product :

วันพุธที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

กฎหมายอิสลามเบื้องต้น : กฎหมายอาญาว่าด้วยเรื่องการลักทรัพย์หรือโจรกรรม

กฎหมายอิสลามเบื้องต้น : กฎหมายอาญาว่าด้วยเรื่องการลักทรัพย์หรือโจรกรรม

(อาลี เสือสมิง)



กฎหมายอิสลามเบื้องต้น : ลักษณะอาญาและบทลงโทษในกฎหมายอิสลาม ว่าด้วยเรื่องการลักทรัพย์หรือโจรกรรม


การลักทรัพย์หรือโจรกรรม เรียกในภาษาอาหรับว่า อัสสะริเกาะฮฺ (اَلسَّرِقَةُ) ตามหลักภาษาหมายถึง การเอาทรัพย์สินโดยไม่เปิดเผย ส่วนตามคำนิยามในกฏหมายอิสลาม หมายถึง การเอาทรัพย์สินของผู้อื่นอย่างไม่เปิดเผยโดยมิชอบจากสถานที่เก็บทรัพย์สินตามเงื่อนไขเฉพาะที่ถูกกำหนดเอาไว้

การลักทรัพย์ถือเป็นบาปใหญ่ และถือเป็นพฤติกรรมของผู้ที่ไม่ศรัทธา ไม่มีความซื่อสัตย์ต่อตนเองและผู้อื่น ดังนั้นศาสนาอิสลามจึงกำหนดโทษเอาไว้รุนแรงมากด้วยการตัดข้อมือ ดังระบุในอัลกุรฺอานว่า :


وَالسَّارِقُ وَالسَّارِقَةُ فَاقْطَعُواْ أَيْدِيَهُمَا جَزَاء بِمَا كَسَبَا نَكَالاً مِّنَ اللّهِ وَاللّهُ عَزِيزٌ حَكِيمٌ


และชายผู้ลักทรัพย์และหญิงผู้ลักทรัพย์นั้น พวกท่านจงตัดมือของบุคคลทั้งสอง เพื่อเป็นการตอบแทนต่อสิ่งที่บุคคลทั้งสองได้ขวนขวายเอาไว้ อันเป็นการลงโทษจากพระองค์อัลลอฮฺ และอัลลอฮฺทรงเกียรติยิ่งอีกทั้งทรงปรีชาญาณยิ่ง” (ซูเราะฮฺ อัล-มาอิดะฮฺ อายะฮฺที่ 38)


และท่านนบี (ซ.ล.) ได้กล่าวว่า : 


( لَعَنَ اﷲُالسَّارِقَ يَسْرِقُ الْبيْضَةَ فَتُقْطَعُ يَدُه )


พระองค์อัลลอฮฺทรงสาปแช่งผู้ลักทรัพย์โดยที่เขาลักไข่เพียง 1 ฟองแล้วมือของเขาก็ถูกตัด” (รายงานโดย บุคอรีและมุสลิม)


บทลงโทษคดีลักทรัพย์


เมื่อมีการยืนยันในคดีลักทรัพย์ตามเงื่อนไขที่จะกล่าวถึงต่อไป เบื้องหน้าผู้พิพากษาคดีความ ก็จำเป็นต้องดำเนินคดีกับผู้ลักทรัพย์ คือ ตัดมือข้างขวาจากทางข้อมือ ในกรณีที่ผู้ลักทรัพย์ก่อคดีเป็นครั้งแรก หากผู้กระทำผิดลักทรัพย์ในครั้งที่ 2 หลังจากถูกตัดมือขวาไปแล้ว ก็ให้ตัดข้อเท้าข้างซ้ายของจำเลย

หากลักทรัพย์เป็นที่ครั้งที่ 3 หลังจากถูกตัดข้อเท้าข้างซ้ายไปแล้ว ก็ให้ตัดข้อมือข้างซ้าย หากจำเลยไม่หลาบจำ กระทำผิดเป็นครั้งที่ 4 ก็ให้ตัดข้อมือข้างขวาของจำเลย หากกระทำผิดในฐานลักทรัพย์อีก ให้ผู้มีอำนาจหรือผู้พิพากษาพิจารณาดำเนินคดีลหุโทษตามความเหมาะสม ทั้งนี้ ท่านอิหม่าม อัชชาฟีอีย์ (ร.ฮ.) ได้รายงานไว้ในมุสนัดของท่าน จากท่านอบูฮุรอยเราะฮฺ (ร.ฎ.) ว่า ท่านนบี (ซ.ล.) ได้กล่าวถึงผู้ลักทรัพย์ว่า :


