product :

วันอาทิตย์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2561

ชีวประวัติของท่านอิหม่าม อบูฮะนีฟะฮฺ

อิหม่าม อบูฮะนีฟะฮฺ




ในช่วงศตวรรษที่สอง และสามแห่งปีฮิจญ์เราะฮฺศักราช ได้กำเนิดสถาบันหรือสำนักศึกษาวิชาการอิสลามด้านนิติศาสตร์ (มะซาฮิบ ฟิกฮียะฮฺ) อย่างมากมาย แต่ละสำนักมีวิธีการประยุกต์หรือหลักการศึกษานิติศาสตร์ที่แตกต่างกันไป ในบรรดาสำนักศึกษานิติศาสตร์ที่เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางและแพร่หลายทั่วโลก คือ สำนักศึกษาที่ก่อตั้งโดย อิมามอบูฮะนีฟะฮฺ ณ เมืองกูฟะฮฺ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในนามของสำนัก “อะฮฺลุล เราะยี” หรือสำนักคิดนิยม

1. ชื่อและวงศ์ตระกูล


ท่านมีชื่อว่า นุอฺมาน บิน ซาบิต บิน ซูฏีย์ อัลกูฟีย์ ปู่ของท่าน ซูฏีย์ เป็นชาวกรุงคาบูลที่อพยพไปยังเมืองกูฟะฮฺ เกิดที่เมืองกูฟะฮฺในปีฮิจญ์เราะฮฺที่ 80 และเสียชีวิตที่เมืองบัฆดาด ในปีฮิจญ์เราะฮฺที่ 150 เมื่ออายุได้ 70 ปี มีอาชีพเป็นพ่อค้าไหม ท่านมีชีวิตอยู่ในรุ่นของอัตบาอุตตาบิอีน ซึ่งทันอยู่ร่วมสมัยกับบรรดาเศาะฮาบะฮฺรุ่นเล็กหลายท่าน และตอนเด็กๆ ท่านเคยเห็น ท่านอนัส บิน มาลิก (ร.ฎ.) ในช่วงที่ท่านอนัสเดินทางไปยังเมืองกูฟะฮฺ

2. อาจารย์และสานุศิษย์


ท่านได้รับการประสาทความรู้จากบรรดาอุละมาอฺตาบิอีนที่ทรงคุณวุฒิมากมาย อาทิเช่น หัมมาด บิน อบีสุลัยมาน สะลิมะฮฺ บิน กุหัยล์ อามิร อัชชะอฺบีย์ อิกริมะฮฺ อะฏออฺ เกาะตาดะฮฺ อัซซุฮฺรีย์ นาฟิอฺ เมาลา อิบนิอุมัร เป็นต้น ส่วนบรรดาศานุศิษย์ที่มีบทบาทในการเผยแผ่แนวคิดหรือมัซฺฮับของท่านได้แก่

  1. กอฎีย์ อบูยูสุฟ (113 – 182 ฮ.ศ.) ซึ่งนับได้ว่าเป็นศิษย์เอกของท่านและมีบทบาทอย่างมากในการเผยแผ่แนวคิดของ ท่านโดยเฉพาะหลังจากที่ท่านได้ดำรงตำแหน่งเป็นกอฎีย์แห่งราชวงค์อัลอับบาซียะฮฺ
  2. มุหัมมัด บิน หะสัน อัชชัยบานีย์ (132 – 189 ฮ.ศ.) ซึ่งทันศึกษากับอิมามอบูฮะนีฟะฮฺช่วงหนึ่ง และศึกษากับอบูยูสุฟ ท่านเป็นคนที่เริ่มแรกเขียนหนังสือนิติศาสตร์ตามแนวทางของสำนักศึกษาของอิมามอบูฮะนีฟะฮฺและเผยแผ่มัน
  3. ซุฟัร บิน อัลฮุซัยล์ (110 – 158 ฮ.ศ.)
  4. อัลหะสัน บิน ซิยาด อัลลุลุอีย์ (133 – 204 ฮ.ศ.)

