product :

วันอาทิตย์ที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2561

ปวงปราชญ์ในนิติศาสตร์อิสลาม กับอิทธิพลของสำนักนิติศาสตร์ทั้ง 4 มัซฮับ ในโลกอิสลาม

ปวงปราชญ์ในนิติศาสตร์อิสลาม กับอิทธิพลของสำนักนิติศาสตร์ทั้ง 4 มัซฮับ ในโลกอิสลาม


อิทธิพลของสำนักนิติศาสตร์ทั้ง 4 มัซฮับ


อิหม่ามทั้งสี่ได้ก่อให้เกิดการพัฒนานิติศาสตร์อิสลามอย่างกว้างขวางและลึก ซึ้ง งานของท่านก่อให้เกิดสำนักนิติศาสตร์ที่กระจายตัวไปทั่วโลกจนถึงทุกวันนี้ ดังต่อไปนี้

  1. มัซฮับ ฮะนะฟียฺ มีผู้ดำเนินตามกันในกลุ่มประเทศแถบเอเชียกลาง, ส่วนใหญ่ของชมพูทวีป, ตุรกีและยุโรปตะวันออก เป็นต้น เป็นแนวนิติศาสตร์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดของโลกมุสลิมมาตลอดจนถึงทุกวันนี้
  2. มัซฮับ มาลิกียฺ ในยุคก่อนได้รับความนิยมในสเปน เป็นอย่างมาก ปัจจุบันได้รับความนิยมกันมากในประเทศแถบอัฟริกาเหนือและแอฟริกาตะวันตกเป็น ส่วนใหญ่
  3. มัซฮับ ชาฟิอียฺ ได้รับความนิยมมากในแถบประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศเยเมน บางส่วนของประเทศอียิปต์ ภาคใต้ของอินเดีย และแอฟริกาตะวันออก เป็นต้น
  4. มัซฮับ ฮัมบะลียฺ กระจัดกระจายโดยทั่วไปในคาบสมุทรอาหรับและประเทศอาหรับข้างเคียง

นอกจากสำนักนิติศาสตร์ทั้งสี่แล้ว ในยุคแรกเริ่มยังมีสำนักอื่นๆ อีกหลายสำนัก เพียงแต่ไม่ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน จึงทำให้ไม่มีผู้สืบทอด จนทำให้เหลือเพียงทฤษฎีในตำรับตำรา เช่น แนวซอฮีรียะฮฺ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม การปฏิบัติตามนิติศาสตร์อิสลามนั้น ไม่จำเป็นต้องสังกัดสำนักใดๆ สำนักหนึ่งใน 4 สำนักนี้ตายตัวอย่างเปลี่ยนแปลงมิได้ หรือแม้กระทั่งไม่จำเป็นต้องมีสำนักสังกัดเป็นทางการก็ได้ ในกรณีเช่นนี้ ถ้าเป็นคนทั่วไปก็ยังคงจำเป็นต้องอาศัยนักฟัตวาที่เขาต้องปฏิบัติตาม แต่ถ้าเป็นคนที่มีความรู้เพียงพอในการเลือกพิจารณาในประเด็นปัญหาต่างๆ ก็สามารถเลือกเฟ้นปฏิบัติตามทัศนะที่มีน้ำหนักและปฏิบัติได้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงได้ ยิ่งกว่านั้นหากเป็นบุคคลระดับมุจญหิดก็ย่อมให้ข้อมูลทางนิติศาสตร์ได้ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องยึดอยู่กับมัซฮับใดๆ

อบุล อะอฺลา อัล-เมาดูดียฺ ได้วิเคราะห์ความสำเร็จของอีหม่ามทั้งสี่เอาไว้ว่าไว้ว่า

... แม้ว่าจะมีมุจญตะหิด (ผู้สามารถทำการอิจญติหาดได้) ที่นอกเหนือจากเขาทั้งสี่ เป็นจำนวนมาก แต่ก็มีเหตุผลบางอย่างที่ได้ทำให้พวกท่านทั้งสี่อยู่ในฐานะที่เหนือกว่ามุจญตะหิดท่านอื่นๆ และทำให้ท่านทั้งสี่นี้ถูกขนานนามว่า มุญัดดิด (นักฟื้นฟู) แห่งอิสลาม นั่นก็คือ

