พหุวัฒนธรรมในประวัติศาสตร์โลกมุสลิม
(อาลี เสือสมิง)บทนำ
มุสลิม คือ ผู้นับถือศาสนาอิสลามซึ่งศรัทธาต่อพระองค์อัลลอฮฺ ﷻ พระผู้ทรงสร้างสรรพสิ่งทั้งปวงที่มีความแตกต่างและความหลากหลาย ศรัทธาต่อท่านนบีมุฮัมมัด ﷺ ศาสนทูตผู้ประกาศสาส์นสุดท้ายจากพระองค์อัลลอฮฺ ﷻ สู่มนุษยชาติทุกชาติพันธุ์ สีผิว ภาษาทั่วทุกภูมิภาคของโลก นับแต่ปีค.ศ.610 และสาส์นแห่งอิสลามจะยังคงแผ่สู่ประชาคมโลกตามวิถีแห่งสันติวิธีตราบจนวันโลกาวินาศ
ปัจจุบันมีประชากรโลกที่เป็นมุสลิมนับพันล้านคนอาศัยอยู่ในประเทศต่างๆ ในทุกทวีป ประชาคมมุสลิมเป็นกลุ่มศาสนิกชนที่มีความหลากหลายในด้านวัฒนธรรมและการดำรงชีวิต แต่ความหลากหลายในเรื่องดังกล่าวต่างอยู่ในกรอบแห่งหลักคำสอนของศาสนาอิสลามและถูกหล่อหลอมให้มีอัตลักษณ์แบบหลากหลายในความเป็นหนึ่งเดียว (เอกภาพ+พหุวัฒนธรรมแบบมุสลิม)
ประชาคมมุสลิมเป็นส่วนหนึ่งของประชากรโลกและอยู่ร่วมกับพหุวัฒนธรรมอื่นอย่างปกติสุขตลอดระยะเวลานับพันปีที่ผ่านมา ในกลุ่มประเทศมุสลิมสัญชาติอาหรับยังคงมีผู้นับถือศาสนาคริสต์ราว 14 ล้านคน และในกลุ่มประเทศมุสลิมอื่นๆ ทั่วโลกยังคงมีศาสนิกชนในศาสนาอื่นๆ อาศัยอยู่เป็นจำนวนมากตราบจนทุกวันนี้ เหตุนั้นจึงเป็นข้อยืนยันได้ว่า ประชาคมมุสลิมสามารถอยู่ร่วมกับผู้คนต่างลัทธิ ศาสนา ความเชื่อ และต่างวัฒนธรรมนับแต่อดีต และผู้คนที่มิใช่มุสลิมก็สามารถอยู่ร่วมกับประชาคมมุสลิมได้ ความวุ่นวายในกลุ่มประเทศมุสลิมในช่วงทศวรรษนี้ ตลอดจนมายาคติที่ทำให้ภาพลักษณ์ของชาวมุสลิมถูกมองจากชนต่างศาสนิกในเชิงลบและบิดเบือน ย่อมมิอาจทำลายข้อเท็จจริงในประวัติศาสตร์ของชาวมุสลิมกับพลเมืองต่างวัฒนธรรมที่เคยอยู่ร่วมกันมาตลอดระยะเวลาพันกว่าปีที่ผ่านพ้นได้เลย
นิยาม : สังคมพหุวัฒนธรรม
สังคม หมายถึง คนจำนวนหนึ่งที่มีความสัมพันธ์ต่อเนื่องกันตามระเบียบกฏเกณฑ์ โดยมีวัตถุประสงค์ร่วมกัน
พหุ หมายถึง มาก, มากกว่าหนึ่ง, หลากหลาย
วัฒนธรรม หมายถึง สิ่งที่ทำให้เจริญงอกงามแก่หมู่คณะ, วิถีชีวิตของหมู่คณะ ทางวิทยาการ หมายถึง พฤติกรรมและสิ่งที่คนในหมู่ผลิตสร้างขึ้นด้วยการเรียนรู้จากกันและกัน และร่วมใช้อยู่ในหมู่พวกของตน
สังคมพหุวัฒนธรรม จึงหมายถึง ประชาคมที่มีความสัมพันธ์และความเกี่ยวเนื่องในระหว่างกันโดยประชาคมนั้นมีวิถีชีวิตของกลุ่มชนที่หลากหลาย มีการแลกเปลี่ยนและเรียนรู้ความเจริญงอกงามในระหว่างกัน ตลอดจนมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์ การใช้สอยและมีวัตถุประสงค์สำคัญร่วมกัน
อัลกุรอาน : องค์ความรู้ในเชิงพหุวัฒนธรรม
คัมภีร์อัล-กุรอาน คือพระดำรัสของพระองค์อัลลอฮฺ ﷻ ซึ่งประกาศว่ามนุษยชาติมีต้นกำเนิดจากอาดัมและหะวาอฺผู้เป็นปฐมของเผ่าพันธุ์มนุษย์ซึ่งแพร่กระจายไปทั่วแผ่นดินโลก และกลายเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่หลากหลาย และความหลากหลายของชาติพันธุ์มนุษย์เป็นบ่อเกิดของพหุวัฒนธรรม เมื่อพัฒนาการทางสังคมของมนุษย์มีความเจริญและมีการแผ่ขยายมากขึ้นตามลำดับโดยเป้าหมายในการกำหนดให้มีความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์และพหุวัฒนธรรมคือการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ทั้งนี้ การเรียนรู้ซึ่งกันและกันในระหว่างเผ่าพันธุ์ของมนุษย์ซึ่งต่างชาติพันธุ์ ต่างวัฒนธรรม และต่างวิถีการดำเนินชีวิตจะเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมและสัมฤทธิผลได้ตามเจตนารมณ์ของพระผู้ทรงสร้าง จำต้องมีองค์ประกอบดังนี้
(1) องค์ความรู้ (มะอฺริฟะฮฺ) เกี่ยวกับความหลากหลายของพหุวัฒนธรรมซึ่งเป็นผลมาจากความหลากหลายของชาติพันธุ์และพัฒนาการของสังคมมนุษย์
(2) การยอมรับ (อัล-อิอฺติรอฟ) ในความหลากหลายและความแตกต่างของกลุ่มวัฒนธรรมในความเป็นชาติพันธุ์ที่มีความต่างในด้านกายภาพ (ญิสมานียฺ) และจิตภาพ (รูหานียฺ)
(3) ขนบธรรมเนียมและจารีต (อัล-อุรฟ์) ของแต่ละกลุ่มวัฒนธรรมซึ่งมีพัฒนาการในด้านสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองการปกครอง ตลอดจนวิถีการดำเนินชีวิตของผู้คนในแต่ละกลุ่มวัฒนธรรม อันเป็นเนื้อหาในการเรียนรู้ การทำความเข้าใจ และการและเปลี่ยนในระหว่างกัน
(4) การทำความรู้จักในระหว่างกัน (อัต-ตะอารุฟ) โดยผ่านกระบวนการปฏิสัมพันธ์ในเชิงบวกและการสร้างสรรค์ ตลอดจนการสานเสวนาแบบสันติวิธี องค์ประกอบทั้ง 4 ประการถูกประมวลอยู่ในถ้อยความที่ว่า “เพื่อที่สูเจ้าจะได้เรียนรู้และทำความรู้จักซึ่งกันและกัน” ดังที่อัล-กุรอานได้ระบุว่า:
﴾ يَـٰٓأَيُّهَا ٱلنَّاسُ إِنَّا خَلَقْنَـٰكُم مِّن ذَكَرٍ وَأُنثَىٰ وَجَعَلْنَـٰكُمْ شُعُوبًا وَقَبَآئِلَ لِتَعَارَفُوٓا۟ ۚ إِنَّ أَكْرَمَكُمْ عِندَ ٱللَّـهِ أَتْقَىٰكُمْ ﴿
الحجرات : ١٣
“โอ้ มนุษยชาติ แท้จริงเราได้สร้างสูเจ้าจากชายและหญิง และเราได้บันดาลให้สูเจ้าเป็นกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าเพื่อที่สูเจ้าจะได้เรียนรู้ซึ่งกันและกัน แท้จริงผู้ที่มีเกียรติมากที่สุดของสูเจ้า ณ พระองค์อัลลอฮฺคือผู้ที่สังวรตนมากที่สุดของสูเจ้า แท้จริงพระองค์อัลลอฮฺนั้นทรงรู้ยิ่ง อีกทั้งทรงทราบยิ่ง”
(บทอัล-หุญุรอต: 13)
﴾ لِكُلٍّۢ جَعَلْنَا مِنكُمْ شِرْعَةً وَمِنْهَاجًا ۚ وَلَوْ شَآءَ ٱللَّـهُ لَجَعَلَكُمْ أُمَّةً وَٰحِدَةً وَلَـٰكِن لِّيَبْلُوَكُمْ فِى مَآ ءَاتَىٰكُمْ ۖ فَٱسْتَبِقُوا۟ ٱلْخَيْرَٰتِ ۚ إِلَى ٱللَّـهِ مَرْجِعُكُمْ جَمِيعًا فَيُنَبِّئُكُم بِمَا كُنتُمْ فِيهِ تَخْتَلِفُونَ ﴿
المائدة : ٤٨
“สำหรับทั้งหมดจากสูเจ้า เราได้วางบัญญัติและมรรคาอันชัดแจ้งไว้แล้ว และหากว่าพระองค์อัลลอฮฺทรงมีพระประสงค์แล้วไซร้ พระองค์ย่อมทรงบันดาลให้สูเจ้าเป็นประชาคมเดียวกัน แต่ (ที่สูเจ้ามีความแตกต่างกันในการถือตามบัญญัติและมรรคานั้น) เพื่อที่พระองค์จะได้ทรงทดสอบสูเจ้าในสิ่งที่พระองค์ทรงนำ (สิ่งนั้น) มายังสูเจ้า ดังนั้นสูเจ้าจงแข่งกันใน (การประกอบ) คุณงามความดีเถิด ยังอัลลอฮฺคือที่กลับคืนของสูเจ้าทั้งหมด แล้วพระองค์จะทรงบอกสูเจ้าถึงสิ่งที่สูเจ้าเคยมีความแตกต่างกันในสิ่งนั้น”
(อัล-มาอิดะฮฺ : 48)
ในศาสนาอิสลามมีหลักคำสอนที่บ่งถึงการยอมรับความแตกต่างและความหลากหลายในเชิงพหุวัฒนธรรมทั้งในด้านกายภาพ พฤติกรรม ความเชื่อ และวิถีการดำเนินชีวิตของผู้คนซึ่งทั้งหมดเป็นเผ่าพันธุ์ของอาดัม (อะลัยฮิสลาม)
﴾ وَمِنْ ءَايَـٰتِهِۦ خَلْقُ ٱلسَّمَـٰوَٰتِ وَٱلْأَرْضِ وَٱخْتِلَـٰفُ أَلْسِنَتِكُمْ وَأَلْوَٰنِكُمْ ۚ إِنَّ فِى ذَٰلِكَ لَـَٔايَـٰتٍ لِّلْعَـٰلِمِينَ ﴿
الروم : ٢٢
“และส่วนหนึ่งจากบรรดาสัญญาณของพระองค์คือการสร้างชั้นฟ้าและแผ่นดิน ตลอดจนความแตกต่างของภาษาพูดและสีผิวของสูเจ้า แท้จริงในสิ่งดังกล่าวนั้นคือบรรดาสัญญาณสำหรับบรรดาผู้รู้”
(อัร-รูม : 22)
ความแตกต่างของภาษาที่ประชากรโลกใช้ในการสื่อสารในรูปแบบต่างๆ และความหลากหลายของสีผิวเป็นข้อเท็จจริงทางกายภาพที่รับรู้กันและไม่มีผู้ใดปฏิเสธข้อเท็จจริงนี้ได้ เมื่อประชากรโลกมีสีผิวและภาษาต่างกัน วัฒนธรรมและวิถีของการดำรงชีวิตจึงมีความแตกต่างกัน ศาสนาอิสลามจึงยอมรับข้อเท็จจริงดังกล่าว และถือว่าความแตกต่างของภาษาและสีผิวเป็นสัญญาณที่บ่งชี้ถึงมหิทธานุภาพและพระปรีชาญาณของพระองค์อัลลอฮฺพระผู้ทรงสร้าง
﴾ وَلَوْ شَآءَ رَبُّكَ لَجَعَلَ ٱلنَّاسَ أُمَّةً وَٰحِدَةً ۖ وَلَا يَزَالُونَ مُخْتَلِفِينَ ﴿
هود : ١١٨
“และมาตรแม้นพระผู้อภิบาลของสูเจ้าทรงมีพระประสงค์แล้วไซร้ พระองค์ก็ย่อมทรงบันดาลให้มวลมนุษย์เป็นประชาคมเดียวกัน (คือถือในศาสนาเดียวกัน) และมวลมนุษย์ยังคงมีความแตกต่างกัน (เพราะความแตกต่างในด้านความเชื่อของมนุษย์เป็นไปตามพระประสงค์ของพระองค์”
(ฮูด : 118)
﴾ لَآ إِكْرَاهَ فِى ٱلدِّينِ ۖقَد تَّبَيَّنَ ٱلرُّشْدُ مِنَ ٱلْغَىِّ ﴿
البقرة : ٢٠٦
“ไม่มีการบังคับในการถือศาสนา แน่แท้ความถูกต้องเป็นที่ประจักษ์ชัดเจนแล้วจากความหลงผิด”
(อัล-บะเกาะเราะฮฺ : 256)
