product :

วันจันทร์ที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2561

วะฮาบียะฮ์ เป็นลัทธิใหม่ในอิสลามจริงหรือ ?

วะฮาบียะฮ์ เป็นลัทธิใหม่ในอิสลามจริงหรือ ?

โดย : ผศ.ดร.อับดุลเลาะ หน่มสุข

บทนำ


สืบเนื่องจากการได้มีการพาดพิงถึง "วะฮาบียะฮ์" ว่าเป็นลัทธิใหม่ในอิสลามที่กำลังแพร่หลายในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และกำลังเป็นภัยคุกคามความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของประเทศ โดยถูกนำไปเชื่อมโยงกับกลุ่มอัลกออีดะฮ์ ของ อูซามะ บินลาเด็น และอีกหลายๆ กลุ่ม ที่ถูกป้ายสีว่าเป็นกลุ่มก่อการร้าย เพื่อความกระจ่างในเรื่องนี้ ผู้เขียนใคร่ขอนำเสนอข้อมูลเชิงวิชาการเกี่ยวกับชื่อ ประวัติความเป็นมา แนวคิดที่สำคัญ รวมทั้งอิทธิพล และการแพร่หลายของ วะฮาบีย์ ดังนี้

ชื่อ "วะฮาบีย์"


วะฮาบียะฮ์ คือ ชื่อของขบวนการฟื้นฟูอิสลาม โดยการนำของ เชคมูฮัมมัด อิบนุ อับดุลวาฮาบ มีชีวิตอยู่ในช่วง (1115 - 1206 ฮ.ศ.) ตรงกับ (1703 - 1791 ค.ศ.) ที่เมือง นัจด์ ในประทศซาอุดิอาระเบีย ชื่อนี้มาจากพยางค์ที่สองของชื่อบิดา คือ "อัลวาฮาบ" ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นพระนามหนึ่งของพระองค์อัลลอฮ์ (ซ.บ.) พระผู้เป็นเจ้า ซึ่งมีความหมายว่า ผู้ทรงให้อย่างมากมาย ชื่อนี้บางคนเรียกเพี้ยนเป็น วะฮบีย์ ซึ่งไม่ถูกต้อง ที่ถูกต้องคือ "วะฮาบียะฮ์" หมายถึงขบวนการฟื้นฟูอิสลาม

วะฮบียะฮ์ หรือ วะฮาบีย์ หมายถึง ผู้มีแนวคิดหรือแนวปฏิบัติตามขบวนการดังกล่าว

อย่างไรก็ตามชื่อนี้ไม่เป็นที่ชื่นชอบของกลุ่มวะฮาบีย์ เนื่องจากเป็นชื่อที่ถูกตั้งขึ้นโดยฝ่ายต่อต้าน และมักจะนำมาใช้ในเชิงลบเป็นส่วนใหญ่ กลุ่มวะฮาบีย์เองจะไม่ใช้ชื่อนี้เรียกในกลุ่มของตน แต่จะเรียกกลุ่มของตนว่า กลุ่ม "สะลาฟียะฮ์" (Salafiah) หรือ "สะลาฟียูน" (Salafiyoon) แปลว่า กลุ่มที่ยึดมั่นในแนวคิดดั้งเดิมของอิสลาม หรือบางทีเรียกกลุ่มของตนว่า "มุวะหิดูน" (Muwahidoon) แปลว่า กลุ่มผู้ยึดมั่นในเอกภาพของอัลลอฮ์ (ซ.บ.)

ประวัติความเป็นมาของวะฮาบียะฮ์


เป็นที่ทราบกันดีว่าในตอนต้นของศตวรรษที่ 12 แห่งฮิจเราะฮ์ศักราช (หรือคริสต์ ตวรรษที่ 18 ) ศาสนาและศีลธรรมในโลกอิสลามเสื่อมทรามลงมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคาบสมุทรอาระเบีย กล่าวคือ มุสลิมส่วนใหญ่ได้พากันละทิ้งหลักการอิสลาม ละทิ้งหลักความเชื่อในเอกภาพของพระผู้เป็นเจ้า และละทิ้งการปฏิบัติตามแนวทางของศาสนทูตมูฮัมมัด (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) พวกเขาได้หันไปหลงใหลคลั่งไคล้อยู่กับเรื่อง "ไสยศาสตร์ เวทมนต์คาถา และการตั้งภาคีต่อพระผู้เป็นเจ้าในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเคารพสักการะ และการขอความช่วยเหลือและคุ้มครองจากสุสานของบุคคลต่างๆ ที่ตนเองเห็นว่าเป็นผู้วิเศษและศักสิทธิ์"

