หินดำ และกะบะฮ์ คืออะไร ต่างกันอย่างไร มีคำตอบ
รูปกะบะฮ์ |
หินดำ กับกะบะฮฺคือคนละอย่างกัน กะบะฮฺคือ สี่เหลี่ยมที่คลุมผ้าไว้
ส่วนหินดำจะถูกประดับไว้ที่มุมของกะบะฮฺเพื่อเป็นจุดเริ่มของการเดินเวียนหรือตอวาฟ
อัลลอฮฺได้ทรงเลือกกะบะฮฺให้เป็นจุดกำเนิดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของมุสลิมทั่วโลก กะบะฮฺเป็นบ้านหลังแรกของการทำการเคารพภักดีอัลลอฮฺบนโลกนี้ อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ได้สั่งให้อดัมและเฮาวาอ์ทำการสร้างกะบะฮฺ โดยส่งมลาอิกะฮฺญิบรีลลงมาเพื่อบอกวิธีการและช่วยพวกเขาสร้างกะบะฮฺ
Kaaba คืออาคารทรงสี่เหลี่ยมที่อยู่ตรงกลางมัสยิดอัล-ฮะรอม มหานครเมกกะ ซาอุดิอาระเบีย
กะฮฺบะฮฺเดิมถูกทำลายเพราะน้ำท่วมโลก แต่อัลลอฮฺทรงให้นบีอิบรอฮิม (อับราฮัม) กับลูกชายอิชมาอิล (อิชมาเอล) สร้างกะฮ์บะฮ์ขึ้นมาใหม่เพื่อเป็นสถานะที่ที่แสดงถึงการเคารพสักการะอัลลอฮฺ และเชิญชวนให้มาสักการะเอกองค์อัลลอฮ์ ก็มีคนมาจากทุกสารทิศเดินทางมาไม่ขาดสาย
รูปกะบะฮ์ |
กะฮฺบะฮฺสร้างด้วยหินธรรมชาติ
มีความกว้างประมาณ 40 ฟุต สูง 50 ฟุต ไม่มีหน้าต่าง
แต่มีประตูอยู่หนึ่งบาน มุมทั้ง 4 มีชื่อ
- ทิศเหนือ มุมอัรรุกนุลอิร็อก (มุมอิรัก)
- ทิศตะวันตก มุมอัรรุกนุชชามี (มุมชาม)
- ทิศใต้ มุมอัรรุกนุลยะมานี (มุมเยเมน)
- มุม อัรรุกนุลอัสวัด (มุมหินดำ)
คลุมผ้าสีดำและปักลายตัวอักษรภาษาอาหรับสีทอง เป็นคำสรรเสริญแห่งอัลลอฮ์ กะฮฺบะฮฺ มัสยิด อัล ฮะรอม ซาอุดิอาระเบีย
กะฮฺบะฮฺ ถือเป็นศูนย์รวมของมุสลิมทั่วโลก เป็นที่ที่อัลลอฮ์กำหนดให้เป็นที่สักการะพระองค์ เป็นทิศกิบลัตสำหรับการนมาซ (ละหมาด) ของชาวมุสลิม
ฮัญจรัล อัสวัด หรือหินดำ (Hajaral Aswad) เป็นหินสีดำที่ถูกติดตั้งไว้ตรงมุมหนึ่งของกะฮฺบะฮฺเพื่อเป็นจุดเริ่มต้นและจุดครบรอบการเดินเวียนรอบกะฮฺบะฮฺ (ตอวาฟ)
หินดำ - เป็นที่รู้จักกันดี ทั้งมุสลิมและผู้ไม่ใช่มุสลิม...แต่ก็มีอีกหลายคนที่เข้าใจว่า หินดำคือวัตถุบูชาในศาสนาอิสลาม เพียงเพราะเห็นว่า มุสลิมนับล้านคนไปร่วมพิธีฮัจญ์แล้วมีการเวียนรอบวิหารกะบะห์นั้น
นั่นคือความเข้าใจที่ผิด...เราควรทำความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับหินดำใหม่ดังนี้
หินดำ หรือในภาษาอาหรับ คืออัลฮฺยา อัล อัสวัต นั้นเป็นศิลา ที่มีสัณฐาน เป็นรูปครึ่งวงกลม กว้างประมาณ 10 นิ้ว สูง 12 นิ้วจากการตรวจสอบโดยนักวิทยาศาสตร์จาก สหรัฐฯ พบว่า หินดำเป็นวัตถุนอกโลก สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นก้อนอุกกาบาต ที่มาจากที่อื่น ซึ่งองค์ประกอบและธาตุบางชนิดที่พบ เป็นสิ่งที่ไม่มีในโลก หรือในกาแลคซี่เรานี้
