ชี้แจงการสรรเสริญ การซิกรุลลอฮ์ ศ่อละวาต และขอดุอาอฺช่วงพักละหมาดตะรอวิห์
ชี้แจงการสรรเสริญ การซิกรุลลอฮ์ ศ่อละวาต และขอดุอาอฺช่วงพักละหมาดตะรอวิห์คำถาม: พี่น้องมุสลิมอะฮ์ลิสซุนนะฮ์วัลญะมาอะฮ์ได้ทำการสรรเสริญอัลลอฮฺ ซิกรุลลออ์ ศ่อละวาตนะบีย์ และขอดุอาอฺ ในระหว่างพักช่วงร็อกอะฮ์ของละหมาดตะรอวิห์นั้น กระทำได้หรือไม่ตามหลักการของศาสนา?
ตอบ: กระทำได้ตามหลักการของศาสนาและเป็นสิ่งที่ดีงามเนื่องจากผู้ที่กระทำนั้นจะได้ผลบุญมากมายเหลือเกิน
อนึ่ง เดือนร่อมะฎอนนั้น เป็นเดือนแห่งความดีงามและเป็นเดือนแห่งการขอดุอาอฺ เป็นเดือนที่ประตูท้องฟ้าเปิดเพื่อตอบรับความดีงาม เป็นเดือนที่ประตูความเมตตาเพื่อรับการเตาบะฮ์ และเป็นเดือนที่ประตูสวรรค์เปิดเพื่ออำนวยความสะดวกให้ปวงบ่าวของอัลลอฮฺได้กระทำความดีงามเพิ่มทวีคูณในเดือนร่อมะฎอน ดังนั้นเดือนร่อมะฎอน จึงเป็นเดือนแห่งบรรยากาศของการทำความดีงามในทุกมิติและทุกช่วงเวลา หนึ่งในนั้นคือ การกระทำความดีงามช่วงพักระหว่างร็อกอะฮ์ของละหมาดตะรอวิห์
หลักการของซุนนะฮ์นะบีย์นั้น ให้มีการพูดคั่นกลางระหว่างละหมาดโดยอย่ากระทำอย่างต่อเนื่อง และคำพูดที่ดีที่สุดคือ การซิกรุลลอฮ์ที่ชาวอะฮ์ลิสซุนนะฮ์วัลญะมาอะฮ์นำมากล่าวคั่นกลางระหว่างพักช่วงละหมาดตะรอวิห์
ท่านอิหม่ามอัลค่อฏีบ อัชชุรบีย์ ได้กล่าวว่า
وَ يُسَنُّ أَنْ يَنْتَقِلَ لِلنَّفْلِ أَوْ الْفَرْضِ مِنْ مَوْضِعِ فَرْضِهِ أَوْ نَفْلِهِ لِتَكْثُرَ مَوَاضِعُ السُّجُودِ فَإِنَّهَا تَشْهَدُ لَهُ...قَالَ فِي الْمَجْمُوعِ : فَإِنْ لَمْ يَنْتَقِلْ فَلْيَفْصِلْ بِكَلَامِ إنْسَانٍ.
“สุนัตให้ผู้ละหมาดเลื่อนสถานที่การละหมาดสุนัตหรือฟัรฎูจากสถานที่ละหมาดฟัรฎูของเขาหรือละหมาดสุนัตของเขา (ให้ละทำละหมาดอีกสักสถานที่หนึ่ง) เพื่อให้มีบรรดาสถานที่สุญูดมากๆ เพราะมันจะมาเป็นพยานแก่เขา...ท่านอิหม่ามอันนะวาวีย์ ได้กล่าวไว้ในตำราอัลมัจญฺมูอฺของท่านว่า หากผู้ละหมาดมิได้เคลื่อนย้ายสถานที่ ก็ให้เขาจงแยกคั่นกลางด้วยคำพูดของมนุษย์” อัลค่อฏีบอัชชุรบีนีย์, มุฆนิลมุห์ตาจญฺ, เล่ม 1, หน้า 183.
หลักฐานดังกล่าว คือ หะดีษที่รายงานโดยมุสลิม ความว่า ท่านมุอาวิยะฮ์ ได้กล่าวกับท่านอัซซาอิบ บิน ยะซีด ความว่า
إِذَا صَلَّيْتَ الْجُمُعَةَ فَلَا تَصِلْهَا بِصَلَاةٍ حَتَّى تَكَلَّمَ أَوْ تَخْرُجَ فَإِنَّ رَسُولَ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ أَمَرَنَا بِذَلِكَ أَنْ لَا تُوصَلَ صَلَاةٌ بِصَلَاةٍ حَتَّى نَتَكَلَّمَ أَوْ نَخْرُجَ
“เมื่อท่านละหมาดญุมุอะฮ์แล้ว ท่านก็อย่านำละหมาดใดมาทำต่อเนื่องกับละหมาดญุมุอะฮ์จนกว่าท่านจะพูดหรือลุกออกไป (จากสถานที่ละหมาดเดิม) เพราะแท้จริงท่านร่อซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้สั่งใช้ดังกล่าวแก่พวกเราว่าการละหมาดหนึ่งละหมาดใดนั้นจะไม่ทำอย่างต่อเนื่องกับอีกละหมาดหนึ่งจนกว่าเราจะพูดหรือเราได้ลุกออกจากไป (จากสถานที่ละหมาดนั้นแล้วไปละหมาดอีกสถานที่หนึ่ง)” รายงานโดยมุสลิม, หะดีษเลขที่ 883.
ท่านอิหม่ามอัลอิสนะวีย์ ได้กล่าวว่า
اَلنَّكِرَةُ فِيْ سِيَاقِ النَّفْيِ تَعُمُّ
“ถ้อยคำนะกิเราะฮ์ (ถ้อยคำที่ให้ความหมายครอบคลุมโดยไม่เจาะจง)ในคำพูดที่มีสำนวนการปฏิเสธนั้นจะ ให้ความหมายที่ครอบคลุม” อัลอิสนะวีย์, อัลเกากับอัดดุรรีย์, หน้า 288.