ประการที่ 1 การที่อิมามทั้งสี่มีความเป็นเลิศ ด้วยการที่มีมุมมองที่ลึกซึ้งและมีพลังทางปัญญาที่เด่นเป็นพิเศษ เห็นได้จากความคิดทางศาสนาและการก่อเกิดสำนักคิดอันทรงพลัง ซึ่งการกระตุ้น (ทางปัญญา) ที่มีพลังของพวกท่านยังคงดำเนินต่อไปด้วยการผลิตมุจญตะหิดไปจนกระทั่งถึงศตวรรษที่ 8 ของฮิจญเราะฮฺ นอกจากนี้ พวกท่านยังได้ร่วมกันพัฒนาหลักการพื้นฐานที่ลึกซึ้งในการประยุกต์ใช้ที่เป็นสากลเพื่อการผลิตรายละเอียดต่างๆ ที่ได้มาจากรากฐานคำสอนอิสลาม และเพื่อนำกฎชะรีอะฮฺ (กฎหมายอิสลาม) ไปใช้แก้ปัญหาต่างๆ ในชีวิตได้ผลของงานเหล่านี้ของพวกท่าน ได้รับการยืนยันอย่างหนักแน่นว่า งานทั้งหมดในยุคหลังที่เกี่ยวข้องกับวิธีการอิจญติฮาดนั้นถูกผลิตมากจากแนวคิดที่ได้มาจากหลักการของพวกท่าน และคงจะไม่มีมุจญตะฮิดคนใดในอนาคตยอมสูญเสียสายตา โดยก้าวไปตามเส้นทางอย่างอิสระ ด้วยการละทิ้งหลักการที่พวกท่านได้วางไว้

ประการที่ 2 การที่อิมามทั้งสี่กระทำสิ่งต่างๆข้างต้นอย่างอิสระ โดยปราศจากความช่วยเหลือใดๆ จากรัฐบาล ในบางโอกาสพวกท่านต้องหนีห่างจากการแทรกแซงของทางการ เพื่อที่จะได้ทุ่มเทกับงานของท่านอย่างสงบ การวางความสัมพันธ์เช่นนี้ทำให้พวกท่านต้องประสบกับความยากลำบากและการถูกลง โทษอย่างหนักหน่วง ...แม้ว่าต้องพบกับความทุกข์ยากเช่นไร บรรดาอิหม่ามผู้มีเกียรติเหล่านี้ไม่เคยยอมให้อิทธิพลของทางการมาหน่วงเหนี่ยวหรือส่งผลกระทบต่องานรวบรวบและค้นคว้าวิจัยในความรู้ต่างๆ ของอิสลาม เลย

เพราะฉะนั้น พวกเขาจึงสามารถจัดวางรูปแบบความรู้ดังกล่าวขึ้นมาได้ ด้วยแบบอย่างของพวกท่าน ซึ่งแม้ว่าพวกท่านได้เสียชีวิตไปแล้ว แต่งานด้านอิจญติหาด และการรวบรวมความรู้ของพวกท่านก็ยังคงอยู่ โดยปลอดจากการแทรกแซงจากราชสำนักในระยะเวลานานไม่น้อยเลยทีเดียว

แท้จริง ผลของการทำงานหนักและพากเพียรของพวกเขาทำให้งานที่เชื่อถือได้เกี่ยวกับ อัล-กุรอานและกฏหมายอิสลาม รวมทั้งการรวบรวมหะดีษที่ถูกต้องทั้งหมดมาถึงเรานั้น อยู่ในสภาพที่บริสุทธิ์โดยไม่แปดเปื้อนตลอดหลายศตวรรษที่ผ่านมาอย่างน่าประหลาดใจ …

การปรากฏสำนักนิติศาสตร์อิสลามก็สะท้อนให้เห็นการเคลื่อนไหวอิสลามในยุคแรก ที่มองการณ์ไกลว่า หากปล่อยให้ผู้คนที่ขาดความรู้ในอิสลามที่กว้างขวางปฏิบัติศาสนากันเอาเอง โดยขาดระเบียบแบบแผนทางนิติศาสตร์ที่เป็นระบอบและมีขั้นตอนจะนำไปสู่ พฤติกรรมที่ออกนอกลู่นอกทาง ...

