product :

วันอาทิตย์ที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2561

ฟิกฮฺในยุคตาบิอีน

ฟิกฮฺในยุคตาบิอีน




ตาบิอีนคือผู้ที่มีโอกาสได้พานพบและศึกษาความรู้จากบรรดาเศาะหาบะฮฺ ซึ่งยุคตาบิอีนนั้นถือเป็นยุคที่ประเสริฐรองลงมาจากยุคท่านนบีศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมและยุคเศาะหาบะฮฺโดยในยุคนี้ยังคงมีเศาะหาบะฮฺหลงเหลืออยู่บ้างแต่ไม่มากกล่าวคือในยุคเศาะหาบะฮฺนั้นจะมีแต่เศาะหาบะฮฺเสียเป็นส่วนใหญ่ที่มีความโดดเด่นในเรื่องของฟิกฮฺและการวินิจฉัยประเด็นศาสนาจากกลุ่มตาบิอีนก็เพียงส่วนน้อยที่จะมีชื่อเสียงเทียบเคียงเศาะหาบะฮฺแต่ในยุคตาบิอีนนั้นชื่อเสียงและความโดดเด่นจะเป็นของตาบิอีนเสียส่วนใหญ่ทั้งนี้เพราะเศาะหาบะฮฺส่วนใหญ่ (โดยเฉพาะรุ่นอาวุโส) ได้เสียชีวิตลงหมดแล้ว

อาจกล่าวได้ว่ายุคตาบิอีนนั้นเริ่มขึ้นตั้งแต่การสละตำแหน่งของท่านหะซันบินอะลีบินอบีฏอลิบเราะฎิยัลลอฮุอันฮุมาและให้ท่านมุอาวิยะฮฺเราะฎิยัลลอฮุอันฮฺขึ้นเป็นผู้นำแทนในปีฮ.ศ.41 ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของราชวงศ์บนีอุมัยฺยะฮฺและสิ้นสุดลงพร้อมๆกับการล่มสลายของบนีอุมัยฺยะฮฺในต้นศตวรรษที่ 2 แห่งฮิจญฺเราะฮฺศักราชหรือก่อนหน้านั้นเล็กน้อย

ตาบิอีนศึกษาฟิกฮฺจากเศาะหาบะฮฺได้อย่างไร?


โลกอิสลามในยุคนั้นยังคงเป็นปึกแผ่นเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและยังไม่มีกฎระเบียบที่เข้มงวดเหมือนทุกวันนี้ทำให้การเดินทางไปมาหาสู่กันระหว่างรัฐหรือเมืองต่างๆกระทำได้ง่ายและไม่มีอุปสรรคใดๆผู้แสวงหาความรู้ในยุคนี้จึงเดินทางไปพบบรรดาเศาะหาบะฮฺเพื่อศึกษาหาความรู้ยกตัวอย่างเช่นท่านหะซันอัลบัศรียฺปราชญ์ระดับแนวหน้าของตาบิอีนว่ากันว่าท่านได้มีโอกาสพบกับเศาะหาบะฮฺร่วม 500 ท่านเลยทีเดียว

เป็นที่ทราบกันดีว่าในสมัยของท่านอุษมานบินอัฟฟานนั้นท่านอนุญาตให้เศาะหาบะฮฺแยกย้ายไปตั้งถิ่นฐานยังเมืองต่างๆได้ซึ่งเศาะหาบะฮฺแต่ละท่านก็ทำการเผยแพร่ความรู้ณเมืองที่ท่านพำนักอยู่เช่นท่านอะลีหรือท่านอิบนฺมัสอูดอาศัยอยู่เมืองกูฟะฮฺ (ในอิรัก) ท่านอุมัรฺท่านอิบนฺอุมัรฺและท่านซัยดฺบินษาบิตอาศัยอยู่มะดีนะฮฺท่านอบูมูซาอัลอัชอะรียฺอยู่บัศเราะฮฺ (ในอิรัก) ท่านมุอาวิยะฮฺกับท่านมุอาซบินญะบัลอยู่ชาม (แถบซีเรียในปัจจุบัน) ท่านอิบนฺอับบาสอยู่มักกะฮฺส่วนท่านอับดุลลอฮฺบินอัมรฺบินอาศนั้นพำนักอาศัยที่อิยิปต์เป็นต้นด้วยการแยกย้ายกันของบรรดาเศาะหาบะฮฺเช่นนี้ทำให้วิชาความรู้ได้แผ่ขยายไปทั่วทุกหนทุกแห่ง