3. ความรู้เกี่ยวกับนิติศาสตร์และคำชม


  1. อิบนุมุบาร็อก กล่าวว่า “ฉันไม่เคยเห็นใครมีความรู้เหมือนในด้านนิติศาสตร์กับอบูฮะนีฟะฮฺ
  2. ยะหฺยา อัลก็อฏฏอน กล่าวว่า “ฉันไม่ได้โกหกต่ออัลลอฮฺ (ซ.บ.) ฉันไม่เคยได้ยินแนวคิดของผู้ใดที่ดีกว่าอบูฮะนีฟะฮฺ
  3. อิมามชาฟิอีย์ กล่าวว่า “ผู้ใดที่ต้องการจะมีความรู้ที่แตกฉานในด้านนิติศาสตร์ เขาต้องพึ่งพา (แนวคิดของ) อบูฮะนีฟะฮฺ
  4. สุฟยาน อัษเษารีย์ กล่าวว่า “อบูฮะนีฟะฮฺเป็นผู้ที่ปราดเปรื่องด้านนิติศาสตร์ที่สุดในสมัยท่าน

4. การทรมานท่านอิหม่าม อบูฮะนีฟะฮฺ


อิหม่าม อบูฮะนีฟะฮฺ ดำรงชีวิตอยู่ใน 2 ยุค สมัยของราชวงค์อัลอุมะวียะฮฺ และสมัยของราชวงค์อัลอับบาซียะฮฺ เมื่อยะซีด อิบนฺ อุมัรในสมัยของราชวงค์อัลอุมะวียะฮฺขึ้นปกครองอิรัก ท่านได้เสนอให้อิหม่าม อบูฮะนีฟะฮฺ ทำหน้าที่เป็นผู้พิพากษาแห่งนครกูฟะฮฺ แต่ท่านอิหม่าม อบูฮะนีฟะฮฺ ปฏิเสธที่จะรับข้อเสนอดังกล่าว อันเนื่องมาจากท่านไม่พอใจต่อการปกครองของราชวงค์นี้ ผลการปฏิเสธดังกล่าวทำให้ยะซีดได้สั่งให้ลงโทษท่านโดยการทรมานท่านอิหม่ามด้วยการเฆี่ยนตีด้วยแซ่วันละ 10 ครั้ง จนครบ 110 ครั้ง ถึงแม้ว่าท่านอิหม่าม อบูฮะนีฟะฮฺ ถูกเฆี่ยนตีท่านก็ยังปฏิเสธที่จะรับตำแหน่งดังกล่าวที่คอลีฟะฮฺได้เสนอให้ท่าน จนกระทั่งในเวลาต่อมายะซีดก็ให้ปล่อยตัวท่านให้เป็นอิสระ อิบนุมุบาร็อก กล่าวว่า “พวกเจ้าจำได้ไหม ผู้ชายที่มีการหยิบยื่นความสุขสบายทางโลกให้แก่เขาแต่เขากลับหนีห่างจากมัน” ชุรัยก์ อันนะเคาะอีย์ กล่าวว่า “อบูฮะนีฟะฮฺเป็นคนที่เงียบ ชอบครุ่นคิดอยู่เสมอ ไม่ค่อยพูดจากับคนอื่น

หลังจากนั้นไม่นานนักยะซีดมีปรารถนาให้ท่านดำรงตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งในสำนักหรือในการปกครองของตนให้ได้ จึงเสนอให้ท่านรับตำแหน่งเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบกองทุนทรัพย์สิน แต่อิหม่าม อบูฮะนีฟะฮฺ ก็ปฏิเสธอีก และท่านเห็นว่าหากท่านดำรงชีวิตอยู่ในอิรักต่อไป ท่านคงไม่มีความปลอดภัย ท่านก็เลยตัดสินใจอพยพไปสู่นครมักกะฮฺ เพื่อทำการสอนที่นั้น วิชาที่ท่านสอนก็คือวิชาหะดีษและวิชาฟิกฮฺ โดยท่านได้ใช้เวลาในการเผยแผ่วิชาความรู้ที่นั้นเป็นเวลา 6 ปี ด้วยกัน

เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองในอิรัก อำนาจการปกครองได้เปลี่ยนจากราชวงค์อัลอุมะวียะฮฺเป็นราชวงค์อัลอับบาซียะฮฺ คอลีฟะฮฺองค์ใหม่ที่ขึ้นครองอำนาจคือ อบูญะฟัร อัลมันซูร คอลีฟะฮฺอบูยะฟัร ก็พยายามให้ท่านระบายความรู้สึกต่างๆ อบูฮะนีฟะฮฺ ก็ได้แสดงความรู้สึก และความคิดเห็นของท่านในการปกครองของคอลีฟะฮฺองค์นี้ โดยท่านได้วิพากษ์วิจารณ์งานบริหารด้านต่างๆ การแสดงความเห็นอย่างตรงไปตรงมาของอิหม่าม อบูฮะนีฟะฮฺ สร้างความไม่พอใจแก่คอลีฟะฮฺอบูญะฟัรเป็นอย่างมาก ในที่สุดคอลีฟะฮฺอบูญะฟัรก็ได้ใช้วิธีเดียวกันกับคอลีฟะฮฺในราชวงค์ก่อน โดยได้นําตัวอิหม่าม อบูฮะนีฟะฮฺ จากนครกูฟะฮฺไปยังนครแบกแดดแล้วเสนอตำแหน่งผู้พิพากษาให้แต่ท่านปฏิเสธ ด้วยเหตุดัวกล่าว คอลีฟะฮฺอบูญะฟัรทรงสั่งให้ลงโทษอิหม่าม อบูฮะนีฟะฮฺ ด้วยการคุมขังท่านไว้โดยไม่มีกำหนดจนกระทั้งสิ้นชีพ

5. กฏเกณท์ในการวิเคราะห์หลักนิติศาสตร์


ท่านเอิหม่าม อบูฮะนีฟะฮฺ ป็นผู้ที่ได้รับมรดกด้านแนวคิดของสำนักคิดหรือสถาบันการศึกษาอิสลามแห่งเมืองกูฟะฮฺ ซึ่งมีการวางกฏเกณท์หรือหลักการศึกษาและวิเคราะห์หลักนิติศาสตร์อิสลาม ดังนี้ คือ

1. อาศัย อัลกุรอาน สุนนะฮฺ และทัศนะของบรรดาเศาะหาบะฮฺ ในการให้คำชี้ขาดด้านนิติศาสตร์เป็นหลักตามลำดับท่านกล่าวว่า “ฉันจะปฏิบัติตามอัลกุรอาน ตราบใดที่ฉันพบว่ามีระบุอยู่ในนั้น หากไม่แล้วฉันก็จะปฏิบัติตามที่ระบุอยู่ในสุนนะฮฺ หากฉันไม่พบอยู่ในทั้งสอง ฉันก็จะปฏิบัติตามทัศนะของบรรดาเศาะหาบะฮฺ ฉันจะเลือกเอาทัศนะที่ฉันพอใจและเห็นด้วยและจะทิ้งทัศนะอื่นๆ ที่ตรงข้าม ฉันจะไม่มองข้ามทัศนะของพวกเขาเหล่านั้น และหันไปเอาทัศนะของคนอื่นเป็นอันขาด แต่เมื่อมีทัศนะด้านนิติศาสตร์ที่มาจากอิบรอฮิม อันนะเคาะอีย์ อัชชะอฺบีย์ อิบนุสีรีน อะอฺฏออฺ สะอีด บิน มุสัยยับ ฉัน (จะไม่ปฏิบัติตามพวกเขา แต่) จะพยายามวิเคราะห์และแสดงความคิดเห็นเสมือนกับที่พวกเขาได้กระทำไว้” มีคนถามท่านว่า “เมื่อคำพูดของท่านเกิดค้านกับอัลกุรอาน แล้วจะทำอย่างไร” ท่านตอบว่า “พวกเจ้าจงละทิ้งคำพูดของฉัน” มีคนถามอีกว่า “แล้วถ้าคำพูดของท่านค้านกับสุนนะฮฺล๋ะ” ท่านตอบว่า “พวกเจ้าจงละทิ้งคำพูดของฉันเสีย” มีคนถามอีกว่า “แล้วถ้าคำพูดของท่านค้านกับทัศนะของบรรดาเศาะหาบะฮฺล๋ะ” ท่านตอบว่า “จงละทิ้งคำพูดของฉันเสีย

