเป็นเมืองที่ตั้งพระนิเวศของพระเจ้าซึ่งทั้งมารีย์ เศคารียาห์ ต่างก็ทำหน้าที่ปรนนิบัติพระนิเวศอยู่ที่นั่น ไม่น่าจะเป็นเมืองนาซาเร็ธ ในแคว้นกาลิลีที่ไกลออกไปทางตอนเหนือของกรุงเยรูซาเล็ม เพราะลูกาบันทึกว่าเมื่อมารีย์ตั้งครรภ์แล้วก็ไปเยี่ยมนางเอลิซาเบธที่บ้านของนางในเมืองหนึ่งแถบภูเขาแห่งยูเดีย และพักอยู่กับนางเป็นเวลาราว 3 เดือน (ลูกา 1: 39,46)

บ้านของเอลิซาเบธจึงไม่น่าจะห่างจากกรุงเยรูซาเล็มมากนัก เพราะอย่าลืมว่าเศคาริยาห์สามีของนางเป็นปุโรหิตที่มีเวรต้องปรนนิบัติพระนิเวศของพระเจ้าในกรุงเยรูซาเล็ม เรื่องทั้งหมดของเหตุการณ์ในตอนนี้จึงน่าจะเกิดขึ้นในกรุงเยรูซาเล็มหรือเขตปริมณฑลเท่านั้น

การเดินทางของมัรยัมสู่เบธเลเฮม


คัมภีร์อัล-กุรอานได้เล่าถึงเหตุการณ์ของมัรยัม (มารีย์) ภายหลังการตั้งครรภ์ไว้ โดยสรุปใจความได้ดังนี้


فَحَمَلَتهُ فَانتَبَذَت بِهِ مَكانًا قَصِيًّا


ความว่า “แล้วมัรยัมก็ตั้งครรภ์บุตรนั้น นางจึงปลีกตัวออกมาพร้อมกับทารกในครรภ์โดยมุ่งสู่สถานที่ห่างไกล
(มัรยัม อายะฮฺ ที่ 22)


การตั้งครรภ์ของมัรยัมนั้นคงเป็นไปตามช่วงระยะเวลาการตั้งครรภ์ปกติของหญิงมีครรภ์ทั่วไป คือประมาณ 9 เดือน ในช่วงที่นางตั้งครรภ์นั้น ตามพระคริสตธรรมคัมภีร์ฉบับลูการะบุว่ามัรยัมได้ไปเยี่ยมนางเอลยาศอบาต (เอลิซาเบธ) ซึ่งเป็นภรรยาของซะกะรียา (เศคาริยาห์) ที่กำลังตั้งครรภ์ ยะห์ยา (ยอห์น) อยู่เช่นกัน ทั้งๆ ที่ซะกะรียานั้นมีอายุมากแล้ว และนางเอลยาศอบาตก็เป็นหมันมาก่อน แต่ด้วยคำวิงวอนของซะกะรียาและพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้านางจึงตั้งครรภ์ มัรยัมอาศัยอยู่ที่บ้านนางเอลยาศอบาตรราว 3 เดือน ตามที่ลูกาบันทึกไว้

แต่การตั้งครรภ์ของมัรยัมเป็นสิ่งที่ผิดปกติวิสัยเพราะนางเป็นหญิงพรหมจารีและยังไม่มีสามี ฝ่ายโยเซฟก็เป็นเพียงคู่หมั้นของนางอยู่เท่านั้น นี่จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้นางตัดสินใจมุ่งหน้าสู่สถานที่ห่างไกลจากกรุงเยรูซาเล็ม เนื่องจากผู้คนที่นั่นรู้จักเธอเป็นอย่างดีถึงการเป็นสตรีผู้ภักดีต่อพระเจ้าและปรนนิบัติพระนิเวศของพระองค์ จึงหลีกหนีไม่พ้นต่อคำถามต่างๆ นาๆ ที่จะประดังเข้ามาเกี่ยวกับการตั้งครรภ์ของนาง สถานที่ห่างไกลจากกรุงเยรูซาเล็มก็คือ เบธเลเฮม (บัยตุละหฺมิน) ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของกรุงเยรูซาเล็มในแคว้นยูเดีย เมืองเบธเลเฮมนี้เป็นเมืองของกษัตริย์ดาวิด ทั้งมัรยัม (มารีย์) และคู่หมั้นของนางคือ โยเซฟ (ยูซุฟ ช่างไม้) ต่างก็มีเชื้อสายของดาวิด (ดาวุด อะลัยฮิสสลาม) ด้วยกัน คนที่เป็นชาวเมืองเบธเลเฮมอาจจะเป็นญาติของบุคคลทั้งสองก็จริงแต่ก็คงไม่มีผู้มดสงสัยหรือตั้งคำถามเกี่ยวกับการตั้งครรภ์ของมัรยัม ซึ่งต่างจากผู้คนในกรุงเยรูซาเล็ม

ความขัดแย้งในพระคริสตธรรมคัมภีร์เกี่ยวกับเหตุการณ์การประสูติของพระเยซูคริสต์


เมื่อทั้งสองเดินทางไปยังเบธเลเฮมด้วยกันนั้น มัรยัมตั้งครรภ์แล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 3 เดือน และเมื่อเขาทั้งสองไปอยู่ที่นั่น ก็ถึงเวลาที่มัรยัมจะให้กำเนิดบุตร ลูกาบันทึกว่า : นางจึงประสูติบุตรชายหัวปี เอาผ้าอ้อมพันและวางไว้ในรางหญ้า เพราะว่าไม่มีที่ว่างให้เขาในโรงแรม (ลูกา 2: 7) ณ จุดนี้ในพระคริสตธรรมคัมภีร์ระบุเอาไว้ดังนี้