พัฒนาการของฟิกฮฺในยุคนี้


สรุปพัฒนาการหรือทิศทางการเปลี่ยนแปลงทางฟิกฮฺในยุคนี้ได้พอสังเขปดังนี้

(1) – การขยายขอบเขตของฟิกฮฺและความขัดแย้งทางทัศนะซึ่งมีสาเหตุมาจาก


  1. การแยกย้ายกระจัดกระจายของอุลามาอ์เศาะหาบะฮฺและตาบิอีนเพื่อเผยแพร่วิชาความรู้ซึ่งแน่นอนว่าแต่ละท่านนั้นไม่ได้มีความเท่าเทียมกันในเรื่องของความรู้ความเข้าใจและการท่องจำอัลกุรอานและหะดีษอันมีผลให้เกิดทัศนะที่แตกต่างกันไป
  2. การอิจญฺติฮาดหมู่ที่อาศัยการปรึกษาหารือเพื่อให้ได้มาซึ่งความเห็นที่เป็นเอกฉันท์หรือช่วยลดความขัดแย้งลงเหมือนในยุคเศาะหาบะฮฺนั้นกลายเป็นเรื่องที่กระทำได้ยากในยุคนี้เนื่องจากอุละมาอ์ได้แยกย้ายกันไปตามเมืองต่างๆทำให้ยากต่อการติดต่อเพื่อปรึกษาหารือกัน
  3. แต่ละเมืองที่บรรดาอุละมาอ์ได้แยกย้ายไปพำนักอาศัยอยู่นั้นต่างก็มีวัฒนธรรมประเพณีและระบบระเบียบทางสังคมที่แตกต่างกันไปส่งผลให้การวินิจฉัยของอุละมาอ์นั้นแตกต่างกันทั้งนี้เพราะอุละมาอ์จำเป็นต้องคำนึงถึงลักษณะความเป็นอยู่ของคนในสังคมประกอบการวินิจฉัยปัญหาตราบใดที่ไม่ขัดกับหลักศาสนา
  4. ผู้คนในแต่ละเมืองศึกษาฟิกฮฺจากอุละมาอ์ของเมืองนั้นๆและมีความเลื่อมใสในตัวพวกท่านและในคำวินิจฉัยของพวกท่าน


(2) – การรายงานหะดีษอย่างแพร่หลายมากขึ้น

การรายงานหะดีษในยุคเศาะหาบะฮฺนั้นยังไม่เป็นที่แพร่หลายมากนักทั้งนี้เพราะในยุคนั้นยังมีปัญหาไม่มากนักขณะเดียวกันเศาะหาบะฮฺส่วนใหญ่ก็มีความรู้ความเข้าใจเรื่องสุนนะฮฺเป็นอย่างดีจึงไม่มีความจำเป็นต้องรายงานหะดีษก่อนที่จะเกิดปัญหา

ส่วนในยุคตาบิอีนซึ่งมีเหตุการณ์และปัญหาใหม่ๆเกิดขึ้นมากมายทำให้เกิดความจำเป็นที่จะต้องรู้ตัวบทหะดีษเพื่อยึดเป็นหลักในการวินิจฉัยปัญหาทำให้ผู้ที่ท่องจำหะดีษต้องทำการรายงานหะดีษที่ตนมีอยู่

สรุปผลพวงจากการรายงานหะดีษอย่างแพร่หลายในวงกว้างเช่นนี้ได้ดังนี้


  1. การขยายขอบเขตของบทบัญญัติและมีการวินิจฉัยหุก่มด้วยการวิเคราะห์จากตัวบทหะดีษมากขึ้น
  2. มีการรายงานหะดีษเมาฎูอฺ (หะดีษปลอม) ปะปนกับหะดีษที่ถูกต้อง
  3. ซึ่งการแพร่หลายของหะดีษปลอมนั้นทำให้เกิดความยากลำบากในวินิจฉัยของบรรดาอุละมาอ์เพราะต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่าเป็นหะดีษที่ถูกต้องใช้เป็นหลักฐานได้หรือไม่
  4. ทำให้มีศาสตร์ใหม่ถือกำเนิดขึ้นมานั้นคือญัรฺหวะตะอฺดีลซึ่งเป็นศาสตร์ที่ว่าการตรวจสอบสายรายงานหะดีษเพื่อเป็นหลักเกณฑ์ที่ใช้ประกอบการพิจารณาหะดีษ


(3) – การถือกำเนิดของแนวคิดทางฟิกฮฺ

ในยุคนี้ถึงแม้จะยังไม่มีมัซฮับทางฟิกฮฺอย่างเป็นแบบแผนมีแนวทางหรือหลักการเฉพาะในความหมายของมัซฮับในยุคหลังแต่ก็เริ่มมีความแตกต่างทางแนวคิดอย่างเห็นได้ชัดเจนมากขึ้นกว่าเดิมทำให้เกิดแนวคิดต่างๆขึ้นมากมายแต่ที่มีชื่อเสียงและสำคัญที่สุดก็มีอยู่ 2 แนวคิดคือ

