อิสลามเผยแพร่ด้วยคมดาบ วาทะกรรมของความเกลียดกลัวอิสลาม
เรามักจะเห็นภาพแผนที่หรือการ์ตูนเอนิเมชั่นตามอินเตอร์เน็ตที่อ้างว่า เป็นการเผยแพร่อิสลามในอดีตภายใต้การนำของท่านศาสนทูตมูฮัมหมัด (ซ.ล.) และชนมุสลิมรุ่นต่อมาอยู่บ่อยครั้ง แต่ความจริงแล้วแผนที่และการ์ตูนเหล่านั้นสื่อถึงการเผยแพร่อิสลามในอดีตจริงหรือ? หรือมันเป็นเพียงแค่ภาพพิชิตดินแดนของกองทหารชาวอาหรับมุสลิมเท่านั้น?
ทั้งสองอย่างนี้มีความหมายแตกต่างกันเป็นอย่างยิ่ง เพราะนัยยะแรกนั้นบ่งบอกว่าชาวต่างศาสนิกที่ถือเป็นประชากรส่วนใหญ่ในอาณาเขตที่ถูกยึดครองนั้นจะต้องถูกบังคับให้เข้ารับอิสลาม ในขณะที่นัยยะที่สองนั้นบ่งบอกว่าการพิชิตดินแดนของชาวมุสลิมนั้นไม่จำเป็นต้องจบลงด้วยการบังคับกลุ่มชนใดให้เข้ารับอิสลามเสมอไป
ดูเหมือนว่าหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่เรามีสามารถให้น้ำหนักกับนัยยะที่สองมากกว่านัยยะแรก การพิชิตดินแดนได้เริ่มต้นขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 632 หลังจากที่ท่านศาสนทูตมูฮัมหมัด(ซ.ล.) สิ้นพระชนม์ เมื่อชนมุสลิมในสมัยนั้นเริ่มโค่นถอนอาณาจักรไบแซนไทน์แห่งโรมันและซัสซานิดแห่งเปอร์เชีย ภายในหนึ่งศตวรรษต่อมา (ปี ค.ศ.732) อาณาจักรอิสลามที่อยู่ภายใต้การปกครองของราชวงศ์อุมัยยะห์ ได้ขยายอาณาเขตจากประเทศสเปนในทวีปตะวันตกไปสู่ประเทศอินเดียในทวีปตะวันออก ถือเป็นหนึ่งในการขยายอาณานิคมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์โลกเลยทีเดียว
แต่กระนั้นคำถามก็คือ สิ่งเหล่านี้บ่งบอกว่าชาวต่างศาสนิกทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นชาวคริสต์ ชาวโซโรอัสเตอร์ ชาวพุทธ ชาวฮินดูและอีกหลายศาสนาที่อาศัยอยู่ในอาณาเขตอันกว้างใหญ่เหล่านั้นถูกบังคับให้เข้ารับศาสนาอิสลามด้วยกระนั้นหรือ? ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ให้คำตอบกับเราง่ายๆ เลยว่าไม่ใช่ และนี่ก็เป็นคำตอบที่นักประวัติศาสตร์แนวหน้าส่วนใหญ่ทั้งชาวมุสลิมและที่ไม่ใช่มุสลิมต่างเห็นพ้องเป็นเสียงเดียวกัน งานเขียนชิ้นนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะนำเสนอจุดยืนและข้อพิสูจน์บางอย่างที่สามารถเป็นอาหารสมองให้กับใครก็ตามที่สนใจข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์อย่างแท้จริง ที่ไม่เพียงแค่พยายามจะสอดเสริมเติมแต่งความจงเกลียดจงชังอิสลามต่อเรื่องราวในอดีตอยู่ร่ำไป
