การเรียนรู้อิสลามของนักบูรพาคดีชาวตะวันตก
บูรพาคดี (Orientalism) คือการศึกษาค้นคว้าของชาวตะวันตกที่เกี่ยวกับโลกตะวันออกทั้งในตัวประชากร ประวัติศาสตร์ ศาสนา ภาษา สภาพสังคม เมือง แผ่นดิน อารยธรรม และทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวกับตะวันออก
ในเริ่มแรกของการศึกษาของ ชาวตะวันตกในเรื่องของตะวันออกนั้น มีเป้าหมายโดยตรงมาที่ตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นดินแดนของชาวอาหรับอิสลาม เพื่อทำการศึกษาภาษาอาหรับและภาษาที่ได้รับอิทธิพลจากภาษาอาหรับโดยมีเป้าหมายเฉพาะ
เราสามารถแบ่งระดับขั้นของการศึกษาบูรพาคดีของชาวตะวันตกได้ด้วยรูปแบบต่อไปนี้
1. ระดับเริ่มต้น
โดย ในระดับนี้ เกิดขึ้นตั้งแต่ยุคแรกๆ ของประวัติศาสตร์อิสลาม ซึ่งหลังจากที่นักวิชาการในโลกอิสลามได้ทำการเผยแผ่ศาสนา และประพันธ์ตำราวิชาการต่างๆ ออกมามากมาย ด้วยการแปลวรรณกรรม ปรัชญาโลก โดยเฉพาะปรัชญากรีก โรมัน อินเดีย และเปอร์เซีย โดยมีเป้าหมายเพื่อนำมาถกและหาข้อผิดพลาดที่ขัดแย้งกับหลักการอิสลาม พร้อมทั้งตีแผ่แนวความคิดหรือปรัชญาอิสลามจนเป็นที่กล่าวขานในกลุ่มชาวกรีก
ด้วยเหตุนี้ บรรดานักบวชคริสต์จึงได้มุ่งหน้าสู่กรุงแบกแดด โดยมีเป้าหมายเพื่อต้องการที่จะทำการถ่ายแปลภาษาจากภาษาอาหรับไปเป็นภาษา โรมัน กรีก และโดยเฉพาะภาษาลาตินซึ่งเป็นภาษาที่ใช้กันในโบสถ์ เพื่อนำเอาข้อมูลจากคัมภีร์อัลกุรอานและวจนะของท่านศาสดามูฮัมหมัด (ศ็อลฯ) มาทำการวิเคราะห์เพื่อสร้างความขัดแย้งในกลุ่มมุสลิมด้วยกัน พวกเขาเหล่านี้ได้สร้างภาพว่าท่านศาสดามูฮัมหมัด (ศ็อลฯ) และศาสนาอิสลามเป็นภาพที่น่ากลัวที่สุด อีกทั้งยังสร้างภาพให้ท่านศาสดามูฮัมหมัด (ศ็อลฯ) เป็นนพระราชาคณะที่คอยทิ่มแทงพระสันตะปาปา และเป็นผู้แอบอ้างการเป็นศาสดา เป็นฆาตกร เป็นนักไสยศาสตร์ เป็นดัจญ้าล เป็นมารร้าย เป็นผู้ที่ต้องการทำลายโบสถ์คริสต์และจริยธรรมอันประเสริฐ อีกทั้งพวกเขายังได้กล่าวหาศาสนาอิสลามนั้นเป็นศาสนาที่นำเอาศาสนาคริสต์และ ยิวมาผสมปนแปกันอย่างน่าเกลียด
ส่วนใหญ่รูปลักษณ์ที่สร้างความเสื่อม เสียแก่อิสลามนี้ ได้ถูกบันทึกโดยนักบวชโยฮานาชาวดามัสกัต ซึ่งอาศัยอยู่ในยุคอามาวีย์ในกรุงดามัสกัต และอีกบางส่วนอยู่ในเอกสารฉบับหนึ่งที่แต่งขึ้นโดยบุคคลที่อ้างว่า ตนเคยเป็นมุสลิม หลังจากนั้นก็เลื่อมใสในคริสต์ศาสนา ที่มีชื่อว่า อับดุลมาเซียฮ์ บุตร อิสฮาก ซึ่งเอกสารฉบับนี้ บรรดานักบูรพาคดีจากกลุ่มนักเผยแผ่ศาสนาคริสต์ได้นำเอาไปตีแผ่ในลอนดอนช่วง ศตวรรษที่ 19 โดยมีเป้าหมายเพื่อทิ่มแทงประชาชาติอาหรับและความเป็นอิสลามของพวกเขา
2. ระดับแห่งการเผยแผ่ศาสนาคริสต์
โดย ระดับนี้ บรรดานักประวัติศาสตร์ถือว่าเป็นระดับของการก่อตั้งขบวนการบูรพาคดี ซึ่งเริ่มขึ้นอย่างชัดเจนในท้ายศตวรรษที่ 17 โดยโบสถ์คริสต์ได้ส่งสมาชิกจากบรรดานักบวชไปยังพื้นที่ต่างๆ ในแอฟริกาและเอเชีย โดยเฉพาะในแถบอาหรับ เช่นตอนเหนือของแอฟริกา ซีเรีย เลบานอน และบางพื้นที่ในคาบสมุทรอาหรับ ปรากฏว่าขบวนการของพวกเขาได้รับผลสำเร็จในด้านของวัฒนธรรม สังคม และการเมือง มากกว่าในด้านของศาสนา