  • มัทธิว ระบุว่า มีพวกโหราจารย์จากทิศตะวันออกมายังกรุงเยรูซาเล็ม ถามถึงกุมารผู้ที่บังเกิดมาเป็นกษัตริย์ของชนชาติยิว แล้วเรื่องก็รู้ถึงพระกรรณของกษัตริย์เฮโรด ภายหลังพวกโหราจารย์ก็ไปยังเบธเลเฮมตามดวงดาวที่ปรากฏในท้องฟ้า เมื่อมาถึงสถานที่ที่กุมารอยู่นั้น ก็เข้าไปในเรือนและพบกุมารกับมารดาคือนางมารีย์ พวกโหราจารย์กราบถวายนมัสการกุมารนั้น และเปิดหีบทรัพย์สมบัติถวายเป็นบรรณาการแก่กุมารนั้น พวกโหราจารย์ได้ยินคำเตือนในความฝัน มิให้กลับไปเฝ้าเฮโรด พวกเขาจึงกลับไปยังเมืองของตนทางอื่น (มัทธิว 2 : 1-12)
  • มาระโก ไม่พูดถึงเหตุการณ์ตอนนี้แต่อย่างใด
  • ลูกา ระบุว่า เมื่อมารีย์ประสูติบุตรชายหัวปี ก็เอาผ้าอ้อมพันและวางเอาไว้ในรางหญ้า เพราะไม่มีที่ว่างให้พักในโรงแรม แถบนั้นมีคนเลี้ยงแกะอยู่ในทุ่งนาเฝ้าฝูงแกะของเขาในเวลากลางคืน ต่อมามีฑูตสวรรค์มาแจ้งข่าวการบังเกิดของพระผู้ช่วยให้รอดคือพระคริสตเจ้ามาบังเกิดที่เมืองดาวิด หมายสำคัญที่ฑูตสวรรค์บอกแก่คนเลี้ยงแกะก็คือจะพบพระกุมารนั้นพันผ้าอ้อมนอนอยู่ในรางหญ้า ในทันใดนั้นก็มีชาวสวรรค์หมู่หนึ่งมาอยู่กับทูตสวรรค์นั้นร่วมสรรเสริญพระเจ้าแล้วก็จากไป (ขึ้นสู่สวรรค์) พวกคนเลี้ยงแกะจึงมุ่งหน้าสู่เบธเลเฮมแล้วพบนางมารีย์กับโยเซฟ และพบพระกุมารนั้นนอนอยู่ในรางหญ้า พวกคนเลี้ยงแกะจึงได้เล่าถึงเหตุการณ์ที่พวกเขาประสบให้ฟัง (ลูกา 2 : 7-20)
  • ยอห์น ไม่พูดถึงเหตุการณ์ตอนนี้เลยแม้แต่น้อย จึงสรุปได้ว่า มีพระคริสตธรรมคัมภีร์เพียง 2 ฉบับ คือ มัทธิวและลูกาเท่านั้นที่บันทึกเหตุการณ์สำคัญตอนนี้เอาไว้ แต่เมื่ออ่านดูแล้วก็จะพบความแตกต่างระหว่างพระคริสตธรรมคัมภีร์ทั้งสองฉบับอย่างชัดเจนในหลายประเด็นด้วยกันคือ
  1. สถานที่ประสูติของพระเยซูคริสต์ในเบธเลเฮมนั้นเป็นที่คอกสัตว์ซึ่งมีรางหญ้าหรือว่าเป็นบ้านที่มีบุคคลทั้งสองคือโยเซฟและมารีย์พักอยู่
  2. เรื่องของดวงดาวที่ปรากฏในท้องฟ้ามีปรากฏในฉบับมัทธิวเท่านั้น ในขณะที่ลูกาไม่กล่าวถึง
  3. กลุ่มคนที่ตามหาพระกุมารนั้นเป็นโหราจารย์จากทิศตะวันออกของเยรูซาเล็มหรือว่าเป็นพวกคนเลี้ยงแกะ
  4. พวกโหราจารย์เข้าพบกษัตริย์เฮโรดอย่างลับๆ และมุ่งหน้ากลับสู่เบธเลเฮมตามดวงดาวที่ปรากฏ ในขณะที่พวกคนเลี้ยงแกะพบทูตสวรรค์เป็นผู้มาบอกข่าวการประสูติของพระกุมาร และมีชาวสวรรค์ลงมาร่วมอยู่กับทูตสวรรค์นั้นเพื่อสรรเสริญพระเจ้า แล้วก็กลับขึ้นสู่สวรรค์ไป
  5. พวกโหราจารย์ไม่ได้พบพระกุมารนอนห่อผ้าอ้อมอยู่ในรางหญ้า แต่พบกระกุมารนั้นอยู่กับพระมารดาในบ้าน และพวกโหราจารย์ก็ถวายบรรณาการแก่พระกุมาร แต่พวกคนเลี้ยงแกะพบพระกุมารถูกผ้าอ้อมพันร่างและนอนอยู่ในรางหญ้า ซึ่งที่นั่นมีมารีย์และโยเซฟปรากฏอยู่ทั้งคู่

เหตุการณ์ประสูติของพระเยซูคริสต์เป็นเหตุการณ์ที่สำคัญที่สุดก็ว่าได้สำหรับ คริสตชน เพราะอย่างน้อยสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของคริสต์ศาสนาก็คือ การเฉลิมฉลองวันคริสต์มาส อันเป็นประสูติของพระเยซูคริสต์ ผู้เป็นพระบุตรของพระเจ้าหรือเป็นพระเจ้าที่เสด็จมาบังเกิดเป็นมนุษย์ตามคำกล่าวอ้างของคริสตชน ด้วยเหตุไฉนเล่าการบันทึกเหตุการณ์สำคัญสุดเช่นนี้จึงมีเพียงในพระคริสตธรรมคัมภีร์แค่ 2 ฉบับ และใน 2 ฉบับนั้นก็มีความแตกต่างกันในประเด็นรายละเอียดจนกลายเป็นคนละเรื่องคนละเหตุการณ์กันไปเสียนั่น

คัมภีร์อัล-กุรอานกล่าวถึงการประสูติของพระเยซูคริสต์


ทีนี้ลองมาดูเรื่องราวตอนนี้ที่ปรากฏอยู่ในคัมภีร์อัล-กุรอานสิว่า อัล-กุรอานกล่าวไว้อย่างไร?