โดยทั่วไปแล้ว การบังคับให้เปลี่ยนศาสนานั้นเป็นสิ่งที่ต้องห้ามอย่างชัดเจนในบทบัญญัติของอิสลาม ในคัมภีร์อัลกุรอานกำชับมุสลิมไว้ว่า “จะไม่มีการบังคับใน (การเข้ารับ) ศาสนา (แห่งอิสลาม)” (2:256) นักอรรถาธิบายกุรอานรุ่นเก่าที่มีชื่อเสียงอย่าง อิบนุ กะษีร (ฮ.ศ. 1373) หรือรุ่นหลังอย่าง ซัยยิด กุฎฎุบ (ฮ.ศ. 1966) และ เมาดูดี (ฮ.ศ. 1979) ต่างเห็นพ้องต้องกันว่า อัลกุรอานบทดังกล่าวนั้นได้ห้ามการบังคับขู่เข็ญชาวต่างศาสนิกให้เข้ารับอิสลามไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบใดก็ตาม แต่กระนั้นก็ยังมีผู้คนอีกมาก (ซึ่งแทบจะส่วนใหญ่) ที่ยังคงตั้งข้อกังขาว่าอิสลามนั้นเผยแพร่ “ด้วยคมดาบ” จริงหรือเปล่า? และตัวบทบัญญัตินั้นถือเป็นความจริงทางประวัติศาสตร์หรือไม่? ด้วยเหตุนี้ผมจึงไม่ขอเจาะลึกในส่วนของตัวบทอัลกุรอานที่ว่าด้วยการบังคับเปลี่ยนศาสนาเท่าใดนักในที่นี้
ด้วยข้อเท็จจริงข้างต้น เราลองมาเริ่มค้นหากันว่านักประวัติศาสตร์ได้พูดถึงประเด็นการบังคับให้เข้ารับอิสลามในประวัติศาสตร์ไว้ว่าอย่างไรบ้าง โดยทั่วไปแล้วพวกเขากล่าวไว้ว่าการบังคับให้เปลี่ยนศาสนานั้นมีปรากฏอยู่จริงแต่ค่อนข้างน้อยมาก ยกตัวอย่างจากงานเขียนของศาสตราจารย์ Ira M. Lapidus ที่ระบุไว้ว่า “คำถามต่อข้อสงสัยที่ว่าทำไมผู้คนจึงหันเข้ามานับถือศาสนาอิสลามนั้นมักทำให้เกิดความรู้สึกรุ่มร้อนใจอยู่เสมอ นักวิชาการชาวยุโรปในยุคสมัยก่อนเชื่อกันว่าการเข้ารับศาสนาอิสลามนั้นได้มาด้วยคมดาบที่เชลยศึกมักจะถูกบังคับให้เลือกระหว่างเปลี่ยนศาสนาหรือถูกฆ่า ปัจจุบันเป็นที่รู้กันดีแล้วว่า แท้จริงแล้วการบังคับให้เปลี่ยนศาสนาซึ่งเป็นเรื่องไม่แปลกสำหรับหลายประเทศมุสลิมนั้นมีปรากฏอยู่น้อยมาก โดยปกติแล้วผู้พิชิตดินแดนชาวมุสลิมมักปรารถนาที่จะเข้ามาครอบครองมากกว่าต้องการเปลี่ยนศาสนาประชาชน การเข้ารับศาสนาอิสลามส่วนใหญ่จึงเป็นไปด้วยความสมัครใจมากกว่า
เช่นเดียวกันนั้นนักเขียนผู้ล่วงลับไปแล้วอย่าง Marshall Hodgson ได้เขียนไว้ในผลงานชิ้นแรกของเขาที่ใช้ชื่อ The Venture of Islam ไว้ว่า
“ไม่มีปรากฏซึ่งความพยายาม (ของชาวมุสลิม) ในการที่จะเปลี่ยนศาสนาของผู้คนในจักรวรรดิอาณาเขตที่ถูกยึดครอง ผู้คนที่นั่นศรัทธาและปฏิบัติตามหลักความเชื่อของศาสนาดั้งเดิมของตนอยู่ก่อนแล้ว…ในดินแดนเกษตรกรรมของชนที่ไม่ใช่ชาวอาหรับเองก็ไม่ได้ส่อถึงการเปลี่ยนศาสนาแต่เป็นการปกครองมากกว่า…ความโดดเด่นของอิสลามในมุมมองของศาสนาที่จัดระบบระเบียบให้กับสังคมจึงมักจะพิสูจน์ให้เห็นถึงการปกครองของมุสลิม และพิสูจน์ให้เห็นถึงความเรียบง่ายและความยุติธรรมของชาวมุสลิม ….”