การมีมิชชันนารีในดินแดนอาหรับ จำนวนมาก ถือว่าเป็นโอกาสอันดีสำหรับพวกเขาในการพัฒนาศักยภาพด้านภาษา โดยพวกเขาสามารถเรียนรู้ภาษาอาหรับแม้กระทั้งสำเนียงท้องถิ่น จนมิชชันนารีชาวตะวันตกสามารถประพันธ์หนังสือจากข้อมูลจากอาหรับไปเป็นจำนวน มาก
และสิ่งที่มองข้ามไม่ได้เลยนั้นก็คือ การที่มิชชันนารีจำนวนมากได้สร้างความเสียหายให้แก่ศาสนาในแถบอาหรับเป็น อย่างมาก โดยการสร้างความเคลือบแคลงให้แก่ศาสนาอิสลาม
3. ระดับของการล่าอาณานิคม
ความ เป็นบูรพาคดีได้เริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการหลังจากความล้มเหลวในการทำสงคราม ศาสนา (สงครามครูเสด) และอิสลามก็ได้เริ่มคืบคลานเข้าสู่ยุโรป ด้วยการขยายตัวเข้าไปอย่างชัดเจนในสมัยอาณาจักรออโตมันด้วยการเปิดเมืองกรุงคอนสแตนติโนเปิลจรดยุโรปตะวันตก และการปิดล้อมเวียนนาในศตวรรษที่ 15
การที่นักบูรพาคดีนามว่า “เรย์มอนด์ลูล” ได้ทำการศึกษาภาษาอาหรับ ถือเป็นก้าวแรกในการศึกษาอิสลาม จึงเป็นที่มาในการก่อตั้งคณะและสาขาในมหาวิทยาลัยต่างๆ ในยุโรปเพื่อทำการศึกษาอาหรับและอิสลามเป็นการเฉพาะ อีกทั้งยังได้มีองค์กรและสมาคมด้านบูรพาคดีเกิดขึ้นอีกมากมายเช่นกัน เช่น สมาคมอังกฤษเอเชีย สมาคมอเมริกาตะวันออก สถาบันตะวันออกกลางในวอชิงตัน เป็นต้น ปรากฏว่า ผลของความพยายามอันอย่างหนักของพวกเขาในช่วงหลายศตวรรษที่ผ่านมาเป็นผลสำเร็จในด้านของการกระจายความเคลือบแคลงในหลักยึดมั่นศรัทธาแบบอิสลาม แทรกซึมแนวความคิดในวิชาการอิสลามได้หลายแขนง ในขณะที่มุสลิมไม่ได้ให้ความสนใจกับการศึกษาอิสลามกันอย่างจริงจัง นักบูรพาคดีได้เริ่มเรียกร้องให้ชาวตะวันออกที่นับถืออิสลามปฏิบัติตามแนวคิดแบบตะวันตก โดยลืมไปว่าวิทยาการอาหรับอิสลามถือเป็นรากฐานแรกในการสร้างอารยธรรมอันรุ่งเรืองขึ้นให้เป็นที่ยอมรับต่อสายตาชาวโลกในยุคนั้น อย่างที่กุสตาฟ เลอบอน นักบูรพาคดีชาวฝรั่งเศสได้กล่าวไว้ว่า “อาหรับคือกลุ่มชนที่เปิดวิทยาการต่างๆ ที่ชาวยุโรปไม่รู้จักมาก่อน ทั้งในด้านของวิทยาศาสตร์ วรรณกรรม ปรัชญา อันเป็นผลให้ยุโรปสามารถสร้างวัฒนาธรรมของตนเองขึ้นมาได้ ชาวอาหรับเป็นผู้ให้ความเจริญแก่เรา เป็นผู้นำหน้าเรามาก่อนถึง 6 ศตวรรษ
วิถีแห่งการศึกษาบูรพาคดีได้เริ่มด้วยการแปลพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน เนื่องจากอัลกุรอานเป็นที่มาของหลักการยึดมั่นศรัทธา นิติบัญญัติ และวรรณกรรมอิสลาม โดยบุคคลแรกที่แปลอัลกุรอานเป็นภาษาลาตินคือชาวอังกฤษนามว่า โรเบิร์ต คีตัน ด้วยการช่วยเหลือจากชาวเยอรมันนามว่า เฮอร์แมน ในปี ค.ศ.1143 และอีก 400 ปีต่อมาก็ได้นำเอาอัลกุรอานแปลลาตินมาตีพิมพ์อีกครั้ง และศตวรรษที่ 17 ในปี ค.ศ.1649 นาย อเล็กซานเดรอสส์ ได้แปล อัลกุรอานเป็นภาษาอังกฤษ หลังจากนั้นศตวรรษที่ 18 ในปี ค.