ในท่ามกลางสภาพสังคมที่ฟอนเฟะและโง่งมงายนี้ ได้มีบุคคลผู้หนึ่งถือกำเนิดขึ้นที่ตำบลอุยัยนะฮ์ ในเมืองนัจด์ (เมืองริยาร์ด) ในปี ค.ศ. 1703 บุคคลผู้นั้นคือ มูฮัมมัด อิบนุ อับดุลวาะฮาบ เขามาจากตระกูล อุลามาอ์ (ผู้ทรงความรู้) ได้ศึกษาวิชาความรู้จากบิดา และสามารถท่องจำอัลกุรอานทั้งเล่มได้เมื่อมีอายุเพียง 10 ขวบเท่านั้น และแม้ว่าเขาจะได้รับการยกย่องว่าเป็นปราชญ์ผู้มากด้วยความรู้ แต่เขาก็ตัดสินใจออกเดินทางเพื่อแสวงหาความรู้เพิ่มเติมยังหัวเมืองต่างๆ เช่น มักกะฮ์ มะดีนะฮ์ บัศเราะฮ์ บัฆดาด และ เมาศิลในประเทศอิรัก เมื่อเขาได้กลับสู่มาตุภูมิและได้เรียกร้องเชิญชวนผู้คน ให้กลับสู่แนวทางอันบริสุทธิ์ของอิสลาม เขาได้รับการต่อต้านจากบรรดาผู้ปกครองซึ่งพากันหวาดระแวงกับอิทธิพลของเขาที่จะสั่นสะเทือนต่ออำนาจการปกครองของพวกตน เขาต้องถูกขับไล่ออกจากดินแดนที่เป็นบ้านเกิดเมืองนอน แต่เขาก็ยังยืนหยัดในอุดมการณ์อันมั่นคง ที่จะฟื้นฟูและกอบกู้สังคมให้กลับไปสู่หลักการอันบริสุทธิ์

จุดเปลี่ยนที่สำคัญของ มูฮัมมัด อิบนุ อับดุลวะฮาบ คือ เมื่อท่านเดินทางมาที่เมือง อัดดัรอียะฮ์ ซึ่งเป็นเมืองในการปกครองของ "สะอูด" (ราชวงศ์สะอูดในปัจจุบัน) ท่านก็ได้รับการต้อนรับอย่างดีจาก อามีร มูฮัมมัด อิบนุ สะอูด เจ้าเมืองคนหนึ่ง ซึ่งตกลงใจที่จะร่วมงานกับเขาในการฟื้นฟูและเผยแผ่คำสอนของอิสลาม หลังจากนั้นไม่นานภายใต้การปกครองของ อามีร มูฮัมมัด อิบนุ สะอูดและการเผยแพร่คำสอนของ เชค มูฮัมมัด อิบนุ อับดุลวะฮาบ อย่างเอาจริงเอาจัง วิถีชีวิตและความเชื่อของมุสลิมที่อยู่ภายใต้การปกครองก็เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง จากความโง่งมงายในหลักการอัลอิสลาม และหลงผิดในการตั้งภาคี (ชิริก) และการนิยมชมชอบในอุตริกรรมทางศาสนา (บิดอะฮ์) ทุกคนถูกเรียกร้องเชิญชวนต่อการเคารพภักดีต่ออัลลอฮ์ (ซ.บ.) เพียงพระองค์เดียว และยึดมั่นในคัมภีร์อัลกุรอาน และแบบอย่างของศาสนทูตมูฮัมมัด (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ทุกคนหันมาละหมาดร่วมกัน ปฏิบัติศาสนกิจร่วมกัน และศึกษาศาสนาร่วมกัน สัญลักษณ์ต่างๆ ของการตั้งภาคีและสิ่งไม่ดีงามต่างๆ ได้ถูกทำลายสิ้น สังคมอาหรับได้กลับสู่ความอยู่เย็นเป็นสุขอีกครั้งหนึ่ง และที่สำคัญก็คือได้กลับมาสู่การดำเนินตามหลักคำสอนดั้งเดิมอันบริสุทธิ์ที่ถูกปกปักษ์รักษา ถ่ายทอด และฟื้นฟู โดยนักปราชญ์ชาว "สลัฟ" (นักปราชญ์ในยุค 300 ปีแรก)