และนอกเหนือจากงานเขียนของ Lapidus และ Hodgson แล้ว เราสามารถอ้างอิงตัวอย่างจากอีกผลงานหนึ่งของนักประวัติศาสตร์ชื่อดังอย่าง Hugh Kennedy ซึ่งท่านได้อ้างถึงสนธิสัญญาที่ร่วมลงนามระหว่างพระสังฆราชแห่งกรุงเยรูซาเล็มที่ถูกยึดครองในปัจจุบันนามว่า Sophronius กับท่าน อุมัร อิบนุ ค็อฏฏ็อบ (ค.ศ. 644) คอลีฟะห์ท่านที่สองของโลกอิสลาม ซึ่งมีใจความว่า:
“นี่คือหลักประกันความปลอดภัย (สันติ) ที่บ่าวของพระผู้เป็นเจ้านามว่า ‘อุมัร’ ผู้บัญชาการสูงสุดจากพระเจ้าผู้ทรงคุณธรรม ได้ให้ไว้กับประชาชนแห่งกรุงเยรูซาเล็ม บุรุษผู้นี้ได้มอบไว้ซึ่งหลักประกันความปลอดภัยต่อตัวประชาชนเอง ต่อทรัพย์สมบัติของพวกเขา ต่อโบสถ์สถานของพวกเขา ต่อไม้กางเขนของพวกเขา ต่อราษฎรทั้งที่เจ็บป่วยและสุขภาพดีของเมืองนี้ และต่อทุกพิธีกรรมทางศาสนาของพวกเขา ตลอดจนโบสถ์และศาสนสถานของพวกเขาที่จะไม่มีวันถูกครอบครองโดยชาวมุสลิมและจะไม่มีวันถูกทำลาย และจะไม่มีความเสียหายใดๆ บังเกิดต่อตัวพวกเขาเอง หรือต่อผืนแผ่นดินที่พวกเขายืน หรือต่อไม้กางเขนของพวกเขา หรือต่อทรัพย์สมบัติของพวกเขาเป็นอันขาด พวกเขาจะไม่มีวันถูกบังคับให้เปลี่ยนศาสนาแต่อย่างใด…”
ท่านอุมัรนั้นนับได้ว่าเป็นหนึ่งในคอลีฟะห์ (ผู้ปกครองแผ่นดิน) ที่เข้มงวดกว่าอีกหลายท่าน และกรุงเยรูซาเล็มนั้นก็ถือได้ว่าเป็นเมืองที่สำคัญทางจิตใจต่อชาวมุสลิมเช่นกัน ดังนั้นเราจึงมีเหตุผลเพียงพอที่จะเชื่อว่า หากชาวมุสลิมเคยขู่เข็ญบังคับให้ชาวต่างศาสนิกต้องเปลี่ยนศาสนาเมื่อใดที่แผ่นดินถูกยึดครองแล้วไซร้ กรุงเยรูซาเล็มก็คงจะไม่พ้นบ่วงนั้นเช่นเดียวกัน
หลายทศวรรษต่อมาหลังจากสนธิสัญญาของท่าน อุมัร กับ Sophronius สิ้นสุดลง ผู้นำมุสลิมอย่าง อับดุลอะซิส อิบนุ มูซา อิบนุ นุศ็อยร์ ก็ได้ลงนามสนธิสัญญาในลักษณะเดียวกันนี้กับขุนนางแห่งเมืองวิซิกอธ (ทางตะวันออกเฉียงใต้ของสเปน) ที่มีนามว่า Theodemir ภายในปี ค.ศ.713 ต่อมา และหนึ่งในข้อตกลงของสนธิสัญญาดังกล่าวคือ “พวกเขา (สาวกของ Theodemir) จะไม่มีการถูกขู่เข็ญบังคับในเรื่องของศาสนาแต่อย่างใด โบสถ์สถานของพวกเขาจะไม่มีวันถูกเผาทำลาย และจะไม่มีการยึดเจว็ดสักการะบูชาของพวกเขาใดๆ เลยทั้งสิ้น…”
