เมื่อโลกพูดอาหรับ : 5 บทบาทที่สะท้อนความสำคัญของภาษาอาหรับเมื่อครั้งอดีต
เมื่อครั้งที่ยุคทองแห่งอารยธรรมอิสลามขึ้นสู่จุดสูงสุด ภาษาอาหรับเคยเป็นภาษากลางที่มีบทบาทต่อศาสตร์สำคัญต่างๆ มากมาย ภาษาอาหรับเป็นทั้งภาษาแห่งวิทยาศาสตร์ ภาษาแห่งบทกวีและวรรณกรรม ภาษาแห่งการเมืองการปกครอง และเป็นภาษาแห่งศิลปะ รวมถึงปรากฏการณ์สำคัญของศาสตร์การแปลที่มีการหยิบเอาตำราภาษากรีก ภาษาโรมัน และตำราโบราณอื่นๆ ในด้านวิทยาศาสตร์ ปรัชญาและวรรณกรรมมาแปลเป็นภาษาอาหรับ ก็เป็นอีกหนึ่งแรงผลักดันที่ทำให้ภาษาอาหรับกลายเป็นภาษากลางที่ครองตำแหน่งภาษาอันทรงอิทธิพลในอดีตกาลเรื่อยมา
George Sarton กล่าวไว้ในบทนำของหนังสือ “ประวัติศาสตร์แห่งวิทยาศาสตร์” ว่า
“ในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 8 ไปจนถึงช่วงท้ายของศตวรรษที่ 11 ภาษาอาหรับเคยเป็นภาษาของวิทยาศาสตร์และความเจริญก้าวหน้าแห่งมนุษยชาติ…เมื่อชาติตะวันตกเริ่มเติบโตจนรู้สึกถึงความจำเป็นในการใฝ่หาความรู้เชิงลึกยิ่งขึ้น พวกเขาจะหันไปสนใจแหล่งความรู้ที่มาจากชาติอาหรับเป็นอันดับแรก มิใช่จากตำรากรีก”
5 บทบาทต่อไปนี้จะสามารถทำให้เราประจักษ์ยิ่งขึ้นว่าความเป็นสากลของภาษาอาหรับในช่วงยุคทองแห่งอารายธรรมอิสลามนั้น ได้ส่งผลให้เกิดความคิดสร้างสรรค์และการคิดค้นนวัตกรรมต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมโลกในอดีตกาลได้อย่างมากมายเพียงใด
1- ภาษาอาหรับคือภาษาแห่งวิทยาศาสตร์
หากย้อนกลับไปเมื่อพันกว่าปีก่อนในช่วงยุคทองแห่งการสร้างนวัตกรรม เราจะพบว่าการกระหายใคร่รู้ในวิชาที่ไม่มีวันจบสิ้นคือลักษณะโดดเด่นประการหนึ่งของเหล่าบรรดานักวิทยาศาสตร์และนักวิชาการในยุคกลางของยุโรป ไม่ว่าจะเป็นในด้านของการคิดค้น การสร้างนวัตกรรม การวิจัย หรืองานเขียนก็ตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผู้ปกครองแบกแดดในสมัยนั้นร่วมแสดงบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนให้ภาษาอาหรับมีบทบาทมากยิ่งขึ้น ด้วยการส่งเสริมให้รวบรวมและกำหนดให้มีการนำองค์ความรู้เก่าแก่ที่เคยบันทึกไว้เป็นภาษากรีก โรมัน จีน เปอร์เซีย อินเดียและแอฟริกามาแปลเป็นภาษาอาหรับทั้งหมด อีกทั้งยังผลักดันให้สร้างแหล่งรวบรวมผลงานด้านวิทยาศาสตร์และสถาบันเรียนรู้วิทยาศาสตร์ จนทำให้เกิดเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ที่เต็มไปด้วยนักปราชญ์ นักวิชาการ ล่ามแปลภาษาชื่อดัง นักเขียน นักบันทึกจดหมายเหตุ นักวิทยาศาสตร์ และนักศิลปกรรมระดับมืออาชีพที่สร้างประโยชน์ต่อสังคมมากมาย
Brian Witaker ได้เขียนในหนังสือพิมพ์ The Guardian ไว้ว่า