ประวัติศาสตร์และภูมิศาสตร์ประชากร คาบสมุทรอาหรับ
คาบสมุทรอาหรับ ยุคเริ่มต้นการประกาศศาสนาอิสลามของท่านนบีมุฮัมมัด ﷺ ณ นครมักกะฮฺ ปีค.ศ.610 ถือเป็นภูมิภาคของโลกที่มีความหลากหลายทั้งในด้านภูมิศาสตร์และสังคมศาสตร์ วิถีชีวิตของผู้คนในคาบสมุทรอาหรับเป็นพหุวัฒนธรรมในหลายมิติ เช่น การดำรงชีวิตแบบสังคมเมือง (อัล-หะเฏาะรียฺ) ในนครมักกะฮฺ มะดีนะฮฺ อัฏ-ฏออิฟ และศอนอาอฺ เป็นต้น การดำรงชีวิตแบบเร่ร่อน (อัล-บะดะวียฺ) ของชนเผ่าเบดูอิน การประกอบอาชีพค้าขายแบบกองคาราวานสินค้าในช่วงฤดูร้อน (อัศ-ศอยฟียฺ) และฤดูหนาว (อัช-ชัตวียฺ) การเลี้ยงปศุสัตว์ในทุ่งหญ้า และการประกอบอาชีพหัตถกรรม, การถือในลัทธิและศาสนาซึ่งมีทั้งกลุ่มพหุเทวนิยม คริสต์ศาสนา ศาสนายูดาย และศาสนาโซโรอัสเตอร์ (มะญูสียะฮฺ) เป็นต้น
นครมักกะฮฺ : คือสถานที่กำเนิดของท่านนบีมุฮัมมัด ﷺ และการประกาศศาสนาของท่านเริ่มต้นขึ้นที่นครแห่งนี้ นครมักกะฮฺเป็นชุมทางสำคัญในเส้นทางการค้าสมัยโบราณของคาบสมุทรอาหรับซึ่งมีเส้นทางหลักถึง 9 เส้นทาง พลเมืองในนครมักกะฮฺดำรงชีวิตแบบกึ่งสังคมเมืองมีเผ่ากุรอยช์เป็นผู้นำโดยเผ่ากุรอยช์มี 2 ตระกูลใหญ่ ประกอบด้วย ตระกูลอุมัยยะฮฺ และตระกูลฮาชิม นครมักกะฮฺเป็นศูนย์กลางทางจิตวิญญาณของชนเผ่าอาหรับในคาบสมุทรอาหรับเพราะเป็นที่ตั้งของอัล-กะอฺบะฮฺ (อาคารรูปทรงสี่เหลี่ยม) และเป็นที่ตั้งของสถานที่ประกอบพิธีกรรมฮัจญ์
นครมักกะฮฺจึงเป็นจุดบรรจบของพหุวัฒนธรรมที่ผ่านกองคาราวานสินค้าและการประกอบพิธีกรรมฮัจญ์ซึ่งมีมาก่อนการประกาศศาสนาของท่านนบีมุฮัมมัด ﷺ ส่วนหนึ่งจากผลพวงดังกล่าวคือ ภาษาอาหรับที่ชาวกุรอยช์ได้รับมาจากชนเผ่าอื่นๆ และนำมาสังเคราะห์จนตกผลึก ทำให้ภาษาอาหรับของชาวกุรอยช์มีพัฒนาการจนถึงจุดสูงสุดทั้งในด้านความร่ำรวยของคำศัพท์ ไวยากรณ์ วาทศิลป์ และบทกวี เหตุนั้นคัมภีร์อัล-กุรอานจึงถูกประทานลงมาเป็นภาษาอาหรับในสำเนียงของชนเผ่ากุรอยช์
กลุ่มศาสนาและลัทธิความเชื่อในคาบสมุทรอาหรับ
ยุคสมัยก่อนอิสลาม (อัล-ญาฮิลียะฮฺ) และช่วงการประกาศศาสนาอิสลามของท่านนบีมุฮัมมัด ﷺ ในคาบสมุทรอาหรับมีกลุ่มศาสนาและลัทธิความเชื่อหลากหลาย ชนเผ่าอาหรับส่วนใหญ่มีความเชื่อแบบพหุเทวนิยมและกราบไหว้รูปเคารพ เฉพาะในนครมักกะฮฺ มีเทวรูปสำคัญที่ชาวกุรอยช์และชนเผ่าอาหรับเคารพสักการะ เช่น ฮุบัล, มะนาต, อัล-ลาต, อัล-อุซซา, อิสาฟ, นาอิละฮฺ เป็นต้น
ในช่วงการประกาศศาสนาอิสลามของท่านนบีมุฮัมมัด ﷺ ณ นครมักกะฮฺตลอดระยะเวลา 13 ปี ท่านประกาศศาสนาบนพื้นฐานของความไม่เกี่ยวข้องระหว่างลัทธิพหุเทวนิยมและความเชื่อในเอกานุภาพของศาสนาอิสลาม ดังปรากฏในคัมภีร์อัล-กุรอานว่า
قُلْ يَـٰٓأَيُّهَا ٱلْكَـٰفِرُونَ ﴿١﴾ لَآ أَعْبُدُ مَا تَعْبُدُونَ ﴿٢﴾ وَلَآ أَنتُمْ عَـٰبِدُونَ مَآ أَعْبُدُ ﴿٣﴾ وَلَآ أَنَا۠ عَابِدٌ مَّا عَبَدتُّمْ ﴿٤﴾ وَلَآ أَنتُمْ عَـٰبِدُونَ مَآ أَعْبُدُ ﴿٥﴾ لَكُمْ دِينُكُمْ وَلِىَ دِينِ ﴿٦
الكافرون : ١-٦
“(โอ้ศาสนทูต) จงกล่าวเถิด โอ้บรรดาผู้ปฏิเสธ * ฉันจะไม่เคารพสักการะสิ่งที่พวกท่านเคารพสักการะ (ในปัจจุบัน) * และพวกท่านไม่ใช่ผู้เคารพสักการะต่อสิ่งที่ฉันเคารพสักการะ (ในอดีต) * และพวกท่านมิใช่ผู้เคารพสักการะ (ในอนาคต) ต่อสิ่งที่ฉันเคารพสักการะ (ในปัจจุบันและอนาคต) * สำหรับพวกท่านคือศาสนาของพวกท่านและสำหรับฉันคือศาสนาของฉัน *”
(อัล-กาฟิรูน:1-6)
﴾ ٱتَّبِعْ مَآ أُوحِىَ إِلَيْكَ مِن رَّبِّكَ ۖ لَآ إِلَـٰهَ إِلَّا هُوَ ۖ وَأَعْرِضْ عَنِ ٱلْمُشْرِكِينَ ﴿
“โอ้ ศาสนทูต ท่านจงปฏิบัติตามสิ่งที่ถูกดลใจมายังท่านจากพระผู้อภิบาลของท่าน ไม่มีพระเจ้าอื่นใดที่ถูกเคารพสักการะโดยเที่ยงแท้นอกจากพระองค์ และท่านจงผินออกจากบรรดาผู้ตั้งภาคี”
(อัล-อันอาม : 106)
﴾ وَلَا تَسُبُّوا۟ ٱلَّذِينَ يَدْعُونَ مِن دُونِ ٱللَّـهِ فَيَسُبُّوا۟ ٱللَّـهَ عَدْوًۢا بِغَيْرِ عِلْمٍ ﴿
“และสูเจ้าอย่าได้บริภาษบรรดาสิ่งที่พวกเขา (เหล่าผู้ตั้งภาคี) วิงวอนขออื่นจากพระองค์อัลลอฮฺ เพราะ (การบริภาษสิ่งเหล่านั้น) จะเป็นเหตุให้พวกเขา (เหล่าผู้ตั้งภาคี) บริภาษพระองค์อัลลอฮฺโดยละเมิดด้วยสิ่งที่มิใช่ความรู้ชัด”
(อัล-อันอาม : 108)
ในคาบสมุทรอาหรับ ศาสนาคริสต์ได้แพร่หลายในหมู่ชนเผ่าอาหรับซึ่งตั้งถิ่นฐานอยู่ในแคว้นชาม (ซีเรีย) และทางตอนเหนือของคาบสมุทรอาหรับ เช่น ชนเผ่ากัลบ์ อิบนุ วับเราะฮฺ, ตัฆลิบ อิบนุ วาอิล, อัน-นะมิรฺ อิบนุ กอสิฏ, ฏ็อยยิอฺ และตระกูลกุฎออะฮฺบางส่วน เช่น ญุซาม อิบนุ อะดียฺ, บะลียฺ อิบนุ อัมรฺ และบุลกีน เป็นต้น
ส่วนชนเผ่าอาหรับที่ใหญ่ที่สุดซึ่งถือในศาสนาคริสต์นิกายโมโนฟิสต์ก่อนยุคอิสลามคือพวกเฆาะสาสินะฮฺที่สวามิภักดิ์ต่อจักวรรดิ์โรมันไบแซนไทน์ ศาสนาคริสต์ยังแพร่หลายในแคว้นนัจญ์รอนทางตอนเหนือของยะมัน (เยเมน) และพวกมะนาซิเราะฮฺทางตอนเหนือคาบสมุทรอาหรับซึ่งสวามิภักดิ์ต่อจักวรรดิ์เปอร์เซียก็ถือในศาสนาคริสต์เช่นกัน
สำหรับชาวยิวได้ตั้งหลักแหล่งอยู่ในนครยัษริบ (นครมะดีนะฮฺ) 3 เผ่าด้วยกันคือ ก็อยนุกออฺ, อัน-นะฎีรฺ และกุรอยเซาะฮฺ รวมถึงชาวยิวในคอยบัรฺและตัยมาอฺ ชาวยิวในช่วงก่อนการอพยพ (ฮิจญ์เราะฮฺ) ของท่านนบีมุฮัมมัด ﷺ เป็นพันธมิตรกับชาวอาหรับพื้นเมืองเผ่าเอาวฺส์และค็อซรอจญ์
วัฒนธรรมและหลักปฏิบัติของชาวยิวในคัมภีร์อัต-เตารอตได้มีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตของชาวอาหรับพื้นเมืองทั้ง 2 เผ่าในนครยัษริบ (นครมะดีนะฮฺ) เนื่องจากชาวยิวมีธรรมบัญญัติจากคัมภีร์เป็นของตนเอง มีปุโรหิตและธรรมาจารย์ที่ทำหน้าที่ในการประกอบพิธีกรรมและศาสนกิจในมิดรอส (ธรรมศาลา) ตลอดจนการตัดสินชำระความตามที่คัมภีร์อัต-เตารอตบัญญัติ ชาวอาหรับเผ่าเอาวฺส์และค็อซรอจญ์จึงมองชาวยิวว่าเป็นกลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมสูงกว่าและบ่อยครั้งที่ชาวอาหรับได้อาศัยปุโรหิตและธรรมาจารย์ชาวยิวในการตัดสินและชำระคดีคดีความที่เกิดการพิพาทในระหว่างชาวอาหรับด้วยกัน
ในคาบสมุทรอาหรับมีศาสนาโซโรอัสเตอร์ (มะญูสียะฮฺ) แพร่หลายอยู่ในยะมัน (เยเมน) และโอมาน
คาบสมุทรอาหรับตั้งอยู่ระหว่างการแผ่อิทธิพลของ 2 จักวรรดิ์ใหญ่ คือ จักวรรดิ์เปอร์เซีย วงศ์แสดสานิด (ค.ศ.224-651) ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของคาบสมุทรอาหรับ และจักรวรรดิ์โรมันไบแซนไทน์ (ค.ศ.324-1453) ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของคาบสมุทรอาหรับ
จักรวรรดิ์เปอร์เซียแผ่อำนาจสู่อีรักและเขตอัล-ญะซีเราะฮฺทางตอนเหนือของคาบสมุทรอาหรับ (ด้านทิศตะวันออก) และบะห์เรน, โอมาน ตลอดจนยะมัน (เยเมน) อารยธรรมเปอร์เซียมีอิทธิพลต่อชาวอาหรับในด้านภาษา วรรณกรรม การปกครอง พิชัยสงคราม และการแพทย์ซึ่งมีความเจริญก้าวหน้าในนครญุนดีสาปูรฺ แคว้นคูซิสตาน กล่าวกันว่า อัล-หาริษ อิบนุ กะละดะฮฺ (เสียชีวิตค.ศ.670) นายแพทย์ชาวอาหรับที่อยู่ร่วมสมัยกับท่านนบีมุฮัมมัด ﷺ เคยศึกษาวิชาแพทย์ในนครญุนดีสาปูรฺ อิทธิพลทางภาษาของอารยธรรมเปอร์เซียคือคำศัพท์จำนวนมากที่ชาวอาหรับได้นำมาใช้และมีปรากฏคำศัพท์เปอร์เซีย (ภาษาฟาริสียฺ) ที่กลายเป็นคำอาหรับจำนวนมากในคัมภีร์อัล-กุรอาน
จักรวรรดิ์โรมันไบแซนไทน์แผ่อำนาจสู่แคว้นชามทางตอนเหนือของคาบสมุทรอาหรับ (ด้านทิศตะวันตก) แคว้นชาม ดินแดนทางตอนใต้ของคาบสมุทรอนาโตเลีย (ตุรกี) ซีเรีย เลบานอน จอร์แดน และปาเลสไตน์ อาณาเขตของจักรวรรดิ์โรมันไบแซนไทน์ยังรวมถึงคาบสมุทรไซนาย อียิปต์ และแอฟริกาเหนือ ชาวอาหรับในแคว้นชามได้รับอิทธิพลของโรมัน-กรีกในด้านการปกครอง ภาษา ศาสนา และศิลปะสถาปัตยกรรม
ในยุคก่อนอิสลามกองคาราวานสินค้าของชาวอาหรับจะมุ่งหน้าในฤดูร้อนเพื่อทำการค้ากับพลเมืองอาหรับและโรมันในแคว้นชาม ท่านนบีมุฮัมมัด ﷺ เคยเดินทางสู่แคว้นชามพร้อมกับอบูฏอลิบ ลุงของท่านในขณะเยาว์วัย และเมื่อครั้งที่ท่านเข้าสู่วัยหนุ่มก่อนการสมรสกับพระนางเคาะดีญะฮฺ (ร.ฎ.)
