product :

วันพฤหัสบดีที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2561

คัมภีร์อัล-กุรอานกับคริสตชน : ภาคที่ 6

คัมภีร์อัล-กุรอานกับคริสตชน : ภาคที่ 6

(อาลี เสือสมิง)


การสิ้นพระชนม์ของพระเยซูคริสต์


คัมภีร์อัล-กุรอานได้หักล้างความเชื่อของชาวยิวและคริสตชนที่ว่า อัล-มะสีหฺ อีซา (พระเยซูคริสต์) สิ้นชีพบนไม้กางเขนเอาไว้อย่างชัดเจนในพระดำรัสที่ว่า :


وَمَا قَتَلُوهُ وَمَا صَلَبُوهُ وَلَـٰكِن شُبِّهَ لَهُمْ ۚ وَإِنَّ الَّذِينَ اخْتَلَفُوا فِيهِ لَفِي شَكٍّ مِّنْهُ ۚ مَا لَهُم بِهِ مِنْ عِلْمٍ إِلَّا اتِّبَاعَ الظَّنِّ ۚ وَمَا قَتَلُوهُ يَقِينًا بَل رَّفَعَهُ اللَّـهُ إِلَيْهِ ۚ وَكَانَ اللَّـهُ عَزِيزًا حَكِيمًا


ความว่า : “และพวกเขา (ชาวยิว) มิได้สังหารอีซาบุตรมัรยัม และพวกเขามิได้ตรึงกางเขนอีซา แต่ทว่าได้ถูกทำให้คล้ายคลึงแก่พวกเขา และแท้จริงบรรดาผู้ที่ขัดแย้งกันในเรื่องของอีซาย่อมตกอยู่ในความสงสัยจากเรื่องนั้น พวกเขาหาได้มีความรู้อันใดเกี่ยวกับเรื่องนั้นนอกจากการถือตามสิ่งที่คิดไปเอง และพวกเขามิได้สังหารอีซาอย่างแน่นอน ทว่าพระองค์ อัลลอฮฺทรงยกอีซาสู่พระองค์ และอัลลอฮฺนั้นทรงเกริกเกียรติทรงปรีชาญาณยิ่งนัก” (อัน-นิสาอฺ อายะฮฺที่ 157 – 158)


อายะฮฺข้างต้นยืนยันว่าสิ่งที่พวกยิวและคริสตชนเชื่อว่า อัล-มะสีหฺ อีซา บุตร มัรยัม (อ.ล.) ถูกสังหารด้วยการตรึงไม้กางเขนเป็นเรื่องไม่จริง ผู้ที่ถูกตรึงกางเขนนั้นคือบุคคลอื่นที่มิใช่ อัล-มะสีหฺ อีซา ซึ่งถูกทำให้มีใบหน้าคล้ายคลึงกับ อัล-มะสีหฺ พวกยิวมิได้สังหารอัล-มะสีหฺอย่างแน่นอน สิ่งที่พวกเขายึดถือมีแต่การคิดไปเองซึ่งมีข้อชวนสงสัยมากมาย เรื่องจริงที่เกิดขึ้นคือพระองค์อัลลอฮฺทรงให้อัล-มะสีหฺ อีซา (อ.ล.) รอดพ้นจากน้ำมือของพวกยิว

สำหรับนักอรรถธิบายอัล-กุรอานส่วนมากเชื่อว่าพระองค์อัลลอฮฺทรงยกอัล-มะสีหฺอีซาทั้งร่างกายและวิญญาณสู่ฟากฟ้าเบื้องบน บ้างก็ว่าเป็นการยกเกียรติและสถานะของอัล-มะสีหฺให้สูงส่ง ในขณะที่บางส่วนอธิบายว่าอัล-มะสีหฺรอดพ้นจากการปองร้ายของพวกยิวและทหารโรมัน ในภายหลังท่านก็สิ้นชีวิตตามปกติ

อย่างไรก็ตาม สาระสำคัญอยู่ที่ว่า อัล-มะสีหฺ อีซา รอดพ้นจากการปองร้าย ท่านมิได้ถูกตรึงกางเขนและพวกนั้นก็มิได้สังหารท่านแน่นอน เหตุการณ์ในช่วงการอายัดและจับกุมพระเยซูคริสต์ตามที่ปรากฏในพระคริสตธรรมคัมภีร์ทั้ง 4 ฉบับนั้นมีประเด็นที่ชวนให้น่าสงสัยอยู่หลายประเด็น มิหนำซ้ำยังมีความขัดแย้งในท้องเรื่องที่ระบุเอาไว้อีกด้วย ซึ่งพอจะสรุปประเด็นได้ดังนี้

1. ข้อความในพระคริสตธรรมคัมภีร์ส่อเค้าว่าพวกมหาปุโรหิตชาวยิวไม่รู้จักพระเยซูคริสต์ว่าคือผู้ใด? ทั้งๆ ที่พระองค์ได้เคยตอบโต้พวกปุโรหิตและพวกฟาริสีอยู่หลายครั้งในเหตุการณ์ที่ต่างกรรมต่างวาระกัน แต่นั่นก็เป็นที่แคว้นกาลิลี ทั้งธรรมศาลาและบนภูเขา

เมืองที่ปรากฏว่าพระเยซูคริสต์เริ่มกิจจานุกิจได้แก่ เมืองคาเปอรนาอุม อยู่ในแคว้นกาลิลี (Capernaum – Galilee) เมืองกาดารา (Gadarares) แคว้นทศบุรี (Decapolis) นาซาเร็ธ (Nazareth) ในแคว้นกาลิลี, ทะเลสาบกาลิลีบนภูเขาที่นั่น (the lake of Galilee) เมืองไทระ (Tyre) และไซดอน (Sidon) ในแคว้นซีเรีย, เมืองมากาดาน (Magadan) ในแคว้นกาลิลี , เมืองซีซารียา ฟิลิปปี (caesarea Philippi) แคว้นยูเดีย ฟากแม่น้ำจอร์แดนข้างตะวันออก (the region of Judea to the other side of the Jordan) เมืองเยรีโค (Jericho) แคว้นยูเดีย แล้วเข้าใกล้กรุงเยรูซาเล็ม (Jerusalem) ที่หมู่บ้านเบธฟายี (Bethphage) เชิงภูเขามะกอกเทศ (the Mount of Olives)

ในเมืองต่างๆ ที่พระเยซูคริสต์ทรงสั่งสอนผู้คนและรักษาคนป่วยนั้นล้วนแต่อยู่นอกเขตกรุงเยรูซาเล็มทั้งสิ้น แคว้นที่พระองค์ทรงแสดงกิจจานุกิจมากที่สุดก็เห็นจะเป็น แคว้นกาลิลี ซึ่งอยู่ทางทิศเหนือขึ้นไปและห่างจากแคว้นยูเดียอันเป็นที่ตั้งของกรุงเยรูซาเล็ม ในพระคริสตธรรมคัมภีร์ระบุว่ามีอยู่หลายครั้งที่พวกฟาริสีและพวกธรรมจารย์ออกจากกรุงเยรูซาเล็มมาทูลถามปัญหากับพระองค์ถึงแคว้นกาลิลี (มัทธิว 15 : 1)

นอกจากนั้นก็เป็นพวกฟาริสีและสะดูสีที่อยู่ตามหัวเมืองดังกล่าวได้มีวิวาทะกับพระองค์ทั้งตามธรรมศาลาและสถานที่ในเมือง (มัทธิว 9 : 11 , 12 : 2 , 24 , 38 , 16 : 1) แสดงว่าก่อนหน้าที่พระองค์จะเสด็จเข้าสู่กรุงเยรูซาเล็มนั้นพวกมหาปุโรหิตที่เป็นผู้สั่งให้อายัดและจับกุมพระองค์ไม่รู้จักรูปร่างและหน้าตาที่แท้จริงของพระองค์ เพราะพวกมหาปุโรหิตอยู่ในกรุงเยรูซาเล็ม แม้กษัตริย์เฮโรด ก็ได้ยินเพียงกิตติศัพท์ของพระองค์เท่านั้น (มัทธิว 14 : 1) และแยกแยะไม่ออกว่าพระเยซูคริสต์เป็นคนละคนกับยอห์น ผู้ให้รับบัพติศมา (มัทธิว 14 : 2)

และเมื่อพระองค์จะเสด็จขึ้นไปยังกรุงเยรูซาเล็มนั้น ก็พาเหล่าสาวกสิบสองคนไปแต่ลำพัง (มัทธิว 20 : 17) ซึ่งแสดงว่าเมื่อตอนที่พระองค์เสด็จเข้าสู่กรุงเยรูซาเล็มอย่างผู้พิชิตโดยทรงลานั้นไม่น่าจะเป็นเรื่องที่เอิกเกริกและเป็นไปอย่างที่พระคริสตธรรมคัมภีร์เขียนเอาไว้ กล่าวคือ

ฝูงชนเป็นอันมาก ได้เอาเสื้อผ้าของตนปูตามถนนหนทาง บางคนก็ตัดกิ่งไม้มาปูตามถนน ฝ่ายฝูงชนซึ่งเดินไปข้างหน้ากับผู้ที่มาข้างหลัง ก็พร้อมกันโห่ร้องว่า “โฮ ซันนา แก่ราชโอรสของดาวิด ขอให้ท่านผู้ที่เสด็จมาในพระนามของพระองค์พระผู้เป็นเจ้าทรงเจริญ โฮซันนา ในที่สูงสุด เมื่อพระองค์เสด็จเข้าไปในกรุงเยรูซาเล็มแล้วประชาชนทั่วทั้งกรุง ก็พากันแตกตื่นถามว่า “ใครหนอ” ฝูงชนก็ตอบว่า “นี่คือเยซูผู้เผยพระวจนะ ซึ่งมาจากนาซาเร็ธแคว้นกาลิลี” (มัทธิว 21 : 8-11)

มีคนเป็นอันมากเอาเสื้อผ้าของตนปูลงตามถนนหนทาง และบางคนก็ตัดใบไม้จากทุ่งนามาปู ฝ่ายคนที่เดินไปข้างหน้า กับผู้ที่ตามมาข้างหลัง ก็โห่ร้องว่า : “โฮซันนา ขอให้ท่านผู้ที่เสด็จมาในนามขององค์พระผู้เป็นเจ้าทรงพระเจริญ ความสุขสวัสดิมงคลจงมีแก่แผ่นดินของดาวิด บรรพบุรุษของเรา ที่จะมาตั้งอยู่ โฮซันนา ในที่สูงสุด” พระเยซูก็เสด็จเข้ากรุงเยรูซาเล็มและเข้าไปในบริเวณพระวิหาร เมื่อทอดพระเนตรสิ่งทั้งปวงแล้ว เวลาก็จวนค่ำจึงเสด็จออกไปยังหมู่บ้านเบธานีกับเหล่าสาวกสิบสองคนนั้น” (มาระโก 11 : 8-11)

เมื่อพระองค์เสด็จไป เขาทั้งหลายก็เอาเสื้อผ้าของตนปูลงตามหนทาง เมื่อพระองค์เสด็จมาใกล้ที่ซึ่งจะลงไปจากภูเขามะกอกเทศแล้ว เหล่าสาวกทุกคนมีความเปรมปรีด์ เพราะบรรดามหกิจซึ่งเขาได้เห็นนั้น จึงเริ่มสรรเสริญพระเจ้าเสียงดังว่า “ขอให้พระมหากษัตริย์ผู้ที่เสด็จมาในพระนามขององค์พระผู้เป็นเจ้าทรงพระเจริญ” จงมีสันติสุขในสวรรค์ พระสิริในที่สูงสุด

