product :

วันศุกร์ที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2560

เศาะลาฮุดดีน อัล อัยยูบียฺ (Saladin)

เศาะลาฮุดดีน อัล อัยยูบียฺ (Saladin)




เศาะลาฮุดดีน อัล อัยยูบียฺ

วีรบุรุษผู้ปลดปล่อยเยรูซาเล็ม(ค.ศ. 1137 -1193)
(อบุล อิซซฺ เรียบเรียง)

เศาะ ลาฮุดดีนมีชื่อเต็มว่า เศาะลาฮฺ อัด-ดีน ยูซุฟ อิบนุอัยยูบ เรียกในอีกชื่อหนึ่งว่า อัลมาลิก อันนาศิรฺ เศาะลาฮฺ อัด-ดีน ยูซุฟ เป็นสุลต่านปกครองอียิปต์ ซีเรีย เยเมน และปาเลสไตน์เป็นผู้ก่อตั้งราชวงค์อัยยูบี เป็นบุคคลสำคัญในการต่อต้านพวกครูเสดจนสามารถจนสามารถปลดปล่อยเยรูซาเล็มจาก การปกครองของพวกแฟรงก์ และนำความพ่ายแพ้ครั้งสำคัญให้แก่คริสเตียนในสงครามครูเสดครั้งที่สามด้วย ความอัจฉริยภาพที่มีอยู่ในตัวท่าน

เศาะลาฮุดดีนมาจากครอบครัวชาวเคิร์ดที่มีเกียรติ ในคืนที่ท่านเกิดนั้นบิดาของท่านคือนัจญมุดดีน อัยยูบ ได้พาครอบครัวอพยพไปยังเมืองฮะลัป (Aleppo) ซึ่ง ขณะนั้นมีนูรุดดีนซังกีมุสลิมเชื้อสายเติร์กเป็นผู้ปกครองดินแดนทางตอนเหนือ ของซีเรีย ท่านใช้ชีวิตในวัยเด็กที่บะอัลบักและดามัสกัส ชีวิตในวัยเด็กส่วนใหญ่ใช้เวลาหมดไปกับการศึกษาวิชาการศาสนาโดยเรียนวิชาการ ด้านการทหารอยู่บ้าง ท่านทำงานครั้งแรกด้วยการเข้าร่วมทัพกับลุงของท่าน อะซาดุดดีน ชิรฺกุฮฺซึ่งเป็นแม่ทัพคนสำคัญของอามีรฺ นูรุดดีน ซังกี เมื่อครั้งที่ชิรฺกูฮนำกองทัพเข้าสู่อียิปต์ตามคำร้องของเคาะลีฟะฮฺ อัลอาฏิดที่อยู่ในอียิปต์เพื่อต่อต้านพวกครูเสดที่บุกเข้ามาและจัดการกับชา วุรฺอุปราชของอียิปต์ ที่ร่วมมือกับพวกครูเสดดังกล่าว เมื่อชิรฺกุฮฺยกทัพไปถึงชานเมืองพวกครูเสดจึงล่าถอยออกไป จากนั้นเคาะลีฟะฮฺได้สำเร็จโทษชาวุรและแต่งตั้งชิรฺกุฮฺเป็นอุปราชแทน หลังจากนั้นเพียงสองเดือนชิรฺกุฮฺซึ่งเป็นลุงของเศาะลาฮุดดีนก็เสียชีวิตลง ตำแหน่งอุปราชจึงตกเป็นของเศาะลาฮุดดีนแทน โดยมีนามตามตำแหน่งว่า อัลมาลิกอันนาศิรขณะนั้นท่านมีอายุเพียง 31 ปี