การผ่องถ่ายและแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมของผู้คนต่างดินแดนในอดีตจะผ่านการค้าแบบกองคาราวานที่ล่องสินค้าจากดินแดนหนึ่งสู่อีกดินแดนหนึ่ง เส้นทางการค้าทั้งทางบก (เช่น เส้นทางสายไหม) และทางทะเลหรือพาณิชย์นาวี (เช่น เส้นทางสายเครื่องเทศ) เปรียบเสมือนเครือข่ายที่เชื่อมต่อกันในชุมทางหรือสถานีทางการค้าจึงเป็นจุดบรรจบของวัฒนธรรมที่หลากหลายและเป็นแหล่งที่ผู้คนต่างวัฒนธรรมมาพบปะกันจนเกิดพหุวัฒนธรรม ซึ่งสภาพการณ์ดังกล่าวยังคงมีพัฒนาการสืบต่อมาแม้ภายหลังการอุบัติขึ้นของศาสนาอิสลามในคาบสมุทรอาหรับ
และความเจริญรุ่งเรืองของอารยธรรมอิสลามในช่วงยุคกลางส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่ชาวมุสลิมในดินแดนที่อยู่ในเส้นทางการค้าได้เรียนรู้และแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกับชนต่างถิ่น ความเป็นพหุวัฒนธรรมจึงเป็นเอกลักษณ์ของอารยธรรมอิสลามประการหนึ่งซึ่งรวมผู้คนต่างวัฒนธรรมในดินแดนทั่วโลกอิสลามเข้าไว้ด้วยกัน
พหุวัฒนธรรมในสายตระกูล
ท่านนบีมุฮัมมัด ﷺ เป็นชาวอาหรับในตระกูลกุรอยช์ที่สืบเชื้อสายถึงท่านนบีอิสมาอีล (อะลัยฮิสสลาม) ซึ่งเป็นบุตรคนหัวปีของท่านนบีอิบรอฮีม (อะลัยฮิสสลาม) กับพระนางฮาญัรฺ ท่านนบีอิบรอฮีม (อะลัยฮิสสลาม) เป็นชาวเมืองอู๊รฺในดินแดนเมโสโปเตเมีย (อีรัก) ส่วนพระนางฮาญัรฺเป็นสตรีชาวอียิปต์ และเมื่อท่านนบีอิสมาอีล (อะลัยฮิสสลาม) เติบใหญ่ที่นครมักกะฮฺ ท่านได้สมรสกับสตรีในชนเผ่าญุรฺฮุม ซึ่งเป็นชาวอาหรับแท้ที่ย้ายถิ่นฐานจากยะมัน (เยเมน) มาอยู่ที่นครมักกะฮฺ และบรรพบุรุษของตระกูลกุรอยช์คือท่านอัดนาน เป็นผู้ที่สืบเชื้อสายถึงท่านนบีอิสมาอีล (อะลัยฮิสสลาม)
กลุ่มชาติพันธุ์อาหรับแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ
1) อัล-อาริบะฮฺ คือชาวอาหรับเดิมในแคว้นยะมัน (เยเมน) ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากบรรพบุรุษเกาะหฺฏอน
2) อัล-มุสตะอฺริบะฮฺ คือชาวอาหรับที่เป็นพลเมืองในแคว้นอัล-หิญาซและแคว้นนัจญด์ เป็นกลุ่มที่สืบเชื้อสายถึงอัดนานซึ่งเป็นลูกหลานของท่านนบีอิสมาอีล (อะลัยฮิสสลาม) และท่านนบีมุฮัมมัด ﷺ สืบเชื้อสายถึงอัดนาน
เฉพาะการสืบเชื้อสายของท่านนบีมุฮัมมัด ﷺ ถึงท่านนบีอิบรอฮีม (อะลัยฮิสสลาม) จะมีชาติพันธุ์ที่หลากหลายร่วมผสมพงษ์อยู่ ได้แก่ คัลดาเนียน (เมโสโปเตเมีย-อีรัก) ค็อปติก (อียิปต์) อาหรับแท้ (ญุรฺฮุม) และอาหรับลูกผสม (อัดนานียูน) ความเป็นพหุวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ที่เป็นเซมิติก (อัส-สามียะฮฺ) มากกว่าหนึ่งกลุ่มได้กลายเป็นสายตระกูลของท่านนบีมุฮัมมัด ﷺ และพลเมืองอาหรับในคาบสมุทรอาหรับ
เหตุนี้จึงกล่าวได้ว่าในสายเลือดของท่านนบีมุฮัมมัด ﷺ ที่ย้อนกลับไปสู่บรรพบุรุษคือท่านนบีอิบรอฮีม (อะลัยฮิสสลาม) มีความเป็นพหุวัฒนธรรมอย่างชัดเจน ทั้งนี้ยังไม่นับรวมเชื้อสายของท่านนบีอิบรอฮีม (อะลัยฮิสสลาม) ผ่านท่านนบีอิสหาก (อะลัยฮิสสลาม) และท่านนบียะอฺกู๊บ (อะลัยฮิสสลาม) ซึ่งเป็นบรรพบุรุษของพงษ์พันธุ์อิสราเอล (บะนู อิสรออีล) ที่เป็นชาวยิวและชาวคริสต์ในยุคก่อนการประกาศศาสนาของท่านนบีมุฮัมมัด ﷺ เพราะหากนับรวมเชื้อสายของฝ่ายนี้เข้าไปด้วยก็ยิ่งชี้ชัดความเป็นพหุวัฒนธรรมมากขึ้นไปอีก
การแผ่อิทธิพลของ 2 มหาอำนาจในคาบสมุทรอาหรับ
ในคริสตศตวรรษที่ 6 (ปลายสมัยอัล-ญาฮิลียะฮฺ) ดินแดนทางตอนเหนือของคาบสมุทรอาหรับเป็นภูมิภาคแบบกึ่งทะเลทรายมีอาณาเขตกว้างใหญ่ที่ตั้งอยู่ระหว่างจักรวรรดิ์เปอร์เซียและจักรวรรดิ์โรมันไบแซนไทน์ ชาวอาหรับเรียกดินแดนส่วนนี้ว่า “บาดิยะตุชชาม” (เขตทุรกันดารของแคว้นชาม) เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่สองจักวรรดิ์แข่งขันกันแผ่อำนาจเพื่อยึดครอง ดินแดนบาดิยะตุชชามมีพื้นที่ติดต่อกับดินแดนอัล-ฮิลาล อัล-เคาะศีบ (จันทร์เสี้ยวสมบูรณ์)
ฝ่ายจักวรรดิ์เปอร์เซียต้องการยึดครองดินแดนส่วนนี้เพื่อเปิดเส้นทางสู่เมืองท่าทางการค้าริมฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ส่วนฝ่ายจักรวรรดิ์โรมันไบแซนไทน์ได้ย้ายราชธานีจากกรุงโรมสู่นครคอนสแตนติโนเปิ้ล นับตั้งแต่ค.ศ.ที่ 330 จึงถือว่าการแผ่อิทธิพลของจักรวรรดิ์เปอร์เซียสู่ดินแดนบาดิบะตุชชาม และอัล-ฮิลาล อัล-เคาะศีบเป็นภัยคุกคามต่อจักรวรรดิ์โรมันไบแซนไทน์ การทำสงครามขับเคี่ยวระหว่าง 2 มหาอำนาจของโลกยุคก่อนอิสลามจึงเป็นสงครามตัวแทนโดยอาศัยชนเผ่าอาหรับที่ทรงอิทธิพล 2 กลุ่มได้แก่ ชนเผ่าตะนูคียูนหรือลัคมียูนซึ่งสวามิภักดิ์ต่อจักรวรรดิ์เปอร์เซีย เรียกผู้ปกครองชาวอาหรับกลุ่มนี้ว่า “วงศ์อัล-มะนาซิเราะฮฺ” และชนเผ่าอัล-เฆาะสาสินะฮฺหรือวงศ์อาล ญัฟนะฮฺ ซึ่งสวามิภักดิ์ต่อจักรวรรดิ์โรมันไบแซนไทน์ ดินแดนทางตอนเหนือคาบสมุทรอาหรับจึงเป็นเขตอิทธิพลของวัฒนธรรมเปอร์เซียและโรมันตะวันออกที่มีชนเผ่าอาหรับฝ่ายเหนือทั้ง 2 กลุ่มเป็นตัวแทนของแต่ละฝ่าย
ดินแดนทางตอนใต้ของคาบสมุทรอาหรับ ในแคว้นยะมัน (เยเมน) กลุ่มชาวยิวได้อพยพจากดินแดนที่อยู่ใต้อาณัติของจักรวรรดิ์โรมันภายหลังจักรวรรดิ์โรมันยอมรับคริสตศาสนาอย่างเป็นทางการแล้ว โดยกลุ่มชาวยิวได้ตั้งหลักแหล่งอยู่ในดินแดนของพวกหิมยัรฺ ซึ่งเป็นกลุ่มอำนาจเก่าในแคว้นยะมัน ต่อมาในคริสตศตวรรษที่ 6 กษัตริย์ซุนนูวาสได้เข้ารีตในศาสนายูดายและเริ่มพิพาทกับชาวคริสต์ที่เข้ามาก่อนหน้านั้นแล้วโดยผ่านเส้นทางการค้าจากโรมันไบแซนไทน์และเอธิโอเปีย ทั้งนี้คณะทูตของโรมันได้เดินทางมาถึงยะมันพร้อมกับคริสตศาสนาในปีค.ศ. 356 และมีการจัดตั้งคริสจักรขึ้น 3 แห่งในดินแดนของพวกหิมยัรฺ
ต่อมาในปีค.ศ.ที่ 500 พลเมืองในเขตนัจญ์รอนก็เข้ารีตในคริสตศาสนาโดยบาทหลวงฟีโมน ซึ่งเดินทางมาจากแคว้นชาม และในคริสตศตวรรษที่ 6 กษัตริย์ซุนนูวาส อัล-หิมยะรียฺได้เข้ารีตในศาสนายูดาย และได้รับการสนับสนุนจากจักรวรรดิ์เปอร์เซีย กษัตริย์ซุนนูวาสได้กดขี่ชาวคริสต์ในเมืองนัจญ์รอนและเผาชาวคริสต์ในเหตุการณ์ของชาวคันคู (อัศหาบ อัล-อุคดูค) ปีค.ศ. 523 ซึ่งถูกระบุถึงในคัมภีร์อัล-กุรอานบทอัล-บุรูจญ์
หลังเหตุการณ์ชาวคันคู จักรพรรดิ์จัสติเนียนแห่งโรมันไบแซนไทน์เข้าแทรกแซงแคว้นยะมันโดยบัญชาให้กษัตริย์เนกุส (อัน-นะญาชียฺ) แห่งอัล-หะบะชะฮฺ (เอธิโอเปีย) ส่งกองทัพข้ามทะเลแดงภายใต้การนำทัพของอัรยาฏเพื่อขับไล่กษัตริย์ซุนนูวาสและยึดครองแคว้นยะมัน ต่อมาอับเราะฮะฮฺ อัล-อัชร็อมก็ปกครองแคว้นยะมันต่อจากแม่ทัพอัรยาฏ โดยแคว้นยะมันอยู่ใต้อาณัติของเอธิโอเปียนับแต่ปีค.ศ. 525 และในปีค.ศ. 571 อับเราะฮะฮฺ อัล-อัชร็อมได้ยกกองทัพช้างเพื่อหวังทำลายอัล-กะอฺบะฮฺในนครมักกะฮฺ แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ เหตุการณ์ของกองทัพช้างถูกระบุถึงในคัมภีร์อัล-กุรอานบทอัล-ฟีล และในปีค.ศ. 571 อันเป็นปีช้าง ท่านนบีมุฮัมมัด ﷺ ได้ถือกำเนิด
และในปีค.ศ. 575 สัยฟ์ บุตร ซียะซันได้รับการสนับสนุนจากคุสโรว์ อะนูชัรวาน แห่งจักรวรรดิ์เปอร์เซียในการต่อสู้และขับไล่ชาวเอธิโอเปียซึ่งมีจักวรรดิ์โรมันหนุนหลังออกจากดินแดนยะมัน ชนเผ่าอาหรับในคาบสมุทรอาหรับจึงส่งคณะผู้แทนเพื่อไปแสดงความยินดีกับสัยฟ์ บุตร ซียะซัน และคณะผู้แทนของตระกูลกุรอยช์จากนครมักกะฮฺมีท่านอับดุลมุฏเฏาะลิบเป็นผู้นำในครั้งนั้น อับดุลมุฏเฏาะลิบคือปู่ของท่านนบีมุฮัมมัด ﷺ นั่นเอง
พหุวัฒนธรรมในหมู่สาวกของท่านนบีมุฮัมมัด ﷺ
บรรดาสาวก (เศาะหาบะฮฺ) ของท่านนบีมุฮัมมัด ﷺ มิได้มีแต่เฉพาะชนชาติอาหรับเท่านั้น แต่ในบรรดาสาวกคนสำคัญของท่านนบีมุฮัมมัด ﷺ มีบุคคลต่างเชื้อชาติและต่างวัฒนธรรมได้ศรัทธาต่อท่านนบีมุฮัมมัด ﷺ ทั้งในช่วงการประกาศศาสนา ณ นครมักกะฮฺและภายหลังการอพยพ (ฮิจญ์เราะฮฺ) สู่นครมะดีนะฮฺ อาทิ
1) บรรดาสาวกทั้ง 4 ท่านได้แก่ อบูบักรฺ, อุมัรฺ, อุษมาน และอะลี (เราะฎิยัลลอฮุอันฮุม) เป็นชาวอาหรับร่วมเชื้อสายกับท่านนบีมุฮัมมัด ﷺ ในตระกูลกุรอยช์
2) ท่านบิล๊าล อิบนุ เราะบาหฺ เป็นทาสผิวดำชาวเอธิโอเปียน
3) ท่านศุฮัยบฺ อิบนุ สินาน เป็นชาวรูม (โรมัน)
4) ท่านสัลมาน อัล-ฟาริสียฺ เป็นชาวเปอร์เซียน
5) ท่านอับดุลลอฮฺ อิบนุ สลาม และบรรดาสหายของท่านที่เป็นชาวยิวในนครมะดีนะฮฺ เป็นต้น
