คัมภีร์อัล-กุรอานกับคริสตชน : ภาคที่ 3
(อาลี เสือสมิง)สถานภาพของพระนางมัรยัม (มารีย์)
ชาวคริสต์บางนิกายเชื่อว่า พระแม่มารีย์ (มัรยัม) เป็นพระมารดาของพระเป็นเจ้าคือ พระเยซูคริสต์ จึงทำให้เกิดคำถามตามมาว่า เมื่อพระแม่มารีย์เป็นพระมารดาของพระเป็นเจ้าตามความเชื่อที่ว่านั้น แล้วพระแม่มารีย์มีสถานภาพเช่นใด ? พระนางเป็นผู้มีพระภาคเจ้าเช่นเดียวกับพระเยซูคริสต์ องค์พระผู้เป็นเจ้า หรือว่าพระนางทรงเป็นมนุษย์?
หากพระนางเป็นมนุษย์ แล้วเหตุไฉนพระนางจึงกลายเป็นพระมารดาของพระเป็นเจ้าไปได้ ในเมื่อพระเป็นเจ้าทรงมีมาก่อนทุกสรรพสิ่ง ทรงสร้างสรรค์สิ่งทั้งปวงรวมถึง พระแม่มารีย์ด้วย ผู้เป็นแม่ย่อมมีมาก่อนบุตรของนางเสมอ ไม่มีบุตรคนใดมีมาก่อนผู้เป็นแม่
ดังนั้นเมื่อพระเยซูคริสต์ทรงเป็นองค์พระเป็นเจ้า ผู้มีมาแต่เดิมตามคำกล่าวอ้าง พระแม่มารีย์ก็ย่อมมิใช่พระมารดาของพระผู้เป็นเจ้า เพราะนางมีมาทีหลังพระองค์ แต่ถ้าอ้างว่า พระแม่มารีย์มีมาก่อนพระเยซูคริสต์องค์พระเป็นเจ้า พระเยซูคริสต์ก็ย่อมมิใช่องค์พระเป็นเจ้าเพราะพระองค์มาทีหลังพระแม่มารีย์ ผู้มาทีหลังย่อมมิใช่พระเจ้า เพราะพระเจ้าเป็นองค์แรกสุด ไม่มีสิ่งใดอยู่ก่อนพระองค์
หากพระแม่มารีย์เป็นพระเจ้า หรือมีพระภาคเจ้า แล้วเหตุไฉน พระนางจึงมีโยเซฟ ช่างไม้เป็นสามี โยเซฟเป็นมนุษย์จะรับเอาพระเป็นเจ้ามาเป็นภรรยาของตนได้อย่างไร ? และหากอ้างว่า เหตุที่พระแม่มารีย์ทรงเป็นพระเจ้าหรือมีพระภาคเจ้าก็เพราะพระนางทรงประสูติพระผู้เป็นเจ้า คือ พระเยซูคริสต์ ก็ถามว่า แล้วพระนางเฮนน่าห์ พระมารดาของพระแม่มารีย์เล่านางจะมีสถานภาพเช่นใด ในเมื่อพระนางเฮนน่าห์ ก็ทรงประสูติพระแม่มารีย์ผู้เป็นพระเจ้าตามคำอ้าง
หรือว่าพระนางเฮนน่าห์ทรงเป็นพระอัยกี (ย่า) ของพระผู้เป็นเจ้าคือพระเยซูคริสต์นั้น แล้วบรรดาพี่น้องของพระเยซูคริสต์องค์พระเป็นเจ้านั้นเล่า พวกเขาล้วนเป็นบุตรของพระแม่มารีย์เช่นกัน เพราะพระคริสตธรรมคัมภีร์ ระบุว่า “นางจึงประสูติบุตรชายหัวปีเอาผ้าอ้อมพันและวางไว้ในรางหญ้า…..” (ลูกา 2:7) บุตรชายหัวปีของพระแม่มารีย์ก็คือ พระเยซูองค์พระเป็นเจ้า แสดงว่า พระแม่มารีย์ ทรงประสูติบุตรอื่นๆอีก
ดังพระคริสตธรรมคัมภีร์ระบุว่า “ขณะที่พระองค์ยังตรัสกับประชาชนอยู่นั้นมารดา และพวกน้องชายของพระองค์พากันมายืนอยู่ภายนอกหาโอกาสจะสนทนากับพระองค์…”(มัทธิว 12:46) “คนนี้เป็นลูกช่างไม้ มิใช่หรือ และน้องชายของเขาชื่อ ยากอบ โยเซฟ ซีโมน และยูดาส มิใช่หรือ และน้องสาวก็อยู่กับเรามิใช่หรือ” (มัทธิว 13:55) “คนนี้เป็นช่างไม้ บุตรนางมารีย์ มิใช่หรือ ยากอบ โยเซฟ ยูดาส และซีโมนเป็นน้องชายมิใช่หรือ และน้องสาวก็อยู่ที่นี่กับเรามิใช่หรือ (มาระโก 6:3)
ดังนั้นหากพระเยซูคริสต์องค์พระเป็นเจ้าทรงมีพี่น้องร่วมอุทรที่เกิดจากพระแม่มารีย์ แล้วพวกเขาเป็นผู้ใดเล่า เป็นเหล่าพี่น้องของพระเป็นเจ้าใช่หรือไม่? หรือเป็นบุตรของพระเป็นเจ้าเช่นกัน หรือไม่พวกเขาก็เป็นพระเป็นเจ้าด้วยเพราะเหตุที่ว่า ผู้ประสูติแต่พระแม่มารีย์ก็คือพระเป็นเจ้า !
แต่ถ้าหากยืนกรานว่า บรรดาพี่น้องของพระเยซูคริสต์อันเกิดแต่พระแม่มารีย์นั้น มิใช่พระเป็นเจ้า และมิใช่บุตรของพระเจ้า มีเพียงองค์พระเยซูคริสต์เพียงพระองค์เดียวเท่านั้น ที่เป็นพระบุตรของพระเจ้า เพราะพระองค์ทรงปฏิสนธิในครรภ์ของพระแม่มารีย์ด้วยเดชพระวิญญาณบริสุทธิ์ (มัทธิว 1:18,20) “ทูตสรรค์จึงตอบนางว่า “พระวิญญาณบริสุทธิ์จะเสด็จลงมาบนเธอ และฤทธิเดชของผู้สูงสุดจะปกเธอ เหตุฉะนั้นบุตรที่จะเกิดมานั้นจะได้เรียกว่า วิสุทธิ์ และเรียกว่าพระบุตรของพระเจ้า” (ลูกา 1:35)
แต่บรรดาพี่น้องของเยซูคริสตเจ้ามิได้ถือกำเนิดด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์ จึงไม่เหมือนพระเยซูคริสต์เจ้า ถึงแม้จะเกิดจากอุทรเดียวกันกับพระองค์ก็ตาม ถ้าตอบอย่างนี้ก็จะย้อนกลับไปยังเรื่องเดิม ซึ่งเคยถามมาแล้วเหตุไฉนพระคริสตธรรมคัมภีร์ฉบับมัทธิว และลูกาจึงต้องระบุลำดับพงศ์พันธุ์ของพระเยซูคริสต์จากฝ่ายโยเซฟด้วยเล่า ในเมื่อพระเยซูคริสต์ มิได้เกิดจากโยเซฟ แต่บังเกิดด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์ดังที่พระคริสตธรรมคัมภีร์ระบุเอาไว้
และหากว่าพระแม่มารีย์ทรงเป็นพระเจ้าหรือเป็นพระมารดาของพระเป็นเจ้าแล้วเหตุไฉน ในพระคริสตธรรมคัมภีร์จึงกล่าวว่า:ส่วนมารีย์ทูลว่า “ดูเถิด ข้าพเจ้าเป็นทาสีของพระเป็นเจ้า ข้าพเจ้าพร้อมที่จะเป็นไปตามคำของท่าน” (ลูกา 1:38) “เพราะพระองค์ทรงห่วงใยฐานะอันยากต่ำแห่งทาสีของพระองค์ (ลูกา1:48) ตกลงว่า พระแม่มารีย์ทรงเป็นทาสี(ทาสหญิง) ของพระผู้เป็นเจ้าหรือว่าเป็นพระผู้เป็นเจ้าเสียเองเล่า!
ทั้งหมดที่กล่าวมาถือเป็นการเลยเถิด และก้าวล่วงสถานภาพอันเป็นจริงของพระนางมัรยัม (มารีย์) และอัล-มะสีหฺ อีซา บุตรมัรยัม ด้วยการยกฐานะของบุคคลทั้งสองสู่ความเป็นพระเจ้า หรือเป็นพระบุตรของพระเจ้ากับพระมารดาของพระผู้เป็นเจ้า ทั้งๆที่พระคริสตธรรมคัมภีร์ทั้งภาคพันธสัญญาเดิม และภาคพันธสัญญาใหม่ ต่างก็ยืนยันถึงความสูงส่งของพระผู้เป็นเจ้า และเอกานุภาพของพระองค์
เหตุนี้คัมภีร์ อัล-กุรอานจึงกล่าวถึงคริสตชนว่า
{ ياأَهْلَ الْكِتَابِ لا تَغْلُوا فِى دِيْنِكُمْ ولا تَقُوْلُوا عَلَى اللهِ إلاَّ الْحَقَّ إِنَّما المَسِيْحُ عِسَى ابْنُ مَرْيَمَ رسول الله وكلمتُه أَلْقَاهَا إِلَى مَرْيَمَ وَرُوْحٌ مِنْهُ فآمِنُوا بِاللهِ ورُسُلِه ولا تَقُولُوا ثلاثةٌ ، انْتَهُوا خَيْرًا لكم إنما اللهُ إلهٌ واحِدٌ سبحانَه أن يكونَ لَه ولدٌ لَه مافى السَمواتِ وما فى الأرضِ ، وكَفى بالله وكِيلاً }
ความว่า “โอ้ ชนแห่งคัมภีร์ (หมายถึงคริสตชน) สูเจ้าอย่าเลยเถิด (สุดโต่ง) ในศาสนาของสูเจ้า และอย่ากล่าวตู่ต่อพระเจ้ายกเว้นสิ่งที่เป็นความจริง อันที่จริง อัล-มะสีหฺ อีซา บุตร มัรยัมนั้นคือศาสนทูตของพระเจ้า คือพระวาทะของพระองค์ซึ่งทรงตรัสพระวาทะนั้นยังมัรยัม และคือวิญญาณจากพระองค์ (ซึ่งทูตสวรรค์ญิบรีลได้เป่าวิญญาณนั้นเข้าไปยังทรวงอกของมัรยัมแล้วปฏิสนธิอีซาขึ้นในครรภ์ของนาง)
ดังนั้น สูเจ้าจงศรัทธาต่อพระผู้เป็นเจ้าและเหล่าศาสนทูตของพระองค์ และสูเจ้าอย่ากล่าวว่าสาม (คือพระเจ้าทรงมี 3 พระภาคตามหลักตรีเอกานุภาพ) จงยุติจากสิ่งนั้นเถิดย่อมดีที่สุดสำหรับสูเจ้า อันที่จริงอัลลอฮฺคือพระเป็นเจ้าผู้ทรงเอกะ มหาบริสุทธิ์แด่พระองค์จากการที่พระองค์จะทรงมีพระบุตร สรรพสิ่งที่อยู่ในชั้นฟ้า และสรรพสิ่งที่อยู่ในผืนดินล้วนเป็นสิทธิของพระองค์ (เพราะพระองค์ทรงสร้าง และมีพระราชอำนาจปกครองทุกสรรพสิ่ง) และย่อมเพียงพอแล้วที่พระเป็นเจ้าทรงเป็นผู้รับมอบหมายในการเป็นประจักษ์พยานถึงสิ่งดังกล่าว”
(อัน-นิสาอฺ อายะฮฺที่ 171)
และอัล-กุรอานได้ระบุว่า
{ لَقَدْ كَفَرَ الذِيْنَ قَالُوا إِنَّ اللهَ ثَالِثُ ثَلاثَةٍ ، وَمَا مِن إِلهٍ إٍلا إلهٌ وَاحِدٌ ، وَإِنْ لم يَنْتَهُوا عَمَّا يقولون ليَمَسَّنَّ الذين كَفَرُوا مِنْهُمْ عَذَابٌ أَلِيْم * أَفَلا يَتُوْبُوْنَ إِلى الله ويسْتَغْفِرُونَه ، واللهُ غَفُوْرٌ رَحِيْمٌ }
ความว่า “แน่แท้บรรดาผู้ที่กล่าวว่า แท้จริงอัลลอฮฺคือที่สามของสาม (หมายถึงอัลลอฮฺคือหนึ่งในพระภาคทั้ง3 ตามคำกล่าวอ้างของคริสตชน) หาได้มีพระเจ้าไม่นอกจากพระเจ้าองค์เดียว และหากพวกเขายังไม่ยุติจากสิ่งที่พวกเขากล่าว (คือตรีเอกานุภาพ) แน่นอนการลงทัณฑ์อันเจ็บแสบจะได้สัมผัสกับบรรดาผู้ที่ยืนกรานปฏิเสธจากพวกเขา (ในเรื่องนี้) ไฉนพวกเขาจึงไม่สำนึกผิด และขอลุแก่โทษต่ออัลลอฮฺเล่า และอัลลอฮฺทรงอภัยยิ่ง อีกทั้งทรงพระเมตตายิ่ง” (อัล-มาอิดะฮฺ อายะฮฺที่ 73-74)
คัมภีร์อัล-กุรอานได้กล่าวถึงเหตุการณ์เบื้องหน้าที่จะเกิดขึ้นในวันแห่งการพิพากษาว่า
} وَإِذْ قَالَ اللّهُ يَا عِيسَى ابْنَ مَرْيَمَ أَأَنتَ قُلتَ لِلنَّاسِ اتَّخِذُونِي وَأُمِّيَ إِلَـهَيْنِ مِن دُونِ اللّهِ قَالَ سُبْحَانَكَ مَا يَكُونُ لِي أَنْ أَقُولَ مَا لَيْسَ لِي بِحَقٍّ إِن كُنتُ قُلْتُهُ فَقَدْ عَلِمْتَهُ تَعْلَمُ مَا فِي نَفْسِي وَلاَ أَعْلَمُ مَا فِي نَفْسِكَ إِنَّكَ أَنتَ عَلاَّمُ الْغُيُوبِ } } مَا قُلْتُ لَهُمْ إِلاَّ مَا أَمَرْتَنِي بِهِ أَنِ اعْبُدُواْ اللّهَ رَبِّي وَرَبَّكُمْ وَكُنتُ عَلَيْهِمْ شَهِيدًا مَّا دُمْتُ فِيهِمْ فَلَمَّا تَوَفَّيْتَنِي كُنتَ أَنتَ الرَّقِيبَ عَلَيْهِمْ وَأَنتَ عَلَى كُلِّ شَيْءٍ شَهِيدٌ }} إِن تُعَذِّبْهُمْ فَإِنَّهُمْ عِبَادُكَ وَإِن تَغْفِرْ لَهُمْ فَإِنَّكَ أَنتَ الْعَزِيزُ الْحَكِيمُ}