ฝ่ายฟาริสีบางคนในหมู่ประชาชนนั้นทูลพระองค์ว่า “อาจารย์ข้า จงห้ามเหล่าสาวกของท่าน” พระองค์ตรัสตอบเขาว่า “เราบอกท่านทั้งหลายว่า ถึงคนเหล่านี้จะนิ่งเสีย ศิลาทั้งหลายก็ยังส่งเสียงเรียกร้อง” ครั้นพระองค์เสด็จใกล้เห็นกรุงแล้ว ก็กันแสงสงสารกรุงนั้น…” (ลูกา 19 : 36-41)

วันรุ่งขึ้นเมื่อคนเป็นอันมากที่มาในงานเทศกาลนั้นได้ยินว่าพระเยซูเสด็จมาถึงกรุงเยรูซาเล็ม เขาพากันถือทางอินทผาลัมออกไปต้อนรับพระองค์ ร้องว่า “โฮซันนา ขอให้พระองค์ผู้เสด็จมาในพระนามขององค์พระผู้เป็นเจ้า คือพระมหากษัตริย์แห่งอิสราเอลทรงพระเจริญ” และพระเยซูทรงพบลูกลาตัวหนึ่งจึงทรงลานั้น…” (ยอห์น 12 : 12-14)

ดูเอาเถิด! โอ้ คริสตชนทั้งหลาย พระคริสตธรรมคัมภีร์ของพวกท่านกล่าวถึงเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นกับพระเยซูคริสต์อันเป็นเหตุการณ์เดียวกันแต่ขัดแย้งกันเอง มัทธิว มาระโก และลูกา บันทึกว่าพระองค์ใช้สาวกสองคนเข้าไปในหมู่บ้านแล้วจะพบแม่ลาหรือลูกลาแล้วให้จูงมา มัทธิวบอกว่า “จึงจูงแม่ลากับลูกลาของมันมา และเอาเสื้อผ้าของตนปูบนหลัง แล้วพระองค์ทรงลานั้น (มัทธิว 21 : 7)

มาระโก บันทึกว่า “สาวกสองคนนั้นจึงไปแล้วพบลูกลาตัวหนึ่งผูกอยู่นอกประตูที่ถนน เขาจึงแก้มัน (มาระโก 11 : 4) สาวกจึงจูงลูกลามาถึงพระเยซู แล้วเอาเสื้อผ้าของตนปูบนหลังลา แล้วพระองค์จึงทรงลานั้น (มาระโก 11 : 7)

ลูกา บันทึกว่า “แล้วเขาก็จูงลูกลามาถึงพระเยซู และเอาเสื้อผ้าของตนปูบนหลังลา และเชิญพระเยซูขึ้นทรงลานั้น” (ลูกา 19 : 30-35)

แต่ยอห์นบันทึกว่า “พระเยซูทรงพบลูกลาตัวหนึ่ง จึงทรงลานั้น (ยอห์น 12 : 14) นี่เพียงแค่เรื่องของลา”

ก็สับสนอยู่มิใช่น้อยแล้วว่า เป็นแม่ลาหรือลูกลา สาวกไปจูงลาหรือพระเยซูพบลาในระหว่างทางกันแน่ มัทธิวกับมาระโกบันทึกในทำนองว่ามีผู้คนจำนวนมากออกมาต้อนรับพระเยซูคริสต์ ห้อมล้อมพระองค์ทั้งข้างหน้าและด้านหลัง พร้อมกับโห่ร้องถ้อยคำสรรเสริญกันเอิกเกริก แต่ไฉนคนในเยรูซาเล็มไม่รู้ว่าผู้ที่เสด็จมาอย่างผู้พิชิตนั่นเป็นใครหนอ? แต่ลูกากลับบันทึกว่าผู้ที่เอิกเกริก และเอาเสื้อผ้าของตนปูตามทางและส่งเสียงร้องคือเหล่าสาวกทั้งสิบสองคนของพระเยซูนั่นเอง

และเหตุการณ์ตอนนั้นก็ยังอยู่ที่เชิงภูเขามะกอกเทศ ยังไม่ได้เข้าสู่กรุงเยรูซาเล็มในขณะที่ยอห์นบันทึกว่า เหตุที่มีคนทำเอิกเกริกนั่นเป็นเพราะอยู่ในช่วงเทศกาลขึ้นไปนมัสการพระวิหารที่กรุงเยรูซาเล็ม พอได้ข่าวว่าพระเยซูเสด็จมาถึงก็พากันถือทาง อินทผาลัมออกไปต้อนรับและโห่ร้อง “โฮซันนา” แต่ครั้นเวลาจวนค่ำพระเยซูก็เสด็จไปบ้านเบธานีกับเหล่าสาวกทั้งสิบสองคนนั้นโดยไม่มีผู้ใดติดตามไป ทั้งๆ ที่ข่าวนี้สร้างความแตกตื่นให้กับชาวกรุงเยรูซาเล็มจนต้องพากันถามถึงว่า ใครหนอ?

อ่านท้องเรื่องนี้แล้วดูเหมือนว่าชาวเมืองเยรูซาเล็มน่าจะรู้จักพระเยซูเป็นอย่างดีถึงได้พากันออกมาต้อนรับและโห่ร้องสรรเสริญว่าพระมหากษัตริย์แห่งอิสราเอลเสด็จมาแล้ว แต่ดูเหมือนว่าตอนท้ายของเรื่องจบลงเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลย ทั้งที่เรื่องนี้น่าจะมีคลื่นมหาชนติดตามพระองค์ไปทุกที่พระวิหารและบ้านเบธานีแต่พระคัมภีร์ก็มิได้แสดงให้เห็นว่าเป็นเช่นนั้น!

พระคริสตธรรมคัมภีร์บันทึกว่า พระเยซูคริสต์ได้เสด็จเข้าไปในบริเวณพระวิหารของพระเจ้า แล้วทรงขับไล่บรรดาผู้ซื้อขายในบริเวณพระวิหารนั้น และคว่ำโต๊ะผู้รับแลกเงิน กับทั้งคว่ำม้านั่งผู้ขายนกพิราบ คนตาบอดและคนง่อยพากันมาเฝ้าพระองค์ในบริเวณพระวิหาร พระองค์ได้รักษาเขาให้หาย แต่เมื่อพวกปุโรหิตกับพวกธรรมาจารย์ได้เห็นการมหัศจรรย์ที่พระองค์ทรงกระทำในบริเวณพระวิหาร ทั้งได้ยินหมู่เด็กร้องในบริเวณพระวิหารว่า “โฮซันนาแก่ราชโอรสดาวิด” เขาทั้งหลายก็พากันแค้นเคือง ในภายหลังพระองค์ได้ทรงละจากเขา และเสด็จออกจากกรุงไปประทับอยู่ที่หมู่บ้านเบธานี (มัทธิว 21 : 12-17)

ในวันถัดมาพระองค์ก็เสด็จเข้ากรุง แล้วมีการสาปต้นมะเดื่อหลังจากนั้นก็เข้าสู่พระวิหารเพื่อสั่งสอนผู้คน ในเวลานั้นพวกมหาปุโรหิตและพวกผู้ใหญ่ของประชาชนก็เข้ามาทูลถามถึงสิทธิของพระองค์ (มัทธิว 21 : 18-22) และดูเหมือนว่าในวันเดียวกันนั้น พระเยซูคริสต์ได้ตรัสสอนผู้คนหลายเรื่องในการอุปมา มีการตั้งคำถามเพื่อจับผิดพระองค์ของพวกฟาริสีว่าด้วยเรื่องการเสียส่วยให้จักรพรรดิซีซาร์

มีการวิวาทะกับพวกสะดูสี มีการทดลองของบาเรียนที่ตั้งคำถามถึงพระธรรมบัญญัติข้อใหญ่ เรื่องบุตรของดาวิด เมื่อพระเยซูคริสต์ได้ตอบถ้อยคำของพวกนั้น พวกนั้นก็ไม่กล้าถามพระองค์อีกเลย (มัทธิว 21 : 23-46 , 22 : 1-46) ต่อมาพระองค์ก็ออกจากพระวิหารมุ่งไปประทับบนภูเขามะกอกเทศแล้วพระองค์ก็ตรัสสอนสาวกผู้ใกล้ชิดของพระองค์ (มัทธิว 24,25)

เมื่อพระเยซูตรัสถ้อยคำเหล่านั้นเสร็จแล้วจึงรับสั่งพวกสาวกของพระองค์ว่า :

ท่านทั้งหลายรู้อยู่ว่าอีกสองวันจะถึงเทศกาลปัสกาและบุตรมนุษย์จะต้องถูกอายัดไว้ให้เขาตรึงที่กางเขน” (มัทธิว 26 : 1-2) ในขณะนั้นพวกมหาปุโรหิตและพวกผู้ใหญ่ของประชาชนได้ประชุมกันที่สำนักของปุโรหิตประจำการ ชื่อ คายาฟาส ปรึกษากันว่าจะจับพระเยซูด้วยอุบายเอาไปฆ่าเสีย แต่ตกลงกันว่าจะไม่กระทำการในวันเทศกาลเพราะเกรงจะเกิดวุ่นวาย (มัทธิว 26 : 3-5)

หากพิจารณาลำดับของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนการอายัดจับกุมพระเยซูคริสต์ จะพบว่า ในวันที่พระองค์เสด็จเข้ากรุงเยรูซาเล็ม พระองค์เข้าสู่พระวิหารเพื่อชำระให้พระวิหารบริสุทธิ์จากคนบาปที่นำเอาพระวิหารมากระทำดั่งถ้ำของโจร(มัทธิว 21 : 13) ซึ่งที่นั่นมีพวกปุโรหิตและธรรมจารย์บางคนปรากฏอยู่ แล้วในวันนั้นพระองค์ก็เสด็จออกไปประทับที่บ้านเบธานี นอกกรุงเยรูซาเล็ม นี่ผ่านไปหนึ่งวัน

วันที่สองพระองค์เสด็จเข้ากรุงเยรูซาเล็มอีกครั้ง ทรงหิวพระกระยาหารแล้วพาลสาปต้นมะเดื่อ หลังจากนั้นก็เสด็จเข้าพระวิหารและสั่งสอนผู้คน พวกมหาปุโรหิตและพวกผู้ใหญ่ของประชาชนก็มาถามว่าใครให้สิทธิแก่พระองค์ นี่แสดงว่า พวกมหาปุโรหิตบางส่วนได้พบพระองค์ในวันที่สอง การตอบโต้กับพวกฟาริสีก็เกิดขึ้นในวันที่สอง พวกสะดูสีก็มาหาพระองค์และมีการพูดถึงเรื่องการฟื้นจากความตายว่ามีหรือไม่มี

หลังจากนั้นก็มีการถามถึงพระบัญญัติข้อใหญ่ ปัญหาเรื่องบุตรของดาวิดซึ่งมัทธิวระบุว่าพวกฟาริสีเป็นผู้ถาม แต่มาระโกระบุว่าพระองค์ถามพวกธรรมาจารย์ว่าคิดเห็นอย่างไรกับบัญญัติข้อนี้ (มาระโก 12 : 35-37) ดูเหมือนเหตุการณ์ทั้งหมดเกิดขึ้นในวันที่ 2 และมัทธิวกับมาระโกก็ระบุว่าเหลือเวลาอีก 2 วันจะถึงเทศกาลปัสกาและการกินขนมปังไร้เชื้อ