และภรรยาท่านหนึ่งของท่านนบีมุฮัมมัด ﷺ คือ อุมมุลมุอฺมินีน เศาะฟียะฮฺ บินตุ หุยัยฺ (เราะฎิยัลลอฮุอันฮา) เป็นสตรีชาวอิสรออีลียฺที่สืบเชื้อสายมาจากลูกหลานของท่านนบีฮารูณ อิบนุ อิมรอน (อะลัยฮิสสลาม) ซึ่งเป็นลูกหลานในตระกูลลาวียฺ หนึ่งในบุตร 12 คนของท่านนบียะอฺกู๊บ (อะลัยฮิสสลาม) ผู้เป็นบิดาแห่งพงษ์พันธุ์อิสรออีล 12 ตระกูล
นอกจากนี้ยังมีท่านหญิงมารียะฮฺ บินตุ ชัมอูน สตรีชาวอียิปต์เชื้อสายคอปติก (อัล-กิบฏียะฮฺ) ที่อัล-มุเกาวฺกิส อุปราชโรมันแห่งนครอเล็กซานเดรียได้ส่งท่านหญิงมารียะฮฺและชีรีน น้องสาวของท่านหญิงมาพร้อมกับบรรณาการแก่ท่านนบีมุฮัมมัด ﷺ ซึ่งต่อมาท่านหญิงมารียะฮฺ อัล-กิบฏียะฮฺได้ให้กำเนิดท่านอิบรอฮีม บุตรชายของท่านนบีมุฮัมมัด ﷺ แต่ท่านอิบรอฮีมเสียชีวิตในขณะที่มีอายุได้เพียงขวบครึ่งเท่านั้น
สตรีอีกท่านหนึ่ง คือ ท่านหญิงรอยหานะฮฺ บินตุ ชัมอูน เป็นเชลยศึกของเผ่าชาวยิวกุรอยเซาะฮฺ ท่านนบีมุฮัมมัด ﷺ ได้ปล่อยท่านหญิงให้เป็นไทและรับท่านหญิงรอยหานะฮฺเป็นภรรยา
การลี้ภัยสู่ดินแดนต่างวัฒนธรรม
ดินแดนอัล-หะบะชะฮฺ (อบิสซีเนีย-เอธิโอเปีย) ช่วงการประกาศศาสนาอิสลาม ณ นครมักกะฮฺของท่านนบีมุฮัมมัด ﷺ ตั้งอยู่ในฝั่งทวีปแอฟริกาตะวันออก มีทะเลแดงคั่นอยู่ระหว่างแอฟริกาตะวันออกกับคาบสมุทรอาหรับในแคว้นอัล-หิญาซ อะสีร และยะมัน การเดินทางสู่ดินแดนอัล-หะบะชะฮฺจะต้องลงเรือจากเมืองท่าญิดดะฮฺ ข้ามฝั่งมาขึ้นที่เมืองมุเศาว์วะอฺ ริมฝั่งทะเลแดงของดินแดนอัล-หะบะชะฮฺ และเดินทางสู่นครอักสูม ราชธานีของกษัตริย์อัน-นะญาชียฺ (เนกุส)
พลเมืองในดินแดนอัล-หะบะชะฮฺเป็นชาวคริสต์ออเธอร์ดอกซ์ขึ้นกับสังฆบิดรแห่งนครอเล็กซานเดรีย (ค็อปติก) อียิปต์ ในยุคก่อนอิสลาม กษัตริย์อัน-นะญาชียฺ (เนกุส) แห่งอัล-หะบะชะฮฺเคยแผ่อิทธิพลเข้ายึดครองแคว้นยะมันทางตอนใต้ของคาบสมุทรอาหรับ พลเมืองอัล-อะหฺบ๊าชของเอธิโอเปียได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของพลเมืองต่างวัฒนธรรมในคาบสมุทรอาหรับ
เมื่อพลเมืองมักกะฮฺได้เข้ารับอิสลามและถูกชาวกุรอยช์กดขี่ ท่านนบีมุฮัมมัด ﷺ จึงอนุญาตให้สาวกบางส่วนของท่านลี้ภัยไปยังดินแดนอัล-หะบะชะฮฺซึ่งท่านนบีมุฮัมมัด ﷺ เรียกดินแดนอัล-หะบะชะฮฺว่า “แผ่นดินแห่งความซื่อสัตย์” และชื่นชมกษัตริย์อัน-นะญาชียฺ ซึ่งขณะนั้นยังเป็นชาวคริสต์ว่า “กษัตริย์ผู้ทรงธรรม” บรรดาสาวกของท่านนบีมุฮัมมัด ﷺ จำนวน 12 คนทั้งชายและหญิงได้ลี้ภัยสู่ดินแดนอัล-หะบะชะฮฺก่อนที่ท่านนบีมุฮัมมัด ﷺ จะอพยพลี้ภัยสู่นครมะดีนะฮฺ และอีกครั้งหนึ่งมีจำนวน 83 คน
และเหตุการณ์การอพยพลี้ภัยของบรรดาศรัทธาชนสู่ดินแดนอัล-หะบะชะฮฺคือเครื่องบ่งชี้ว่า ท่านนบีมุฮัมมัด ﷺ ยอมรับความซื่อสัตย์ของพลเมืองและความยุติธรรมของกษัตริย์ชาวคริสต์แห่งดินแดนอัล-หะบะชะฮฺซึ่งเป็นชนต่างศาสนาและต่างวัฒนธรรม อีกทั้งยังบ่งชี้ว่าชาวคริสต์กับชาวมุสลิมสามารถอยู่ร่วมกันได้ในสังคมพหุวัฒนธรรม
พหุวัฒนธรรมในรัฐอิสลามแห่งนครมะดีนะฮฺ
นครมะดีนะฮฺ (ยัษริบเดิม) เป็นดินแดนทางตอนเหนือของแคว้นอัล-หิญาซฺ ซึ่งท่านนบีมุฮัมมัด ﷺ พร้อมด้วยเหล่าสาวกของท่านได้อพยพลี้ภัยจากการกดขี่ของชาวกุรอยช์แห่งนครมักกะฮฺมายังดินแดนแห่งนี้ในปีค.ศ. 622 ซึ่งเป็นปีที่หนึ่งแห่งปฏิทินฮิจเราะฮฺศักราช
พลเมืองแห่งนครมะดีนะฮฺ เมื่อท่านนบีมุฮัมมัด ﷺ ได้สถาปนารัฐอิสลามขึ้นที่นั่น ประกอบไปด้วย
พลเมืองดั้งเดิมซึ่งเป็นชาวอาหรับเผ่าเอาวฺส์และค็อซรอจญ์ รวมกันเรียกว่า “ชาวอันศอรฺ” (บรรดาผู้ให้การช่วยเหลือ) พลเมืองส่วนนี้ได้ส่งตัวแทนจำนวน 12 คน มาพบท่านนบี ﷺ ที่อัล-อะเกาะบะฮฺ ช่วงเทศกาลหัจญ์ปีที่ 11 นับแต่การประกาศศาสนา ณ นครมักกะฮฺ และเข้ารับอิสลามพร้อมกับให้สัตยาบันแก่ท่านนบีมุฮัมมัด ﷺ เหตุการณ์ครั้งนั้นเรียกว่าการให้สัตยาบัน ณ อัล-อะเกาะบะฮฺ ครั้งที่ 1
เมื่อคณะตัวแทนเดินทางกลับสู่นครมะดีนะฮฺ ท่านนบี ﷺ ได้ส่งท่านมุศอับ อิบนุ อุมัยรฺ (ร.ฎ.) ไปยังนครมะดีนะฮฺพร้อมกับคณะผู้แทนเพื่ออ่านอัล-กุรอานและสั่งสอนหลักธรรมในศาสนาอิสลามแก่พลเมืองมะดีนะฮฺ ในปีถัดมาท่านมุศอับ อิบนุ อุมัยรฺ (ร.ฎ.) พร้อมด้วยพลเมืองมะดีนะฮฺจำนวน 73 คน (ชาย) และสตรี 2 คนได้เดินทางมาพบท่านนบี ﷺ และให้สัตยาบัน ณ อัล-อะเกาะบะฮฺครั้งที่ 2 ในช่วงเทศกาลหัจญ์ เมื่อตัวแทนพลเมืองมะดีนะฮฺเดินทางกลับสู่นครมะดีนะฮฺพวกเขาได้เผยแผ่ศาสนาอิสลามจนพลเมืองส่วนใหญ่ของนครมะดีนะฮฺเข้ารับอิสลามก่อนที่ท่านนบีมุฮัมมัด ﷺ จะอพยพสู่นครมะดีนะฮฺในเวลาต่อมา
พลเมืองนครมักกะฮฺและปริมณฑลที่เข้ารับอิสลามมาก่อนแล้ว ต่อมาได้อพยพสู่นครมะดีนะฮฺ เรียกพลเมืองส่วนนี้ว่า ชาวมุฮาญิรูน (บรรดาผู้อพยพ)
พลเมืองเชื้อสายยิว (ยะฮูด) ซึ่งตั้งหลักแหล่งอยู่ในนครมะดีนะฮฺมานับแต่อดีตก่อนสมัยอิสลาม ประกอบด้วยชาวยิวเผ่ากุรอยเซาะฮฺ, อัน-นะฎีรฺ และกอยนุกออฺ ตลอดจนชาวอาหรับเผ่าเอาวฺฟ์ที่เข้ารีตในศาสนายูดาย เมื่อท่านนบี ﷺ ได้ทำสัญญาประชาคม (อัล-วะษีเกาะฮฺ) หรือธรรมนูญการปกครองรัฐอิสลาม พลเมืองชาวยิวและชาวอาหรับที่เข้ารีตในศาสนายูดายได้กลายเป็นพลเมืองของรัฐอิสลาม มีเสรีภาพในการถือศาสนาและดำรงวัฒนธรรมของตน เรียกพลเมืองส่วนนี้ว่า อะฮฺลุซซิมมะฮฺ (กลุ่มชนแห่งพันธสัญญา) คือมีพันธสัญญาระหว่างพวกเขากับรัฐอิสลามในการได้รับความคุ้มครองและมีข้อตกลงร่วมกันในเรื่องสิทธิและหน้าที่พลเมืองภายใต้ธรรมนูญการปกครองรัฐอิสลามแห่งนครมะดีนะฮฺ
การสถาปนารัฐอิสลามแห่งนครมะดีนะฮฺของท่านนบีมุฮัมมัด ﷺ เป็นการยอมรับความเป็นพหุวัฒนธรรมของพลเมืองมะดีนะฮฺและคุ้มครองพลเมืองต่างวัฒนธรรม ศาสนา และความเชื่อภายใต้สัญญาประชาคมหรือธรรมนูญการปกครองรัฐอิสลาม ซึ่งนี่เป็นข้อเท็จจริงที่ว่าในรัฐอิสลามและภายใต้หลักนิติธรรมอิสลาม (ชะรีอะฮฺ อิสลามียะฮฺ) พลเมืองต่างวัฒนธรรมและต่างความเชื่อทางลัทธิและศาสนาสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างปกติสุข ทั้งนี้เมื่อพลเมืองต่างวัฒนธรรมมิได้กระทำตนหรือมีพฤติกรรมบ่อนทำลายเสถียรภาพและความมั่นคงของรัฐอิสลาม พวกเขาย่อมมีสิทธิและหน้าที่เช่นเดียวกับพลเมืองมุสลิมในรัฐอิสลามและได้รับการคุ้มครองตามพันธสัญญาที่ตกลงกันไว้
พหุวัฒนธรรมในด้านภาษา
ภาษาอาหรับมีพัฒนาการและบรรลุถึงจุดสุดยอดในด้านการสื่อสาร วรรณกรรม และวาทศิลป์นับแต่ยุคก่อนการประกาศศาสนาอิสลามของท่านนบีมุฮัมมัด ﷺ และคัมภีร์อัล-กุรอานได้ถูกประทานลงมาเป็นภาษาอาหรับที่ฉะฉานตามสำเนียงของชาวอาหรับเผ่ากุรอยช์ ความมหัศจรรย์ของคัมภีร์อัล-กุรอานในด้านภาษาเป็นปาฏิหารย์ (มุอฺญิซะฮฺ) ที่ท้าทายมนุษยชาติทั้งที่เป็นชาวอาหรับและมิใช่ชาวอาหรับ เมื่อศาสนาอิสลามได้แผ่ขยายทั่วดินแดนคาบสมุทรอาหรับและดินแดนนอกคาบสมุทรอาหรับ ภาษาอาหรับซึ่งเป็นภาษาของคัมภีร์อัล-กุรอานและพระวจนะของท่านนบีมุฮัมมัด ﷺ จึงแพร่หลายไปทั่วทุกทิศานุทิศ
ความเป็นพหุวัฒนธรรมของภาษาอาหรับมี 3 ลักษณะได้แก่
1. คำศัพท์และสำเนียงที่หลากหลายของชนเผ่าอาหรับจำนวนมากถูกเลือกสรรค์ สังเคราะห์ และตกผลึกโดยชาวกุรอยช์ที่รับเอาคำศัพท์และสำเนียงจากชนเผ่าอาหรับต่างๆ ซึ่งเดินทางมาค้าขายและประกอบพิธีหัจญ์ ณ นครมักกะฮฺ รากศัพท์ของคำอาหรับที่ชาวกุรอยช์ได้สังเคราะห์และเลือกสรรค์จึงมีทั้งคำที่ชาวอาหรับเหนือและใต้ของคาบสมุทรอาหรับใช้สื่อสารในชนเผ่าเดียวกัน
คำศัพท์จากวัฒนธรรมทางภาษาในกลุ่มภาษาตระกูลเซมิติก เช่น ภาษาอารอมียะฮฺ (อราเมี่ยน) สุรยานียะฮฺ (ซีเรียโบราณ) นะบะฏียะฮฺ (เนบาเตียน) อิบรอนียะฮฺ (ฮิบรูว์) หะบะชียะฮฺ (เอธิโอเปียน) กิบฏียะฮฺ (ค็อปติก) และภาษาในตระกูลอินโด-อารยัน เช่น ภาษาปาสียฺหรือเปอร์เซียนและสันสกฤต เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีภาษาอื่นๆในอารยธรรมโบราณ เช่น ภาษากรีก (ละติน) ถูกนำมาใช้และกลายเป็นภาษาอาหรับในเวลาต่อมาอีกด้วย
2. พยัญชนะหรือตัวอักษรภาษาอาหรับที่ถูกดัดแปลงตามอักขระวิธีในการเขียนภาษาอื่นๆ ที่ชาวมุสลิมซึ่งมิใช่ชาวอาหรับรับมาจากชาวอาหรับในการเขียนภาษาของตน เช่น ภาษาปาสียฺ (ปาฮฺเลวียฺ-อีหร่าน) เติร์กิช (ภาษาตุรกี) บัรบะเรียน (ภาษาของชนเผ่าเบอร์เบอร์ในแอฟริกาเหนือ) ภาษามลายู (ตูลิสสัน ญาวียฺ) ภาษาอุรดูและกลุ่มภาษาในเอเชียใต้ เป็นต้น นอกจากนี้ คำศัพท์ภาษาอาหรับยังถูกถ่ายทอดไปยังภาษาของประชาคมมุสลิมทั่วโลกโดยเฉพาะคำศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับหลักธรรมคำสอนและการประกอบศาสนกิจในศาสนาอิสลามซึ่งส่วนมากจะทับศัพท์คำอาหรับหรือไม่ก็ออกเสียงตามสำเนียงของภาษาถิ่น