ความว่า: และจงรำลึกขณะที่พระผู้เป็นเจ้าทรงตรัสว่า :โอ้ อีซา บุตรของมัรยัม เจ้ากล่าวแก่ผู้คนกระนั้นหรือว่าท่านทั้งหลายจงยึดเอาฉันและมารดาของฉันเป็นพระเจ้าสององค์อื่นจากอัลลอฮฺพระผู้เป็นเจ้า ?อีซากล่าวว่า:มหาบริสุทธิ์แด่พระองค์ท่าน หาใช่เป็นสิทธิอันควรไม่สำหรับข้าพระองค์ซึ่งการที่ข้าพระองค์จะกล่าวถึงสิ่งที่ข้าพระองค์ไม่มีสิทธิอันชอบธรรมนั้นเลย หากว่าข้าพระองค์เคยกล่าวเช่นนั้น แน่แท้พระองค์ย่อมรู้ดีถึงสิ่งนั้น
พระองค์ทรงรู้ถึงสิ่งที่อยู่ในใจของข้าพระองค์ ส่วนข้าพระองค์หาได้ทราบถึงสิ่งที่อยู่ในพระทัยของพระองค์ไม่ แท้จริงพระองค์ท่านทรงรู้ดีถึงสิ่งเร้นลับทั้งปวง ข้าพระองค์มีเคยกล่าวแก่พวกเขาเลย เว้นเสียแต่สิ่งที่พระองค์ท่านทรงมีพระบัญชาใช้ให้ข้าพระองค์กล่าวสิ่งนั้น คือพวกท่านทั้งหลายจงเคารพภักดีต่ออัลลอฮฺพระเป็นเจ้าของฉัน และพระเป็นเจ้าของพวกท่าน และข้าพระองค์เป็นสักขีพยานต่อพวกเขาตราบที่ข้าพระองค์อยู่ท่ามกลางพวกเขา
ครั้นเมื่อพระองค์ทรงให้ข้าพระองค์สำเร็จสิ้นแล้ว พระองค์นั่นเองทรงเป็นผู้สอดส่องความเป็นไปของพวกเขา และพระองค์ทรงเป็นสักขีพยานต่อทุกสรรพสิ่ง หากว่าพระองค์จะทรงลงทัณฑ์พวกเขา นั่นเพราะเหตุที่พวกเขาเป็นบ่าวของพระองค์ และหากว่าพระองค์ทรงยกโทษานุโทษให้แก่พวกเขา นั่นเพราะเหตุที่พระองค์ทรงพระเกริกเกียรติ อีกทั้งทรงพระปรีชาญาณยิ่ง”
(อัล-มาอิดะฮฺ อายะฮฺที่ 116-118)
ความแตกต่างระหว่างชาวมุสลิมกับคริสตชนปรากฏชัดอยู่ในประเด็นหลักๆ ดังนี้
1. พระผู้เป็นเจ้าพระองค์เดียว
2. คุณลักษณะอันบริสุทธิ์ของพระผู้เป็นเจ้า
3. สถานภาพของอัล-มะสีหฺ อีซา บุตร มัรยัม และมัรยัม บุตรีของอิมรอน
ชาวมุสลิมศรัทธา และเชื่อมั่นในพระผู้เป็นเจ้าเพียงพระองค์เดียวตามหลักเอกานุภาพ (Unity) ซึ่งสอดคล้องกับสาระสำคัญในพระธรรมบัญญัติที่มีปรากฏทั้งในพระคัมภีร์เก่าและพระคัมภีร์ใหม่ พระผู้เป็นเจ้าที่ชาวมุสลิมศรัทธาเชื่อมั่นต่อพระองค์คือพระผู้เป็นเจ้าของอาดัม โนอาหฺ อับราฮัม อิชเมล อิศอัก ยาโคบ โลท โยเซฟ และบรรดาพี่น้องของโยเซฟ โมเสส อารอน และบรรดาผู้เผยพระวจนะทั้งที่เป็นพงศ์พันธุ์อิสราเอลในชั้นหลังเช่น เศคาริยาห์ และยอห์น เป็นต้น
และที่มิใช่พงศ์พันธุ์อิสราเอล เช่น ฮูด ศอลิหฺ ชุอัยบฺ เป็นต้น ทั้งหมดต่างก็ยืนยันในความเป็นหนึ่งเดียวของพระองค์ และเรียกร้องประกาศเชิญชวนมนุษยชาติในแต่ละยุคให้เคารพสักการะต่อพระองค์เพียงพระองค์เดียว และรณรงค์กับการเคารพบูชาต่อสิ่งอื่นที่ถูกอุปโลกน์ขึ้นเป็นภาคีและเทียบเทียมพระองค์ คัมภีร์อัล-กุรอานได้ประกาศถึงเอกภาพ และความเป็นหนึ่งเดียวในคำเรียกร้องเชิญชวนของบรรดาผู้เผยพระวจนะทั้งหมดว่า
{وَلَقَدْ بَعَثْنَا فِي كُلِّ أُمَّةٍ رَّسُولاً أَنِ اعْبُدُواْ اللّهَ وَاجْتَنِبُواْ الطَّاغُوتَ}
ความว่า : “และแน่แท้เรา (อัลลอฮฺ) ได้ส่งศาสนทูตไปในทุกประชาชาติ (และมีบัญชาให้ประกาศว่า) พวกท่านจงเคารพสักการะอัลลอฮฺ และจงหลีกห่างสิ่งที่ถูกอุปโลกน์ขึ้นเป็นพระเจ้าอื่นจากอัลลอฮฺ” (อัน-นะหฺลุ้ อายะฮฺที่ 36)
} لَقَدْ أَرْسَلْنَا نُوحًا إِلَى قَوْمِهِ فَقَالَ يَا قَوْمِ اعْبُدُواْ اللَّهَ مَا لَكُم مِّنْ إِلَـهٍ غَيْرُهُ }
ความว่า : “แน่แท้เรา (อัลลอฮฺ) ได้ส่งนูหฺ (โนอาห์) ให้เป็นศาสนทูตไปยังกลุ่มชนของเขา แล้วนูหฺกล่าวว่า โอ้ กลุ่มชนของฉัน พวกท่านจงเคารพสักการะอัลลอฮฺ ไม่มีพระเจ้าอื่นจากพระองค์สำหรับพวกท่าน” (อัล-อะอฺร็อฟ อายะฮฺที่ 59)
{ إِنَّا أَوْحَيْنَا إِلَيْكَ كَمَا أَوْحَيْنَا إِلَى نُوحٍ وَالنَّبِيِّينَ مِن بَعْدِهِ وَأَوْحَيْنَا إِلَى إِبْرَاهِيمَ وَإِسْمَاعِيلَ وَإْسْحَاقَ وَيَعْقُوبَ وَالأَسْبَاطِ وَعِيسَى وَأَيُّوبَ وَيُونُسَ وَهَارُونَ وَسُلَيْمَانَ وَآتَيْنَا دَاوُودَ زَبُورًا }
ความว่า : “แท้จริงเรา (อัลลอฮฺ) ได้วิวรณ์มายังท่าน (มุฮัมมัด) เฉกเช่นที่เราได้วิวรณ์ไปยังนูหฺ (โนอาห์) และบรรดาผู้เผยพระวจนะที่มาหลังจากนูหฺ และเราได้วิวรณ์ไปยัง อิบรอฮีม (อับราฮัม) อิสมาอีล (อิชเมล) อิสหาก (อิศอัก) ยะอฺกู๊บ (ยาโคบ) บรรดาลูกหลานของยะอฺกู๊บ , อีซา (เยซู) อัยยูบ (โยบ) ยูนุส (โยน่าห์) ฮารูน (อารอน) สุลัยมาน (โซโลมอน) และเราได้ประทานคัมภีร์ ซะบู๊ร แก่ดาวูด (เดวิด)” (อัน-นิสาอฺ อายะฮฺที่ 163)
ชาวมุสลิมไม่เชื่อว่ามีผู้เผยพระวจนะ และศาสนทูตท่านใดเรียกร้องมนุษย์ไปสู่การตั้งภาคีต่อพระผู้เป็นเจ้า หรือเป็นพระบุตรของพระเจ้า ทั้งนี้เพราะบรรดาผู้เผยพระวจนะ และศาสนทูตคือผู้ที่พระผู้เป็นเจ้าทรงเลือกสรร และส่งมายังหมู่ชนให้ทำหน้าที่เผยสิ่งที่พระองค์ทรงมีวิวรณ์มาเพื่อนำทางหมู่ชนออกจากความหลงผิดสู่ความสว่างแห่งการศรัทธาในพระผู้เป็นเจ้าพระองค์เดียว บรรดาผู้เผยพระวจนะและเหล่าศาสนทูตคือบ่าวของพระองค์ พวกเขาเป็นมนุษย์เหมือนกับหมู่ชนเหล่านั้น แต่มีความประเสริฐเหนือกว่าด้วยสถานภาพอันสูงส่งของการเป็นผู้ประกาศสาส์นของพระเจ้า
สำหรับคริสตชนแล้ว พระผู้เป็นเจ้าเป็นตรีเอกานุภาพ คือประกอบด้วยพระบิดา พระบุตรและพระจิตหรือพระวิญญาณบริสุทธิ์ ความเชื่อเช่นนี้ไม่มีปรากฏในคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิม (ใบเบิ้ลเก่า) และเป็นความขัดแย้งกับหลักคำสอนที่พระเยซูคริสต์ทรงสั่งสอนในหลายวาระโอกาส หรืออาจกล่าวได้ว่าคำสอนที่มีปรากฏอยู่ในพระคริสตธรรมคัมภีร์ ภาคพันธสัญญาใหม่ มีความขัดแย้งกันเอง ความสับสนที่หลีกเลี่ยงได้ยากคือ พระยะโฮวา คือ พระผู้เป็นเจ้าหนึ่งเดียว ในขณะเดียวกันพระเยซูคริสต์ก็คือพระผู้เป็นเจ้า หรือเป็นพระบุตรของพระเจ้า หรือเป็นหนึ่งจากพระภาคทั้งสามของพระผู้เป็นเจ้า
นี่คือความสับสนที่ยากต่อการทำความเข้าใจ และเป็นผลต่อเนื่องกับประเด็นที่สอง ซึ่งว่าด้วยคุณลักษณะอันสมบูรณ์ของพระผู้เป็นเจ้า ทรงเป็นหนึ่งเดียว ทรงเป็นที่พึ่งของทุกสรรพสิ่ง พระองค์ไม่มีพระบุตร และไม่ถูกบังเกิด ไม่มีสิ่งใดเสมอเหมือนพระองค์ แต่คริสตชนมีความเชื่อว่าพระเยซูคริสต์ทรงเป็นพระผู้เป็นเจ้า ในขณะที่พระองค์ถูกให้กำเนิด มีพระมารดาเป็นผู้อุ้มครรภ์ และผ่านขั้นตอนของการเจริญวัย รับประทานอาหาร ดื่มกิน นอนหลับพักผ่อน ถูกประทุษร้าย และตายบนไม้กางเขน
ซึ่งทั้งหลายขัดกับคุณลักษณะของพระผู้เป็นเจ้า ความสับสนในคุณลักษณะของพระผู้เป็นเจ้ากับสิ่งที่มีปรากฏในพระคริสตธรรมคัมภีร์เกี่ยวกับประวัติของพระเยซูคริสต์ จึงเป็นสิ่งที่เกี่ยวเนื่องกับสถานภาพของพระเยซูคริสต์ และพระมารดาของพระองค์ โดยมิอาจหลีกเลี่ยงเช่นกัน มุสลิมเชื่อว่าพระเยซูคริสต์คือ มนุษย์ที่ถูกบังเกิดโดยไม่มีบิดา มีพระนางมัรยัม (มาเรีย) เป็นพระมารดา ซึ่งพระนางก็คือมนุษย์ที่ถูกบังเกิดอีกเช่นกัน
พระเยซูคริสต์คือ ผู้เผยพระวจนะของผู้เป็นเจ้าเป็นศาสนทูตของพระองค์ที่ถูกส่งมาเพื่อนำชนอิสราเอลในยุคของพระองค์กลับสู่ความเชื่อที่ถูกต้อง ภารกิจของพระองค์ จึงไม่แตกต่างจากภารกิจของบรรดาผู้เผยพระวจนะ และศาสนทูตที่มีมาก่อน แต่คริสตชนเชื่อว่าพระองค์มิใช่มนุษย์ แต่เป็นพระบุตรของพระเจ้า หรือเป็นพระผู้เป็นเจ้าที่แสดงภาคแห่งความเป็นมนุษย์ของพระองค์ พระองค์ยอมเสียสละพระชนม์ชีพบนไม้กางเขน เพื่อไถ่บาปของมนุษยชาติ ซึ่งความเชื่อเช่นนี้ก็ยังคงอยู่ในวังวนของความสับสนอีกเช่นกัน และเป็นที่มาของคำถามที่ไร้ข้อยุติ และไม่รู้จักจบสิ้น
พระเจ้าเป็นพระผู้สร้าง ในขณะเดียวกันพระองค์ก็ถูกบังเกิดในครรภ์ของมารดา พระเจ้าทรงเป็นหนึ่งเดียว ในขณะเดียวกับพระองค์ก็มี 3 ภาค พระเจ้าทรงมีคุณลักษณะที่สมบูรณ์ ในขณะเดียวกับพระองค์ก็หลับนอน ดื่มกิน และถูกประทุษร้าย พระเจ้าทรงพระชนม์ชีพเป็นนิรันดร์ ในขณะเดียวกับพระองค์ก็ทรงสิ้นพระชนม์ด้วยน้ำมือของมนุษย์ พระเจ้าทรงประทานชีวิต และทรงประทานความตาย และพระองค์ก็ทรงทำให้พระองค์เองสิ้นพระชนม์ และประทานชีวิตใหม่ให้พระองค์ฟื้นคืนชีพ
พระเจ้าส่งพระบุตรลงมาตายแทนพระองค์เพื่อไถ่บาปกับความผิดของมนุษย์ ซึ่งพระองค์ทรงไร้ความสามารถในการอภัยบาปให้แก่มนุษย์โดยตรง จึงต้องใช้วิธีการที่ซับซ้อน และยากต่อการยอมรับตามสติปัญญา คือให้พระบุตรมาสิ้นพระชนม์แทนพระบิดา หรือว่าผู้ที่สิ้นพระชนม์คือพระบิดาเสียเอง และอีกร้อยแปดพันเก้าที่เป็นคำถาม และปรัศนีมากมาย!