فَأَجاءَهَا المَخاضُ إِلىٰ جِذعِ النَّخلَةِ قالَت يٰلَيتَنى مِتُّ قَبلَ هٰذا وَكُنتُ نَسيًا مَنسِيًّا ﴿٢٣﴾ فَنادىٰها مِن تَحتِها أَلّا تَحزَنى قَد جَعَلَ رَبُّكِ تَحتَكِ سَرِيًّا ﴿٢٤﴾ وَهُزّى إِلَيكِ بِجِذعِ النَّخلَةِ تُسٰقِط عَلَيكِ رُطَبًا جَنِيًّا ﴿٢٥﴾ فَكُلى وَاشرَبى وَقَرّى عَينًا


ความว่า “แล้วการเจ็บท้องใกล้คลอดก็นำมัรยัมมายังต้นอินทผลัม (เพื่ออำพรางตนและอาศัยต้นอินทผลัมเป็นเครื่องยึดจับในขณะเบ่งคลอด) นางกล่าวว่า อนิจจา หวังว่าฉันได้ตายไปก่อนเรื่องนี้และฉันเป็นผู้ที่ไม่มีผู้ใดกล่าวถึง อีกทั้งถูกหลงลืม (เหมือนว่าไม่มีเรื่องนี้เคยเกิดขึ้น) แล้วเขา (อีซาหรือญิบรีล) ได้เรียกนางจากเบื้องใต้ของนาง (หรือจากเบื้องใต้ต้นอินทผลัมนั้น) ว่า อย่าเศร้าใจไปเลย แน่แท้พระผู้อภิบาลของเธอได้ทรงบันดาลให้เบื้องใต้ของเธอนั้นมีลำธารใหลอยู่ (หรือให้บุตรของเธอที่อยู่เบื้องใต้นั้นเป็นนายผู้มีเกียรติ) และเธอจงเขย่าต้นอินทผลัมนั้นมายังเธอ อินทผลัมนั้นก็จะหล่นมาบนเธอเป็นผลอินทผลัมสดที่เริ่มเข้าน้ำตาลทานได้เลย แล้วเธอจงทานผลอินทผลัมนั้น จงดื่มน้ำจากลำธารเบื้องใต้นั้น และจงวางใจอย่าทุกข์โศกไปเลย
(มัรยัม อายะฮฺที่ 23-26)


ในอายะฮฺข้างต้น คัมภีร์อัล-กุรอานได้ระบุประเด็นน่าสนใจเอาไว้ดังนี้

การเจ็บท้องใกล้คลอดเกิดขึ้นกับมัรยัม เหตุนั้นนางจึงออกไปยังต้นอินทผลัมซึ่งเป็นต้นไม้ประจำถิ่นเพื่ออาศัยโคนไม้เป็นที่คลอด นางใช้ต้นอินทผลัมนั้นเป็นที่ยึดเพื่อให้มีลมเบ่ง แสดงว่าช่วงเวลานั้นไม่มีผู้ใดอยู่กับนางแม้กระทั่งโยเซฟเองก็ตาม

ความเจ็บปวดขณะใกล้คลอดที่เกิดขึ้น กอปรกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาในเบื้องหน้า ทำให้มัรยัมมีสภาพจิตใจที่ว้าวุ่นเป็นธรรมดา แต่ด้วยความใส่พระทัยของพระผู้เป็นเจ้า ทูตสวรรค์ญิบรีลจึงปลอบประโลมใจของนางโดยส่งเสียงเรียกมาจากเบื้องใต้ต้นอินทผลัมนั้นซึ่งอยู่ใกล้ๆ กัน หรืออีกนัยหนึ่งผู้ที่เรียกนางจากเบื้องใต้ก็คือบุตรของนางที่คลอดออกมานั่นเอง

โดยบอกว่า มีลำธารไหลอยู่เบื้องใต้เพื่อให้นางดื่มน้ำจากลำธารนั้นและชำระร่างกาย และให้นางออกแรงเขย่าต้นอินทผลัมซึ่งแน่นอนต้นอินทผลัมที่เป็นไม้ยืนต้นนั้นแม้เป็นชายฉกรรจ์ก็ย่อมเป็นการยากที่จะเขย่าต้นให้ผลของมันร่วงลงมา แต่การออกแรงของมัรยัมซึ่งเป็นหญิงที่เพิ่งคลอดบุตรเป็นการกระทำในเชิงสัญลักษณ์ว่ามีความเพียร ผลอินทผลัมนั้นได้ร่วงลงมาที่นางด้วยพระอนุมัติของพระเจ้าเพื่อให้นางได้ใช้รับประทาน

และนี่คือความมหัศจรรย์ของคัมภีร์ อัล-กุรอาน เพราะทางการแพทย์ได้มีผลวิจัยยืนยันว่า อินทผลัมมีสรรพคุณในการสมานแผลในมดลูก ให้พลังงานและมีน้ำตาลกลูโคสซึ่งออกฤทธิในการสร้างความกระชุ่มกระชวยและปรับอารมณ์ ถือเป็นผลไม้ที่เหมาะยิ่งสำหรับสตรีหลังการคลอดบุตร และเรื่องราวอันน่าอัศจรรย์ใจได้ปรากฏแก่มัรยัมมาโดยตลอด นับแต่เมื่อครั้งพระนางเฮนน่าตั้งครรภ์มัรยัม การเจริญวัยของมัรยัม และการตั้งครรภ์บุตรทั้งๆ ที่นางเป็นสาวพรหมจารีย์ และเหตุการณ์นี้ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดก็คือการคลอดบุตร ผู้ที่เรียกและปลอบประโลมใจนางจะเป็นทูตสวรรค์ญิบรีลหรือเป็นอีซาทารกน้อยที่คลอดออกมาก็ตามย่อมเป็นสิ่งที่เสริมสร้างขวัญและกำลังใจในการเผชิญกับปัญหาเบื้องหน้าที่นางจะต้องประสบ