2. เคาะบัรวาหิดตามทัศนะของอิหม่าม อบูฮะนีฟะฮฺ เคาะบัรวาหิด หมายถึง หะดีษที่มีสายรายงานที่ไม่ถึงระดับมุตะวาติร อิหม่าม อบูฮะนีฟะฮฺ ได้วางข้อแม้ต่างๆ ในการรับเอาเคาะบัรวาหิด เพื่อการวิเคราะห์ฮูก่มหรือหลักนิติศาสตร์ดังนี้คือ

  • ต้องไม่ค้านกับการปฏิบัติของนักรายงาน หมายความว่า หากเนื้อหาของเคาะบัรวาหิดส่วนใดเกิดค้านกับการปฏิบัติของนักรายงานเคาะบัร ดังกล่าวก็ให้ยึดตามการปฏิบัติของนักรายงานนั้นไม่ใช่ปฏิบัติตามเคาะบัรที่ได้รายงานไว้ เพราะหากเขาไม่รู้ถึงจุดบกพร่องของเคาะบัรที่ได้รายงานไว้ แน่นอนเขาก็ต้องปฏิบัติตามนั้น
  • ต้องไม่เกี่ยวกับเรื่องที่ทุกคนจำเป็นต้องรู้ เพราะความจำเป็นดังกล่าวทำให้เป็นที่รู้จักกันในหมู่ชนและมีการรายงานที่มากมายอย่างแน่นอน ดังนั้นเมื่อมีเคาะบัรวาหิดเกี่ยวกับสิ่งดังกล่าวจึงถือว่าเป็นเหตุผลหนึ่ง ที่ทำให้รายงานนั้นบกพร่อง
  • ต้องไม่ค้านกับหลักการเปรียบเทียบ (กียาส) และนักรายงานเคาะบัรวาหิดต้องเป็นคนที่แตกฉานในด้านนิติศาสตร์ เมื่อใดที่เคาะบัรวาหิดเพียบพร้อมด้วยข้อแม้ทั้งสามดังกล่าว จึงจะสามารถยึดไว้เป็นหลักในการวิเคราะห์เพื่อให้คำชี้ขาดในด้านนิติศาสตร์ได้ ถึงแม้ว่าจะมีสายรายงานที่อ่อนก็ตาม และรายงานดังกล่าวจะมีน้ำหนักมากกว่ากิยาส และนี่คือบุคลิกเฉพาะของแนวคิด หรือวิธีการวิเคราะห์ด้านนิติศาสตร์ของมัซฮับฮะนาฟีย์ ซึ่งจะให้ความสำคัญกับหะดีษที่มีสายรายงานที่อ่อนมากกว่ากิยาส

3. การเปิดกว้างในเรื่องของกิยาส ในบรรดาหลักการวิเคราะห์นิติศาสตร์ของอิหม่าม อบูฮะนีฟะฮฺ คือท่านจะยึดเอาหลักการเปรียบเทียบหรือกิยาสมาเป็นบรรทัดฐานในการวิเคราะห์นิติศาสตร์อย่างกว้างขวาง เว้นแต่เรื่องที่เกี่ยวกับฮูดูดหรืออาญา และการชดเชยหรือกัฟฟาเราะฮฺ กล่าวกันว่าเหตุที่เป็นเช่นนั้น เพราะอิหม่าม อบูฮะนีฟะฮฺ เป็นคนที่ศึกษาและรายงานหะดีษน้อยกว่าคนอื่นเป็นอย่างมาก ถ้าจะเทียบกับบรรดาอิหม่ามคนอื่นๆ ประจวบกับความมัธยัสและท่าทีที่แข็งกร้าวในการรับหะดีษของท่านอันสืบเนื่อง มาจากการแพร่สะพัดของการโป้ปดในเมืองอิรักตอนนั้น