โดยประวัติของหินดำ จากบันทึกทางประวัติศาสตร์ และอายุที่พิสูจน์ได้ทางวิทยาศาสตร์นั้น พบว่ามีอายุยาวนานมาก และสีดำของหินนั้นไม่ใช่สีที่มีมาแต่แรกเริ่ม ซึ่งตรงกับหะดิษที่ว่า -
จากท่านอิบนุอับบาสเล่าว่า ท่านรสูลุลลอฮฺกล่าวว่า "หินดำถูกประทานลงมาจากสวรรค์ ซึ่งความขาว (ของหินดำนั้น), ขาวยิ่งกว่า (ความขาวของ) น้ำนมเสียอีก, (แต่ที่เปลี่ยนเป็นสีดำเนื่องจาก) ความผิดต่างๆ ของลูกหลานอาดัมทำให้หินดำนั้นเป็นสีดำ" บันทึกโดยติรฺมิซีย์
ซึ่งจากบันทึกประวัติศาสตร์ เข้าใจได้ว่า หินเปลี่ยนเป็นสีดำเพราะ การที่ชาวอาหรับในสมัยก่อนนั้นชอบนำสัตว์ไปเชือดบูชายัญบนหิน และเอาเลือดสัตว์ชโลมลงบนหิน พอนานเข้าหินจึงมีสีดำ
ถ้าอ้างอิงหลักฐานจากกุรอาน จะพบว่า หินดำนั้นเป็นเครื่องหมายกำหนดตำแหน่งการสร้างวิหารกะบะห์ (วิหารทรงลูกบาศก์ อยู่ตรงกลางมัสยิดอัล -ฮะรอม) ในสมัยท่านนบีอาดัม...ต่อมาในสมัยนบีอิบรอฮีม (อับราฮัม) หินดำก็มีส่วนช่วยในการบูรณะวิหารกะบะห์ เนื่องจากมีหลักฐานว่า หินดำลอยจากพื้นได้ และท่านนบีอิบรอฮีมก็ขึ้นไปเหยียบบนหินนั้น เพื่อบูรณะวิหาร
ในช่วงเวลาต่อมาแห่งการตั้งถิ่นฐานของชาวอาหรับ หินดำถูกถือเสมือนว่าเป็น สมบัติของแผ่นดิน (คล้ายตราประทับแผ่นดิน) คืออาหรับเผ่าไหนได้ครอบครอง ก็ถือว่าเผ่านั้นมีอำนาจในการปกครอง และเป็นเผ่าที่มีเกียรติ หินดำจึงกลายเป็นศักดิ์ศรี และเป็นสัญลักษณ์แสดงอำนาจแห่งการปกครองคาบสมุทรอารเบีย
ในต้นศตวรรษที่ 7 เกิดไฟไหม้วิหารกะบะห์ทำความเสียหายให้ตัววิหารเป็นอันมาก อาหรับแต่ละเผ่าจึงพร้อมใจกันบูรณะวิหารใหม่จนเสร็จเรียบร้อย แต่ปัญหาคือ ใครจะเป็นผู้ได้รับเกียรติให้ยกหินดำกลับไปไว้ที่เดิม...จากความขัดแย้งนี้ ได้ส่งผลให้เกิดข้อสรุปที่ทุกฝ่ายเห็นชอบคือ ให้ท่านนบีมูฮัมมัด(ศ.ล.) เป็นผู้ยกกลับไปไว้ที่เดิม เนื่องจากในตอนนั้นท่านยังไม่ได้เผยแพร่ศาสนาอิสลาม ประกอบกับเป็นผู้ที่ได้รับการยกย่องจากทุกฝ่ายว่าเป็นคนมีคุณธรรมและเป็นกลางที่สุด
ต่อมาเมื่อท่านนบี ประกาศศาสนาแล้ว จนกระทั่งพิชิตเมกกะฮ์ได้ ท่านก็ได้ทำความสะอาดและปรับปรุงวิหารให้กลับมาอยู่ในสภาพเรียบร้อยอีกครั้ง หินดำก็ยังคงตั้งอยู่ที่เดิม
ในปี ค.ศ.682 เกิดความขัดแย้งในคาบสมุทรอาหรับ มีการกรีฑาทัพเข้าตีนครเมกกะฮ์จนวิหารได้รับความเสียหายอีกครั้ง ซึ่งครั้งนี้มีผลทำให้หินดำแตกออกเป็นเสี่ยง ๆ ประชาชนได้ทำการซ่อมแซมหินดำหลังจากสงครามจบลง โดยนำลวดเงินมารัดไว้
รูปหินดำ |
หินดำในปัจจุบันจึงมีสภาพที่เหมือนนำเศษหินมาประติดประต่อกัน และรัดไว้ด้วยวงแวนเงิน ถูกวางไว้มุมผนัง อยู่เหนือพื้นดินประมาณ 3 ฟุต