“สถาบันแห่งภูมิปัญญาแบกแดด (The Baghdad House of Wisdom) เคยเป็นศูนย์กลางเพื่อการศึกษาอันโดดเด่นทั้งในด้านมนุษย์ศาสตร์และวิทยาศาสตร์ที่รวมไปถึงแขนงต่างๆ เช่นคณิตศาสตร์ ดาราศาสตร์ การแพทย์ วิชาเคมี สัตววิทยาและภูมิศาสตร์…ด้วยตำราจากเปอร์เซีย อินเดีย และกรีก…เหล่านักวิชาการได้รวบรวมองค์ความรู้มาไว้ด้วยกันจนได้มาซึ่งศูนย์รวมองค์ความรู้ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก และได้สร้างสิ่งใหม่ที่แตกยอดออกมาจากเดิมด้วยการคิดค้นของตัวพวกเขาเอง”
นักปราชญ์ชื่อดังอย่าง Ibn al-Haytham, Al-Sufi, Ibn Sina, Al-Razi, Al-Khawarizmi, Al-Kindi, Al-Jahiz, Al-Mahamiliya จึงเป็นส่วนหนึ่งในบรรดานักวิทยาศาสตร์ที่เป็นผลผลิตมาจากยุคทองแห่งความคิดสร้างสรรค์เหล่านี้ และถือว่าเป็นปราชญ์ที่ยังคงส่งอิทธิพลต่อความคิดของคนรุ่นถัดไปยาวนานเรื่อยมา
2 – ภาษาอาหรับคือภาษาแห่งดวงดาว
หนึ่งในวิทยาการที่โดดเด่นและล้ำสมัยที่สุดแห่งยุคอารยธรรมอิสลามคือศาสตร์แห่งดวงดาวหรือดาราศาสตร์ นักดาราศาสตร์ในสมัยนั้นได้ทำการคิดค้นที่สามารถเปิดโลกทัศน์ใหม่ให้กับวงการมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการทำบันทึกครั้งแรกของระบบดวงดาวที่อยู่นอกเหนือออกไปจากแกแลคซี่ ความไม่สมดุลกันของการเคลื่อนไหวของดวงจันทร์ ตลอดจนการคิดค้นอุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ ที่สามารถปูพื้นฐานและให้ประโยชน์กับวงการดาราศาสตร์มาจนถึงยุคปัจจุบัน
นอกจากนี้ยังมีการใช้คำอธิบายดาราศาสตร์ที่เป็นภาษาอาหรับมาตั้งชื่อให้กับดวงดาวต่างๆ อีกด้วย และแม้กาลเวลาจะผ่านไปจนกระทั่งถึงยุคทองแห่งการแปลเนื้อหาความรู้มาเป็นภาษาละติน วงการดาราศาสตร์ก็ยังคงใช้วัฒนธรรมในการตั้งชื่อดาวดวงใหม่ด้วยภาษาอาหรับ เราจึงเห็นดวงดาวส่วนใหญ่ที่รู้จักในปัจจุบันมีชื่อที่มาจากภาษาอาหรับที่ขนานนามโดยนักดาราศาสตร์ในยุคทองของอารยธรรมอิสลามเมื่อครั้งอดีตกาล
3- ภาษาอาหรับคือภาษาแห่งศิลปะและความงาม
ศาสตร์อีกแขนงที่อัจฉริยะบุรุษในยุคอารายธรรมอิสลามโดดเด่นและเป็นที่รู้จักทั่วโลกคือศาสตร์แห่งงานศิลป์ ศิลปินจากโลกมุสลิมในยุคสมัยนั้นสามารถประยุกต์ใช้ความคิดสร้างสรรค์เพื่อถ่ายทอดความเชื่อภายในที่เป็นนามธรรมให้ออกมาเป็นงานศิลปะที่วิจิตรบรรจงน่าชื่นชมยิ่งนัก
หนึ่งในรูปแบบงานตกแต่งศิลปะในวัฒนธรรมอิสลามที่ได้รับการบูรณะคืองานอักษรวิจิตรที่มีการผสมผสานระหว่างตัวอักษรกับรูปแบบของธรรมชาติและรูปทรงเรขาคณิต การพัฒนาของอักษรวิจิตรผ่านงานวิจัยสามารถชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของภาษาอาหรับในอิสลาม ตลอดจนการให้น้ำหนักต่องานเขียนที่ขนบธรรมเนียมอาหรับให้ความสำคัญมาช้านาน
4- ภาษาอาหรับคือภาษาแห่งบทกวี