3. การหยิบยืมคำศัพท์เฉพาะที่มีรากศัพท์เป็นภาษาอาหรับของชนต่างศาสนาและวัฒนธรรมผ่านการแปลตำรับตำราของนักปราชญ์ชาวอาหรับในช่วงยุคกลางและช่วงยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาการของชาวตะวันตกหรือการรับเอาวัฒนธรรมของชาวอาหรับสำหรับพลเมืองที่เคยอยู่ภายใต้การปกครองของชาวอาหรับและมุสลิม ทำให้มีคำศัพท์อาหรับปรากฏอยู่ในภาษาโปรตุเกส ภาษาสเปน ภาษาอิตาเลียน ภาษาฝรั่งเศส และภาษาอังกฤษ เป็นต้น
อาจกล่าวได้ว่า ภาษาอาหรับในยุคที่อารยธรรมอิสลามมีความเจริญรุ่งเรือง เป็นภาษาแห่งพหุวัฒนธรรมที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดภาษาหนึ่งของโลกทั้งในยุคอดีตและปัจจุบัน
ท่านนบีมุฮัมมัด ﷺ ท่านพูดภาษาอาหรับเพราะท่านเป็นชาวอาหรับโดยกำเนิด กระนั้นท่านก็เคยพูดภาษาเปอร์เซียในบางครั้ง ดังมีรายงานจากท่านญาบิรฺ อิบนุ อับดิลลาฮฺ (ร.ฎ.) ระบุว่า : ท่านนบี ﷺ ได้กล่าวกับบรรดาสาวกของท่านว่า :
قوموا ، فقد صنع لكم جابر سورا
“พวกท่านจงลุกขึ้นเถิด แน่แท้ญาบิรฺได้ทำ “ซิวร์” (อาหารที่เลี้ยงผู้คนโดยการเชิญมาร่วมรับประทาน) แก่พวกท่านเอาไว้แล้ว” (คำว่า “ซิวร์” เป็นคำในภาษาเปอร์เซีย)
(อัน-นิฮายะฮฺ: 2/420)
และมีรายงานระบุว่า มีอยู่ครั้งหนึ่งท่านนบี ﷺ เคยถามท่านอบูฮุรอยเราะฮฺ (ร.ฎ.) ว่า:
يا أبا هريرة ، إشكنب درد؟
“โอ้ อบูฮุรอยเราะฮฺ ท่านหิวจนแสบท้องหรือไม่?” (เป็นประโยคในภาษาเปอร์เซียว่า “อิชกันบ์ ดะรอด”)
(ชัมสุลอาฟาก; หน้า 223)
นอกจากนี้ ท่านนบีมุฮัมมัด ﷺ ยังได้ใช้ให้ท่านซัยดฺ อิบนุ ษาบิต (ร.ฎ.) เรียนภาษาของชาวยิวเพื่อเขียนสาส์นโต้ตอบกับชาวยิวในนครมะดีนะฮฺ ซึ่งท่านซัยดฺ (ร.ฎ.) ใช้เวลาในการศึกษาภาษายิวเพียงแค่หนึ่งเดือนครึ่งเท่านั้น (บันทึกโดยอัล-บุคอรียฺ, อะหฺมัด, อัล-หากิม, อบูดาวูด และอัต-ติรฺมิซียฺ) และท่านนบี ﷺ ยังได้ใช้ให้ท่านซัยดฺ (ร.ฎ.) ศึกษาภาษาสุรยานียะฮฺ (ภาษาซีเรียโบราณ) ซึ่งท่านซัยดฺ (ร.ฎ.) ใช้เวลาในการศึกษาภาษาสุรฺยานียะฮฺจนแตกฉานเพียงแค่เวลา 17 วันเท่านั้น (บันทึกโดยอะหฺมัด, อัล-หากิม และอิบนุสะอฺด์ ในอัฏ-เฏาะบะกอต)
การที่ท่านนบีมุฮัมมัด ﷺ พูดภาษาเปอร์เซียในบางโอกาสกับสาวกของท่าน และการที่ท่านได้ใช้ให้ท่านซัยดฺ อิบนุ ษาบิต (ร.ฎ.) ศึกษาภาษาฮิบรูว์ของชาวยิวและภาษาสุรฺยานียะฮฺซึ่งเป็นภาษาของชนต่างศาสนาที่เป็นพวกอัศ-ศอบิอะฮฺ นั่นเป็นหลักฐานที่บ่งชี้ถึงการยอมรับในพหุวัฒนธรรมและการเรียนรู้ภาษาตลอดจนวัฒนธรรมของชนต่างศาสนาโดยการส่งเสริมของท่านนบีมุฮัมมัด ﷺ และการมีวิสัยทัศน์อันกว้างไกลของท่าน
นักปราชญ์ทางภาษาและไวยากรณ์อาหรับส่วนมากเป็นชาวอาหรับโดยกำเนิด แต่นักไวยากรณ์อาหรับผู้ช่ำชองซึ่งไม่ใช่ชาวอาหรับโดยเชื้อสายก็มีเป็นจำนวนมาก เช่น นักไวยากรณ์อาหรับผู้เจนจัดนามว่า สีบะวัยฮฺ (เสียชีวิตราวค.ศ.796) เป็นชาวเมืองชีราซในอิหร่านที่เติบโตในนครอัล-บัศเราะฮฺ (อีรัก) และเป็นผู้นำของสำนักไวยากรณ์แห่งนครอัล-บัศเราะฮฺ และอิบรอฮีม นิฟเฏาะวัยฮฺ (ค.ศ.858-935) ก็มีบรรพบุรุษเป็นชาวเปอร์เซีย
ในขณะที่อะลี อิบนุ อัล-อับบาส ที่รู้จักกันในนาม อิบนุ อัรฺรูมียฺ (ค.ศ.836-896) นักกวีเอกแห่งนครแบกแดดในสมัยอัล-อับบาสียะฮฺ มีบิดาเป็นชาวรูมและมารดาเป็นสตรีชาวเปอร์เซีย และอิบนุ อาญุรฺรูม (เสียชีวิตค.ศ.1323) เจ้าของตำราไวยากรณ์อาหรับที่รู้จักกันในชื่อ อัล-อาญุรฺรูมียะฮฺ มีเชื้อสายเบอร์เบอร์จากเผ่าอัศ-ศอนฮาญะฮฺในแอฟริกาเหนือ ส่วนในเอ็นดะลูเซีย (สเปน) ก็มีนักภาษาศาสตร์นามว่า อิบนุ อัล-กูฏียะฮฺ (เสียชีวิตค.ศ.977) ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากพวกโกธิก เป็นต้น
การยอมรับแบบแผนจากประชาคมต่างวัฒนธรรม
เดือนเชาว้าลปีฮ.ศ.ที่ 5/ค.ศ.627 พวกกุรอยช์แห่งนครมักกะฮฺพร้อมด้วยชนเผ่าอาหรับเฆาะเฏาะฟาน, บะนูมุรฺเราะฮฺ, อัช-ญะอฺ, สุลัยม์ และอะสัด ได้ยกทัพสู่นครมะดีนะฮฺ เรียกสงครามครั้งนั้นว่า “สงครามอัล-อะหฺซาบ” ฝ่ายท่านนบี ﷺ และพลเมืองมะดีนะฮฺรับมือการโจมตีของพวกกุรอยช์และพันธมิตรด้วยการขุดสนามเพลาะเป็นคันคูยาว 5,544 เมตร กว้าง 4.62 เมตร ลึก 3.234 เมตร ทางตอนเหนือของนครมะดีนะฮฺ ยุทธวิธีในการขุดสนามเพลาะเป็นวิธีของชาวเปอร์เซียซึ่งท่านสัลมานอัล-ฟาริสียฺ (ร.ฎ.) ได้เสนอแนะแก่ท่านนบีมุฮัมมัด ﷺ สงครามอัล-อะหฺซาบจึงถูกเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า สงครามอัล-คอนดัก (สงครามสนามเพลาะ)
สกุลเงินที่ใช้แลกเปลี่ยนในการซื้อขายและการค้าตลอดช่วงสมัยของท่านนบีมุฮัมมัด ﷺ คือ สกุลเงินดีนารฺ (ดีน่าร์) ของโรมันไบแซนไทน์ และสกุลเงินดิรฺฮัม (เดอร์แคม) ของเปอร์เซีย ทั้งสองสกุลเงินเป็นเหรียญกษาปณ์ที่ถูกตีขึ้น เหรียญดีนารฺเป็นทองคำ และเหรียญดิรฺฮัมเป็นเงิน ทั้งสองด้านของเหรียญกาษปณ์ดีนารฺและดิรฺฮัมมักจะมีรูปของจักรพรรดิ์โรมันและเปอร์เซีย หรือมีสัญลักษณ์ทางศาสนา เช่น ไม้กางเขน ปรากฏอยู่ในด้านหนึ่งของเหรียญกษาปณ์ ท่านนบีมุฮัมมัด ﷺ มิได้ปฏิเสธในการใช้เหรียญกษาปณ์ทั้ง 2 สกุลเงินในการแลกเปลี่ยนเพื่อการค้า การชำระหนี้ และการใช้สอยแต่อย่างใด และในพระวจนะของท่านนบี ﷺ มีการระบุสกุลเงินทั้งสองไว้เช่นกัน
ปฏิสัมพันธ์แบบสันติวิธีกับชนต่างวัฒนธรรม
หลังการทำสนธิสัญญาอัล-หุดัยบียะฮฺในฮ.ศ.ที่ 6/ค.ศ. 628 สงครามระหว่างรัฐอิสลามแห่งนครมะดีนะฮฺกับพวกกุรอยช์แห่งนครมักกะฮฺยุติลง ท่านนบีมุฮัมมัด ﷺ ได้ส่งสาวกจำนวน 8 ท่านพร้อมด้วยสารเรียกร้องสู่อิสลามโดยสันติวิธียังผู้ครองแคว้นสำคัญและจักพรรดิ์โรมันไบแซนไทน์และเปอร์เซีย การส่งสารไปยังผู้ปกครองประชาคมต่างศาสนาและวัฒนธรรม เป็นการเผยแผ่ศาสนาอิสลามและเป็นการเจริญสัมพันธ์ไมตรีทางการทูตโดยสันติวิธี ตลอดจนเป็นข้อยืนยันว่าศาสนาอิสลามมิได้เผยแผ่ด้วยคมดาบหรือการทำสงครามอย่างที่ผู้อคติต่อศาสนาอิสลามและมุสลิมกล่าวอ้าง อย่างน้อยการทำสนธิสัญญาพักรบอัล-หุดัยบียะฮฺก็เป็นสิ่งที่หักล้างคำกล่าวหาที่ว่ามุสลิมเป็นผู้กระหายสงครามหรือมุสลิมเป็นภัยคุกคามต่อสันติภาพของประชาคมที่ต่างศาสนาและวัฒนธรรม
ในปีฮ.ศ.ที่ 8/ค.ศ.630 ท่านนบีมุฮัมมัด ﷺ และเหล่าสาวกของท่านได้พิชิตนครมักกะฮฺ พวกกุรอยช์และพลเมืองมักกะฮฺได้รับการนิรโทษกรรมและยอมรับศาสนาอิสลามด้วยความสมัครใจ เมื่อนครมักกะฮฺถูกพิชิตและพลเมืองมักกะฮฺยอมรับศาสนาอิสลามแล้ว บรรดารูปเคารพที่ถูกตั้งขึ้นรายล้อมอาคารอัล-กะอฺบะฮฺ และเทวรูปประจำเผ่าของชาวอาหรับที่เข้ารับอิสลามก็ถูกทำลายลง เพราะไม่มีเหตุผลอันใดในการปล่อยให้บรรดารูปเคารพและเทวรูปเหล่านั้นคงอยู่ต่อไปในเมื่อผู้คนที่เคยเคารพสักการะและบูชารูปเคารพเหล่านั้นได้ยอมรับศาสนาอิสลามเป็นสรณะแล้ว เพราะศาสนาอิสลามห้ามบูชารูปเคารพและวัตถุ แต่กระนั้น ท่านนบีมุฮัมมัด ﷺ ก็ยังคงสภาพของอาคารอัล-กะอฺบะฮฺเอาไว้เช่นเดิมดังที่ชนเผ่ากุรอยช์ได้ทำการบูรณะปฏิสังขรณ์เอาไว้โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลง
ส่วนศาสนสถานของชนต่างศาสนา เช่น ธรรมศาลาของชาวยิว โบสถ์ของชาวคริสต์ สำนักสงฆ์ของบาทหลวงในคริสตศาสนา หรือแม้แต่โบราณสถานของกลุ่มชนในยุคอดีตซึ่งตั้งอยู่ในเขตแดนของรัฐอิสลาม ทั้งหมดได้รับการคุ้มครองหรือไม่ก็ถูกปล่อยทิ้งไว้โดยไม่มีการทำลาย แม้ในยุคของรัฐอิสลามหลังท่านนบีมุฮัมมัด ﷺ ได้สิ้นชีวิตไปแล้วซึ่งแผ่ขยายดินแดนครอบคลุมแหล่งอารยธรรมของชนชาติกรีก โรมัน และเปอร์เซีย ชาวมุสลิมก็ไม่ได้แตะต้องโบราณสถานที่ยังคงตั้งตระหง่านอยู่ในดินแดนของพวกเขา เหตุนี้เราจึงพบแหล่งโบราณสถานมากมายที่ยังคงหลงเหลืออยู่ทั้งที่มีสภาพสมบูรณ์หรือกลายเป็นซากปรักหักพังในกลุ่มประเทศมุสลิมในทุกวันนี้
การเปิดโลกทัศน์ในการสังเคราะห์วัฒนธรรมจากประชาคมอื่น