ดังนั้นการที่ลูการะบุว่า พระองค์สั่งสอนผู้คนในพระวิหารทุกวันนั้นก็หมายความว่า ทุกวันก่อนหน้าการอายัดจับกุมซึ่งไม่น่าจะเกิน 4 วัน ในระหว่างนั้นพระองค์อยู่ที่ภูเขามะกอกเทศ (มาระโก 13 : 3) แต่มัทธิวว่าพระองค์ประทับอยู่ที่หมูบ้านเบธานีในเรือนของซีโมนคนโรคเรื้อน (มัทธิว 26 : 6)

ผ่านมาราว 4 วัน วันที่ 5 เป็นต้นเทศกาลกินขนมปังไร้เชื้อ ซึ่งมัทธิวระบุว่า เป็นที่บ้านของชายผู้หนึ่งในกรุง ซึ่งได้จัดเตรียมปัสกาไว้ที่นั่น (มัทธิว 26 : 17-20) มาระโกก็ระบุเช่นนั้น (มาระโก 14 : 12-17) ลูกาก็เช่นกัน (ลูกา 22 : 7-14) แต่ยอห์นไม่ได้ระบุเพียงแต่บันทึกเรื่องอาหารเย็น (ยอห์น 13 : 1-2) นั่นเป็นเวลากลางคืนของวันที่ 5 นั่นเอง

ต่อมาเมื่อร้องเพลงสรรเสริญแล้วก็พากันออกไปยังภูเขามะกอกเทศ (มัทธิว 26 : 30, มาระโก 14 : 26, ลูกา 22 : 39)แล้วพระเยซูกับเหล่าสาวกก็มายังที่แห่งหนึ่งชื่อ เกทเสมนี (Gethsemane) ซึ่งที่นั่นพระองค์ถูกอายัดโดยการทรยศของยูดาส อิสคาริโอท (มัทธิว 26 : 36-46 , มาระโก 14 : 32-42 , ลูกา 22 : 39-46)

ดังที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้น จะเห็นได้ว่าการแสดงราชกิจจานุกิจของพระเยซูคริสต์นับแต่เริ่มต้นใช้เวลาส่วนใหญ่ในแคว้นกาลิลี และหัวเมืองใกล้เคียง สิ่งที่แพร่หลายออกไปคือกิตติศัพท์ของพระองค์ ซึ่งนั่นแสดงว่าพวกมหาปุโรหิต พวกผู้ใหญ่ของประชาชนซึ่งอยู่ในกรุงเยรูซาเล็ม แคว้นยูเดียไม่เคยพบเห็นตัวตนที่แท้จริงของพระองค์ มีพวกปุโรหิต พวกธรรมจารย์และฟาริสีบางคนเท่านั้นที่ออกจากกรุงเยรูซาเล็มมาทูลถามและถกเถียงในคำสอนของพระองค์

กษัตริย์เฮโรดก็ไม่เคยพบตัวจริงของพระองค์มาก่อน เพียงแต่ได้ยินกิตติศัพท์ที่ร่ำลือกันเท่านั้น ครั้นเมื่อพระเยซูคริสต์เสด็จเข้ากรุงเยรูซาเล็มซึ่งเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ไม่น่าจะเกินหนึ่งสัปดาห์ก่อนที่จะมีการอายัดจับกุมพระองค์ในเวลาต่อมา การสั่งสอนเทศนาธรรมและการตอบโต้กับพวกฟาริสีและปุโรหิตบางคนในพระวิหารแห่งกรุงเยรูซาเล็มนั้นก็เป็นช่วงเวลาสั้นๆ พระองค์มิได้ประทับอยู่ที่นั่นอยู่โดยตลอด แต่มีการออกนอกกรุงไปยังบ้านเบธานี และมีการไปยังภูเขามะกอกเทศ และพวกธรรมาจารย์กับพวกมหาปุโรหิต

โดยเฉพาะคายาฟาส มหาปุโรหิตประจำการที่พวกเหล่านี้มาประชุมกันเพื่อหาอุบายเอาพระเยซูคริสต์ไปฆ่าเสียก็ไม่ปรากฏว่าพวกนี้เคยเห็นตัวตนที่แท้จริงของพระเยซูคริสต์ในช่วงเวลาสั้นๆ นั้นหรือไม่ เพราะพวกเขาได้แต่ติดตามดูความเคลื่อนไหวของพระเยซู และส่งคนไปสอดแนมปลอมตัวเป็นคนสุจริตเข้าไปฟังคำเทศนาของพระองค์เพื่อหวังจับผิดและอายัดพระองค์ตามอาชญาของบ้านเมือง (ลูกา 20 : 19-20)

แสดงว่าพวกมหาปุโรหิตและพวกธรรมจารย์ไม่ได้เข้าใกล้พระเยซูคริสต์ แต่เฝ้าติดตามดูอยู่ห่างๆ ซึ่งพอจะสรุปได้ว่าคนพวกนี้ไม่รู้จักตัวตนของพระเยซูคริสต์ว่าคือผู้ใด? เหตุนี้เอง เมื่อ ยูดาส อิสคาริโอท สาวกผู้ทรยศไปหาพวกมหาปุโรหิตและเสนอแก่พวกนั้นว่า ตนจะชี้ตัว พระเยซูคริสต์ให้ถูกจับโดยแลกกับเงิน (มัทธิว 26 : 14-16 , มาระโก 14 : 10-11) ทำให้พวกนั้นดีใจเป็นอันมาก ซึ่งนี่ย่อมแสดงว่าพวกมหาปุโรหิตที่วางแผนปองร้ายพระเยซูคริสต์ไม่รู้ว่าพระเยซูคริสต์มีหน้าค่าตาอย่างไร?

สอดคล้องกับข้อเสนอของยูดาส อิสคาริโอทที่ว่า จะเป็นผู้ชี้ตัวพระเยซูคริสต์ให้พวกนั้นจับกุม ถ้าพวกมหาปุโรหิตรู้ว่าพระเยซูคือผู้ใด? แล้วทำไมพวกเขาจึงต้องดีใจกับข้อเสนอของยูดาสด้วย และทำไมยูดาสต้องชี้ตัวพระเยซู มีคำตอบเดียวเท่านั้นคือ พวกที่ปองร้ายไม่รู้ว่าพระองค์คือผู้ใด มีรูปร่างหน้าตาเช่นใดนั่นเอง! แต่ยูดาสรู้ดีเพราะ ยูดาสคือหนึ่งในสาวกสิบสองคนของพระเยซูคริสต์ ดังนั้นจึงไม่แปลกเลยที่บุคคลซึ่งถูกจับกุมและอายัดตัวนั้นจะเป็นผู้อื่นที่ไม่ใช่พระเยซูคริสต์

กล่าวง่ายๆ ก็คือ มีการจับกุมผิดตัวนั่นเอง ที่สำคัญผู้ที่ถูกจับกุมผิดตัวนี้ถูกกระทำให้เหมือนหรือคล้ายคลึงกับพระเยซูคริสต์ คือมีใบหน้าที่คล้ายกันดังที่คัมภีร์อัล-กุรอานได้ระบุเอาไว้ จึงทำให้ผู้คนในเหตุการณ์หลงเข้าใจผิดว่าผู้ที่ถูกจับกุมและถูกตรึงกางเขนนั้นคือพระเยซูคริสต์โดยปริยาย

โปรดอย่าลืมว่า พระเยซูคริสต์เพิ่งจะเสด็จเข้ามายังกรุงเยรูซาเล็มได้เพียงไม่กี่วัน และช่วงเวลาที่เสด็จเข้ากรุงก็อยู่ในช่วงใกล้เทศกาลสำคัญของชาวยิวซึ่งผู้คนทั่วดินแดนปาเลสไตน์ที่เป็นชาวยิวต่างก็มุ่งหน้าสู่กรุงเยรูซาเล็มเพื่อนมัสการในพระวิหารของพระเจ้าและเฉลิมฉลองเทศกาลปัสกา การที่มีคนต่างถิ่นเข้ามามากในเวลานั้นก็ย่อมทำให้สับสนได้โดยไม่รู้ว่าใครเป็นใคร และพวกมหาปุโรหิตประจำการตลอดจนทหารเฝ้าวิหารในช่วงเวลานั้นก็คงต้องสาละวนกับภาระกิจที่เกี่ยวข้องกับพระวิหารเป็นธรรมดา

2. ใครคือผู้ที่ถูกอายัดจับกุมและถูกตรึงกางเขน

ก่อนที่จะหาคำตอบในเรื่องนี้ เราลองมาดูช่วงเวลาขณะที่มีการจับกุมชายผู้นั้นซึ่งชาวคริสต์และชาวยิวโดยทั่วไปเชื่อว่าคือ พระเยซูคริสต์ตามที่พระคริสตธรรมคัมภีร์ระบุเอาไว้

มัทธิว บันทึกว่า :

“พระองค์ตรัสยังไม่ทันขาดคำ ยูดาสคนหนึ่งในเหล่าสาวกสิบสองคนนั้นได้เข้ามา และมีประชาชนเป็นอันมากถือดาบ ถือไม้ตะบอง มาจากพวกมหาปุโรหิตและพวกผู้ใหญ่แห่งประชาชน”

ผู้ที่อายัดพระองค์นั้นได้ให้อาณัติสัญญาณแก่เขาว่า “เราจะจูบคำนับผู้ใดก็เป็นผู้นั้นแหล่ะ จงจับกุมเขาไว้”

ขณะนั้นยูดาสตรงมากาพระเยซูทูลว่า “สวัสดีพระอาจารย์” และจูบคำนับพระองค์

พระเยซูตรัสกับเขาว่า “สหายเอ๋ย มาที่นี่ทำไม” คนเหล่านั้นก็เข้ามาจับพระเยซูและคุมไป (มัทธิว 26 : 47-50)

มีข้อสังเกตในข้อความของพระคริสตธรรมคัมภีร์ตอนนี้อยู่หลายประเด็น คือ
  • เหตุการณ์จับกุมนี้เกิดขึ้นที่ เกทเสมนี (Gethsemane) (มัทธิว 26 : 36)
  • เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในเวลากลางคืน เพราะพระคัมภีร์ระบุว่า “ในคืนวันนี้ท่านทุกคนจะทิ้งเรา…” (มัทธิว 26 : 31) สาวกของพระองค์นอนหลับ พระเยซูคริสต์อธิษฐานและกลับมาดูสาวกซึ่งยังคงนอนหลับถึง 3 ครั้ง (มัทธิว 26 : 39-46)
  • คำตรัสกับยูดาสที่จูบพระองค์ว่า “สหายเอ๋ย มาที่นี่ทำไม” (มัทธิว 26 : 50) ดูจะขัดแย้งกับเหตุการณ์ก่อนหน้านั้นที่พระเยซูทรงร่วมสำรับกับสาวกสิบสองคนในพิธีปัสกาซึ่งพระองค์บอกเองว่า ยูดาสคือผู้ที่จะอายัดพระองค์ (มัทธิว 26 : 21-25) และช่วงเวลาที่พระองค์ทรงปลุกสาวกที่หลับใหลและตรัสว่า : “ลุกขึ้น ไปกันเถิดผู้ที่จะอายัดเรามาใกล้แล้ว” (มัทธิว 26 : 46)

