product :

วันศุกร์ที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2560

นายอำเภอมุสลิม คนแรกของปักธงชัย ตั้งแต่สมัสมัย ร.5

นายอำเภอมุสลิม คนแรกของปักธงชัย ตั้งแต่สมัสมัย ร.5




"นายอำเภอมุสลิม คนแรกของปักธงชัย ตั้งแต่สมัสมัย ร.5"

พระศรีพลรัตน์ มีชื่อจริงว่า ยะฟะระ(ยะฟัร?) เกตุเลขา (นามสกุลพระราชทาน) เป็นชาวไทยมุสลิม มลฑลนครราชสีมา บุกเบิก ก่อร่างสร้างเมือง และพัฒนาอำเภอปักธงชัยทั้งในด้านการศึกษา ศาสนา การเมืองและเศรษฐกิจ ทำให้คุณภาพชีวิตประชาชนชาวปักธงชัยเจริญรุ่งเรืองมาได้จนทุกวันนี้

- ประวัติการรับราชการของท่าน มีดังนี้
นายอำเภอปักธงชัยคนแรก จ.นครราชสีมา พ.ศ. 2451
นายอำเภอพลคนที่ 3 จ.ขอนแก่น พ.ศ.2465
นายกเทศมนตรีตำบลเมืองพลคนแรก จ.ขอนแก่น
นายอำเภอธานี(อ.เมืองสุโขทัย)คนที่ 10 จ.สุโขทัย พ.ศ.2472
ผู้ว่าราชการจังหวัดอุทัยธานี พ.ศ.2476
ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ พ.ศ.2477


Credit : google , facebook "ลงเอย ณ เมืองพล" เพจอำเภอปักธงชัย
** ขอบคุณ Praween Prapertchob. ที่ส่งข้อมูลมาให้ ได้เห็นความร้อยเกี่ยวกันของประชาคมมุสลิมในประเทศไทยแต่อดีต

ที่มาข้อมูล : Sukre Sarem
https://m.facebook.com/


#ประชาชาติอิสลาม_Islamic_Society_Online
Islamic Society Online



read more "นายอำเภอมุสลิม คนแรกของปักธงชัย ตั้งแต่สมัสมัย ร.5"

วันจันทร์ที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2560

กฎหมายอิสลามเบื้องต้น : ความเป็นมาและความสำคัญของกฎหมายอิสลาม

กฎหมายอิสลามเบื้องต้น : ความเป็นมาและความสำคัญของกฎหมายอิสลาม

(อาลี เสือสมิง)

นัยของหลักนิติธรรมอิสลาม (อัชชะรีอะฮฺ อัลอิสลามี่ยะฮฺ)
และกฎหมายอิสลาม (อัลฟิกฮุ้ล อิสลามีย์)


 

หลักนิติธรรมอิสลาม (อัชชะรีอะฮฺ อัลอิสลามียะฮฺ) หมายถึง สิ่งซึ่งพระองค์อัลลอฮฺ (سبحا نه وتعالي) ได้ทรงบัญญัติสิ่งนั้นเอาไว้แก่มวลบ่าวของพระองค์จากบรรดาหลักการทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นบรรดาหลักการที่เกี่ยวเนื่องกับหลักการยึดมั่น (อัลอะกีดะฮฺ) หรือหลักจริยธรรม (อัลอัคลาก) หรือการจัดระเบียบสิ่งที่ออกมาจากมนุษย์ทั้งวจีกรรม, กายกรรม และการทำธุรกรรมทั้งหลาย (ดร.ซูฟีย์ หะซัน อบูฏอลิบ ; การบังคับใช้กฎหมายอิสลามในกลุ่มประเทศอาหรับ, หน้าที่ 15 พิมพ์ครั้งที่ 4 (ค.ศ.1995) สำนักพิมพ์อันนะฮฺเฎาะฮฺ อัลอะรอบียะฮฺ, ไคโร, อียิปต์)

กฎหมายอิสลาม (อัลฟิกฮุล อิสลามีย์) หมายถึง ประมวลหลักการปฏิบัติต่าง ๆ ตามศาสนบัญญัติซึ่งจัดระเบียบพฤติกรรม วจีกรรมและการทำธุรกรรมทั้งหลายของบรรดาผู้ที่เข้าอยู่ในเกณฑ์บังคับของศาสนา โดยมีที่มาจากคัมภีร์อัลกุรฺอานและสุนนะฮฺตลอดจนบรรดาหลักฐานทางศาสนบัญญัติอื่น ๆ (อ้างแล้ว หน้า 16)

นัยของหลักนิติธรรมอิสลามจึงมีความครอบคลุมและกว้างกว่านัยของกฎหมายอิสลาม เนื่องจากหลักนิติธรรมอิสลามจะประมวลถึงหลักการยึดมั่น (อัลอะกีดะฮฺ) และหลักจริยธรรม (อัลอัคลาก) ตลอดจนประมวลกฎหมายอิสลามเอาไว้ด้วย จึงกล่าวได้ว่า กฎหมายอิสลามเป็นส่วนหนึ่งของหลักนิติธรรมอิสลามโดยรวม


กฎหมายอิสลาม แบ่งออกเป็น 2 หมวดใหญ่ ๆ คือ


1. หมวดการประกอบศาสนกิจ (อัลอิบาดาตฺ) ซึ่งจะกล่าวถึงบรรดาหลักการเฉพาะที่ว่าด้วยความสัมพันธ์ของปัจเจกบุคคลกับพระองค์อัลลอฮฺ (سبحا نه وتعالي) อาทิเช่น การละหมาด, การจ่ายซะกาต, การถือศีลอด และการประกอบพิธีฮัจญ์ เป็นต้น

2. หมวดปฏิสัมพันธ์ (อัลมุอามะลาตฺ) อันหมายถึงบรรดาหลักการเฉพาะที่ว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกัน อาทิเช่น การซื้อขาย, การทำธุรกรรมในรูปแบบต่าง ๆ การสมรส และการตัดสินข้อพิพาท เป็นต้น

ในส่วนของนักวิชาการสังกัดมัซฮับอัชชาฟิอีย์ ได้แบ่งหมวดของกฎหมายอิสลามออกเป็น 4 หมวด คือ

  • หมวดการประกอบศาสนกิจ (อัลอิบาดาตฺ)
  • หมวดปฏิสัมพันธ์ (อัลมุอามะลาตฺ)
  • หมวดลักษณะอาญา (อัลอุกูบาตฺ)
  • หมวดการสมรส (อัซซะวาจฺญ์) หรือกฎหมายครอบครัว (อะฮฺกาม – อัลอุสเราะฮฺ)
* จากสิ่งที่กล่าวมาข้างต้น ย่อมเป็นที่ประจักษ์ว่า ประเภทหมวดของกฎหมายอิสลามมีความครอบคลุมถึงเรื่องราวทางศาสนาและทางโลก ในขณะที่หลักนิติธรรมอิสลามตั้งอยู่บนหลักพื้นฐานของการจัดระเบียบที่ครอบคลุมกิจกรรมทุกมิติของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นมิติทางจิตวิญญาณ, จริยธรรม และวัตถุ

ที่มาของกฎหมายอิสลาม


บรรดาที่มาของกฎหมายอิสลามถูกเรียกว่า บรรดาหลักฐานทางศาสนบัญญัติ (อัลอะดิลละฮฺ อัชชัรฺอียะฮฺ) หรือ บรรดาหลักมูลฐาน (อัลอุซู้ล) ซึ่งนักกฎหมายอิสลามส่วนใหญ่มีความเห็นตรงกันว่ามี 4 ประการ คือ
  1. อัลกุรฺอาน (อัลกิตาบ)
  2. อัล-หะดีษ (อัส-สุนนะฮฺ)
  3. อัล-อิจญ์มาอฺ (เรียกทั้ง 3 ประการนี้ว่า บรรดาหลักฐานอันเป็นตัวบทที่มีการรายงานถ่ายทอด (อัลอะดิลละฮฺ อันนักลียะฮฺ) และ
  4. อัล-กิยาส (ประการที่ 4 นี้ถูกจัดอยู่ในหมวดบรรดาหลักฐานที่ใช้การวิเคราะห์ทางสติปัญญา (อัลอะดิลละฮฺ อัลอักลียะฮฺ) ซึ่งนักกฎหมายอิสลามได้ผนวกประเภทของบรรดาหลักฐานในหมวดนี้เอาไว้แตกต่างกัน อาทิเช่น อัลอิสติฮฺซาน, อัลอิสติสหาบฺ, อัลอุรฟ์ และอัลมะซอลิฮฺ อัลมุรซะละฮฺ เป็นต้น)
นักวิชาการเรียกที่มาของกฎหมายอิสลามทั้ง 4 ประการนี้ว่า บรรดาหลักฐานในขั้นปฐมภูมิ (อัลอะดิลละฮฺ อัลอะซาซียะฮฺ) และเรียกประเภทอื่น ๆ ที่ถูกจัดอยู่ในหมวดของบรรดาหลักฐานที่ใช้การวิเคราะห์ทางสติปัญญาว่า บรรดาหลักฐานสืบเนื่อง (อัลอะดิลละฮฺ อัตตะบะอียะฮฺ) หรือ บรรดาหลักฐานในขั้นทุติยภูมินั่นเอง

อัลกุรฺอาน (กิตาบุลลอฮฺ) คือ พระดำรัสของอัลลอฮฺ (سبحا نه وتعالي) ที่ได้ประทานลงมาให้ท่านนบีมุฮัมมัด (صلى الله عليه وسلم) ด้วยภาษาอาหรับเพื่อเป็นปาฏิหาริย์ด้วยบทที่สั้นที่สุด พระดำรัสนั้นถูกบันทึกอยู่ในคัมภีร์ซึ่งถูกถ่ายทอดแบบมุตะวาติรและเป็นอิบาดะฮฺด้วยการอ่าน เริ่มต้นด้วยบทอัลฟาติหะฮฺ และจบลงด้วยบทอัน-นาส (อัล-อามิดีย์ ; อัลอิฮฺกาม 1/82) อัลกุรฺอานมี 114 บท (สูเราะฮฺ) และแบ่งออกเป็น 30 ภาค (ญุซอฺ) ถือเป็นแม่บทของกฎหมายอิสลาม และเป็นที่มาของบทบัญญัติและข้อบังคับต่าง ๆ ซึ่งสามารถแบ่งออกได้ดังนี้ คือ
  1. บรรดาหลักความเชื่อ
  2. บรรดาหลักจริยธรรม
  3. บรรดาหลักปฏิบัติ ซึ่งครอบคลุมทั้งหมวดการประกอบศาสนกิจ (อิบาดาตฺ) และหมวดปฏิสัมพันธ์ (มุอามะลาตฺ) โดยหมวดปฏิสัมพันธ์ (มุอามะลาต) นี้แบ่งออกเป็น หลักการครองเรือน, กฎหมายแพ่งและพาณิชย์, กฎหมายลักษณะอาญา, กฎหมายธรรมนูญการปกครอง, หลักวิธีพิจารณาคดีความทั้งแพ่งและอาญา หลักวิเทโศบายหรือกฎหมายระหว่างประเทศ และหลักเศรษฐศาสตร์และการคลัง เป็นต้น (ดร.วะฮฺบะฮฺ อัซซุฮัยลีย์ ; อุศูลุลฟิกฮฺ อัลอิสลามีย์ เล่มที่ 1 หน้า 432-439)
อัล–หะดีษ (อัส–สุนนะฮฺ) หมายถึง คำพูด การกระทำ และการยอมรับของท่านนบีมุฮัมมัด (صلى الله عليه وسلم) ซึ่งเป็นคำสอนของท่านที่ได้มีการจดจำ บันทึก ถ่ายทอดโดยผู้ใกล้ชิดและผู้เกี่ยวข้อง เพื่อใช้ยึดถือปฏิบัติสืบต่อกันมา อัล-หะดีษเป็นแม่บทของกฎหมายอิสลามในลำดับที่ 2 รองจากอัล-กุรอาน