อัล-มะสีหฺ อีซา บุตร มัรยัม และการเรียกร้องพงษ์พันธุ์อิสราเอล
ในพระคริสตธรรมคัมภีร์ ระบุถึงทัศนคติของพระเยซูคริสต์เรื่องธรรมบัญญัติว่า : อย่าคิดว่าเรามาเลิกล้างธรรมบัญญัติ และคำของผู้เผยพระวจนะ เรามิได้มาเลิกล้าง แต่มาทำให้สมบุรณ์ทุกประการ เราบอกความจริงแก่ท่านทั้งหลายว่า ตราบใดที่ฟ้าและดินดำรงอยู่ แม้อักษรหนึ่ง หรือขีดๆหนึ่งก็จะไม่สูญไปจากธรรมบัญญัติจนกว่าสิ่งที่จะต้องเกิด ได้เกิดขึ้นแล้ว เหตุฉะนั้น ผู้ใดได้ทำให้ข้อเล็กน้อยสักข้อหนึ่งในธรรมบัญญัตินี้เบาขึ้น ทั้งสอนคนอื่นให้ทำอย่างนั้นด้วย ผู้นั้นจะได้ชื่อว่า เป็นผู้น้อยที่สุดในแผ่นดินสวรรค์ แต่ผู้ใดที่ประพฤติและสอนตามธรรมบัญญัติ ผู้นั้นจะได้ชื่อว่าเป็นใหญ่ในแผ่นดินสวรรค์ (มัทธิว 5:17-19)
และพระเยซูคริสต์ได้ประกาศว่า : เรามิได้รับใช้มาหาผู้ใด เว้นแต่แกะหลงของวงศ์วานอิสราเอล (มัทธิว 15:24) และพระเยซูคริสต์ทรงใช้อัครทูตสิบสองคนออกสั่งสอนโดยสั่งว่า : “อย่าไปทางที่ไปสู่พวกต่างชาติ และอย่าเข้าไปในเมืองของชาวสะมาเรีย แต่ว่าจงไปหาแกะหลงของวงศ์วานอิสราเอลนั้นดีกว่า….” (มัทธิว 10:5-6)
ข้อความในพระคริสตธรรมคัมภีร์ข้างต้น บ่งชี้ว่า อัล-มะสีหฺ อีซา บุตร มัรยัม (พระเยซูคริสต์) ได้ถูกบัญชาให้เผยพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าเฉพาะในวงศ์วานอิสราเอลเท่านั้น อีกทั้งเรียกร้องเชิญชวนชาวอิสราเอลในยุคของพระองค์ให้ยึดถือพระธรรมบัญญัติเดิมของนบีมูซา (โมเสส) พระองค์มิได้ถูกส่งมาให้ประกาศสาส์นของพระผู้เป็นเจ้าแก่โลกมนุษย์ทั้งผอง การกำชับอัครทูตทั้งสิบสองคนไม่ให้ไปทางที่นำสู่ชนต่างชาติ เช่น พวกสะมาเรีย เป็นต้น
แต่ให้ไปตามหาแกะหลงทางของวงศ์วานอิสราเอลย่อมยืนยันได้เป็นอย่างดีว่าสาส์นของพระองค์จำกัดอยู่เฉพาะชาวอิสราเอลเพียงเท่านั้น คัมภีร์อัล-กุรอานได้ยืนยันสิ่งดังกล่าวไว้เช่นกันว่า
} وَيُعَلِّمُهُ الْكِتَابَ وَالْحِكْمَةَ وَالتَّوْرَاةَ وَالإِنجِيلَ ، وَرَسُولاً إِلَى بَنِي إِسْرَائِيلَ….}
ความว่า : “และพระองค์จะสอนการเขียน วิทยญาณ คัมภีร์อัต-เตารอฮฺ และอัล-อินญีลแก่เขา (อีซา บุตร มัรยัม) และ (ส่ง) เขาเป็นศาสนทูตมายังวงศ์วานอิสราเอล…” (อาลิ-อิมรอน อายะฮฺที่ 48-49)
และพระดำรัสที่ว่า :
{ وَمُصَدِّقًا لِّمَا بَيْنَ يَدَيَّ مِنَ التَّوْرَاةِ وَلِأُحِلَّ لَكُم بَعْضَ الَّذِي حُرِّمَ عَلَيْكُمْ وَجِئْتُكُم بِآيَةٍ مِّن
رَّبِّكُمْ فَاتَّقُواْ اللّهَ وَأَطِيعُونِ ، إِنَّ اللّهَ رَبِّي وَرَبُّكُمْ فَاعْبُدُوهُ هَـذَا صِرَاطٌ مُّسْتَقِيمٌ }
ความว่า : และ(ถูกส่งมา) ในฐานะผู้ยืนยันความสัจจริงให้แก่คัมภีร์เตารอฮฺ (พระคริสต์ธรรมเดิม) ที่มีมาก่อนหน้าฉัน และเพื่อที่ฉันจะได้อนุมัติให้แก่พวกท่าน (ชาวอิสราเอล) ซึ่งบางส่วนของสิ่งที่ถูกบัญญัติห้ามเหนือพวกท่าน และฉันได้นำสัญญา ณ หนึ่งจากพระผู้อภิบาลของพวกท่านมายังพวกท่าน ดังนั้นพวกท่านจงยำเกรงอัลลอฮฺ และเชื่อฟังฉันเถิด แท้จริงพระองค์อัลลอฮฺคือ พระผู้อภิบาลของฉัน และของพวกท่าน ฉะนั้นพวกท่านจงเคารพสักการะต่อพระองค์ นี่คือมรรคาอันเที่ยงตรง” (อาลิ-อิมรอน อายะฮฺที่ 50-51)
ในอายะฮฺข้างต้น คัมภีร์อัล-กุรอานได้บอกถึงคุณลักษณะต่างๆของอัล-มะสีหฺ อีซา บุตรมัรยัม (พระเยซูคริสต์) เอาไว้ว่า พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงสอนให้อัล-มะสีหฺ อีซา (อะลัยฮิสสลาม) รู้ถึงการเขียนเป็นลายลักษณ์อักษร สอนให้ท่านรู้ถึงศาสตร์ที่มีประโยชน์ในการกระตุ้นจิตใจให้มีการปฏิบัติจริง และชี้ถึงความเร้นลับของพระธรรมบัญญัติ พระองค์สอนให้อัล-มะสีหฺรู้ถึงพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิมที่ทรงประทานให้แก่มูซา (โมเสส) และคัมภีร์อินญิล ที่พระองค์ทรงดลใจมายังท่าน
และอัล-มะสีหฺคือศาสนทูตที่ถูกส่งมายังวงศ์วานอิสราเอลเพื่อมายืนยันถึงสัจธรรมที่มีมาก่อนในพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิม ท่านมิได้มายกเลิก หรือประกาศคำสอนที่ขัดกับพระธรรมบัญญัติที่มีอยู่ก่อน ยกเว้นสิ่งที่พระผู้เป็นเจ้าทรงผ่อนปรน และอนุโลมให้แก่ชาวอิสราเอลโดยผ่านการดลใจ (วิวรณ์) ในคัมภีร์อัล-อินญิล ซึ่งก่อนหน้านั้นพระองค์ได้ทรงบัญญัติพระธรรมบัญญัติที่เข้มงวดแก่ชาวอิสราเอลเอาไว้ เช่นการรับประทานอาหารบางชนิด เช่น ปลา เนื้ออูฐ ไขมันสัตว์ และการทำงานในวันสะบะโต (วันเสาร์) ได้เป็นต้น
คำสอนของพระเยซูคริสต์ในเรื่องพระผู้เป็นเจ้า
คำเทศนาของอัล-มะสีหฺ อีซา บุตร มัรยัม (พระเยซูคริสต์) ที่มีปรากฏในพระคริสตธรรมคัมภีร์ในเรื่องพระผู้เป็นเจ้าย่อมเป็นสิ่งที่ยืนยันได้ชัดเจนว่า อัล-มะสีหฺ อีซา หรือพระคริสต์มิใช่พระผู้เป็นเจ้า หรือเป็นพระบุตรของพระเจ้า ทั้งนี้เพราะหากว่าพระคริสต์คือพระผู้เป็นเจ้าหรือเป็นพระบุตรของพระเจ้า
ตามความจริง พระองค์ย่อมทรงอยู่ในสวรรค์ มิใช่อยู่ในโลกมนุษย์ การที่พระองค์ถือกำเนิดในครรภ์ของพระมารดา และผ่านวัยของมนุษย์ตลอดจนดำรงชีวิตเยี่ยงมนุษย์ปุถุชนที่กินดื่ม และหลับนอนนั่นเป็นเพราะพระองค์คือ บุตรของมนุษย์ที่มิใช่บุตรของพระเจ้า นอกเหนือจากการที่พระองค์จะเป็นพระเจ้าตามความเชื่อของคริสตชน คำเทศนาของพระองค์ที่กล่าวถึงพระผู้เป็นเจ้า ในวาระโอกาสต่างๆ ยืนยันได้เป็นอย่างดีถึงสิ่งที่เรากล่าวมาดังนี้ พระคริสตธรรมคัมภีร์ฉบับ มัทธิว
“อ้าย ซาตาน จงไปเสียให้พ้น เพราะคัมภีร์มีเขียนไว้ว่า “จงกราบนมัสการพระองค์พระผู้เป็นเจ้าของท่าน และปรนนิบัติพระองค์แต่ผู้เดียว” (มัทธิว 4:10)
“บุคคลใดสร้างสันติ ผู้นั้นเป็นสุข เพราะว่าพระเจ้าจะทรงเรียกเขาว่าเป็นบุตร” (มัทธิว 5:9)
“ท่านทั้งหลายก็เหมือนกับตะเกียง จงส่องสว่างแก่คนทั้งปวง เพื่อว่าเมื่อเขาได้เห็นความดีที่ท่านทำเขาจะได้สรรเสริญพระบิดาของท่านผู้ทรงอยู่ในสวรรค์ (มัทธิว 5:16)
“ฝ่ายเราบอกท่านทั้งหลายว่า อย่าสาบานเลย โดยอ้างถึงสวรรค์ก็อย่าสาบาน เพราะสวรรค์เป็นที่ประทับของพระเจ้า” (มัทธิว 5:34)
“ฝ่ายเราบอกท่านว่า จงรักศัตรูของท่าน และจงอธิษฐานเพื่อผู้ที่ข่มเหงท่าน ทำดังนี้แล้ว ท่านทั้งหลายจะเป็นบุตรของพระบิดาของท่าน ผู้ทรงสถิตในสวรรค์” (มัทธิว 5:44-45)
“เหตุฉะนี้ ท่านทั้งหลายจงเป็นคนดี รอบคอบ เหมือนอย่างพระบิดาของท่าน ผู้ทรงสถิตในสวรรค์ เป็นผู้ดีรอบคอบ” (มัทธิว 5:48)
“จงระวัง อย่ากระทำศาสนกิจเพื่ออวดคนอื่น ถ้าทำอย่างนั้น ท่านจะไม่ได้รับบำเหน็จจากพระบิดาของท่าน ผู้ทรงสถิตในสวรรค์” (มัทธิว 6:1)
“ฝ่ายท่านเมื่ออธิษฐานจงเข้าในห้องชั้นใน และเมื่อปิดประตูแล้ว จงอธิษฐานต่อพระบิดาของท่านผู้ทรงสถิตในที่ลี้ลับ….” (มัทธิว 6:6)
“ท่านทั้งหลาย จงอธิษฐานตามอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระบิดาแห่งข้าพระองค์ทั้งหลาย ผู้ทรงสถิตในสวรรค์ ขอให้พระนามของพระองค์เป็นที่เคารพสักการะ” (มัทธิว 6:9)
“เพราะว่า ถ้าท่านยกความผิดของเพื่อนมนุษย์พระบิดาของท่าน ผู้ทรงสถิตในสวรรค์ จะทรงโปรดยกความผิดของท่านด้วย” (มัทธิว 6:14)
“ฝ่ายท่านเมื่อถืออดอาหาร จงล้างหน้าและเอาน้ำมันใส่ศีรษะ เพื่อคนจะได้ไม่รู้ว่าถืออดอาหาร แต่ให้ปรากฏแก่พระบิดาของท่าน ผู้ทรงสถิตในที่ลี้ลับ…….” (มัทธิว 6:17-18)
และดูในมัทธิว 6:32 , 7:11 , 21 , 10:33,13:50,15:13 ,16:14,18:10,14,19,35 เป็นต้น
พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับมาระโก
“เมื่อท่านยืนอธิษฐานอยู่ ถ้าท่านมีเหตุกับผู้หนึ่งผู้ใด จงยกโทษให้ผู้นั้นเสีย เพื่อพระบิดาของท่านผู้ทรงสถิตในสวรรค์จะโปรดยกความผิดของท่านด้วย แต่ถ้าทั้งหลายไม่ยกความผิด พระบิดาของท่านผู้ทรงสถิตในสวรรค์จะไม่ทรงโปรดยกความผิดของท่านเหมือนกัน (มาระโก 11:25-26)
พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับลูกา
“ฝ่ายพระเยซูคริสต์ตอบมารว่า “มีพระคัมภีร์เขียนไว้ว่า จงกราบนมัสการพระองค์ผู้เป็นพระเจ้าของท่าน และปรนนิบัติพระองค์แต่ผู้เดียว” (ลูกา 4:8)
“เพราะฉะนั้น ถ้าท่านทั้งหลายเอง ผู้เป็นคนบาปยังรู้จักให้ของดีแก่บุตรของตน ยิ่งกว่านั้นสักเท่าใด พระบิดาผู้ทรงสถิตในสวรรค์จะทรงประทานพระวิญญาณบริสุทธิ์แก่ผู้ที่ขอต่อพระองค์” (ลูกา 11:13)
พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับยอห์น
“ไม่มีใครเคยเห็นพระเจ้าเลย พระบุตรองค์เดียวผู้ทรงสถิตอยู่ในพระทรวงของพระบิดา พระองค์ได้ทรงสำแดงพระเจ้าแล้ว” (ยอห์น 1:18)
“และพระบิดาผู้ใช้เรามา พระองค์เองก็ได้ทรงเป็นพยานให้แก่เรา ท่านทั้งหลายไม่เคยได้ยินพระสุรเสียงของพระองค์ และไม่เคยเห็นรูปร่างของพระองค์” (ยอห์น 5 : 37)
“เพราะเรามิได้กล่าวตามใจเราเอง แต่ซึ่งเรากล่าวและพูดนั้น พระบิดาผู้ทรงใช้เรามา พระองค์นั้นได้ทรงบัญชาให้แก่เรา เรารู้ว่าพระบัญชาของพระองค์นั้นเป็นชีวิตนิรันดร์ เหตุฉะนั้นสิ่งที่เราพูดนั้น เราก็พูดตามที่พระบิดาทรงบัญชาเรา” (ยอห์น 12 : 49-50)
ดังที่กล่าวมาแล้วว่า การเรียกขานพระผู้เป็นเจ้าว่า “พระบิดา” และเรียกขานตัวเองของอัล-มะสีหฺ อีซา (พระเยซูคริสต์) ว่า “เป็นพระบุตร” นั้นเป็นถ้อยคำในเชิงโวหารที่มิได้มีความหมายจริงตามรูปคำ เพราะคำเทศนาในโอกาศต่างๆที่พระเยซูคริสต์นำมาใช้นั้นก็มีลักษณะในเชิงโวหารทั้งสิ้น เช่น
“บุคคลใดสร้างสันติ ผู้นั้นเป็นสุข เพราะว่าพระเจ้าจะทรงเรียกเขาว่าเป็นบุตร” (มัทธิว 5:9)
“ฝ่ายเราบอกท่านว่า จงรักศัตรูของท่าน และจงอธิษฐานเพื่อผู้ที่ข่มเหงท่าน ทำดังนี้แล้ว ท่านทั้งหลายจะเป็นบุตรของพระบิดาของท่าน ผู้ทรงสถิตในสวรรค์…….” (มัทธิว 5:44-45)
“เหตุฉะนี้ ท่านทั้งหลายจงเป็นคนดี รอบคอบ เหมือนอย่างพระบิดาของท่าน ผู้ทรงสถิตในสวรรค์ เป็นผู้ดี รอบคอบ” (มัทธิว 5:48)
“อย่าทำเหมือนเขาเลย เพราะว่าสิ่งไร ซึ่งท่านต้องการพระบิดาของท่านทรงทราบก่อนที่ท่านทูลขอแล้ว” (มัทธิว 6:8)
ในคำอธิษฐานที่พระเยซูคริสต์ทรงสอนเอาไว้ว่า
“ข้าแต่พระบิดาแห่งข้าพระองค์ทั้งหลาย ผู้ทรงสถิตในสวรรค์ ขอให้พระนามของพระองค์เป็นที่เคารพสักการะ” (มัทธิว 6:9) ก็บ่งชี้ความเป็นพระบิดาของพระผู้เป็นเจ้า ในเชิงโวหารเช่นกัน เพราะอ้างถึงเหล่าผู้อธิษฐานทั้งหมดนั้นด้วย คือ “ข้าแต่พระบิดาแห่งข้าพระองค์ทั้งหลาย” ซึ่งมิได้จำกัดเฉพาะพระเยซูคริสต์เพียงผู้เดียว ถ้อยคำในพระคริสตธรรมคัมภีร์ ซึ่งมีความหมายในเชิงโวหารยังปรากฏในทำเดียวกันนี้อีกว่า :
“แต่ส่วนบรรดาผู้ที่ต้อนรับพระองค์ ผู้ที่เชื่อในพระนามของพระองค์ พระองค์ก็ทรงประทานสิทธิให้เป็นบุตรของพระเจ้า” (ยอห์น 1:12)
“เพราะว่าพระบิดาทรงมีชีวิตในพระองค์เองฉันใดพระองค์ก็ได้ทรงประทานให้พระบุตรมีชีวิตในพระองค์ฉันนั้น” (ยอห์น 5:26)
“เพื่อท่านจะได้รู้และเข้าใจว่าพระบิดาทรงอยู่ในเรา และเราอยู่ในพระบิดา” (ยอห์น 10:32)
“ท่านไม่เชื่อหรือว่าเราอยู่ในพระบิดา และพระบิดาทรงอยู่ในเรา คำซึ่งเรากล่าวแก่ท่านทั้งหลายนั้น เรามิได้กล่าวตามใจชอบ แต่พระบิดาผู้ทรงสถิตอยู่ในเราทรงกระทำ
พระราชกิจของพระองค์ จงเชื่อเราเถิดว่า เราอยู่ในพระบิดา และพระบิดาอยู่ในเรา หรือมิฉะนั้นก็จงเชื่อ เพราะกิจการเหล่านั้นเถิด……” (ยอห์น 14:10-11)
“ในวันนั้นท่านทั้งหลาย จะรู้ว่าเราอยู่ในพระบิดา และท่านอยู่ในเรา และเราอยู่ในท่าน….” (ยอห์น 14:20)
ถ้อยความในตัวอย่างข้างต้นล้วนเป็นโวหารที่บ่งบอกถึงความหมายในเชิงนามธรรม พระผู้เป็นเจ้ามิใช่พระบิดาผู้ให้กำเนิดพระบุตรเหมือนอย่างบิดาให้กำเนิดบุตร พระบุตรก็หาใช่ผู้ที่ถูกกำเนิดจากพระบิดาเหมือนอย่างบุตรที่มีบิดาเป็นผู้ให้กำเนิด บรรดาผู้ที่เชื่อในพระบิดาก็หาใช่บุตรจริงๆ ของพระองค์ไม่
ความเป็นหนึ่งเดียวของพระบิดากับพระบุตร และความเป็นหนึ่งเดียวของบรรดาผู้ที่ศรัทธาในพระองค์ย่อมมิได้หมายความว่าพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งในภาคของพระเจ้า เพราะพระบุตร และผู้ที่มีความเชื่อล้วนเป็นมนุษย์จะรวมเป็นหนึ่งกับพระผู้เป็นเจ้าได้เช่นไรกัน แต่นี่เป็นโวหารในเชิงนามธรรมเท่านั้น
สังเกตได้จากคำอธิษฐานของพระเยซูคริสต์ที่ว่า
“เพื่อเขาทั้งหลายจะได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ดังที่พระองค์คือพระบิดาทรงสถิตในข้าพระองค์ และข้าพระองค์ในพระองค์เพื่อให้เขาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับพระองค์ และกับข้าพระองค์ด้วย เพื่อโลกจะได้เชื่อว่า พระองค์ทรงใช้ข้าพระองค์มา เกียรติซึ่งพระองค์ได้ประทานแก่ข้าพระองค์ ข้าพระองค์ได้มอบให้แก่เขา เพื่อเขาจะได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ดังที่พระองค์กับข้าพระองค์เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
ข้าพระองค์อยู่ในเขา และพระองค์ทรงอยู่ในข้าพระองค์ เพื่อเขาทั้งหลายจะได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอย่างสมบูรณ์เพื่อโลกจะได้รู้ว่า พระองค์ทรงใช้ข้าพระองค์มา และพระองค์ทรงรักเขา เหมือนดังที่พระองค์ทรงรักข้าพระองค์…” (ยอห์น 17:21-23)
ดังนั้น ประโยคที่ “พระบิดาทรงสถิตในข้าพระองค์ และข้าพระองค์ในพระองค์” และประโยคที่ว่า “ข้าพระองค์อยู่ในเขา และพระองค์ทรงอยู่ในข้าพระองค์” รวมถึงประโยคที่ว่า “เพื่อให้เขาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับพระองค์ และกับข้าพระองค์ด้วย” จึงมิอาจอธิบายความตามความหมายของตัวอักษรตรงๆได้ นอกจากเป็นโวหารหรือเป็นคำอรรถเท่านั้น ซึ่งพระเยซูคริสต์ทรงใช้คำอรรถอยู่เป็นเนืองๆ (ดู ยอห์น 16:25-29)
หากคริสตชนนำประโยคโวหารที่เป็นคำอรรถข้างต้นมาอ้างว่าพระเยซูคริสต์คือพระผู้เป็นเจ้า และพระผู้เป็นเจ้าคือพระเยซูคริสต์ คำถามที่ตามมาก็คือ แล้วผู้ที่พระเยซูคริสต์อยู่ในเขา และเขาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับพระผู้เป็นเจ้า และพระเยซูคริสต์เล่า พวกเขาเป็นพระผู้เป็นเจ้าตามถ้อยคำดังกล่าวด้วยหรือไม่ ?
