ขณะที่อิสลามกำลังผ่านพันปีแรก ยุโรปก็กำลังสลัดอิทธิพลของคริสตศาสนา
แผนที่ยุโรปช่วงปี 1700 ตรงกับยุคสมัยการเปลี่ยนแปลงในบทความ จะเห็นจักรวรรดิออตโตมันตรึงพื้นที่กว้างในยุโรปตะวันออก |
เมื่อตะวันตกสลัดความเป็นโรมันแบบดั้งเดิม มาสู่การเป็นดินแดนคริสตจักร (Christendom) หรือโลกแบบคริสตศาสนา ซึ่งทำให้คริสตศาสนากลายเป็นศาสนาหลักของตะวันตกมายาวนานถึงวันนี้เกือบสองพันปี แต่โดยความจริงความเป็นโลกแบบคริสตศาสนา ก็ยุติลงเมื่อจักวรรดิโรมันตะวันออกหรือไบเซนไตน์ถูกพิชิตโดยมุฮัมมัด อัลฟาติหฺ ในปี คศ. 1453 (ฮ.ศ. 856) ซึ่งบางคนถือว่าได้เปลี่ยนไปสู่ตะวันตกที่สร้างขึ้นในแบบใหม่ เป็นรัฐชาตินิยม ที่เริ่มต้นด้วยการแสดงอำนาจแบบจักวรรดิและพัฒนาการทางความคิด ปรัชญา และศาสตร์ต่างๆ ไปอย่างที่ไม่มีอารยธรรมไหนเทียบเคียงได้ ขณะที่คริตศาสนาได้ลดบทบาทลง ไปพร้อมๆ กับกำเนิดนักปรัชญารุ่นใหม่ที่เข้ามามีอิทธิพลแทนที่ ขณะเดียวกันโลกของคาทอลิกถูกแย่งชิงพื้นที่ทางเหนือไปโดยโปรแตสแตนท์
นักปรัชญาที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้วางรากฐานของ ปรัชญายุคใหม่ คือ Rene Descartes (คศ.1596-1650 /ฮ.ศ.1004-1059) นักปรัชญาฝรั่งเศส ผู้เชี่ยวชาญคณิตศาสตร์ เป็นผู้ทรงอิทธิพลมากในการวางฐานวิธีคิดในกระบวนความรู้ของโลกสมัยใหม่ ขณะที่งานของโลกตะวันตกกำลังก้าวไปสู่รากฐานที่มั่นคงยิ่ง ก็ตรงกับยุคที่จักรวรรดิมุสลิมอย่างออตโตมันและโมกุลกำลังขึ้นสู่จุดสูงสุดทางอำนาจเช่นเดียวกัน แต่เป็นอำนาจทางกองทัพมากกว่าความสนใจกระบวนการทางความรู้ใหม่ๆ ขณะเดียวกันที่อังกฤษ นักปรัชญาและนักการเมืองอย่าง Francis Bacon (คศ. 1561 – 1626 / ฮ.ศ. 968-1035) แม้จะไม่ได้ทรงอิทธิพลเท่ากับ Descartes ของฝรั่งเศส แต่มีความสำคัญในฐานะเป็นคนแรกๆ ที่สร้างจินตนาการต่อโลกใหม่ เจ้าของวลีที่แสดงถึงลักษณะของอารยธรรมตะวันตกนั่นคือ “ความรู้คืออำนาจ” (Knowledge is power) เขาพยายามสร้างสิ่งทีเรียกว่า “Scientific Method” หรือกระบวนการเรียนรู้ที่เป็นวิทยาศาสตร์ และพยายามปฏิเสธโลกแบบอภิปรัชญาออกไป
ในอังกฤษนั้นยังมีนักปรัชญาคนสำคัญที่อยู่ร่วมสมัยกับ Francis Bacon และถือว่าเป็นบิดาของปรัชญาวิเคราะห์ (Analytical Philosophy) นั่นคือ Thomas Hobbes (คศ. 1588-1679 /ฮ.ศ. 996-1089) ไม่เพียงแต่เชี่ยวชาญทางปรัชญา แต่พยายามนำมันไปใช้กับมนุษย์และสังคม หลังจาก Hobbes แล้ว ในอังกฤษก็มีนักปรัชญาที่โด่งดังอีกหลายคน หนึ่งในนั้นที่ปฏิเสธความสำคัญไม่ได้คือ John Locke (ค.ศ.1632-1701 /ฮ.ศ.1041-1112) และนักปรัชญาคนอื่นๆ ที่ใช้ภาษาอังกฤษ อย่างนักปรัชญาเชื้อสายไอริช George Berkeley (ค.ศ.1685-1753 /ฮ.ศ. 1096-1166) นักปรัชญาเชื้อสายสก็อตอย่าง David Hume (ค.ศ. 1711-1776 /ฮ.ศ. 1122-1189) ผู้ที่เป็นทั้งนักปรัชญา นักประวัติศาสตร์ และนักเศรษฐศาสตร์