4. การเปิดกว้างในเรื่องของอิสติหฺสาน อิสติหฺสาน (การพิจารณาเห็นชอบด้วยในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง โดยปัญญาเป็นบรรทัดฐาน) เป็นอีกวิธีหนึ่งในการวิเคราะห์และแสดงมติในด้านนิติศาสตร์อิสลามที่อิหม่าม อบูฮะนีฟะฮฺ ใช้อย่างกว้างขวางและมากกว่าหลักการกิยาสอีก เพราะทุกครั้งที่ท่านพบว่ามีอะซารฺหรือมีรายงานจากเศาะหาบะฮฺคนใดคนหนึ่ง ปฏิบัติในสิ่งที่ไม่มีระบุในอัลกุรอาน และหะดีษ ท่านก็จะยึดถืออะซารฺนั้นเป็นบรรทัดฐานในการตัดสิน หรือคำชี้ขาดด้านบัญญัติศาสนาทันทีพร้อมกับทิ้งกิยาส

5. การใช้หลักการหลีกเลี่ยง(หิยัล) หลักการหิยัลหรือการหาช่องโหว่ของบัญญัติศาสนาเพื่อหลีกเลี่ยงจากความคับแคบ ของฮูก่ม หรือยกเลิก หรือเปลี่ยนจากฮูก่มหนึ่ง สู่อีกฮูก่มหนึ่ง ที่เบากว่า เป็นต้น เป็นอีกหลักการหนึ่งที่อิหม่าม อบูฮะนีฟะฮฺ นำมาใช้ ซึ่งอุละมาอฺส่วนใหญ่ต่างไม่เห็นด้วยและตอบโต้อย่างแข็งขัน อาทิเช่น อัลบุคอรีย์ซึ่งท่านได้ใส่เรื่อง หิยัล ในหนังสือเศาะหีหฺของท่านเพื่อโต้คนที่ใช้หลักการหิยัลนี้

6. การแพร่สะพัดของมัซฮับฮานาฟีย์ มัซฮับฮานาฟีย์ เป็นมัซฮับที่แพร่สะพัดไปทั่วหล้าและปัจจุบันมัซฮับฮานาฟีย์ เป็นมัซฮับที่มีมุสลิมยึดเป็นแนวทางมากที่สุด ซึ่งจะกระจัดกระจายตามประเทศอิรัก ซีเรีย เลบานอน อินเดีย ปากีสถาน อัฟฆานิสถาน ตุรกี อัลบาเนีย ประเทศแถบอ่าวบัคข่าน กูกอซฺ และแถบอัฟริกาเป็นบางส่วน

7. หนังสือนิติศาสตร์ตามมัซฮับหะนะฟีย์ หนังสือนิติศาสตร์ หรือฟิกฮิที่ใช้เป็นบรรทัดฐานในการอ้างอิงของมัซฮับฮานาฟีย์สามารถแบ่งได้ดังนี้

  1. หนังสืออุศูลมัซฮับ มีทั้งหมด 6 เล่มซึ่งล้วนเป็นข้อเขียนของท่านมุหัมมัด บิน หะสัน อัชชัยบานีย์ ทั้งสิ้น ได้แก่หนังสือ อัลมับสูฏ อัซซิยาดาต อัลญามิอุศเศาะฆีรฺ อัสสัยรุศเศาะฆีรฺ อัลญามิอุลกะบีรฺ และอัสสัยรุลกะบีรฺ ต่อมา อัลหากิมอัชชะฮีดได้รวบรวมหนังสือทั้ง 6 เล่มไว้ในหนังสือของท่านที่มี ชื่อว่า อัลกาฟีย์ ซึ่งกลายเป็นหนังสือที่มุอฺตะมัดหรือน่าเชื่อถือที่สุดของมัซฮับฮานาฟีย์
  2. หนังสือที่มุอฺตะมัดหรือเป็นที่น่าเชื่อถือในการอิงมัซฮับ ที่สำคัญๆได้แก่ 1. อัลมับสูฏ ของ อัลสิร็อคสีย์ ซึ่งเป็นการชัรหฺหรืออธิบายขยายความหนังสืออัลกาฟีย์ 2.มุคตะศ็อร อัฏเฏาะหาวีย์ 3. มุคตะศ็อร อัลกิเราะคีย์
  3. หนังสือแม่บท หรือมุตูนที่มุอฺตะมัด ได้แก่ 1. วิกอยะตุรริวายะฮฺ ฟี มะสาอิลิลฮิดายะฮฺ ของ ตาญุชชะรีอะฮฺ อัลอับบาดีย์ หรือป็นที่รู้จักกันในนาม อัลวิกอยะฮฺ 2. มุคตะศ็อรฺอัลกุดูรีย์ 3. กันซุดดะกออิก ของ อบุลบะเราะกาต อันนะสะฟีย์
  4. หนังสือที่ให้ความสำคัญด้านหลักฐานและทัศนะเปรียบเทียบ ได้แก่ 1. บะดาอิอุศเศาะนาอิอฺ ของ อัลกาสานีย์ 2. ฟัตหุลเกาะดีร ของ อิบนุลฮัมมาม 3. อัลลุบบาบ ฟิลญัมอิ บัยนัสสุนนะฮฺ วัลกิตาบ ของ อัลค็อซฺเราะญีย์ 4. นัศบุรรอยะฮฺ ฟีตัครีจ อะหาดีษุลฮิดายะฮฺ ของ ซัยละอีย์