ความเป็นผู้เผยแพร่พระวจนะของยอห์นผู้ให้รับบัพติศมากับพระเยซูคริสต์
ชาวมุสลิมเชื่อ และศรัทธาว่า ซะกะรียา (เศคาริยาห์) ยะหฺยา บุตร ซาการียา (ยอห์น บุตร เศคาริยาห์) และอัล-มะซีหฺ อีซา บุตร มัรยัม (พระเยซูคริสต์) เป็นผู้เผยพระวจนะ (นบี) ที่อยู่ร่วมสมัยกัน และมีภารกิจในการเผยพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าแก่วงศ์วานอิสราเอลเหมือนกัน ในคัมภีร์อัล-กุรอานได้ระบุถึงเรื่องราวของซะกะรียา (เศคาริยาห์) เอาไว้ดังนี้
{ أَنَّ اللّهَ يُبَشِّرُكَ بِيَحْيَـى مُصَدِّقًا بِكَلِمَةٍ مِّنَ اللّهِ } الآية
ความว่า : “แท้จริง พระองค์อัลลอฮฺทรงแจ้งข่าวดีแก่ท่านด้วยยะหฺยา โดยเป็นผู้ยืนยันต่อพระวาทะจากพระองค์อัลลอฮฺ (คือ อีซา บุตร มัรยัม) ว่าสัจจริง” (อาลิ อิมรอน อายะฮฺที่ 39)
การแจ้งข่าวดีของทูตสวรรค์แก่ซะกะรียาว่าจะมีบุตรเป็นผู้สืบสกุลนามว่า ยะหฺยา เกิดขึ้นภายหลังการวิงวอนขอของซะกะรียาต่อพระองค์อัลลอฮฺเมื่อได้เห็นสิ่งอัศจรรย์ที่บังเกิดแก่มัรยัม (มารีย์) ซึ่งได้รับปัจจัยจากพระองค์ในห้องบำเพ็ญศีลของนาง ซะกะรียาขณะนั้นมีอายุราว 90 ปี และนางเอลิซาเบธ ภรรยาของเขาก็เป็นหมัน ด้วยคำวิงวอนขอพระองค์อัลลอฮฺจึงทรงประทานบุตรชายให้แก่ ซะกะรียาดังปรากฏในอีกอายะฮฺหนึ่งว่า :
{ إِنَّا نُبَشِّرُكَ بِغُلامٍ اسْمُهُ يَحْيَى }
ความว่า : “แท้จริงเราจะบอกข่าวดีแก่ท่านด้วยบุตรชาย นามของเขานั้นคือ ยะห์ยา” (มัรยัม อายะฮฺที่ 7)
ยะหฺยา (ยอห์น บุตร เศคาริยาห์) เป็นผู้เผยพระวจนะ และเป็นผู้ยืนยันถึงความสัจจริงของพระเยซูคริสต์ ผู้เป็นขึ้นด้วยพระวาทะของพระผู้เป็นเจ้า ในพระคริสตธรรมคัมภีร์ก็ระบุเอาไว้เช่นกันว่า :
“มีอีกผู้หนึ่งที่เป็นพยานให้แก่เรา และเรารู้ว่าคำพยานที่พระองค์ทรงเป็นพยานให้แก่เรานั้นเป็นจริง ท่านทั้งหลายได้ใช้ให้คนไปหายอห์น และยอห์นก็ได้เป็นพยานแก่ความจริง” (ยอห์น 5 : 32-33)
ในคัมภีร์อัล-กุรอาน ระบุว่า :
{ وَزَكَرِيَّا وَيَحْيَى وَعِيسَى وَإِلْيَاسَ كُلٌّ مِّنَ الصَّالِحِينَ }
ความว่า : และซะกะรียา (เศคาริยาห์) ยะหฺยา (ยอห์น) อีซา (พระเยซูคริสต์) และอิลยาส (เอลิยาห์) ทั้งหมดต่างเป็นส่วนจากบรรดาผู้ประพฤติชอบ” (อัล-อันอาม อายะฮฺที่ 85)
{ يَا يَحْيَى خُذِ الْكِتَابَ بِقُوَّةٍ وَآتَيْنَاهُ الْحُكْمَ صَبِيًّا ، وَحَنَانًا مِّن لَّدُنَّا وَزَكَاةً وَكَانَ تَقِيًّا ،
وَبَرًّا بِوَالِدَيْهِ وَلَمْ يَكُن جَبَّارًا عَصِيًّا }
ความว่า : “โอ้ ยะหฺยา เจ้าจงยึดคัมภีร์เตารอฮฺด้วยหัวใจที่เข้มแข็ง และเราได้ประทานความเข้าใจในคัมภีร์เตารอฮฺ และการประกอบศาสนกิจแก่เขานับแต่เยาว์วัย และเป็นพระกรุณาจากเราและเป็นความวิสุทธิ์อันเต็มไปด้วยสิริ และเขาเป็นผู้ยำเกรง ปรนนิบัติต่อบิดามารดาทั้งสองของเขา และเขามิได้เป็นผู้อหังการ์ที่ดื้อแพ่งแต่อย่างใดเลย” (มัรยัม อายะฮฺที่ 12-14)
ดังนั้นภารกิจของยะหฺยา (ยอห์น บุตร เศคาริยาห์) ผู้ให้รับบัพติศมาที่แม่น้ำจอร์แดน คือการยึดมั่นในพระธรรมบัญญัติ การเผยพระวจนะ และยืนยันความสัจให้แก่อัล-มะสีหฺ อีซา บุตรมัรยัม (พระเยซูคริสต์) คำประกาศของบุคคลทั้งสองจึงมีความเหมือนกัน เพราะต่างก็เป็นผู้เผยพระวจนะ ยอห์นถือกำเนิดจากพระมารดาผู้เป็นหญิงหมัน พระเยซูคริสต์ถือกำเนิดจากพระมารดาเพียงฝ่ายเดียว นี่ก็เป็นสิ่งที่เหมือนกันในการสำแดงมหิทธานุภาพของพระผู้เป็นเจ้า
เราลองมาพิจารณาถ้อยความในพระคริสตธรรมคัมภีร์เกี่ยวกับคำประกาศของบุคคลทั้งสองดูว่าแตกต่างกันหรือไม่?
“คราวนั้นยอห์นผู้ให้รับบัพติศมา มาประกาศในถิ่นทุรกันดารแคว้นยูเดียว่า จงกลับใจเสียใหม่ เพราะว่าแผ่นดินสวรรค์มาใกล้แล้ว” (มัทธิว3:1-2)
“ตั้งแต่นั้นมา พระเยซูได้ทรงตั้งต้นประกาศว่า “จงกลับใจเสียใหม่ เพราะว่าแผ่นดินสวรรค์มาใกล้แล้ว” (มัทธิว 4:17)
คำประกาศของยอห์นผู้ให้รับบัพติศมากับคำประกาศของพระเยซูคริสต์เป็นคำประกาศเดียวกัน ยอห์นเป็นพยานถึงความสัจของพระเยซูคริสต์ ซึ่งพระองค์ทรงรับบัพติศมาจากยอห์น และเมื่อยอห์นถูกจองจำพระเยซูคริสต์ จึงเริ่มพระราชกิจจานุกิจของพระองค์สืบต่อจากยอห์น และการประกาศในถิ่นทุรกันดารแคว้นยูเดียของยอห์นก็เป็นไปตามสิ่งที่ผู้เป็นเจ้าทรงตรัสถึงโดย อิสยาห์ ผู้เผยพระวจนะ (ดู มัทธิว 3:3 เป็นต้น)
และการที่พระเยซูคริสต์ทรงเริ่มพระราชกิจจานุกิจในแคว้นกาลิลี เมืองคาเปอรนาอุม ก็เป็นไปตามพระวจนะซึ่งตรัสไว้โดยอิสยาห์ ผู้เผยพระวจนะเช่นกัน (ดูมัทธิว 4:12-17) ท่าทีของยอห์นกับพวกฟาริสีก็มีท่าทีเช่นเดียวกับพระเยซูคริสต์ ยอห์นกล่าวกับพวกฟาริสีว่า “เจ้าชาติงูร้าย ใครได้เตือนเจ้าให้หนีจากพระอาชญาซึ่งจะมาถึงนั้น……” (มัทธิว 3:7)
ฝ่ายพระเยซูคริสต์ก็ทรงกล่าวถึงพวกฟาริสี และสะดูสีเช่นกันว่า “จงสังเกตและระวังเชื้อแห่งพวกฟาริสี และพวกสะดูสีให้ดี” (มัทธิว 16:6) และพระองค์ก็เรียกขานพวกธรรมาจารย์ และพวกฟาริสีว่า : “วิบัติแก่เจ้า พวกธรรมาจารย์ และพวกฟาริสี คนหน้าซื่อใจคด…..” (มัทธิว 23:33)
ผ่านยอห์นนั้น เศคาริยาห์บิดาของท่านทำนายว่า : ท่านทารกเอ๋ยเขาจะเรียกท่านว่า เป็นผู้เผยพระวจนะของผู้สูงสุด……(ลูกา 1:76) ฝ่ายพระเยซูนั้นผู้คนก็พากันกล่าวว่า : “นี่คือ พระเยซู ผู้เผยวจนะซึ่งมาจากนาซาเร็ธ แคว้นกาลิลี” (มัทธิว 21:11)
การเป็นผู้เผยพระวจนะของยอห์นผู้ให้รับบัพติศมา และพระเยซูคริสต์จึงมิได้แตกต่างกันในสารัตถะ และเป็นไปตามพระทัยของพระผู้เป็นเจ้า และบุคคลทั้งสองก็เป็นผู้เผยพระวจนะที่ร่วมสมัยกัน อีกทั้งยังมีความเกี่ยวข้องกันในฐานะญาติสนิทอีกด้วย เพียงแต่ฝ่ายยอห์นนั้นเริ่มประกาศพระวจนะก่อนเท่านั้น และฝ่ายพระเยซูคริสต์ก็สืบต่อภาระในการประกาศพระวจนะ ในเวลาต่อมาภายหลังยอห์นถูกกษัตริย์เฮโรดสังหาร และพระเยซูก็คือผู้เผยพระวจนะท่านสุดท้ายของวงศ์วานอิสราเอล
ที่สำคัญทั้งยอห์น และพระเยซูคริสต์ต่างก็ประกาศข่าวดีถึงการมาของผู้เผยพระวจนะ (นบี) ท่านสุดท้ายที่จะมาหลังบุคคลทั้งสอง ข่าวดีที่ว่านี้ ก็ปรากฏอยู่ในพระคริสตธรรมคัมภีร์นั่นเอง กล่าวคือ :
1. พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับมัทธิว ระบุว่า :
“ยอห์นผู้นี้แหล่ะ ซึ่งตรัสถึงโดยอิสยาห์ ผู้เผยพระวจนะว่า : “เสียงผู้ร้องในถิ่นทุรกันดารว่า จะเตรียมมรรคาแห่งพระเป็นเจ้า จงกระทำหนทางของพระองค์ให้ตรงไป” (มัทธิว 3:3) อะไรคือมรรคาแห่งพระเป็นเจ้า ซึ่งยอห์น ผู้ประกาศพระวจนะในถิ่นทุรกันดารแห่งแคว้นยูเดีย เรียกร้องให้จัดเตรียม และทำให้หนทางหรือมรรคานั้นตรงไป ?
ลองพิจารณาถ้อยความในพระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับมาระโก ซึ่งระบุว่า :
“ในพระธรรมอิสยาห์ ผู้เผยพระวจนะมีเขียนไว้ว่า “เราใช้ทูตของเราไปข้างหน้าท่าน ผู้นั้นจะเตรียมมรรคาของท่านไว้ เสียงผู้ร้องในถิ่นทุรกันดารว่า จงเตรียมมรรคาแห่งพระเป็นเจ้า จงกระทำหนทางของพระองค์ให้ตรงไป” (มาระโก 1:1-3)
และอ่านพระคริสตธรรมคัมภีร์ฉบับลูกา อีกครั้งซึ่งระบุว่า :
“ตามที่มีเขียนไว้ในหนังสือถ้อยคำของอิสยาห์ผู้เผยพระวจนะว่า “เสียงผู้ร้องในถิ่นทุรกันดารว่า :จงเตรียมมรรคาแห่งพระผู้เป็นเจ้า จงกระทำหนทางของพระองค์ให้ตรงไปหุบเขาทุกแห่งจะถมให้เต็ม ภูเขาและเนินทุกแห่งจะให้ต่ำลงทางคดจะกลายเป็นทางตรง และทางที่สูงๆต่ำๆจะเป็นทางราบ มนุษย์ทั้งปวงจะได้เห็นความรอดของพระเจ้า” (ลูกา 3:4-6)
ในพระคริสตธรรมคัมภีร์ฉบับยอห์น ระบุถึงคำตอบของยอห์นผู้ให้รับบัพติศมาที่มีต่อพวกปุโรหิต และพวกเลวีว่า :
“เราเป็นเสียงของผู้ที่ร้องประกาศ ในถิ่นทุรกันดารว่า “จงกระทำมรรคาขององค์พระผู้เป็นเจ้าให้ตรงไป” ตามที่อิสยาห์ ผู้เผยพระวจนะได้กล่าวไว้” (ยอห์น 1:23) เมื่อพิจารณาถ้อยความในพระคริสตธรรมคัมภีร์ทั้ง 4 ฉบับแล้ว ทีนี้ลองมาดูถ้อยความดังที่มีปรากฏดังที่มีปรากฏในคัมภีร์อัล-กุรอานดูบ้าง !
