อายา โซเฟีย จากมหาวิหารในคริสตศาสนาสู่มัสญิดหลวงแห่งออตโตมาน
ในปี ค.ศ.532 จักรพรรดิจัสติเนียนที่ 1 แห่งจักรวรรดิโรมันตะวันออก (ไบเซนไทน์) ได้ทรงสร้างมหาวิหารในคริสตศาสนาขึ้นในกรุงคอนสแตนติโนเปิ้ล ราชธานีของพระองค์ และเฉลิมนามแก่มหาวิหารอันยิ่งใหญ่นี้ว่า “อายา โซเฟีย”(اَياصُوفِيَا) ซึ่งนับเป็นเพชรน้ำเอกทางสถาปัตยกรรมของไบเซนไทน์ ที่ตั้งตระหง่านคู่กับจักรวรรดิเรื่อยมาจนถึงรัชสมัยจักรพรรดิคอนสแตนติน บาลิโอลูกัส ที่ 11 (ค.ศ.1449 – 1453) จักรพรรดิองค์สุดท้ายของจักรวรรดิไบเซนไทน์ นั่นหมายความว่า มหาวิหาร “อายา โซเฟีย” คงสถานะเป็นมหาวิหารสำคัญในทางคริสตศาสนาตลอดระยะเวลา 921 ปีด้วยกัน
ปี ค.ศ. 1453 (ฮ.ศ.857) ซุลตอน มุฮัมมัด อัลฟาติฮฺที่ 2 (ค.ศ. 1429 – 1481 / ฮ.ศ. 833 – 886) ได้ทรงนำทัพเข้าล้อมกรุงคอนสแตนติโนเปิ้ล ที่มั่นสุดท้ายของจักรวรรดิโรมันไบเซนไทน์ ขณะนั้นซุลตอนมุฮัมมัด อัลฟาติฮฺ มีพระชนมายุได้ 25 พรรษา พระองค์ใช้เวลาปิดล้อมนครแห่งนี้ 50 วัน ก็สามารถพิชิตได้ในที่สุด ตรงกับวันที่ 20 ญุมาดา อัลอูลา ฮ.ศ.857 (29 พฤษภาคม ค.ศ.1453) เมื่อซุลตอนมุฮัมมัด อัลฟาติฮฺที่ 2 ทรงนำกองทัพยาตราเข้าสู่ตัวเมืองแล้ว พระองค์ได้เสด็จเยือนวิหาร “อายา โซฟีย” และใช้ให้มุอัซซิน (ผู้ประกาศเชื้อเชิญสู่นมัสการ) ทำการอะซานในมหาวิหารแห่งนี้ เพื่อประกาศว่ามหาวิหารแห่งนี้ได้ถูกเปลี่ยนเป็นมัสยิดหลวงสำหรับชาวมุสลิมแล้ว
เมื่อเป็นเช่นนี้รูปภาพที่ประดับประดาด้วยกระเบื้องโมเสคเคลือบลายน้ำทอง ซึ่งเป็นศิลปะแบบไบเซนไทน์อันเป็นภาพตามคติความเชื่อในศาสนาคริสต์จึงถูกปูนปลาสเตอร์โบกทับ เฉพาะส่วนโถงและภายในโดมของมหาวิหาร ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับคติความเชื่อของศาสนาอิสลาม ที่ไม่อนุมัติให้มีรูปภาพหรือรูปเคารพ มีการจัดสร้างมิฮฺรอบ (اَلْمِحْرَابُ) อันหมายถึงสถานที่บ่งบอกทิศที่ตั้งของอัลกะอฺบะห์ และเป็นที่สำหรับอิหม่ามผู้นำนมัสการขณะประกอบศาสนกิจ โดยมิฮฺรอบถูกสร้างขึ้นบริเวณส่วนกลางของปีกด้านใต้ของมหาวิหารเดิม และมีการตั้งมิมบัร (ธรรมาสน์ในการแสดงธรรมวันศุกร์และวันสำคัญทางศาสนา) เหนือเสาใหญ่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของมหาวิหาร
ในสมัยซุลตอนมุรอด ข่าน ที่ 4 ก็มีการเขียนตัวอักษรภาษาอาหรับขนาดใหญ่อย่างงดงามลงบนแผ่นไม้ทรงกลม ซึ่งแขวนอยู่บนผนังของมัสยิด โดยเขียนพระนามของพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) นามท่านศาสดา (ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิวะซัลลัม) และนามชื่อของบรรดาค่อลีฟะห์ผู้สืบทอดต่อจากท่านศาสดา (ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิวะซัลลัม) ทั้ง 4 ท่าน ลวดลายการเขียนตัวอักษรภาษาอาหรับอันวิจิตรบรรจงนี้ เป็นฝีมือของท่านบิชกะญีย์ ซาดะห์ มุสตอฟา เชลบีย์ นักเขียนตัวอักษร (คอตตอต) ผู้เลื่องชื่อในยุคนั้น เฉพาะตัวอักษรอลีฟเพียงหนึ่งอักษรนั้นมีความยาวถึง 10 ศอกด้วยกัน ในรัชสมัยซุลตอนอะห์หมัด ข่าน ที่ 3 พระองค์ได้มีบัญชาให้สร้างห้องสำหรับซุลตอนใช้ปฏิบัติการนมัสการ โดยยกพื้นสูงมีเสารองรับอยู่บริเวณด้านหน้าอาคารมัสยิด ครั้นถึงรัชสมัยซุลตอนมะห์มูด ข่าน ที่ 1 ได้โปรดให้สร้างที่เก็บกักน้ำสำหรับใช้อาบน้ำละหมาด และโรงเรียนบริเวณทิศใต้ติดกับอาคารมัสยิดและห้องสำหรับเก็บหนังสือที่มีคุณค่าทางวิชาการ