ดังนั้นถ้อยคำหะดีษที่ระบุว่า “ละหมาดหนึ่งละหมาดใดจะไม่ทำอย่างต่อเนื่องกับอีกละหมาดหนึ่ง” นั้น ให้ความหมายที่ครอบคลุมทุกละหมาดไม่ว่าจะเป็นละหมาดฟัรฎูหรือละหมาดสุนัตก็ตาม ฉะนั้นจึงครอบคลุมถึงละหมาดตะรอวิห์ด้วยเช่นกันว่าระหว่างร็อกอะฮ์ของละหมาดตะรอวิห์นั้น ซุนนะฮ์ให้มีการพูดมาคั่นกลาง ซึ่งการพูดที่ดีที่สุด คือ การกล่าวซิกรุลลอฮ์ โดยนักปราชญ์ไม่มีการขัดแย้งกัน
นี่คือหลักฐานในการกล่าวซิกรุลลอฮ์ สรรเสริญอัลลอฮฺ ศ่อละวาต และดุอาอฺต่ออัลลอฮฺตะอาลาในระหว่างพักช่วงของละหมาดตะรอวิห์นั่นเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เป้าหมายของการกล่าวถ้อยคำซิกรุลลอฮ์ การสรรเสริญอัลลอฮฺฮฺ การศ่อละวาตนะบีย์นั้น เพื่อเป็นบทนำและมารยาทในการขอดุอาอฺต่ออัลลอฮฺในช่วงพักละหมาดตะรอวิห์ด้วยนั่นเอง
ท่านนะบีย์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวว่า
إِذَا صَلَّى أَحَدُكُمْ فَلْيَبْدَأْ بِتَحْمِيدِ اللَّهِ وَالثَّنَاءِ عَلَيْهِ ثُمَّ لِيُصَلِّ عَلَى النَّبِىِّ -صلى الله عليه وسلم- ثُمَّ لِيَدْعُ بَعْدُ بِمَا شَاءَ
“เมื่อคนใดจากพวกท่านละหมาดแล้ว เขาก็จงเริ่มด้วยการสรรเสริญของอัลลอฮฺและยกย่องพระองค์ หลังจากนั้น เขาจงศ่อละวาตให้แก่ท่านนะบีย์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม หลังจากนั้น เขาก็จงขอดุอาตามที่เขาต้องการ” รายงานโดยอัตติรมีซีย์, หะดีษเลขที่ 3477, ท่านอัตติรมีซีย์กล่าวว่า หะดีษนี้หะซันศ่อฮิห์.
ท่านอะนัส ได้รายงานหะดีษ จากท่านนะบีย์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ความว่า
كُلُّ دُعَاءٍ مَحْجُوْبٌ حَتَّى يُصَلَّى عَلَى النَّبِيِّ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَ سَلَّمَ
“ทุกดุอาอฺจะถูกปิดกั้น (จากฟากฟ้า) จนกว่าจะถูกศ่อละวาตแก่ท่านนะบีย์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมเสียก่อน” รายงานโดยอัดดัยลามีย์, และอัลบานีย์ กล่าวว่า หะดีษนี้ หะซัน, ดู ศ่อฮิห์ อัลญามิอฺ หะดีษเลขที่ 4523.
จะสังสังเกตได้ว่า ก่อนที่จะทำการขอดุอาอฺนั้น จะมีการศ่อละวาตในช่วงแรกก่อนขอดุอาอฺด้วยเพื่อปฏิบัติตามซุนนะฮ์ของท่านนะบีย์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม นั่นเอง
ท่านร่อซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวว่า
وَاسْتَكْثِرُوْا فِيْهِ مِنْ أَرْبَعِ خِصَالٍ : خَصْلَتَيْنِ تُرْضُوْنَ بِهِمَا رَبَّكُمْ وَ خَصْلَتَيْنِ لاَ غِنًى بِكُمْ عَنْهُمَا فَأَمَّا الْخَصْلَتَانِ اللَّتَانِ تُرْضُوْنَ بِهِمَا رَبَّكُمْ فَشَهَادَةُ أَنْ لاَ إِلَهَ إِلاَّ اللهُ وَ تَسْتَغْفِرُوْنَهُ وَ أَّمَّا اللَّتَانِ لاَ غِنًى بِكُمْ عَنْهُمَا فَتَسْأَلُوْنَ اللهَ الْجَنَّةَ وَ تَعُوْذُوْنَ بِهِ مِنَ النَّارِ
“พวกท่านจงทำสี่ประการในเดือนร่อมะฎอนให้มากๆ ซึ่งสองประการนั้นพวกท่านจะทำให้พระเจ้าของพวกท่านมีความพึงพอพระทัยและอีกสองประการที่พวกท่านจะขาดมันไม่ได้ สำหรับสองประการที่พวกท่านจะทำให้พระเจ้าของพวกท่านมีความพึงพอพระทัยนั้น คือ การกล่าวถ้อยคำชะฮาดะฮ์ ลาอิลาฮะอิลลัลลอฮฺและขออภัยโทษจากพระองค์ ส่วนอีกสองประการที่พวกท่านขาดมันไม่ได้ คือ การที่พวกท่านได้วอนขอสวรรค์ต่ออัลลอฮฺและขอความคุ้มครองด้วยกับพระองค์ให้พ้นจากไฟนรก” รายงานโดยอิบนุมาญะฮ์, ศ่อฮิห์อิบนุมาญะฮ์, เล่ม 3, หน้า 191, อัลบัยฮะกีย์, ชุอะบุนอีหม่าน, เล่ม 3, หน้า 350.
ดังนั้นระหว่างพักช่วงละหมาด มีซุนนะฮ์นะบีย์ให้ทำการคั่นกลางด้วยคำพูดโดยที่ท่านนะบีย์ไม่ได้เจาะจงว่าเป็นคำพูดอะไรและอย่างไร และพี่น้องมุสลิมอะฮ์ลิสซุนนะฮ์วัลญะมาอะฮ์ ได้เลือกคำพูดที่ดีเลิศที่สุดจากบรรดาการซิกรุลลอฮ์ ศ่อละวาต และดุอาอฺ มาคั่นกลางระหว่างละหมาดตะรอวิห์เพื่อไม่ให้พี่น้องมุสลิมหายใจทิ้งหายใจขว้างแบบเปล่าประโยชน์นั้น นับว่าเป็นความดีงามที่ไม่ขัดกับหลักการของศาสนาเหมือนกับในยุคสะลัฟที่ทำการฏ่อวาฟรอบบัยตุลลอฮ์ช่วงพักร็อกอะฮ์ของละหมาดตะรอวิห์ ซึ่งท่านนะบีย์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ก็ไม่เคยกระทำ แต่ก็เป็นสิ่งที่ดีงามที่หลักการศาสนาได้เปิดกว้างเอาไว้ ดังนั้นผู้ใดที่ทำให้คับแคบในเรื่องที่อัลลอฮฺและร่อซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้เปิดกว้างเอาไว้นั้น โดยตัดสินว่าบิดอะฮ์ลุ่มหลงและห้ามทำการฏ่อวาฟรอบบัยตุลลอฮ์ ห้ามสรรเสริญของอัลลอฮฺ ห้ามซิกรุลลอฮ์ ห้ามศ่อละวาต และห้ามขอดุอาอฺระหว่างพักช่วงละหมาดตะรอวิห์นั้น ถือว่าเป็นบิดอะฮ์ตามหลักการของศาสนาและตัดสินล้ำหน้าอัลลอฮฺและร่อซูลุลลอฮ์ของพระองค์นั่นเอง วัลอิยาซุบิลลาฮ์
ท่านมุฟตีแห่งประเทศอียิปต์ อิหม่าม อัลลามะฮ์ อะลีย์ ญุมอะฮ์ ได้กล่าวว่า
إِذْ مِنَ الْبِدْعَةِ تَضْيِيْقُ مَا وَسَّعَهُ اللهُ وَرَسُوْلُهُ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ
“เนื่องจากส่วนหนึ่งของบิดอะฮ์ คือการทำให้แคบกับสิ่งที่อัลลอฮฺและร่อซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เปิดกว้าง” สำนักฟัตวาประเทศอียิปต์, คำฟัตวาเลขที่ 452.