ในสูเราะฮฺ (บท) อัล-ฟาติหะฮฺ ซึ่งเป็นบทแรกสุดในคัมภีร์อัล-กุรอานระบุว่า :
اهدِنَــــا الصِّرَاطَ المُستَقِيمَ صِرَاطَ الَّذِينَ أَنعَمتَ عَلَيهِمْ غَيرِ المَغضُوبِ عَلَيهِمْ وَلاَ الضَّالِّينَ
ความว่า : “ขอพระองค์ทรงชี้นำเราซึ่งมรรคาอันเที่ยงตรงอันเป็นมรรคาแห่งบรรดาผู้ซึ่งพระองค์ทรงประทานความโปรดปรานแก่พวกเขา มิใช่หนทางของบรรดาผู้ที่ถูกกริ้ว และมิใช่หนทางของบรรดาผู้หลงผิด” (อัล-ฟาติหะฮฺ อายะฮฺที่ 7)
และหนทางที่เที่ยงตรงนี้คือสิ่งที่พระผู้เป็นเจ้าทรงชี้นำแก่มูซา (โมเสส) และฮารูน (อารอน) ดังปรากฏในอัล-กุรอานว่า :
وَهَدَيْنَاهُمَا الصِّرَاطَ الْمُسْتَقِيمَ
ความว่า “และเรา (อัลลอฮฺ) ได้ชี้นำเขาทั้งสอง (มูซาและฮารูน) ซึ่งมรรคาอันเที่ยงตรง” (อัศ-ศอฟฟาต อายะฮฺที่ 118)
และมรรคาอันเที่ยงตรงนี้คือสิ่งที่อัล-มะสีหฺ อีซา บุตร มัรยัม (พระเยซูคริสต์) ประกาศไว้ในอัล-กุรอานเช่นกันว่า :
إِنَّ اللّهَ رَبِّي وَرَبُّكُمْ فَاعْبُدُوهُ هَـذَا صِرَاطٌ مُّسْتَقِيمٌ
ความว่า : แท้จริงอัลลอฮฺคือพระเจ้าของฉัน และพระเจ้าของพวกท่านดังนั้นจงเคารพสักการะต่อพระองค์เถิด นี่คือมรรคาอันเที่ยงตรง” (อาลิ อิมรอน อายะฮฺที่ 51)
และมรรคาอันเที่ยงตรงนี่เองคือสิ่งที่นบีมูฮัมมัด (ศ้อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ได้นำมาประกาศดังปรากฏในคัมภีร์อัล-กุรอานว่า:
وَأَنَّ هَـذَا صِرَاطِي مُسْتَقِيمًا فَاتَّبِعُوهُ وَلاَ تَتَّبِعُواْ السُّبُلَ فَتَفَرَّقَ بِكُمْ عَن سَبِيلِهِ
ความว่า : “และแท้จริงนี่คือมรรคาของฉันอันเที่ยงตรง ฉะนั้นพวกท่านจงดำเนินตามมรรคานี้เถิด และอย่าดำเนินตามบรรดาหนทางต่างๆ (อื่นจากนี้) เพราะมันจะเป็นเหตุให้พวกท่านแยกตนออกจากมรรคาอันเที่ยงตรงนั้น” (อัล-อันอาม อายะฮฺที่ 153)
และอัล-กุรอานได้ยืนยันว่ามรรคาอันเที่ยงตรงนี้คือ มรรคาแห่งพระเป็นเจ้า ดังปรากฏว่า :
وَهَـذَا صِرَاطُ رَبِّكَ مُسْتَقِيمًا
ความว่า : “และนี่คือมรรคาแห่งพระผู้เป็นเจ้าของท่านอันเที่ยงตรง” (อัล-อันอาม อายะฮฺที่ 126)
وَإِنَّكَ لَتَهْدِي إِلَى صِرَاطٍ مُّسْتَقِيمٍ ،صِرَاطِ اللَّهِ الَّذِي لَهُ
مَا فِي السَّمَاوَاتِ وَمَا فِي الأَرْضِ أَلا َإِلَى اللَّهِ تَصِيرُ الأُمُورُ
ความว่า : “และแท้จริงท่าน (มุฮัมมัด) นั้นย่อมนำสู่มรรคาอันเที่ยงตรง อันเป็นมรรคาของพระผู้เป็นเจ้า พระผู้ซึ่งสิ่งที่อยู่ในชั้นฟ้า และสิ่งที่อยู่ในผืนแผ่นดินเป็นกรรมสิทธิ์ของพระองค์ พึงสังวรเถิด ภารกิจทั้งปวงย่อมกลับกลายสู่พระองค์อัลลอฮฺ” (อัซซุคฺรุฟ อายะฮฺที่ 52-53)
ถึงตรงนี้ ! ลองย้อนกลับไปอ่านพระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับลูกา ที่ระบุถึงคำพยากรณ์ของเศคาริยาห์ ผู้เป็นบิดาของยอห์น ผู้ให้รับบัพติศมาดูอีกครั้งว่า :
“ท่านทารกเอ๋ย เขาจะเรียกท่านว่าเป็นผู้เผยพระวจนะของผู้สูงสุด เพราะว่าท่านจะนำหน้าองค์พระผู้เป็นเจ้า และจัดเตรียมมรรคาของพระองค์ไว้…..โดยพระทัยเมตตากรุณาแห่งพระเจ้าของเรา แสงอรุณจากเบื้องสูงจึงมาเยี่ยมเยียนเราส่องสว่างแก่คนทั้งหลายผู้อยู่ในที่มืด และในเงาแห่งความมรณา เพื่อจะนำเท้าของเราไปในทางสันติสุข” (ลูกา 2:76,78,79)
ทีนี้ก็ลองย้อนกลับไปพิจารณาถ้อยความในคัมภีร์อัล-กุรอานอีกครั้งเพื่อจะได้พบกับสัจธรรม อัล-กุรอานระบุว่า
يَا أَهْلَ الْكِتَابِ قَدْ جَاءكُمْ رَسُولُنَا يُبَيِّنُ لَكُمْ كَثِيرًا مِّمَّا كُنتُمْ تُخْفُونَ مِنَ الْكِتَابِ وَيَعْفُو عَن كَثِيرٍ قَدْ جَاءكُم مِّنَ اللّهِ نُورٌ وَكِتَابٌ مُّبِينٌ ﴾ ﴿ يَهْدِي بِهِ اللّهُ مَنِ اتَّبَعَ رِضْوَانَهُ سُبُلَ السَّلاَمِ وَيُخْرِجُهُم مِّنِ الظُّلُمَاتِ إِلَى النُّورِ بِإِذْنِهِ وَيَهْدِيهِمْ إِلَى صِرَاطٍ مُّسْتَقِيمٍ
ความว่า : “โอ้ ชาวคัมภีร์เอ๋ย แน่แท้ศาสนทูตของเราได้มายังพวกท่านแล้วโดยเขาจะแจ้งอย่างชัดเจนแก่พวกท่านถึงสิ่งมากมายที่พวกท่านเคยปิดบังอำพรางเอาไว้จากคัมภีร์ และเขาได้อนุโลมเอาไว้อีกมากมาย (โดยไม่แจ้งอย่างชัดเจน) แน่แท้รัศมีอันจำรัส (นบีมุฮัมมัด) และคัมภีร์อันแจ้งชัดจากอัลลอฮฺได้มายังพวกท่านแล้วอัลลอฮฺจะทรงชี้นำด้วยคัมภีร์นั้นแก่ผู้ที่ปฏิบัติตามน้ำพระทัยของพระองค์ ซึ่งบรรดามรรคาแห่งความสันติ (และรอดพ้น) และพระองค์จะทรงนำพวกเขาออกจากความมืดมนทั้งหลายสู่ความสว่างด้วยอนุมัติของพระองค์ และจะทรงชี้นำพวกเขาสู่มรรคาอันเที่ยงตรง” (อัล-มาอิดะฮฺ อายะฮฺที่ 15-16)
และอัล-กุรอานได้ระบุว่า :
إِنَّ هَـذَا الْقُرْآنَ يِهْدِي لِلَّتِي هِيَ أَقْوَمُ
ความว่า : “แท้จริงอัล-กุรอานนี้ ย่อมนำสู่มรรคาที่เที่ยงตรงเป็นที่สุด”(อัล-อิสรออฺ อายะฮฺที่ 9)
2- พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับมัทธิว ระบุว่า :
“เราให้เจ้าทั้งหลายรับบัพติศมาด้วยน้ำ แสดงว่ากลับใจใหม่ก็จริง แต่พระองค์ผู้จะมาภายหลังเรา ทรงมีอิทธิฤทธิ์ยิ่งกว่าเราอีก ซึ่งเราไม่คู่ควรแม้จะถอดฉลองพระบาทของพระองค์ พระองค์จะทรงให้เจ้าทั้งหลาย รับบัพติศมาด้วย พระวิญญาณบริสุทธิ์และด้วยไฟ
พระหัตถ์ของพระองค์ ถือพลั่วพร้อมแล้ว และจะทรงชำระลานข้าวของพระองค์ให้ทั่ว พระองค์จะทรงเก็บข้าวของพระองค์ไว้ในยุ้งฉาง แต่พระองค์จะทรงเผาแกลบด้วยไฟที่ไม่รู้ดับ” (มัทธิว 3:11-12)
พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับมาระโก ระบุว่า :
“ภายหลังเรา จะมีพระองค์ผู้หนึ่งเสด็จมาทรงมีอิทธิฤทธิ์ยิ่งกว่าเราอีก ซึ่งเราไม่คู่ควรแม้จะน้อมตัวลงแก้สายฉลองพระบาทให้พระองค์ เราให้เจ้าทั้งหลายรับบัพติศมาด้วยน้ำ แต่พระองค์นั้นจะให้เจ้าทั้งหลายรับบัพติศมาด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์” (มาระโก 1:7-8)
ในพระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับลูกา กล่าวเรื่องนี้เหมือนฉบับมัทธิว (ดู ลูกา 3:16-17) คือกล่าวถึงบัพติศมาด้วยไฟ ในขณะที่มาระโกกลับไม่ระบุเรื่องของบัพติศมาด้วยไฟ และการถือพลั่วในประโยคหลัง ครั้นอ่านฉบับยอห์น ก็จะพบว่ามีความแตกต่างกันดังนี้ : ข้าพเจ้าให้บัพติศมาด้วยน้ำ แต่มีพระองค์หนึ่ง ซึ่งประทับอยู่ในหมู่พวกท่านนั้น ท่านไม่รู้จัก พระองค์นั้นแหล่ะ มาภายหลังข้าพเจ้า แม้สายรัดฉลองพระบาทของพระองค์ข้าพเจ้าก็ไม่บังควรที่จะแก้” (ยอห์น 1:26-27)
เมื่อเปรียบเทียบถ้อยความในพระคริสตธรรมคัมภีร์ทั้ง 4 ฉบับจะพบว่า ฉบับมัทธิวกับลูกาสอดคล้องกันมากที่สุด และให้รายละเอียดมากกว่าฉบับของมาระโก และยอห์นเกี่ยวกับคำกล่าวของยอห์น ผู้ให้รับบัพติศมาที่แม่น้ำจอร์แดน ประเด็นอยู่ตรงที่ว่า ผู้ที่ยอห์นกล่าวถึงนั้นคือผู้ใด ? คริสตชนคงตอบโดยไม่ลังเลว่าคือพระเยซูคริสต์นั่นเอง แต่ทว่าลองทบทวนคำของยอห์น ผู้ให้รับบัพตัศมาดูอีกครั้งดังนี้
1) ผู้ที่ยอห์นกล่าวถึงนั้นจะมาภายหลัง แต่พระเยซูคริสต์ทรงเริ่มพระราชกิจจานุกิจในช่วงที่ยอห์นยังมีชีวิตอยู่ ผู้ที่มาภายหลังย่อมปรากฏในเวลาที่ยอห์นเสียชีวิตแล้ว พระเยซูคริสต์จึงมิใช่ผู้ที่มาภายหลัง แต่เป็นผู้ที่อยู่ร่วมสมัยกับยอห์น
2) การรับบัพติศมาจากยอห์นของพระเยซูคริสต์ ณ แม่น้ำจอร์แดน เป็นสิ่งยืนยันว่า พระเยซูคริสต์ทรงรับบัพติศมาด้วยน้ำ และพระองค์ก็มีชีวิตอยู่ร่วมกับยอห์น ถึงแม้พระองค์จะให้รับบัพติศมาด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์ตามที่มาระโกบันทึก แต่พระองค์มิได้ให้รับบัพติศมาด้วยไฟ นอกเหนือจากที่พระคริสต์ธรรมคัมภีร์ฉบับยอห์นไม่ได้กล่าวถึงเรื่องนี้เลยไม่ว่าการให้รับบัพติศมาด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์และไฟ
3) ยอห์น ผู้เผยพระวจนะระบุว่าผู้ที่มาภายหลังจะมีอิทธิฤทธิ์ยิ่งกว่า แม้สายรัดฉลองพระบาทของผู้ที่มาภายหลังนั้นยอห์นก็ไม่บังควรจะแก้ คำว่า “มีอิทธิฤทธิ์ยิ่งกว่า” (Who is more powerful than I) ตีความได้หลายนัย แต่ถ้าหมายถึง มีอำนาจอย่างสมบูรณ์ ไม่ว่าจะเป็น การเมือง การปกครอง การทหาร และการศาสนา อำนาจเช่นนี้มิได้เกิดแก่พระเยซูคริสต์
4) พระองค์ผู้จะมาภายหลังยอห์น จะให้รับบัพติศมาด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์และด้วยไฟ พระเยซูคริสต์มิได้ให้ผู้คนในยุคสมัยของพระองค์รับบัพติศมา ไม่ว่าจะด้วยน้ำ หรือพระวิญญาณบริสุทธิ์หรือด้วยไฟ หากคริสตชนยืนยันว่าพระเยซูคริสต์คือผู้ให้รับบัพติศมาด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์ดังที่มาระโกกล่าวถึง แน่นอนพระองค์มิได้ให้รับบัพติศมาด้วยไฟ เพราะไฟก็คือสงคราม และไม่ปรากฏว่าพระเยซูคริสต์ทรงทำสงครามแต่อย่างใดเลย และอิทธิฤทธิ์ของพระองค์ผู้จะมาภายหลังยอห์น ผู้ให้รับบัพติศมามี 2 ประการ หนึ่ง การให้รับบัพติศมาด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์ คือการยอมรับในพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าโดยดุษฎี สอง การให้รับบัพติศมาด้วยไฟ ก็คือ สงครามกับผู้ไม่ยอมรับในพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้า
5) คำอุปมาของยอห์นที่กล่าวถึงพระองค์ผู้ที่จะมาภายหลังว่า “พระหัตถ์ของพระองค์ถือพลั่วพร้อมแล้ว และจะทรงชำระลานข้าวของพระองค์ให้ทั่ว พระองค์จะทรงเก็บข้าวของพระองค์ในยุ้งฉาง แต่พระองค์จะทรงเผาแกลบด้วยไฟที่ไม่รู้ดับ” คำอุปมานี้ก็มิอาจตีความได้ว่า หมายถึงพระเยซูคริสต์ แต่จะหมายถึงผู้ที่พร้อมสำหรับการปกครองการคลัง และการสงคราม โดยเฉพาะประโยคที่ว่า “พระองค์จะทรงเก็บข้าวของพระองค์ในยุ้งฉาง” น่าจะใกล้เคียงกับทรัพย์ซะกาฮฺที่ถูกรวบรวมไว้ในกองคลัง หรือบัยตุ้ลม้าล นั่นเอง
ดังนั้นพระองค์ผู้ที่จะมาภายหลังจึงควรมีคุณลักษณะดังต่อไปนี้
1) เป็นผู้เผยพระวจนะของพระเจ้า
2) มีความยิ่งใหญ่กว่าเหล่าผู้เผยพระวจนะทั้งปวงโดยมีอำนาจอย่างสมบูรณ์ในทางโลก และทางธรรม
3) ทำสงครามกับบรรดาผู้ปฏิเสธพระวจนะของพระเจ้า
4) มีความพร้อมเสมอในการทำสงครามทุกเมื่อ
5) ปกครองผู้คนด้วยความยุติธรรม เฉกเช่นผู้ถือพลั่วที่ชำระลานข้าวให้ทั่ว
6) จัดเก็บภาษีอย่างเป็นระบบ
7) เป็นผู้ที่มาภายหลังยอห์นผู้ให้รับบัพติศมา และพระเยซูคริสต์ ฉะนั้นก็จงพิจารณา และตรึกตรองดูเถิดว่าพระองค์ ผู้ที่จะมาภายหลังยอห์นนั้นคือผู้ใด? สำหรับชาวมุสลิมแล้ว พระองค์นั้นคือ ศาสนทูตท่านสุดท้ายผู้มีนามว่า มุฮัมมัด(ศ้อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม)
นั่นเอง สำหรับหลักฐานที่ยืนยันในเรื่องนี้ มีปรากฏทั้งในพระคริสตธรรมคัมภีร์เดิม และพระคริตธรรมคัมภีร์ใหม่ ซึ่งเราจะขอนำถ้อยความที่มีปรากฏในพระคริสตธรรมคัมภีร์เดิมมากล่าวเป็นลำดับแรกดังนี้ :-