ในปีค.ศ. 1171 ท่านได้ยกเลิกตำแหน่งเคาะลีฟะฮฺแห่งราชวงศ์ฟาติมิยะฮฺซึ่งเป็นชีอะฮฺ และได้นำแนวทางซุนนะฮฺโดยเริ่มจากการปลดผู้พิพากษาชีอะฮฺออกจากตำแหน่งแล้ว แต่งตั้งผู้ที่ยึดมั่นในแนวทางซุนนะฮฺ และได้จัดตั้งโรงเรียนต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่สอนตามแนวมัซฮับชาฟิอีย์ทั้งใน อียิปต์ เยรูซาเล็มและดามัสกัส ถึงแม้จะมีอำนาจสูงสุดในอียิปต์แต่ท่านก็ยังคงยอมอยู่ภายใต้อำนาจของนูรุดดีน จนกระทั่งอามีรฺนูรุดดีนเสียชีวิตในปีค.ศ.1174 เศาะลาฮุดดีนจึงรวบซีเรียมาอยู่ในอำนาจเพื่อคุมเชิงพวกคริสเตียนใน เอธิโอเปียไม่ให้มายุ่งเกี่ยวกับพวกครูเสด แต่ท่านยังคงยอมรับในอำนาจการปกครองเคาะลีฟะฮฺแห่งอับบาสิยะฮฺ ช่วงนี้ท่านจึงกลายเป็นสุลต่านและรวบรวมมุสลิมที่อยู่ในซีเรีย ปาเลสไตน์ อียิปต์ และอัลญะซีเราะฮฺ (ตอนเหนือของอิรัก) ให้เป็นหนึ่งเดียว ชื่อเสียงของท่านเริ่มเป็นที่รู้จักในฐานะที่เป็นนักรบที่กล้าหาญ เฉลียวฉลาดมีความยุติธรรม โอบอ้อมอารีในการปฏิบัติแก่ผู้แพ้ เป็นที่ยกย่องแม้แต่ศัตรูจนถึงขนาดที่ว่าพวกค็อปติก (คริสเตียนออทอดอกซ์ใน อียิปต์) เอารูปวาดของเศาะลาฮุดดีนวางไว้ที่แท่นบูชาในโบสถ์ ท่านเป็นคนที่มุ่งมั่นในการญิฮาด เป็นคนอุปถัมภ์วิทยาการ และส่งเสริมอุลามาอ์ให้สร้างสถานศึกษา มัสญิดตลอดจนสร้างโรงพยาบาล ส่งเสริมการเขียนหนังสือโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการญิฮาด ท่านพยายามที่จะสร้างอาณาจักรในแบบเดียวกับที่บรรพชนในศตวรรษแรกๆ ของอิสลาม ได้สร้างไว้ซึ่งปกครองดินแดนอันกว้างใหญ่

ท่านปรับปรุงกองทัพโดยสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและความมีระเบียบวินัยมากกว่าการจ้างคนใหม่ๆ หรือสร้างเทคนิคใหม่ๆ ในวันที่ 4 กรกฎาคม ค.ศ. 1187 ด้วยจิตวิญญาณอันยอดเยี่ยมของเหล่าทหารของเศาะลาฮุดดีน และการวาง กลอุบายอันชาญฉลาดของท่านทำให้กองทัพคริสเตียนตกอยู่ในกับดักและ ความหิวกระหายจนสามารถจัดการกับพวกเขาที่สมรภูมิฮิตตินได้อย่างเบ็ดเสร็จ ผลจากสงครามครั้งนี้ทำให้ชื่อของท่านเป็นที่หวาดกลัวแก่พวกครูเสด พวกเขาถือว่าไม่เป็นความละอายที่จะยอมอ่อนข้อต่อท่าน จากนั้นเมืองอักกา เบรุต ซีดอน นาซาเรท กีซาเรีย นับลุส โตรอน ยัฟฟา อัสโกลอนต้องยอมแพ้แก่มุสลิมภายในเวลาเพียงสามเดือน




ความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของท่านกับความพ่ายแพ้ครั้งสำคัญของคริสเตียนเกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่งในวันที่ 2 ตุลาคม ค.ศ. 1187 เมื่อบัยตุลมักดิศ (เยรูซาเล็ม) ต้องยอมแพ้แก่กองทัพของสุลต่านหลังจากต้องตกอยู่ในกำมือของพวกแฟรงก์เป็นระยะเวลา 88 ปีนับจากการยึดครองในสมัยสงครามครูเสดครั้งที่ 1 เศาะลาฮุดดีนปฏิบัติต่อเชลยเป็นอย่างดี ท่านได้ปล่อยเชลยจำนวนมากที่ไม่สามารถหาเงินมาไถ่ตัวได้ และยังใช้เงินส่วนตัวไถ่พวกเชลยเหล่านี้ โดยไม่มีการสังหารเชลยแต่อย่างใด ภาพที่ท่านและกองทัพมุสลิมแสดงต่อพวกครูเสดตรงข้ามอย่างสิ้นเชิงกับที่พวกเขาเหล่านี้ได้เคยสับมุสลิม แหวะหัวใจเด็ก ฟันขาเหวี่ยงไปในอากาศ บังคับให้มุสลิมกระโดดจากที่สูง ในสมัยที่พวกเขายึดเยรูซาเล็มช่วงสงครามครูเสดครั้งที่ 1 เวลานั้นมุสลิมถูกสับจนเลือดไหลนองท่วมหัวเข่าม้าของพวกเขา

การยึดเยรูซาเล็มกลับคืนมาของเศาะลาฮุดดีนได้ทำให้พวกครูเสดในยุโรปรวมตัวกันอีกครั้งเพื่อจะยึดเยรูซาเล็มคืน อันเป็นการประกาศสงครามครูเสดครั้งที่สาม กองทัพครูเสดครั้งนี้มีผู้นำคือกษัตริย์ริชาร์ด (ใจสิงห์) แห่งอังกฤษ กษัตริย์ฟิลิป ออกัสตัส แห่งฝรั่งเศส และกษัตริย์เฟดเดอริค บาร์บาโรซซ่าแห่งเยอรมันเป็นผู้นำ แต่ปรากฏว่ากษัตริย์เฟดเดอริคจมน้ำตายขณะข้ามแม่น้ำสายหนึ่ง กองทัพเยอรมันจึงไม่มีโอกาสสู้รบกับมุสลิม อย่างไรก็ตามกองทัพทั้งสองฝ่ายได้ทำสัญญาสงบศึก ณ เมืองร็อมละฮฺ ในวันที่ 2 พฤษจิกายน ค.ศ. 1192 โดยชายฝั่งใกล้เมืองอักกาและบริเวณโดยรอบตกเป็นของพวกครูเสด และเศาะลาฮุดดีนยินยอมให้คริสเตียนเดินทางไปสู่เยรูซาเล็ม โดยมีเงื่อนไขว่าต้องไม่นำอาวุธเข้าไป สัญญาฉบับนี้เป็นการสิ้นสุดสงครามครูเสดครั้งที่สาม




เมื่อสงครามยุติลง เศาะลาฮุดดีนได้ยกกองทัพไปตรวจเมืองต่างๆ และซ่อมแซมสิ่งที่เสียหาย และได้กลับมาพักกับครอบครัวที่นครดามัสกัส หลังจากที่ใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่บนหลังม้าท่านก็ได้จากโลกนี้ไปในวันที่ 4 มีนาคม ค.ศ. 1193 สหายของท่านพบว่าผู้ปกครองของมุสลิมที่ยิ่งใหญ่และมีใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ได้ทิ้งทรัพย์สินไว้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ไม่พอแม้แต่จะใช้เพื่อจัดการกับศพของตัวท่าน
...............................

นายฆอซาฟี มะดอหะ
จากเว็บไซต์ fityah

…หลังจากนั้น ครอบครัวของเศาะลาฮุดดีนก็ยังปกครองอียิปต์และแผ่นดินใกล้เคียงต่อไปอีกไม่นานและในที่สุดก็ถูกพวกมัมลู้กเข้ามายึดอำนาจต่อใน ค.ศ.1250

ช่วงวาระสุดท้ายของสุดยอดแม่ทัพแห่งจักรภพอิสลาม ศอลาฮุดดีน อัล-อัยยูบีย์




#ประวัติศาสตร์อิสลาม_Islamic_Society_Online
Islamic Society Online



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความแนะนำ

World Clock

Featured Posts

เรื่องราวของสองอารยธรรม : อารยธรรมของชาวไวกิ้งและมุสลิม

เรื่องราวของสองอารยธรรม : อารยธรรมของชาวไวกิ้งและมุสลิม โดย : Cem Nizamoglu และ Sairah Yassir-Deane ย้อนหลังไปถึงมีนาคม 2015 ข่าวเกี่ยวก...