ส่วนในฝรั่งเศสนั้น นอกจาก Rene Descartes แล้ว ก็เต็มไปด้วยนักปรัชญาและนักคิดที่วิพากษ์การเมืองที่โดดเด่นอีกหลายท่าน อย่างผู้ที่ถือว่าเป็นนักปรัชญาที่วิพากษ์ระบบทรราชย์และปกป้องปัจเจชนนิยมอย่างยิ่งคือ Francois-Marie Voltaire (ค.ศ. 1694-1778/ฮ.ศ. 1105-1191) และนักคิดที่ร่วมสมัยกับเขาและโด่งดังมากคือ Jean-Jacques Rousseau (ค.ศ. 1712-1778/ฮ.ศ.1123-1191) ซึ่งมีอิทธิพลอย่างสูงต่อคณะผู้ก่อตั้งประเทศสหรัฐอเมริกาในเวลานั้น
นักคิดคนสำคัญไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในฝรั่งเศสและอังกฤษเท่านั้น ในเยอรมันก็ปรากฏขึ้นไม่น้อย ไม่ว่าคนอย่าง Gottfried Wilhelm Leibnitz (ค.ศ.1646 - 1716/ฮ.ศ. 1055-1128) Immanuel Kant (ค.ศ.1724-1806 /ฮ.ศ.1136-1220) ซึ่งล้วนแต่เป็นนักปรัชญาที่ทรงอิทธิพลในแง่มุมต่างๆ ของยุโรปยุคใหม่ ดังนั้น นักคิด นักปรัชญา ที่สร้างรูปแบบใหม่ของยุโรปเหล่านี้ ทั้งในด้านวิทยาศาสตร์ สังคม และการเมือง มีความคึกคักเป็นพิเศษในฝรั่งเศส อังกฤษ และเยอรมัน แต่กระนั้นก็ยังมีในส่วนอื่นๆ ของยุโรป เช่นที่อัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ Benedict Spinoza (ค.ศ.1632-1677 /ฮ.ศ.1041-1087) ที่ได้เขียนงานชื่อว่า Ethics ซึ่งถือว่าเป็นงานเขียนหลักชิ้นหนึ่งของปรัชญาตะวันตกสมัยใหม่ นักปรัชญาเหล่านี้ ปรากฏขึ้นมาหลังจากการขยับถอยไปของอิทธิพลคริสตศาสนา (Christendom) และได้กลายมาเป็นผู้วางรากฐานที่ทรงอิทธิพลให้แก่โลกตะวันตกยุคใหม่ อันเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่โลกอิสลามกำลังเข็มแข็งด้วยกำลังทหารของจักรวรรดิที่ยิ่งใหญ่อย่างออโตมานและโมกุล และกำลังขยายตัวออกไปยังหลายพี้นที่ เช่นในโลกมาเลย์และแอฟริกาตะวันตก
โลกมุสลิมช่วงนี้มีปราชญ์ที่เป็นผู้รู้ที่ทำการอิจญติฮาดน้อยกว่ายุคใดๆ แต่ในจำนวนที่น้อยนี้ปรากฏบุคคลที่ควรถือว่าโดดเด่นระดับภูมิภาคอย่างหยั่งรากลึกหลายคน อย่างชาฮฺวาลียุลลอฮฺ อัดดะฮฺลาวียฺ (ค.ศ. 1703–1762 /ฮ.ศ. 1114-1175) เชค มุฮัมมัด บิน อับดุลวะฮฮาบฺ (ค.ศ. 1703 –1792 /ฮ.ศ. 1114-1206) , เชค มุฮัมมัด อัชเชากานียฺ (ค.ศ.1759–1839 /ฮ.ศ. 1172- 1254), เชค อุษมาน บินฟูฏียฺ (ค.ศ. 1754 – 1817 /ฮ.ศ. 1157-1234) ที่กระจายตามภูมิภาคต่างๆ พวกเขาเป็นนักฟื้นฟูที่พยายามอิจญติฮาด (ตีความตัวบทใหม่) ที่ทรงอิทธิพลต่อยุคสมัย และยังคงมีอิทธิพลมาถึงปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม กระแสการขึ้นมาของโลกตะวันตก การไม่มีพัฒนาการทางวิทยาศาสตร์และความอ่อนแอของอำนาจทางการเมืองของโลกอิสลาม ก็ไม่สามารถหยุดยั้งอำนาจของโลกตะวันตกที่กำลังขึ้นสู่จุดสูงสุดหลังจากการปฏิวัติฝรั่งเศส (คศ. 1789/ฮ.ศ. 1203) และการสถาปนาประเทศใหม่อย่างสหรัฐอเมริกา (ค.ศ.1776 /ฮ.ศ. 1189) ได้เลย นั่นคือการเปิดศักราชใหม่ของโลกตะวันตกที่เป็นใหญ่เพียงหนึ่งเดียว และเป็นจุดตกต่ำลงที่สุดของโลกอิสลามเช่นเดียวกัน
แหล่งที่มา : เพจ Tarikh - ประวัติศาสตร์
#ประชาชาติอิสลาม_Islamic_Society_Online
Islamic Society Online
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น