เรื่องราวของชาวถ้ำ
(บรรจง บินกาซัน)การฟื้นคืนชีพหลังความตายเป็นสัจธรรมอย่างหนึ่งซึ่งถูกกล่าวควบคู่กับการมีอยู่ของพระเจ้าองค์เดียวมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์แล้ว ถ้าไม่มีสัจธรรมในเรื่องนี้ มนุษย์ก็คงไม่ได้รับความเป็นธรรมในชีวิตโดยเฉพาะชีวิตที่แท้จริงในโลกหน้า ดังนั้น สัจธรรมนี้จึงมีอยู่ในคำสอนของทุกศาสดาและถือเป็นพื้นฐานความศรัทธาของทุกศาสนา เพียงแต่ถูกนำเสนอโดยการใช้ถ้อยคำที่ต่างกันเท่านั้น เช่น วันพิพากษา วันสิ้นโลก วันฟื้นคืนชีพ นรกและสวรรค์ เป็นต้น
เมื่อคำสอนของนบีอีซาหรือพระเยซูไปถึงอาณาจักรโรมันที่ผู้คนเคารพบูชารูปปั้นเทพเจ้าสารพัด ในเมืองเอฟิซุสซึ่งชาวเมืองเคารพบูชาเทพีจันทราชื่อไดอานา มีเด็กหนุ่มจำนวนเจ็ดคนได้หันมาสักการะพระเจ้าองค์เดียวตามคำสอนของพระเยซู
เมื่อกษัตรย์เดซิอุสรู้ว่าเด็กหนุ่มกลุ่มนี้เปลี่ยนความเชื่อทางศาสนา พระองค์ก็ให้ทหารไปตามตัวเด็กหนุ่มเหล่านี้มาสอบสวนและขู่ให้เลิกนับถือศาสนาใหม่ แต่เด็กหนุ่มกลุ่มนี้ก็ยืนยันมั่นคงในความศรัทธาว่าพระเจ้าของพวกเขามีองค์เดียวและไม่ใช่รูปปั้นทั้งหลายที่คนทั่วไปกราบไหว้บูชากัน หากพวกเขากราบไหว้รูปปั้นเหล่านั้นก็เท่ากับพวกเขาทำบาปใหญ่
กษัตริย์เดซิอุสรู้สึกโกรธมากเมื่อได้ยินเช่นนั้น แต่เพราะเห็นว่าเด็กหนุ่มกลุ่มนี้ยังเยาว์วัยอยู่ จึงให้โอกาสแก่พวกเด็กหนุ่มกลับไปคิดเป็นเวลาสามวันว่าจะหันกลับมานับถือศาสนาเก่าหรือไม่ หากไม่เช่นนั้นแล้ว ทุกคนจะต้องถูกประหาร
เด็กหนุ่มทั้งเจ็ดได้ฉวยโอกาสในช่วงเวลาสามวันนั้นหลบหนีออกจากเมืองไปอาศัยอยู่ในถ้ำแห่งหนึ่งบนภูเขาโดยมีสุนัขตัวหนึ่งติดตามไปด้วย ไม่ว่าเด็กหนุ่มพยายามจะไล่สุนัขตัวนี้อย่างไร มันก็ไม่ยอมไปไหนนอกจากจะนอนเฝ้าอยู่ที่ปากถ้ำ หลังจากนั้น เด็กหนุ่มทั้งเจ็ดก็นอนหลับไปเพราะความเหนื่อยล้า
เรื่องราวดังกล่าวเกิดขึ้นประมาณ ค.ศ.250 แต่หลังจากนั้นอีก 197 ปี คือใน ค.ศ.447 ซึ่งเป็นสมัยการปกครองของกษัตริย์ธีโอโดซีอุสที่ 2 เด็กหนุ่มกลุ่มนี้ได้ตื่นขึ้นมาในช่วงเวลาที่อาณาจักรโรมันได้รับนับถือศาสนาคริสต์และชาวเมืองเอฟิซุสก็เลิกเคารพบูชาเทวรูปแล้ว อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลานั้นเอง ชาวโรมันก็กำลังมีข้อโต้แย้งกันว่าการฟื้นคืนชีพหลังความตายเป็นเรื่องจริงหรือไม่ กษัตริย์เมืองเอฟิซุสอยากที่จะลบล้างการถกเถียงนี้ออกไปจากความคิดของประชาชนจนถึงกับวิงวอนต่อพระเจ้าให้แสดงสัญญาณอะไรบางอย่างที่จะช่วยแก้ไขความเชื่อของประชาชนให้ถูกต้อง
วันนั้นเองที่เด็กหนุ่มทั้งเจ็ดได้ตื่นขึ้นมาโดยที่ทุกคนต่างไม่รู้ว่าตัวเองหลับไปนานเท่าใด ดังนั้น เด็กหนุ่มกลุ่มนี้จึงได้ให้เพื่อนคนหนึ่งไปตลาดเพื่อซื้ออาหารและสอบถามผู้คนถึงวันเวลา แต่เมื่อไปถึงตลาด เด็กหนุ่มคนนั้นก็พบว่าทุกสิ่งทุกอย่างได้เปลี่ยนไปหมดแล้ว เงินที่เขานำไปซื้ออาหารก็เป็นของเก่าที่พ่อค้าไม่ยอมรับเพราะเป็นเหรียญโบราณเมื่อ 200 ปีที่แล้ว หลังจากที่พูดคุยกับพ่อค้าสักพัก เด็กหนุ่มก็เปิดเผยว่าพวกเขาเป็นผู้หลบหนีกษัตริย์เดซิอุสที่ข่มขู่พวกเขาให้เปลี่ยนความศรัทธา