มาระโก บันทึกว่า :

“พระองค์ตรัสยังไม่ทันขาดคำ ในทันใดนั้นยูดาสซึ่งเป็นคนหนึ่งในเหล่าสาวกสิบสองคนนั้น กับหมู่ชนถือดาบ ถือไม้ตะบอง ได้มาจากพวกมหาปุโรหิต พวกธรรมาจารย์ และพวกผู้ใหญ่

ผู้ที่จะอายัดพระองค์นั้นได้ให้สัญญาณแก่เขาว่า “เราจะจูบคำนับผู้ใดก็เป็นผู้นั้นแหล่ะ จงจับกุมเขาไปให้มั่นคง” ขณะนั้นยูดาสตรงเข้ามาหาพระองค์ทูลว่า : “พระอาจารย์เจ้าข้า” แล้วจูบคำนับพระองค์ คนเหล่านั้นก็จับกุมพระองค์ไป” (มาระโก 14 : 43-46)

ข้อสังเกต มาระโกได้ระบุว่า พระเยซูทรงตอบคำถามของสาวกที่ร่วมรับประทานอาหารก่อนหน้านั้นที่ว่าใครคือผู้ที่จะอายัดพระองค์ ว่าคือ ยูดาส แต่พระองค์ตรัสเพียงว่า “เป็นคนหนึ่งในสาวกสิบสองคนนี้ คือ เป็นคนจิ้มในชามเดียวกันกับเรา” (มาระโก 14 : 20) และมาระโกระบุว่า ที่สวนเกทเสมนีนั้น พระเยซูฟาเปโตร ยากอบ และยอห์นไปด้วย (มาระโก 14 : 33)

ในขณะที่มัทธิว ระบุว่า พระองค์พาเปโตรกับบุตรทั้งสองของเศเบดีไปด้วย (มัทธิว 26 : 37) ซึ่งบุตรเศเบดีก็คือยากอบกับยอห์นน้องของเขาตามที่มาระโกบันทึก (มัทธิว 10 : 2) สิ่งที่มาระโกบันทึกแต่มัทธิวไม่ได้กล่าวถึงในเหตุการณ์ต่อจากการจับกุมพระเยซูคริสต์ก็คือ “มีชายหนุ่มคนหนึ่งห่มผ้าป่านผืนหนึ่งตามพระองค์ไป พวกเหล่านั้นก็จับกุมชายหนุ่มนั้น แต่เขาได้สลัดผ้าป่านผืนนั้นทิ้งเสียแล้วเปลือยกายหนีไป” (มาระโก 14 : 51-52) ซึ่งนั่นเกิดขึ้นหลังจากที่สาวกทั้งหมดได้ละทิ้งพระองค์ไว้และพากันหนีไป (มาระโก 14 : 50)

ลูกา บันทึกว่า :

“พระองค์ตรัสยังไม่ทันขาดคำ นี่แน่ะมีคนเป็นอันมาก และที่ชื่อว่ายูดาสเป็นคนหนึ่งในสาวกสิบสองคนนั้นนำหน้าเขามา ยูดาสเข้ามาใกล้เพื่อจูบพระองค์ แต่พระเยซูตรัสถามเขาว่า “ยูดาส ท่านจะมอบบุตรมนุษย์ด้วยการจูบหรือ” (ลูกา 22 : 47-48)

ข้อสังเกต : คำถามของพระเยซูที่มีต่อยูดาสบ่งชี้ว่าพระองค์รู้ว่ายูดาสจูบพระองค์เพื่อเป็นสัญญาณในการอายัดพระองค์ ซึ่งขัดแย้งกับสิ่งที่มัทธิวบันทึกว่าพระองค์ถามยูดาสว่าทำไม โดยใช้ประโยคว่า “สหายเอ๋ย มาที่นี่ทำไม” ซึ่งบ่งชี้ว่าพระองค์ไม่รู้ และลูกายังได้กล่าวถึง ทูตสวรรค์องค์หนึ่งมาปรากฏแก่พระองค์ช่วยชูกำลังพระองค์ (ลูกา 22 : 43) ในขณะที่พระองค์อธิษฐานจนพระเสโทของพระองค์เป็นเหมือนโลหิตไหลหยดลงถึงดินเป็นเม็ดใหญ่ (ลูกา 22 : 44)

ในขณะที่ มัทธิวและมาระโก ไม่ได้ระบุถึงเรื่องของทูตสวรรค์นั้นเลยแม้แต่น้อย ที่สำคัญลูกา บันทึกว่าทาสของมหาปุโรหิตที่ถูกดาบฟันนั้น พระเยซูได้ถูกต้องใบหูคนนั้นและให้เขาหาย โดยที่ มัทธิวกับมาระโก ไม่ได้ระบุถึงเรื่องนี้ (ลูกา 22 : 50)

ยอห์น ระบุว่า :

“ยูดาสก็พาพวกทหารกับเจ้าหน้าที่มาจากพวกปุโรหิตและพวกฟาริสีถือโคมถือไต้ และเครื่องอาวุธไปที่นั่นด้วย

พระเยซูทรงทราบทุกสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับพระองค์ พระองค์จึงเสด็จออกไปถามเขาว่า “ท่านทั้งหลายมาหาใคร” เขาทูลตอบพระองค์ว่า “มาหาพระเยซู ชาวนาซาเร็ธ” พระเยซูตรัสกับเขาว่า “เราคือผู้นั้นแหล่ะ” ยูดาสผู้อายัดพระองค์ก็ยืนอยู่กับคนเหล่านั้น

เมื่อพระองค์ตรัสกับเขาทั้งหลายว่า “เราคือผู้นั้นแหล่ะ” เขาทั้งหลายได้ถอยหลังและล้มลงที่ดิน

พระองค์ตรัสถามเขาอีกว่า “ท่านมาหาใคร” เขาทูลตอบว่า “มาหาเยซู ชาวนาซาเร็ธ” พระเยซูตรัสตอบว่า “เราบอกท่านแล้ว ว่าเราคือผู้นั้น ถ้าท่านแสวงหาเราก็จงปล่อยคนเหล่านี้ไปเถิด” …พวกพลทหารกับนายทหารและเจ้าหน้าที่พวกยิวจึงจับพระเยซูมัดไว้”

(ยอห์น 18 : 3-8 , 12)

ข้อสังเกต : ดูเอาเถิด! พระคริสตธรรมคัมภีร์ซึ่งคริสตชนกล่าวว่า : ประวัติศาสตร์ก็เป็นจริง (its histories are true) จงอ่านพระคริสตธรรมคัมภีร์จะได้เป็นคนฉลาด จงเชื่อถือเพื่อจะได้ความรอด (Read it to be wise , believe it to be safe) พระคริสตธรรมคัมภีร์เป็นแผนที่ของผู้เดินทาง (It is the traveler’s map) เป็นเข็มทิศของผู้นำร่องทาง (the pilot’s compass) เป็นแผนผังของคริสเตียน (and the Christian’s charter)

พระคริสต์เป็นหัวใจสำคัญของหนังสือนี้ ท้องเรื่องก็เป็นของดีแก่เรา สุดท้ายนำไปสู่พระสิริของพระเจ้า (CHRIST is its grand subject , our good the design, and the glory of God its end) คนใดดูหมิ่นเรื่องราวเหล่านี้ก็จะถูกปรับโทษ (and will condemn all who trifle with its sacred contents) ไฉนเลยเรื่องของพระเยซูคริสต์ในเหตุการณ์สำคัญนี้จึงสับสนและขัดแย้งกันเองในระหว่างพระคริสตธรรมคัมภีร์ทั้ง 4 ฉบับได้ถึงเพียงนี้

ในฉบับยอห์นนี้ บ่งชัดว่า เหตุการณ์เกิดขึ้นในเวลากลางคืนเพราะพวกทหารที่มาถือโคมถือไต้ แต่สิ่งที่ขัดแย้งกันจนเป็นคนละเรื่องก็คือ ไม่มีการจูบคำนับของยูดาส ไม่มีคำพูดใดๆ ออกมาจากปากของยูดาส ไม่มีคำถามโดยตรงจากพระเยซูกับยูดาส แต่พระองค์ตรัสถามพวกที่มานั้นว่า มาหาใคร? พอพระองค์เผยพระองค์ว่า พระองค์คือผู้นั้น พวกนั้นก็ถอยหลังล้มลงกับดิน แม้ว่าจะบอกและยืนยันอีก 2 ครา พวกนั้นก็หารู้ไม่ว่า พระองค์คือพระเยซูคริสต์

นี่เป็นหลักฐานที่ชัดเจนที่สุดว่า พวกพลทหารกับนายทหารที่มาพร้อมกับยูดาสไม่รู้ว่าพระเยซูคริสต์คือใคร? และที่สำคัญท้องเรื่องในเหตุการณ์เดียวกันทำไมจึงได้แตกต่างและขัดแย้งกัน ที่ว่า “ประวัติศาสตร์ในพระคริสตธรรมคัมภีร์ก็เป็นจริง” นั้นเราจะเชื่อประวัติศาสตร์ของพระคริสตธรรมคัมภีร์ฉบับใดดีหนอว่าเป็นจริง ที่ว่า ให้อ่านพระคริสตธรรมคัมภีร์จะได้เป็นคนฉลาด แน่นอนผู้มีปัญญาย่อมได้สติและเกิดความฉลาดเป็นแน่แท้ว่า

คัมภีร์เล่มนี้เป็นแผนที่ของผู้เดินทางที่ควรจะวางใจกับสิ่งที่ถูกบันทึกในแผนที่นั้นหรือไม่ และผู้เดินทางจะหลงทางหรือไม่? เข็มทิศของผู้นำร่องทางมันจะชวนให้ผู้อ่านเข็มทิศสับสนและงงงวยกับทิศทางแห่งความรอดนั้นหรือไม่? ทั้งหมดมิใช่เป็นการดูหมิ่นเรื่องราวที่ถูกบันทึกในคัมภีร์เล่มนี้เลยแม้แต่น้อย ถึงจะได้ถูกปรับโทษ แต่ผู้ที่บันทึกคัมภีร์เล่มนี้ด้วยมือของพวกเขาต่างหากที่ดูหมิ่นปัญญาของคนฉลาดโดยย่ามใจว่าเขาคงไม่ฉุกคิดและไม่รู้เท่าทันสิ่งที่ตนเขียนเอาไว้แล้วอ้างว่านี้คือ สิ่งที่พระเจ้าทรงดลใจ ตู่ว่านี่คือพระดำรัสของพระเจ้า! นี่ต่างหากคือความจริงที่จะต้องถูกกางออกในวันแห่งการพิพากษาลงโทษ!