ประวัติศาสตร์อิสลามพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า สำนักนิติศาสตร์อิสลามช่วยทำให้ผู้คนในดินแดนอันกว้างใหญ่ของอิสลามสามารถนำ อิสลามไปปฏิบัติได้อย่างง่ายดาย นอกจากนี้นิติศาสตร์อิสลามที่นำเสนอผ่านสำนักต่างๆ นั้นได้รับการตอบสนองแตกต่างกันออกไปตามพื้นที่ที่แตกต่างกัน สิ่งนี้ช่วยย้ำว่าการตัดสินใจของพวกเขานั้นถูกต้องและก่อประโยชน์อย่าง ยิ่งยวดต่อโลกมุสลิม

นิยามของมัซฮับ


มัซฮับตามหลักภาษา หมายถึง ที่ไป หรือ ทางไป ตามหลักวิชาการ หมายถึง ข้อเท็จจริงที่เกียวกับธรรมเนียมในเชิงปฏิบัติของปวงปราชญ์ที่ถูกนำมาใช้กับ ฮุกุ่มต่างๆ ที่อิมามในขั้นระดับมุจญฮิดได้วินิจฉัยออกมา หรือหมายถึงฮุกุ่มต่างๆ ที่ได้วินิจฉัยออกมาตรงตามกฎเกณฑ์และหลักการของอิมามที่อยู่ในขั้นระดับมุจญฮิด โดยบรรดาสานุศิษย์ที่อยู่ในระดับมุจญฮิดที่ปฏิบัติตามหลักการต่างๆ ของอิมามในการวิเคราะห์วินิจฉัยฮุกุ่มออกมา

การมีมัซฮับตามความที่กล่าวมานี้ จึงหมายถึง หนทางหรือแนวทางของบรรดาปวงปราชญ์ได้ยึดถือปฏิบัติกัน ไม่ว่าจะเป็นนักหะดิษ นักนิติศาสตร์ นักธิบายอัลกุรอาน และอักษรศาสตร์ ซึ่งในเรื่องนี้นั้น ไม่มีนักวิชาการท่านใดที่โลกยอมรับจะให้การปฏิเสธ เพราะท่านจะพบว่า บรรดานักวิชาการทั้งหลายเขาปฏิบัติตามมัซฮับที่ตนพึงพอใจทั้งสิ้นโดยเขานำมา ฟัตวาและตัดสินแก่ผู้คนทั้งหลาย

ท่าน มุฮัมมัด อัลค่อฏิร อัชชันกีฏีย์ ซึ่งเป็นปรมจารณ์แห่งปวงปราชญ์ ได้กล่าวไว้ในหนังสือที่มีชื่อว่า “ก๊อมอุ อะฮ์ลิลอิจญฮาด อัน อัฏเฏาะอฺนิ ฟี ตักลีด อะอิมมะฮ์ อัลอิจญฮาด” หน้าที่ 75 ว่า “ส่วนเรื่องการที่คนเอาวามต้องปฏิบัติตามผู้รู้ที่เป็นมุจญฮิดนั้น มีหลักฐานจากอัลกุรอานและซุนนะฮ์ และยังเป็นมติแห่งปวงปราชญ์ใน 3 ศตวรรษแรกของอิสลามที่ได้รับการยืนยันว่าเป็นประชาชาติที่ดีเลิศจากท่าน นบี (ซ.ล.) ผู้ทรงสัจจะและได้ถูกรับรองความสัจจะจากอัลเลาะฮ์ (ซ.บ.) รวมทั้งมติของปวงปราชญ์แห่งโลกอิสลามหลังจากนั้น นอกจากความขัดแย้งของกลุ่มมั๊วะตะซิละฮ์ที่อยู่ในกรุงแบกแดดที่มาขัดมติของ ปวงปราชญ์ตลอดยุคสมัยที่ผ่านมา