เมื่อกษัตริย์ธีโอโดซีอุสรู้เรื่องราวของเด็กหนุ่มทั้งเจ็ด พระองค์ก็พาชาวเมืองตามไปพิสูจน์ความจริง กษัตริย์ธีโอโดซีอุสรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่เกิดเรื่องนี้ขึ้น พระองค์ถือว่านี่คือสัญญาณที่พิสูจน์ถึงการฟื้นคืนชีพหลังความตายที่ประชาชนตั้งข้อสงสัยและถกเถียงกันอยู่
หลังจากที่กษัตริย์และชาวเมืองได้พิสูจน์ความจริงแล้ว เด็กหนุ่มก็ขอกลับเข้าไปในถ้ำอีกครั้งหนึ่งและครั้งนี้พวกเขาก็ได้หลับไปตลอดกาล
ชาวคริสเตียนตะวันตกรู้จักเด็กหนุ่มกลุ่มนี้ว่า “ผู้หลับใหลทั้งเจ็ดแห่งเอฟิซุส” (The Seven Sleepers of Ephisus) และเรื่องราวดังกล่าวนี้เกิดขึ้นก่อนหน้าสมัยของนบีมุฮัมมัดประมาณ 500 ปี แต่ในคัมภีร์กุรอานบทที่ 18 เรียกเด็กหนุ่มกลุ่มนี้ว่า “ชาวถ้ำ”
สาเหตุที่เรื่องราวของ“ชาวถ้ำ”ถูกกล่าวไว้ในคัมภีร์กุรอานก็เนื่องจากเมื่อนบีมุฮัมมัดอพยพจากเมืองมักก๊ะฮฺไปสู่เมืองยัษริบเพื่อแสวงหาสถานที่ปฏิบัติความศรัทธาอย่างสงบที่นั่น ในตอนนั้น เมืองยัษริบมีกลุ่มชนที่คัมภีร์กุรอานเรียกว่า “บนีอิสรออีล”อาศัยอยู่ก่อนแล้ว พวกบนีอิสรออีลกลุ่มนี้อพยพมาจากกรุงเยรูซาเล็มหลังจากที่ถูกพวกโรมันทำลายใน ค.ศ.70 บางครั้ง คัมภีร์กุรอานก็เรียกลูกหลานอิสราเอลว่า “ชาวคัมภีร์” เพราะคนกลุ่มนี้มีความรู้ในเรื่องคัมภีร์ทางศาสนาที่ศาสดาของตัวเอง เช่น โมเสส เดวิดและพระเยซูนำมาอยู่แล้ว นบีมุฮัมมัดจึงเห็นว่าเป็นเรื่องง่ายที่จะเชิญชวนคนเหล่านี้สู่อิสลาม
แต่พอเอาเข้าจริง ปรากฏว่าพวกลูกหลานอิสราเอลต่างปฏิเสธการเชิญชวนของท่านเพียงเพราะเห็นนบีมุฮัมมัดเกิดในชนชาติอาหรับที่ป่าเถื่อน ไร้อารยธรรมและการศึกษา ตัวท่านนบีมุฮัมมัดเองก็อ่านหนังสือไม่ออกและเขียนหนังสือไม่ได้ ดังนั้น พวกลูกหลานอิสราเอลจึงปฏิเสธการเป็นนบีของท่านด้วย
ดังนั้น อัลลอฮฺฺจึงได้ประทานเรื่องราวของ “ชาวถ้ำ”แก่ท่านมาอ่านให้พวกบนีอิสรออีลฟังเพื่อพิสูจน์ว่าถ้าอัลลอฮฺไม่ส่งท่านมา แล้วท่านจะมีความรู้ในเรื่องนี้ได้อย่างไร ขณะเดียวกัน เรื่องราวของชาวถ้ำก็เป็นการเตือนชาวอาหรับว่าอย่าได้ปฏิเสธเรื่องการฟื้นคืนชีพหลังความตายเพียงเพราะตามองไม่เห็น มิเช่นนั้นจะได้รับความหายนะ
หมายเหตุ : ปัจจุบัน ถ้ำดังกล่าวอยู่ในประเทศจอร์แดน
#God_Islamic_Society_Online
#ปาฏิหาริย์แห่งอิสลาม_Islamic_Society_Online
#มหัศจรรย์อัลกรุอาน_Islamic_Society_Online
#เรื่องเล่าคติเตือนใจ_Islamic_Society_Online
Islamic Society Online
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น