การปรากฏของลำธารหรืออีกนัยหนึ่ง การยืนยันถึงสถานภาพผู้เป็นบุตรของนางว่าเป็นนายผู้ทรงเกียรติ ย่อมทำให้ความว้าวุ่นและความเจ็บปวดนั้นหมดไปเมื่อนางได้เห็นหน้าบุตรของนาง และรู้ว่าบุตรของนางจะเป็นมหาบุรุษในพงศ์พันธ์อิสราเอล การที่พระเจ้าทรงบันดาลให้ผลไม้วิเศษคืออินทผลัมสดที่เริ่มสุกและเข้าน้ำตาลตลอดจนเป็นผลไม้ที่ทานได้เลย ไม่ต้องปอกเปลือก ไม่ต้องดอง ไม่ต้องหมัก หรือผ่านกระบวนการที่ยุ่งยากทั้งปวงนี้เป็นการปกปักษ์และอภิบาลของพระเจ้าที่มีต่อนางและบุตรของนาง

จะเห็นได้ว่าความแตกต่างระหว่างการดำเนินเรื่องในคัมภีร์อัล-กุรอานกับพระคริสตธรรมคัมภีร์ฉบับมัทธิวและลูกาปรากฏชัดในหลายประเด็นด้วยกัน กล่าวคือ

  • อัล-กุรอานกล่าวถึงเรื่องราวของมัรยัม (มารีย์) เป็นเนื้อหาหลัก ว่าตามประสาชาวบ้านก็คือ มัรยัมคือนางเอกของเรื่อง ที่มาที่ไปและบทของมัรยัมจึงชัดเจนในขณะที่พระคริสตธรรมคัมภีร์กลับไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องราวของมัรยัม (มารีย์) อย่างที่ควรจะเป็น
  • ทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับมัรยัม (มารีย์) ยืนยันถึงความใส่พระทัยและความโปรดปรานที่พระเจ้าทรงมีต่อมัรยัม (มารีย์) ในขณะที่พระคริสตธรรมคัมภีร์ 2 ฉบับนั้นไปเน้นความสำคัญของโยเซฟ พวกโหราจารย์ พวกคนเลี้ยงแกะ เป็นต้น
  • เรื่องอัศจรรย์ที่เกิดขึ้นกับมัรยัม (มารีย์) เกิดขึ้นกับตัวนางและบุตรของนางโดยตรง อีกทั้งเป็นสิ่งที่ส่งผลต่อจิตใจของนางในการยอมรับพระประสงค์ของพระเจ้าและหรือในกำหนดของพระองค์ ในขณะที่เรื่องราวของพระคริสตธรรมคัมภีร์กลับไปเน้นเรื่องบุคคลอื่นและดำเนินเรื่องที่ไม่ต่างอะไรกับตำนานเรื่องราวในเทพนิยาย เช่น การปรากฏขึ้นของดวงดาวประหลาด การตามหาพระกุมารของพวกโหราจารย์ที่มาจากต่างแดน เป็นต้น

คำสรรเสริญของชาวสวรรค์


– พระคริสตธรรมคัมภีร์ฉบับลูกา ได้บันทึกคำสรรเสริญของชาวสวรรค์หมู่หนึ่งที่มาอยู่กับทูตสวรรค์ซึ่งแจ้งข่าวดีแก่พวกคนเลี้ยงแกะว่า “พระสิริจงมีแด่พระเจ้าในที่สูงสุด ส่วนบนแผ่นดินโลก สันติสุขจงมีท่ามกลางมนุษย์ทั้งปวง ซึ่งพระองค์ทรงโปรดปรานนั้น” (ลูกา 2 : 14)

นักคิดชาวรัสเซียที่ชื่อ โตลส์ต๊อย (Tolstoi) -1828-1910- ได้เรียบเรียงเนื้อหาของพระคริสตธรรมคัมภีร์ทั้ง 4 ฉบับเข้าด้วยกัน แต่ที่น่าแปลกก็คือ โตลส์ต๊อย ไม่กล่าวข้อความตอนนี้ที่ลูกาบันทึกเอาไว้ในตำราของเขาโดยอ้างว่าเป็นข้อความที่ไร้แก่นสาร

อัส-สัยยิด อับดุล-อะหัด ดาวูด ซึ่งเดิมเป็นชาวคริสต์ต่อมาได้เข้ารับอิสลาม เขาศึกษาพระคัมภีร์ไบเบิ้ลทางภาษาจนช่ำชอง และเขายืนยันว่าต้นฉบับเดิมของไบเบิ้ลฉบับลูกาถูกบันทึกเป็นภาษาซีเรียโบราณ (ซุรยานียฺ) และการแปลถ้อยคำในภาษาซุรยานียฺ คือ คำว่า “ไอรีนียฺ” และ “อะยาโดเคีย” ว่า สันติสุข กับ ความปิติยินดีหรือความโปรดปรานนั้นเป็นการแปลที่ผิดพลาด

อับดุล-อะหัด ดาวูดอธิบายว่า คำว่า “ไอรีนียฺ” ในภาษาซุรยานีย์หมายถึง การนอบน้อมหรือการสร้างสันติสุข ตรงกับคำในภาษาอาหรับว่า “อัล-อิสลาม” และคำว่า “อะยาโคเคีย” มีความหมายว่าผู้ที่สรรเสริญพระเจ้าอย่างมากมายเป็นที่สุด ตรงกับคำว่า อะห์มัด ในภาษาอาหรับ ดังนั้นถ้อยความข้างต้นก็จะต้องแปลว่า

“พระสิริจงมีแด่พระเจ้าในที่สูงสุด

อัล-อิสลามใกล้จะมายังโลกแล้ว

จะนำเสนออัล-อิสลามนั้นแก่มนุษย์ทั้งปวงคือ (ผู้ที่สรรเสริญพระเจ้าอย่างมาก) อะห์มัด”

เพราะถ้าแปลว่า “สันติสุข” (Peace) จะต้องใช้คำว่า “ซะลุม” ในภาษาซุรยานีย์ หรือคำว่า “ซาลอม” ในภาษาฮิบรู (ดูใน “อัล-อินญิล วัศ-เศาะลีบ (ไบเบิ้ลกับไม้กางเขน) ของ อับดุลอะหัด ดาวูด หน้า 35-53) เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะการถือกำเนิดของพระเยซูคริสต์คือการบอกข่าวประเสริฐถึงการมาของศาสนทูตท่านสุดท้าย มุฮำมัด หรือ อะหฺมัด (ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม) นั่นเอง