ความจริงแล้ว การตักลีดเป็นที่ระบือในยุคสมัยของซอฮาบะฮ์ผู้มีเกียรติและไม่มีซอฮาบะฮ์คน ใดที่ปฏิเสธเรื่องนี้หรอก เพราะท่านอิมาม อิบนุ หะญัร อัลอัสก่อลานีย์ ซึ่งเป็นอะมีรุลมุอ์มินีนนั้น (หมายถึงผู้ที่จดจำหะดิษและสายรายงานหะดิษ ต่างๆ เป็นจำนวนกว่า 3 แสนหะดิษ) ได้กล่าวให้เราทราบไว้ในหนังสือของท่านที่ชื่อว่า อัล-อิซอบะฮ์ ฟี ตัมยีซฺ อัลซ่อฮาบะฮ์ เล่ม 4 หน้า 148 โดยมีสายรายงานมาจากท่านฏอวูส (ขออัลเลาะฮ์ทรงเมตตา) เขากล่าวว่า ข้าพเจ้าได้พบเห็น ซอฮาบะฮ์ของท่านร่อซูลุลเลาะฮ์ (ซ.ล.) ถึง 70 ท่าน เมื่อพวกเขาเกิดข้อพิพาทกันขึ้นในเรื่องหนึ่งเรื่องใด พวกเขาจะกลับไปยึดคำพูดของท่าน อิบนุ อับบาส (ร.ฏ.)

วิเคราะห์คำรายงานที่ได้กล่าวมานี้ จะเห็นได้ว่า บรรดาซอฮาบะฮ์ของท่านนบี (ซ.ล.) จำนวนมากจะตักลีดตามท่านอิบนุอับบาสในปัญหา ต่างๆ ที่พวกเขาไม่รู้ จึงเป็นเรื่องที่ชี้ชัดว่า ซอฮาบะฮ์เขาก็มีมัซฮับและตักลีดอีกด้วย ความจริงแล้วเหล่าซอฮาบะฮ์ของท่านนบี (ซ.ล.) มีจำนวนกว่าแสนคน แต่ในขณะที่ฟัตวาได้ออกมาจากพวกเขา ที่ได้มีการจดจำ มีราวๆ 130 กว่าคน เรื่องนี้ท่านอิบนุก๊อยยิม ได้กล่าวไว้ในหนังสือของท่านที่ชื่อว่า เอี๊ยะอฺลาม อัลมุวักกิอีน เล่ม 1 หน้า 10 ว่า “นี่ไง ท่านอิมามแห่งซุนนะฮ์ อะหฺมัด อิบนุ หัมบัล ก็ยังตักลีดตามอิมามชาฟีอีย์ (ร.ฮ.)” ซึ่งเรื่องนี้ ท่านอิบนุอะซากิร ได้รายงานไว้ในหนังสือของท่านที่มีชื่อว่า ตารีค ดิมัช เล่ม 51 หน้า 351 ท่านอิบนุหะญัร อัลอัสก่อลานีย์ได้กล่าวไว้ในหนังสือ ตะฮ์ซีบ อัตตะฮ์ซีบ เล่ม 9 หน้า 25 โดยรายงานจากฮุมัยด์ อิบนุ อะหฺมัด อับบะซอรีย์ ซึ่งเขาได้กล่าวว่า “ข้าพเจ้าอยู่กับท่านอะหฺมัด อิบนุ หัมบัล ซึ่งในขณะที่เรากำลังศึกษาเกี่ยวกับปัญหาหนึ่ง ก็มีชายคนหนึ่งได้กล่าวกับท่านอะหฺมัด บิน หัมบัลว่า ท่านอบูอับดิลลาห์ครับ หะดิษในประเด็นนี้ไม่ซอฮิหฺ ท่านอะห์มัดจึงตอบว่า ถึงแม้ว่าหะดิษในประเด็นนี้ไม่ได้ซอฮิหฺก็ตาม แต่มันก็มีคำพูดของท่านอิมามอัชชาฟิอีย์ รับรองอยู่ และการยึดมั่นในคำพูดของท่านอิมามชาฟิอีย์ ย่อมเป็นสิ่งที่มีความแน่นแฟ้นอย่างที่สุดในเรื่องนี้” ด้วยเหตุนี้เอง บรรดาปวงปราชญ์แห่งโลกอิสลามโดยทั่วไป ไม่ว่าจะอยู่ในมัซฮับหะนะฟีย์ , มาลิกีย์ ,ชาฟิอีย์ , และหัมบาลีย์ ต่างก็ยึดถือปฏิบัติตามแนวทางแห่งการมีมัซฮับและตักลีด และในเรื่องนี้ มีนักวิชาการหรือปวงปราชญ์แห่งโลกอิสลามที่ถูกยอมรับนั้น ต่างก็มีมัซฮับและตักลีดตามบรรดาอิมามทั้งสี่ทั้งสิ้น แม้กระทั่ง ท่านอิบนุตัยมียะฮ์ ท่านอิบนุก๊อยยิม ก็อยู่ในมัซฮับหัมบาลีย์ ท่านอิบนุกะษีร ซึ่งเป็นนักปราชญ์หะดิษและอรรถาธิบายอัลกุรอาน ก็อยู่ในมัซฮับชาฟิอีย์ ท่านอัซซะฮะบีย์ ก็อยู่ในมัซฮับชาฟิอีย์