8. ศัพท์เทคนิคที่ใช้ในหนังสือมัซฮับหะนะฟีย์

  • อัลอะอิมมะฮฺ อัลอัรบะอะฮฺ หมายถึง อบูฮะนีฟะฮฺ มาลิก ชาฟิอีย์ อะหมัด
  • อะอิมมะตุนา อัษษะลาษะฮฺ หมายถึง อบูฮะนีฟะฮฺ อบูยูซุฟ และมุหัมมัด
  • อัชชัยคอน หมายถึง อบูฮะนีฟะฮฺ และอบูยูสุฟ
  • อัฏเฏาะเราะฟัยนฺ หมายถึง อบูฮะนีฟะฮฺ และมุหัมมัด
  • อัศศอหิบาน หมายถึง อบูยูสุฟ และมุหัมมัด
  • อัศศ็อดรุลเอาวัล หมายถึง เศาะหาบะฮฺ ตาบิอีน และอัตบาอุตตาบิอีน
  • อัสสะลัฟ หมายถึง บรรดาฟุเกาะฮาอฺมัซฮับฮานาฟีย์รุ่นแรกจนถึงมุหัมมัด บิน หะสัน
  • อัลเคาะลัฟ หมายถึง บรรดาฟุเกาะฮาอฺมัซฮับฮานาฟีย์หลังจากมุหัมมัดจนถึง ชัมชุลอะอิมมะฮฺอัลหํลวานีย์
  • อัลมุตะอัคคิรุน หมายถึง บรรดาฟุเกาะฮาอฺมัซฮับฮานาฟีย์หลังจากชัมชุลอะอิมมะฮฺอัลหํลวานีย์ จนถึง หะฟิซุดดีน อัลบุคอรีย์
  • อัลอุสต๊าส หมายถึง อับดุลลอฮฺ บิน มุหัมมัด อัสสุบุซฺมูนีย์
  • บุรฮานุลอิสลาม หมายถึง เราะฎียุดดีน อัสสิร็อคสีย์
  • บุรฮานุลอะอิมมะฮฺ หมายถึง อับดุลอะซีซ บิน มาซัฮฺ ซึ้งบางครั้งจะเรียกว่า “อัศศ้อดรุลกะบีร”
  • ตาญุชชะรีอะฮฺ หมายถึง มะหมูด บิน มุหัมมัด
  • ชัมชุลชะรีอะฮฺ หมายถึง อัสสิร็อคสีย์
  • ฟัครุลอิสลาม หมายถึง อะลี บิน มุหัมมัด อัลบัซดะวีย์


#ปราชญ์ในนิติศาสตร์อิสลาม_Islamic_Society_Online

2 ความคิดเห็น:

บทความแนะนำ

World Clock

Featured Posts

เรื่องราวของสองอารยธรรม : อารยธรรมของชาวไวกิ้งและมุสลิม

เรื่องราวของสองอารยธรรม : อารยธรรมของชาวไวกิ้งและมุสลิม โดย : Cem Nizamoglu และ Sairah Yassir-Deane ย้อนหลังไปถึงมีนาคม 2015 ข่าวเกี่ยวก...