อนึ่งนักกฎหมายอิสลามมักเรียกที่มาของกฎหมายอิสลามในลำดับที่ 2 นี้ว่า อัส-สุนนะฮฺ เนื่องจากมีนัยกว้างและครอบคลุมมากกว่าคำว่า อัล-หะดีษ โดยแบ่งประเภทของอัส-สุนนะฮฺ ออกเป็น 3 ประเภทใหญ่ ๆ คือ

  1. อัส-สุนนะฮฺที่เป็นคำพูด คือ บรรดาอัล-หะดีษที่ท่านนบี (صلى الله عليه وسلم) ได้กล่าวเอาไว้ในโอกาสและเป้าหมายต่าง ๆ อาทิเช่น หะดีษที่ว่า : “…..إنَّمَاالأَعْمَالُ بِالنِّيَّاتِ” (อันที่จริงการปฏิบัติทั้งหลายขึ้นอยู่กับการตั้งเจตนา” เป็นต้น
  2. อัส-สุนนะฮฺที่เป็นการกระทำ คือบรรดาการกระทำที่ท่านนบี (صلى الله عليه وسلم) ได้ปฏิบัติเอาไว้ อาทิเช่น การปฏิบัติละหมาด 5 เวลา, การประกอบพิธีฮัจญ์, การตัดสินคดีความโดยใช้พยานและการสาบาน เป็นต้น
  3. อัส-สุนนะฮฺที่เป็นการรับรอง คือ การที่ท่านนบี (صلى الله عليه وسلم) นิ่งเงียบจากการปฏิเสธหรือคัดค้านคำพูดหรือการกระทำที่เกิดขึ้นเบื้องหน้าท่านนบี (صلى الله عليه وسلم) หรือเกิดขึ้นในยุคสมัยของท่านและท่านรับรู้ถึงคำพูดหรือการกระทำนั้นโดยท่านนบี (صلى الله عليه وسلم) เห็นด้วยหรือแสดงความยินดีหรือถือว่าคำพูดหรือการกระทำที่เกิดขึ้นนั้นเป็นสิ่งที่ดีงาม เป็นต้น (อุศูลุลฟิกฮฺ อัลอิสลามีย์ เล่มที่ 1 หน้า 450)
ในส่วนของอัส-สุนนะฮฺที่เป็นการกระทำของท่านนบี (صلى الله عليه وسلم) นั้นนักวิชาการแบ่งออกเป็น 3 ชนิด คือ

  1. การกระทำต่าง ๆ อันเป็นอัธยาศัยของท่านนบี (صلى الله عليه وسلم) อาทิเช่น การยืน, การนั่ง, การรับประทานและการดื่ม เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ไม่มีข้อขัดแย้งว่าเป็นสิ่งที่อนุมัติสำหรับท่านนบี (صلى الله عليه وسلم) และสำหรับประชาชาติของท่าน แต่ไม่ถือเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องปฏิบัติในทัศนะของปวงปราชญ์
  2. การกระทำต่าง ๆ ซึ่งมีการยืนยันว่าเป็นกรณีเฉพาะของท่านนบี (صلى الله عليه وسلم) เท่านั้น อาทิเช่น การถือศีลอดติดต่อกัน การอนุญาตให้มีภรรยาได้มากกว่า 4 คนในคราวเดียวกัน เป็นต้น การกระทำต่าง ๆ ชนิดนี้เป็นกรณีพิเศษเฉพาะท่านนบี (صلى الله عليه وسلم) และไม่ต้องถือตาม
  3. การกระทำต่าง ๆ ที่นอกเหนือจาก 2 ประการแรก ซึ่งมีเป้าหมายในการวางข้อบัญญัติทางศาสนา การกระทำดังกล่าวเป็นสิ่งที่ถูกเรียกร้องให้มีการปฏิบัติตามโดยมีลักษณะแตกต่างกันไปว่าเป็นสิ่งที่จำเป็นหรือส่งเสริมหรืออนุญาต เป็นต้น (อ้างแล้ว เล่มที่ 1 หน้า 478)
อัล–อิจญ์มาอฺ หมายถึง การเห็นพ้องกันของบรรดานักปราชญ์ทางศาสนา (มุจญ์ตะฮิด) จากประชาชาติของท่านนบีมุฮัมมัด (صلى الله عليه وسلم) ในข้อบัญญัติทางศาสนาภายหลังการเสียชีวิตของท่านนบี (صلى الله عليه وسلم) ในยุคสมัยหนึ่งจากบรรดายุคสมัยต่าง ๆ (อ้างแล้ว เล่มที่ 1 หน้า 490)

อัล-อิจญ์มาอฺ มี 2 ชนิดคือ

  1. การเห็นพ้องโดยชัดเจน (อิจญ์มาอฺ-ซ่อรีฮฺ) คือ การที่บรรดานักปราชญ์ทางศาสนามีทัศนะความเห็นทั้งคำพูดและการกระทำพ้องกันต่อข้อชี้ขาดในประเด็นข้อปัญหาหนึ่งที่เจาะจงแน่นอน อาทิเช่น มีการร่วมชุมนุมของบรรดานักปราชญ์ในสถานที่แห่งหนึ่ง นักปราชญ์แต่ละคนได้นำเสนอความเห็นของตนอย่างชัดเจนในข้อปัญหานั้น ๆ และทัศนะของทุกคนก็พ้องกันต่อข้อชี้ขาดของปัญหานั้น หรือการที่มีนักปราชญ์ผู้หนึ่งตอบปัญหาศาสนาเอาไว้ด้วยทัศนะหนึ่ง แล้วปรากฏว่าการตอบปัญหาศาสนาจากนักปราชญ์ผู้อื่นพ้องตรงกันในข้อชี้ขาดนั้น ปวงปราชญ์ถือว่า อัล-อิจญ์มาอฺชนิดนี้เป็นหลักฐานทางศาสนา
  2. การเห็นพ้องโดยนิ่งเงียบ (อิจมาอฺ-สุกูตีย์) คือ การที่นักปราชญ์ทางศาสนาบางท่านในยุคสมัยหนึ่งได้กล่าวคำพูดเอาไว้ในประเด็นข้อปัญหาหนึ่ง และนักปราชญ์ผู้อื่นที่อยู่ร่วมสมัยนิ่งเงียบหลังจากที่รับรู้ถึงคำพูดนี้โดยไม่มีการปฏิเสธหรือคัดค้าน อัล-อิจญ์มาอฺชนิดนี้นักนิติศาสตร์มีความเห็นต่างกันในการถือเป็นหลักฐานทางศาสนา (อ้างแล้ว เล่มที่ 1 หน้า 552)
อัล–กิยาส หมายถึง การนำข้อปัญหาที่ไม่มีตัวบทระบุถึงข้อชี้ขาดทางศาสนาไปเปรียบเทียบกับข้อปัญหาที่มีตัวบทระบุถึงข้อชี้ขาดทางศาสนาเอาไว้แล้ว เนื่องจากทั้ง 2 ข้อปัญหานั้นมีเหตุผลในข้อชี้ขาดร่วมกัน (มิรอาตุ้ลอุศูล 2/275)

องค์ประกอบหลักของอัล-กิยาสมี 4 ประการคือ
  1. หลักมูลฐาน (อัล-อัศลุ้) หมายถึง ตำแหน่งของข้อชี้ขาดซึ่งได้รับการยืนยันด้วยตัวบทหรืออัล-อิจญ์มาอฺ หรือหมายถึง ตัวบทที่บ่งชี้ถึงข้อชี้ขาดนั้น
  2. ข้อปลีกย่อย (อัล-ฟัรอุ้) คือตำแหน่งที่ไม่มีตัวบทหรืออิจญ์มาอฺระบุข้อชี้ขาดเอาไว้
  3. คุณลักษณะร่วมกันระหว่างหลักมูลฐาน (อัล-อัศลุ้) และข้อปลีกย่อย (อัลฟัรอุ้) คือเหตุผล (อัล-อิลละฮฺ)
  4. ข้อชี้ขาดของหลักมูลฐาน (ฮุกมุ้-อัลอิศฺล์)

ตัวอย่าง


ข้อชี้ขาดของไวน์คือเป็นที่ต้องห้าม (หะรอม) เนื่องจากข้อชี้ขาดของไวน์ไม่มีตัวบทระบุชี้ชัดเอาไว้ ไวน์จึงเป็นข้อปลีกย่อย (อัล-ฟัรอุ้) ในขณะที่สุรามีตัวบทบ่งชี้อย่างชัดเจนว่าเป็นสิ่งต้องห้าม (หะรอม) สุราจึงเป็นหลักมูลฐาน (อัล-อัศลุ้) เหตุผลที่สุราเป็นที่ต้องห้ามก็คือการทำให้มึนเมา, การทำให้มึนเมานี้จึงถือเป็นเหตุผล (อัล-อิลละฮฺ) อันเป็นคุณลักษณะร่วมกันระหว่างสุราและไวน์ จึงได้ข้อชี้ขาดว่า ไวน์เป็นสิ่งต้องห้าม (หะรอม) ตามข้อชี้ขาดของสุรานั่นเอง ซึ่งข้อชี้ขาดนี้เกิดจากการใช้หลักอัลกิยาส

หลักฐานที่บ่งชี้ว่า ที่มาทั้ง 4 ประการของกฎหมายอิสลามเป็นหลักฐานทางศาสนาคือ หะดีษที่มีรายงานมาว่า “ท่านรสูลฯได้กล่าวแก่มุอาซ บุตรญะบัล ขณะที่จะส่งเขาไปยังเมืองยะมันว่า : หากมีคดีความเกิดขึ้นท่านจะตัดสินอย่างไร? มุอาซตอบว่า : “ฉันจะตัดสินด้วยคัมภีร์ของอัลลอฮฺ” ท่านรสูลฯ กล่าวว่า : หากท่านไม่พบ (ข้อชี้ขาด) ในคัมภีร์ของอัลลอฮฺ ท่านจะตัดสินอย่างไร? มุอาซตอบว่า : “ฉันจะตัดสินด้วยสุนนะฮฺของศาสนทูตแห่งอัลลอฮฺ” ท่านรสูลฯ กล่าวว่า “หากท่านไม่พบในสุนนะฮฺของศาสนทูตแห่งอัลลอฮฺฯ ท่านจะตัดสินอย่างไร? มุอาซตอบว่า : “ฉันจะวินิจฉัยด้วยความเห็นของฉันโดยฉันจะไม่บกพร่องเลย” ท่านรสูลฯได้จับอกของท่านมุอาซแล้วกล่าวว่า : “การสรรเสริญทั้งมวลเป็นสิทธิแด่อัลลอฮฺ พระผู้ทรงเอื้ออำนวยให้ทูตของศาสนทูตแห่งอัลลอฮฺมีความคิดสอดคล้องกับสิ่งที่ศาสนทูตแห่งอัลลอฮฺพึงพอใจ” (รายงานโดยอะฮฺหมัด, อบูดาวูด, อัตติรมีซีย์, อิบนุอะดีย์, อัฏฏอบรอนีย์, อัดดารีมีย์และอัลบัยฮะกีย์เป็นหะดีษมุรสัล)