แน่นอนว่า ข้อตกลงดังกล่าวนั้นย่อมมาพร้อมกับราคาที่เชลยศึกชาวต่างศาสนิกต้องชำระ แต่กระนั้นราคาดังกล่าวก็ไม่ได้รวมไว้ซึ่งความเชื่อทางศาสนาแต่อย่างใด พวกเขาเพียงต้องรับหน้าที่ชำระ Jizya ซึ่งเป็นภาษีประจำปีที่รับประกันความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของพวกเขา ตลอดจนอิสระในการปฏิบัติศาสนกิจ การได้รับการยกเว้นจากการออกรบในภาวะสงคราม และการคงไว้ซึ่งระบบการบริหารจัดการและความยุติธรรมที่ยังคงเดิม อัตราภาษี Jizya นั้นมีความยืดหยุ่นไม่ตายตัวและถูกรักษาระดับไม่ให้เกินกำลังจ่ายของผู้ที่จะต้องชำระในแต่ละปีซึ่งนั่นก็คือชายต่างศาสนิกที่สามารถหาเลี้ยงชีพและมีรายได้มั่นคง ในส่วนของเด็กเล็กที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะตลอดจนสตรีสูงวัยและผู้พิการทั้งทางร่างกายและสติปัญญานั้นจะได้รับการยกเว้นไม่ต้องชำระค่าภาษีรายปีแต่อย่างใด
เป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับรายละเอียดของภาษีรายปี Jizya นี้ให้ลึกซึ้ง เนื่องจากมีการกล่าวอ้างกันว่าภาษีดังกล่าวนั้นเป็นช่องทางแยบยลในการกดดันให้ช่าวต่างศาสนิกต้องเข้ารับอิสลาม แต่กระนั้นใครก็ตามที่คุ้นเคยกับประวัติศาสตร์โลกจะสามารถบอกได้เลยว่าเมื่อพิจารณาจากเงื่อนไขของภาษี Jizya แล้ว เราจะพบว่ามันไม่ได้เป็นภาระหนักหนาอะไรดังที่หลายคนเข้าใจเลยเมื่อเปรียบเทียบกับสิ่งที่ระบบล่าอาณานิคมอื่นๆ ทั่วไป (รวมทั้งแบบปัจจุบัน) ได้พยายามเรียกร้องจากประชาชนในประเทศที่ตนยึดครอง มันเป็นประเด็นสำคัญที่เราจะต้องรับรู้เช่นกันว่าชาวมุสลิมเองก็ต้องชำระค่าภาษีรายปีในรูปแบบของ Zakat (ซะกาต) ที่คล้ายคลึงนี้ด้วยเช่นเดียวกัน ฉะนั้นการเข้ารับศาสนาอิสลามจึงไม่ใช่ทางออกเพื่อที่จะหลีกเลี่ยงการจ่ายภาษี Jizya ของชาวต่างศาสนิกเลยแต่อย่างใด
ในขณะเดียวกันก็ยังมีข้อโต้แย้งกลับมาว่า อันที่จริงแล้วสิ่งที่มากกว่าการขู่เข็ญบังคับให้คนต่างศาสนิกเข้ารับอิสลามคือการที่ผู้นำมุสลิมส่วนใหญ่ต้องการปกครองชาวต่างศาสนิกเพียงเพื่อจะได้เก็บค่าภาษี Jizya จากพวกเขามากกว่า ทั้งนี้เนื่องจากการเก็บ Zakat นั้นมักจะต้องนำไปแจกจ่ายให้กับชาวบ้านในชุมชนท้องถิ่นและมันสามารถใช้จ่ายได้เพียงบางเรื่องเท่านั้น