إِنْ سَرِقَ فَاقْطَعُوْايَدَه ، ثُمَّ إِنْ سَرِقَ فَاقْطَعُوْاِرجْلَه ثُمَّ إِنْ سَرِقَ فَاقْطَعُوْايَدَه ، ثُمَّ إِنْ سَرِقَ فَاقْطَعُوْا رِجْلَهُ


หากว่าเขาลักทรัพย์ พวกท่านจงตัดมือของเขา ต่อมาหากเขาลักทรัพย์ ก็จงตัดข้อเท้าของเขา ต่อมาหากเขาลักทรัพย์อีก ก็จงตัดมือของเขา ต่อมาหากเขาลักทรัพย์อีก พวกท่านก็จงตัดข้อเท้าของเขา
(อัลอุมม์ 6/138)


อนึ่ง คดีลักทรัพย์จะได้รับการยืนยันด้วยหนึ่งในสองวิธีดังนี้ คือ

  1. ผู้ลักทรัพย์สารภาพอย่างชัดเจนว่าตนลักทรัพย์
  2. มีพยานเป็นชายที่ยุติธรรม 2 คน ยืนยันว่าจำเลยได้ก่อคดีลักทรัพย์

ทั้งนี้ หากจำเลยกลับคำให้การ ก็ไม่ต้องถูกตัดมือ แต่จำต้องชดใช้ทรัพย์สินที่ถูกขโมยแก่เจ้าทรัพย์เท่านั้น

ส่วนเงื่อนไขในการดำเนินคดีผู้ลักทรัพย์ตามบทลงโทษด้วยการตัดมือ ผู้ที่ลักทรัพย์จะไม่ถูกตัดมือนอกจากมีเงื่อนไขครบถ้วน ดังต่อไปนี้

(1) ผู้ลักทรัพย์ต้องบรรลุศาสนภาวะ มีสติสัมปชัญญะพร้อมทั้งกระทำด้วยความสมัครใจ (ไม่ถูกบังคับ)

(2) ผู้ลักทรัพย์ต้องมิใช่บุตรของผู้เป็นเจ้าทรัพย์ มิใช่บิดาและมิใช่คู่สามีภรรยา

(3) ทรัพย์ที่ถูกขโมยต้องเป็นทรัพย์ที่หะล้าล และมีจำนวนถึงอัตรา 1/4 ดีนาร์ในการตีราคา หรือเท่ากับ 3 ดิรฮัมขึ้นไป เนื่องจากมีหะดีษระบุว่า : ( لاَتُقْطَعُ يَدُالسَّارِقِ إِلاَّفِى رُبْعِ دِيْنَارٍفَصَاعِدًا ) “มือของผู้ลักทรัพย์จะไม่ถูกตัดนอกจากใน (กรณีที่ทรัพย์นั้นถึง) หนึ่งในสี่ของดีนาร์ขึ้นไป” (รายงานโดย บุคอรี -6407- / มุสลิม -1684-)

และมีรายงานจากท่านอิบนุ อุมัร (ร.ฎ.) ว่า “ท่านนบี ได้ตัดสินให้ตัดมือผู้ลักขโมยโล่ห์ที่มีราคา 3 ดิรฮัม” (รายงานโดย บุคอรี -6411-)


(4) ทรัพย์ที่ถูกขโมยนั้นต้องอยู่ในสถานที่มิดชิดหรือมีขอบเขต เช่น บ้าน , ร้านค้า , คอกสัตว์ หรือกล่อง เป็นต้น

(5) ผู้ลักทรัพย์ต้องไม่มีกรรมสิทธิเกี่ยวข้องในทรัพย์สินที่ถูกขโมยนั้น เช่น ลักค่าจ้างของตนเองจากนายจ้าง เป็นต้น

(6) ผู้ลักทรัพย์นั้นต้องรู้ว่าการลักทรัพย์เป็นสิ่งต้องห้าม

(7) การเอาทรัพย์ไปนั้นต้องมิใช่ด้วยวิธีการฉกชิงวิ่งราวทรัพย์จากเจ้าทรัพย์แล้ววิ่งหนี