ความขัดแย้งในพระคริสตธรรมคัมภีร์อีกคำรบหนึ่ง


พระคริสตธรรมคัมภีร์ทั้งฉบับมัทธิวและลูกา เห็นพ้องตรงกันว่า พระเยซูคริสต์ถือกำเนิด ณ เมืองเบธเลเฮม แคว้นยูเดีย ซึ่งเมืองนี้อยู่ห่างออกมาจากกรุงเยรูซาเล็มทางทิศใต้ คือเป็นเมืองปริมณฑล แต่ภายหลังการถือกำเนิดของพระเยซูคริสต์ มัทธิวระบุว่า “ครั้นเขาไปแล้ว (หมายถึงพวกโหราจารย์) ก็มีทูตองค์หนึ่งของพระเป็นเจ้าได้มาปรากฏแก่โยเซฟในความฝันแล้วบอกว่า “จงลุกขึ้นพากุมารกับมารดาหนีไปประเทศอียิปต์ และคอยอยู่ที่นั่นจนกว่าเราจะบอกเจ้า เพราะว่าเฮโรดจะแสวงหากุมาร เพื่อจะประหารชีวิตเสีย” ในเวลากลางคืนโยเซฟจึงลุกขึ้นพากุมารกับมารดาไปยังประเทศอียิปต์ และได้อยู่ที่นั่นจนเฮโรดสิ้นพระชนม์…” (มัทธิว 2 : 13-15)

แต่ลูกาไม่ได้บันทึกเรื่องนี้ แต่ระบุว่า “ครั้นครบแปดวัน เป็นวันให้พระกุมารนั้นเข้าสุหนัต เขาจึงให้นามว่า เยซู ตามชื่อทูตสวรรค์ได้กล่าวไว้ก่อน เมื่อยังมิได้ปฏิสนธิในครรภ์ เมื่อถึงเวลาทำพิธีชำระตัวตามธรรมบัญญัติของโมเสส เขาจึงนำพระกุมารไปยังกรุงเยรูซาเล็มจะถวายแด่พระเป็นเจ้า (ลูกา 2 : 21-22)

แล้วลูกาก็ระบุถึงเรื่องราวของสิเมโอนและผู้ทำนายหญิงคนหนึ่งชื่อ อันนา บุตรฟานูเอลในเผ่าอาเชอร์ และลูกาก็บันทึกว่า “ครั้นโยเซฟกับนางมารีย์ได้กระทำการทั้งปวงตามธรรมบัญญัติของพระเจ้าเสร็จแล้ว จึงกลับไปถึงนาซาเร็ธ เมืองของตนในแคว้นกาลิลี พระกุมารนั้นก็เจริญวัยแข็งแรงขึ้น ประกอบด้วยสติปัญญาและพระคุณของพระเจ้าอยู่กับท่าน (ลูกา 2:39-40)

ซึ่งคำบันทึกของลูกานี้บ่งชี้ว่า เหตุการณ์ตามหาพระกุมารเพื่อจะสังหารของกษัตริย์เฮโรดและการหลบหนีของโยเซฟพร้อมด้วยครอบครัวไปยังแผ่นดินอียิปต์มิได้เกิดขึ้น เพราะทั้งหมดยังคงอยู่ที่เมืองเบธเลเฮม จนกระทั่งถึงเวลาสำหรับการทำพิธีตามธรรมบัญญัติทั้งหมดจึงเดินทางเข้าสู่กรุงเยรูซาเล็ม และที่นั่นก็ไม่ปรากฏการตามหาพระกุมารจากฝ่ายเฮโรดแต่อย่างใด ออกจะเป็นการเดินทางเพื่อทำพิธีที่ราบรื่นเสียด้วยซ้ำไป

แต่ถ้าสิ่งที่มัทธิวได้บันทึกเอาไว้เป็นเรื่องจริง ก็แสดงว่าทั้งหมดเดินทางออกจากแผ่นดินปาเลสไตน์ (เบธเลเฮม) หลังจากฑูตสวรรค์มาบอกโยเซฟในความฝันภายในคืนนั้นหรือคืนถัดไป และเรื่องราวการนำพระกุมารเข้าสู่กรุงเยรูซาเล็มเพื่อทำพิธีตามธรรมบัญญัติของโมเสสก็ย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะทั้งหมดหลบหนีการไล่ตามของกษัตริย์เฮโรดไปยังแผ่นดินอียิปต์แล้ว หากทั้งหมดยังคงอยู่ต่อที่เบธเฮเลมพระกุมารก็คงไม่รอดจากการสังหารโหดเด็กผู้ชายทั้งหลายในเบธเลเฮมและที่ใกล้เคียงเป็นแน่แท้ (ดู มัทธิว 2 : 16-18)

และนี่คือความขัดแย้งของการบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์ที่เกิดขึ้นในพระคริสตธรรมคัมภีร์ 2 ฉบับ ซึ่งไม่ทราบได้ว่าฉบับใดกันแน่ที่บันทึกเรื่องจริงที่เกิดขึ้น ฝ่ายที่เชื่อว่าพระเยซูคริสต์เคยลี้ภัยกับครอบครัวไปยังแผ่นดินอียิปต์นั้นก็มีความเห็นต่างกันว่า ครอบครัวของพระองค์อยู่ที่อียิปต์กี่ปี แต่พอสรุปได้ว่าอยู่ระหว่าง 1 ปี ถึง 4 ปี (ซะกียฺ ชะนูดะฮฺ : “ประวัติศาสตร์ชาวค็อปติก” เล่มที่ 1 หน้า 44)