ในขณะที่ Jizya นั้นจะถูกส่งไปยังฝ่ายกองคลังกลางในเมืองหลวงที่ผู้นำประเทศจะสามารถนำไปใช้ในรูปแบบใดก็ได้ตามต้องการ ประเด็นนี้คือสิ่งที่นักประวัติศาสตร์ไม่เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง แต่จะอย่างไรก็ตามมันก็ยังพอจะบ่งบอกได้ว่า ในความเป็นจริงแล้วการบังคับให้ชาวต่างศาสนิกเข้ารับอิสลามนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ค่อยปรากฏให้เห็น หรือหากมีก็ต้องเป็นเรื่องหลักที่มุสลิมจะต้องรับผิดชอบในขณะที่พวกเขามีอำนาจปกครอง
ฉะนั้นมันจึงเป็นเรื่องสมเหตุสมผลที่จะกล่าวว่า แท้จริงแล้วสิ่งที่เป็นประเด็นคือเรื่องของธรรมเนียมการเก็บภาษี Jizya ต่างหาก ไม่ใช่ประเด็นดราม่าอย่าง “เปลี่ยนศาสนาซะไม่งั้นตาย” ดังที่หลายคนจินตนาการว่าอิสลามพยายามยัดเยียดให้กับชาวต่างศาสนิก อีกสิ่งหนึ่งที่สร้างความมั่นใจได้คือแท้จริงอิสลามนั้นดำรงสถานะเป็นศาสนากลุ่มน้อยในเขตอาณานิคมเป็นระยะเวลานานหลังจากการเข้ายึดครองเมือง นักประวัติศาสตร์มีความเห็นเกี่ยวกับจำนวนระยะเวลาที่แตกต่างกันออกไป แต่โดยส่วนใหญ่แล้วเห็นพ้องว่า “มันเป็นเวลาอย่างน้อย 2 ศตวรรษที่ชนกลุ่มใหญ่ในอาณาจักรการปกครองของอิสลามนั้นไม่ใช่ชาวมุสลิมเสียเอง”
นักประวัติศาสตร์ท่านอื่นยืนยันเช่นกันว่า ในเขตอาณานิคมที่ผู้พิชิตดินแดนชาวมุสลิมสามารถยึดครองมาได้ในช่วงศตวรรษแรกนั้น (ค.ศ. 632-732) อิสลามไม่ได้เป็นศาสนาหลักในพื้นที่ดังกล่าวจนกระทั่งปี ค.ศ. 850-1050 ยกตัวอย่างเช่นพื้นที่แทบทั้งหมดของประเทศอิหร่านที่ยึดครองมาได้ในปี ค.ศ. 705 งานวิจัยเกี่ยวกับอาณาจักรของ Richard Bulliet ได้ยืนยันว่าจำนวนชาวมุสลิมต่อประชากรชาวอิหร่านทั้งประเทศเพิ่งจะแตะเพดานที่ 50% เมื่อช่วงกลางศตวรรษที่ 9 เท่านั้น และมันต้องใช้เวลาร่วมหนึ่งศตวรรษหลังจากนั้นในการที่จะเพิ่มมาเป็น 75% เช่นเดียวกันนั้น พื้นที่ที่เป็นประเทศอัลบาเนียในปัจจุบันเคยถูกยึดครองโดยอาณาจักรออตโตมันซึ่งเป็นไปทีละนิดตลอดช่วงศตวรรษที่ 15 แต่การเข้ารับอิสลามเพิ่งเริ่มต้นแพร่หลายในช่วงหลังของศตวรรษที่ 17 ซึ่งเป็นเวลานานเกือบ 200 ปีหลังจากนั้น ด้วยเหตุนี้นักประวัติศาสตร์จึงตั้งข้อสังเกตว่า “หากการบังคับให้เข้ารับอิสลามเป็นแรงผลักดันหนึ่งของการพิชิตดินแดนแล้ว มันคงเป็นความปราชัยที่แย่เอามากๆ”