ในสมัยโบราณ กวีนิพนธ์ถือเป็นรูปแบบหนึ่งที่ประเพณีอาหรับนิยมใช้ในการถ่ายทอดความรู้สึกที่ช่วยโน้มน้าวจิตใจได้ดียิ่ง ความรุ่งเรืองของบทกวีและการขับเคลื่อนอย่างจริงจังของวิทยาศาสตร์ในยุคทองแห่งอารายธรรมอิสลามนั้นสามารถชี้ให้เห็นว่า แท้จริงแล้วมนุษยศาสตร์และวิทยาศาสตร์นั้นไม่ได้มีความขัดแย้งต่อกันแต่อย่างใด และยังสามารถชี้ให้เห็นได้อีกว่า พลังแห่งภาษานั้นสามารถนำมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติได้เป็นอย่างดี
ด้วยกระบวนการฟื้นฟูของศาสตร์หลายแขนงในช่วงเวลานั้น ทำให้บทกวีอาหรับเต็มไปด้วยการปรากฏตัวของการประพันธ์บทกวีเพื่อใช้ในการศึกษา ซึ่งประพันธ์โดยปวงปราชญ์แห่งวิทยาศาสตร์ชื่อดังมากมายเช่นนักการแพทย์อย่าง Ibn Sina หรือแม้แต่กะลาสีอย่าง Ibn Majid ก็เป็นหนึ่งในบรรดาปราชญ์วิชาการที่ให้ความสนใจการประพันธ์บทกวีด้วยเช่นกัน กวีนิพนธ์ของอาหรับมักจะมีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับหลักจริยธรรมและหลักวิทยาศาสตร์ในมุมมองของสังคมและมนุษยธรรม เช่นการดูแลใส่ใจด้านการแพทย์ เป็นต้น
5- ภาษาอาหรับคือภาษาแห่งวรรณกรรม
เป็นที่ทราบกันดีว่าชาวอาหรับส่วนใหญ่นั้นมีความเชื่อว่าภาษาอาหรับเป็นเครื่องมือในการสื่อสารที่สมบูรณ์แบบ แม่นยำ ชัดเจนและงดงามมาช้านาน ดังที่เห็นได้จากคัมภีร์อัลกุรอานซึ่งเป็นวัจนะของพระผู้เป็นเจ้าที่วิจิตรเลอค่ายิ่งกว่าวรรณกรรมชิ้นเอกใดๆ ในโลก และเมื่ออัลกุรอานได้ถูกนำมาเป็นบรรทัดฐานในการวัดความวิจิตรบรรจงของงานวรรณกรรม เราจึงได้เห็นการรวบรวมผลงานวรรณคดีต่างๆ กลายเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวางในหมู่ชาวอาหรับตลอด 1400 ปีที่ผ่านมา
นอกจากบทกวีแล้ว งานร้อยแก้วก็เป็นอีกหนึ่งแขนงวรรณกรรมที่เจริญรุ่งเรืองในยุคสมัยอับบาซียะห์เช่นเดียวกัน หนึ่งในนักประพันธ์ผู้เลื่องลือในยุคสมัยนั้นคือ Al Jahiz (ใช้ชีวิตในเมืองแบกแดดช่วงศตวรรษที่ 8-9) ที่ได้กลายเป็นปราชญ์แห่งบทกวีที่มีชื่อเสียงด้วยงานเขียนตำราที่ชื่อว่า Al Bukhara’s (ตำราของผู้ตระหนี่) ซึ่งเป็นงานเขียนที่ลุ่มลึกและให้ข้อคิดด้านจิตวิทยามนุษย์ได้ดียิ่ง นอกจากนี้ยังมีนักประพันธ์ที่สร้างผลงานโดดเด่นสู่สายตาชาวโลกอีกมากมายเช่น Al Mutannabi, Al Ma’arri, Yaqut Al Hamwi, Badi Al Zaman Al Hamathani, Ibn Hazim Al Andalusi, Ibn Tufail และส่วนใหญ่ก็ยังคงทรงอิทธิพลต่อรูปแบบความคิดของชนรุ่นหลังมาจนถึงทุกวันนี้
แปลและเรียบเรียงโดย : Andalas Farr
ที่มา : WHEN THE WORLD SPOKE ARABIC, http://halallifemag.com/
#อารยธรรมอิสลาม_Islamic_Society_Online
Islamic Society Online
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น