รายละเอียดและหลักฐาน
ถ้อยคำต่างๆ ที่ดีงามที่บรรดาชาวอะฮ์ลิสซุนนะฮ์วัลญะมาอะฮ์นำมากล่าวช่วงพักระหว่างร็อกอะฮ์ของละหมาดตะรอวิห์นั้น คือ
1. การสรรเสริญอัลลอฮฺ เช่น
سُبْحَانَ الْمَلِكِ الْمَعْبُوْدِ، سُبْحَانَ الْمَلِكِ الْمَوْجُوْدِ، سُبْحَانَ الْمَلِكِ الْـحَيِّ الَّذِيْ لَا يَنَامُ وَلَا يَـمُوْتُ وَلَا يَفُوْتُ أَبَدًا سُبُّوْحٌ قُدُّوْسٌ رَبُّنَا وَرَبُّ الْمَلَائِكَةِ وَالرُّوْحِ
ความหมาย “มหาบริสุทธิ์แด่ผู้ทรงปกครอง ผู้ทรงถูกสักการะ มหาบริสุทธิ์แด่ผู้ทรงปกครอง ผู้ทรงมี มหาบริสุทธิ์แด่ผู้ทรงปกครอง ผู้ทรงเป็น ผู้ทรงไม่หลับ ผู้ทรงไม่ตาย ผู้ทรงไม่ดับสูญตลอดไป ผู้ทรงบริสุทธิ์จากภาคี ผู้ทรงบริสุทธิ์จากสิ่งไม่บังควร โอ้ผู้อภิบาลของเรา ผู้ทรงอภิบาลแห่งมวลมะลาอิกะฮ์และท่านญิบรีล”
การสรรเสริญอัลลอฮฺและกล่าวเทิดทูนพระองค์นี้ มีความสวยงามและสอดคล้องกับหลักของกิตาบุลลอฮ์และซุนนะฮ์ของท่านนะบีย์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม
2. ถ้อยคำกล่าวซิกรุลลอฮ์ เช่น
سُبْحَانَ اللهِ وَالْـحَمْدُ للهِ وَلَا إِلهَ إِلَّا اللهُ وَاللهُ أَكْبَرُ، وَلَا حَوْلَ وَلَا قُوَّةَ إِلَّا بِاللهِ الْعَلِيِّ الْعَظِيْمِ
“มหาบริสุทธิ์แด่อัลลอฮฺ และมวลการสรรเสริญเป็นกรรมสิทธิ์ของอัลลอฮฺ และไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺ อัลลอฮฺทรงยิ่งใหญ่ และไม่มีการหยุดนิ่งเคลื่อนไหวใดและไม่มีพลังใดนอกจากด้วยอัลลอฮฺทรงผู้สูงส่ง ผู้ทรงยิ่งใหญ่”
และถ้อยคำซิกิรที่ดีเลิศ
لَا إِلٰهَ إِلَّا اللهُ وَحْدَهُ لَا شَرِيْكَ لَهْ، لَهُ الْمُلْكُ وَلَهُ الْـحَمْدُ يُـحْيِيْ وَيُـمِيْتُ، وَهُوَ عَلٰى كُلِّ شَيْءٍ قَدِيْرٌ
“ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺผู้ทรงหนึ่งเดียว ไม่มีภาคีใดๆ สำหรับพระองค์ พระองค์นั้นทรงสิทธิ์แห่งการปกครองและทรงสิทธิ์แห่งการสรรเสริญ พระองค์ทรงทำให้มีชีวิตและทรงทำให้ตาย ความดีงามนั้นอยู่ในอำนาจของพระองค์ และพระองค์ทรงเดชานุภาพเหนือทุกสิ่ง”
บรรดากล่าวถ้อยคำดีงามเหล่านี้มีผลบุญอันมหาศาลที่พี่น้องอะฮ์ลิสซุนนะฮ์วัลญะมาอะฮ์เลือกนำกล่าวคั่นกลางระหว่างพักช่วงละหมาดนี้ มีหลักฐานรับรองมากมาย คือ
อัลลอฮฺตะอาลาทรงตรัสว่า
أَلَمْ تَرَ كَيْفَ ضَرَبَ اللَّهُ مَثَلًا كَلِمَةً طَيِّبَةً كَشَجَرَةٍ طَيِّبَةٍ أَصْلُهَا ثَابِتٌ وَفَرْعُهَا فِي السَّمَاءِ تُؤْتِي أُكُلَهَا كُلَّ حِينٍ بِإِذْنِ رَبِّهَا وَيَضْرِبُ اللَّهُ الْأَمْثَالَ لِلنَّاسِ لَعَلَّهُمْ يَتَذَكَّرُونَ
“เจ้ามิเห็นดอกหรือว่า อัลลอฮทรงยกอุทาหรณ์ไว้ว่า อุปมาคำพูดที่ดีดั่งต้นไม้ที่ดี รากของมันฝังแน่นลึกมั่นคง และกิ่งก้านของมันชูขึ้นไปในท้องฟ้าผลของมันจะออกมาทุกกาลเวลา โดยอนุมัติของพระเจ้าของมัน และอัลลอฮทรงยกอุทาหรณ์แก่ปวงมนุษย์เพื่อพวกเขาจะได้รำลึก” [อิบรอฮีม: 24-25]
ตัฟซีรอัลญะลาลัยน์ ได้ระบุว่า
"كَلِمَة طَيِّبَة" أَيْ لَا إلَه إلَّا اللَّه
“คำพูดที่ดี หมายถึง ลาอิลาฮะอิลลัลลอฮฺ”
ท่านอิหม่ามอัศศอวีย์ ได้กล่าวว่า “คำพูดที่ดี คือ ทุกคำพูดที่ดี เช่น การกล่าวตัสบีห์ การกล่าวอัลฮัมดุลิลลาฮ์ การกล่าวอิสติฆฟาร เป็นต้น” ดู หาชียะฮ์อัศศอวีย์, เล่ม 2, หน้า 475.
ท่านร่อซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวว่า
أَفَلَا أُخْبِرَكَ بِعَمَلٍ أَصْلُهُ فِي الْأَرْضِ وَفَرْعُهُ فِي السَّمَاءِ ؟ " . قَالَ : مَا هُوَ يَا رَسُولَ اللَّهِ ؟ قَالَ : " تَقُولُ : لَا إِلَهَ إِلَّا اللَّهُ ، وَاللَّهُ أَكْبَرُ ، وَسُبْحَانَ اللَّهِ ، وَالْحَمْدُ لِلَّهِ " ، عَشْرَ مَرَّاتٍ فِي دُبُرِ كُلِّ صَلَاةٍ ، فَذَاكَ أَصْلُهُ فِي الْأَرْضِ وَفَرْعُهُ فِي السَّمَاءِ
“จะให้ฉันบอกพวกท่านหรือไม่เกี่ยวกับอะมัลหนึ่งที่รากของมันอยู่ในผืนดินและกิ่งก้านของมันชูเด่นอยู่บนฟากฟ้า? ศ่อฮาบะฮ์ท่านหนึ่งจึงกล่าวว่า มันคืออะไรหรือ โอ้ท่านร่อซูลุลลอฮ์? ท่านกล่าวว่า คือการที่ท่านกล่าวว่า ลาอิลาฮะอิลลัลลอฮฺ, อัลลอฮฺฮุอักบัร, ซุบฮานัลลอฮฺ, อัลหัมดุลิลลาฮ์, 10 ครั้งในทุกหลังจากละหมาด ดังกล่าวนั่นแหละ รากของมันมั่นคงอยู่ในผืนดินและกิ่งก้านของมันอยู่ในฟากฟ้า” ดู อิบนุกะษีร, ตัฟซีรอิบนุกะษีร, เล่ม 4, หน้า 493.