ศ.1734 นักบูรพาคดีนามว่า จอร์จ ซีล ได้ตีแผ่การแปลอัลกุรอานจนเป็นที่รู้จัก โดยเรียกชื่อว่า “กุรอานของมูฮัมหมัด” โดยเขาได้ทำการวิเคราะห์การแปลอัลกุรอานในยุคก่อนๆ พร้อมกับกล่าวว่า “การแปลอัลกุรอานที่ผ่านมานั้น ไม่สามารถที่จะถูกเรียกว่าการแปล เนื่องจากในนั้นมีข้อผิดพลาดที่นับไม่ถ้วน มีการตัดทอน และเพิ่มเติม จนห่างไกลตัวบทที่มีอยู่จริง จนไม่เหลือเค้าโครงเดิมไว้เลย” และการแปลอัลกุรอานของนาย จอร์จ ซีล เป็นส่วนหนึ่งจากสาเหตุการแพร่สะพัดศาสนาอิสลามในยุโรป ทั้งๆ ที่การแปลของเขาวางอยู่บนพื้นฐานของการทิ่มแทงอิสลาม อีกทั้งยังประมวลไปด้วยคำพูดที่ไม่ถูกต้องและเรื่องกุขึ้นอย่างนับไม่ถ้วน และที่สำคัญ เขาได้กล่าวไว้ที่คำนำในหนังสือของเขาว่า “อัลกุรอานไม่ใช่วิวอนแห่งพระเจ้า ไม่ใช่สิ่งมหัศจรรย์แต่อย่างใด แต่มันเป็นคัมภีร์ที่ประมวลเรื่องราวที่ซ้ำไปซ้ำมา มีข้อผิดพลาด และมีเรื่องราวที่นำมาจากชาวยิวที่นำมาปะติดปะต่อกันอย่างไม่เป็นเรื่องเป็น ราว
จากความเคลื่อนไหวของนักบูรพาคดี จึงทำให้นักวิชาการอิสลามตื่นตัว หันมาแสวงหาคำตอบเพื่อโต้สิ่งที่นักบูรพาคดีเหล่านั้นได้ตั้งคำถามขึ้นในอิสลาม เพื่อขจัดความคลุมเครือและการคุกคามทางความเชื่อความศรัทธาของอิสลามให้หมด ไป และนอกเหนือจากคำตอบของผู้มีศรัทธาที่ว่า “อัลลอฮ์และศาสนทูตแห่งพระองค์ทรงสั่งใช้และสั่งห้าม” แล้ว จำเป็นต้องให้คำตอบในเชิงตรรกะที่สามารถขจัดข้อสงสัยให้แก่คนต่างศาสนิกได้ เนื่องจากพวกเขาไม่มีศรัทธาและไม่เชื่อต่อสิ่งที่อัลลอฮ์ทรงบัญญัติ
ยิ่งกว่านั้นพวกเขาได้กล่าวหาคำบัญชาแห่งพระองค์เป็นสิ่งที่ไร้สาระและไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อันใดในการนำมาปฏิบัติ นอกจากจะต้องดึงเหตุและผลมาประกอบการนำเสนอบัญญัติแห่งพระองค์ เพื่อให้พวกเขาเกิดความชุกคิดและใช้สติปัญญาไตร่ตรองถึงสัจธรรมที่มีในพระ มหาคัมภีร์อัลกุรอ่านและวจนะแห่งท่านศาสดา และแท้จริงอัลลอฮ์จะไม่ทรงสร้างและบริหารกิจการงานต่างๆ ของพระองค์โดยไร้ซึ่งเหตุผล ดังที่พระองค์ทรงตรัสว่า
“พวกเจ้าคิดว่า แท้จริงเรา (อัลลอฮ์) ได้สร้างพวกเจ้ามาโดยไร้ประโยชน์ และแท้จริงพวกเจ้าจะไม่กลับไปยังเรากระนั้นหรือ” (อัลมุอฺมินูน :115)
จาก ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ได้นำเราไปสู่ความรู้ที่ซ้อนอยู่ภายใต้บัญญัติแห่งอัลลอฮ์ ผ่านการค้นคว้าจากข้อมูลหลากหลายแขนง เพื่อให้มนุษย์ได้ประจักษ์ถึงความมหัศจรรย์ที่ไม่มีใครล่วงรู้ความลับนี้มาก่อน จนเป็นเหตุให้มุสลิมเกินความซาบซึ้งในความรักและความเมตตาของอัลลอฮ์ และทำให้ผู้คนหลั่งไหลกันเข้ารับนับถืออิสลามเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มบรรดานักวิชาการชั้นผู้นำในยุโรปที่ต้องการแสวงหาความจริง
โดย อะห์หมัดมุสตอฟา โต๊ะลง
#การเมือง_ลัทธิและความเชื่อ_Islamic_Society_Online
#ประวัติศาสตร์อิสลาม_Islamic_Society_Online
#เรื่องเล่าคติเตือนใจ_Islamic_Society_Online
Islamic Society Online
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น