จารึกประดับโมเสกอักษรอาหรับกูฟีย์
(บน) ส่วนคานรองรับอาคารแปดเหลี่ยมภายในโดมแห่งศิลา ประดับด้วยโมเสกเป็นลวดลายพรรณพฤกษา และแถบจารึกอักษรอาหรับกูฟีย์ที่ถูกแก้ไขระบุชื่อของอัล-มะอ์มูน (ล่าง) โดมแห่งศิลาจากภายนอก |
จารึกประดับโมเสกอักษรอาหรับกูฟีย์บริเวณฝั่งนอกของคานรองรับอาคารทรงแปดเหลี่ยมภายใน 'กุบบะตุสศ็อคเราะฮ์' หรือ 'โดมแห่งศิลา' ซึ่งตั้งอยู่บนฮะรอมมัสยิดอัล-อักซอ ในอัล-กุดส์ (เยรูซาเล็ม) ปาเลสไตน์ โดยท่อนหนึ่งของจารึกมีใจความว่า
"...โดมแห่งนี้สร้างขึ้นโดยบ่าวของพระผู้เป็นเจ้า อับดุลลอฮ์ อัล-อิหม่าม อัล-มะอ์มูน อะมีรุลมุอ์มินีน (ผู้นำแห่งศรัทธาชน) ในปีที่ 72 (ฮ.ศ.) ขอพระองค์ทรงตอบรับและพอพระทัยแก่เขา อามีน..."
นามชื่อผู้สร้างที่ปรากฏในจารึกนั้นระบุถึง 'อะบู ญะอ์ฟัร อับดุลลอฮ์ อัล-มะอ์มูน บิน ฮารูน อัร-รอชีด' คอลีฟะฮ์คนที่ 7 แห่งราชวงศ์อับบาสิยะฮ์ (Abbasid) ซึ่งสมัยของเขานั้นตรงกับช่วง ค.ศ.813-833/ฮ.ศ.198-218 แต่เดี๋ยวก่อนครับ! มาถึงตรงนี้ สังเกตอะไรแปลกๆเกี่ยวปีในจารึกไหมครับ...ทำไมปีบนจารึกถึงได้เก่ากว่าสมัยของผู้สร้างเป็นร้อยปี มันเกิดอะไรขึ้น?
ในความเป็นจริงแล้วจารึกนี้ถูก 'แก้ไข' นั่นเองครับ
ปีฮ.ศ.72 ที่ปรากฏในจารึกนั้นแท้จริงแล้วตรงกับช่วงสมัยของ 'อับดุลมาลิก บิน มัรวาน' (ค.ศ.685-705/ฮ.ศ.66-86) คอลีฟะฮ์ราชวงศ์อุมัยยะฮ์ (Umayyad) ซึ่งเป็นผู้ออกคำสั่งสร้างตัวจริงของอาคารแห่งนี้เมื่อศตวรรษก่อนการปกครองของพวกอับบาสิยะฮ์ อับดุลมาลิกได้ชื่อว่าเป็น 'นักสร้าง' ผู้ริเริ่มโครงการก่อสร้างมากมาย รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่บนฮะรอมมัสยิดอัล-อักซอด้วย ในปี ค.ศ.685/ฮ.ศ.66 อับดุลมาลิกได้มอบหมายให้สถาปานิกสองคนคือ รอญาอ์ บิน ฮัยวะฮ์ อัล-กินดีย์จากเมืองบีซาน และยะซีด บิน สลาม (สันนิษฐานว่าเป็นชาวคริสเตียนจากอัล-กุดส์) ก่อสร้างอาคารโดมครอบเหนือศิลา (ศ็อคเราะฮ์) ซึ่งกล่าวกันว่า คือสถานที่ที่ท่านนบีมุฮัมมัด (ซ.ล.) ได้ 'เมี๊ยะรอจญ์' เดินทางสู่ฟากฟ้าในยามค่ำคืน โดมแห่งนี้จึงถูกสร้างขึ้นด้วยเทคนิควัสดุและการตกแต่งอย่างดีที่สุดเพื่อเป็นอนุสรณ์สถานรำลึกเหตุการณ์ดังกล่าว อีกทั้งเป็นที่หลบร้อนหนาวของผู้ที่เข้ามาละหมาดในมัสยิดอัล-อักซอ (แต่ยังคงมีข้อสันนิษฐานอื่นๆ ในความหมายแฝงของมันด้วยเช่นกัน ส่วนนี้ไว้มีโอกาสจะนำเสนอต่อไปนะครับ - แอดมิน) โดมเสร็จสมบูรณ์ในปี ค.ศ.691/ฮ.ศ.72 ตรงกับจารึกดังกล่าวนั่นเอง
