เมืองเก่าในยุคสมัยอิสลาม
ทราบไหมครับว่า อัล-กอฮิเราะฮ์ หรือ ไคโร เมืองหลวงของประเทศอียิปต์มีเมืองเก่าในยุคสมัยอิสลามซ้อนกันอยู่ถึง 4 เมือง!
มาเกริ่นกันสักนิดนึงก่อนนะครับ เอาในช่วงเวลาของการกำเนิดของอิสลามในคาบสมุทรอารเบียในคริสต์ศตวรรษที่ 7 เป็นช่วงเวลาที่มหาอำนาจใหญ่ 2 ค่าย คือ จักรวรรดิโรมันตะวันออก (ไบแซนไทน์) และจักรวรรดิเปอร์เซียซาสซานียะฮ์ กำลังขับเคี่ยวกันมีอำนาจเหนือตะวันออกใกล้ทั้งในบริเวณเอเชียน้อย แคว้นซีเรียและอียิปต์ เมืองหลวงของอียิปต์ในขณะนั้นคือ "อเล็กซานเดรีย" เพชรเม็ดงามซึ่งจักรวรรดิโรมันได้สืบทอดมาจากราชวงศ์ปโตเลมี ซึ่งในสงครามครั้งนี้ถูกเปอร์เซียเข้ายึดครองในปี ค.ศ.619 แต่โรมันก็สามารถยึดกลับคืนมาได้ในสิบปีต่อมา ในการปกครองอียิปต์ของโรมันนั้นทางกรุงคอนสแตนติโนเปิลได้ส่งสังฆราชกรีกออธอด็อกซ์ไซรัส (Cyrus of Alexandria คนนี้สันนิษฐานว่าคือคนเดียวกับ มุเกากิส ซึ่งบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์อิสลาม) ซึ่งทำหน้าที่เป็นข้าหลวงปกครองอียิปต์ แต่ก็มีความไม่ลงรอยกับชาวอียิปต์ส่วนใหญ่ ซึ่งยึดถือศาสนาคริสต์แบบโมโนฟีไซต์หรือคอปติกด้วย
ในช่วงสมัยต้นของอิสลาม มุสลิมต้องเผชิญหน้ากับกองทัพโรมันหลายต่อหลายครั้ง แต่ในที่สุดก็สามารถพิชิตแคว้นซีเรียได้ในสมัยของคอลีฟะฮ์ท่านที่ 2 คือท่านอุมัร อิบนุ ค็อฏฏ็อบ (Umar ibn al-Khattab) หนึ่งในแม่ทัพที่มีชื่อเสียงโด่งดังมากๆของฝ่ายมุสลิมคือ คอลิด อิบนุ วะลีด (Khalid ibn al-Walid ผู้มีฉายา ซัยฟุลลอฮ์ - ดาบของพระเจ้า) ได้รับชัยชนะครั้งสำคัญที่แม่น้ำยัรมู๊ก (ที่พรมแดนซีเรีย-จอร์แดน) นอกจากนั้นยังมี อัมร์ อิบนุ อัลอาศ (Amr ibn al-Aas) เป็นแม่ทัพนำกองทัพจำนวนสี่พันนายมุ่งหน้าสู่อียิปต์ซึ่งเป็นแคว้นสำคัญของโรมัน หลังจากชัยชนะที่เฮลิโอโปลิส (Heliopolis) และป้อมบาบิโลน (Babylon Fort) แล้ว อัมร์ก็นำกองทัพเข้าปิดล้อมอเล็กซานเดรีย เมืองหลวงของอียิปต์ซึ่งปราศจากการป้องกันใดๆยกเว้นกำแพงอันแน่นหนาและกองกำลังเพียงหยิบมือ หลังการปิดล้อมยาวนาน 14 เดือน ในปลายปี ค.ศ.641 โรมันจึงยอมถอนกำลังและยกเมืองให้แก่มุสลิมในที่สุด ชาวอียิปต์นั้นต้อนรับชาวมุสลิมให้เป็นผู้ปกครองซึ่งให้อิสระในการนับถือศาสนามากกว่าชาวโรมัน และบางส่วนก็ได้หันมารับศาสนาอิสลามด้วย นี่เองเป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยให้เกิดเสถียรภาพและพัฒนาอียิปต์ให้รุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว
ตอนแรกนั้น มุสลิมต้องการที่จะใช้อเล็กซานเดรียเป็นที่ตั้งของเมืองหลวงเพราะเป็นเมืองเอกและเพียบพร้อมในหลายๆ ด้าน แต่ได้ถูกทัดทานไว้โดยคอลีฟะฮ์อุมัร เนื่องจากความที่เป็นเมืองท่า จึงไม่ปลอดภัยนักเพราะถ้าหากโรมันไบแซนไทน์ซึ่งเป็นเจ้าแห่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียนในขณะนั้นส่งกองเรือรบเข้ามาโจมตี มุสลิมก็ไม่มีกำลังทหารมากพอที่จะคุ้มกัน ซึ่งจะทำให้เสียเมืองไปได้โดยง่าย อีกทั้งอเล็กซานเดรียก็อยู่ห่างจากเมืองหลวงของรัฐอิสลามคือ มะดีนะฮ์ ในคาบสมุทรอารเบีย การช่วยเหลือสนับสนุนคงจะเป็นไปได้ยากเช่นกัน
อัมร์ อิบนุ อัลอาศจึงได้เสาะหาทำเลใหม่ จนกระทั้งพบกับบริเวณที่ตั้งเดิมของค่ายทหารมุสลิมขณะปิดล้อมป้อมบาบิโลนของโรมันที่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำไนล์ ที่นั่นเอง เมืองอัล-ฟุสฏ็อต (Al-Fustat) ซึ่งชื่อหมายถึง "กระโจมค่าย" ก็ถูกสถาปนาขึ้นเป็นเมืองอิสลามแห่งแรกของแอฟริกาในปี ค.ศ.641 ด้วยจุดยุทธศาสตร์และการคมนาคมที่ดีเยี่ยมอยู่ตรงกลางที่จะสามารถเชื่อมต่อระหว่างอียิปต์ตอนบนและตอนล่างรวมถึงอารเบียได้ "มัสยิด" เป็นอาคารหลังแรกที่ถูกสร้างขึ้น (มัสยิดหลังนี้ภายหลังตั้งชื่อตามแม่ทัพอัมร์ อิบนุ อัลอาศ นั่นเอง) บ้านเรือนค่อยๆถูกก่อสร้างขึ้นรอบๆ มัสยิดที่เป็นศูนย์กลาง ทำให้นึกถึงภาพของนครมะดีนะฮ์ของ ท่านนบีมุฮัมมัด(ซ.ล.) ซึ่งมีมัสยิดเป็นศูนย์กลางของชุมชม เป็นศูนย์รวมจิตใจและการบริหารงานต่างๆ เป็นพื้นฐานและต้นแบบให้กับการวางผังเมืองแบบอิสลามตลอดมาทุกยุคสมัย อัล-ฟุสฏ็อตก็เริ่มเจริญด้วยเศรษฐกิจที่เฟื่องฟูและก้าวขึ้นเป็นเมืองหลักในแคว้นอียิปต์แทนที่อเล็กซานเดรียจนถึงตลอดยุคสมัยราชวงศ์อุมัยยะฮ์ (Umayyad) และยังมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งถูกใช้เป็นฐานในการพิชิตเมืองอื่นๆ ในแอฟริกาเหนือด้วย จนกระทั้งเมืองก็อยรอวานในตูนีเซียถูกก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ.670
เมื่อการปกครองของราชวงศ์อุมัยยะฮ์ในซีเรียถูกทำลายลงจากการปฏิวัติโดยพวกอับบาสิยะฮ์ (Abbasid) ในปีค.ศ.750 อียิปต์ซึ่งเดิมยังคงสนับสนุนพวกอุมัยยะฮ์ก็ถูกผนวกเข้ามาอยู่ในอาณัติของราชวงศ์ใหม่ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่แบกแดดในอิรัก ไม่นานนักพวกอับบาสิยะฮ์เองก็เริ่มวางแผนพัฒนาเมืองขึ้นมาใหม่ เนื่องด้วยอัล-ฟุสฏ็อตในเวลานั้นมีความคับแคบ เมืองใหม่นี้ถูกเรียกว่า "อัล-อัสกัร" (Al-Askar) สร้างห่างไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของอัล-ฟุสฏ็อตไปเพียงเล็กน้อย มีการสร้างมัสยิดอัล-อัสกัร เป็นศูนย์กลางของเมือง และดารุลอิมาเราะฮ์ (Dar al-Imarah) ซึ่งคือศูนย์กลางการบริหารราชการซึ่งเป็นที่อยู่ของเจ้าเมืองขึ้นมาใหม่ (ต่อมาถูกทำลายทำให้ปัจจุบันไม่หลงเหลือหลักฐานของเมืองอัล-อัสกัรปรากฏอยู่แล้ว)