สำหรับชาวคริสต์ในอียิปต์นั้นพวกเขาเชื่อในเหตุการณ์ตอนนี้ตามที่ลูกาได้บันทึกไว้ โดยเชื่อว่าที่ตำบลอัล-มะเฏาะรียะฮฺ ซึ่งเป็นเขตชานเมืองทางตอนเหนือของกรุงไคโรมีต้นไม้ของพระแม่มารีย์ ซึ่งในเหตุการณ์ครั้งนั้นได้เคยหยุดพักที่ใต้ต้นนี้จึงกลายเป็นที่ตั้งของโบสถ์สำคัญในอียิปต์ ส่วนสถานที่พำนักในระหว่างลี้ภัยอยู่ในอียิปต์นั้นเชื่อกันว่าอยู่ที่ ดีรฺ อัล-มุห์ร็อก ภูเขากุส-ก็อม จังหวัด อัสยูฏ (ดร.อะหฺมัด ชะละบีย์ ; อัล-มะสีฮียะฮฺ (1984) หน้า 103)

อย่างไรก็ตาม ครอบครัวของพระเยซูคริสต์ได้เดินทางไปอาศัยอยู่ในเมือง นาซาเร็ธ แคว้นกาลิลี และพระองค์ก็เจริยวัยอยู่ที่นั่น (มัทธิว 2: 23 / ลูกา 2 : 39-40) และถูกเรียกขานว่าเป็นชาวซานาเร็ธ ( a Nazarene หรือ อัน-นาศิรียฺ) นับแต่บัดนั้น

เรื่องที่ไม่ปรากฏในพระคริสตธรรมคัมภีร์


สิ่งที่พระคริสตธรรมคัมภีร์ทั้ง 2 ฉบับละเลยไม่กล่าวถึงก็คือ การที่มัรยัม (มารีย์) ต้องเผชิญกับคำถามและข้อครหาของชาวยิวที่รู้จักนาง และเหตุการณ์ตอนนี้มีปรากฏอยู่เฉพาะในคัมภีร์ อัล-กุรอาน เท่านั้น ซึ่งระบุว่า


فَإِمّا تَرَيِنَّ مِنَ البَشَرِ أَحَدًا فَقولى إِنّى نَذَرتُ لِلرَّحمٰنِ صَومًا فَلَن أُكَلِّمَ اليَومَ إِنسِيًّا


ความว่า : “ดังนั้นหากว่าเธอได้พบผู้หนึ่งผู้ใดจากผู้คนเป็นที่แน่แล้ว เธอจงกล่าวว่า : แท้จริงฉันได้บนบานต่อพระผู้ทรงเมตตาในการถือศีลสงบวาจา (เข้าเงียบ) ดังนั้นวันนี้ฉันจะไม่พูดจาพาทีกับมนุษย์ผู้ใด
(มัรยัม อายะฮฺที่ 26)


คำพูดที่แนะนำแก่มัรยัม (มารีย์) ในเหตุการณ์ภายหลังการคลอดบุตรเป็นคำพูดที่ทูตสวรรค์ญิบรีลหรืออีกนัยหนึ่งคือ อีซาบุตรของนางได้บอกแนะแก่นางในการเผชิญปัญหาที่จะต้องเกิดขึ้นซึ่งยากจะเลี่ยงได้เพราะอย่างไรเสียนางก็ต้องพบกับผู้คนที่รู้จักถึงการปฏิบัติตนของนางหรืออย่างน้อยก็บรรดาญาติของเธอที่ไม่ทราบถึงมหิทธานุภาพของพระเจ้าและประสงค์ของพระองค์ในการที่หญิงพรหมจารีย์มีบุตรทั้งๆ ที่ยังไม่มีสามี หรือมีแต่เป็นเพียงคู่หมั้นของนาง คัมภีร์อัล-กุรอานได้ระบุว่า :


فَأَتَت بِهِ قَومَها تَحمِلُهُ ۖ قالوا يٰمَريَمُ لَقَد جِئتِ شَيـًٔا فَرِيًّا ﴿٢٧﴾ يٰأُختَ هٰرونَ ما كانَ أَبوكِ امرَأَ سَوءٍ وَما كانَت أُمُّكِ بَغِيًّا ﴿٢٨﴾ فَأَشارَت إِلَيهِ ۖ قالوا كَيفَ نُكَلِّمُ مَن كانَ فِى المَهدِ صَبِيًّا ﴿٢٩﴾


ความว่า : แล้วนางก็นำบุตร (คือ อีซา) มายังกลุ่มชนของนางโดยนางอุ้มบุตรเอาไว้ (เพราะอีซายังเป็นทารกแบเบาะ) พวกเขากล่าวว่า : โอ้ มัรยัมเอ๋ย แน่แท้เธอได้นำสิ่งอันน่าฉงนงงงวยมาแล้ว โอ้น้องหญิงของฮารูน บิดาของเธอก็หาใช่ชายโฉด มารดาของเธอก็มิเคยเป็นหญิงแพศยา (ไฉนเลยเธอจึงมีบุตรได้โดยไม่มีสามี) แล้วนางก็ชี้ไปยังบุตรของนาง (เนื่องจากนางบนเอาไว่ว่าจะไม่พูดกับผู้ใด) พวกเขากล่าวว่า : พวกเราจะพูดกับผู้ที่อยู่ในเบาะในสภาพที่เขาเป็นทารกได้อย่างไร?