ในสมัยการปกครองของบรรดาเคาะลีฟะฮฺแห่งรัฐอิสลาม ณ นครมะดีนะฮฺ (ฮ.ศ.11-40/ค.ศ.632-661) สารของเคาะลีฟะฮฺจะถูกประทับตราด้วยแหวนเงินของท่านนบีมุฮัมมัด ﷺ ซึ่งท่านเคยใช้เป็นตราประทับเมื่อครั้งที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ การประทับตราลงในสารเป็นวัฒนธรรมของพวกโรมันและเปอร์เซียที่ท่านนบีมุฮัมมัด ﷺ ให้การยอมรับ และแหวนที่เป็นตราประทับนี้ตกทอดมายังเคาะลีฟะฮฺอบูบักรฺ, อุมัรฺ และอุษมาน (เราะฎิยัลลอฮุอันฮุม) ตามลำดับ
ในสมัยเคาะลีฟะฮฺอุมัรฺ อิบนุ อัล-คอฏฏอบ (เสียชีวิตฮ.ศ.23/ค.ศ.644) มีการจัดทำทะเบียนรายชื่อของทหารที่ได้รับเบี้ยหวัดและบัญชีรายชื่อผู้ที่ได้รับเงินสวัสดิการจากรัฐอิสลาม เรียกทะเบียนหรือบัญชีดังกล่าวว่า “ดีวาน” ซึ่งเป็นการรับเอาวัฒนธรรมแบบเปอร์เซียมาใช้ในการจัดระบบการบริหาร ต่อมาดีวานได้พัฒนาเป็นกรมกองที่เป็นหน่วยงานของรัฐในด้านต่างๆ เช่น กรมอาลักษณ์ กองทะเบียนสวัสดิการสังคม เป็นต้น
ระบบการจัดทำทะเบียนหรือบัญชีแบบดีวานยังถูกนำมาใช้ในการรวบรวมและเก็บฐานข้อมูลของการจัดเก็บและแจกจ่ายซะกาตตลอดจนภาษีญิซยะฮฺและเคาะรอจญ์ซึ่งเจ้าหน้าที่ของรัฐอิสลามจัดเก็บจากพลเมืองชาวคริสต์หรือชาวยิวหรือเจ้าของที่ดินซึ่งมีรายได้จากการเพาะปลูกและการทำเกษตรกรรมในที่ดินของตนอีกด้วย
ในสมัยเคาะลีฟะฮฺอุมัรฺ (ร.ฎ.) มีการกำหนดปฏิทินศักราชอิสลามที่เรียกว่า “ฮิจญ์เราะฮฺศักราช” ตามปฏิทินทางจันทรคติ โดยถือเอาเหตุการณ์การอพยพลี้ภัย (ฮิจญ์เราะฮฺ) ของท่านนบีมุฮัมมัด ﷺ จากนครมักกะฮฺสู่นครมะดีนะฮฺ (ปีค.ศ.622) เป็นปีที่ 1 และการกำหนดปีปฏิทินศักราชอิสลามนี้เป็นการรับเอาวัฒนธรรมของพวกโรมันและเปอร์เซียมาใช้ถึงแม้ว่าปฏิทินศักราชอิสลามจะถือเอาการอพยพลี้ภัย (ฮิจญ์เราะฮฺ) เป็นการเริ่มต้นในการนับศักราชก็ตาม ต่างจากการนับศักราชของชาวโรมันและเปอร์เซียที่มักจะถือเอาปีที่จักรพรรดิ์ซีซ่าของโรมันและจักพรรดิ์คุสโรว์ของเปอร์เซียครองราชย์ในแต่ละรัชกาล
การสร้างเมืองใหม่ในภูมิภาคต่างๆ ของรัฐอิสลามนับตั้งแต่สมัยเคาะลีฟะฮฺ อุมัรฺ อิบนุ อัล-คอฏฏอบ (ร.ฎ.) เช่น อัล-ฟุสฏอฏ ในอียิปต์, อัล-บัศเราะฮฺและอัลกูฟะฮฺ ในอีรัก เป็นต้น เป็นการรับเอาวัฒนธรรมของพวกกรีก-โรมันและเปอร์เซียมาใช้ในด้านการขยายชุมชนเมือง การวางผังเมืองและการกำหนดเมืองศูนย์กลางในการบริหารส่วนภูมิภาค ตลอดจนยุทธศาสตร์ในการกำหนดศูนย์บัญชาการทางทหารส่วนภูมิภาคเพื่อปกป้องอธิปไตยของรัฐอิสลามในเขตพรมแดนที่ห่างไกลจากศูนย์กลางการปกครอง ณ นครมะดีนะฮฺถือเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างความเจริญแบบสังคมเมือง การเศรษฐกิจ และภูมิศาสตร์ประชากร รวมถึงการขยายแหล่งการเรียนรู้และเผยแผ่วิทยาการของศาสนาอิสลามแก่พลเมืองในส่วนภูมิภาค
นครอัล-ฟุสฏอฏ, อัล-บัศเราะฮฺ และอัล-กูฟะฮฺได้กลายเป็นแหล่งรวมของบรรดานักปราชญ์และสำนักคิดในด้านอัล-หะดีษ, นิติศาสตร์อิสลาม, ภาษาและวรรณกรรม ยังผลให้อารยธรรมอิสลามมีความเจริญรุ่งเรืองและแผ่ขยายสู่ดินแดนในทิศตะวันออกและทิศตะวันตกของโลกอิสลามในเวลาต่อมา
ในสมัยเคาะลีฟะฮฺอุษมาน อิบนุ อัฟฟาน (ฮ.ศ.23-35) ในน่านน้ำของทะเลเมดิเตอร์เรเนียนเป็นเขตอิทธิพลของโรมันไบแซนไทน์ ต่อมาท่านมุอาวียะฮฺ อิบนุ อบีสุฟยาน (เสียชีวิตฮ.ศ.60/ค.ศ.680) ข้าหลวงประจำแคว้นชาม (ซีเรีย) ได้ส่งกองทัพเรือเข้าพิชิตเกาะโรดส์ในปีฮ.ศ.28/ค.ศ.648 และเกาะไซปรัส (กุบรุศ) ในปีฮ.ศ.33/ค.ศ.653 และท่านอับดุลลอฮฺ อิบนุ สะอฺด์ อิบนิ อบีสัรฺห์ (เสียชีวิตฮ.ศ.37/ค.ศ.657) ข้าหลวงของเคาะลีฟะฮฺ อุษมาน (ร.ฎ.) ประจำอียิปต์ได้สร้างกองทัพเรือขึ้นในอียิปต์ และนำกองทัพเรือของอียิปต์และซีเรียซึ่งนำโดยบุสร์ อิบนุ อบีอัรฺเฏาะอะฮฺ (เสียชีวิตราวฮ.ศ.86/ค.ศ.705) สนธิกำลังเข้าด้วยกันในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนใกล้กับริมฝั่งเมืองโฟนิการ์ทางตอนใต้ของเมืองอันตอเกีย และทำยุทธนาวีกับกองทัพเรือของโรมันไบแซนไทน์ในปีฮ.ศ.34/ค.ศ.654 ในยุทธนาวี ซาตุศ เศาะวารียฺ (สมรภูมิเสากระโดงเรือ) ทำให้แสนยานุภาพทางทะเลของโรมันไบแซนไทน์สิ้นสุดลง และชาวมุสลิมสามารถครอบครองเมืองท่าสำคัญนับจากทริโปลีตะวันออกจนถึงเมืองกุรฺฏอญินะฮฺในตูนีเซีย การสร้างกองทัพเรือของชาวมุสลิมในสมัยเคาะลีฟะฮฺอุษมาน (ร.ฎ.) เป็นการพลิกประวัติศาสตร์ทางการทหารและการทำสงครามทางทะเลของโลกมุสลิมซึ่งในสมัยท่านนบีมุฮัมมัด ﷺ ไม่เคยมีกองทัพเรือมาก่อน และนี่เป็นส่วนหนึ่งจากการรับเอายุทธวิธีในการทำสงครามทางทะเลมาจากจักวรรดิโรมันและเปอร์เซีย
การแผ่ขยายอาณาเขตของรัฐอิสลามกับการขยายตัวของสังคมพหุวัฒนธรรม
รัฐอิสลามช่วงสมัยการปกครองของวงศ์อัล-อุมาวียะฮฺ (ฮ.ศ.40-132/ค.ศ.661-750) แห่งนครดามัสกัส ซีเรีย และวงศ์อัล-อุมาวียะฮฺแห่งนครโคโดบาฮฺ (กุรฺฏุบะฮฺ) ในอัล-อันดะลุส (เอ็นดะลูเซีย-สเปน) (ฮ.ศ.138-422/ค.ศ.756-1031) พลเมืองในรัฐอิสลามที่กินอาณาเขตนับจากเขตแดนทางทิศตะวันตกของประเทศจีน (แคว้นซินเกียง-ตุรกีสถานตะวันออก) และแคว้นสินธุของอินเดียจรดมหาสมุทรแอตแลนติกด้านแอฟริกาเหนือ (มอรอคโค) และคาบสมุทรไอบีเรีย (สเปน-โปรตุเกส) ทางทิศตะวันตกฉียงใต้ของทวีปยุโรป เป็นพลเมืองที่มีความเป็นพหุวัฒนธรรมทั้งในด้านชาติพันธุ์ ภาษา ศาสนา ขนบธรรมเนียมประเพณี และวิถีการดำเนินชีวิต
ถึงแม้ว่าพลเมืองส่วนใหญ่ในอาณาเขตอันกว้างใหญ่ไพศาลของรัฐอิสลามจะเข้ารับนับถือศาสนาอิสลามแล้วภายหลังการพิชิตดินแดนของชาวมุสลิม แต่พลเมืองอีกเป็นจำนวนมากยังคงดำรงอัตลักษณ์และสืบสานวัฒนธรรมเดิมของตนภายใต้การปกครองของชาวมุสลิมอาหรับโดยเสรีและอยู่ร่วมกับชาวมุสลิมอย่างปกติสุข ชาวยิวในนครดามัสกัสซีเรียและนครคอร์โดบาฮฺ (สเปน) ได้ตั้งชุมชนอยู่ท่ามกลางชุมชนของชาวมุสลิม สถานภาพของชาวยิวในรัฐอิสลามได้รับการคุ้มครองจากชาวมุสลิมในฐานะกลุ่มชนแห่งคัมภีร์ (อะฮฺลุลกิตาบ) และกลุ่มชนแห่งพันธสัญญา (อะฮฺลุซซิมมะฮฺ) ต่างจากชาวยิวที่ถูกกดขี่ในดินแดนของยุโรป
ในขณะเดียวกันชาวคริสต์ต่างนิกายในรัฐอิสลามก็สามารถอาศัยอยู่ร่วมกับชาวมุสลิมอาหรับได้อย่างเสรีและเป็นปกติสุข ต่างจากกรณีของจักรวรรดิโรมันไบแซนไทน์ที่เคยกดขี่ชาวคริสต์ต่างนิกายในอียิปต์และสเปน ชาวคริสต์ในสเปนภายใต้การปกครองของชาวมุสลิมที่เรียกกันว่า “ชาวโมซาราเบสค์” ได้รับเอาวัฒนธรรมของชาวอาหรับมุสลิมทั้งในด้านการแต่งกาย ภาษา วัฒนธรรม อาหารการกินและหลงใหลในวัฒนธรรมแบบชาวอาหรับซึ่งถูกเรียกขานในสเปนว่า “พวกมัวร์” ทั้งๆ ที่พวกเขายังคงถือศาสนาคริสต์
ในแคว้นฟาริส (เปอร์เซีย-อิหร่าน) และดินแดนเบื้องหลังแม่น้ำในเอเชียกลางของพวกเติร์ก-มองโกล วัฒนธรรมของชนเผ่าและอิทธิพลของอารยธรรมจีนก็ยังคงดำรงอยู่ถึงแม้ว่าศาสนาอิสลามจะเริ่มแผ่เข้าสู่กลุ่มชนพื้นเมืองบางเผ่าแล้วก็ตาม
เส้นทางการค้าทางบกที่เชื่อมพลเมืองในทวีปเอเชียจากตะวันออกถึงตะวันตกเข้าด้วยกัน ซึ่งเรียกกันว่า “เส้นทางสายไหม” เริ่มต้นจากเมือง “ฉางอาน” (ซีอาน) ราชธานีของราชวงศ์ถังในประเทศจีน มุ่งหน้าสู่ดินแดนทางทิศตะวันตก ผ่านเอเชียกลางเข้าสู่อิหร่าน อีรัก และซีเรียตามลำดับ มีปลายทางที่เมืองท่าในเอเชียไมเนอร์ ริมฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และไปถึงกรุงคอนสแตนติโนเปิ้ลของจักรวรรดิ์โรมันไบแซนไทน์ เส้นทางสายไหมคือเส้นทางของการผ่องถ่ายพหุวัฒนธรรมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดบนภาคพื้นทวีปเอเชียในสมัยโบราณ วัฒนธรรมของกรีก เปอร์เซีย อินเดีย และโรมัน ตลอดจนวัฒนธรรมจีนต่างก็มีการเคลื่อนย้ายและแลกเปลี่ยนในระหว่างกันผ่านเส้นทางสายไหมทั้งสิ้น
ชาวฮินดู-พราหมณ์ในเมืองมุลตาน แคว้นสินธุก็ยังคงดำรงวัฒนธรรมและความเชื่อของพวกตนภายใต้การปกครองของชาวมุสลิม ส่วนแคว้นแคชเมียร์-ศรีนาคานั้นเจ้าผู้ครองแคว้นได้เข้ารับอิสลามตามการเผยแผ่ของเคาะลีฟะฮฺอุมัร อิบนุ อับดิลอะซีซ (ฮ.ศ.61-101/ค.ศ.681-720) แห่งวงศ์อัล-อุมาวียะฮฺที่มีสารไปถึง ทำให้พลเมืองในแคว้นแคชเมียร์-ศรีนาคาเข้ารับอิสลามตามเจ้าผู้ครองนครและกลายเป็นส่วนหนึ่งของรัฐอิสลามโดยสมบูรณ์และสันติวิธี