ความจริงแล้ว บรรดาปวงปราชญ์ไม่ว่าจะเป็นรุ่นเล็กและรุ่นอาวุโสก็ยึดบรรดามัซฮับของอะฮ์ลิ สซุนนะฮ์ที่ได้มีการสืบทอดหลักการต่อๆ กันมา

ปวงปราชญ์มัซฮับหะนะฟีย์

ท่านอิมามอบูยูซุฟ, ท่านอิมามมุหัมมัด บิน อัล-หะซัน, ท่านอับดุลเลาะฮ์ บิน อัลมุบาร๊อก, ท่านซุฟัร, ท่านญะฟัร อัฏเฏาะหาวีย์, ท่านอัซซัรค่าชีย์, อันนะซะฟีย์, อะห์มัด บิน มุหัมมัด อัลบุคอรีย์, ท่านอัซซัยละอีย์, ท่านอัลกะมาล บิน อัลฮุมาม, ท่านอิบนุ อันนุญัยม์, ท่านอิบนุอาบิดีน, และบรรดาปวงปราชญ์อีกหลายพันคนที่ได้ถูกบันทึกไว้ในหนังสือประวัติส่วนบุคคล ในมัซฮับหะนะฟีย์ ที่มีชื่อว่า “ฏ่อบะก๊อต อัลหะนะฟียะฮ์” ถ้าจะพิจารณาประเทศต่างๆ ที่ปฏิบัติตามมัซฮับหะนะฟีย์โดยส่วนใหญ่แล้ว คือ อินเดีย ปากีสถาน บังคลาเทศ สินธุ อัฟกานิสถาน กลุ่มประเทศอาหรับในแถบชาม เช่นซีเรีย อิรัก และกลุ่มประเทศยุโรป ก็คือตามมัซฮับหะนะฟีย์ทั้งสิ้น