ที่นี้ย้อนกลับมายังประเด็นที่ 2 ซึ่งว่าด้วยผู้ที่ถูกอายัดและจับกุมนั้นคือใครกันแน่! ประเด็นนี้มีสมมุติฐานหลายประการด้วยกันดังนี้

1. เมื่อพวกยิวปองร้าย อัล-มะสีหฺ อีซา บุตรมัรยัม (อ.ล.) และหมายจะเอาชีวิตท่าน พระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) จึงทรงให้อัล-มะสีหฺ อีซา รอดพ้นจากการปองร้ายนี้โดยยกอัล-มะสีหฺ อีซา (อ.ล.) ขึ้นสู่ฟากฟ้าเบื้องบนตามทัศนะของนักอรรถาธิบายอัล-กุรอานส่วนใหญ่ หรือใหัอัล-มะสีหฺ อีซา (อ.ล.) รอดพ้นจากการจับกุมของพวกยิวโดยท่านมีชีวิตอยู่หลังจากนั้นจนกระทั่งเสียชีวิตตามปกติดังทัศนะของนักวิชาการบางส่วน

ผลจากการที่อัล-มะสีหฺรอดพ้นจากน้ำมือของยิวนี่เอง ทำให้บรรดามหาปุโรหิต พวกธรรมจารย์ และผู้ใหญ่ของประชาชนที่ร่วมประชุมวางแผนฆ่าอัล-มะสีหฺที่บ้านของคายาฟาส มหาปุโรหิตประจำการแห่งกรุงเยรูซาเล็มเกรงว่าจะเสียหน้าและก่อให้เกิดความวุ่นวายในหมู่ผู้คน พวกนั้นจึงนำชายคนหนึ่งที่มีหน้าตาละม้ายคล้ายคลึงอัล-มะสีหฺมาตายแทนโดยสร้างสถานการณ์ว่า ชายผู้นั้นคือ อัล-มะสีหฺ อีซา บุตรของมัรยัม (อ.ล.)

สมมุติฐานนี้ ดร.อับดุสสลาม ….อับดุฮฺ อาจารย์ภาควิชาปรัชญาและหลักศรัทธา ได้ให้น้ำหนักไว้ในตำรา “มัดคอลฺ ลิ ดิรอสะฮฺ อัล-อัดยาน” หน้า 138 ดูเหมือนว่าสมมุตฐานนี้สอดคล้องกับนัยบางอย่างที่ถูกระบุไว้ในพระคริสตธรมมคัมภีร์ฉบับของยอห์นที่บันทึกว่า : “คายาฟาสผู้นี้แหล่ะที่แนะนำพวกยิวว่า ควรให้คนหนึ่งตายแทนพลเมืองทั้งหมด” (ยอห์น 18 : 14)

หากเราละเรื่องการทำนายของพระเยซูคริสต์ถึงการที่ซีโมนเปโตรจะปฏิเสธพระองค์ถึง 3 ครั้ง (มัทธิว 26 : 31-35, มาระโก 14 : 27, 31, ลูกา 22 : 31-34, ยอห์น 13 : 36-38) ก่อนไก่ขัน และมองว่าการปฏิเสธของซีโมนเปโตรมิใช่เป็นคำเท็จแต่เป็นการพูดตามความจริงที่เขาเห็น เราก็จะพบถึงสาเหตุที่ซีโมนเปโตรกล่าวคำปฏิเสธทั้ง 3 ครั้งนั้นว่า เพราะชายผู้นั้นที่ถูกจับกุมมิใช่พระเยซูคริสต์และซีโมนเปโตรก็ไม่รู้จักเขาผู้นั้นจริงๆ ก็พอจะทำให้สมมุติฐานข้อนี้มีน้ำหนักได้เช่นกัน

2. พวกมหาปุโรหิตและฟารีสีมอบหมายให้คนๆ หนึ่งคอยเฝ้าติดตามดูความเคลื่อนใหวของพระเยซูคริสต์ และชายผู้นั้นก็ติดตามไปยังสวน “เกทเสมนี” คอยเฝ้าดูพระองค์กับเหล่าสาวก ครั้นเมื่อพระเยซูคริสต์ (อัล-มะสีหฺ อีซา) ได้ถูกยกขึ้นสู่ฟากฟ้าเบื้องบนแล้ว ฑูตสวรรค์ที่มาปรากฏตนเพื่อช่วยชูกำลังของพระองค์ขณะอธิษฐานจึงได้ทำให้ชายผู้นั้นมีใบหน้าที่คล้ายกับพระเยซูคริสต์ เมื่อพวกยิวและทหารมาถึงก็เข้าใจว่านั้นคือพระเยซูคริสต์ จึงเข้าจับกุมอายัดตัวชายผู้นั้นไป

สมมุติฐานนี้ก็พอจะมีมูลอยู่เช่นกัน เพราะพระคริสตธรรมคัมภีร์บันทึกว่า “ฝ่ายพวกธรรมาจารย์และพวกมหาปุโรหิตรู้อยู่ว่า พระองค์ได้ตรัสคำอุปมานั้นกระทบพวกเขาเอง จึงอยากจะจับพระองค์ในเวลานั้น แต่เขากลัวประชาชน เขาจึงตามดูพระองค์และใช้คนให้ปลอมเป็นเหมือนคนสุจริตไปสอดแนมหวังจะจับผิดในพระดำรัสของพระองค์เพื่อจะอายัดพระองค์ไว้ในอำนาจและอาชญาของเจ้าเมือง” (ลูกา 20 : 19-20)

3. นายทหารที่ถูกใช้ให้พาพลทหารและพวกยิวไปจับกุมอายัดพระเยซูคริสต์ ซึ่งมีชื่อว่า “ตีตาวูส” ซึ่งเป็นชาวยิวได้เข้าไปยังที่ซึ่งพระเยซูคริสต์ประทับอยู่และเขาก็ไม่พบพระองค์ แล้วเขาผู้นี้ก็ถูกทำให้มีใบหน้าคล้ายพระเยซูคริสต์ ครั้นเมื่อนายทหารผู้นี้ออกมาข้างนอก ก็ถูกเข้าใจว่าเป็นพระเยซูคริสต์ จึงถูกจับกุมตัวในที่สุด

สมมุติฐานนี้ก็มีความเป็นไปได้เช่นกัน เพราะพวกนายทหารรักษาพระวิหารนั้นก็เป็นพวกที่สมรู้ร่วมคิดกับพวกมหาปุโรหิตและธรรมาจารย์ในการออกอุบายจับพระเยซูคริสต์มาฆ่าให้ตาย และยูดาสก็ไปปรึกษากับคนเหล่านี้ด้วย (ลูกา 22 : 4-5) และพวกนายทหารกับพลทหารก็ร่วมไปในการจับกุมพระเยซูคริสต์ที่วนเกทเสมนีด้วย (ยอห์น 18 : 3)

4. พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงบัญชาให้ฑูตสวรรค์กระทำให้สาวกคนหนึ่งในสิบสองคนของพระเยซูคริสต์ซึ่งทรยศพระองค์สาวกผู้นี้คือ ยูดาส อิสคาริโอท ซึ่งแอบไปปรึกษากับพวกมหาปุโรหิตและพวกธรรมาจารย์และเสนอตัวเป็นผู้ชี้ตัวพระเยซูคริสต์เพื่อให้ถูกจับกุมก่อนหน้านั้นแล้ว และยูดาสก็เป็นผู้นำพวกยิวและเหล่าทหารรักษาพระวิหารพากันไปยังสวนที่อยู่ใกล้ลำห้วยขิดโรน คือ สวนเกทเสมนี พอยูดาสเข้าไปในสวนเพื่อจะจุบคารวะพระเยซูคริสต์เป็นสัญลักษณ์ให้พวกนั้นจับกุมพระองค์ตามที่บอกเอาไว้ ก็ไม่พบพระเยซูคริสต์อยู่ในสวน เพราะพระผู้เป็นเจ้าทรงยกพระองค์ขึ้นสู่ฟากฟ้าเบื้องบนไปแล้ว

ครั้นนั้นเอง พระผู้เป็นเจ้าทรงมีบัญชาให้ฑูตสวรรค์กระทำให้ยูดาสมีใบหน้าและสุ้มเสียงคล้ายกับพระเยซูคริสต์โดยที่ยูดาสไม่รู้ตัว เมื่อยูดาสออกมาคนพวกนั้นก็เข้าใจว่าเขาคือพระเยซูชาวนาซาเร็ธ เพราะพวกเขาไม่รู้จักตัวตนของพระองค์ แต่มีบางคนที่ร่วมมาด้วยนั้นเคยเห็นพระองค์เทศนาสั่งสอนในพระวิหารและภูเขามะกอกเทศยืนยันว่า ยูดาสคือพระเยซูคริสต์ พวกทหารซึ่งไม่รู้จักจึงเข้าจับกุมพระองค์ไป สมมุติฐานนี้สอดคล้องกับข้อความที่มีบันทึกในพระคริสตธรรมคัมภีร์ฉบับของบารนาบัส ซึ่งเป็นฉบับต้องห้ามสำหรับคริสตจักร แต่ภายหลังได้ปรากฏออกมาสู่การรับรู้ของผู้คนซึ่งอินซาอัลลอฮฺ เราจะได้กล่าวถึงพระคริสตธรรมฉบับนี้ต่อไป

และบารนาบัสผู้นี้ได้บันทึกว่า พระเยซูคริสต์ได้ตรัสกับเขาว่า : “บารนาบัส เอ๋ย จงรู้เถิดว่าจะมีผู้หนึ่งจากสานุศิษย์ของเราจะขายเราด้วยเงินสามสิบเหรียญ และเรามั่นใจว่าผู้ที่จะขายเรานั้นเขาจะต้องถูกฆ่าในนามของเรา เพราะองค์พระเป็นเจ้าจะทรงเปลี่ยนรูปพรรณของผู้ทรยศนั้นจนกระทั่งว่าทุกคนเข้าใจว่าเขาคือเรา” (บารนาบัส 112 : 15-32)

และบารนาบัสยังได้บันทึกอีกว่า : “เมื่อพวกทหารเข้ามาใกล้พร้อมกับยูดาส พระเยซูก็ทรงได้ยินเสียงใกล้เข้ามาของคนเป็นอันมาก พระองค์จึงตื่นจากบรรทม และปรากฏว่าเหล่าสาวกทั้งสิบเอ็ดนั้นยังคงหลับอยู่ ต่อมาองค์พระเป็นเจ้าจึงทรงยกพระคริสต์ขึ้นสู่พระองค์ ยูดาสเข้าไปในห้องที่พระเยซูเสด็จขึ้นเบื้องบนจากห้องนั้น และพระเจ้าก็ทรงสำแดงราชกิจอันอัศจรรย์ ยูดาสมีคำพูดและใบหน้าเปลี่ยนไป แล้วเขาก็กลายเป็นผู้ที่คล้ายพระเยซูจนกระทั่งพวกเราเชื่อว่านั่นคือพระเยซู ….. และบรรดาทหารก็กรูเข้ามาและอายัดจับกุมยูดาส จับเขามัดไว้โดยพวกนั้นเข้าใจว่าผู้นั้นคือพระเยซู… (บารนาบัส 215-217)

สมมุติฐานข้อนี้ดูจะมีน้ำหนักมากที่เดียว เพราะชี้ชัดเด็ดขาดว่า ผู้ที่ถูกอายัดจับกุมนั้นมิใช่ อัล-มะสีหฺ อีซา (อ.ล.) แน่นอนซึ่งสอดคล้องกับสิ่งที่อัล-กุรอานได้ยืนยันและหักล้างความเชื่อของชาวยิวและคริสตชนในเรื่องนี้ และระบุว่าผู้ที่ถูกอายัดจับกุมคือ ยูดาส อิสคาริโอท หนึ่งในสาวกสิบสองคนของอัล-มะสีหฺ อีซา (อ.ล.) ที่ถูกทำให้มีเสียงคำพูดและใบหน้าคล้ายกับอัล-มะสีหฺ (อ.ล.) นอกจากนี้ความน่ากังขาที่ปรากฏในพระคริสตธรรมคัมภีร์ทั้ง 4 ฉบับที่ระบุถึงจุดจบของยูดาสก็สนับสนุนสมมุติฐานนี้อีกด้วย ดังนี้