ความเป็นมาและพัฒนาการของกฎหมายอิสลาม


นักวิชาการได้แบ่งช่วงเวลาที่กฎหมายอิสลามได้มีการเปลี่ยนผ่านและพัฒนาการออกเป็น 4 ช่วงเวลาด้วยกัน
ดังนี้

(1) ช่วงเวลาแห่งการเริ่มต้น ซึ่งครอบคลุมยุคสมัยของท่านนบี (صلى الله عليه وسلم) โดยเริ่มต้นนับแต่การประกาศศาสนาอิสลาม (ค.ศ.610) และสิ้นสุดลงด้วยการเสียชีวิตของท่านนบี (صلى الله عليه وسلم) (ฮ.ศ.11/ค.ศ.636)

ในช่วงเวลาดังกล่าว สาส์นแห่งอิสลามมิได้จำกัดอยู่เฉพาะด้านการชี้นำทางจิตวิญญาณ, จริยธรรมและการประกอบศาสนกิจเท่านั้นแต่ยังได้จัดระเบียบกิจกรรมของมนุษย์ในด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตในโลกนี้อีกด้วย ด้วยเหตุนี้ศาสนาอิสลามจึงได้ยกเลิกขนบธรรมเนียมและประเพณีของชาวอาหรับบางส่วนในด้านการครองเรือน การมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างปัจเจกบุคคลและความสัมพันธ์ระหว่างรัฐต่อรัฐ

ที่มาของกฎหมายอิสลามในช่วงแรกนี้จำกัดอยู่ใน 2 ประการคือ คัมภีร์อัลกุรฺอาน และสุนนะฮฺ ทั้ง 2 ประการนี้ได้วางรากฐานสำหรับกฎหมายอิสลามในรูปของหลักมูลฐานต่าง ๆ โดยทั่วไปตลอดจนกฎเกณฑ์พื้นฐานต่าง ๆ และจากหลักมูลฐานและกฎเกณฑ์พื้นฐานดังกล่าว นักปราชญ์ทางศาสนาก็ได้วิเคราะห์หลักการที่มีรายละเอียดซึ่งจะกลายเป็นประมวลหลักนิติธรรมอิสลามในยุคต่อมาไม่ว่าจะเป็นรายละเอียดในการจัดระเบียบทางสังคม, เศรษฐกิจ, ระบอบรัฐศาสตร์ หลักการในการประกอบศาสนกิจและการมีปฏิสัมพันธ์ในรูปธุรกรรมต่าง ๆ

และในช่วงแรกนี้ สามารถแบ่งเป็น 2 ระยะคือ

1) ระยะเวลาเกือบ 13 ปี ณ นครมักกะฮฺ ซึ่งชาวมุสลิมเป็นชนส่วนน้อยในนครมักกะฮฺ มีความอ่อนแอและถูกกดขี่ มุสลิมมิได้มีส่วนร่วมในการปกครองรัฐมักกะฮฺซึ่งมีชนชั้นปกครองที่เป็นพวกตั้งภาคี เหตุนี้โองการต่าง ๆ ในคัมภีร์อัลกุรฺอานที่เรียกกันว่าโองการมักกียะฮฺตลอดจนบรรดาหะดีษของท่านนบี (صلى الله عليه وسلم) จึงมิได้กล่าวถึงการจัดระเบียบการปกครองและหลักการที่ว่าด้วยธุรกรรมต่าง ๆ ยกเว้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

หากแต่ได้เน้นในการอธิบายถึงหลักการยึดมั่นและหลักศรัทธาของศาสนาและเรียกร้องเชิญชวนสู่การให้เอกภาพต่อพระองค์อัลลอฮฺ (سبحا نه وتعالي) การขัดเกลาจิตใจและวิพากษ์ความเชื่อของพลเมืองมักกะฮฺที่ยึดติดกับการตั้งภาคีและขนบธรรมเนียมประเพณีที่มีบ่อเกิดจากอวิชชา ส่วนการประกอบศาสนกิจในระยะแรกที่มีบัญญัติเอาไว้ก็คือเรื่องการละหมาดเท่านั้น

2) ระยะเวลาราว 10 ปีในนครม่าดีนะฮฺ ซึ่งเริ่มต้นภายหลังการอพยพ (ฮิจเราะฮฺ) ของท่านนบี (صلى الله عليه وسلم) และเหล่าสาวกจากนครมักกะฮฺสู่นครมาดีนะฮฺ โดยชาวมุสลิมได้สถาปนารัฐอิสลามขึ้น ณ นครม่าดีนะฮฺและมีโครงสร้างของรัฐอันประกอบด้วยพลเมือง คือ ผู้อพยพที่เรียกว่า มุฮาญิรูนและชาวเมืองม่าดีนะฮฺที่เรียกว่า อันศ๊อร ตลอดจนชาวยิวและชนอาหรับกลุ่มอื่น ๆ มีดินแดนคือ นครม่าดีนะฮฺและเขตปริมณฑล และมีระบอบการปกครองทางรัฐศาสตร์และการเมือง ซึ่งอำนาจนิติบัญญัติ, อำนาจการบริหาร และอำนาจทางตุลาการรวมอยู่ในประมุขสูงสุดของรัฐ คือท่านนบีมุฮัมมัด (صلى الله عليه وسلم)

ทั้งนี้ท่านนบี (صلى الله عليه وسلم) ได้มีพันธสัญญาที่เรียกว่า อัศศ่อฮีฟะฮฺ ซึ่งเป็นปฏิญญาที่พลเมืองของม่าดีนะฮฺยอมรับร่วมกันทุกฝ่ายโดยมีสถานะเฉกเช่น รัฐธรรมนูญ ตามคำนิยามของนักวิชาการร่วมสมัย ในระยะที่ 2 นี้เองประมวลกฎหมายอิสลามที่เป็นแม่บทในด้านต่าง ๆ ทั้งที่เกี่ยวกับการศาสนาและทางโลกได้ถูกกำหนดวางอย่างเป็นกิจจะลักษณะและมีความครบถ้วนสมบูรณ์

(2) ช่วงเวลาแห่งการวางหลักมูลฐานของกฎหมายอิสลาม ซึ่งเริ่มต้นนับแต่การสิ้นชีวิตของท่านนบี (صلى الله عليه وسلم) จนถึงการล่มสลายของอาณาจักรอัลอุม่าวียะฮฺ (ฮ.ศ.132/ค.ศ.750) ทางด้านการเมืองนั้นครอบคลุมยุคสมัยของบรรดาค่อลีฟะฮฺผู้ทรงธรรม (ฮ.ศ.11-41/ค.ศ.632-661) และยุคของอาณาจักรอัลอุม่าวียะฮฺ (ฮ.ศ.41-132/ค.ศ.661-750)

ส่วนทางด้านกฎหมายอิสลามนั้นรวมเอาสมัยของเหล่าสาวก, ชนรุ่นตาบิอีนและตาบิอิตตาบิอีนซึ่งเรียกรวม ๆ ว่ายุคสะลัฟ ซอลิฮฺ ในช่วงเวลาที่ 2 นี้มีการพัฒนาทางสังคม, เศรษฐกิจ, ความคิดและการเมืองที่ส่งผลต่อพัฒนาการของกฎหมายอิสลาม และมีการวิเคราะห์อย่างทุ่มเททางสติปัญญาที่เรียกว่า “อิจญ์ติฮาด” ปรากฏขึ้นอันนำไปสู่การปรากฏขึ้นของหลักฐานในการชี้ขาด 2 ประการ คือ อัล-อิจญ์มาอฺและอัล-กิยาส ตลอดจนระบอบการปกครองแบบคิลาฟะฮฺก็ปรากฏชัดในฐานะระบอบการปกครองทางรัฐศาสตร์อิสลามอีกด้วย

ส่วนหนึ่งจากพัฒนาการที่เด่นชัดในช่วงเวลานี้คือ

  1. ศาสนาอิสลามแผ่ปกคลุมดินแดนของรัฐอิสลามที่มีอาณาเขตทางทิศตะวันออกจรดประเทศจีน มหาสมุทรอินเดีย และเขตตอนกลางของแอฟริกาทางทิศใต้ จรดมหาสมุทรแอตแลนติกทางทิศตะวันตก และมีอาณาเขตทางตอนเหนือครอบคลุมทะเลสาบแคสเปียน, ทะเลดำ และหมู่เกาะในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนถึงภาคใต้ของฝรั่งเศสและคาบสมุทรไอบีเรีย (สเปน)
  2. ภาษาอาหรับมีความแพร่หลายและกลายเป็นภาษาทางราชการและวิชาการในศาสตร์แขนงต่าง ๆ
  3. มีความตื่นตัวในการแปลตำรับตำราจากภาษาอื่น ๆ เป็นภาษาอาหรับและมีการสร้างผลงานทางวิชาการในศาสตร์แขนงต่าง ๆ
  4. บรรดาสาวกและชนรุ่นตาบิอีนได้กระจายไปตั้งหลักแหล่งในหัวเมืองต่าง ๆ ที่ถูกพิชิตนับแต่ยุคของค่อลีฟะฮฺ อุษมาน (ร.ฎ.) อันเป็นผลทำให้เกิดเมืองแห่งวิชาการตามมา อาทิเช่น เมืองกูฟะฮฺ, เมืองบัศเราะฮฺ, เมืองฟุสฏ็อฏ และนครแบกแดด เป็นต้น
  5. เกิดกลุ่มสำนักทางความคิดหลากหลาย อาทิเช่น กลุ่มอัล-คอวาริจญ์, กลุ่มชีอะฮฺ, กลุ่มมุรญิอะฮฺและกลุ่มมุอฺตะซิละฮฺ เป็นต้น

(3) ช่วงของความสุกงอมและความสมบูรณ์
ซึ่งเริ่มต้นนับแต่การสถาปนาอาณาจักรอัลอับบาซียะฮฺ (ฮ.ศ.132/ค.ศ.750) และสิ้นสุดลงด้วยการปิดประตูแห่งการอิจญ์ติฮาดในตอนปลายศตวรรษที่ 4 แห่งฮิจเราะฮฺศักราช อันนับเป็นยุคทองของกฎหมายอิสลาม ในช่วงนี้มีการรวบรวมและจดบันทึกหะดีษของท่านนบี (صلى الله عليه وسلم) และกฎหมายอิสลาม ตลอดจนมีการปรากฏขึ้นของบรรดาสำนักกฎหมายอิสลามซึ่งเรียกว่า “มัซฮับ” อันได้แก่