1- ในพระคริสตธรรมคัมภีร์เก่า ปฐมกาล บทที่ 17 ข้อที่ 20 ระบุว่า “ฝ่ายอิชมาเอลนั้นเราฟังเจ้าแล้ว เราจะอ่านอำนวยพรแก่เขา และกระทำให้เขามีพงศ์พันธุ์มากอย่างยิ่ง เขาจะเป็นบิดาของเจ้านายสิบสององค์ และเราจะกระทำให้เขาเป็นชาติใหญ่ชาติหนึ่ง” นี้คือตัวบทที่แปลจากภาษาซามีรียะฮฺ (สะมีเรีย) แต่ถ้าดูในคำแปลของภาษาเก่าในภาษาอิบรอมียะฮฺ – (ฮิบรูว์) จะแปลว่า : “ฝ่ายอิชมาเอลนั้นเราฟังเจ้าในตัวเขาแล้ว เราจะอำนวยพรแก่เขาและจะ กระทำให้เขามากมายด้วย มะอัด-มะอัด”
คำว่า มะอัด – มะอัด หรือออกเสียงว่า โมอัด – โมอัด อย่างฮิบรูว์เก่าตรงกับคำว่า “มูฮัมมัด” ในภาษาอาหรับซึ่งบางทีออกเสียงอย่างภาษาถิ่นว่า “มะหฺมัดฺ” ซึ่งนี่เป็นการออกชื่อศาสนทูตท่านสุดท้ายจากพงศ์พันธุ์ของอิชมาเอล (อิสมาอีล) อย่างชัดเจน และพงศ์พันธุ์ของอิชมาเอลนั้นได้แพร่ขยายออกไปทั่วทั้งตะวันออกและตะวันตกภายหลังการแต่งตั้งศาสนทูตท่านสุดท้ายและพวกเขาเป็นประชาชาติที่ยิ่งใหญ่กว่าพงศ์พันธุ์ของอิสอัค (อิสหาก) เสียอีก
และประโยคที่ว่า เจ้านายสิบสองพระองค์ที่เป็นพงศ์พันธุ์ของอิชมาเอลก็คือ บรรดาเคาะลีฟะฮฺ 12 ท่านซึ่งทั้งหมดสืบเชื้อสายมาจากตระกูลกุรอยช์ที่มีอิชมาเอลเป็นบรรพบุรุษตามที่มีในปรากฏในพระวจนะของศาสนทูตมูฮัมมัด (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม)
2- ในเฉลยธรรมบัญญัติ บทที่ 33 ข้อที่ 1-3 ระบุว่า : “ต่อไปนี้เป็นพรซึ่งโมเสสบุรุษของพระเจ้าได้อวยพรแก่พงศ์พันธุ์อิสราเอลก่อนที่ท่านชีวิต ท่านกล่าวว่า : พระเจ้าเสด็จจากซีนาย และทรงรุ่งแจ้งจากเสอีร์มายังเขาทั้งหลาย พระองคทรงฉายรังสีจากภูเขาปาราน พระองค์เสด็จจากผู้บริสุทธิ์นับหมื่นๆ ที่พระหัตถ์เบื้องขวามีไฟเป็นพระธรรมแก่เขา แท้จริงพระองค์ทรงรักประชากรของพระองค์ บรรดาวิสุธิชนของพระองค์ก็อยู่ในพระหัตถ์ของพระองค์ และเขาทั้งหลายกราบลงที่พระบาทของพระองค์ รับพระดำรัสของพระองค์”
คำว่าเสอีรฺ ตรงกับคำอาหรับว่า สะอีรฺ เป็นชื่อเรียกเทือกเขาที่แผ่ยื่นทางทิศตะวันออกจากวาดียฺ อุรบะฮฺ นับจากทะเลสาบเดดซีถึงอ่าวอะกอบา (อัล-เกาะบะฮฺ) เขตแดนของสะอีรนับแต่สมัยโบราณแผ่ยื่นถึงอาระเบียและอ่าวอะกอบา ส่วนถิ่นทุรกันดารปารานนั้นเป็นนิวาสถานของอิชมาเอล บุตรอับราฮัมดังปรากฏใน ปฐมกาล บทที่ 20 ข้อที่ 20 – 21 ระบุว่า : “พระเจ้าทรงสถิตกับเด็กนั้น เขาเติบโตขึ้น อาศัยอยู่ในถิ่นทุรกันดารและเป็นนักธนู เขาอาศัยอยู่ในถิ่นทุรกันดารแห่งปาราน….”
ทีนี้ลองย้อนกลับไปดูข้อความในคัมภีร์อัล – กุรอาน บทอัต – ตีน อายะฮฺที่ 1 – 3 ระบุว่า : ความว่า : “ขอสาบานต่อมะเดื่อ มะกอก ภูเขาฏูรซีนีนและเมืองอันปลอดภัยนี้”
ความว่า มะเดื่อและมะกอก ในเชิงโวหารหมายถึงดินแดนอันเป็นที่งอกงามของผลไม้ทั้ง 2 ชนิดนี้ นั่นคือดินแดนคะนาอันหรือปาเลสไตน์ อันเป็นที่อพยพของอิบรอฮีม (อับราฮัม) และเป็นที่ประสูติของอัล – มะสีหฺ อีซา บุตรมัรยัม (พระเยซูคริสต์) และนิวาสถานของพระองค์ ส่วนฏูรซีนีนก็คือภูเขาซีนายซึ่งพระเป็นเจ้าทรงดำรัสกับมูซา (โมเสส) และเมืองอันปลอดภัยนั้นคือ นครมักกะฮฺ
ซึ่งศาสนทูตท่านสุดท้ายถือกำเนิดและได้รับแต่งตั้งให้ประกาศสาส์นของพระผู้เป็นเจ้า สอดคล้องกับข้อความในพระคริสตธรรมเก่าข้างต้นที่ระบุถึง ซีนาย อันเป็นสถานที่ซึ่งพระเป็นเจ้าทรงมีพระดำรัสกับโมเสส เสอีรฺ หมายถึงดินแดนประสูติของพระเยซูคริสต์และนิวาสถานของพระองค์ ปารานคือดินแดนของอิชมาเอลผู้เป็นบรรพบุรุษของตระกูลกุรอยช์ และจากตระกูลกุรอยช์คือศานทูตมุฮัมมัด (ศ็อลลัลฮุอะลัยฮิวะสัลลัม)
ที่ซึ่งพระเป็นเจ้าทรงฉายรังสีจากดินแดนปารานนั้นด้วยการประกาศศาสนาของศาสนทูตผู้มีตามคำกล่าวซึ่งโมเสสได้ให้พรเอาไว้ ผู้คนนับหมื่นนั้น หมายถึงเหล่าสาวกของศาสนทูตท่านสุดท้ายที่เข้าพิชิตนครมักกะฮฺในปี ฮ.ศ. ที่ 8 และพวกเขาได้ก้มลงกราบพระผู้เป็นเจ้า ณ อาคาร อัล – กะอฺบะฮฺที่ถูกชำระให้บริสุทธิ์จากรูปเคารพทั้งปวง . ทั้งหมดที่กล่าวมาคือพันธสัญญาที่พระผู้เป็นเจ้าทรงกระทำไว้กับอับราฮัม และพันธสัญญานั่นคือการเข้าสุหนัตุ ซึ่งอิชมาเอลก็เข้าสุหนัตุพร้อมกับกับอับราฮัมบิดาของตน (ดู ปฐมกาล บทที่ 17 ข้อที่ 1 – 27)
ชาวอาหรับผู้เป็นพงศ์พันธุ์ของอิชมาเอลต่างก็รักษาพันธสัญญานี้เอาไว้ ส่วนชาวคริสต์ที่ไม่ถือการเข้าสุหนัตุเป็นพันธสัญญาพวกเขาได้ถูกตัดขาดจากชนชาติของเขา และเขาได้ละเมิดพันธสัญญาของพระเป็นเจ้าไปแล้ว (ปฐมกาล บทที่ 17 ข้อที่ 14) พันธสัญญาของพระเป็นเจ้าที่ทรงกระทำไว้จึงสิ้นสุดลงเพียงแค่ชั้นของพระเยซูคริสต์ซึ่งทรงเข้าสุหนัตุ แต่คริสตชนในยุคหลังพระองค์ได้ถือตามคำเทศนาของเปาโล ซึ่งเปลี่ยนพันธสัญญานิรันดร์ของพระผู้เป็นเจ้า เหตุนี้พันธสัญญาจึงเปลี่ยนจากพงศ์พันธ์ของอิสอัคที่พระองค์ทรงตั้งไว้ไปสู่พงศ์พันธ์ของอิชมาเอลคือศาสนทูตท่านสุดท้ายและประชาชาติของพระองค์จึงมีมากมายและเป็นชนชาติที่ยิ่งใหญ่ใน เวลาต่อมา
3- พระคริสตธรรมคัมภีร์เก่า เฉลยธรรมบัญญัติ บทที่ 18 ข้อที่ 15 พระเจ้าทรงสัญญาจะประทานผู้เผยพระวจนะอย่างโมเสสดังนี้ “พระเยโฮวาห์พระเจ้าของท่าน จะโปรดให้ผู้ -เผยพระวจนะอย่างข้าพเจ้านี้เกิดขึ้นในหมู่พวกท่านจากพี่น้องของท่าน ท่านทั้งหลายจงเชื่อฟังเขา” และข้อที่ 18 ระบุว่า : “เราจะโปรดให้บังเกิดผู้เผยพระวจนะอย่างเจ้าในหมู่พวกพี่น้องเขา และเราจะใส่ถ้อยคำของเราในปากของเขา และเขาจะกล่าวสิ่งที่เราบัญชาเขาไว้นั้น แก่ประชาชนทั้งหลาย”
ผู้เผยพระวจนะที่พระเจ้าทรงสัญญาจะประทานอย่างโมเสสนั้นคือผู้ใดเล่า ? คริสตชนคงจะตอบโดยไม่ลังเลว่า คือ พระเยซูคริสต์ นั่นเอง ! เพราะมีระบุไว้ในพระคริสตธรรมคัมภีร์ใหม่ว่า : “โมเสสคนนี้แหละได้กล่าวแก่ชนชาติอิสราเอลเองว่า “พระเจ้าจะทรงประทานผู้เผยพระวจนะผู้หนึ่งให้เกิดมาเพื่อท่านพี่น้องของท่าน เหมือนอย่างที่ให้ข้าพเจ้าเกิดมา” (กิจการของอัครทูต 7 : 37)
แต่ช้าก่อน คริสตชนเอ๋ย ! จงตรึกตรองถ้อยความในพระคริสตธรรมเก่านั้นให้ดีเถิด แล้วท่านจะได้รับคำตอบ ! สาระสำคัญอยู่ที่ประเด็นดังต่อไปนี้
1) ผู้ที่พระเจ้าทรงสัญญาจะประทานให้นั้นเป็นผู้เผยพระวจนะ
2) เป็นเหมือนอย่างโมเสส
3) ผู้นั้นบังเกิดในหมู่พวกพี่น้องของเขา (ชาวอิสราเอล)
4) พระเจ้าจะใส่ถ้อยคำของพระองค์ในปากของผู้เผยพระวจนะนั้น
5) ผู้เผยพระวจนะนั้นจะกล่าวบรรดาสิ่งที่พระเจ้ามีบัญชาไว้แก่ประชาชนทั้งหลาย
สาระสำคัญข้อที่ 1 จะหมายถึงพระเยซูคริสต์ได้อย่างไร ? ในเมื่อคริสตชนเชื่อว่าพระองค์เป็นพระบุตรของพระเจ้าหรือเป็นพระเป็นเจ้าหรือเป็นหนึ่งในพระภาคทั้ง 3 ของพระเจ้า ส่วนผู้เผยพระวจนะนั้นเป็นบุตรมนุษย์เช่นเดียวกับโมเสสและบรรดาผู้เผย – พระวจนะทั้งปวง
สาระสำคัญข้อที่ 2 จะหมายถึงพระเยซูคริสต์ได้อย่างไร ? ในเมื่อพระองค์ไม่ได้เป็นเหมือนอย่างโมเสส กล่าวคือ โมเสสเป็นบุตรมนุษย์ แต่พระเยซูคริสต์ทรงเป็นพระบุตรของพระเจ้าหรือเป็นพระเจ้าตามความเชื่อของคริสตชน โมเสสถูกบังเกิดเยี่ยงบุตรมนุษย์คือมีบิดาและมารดา แต่พระเยซูคริสต์ถูกบังเกิดด้วยเดชพระวิญญาณบริสุทธิ์ และมีเพียงพระมารดาแต่ฝ่ายเดียวโมเสสเป็นบุรุษของพระเจ้าคือมนุษย์ แต่พระเยซูคริสต์ทรงเป็นพระบุตรของพระเจ้าหรือเป็นพระสิริของพระเจ้า
โมเสสเป็นผู้นำชนอิสราเอลและปกครองพวกเขาด้วยพระธรรมบัญญัติ แต่พระเยซูคริสต์ไม่ได้ปกครองชนอิสราเอลในยุคของพระองค์ โมเสสมีครอบครัว แต่พระเยซูคริสต์ไม่ทรงมีครอบครัวไม่มีภรรยาและบุตร โมเสสเลี้ยงฝูงแพะแกะของเยโธรพ่อตาผู้เป็นปุโรหิตของคนมีเดียน แต่พระเยซูทรงเป็นช่างไม้หรือเป็นบุตรของช่างไม้ โมเสสได้รับพระบัญญัติจากพระเจ้าซึ่งเป็นพระธรรมบัญญัติที่พระเยซูคริสต์ทรงถือตาม พระองค์มิได้มาเพื่อลบล้างพระธรรมบัญญัติแต่มาทำให้สมบูรณ์
ส่วนผู้เผยพระวจนะที่พระเจ้าทรงสัญญาจะประทานให้จะเป็นผู้นำพระธรรมบัญญัติมาใหม่และยกเลิกพระธรรมบัญญัติเดิม โมเสสนำชาวอิสราเอลเพื่อขับไล่ประชาชาติที่ใหญ่กว่าและมีกำลังมากกว่าในดินแดนคะนาอัน และหมายจะเข้ายึดครองแผ่นดินนั้น แต่พระเยซูคริสต์มิได้ทรงกระทำเช่นนั้น โมเสสสิ้นชีวิตตามปกติเยี่ยงมนุษย์ แต่พระเยซูคริสต์ทรงสิ้นชีพบนไม้กางเขนและฟื้นคืนชีพหลังจากนั้นสามวันตามความเชื่อของคริสตชน ดังที่กล่าวมาย่อมแสดงว่าพระเยซูคริสต์ไม่เหมือนอย่างโมเสสเลย และพระองค์จะเป็นผู้เผยพระวจนะที่พระเจ้าทรงสัญญาประทานให้ได้อย่างไร
สาระสำคัญข้อที่ 3 ผู้เผยพระวจนะนั้นจะถูกบังเกิดในหมู่พวกพี่น้องของเขา คือ พี่น้องพงศ์พันธ์อิสราเอลที่สืบเชื้อสายจากอิสอัคบุตรอับราฮัม คำว่า หมู่พวกพี่น้องของเขา ย่อมบ่งชี้ว่าผู้เผยพระวจนะมิใช่ชาวอิสราเอลแต่มีเชื้อสายสืบจากพี่น้องของชาวอิสราเอล แล้วใครเล่าคือผู้ที่เป็นพี่น้องของชาวอิสราเอล คำตอบก็คือ พงศ์พันธ์ของอิชมาเอล ผู้ที่พระเจ้าทรงรับฟัง อิชมาเอลคือบุตรชายคนหัวปีของอับราฮัมที่เกิดจากนางฮาการ์ (พระนางฮาญัรฺ) เป็นพี่น้องร่วมบิดาของอิสอัค (อิสหาก) บุตรอับราฮัมที่เกิดจากนางซาราห์ (พระนางซา -เราะฮฺ) ผู้เผยพระวจนะนั้นจึงบังเกิดจากประชาชาติที่เป็นพี่น้องของอิสราเอลคือเป็นพงศ์พันธ์ของอิชมาเอล ซึ่งพระเจ้าทรงตรัสแก่อับราฮัมว่า “ส่วนบุตรชายของทาสหญิงนั้น เราจะกระทำให้เป็นชนชาติหนึ่งนั้นด้วย เพราะเขาเป็นพงศ์พันธ์ของเจ้า”(ปฐมกาล 21:13)
สาระสำคัญข้อที่ 4 พระเจ้าจะใส่ถ้อยคำของพระองค์ในปากของผู้เผยพระวจนะนั้น ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ! เพราะผู้เผยพระวจนะที่พระเจ้าทรงสัญญาแก่โมเสสว่าจะทรงประทานให้เป็นผู้ที่อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ สิ่งที่ผู้เผยพระวจนะประกาศจึงเป็นถ้อยคำของพระเจ้าที่ทรงดลใจให้เขากล่าวมิใช่สิ่งที่ผู้เผยพระวจนะจะกล่าวเองตามอำเภอใจและความต้องการของตน
ทีนี้ลองหวนกลับมาพิจรณาถ้อยคำใน คัมภีร์อัล-กุรอาน สิว่า อัล-กุรอานระบุว่าอย่างไร
ความว่า : “และเขา (มุฮัมมัด) จะไม่กล่าวถ้อยคำจากอารมณ์ของตน ถ้อยคำนั้นหาใช่อื่นใดไม่นอกจากเป็นวิวรณ์ที่ถูกดลใจ (แก่เขา)” (อัล – นัจญมุ อายะฮฺที่ 3 – 4)
ความว่า : “จงกล่าวเถิด (โอ้มุฮัมมัด) อันที่จริงฉันเป็นมนุษย์อย่างพวกท่าน ได้มีวิวรณ์มายังฉันว่า อันที่จริงพระเจ้าของพวกท่านนั้นคือพระเจ้าองค์เดียว” (อัล – กะฮฺฟิ อายะฮฺที่ 110)
ในคัมภีร์อัลกุรอานมีประโยคว่า : “จงกล่าวเถิด” มากมายตลอดทั้งคัมภีร์ ประโยคนี้เป็นประโยคคำสั่ง คือ พระผู้เป็นเจ้าทรงสั่งใช้ให้ศาสนทูตของพระองค์กล่าวแก่ผู้คนทั้งหลายตามที่พระองค์ทรงมีวิวรณ์มายังศาสนทูตผู้ที่รับคำสั่งให้กล่าวก็กล่าวตามพระบัญชานั้นมิได้กล่าวเอาเองตามอำเภอใจ เพราะสิ่งที่ถูกบัญชาให้กล่าวเป็นพระดำรัสของพระผู้เป็นเจ้าที่พระองค์ทรงใส่ไว้ในปากของศาสนทูตให้กล่าวออกมานั่นเอง หากไม่เป็นเช่นนั้นแล้วสำนวนถ้อยคำก็จะกลายเป็นว่า ผู้นั้นสั่งใช้ตนเองให้กล่าวคำพูดของตนเอง ซึ่งผู้มีปัญญาไม่ทำกัน !