(มัรยัม อายะฮฺที่ 27-29)


อายะฮฺนี้ระบุว่า หลังจากที่มัรยัม (มารีย์) คลอดบุตรของนางแล้วซึ่งน่าจะเป็นช่วงของการเข้าสู่กรุงเยรูซาเล็มซึ่งที่นั่นเป็นที่ตั้งของพระนิเวศของพระเจ้าที่นางเคยปฏิบัติธรรมและปรนนิบัติพระนิเวศนั้นจนเลื่องลือและเป็นที่กล่าวขาน และผู้คนที่นั่นย่อมรู้จักนาง นางอุ้มทารกน้อยที่เพิ่งคลอดซึ่งสร้างความฉงนและเป็นที่งงงวยสำหรับผู้คนที่นั่น แล้วพวกเขาก็กล่าวหาเธอว่ากระทำผิดศีลธรรมและพระบัญญัติ พวกเขาเรียกขานเธอว่า โอ้น้องหญิงของฮารูน (อาโรน) เพื่อย้ำว่า สิ่งที่นางกระทำตามความเข้าใจของพวกเขาไม่น่าจะเกิดขึ้นได้เลย

เนื่องด้วยเหตุที่นางอยู่ในตระกูลของผู้ประพฤติดีและเป็นเชื้อสายของฮารูน (อาโรน) บิดาของนางคือ อิมรอนก็เป็นปุโรหิตผู้ปรนนิบัติพระนิเวศของพระเจ้า มิใช่คนชั่ว มารดาของเธอคือ นางเฮนน่าก็เป็นคนชอบธรรม มิใช่หญิงแพศยา แล้วทำไมเธอจึงกระทำสิ่งที่ผิดต่อศีลธรรมเช่นนี้ เธอมีบุตรได้อย่างไรกัน? แน่นอนการเผชิญหน้ากับผู้คนย่อมไม่มีทางเลี่ยง แต่ด้วยความศรัทธาและการประจักษ์เห็นถึงสิ่งอัศจรรย์ทั้งปวงที่เกิดขึ้นกับนางทำให้จิตใจของนางสงบและกล้าเผชิญกับความจริง แต่ความบริสุทธิ์ของนางจากข้อกล่าวหานั้นจะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าหากว่านางตอบเอง ผู้คนก็คงไม่เชื่อถือสิ่งที่นางพูดและยากที่จะยอมรับได้

สิ่งที่ดีที่สุดก็คือ ประจักษ์พยานที่ยืนยันความบริสุทธิ์ของนางที่ไม่ใช่ตัวนางเอง และด้วยพระประสงค์และมหิธานุภาพของพระผู้เป็นเจ้า ผู้ที่ตอบและแก้ต่างให้แก่นางก็คือ ทารกน้อยที่ยังนอนแบเบาะอยู่ ซึ่งไม่อยู่ในวัยที่จะพูดได้ เมื่อนางไม่ตอบเพราะป่วยการที่จะตอบคำถามกับคนเขลา นางก็ชี้ไปยังเด็กน้อยผู้เป็นทารกแบเบาะนั้น พวกเขาจึงกล่าวว่า จะให้พวกเราสอบถามความจริงในเรื่องนี้จากทารกที่แบเบาะได้อย่างไร? และพระผู้เป็นเจ้าก็ทรงสำแดงมหิทานุภาพของพระองค์อีกครั้ง ดังที่คัมภีร์อัล-กุรอานได้เล่าต่อมาว่า :


قالَ إِنّى عَبدُ اللَّهِ ءاتىٰنِىَ الكِتٰبَ وَجَعَلَنى نَبِيًّا ﴿٣٠﴾ وَجَعَلَنى مُبارَكًا أَينَ ما كُنتُ وَأَوصٰنى بِالصَّلوٰةِ وَالزَّكوٰةِ ما دُمتُ حَيًّا ﴿٣١﴾ وَبَرًّا بِوٰلِدَتى وَلَم يَجعَلنى جَبّارًا شَقِيًّا ﴿٣٢﴾ وَالسَّلٰمُ عَلَىَّ يَومَ وُلِدتُ وَيَومَ أَموتُ وَيَومَ أُبعَثُ حَيًّا ﴿٣٣﴾


ความว่า : เขากล่าวว่า (หมายถึงอีซาทารกน้อย) แท้จริงฉันคือบ่าวของอัลลอฮฺ พระองค์ทรงประทานคัมภีร์แก่ฉัน และทรงกำหนดให้ฉันเป็นผู้เผยพระวจนะ และทรงทำให้ฉันเป็นผู้ได้รับสิริมงคล (คือเป็น อัล-มะสีหฺ –พระคริสต์) ไม่ว่า ณ ที่ใดซึ่งฉันปรากฏอยู่ พระองค์ทรงบัญชาให้ฉันอธิษฐานและจ่ายทรัพย์พลีตราบใดที่ฉันยังมีชีวิตอยู่ และให้ฉันเป็นผู้ปรนนิบัติดีต่อมารดาของฉัน พระองค์มิได้ทรงทำให้ฉันเป็นผู้อหังการ์ ฝ่าฝืนต่อพระองค์ สันติสุขย่อมมีแก่ฉันวันที่ฉันถือกำเนิด วันที่ฉันสิ้นชีพ และวันที่ฉันจะถูกให้ฟื้นคืนชีพอีกครา” (มัรยัม อายะฮฺที่ 30-33)


การใช้สำนวนกริยาอดีตในอายะฮฺนี้เป็นสิ่งที่ยืนยันถึงสิ่งที่พระองค์อัลลอฮฺลิขิตเอาไว้แล้วในความรู้ของพระองค์หรืออักนัยหนึ่งคือ เป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน การพูดจาอย่างฉะฉานของทารกน้อยเป็นสิ่งที่ผิดปกติวิสัยแต่ไม่ใช่สิ่งที่เป็นไปไม่ได้สำหรับพระเจ้า และสิ่งนี้ย่อมทำให้พวกยิวที่กล่าวหามัรยัม (มารีย์) ต้องยอมรับในความบริสุทธิ์ของนางโดยปริยาย เพราะเป็นสิ่งอัศจรรย์ที่เป็นไปโดยพระอนุมัติของพระเจ้าที่ให้ทารกน้อยปกป้องเกียรติและศักดิ์ศรีมารดาของตน และในคำกล่าวของทารกน้อยอีซา บุตรของมัรยัมได้ยืนยันถึงสถานภาพและกิตติคุณของตนเอาไว้ดังนี้ คือ