ท่านร่อซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า
أَرْبَعٌ مِنْ أَطْيَبِ الْكَلَامِ وَهُنَّ مِنْ الْقُرْآنِ لَا يَضُرُّكَ بِأَيِّهِنَّ بَدَأْتَ سُبْحَانَ اللَّهِ وَالْحَمْدُ لِلَّهِ وَلَا إِلَهَ إِلَّا اللَّهُ وَاللَّهُ أَكْبَرُ
“สี่ประการที่มาจากคำพูดที่ดีที่สุด และมาจากอัลกุรอานด้วย ซึ่งไม่มีเป็นโทษแก่ท่านด้วยการที่ท่านจะเริ่มกล่าวอันใดก่อนก็ได้ ก็คือกล่าวว่า ซุบหานัลลอฮฺ อัลฮัมดุลิลลาฮ์ ลาอิลาฮะอิลลัลลอฮฺ อัลลอฮุอักบัร” รายงานโดยอะห์มัด, มุสนัดอะห์มัด, หะดีษเลขที่ 20138. หะดีษศ่อฮิห์
นี่คือบรรดาถ้อยคำพูดที่ดีเลิศที่ถูกนำมากล่าวระหว่างพักช่วงละหมาดตะรอวิห์
ท่านอะบูฮุร็อยเราะห์ ได้รายงานว่า
أَنَّ رَسُولَ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ مَرَّ بِهِ وَهُوَ يَغْرِسُ غَرْسًا فَقَالَ يَا أَبَا هُرَيْرَةَ مَا الَّذِي تَغْرِسُ قُلْتُ غِرَاسًا لِي قَالَ أَلَا أَدُلُّكَ عَلَى غِرَاسٍ خَيْرٍ لَكَ مِنْ هَذَا قَالَ بَلَى يَا رَسُولَ اللَّهِ قَالَ قُلْ سُبْحَانَ اللَّهِ وَالْحَمْدُ لِلَّهِ وَلَا إِلَهَ إِلَّا اللَّهُ وَاللَّهُ أَكْبَرُ يُغْرَسْ لَكَ بِكُلِّ وَاحِدَةٍ شَجَرَةٌ فِي الْجَنَّةِ
“แท้จริงท่านร่อซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้เดินทางมาในขณะที่อะบูฮุร็อยเราะฮ์กำลังปลูกต้นไม้หนึ่ง แล้วกล่าวว่า โอ้ อะบูฮุร็อยเราะฮ์ ท่านกำลังปลูกอะไร ฉันตอบว่า กำลังปลูกต้นไม้ของฉัน ท่านร่อซูลุลลอฮ์กล่าวว่า เอาหรือไม่ที่ฉันจะแนะนำท่านเกี่ยวกับสิ่งเพาะปลูกที่ดีสำหรับท่านยิ่งกว่าต้นไม้ที่ปลูกนี้ ฉันตอบว่า โอ้ท่านร่อซูลุลลอฮ์ เอาซิครับ ท่านร่อซูลุลลอฮ์ กล่าวว่า ท่านจงกล่าว ซุบฮานัลลอฮฺ อัลฮัมดุลิลลาฮ์ ลาอิลาฮะอิลลัลลอฮฺ อัลลอฮฺฮุอักบัร ซึ่งในทุกถ้อยคำที่กล่าวนั้น จะถูกปลูกต้นไม้ต้นหนึ่งในสวนสวรรค์ให้แก่ท่าน” รายงานโดยอิบนุมาญะฮ์, สุนันอิบนุมาญะฮ์, หะดีษเลขที่ 3807. หะดีษนี้ศ่อฮิห์.
ผู้ทำละหมาดตะรอวิห์ยังได้กำไรแห่งความดีงามที่ต้นไม้ในสวรรค์ได้ถูกปลูกให้แก่พวกเขาในขณะได้กล่าวๆ ถ้อยคำดังกล่าวหลายครั้งในขณะพักช่วงต่างๆ ในระหว่างละหมาดตะรอวิห์
ท่านร่อซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวว่า
بَخٍ بَخٍ لِخَمْسٍ مَا أَثْقَلَهُنَّ فِي الْمِيزَانِ لَا إِلَهَ إِلَّا اللَّهُ وَاللَّهُ أَكْبَرُ وَسُبْحَانَ اللَّهِ وَالْحَمْدُ لِلَّهِ وَالْوَلَدُ الصَّالِحُ يُتَوَفَّى فَيَحْتَسِبُهُ وَالِدُهُ
“ช่างน่าทึ่งโดยแท้ ห้าประการ มันทำให้หนักบนตราชั่ง (แห่งความดีงาม) เหลือเกิน คือการกล่าว ลาฮิฮะอิลลัลลอฮฺ อัลลอฮุอักบัร ซุบหานัลลอฮฺ อัลฮัมดุลิลลาฮ์ และลูกที่ดีที่เสียชีวิต แล้วบิดาของเขาก็หวังในผลบุญต่ออัลลอฮฺ (ด้วยความอดทนและยินดีต่อการกำหนดของพระองค์)” รายงานโดยอะห์มัด, มุสนัดอะห์มัด, หะดีษเลขที่ 18076.
ผู้ละหมาดตะรอวิห์ยังได้ผลบุญเต็มฟากฟ้าและแผ่นดินจนหนักอึ้งบนตาชั่งแห่งความดีเนื่องจากกล่าวถ้อยคำซิกิรดังกล่าวหลายครั้งในขณะพักช่วงระหว่างร็อกอะฮ์ของละหมาดตะรอวิห์
ท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวเช่นกันว่า
اِسْتَكْثِرُوا مِنَ الْبَاقِيَاتِ الصَّالِحَاتِ قِيلَ وَمَا هِىَ يَا رَسُولَ اللَّهِ...قَالَ : التَّكْبِيرُ وَالتَّهْلِيلُ وَالتَّسْبِيحُ وَالتَّحْمِيدُ وَلاَ حَوْلَ وَلاَ قُوَّةَ إِلاَّ بِاللَّهِ
“พวกท่านจงกล่าวความดีงามที่ยั่งยืนให้มากๆ จึงถูกถามว่า อะไรคือบรรดาความดีงามที่ยั่งยืน โอ้ ท่านร่อซูลุลลอฮฺ...ท่านตอบว่า คือการกล่าวตักบีร (อัลลอฮุอักบัร) กล่าวตะฮ์ลีล (ลาอิลาฮะอิลลัลลอฮฺ) กล่าวตัสบีห์ (ซุบหัลลอฮฺ) กล่าวตะห์มี๊ด (อัลฮัมดุลิลลาฮฺ) และกล่าวว่า ลาเห้าล่าวะลากู้วะต้า อิลลาบิลลาฮฺ”รายงานโดยท่านอะห์มัด, มุสนัดอะห์มัด, เล่ม 18, หน้า 241. ท่านชุอัยบ์ อัลอัรนุอูฏกล่าวว่า หะดีษนี้หะซันด้วยการสนับสนุนจากสายรายงานอื่น.