แน่นอนว่าการบังคับให้เปลี่ยนศาสนาย่อมเกิดขึ้นอยู่แล้วในประวัติศาสตร์อิสลาม ดังเช่นอาณาจักรออตโตมันที่พยายามบังคับเปลี่ยนศาสนาชาวคริสต์ในคาบสมุทรบอลข่านโดยใช้ระบบ Devshirme เป็นส่วนใหญ่ โดยในแต่ละปีจะมีเด็กผู้ชายชาวคริสต์ 1 คนในทุก 40 คนจากบอลข่านถูกนำมาเลี้ยงดูเพื่อรับใช้ระบบราชการและการทหารของกษัตริย์ออตโตมัน แต่กระนั้นสิ่งนี้ก็ไม่ได้นับว่าเป็นการบังคับเปลี่ยนศาสนาโดยวงกว้างแต่อย่างใด และจนกระทั่งปัจจุบันอิสลามก็ยังคงเป็นศาสนากลุ่มน้อยในภูมิภาคดังกล่าวเหมือนเดิม
เมื่อไม่มีการบังคับให้เปลี่ยนศาสนาในประวัติศาสตร์อิสลามอยู่จริง แล้วอะไรคือความพยายามในการบังคับเปลี่ยนศาสนาที่แท้จริง? ช่างเป็นเรื่องบังเอิญที่มุสลิมมักตกเป็นเหยื่อถูกกระทำในกรณีบังคับเปลี่ยนศาสนาที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ ดังเช่นกรณี Reconquista (ในช่วงยุคกลางที่ชาวคริสต์ยึดครองสเปน) มุสลิมได้ปกครองพื้นที่ส่วนใหญ่ในสเปนมาเกือบ 800 ปี จนเมื่อช่วงท้ายของยุคสมัย (ปลายศตวรรษที่ 15) อิสลามกลับสูญเสียอำนาจการปกครองแทบทุกพื้นภูมิภาค เมื่อราชวงศ์คริสต์ที่ปกครองโดยกษัตริย์เฟอดินานและราชินีอิสซาเบลลาได้เข้ามาแย่งชิงโอกาสยึดครองประเทศสเปนเพื่อศาสนาคริสต์อีกครั้ง พวกเขาได้ยื่นข้อเสนอให้กับชาวมุสลิมและชาวยิวที่อาศัยอยู่ที่นั่นนับล้านชีวิตให้เลือกระหว่างเปลี่ยนศาสนาเป็นชาวคริสต์ หรือออกไปจากประเทศสเปน หรือเลือกจบชีวิตด้วยความตาย
หลายคนยอมเลือกที่จะสละชีวิตมากกว่าทิ้งศาสนาและบ้านเกิดเมืองนอน ผู้คนนับร้อยพันชีวิตต้องถูกบังคับให้เปลี่ยนศาสนาและถูกเรียกว่า Moriscos (อดีตมุสลิม) หรือ Moranos (อดีตยิว) ในระหว่างช่วงปี ค.ศ. 1492 และ ปี ค.ศ.1609 ค้นพบว่าแม้กระทั่งคนที่ถูกบังคับให้เปลี่ยนศาสนายังต้องถูกขับไล่ให้ออกนอกประเทศ จนพวกเขาสามารถขจัดชาวมุสลิมและชาวยิวออกไปจากแผ่นดินสเปนได้ภายในเวลาแค่เพียงศตวรรษเดียว ผู้ลี้ภัยหลายคนออกไปหาหลักแหล่งใหม่ในเขตปกครองของมุสลิมทางยุโรปตะวันออกตามคำเชิญของจักรวรรดิออตโตมัน ที่นั่นผู้คนส่วนใหญ่เลือกที่จะกลับสู่ศาสนาเดิมของตนเองจึงทำให้การบังคับเข้ารับอิสลามจึงเป็นอะไรที่ยิ่งไกลตัวออกไป