การที่ มูฮัมมัด อิบนุ อับดุลวะฮาบ ได้รับการอุ้มชู อุปถัมภ์จากราชสำนักของราชวงศ์สะอูด ทำให้เขามีฐานอำนาจในการดำเนินกิจการต่างๆ จนบรรลุผล ฐานอำนาจดังกล่าวทำให้ดูเหมือนว่า เขามีท่าทีที่แข็งกร้าวต่อกลุ่ม สองกลุ่มที่แพร่หลายอยู่ในขณะนั้นคือ

  1. กลุ่มซูฟีย์ (Sufism) คือ กลุ่มนิยมความลี้ลับและมีความคลั่งไคล้ในวิชาตะเซาวุฟ (การฝึกจิตภายใน) มูฮัมมัด อิบนุ อับดุลวะฮาบ เห็นว่าวิชานี้เป็นยาเสพติดที่มอมเมาคนในสมัยนั้นให้เฉื่อยชา ไม่เข้มแข็ง และเป็นวิชาที่ถูกนำมาใช้ในทางที่ผิดและบิดเบนออกไปจากเดิมมากมาย ตัวย่างที่ชัดเจนก็คือ สิ่งอุตริทางศาสนาใหม่ๆ ที่กลุ่มซูฟีย์ได้สร้างขึ้น เช่น การเคารพสักการะนักบุญ หลุมฝังศพ และสัญลักษณ์ต่างๆ การเคารพบูชาบรรพบุรุษ หรือขอความช่วยเหลือจากผู้ที่ตายไปแล้ว หรือขอให้ผู้ที่ตายช่วยเป็นสื่อหรือนายหน้าติดต่อกับพระเจ้า การสร้างมัสยิดหรืออาคาร เหนือหลุมฝังศพ และการประดับตกแต่งหลุมฝังศพ เป็นต้น
  2. กลุ่มตะกัลลิมีน (Mutakallimin) คือกลุ่มนักเทววิทยาที่เน้นการเอาเหตุผลทางปัญญา และทางตรรกวิทยามาอธิบายหลักความเชื่อในอิสลามจนทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนและเบี่ยงเบนจากความถูกต้อง มูฮัมมัด อิบนุ อับดุลวะฮาบ เห็นเช่นเดียวกันว่า วิชาอิลมุลกะลาม (Elmulkalam) เทววิทยา เป็นยาเสพติดอีกชนิดหนึ่งที่มอมเมาคนในสมัยนั้นให้หมกมุ่นอยู่กับการถกเถียง แล้วในที่สุดก็ทำให้พวกเขาหลงทาง

มูฮัมมัด อิบนุ อับดุลวะฮาบ ได้ทำการคัดค้านทั้งสองกลุ่มอย่างแข็งกร้าว และได้ใช้ฐานอำนาจทางการปกครองสนับสนุนและจัดการกับสิ่งอุตริทางศาสนาอย่างได้ผล แน่นอนการกระทำของเขาได้ไปขัดผลประโยชน์และทำลายความเชื่อของคนที่โง่งมงายในสิ่งเหล่านั้นอย่างรุนแรง คนเหล่านั้นจึงตั้งตนเป็นศัตรู และพยายามชักชวน และประกาศให้คนทั่วไปเชื่อว่าสิ่งที่เขาสอนนั้นเป็นศาสนาใหม่ ที่มิใช่อิสลาม และกล่าวหาว่เขาเป็นผู้สร้างลัทธิใหม่สำหรับผู้ที่ปฏิบัติตามคำสอนของ มูฮัมมัด อิบนุ อับดุลวะฮาบ นั้นก็ถูกคนกลุ่มดังกล่าวประณามว่าเป็นพวกนอกศาสนา และเรียกพวกเขาว่า วะฮะบียะฮ์ (Wahabism) ในที่สุด