ท่านร่อซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า
يَا عَبْدَ اللَّهِ بْنَ قَيْسٍ قُلْ لاَ حَوْلَ وَلاَ قُوَّةَ إِلاَّ بِاللَّهِ فَإِنَّهَا . كَنْزٌ مِنْ كُنُوزِ الْجَنَّةِ
“โอ้อับดุลลอฮ์ บุตร ก็อยซ์ ท่านจงกล่าว ลาเหาล่า วะลากู้วะตะ อิลลาบิลลาฮ์ เพราะมันเป็นคลัง (แห่งผลบุญ) จากบรรดาคลังของสวรรค์” รายงานโดยอัลบุคอรีย์, หะดีษเลขที่ 6021.
บรรดาผู้ละหมาดตะรอวิห์ยังได้ผลบุญเก็บสะสมเป็นคลังแห่งความดีงามไว้ในสวรรค์ด้วยการกล่าวถ้อยคำดังกล่าวอีกด้วย
ท่านนะบีย์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า
وَأَفْضَلُ قَوْلِي وَقَوْلِ الأَنْبِيَاءِ قَبْلِي : لا إِلَهَ إِلا اللَّهُ وَحْدَهُ لا شَرِيكَ لَهُ ، لَهُ الْمُلْكُ وَلَهُ الْحَمْدُ ، يُحْيِي وَيُمِيتُ ، بِيَدِهِ الْخَيْرُ ، وَهُوَ عَلَى كُلِّ شَيْءٍ قَدِيرٌ
“คำพูดของฉันและบรรดานะบีย์ก่อนจากฉันที่ดีที่สุด คือ ลาอิลาฮะอิลลัลลอฮุวะห์ดะฮู ลาชะรีกะละฮ์ ละฮุลมุลกุ้ วะละฮุลหัมดุ้ ยุห์ยีวะยุมีตุ้ บิยะดิฮิลค็อยร์ วะฮุวะอะลากุลลิชัยอิน ก่อดีร (ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺผู้ทรงหนึ่งเดียว ไม่มีภาคีใดๆ สำหรับพระองค์ พระองค์นั้นทรงสิทธิ์แห่งการปกครองและทรงสิทธิ์แห่งการสรรเสริญ พระองค์ทรงทำให้มีชีวิตและทรงทำให้ตาย ความดีงามนั้นอยู่ในอำนาจของพระองค์ และพระองค์ทรงเดชานุภาพเหนือทุกสิ่ง)” รายงานโดยอิหม่ามอัลบัยฮะกีย์, ชะอะบุลอีหม่าน, เล่ม 5, หน้า 500.
บรรดาตัวบทหะดีษต่างๆ ที่ท่านร่อซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้ส่งเสริมให้กล่าวถ้อยคำพูดที่ดีงามเหล่านี้นั้น ท่านร่อซูลุลลออ์ ได้เปิดกว้างให้กระทำโดยมิได้จำกัดห้ามช่วงเวลาที่เฉพาะว่าห้ามกระทำระหว่างพักช่วงระหว่างละหมาดตะรอวิห์และไม่ขัดกับหลักการศาสนาแต่อย่างใดนั่นเอง
3. ตัวอย่างการศ่อละวาตานะบีย์ ในช่วงพักละหมาดตะรอวิห์
اَللّٰهُمَّ صَلِّ عَلٰى سَيِّدِنَا مُـحَمَّدٍ، وَعَلٰى أٰلِ سَيِّدِنَا وَنَبِيِّنَا وَحَبِيْبِنَا وَشَفِيْعِنَا وَزُخْرِنَا وَمَوْلَانَا مُـحَمَّدٍ
“โอ้อัลลอฮฺ พระองค์ทรงประทานความเมตตาแก่นายของเรา วงศ์วานนายของเรา นะบีย์ของเรา ที่รักยิ่งของเรา ผู้ช่วยเหลือเรา (ชะฟาอะฮ์ในวันกิยามะฮ์) และผู้เป็นเกียรติของเรา และผู้เป็นที่รักของเรา คือนะบีย์มุฮัมมัด”
การศ่อละวาตท่านนะบีย์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม นั้น เป็นอีกอิบาดะฮ์หนึ่งที่ยิ่งใหญ่ ที่พี่น้องชาวอะฮ์ลิสซุนนะฮ์วัลญะมาอะฮ์ ได้นำมากล่าวคั่นกลางในช่วงพักละหมาดตะรอวิห์ เนื่องจากมีหลักฐานแบบกว้างๆ มาส่งเสริมให้ทำการศ่อละวาตท่านนะบีย์โดยที่ไม่มีพี่น้องคนอื่นเชื่อว่านะบีย์ได้สั่งเจาะจงให้กระทำช่วงพักละหมาดตะรอวิห์ แต่หากว่าการศ่อละวาตนี้ ทำเพื่อเป็นบทนำในการขอดุอาอฺต่ออัลลอฮฺตะอาลา ซึ่งมีซุนนะฮ์ได้ระบุเจาะจงเอาไว้ และเป็นอิบาดะฮ์ที่อัลลอฮฺและท่านร่อซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้สั่งใช้ให้กระทำแบบกว้างๆ ในทุกช่วงเวลาที่สะดวก
ท่านอิหม่ามอิบนุหะญัร อัลฮัยษะมีย์ ได้กล่าวไว้ในหนังสือ อัลฟะตาวา อัลฟิกฮียะฮ์ อัลกุบรอ ว่าด้วยเรื่อง ศ่อลาตุลนัฟลิ ซึ่งท่านได้ตอบเกี่ยวกับการศ่อละวาตระหว่างการให้สลามของละหมาดตะรอวีหฺความว่า
الصَّلَاةُ فِي هَذَا الْمَحَلِّ بِخُصُوصِهِ . لَمْ نَرَ شَيْئًا فِي السُّنَّةِ وَلَا فِي كَلَامِ أَصْحَابِنَا فَهِيَ بِدْعَةٌ يُنْهَى عَنْهَا مَنْ يَأْتِي بِهَا بِقَصْدِ كَوْنِهَا سُنَّةً فِي هَذَا الْمَحَلِّ بِخُصُوصِهِ دُونَ مَنْ يَأْتِي بِهَا لَا بِهَذَا الْقَصْدِ كَأَنْ يَقْصِدَ أَنَّهَا فِي كُلِّ وَقْتٍ سُنَّةٌ مِنْ حَيْثُ الْعُمُومُ
“การศ่อละวาตนะบีในสถานที่นี้ (คือช่วงพักระหว่างละหมาดตะรอวีหฺ) โดยการเจาะจงเป็นการเฉพาะนั้น เราไม่เคยเห็นสิ่งใดระบุไว้ในซุนนะฮ์ (แบบเจาะจง) และคำพูดของปราชญ์แห่งเราเลย ซึ่งมันเป็นบิดอะฮ์ที่ถูกห้ามกับผู้ทำการศ่อละวาตโดยมีเจตนาว่าการศ่อละวาตเป็นซุนนะฮ์ (นะบีย์) ให้เจาะจงกระทำในสถานที่ (พักช่วงระหว่างละหมาดตะรอวีหฺ) นี้ ยกเว้นผู้ที่ทำการกล่าวศ่อละวาตโดยมิได้มีเจตนาเจาะจง (และเชื่อมั่นว่ามีซุนนะฮ์มาระบุ) แบบนี้ เสมือนเขามีเจตนาตั้งใจว่าการศ่อละวาตนั้นซุนนะฮ์ให้กระทำได้ทุกเวลา (ไม่ว่าจะระหว่างพักช่วงละหมาดตะรอวีหฺหรือไม่ก็ตาม) อันเนื่องจากตามนัยยะหลักฐานแบบอุมูม (ครอบคลุมในทุกเวลาโดยไม่มีหลักฐานมาเจาะจงห้าม)” อิบนุหะญัรอัลฮัยตะมีย์, อัลฟะตาวาอัลกุบรออัลฟิกฮียะฮ์, เล่ม 1, หน้า 186.