  1. มัซฮับฮะนะฟีย์ อ้างถึงอิหม่ามอบูฮะนีฟะฮฺ อันนุอฺมาน อิบนุ ซาบิต (ฮ.ศ.70-150) ซึ่งเป็นสำนักกฎหมายอิสลามที่เปิดกว้างในด้านการใช้ทัศนะและหลักของเหตุผลในการวิเคราะห์ตัวบททางศาสนา
  2. มัซฮับมาลิกีย์ อ้างถึงอิหม่ามมาลิก อิบนุ อะนัส อิบนิ อบีอามิร (ฮ.ศ.95-179) ซึ่งเป็นนักปราชญ์แห่งนครม่าดีนะฮฺในแคว้นอัล-ฮิญาซฺและเป็นนักวิชาการสายหะดีษ
  3. มัซฮับชาฟิอีย์ อ้างถึงอิหม่ามอบูอับดิลลาฮฺ มุฮัมมัด อิบนุ อิดรีส อัชชาฟิอีย์ (ฮ.ศ.150-204) มัซฮับชาฟิอีย์มีแนวทางสายกลางที่รอมชอมระหว่างการใช้ทัศนะและการยึดถือตัวบท
  4. มัซฮับฮัมบะลีย์ อ้างถึง อิหม่ามอะฮฺหมัด อิบนุ ฮัมบัล อัชชัยบานีย์ (ฮ.ศ.164-241) เป็นสำนักกฎหมายอิสลามที่ยึดถือตัวบทอย่างเคร่งครัดและไม่ยอมรับการใช้ทัศนะเหมือนอย่างมัซฮับฮะนะฟีย์

มัซฮับฮะนะฟีย์ เป็นที่นิยมแพร่หลายในกลุ่มประเทศที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรอุษมานียะฮฺแห่งตุรกีตลอดจนกลุ่มประเทศมุสลิมในเอเชียกลางและเอเชียใต้ ส่วนมัซฮับมาลิกีย์นั้นเป็นที่นิยมในหมู่พลเมืองในแอฟริกา ทั้งแอฟริกาเหนือ แอฟริกาตะวันออกและตะวันตก ในขณะที่มัซฮับชาฟิอีย์ เป็นที่นิยมของพลเมืองมุสลิมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เยเมน และอียิปต์ เป็นต้น ส่วนมัซฮับฮัมบะลีย์นั้นถือเป็นมัซฮับอย่างเป็นทางการในประเทศซาอุดิอาระเบียและมีผู้นิยมน้อยที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับมัซฮับอื่น ๆ

(4) ช่วงของการถือตาม (อัต-ตักลีด) ซึ่งเริ่มต้นนับแต่การปิดประตูแห่งการอิจญ์ติฮาด ในตอนปลายศตวรรษที่ 4 แห่งฮิจเราะฮฺศักราช และดำเนินเรื่อยมาจวบจนทุกวันนี้ ในด้านการเมือง โลกอิสลามในช่วงที่ 4 นี้แตกออกเป็นรัฐเล็กรัฐน้อย มีกลุ่มชาติพันธุ์มุสลิมที่มิใช่อาหรับเข้ามามีอำนาจผลัดเปลี่ยนกัน อาทิเช่น ชาวเติร์ก (ตุรกี), ชาวเปอร์เซีย (อิหร่าน) เป็นต้น

และเนื่องจากมุสลิมขาดความสามัคคีและเอกภาพทำให้ดินแดนของชาวมุสลิมตกอยู่ใต้อาณัติของกลุ่มประเทศตะวันตกที่ล่าเมืองขึ้น โดยเฉพาะภายหลังการล่มสลายของอาณาจักรอุษมานียะฮฺ แห่งตุรกี ที่มีการประกาศยกเลิกระบอบการปกครองแบบคิลาฟะฮฺในปีค.ศ.1924

ผลจากการล่าเมืองขึ้นของกลุ่มประเทศตะวันตก กฎหมายอิสลามโดยส่วนใหญ่ได้ถูกยกเลิกและมีการนำกฎหมายตะวันตกเข้ามาใช้ทดแทนจวบจนในช่วงหลังมานี้ ได้มีการเรียกร้องให้กลุ่มประเทศมุสลิมที่ได้รับเอกราชจากกลุ่มประเทศตะวันตกเริ่มหันมาให้ความสำคัญในการฟื้นฟูกฎหมายอิสลามและนำเอากฎหมายอิสลามมาบังคับใช้อีกครั้ง ซึ่งกระแสการเรียกร้องดังกล่าวได้เริ่มขึ้นนับแต่ช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา


ความสำคัญของกฎหมายอิสลาม


กฎหมายอิสลามมีอัล-กุรอานและอัล-หะดีษเป็นแม่บทที่สมบูรณ์ครบถ้วน และเป็นธรรมนูญในการดำเนินชีวิตของมุสลิม โดยประมวลกฎหมายอิสลามได้กำหนดภารกิจของมนุษย์ที่มีต่อพระองค์อัลลอฮฺ (سبحا نه وتعالي) หน้าที่ต่อตัวเองและหน้าที่ต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน และมีเป้าหมายในการพิทักษ์คุ้มครองสิ่งสำคัญ 5 ประการ คือ (1) ศาสนา (2) ชีวิต (3) สติปัญญา (4) เชื้อสายโลหิต และ (5) ทรัพย์สิน

หากเราพิจารณากฎหมายอิสลามอย่างกว้าง ๆ ในแง่ความสำคัญแล้วพอจะกล่าวได้ดังนี้ คือ

  1. กฎหมายอิสลามเป็นธรรมนูญแห่งชีวิตที่มุสลิมทุกคนจำต้องยึดถือปฏิบัติโดยเคร่งครัด ทั้งนี้การปฏิบัติตามกฎหมายอิสลามมีผลทำให้ปัจเจกบุคคลมีความเป็นปกติสุขและทำให้สังคมโดยรวมเกิดความสันติสุข
  2. กฎหมายอิสลามได้กำหนดสิทธิและหน้าที่ส่วนบุคคลและสิทธิประโยชน์ส่วนรวมเอาไว้อย่างมีดุลยภาพและครบถ้วน ชัดเจน มีความเป็นธรรมและสมเหตุสมผล ยืดหยุ่นและเหมาะสมกับทุกยุคทุกสมัย
  3. กฎหมายอิสลามได้จัดระเบียบสังคมทุกระดับโดยเป็นไปตามครรลองที่ถูกต้องและเป็นธรรมทั้งในด้านสังคม, เศรษฐกิจ, การเมือง และการปกครองและมุ่งพิทักษ์รักษาผลประโยชน์ของทุกฝ่าย

แหล่งที่มา : http://alisuasaming.org/


#นิติศาสตร์อิสลาม_Islamic_Society_Online
Islamic Society Online



read more "กฎหมายอิสลามเบื้องต้น : ความเป็นมาและความสำคัญของกฎหมายอิสลาม"

วันศุกร์ที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2560

คลิปพบกุรอานเก่าแก่ที่สุดในโลก ยุคท่านนบี(ซล.) คาดมีอายุไม่น้อยกว่า 1,370 ปี

คลิปพบกุรอานเก่าแก่ที่สุดในโลก ยุคท่านนบี(ซล.) คาดมีอายุไม่น้อยกว่า 1,370 ปี




A Quran manuscript held at the University of Birmingham represents one of the oldest pieces of textual evidence of the Islamic holy book, according to radiocarbon analyses done by scientists. Photo: Cadbury Research Library, University of Birmingham




Subscribe to the WSJ channel here:
http://bit.ly/14Q81Xy

Visit the WSJ channel for more video:
https://www.youtube.com/wsjdigitalnet...
More from the Wall Street Journal:
Visit WSJ.com: http://online.wsj.com/home-page

Follow WSJ on Facebook:
http://www.facebook.com/wsjlive
Follow WSJ on Google+: https://plus.google.com/+wsj/posts
Follow WSJ on Twitter: https://twitter.com/WSJLive
Follow WSJ on Instagram: http://instagram.com/wsj
Follow WSJ on Pinterest: http://www.pinterest.com/wsj/
Follow WSJ on Tumblr: http://www.tumblr.com/tagged/wall-str


ที่มา : http://vdo.muslimthaipost.com/clip/2100/



#Quran_Islamic_Society_Online
Islamic Society Online



read more "คลิปพบกุรอานเก่าแก่ที่สุดในโลก ยุคท่านนบี(ซล.) คาดมีอายุไม่น้อยกว่า 1,370 ปี"

วันจันทร์ที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2560

โรคที่น้ำผึ้งไม่อาจรักษาได้

โรคที่น้ำผึ้งไม่อาจรักษาได้





ในตอนเป็นเด็ก ผมรู้จากหนังสือประวัติศาสตร์บางเล่มว่าสมัยโบราณ เมื่อมีการตัดหัวนักโทษหรือกบฏส่งไปให้เจ้าเมือง หัวของนักโทษจะถูกดองในน้ำผึ้งก่อนจะส่งไปเพราะหากไม่ดองไว้ในน้ำผึ้ง เนื้อหนังก็จะเน่าจนจำไม่ได้ว่าเป็นหัวของใคร แต่หัวที่ถูกดองในน้ำผึ้งจะไม่เน่า

ผมอ่านเรื่องราวดังกล่าวแล้วก็ไม่ได้คิดอะไร เพราะในสมัยก่อนไม่มีน้ำยาดองศพเหมือนปัจจุบัน ดังนั้น คนสมัยก่อนจึงอาศัยภูมิปัญญาพื้นบ้านที่ได้มาจากการสังเกตและการปฏิบัติครั้งแล้วครั้งเล่าของบรรพบุรุษ

ครั้งหนึ่ง ผมเกิดอาการท้องเสียอย่างแรงระหว่างขับรถเดินทางไปต่างจังหวัด ต้องแวะเข้าส้วมตามปั๊มน้ำมันตลอดทาง การถ่ายอุจจาระบ่อยๆทำให้เกิดอาการอ่อนเพลียเพราะร่างกายเสียน้ำมาก ผมจึงแวะไปที่บ้านเพื่อน เมื่อไปถึงและเล่าอาการให้เพื่อนฟัง เพื่อนของผมจึงเอาน้ำผึ้งมาให้กิน หลังจากกินเข้าไปสองช้อน สักพักหนึ่งอาการท้องเสียของผมก็หายเป็นปลิดทิ้ง

ตอนกินน้ำผึ้งทีแรกนั้น ผมกินเพื่อต้องการชดเชยพลังงานที่เสียไป ผมรู้มาจากประสบการณ์ว่าเวลาอ่อนเพลียหรือสูญเสียพลังงาน ถ้าได้กินของหวานๆเข้าไปก็จะช่วยให้หายเพลียได้ เพราะของหวานนั้นมาจากน้ำตาลซึ่งเป็นสารที่ให้พลังงาน น้ำผึ้งก็มีน้ำตาลอยู่ มันจึงช่วยได้เช่นกัน แต่ที่น้ำผึ้งมีมากกว่าน้ำตาลทั่วไปก็คือน้ำผึ้งมีน้ำตาลฟรักโตสที่สามารถซึมเข้าสู่กระเพาะได้เลยโดยไม่ต้องย่อย ซึ่งทำให้ร่างกายกระปรี้กระเปร่าได้เร็วขึ้น