แนวคิดที่สำคัญของวะฮาบียะฮ์


สำหรับแนวคิดที่สำคัญของวะฮาบียะฮ์นั้นพอสรุปเป็นหัวข้อได้ดังนี้ คือ

  1. ยึดแนวของอิหม่าม อะห์มัด อิบนุ ฮัมบัล (มัซฮับฮัมบะลีย์) ในเรื่องปลีกย่อยต่างๆ แต่ไม่ยึดแนวทางของอิหม่ามคนใดเป็นเกณฑ์แน่นอนในเรื่องหลักพื้นฐานทั่วไป
  2. เรียกร้องให้เปิดประตูการอิจติฮาด (หมายถึง การวิเคราะห์ และวินิจฉัยหลักฐานต่างๆ ทางศาสนาเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อบัญญัติของปัญหาต่างๆ) หลังจากที่ได้ถูกปิดมานานตั้งแต่กรุงแบกแดดแตกจากการโจมตีของพวกมองโกลในปี ฮ.ศ.656 (ค.ศ.1235)
  3. ยืนยันในความจำเป็นที่จะต้องยึดถือคัมภีร์อัลกุรอาน และซุนนะฮ์ (แบบฉบับของศาสนฑูต มูฮัมมัด)
  4. ยึดมั่นในแนวทางของอะฮลิสซุนนะฮวัลญะมาอะฮ์ (นิกายสุนนีย์)
  5. เรียกร้องสู่หลักเตาฮีด (การให้เอกภาพต่อพระผู้เป็นเจ้า) อันบริสุทธิ์ตามแนวทางของกัลญาณชนมุสลิมในยุคแรกของอิสลาม
  6. เน้นหลักการเตาฮีดอูรูฮียะฮ์ (การให้เอกภาพต่อพระผู้เป็นเจ้าด้านนามชื่อ และคุณลักษณะของพระองค์)
  7. ต่อต้านสิ่งเหลวไหลและอุตริกรรมทางศาสนาซึ่งแพร่หลายในสังคมอันเนื่องจาก ความโง่งมงายของผู้คน
  8. คัดค้านกลุ่ม ฏอรีเกาะฮ์ซูฟีย์ และ กลุ่ม ตะกัลลีมีน และสิ่งอุตริทางศาสนาที่กลุ่มเหล่านี้สร้างขึ้นมา
  9. ต่อต้านการทำชิริก (ตั้งภาคี) ต่ออัลลอฮ์ (ซ.บ.) ทุกประเภท
  10. ต่อต้านการตักลีด (การตามอย่างคนตาบอด) และเรียกร้องสู่การให้ความรู้การค้นหาหลักฐาน

อิทธิพลและการแพร่หลายของกลุ่มวะฮาบียะฮ์


ภายใต้การอุปถัมภ์ของราชวงศ์สะอูด ทำให้วะฮาบียะฮ์แพร่หลายในซาอุดิอาระเบีย โดยเฉพาะภายหลังการสถาปนาราชอณาจักรโดยกษัตริย์อับดุลอาซีซ อิบนุ อับดิรเราะหมาน อาลิสะอูด ในปี ฮ.ศ. 1351 (ค.ศ. 1930) และต่อมาวะฮาบียะฮ์ได้แพร่หลายอย่างรวดเร็วยังกลุ่มประเทศต่างๆ ในโลกมุสลิมผ่านทางคณะต่างๆ ที่เดินทางเข้ามาเพื่อประกอบพิธีฮัจญ์และอุมเราะฮ์ และนักศึกษาที่เข้ามาศึกษาในมัสยิดฮะรอมทั้งสองแห่ง ที่นครมักกะฮ์และนครมะดีนะฮ์ และที่เข้ามาศึกษาในโรงเรียน มหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาอื่นๆ ในซาอุดิอาระเบียและประเทศใกล้เคียง

ปัจจุบันรัฐบาลซาอุดิอาระเบียให้ทุนการศึกษาแก่นักเรียนมุสลิมทั่วโลกเป็นจำนวนมาก เพื่อเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่สอนเกี่ยวกับอิสลามศึกษาและภาษาอาหรับ ทั้งในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก บัณฑิตที่จบจากมหาวิทยาลัยเหล่านี้กระจัดกระจายอยู่ในทุกส่วนของโลก เพื่อทำหน้าที่อบรมสั่งสอนจริยธรรมอิสลาม และเรียกร้องเชิญชวนสู่หลักการอันบริสุทธิ์ นอกเหนือจากนั้นแล้วรัฐบาลซาอุดิอาระเบียยังได้สนับสนุนงานด้านสังคมสงเคราะห์ การเผยแพร่อิสลามในรูปแบบต่างๆ แก่มุสลิมทั่วโลกอีกด้วย อาทิเช่น การสร้างมัสยิดและสถาบันการศึกษา การจัดอบรมภาษาอาหรับและวิทยาการอิสลาม การพิมพ์อัลกุรอานและความหมายอัลกุรอานเป็นภาษาต่างๆ กว่า 150 ภาษา (รวมทั้งภาษาไทย) และการช่วยเหลือสงเคราะห์คนยากจนและผู้ได้รับความเดือดร้อนจากภัยพิบัติ เป็นต้น