ปวงปราชญ์มัซฮับมาลิกีย์

ท่านอิมามอิบนุ อัลกอซิม, ท่านอัลอัชฮับ, ท่านซั๊วะหฺนูน, ท่านอะซัด บิน อัลฟุร๊อด, ท่านอัซบั๊ฆฺ, ท่านอิบนุ อับดุลบัรร์, ท่านกอฏีย์ อัลอิยาฏ, ท่านอิบนุ อัลอะรอบีย์ อัลมาลิกีย์, ท่านอบูบักร อัฏฏุรฏูชีย์, ท่านอิบนุ อัลหาญิบ, ท่านอิบนุ อัลมุนัยยิร, ท่านอิบนุ รุชด์, อัลบากิลลานีย์, ท่านอัลบาญี, ท่านอัลกุรฏุบีย์, ท่านอัลกุรอฟีย์, ท่านอัชชาฏิบีย์, ท่านอิบนุ คอลดูน, และบรรดาปวงปราชญ์อีกหลายท่านที่ถูกรวมอยู่ในตำรับตำราที่เกี่ยวกับประวัติ ส่วนบุคคลของมัซฮับมาลิกีย์ ซึ่งเรียกว่า “ฏ่อบะก๊อต มาลิกียะฮ์” นักปราชญ์เหล่านี้อยู่ในมัซฮับของอิมามมาลิกทั้งสิ้น และท่านสามารถกล่าวได้ว่า นักปราชญ์แห่งเมืองต่างๆ ในกลุ่มประเทศอาหรับตะวันตกในทวีปอาฟริกา เริ่มตั้งแต่ศตวรรษที่ 3 แห่งฮิจเราะฮ์ จวบจนถึงทุกวันนี้ ได้ยึดถือตามมัซฮับมาลิกีย์ทั้งสิ้น

ปวงปราชญ์มัซฮับชาฟิอีย์

ท่านอิมามอัลมุซะนีย์, ท่านอิมามอัลบุวัยฏีย์, ท่านอิบนุ อัลมุนซิร, ท่านมุหัมมัด บิน ญะรีร อัฏฏ๊อบรีย์, ท่านอิบนุ สุรัยจฺญ์, ท่านอิบนุ คุซัยมะฮ์, ท่านอัลก๊อฟฟาล, ท่านอัลบัยฮะกีย์, ท่านอัลค๊อฏฏอบีย์, ท่านอบู อิสหาก อัลอัสฟิรอยีนีย์, ท่านอบู อิสหาก อัชชีรอซีย์, ท่านอัลมาวัรดีย์, ท่านอบูฏ๊อยยิบ อัศเศาะลูกีย์, ท่านอบูบักร อัลอิสมาอีลีย์, ท่านอิมาม อัลหะร่อมัยน์, ท่านหุจญฺตุลอิสลาม อัลฆ่อซาลีย์, ท่านอัลบะฆอวีย์, ท่านอัรรอฟิอีย์, ท่านอบู ชามะฮ์, ท่านอิบนุ ริฟอะฮ์, ท่านอิบนุ ศ่อลาห์, ท่านอิมามอันนะวาวีย์, ท่านอิซซุดีน บิน อับดุสลาม, ท่านอิบนุ ดะกีก อัลอีด, ท่านอัลหาฟิซฺ อัลมุซซีย์, ท่านตายุดดีน อัศศุบกีย์, ท่านอัซซะฮะบีย์, ท่านอิรอกีย์, ท่านอัซซัรกาชีย์, ท่านอิบนุหะญัร อัลอัสก่อลานีย์, ท่านอัสศะยูฏีย์, ท่านชัยคุลอิสลาม ซะกะรียา อัลอันซอรีย์, และบรรดานักปราชญ์อีกเป็นพันๆ ที่ไม่สามารถเอ่ยนามพวกเขาได้ทั้งหมด และบรรดานักปราชญ์มัซฮับชาฟิอีย์ได้ถูกระบุไว้ในหนังสือ “อัฏฏ่อบะก๊อต อัชชาฟิอียะฮ์” ก็มีถึง 1419 ท่าน

ปวงปราชญ์มัซฮับหัมบาลีย์

ท่านอิมามอาญุรรีย์, ท่านอบู อัลค๊อฏฏอบ อัลกัลป์วาซะนีย์, ท่านอบูบักร อันนัจญาร, ท่านอบูยะอฺลา, ท่านอัลอัษรอม, ท่านอิบนุ อบีมูซา, ท่านอิบนุ อัซซ๊อยรอฟีย์, ท่านอิบนุ ฮุบัยเราะฮ์, ท่านอิบนุ อัลเญาซีย์, ท่านอิบนุ ตัยมียะฮ์, ท่านอิบนุ รอญับ, ท่านอิบนุ รุซัยน์, ท่านอิบนุรอญับ, และบรรดานักปราชญ์ท่านอื่นๆ อีกมากมาย และนักปราชญ์มัซฮับหัมบาลีย์ที่ได้ถูกกล่าวไว้ในหนังสือ “อัลมักซิด อัลอัรชัด” มีถึง 1315 ท่าน