หลังจากนั้น ผมก็มารู้จากสารคดีทางโทรทัศน์ว่าการที่น้ำผึ้งมีส่วนช่วยในการรักษาโรคท้องเสียนั้นก็เพราะโรคท้องเสียเกิดจากเชื้อแบกทีเรียบางชนิดที่เข้าไปแพร่ขยายในกระเพาะอาหารของมนุษย์ แต่เมื่อกินน้ำผึ้งเข้าไป ความเข้มข้นของน้ำผึ้งจะไปดึงน้ำออกจากตัวแบกทีเรียและทำให้แบกทีเรียตาย ผมจึงมาถึงบางอ้อทันทีว่าทำไมคนสมัยก่อนถึงดองหัวนักโทษไว้ในน้ำผึ้ง เพราะถ้าปราศจากแบกทีเรีย การเน่าเสียก็จะช้าลงนั่นเอง มิน่าเล่า ผลไม้ที่แช่น้ำผึ้งจึงเก็บไว้ได้นาน

ผมยังมารู้เอาทีหลังอีกว่าหากมีบาดแผลเกิดขึ้น ถ้าล้างบาดแผลให้สะอาดแล้วใช้น้ำผึ้งทาที่บาดแผล น้ำผึ้งจะช่วยฆ่าเชื้อแบกทีเรียและทำให้แผลไม่เกิดอาการอักเสบ

เมื่อเกิดอาการไอเพราะระคายคอหรือคอแห้ง แม่ของผมจะเทน้ำผึ้งใส่ช้อนแล้วเอายาหอมห้าเจดีย์ที่กินแก้เป็นลมผสมลงไปแล้วใช้นิ้วคนผสมให้เข้ากัน หลังจากนั้นก็ส่งและสั่งให้ผมกินเข้าไป ที่แม่ต้องสั่งให้ผมกินน้ำผึ้งผสมยาหอมก็เพราะผมอิดเอื้อนที่จะกินเพราะไม่แน่ใจในสูตรยาของแม่ แต่เมื่อรู้ว่าแม่คือผู้ที่รักและปรารถนาดีที่สุดต่อเรามากกว่าใครในโลกนี้ ผมจึงกลืนสูตรยาโบราณที่มีส่วนผสมน้ำผึ้งของแม่เข้าไปตามคำสั่ง ปรากฏว่าชุ่มคอดีและบรรเทาอาการไอได้ไม่แพ้ยาแก้ไอชวนป๋วยเป่าปี่กัน (จริงๆแล้วยานี้มีชื่อว่าชวนป๋วยปี่แป่กอ)

หรือถ้าใครไม่ชอบกลิ่นยาลม ลองชงน้ำมะนาวอุ่นๆแล้วเติมน้ำผึ้งลงไปสักช้อน คนให้เข้ากันแล้วจิบขณะที่ยังอุ่นๆก็ช่วยบรรเทาอาการคอแห้งหรือระคายคอได้ไม่เลวทีเดียว

คนแก่บางคนคุยถึงสรรพคุณกล้วยน้ำว้าดองน้ำผึ้งให้ผมฟังว่าถ้ากินก่อนนอนจะทำให้แข็งแรงปึ๋งปั๋งคิกคาปู้อะไรทำนองนั้น ผมก็ฟังไว้ ไม่ขัดคอหรือขัดใจคนแก่แต่ประการใด แต่ตอนนั้นผมยังหนุ่มอยู่ จึงไม่จำเป็นต้องลอง แต่ที่แน่ๆก็คือหากก่อนนอนได้กินกล้วยน้ำว้าสักลูกสองลูกและกินน้ำผึ้งสักหนึ่งช้อนโต๊ะ ตื่นเช้ามาเข้าห้องส้วมขับถ่ายสะดวกสบายเหมือนเลี้ยวซ้ายผ่านตลอดเลย อาการนี้หรือเปล่าที่คนแก่คนเฒ่าเรียกว่าปึ๋งปั๋งคิกคาปู้

ผึ้งและน้ำผึ้งเป็นสิ่งมหัศจรรย์อย่างหนึ่ง ถ้าน้ำผึ้งเป็นยา ผึ้งก็เป็นเภสัชกรตามธรรมชาติ มันถูกสร้างขึ้นมาเพื่อยืนยันคำพูดของท่านนบีมุฮัมมัดที่ว่า“ทุกโรคนั้นมียารักษา” ในอดีต ขณะที่มนุษย์ยังไม่รู้จักวิชาเคมีที่เป็นพื้นฐานของการปรุงยา ผึ้งได้ทำหน้าที่เป็นเภสัชกรผลิตยาให้แก่มนุษย์ ดังนั้น ผึ้งจึงเป็นหลักฐานอย่างหนึ่งที่แสดงถึงความเมตตาของอัลลอฮฺที่ทรงมีต่อมวลมนุษย์

คัมภีร์กุรอานได้กล่าวถึงผึ้งและน้ำผึ้งไว้ว่า :- 


“พระผู้อภิบาลของสูเจ้าได้ทรงบัญชาแก่ผึ้งว่า “จงสร้างรังของพวกเจ้าตามภูเขา ต้นไม้และร้านที่ก่อขึ้น แล้วจงดื่มน้ำหวานจากพืชผลทุกชนิดและปฏิบัติตามทางที่พระผู้อภิบาลของพวกเจ้าได้ทำไว้ให้ราบรื่น” จากท้องของมันจะมีของเหลวหลากกลิ่นสีออกมาซึ่งในนั้นเป็นสิ่งบำบัดโรคสำหรับมนุษย์ แท้จริงแล้ว นี่เป็นสัญญาณสำหรับหมู่ชนที่ไตร่ตรอง” (กุรอาน 16:68-69)


ความหมายจากคัมภีร์กุรอานดังกล่าวต้องการที่จะบอกให้มนุษย์ได้รู้ว่าผึ้งและน้ำผึ้งเป็นสัญญาณและหลักฐานที่แสดงถึงการมีอยู่ของพระเจ้า พระองค์ไม่ทรงแต่เพียงสร้างผึ้งขึ้นมาเท่านั้น แต่ยังได้สอนมันให้รู้จักทำรัง ทุกวันนี้ ผึ้งจึงสร้างรังอย่างมหัศจรรย์โดยที่ปากทางเข้ารังของมันมีลักษณะเป็นหกเหลี่ยมที่แต่ละด้านมีความยาวเท่ากันโดยที่มันไม่เคยเรียนวิชาสถาปัตย์ นอกจากนี้แล้ว พระองค์ยังสั่งให้มันดื่มน้ำหวานจากเกสรดอกไม้ของพืชผลทุกชนิดซึ่งทำให้น้ำผึ้งมีกลิ่นและสรรพคุณทางยาต่างกัน

ใครที่กินน้ำผึ้งแล้วไม่นึกถึงความเมตตาของพระเจ้าก็เท่ากับคนผู้นั้นไม่มีสติปัญญาแม้จะมีสมองก็ตาม อาการเช่นนี้เรียกว่า “โง่” ซึ่งน้ำผึ้งไม่สามารถรักษาได้


เขียนโดย : บรรจง บินกาซัน


#สารพันบทความ_Islamic_Society_Online
Islamic Society Online



read more "โรคที่น้ำผึ้งไม่อาจรักษาได้"

วันศุกร์ที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2560

โนรูซ มรดกแห่งศาสนาบูชาไฟ

โนรูซ มรดกแห่งศาสนาบูชาไฟ


โนรูซ หรือวันขึ้นปีใหม่ของอิหร่าน (ภาษาฟารซี: نوروز แปลว่า วัน(ปี)ใหม่) จะตรงกับวันที่ 20, 21 หรือ 22 มีนาคมในแต่ละปี โดยยึดถือวสันตวิษุวัติเป็นหลักในการนับวันปีใหม่ ประเพณีการฉลองวันขึ้นปีใหม่ มีมาตั้งแต่สมัยที่ชาวเปอร์เซียเริ่มนับถือศาสนาโซโรอัสเตอร์ (บูชาไฟ) เมื่อราวสามพันปีก่อน ถึงแม้ว่าศาสนาอิสลามจะได้แผ่ขยายเข้าไปในเปอร์เซีย ชาวอิหร่านก็ยังไม่ได้ละทิ้งประเพณีการเฉลิมฉลองวันปีใหม่ แม้ว่าพวกเขาจะเข้ารับนับถือศาสนาอิสลามมาเป็นเวลานานเกือบ 14 ศตวรรษก็ตาม

การเฉลิมฉลองวันปีใหม่ของชาวเปอร์เซีย เริ่มต้นด้วยการกระโดดข้ามไฟ เรียกว่าพิธีซูรี ในตอนเย็นของวันอังคาร ก่อนที่วันปีใหม่จะมาถึง โดยมีความเชื่องมงายว่า จะทำให้จิตวิญญาณบริสุทธิ์สะอาด นอกจากนี้ยังจัดโต๊ะ ซึ่งเหมือนโต๊ะบูชา โดยมีข้าวของ 7 อย่างที่มีชื่อเริ่มต้นด้วยตัวอักษร ซีน (ซ) โดยมีความเชื่อว่าเป็นสิ่งมงคล และตั้งคัมภีร์หนึ่งเล่ม อาจจะเป็นอัลกุรอาน หรือคัมภีร์อื่น ๆ ตามที่ตนนับถือ

นอกจากนี้ยังมีการตั้งกระจก และเอาเทียนตั้งหน้ากระจกให้แสงสะท้อน ซึ่งก็มีเค้ามาจากการบูชาไฟของพวกโซโรอัสเตอร์

หลังจากนั้นอีก 13 วัน ก็จะมีการเฉลิมฉลองวันที่ 13 อีกครั้ง โดยจะพากันออกไปปิกนิกในสวนสาธารณะ หรือในป่าเขาลำเนาไพร และจะเน้นความรื่นเริง และเล่าเรื่องตลก ซึ่งยังรวมถึงการโกหกหลอกเพื่อนฝูง เหมือนกับประเพณีของฝรั่งในวันที่ 1 เมษายน

ประเพณีการเฉลิมฉลองวันปีใหม่ขัดกับหลักชะรีอะฮฺของอิสลามอย่างรุนแรง ถึงกระนั้นก็ตามบรรดาอุละมาอ์ของอิหร่านกลับไม่มีใครต่อต้าน หรือรณรงค์เพื่อยกเลิก นอกจากนี้ยังมีการกำหนดบทบัญญัติให้ถือศีลอด ให้อาบน้ำ และอ่านดุอาอ์โดยเฉพาะ โดยอ้างว่ามีหลักฐานว่าอิมามอะฮฺลุลเบตบางคนเคยทำ ซึ่งดูเหมือนจะเป็นการพยายามให้ประเพณีของเปอร์เซียสอดคล้องกับอิสลาม ซึ่งหากไตร่ตรองให้ชัดก็จะเห็นว่า เป็นการอุตริขึ้นมาอย่างเห็นได้ชัด


วิหารบูชาไฟในอิหร่าน สร้างมาศตวรรษที่ห้าก่อนคริสตกาล ยังมีอยู่ในอิหร่านในเวลาปัจจุบัน

หมายเหตุ

วิษุวัต (equinox) เป็นคำศัพท์ทางดาราศาสตร์ หมายถึงช่วงในขณะที่ดวงอาทิตย์อยู่ในตำแหน่งตรงได้ฉากกับเส้นศูนย์สูตรของโลกพอดี ซึ่งจะเกิดขึ้นปีละ 2 ครั้ง หรือในหนึ่งรอบที่โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ แกนของโลกจะเอนกลับไปมาได้ฉากกับตำแหน่งดวงอาทิตย์ เหตุการณ์นี้เรียกอีกอย่างว่า “วันราตรีเสมอภาค” หมายถึงเวลาตอนกลางคืนเท่ากับเวลากลางวันพอดี

ใน 1 ปีมี 2 วิษุวัต คือ ศารทวิษุวัต (Autumnal equinox) เกิดในวันที่ 22 หรือ 23 กันยายนของทุกปี ซึ่งตรงกับฤดูใบไม้ร่วง (ภาษาอังกฤษ: autumn) ในเขตซีกโลกเหนือ และ วสันตวิษุวัต เกิดในวันที่ 20 หรือ 21 มีนาคมซึ่งตรงกับฤดูใบไม้ผลิของซีกโลกเหนือ (ภาษาอังกฤษ: spring) จึงเรียกว่า (Vernal equinox) ซึ่งถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ตามปฏิฐินอิหร่าน





#สารพันบทความ_Islamic_Society_Online
Islamic Society Online



read more "โนรูซ มรดกแห่งศาสนาบูชาไฟ"

วันจันทร์ที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2560

สุสานศาสนทูตมุหัมมัด (ซ.ล.)