ในรัชสมัยซุลตอน อับดุลมะญีด พระองค์ได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้พี่น้องตระกูลฟุสฎีย์ ซึ่งเป็นตระกูลสถาปนิกชาวอิตาเลี่ยน ทำการบูรณะปฏิสังขรณ์อาคารมัสยิดทั้งหมด และเพิ่มขนาดความสูงของหออะซาน ทั้ง 4 เสารายล้อมอาคารมัสยิด ตลอดช่วงระยะเวลานานนับพันปีมัสยิดหลวง “อายา โซเฟีย” ได้ตั้งตระหง่านอย่างมั่นคงท้าทายกาลเวลา และต้องเผชิญกับแผ่นดินไหวซึ่งเกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง และมักจะเกิดขึ้นอย่างรุนแรงในดินแดนตุรกี หออะซานของมัสยิดเสาแรกถูกสร้างขี้นในรัชสมัยซุลตอนมุฮัมมัด อัลฟาติฮฺ ส่วนที่หออะซานที่เหลือถูกสร้างในเวลาต่อมา นับแต่รัชสมัยซุลตอนสะลีม ข่าน ที่ 2 เหนือยอดโดมอันมโหฬารซึ่งอยู่กึ่งกลางอาคารมัสยิดนั้น ได้มีการประดับยอดด้วยจันทร์เสี้ยวซึ่งทำมาจากบรอนซ์ มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 30 เมตร โดมบางแห่งก็ถูกเปลี่ยนแปลงรูปทรงตามความเหมาะสมของหลักวิศวกรรมและสถาปัตยกรรม มีการสร้างโรงเรียนขึ้นในบริเวณรอบอาคารมัสยิด และสุสานตลอดจนอาคารสำคัญๆ ขึ้นอีกหลายแห่ง
ชาวมุสลิมได้เสริมผนังของตัวอาคารมัสยิด “อายา โซเฟีย” เพิ่มเติมและสร้างเสาค้ำผนังด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ ในรัชสมัยซุลตอนมุรอด ที่ 3 หออะซานต้นที่สามและสี่ก็ถูกสร้างขึ้น พระองค์ยังได้มีบัญชาให้สร้างบ่อน้ำอีก 2 แห่งบริเวณด้านหน้าประตูของมัสยิด ซึ่งแต่ละบ่อสามารถจุน้ำได้ถึง 1,150 ลิตร เพื่อใช้ในการอาบน้ำละหมาด ภายในอาคารมัสยิดได้มีการสร้างแท่นขึ้นมา 2 แท่นด้วยกัน แท่นหนึ่งใช้สำหรับการอ่านคัมภีร์อัลกุรอ่านตลอดทั้งวัน และอีกแท่นหนึ่งใช้ทำการอะซาน นอกจากนี้ยังได้มีการหล่อรูปจันทร์เสี้ยวหุ้มด้วยทองคำบริสุทธิ์ขนาด 50 คืบ และนำไปติดตั้งแทนที่ไม้กางเขนเหนือยอดโดม ซึ่งสามารถแลเห็นได้ไกล
มัสยิด “อายา โซเฟีย” นับเป็นอาคารต้นแบบด้านสถาปัตยกรรมของตุรกีและโลกอิสลามในเวลาต่อมา ซึ่งเป็นศิลปะผสมผสานจากเค้าเดิมแบบไบเซนไทน์และอิสลาม และยังคงเป็นสถานที่ประกอบศาสนกิจสำคัญที่สุดของจักรวรรดิออตโตมานตลอดช่วงอายุขัยของจักรวรรดิ จวบจนเมื่อจักรวรรดิออตโตมานล่มสลาย มุสตอฟา ก่ามาล อาตาเติร์ก ขึ้นสู่อำนาจก็ได้ประกาศให้มิสยิดแห่งนี้เป็นพิพิธภัณฑ์สถานของนครอิสตันบูลจวบจนทุกวันนี้
======================================================================================================
– ตารีค อัดเดาละห์ อัลอะลียะห์ อัลอุษมานียะห์ มุฮัมมัด ฟารีด เบก์ อัลมุฮามีย์ คศ. 1983
– ตารีค อัดเดาละห์ อัลอุษมานียะห์ ดร.อะลี ฮัซซูน อัลมักตับ อัลอิสลามีย์ คศ. 1994
– อัลมุนญิด ฟิล ลุเฆาะห์ วัลอะอ์ลาม
#อารยธรรมอิสลาม_Islamic_Society_Online
Islamic Society Online
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น