* มัทธิว บันทึกว่า :

ครั้งนั้นคนหนึ่งในพวกสาวกสิบสองคนชื่อ ยูดาส อิสคาริโอท ได้ไปหาพวกมหาปุโรหิต

ถามว่า “ถ้าข้าพเจ้าจะชี้พระองค์ให้ท่านจับ ท่านทั้งหลายจะให้ข้าพเจ้าเท่าไร” ฝ่ายเขาก็ให้เงินแก่ยูดาสสามสิบเหรียญ ตั้งแต่นั้นมายูดาสคอยหาช่องที่จะชี้พระองค์ให้แก่เขา (มัทธิว 26 : 14-16)

เมื่อยูดาสผู้อายัดพระองค์ เห็นว่าพระองค์ต้องปรับโทษก็กลับใจ นำเงินสามสิบเหรียญนั้นมาคืนให้แก่พวกมหาปุโรหิตและพวกผู้ใหญ่

กล่าวว่า : “ข้าพเจ้าได้ทำบาปที่ได้อายัดคนบริสุทธิ์มาให้ถึงความตาย” คนเหล่านั้นจึงว่า “การนั้นไม่ใช่ธุระอะไรของเรา เจ้าต้องรับธุระเอาเอง

ยูดาสจึงทิ้งเงินนั้นไว้ในพระวิหารและจากไป แล้วเขาก็ออกไปผูกคอตาย

พวกมหาปุโรหิตจึงเก็บเอาเงินนั้นมาแล้วว่า “เป็นการผิดกฏหมายที่จะเก็บเงินนั้นไว้ในคลังพระวิหารเพราะเป็นเงินค่าโลหิต

เขาจึงปรึกษาตกลงกันว่า ให้เอาเงินนั้นไปซื้อทุ่งช่างหม้อไว้สำหรับเป็นที่ฝังศพคนต่างบ้านต่างเมือง

เหตุฉะนั้นเขาจึงเรียกทุ่งนั้นว่า ทุ่งโลหิตจนถึงทุกวันนี้
(มัทธิว 27 : 3-8)

มัทธิว บันทึกในตอนท้ายเรื่องมรณกรรมของยูดาสว่า :

ครั้งนั้นก็สำเร็จตามพระวจนะที่ตรัสโดยเยเรมีย์ผู้เผยพระวจนะ ซึ่งว่า เขารับเงินสามสิบเหรียญซึ่งเป็นราคาของผู้นั้น ที่เผ่าพันธุ์แห่งอิสราเอลบางคนตีราคาไว้

แล้วไปซื้อทุ่งช่างหม้อ ตามที่องค์พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงบัญชาข้าพเจ้า” (มัทธิว 27 : 9-10)

นี่คือความผิดพลาดของมัทธิว เพราะไม่มีเรื่องนี้ปรากฏในพระคริสตธรรมคัมภีร์เดิมฉบับ เยเรมีย์เลยแม้แต่น้อย สิ่งที่ปรากฏในพระธรรมของเยเรมีย์คือการที่เยเรมีย์ซื้อที่นาที่อานาโรทจากฮานัมเอล ลูกพี่ลูกน้องของเยเรมีย์ ซึ่งที่นาผืนนี้อยู่ที่อานาโธทแผ่นดินเบนยามินซึ่งอยู่นอกกรุงเยรูซาเล็ม (เยเรมีย์ 32 : 1-15) และไม่ปรากฏหลักฐานใดๆ ยืนยันว่าที่นาผืนนี้ถูกเรียกว่า “ทุ่งโลหิต” เงินที่เยเรมีย์ซื้อที่นาผืนนี้คือ 17 เชเขล (เยเรมีย์ 32 : 9)

แต่ถ้อยความซึงมัทธิวอ้างนั้นอยู่ในพระคริสตธรรมเศคาริยาห์ 11 : 12-13 ซึงมีเนื้อความแตกต่างจากที่มัทธิวนำมาอ้าง กล่าวคือ “แล้วข้าพเจ้าจึงพูดกับเขาว่า “ถ้าท่านเห็นควรก็ขอค่าจ้างแก่เรา ถ้าไม่เห็นควรก็ไม่ต้อง” แล้วเขาก็ชั่งเงินสามสิบเชเขลออกให้แก่ข้าพเจ้าเป็นค่าจ้าง แล้วพระเจ้าตรัสกับข้าพเจ้าว่า “จงโยนเงินนั้นเข้าไปในคลัง (หรือให้แก่ช่างปั้นหม้อ) คือก้อนงามที่เขาจ่ายให้ข้าพเจ้า ดังนั้นข้าพเจ้าจึงเอาเงินสามสิบเชเขลโยนเข้าไปในพระคลัง ในพระนิเวศของพระเจ้า (หรือให้แก่ช่างปั้นหม้อ)

เงินสามสิบเชเขลเป็นค่าจ้างและถูกโยนเข้าไปในพระคลังในพระนิเวศของพระเจ้าตามบัญชาของพระองค์ และในสำนวนเดิมของพระคริสตธรรมคัมภีร์ฉบับภาษาไทยคือ ให้แก่ช่างปั้นหม้อ ข้อความในพระธรรมเศคาริยาห์ไม่ได้ระบุว่าไปซื้อทุ่งของช่างปั้นหม้อ และเงินจำนวนสามสิบเชเขลนั้นถูกบัญชาจากพระเจ้าให้โยนเข้าไปในพระคลังในพระนิเวศของพระเจ้า แต่เงิน 30 เหรียญที่เป็นค่าจ้างของยูดาสนั้น พวกมหาปุโรหิตลงความเห็นว่าจะใส่ไว้ในพระคลังพระนิเวศน์ของพระเจ้าไม่ได้เพราะเป็นค่าโลหิตและผิดกฏหมาย

นี่คืออีกตัวอย่างหนึ่งของความผิดพลาดของพระคริสต์ธรรมคัมภีร์ที่อ้างผิดที่และผิดเรื่อง ชะรอยมัทธิวจำได้ลางๆ ว่าพระคริสตธรรมเก่ากล่าวถึงเงินสามสิบเชเขลกับเรื่องของช่างปั้นหม้อจึงนำมาผูกเรื่องให้ประติดประต่อกับเรื่องของทุ่งโลหิตซึ่งเป็นอนุสรณ์แห่งการทรยศของยูดาส แต่ทว่ามัทธิวกลับไปอ้างที่มาของเรื่องผิด คือไปอ้างพระธรรมเยเรมีย์ แต่จริงๆ อยู่ในพระธรรมเศคาริยาห์ ซึ่งก็เป็นคนละเรื่องกันอยู่ดี อ่านถึงตรงนี้ ไม่ทราบได้ว่า คริสตชนได้ฉุกคิดในสัจธรรมบางข้อแล้วหรือยัง? คริสตชนกล่าวเองมิใช่หรือว่าพระคริสตธรรมคัมภีร์นั้น “คำสอนก็ผูกพัน (its precepts are binding) “จงอ่านพระคริสตธรรมคัมภีร์จะได้เป็นคนฉลาด” (Read it to be wise) !?

*มาระโก บันทึกว่า

ฝ่ายยูดาส อิสคาริโอท เป็นคนหนึ่งในพวกสาวกสิบสองคน ได้ไปหาพวกปุโรหิต เพื่อจะชี้พระองค์ให้เขาจับ ครั้นเขาได้ยินอย่างนั้นก็ดีใจ และสัญใจว่าจะให้เงินแก่ยูดาส แล้วยูดาสจึงคอยหาช่องที่จะชี้พระองค์ให้แก่เขา” (มาระโก 14 : 10-11)

มาระโก มิได้ระบุถึงจุดจบของยูดาสว่าเป็นอย่างไร เพราะหลังการบันทึกเรื่องราวการอายัดจับกุมพระเยซูที่สวนเกทเสมนีซึ่งมียูดาสเป็นผู้ชี้ตัวพระเยซูด้วยการจุบคำนับของเขา มาระโกก็ไม่ได้กล่าวถึงยูดาสอีกเลยจนกระทั่งจบบันทึกของเขา

* ลูกา บันทึกว่า :

เทศกาลกินขนมปังไร้เชื้อ ที่เรียกว่า ปัสกา มาใกล้แล้วพวกมหาปุโรหิตกับพวกธรรมาจารย์จะฆ่าพระองค์ก็ต้องแสวงหาช่องเพราะเขากลัวราษฎร ฝ่ายซาตานเข้าดลใจยูดาสที่เรียกว่าอิสคาริโอทที่นับเข้าในพวกสาวกสิบสองคน

ยูดาสได้ไปปรึกษากับพวกมหาปุโรหิตและพวกนายทหารรักษาพระวิหารว่า จะชี้พระองค์ด้วยวิธีใดให้เขาจับ

คนเหล่านั้นดีใจ และสัญญากับยูดาสว่าจะให้เงินยูดาสจึงยอมตกลง และคอยหาช่องที่จะชี้พระองค์ให้แก่เขาเมื่อว่างคน
(ลูกา 22 : 1-6)

ลูกามิได้บันทึกเรื่องมรณกรรมของยูดาส อิสคาริโอทเช่นเดียวกับมาระโก และไม่ได้กล่าวถึงยูดาสอีกเลยภายหลังเหตุการณ์อายัดจับกุมพระเยซูที่สวนนั้นจนกระทั่งจบบันทึกของเขา

* ยอห์น บันทึกว่า :

เมื่อยูดาสรับประทานอาหารนั้นแล้ว (อาหารที่พระเยซูจิ้มและยื่นให้ใน การกินปัสกา) ซาตานก็เข้าสิงในใจเขา พระเยซูตรัสกับเขาว่า “ท่านจะทำอะไร ก็จงทำเร็วๆ เถิด” (ยอห์น 13 : 27)

ดังนั้นเมื่อยูดาสรับอาหารชิ้นนั้นแล้ว เขาก็ออกไปทันที ขณะนั้นเป็นเวลากลางคืน” (ยอห์น 13 : 30)

ยอห์นไม่ได้กล่าวถึงมรณกรรมของยูดาสอิสคาริโอทอีกเช่นกัน ในชั้นนี้เราจึงพบว่าในพระคริสตธรรมคัมภีร์ทั้ง 4 ฉบับนั้นมีเพียงมัทธิวเท่านั้นที่บันทึกถึงมรณกรรมของยูดาสโดยระบุว่า “ยูดาสผูกคอตาย” (มัทธิว 27 : 3-8) เรื่องคงจะจบลงเพียงแค่นี้ ทว่าพระคริสตธรรมคัมภีร์ฉบับบันทึกกิจการของอัครฑูตกลับกล่าวถึงยูดาสอีกครั้ง โดยอ้างคำพูดของเปโตรว่า :

“คราวนั้นเปโตรจึงได้ยืนขึ้นท่ามกลางพี่น้องทั้งหลายซึ่งประชุมกันอยู่ มีรวมทั้งสิ้นประมาณร้อยยี่สิบคนและกล่าวว่า :

“ดูก่อนพี่น้องทั้งหลาย จำเป็นจะต้องสำเร็จตามพระคัมภีร์ ซึ่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ได้ตรัสไว้โดยโอษฐ์ของกษัตริย์ดาวิดด้วยเรื่องของยูดาส ซึ่งเป็นผู้นำทางคนที่ไปจับพระเยซู