  1. อัสมะสีหฺ อีซาบุตรของมัรยัม คือบ่าวของพระผู้เป็นเจ้า มิใช่พระบุตรของพระองค์
  2. พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงลิขิตไว้แล้วว่าพระองค์จะทรงประทานคัมภีร์ อินญีล (ไบเบิ้ล) แก่ อัล-มะสีหฺ อีซาในกาลข้างหน้า
  3. ต่อไปเมื่อถึงวัยอันควรแล้ว อัล-มะสีหฺ อีซาจะได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้เผยพระวจนะของพระเจ้า และท่านคือผู้เผยพระวจนะหรือศาสนทูตท่านสุดท้ายของพงศ์พันธ์อิสราเอล
  4. ท่านเป็นผู้ที่เต็มไปด้วยพระสิริของพระเจ้าคือเป็นพระคริสต์ (อัล-มะสีหฺ) และสิ่งที่พระเจ้าทรงบัญชาให้ท่านมั่นคงในพระธรรมบัญญัติของพระองค์ตราบชีวิตจะหาไม่
  5. ท่านเป็นผู้ปฏิบัติกตัญญุตาคุณต่อมารดาของท่านเพราะท่านไม่มีบิดา อีกทั้งยังเป็นผู้นอบน้อมถ่อมตนและปฏิบัติตามพระทัยของพระเจ้า
  6. ความศานติบังเกิดแก่ท่านเป็นนิตย์และท่านก็ต้องจบชีวิตและถูกฟื้นคืนชีพในวันโลกหน้าเฉกเช่นมนุษย์ทุกคน เมื่อท่านถือกำเนิดและต้องจบชีวิตท่านจึงไม่ใช่พระเจ้าตามคำกล่าวอ้างเพราะพระเจ้าไม่ถูกกำเนิดและทรงมีชีวิตนิรันดร์

เรื่องราวที่เป็นเหตุการณ์สำคัญช่วงนี้ไม่มีระบุไว้ในพระคริสตธรรมคัมภีร์ฉบับใดเลย เพราะหลังจากนี้พระคริสตธรรมคัมภีร์ก็จะเริ่มกล่าวถึงยอห์นผู้ให้รับบัพติศมาและการรับบัพติศมาของพระเยซูคริสต์ตลอดจนการเริ่มพระราชกิจจานุกิจของพระองค์ และคัมภีร์อัล-กุรอานได้ระบุตอนท้ายของเรื่องนี้ว่า


ذٰلِكَ عيسَى ابنُ مَريَمَ ۚ قَولَ الحَقِّ الَّذى فيهِ يَمتَرونَ


ความว่า : “ดังกล่าวนั้นคือ (เรื่องราวอันเป็นกิตติคุณของ) อีซา บุตรมัรยัม เป็นคำกล่าวที่ถูกต้องซึ่งพวกเขามีความคลางแคลงสงสัยและถกเถียงกันในเรื่องนั้น

(มัรยัม อายะฮฺที่ 34)


หมายความว่า สิ่งที่อัล-กุรอานได้เล่าเอาไว้เกี่ยวกับสถานภาพของ อัล-มะสีหฺ อีซา บุตรมัรยัมคือสัจธรรมอันถูกต้องซึ่งผู้ศรัทธาจะไม่มีความสงสัยและคลางแคลงแต่อย่างใด ส่วนผู้ไม่ศรัทธาต่อสัจธรรมพวกเขาก็จะสงสัยและคลางแคลงใจตลอดจนถกเถียงกันอยู่ร่ำไป กล่าวคือ พวกยิวก็ยังคงกล่าวหามัรยัมและอีซาว่า มัรยัมทำผิดศีลข้อกาเม และอีซาคือบุตรนอกสมรส! และพวกยิวก็ไม่เชื่อในความเป็นผู้ประกาศสาส์นของพระเจ้า ในขณะที่ชาวคริสต์ก็มีความเชื่อแตกต่างกันว่า อีซาบุตรมัรยัมคือผู้ใดกัน พระองค์เป็นบุตรมนุษย์หรือเป็นบุตรของพระเจ้า หรือพระองค์คือหนึ่งในพระภาคทั้งสามของพระเจ้า หรือเป็นพระผู้เป็นเจ้าที่ทรงสำแดงพระองค์ในรูปของมนุษย์

รวมถึงสถานภาพของมัรยัมเองว่าเป็นพระมารดาของพระเป็นเจ้าใช่หรือไม่ และขณะที่ชาวคริสต์อธิษฐานนั้น พวกเขาอธิษฐานต่อผู้ใด พระบิดาเจ้าซึ่งทรงพระนามว่า พระยะโฮวา หรือต่อพระบุตรของพระองค์ซึ่งเป็นพระเจ้าเช่นกัน ความสับสนทางจิตใจของคริสต์ชนย่อมเกิดขึ้นเสมอตราบใดที่พวกเขาไม่ยอมรับศรัทธาในหลักเอกานุภาพที่ถือในพระเจ้าองค์เดียวและไม่เชื่อว่าพระเยซูคริสต์คือบ่าวของพระองค์ผู้ทำหน้าที่เผยพระวจนะของพระองค์ตราบนั้นพวกเขาก็ยังคงเกิดความสับสนทางจิตใจอยู่เสมอ และการแตกออกเป็นนิกายต่างๆ มากมายก็มีสาเหตุมาจากเรื่องสถานภาพของพระเยซูคริสต์นั่นเอง

แต่สำหรับมุสลิมผู้ศรัทธาแล้ว พวกเขายึดมั่นในพระเจ้าองค์เดียวอย่างแท้จริงตามหลักเอกานุภาพที่มีมาแต่เดิมในพระคัมภีร์ก่อนๆ และอีซาบุตรมัรยัมคือผู้หนึ่งในสายธารของผู้เผยพระวจนะที่ถูกส่งมาเพื่อบอกข่าวดีแก่มนุษย์โลกถึงการมาของศาสนทูตท่านสุดท้าย คือ นบีมุฮำมัด (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ซึ่งเราจะกล่าวถึงต่อไป อินชาอัลลอฮฺ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความแนะนำ

World Clock

Featured Posts

เรื่องราวของสองอารยธรรม : อารยธรรมของชาวไวกิ้งและมุสลิม

เรื่องราวของสองอารยธรรม : อารยธรรมของชาวไวกิ้งและมุสลิม โดย : Cem Nizamoglu และ Sairah Yassir-Deane ย้อนหลังไปถึงมีนาคม 2015 ข่าวเกี่ยวก...