ดังนั้น ประชาชาติอิสลามศตวรรษแล้วศตวรรษเล่าได้ให้การยอมรับในการตักลีดตามนัก ปราชญ์มุจญฮิดผู้วินิจฉัย ทั้งที่ในสิ่งดังกล่าวนี้ ก็ไม่ใช่เป็นความคลั่งไคล้และแบ่งพรรคแบ่งพวก แต่ความเป็นพี่น้องในศาสนา จึงทำให้พวกเขาอยู่ร่วมกัน และบรรดาวงล้อมที่ทำการศึกษาวิชาความรู้ ก็ได้สมานฉันท์พวกเขาเอาไว้ พวกเขาต่างศึกษาความรู้ซึ่งกันและกัน และยกย่องสรรเสริญกันและกัน โดยที่ท่านเกือบจะไม่พบถึงประวัตินักปราชญ์มัซฮับ หะนะฟีย์ มาลิกีย์ ชาฟิอีย์ และหัมบาลีย์ นอกจากว่า ปราชญ์ท่านหนึ่งได้เคยเป็นศิษย์และศึกษากับบรรดานักปราชญ์ที่ไม่ได้อยู่ใน มัซฮับของเขา

ดังนั้น มุสลิมคนหนึ่งได้ดำเนินตามมัซฮับเดียว ย่อมถูกนับว่าเป็นการยึดติดและสังกัด แต่มันเป็นการยึดติดและสังกัดที่ถูกสรรเสริญ ไม่ใช่ถูกตำหนิ

ท่านชัยค์ สะอีด หะวา ได้กล่าวไว้ในหนังสือ “เญาลาต ฟี อัลฟิกฮัยน์” ว่า “การยึดติดบรรดาปราชญ์ผู้วินิจฉัยหรือมัซฮับของพวกเขาเหล่านั้น เราขอกล่าวว่า การสังกัดมัซฮับนั้น หากเป็นเสมือนดังผลสืบเนื่องจากความพึงพอใจในประเด็นหนึ่งที่เป็นเรื่อง สัจจะธรรม และเขาก็ยึดมันมาเป็นทัศนะและนำมาปฏิบัติ แล้วเขาปกป้องมันด้วยหลักการที่เป็นความสัจจริงและยุติธรรม โดยไม่ใช่หลักการตามอารมณ์ หรือปกป้องมันด้วยความบริสุทธิ์ใจไม่ใช่เพื่อดุนยา หรือปกป้องด้วยจิตวิญญาณแห่งความเป็นพี่น้องในอิสลาม ไม่ใช่ด้วยจิตวิญญาณแห่งความแตกแยก ดังนั้น สิ่งดังกล่าว ย่อมไม่เป็นบาปแต่ประการใด ยิ่งไปกว่านั้น มันยังเป็นแบบฉบับของบรรดาซอฮาบะฮ์ที่พวกเขาดำเนินอยู่ แต่ทว่า การที่มนุษย์คนหนึ่งได้ทำให้คับแคบกับสิ่งที่กว้างขวาง ด้วยการกล่าวหาผู้ที่มีความเห็นต่างกับเขา หรือกล่าวหาลุ่มหลงและโง่เขลากับผู้อื่นเกี่ยวกับประเด็นข้อวินิจฉัย แน่แท้ว่า สิ่งดังกล่าวนั้น เป็นความผิดพลาดอย่างชัดเจน เพราะอิมามชาฟิอีย์ (ร.ฮ.) กล่าวว่าบรรดาปวงปราชญ์ได้ลงมติว่า อัลเลาะฮ์ (ซ.บ.) จะไม่ลงโทษเกี่ยวกับประเด็นที่อุลามาอ์มีความเห็นแตกต่างกันและการยึดมัซฮับหนึ่งที่เปรียบเสมือนผลที่เกิดขึ้นมาจากความไว้วางใจต่อ บรรดาอุลามาอ์และหลักการต่างๆ และที่เปรียบเสมือนผลที่เกิดขึ้นจากความไว้วางใจต่อประชาชาติอิสลามที่ลงมติ เห็นพร้องกับการให้เกียรติต่อมัซฮับทั้งสี่และกับบรรดานักปราชญ์ที่มีมัซฮับ ในยุคสมัยที่ผ่านมา เพราะฉะนั้น การยึดมัซฮับจึงไม่ได้มีการแอบแฝงความรังเกียจหรือแสดงท่าทีอันไม่ดีต่อมัซฮับอื่นเลย แต่ยิ่งไปกว่านั้น การมีมัซฮับกลับมีการให้เกียรติและเคารพซึ่งกันและกัน ซึ่งย่อมไม่เป็นบาปแต่ประการใด แต่ถ้าหากมนุษย์คนหนึ่งได้ยึดถือแนวคิดอื่นจากมัซฮับของเขาที่เป็นผลมาจากการตรวจสอบของเขาเองหรือผู้ที่เขาเชื่อถือ แน่นอนว่า สิ่งดังกล่าวย่อมไม่เป็นบาปแต่ประการใด