ดังนั้น เมื่อมีหลักฐานแบบโดยรวม (อัลอุมูม) มาส่งเสริมให้ทำการศ่อละวาตและอ่านกุลฮุวัลลอฮุโดยที่ไม่มีหลักฐานมาเจาะจงห้ามและไม่ขัดกับหลักการของศาสนา ก็อนุญาตให้นำมาปฏิบัติได้ในเรื่องคุณความดีงาม
ฉะนั้นหลักฐานอัลอุมูม (แบบโดยรวม) ที่ใช้ให้ศ่อละวาตนะบีย์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ทั้งในช่วงพักละหมาดตะรอวีหฺหรือนอกละหมาดตะรอวีหฺ มีดังต่อไปนี้
อัลเลาะฮ์ตะอาลาเจ้า ทรงตรัสความว่า
إِنَّ اللَّهَ وَمَلَائِكَتَهُ يُصَلُّونَ عَلَى النَّبِيِّ يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُوا صَلُّوا عَلَيْهِ وَسَلِّمُوا تَسْلِيماً
“แท้จริง อัลเลาะฮ์และมะลาอิกะฮ์ของพระองค์ ทำการศ่อละวาตแก่ท่านนบี โอ้บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย พวกเจ้าจงศ่อละวาตแก่เขาและจงประสาทสันติแก่เขาอย่างแท้จริงเถิด” [อัลอะห์ซาบ : 56]
ท่านอิหม่ามอัชชาฟิอีย์ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ ได้กล่าวว่า
وَلَسْنَا نَعْلَمُ مُسْلِمًا وَلَا نَخَافُ عليه أَنْ تَكُونَ صَلَاتُهُ عليه صلى اللَّهُ عليه وسلم إلَّا الْإِيمَانُ بِاَللَّهِ وَلَقَدْ خَشِيت أَنْ يَكُونَ الشَّيْطَانُ أَدْخَلَ على بَعْضِ أَهْلِ الْجَهَالَةِ النَّهْيَ عن ذِكْرِ اسْمِ رسول اللَّهِ صلى اللَّهُ عليه ... وما يُصَلِّي عليه أَحَدٌ إلَّا إيمَانًا بِاَللَّهِ تَعَالَى وَإِعْظَامًا له وَتَقَرُّبًا إلَيْهِ صلى اللَّهُ عليه وسلم وَقَرَّبَنَا بِالصَّلَاةِ عليه منه زُلْفَى
“เราไม่รู้ถึงมุสลิมคนหนึ่งและเราไม่หวั่นกลัวแก่เขาที่ทำการศ่อละวาตให้แก่ท่านนะบีย์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม นอกจากเขาเป็นผู้ที่มีอีหม่านต่ออัลลอฮฺ และแน่แท้ ฉันหวั่นกลัวว่า ชัยฏอนมันจะเข้าไปยังผู้ที่โง่เขลาที่ทำการห้ามเอ่ยนามชื่อของท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม...และไม่มีผู้ใดที่ทำการศ่อละวาตแก่ท่านนะบีย์นอกจากว่าเขามีอีหม่านต่ออัลลอฮฺ เขาได้ทำการให้เกียรติแก่ท่านนะบีย์ สร้างความใกล้ชิดต่อท่านนะบีย์ (ในวันกิยามะฮ์)” อัชชาฟิอีย์, อัลอุมม์, เล่ม 2, หน้า 240.
ท่านอับดุลลอฮฺ อิบนุ มัสอูด ได้รายงานว่า
أَنَّ رَسُولَ اللَّهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ قَالَ : أَوْلَى النَّاسِ بِى يَوْمَ الْقِيَامَةِ أَكْثَرُهُمْ عَلَيَّ صَلاَةً
“แท้จริงท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวว่า มนุษย์ที่ใกล้ชิดฉันมากที่สุดในวันกิยามะฮ์ ก็คือผู้ที่ศ่อละวาตแก่ฉันมากที่สุด” รายงานโดยอัตติรมีซีย์, หะดีษเลขที่ 484, สุนันอัตติรมีซีย์, เล่ม 2, หน้า 354. ท่านอัตติรมีซีย์กล่าวว่า หะดีษนี้หะซัน. และอัลบานีย์กล่าวว่า หะดีษนี้ หะซัน ลิฆ็อยริฮฺ (โดยมีสายรายงานอื่นมาสนับสนุนยกระดับ) ดู ศ่อฮีหฺ อัตตัรฆีบ วัตตัรฮีบ, เล่ม 1, หน้า 136.
ท่านอิหม่ามอัลมุนาวีย์ ได้กล่าวว่า “หมายถึง มนุษย์ที่ใกล้ชิดฉันมากที่สุดและมีสิทธิ์ได้รับชะฟาอะฮ์ (การอนุเคราะห์) ของฉันมากที่สุด คือผู้ที่ศ่อละวาตให้แก่ฉันมากที่สุดในโลกดุนยา เพราะการศ่อละวาตให้แก่ท่านนะบีย์อย่างมากมายนั้นบ่งชี้ถึงความรักที่จริงใจและมีการเชื่อมสัมพันธ์กับท่านนะบีย์อย่างสมบูรณ์ ดังนั้นตำแหน่งของพวกเขาในวันกิยามะฮ์กับท่านนะบีย์นั้น ก็อยู่ที่ความเหลื่อมล้ำในการศ่อละวาต” อัลมุนาวีย์, อัตตัยซีร บิชัรห์ อัลญามิอฺ อัศศ่อฆีร, เล่ม 1, หน้า 640.
ท่านอะบูฮุร็อยเราะฮ์ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ ได้รายงานว่า
عَنِ النَّبِىِّ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ قَالَ : مَا جَلَسَ قَوْمٌ مَجْلِسًا لَمْ يَذْكُرُوا اللَّهَ فِيهِ وَلَمْ يُصَلُّوا عَلَى نَبِيِّهِمْ إِلاَّ كَانَ عَلَيْهِمْ تِرَةً فَإِنْ شَاءَ عَذَّبَهُمْ وَإِنْ شَاءَ غَفَرَ لَهُمْ
“จากท่านนะบีย์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวว่า ไม่มีชนกลุ่มใดนั่งในสถานที่หนึ่ง โดยเขาไม่ทำการซิกรุลลอฮฺและไม่ศ่อละวาตแก่นะบีย์ของพวกเขา นอกจากว่าความโศกเศร้าจะเกิดขึ้นแก่พวกเขา (ในวันกิยามะฮ์) ดังนั้นหากอัลลอฮฺประสงค์ (จะลงโทษ) พระองค์ก็จะลงโทษพวกเขาและถ้าหากพระองค์ประสงค์ (จะอภัยโทษ) พระองค์ก็จะอภัยโทษแก่พวกเขา” รายงานโดยอัตติรมีซีย์, หะดีษเลขที่ 3380, สุนัตอัตติรมีซีย์, เล่ม 5, หน้า 461. และอัตติรมีซีย์กล่าวว่า หะดีษหะซันศ่อฮีหฺ.