สุสานศาสนทูตมุหัมมัด (ซ.ล.)




สุสานของท่านนบีมุหัมมัด อยู่ในบ้านของท่านมาตั้งแต่ดั้งเดิม ร่างของท่านอันมีเกียรติได้รับการฝังในห้องนอนของท่าน อันเป็นสถานที่ ๆ ท่านเสียชีวิต ซึ่งอยู่ในบ้านของท่านหญิงอาอิชะฮฺ ส่วนมัสญิดนะบะวีย์ของท่าน ก็อยู่ติดกับบ้านของท่าน มีหะดีษหลายหะดีษที่ระบุว่า ท่านกังวลกลัวว่าประชาชาติ ของท่านจะเอาสุสานของท่านเป็นที่สักการะบูชา ในสมัยคอลีฟะฮฺทั้งสี่ บ้านของท่านหญิงอาอิชะฮฺและบ้านของท่านหญิงฟาฏิมะฮฺยังไม่ได้มีการเข้าไปอยู่ในมัสญิด นะบะวีย์ อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่เริ่มแรก ได้มีการสร้างฝาผนัง เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้คนมานมาซหันหน้าเข้าหาสุสานของนบี โดยการสร้างกำแพงห้าเหลี่ยมปิดกั้นสุสานท่านนบี โดยให้ด้านเหนือ ซึ่งอยู่ตรงกันข้ามกับกิบละฮฺนั้น มีกำแพงสองด้าน ต่อมาได้มีการสร้างกำแพงปิดสุสานท่านนบีและบ้านของท่านหญิงฟาฎิมะฮฺทั้งสี่ ด้าน (กรุณาดูรูป) สุสานและบ้านของท่านหญิงฟาฏิมะฮฺอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของมัสญิดนะบะวีย์ ดั้งเดิม ในขณะที่ อัลเราเฎาะฮฺ อัชชะรีฟะฮฺ ที่มีมิหฺรอบและเป็นสถานที่นมาซอยู่ทางทิศตะวันตก โดยมีกิบละฮฺอยู่ทางทิศใต้




แผนผังแสดงให้เห็นสุสานของนบีมุหัมมัด(ศ) และสุสานของอะบูบักรฺ และ อุมัร ถูกปิดล้อมด้วยกำแพงหลายชั้น และห่างจากกรงเหล็ก ที่ผู้คนเดินผ่านไปเพื่อให้สลามแก่พวกท่านทั้งสาม สุสานทั้งสามนี้อยู่ในห้องของท่านหญิงอาอิชะฮฺ ซึ่งติดกับห้องท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ ภายหลังมีการสร้างโดมครอบห้องนี้ สุสานทั้งสามจึงอยู่ใต้โดมเขียว




#ประวัติศาสตร์อิสลาม_Islamic_Society_Online
#สารพันบทความ_Islamic_Society_Online
Islamic Society Online



read more "สุสานศาสนทูตมุหัมมัด (ซ.ล.)"

วันศุกร์ที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2560

การทดลองทางวิทยาศาสตร์ด้วยการนำเอาอัลกุรอานมาบำบัดโรค

การทดลองทางวิทยาศาสตร์ด้วยการนำเอาอัลกุรอานมาบำบัดโรค




มีการทดสอบและยืนยันจากทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ด้วยการทดสอบผู้ป่วยที่ไม่ใช่มุสลิม ไม่เข้าใจภาษาอาหรับ และไม่เคยฟังอัลกุรอานมาก่อน ให้มารับฟังอัลกุรอานอย่างตั้งใจ ผลทดสอบพบว่า ระดับภูมิคุ้มกันในตัวของพวกเขาเพิ่มมากขึ้น นี่แหละเป็นสิ่งที่ยืนยันความหมายของพระดำรัสของอัลลอฮ์ที่ว่า

﴿ وَنُنَزِّلُ مِنَ الْقُرْآنِ مَا هُوَ شِفَاء وَرَحْمَةٌ لِّلْمُؤْمِنِينَ وَلاَ يَزِيدُ الظَّالِمِينَ إِلاَّ خَسَارًا ﴾

“และเราได้ประทานส่วนหนึ่งจากพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานลงมาเป็นการรักษาเยียวยา และเป็นความโปรดปรานแก่มวลผู้ศรัทธา และมิได้เพิ่มพูนให้แก่พวกอธรรมแต่อย่างใด นอกจากความขาดทุน” (อัลอิสรออ์ : 82)

นักวิทยาศาสตร์อิสลามในประเทศอียิปต์ได้ทำการทดสอบความมหัศจรรย์ของพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน ด้วยการแบ่งกลุ่มผู้ป่วยที่ไม่ใช่มุสลิม ไม่เข้าใจภาษาอาหรับ และไม่เคยฟังอัลกุรอานมาก่อนเป็นหลายๆ กลุ่ม โดยที่กลุ่มหนึ่งรับฟัง อัลกุรอาน อีกกลุ่มรับฟังตัวทำนองของอัลกุรอาน อีกกลุ่มฟังเพลง และอีกกลุ่มไม่รับฟังสิ่งอื่นใด และได้นำเครื่องวัดคลื่นสมองมาวัดสมอง เพื่อให้สามารถรู้ว่า คลื่นสมองใดมีความสงบนิ่ง คลื่นสมองใดมีความวิตกกังวล และคลื่นสมองใดเป็นเช่นไร? ผลการทดสอบจึงพบว่า ผู้ที่รับฟังอัลกุรอานจะแสดงออกถึงอาการผ่อนคลายทางจิต มีความสงบนิ่ง ทั้งๆ ที่พวกเขาไม่เคยรับฟังหรือเข้าใจอัลกุรอานเลย

แน่นอนผลลัพธ์เบื้องต้นของการวิจัยอัลกุรอานได้เผยให้เห็นว่า อัลกุรอานนั้นมีผลถึง 97 เปอร์เซ็นต์ของการทดลอง ทำให้ลักษณะทางชีวะภาพเปลี่ยนแปลงไป โดยระดับความวิตกกังวลในระบบประสาทอัตโนมัติได้ลดลง

และนักวิทยาศาสตร์ชาวอียิปต์ยังได้นำเอาการทดสอบนี้ไปทดสอบกับพืชเช่นเดียวกัน โดยแบ่งพืชเป็น 5 กลุ่ม กลุ่มแรกให้รับฟังการอ่านอัลกุรอาน กลุ่มที่สองให้รับฟังคำพูดภาษาอาหรับ กลุ่มที่สามปล่อยให้มันอยู่อย่างปกติของมัน กลุ่มที่สี่ให้รับฟังเสียงเพลง และกลุ่มที่ห้าให้รับฟังคำด่าทอ ปรากฏว่าพืชกลุ่มที่ห้าที่รับฟังการด่าทอได้เฉาตายก่อนกลุ่มอื่นๆ และกลุ่มที่สี่ที่รับฟังเสียงเพลงมีอาการสดชื่นเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ส่วนกลุ่มที่สามที่ไม่ได้รับฟังสิ่งใด มีการเจริญเติบโตตามปรกติ กลุ่มที่สองที่รับฟังคำพูดภาษาอาหรับมีการเจริญเติบโตขึ้นกว่าปกติเพียงเล็กน้อย และส่วนกลุ่มที่หนึ่งที่รับฟังอัลกุรอาน มีการเจริญเติบโตเพิ่มขึ้นถึง 70 เปอร์เซ็นต์จากพืชกลุ่มอื่นๆ

อัลกุรอานสามารถบำบัดได้ทุกโรค เพราะอัลลอฮ์ได้ทรงทำให้โองการต่างๆ ในพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานเป็นภาษาที่เซลล์สามารถเข้าใจได้

บทความ : อะห์หมัดมุสตอฟา โต๊ะลง
คัดลอกจากหนังสือ “ปรัชญาแห่งบทบัญญัติอิสลาม” โดย อะห์หมัดมุสตอฟา โต๊ะลง

Cr. ดาบแห่งอัลเลาะห์ อะคาเดมี่



#มหัศจรรย์อัลกรุอาน_Islamic_Society_Online
#สารพันบทความ_Islamic_Society_Online
Islamic Society Online



read more "การทดลองทางวิทยาศาสตร์ด้วยการนำเอาอัลกุรอานมาบำบัดโรค"

วันจันทร์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2560

สถานะภาพของยิวในสเปนหลังถูกเปิดให้เป็นเมืองอิสลาม

สถานะภาพของยิวในสเปนหลังถูกเปิดให้เป็นเมืองอิสลาม




หลังจากที่สเปนถูกเปิดให้เป็นเมืองอิสลาม ชาวยิวได้เสพสุขด้วยการอะลุ่มอล่วยของอิสลาม พวกเขาจึงได้เข้าร่วมในการพัฒนาประเทศ นโยบายหลักของมุสลิมก็คือ การให้ความสำคัญในด้านของการศึกษาและพัฒนาความคิด มหาวิทยาลัยหลายแห่งจึงได้ถูกเปิดขึ้น เพื่อให้ประชาชนได้รับการศึกษาในด้านของการแพทย์ วิศวกรรม คณิตศาสตร์ และในด้านของวิชาการศาสนาอิสลาม ดังนั้นมหาวิทยาลัยเหล่านี้จึงต้องดึงบุคคลชั้นหัวกระทิด้านวัฒนธรรมจากทั่วทุกมุมโลก ซึ่งเมืองตลีตอละห์ กุรตุบะห์ เอชบีเลีย ซัรกอซาเตาะห์ และเมืองซัยยานะห์ถือว่าเป็นศูนย์กลางทางด้านวัฒนธรรมในสเปนในขณะนั้น

กระบวนการถ่ายแปลภาษาก็ได้ถูกกระตุ้นอย่างกว้างขว้างเช่นกัน โดยที่ปรัชญาอิสลามได้แปลไปยังภาษาต่างๆของยุโรป