สาระสำคัญข้อที่ 5 ผู้เผยพระวจนะนั้นจะกล่าวสิ่งที่พระเจ้าทรงมีบัญชาไว้แก่ ประชาชนทั้งหลาย สาระสำคัญข้อนี้เกี่ยวเนื่องจากข้อที่ 4 ซึ่งยืนยันว่า ผู้เผยพระวจนะนั้นจะไม่ปิดบังสิ่งที่พระผู้เป็นเจ้ามีบัญชาไว้แก่ผู้คนทั้งหลายแต่จะประกาศและเผยพระวจนะนั้นตามพระทัยของพระผู้เป็นเจ้า
ทีนี้ลองมาพิจารณาถ้อยความใน คัมภีร์ อัล- กุรอาน อีกทีเพื่อที่จะได้พบกับทางสว่าง !
ความว่า : “โอ้ผู้เป็นศาสนทูตเอ๋ย จงเผยสิ่งซึ่งถูกประทานลงมายังเจ้าจากพระผู้อภิบาลของเจ้าเถิด และหากว่าเจ้าไม่กระทำเจ้าก็หาได้เผยสาส์นของพระองค์ไม่และอัลลอฮฺ จะทรงปกปักรักษาเจ้าจากผู้คน (ที่มุ่งร้ายต่อเจ้า) แท้จริงอัลลอฮฺจะไม่ทรงชี้ทางนำแก่กลุ่มชนผู้ปฏิเสธทั้งหลาย” (อัล – มาอิดะฮฺ อายะฮฺที่ 67)
ความว่า : “และจงกล่าว(โอ้มูฮัมมัด) แก่บรรดาผู้ซึ่งถูกประทานคัมภีร์ และบรรดาผู้ไม่รู้หนังสือ (ชาวอาหรับ) ว่า พวกท่านจำนนต่ออิสลามหรือยัง ฉะนั้นหากว่าพวกเขาจำนนต่ออิสลามแน่แท้พวกเขาก็ย่อมได้ทางนำ และหากว่าพวกเขาผินไป ฉะนั้นอันที่จริงท่านมีภารกิจเผยบอกเท่านั้น และอัลลอฮฺทรงรู้เห็นปวงบ่าวทั้งหลาย” (อาลิ อิมรอน อายะฮฺที่ 20)
คัมภีร์ อัล-กุรอาน ยืนยันชัดเจนว่าศาสนทูตผู้เผยพระวจนะของพระเจ้ามีภารกิจใน การเผยสาส์นของพระองค์เท่านั้น ส่วนผู้ที่รับฟังพระวจนะแล้วจะเชื่อหรือไม่เชื่อนั้นเป็นภารกิจของพระผู้เป็นเจ้าที่เป็นไปตามพระทัยของพระองค์ สาระสำคัญทั้งหมดในสัญญาของพระเจ้าที่ทรงกระทำกับโมเสสจึงตรง และสอดคล้องกับศาสนทูตท่านสุดท้ายนามว่า มูฮัมมัด (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ทุกประการ
4- พระคริสตธรรมคัมภีร์เก่า ฉบับดาเนียล บทที่ 2 ดาเนียลได้แก้พระสุบินของพระราชาเนบูคัดเนสซาร์ว่า : “เศียรทองคำนั้นคือฝ่าพระบาทเอง ต่อจากฝ่า -พระบาทไปจะมีราชอาณาจักรด้อยกว่าฝ่าพระบาท และยังมีราชอาณาจักรที่สาม เป็นทองสัมฤทธิ์ ซึ่งจะปกครองอยู่ทั่วพิภพและจะมีราชอาณาจักรที่สี่แข็งแรงดั่งเหล็ก เพราะเหล็กตีสิ่งทั้งหลายให้หักและแตกเป็นชิ้นๆ ราชอาณาจักรนั้นจะหักและทุบสิ่งเหล่านี้ดั่งเหล็กซึ่งทุบให้แหลก ดั่งที่ฝ่าพระบาททอดพระเนตรเท้าและนิ้วเท้าเป็นดิน ช่างหม้อบ้าง เหล็กบ้าง จะเป็นราชอาณาจักรผสม…..
และในสมัยของพระราชาเหล่านั้น พระเจ้าแห่งฟ้าสวรรค์จะทรงสถาปนาราชอาณาจักรหนึ่ง ซึ่งไม่มีวันทำลายเสียได้หรือว่าราชอำนาจนั้นจะไม่ตกไปแก่ชนชาติอื่น ราชอาณาจักรนั้นจะทำให้ราชอาณาจักรเหล่านี้แตกเป็นชิ้นๆ ถึงอวสาน และราชอาณาจักรนั้นจะตั้งมั่นอยู่เป็นนิตย์ ดังที่ฝ่าพระบาททอดพระเนตรก้อนหินถูกตัดออกจากภูเขา มิใช่ด้วยมือมนุษย์และก้อนหินนั้นได้กระทำให้เหล็ก ทองสัมฤทธิ์ ดิน เงิน และทองคำแตกเป็นชิ้นๆ พระเจ้ายิ่งใหญ่ได้ทรงให้พระราชารู้ว่าอะไรจะบังเกิดมาภายหลังนี้ พระสุบินนั้นเที่ยงแท้และคำแก้พระสุบินก็แน่นอน”
(ดาเนียล 2 : 38 – 45) ในข้อที่ 35 ระบุว่า : “ขณะเมื่อพระองค์ทอดพระเนตร มีหินก้อนหนึ่งถูกตัดออกมามิใช่ด้วยมือของมนุษย์ กระทบปฏิมากรที่เท้าอันเป็นเหล็กปนดิน กระทำให้แตกเป็นชิ้นๆ แล้วส่วนเหล็ก ส่วนกระเบื้อง ส่วนของสัมฤทธิ์ส่วนเงินและส่วนทองคำ ก็แตกเป็นชิ้นๆพร้อมกัน กลายเป็นเหมือนแกลบ จากลานนวดข้าวในฤดูร้อน ลมก็พัดพาเอาไป จึงหาร่องรอยไม่พบเอาเสียเลย แต่ก้อนหินที่กระทบปฏิมากรนั้นกลายเป็นภูเขาใหญ่จนเต็มพิภพ”
เมื่ออ่านถ้อยความข้างต้นแล้วก็ลองพิจารณาถึงห้วงเวลาในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติดูตามคำแก้พระสุบินที่ดาเนียลเล่าถวายแก่พระราชาเนบูคัดเนสซาร์
1) 701 ปีก่อนคริสตกาล ราชอาณาจักรบาบิโลน มีเครื่องหมายเป็นเศียรทองคำในราชสมัยเนบูคัดเนสซาร์
2) 612 ปีก่อนคริสตกาล ราชอาณาจักรคัลดาเนียน ในรัชสมัยพระราชามีคาส มีเครื่องหมายเป็นเงิน
3) 326 ปีก่อนคริสตกาล ราชอาณาจักรกรีก ในรัชสมัยพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ แห่งมาซิโดเนีย มีเครื่องหมายเป็นทองสัมฤทธิ์ ซึ่งจะปกครองทั่วพิภพ
4) 53 ปีก่อนคริสตกาล จักรวรรดิโรมัน ในรัชสมัยปอมปียฺ มีเครื่องหมายเป็นเหล็กซึ่งจะทุบ และหักสิ่งทั้งปวงเป็นชิ้นๆ
5) คริสตศักราช 612 จักวรรดิ์โรมันไบแซนไทน์ และจักรวรรดิเปอร์เซียของวงศ์แซดซานิด
6) คริสตศักราช 637 รัฐอิสลามในนครมาดีนะฮฺ คาบสมุทรอาระเบีย ท่านศาสนทูตมุฮัมมัด (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ส่งเหล่าสาวกถือสาส์นเชิญชวนเข้ารับอิสลามไปยังบรรดากษัตริย์ในแว่นแคว้นต่างๆ และรัฐอิสลาม ทำสงครามกับเหล่าปัจจามิตร และจักรวรรดิ์โรมันไบเซนไทน์ตลอดจนจักรวรรดิเปอร์เซียถูกพิชิตและล่มสลายลงอย่างไม่มีหวนกลับ
แล้วอาณาเขตของรัฐอิสลามก็แผ่เข้าครอบคลุมดินแดนของสามทวีปที่เป็นพิภพซึ่งผู้คนรู้จักในเวลานั้น ประชาชาติมุสลิมยังคงดำรงอยู่อย่างมั่นคงตราบจนทุกวันนี้ และมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องไม่ต่างอะไรกับหินก้อนนั้นที่กลายเป็นภูเขาใหญ่เต็มพิภพ คำแก้สุบินของดาเนียลนั้นแน่นอนแล้วและเป็นจริงดั่งว่าทุกประการ
5- พระคริสตธรรมคัมภีร์เก่า ฉบับ อิสยาห์ บทที่ 42 ข้อที่ 1-4 ระบุว่า : “จงดูผู้รับใช้ของเรา ผู้ซึ่งเราเชิดชู ผู้เลือกสรรของเรา ผู้ซึ่งใจเราปิติยินดี เราได้เอาวิญญาณของเราสวมท่านไว้แล้ว ท่านจะส่งความยุติธรรมออกไปให้แก่บรรดาประชาชาติ ท่านจะไม่ร้องหรือเปล่งเสียงของท่านหรือกระทำให้ได้ยินในถนน ไม้อ้อช้ำแล้วท่านจะไม่หัก และไส้ตะเกียงที่ลุกริบหรี่ อยู่ท่านจะไม่ดับ ท่านจะส่งความยุติธรรมออกไปด้วยความสัตย์จริง ท่านจะไม่ริบหรี่หรือชอกช้ำ จนกว่าท่านจะสถาปนาความยุติธรรมไว้ในโลก และแผ่นดินชายทะเล รอคอยพระธรรมของท่าน”
และในข้อที่ 10-13 ระบุว่า : “จงร้องเพลงบทใหม่ถวายพระเจ้า เพลงยอพระเกียรติของพระองค์จากปลายแผ่นดินโลก ทั้งผู้ไปที่ทะเล และบรรดาสิ่งที่อยู่ในนั้น ทั้งแผ่นดินชาวทะเลและชาวถิ่นนั้น จงให้ถิ่นทุรกันดารและหัวเมืองนั้นเปล่งเสียง ทั้งชนบทที่เคดาร์อาศัยอยู่ ให้ชาวเส-ลาร้องเพลงด้วยด้วยความชื่นบาน ให้เขาโห่ร้องมาจากยอดภูเขา ให้เขาถวายพระสิริแด่พระเจ้า และถวายสรรเสริญพระองค์ในแผ่นดินทะเลทราย พระเจ้าเสด็จออกไปอย่างคนแกล้วกล้าพระองค์ทรงเร้าความกระตือรือร้นของพระองค์อย่างนักรบ พระองค์ทรงร้องพระองค์ทรงโห่ดังพระองค์ทรงแผลงฤทธิ์ต่อศัตรูของพระองค์”
และในบทที่ 60 ข้อที่ 1-7 ระบุว่า : “จงลุกขึ้นฉายแสง เพราะว่าความสว่างของเจ้ามาแล้ว และพระสิริของพระเจ้าขึ้นมาเหนือเจ้า เพราะว่าดูเถิด ความมืดจะคลุมแผ่นดินโลก และความมืดทึบคลุมชนชาติทั้งหลาย แต่พระเจ้าทรงขึ้นมาเหนือเจ้า และเขาจะเห็นพระสิริของพระองค์เหนือเจ้า และบรรดาประชาชาติจะมายังความสว่างของเจ้าและพระราชาทั้งหลาย ยังความสุกใสแห่งการขึ้นของเจ้า จงเงยตาของเจ้ามองให้รอบ และดูเขาทั้งปวงมาอยู่ด้วยกัน
เขาทั้งหลายมาหาเจ้า แล้วเจ้าจะเห็นและปลาบปลื้ม ใจของเจ้าจะตื่นเต้นและเปรมปรีดิ์ เพราะความมั่งคั่งของทะเลจะหันมายังเจ้า ทรัพย์สมบัติของบรรดาประชาชาติจะมายังเจ้า มวลอูฐจะมาห้อมล้อมเจ้า อูฐหนุ่มจากมีเดียนและเอฟาห์ บรรดาเหล่านั้นจากเชบาจะมา เขาจะนำทองคำและกำยาน และจะบอกข่าวดีถึงกิจการอันน่าสรรเสริญของพระเจ้า ฝูงแพะแกะทั้งสิ้นแห่งเคดาร์จะรวมมาหาเจ้า แกะผู้ของเนบาโยทจะปรนนิบัติเจ้า มันจะขึ้นไปบนแท่นบูชาของเราอย่างเป็นที่โปรดปราน และเราจะให้นิเวศอันรุ่งเรืองของเราได้รับความรุ่งเรือง”
ในพระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับอิสยาห์ข้างต้นเป็นการพยากรณ์ถึงการมาของผู้รับใช้พระเจ้า ซึ่งได้รับการเชิดชูการเลือกสรร เป็นที่พอพระทัยของพระองค์ เป็นผู้ที่นำเอาความยุติธรรมออกไปยังประชาชาติทั้งหลายอันหมายถึงมนุษย์ชาติโดยรวม ผู้รับใช้พระเจ้าจะยืนหยัดในการสถาปนาความยุติธรรมด้วยความสัตย์จริงนั้นจนสำเร็จ
คุณลักษณะประการหนึ่งของผู้รับใช้พระเจ้าคือไม่ส่งเสียงตะโกนโหวกเหวกตามท้องถนน และบุคคลผู้นี้จะนำพรธรรมบัญญัติใหม่มาซึ่งเป็นพระธรรมบัญญัติที่ยกยอพระเกียรติของพระผู้เป็นเจ้าให้สูงส่งเหนือสิ่งอื่นใดเป็นพระธรรมบัญญัติที่ครอบคลุมประชาชาติในทุกส่วนของพิภพโดยมีจุดกำเนิดในถิ่นทุรกันดารที่เคดาร์อาศัยอยู่ และเคดาร์ผู้นี้ ก็เป็นพงศ์พันธุ์ของอิชมาเอล ดังปรากฏในพระธรรมฉบับปฐมกาล 25 ข้อที่ 13-14 ระบุว่า “ต่อไปนี้เป็นชื่อบรรดาบุตรชายของอิชมาเอล ตามลำดับกำเนิดคือ เนบาโยธ บุตรหัวปีของอิชมาเอล เคดาร์ อัดบีเอล มิบสัม มิชมา ดูมาห์ มัสสา ฮาดัด เทมา เยทูร์ นาฟิช และเคเดมาห์”