รัฐอิสลามในสมัยการปกครองของวงศ์อัล-อับบาสียะฮฺแห่งนครแบกแดด อีรัก (ฮ.ศ.132-656/ค.ศ.750-1259) ซึ่งเป็นยุคทองของอารยธรรมอิสลามในช่วงยุคกลาง พลเมืองต่างวัฒนธรรมได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนอารยธรรมอิสลาม มีการตั้ง “บัยตุลหิกมะฮฺ” เพื่อรวบรวมตำรับตำราของกลุ่มชนต่างวัฒนธรรมและแปลเป็นภาษาอาหรับ บัยตุลหิกมะฮฺแห่งนครแบกแดดกลายเป็นหอสมุดขนาดใหญ่ที่สุดในช่วงยุคกลางและเป็นแหล่งวิทยาการที่รวบรวมนักแปล นักเขียน นักกวี ศิลปิน นักวิทยาศาสตร์ นักปรัชญา นักดาราศาสตร์ นักการแพทย์ นักคณิตศาสตร์-พีชคณิต ฯลฯ ที่สร้างผลงานในด้านศิลปะวิทยาของศาสตร์ทุกแขนง ซึ่งบรรดานักปราชญ์ที่ได้รับการอุปถัมภ์จากบรรดาเคาะลีฟะฮฺแห่งนครแบกแดดมีทั้งชาวอาหรับ ชาวยิว ชาวคริสต์หลากหลายนิกาย ชาวศอบิเอียน (สุรยาเนียน) ชาวเปอร์เซียและอินเดีย เป็นต้น
อาจกล่าวได้ว่า รัฐอิสลามในสมัยการปกครองของวงศ์อัล-อับบาสียะฮฺแห่งนครแบกแดด เป็นยุคสมัยแห่งความรุ่งเรืองของพหุวัฒนธรรมในช่วงยุคกลางซึ่งชาวมุสลิมและกลุ่มชนต่างวัฒนธรรมได้มีส่วนร่วมในการสรรค์สร้างอารยธรรมอิสลามที่เจริญสุดขีดในช่วงยุคกลาง อารยธรรมอิสลามจึงเป็นผลของพหุวัฒนธรรมที่ถูกหลอมรวมภายใต้วิสัยทัศน์ของบรรดาเคาะลีฟะฮฺแห่งนครแบกแดดอย่างไม่ต้องสงสัย
ในช่วงเวลาที่เคาะลีฟะฮฺจากวงศ์อัล-อับบาสียะฮฺแห่งนครแบกแดดเรืองอำนาจ มีกลุ่มชาติพันธุ์อื่นที่ไม่ใช่ชาวอาหรับได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในราชสำนักและการปกครองหัวเมือง เช่น กลุ่มชาติพันธุ์อารยันซึ่งเป็นชาวเปอร์เซียเดิมจากเมืองบะลัค (บักเตรีย) เรียกว่า “พวกอัล-บะรอมิกะฮฺ” ดำรงตำแหน่งวะซีรฺ (มหาเสนาบดี) อาทิ คอลิด อิบนุ บัรฺมัก (เสียชีวิตค.ศ.782) เป็นผู้ทรงอิทธิพลในรัชสมัยเคาะลีฟะฮฺอบุลอับบาส อัส-สัฟฟาหฺ ต้นราชวงศ์อัล-อับบาสียะฮฺ, ยะหฺยา อิบนุ คอลิด (เสียชีวิตค.ศ.805) เป็นราชครูของเคาะลีฟะฮฺฮารูน อัร-เราะชีดและเป็นมหาเสนาบดีของพระองค์, อัล-ฟัฎล์ อิบนุ ยะหฺยา เป็นพี่น้องร่วมแม่นมกับเคาะลีฟะฮฺฮารูน อัร-เราะชีดและเป็นราชครูของเจ้าชายอัล-อะมีน องค์รัชทายาท และญะอฺฟัร อิบนุ ยะหฺยา อัล-บัรฺมะกียฺ เป็นต้น
เมื่อวงศ์อัล-อับบาสียะฮฺแห่งนครแบกแดดมีอำนาจอ่อนแอลง ตระกูลของเหล่าขุนนางเชื้อสายเปอร์เซียในหัวเมืองภาคตะวันออกของอาณาจักรอัล-อับบาสียะฮฺ เช่น แคว้นคุรอสาน เป็นต้น ได้ตั้งตนขึ้นเป็นรัฐอิสระ อาทิ รัฐอิสระอัฏ-ฏอฮิรียะฮฺ (ค.ศ.820-872) รัฐอิสระอัศ-ศอฟฟารียะฮฺ (ค.ศ.867-903) และรัฐอิสระอัส-สามานียะฮฺ (ค.ศ.873-999) รัฐอิสระทั้งสามนิยมในวัฒนธรรมแบบเปอร์เซียแต่ยอมรับในเชิงสัญลักษณ์ต่อสถานภาพของเคาะลีฟะฮฺแห่งนครแบกแดด ส่วนรัฐอิสระอัล-ฆอซนะวียะฮฺ (ค.ศ.962-1187) ซึ่งปกครองดินแดนภาคตะวันออกของอิหร่าน อัฟกานิสถาน และแคว้นปัญจาบนั้นเป็นพวกเติร์ก เผ่าอัล-ฆอซฺ แต่นิยมวัฒนธรรมแบบเปอร์เซียในด้านภาษาและวรรณกรรม
นักกวีเอกชาวเปอร์เซียนามว่า อัล-ฟิรฺเดาสียฺ (ราวค.ศ.932-1020) ผู้เป็นเจ้าของวรรณกรรม “ชาฮฺ นามะฮฺ” ที่มีบทกวี 60,000 บทก็อยู่ในยุคเรืองอำนาจของสุลฏอนมะหฺมูด อัล-ฆอซนะวียฺ (ค.ศ.998-1030) และได้รับการอุปถัมภ์จากพระองค์ นักปราชญ์อบู อัรฺ-รอยหาน อัล-บีรูนียฺ อัล-คุวาริซมียฺ (เสียชีวิตค.ศ.1048) นักคณิตศาสตร์, เคมี, ดาราศาสตร์ และประวัติศาสตร์ ก็เป็นชาวเปอร์เซียที่สร้างผลงานทางวิชาการภายใต้การอุปถัมภ์ของเหล่าสุลฏอนแห่งรัฐอิสระอัล-ฆอซนะวียะฮฺเช่นกัน
ในขณะที่รัฐอิสระอัส-สามานียะฮฺก่อนหน้านั้นได้ฟื้นฟูภาษาเปอร์เซีย และอุปถัมภ์บรรดานักปราชญ์ นักวรรณกรรม และนักกวีเปอร์เซียจำนวนมาก เช่น ญะอฺฟัรฺ รูดกียฺ (เสียชีวิตค.ศ.940) นักกวีผู้เรียบเรียงวรรณกรรม “กะลีละฮฺ ว่า ดิมนะฮฺ” และ “เรื่องเล่าของซินแบด” และอบุลกอสิม อัล-ฟิรเดาสียฺก่อนที่จะย้ายไปรับใช้ราชสำนักแห่งนครอัล-ฆอซนะฮฺของวงศ์อัล-ฆอซนะวียะฮฺ นอกจากนี้ อบูบักร์ มุฮัมมัด อิบนุ ซะกะรียา อัร-รอซียฺ (ค.ศ.865-923) นักการแพทย์ผู้ยิ่งใหญ่ของโลกมุสลิม ซึ่งถูกขนานนามว่า “กาลิโนสของชาวอาหรับ” และเป็นนักปราชญ์ในสาขาคณิตศาสตร์ ดาราศาสตร์ ปรัชญา การแพทย์ ตรรกวิทยา และวรรณกรรม ตลอดจน อิบนุ สีนา (อะวีเคนน่า) อบูอะลี (ค.ศ.980-1037) นักปราชญ์และนักการแพทย์ผู้ยิ่งใหญ่ในอารยธรรมอิสลาม ทั้งสองนี้ก็เป็นผู้ได้รับการอุปถัมภ์จากเหล่าผู้ปกครองของรัฐอิสระอัส-สามานียะฮฺเช่นกัน
วัฒนธรรมเปอร์เซียได้รับการฟื้นฟูด้วยการอุปถัมภ์ของเหล่าผู้ปกครองของรัฐอิสระซึ่งแผ่อำนาจในเขตแดนเดิมของจักวรรดิ์เปอร์เซีย โดยการฟื้นฟูวัฒนธรรมที่มิใช่อาหรับนี้เป็นผลงานของผู้ปกครองที่เป็นชาวมุสลิม มิใช่ชาวเปอร์เซียที่ถือในศาสนาโซโรอัสเตอร์ (มะญูสียะฮฺ) ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ประเด็นนี้ถือเป็นหลักฐานสำคัญที่บ่งชี้ว่า ชาวมุสลิมยังคงยอมรับวัฒนธรรมเดิมที่ไม่ขัดกับหลักคำสอนในศาสนาอิสลาม เช่น ศิลปวิทยาการ และภาษา-วรรณกรรม เป็นต้น และชาวมุสลิมรู้จักในการประยุกต์ใช้ข้อดีของวัฒนธรรมเดิมและพัฒนาต่อยอดวัฒนธรรมดังกล่าวได้อย่างกลมกลืนและแยบยล เป็นผลทำให้อารยธรรมอิสลามในยุครุ่งเรืองมีความหลากหลายและมีความเป็นสากล อย่างที่ไม่เคยมีอารยธรรมใดๆ ของมนุษยชาติบรรลุถึงมาก่อน
ในรัชสมัยเคาะลีฟะฮฺอัล-มุอฺตะศิม บิลลาฮฺ แห่งวงศ์อัล-อับบาสียะฮฺ (ค.ศ.833-842) เป็นต้นมา ราชสำนักแห่งนครแบกแดดถูกกุมอำนาจโดยกลุ่มชาติพันธุ์ “เติร์ก” ซึ่งเข้ามาในฐานะกองทหารรักษาพระองค์ของเคาะลีฟะฮฺ และมีบทบาทในฐานะขุนนางฝ่ายทหารที่ทรงอิทธิพลต่อราชสำนัก ตลอดจนมีอำนาจปกครองหัวเมืองสำคัญในแคว้นชามและอียิปต์ เช่น อัล-อัฟชีน, บักบาก และยัรฺกูค เป็นต้น
กลุ่มชาวเติร์กได้สถาปนารัฐอิสระในแคว้นชาม (ซีเรีย) และอียิปต์ อาทิ รัฐอิสระอัฏ-ฏูลูนียะฮฺ (ค.ศ.868-905) รัฐอิสระอัล-อิคชีดียะฮฺ (ค.ศ.935-969) เป็นต้น กลุ่มชาติพันธุ์เติร์ก “เผ่าเติร์กกะเมน” นับเป็นกลุ่มชนต่างวัฒนธรรมที่มิใช่อาหรับและเปอร์เซียที่มีอิทธิพลมากที่สุดในช่วงปลายรัชสมัยวงศ์อัล-อับบาสียะฮฺ มี “เลสญูกเติร์ก” เป็นสายตระกูลใหญ่ที่มีอำนาจปกครองแคว้นฟาริส (อิหร่าน), อีรัก, รูม (อนาโตเลีย) และซีเรีย ในช่วงระหว่างคริสตศตวรรษที่ 11-13
ในรัชสมัยสุลฏอนอัลบ์ อัรฺสะลาน (เสียชีวิตค.ศ.1072) แห่งเสลญูก เติร์ก ได้เกิดสมรภูมิมานซิเคิร์ด (มะลาซกุรฺด์) ระหว่างกองทัพของชาวเติร์กมุสลิมกับกองทัพของจักพรรดิ์โรมานุส ดิโอจิเนส แห่งโรมันไบแซนไทน์ ในปีค.ศ.1071 ซึ่งกองทัพของเสลญูก เติร์กได้รับชัยชนะอย่างเด็ดขาด ทำให้คาบสมุทรอนาโตเลียกลายเป็นเขตแดนของชาวมุสลิม และเป็นฐานที่มั่นของเสลญูกแห่งรูมที่ทรงอิทธิพลจนถึงปลายคริสตศตวรรษที่ 14 และสมรภูมิมานซิเคิร์ดเป็นหนึ่งในสาเหตุของการเกิดสงครามครูเสดในปีค.ศ.1096 ระหว่างโลกมุสลิมกับชาวคริสต์ในยุโรปซึ่งกินเวลานับร้อยปี สงครามครูเสดอาจจะเป็นตัวอย่างสำหรับการปะทะของกลุ่มประชาคมต่างวัฒนธรรม แต่ทว่าในการปะทะของสองวัฒนธรรมใหญ่ก็มีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมในระหว่างกันตามมาด้วยในคราเดียวกัน
และเมื่ออาณาจักรเสลญูก เติร์กอ่อนแอลง กลุ่มชาติพันธุ์เคิร์ดก็เริ่มเข้ามามีบทบาทในช่วงสงครามครูเสด ดังกรณีของสุลฏอนเศาะลาหุดดีน อัล-อัยยูบียฺ (ค.ศ.1138-1193) และราชวงศ์อัล-อัยยูบียะฮฺในอียิปต์และซีเรีย (ค.ศ.1173-1249) เป็นชาวเคิร์ด มิใช่ชาวอาหรับหรือเติร์ก ต่อมาพวกทาสในราชวงศ์อัล-อัยยูบียะฮฺซึ่งถูกเรียกขานว่า “พวกมะมาลีก” ที่มีทั้งเติร์ก เจอร์กิส (คอเคเซียน) และมองโกล ได้สืบอำนาจและรับภารกิจในการต่อสู้กับกองทัพครูเสดต่อมาจนถึงสมัยการแผ่อำนาจของอุษมานียะฮฺตุรกี (ออตโตมาน เติร์ก)
จักวรรดิอุษมานียะฮฺ (ออตโตมาน เติร์ก) ที่ถูกสถาปนาขึ้นโดยอุษมานที่ 1 (ค.ศ.1281) และแผ่ขยายดินแดนจากคาบสมุทรอนาโตเลียสู่คาบสมุทรบอลข่าน (ยุโรปตะวันออก) และกลุ่มประเทศอาหรับทั้งในเอเชียตะวันตกเฉียงใต้รวมถึงแอฟริกาเหนือ โดยสุลฏอนมุฮัมมัด (เมหฺเมด) อัล-ฟาติหฺสามารถพิชิตกรุงคอนสแตนติโนเปิล ราชธานีของจักรวรรดิ์ไบแซนไทน์ในปีค.ศ.1453 และย้ายศูนย์กลางการปกครองจากเอเดรียโนเปิ้ล (อะดิรฺนะฮฺ) มายังกรุงคอนสแตนติโนเปิ้ล (อิสตันบูล) ต่อมาสุลฏอนสะลีม ข่าน ที่ 1 ได้แผ่อำนาจเข้าสู่ดินแดนของชาวอาหรับและผนวกซีเรีย ปาเลสไตน์ อียิปต์ และแอฟริกาเหนือ รวมถึงคาบสมุทรอาหรับบางส่วนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิ์อุษมานียะฮฺนับแต่ปีค.ศ.1516 ส่วนดินแดนในคาบสมุทรบอลข่านทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของยุโรปนั้น กองทัพของอุษมานียะฮฺสามารถผนวกดินแดนส่วนนี้นับแต่ตอนปลายคริสตศตวรรษที่ 14 แล้ว