ในช่วงที่อิสลามปกครองเมืองอันดาโลส (สเปน) ชาวยิวจำนวนมากได้อพยพจากทั่วโลกมายังสเปน และได้เข้าร่วมในการพัฒนาการศึกษาในกรอบของอิสลาม จำนวนประชากรยิวที่อพยพมายังสเปนในขณะนั้นมีจำนวนเกือบ 5 หมื่นคน ชาวอาหรับก็มิได้หมางเมินพวกเขา กลับให้การช่วยเหลือพวกเขาในการเปิดเสรีทางด้านการประกอบอาชีพเพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ ชาวยิวได้กระจายไปในแวดวงของการทำเกษตรกรรม อุสาหกรรม และในด้านการเงิน พวกเขาสวมชุดชาวอาหรับ และได้ประกอบอาชีพในด้านของการแพทย์เป็นจำนวนมาก ชาวอาหรับช่วยเหลือพวกเขาในการเปิดเสรีด้านการขนส่งสินค้าเข้าออกและในด้านของการค้าขาย ชาวอาหรับได้ส่งมอบที่ดิน และลูกหลานที่ถูกนักบวชชาวคริสต์จับตัวไปเพื่อฝึกอบรมแบบคริสต์กลับคืนมา ได้รับการอนุญาตให้สร้างสถานปฏิบัติศาสนกิจได้ ได้รับอนุญาตให้แสดงความเป็นยิวได้ และยังได้รับการช่วยเหลือจากอาหรับในการก่อตั้งศาลตัดสินคดีตามศาสนบัญญัติของพวกเขาอย่างเป็นเอกเทศด้วย

ผลจากการสร้างความสัมพันธ์ของมุสลิมทางการทำธุรกิจร่วมกันกับชาวยิว จึงทำให้การค้าขายของพวกยิวมีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้นในอันดาโลส พวกเขาเริ่มกักตุนสินค้าบางชนิด เช่น การค้าทาส ค้าผ้าไหม และการค้าเครื่องเทศ เป็นต้น พวกเขาสามารถรวบรวมทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก และได้ส่งไปให้กับชาวยิวที่มีความยากจนทั้งในเมืองอันดาโลสและที่อื่นๆ

ผลจากการมีเศรษฐกิจที่ดี พวกยิวได้เริ่มสร้างศูนย์วัฒนธรรมยิวขึ้น ให้การสนับสนุนนักวิชาการยิวมากขึ้น และได้เลือกเอาเมืองกุรตุบะห์เป็นศูนย์กลาง เพื่อให้พวกเขาได้มีการศึกษาแบบยิวดียิ่งขึ้น ซึ่งในขณะนั้น เมืองกุรตุบะห์มีห้องสมุดใหญ่ ซึ่งร่วมบรรดาต้นฉบับของทุกสาขาวิชาหลายพันเล่มด้วยกัน

ยุคอิสลามในสเปนถือว่าเป็นยุคทองของยิว เป็นยุคที่สร้างบุคลากรสำคัญของยิวขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นนาย ซอมูเอล บุตร นาจเดล่า ผู้เป็นนักวิชาการด้านศาสนายิว เป็นนักกวี และเขายังได้เข้าทำงานในตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง (ในปี ค.ศ.1027) เป็นนักธุรกิจ หลังจากนั้นบุตรชายของเขานามว่า โจเซฟ บุตร นาจเดล่า ก็ได้ดำรงตำแหน่งแทนเขา เมื่อเมืองกุรตุบะห์ล้มสลาย ซอมูเอลก็ย้ายมายังเมืองมาลิเกาะห์ และได้เป็นองค์รักษ์ให้แก่กษัตริย์ ต่อมาก็ได้เลื่อนขั้นเป็นองค์มนตรี เขาเป็นยิวคนเดียวที่ได้เข้ามาทำงานในตำแหน่งรัฐมนตรีของประเทศอิสลาม

ชาวยิวที่อาศัยอยู่ในสเปน พวกเขาถูกเรียกว่า ซะฟาร์ดิม (Sephardim) ซึ่งที่มาของคำนี้กลับไปยังเผ่าหนึ่งในราชอาณาจักรยาฮูซา

ในศตวรรษที่ 11 ขบวนการคริสตจักรก็ได้มีเป้าหมายยึดครองและได้แย่งชิงคาบสมุทรเอบีเรียจากชาวมุสลิมไป ขบวนการนี้ถูกเรียกว่า “ขบวนการสเปน” ในยุคของขบวนการนี้ ผู้ปกครองชาวคริสต์ได้ปฏิบัติต่อชาวยิวอย่างดี ด้วยเหตุนี้ ในศตวรรษที่ 13-14 จึงถือว่าเป็นปียุคแห่งความสงบสันติของยิวในสเปน ในช่วงเวลาดังกล่าวพวกยิวได้ก่อตั้งศูนย์การศึกษาต่างๆ อาทิเช่น โรงเรียนสอนภาษาและศาสนศาสตร์ในเมืองโลซาเนีย อาจารย์ซึ่งเป็นที่มีชื่อเสียงโด่งดังของโรงเรียนนี้ก็คือ นายอิสฮาก บุตร มัรชาโอล

ในต้นศตวรรษที่ 14 สถานการณ์ของยิวสเปนทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมดีขึ้นมาก ยิวส่วนมากได้เข้าทำงานในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจระดับประเทศ และยังได้รับความไว้วางใจจากผู้ปกครอง พวกเขาได้รับสิทธิการคุ้มครองชีวิตเหนือยิวทั่วๆไป

ความตกต่ำของยิวสเปนเริ่มขึ้นตั้งแต่โจเซฟถูกปลดจากตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง เนื่องจากเขาทำตัวเทียบเท่ากษัตริย์ และได้กล่าวเยาะเย้ย ดูถูกพระมหาคัมภีร์อัลกุรอ่าน จึงทำให้ชาวอาหรับและชาวบัรบัรปฏิวัติและทำสงครามศาสนากับเขาในปี ค.ศ.1066 ชาวอาหรับได้เนรเทศพวกยิวจำนวน 4 พันคนออกจากเมืองฆอรนาเตาะห์ ส่วนยิวที่เหลือก็ถูกบีบให้ขายที่ดินและให้ออกจากประเทศไป

ในปี ค.ศ.1212 สิ้นสุดการประนีประนอมทางด้านศาสนาในสเปน ขณะที่ชาวคริสต์ได้เข้ามายึดครองสเปนและขับไล่ชาวมุสลิมออกจากประเทศจนสิ้น

สมัยสเปนที่ปกครองแบบอิสลามก็ได้สิ้นสุดลง การปกครองแบบคริสต์ได้กลับมาอีกครั้ง และในระหว่างปี ค.ศ.1085-1492 ชาวยิวบางคนได้เข้ารับตำแหน่งใหญ่ๆในประเทศสเปนที่ปกครองแบบคริสต์ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือผู้ที่ดำรงตำแหน่งกิจการด้านการเงิน นักการทูต และตำแหน่งรัฐมนตรี

ยิวได้ต่อต้านและตั้งตนเป็นศัตรูกับคริสเตียนอย่างรุนแรง โดยที่พวกยิวมองว่าศาสนาคริสต์เป็นศาสนาที่มาเพื่อทำลายล้างอุดมการณ์แห่งพระเจ้าที่ประกาศความสูงส่งของยิวเหนือประชาชาติอื่นๆ พวกเขาถือว่าศาสนาคริสต์พยายามที่จะทำลายอุดมการณ์ของคัมภีร์แทลมูด ซึ่งในอดีตพวกคริสต์ไม่เคยที่จะให้ความเคารพและให้ความศักดิ์สิทธิ์กับคัมภีร์ของพวกเขาเลย พวกยิวได้ทำการโจมตีต่อชาวคริสต์อย่างรุนแรง โดยกล่าวใส่ร้าย และกุเรื่องต่างๆนานาต่อผู้ก่อตั้งคริสต์ศาสนา สาวก และสานุศิษย์ของของเขา พวกเขาได้เข้าทำสงครามต่อต้านศาสนาใหม่ และสร้างความเคลือบแคลงในบทบัญญัติของศาสนานี้

ส่วนรูปลักษณ์ของยิวในสายตาของคริสต์แล้ว ชาวคริสต์มีความเชื่อว่าพวกยิวต้องการเลือดพระเยซู เพื่อต้องการทำให้ศาสนาคริสต์ตกต่ำ และได้ลักพาตัวเด็กชาวคริสต์ไปสังหารก็เพื่อเป้าหมายนี้เช่นกัน และยังเชื่อว่าพวกยิวให้การช่วยเหลือชาวอาหรับมุสลิมและกลุ่มตาต๊าร (ต้าร์ต้าร์) ต่อต้านคริสต์ศาสนา ด้วยความเชื่อเหล่านี้จึงทำให้กลุ่มยุโรปต่อต้านพวกยิวอย่างรุนแรง ถึงขั้นขับเนรเทศ ขับไล่ จับขัง และริบทรัพย์สิน และด้วยสาเหตุที่ยิวได้รับการกดขี่ข่มเหง ถูกอธรรมจากคริสต์ศาสนา พวกเขาจึงพยายามที่จะหลั่งความรู้สึกของพวกเขาออกมา จนได้มีคำพูดประโยคหนึ่งว่า “มีผู้คนมากมายที่ให้การช่วยเหลือพวกยิวในการพยายามที่จะเอาประเทศของฉันให้กับพวกมัน เพื่อที่คนส่วนมากจะได้ปลอดภัยจากความชั่วร้าย เลวทราม และขจัดพวกยิวออกจากประเทศของพวกเขาเหล่านั้น”

และในอีกด้านหนึ่ง ยิวได้แทรกซึมเข้าไปในกลุ่มพระคริสต์อย่างเงียบๆ จนได้กลายเป็นพระราชาคณะ เป็นบิชอพ โดยที่พวกเขาได้แสร้งถึงความรักต่อคริสต์ศาสนา ในขณะเดียวกันพวกเขาก็ได้กระจายอุดมการณ์ของพวกเขาต่อกลุ่มคริสต์ชนอย่างลับๆ และพวกยิวเหล่านี้ก็ยังได้แทรกซึมไปยังแม่บ้าน และธนาคารแห่งประเทศสเปนอย่างรวดเร็ว โดยมีเป้าหมายเพื่อทำลายล้าง

และในอีกด้านหนึ่ง ยิวได้อ้างว่า ความคิดของปรัชญากรีก อาทิเช่น ปรัชญาของอัฟลาโตน ซักรอต เป็นต้น ตรงกับหลักเกณฑ์และคำสั่งใช้ของยิว พระยิวยังได้อ้างอีกว่า ทฤษฎีต่างๆของกรีกคือสิ่งเดียวกันกับสิ่งที่มีอยู่ในศาสนายิว และแน่นอนปรัชญาที่ปกครองตะวันตกอยู่นั้น มีรากฐานมาจากศาสนายิวและมาจากบทบัญญัติในคัมภีร์โตราห์ ปรากฏว่าทฤษฎีต่างๆของพวกยิวนี้มีเป้าหมายเพื่อครอบครองและเป็นผู้นำเหนือประชาชาติต่างๆ ข้อกล่าวหาต่างๆที่ยิวได้กุขึ้นนั้นก็ได้กลับมาต่อต้านพวกเขาเองด้วยการทำให้พวกเขาต้องตกศาสนา และเพียงเพื่อรักษาหนังสือเล่มหนึ่งของอัฟลาโตนหรือของอาโรสโตจึงได้กลายเป็นอาชญากรรมที่ไม่สามารถอภัยให้ได้ กฎหมายก็ได้ลงโทษต่อการก่ออาชญากรรมดังกล่าว และได้ก่อตั้งขบวนการทางความคิดขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 14 และคงมีเรื่อยมาจนถึงศตวรรษที่ 17