หากรัฐที่ปกครองโดยชาวคริสต์ใช้การบังคับเปลี่ยนศาสนาและการขับไล่เพื่อกำจัดชาวมุสลิมและชาวยิวให้หมดสิ้นซากไปจากดินแดนสเปนในเวลาเพียงแค่หนึ่งศตวรรษได้ คำถามคือทำไมในประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่ที่ผ่านมา มุสลิมผู้ซึ่งมีอำนาจเหนือผู้ปฏิเสธอิสลามที่อยู่ภายใต้ปกครองมากมายจึงไม่ทำอย่างเช่นที่ชาวคริสต์กระทำได้? แน่นอนว่าคำตอบง่ายๆ คือ เพราะมุสลิมนั้นไม่บังคับชนต่างศาสนิกให้เข้ารับอิสลาม
ประการสุดท้ายที่น่าสนใจกว่านั้นคือการกระจายตัวของมุสลิมทุกวันนี้ อิสลามยังคงเป็นศาสนาส่วนใหญ่ของพื้นที่ภูมิภาคที่ถูกยึดครองโดยมุสลิมในยุคก่อน แต่กระนั้นรัฐส่วนใหญ่ในภูมิภาคเหล่านี้ยังคงเป็นบ้านเกิดสำหรับประชากรต่างศาสนิกอีกมากมาย (ทั้งชาวคริสต์ ชาวยิวและอื่นๆ) แม้ในพื้นที่ที่มีประชากรส่วนใหญ่เป็นมุสลิมดังที่พบเห็นในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (เช่นอินโดนีเซีย) แถบประเทศจีนหรือแถบแอฟริกาตะวันตก (เช่นไนจีเรีย) พื้นที่เหล่านี้ที่มีอิสลามเข้าไปเผยแพร่ผ่านพ่อค้านักปราชญ์และผู้เลื่อมใสก็ยังไม่เคยมีปรากฏว่ามีการยึดครองโดยชาวมุสลิมเลยเช่นกัน
ฉะนั้นจึงเป็นเรื่องไม่ผิดหากจะพิจารณาถึงความเป็นไปได้ว่าตัวบทอัลกุรอานที่กล่าวว่า “จะไม่มีการบังคับ (ให้ยอมรับ) ในศาสนา (ของอิสลาม)” นั้นไม่ได้เป็นเพียงแค่คำบัญชาเพื่อให้ชาวมุสลิมปฏิบัติตามเท่านั้น แต่มันยังเป็นประโยค “ความจริง” ที่บ่งบอกได้ว่า สำหรับอิสลามนั้นไม่จำเป็นจะต้องมีการขู่เข็ญให้เปลี่ยนศาสนาหรือบังคับผู้ปฏิเสธศรัทธาเพียงเพื่อจะเอาชนะผู้อื่นได้ และดังเช่นที่ปรากฏตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์แล้วว่ามุสลิมส่วนใหญ่ในอดีตที่ผ่านมาก็เข้าใจตรงกันเช่นนั้น
แปลและเรียบเรียงโดย : Andalas Farr
ที่มา : Was the religion of Islam historically spread by the sword ?, http://halallifemag.com/
Islamic Society Online
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น