การพิชิตกรุงคอนสแตนติโนเปิ้ลในปีค.ศ.1453 ของสุลฏอนมุฮัมมัด (เมหฺเมด) อัล-ฟาติหฺ ถือเป็นการรุกคืบของประชาคมมุสลิมจากฝั่งทวีปเอเชียข้ามสู่ฝั่งทวีปยุโรปและเข้าครอบครองศูนย์กลางของอารยธรรมกรีก-โรมันตะวันออกและวัฒนธรรมแบบกรีก-ออธอดอกซ์ซึ่งมีนครคอนสแตนติโนเปิ้ลเป็นราชธานี (นับตั้งแต่ค.ศ.395) กอปรกับการพิชิตคาบสมุทรบอลข่านของเหล่าสุลฏอนแห่งอุษมานียะฮฺก่อนหน้าปีค.ศ.1453 นับแต่รัชสมัยลุสฏอนมุร็อด ข่าน ที่ 1 (ค.ศ.1359) เป็นการผนวกดินแดนของพลเมืองพหุวัฒนธรรมในภูมิภาคตะวันออกฉียงใต้ของทวีปยุโรปเข้าเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิ์อุษมานียะฮฺ โดยชาวมุสลิมตุรกีได้ปกครองกรีซ, บัลแกเรีย, โรมาเนีย, ฮังการี, เซอร์เบีย, มัลดาเฟีย, แอลบาเนีย, บอสเนีย-เฮเซอร์โกวิน่าประชิดเส้นพรมแดนของออสเตรียนับเป็นเวลาหลายร้อยปี
จักรวรรดิ์อุษมานียะฮฺ (ออตโตมาน เติร์ก) เจริญสุดขีดในรัชสมัยสุลฏอนสุลัยมาน ข่าน (อัล-กอนูนียฺ) ที่ 1 (ค.ศ.1520-1566) ซึ่งเป็นยุคทองของวรรณกรรม ศิลปะวิทยาการ และสถาปัตยกรรม โดยเฉพาะสถาปัตยกรรมของอุษมานียะฮฺในการก่อสร้างอาคารมัสยิดขนาดใหญ่ได้รับอิทธิพลมาจากมหาวิหารอายา โซเฟีย (สร้างในรัชสมัยจักรพรรดิ์จัสติเนียนที่ 1 แห่งโรมันไบแซนไทน์ ปีค.ศ.532)
พลเมืองชาวคริสต์นิกายกรีก-ออธอดอกซ์ในจักรวรรดิ์อุษมานียะฮฺซึ่งเป็นพลเมืองในพหุวัฒนธรรมได้ถูกชาวมุสลิมตุรกีปกครองด้วยความเป็นปกติสุข มีเสรีภาพในการถือศาสนา การประกอบพิธีกรรม และการดำรงวัฒนธรรมของตน ในขณะที่ชาวยิวเป็นจำนวนมากได้รับอนุญาติให้อพยพเข้ามาตั้งหลักแหล่งในดินแดนของจักรวรรดิ์อุษมานียะฮฺว่า “ชาวยิวดูนเม่ฮฺ” ซึ่งส่วนใหญ่อพยพมาจากสเปนภายหลังการล่มสลายของนครแกรนาดา-เอ็นดะลูเซีย ในปีค.ศ.1492
สังฆนายกของชาวคริสต์นิกายกรีก-ออธอดอกซ์ได้รับการยกย่องจากสุลฏอนมุฮัมมัด อัล-ฟาติหฺ และมีอำนาจในการปกครองคริสตจักรออธอดอกซ์มากยิ่งกว่าในสมัยโรมันไบแซนไทน์ และยังมีสถานะเป็น “วะซีรฺ” ของสุลฏอนแห่งอุษมานียะฮฺอีกด้วย การเปลี่ยนมหาวิหารอายาโซเฟียเป็นมัสยิดญามิอฺแห่งนครอิสตันบูลของ สุลฏอนมุฮัมมัด อัล-ฟาติหฺถือเป็นเพียงสัญลักษณ์อย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า ชาวเติร์กมุสลิมได้ยึดครองกรุงคอนสแตนติโนเปิ้ลของจักรวรรดิ์โรมันไบแซนไทน์แล้ว หลังจากที่ชาวมุสลิมเคยพยายามปิดล้อมราชธานีแห่งนี้นับแต่ยุคต้นอิสลามถึง 29 ครั้ง
กระนั้น มหาวิหาร โบสถ์ในคริสตศาสนาและสำนักสงฆ์ของชาวคริสต์อื่นๆ ก็ได้รับการคุ้มครอง ไม่ได้ถูกเปลี่ยนเป็นมัสยิดญามิอฺ คงมีแต่มหาวิหารอายาโซเฟียแห่งเดียวเท่านั้นที่ถูกเปลี่ยนเป็นมัสยิดญามิอฺ และกลายเป็นต้นแบบของสถาปัตยกรรมในการก่อสร้างมัสยิดขนาดใหญ่ในเวลาต่อมา เช่น มัสยิดญามิอฺ สุลฏอนอะหฺมัดที่ 1 ซึ่งรู้จักกันในนามว่า “มัสยิดสีน้ำเงิน” และตั้งอยู่ตรงกันข้ามกับมัสยิดญามิอฺ อายาโซเฟีย เป็นต้น
ผู้ปกครองชาวเติร์กแห่งจักรวรรดิ์อุษมานียะฮฺได้อนุญาตให้ชาวคริสต์ในกรีซและคาบสมุทรบอลข่านสร้างโบสถ์ในคริสตศาสนาโดยเสรี แต่ในทางกลับกัน กลุ่มประเทศชาวคริสต์ในยุโรปไม่อนุญาตให้ชาวตุรกีสร้างมัสยิดขึ้นในดินแดนของชาวคริสต์ เพราะถือว่าชาวตุรกีเป็นพวกนอกรีตและเป็นศัตรูกับชาวคริสต์ และอคติเช่นนี้ยังคงปรากฏให้เห็นอยู่ในกลุ่มประเทศยุโรปจวบจนทุกวันนี้
คำกล่าวที่ว่า “ผ้าโพกศีรษะของสุลต่านแห่งออตโตมาน ยังดีกว่ามงกุฏบนศีรษะของโป๊ปแห่งกรุงโรม” ซึ่งชาวคริสต์นิกายกรีก-ออธอดอกซ์ในยุโรปตะวันออกเคยพูดถึงในยุคอาณาจักรอุษมานียะฮฺเรืองอำนาจ ย่อมชี้ให้เห็นว่าชาวมุสลิมตุรกีได้ปฏิบัติอย่างไรกับชาวคริสต์ในดินแดนใต้อาณัติของจักรวรรดิ์มุสลิมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ และถึงแม้ว่าชนพื้นเมืองในบัลแกเรีย เซอร์เบีย บอสเนีย และแอลบาเนียเป็นจำนวนมากได้ยอมรับศาสนาอิสลามด้วยความสมัครใจ แต่ประชากรส่วนใหญ่ของยุโรปตะวันออกในคาบสมุทรบอลข่านก็ยังคงถือในศาสนาคริสต์เฉกเช่นบรรพบุรุษของพวกเขา
หากชาวเติร์กเป็นภัยคุกคามต่อพลเมืองชาวคริสต์และบังคับผู้คนให้เข้ารับอิสลามด้วยคมดาบอย่างที่นักเขียนชาวตะวันตกกล่าวอ้าง พลเมืองชาวคริสต์ในยุโรปตะวันออกก็คงถูกบังคับให้เข้ารับอิสลามจนหมดสิ้นแล้วนับแต่ครั้งที่กองทัพของชาวเติร์กได้พิชิตดินแดนส่วนนี้ของยุโรป และโดยข้อเท็จจริงในประวัติศาสตร์ชาวบัลแกเรียน (บุลฆอรฺ) ได้เข้ารับอิสลามนับตั้งแต่สมัยรัฐอิสลามอัล-อับบาสียะฮฺแห่งนครแบกแดดโดยอิบนุ ฟัฎลาน ซึ่งเป็นราชทูตของเคาะลีฟะฮฺอัล-มุกตะดิรฺ บิลลาฮฺ (ค.ศ.908-932) ที่ถูกส่งไปเจริญความสัมพันธ์ทางการทูตกับกษัตริย์ของชนชาติสล๊าฟในบัลแกเรียเมื่อปีค.ศ.921 และพลเมืองบอสเนีย (อัล-บุชนาก) ตลอดจนชาวแอลบาเนีย (อัรฺ-นาอูฏ) ก็เข้ารับอิสลามโดยสมัครใจ มิได้ถูกชาวเติร์กบังคับขืนใจแต่อย่างใด
บทสรุป
ศาสนาอิสลามอุบัติขึ้นด้วยการประกาศของท่านนบีมุฮัมมัด ﷺ ศาสนทูตท่านสุดท้าย นับตั้งแต่ปีค.ศ.610 พลเมืองในคาบสมุทรอาหรับในช่วงเวลานั้นมีความเป็นพหุวัฒนธรรม มีความหลากหลายในด้านสังคมวิทยา การประกาศศาสนาของท่านนบีมุฮัมมัด ﷺ และเหล่าสาวกของท่านในเวลาต่อมาได้หลอมรวมความเป็นพหุวัฒนธรรมของพลเมืองที่เข้ารับอิสลามภายใต้หลักคำสอนของคัมภีร์อัล-กุรอานและวจนะของท่านนบีมุฮัมมัด ﷺ ซึ่งกลายเป็น “ประชาคมมุสลิม” ที่มีเอกภาพในด้านความเชื่อและวิถีปฏิบัติโดดเด่นด้วยอัตลักษณ์ในความเป็นมุสลิม แต่ยังคงความเป็นพหุวัฒนธรรมที่ถูกกำกับด้วยหลักคำสอนของศาสนาอิสลาม ตราบจนทุกวันนี้
“ประชาคมมุสลิม” ทั่วโลกยังคงมีความเป็นพหุวัฒนธรรม เพราะประชาคมมุสลิมมิใช่กลุ่มชนที่มีชาติพันธุ์เดียว ภาษาเดียว ขนบธรรมเนียมเดียว ถึงแม้ว่าประชาคมมุสลิมจะศรัทธาในพระผู้เป็นเจ้าองค์เดียว มีศาสนทูตท่านเดียวกัน มีคัมภีร์และชุมทิศ ตลอดจนการประกอบศาสนกิจเดียวกันก็ตาม แต่ในความเป็นเอกภาพของประชาคมมุสลิมในเรื่องดังกล่าว ก็มีความเป็นพหุวัฒนธรรมที่หลักคำสอนของอิสลามให้การยอมรับและเปิดพื้นที่สำหรับการคงอยู่ของพหุวัฒนธรรมในความเป็นประชาคมมุสลิม
ศาสนาอิสลามคือศาสนาแห่งพระผู้ทรงสร้าง พระผู้ทรงเอกะ ทรงส่งท่านนบีมุฮัมมัด ﷺ มาประกาศแก่มนุษยชาติซึ่งมีความเป็นพหุวัฒนธรรมและความหลากหลาย ความเป็นสากลของศาสนาอิสลามมิได้ถูกจำกัดอยู่เฉพาะชนชาติอาหรับ ภาษา และวัฒนธรรมของชาวอาหรับเท่านั้น ถึงแม้ว่าวัฒนธรรมของชาวอาหรับจะมีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมของประชาคมอื่นที่ไม่ใช่ชาวอาหรับก็ตาม แต่ศาสนาอิสลามเป็นหลักคำสอนและวิถีอันเป็นทางนำสำหรับมนุษยชาติทั้งมวล
ประชาคมมุสลิมมีพันธกิจในการเผยแผ่หลักคำสอนของศาสนาอิสลามสู่การรับรู้ของมนุษยชาติทั้งมวลซึ่งการเผยแผ่และการเรียกร้องสู่ศาสนาอิสลามจำต้องมีการปฏิสัมพันธ์กับผู้คน มีการสื่อสาร และการพบปะสังสรรค์ระหว่างกันบนพื้นฐานของสันติวิธี วิทยปัญญา และการสานเสวนา
ความเป็นพหุวัฒนธรรมในกรอบแห่งคำสอนของอิสลามสำหรับประชาคมมุสลิมทั่วโลกคือปรากฏการณ์จริง และความเป็นพหุวัฒนธรรมของประชาคมโลกที่มิใช่มุสลิมก็คือปรากฏการณ์จริง ปรากฏการณ์ทั้งสองเป็นสภาวการณ์ที่อยู่ร่วมกันในสังคมใหญ่ของมนุษยโลกนับแต่การประกาศศาสนาอิสลามของท่านนบีมุฮัมมัด ﷺ
และประวัติศาสตร์นานนับพันปีที่ผ่านมายืนยันเป็นข้อมูลเชิงประจักษ์ว่าประชาคมมุสลิมอุบัติขึ้นท่ามกลางพหุวัฒนธรรมและอยู่ร่วมกับความเป็นพหุวัฒนธรรมของผู้คนหลากหลายซึ่งถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของพลเมืองในรัฐอิสลาม และอารยธรรมอิสลามได้ก่อกำเนิดขึ้นบนพื้นฐานของพหุวัฒนธรรมโดยผู้คนทั้งที่เป็นมุสลิมและมิใช่มุสลิม ทั้งที่เป็นชาวอาหรับและมิใช่ชาวอาหรับ ต่างก็มีส่วนขับเคลื่อนอารยธรรมอิสลามสู่ยุคทองของประวัติศาสตร์มนุษยชาติแล้วทั้งสิ้น และประชาคมมุสลิมยังคงเป็นส่วนหนึ่งของพหุวัฒนธรรมในสังคมโลกตราบจนถึงวาระสุดท้ายของโลกนี้
#เรื่องเล่าคติเตือนใจ_Islamic_Society_Online
Islamic Society Online
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น