เพราะเขานับยูดาสเข้าในพวกเรา และได้รับส่วนในภารกิจนี้ ฝ่ายผู้นี้ได้เอาบำเหน็จแห่งการผิดพลาดของตนไปซื้อที่ดิน แล้วก็ล้มคะมำลงแตกกลางตัวไส้พุงทะลักออกมาหมด (With the reward he got for his wickedness , Judas bought a field ; there he feel headlong , his body burst open and all hiss intestines spilled out)

เหตุการณ์นี้คนทั้งปวงที่อยู่ในกรุงเยรูซาเล็มก็รู้ เขาจึงเรียกที่ดินแปลงนั้นตามภาษาของเขาว่า อาเคลดามา (Akeldama) คือนาเลือด ด้วยมีคำเขียนไว้ในพระธรรมเพลงสดุดีว่า ขอให้ที่อยู่ของเขาร้างเปล่า และอย่าให้มีผู้ใดอยู่ที่นั่น และขอให้อีกผู้หนึ่งมายึดตำแหน่งของเขา” (กิจการของอัครฑูต 1 : 15-20)

คำของเปโตรระบุว่า :

– ยูดาสเอาบำเหน็จแห่งความผิดของตนไปซื้อที่ดิน

– ยูดาสล้มคะมำลงแตกกลางตัวไส้พุงทะลักออกมาหมด

– เปโตรอ้างพระธรรมที่พระวิญญาณบริสุทธิ์ตรัสไว้โดยพระโอษฐ์ของกษัตริย์ดาวิดในเรื่องของยูดาสผู้นำทางคนไปจับพระเยซูคริสต์

ตกลงจะให้เราเชื่อข้อมูลของใครระหว่าง มัทธิว กับคำของเปโตร เพราะมัทธิวบันทึกว่า

เมื่อยูดาสผู้อายัดพระเยซูเห็นว่าพระองค์ต้องปรับโทษก็กลับใจ นำเงินสามสิบเหรียญนั้นมาคืนให้แก่พวกมหาปุโรหิตไปแล้ว และยูดาสก็ทิ้งเงินนั้นไว้ในพระวิหารและจากไป แสดงว่าเงินสามสิบเหรียญยูดาสคืนพวกนั้นโดยทิ้งไว้ในพระวิหาร แล้วยูดาสจะเอาเงินจำนวนนั้นไปซื้อที่ดินได้อย่างไร เพราะเมื่อเขาจากพวกนั้นไปแล้วก็ผูกคอตาย พวกปุโรหิตจึงปรึกษากันให้เอาเงินนั้นไปซื้อทุ่งช่างหม้อไว้เป็นที่ฝังศพของคนต่างถิ่น พวกที่เอาเงินไปซื้อที่ดินแปลงนั้นคือพวกปุโรหิตไม่ใช่ยูดาส และเนื่องจากเงินนั้นเป็นค่าโลหิตจึงเรียกที่ดินที่ถูกซื้อนั้นว่า ทุ่งโลหิตหรือนาเลือด!

แต่เปโตรกล่าวว่า ยูดาสเอาเงินนั้นไปซื้อที่ดินแปลงนั้น ทั้งๆ ที่มัทธิวบันทึกว่ายูดาสทิ้งเงินนั้นไว้ในพระวิหาร พวกปุโรหิตจึงเอาเงินนั้นมาแล้วนำไปซื้อที่ดิน กลายเป็นว่าเปโตรว่าอย่างหนึ่ง มัทธิวเขียนอีกอย่างหนึ่ง ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องของคนๆ เดียวกัน จะให้เราเชื่อว่าใครพูดเรื่องจริงกันแน่ หรือจะให้เราหลับหูหลับตาเชื่อเพราะชาวคริสต์กล่าวเองมิใช่หรือว่า “จงเชื่อถือเพื่อจะได้ความรอด” (believe it to be safe) เรื่องที่ขัดกันเช่นนี้จะให้เราเชื่อถือได้อย่างไร หรือว่า ถึงอย่างไรก็ต้องเชื่อ เพราะถ้าไม่เชื่อก็ไม่รอด!

มัทธิวบันทึกว่า เมื่อออกจากพระวิหารไปแล้วหลังจากทิ้งเงินเอาไว้ ยูดาสก็ออกไปผูกคอตายไม่ได้ออกไปซื้อที่เสียหน่อย แต่เปโตรกล่าวว่า ยูดาสเอาเงินไปซื้อที่ดินแปลงนั้นแล้วล้มคะมำลงแตกกลางตัว (คือท้องแตก) แล้วไส้พุงก็ทะลักออกมาหมด อ่านคัมภีร์แล้วจะได้ฉลาดอย่างที่ชาวคริสต์ว่า ก็ขอให้คนฉลาดช่วยอธิบายเรื่องนี้ที่ว่ามันคืออะไรกันแน่ ผูกคอตายกับท้องแตกตายเป็นการตายต่างลักษณะกันโดยสิ้นเชิง

เอ! หรือว่าพอยูดาสซื้อที่ดินแปลงนั้นก็ผูกคอตาย พอดีเชือกที่ผูกไว้หลุดหรือขาดจึงหล่นลงมาท้องแตกตายคาที่ดินแปลงนั้น แล้วคำว่า “คะมำลง” เล่าจะอธิบายอย่างไรให้สมเหตุสมผลหรือว่าขณะที่ยูดาสกำลังจะผูกคอตายนั่นแหล่ะ เผอิญไปสะดุดอะไรสักอย่างจึงล้มคะมำลงท้องแตกตายหรือไม่ ก็เส้นเลือดสมองแตกฉับพลันก่อนจะผูกคอตายสำเร็จหรืออย่างไร จึงทำให้ล้มลงท้องแตกไส้พุงทะลักออกมา ถึงอย่างนี้ก็เถอะ คนที่คิดจะฆ่าตัวตายเพราะสำนึกผิดจะเอาเงินไปซื้อที่ไว้ทำไมกันเพราะรู้อยู่แก่ใจว่าจะต้องฆ่าตัวตาย!

คำที่เปโตรอ้างถึงพระธรรมเก่าเพื่อยืนยันเกี่ยวกับการตายของยูดาสนั้นก็พอฟังได้ แต่ไม่สนิทใจนัก เพราะเปโตรกล่าวว่า : “ด้วยมีคำเขียนไว้ในพระธรรมเพลงสดุดีว่าขอให้ที่อยู่ของเขาร้างเปล่า และอย่าให้ผู้ใดอยู่ที่นั่น และขอให้อีกผู้หนึ่งมายึดตำแหน่งของเขา” (กิจการอัครฑูต 1 : 20) เมื่อเปิดดูพระธรรมสดุดีจะพบว่า ข้อความของเปโตรมีสองท่อนอยู่คนละข้อกัน ถึงแม้ว่าจะอยุ่ในพระธรรมสดุดีเหมือนกัน

ท่อนที่หนึ่ง คือ “ขอให้ที่อยู่ของเขาร้างเปล่าและอย่าให้ผู้ใดอยู่ที่นั่น” อยู่ในบทที่ 69 ข้อที่ 25 เรื่องร่ำร้องเพราะความทุกข์ใจ ถึงหัวหน้านักร้อง ทำนองพลับพลึงของดาวิด ซึ่งมีข้อความว่า “ขอให้ค่ายของเขาร้างเปล่า อย่าให้ผู้ใดพักอยู่ในเต๊นท์ของเขา” ซึ่งอ่านแล้วก็เห็นว่าสำนวนต่างกันจะเนื่องด้วยการแปลหรือการถอดความเป็นภาษาไทยหรืออันหนึ่งถูกอันหนึ่งผิดก็ไม่น่าจะเกี่ยวกับที่นาซึ่งถูกซื้อด้วยเงินค่าโลหิตแต่อย่างใด

ท่อนที่สอง คือ “ขอให้อีกผู้หนึ่งมายึดตำแหน่งของเขา” อยู่ในบทที่ 109 ข้อที่ 8 เรื่อง คำร่ำร้องขอทรงแก้แค้น ถึงหัวหน้านักร้อง เพลงสดุดีของดาวิด ซึ่งมีข้อความว่า “ขอให้วันเวลาของเขาน้อย ขอให้อีกผู้หนึ่งมายึดตำแหน่งของเขา” หากถือบทเพลงสดุดีของดาวิดข้อนี้เป็นข้อธรรมเพื่อสนับสนุนข้อเสนอของเปโตรที่จะให้ที่ประชุมของผู้คนจำนวน 120 คน เลือกคนแทนยูดาส อิสคาริโอทก็คงไม่มีปัญหาแต่อย่างใดในประเด็นนี้เพราะถือเป็นพระธรรมบัญญัติ

แต่ถ้าจะถือว่าข้อความท่อนที่สองเป็นการพยากรณ์ถึงมรณกรรมของยูดาสก็ดูไม่สนิทนักเมื่อเทียบเรื่องความตายของยูดาสกับพระธรรมในบทเพลงสดุดีข้อนี้ เพราะข้อธรรมก่อนหน้านี้ระบุว่า : “ขอทรงตั้งคนอธรรมปรักปรำเขา และให้โจทย์ฟ้องเขาให้เป็นคนดี เมื่อพิจารณาคดีก็ให้เขาปรากฏว่าเป็นผู้กระทำผิด และให้คำอธิษฐานของเขาไร้ผล” (สดุดี 109 : 6-7) ซึ่งตามข้อความในพระคริสตธรรมคัมภีร์ทั้ง 4 ฉบับ ไม่มีประโยคใดบ่งชี้ว่า คนอธรรมปรักปรำยูดาส จะมีก็แต่คำทำนายของพระเยซูคริสต์ที่ว่า ยูดาสจะเป็นผู้อายัดพระองค์

ซึ่งคงไม่มีผู้ใดกล่าวว่า พระเยซูปรักปรำยูดาส และพระองค์ก็มิใช่คนอธรรมอย่างแน่นอน และยูดาสก็ไม่ได้ถูกฟ้องร้องหรือถูกนำตัวเข้าสู่การพิจารณาคดีใดๆ เลย แต่ถ้าจะมองในมุมกลับและตีความพระธรรมในบทเพลงสดุดี ข้อ 6-7 นี้ว่ายูดาส อิสคาริโอทจะถูกจับกุมและถูกปรักปรำ ถูกพิจารณาคดีแทนพระเยซูตามสมมุติฐานข้อที่ 4 นี้ และประโยคที่ว่า “ขอให้อีกผู้หนึ่งมายึดตำแหน่งของเขา” ว่าหมายถึง ยูดาสถูกจับกุมแทนพระเยซูเพราะคนพวกนั้นเข้าใจว่ายูดาสคือพระองค์ก็น่าจะเป็นสิ่งที่สมเหตุสมผลยิ่งกว่า

และเมื่ออ่านพระธรรมข้อถัดมาหลังจากข้อ 8 ซึ่งระบุว่า

“ขอให้ลูกของเขากำพร้าพ่อ และภรรยาของเขาเป็นม่าย ขอให้ลูกของเขาต้องพเนจรขอทานไป ขอให้เขาถูกขับไล่ไปจากที่สลักหักพังซึ่งเขาอาศัยอยู่” (สดุดี 109 : 9-10) ก็ไม่ทราบได้ว่า ยูดาสมีลูกมีเมียหรือไม่ เพราะพระคริสตธรรมคัมภีร์ไม่ได้กล่าวเอาไว้