ในปี ค.ศ. 868 อะหมัด อิบนุ ตูลูน (Ahmad ibn Tulun) ทาสชาวเติร์กซึ่งถูกแต่งตั้งโดยคอลีฟะฮ์ราชวงศ์อับบาสิยะฮ์ให้เป็นข้าหลวงปกครองอียิปต์ได้ประกาศแข็งเมืองเป็นเอกเทศจากรัฐบาลกลางที่แบกแดด อีกทั้งยังตั้งราชวงศ์ของตนเองขึ้น (ราชวงศ์ตูลูนียะฮ์) เพื่อเป็นการแสดงถึงการแยกตัวอย่างชัดเจนและเล็งเห็นถึงพื้นที่ที่แออัดของ อัล-ฟุสฏ็อต และอัล-อัสกัร ซึ่งไม่สามารถรองรับประชากรและกองทัพที่เพิ่มขึ้นได้ อิบนุ ตูลูน ได้สถาปนาเมืองแห่งใหม่ "อัล-ก็อฏฏอเอี๊ยะห์" (Al-Qatta'i) ขึ้นไปทางเหนือ และเช่นเดียวกับการก่อตั้งผังเมืองแบบอิสลาม "มัสยิด" ถูกเลือกให้เป็นศูนย์กลาง มัสยิดอิบนุ ตูลูน ซึ่งมีความเรียบง่ายแต่ใหญ่โตและมีหออะซานที่มีเอกลักษณ์ซึ่งสันนิษฐานว่าได้รับอิทธิพลบางส่วนมาจากหออะซานมัลวียะฮ์ทรงก้นหอยที่มัสยิดใหญ่แห่งซะมัรรอ (Great Mosque of Samarra) นอกจากนี้ยังมีการสร้างวังขนาดใหญ่ ระบบท่อส่งน้ำและสนามแข่งม้า ฯลฯ (สันนิษฐานว่าได้อิทธิพลจากการสร้างเมืองซะมัรรอในอิรัก ซึ่งอิบนุ ตูลูนเองก็เคยอาศัยอยู่) ราชวงศ์ของเขาสืบต่อมาในเวลาไม่นานนักเพราะผู้ปกครองคนต่อๆ มาอ่อนแอ ทำให้ราชวงศ์อับบาสิยะฮ์สามารถส่งกองทัพกลับมายึดอียิปต์คืนได้ในปีค.ศ.905 และทำลายเมืองอัล-ก็อฏฏอเอี๊ยะห์ยกเว้นแต่มีเพียงมัสยิดเท่านั้นที่ยังคงเป็นหลักฐานสำคัญและยังคงรูปแบบดั้งเดิมที่ยังคงหลงเหลือมาจนถึงปัจจุบัน
การปรากฏตัวของราชวงศ์ฟาฏิมียะฮ์ (Fatimid) ซึ่งอ้างการสืบสายเลือดของท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ อัซซะฮ์รอ บุตรสาวของท่านนบีมุฮัมมัด (ซ.ล.) ในแคว้นตูนิสทางตะวันตก ก่อให้เกิดคลื่นลูกใหม่ในประวัติศาสตร์อิสลาม พวกฟาฏิมียะฮ์นั้นถือแนวทางชีอะฮ์อิสมาอิลียะฮ์ ซึ่งแตกต่างจากมุสลิมในอียิปต์และคาบสมุทรอาหรับซึ่งถือแนวทางซุนนี พวกเขาสถาปนาตนเองขึ้นเป็นคอลีฟะฮ์และ "อิหม่าม" โดยไม่ยอมรับสถานะผู้นำประชาชาติมุสลิมยกเว้นต้องมาจากวงศ์วานของ ท่านนบีมุฮัมมัด (ซ.ล.) เท่านั้น ความต้องการเผยแพร่แนวคิดชีอะห์ผลักดันให้พวกเขาต้องเข้ายึดอียิปต์ซึ่งเป็นดินแดนที่สำคัญเป็นอันดับแรก คอลีฟะฮ์อัลมุอิซ ลิดีนนิลละฮ์ (Al-Muizz li-Din Allah) ส่งกองทัพฟาฏิมียะฮ์นำโดยแม่ทัพ เญาฮัร อัซซิกิลลี (Jawhar as-Siqilli) เข้ายึดอียิปต์ได้ในปี ค.ศ.696 จากผู้ปกครองวงศ์บะนู อิคชิด (Ikhshidid) ซึ่งแต่งตั้งโดยคอลีฟะฮ์อับบาสิยะฮ์ เญาฮัร ได้ก่อตั้งเมืองใหม่ซึ่งรู้จักกันในนาม "อัล-กอฮิเราะฮ์" (Al-Qahirah) เมืองแห่งชัยชนะ (ที่เราคุ้นหูว่า ไคโร มาจากคำนี่แหละครับ) โดยที่ตั้งเมืองใหม่แห่งนี้อยู่ทางทิศเหนือของเมืองเก่าทั้งสามเมือก่อนหน้านี้ สิ่งที่ราชวงศ์ฟาฏิมียะฮ์ทำคือ การจัดสรรการใช้พื้นที่โดยส่วนที่เป็นเมืองใหม่ อัล-กอฮิเราะฮ์ มีการก่อสร้างกำแพงเมืองล้อมรอบเพื่อป้องบริเวณที่อยู่อาศัยของคอลีฟะฮ์ ผู้ปกครองและหน่วยราชการต่างๆ มีมัสยิดที่สำคัญ อันได้แก่มัสยิดอัล-อัซฮัร (Al-Azhar Mosque ซึ่งเป็นที่ตั้งของหนึ่งในมหาวิทยาลัยที่เก่าแก่ที่สุดในโลก) และมัสยิดอัล-ฮากิม (Al-Hakim Mosque สร้างทีหลัง) ฯลฯ ส่วนที่เป็นเมืองเก่าอัล-ฟุสฏ็อต เป็นส่วนของชุมชนเมือง ที่อาศัยของประชาชนธรรมดา แต่ยังคงมีความสำคัญในแง่เศรษฐกิจเนื่องด้วยยังคงเป็นศูนย์กลางการค้าขาย
ในช่วงท้ายของคริสต์ศตวรรษที่ 11 ในสมัยของคอลีฟะฮ์อัล-มุสตันซิร แห่งราชวงศ์ฟาฏิมียะฮ์ (Al-Mustansir)ได้ออกคำสั่งให้อัครเสนาบดี บัดรุลญะมาลีย์ (Badr al-Jamali) เสริมความแข็งแรง สร้างส่วนขยายกำแพงและประตูเมืองขึ้นด้วยหินสลัก ซึ่งยังคงปรากฏมาจนถึงปัจจุบัน (เช่นประตูเมืองบาบ อัล-ฟุตูฮ์ และบาบ อัล-ซุวัยละฮ์ ฯลฯ) ทั้งนี้เพื่อป้องกันภัยอันตรายจากทหารรับจ้างชาวเติร์กและนักรบครูเสดที่คุกคามอำนาจของราชวงศ์ ในปี ค.ศ.1168 อัครเสนาบดีชะวัร (Shawar) ได้สั่งให้เผาทำลายเมืองอัล-ฟุสฏ็อตเพื่อไม่ให้ตกอยู่ในมือของนักรบครูเสด
จนต่อมาเมื่อเศาะลาฮุดดีน อัยยูบีย์ (Salah al-Din Ayyubi ซาลาดิน) แม่ทัพผู้เกรียงไกรของชาวมุสลิมได้โค่นล้มราชวงศ์ฟาฏิมียะฮ์ อีกทั้งได้สถาปนาแนวทางซุนนีขึ้นมาในอียิปต์อีกครั้ง เขาสามารถรวมเอาอียิปต์และซีเรียเข้าไว้ด้วยกัน มีชัยชนะเหนือนักรบครูเสดและกอบกู้เยรูซาเล็มมาอยู่ในการดูแลของชาวมุสลิมในที่สุด ในสมัยราชวงศ์อัยยูบียะฮ์ (Ayyubid) ของเขาได้สร้างกำแพงรวบเอาเมืองทั้ง หมดเข้าเป็นเมืองเดียวกันทั้งหมดและเปิดส่วนที่เคยจำกัดเพียงผู้ปกครองให้เป็นที่สาธารณะ ส่วนศูนย์การปกครองย้ายไปอยู่ที่ป้อมปราการ (Cairo Citadel) เชิงเขาอัล-มุก็อฏฏัม (Al-Muqattam Hills) ตั้งอยู่ระหว่างทางตะวันออกของเมืองในปี ค.ศ.1176 ดังทีกล่าวว่า "ด้วยกำแพงทำให้เราสามารถรวมเอาเมืองทั้งสอง (หมายถึงอัล-กอฮิเราะฮ์ และ อัล-ฟุสฏ็อต) เข้าไว้ด้วยกันเป็นหนึ่ง ซึ่งนั่นทำให้สามารถใช้เพียงกองทัพเดียวป้องกันมันทั้งคู่ได้..."
หนึ่งสู่เหล่า รวมเราเป็นหนึ่ง...
และนี่คือเรื่องราวคร่าวๆของเมืองทั้ง 4 ที่เป็นรากฐานกับเมืองหลวงของอียิปต์ในยุคสมัยต่อๆ มาจนถึงปัจจุบันนั่นเองครับ
....
จากภาพ : แผนที่แสดงตำแหน่งของเมือง อัล-ฟุสฏ็อต (Al-Fustat), อัล-อัสกัร (Al-Askar), อัล-ก็อฏฏอเอี๊ยะฮ์ (Al-Qatta'i) และอัล-กอฮิเราะฮ์ (Al-Qahirah)
อ้างอิงภาพ : http://www.allcrusades.com/CASTLES/EGYPT/Cairo/Citadel/Text/citadel_txt_1.html
ที่มา : โบราณคดีอิสลาม - lslamic Archaeology
Cr. ดาบแห่งอัลเลาะห์ แอนตี้ไซออนิสต์
#ประวัติศาสตร์อิสลาม_Islamic_Society_Online
Islamic Society Online
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น