ดังกล่าวมานี้แสดงให้เห็นถึงการแพร่ขยายของวะฮาบียะฮ์ภายใต้การสับสนุนอย่างจริงจังจากรัฐบาลของซาอุดิอาระเบีย สำหรับอิทธิพลของวะฮาบียะฮ์นั้นอาจกล่าวได้ว่า วะฮาบียะฮ์ หรือ สะละฟียะฮ์ ในชื่อทางวิชากรได้มีอิทธิพลอย่างใหญ่หลวงต่อการฟื้นฟูอิสลาม และการปฏิรูปสังคมมุสลิมให้กลับสู่หลักคำสอนดั้งเดิมอันบริสุทธิ์ ขบวนการฟื้นฟูอิสลามที่เกิดขึ้นระยะหลัง ในแอฟริกา ในอียิปต์ และในชมพูทวีป ล้วนแล้วแต่ได้รับอิทธิพลและอานิสงฆ์จากแนว วะฮาบียะฮ์ ด้วยกันทั้งสิ้น

บทส่งท้าย


วะฮะบียะฮ์ อาจถูกมองว่าเป็นแนวใหม่หรือลัทธิใหม่ในอิสลาม แต่นั่นเป็นความเข้าใจผิด เพราะในวะฮาบียะฮ์ ไม่มีคำสอนใดออกนอกหลักการอัลอิสลาม ตรงกันข้ามวะฮาบียะฮ์เรียกร้องผู้คนให้กลับไปสู่หลักคำสอนดั้งเดิมอันบริสุทธิ์ของอิสลาม ขบวนการวะฮาบียะฮ์ จึงไม่แตกต่างไปจากขบวนการฟื้นฟูศาสนาอิสลามอื่นๆ ในแนวคิดของอะฮลิสซุนนะฮ์ (สุนนีย์) ที่เกิดขึ้นก่อนหน้านั้นแต่อย่างใด การกล่าวหาว่าขบวนการวะฮาบียะฮ์เป็นขบวนการก่อการร้าย เท่ากับเป็นการกล่าวหาคำสอนของอิสลามอันบริสุทธิ์ว่า เป็นคำสอนที่ต้องการให้ผู้ปฏิบัติมีความคิดหรือมีพฤติกรรมอย่างนั้น ซึ่งเป็นเรื่องที่รับไม่ได้ รัฐบาลภายใต้การนำของ นายกรัฐมนตรี ซึ่งเข้าใจปัญหามุสลิมค่อนข้างดีควรจะปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานของหน่วยข่าวกรองทั้งในพื้นที่ และในระดับชาติให้เข้าถึงข้อเท็จจริงอันถูกต้องก่อนที่จะนำเสนอต่อสาธารณชน เพราะเรื่องศาสนาเป็นเรื่องละเอียดอ่อน มิเช่นนั้นแล้วจะก่อให้เกิดความยุ่งยากอย่างใหญ่หลวงเกินกว่าจะแก้ไขได้


แหล่งที่มา : http://www.islammore.com/


#การเมือง_ลัทธิและความเชื่อ_Islamic_Society_Online
#ประวัติศาสตร์อิสลาม_Islamic_Society_Online
#นานาทัศนคติ_Islamic_Society_Online
#ประชาชาติอิสลาม_Islamic_Society_Online
Islamic Society Online



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความแนะนำ

World Clock

Featured Posts

เรื่องราวของสองอารยธรรม : อารยธรรมของชาวไวกิ้งและมุสลิม

เรื่องราวของสองอารยธรรม : อารยธรรมของชาวไวกิ้งและมุสลิม โดย : Cem Nizamoglu และ Sairah Yassir-Deane ย้อนหลังไปถึงมีนาคม 2015 ข่าวเกี่ยวก...