ทั้งหมดที่กล่าวมาเสียยืดยาวนั้นก็เพื่อชี้ให้เห็นความเป็นไปได้และน้ำหนักของสมมุติฐานนี้ (ข้อที่ 4) เพราะความตายของยูดาสเป็นที่น่ากังขา และน่าเคลือบแคลงดังถ้อยความที่ขัดแย้งกันเองของพระคริสตธรรมคัมภีร์ที่กล่าวถึงยูดาส คือมัทธิวกับคำของเปโตรในกิจการของอัครฑูต ผนวกกับการที่พระคริสตธรรมอีก 3 ฉบับไม่มีการกล่าวถึงมรณกรรมของยูดาส ดังนั้นยูดาสอาจจะไม่ได้ผูกคอตายหรือท้องแตกตายก็เป็นได้

จึงเกิดคำถามว่า แล้วยูดาสหายไปไหน? การที่ยูดาสขาดหายไปจากสาวกทั้งสิบสองคนจึงเป็นเหตุให้เปโตรเสนอให้เลือกคนแทนยูดาส การหายไปของยูดาสย่อมให้น้ำหนักว่าเขาตายไปแล้ว และเมื่อเขามิได้ตายเพราะเหตุสองประการซึ่งขัดแย้งกันนั้น ยูดาสตายอย่างไร? คำตอบก็คือสิ่งที่บารนาบัสเขียนไว้ในพระธรรมของตนนั่นเอง ก็ขอให้ย้อนกลับไปอ่านบันทึกของบารนาบัสอีกครั้ง คงไม่เหลือบ่ากว่าแรงจนเกินไป หากคริสตชนยังคงยืนกรานว่าผู้ที่ถูกอายัดจับกุมและถูกตรึงกางเขนจนสิ้นชีพนั้นคือพระเยซูคริสต์ไม่ใช่ยูดาสหรือผู้ใดทั้งนั้น

ก็ขอจงย้อนกลับไปอ่านพระคริสตธรรมคัมภีร์อีกครั้งดังนี้

– มารกล่าวกับพระเยซูว่า “ถ้าท่านเป็นพระบุตรของพระเจ้า จงโจนลงไปเถิด เพราะพระคัมภีร์มีเขียนไว้ว่าพระเจ้าจะรับสั่งให้เหล่าฑูตสวรรค์ของพระองค์รักษาท่าน และเหล่าฑูตสวรรค์จะเอามือประคองชูท่านไว้ มิให้เท้าของท่านกระทบหิน” (มัทธิว 4 : 6) คำของมารที่มาผจญพระเยซูนำมาอ้างนั้นปรากฏอยู่ในพระธรรมเก่า บทสดุดี 91 เรื่อง พึ่งในร่มของพระมหิทธานุภาพ ข้อที่ 11-12 ว่า : “เพราะพระองค์จะรับสั่งเหล่าฑูตสวรรค์ของพระองค์ในเรื่องท่าน ให้ระแวดระวังท่านในทางทั้งปวงของท่าน เขาทั้งหลายจะเอามือประคองชูท่านไว้ เกรงว่าเท้าของท่านจะกระแทกหิน”

เมื่อมารอ้างข้อธรรมในคัมภีร์เก่า พระเยซูจึงตรัสตอบว่า : “พระคัมภีร์มีเขียนไว้อีกว่า อย่าทดลองพระองค์ผู้เป็นพระเจ้าของท่าน” ข้อธรรมที่พระเยซูตรัสแก่มารผจญนั้นปรากฏอยู่ใน เฉลยธรรมบัญญัติ 6 : 16 ซึ่งเป็นคำตักเตือนให้เชื่อฟังพระเจ้าของโมเสสว่า : “อย่าทดลองพระเยโฮวาห์ พระเจ้าของท่านทั้งหลาย ดังที่ได้ทดลองพระองค์ที่มัสสาห์” เหตุการณ์ที่ตำบลมัสสาห์ ซึ่งตำบลนี้โมเสสเรียกไว้มีความหมายว่า “การทดลอง” เพราะคนอิสราเอลกล่าวหาโมเสสที่นั่น และลองดีกับพระเจ้าว่า “พระเจ้าทรงสถิตอยู่ท่ามกลางพวกข้าพเจ้าจริงหรือ” (อพยพ 17 : 1-7)

หากพระเยซูตรัสตอบมารเช่นนั้นจริงก็มิได้หมายความว่า พระเจ้าจะไม่ทรงสำแดงมหิทธานุภาพของพระองค์เพราะในภายหลังพระเจ้าก็ทรงมีบัญชาให้โมเสสใช้ไม้เท้าตีศิลาที่ภูเขาโอเรบ น้ำก็ไหลออกมาให้ประชาชนดื่ม ในทำนองเดียวกัน เมื่อพระเจ้าจะทรงแสดงมหิทธานุภาพในการปกป้องพระเยซูคริสต์ให้พ้นจากน้ำมือของพวกยิวพระองค์ก็ย่อมทรงกระทำได้ เพราะพระเยซูคริสต์คือผู้เผยพระวจนะของพระองค์ตามความเชื่อของมุสลิม และพระองค์คือพระบุตรของพระเป็นเจ้าตามความเชื่อของคริสตชน!

– “และซาตาน ได้ผจญพระองค์อยู่ในนั้นถึงสี่สิบวัน พระองค์ทรงอยู่ในที่ของสัตว์ป่า และมีพวกฑูตสวรรค์มาปรนนิบัติพระองค์” (มาระโก 1 : 13)

– “และพระองค์ผู้ทรงใช้เรามาก็ทรงสถิตย์อยู่กับเรา พระองค์มิได้ทรงทอดทิ้งเราไว้ตามลำพัง เพราะว่าเราทำตามชอบพระทัยพระองค์เสมอ” (ยอห์น 8 : 29)

เมื่อพระเยซูทรงตรัสให้รู้ว่า พระเป็นเจ้าทรงสถิตอยู่กับพระองค์ เพราะพระองค์ถูกเรียกว่า “อิมมานูเอล” (แปลว่าพระเจ้าทรงอยู่กับเรา) – มัทธิว 1 : 23 – และยืนยันว่าพระเป็นเจ้าไม่ได้ทรงทอดทิ้งพระองค์ไว้ตามลำพัง เพราะพระองค์ทำตามชอบพระทัยของพระเป็นเจ้าเสมอ เหล่าฑูตสวรรค์ก็ปรนนิบัติพระองค์เสมอ แม้กระทั่งในคืนที่พระองค์จะถูกจับกุมพระคัมภีร์ก็ระบุว่า มีฑูตสวรรค์มาปรากฏแก่พระองค์ช่วยชูกำลังพระองค์ (ลูกา 22 : 43)

พระเยซูทรงตรัสว่า : “ท่านคิดว่าเราจะขอพระบิดาของเราไม่ได้หรือ และในครู่เดียวพระองค์จะประทานฑูตสวรรค์แก่เรากว่าสิบสองกอง” (มัทธิว 26 : 53) พระเยซูทรงสำแดงราชกิจจานุกิจมากมายทั้งรักษาคนป่วยด้วยโรคร้ายต่างๆ เสด็จเดินบนผืนน้ำได้ จำแลงพระกายได้ สาปต้นมะเดื่อได้ ห้ามพายุได้ ทำให้คนตายฟื้นคืนชีพได้ แล้วด้วยเหตุใดเล่าที่พระองค์จะรอดพ้นจากน้ำมือของพวกยิวที่ปองร้ายพระองค์ด้วยมหิทธานุภาพของพระเป็นเจ้าไม่ได้

ถ้อยคำที่พระเยซูเปล่งออกมาก่อนสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขนว่า “เอลี เอลี ลามา สะบักธานี” พระเจ้าของข้าพระองค์ พระเจ้าของข้าพระองค์ ไฉนทรงทอดทิ้งข้าพระองค์เสีย” (มัทธิว 27 : 46) จะเป็นถ้อยคำที่ออกจากพระโอษฐ์ของพระองค์ได้อย่างไร ในเมื่อพระเป็นเจ้าสถิตอยู่กับพระองค์และไม่ทรงทอดทิ้งพระองค์ ถ้อยคำเช่นนี้ย่อมบ่งชี้ว่าผู้ที่พูดออกมาย่อมมิใช่พระองค์แต่น่าจะเป็นถ้อยคำของยูดาส อิสคาริโอทตามสมมุติฐานข้อนี้นั่นเอง

5. สาวกคนหนึ่งของพระองค์ได้อาสาตายแทนพระองค์ แล้วพระผู้เป็นเจ้าทรงบันดาลให้สาวกผู้นั้นมีความคล้ายคลึงกับพระเยซูคริสต์ เมื่อพวกยิวยกพวกมาจับกุมและอายัดพระเยซูคริสต์พวกเขาก็จับกุมสาวกผู้อาสาคนนี้ไป สมมุติฐานนี้มีนักวิชาการบางท่าน เช่น ท่านอิบนุอับบาส (ร.ฎ.) รายงานเอาไว้ดังปรากฏในตัฟสีรของอิบนุกะษีรฺ เล่มที่ 1 หน้า 574

บรรดาสมมุติฐานทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นเพียงคำอธิบายเพื่อสนับสนุนความเชื่อที่ว่า พระเยซูคริสต์มิได้ถูกจับกุมและถูกอายัดตลอดจนพระองค์มิได้ถูกจับตรึงกางเขนซึ่งเป็นความเชื่อของชาวมุสลิมที่ยึดถือตามคัมภีร์อัล-กุรอาน ส่วนกรณีว่าเมื่อผู้นั้นมิใช่พระเยซูคริสต์แล้วเขาผู้นั้นที่ถูกตรึงกางเขนคือผู้ใดใน 5 ข้อนั้น กรณีนี้ถือเป็นเรื่องที่ขึ้นอยู่กับการวิเคราะห์และมุมมองของแต่ละฝ่ายซึ่งไม่จำเป็นว่าจะต้องเชื่อมุมมองของฝ่ายหนึ่งและปฏิเสธมุมมองของอีกฝ่าย

ทั้งนี้เพราะไม่มีตัวบทเจาะจงว่าผู้ที่ถูกตรึงกางเขนนั้นคือผู้ใด แต่ความเชื่อหลักคือ ผู้นั้นไม่ใช่พระเยซูอย่างแน่นอน! ส่วนคริสตชนจะไม่เชื่ออย่างที่ชาวมุสลิมเชื่อนั้นก็เป็นสิทธิของคริสตชน เราในฐานะของชาวมุสลิมคงจะไปบังคับให้คริสตชนเชื่อก็คงไม่ได้ และศาสนาอิสลามก็สอนเอาไว้อย่างชัดเจนว่าไม่มีการบังคับกันในเรื่องของศาสนาและความเชื่อ เพราะสัจธรรมนั้นปรากฏชัดและแยกออกจากความเท็จโดยเด็ดขาดแล้ว หน้าที่ของเราชาวมุสลิมก็คือนำสัจธรรมนั้นตีแผ่สู่การรับรู้ของผู้คนเท่านั้น!

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความแนะนำ

World Clock

Featured Posts

เรื่องราวของสองอารยธรรม : อารยธรรมของชาวไวกิ้งและมุสลิม

เรื่องราวของสองอารยธรรม : อารยธรรมของชาวไวกิ้งและมุสลิม โดย : Cem Nizamoglu และ Sairah Yassir-Deane ย้อนหลังไปถึงมีนาคม 2015 ข่าวเกี่ยวก...