product :

วันจันทร์ที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

ทัชมาฮาล : อนุสรณ์สถานแห่งความรัก และสถาปัตยกรรมเหนือกาลเวลา

ทัชมาฮาล : อนุสรณ์สถานแห่งความรัก และสถาปัตยกรรมเหนือกาลเวลา





“ความรัก” สามารถบันดาลให้เกิดสิ่งต่างๆได้ทุกสิ่ง “ทัชมาฮาล” (Taj Mahal) คือตัวอย่างของแรงบันดาลใจแรงผลักดันที่ก่อกำเนิดจากพลังแห่งความรัก จนกลายเป็นสุสานหินอ่อนที่ผู้คนยกย่องให้เป็นสถาปัตยกรรมแห่งความรักที่งดงามและยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ถูกรังสรรค์ขึ้นโดยสมเด็จพระจักรพรรดิแห่งจักรวรรดิโมกุลผู้มีรักมั่นคงต่อพระมเหสีของพระองค์ที่สิ้นพระชนม์ไป

ผู้ที่สร้างตำนานความรักอันยิ่งใหญ่นี้คือ เจ้าชายขุร์รัม ชึ่งต่อมาคือ “พระเจ้าชาห์ จาฮาน” (Shah Jahan) สมเด็จพระจักรพรรดิองค์ที่ 5 ในราชวงศ์โมกุล ตามตำนานกล่าวว่า เจ้าชายขุร์รัม มีพระชนมายุ 14 พรรษา ได้พบกับ อรชุมันท์ พานุเพคุม ธิดาของรัฐมนตรี พระองค์ทรงหลงใหลและหลงรักนาง โดยหลังจากนั้น 5 ปี ในปี ค.ศ. 1612 พิธีอภิเษกจึงได้ถูกจัดขึ้น จากนั้นมาทั้งสองพระองค์ก็เป็นคู่รักที่ไม่เคยแยกจากกันเลย


ในปี ค.ศ. 1628 เจ้าชายขุร์รัมเสด็จขึ้นครองราชบังลังก์ ทรงพระนามว่า พระเจ้าชาห์ จาฮาน โดยมีพระนางอรชุมันท์ ซึ่งได้สมัญญานามว่า “มุมตัซ มาฮาล” (Mumtaz Mahal) ซึ่งแปลว่า “อัญมณีแห่งราชวัง” เป็นพระมเหสีคู่พระทัย พระนางทรงเป็นทั้งคู่คิด ที่ปรึกษา และมีส่วนในการช่วยเหลือพระสวามีในการปกครองบ้านเมืองการศึกการสงครามอีกทั้งยังทรงเป็นที่รักใคร่ของพสกนิกรทั่วหล้า ครั้นในปี ค.ศ. 1631 พระมเหสีมุมตัซ มาฮาลได้สิ้นพระชนม์ลงในอ้อมกอดของพระเจ้าชาห์ จาฮาน อย่างไม่คาดคิด หลังจากให้กำเนิดทายาทองค์ที่ 14 เพียง 1ชั่วโมงการสิ้นพระชนม์ของพระมเหสีอันเป็นที่รักที่ครองคู่กันมาถึง 18 ปีทำให้พระองค์โศกเศร้า ทุกข์ระทมอย่างแสนสาหัสอยู่นานถึง 2 ปี จึงโปรดให้สร้าง “ทัชมาฮาล” ขึ้นมาอย่างวิจิตรอลังการตามคำขอของพระนางก่อนจากไปว่า “ให้พระองค์สร้างอนุสาวรีย์ที่ฝังศพของเธอให้โลกพิศวงด้วยเถิด”





ทัชมาฮาลตั้งอยู่บริเวณ ริมฝั่งแม่น้ำยมุนา ในเมืองอัครา ประเทศอินเดีย ใช้เวลาก่อสร้างและตกแต่งนานถึง 22 ปีระหว่างปี ค.ศ.1632-1654 ทุกส่วนสร้างด้วยหินอ่อนสีขาวนวลบริสุทธิ์ ศิลาแลง ประดับลวดลายเครื่องเพชร พลอย หิน โมราและเครื่องประดับจากมิตรประเทศ ตามแบบสถาปัตยกรรมแนวโมกุลของอินเดีย และอาหรับเปอร์เซียนมุสลิม ใช้คนงานและช่างฝีมือร่วมในการก่อสร้างประมาณ 20,000 คน เป็นผลงานการออกแบบจากสถาปนิกนามว่า อุสตาด อาห์เหม็ด ลาเฮารี (Ustad Ahmad Lahauri) ซึ่งภายหลังถูกประหารชีวิตพร้อมกับนายช่างที่ร่วมกันก่อสร้าง เนื่องจาก พระเจ้าชาห์ จาฮาน ไม่ทรงปรารถนาให้นายช่างฝีมือเหล่านี้ไปออกแบบสถาปัตยกรรมใดๆ ที่สวยไปกว่าที่นี่อีก ซึ่งลักษณะสถาปัตยกรรมได้รับคำรับรองจากสถาปนิกทั่วโลกว่า สร้างขึ้นโดยถูกสัดส่วน มีความสมมาตรในทุกๆ ด้าน และวิจิตรงดงามที่สุด มีเนื้อที่ประมาณ 42 เอเคอร์ เริ่มเข้าสู่เขตทัชมาฮาลโดยผ่านประตูทางเข้าหลักขนาดใหญ่ ที่สร้างด้วยหินทรายสีแดงมีอักษรศักสิทธิ์ในคัมภีร์อัลกุรอานจารึกไว้ เมื่อผ่านพ้นกรอบประตูรูปโค้งจะพบกับลานอุทยาน สระน้ำ น้ำพุ และถนนมุ่งหน้าตรงไปสู่ตัวอาคาร ซึ่งตั้งอยู่บนลานหินอ่อนสีขาวโล่งกว้าง รอบลานหินมีราวหินอ่อนโปร่งตาเป็นที่ตั้งของมัสยิด ตัวอาคารล้อมรอบด้วยหออะซาน หรือ มินาเรต (หอสูงสำหรับร้องแจ้งเวลาทำนมาซ) ทั้ง 4 ด้าน ส่วนหัวของทัชมาฮาลนั้นมีลักษณะเป็นโดมขนาดใหญ่รูปทรงบัวตูมหรือหัวหอม “โอเนียนโดม” (Onion Dome) ภายในตกแต่งแบบอิสลาม หลักๆแล้วจะมีลายเส้นอักษรซึ่งสลักเป็นโองการต่างๆจากคำภีร์อัลกุรอาน รูปทรงเรขาคณิต และลวดลายดอกไม้ ทั้งยังมีการฝังพลอยที่มีค่าบนผนังด้วย ส่วนตรงกลางภายใต้หลังคาโดมใหญ่เบื้องหลังฉากกั้นหินอ่อนทั้งสี่ด้าน เป็นหีบพระศพจำลองของพระเจ้าชาห์ จาฮาน กับพระมเหสีมุมตัซ มาฮาลตั้งอยู่คู่กัน ส่วนพระศพจริงไม่ได้บรรจุอยู่ในหีบ หากฝังอยู่ในอุโมงค์ใต้ดินตรงกับที่วางหีบศพนั้น