เมื่อราชวงศ์อุมัยยะฮ์ถูกโค่นล้มโดยการปฏิวัติ 'อับบาสิยะฮ์' (Abbasid) ในปี ค.ศ.750 พวกอับบาสิยะฮ์ซึ่งสืบเชื้อสายจากอับบาส บิน อะบูฏอลิบ ผู้เป็นลุงของท่านนบีมุฮัมมัด (ซ.ล.) ในวังวนของความขัดแย้งเรื่องตำแหน่งผู้นำแห่งศรัทธาชน พวกเขาอ้างตำแหน่งคอลีฟะฮ์ ตำแหน่งอันชอบธรรมว่าต้องมาจากวงศ์วานใกล้ชิดของท่านนบี (ซ.ล.) พวกอับบาสิยะฮ์และผู้สนับสนุนมีความเคียดแค้นชิงชังต่อตระกูลอุมัยยะฮ์อย่างรุนแรงและกล่าวหาว่าพวกอุมัยยะฮ์ได้ก่อความเสียหายใหญ่หลวงขึ้นในหมู่มุสลิม ในความพยายามที่จะลบความทรงจำของราชวงศ์อุมัยยะฮ์ให้มลายหายไป พวกเขาได้ตามล่าและสังหารหมู่คนในราชวงศ์อุมัยยะฮ์ทั้งหมดใกล้กับเมืองร็อมละฮ์ในปาเลสไตน์ (มีเพียงเจ้าชายอับดุรเราะฮ์มานที่เอาชีวิตรอดหนีไปยัง อัล-อันดาลุสได้) อีกทั้งยังขุดทำลายหลุมศพของบรรดาคอลีฟะฮ์อุมัยยะฮ์คนก่อนๆ จนหมดสิ้น (ยกเว้นหลุมศพของอุมัร บิน อับดุลอะซีซ) อำนาจของคอลีฟะฮ์ได้ผลัดมือตกไปอยู่กับราชวงศ์ใหม่ซึ่งได้ย้ายศูนย์กลางการปกครองไปทางตะวันออกในเมโสโปเตเมียและสถาปนา 'แบกแดด' ขึ้นมาเป็นเมืองหลวงแห่งใหม่ นัยเพื่อตัดขาดภาพลักษลักษณ์เดิมของราชวงศ์เก่าและป้องกันตัวเองจากฐานอำนาจเดิมในแคว้นชาม (ซีเรีย) ด้วย
ในยุคสมัยราชวงศ์อับบาสิยะฮ์ แม้แคว้นชามแลดูจะถูกลดความสำคัญไป แต่ยังคงเป็นที่ตั้งของสถานที่สำคัญทางศาสนาหลายๆแห่ง 'อัล-กุดส์' ก็คือหนึ่งในนั้น มัสยิดอัล-อักซอและโดมแห่งศิลา ตกอยู่ในสภาพเสียหายจากแผ่นดินไหวรุนแรงในปี ค.ศ.748 เมื่อถึงสมัยของคอลีฟะฮ์อัล-มะอ์มูน จึงได้มีคำสั่งให้บูรณะซ่อมแซ่มอาคารทั้งสองขึ้นใหม่ในปี ค.ศ.831/ฮ.ศ.216 โดยช่าง 'ศอลิฮ์ บิน ยะฮ์ยา' ภายใต้การควบคุมของอะบู อิสฮัค อัล-มุอ์ตะซิม บิน ฮารูน อัร-รอชีด (น้องชายต่างมารดาของอัล-มะอ์มูน ซึ่งต่อมาสืบทอดตำแหน่งคอลีฟะฮ์ในนามของอัล-มุอ์ตะซิม บิลละฮ์) การบูรณะซ่อมแซมรวมไปถึงการแก้ไขจารึกโมเสกดั้งเดิมด้านในโดมแห่งศิลาที่ระบุนามผู้สร้างในสมัยราชวงศ์อุมัยยะฮ์ ช่างได้ลอกเอาจารึกบริเวณชื่อ 'อับดุลมาลิก บิน มัรวาน' ออก และประดับโมเสกใหม่ในชื่อคอลีฟะฮ์ 'อับดุลลอฮ์ อัล-มะอ์มูน' เข้าไปแทนที่ การกระทำดังกล่าวคงเรียกได้ว่าเป็นการพยายามลบเลือนหรือเกทับร่องรอยมรดกของพวกอุมัยยะฮ์นั่นเอง
แต่น่าแปลกที่ "ปี ฮ.ศ.72" ที่ระบุช่วงเวลาที่โดมสร้างเสร็จสมบูรณ์นั้นไม่ถูกเปลี่ยนไปด้วย แต่ไม่ว่าจะด้วยความจงใจทิ้งไว้หรือหลงลืม จารึกส่วนนี้เป็นเครื่องมือหนึ่งที่ทำให้เราย้อนกลับไปหายุคสมัยของการก่อสร้างโดมแห่งศิลาที่แท้จริง รวมถึงแสดงเรื่องราวความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์อิสลามได้เช่นกัน
#อารยธรรมอิสลาม_Islamic_Society_Online
#ประวัติศาสตร์อิสลาม_Islamic_Society_Online
Islamic Society Online
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น