(8) การลักทรัพย์นั้นไม่ได้เกิดขึ้นในช่วงปีที่แห้งแล้งขาดแคลนอาหาร (ทุพภิกขภัย)

อนึ่ง เมื่อมีการยืนยันในคดีลักทรัพย์ และผู้ลักทรัพย์ถูกตัดมือจากคำพิพากษาแล้ว ก็จำเป็นที่ผู้ลักทรัพย์ต้องส่งมอบทรัพย์ของกลางที่ถูกขโมยมาแก่เจ้าทรัพย์ หากเจ้าทรัพย์ยังมีชีวิตอยู่ แต่ถ้าทรัพย์นั้นเสียหายไปแล้วก็จำเป็นต้องชดใช้ตามราคาของทรัพย์นั้น

ในกรณีที่เจ้าทรัพย์อภัยแก่ผู้ลักทรัพย์ และเรื่องยังไม่เป็นคดีความในชั้นศาล ก็ไม่มีการตัดมือแต่อย่างใด แต่ถ้าหากเป็นคดีความในชั้นศาลแล้ว ก็จำเป็นต้องตัดมือ และไม่อนุญาตให้วิ่งเต้นเพื่อลดโทษในคดีความดังกล่าว

การปล้นสะดมภ์


ผู้ที่บุกรุกเคหะสถาน และปล้นทรัพย์พร้อมกับฆ่าเจ้าทรัพย์นั้น มีโทษสถานหนักตามที่อัลกุรฺอานได้ระบุเอาไว้ดังนี้


 إِنَّمَا جَزَاء الَّذِينَ يُحَارِبُونَ اللّهَ وَرَسُولَهُ وَيَسْعَوْنَ فِي الأَرْضِ فَسَادًا أَن يُقَتَّلُواْ أَوْ يُصَلَّبُواْ أَوْ تُقَطَّعَ أَيْدِيهِمْ وَأَرْجُلُهُم مِّنْ خِلافٍ أَوْ يُنفَوْاْ مِنَ الأَرْضِ 


อันที่จริง การตอบแทนของบรรดาผู้ที่ทำสงครามกับอัลลอฮฺและรอซูลของพระองค์ และพยายามก่อความเสียหายในแผ่นดิน คือการที่พวกเขาจะถูกประหารชีวิต หรือถูกตรึงบนไม้กางเขน หรือมือและเท้าของพวกเขาจะถูกตัดสลับข้างหรือพวกเขาจะถูกเนรเทศจากแผ่นดินนั้น” (ซูเราะฮฺ อัล-มาอิดะฮฺ อายะฮฺที่ 33)


และเนื่องจากมีรายงานระบุว่า ท่านนบี (ซ.ล.) ได้กระทำเช่นนั้นกับพวกอัรนียีนฺ ซึ่งปล้นอูฐ ซะกาตและสังหารผู้เลี้ยงอูฐและหนีคดี (รายงานโดย บุคอรีและมุสลิม)

ทั้งนี้ให้ผู้มีอำนาจ (อิหม่าม) ดำเนินการลงโทษกับผู้ปล้นสะดมภ์ดังกล่าวทั้งหมด ซึ่งนักวิชาการบางท่านมีความคิดเห็นว่า ให้ประหารชีวิตกรณีมีการฆ่าเจ้าทรัพย์ และให้ตัดมือและเท้าสลับข้างในกรณีขโมยทรัพย์ และให้เนรเทศหรือถูกจำคุกเมื่อไม่มีการฆ่าเจ้าทรัพย์ และการขโมยทรัพย์ จนกว่าพวกนั้นจะเตาบะฮฺตัว (มินฮาญุลมุสลิม หน้า 420)


แหล่งที่มา http://alisuasaming.org/


#นิติศาสตร์อิสลาม_Islamic_Society_Online
Islamic Society Online



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความแนะนำ

World Clock

Featured Posts

เรื่องราวของสองอารยธรรม : อารยธรรมของชาวไวกิ้งและมุสลิม

เรื่องราวของสองอารยธรรม : อารยธรรมของชาวไวกิ้งและมุสลิม โดย : Cem Nizamoglu และ Sairah Yassir-Deane ย้อนหลังไปถึงมีนาคม 2015 ข่าวเกี่ยวก...