ดังนั้นการนั่งพักระหว่างละหมาดตะรอวีหฺ แล้วทำการซิกรุลลอฮฺ สรรเสริญอัลลอฮฺ และศ่อละวาตต่อท่านนะบีย์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ย่อมรวมอยู่ในซุนนะฮ์ดังกล่าว
ท่านอับดุรเราะห์มาน บิน เอาฟ์ ได้รายงานว่า ท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้ออกมา แล้วฉันก็ตามท่านไปจนกระทั่งเข้าไปที่สวนอินทผาลัม แล้วท่านร่อซูลุลลอฮฺได้ทำการสุญูดและท่านสุญูดนานมากจนกระทั่งฉันหวั่นเกรงว่าอัลลอฮฺจะเอาชีวิตของท่านร่อซูลุลลอฮฺไปเสียแล้ว ดังนั้นฉันจึงเข้าไปมอง ปรากฏว่าท่านร่อซูลุลลอฮฺได้เงยศีรษะขึ้นมา แล้วกล่าวว่า ท่านมีอะไรหรือ โอ้อับดุรเราะห์มาน บิน เอาฟ์ ฉันจึงเล่าสิ่งดังกล่าวให้ร่อซูลุลลอฮฺ แล้วท่านร่อซูลุลลอฮฺ ก็ได้กล่าวว่า
إِنَّ جِبْرِيلَ عَلَيْهِ السَّلَام قَالَ لِي أَلَا أُبَشِّرُكَ إِنَّ اللَّهَ عَزَّ وَجَلَّ يَقُولُ لَكَ مَنْ صَلَّى عَلَيْكَ صَلَّيْتُ عَلَيْهِ وَمَنْ سَلَّمَ عَلَيْكَ سَلَّمْتُ عَلَيْهِ
“แท้จริงท่านญิบรีล อะลัยฮิสลาม ได้กล่าวแก่ฉันว่า พึ่งทราบเถิด ฉันจะบอกข่าวดีแก่ท่านว่า แท้จริงอัลลอฮฺ อัซซะวะญัลล่า ได้ทรงตรัสแก่ท่านว่า ผู้ใดที่ศ่อละวาตแก่เจ้า ข้าก็จะศ่อละวาต (คือประทานเราะห์มะฮ์)ให้แก่เขา และผู้ใดที่สะลามแก่เจ้า ข้าก็จะประทานสะลามให้แก่เขา” รายงานโดยอะหฺมัด, มุสนัดอะหฺมัด, เล่ม 1, หน้า 191. และรายงานโดยอัลฮากิม, อัลมุสตัดร็อก อะลา อัศศ่อฮีฮัยน์, เล่ม 1, หน้า 344. ท่านอัลฮากิมกล่าวว่า หะดีษนี้ศ่อฮีหฺ, และท่านอัซซะฮะบีย์กล่าวว่า หะดีษนี้ตามเงื่อนไขของอัลบุคอรีย์และมุสลิม.
ท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวว่า
مَنْ صَلَّى عَلَيَّ صَلَاةً صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ بِهَا عَشْرًا
“ผู้ใดที่ศ่อละวาตแก่ฉันหนึ่งครั้ง อัลลอฮฺก็จะศ่อละวาตแก่เขาสิบครั้ง” รายงานโดยมุสลิม, หะดีษเลขที่ 875, ศ่อฮีหฺมุสลิม, เล่ม 2, หน้า 4.
รายงานจากท่านอะนัสว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวว่า
مَنْ صَلَّى عَليَّ وَاحِدَةً صَلَّى اللهَ عَلَيْهِ عَشَرَ صَلَوَاتٍ، وَحَطَّ عَنْهُ عَشَرَ خَطِيْئَاتٍ، وَرَفَعَ لَهُ عَشَرَ دَرَجَاتٍ
“ผู้ใดทำการศ่อละวาตแก่ฉัน 1 ครั้ง อัลเลาะฮ์ก็จะทรงศ่อละวาตให้แก่เขา 10 ครั้ง และพระองค์ทรงลบล้าง 10 บาปจากเขา และพระองค์ทรงยกเกียรติแก่เขาถึง 10 ฐานันดร” รายงานโดยอิหม่ามอะหฺมัด, มุสนัดอะหฺมัด, เล่ม 3, หน้า 102 , อัลบุคอรีย์, อัลอะดับอัลมุร๊อด, เล่ม 1, หน้า 224, และท่านอันนะซาอีย์, สุนัน อันนะซาอีย์, เล่ม 6, หน้า 21, และรายงานโดยอัลหากิม, อัลมุสตัดร็อก อะลัศศ่อฮีฮัยน์, เล่ม 1, หน้า 375, ท่านอัลฮากิมกล่าวว่า หะดีษนี้ศ่อฮีหฺ.
4. ตัวอย่างบทขอดุอาอฺช่วงพักละหมาดตะรอวิห์
اللّهُمَّ إِنَّا نَسْأَلُكَ رِضَاكَ وَالْجَنَّةَ وَنَعُوْذُ بِكَ مِنْ سَخِطِكَ وَالنَّارُ ، اَللّهمَّ إِنَّكَ عَفُوٌّ كَرِيْـمٌ، تُـحِبُّ الْعَفْوَ، فَاعْفُ عَنَّا
“โอ้อัลลอฮฺ เราวอนขอต่อพระองค์กับความพึ่งพอพระทัยของพระองค์และสวนสวรรค์ด้วยเถิด และเราขอความคุ้มครองด้วยกับพระองค์ให้พ้นจากความพิโรธของพระองค์และไฟนรกด้วยเถิด โอ้อัลลอฮฺแท้จริงพระองค์ทรงอภัยยิ่ง ผู้เผื่อแผ่ยิ่ง พระองค์รักการอภัยโทษ ดังนั้นพระองค์โปรดทรงอภัยโทษแก่พวกเขาด้วยเถิด”
บทดุอาอฺที่มีความหมายเฉกเช่นนี้นี้ เป็นดุอาอฺที่มุสลิมทุกคนจะต้องวอนขอต่ออัลลอฮฺอยู่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเดือนร่อมะฎอน และพี่น้องชาวอะฮ์ลิสซุนนะฮ์วัลญะมาอะฮ์ ก็นำมาใช้ขอดุอาอฺในช่วงพักละหมาดตะรอวิห์เช่นเดียวกัน ซึ่งไม่มีข้อห้ามแต่ประการใด
ท่านร่อซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวว่า
وَاسْتَكْثِرُوْا فِيْهِ مِنْ أَرْبَعِ خِصَالٍ : خَصْلَتَيْنِ تُرْضُوْنَ بِهِمَا رَبَّكُمْ وَ خَصْلَتَيْنِ لاَ غِنًى بِكُمْ عَنْهُمَا فَأَمَّا الْخَصْلَتَانِ اللَّتَانِ تُرْضُوْنَ بِهِمَا رَبَّكُمْ فَشَهَادَةُ أَنْ لاَ إِلَهَ إِلاَّ اللهُ وَ تَسْتَغْفِرُوْنَهُ وَ أَّمَّا اللَّتَانِ لاَ غِنًى بِكُمْ عَنْهُمَا فَتَسْأَلُوْنَ اللهَ الْجَنَّةَ وَ تَعُوْذُوْنَ بِهِ مِنَ النَّارِ
“พวกท่านจงทำสี่ประการในเดือนร่อมะฎอนให้มากๆ ซึ่งสองประการนั้นพวกท่านจะทำให้พระเจ้าของพวกท่านมีความพึงพอพระทัยและอีกสองประการที่พวกท่านจะขาดมันไม่ได้ สำหรับสองประการที่พวกท่านจะทำให้พระเจ้าของพวกท่านมีความพึงพอพระทัยนั้น คือ การกล่าวถ้อยคำชะฮาดะฮ์ ลาอิลาฮะอิลลัลลอฮฺและขออภัยโทษจากพระองค์ ส่วนอีกสองประการที่พวกท่านขาดมันไม่ได้ คือ การที่พวกท่านได้วอนขอสวรรค์ต่ออัลลอฮฺและขอความคุ้มครองด้วยกับพระองค์ให้พ้นจากไฟนรก” รายงานโดยอิบนุมาญะฮ์, ศ่อฮิห์อิบนุมาญะฮ์, เล่ม 3, หน้า 191, อัลบัยฮะกีย์, ชุอะบุนอีหม่าน, เล่ม 3, หน้า 350.