ส่วนการยึดติดมัซฮับที่น่าตำหนิ ก็คือ มุสลิมคนหนึ่งยึดมั่นว่า มัซฮับที่เขายึดถืออยู่นั้น เป็นมัซฮับที่ถูกต้องและบรรดามัซฮับอื่นนั้นหลงผิด ซึ่งการคลั่งไคล้เช่นนี้ คือสิ่งที่บรรดานักปราชญ์จากมัซฮับทั้งสี่ทั้งหมดให้การตำหนิ และพวกเขายังให้การยืนยันว่า บรรดามัซฮับอะฮ์ลิสซุนนะฮ์วัลญะมาอะฮ์นั้น อยู่บนทางนำ

ท่านอิมาม อิบนุ หะญัร อัลฮัยตะมีย์ (ร่อฮิมะฮุลลอฮ์) ได้กล่าว “ท่านอิมามชาฟิอีย์ ท่านอิมามอบูหะนีฟะฮ์ ท่านอิมามมาลิก ท่านอิมามอะหฺมัด และบรรดาปวงปราชญ์ท่านอื่นๆ ล้วนอยู่บนทางนำของอัลเลาะฮ์ (ซ.บ.)  ดังนั้น จึงขอโปรดองค์อัลเลาะฮ์ทรงตอบแทนพวกเขาจากการเสียสละเพื่ออิสลามและบรรดามุ สลิมีนอย่างดีเยี่ยมและสมบูรณ์ด้วยเทอญ และเมื่อพวกเขาล้วนอยู่บนทางนำของอัลเลาะฮ์ (ซ.บ.) ดังนั้น จึงไม่เป็นบาปแต่ประการใดต่อผู้ที่ชี้นำผู้อื่นให้ยึดมัซฮับใดมัซฮับหนึ่ง จากมัซฮับทั้งสี่ หากแม้ว่าการแนะนำนั้น จะขัดกับมัซฮับที่เขาเองยึดถือก็ตาม เนื่องจากเขาได้ชี้แนะผู้อื่นไปสู่สัจจะธรรมและทางนำ” ดู อัล-ฟะตาวา อัลฟิกฮียะฮ์ อัลก๊อบรอ เล่ม 4 หน้า 326


แหล่งที่มา : http://muslimchiangmai.net/


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความแนะนำ

World Clock

Featured Posts

เรื่องราวของสองอารยธรรม : อารยธรรมของชาวไวกิ้งและมุสลิม

เรื่องราวของสองอารยธรรม : อารยธรรมของชาวไวกิ้งและมุสลิม โดย : Cem Nizamoglu และ Sairah Yassir-Deane ย้อนหลังไปถึงมีนาคม 2015 ข่าวเกี่ยวก...