ประโยคที่ว่า “ฝูงแพะแกะทั้งสิ้นแห่งเคดาร์จะรวมมาหาเจ้า แกะผู้ของเนบาโยทจะปรนนิบัติ” “มวลอูฐจะมาห้อมล้อมเจ้า” นั้นเป็นคำพยากรณ์ถึงการไล่ต้อนปศุสัตว์เข้าสู่แผ่นดินต้องห้ามที่มีนามว่า “มักกะฮฺ” มีการประกอบพิธีหัจญ์ที่ผู้คนจากแดนไกลต่างก็มุ่งมายังพระนิเวศของพระเจ้า คือ บัยตุลลอฮฺ อัล-หะรอม หรือ อัล-กะอฺบะฮฺ มีการเชือดสัตว์ในวันอีด อัล-อัฎหา ณ ทุ่งมินา และผู้คนมารวมตัวกัน ณ ทุ่งอะเราะฟะฮฺ มีการกล่าวพยากรณ์ถึงนครมะดีนะฮฺซึ่งเป็นที่ตั้งของภูเขา เส-ลา (ภูเขาสะละอฺ อยู่ตรงข้ามกับภูเขาอุหุด)
พวกเขาร้องเพลงด้วยความชื่นบานเพราะที่เมืองของภูเขา เส-ลา (นครมะดีนะฮฺ) คือดินแดนของศาสนทูตท่านสุดท้ายที่จะอพยพไปยังที่นั้น และจากนครแห่งนี้พระเจ้าทรงแผลงฤทธิ์ต่อศัตรูของพระองค์คือเป็นจุดเริ่มต้นของการทำสงครามญิฮาดกับบรรดาศัตรูของพระเจ้า คำพยากรณ์ของอิสยาห์ผู้เผยพระวจนะสอดคล้องกับเรื่องราวของศาสนทูตท่านสุดท้ายผู้เป็นบ่าวรับใช้ของพระเจ้านามว่า มุฮัมมัด (ศ็อลลัลฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ซึ่งท่านได้สถาปนาความยุติธรรมเอาไว้แก่ประชาชาติทั้งหลายเป็นที่สำเร็จแล้วนั่นเอง !
6- พระคริสตธรรมคัมภีร์เก่า ฉบับ ฮาบากุก บทที่ 3 ข้อที่ 3-4 ระบุว่า : “พระเจ้าเสด็จจากเทมาน องค์บริสุทธิ์ เสด็จจากภูเขาปาราน สง่าราศีของพระองค์คลุมทั่วฟ้าสวรรค์ และโลกก็เต็มไปด้วยคำสรรเสริญพระองค์ ความผ่องใสของพระองค์ดั่งแสงสว่าง มีลำแสงแวบมาจากพระหัตถ์ของพระองค์ พระองค์ทรงกำบัญชานุภาพของพระองค์เสียที่นั่น”
คำว่า “เทมาน” หมายถึงแผ่นดิน ตัยมาอฺปลายเขตแดนของแคว้นชาม (ซีเรีย) อยู่ระหว่างชาม กับ วาดียฺ อัล-กุรอ ซึ่งเป็นเส้นทางของบรรดาผู้ประกอบพิธีหัจญ์ของแคว้นชาม และดามัสกัสที่จะมุ่งหน้าสู่นครมักกะฮฺ ภูเขาปาราน หมายถึง ดินแดนนิวาสถานของอิซมาเอลผู้ที่เป็นบรรพบุรุษของศาสนทูตท่านสุดท้าย มุฮัมมัด (ศ็อลลัลฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ซึ่งประกาศรัศมีแห่งอิสลามสว่างสไวไปทั่วโลก โดยโลกก็เต็มไปด้วยคำสรรเสริญทั้งพระผู้เป็นเจ้าสูงสุด และศาสนทูตผู้นั้น
ในข้อที่ 6 ระบุว่า “พระองค์ทรงประทับฝืนและทรงวัดพิภพ พระองค์ทอดพระเนตรและทรงเขย่าประชาชาติ และภูเขานิรันดรกาลก็กระจัดกระจาย” และข้อความในข้อที่ 4 ซึ่งระบุว่า “มีลำแสงแวบตามาจากพระหัตถ์ของพระองค์ พระองค์ทรงกำบังฤทชานุภาพของพระองค์เสียที่นั่น” นี้คือคำพยากรณ์ที่กล่าวถึงสมรภูมิ คอนดัก (คันคู-สนามเพลาะ) ที่ชาวมุสลิมในนครมะดีนะฮฺร่วมกันขุดสนามเพลาะเพื่อเป็นสิ่งกีดขวางของศัตรูที่เป็นฝ่ายพันธมิตรของมักกะฮฺ
ในระหว่างการขุดสนามเพลาะนั้น สาวกของนบีมุฮัมมัด (ศ็อลลัลฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ขุดไปเจอก้อนหินขนาดใหญ่ไม่สามารถขุดต่อไปได้เพราะก้อนหินนั้นขวางอยู่ทุบก็ไม่แตก นบีมุฮัมมัด (ศ็อลลัลฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ก็มายังก้อนหินนั่นแล้วก็ใช้พลั่วตีลงที่ก้อนหินนั้น 1 ครั้ง ก้อนหินหนึ่งในสามแตกออกและมีแสงสว่างปรากฏออกมา ท่านนบีกล่าวว่า : “อัลลอฮฺทรงเกรียงไกร” แล้วท่านก็มองเห็นปราสาทของแคว้นชาม (ซีเรีย) ที่มีสีแดงจากลำแสงนั้น
ต่อมาท่านใช้พลั่วตีลงที่ก้อนหินนั้นเป็นครั้งที่สอง ก้อนหินหนึ่งในสามอีกส่วนหนึ่งก็แตกออก และมีแสงสว่างปรากฏออกมาท่านกล่าวว่า “อัลลอฮฺทรงเกรียงไกร” แล้วท่านก็เห็นปราสาทของเมืองมะดาอินในเปอร์เซียซึ่งมีสีขาวจากลำแสงนั้น ครั้นต่อมาท่านใช้พลั่วตีลงที่ก้อนหินนั้นเป็นครั้งที่สาม ก้อนหินในส่วนที่เหลือก็แตกหักออก ท่านกล่าวว่า “อัลลอฮฺทรงเกรียงไกร” แล้วท่านก็เห็นประตูเมืองศอนอาอฺในเยเมนอย่างชัดเจน ณ เวลานั้น”
นี้คือเรื่องราวที่มีรายงานไว้ในพระวจนะของนบีมุฮัมมัด (ศ็อลลัลฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ตามที่อันนะสาอีย์ และอะหฺหมัด ได้รายงานจากท่าน อัล-บะรออฺ อิบนุ อาซิบ (ร.ฎ.) ดูฟัตหุลบารีย์ 7/397 อ่านถึงตรง “พระหัตถ์ของพระองค์ ถือพลั่วพร้อมแล้ว” (มัทธิว 3:12) และเมื่ออ่านคำอวยพรของโมเสส ในเฉลยธรรมบัญญัติ บทที่ 33 ข้อที่ 1-2 ซึ่งระบุว่า : “พระเจ้าเสด็จจากซีนาย และทรงรุ่งแจ้งจากเสอีร์มายังเขาทั้งหลาย พระองค์ทรงฉายรังสีจากภูเขาปาราน พระองค์เสด็จจากผู้บริสุทธิ์นับหมื่นๆที่พระหัตถ์เบื้องขวามีไฟเป็นพระธรรมของเขา”
แล้วย้อนกลับไปอ่านคำของยอห์น ผู้รับบัพติศมาที่ว่า : “พระองค์จะทรงให้เจ้าทั้งหลาย รับบัพติศมาด้วยวิญญาณบริสุทธิ์และด้วยไฟ” (มัทธิว 3:11) ก็นึกออกว่ายอห์นหมายถึงผู้ใด ? และทำให้เห็นได้ว่า คำพยากรณ์ของเหล่าผู้เผยพระวจนะนั้นต่างอธิบายซึ่งกันและกันถึงศาสนทูตท่านสุดท้ายที่จะมายังโลกใบนี้ว่ามีคุณลักษณะเช่นใด ? และเมื่อเราได้อ่านถ้อยคำพยากรณ์ของอิสยาห์ที่กล่าวว่า : “จงลุกขึ้นฉายแสงเพราะว่าความสว่างของเจ้ามาแล้ว และพระสิริของพระเจ้าขึ้นมาเหนือเจ้า เพราะว่าดูเถิด………และเขาจะเห็นพระสิริของพระองค์เหนือเจ้า….” (อิสยาห์ 6:1-7)
นี้คือเหตุการณ์สำคัญที่พระผู้เป็นเจ้าทรงประทานให้แก่ศาสนทูตท่านสุดท้ายในการอิสรออฺ และมิอฺรอจญ์ คือการเดินทางในยามค่ำคืนจากนครมักกะฮฺสู่กรุงเยรูซาเล็ม (บัยตุมักดิส) และการเดินทางสู่ฟากฟ้าเบื้องบนจากกรุงเยรูซาเล็มของศาสนทูตมุฮัมมัด (ศ็อลลัลฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) นั่นเอง !
คริสตชนอาจค้านว่า เปล่าเลยนี้เป็นการมาของพระเยซูคริสต์ยังกรุงเยรูซาเล็มและการเสด็จขึ้นสู่ฟากฟ้าของพระองค์ต่างหาก เพราะพระคริสตธรรมคัมภีร์เขียนไว้ว่า : “ครั้นพระเยซูคริสต์เจ้าตรัสสั่งเขาแล้ว พระเจ้าก็ทรงรับพระองค์ให้ขึ้นสู่ฟ้าสวรรค์ ประทับเบื้องขวาพระหัตถ์ของพระเจ้า” (มาระโก 16 :19)
“และพระองค์จึงพาเขาออกไปถึงหมู่บ้านเบธานีและทรงยกพระหัตถ์อวยพรเขา เมื่อทรงอวยพรอยู่นั้น พระองค์จึงเสด็จจากเขา และถูกทรงรับขึ้นไปสู่สวรรค์” (ลูกา 24 : 50 -51) แต่เหตุการณ์เสด็จขึ้นของพระเยซูคริสต์นั้นเป็นเหตุการณ์ในเวลาใดเล่า มิใช่ในเวลากลางวันดอกหรือ ? แต่พระธรรมอิสยาห์ระบุว่า “แต่ความมืดจะคลุมแผ่นดินโลก และความมืดทึบคลุมชนชาติทั้งหลาย” นั้นเป็นเวลากลางคืนมิใช่หรือ ?!
ในพระคริสตธรรมฉบับ ฮาบากุก บทที่ 3 ข้อที่ 5 ระบุว่า : “โรคระบาดเดินนำหน้าพระองค์ ภัยพิบัติมาชิดตามหลังพระองค์” นี่คือสำนวนที่แปลเป็นภาษาไทย แต่ในพระคริสตธรรมคัมภีร์ฉบับแปลภาษาอาหรับ ใช้สำนวนว่า : “เบื้องหน้าพระองค์โรคระบาดหมดไป และเบื้องหลังพระบาททั้งสองของพระองค์โรคภัยได้ออกไป” ในสำนวนคำแปลภาษาอาหรับนี้เป็นการบ่งชี้อย่างชัดเจนถึงเรื่องราวศาสนทูตท่านสุดท้ายที่เกี่ยวกับนครมะดีนะฮฺที่พระองค์อพยพไปที่นั่น ก่อนการอพยพของพระองค์ นครแห่งนี้เป็นที่รู้กันในหมู่ชาวอาหรับว่าเป็นดินแดนแห่งโรคระบาดจำพวกไข้หวัดใหญ่
เมื่อเหล่าสาวกของพระองค์อพยพออกจากมักกะฮฺสู่มะดีนะฮฺพวกท่านเหล่านั้นต้องพบกับโรคระบาดที่ว่านี้หลายคนมีอาการเจ็บป่วย เช่น ท่านอบูบักร (ร.ฎ.) ท่านบิล้าล (ร.ฎ.) เหตุนี้เองนบีมุฮัมมัด (ศ็อลลัลฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) จึงได้วิงวอนขอต่อพระองค์อัลลอฮฺให้ขจัดปัดเป่าโรคระบาดนี้ออกไปจากนครมะดีนะฮฺ มีปรากฏในมุสนัดของอิหม่ามอะหฺมัดระบุว่า : ท่านนบี (ศ็อลลัลฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) กล่าวว่า : ญิบรีล (อ.ล.) ได้นำโรคไข้หวัดและโรคระบาดมายังฉัน โรคไข้หวัดได้ถูกกักไว้ที่มะดีนะฮฺโรคระบาดได้ถูกส่งไปยังแคว้นชาม (ซีเรีย) ซึ่งในเวลาต่อมาท่านจึงได้วิงวอนขอให้โรคไข้หวัดออกจากนครมะดีนะฮฺที่ตำบล อัล-ญุหฺฟะฮฺ ซึ่งอยู่นอกเขตนครมะดีนะฮฺ ตามที่ อัล-บุคอรีย์ได้รายไว้ (ฟัตหุบารีย์ 7/262)
นี้คืออีกหนึ่งเรื่องราวที่พยากรณ์ถึงเหตุการณ์และคุณสำคัญของศาสนทูตท่านสุดท้ายผู้ซึ่งโรคระบาดถูกปัดเป่าไปนั้นพระองค์เหล่าสาวกของพระองค์สอดคล้องกับที่ฮาบากุกได้พยากรณ์เอาไว้โดยไม่ผิดเพี้ยนเลย !
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น