หลังจากพระเจ้าชาห์ จาฮาน ต้องสูญเสียพระมเหสีอันเป็นที่รักปานดวงใจไป โศกนาฏกรรมก็ยังไม่จบแต่เพียงแค่นั้นภายหลังการก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ โดยสิ้นค้าใช้จ่ายในการก่อสร้างไปประมาณ 45 ล้านรูปี ราชสมบัติส่วนใหญ่ใช้ไปกับการสร้างอนุสรณ์แห่งความรักของทั้งสองพระองค์ ทำให้ต้องสูญเสียเงินมหาศาลในการสร้างความเจริญให้กับประเทศ ไม่เพียงแต่เท่านั้นพระองค์ยังจะสานฝันสร้างที่ฝังศพของตัวเองเป็นหินอ่อนสีดำล้วนไว้ ณ ฝั่งแม่น้ำตรงกันข้ามอีกด้วย แต่ในปีค.ศ. 1658 ออรังเซบ (Aurangzeb) พระโอรสองค์หนึ่งของพระเจ้าชาห์ จาฮาน ทรงเห็นว่าพระราชบิดาใช้จ่ายพระราชทรัพย์ไปมากมายมหาศาล จึงได้ชิงบัลลังก์และจับพระราชบิดาไปคุมขังในป้อมอัครา(Agra Fort) พระเจ้าชาห์ จาฮาน จึงทำได้เพียงเขย่งพระบาทมองทัชมาฮาลผ่านลูกกรงที่คุมขังทุกวันเป็นเวลานานถึง 8 ปี และสิ้นพระชนม์ลงในปี ค.ศ.1666 แม้กระทั่งยามที่พระเจ้าชาห์ จาฮาน ถึงกาลอันใกล้จะสิ้นพระชนม์ ก็ยังคงกำกระจกบานเล็กไว้ในพระหัตถ์ เพื่อที่จะได้ทอดพระเนตรเห็นภาพสะท้อนของทัชมาฮาลในยามที่พระองค์นอนสิ้นลมหายใจสุดท้ายของชีวิต พระศพของพระเจ้าชาห์ จาฮาน ได้ถูกนำมาประดิษฐานในทัชมาฮาลเคียงข้างกันกับพระศพพระมเหสีมุมตัซ มาฮาล ตลอดกาล…



ถึงแม้ทัชมาลฮาลจะถูกสร้างขึ้นจากความอาลัยรักอันแสนงดงาม แต่เบื้องหลังความวิจิตรงดงามนี้ก็แฝงไปด้วยความโหดร้าย ความทุกข์ยากทรมาน การขูดรีดภาษี หยาดเหงื่อแรงงาน และชีวิตของราษฎร แต่ถึงกระนั้นก็ตาม โลกก็ได้ให้รางวัลสำหรับความยิ่งใหญ่ครั้งนี้ ด้วยการจัดให้ทัชมาฮาลเป็น 1 ใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคใหม่ ตราบมาจนถึงปัจจุบันนี้

…บางครั้งความตายอาจไม่ใช่จุดจบของทุกสิ่ง แต่อาจเป็นจุดเริ่มต้นของบางสิ่งเพื่อการคงอยู่ชั่วนิจนิรันดร…

By…..White Tofu








#อารยธรรมอิสลาม_Islamic_Society_Online
#Islamic_Society_Online
Islamic Society Online



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความแนะนำ

World Clock

Featured Posts

เรื่องราวของสองอารยธรรม : อารยธรรมของชาวไวกิ้งและมุสลิม

เรื่องราวของสองอารยธรรม : อารยธรรมของชาวไวกิ้งและมุสลิม โดย : Cem Nizamoglu และ Sairah Yassir-Deane ย้อนหลังไปถึงมีนาคม 2015 ข่าวเกี่ยวก...