ดังนั้นหากเราพิจารณาด้วยใจเป็นกลาง อาจตั้งข้อสังเกตว่า หากหินดำเป็นสิ่งน่าเคารพ สักการะ หรือเป็นสิ่งบูชาจริง
- เหตุใด มุสลิมจึงไม่ปกป้องหินดำให้รอดพ้นจากการทำลาย ทั้ง ๆ ที่เขาสามารถปกป้องอาคารหรือมัสยิดที่มีขนาดใหญ่กว่าได้ กับแค่หินก้อนเดียว ทำไมเขาไม่ปกป้อง
- หากหินดำเป็นสิ่งเคารพ สักการะ เหตุใด ในสมัยที่ท่านศาสดาอพยพไปมาดีนะห์ ท่านจึงสั่งให้ผู้คนหันทิศกิบลัต (ทิศทางที่หันเวลาละหมาด) ไปทางบัยตุลมักดิส ที่เยรูซาเล็ม แทนที่จะเป็น ที่มัสยิด อัลฮะรอม ซึ่งเป็นที่ตั้งของกะบะห์และหินดำ
- หากวิหารกะบะห์ หรือหินดำคือสิ่งสักการะบูชาจริง เหตุใด อิสลามจึงอนุญาตให้มุอัซซิน (ผู้ป่าวประกาศ เวลาละหมาด) ปีนขึ้นไปตะโกน ป่าวประกาศบนหลังคากะบะห์ได้ เพราะนั่นคือการขึ้นไปเหยียบอยู่เหนือหินดำชัด ๆ
- หากหินดำคือสิ่งสักการะบูชาจริง เหตุใดท่านอุมัรฺ (ผู้เป็นตัวแทนท่านศาสดาคนที่ 2 ) จึงกล่าวว่า “แท้จริงฉันรู้ว่าเจ้า (หมายถึงหินดำ) คือหินธรรมดาก้อนหนึ่งเท่านั้น เจ้าไม่ให้โทษและไม่ให้คุณ, หากว่าฉันไม่เห็นท่านรสูลุลลอฮฺจูบเจ้าแล้วละก้อ ฉันก็จะไม่จูบเจ้าหรอก" (บันทึกโดยบุคอรีย์ และมุสลิม)
- หากหินดำเป็นสิ่งสักการะบูชาจริง เหตุใดในหลักปฏิบัติ หรือหลักการศรัทธาในอิสลาม จึงไม่มีข้อใดใช้หรือสั่งให้มุสลิมสักการะหินดำ
ดังนั้นจึงหวังว่า เราจะเข้าใจหินดำกันใหม่เสียทีว่า มันไม่ใช่สิ่งสักกการะ หรือเคารพบูชา...เพราะอิสลามนั้นมีหลักการที่แน่นอนว่า ห้ามเคารพบูชาสิ่งใด นอกไปจากอัลลอฮฺ พระองค์เดียว
- หินดำมาจากสวรรค์ ท่านรสูลุลลอฮฺกล่าวว่า "หินดำนั้นมาจากสวรรค์" หะดีษเศาะหี้หฺ (บันทึกโดยติรฺมิซีย์ และอิบนุคุซัยมะฮฺ)
- หินดำไม่มีความสำคัญอันใดยกเว้นในการเดินเฎาะวาฟรอบกะอฺบะฮฺมีสุนนะฮฺให้จูบหินดำขณะเฏาะวาฟได้หนึ่งรอบเท่านั้นครับ ท่านอาบิส บุตรของเราะบีอะฮฺเล่าว่า "ฉันเห็นท่านอุมัรฺ บุตรของค็อฏฏอบจูบหินดำ, พลางกล่าวว่า แท้จริงฉันรู้ว่าเจ้า (หมายถึงหินดำ) คือหินธรรมดาก้อนหนึ่งเท่านั้น เจ้าไม่ให้โทษและไม่ให้คุณ, หากว่าฉันไม่เห็นท่านรสูลุลลอฮฺจูบเจ้าแล้วละก้อ ฉันก็จะไม่จูบเจ้าหรอก" (บันทึกโดยบุคอรีย์ และมุสลิม)
Cr.FB:มหัศจรรย์อัลกุรอ่าน
ที่มา : http://islamhouse.muslimthaipost.com/
#ประวัติศาสตร์อิสลาม_Islamic_Society_Online
#อารยธรรมอิสลาม_Islamic_Society_Online
Islamic Society Online
#ประวัติศาสตร์อิสลาม_Islamic_Society_Online
#อารยธรรมอิสลาม_Islamic_Society_Online
Islamic Society Online
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น