ในช่วงศตวรรษที่ 14 พวกยิวก็ได้หันมาประกอบอาชีพค้าทาส เพราะแท้จริงแล้ว อาชีพนี้ได้ช่วยพวกเขาในการแก้แค้นชาวคริสต์ โดยที่พวกเขาจะซื้อเฉลยชาวสเปนที่เป็นคริสต์ และนำมาขายด้วยกับราคาที่สูงในแคว้นอื่นๆ

จากหนังสือ "ความสัมพันธ์ตุรกี-ยิว" เล่มที่ 1
อะห์หมัดมุสตอฟา โต๊ะลง ผู้แปล

ที่มา : ดาบแห่งอัลเลาะห์ อะคาเดมี่


#ประวัติศาสตร์อิสลาม_Islamic_Society_Online
Islamic Society Online



read more "สถานะภาพของยิวในสเปนหลังถูกเปิดให้เป็นเมืองอิสลาม"

วันศุกร์ที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2560

จารึกประดับโมเสกอักษรอาหรับกูฟีย์

จารึกประดับโมเสกอักษรอาหรับกูฟีย์


(บน) ส่วนคานรองรับอาคารแปดเหลี่ยมภายในโดมแห่งศิลา ประดับด้วยโมเสกเป็นลวดลายพรรณพฤกษา
และแถบจารึกอักษรอาหรับกูฟีย์ที่ถูกแก้ไขระบุชื่อของอัล-มะอ์มูน (ล่าง) โดมแห่งศิลาจากภายนอก

จารึกประดับโมเสกอักษรอาหรับกูฟีย์บริเวณฝั่งนอกของคานรองรับอาคารทรงแปดเหลี่ยมภายใน 'กุบบะตุสศ็อคเราะฮ์' หรือ 'โดมแห่งศิลา' ซึ่งตั้งอยู่บนฮะรอมมัสยิดอัล-อักซอ ในอัล-กุดส์ (เยรูซาเล็ม) ปาเลสไตน์ โดยท่อนหนึ่งของจารึกมีใจความว่า

"...โดมแห่งนี้สร้างขึ้นโดยบ่าวของพระผู้เป็นเจ้า อับดุลลอฮ์ อัล-อิหม่าม อัล-มะอ์มูน อะมีรุลมุอ์มินีน (ผู้นำแห่งศรัทธาชน) ในปีที่ 72 (ฮ.ศ.) ขอพระองค์ทรงตอบรับและพอพระทัยแก่เขา อามีน..."

นามชื่อผู้สร้างที่ปรากฏในจารึกนั้นระบุถึง 'อะบู ญะอ์ฟัร อับดุลลอฮ์ อัล-มะอ์มูน บิน ฮารูน อัร-รอชีด' คอลีฟะฮ์คนที่ 7 แห่งราชวงศ์อับบาสิยะฮ์ (Abbasid) ซึ่งสมัยของเขานั้นตรงกับช่วง ค.ศ.813-833/ฮ.ศ.198-218 แต่เดี๋ยวก่อนครับ! มาถึงตรงนี้ สังเกตอะไรแปลกๆเกี่ยวปีในจารึกไหมครับ...ทำไมปีบนจารึกถึงได้เก่ากว่าสมัยของผู้สร้างเป็นร้อยปี มันเกิดอะไรขึ้น?

ในความเป็นจริงแล้วจารึกนี้ถูก 'แก้ไข' นั่นเองครับ

ปีฮ.ศ.72 ที่ปรากฏในจารึกนั้นแท้จริงแล้วตรงกับช่วงสมัยของ 'อับดุลมาลิก บิน มัรวาน' (ค.ศ.685-705/ฮ.ศ.66-86) คอลีฟะฮ์ราชวงศ์อุมัยยะฮ์ (Umayyad) ซึ่งเป็นผู้ออกคำสั่งสร้างตัวจริงของอาคารแห่งนี้เมื่อศตวรรษก่อนการปกครองของพวกอับบาสิยะฮ์ อับดุลมาลิกได้ชื่อว่าเป็น 'นักสร้าง' ผู้ริเริ่มโครงการก่อสร้างมากมาย รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่บนฮะรอมมัสยิดอัล-อักซอด้วย ในปี ค.ศ.685/ฮ.ศ.66 อับดุลมาลิกได้มอบหมายให้สถาปานิกสองคนคือ รอญาอ์ บิน ฮัยวะฮ์ อัล-กินดีย์จากเมืองบีซาน และยะซีด บิน สลาม (สันนิษฐานว่าเป็นชาวคริสเตียนจากอัล-กุดส์) ก่อสร้างอาคารโดมครอบเหนือศิลา (ศ็อคเราะฮ์) ซึ่งกล่าวกันว่า คือสถานที่ที่ท่านนบีมุฮัมมัด (ซ.ล.) ได้ 'เมี๊ยะรอจญ์' เดินทางสู่ฟากฟ้าในยามค่ำคืน โดมแห่งนี้จึงถูกสร้างขึ้นด้วยเทคนิควัสดุและการตกแต่งอย่างดีที่สุดเพื่อเป็นอนุสรณ์สถานรำลึกเหตุการณ์ดังกล่าว อีกทั้งเป็นที่หลบร้อนหนาวของผู้ที่เข้ามาละหมาดในมัสยิดอัล-อักซอ (แต่ยังคงมีข้อสันนิษฐานอื่นๆ ในความหมายแฝงของมันด้วยเช่นกัน ส่วนนี้ไว้มีโอกาสจะนำเสนอต่อไปนะครับ - แอดมิน) โดมเสร็จสมบูรณ์ในปี ค.ศ.691/ฮ.ศ.72 ตรงกับจารึกดังกล่าวนั่นเอง

เมื่อราชวงศ์อุมัยยะฮ์ถูกโค่นล้มโดยการปฏิวัติ 'อับบาสิยะฮ์' (Abbasid) ในปี ค.ศ.750 พวกอับบาสิยะฮ์ซึ่งสืบเชื้อสายจากอับบาส บิน อะบูฏอลิบ ผู้เป็นลุงของท่านนบีมุฮัมมัด (ซ.ล.) ในวังวนของความขัดแย้งเรื่องตำแหน่งผู้นำแห่งศรัทธาชน พวกเขาอ้างตำแหน่งคอลีฟะฮ์ ตำแหน่งอันชอบธรรมว่าต้องมาจากวงศ์วานใกล้ชิดของท่านนบี (ซ.ล.) พวกอับบาสิยะฮ์และผู้สนับสนุนมีความเคียดแค้นชิงชังต่อตระกูลอุมัยยะฮ์อย่างรุนแรงและกล่าวหาว่าพวกอุมัยยะฮ์ได้ก่อความเสียหายใหญ่หลวงขึ้นในหมู่มุสลิม ในความพยายามที่จะลบความทรงจำของราชวงศ์อุมัยยะฮ์ให้มลายหายไป พวกเขาได้ตามล่าและสังหารหมู่คนในราชวงศ์อุมัยยะฮ์ทั้งหมดใกล้กับเมืองร็อมละฮ์ในปาเลสไตน์ (มีเพียงเจ้าชายอับดุรเราะฮ์มานที่เอาชีวิตรอดหนีไปยัง อัล-อันดาลุสได้) อีกทั้งยังขุดทำลายหลุมศพของบรรดาคอลีฟะฮ์อุมัยยะฮ์คนก่อนๆ จนหมดสิ้น (ยกเว้นหลุมศพของอุมัร บิน อับดุลอะซีซ) อำนาจของคอลีฟะฮ์ได้ผลัดมือตกไปอยู่กับราชวงศ์ใหม่ซึ่งได้ย้ายศูนย์กลางการปกครองไปทางตะวันออกในเมโสโปเตเมียและสถาปนา 'แบกแดด' ขึ้นมาเป็นเมืองหลวงแห่งใหม่ นัยเพื่อตัดขาดภาพลักษลักษณ์เดิมของราชวงศ์เก่าและป้องกันตัวเองจากฐานอำนาจเดิมในแคว้นชาม (ซีเรีย) ด้วย

ในยุคสมัยราชวงศ์อับบาสิยะฮ์ แม้แคว้นชามแลดูจะถูกลดความสำคัญไป แต่ยังคงเป็นที่ตั้งของสถานที่สำคัญทางศาสนาหลายๆแห่ง 'อัล-กุดส์' ก็คือหนึ่งในนั้น มัสยิดอัล-อักซอและโดมแห่งศิลา ตกอยู่ในสภาพเสียหายจากแผ่นดินไหวรุนแรงในปี ค.ศ.748 เมื่อถึงสมัยของคอลีฟะฮ์อัล-มะอ์มูน จึงได้มีคำสั่งให้บูรณะซ่อมแซ่มอาคารทั้งสองขึ้นใหม่ในปี ค.ศ.831/ฮ.ศ.216 โดยช่าง 'ศอลิฮ์ บิน ยะฮ์ยา' ภายใต้การควบคุมของอะบู อิสฮัค อัล-มุอ์ตะซิม บิน ฮารูน อัร-รอชีด (น้องชายต่างมารดาของอัล-มะอ์มูน ซึ่งต่อมาสืบทอดตำแหน่งคอลีฟะฮ์ในนามของอัล-มุอ์ตะซิม บิลละฮ์) การบูรณะซ่อมแซมรวมไปถึงการแก้ไขจารึกโมเสกดั้งเดิมด้านในโดมแห่งศิลาที่ระบุนามผู้สร้างในสมัยราชวงศ์อุมัยยะฮ์ ช่างได้ลอกเอาจารึกบริเวณชื่อ 'อับดุลมาลิก บิน มัรวาน' ออก และประดับโมเสกใหม่ในชื่อคอลีฟะฮ์ 'อับดุลลอฮ์ อัล-มะอ์มูน' เข้าไปแทนที่ การกระทำดังกล่าวคงเรียกได้ว่าเป็นการพยายามลบเลือนหรือเกทับร่องรอยมรดกของพวกอุมัยยะฮ์นั่นเอง

แต่น่าแปลกที่ "ปี ฮ.ศ.72" ที่ระบุช่วงเวลาที่โดมสร้างเสร็จสมบูรณ์นั้นไม่ถูกเปลี่ยนไปด้วย แต่ไม่ว่าจะด้วยความจงใจทิ้งไว้หรือหลงลืม จารึกส่วนนี้เป็นเครื่องมือหนึ่งที่ทำให้เราย้อนกลับไปหายุคสมัยของการก่อสร้างโดมแห่งศิลาที่แท้จริง รวมถึงแสดงเรื่องราวความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์อิสลามได้เช่นกัน



read more "จารึกประดับโมเสกอักษรอาหรับกูฟีย์"

บทความแนะนำ

World Clock

Featured Posts

เรื่องราวของสองอารยธรรม : อารยธรรมของชาวไวกิ้งและมุสลิม

เรื่องราวของสองอารยธรรม : อารยธรรมของชาวไวกิ้งและมุสลิม โดย : Cem Nizamoglu และ Sairah Yassir-Deane ย้อนหลังไปถึงมีนาคม 2015 ข่าวเกี่ยวก...