5. การเอ่ยชื่อบรรดาค่อลีฟะฮ์ทั้งสี่และขอดุอาอฺต่ออัลลอฮฺให้พระองค์ทรงประทานความพึงพอพระทัยแก่พวกเขา
เช่นถ้อยคำที่ว่า
اَلإِمَامُ أَمِيْرُ الْمُؤْمِنِيْنَ سَيِّدُنَا أَبُوْ بَكْرٍ الصَّدِّيْقُ ، تَرَضُّوْهُ عَنْهُ ، رَضِيَ اللهُ عَنْهُ ، اَلْبَدْرُ صَلُّوْا عَلَيْهِ
“ผู้นำ หัวหน้าแห่งศรัทธาชน คือนายของเรา ท่านอะบูบักร อัศศิดดี้กนั้น พวกท่านจงขอความต่ออัลลอฮฺให้ประทานความพึงพอพระทัยแก่เขาด้วยเถิด, ขออัลลอฮฺทรงพึงพระทัยแก่เขาด้วยเถิด และ (ท่านนะบีย์มุฮัมมัด) ผู้มีความงดงามดังจันทร์เพ็ญนั้น พวกท่านจงศ่อละวาตแก่ท่านด้วยเถิด”
และมีการเอ่ยชื่อท่านอุมัร ท่านอุษมาน และท่านอะลีย์ และการทำกาขอดุอาอฺต่ออัลลอฮฺให้พระองค์ทรงพึงพอพระทัย
ความเป็นมาของการเอ่ยชื่อเหล่าศ่อฮาบะฮ์และพร้อมดุอาอฺนี้ เป็นความดีงามมาจากการกระทำของเหล่านักปราชญ์อะฮ์ลิสซุนนะฮ์วัลญะมาอะฮ์ผู้มีเชื้อสายท่านนะบีย์มุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ที่อยู่ในเมืองหัฎเฏาะร่อเมาต์ ประเทศเยเมน เนื่องจากในเมืองนั้นมีกลุ่มแนวทางที่ทำการพิจารณ์ พูดตำหนิ และลดเกียรติของเหล่าศ่อฮาบะฮ์บางส่วน ดังนั้นนักปราชญ์อะฮ์ลิสซุนนะฮฺ จึงดำริให้มีการเอ่ยชื่อบรรดาศ่อฮาบะฮ์โดยเฉพาะอย่างยิ่งค่อลีฟะฮ์ทั้งสี่และขอดุอาอฺให้แก่พวกเขา เพื่อให้การให้เกียรติกับบรรดาศ่อฮาบะฮ์นั้นมั่นคงอยู่ในหัวใจของประชาชนทั้งหลายนั่นเอง
ท่านอิหม่าม อัซซัยยิด อับดุลลอฮ์ บิน มุฮัมมัด อัลหัดด้าด บะอฺลาวีย์ ได้กล่าวว่า “การขอความพึงพอพระทัยของอัลลอฮฺใหประสบแด่บรรดาค่อลีฟะฮ์ทั้งสี่ในช่วงพักละหมาดตะรอวิห์นั้น บรรดานักปราชญ์เมืองหัฎเฏาะร่อเมาต์ได้เรียบเรียงไว้เพื่อเป้าหมายทางด้านศาสนาและทำให้เป็นเรื่องการเมืองเชิงศาสนา เพราะในช่วงสมัยหนึ่งนั้น เมืองหัฎเฎาะร่อเมาต์ได้ปกครองโดยพวกที่ตำหนิดูหมิ่นศ่อฮาบะฮ์บางส่วน ดังนั้นนักปราชญ์จึงดำเนินให้กระทำอย่างเป็นประจำในระหว่างร็อกอะฮ์ของละหมาดตะรอวิห์เพื่อตอกย้ำอะกีดะฮ์ให้มีความแน่นแฟ้นในการให้เกียรติกับบรรดาศ่อฮาบะฮ์โดยเรียบเรียงตามลำดับความประเสริฐของพวกเขา ซึ่งดังกล่าวนี้ นับเป็นการกระทำที่ดีงาม เราไม่ขอกล่าวว่ามันเป็นบิดอะฮ์ลุ่มหลงและไม่ได้ว่าเป็นซุนนะฮ์ ดังนั้นผู้ใดที่กระทำสิ่งดังกล่าวก็ถือว่าดี และหากผู้ไม่กระทำก็ไม่เป็นบาปแต่อย่างใดและการขอให้อัลลอฮฺฮฺทรงพึงพอพระทัยบรรดาศ่อฮาบะฮ์นั้น ถือว่าเป็นดุอาอฺที่ทำแล้วได้รับผล” อัลหัดด้าด, ฟะตาวร่อมะฎอน, หน้า 119.
ดังนั้นสิ่งที่พี่น้องอะฮ์ลิสซุนนะฮ์วัลญะมาอะฮ์ได้พูดถ้อยคำซิกรุลลอฮ์ สรรเสริญอัลลอฮ์ ศ่อละวาตท่านนะบีย์ และทำการขอดุอาอฺนั้น ได้รับผลบุญมหาศาลและเป็นการใช้ช่วงเวลาให้มีประโยชน์ในช่วงเดือนร่อมะฎอนที่จำเริญนั่นเอง
อารีฟีน แสงวิมาน
20/ร่อมะฎอน/1439
วัลลอฮุอะลัม
#นานาทัศนคติ_Islamic_Society_Online
Islamic Society Online
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น