1– แนวคิดสายมะดีนะฮฺ

มะดีนะฮฺนั้นถือที่พำนักของท่านนบีศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมภายหลังการฮิจญฺเราะฮฺและยังเป็นเมืองหลวงแรกของรัฐอิสลามในภายหลังแม้ว่าจะมีการย้ายเมืองหลวงไปยังที่อื่นแต่มะดีนะฮฺก็ยังคงไว้ซึ่งการเป็นเมืองที่มีความสำคัญทางศาสนาและเป็นแหล่งพำนักของบรรดาเศาะหาบะฮฺจำนวนมาก

ซึ่งอุละมาอ์มะดีนะฮฺที่เป็นแกนหลักของวิชาฟิกฮฺในยุคนี้ก็ดังเช่น


  1. สะอีดบินอัลมุซัยยิบ (เสียชีวิตฮ.ศ.94)
  2. อุรฺวะฮฺบินซุเบรฺ (เสียชีวิตฮ.ศ.94)
  3. อบูบักรฺบินอับดิรฺเราะหฺมานบินอัลฮาริษอัลมัคซูมียฺ (เสียชีวิตฮ.ศ.94)
  4. อุบัยดุลลอฮฺบินอับดุลลอฮฺบินอุตบะฮฺ (เสียชีวิตฮ.ศ.98)
  5. คอริญะฮฺบินซัยดฺบินษาบิต (เสียชีวิตฮ.ศ.99)
  6. อัลกอซิมบินมุฮัมหมัดบินอบีบักรฺ (เสียชีวิตฮ.ศ.107)
  7. สุลัยมานบินยะซารฺ (เสียชีวิตฮ.ศ.107)


อันเป็นที่รู้จักกันในนาม “อัลฟุเกาะฮาอฺอัซซับอะฮฺ” (อุละมาอ์ฟิกฮฺทั้ง 7)

2 – แนวคิดสายกูฟะฮฺ

หลังจากที่ได้มีการก่อตั้งเมืองกูฟะฮฺขึ้นเศาะหาบะฮฺหลายๆท่านได้ย้ายไปตั้งถิ่นฐานที่นั่นยกตัวอย่างเช่นท่านอิบนฺมัสอูดท่านสะอฺดบินอบีวักกอศท่านอนัสบินมาลิกซึ่งภายหลังจากที่ท่านอุษมานถูกลอบสังหารจำนวนเศาะหาบะฮฺที่ไปตั้งรกรากณเมืองกูฟะฮฺก็เพิ่มขึ้นเป็น 300 คนในสมัยของท่านอะลีท่านได้สถาปนากูฟะฮฺเป็นเมืองหลวงของรัฐอิสลามในยุคนั้น

ซึ่งอุละมาอ์กูฟะฮฺที่เด่นๆในยุคนี้มีดังนี้


  1. อัลเกาะมะฮฺบินก็อยซฺอันนะเคาะอียฺ (เสียชีวิตฮ.ศ.62)
  2. อัลอัสวัดบินยะซีดอันนะเคาะอียฺ
  3. อบูมัยสะเราะฮฺอัมรฺบินชะรอฮีลอัลฮะมะดานี
  4. อิบนฺอบีลัยลา
  5. ชะรีกอัลกอฎีย์
  6. อบูฮะนีฟะฮฺ


การจดบันทึกในยุคนี้


ยุคตาบิอีนผ่านพ้นไปโดยที่ยังไม่มีการบันทึกหรือเขียนตำราทางฟิกฮฺแต่อย่างใดเช่นเดียวกับสุนนะฮฺแม้ว่าจะมีความพยายามให้เห็นบ้างอย่างประปรายแต่ก็ยังไม่มีการเริ่มต้นอย่างเป็นรูปเป็นร่าง

ข้อสรุป


ในยุคตาบิอีนเราจะเห็นว่าฟิกฮฺได้มีพัฒนาการไปอีกระดับหนึ่งโดยตาบิอีนได้ยึดมั่นกับแนวทางที่บรรดาเศาะหาบะฮฺได้วางเอาไว้แต่ถึงกระนั้นจะเห็นได้ชัดว่าเริ่มมีความขัดแย้งกันทางทัศนะเพิ่มมากขึ้นเริ่มมีการแบ่งแนวคิดทางฟิกฮฺอย่างชัดเจนมากขึ้นอันเป็นเสมือนการปูทางไปสู่ความขัดแย้งทางแนวคิดและหลักการวินิจฉัยทางฟิกฮฺและการเกิดมัซฮับต่างๆขึ้น




#นิติศาสตร์อิสลาม_Islamic_Society_Online
#ปราชญ์ในนิติศาสตร์อิสลาม_Islamic_Society_Online
Islamic Society Online



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความแนะนำ

World Clock

Featured Posts

เรื่องราวของสองอารยธรรม : อารยธรรมของชาวไวกิ้งและมุสลิม

เรื่องราวของสองอารยธรรม : อารยธรรมของชาวไวกิ้งและมุสลิม โดย : Cem Nizamoglu และ Sairah Yassir-Deane ย้อนหลังไปถึงมีนาคม 2015 ข่าวเกี่ยวก...